แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ อย่าเดินไปเดินมาให้พลุกพล่าน นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงชัดเจนแล้วตั้งอกตั้งใจฟังให้ดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา วันนี้วันที่ ๑ สิงหาคม ตรงกับวันแรมค่ำ ๑ เดือน ๘ เค้าเรียกว่าเดือน ๘ หลังเพราะว่าปีนี้มีอธิกรรมมาศมี ๘ ๒ หนก็ถือว่าเป็นเดือน ๘ หลัง เป็นวันตรงกับวันเข้าพรรษาของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา อันเนื่องเข้าพรรษานี้คือการหยุดพักในฤดูฝน เพราะในฤดูฝนนี้ การเดินทางมันไม่สะดวก พระพุทธเจ้าจึงบัญญัติให้พระหยุดพัก คือในครั้งแรกทีเดียวนั้นเมื่อพระยังน้อย พอถึงหน้าฝนท่านก็พักของท่านตามปกติ ไม่ไปไหน พระผู้มีพระภาคเจ้าก็พักเหมือนกัน เพราะในประเทศอินเดียในหน้าฝนนี้ฝนตกชุกมาก ในสมัยก่อนชุกกว่าในปัจจุบันเพราะว่าต้นหมากรากไม้มันยังมีอยู่มาก ในปัจจุบันก็ตกเอามากเหมือนกัน และน้ำมักจะท่วมตามที่ต่างๆ เกิดความเสียหายแก่พืชพรรณธัญยาหารบ้านเรือนของประชาชนปีหนึ่งไม่ใช่น้อย พวกพ่อค้าเกวียนที่เดินทางไปมาค้าขาย เมื่อถึงฤดูฝนเขาก็หยุดค้าหยุดขายไม่ได้เดินทาง เพราะเดินทางไปเกวียนจะตกหล่มลึก สินค้าก็จะเสียหาย วัวก็จะถูกฝน วัวถูกฝนนี่มันทนไม่ค่อยได้ อินเดียเค้าใช้วัวมากใช้ควายน้อย เพราะงั้นเมื่อฤดูฝนก็หยุดกันตามปกติ การหยุดพักในฤดูฝนของพระในสมัยก่อน คือจะหยุดที่ไหนก็ได้ ชาวบ้านก็สร้างกระต๊อบเล็กๆให้ มีหลังคา มีฝากั้น มีประตูเข้าออกพอกันฝนได้เท่านั้นเอง เป็นศาลาที่มุงบังด้วยใบไม้ ราคาถูกๆ เพราะว่าพระท่านก็ไม่ได้อยู่นานในเรือนนั้น อยู่เพียง ๓ เดือนเท่านั้นเอง ๑๒๐ วัน พอออกพรรษาพ้นหน้าฝนท่านก็เดินทางต่อไปปฎิบัติหน้าที่อบรมสั่งสอนประชาชนให้เข้าถึงธรรมะ เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดมา แต่ต่อมาก็มีพระเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีเพิ่มมากขึ้น พระบางพวก เขาเรียกว่าพวกฉัพพัคคีย์ ฉัพพัคคีย์ นี่แปลว่าพวก ๖ ลูก ปัญจวัคคีย์ พวก ๕ ฉัพพัคคีย์ นี่พวก ๖ ๖ ลูกนี้ขยันเสียเหลือเกิน แม้หน้าฝนแล้วก็ไม่หยุดไม่ยั้ง เดินทางเรื่อยไป ทั้งนี้เดินทางไปในทุ่งในนาเขา กลับไปเดินเหยียบต้นกล้าข้าว พืชผักให้เสียหาย บางทีก็เดินไปเหยียบสัตว์ทั้งหลายตายบ้าง
คนอินเดียในสมัยก่อนนี้เค้าถือเรื่องชีวะนี้แรงมาก ถือว่าสิ่งทั้งหลายมีชีวิตนี่มันมาก อันนี้ถ้าว่าเป็นนักบวชไปทำลายพืชเขียวๆ ผักๆ ต้นหมากรากไม้ เค้าก็ถือว่าไม่สมควรแก่นัก คนก็นินทากันว่าลูกศิษย์ของพระสมณะครูอุดม นี่ไม่รู้จักหยุดหย่อน แม้เป็นหน้าฝนก็ยังอุตส่าห์เที่ยวเดินเหยียบข้าวกล้าเหยียบผักของเขาให้เสียหาย ความนินทานี้มันก็ดังมาถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า เราเห็นว่าไม่เหมาะไม่ต้องการให้พระของพระองค์ถูกนินทาว่าร้ายจากชาวบ้าน จึงได้บัญญัติพระวินัยขึ้นว่าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเมื่อถึงวันแรมค่ำ ๑ เดือน ๘ ให้อยู่จำพรรษา คือ หยุดหน้าฝน ไม่ให้ท่องเที่ยวไปไหนตลอด เป็นเวลา ๑๒๐ วันคือ ๓ เดือน ความจริงฤดูฝนมัน ๔ เดือนแต่ว่าให้อยู่เพียง ๓ เดือน เดือนท้ายฤดูฝนนั้นเป็นฤดูสำหรับทำจีวรนุ่งห่ม เอาไปใช้ในการเดินทางต่อไป ท่านจึงให้อยู่เพียง ๓ เดือนอีกเดือนหนึ่งก็ไปไหนได้ ไปหาผ้ามาทำจีวรอะไรกันได้ เมื่อทรงบัญญัติแล้วพระก็ต้องหยุดทั้งหมดไม่ไปไหน เช่นท่านเดินทางไปเที่ยวสอนคน ณ ที่ใด พอถึงวันแรมค่ำ ๑ ท่านก็หยุดไม่ไป หยุดอยู่รูปเดียวบ้าง หลายรูปบ้าง บางทีก็หยุดอยู่เป็น ๑๐๐ ในหมู่บ้าน ตำบลใหญ่ๆ ชาวบ้านก็ไปสร้างกระต๊อบในป่าห่างจากบ้านประมาณกิโลสองกิโลให้สงบเงียบ สร้างกระต๊อบไว้สำหรับพระได้อยู่อาศัย ชาวบ้านก็ได้ไปฟังธรรม ได้ไปรักษาศีล ได้ปฏิบัติกิจทางศาสนา นี่คือการจำพรรษาของพระ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็อยู่จำพรรษาในที่ต่างๆ เช่น อยู่ที่วัดเชตวันนี่นานมาก นานกว่า ...... (06.05) อยู่เมืองโกสัมพี เมือง อุชเชนี เมืองต่างๆในประเทศอินเดียหลายบ้านหลายเมือง ไปถึงฤดูฝนที่ไหนท่านก็อยู่จำที่นั่น ชาวบ้านก็นิมนต์ไว้ให้อยู่ พระก็อยู่ประจำในสถานที่นั้นๆ
ทีนี้การถือเข้าพรรษาก็ถือ เป็นเรื่องพระวินัย วินัยก็คือระเบียบของพระที่จะต้องปฏิบัติ พระฝ่ายเถรวาทคือประเทศลังกา พม่า ไทย นี่เรียกว่าฝ่ายเถรวาท ถือฤดูกาลเข้าพรรษาเป็นเรื่องที่จะต้องอยู่กับที่ ความจริงในสมัยนี้การเดินทางก็ไม่ต้องไปเหยียบข้าวใครแล้ว เพราะว่ามีถนนหนทาง ไปมาสะดวกสบาย นั่งเรือบินไปก็ได้ แต่ว่าเราเป็นพวกอนุรักษ์นิยม รักษาของเก่า ไม่ทำลายระเบียบประเพณีของศาสนา ก็ต้องอยู่จำพรรษาตามฐานะแห่งตนๆ โดยเฉพาะในเมืองไทยเรานั้นพระทุกรูปจะต้องมีทะเบียนขึ้นสังกัดวัดใดวัดหนึ่ง จะไปเที่ยวอยู่ตามที่ต่างๆตามชอบใจ ไม่ขึ้นแก่ใครนั้นไม่ได้ ผิดกฏหมายคณะสงฆ์ พระจึงต้องมีทะเบียนวัด เช่นขึ้นทะเบียนอยู่กับวัดชลประทานรังสฤษฎ์ แต่อาจไปจำพรรษาที่เชียงใหม่ก็ได้ ไปอยู่ไชยาก็ได้ แต่ทะเบียนอยู่ที่วัดนี้ ออกพรรษาแล้วก็กลับมาที่เดิมหรือจะอยู่ที่นั่นต่อไปก็ไม่ว่าอะไร นี่เป็นระเบียบกฏหมายที่ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมพระวินัยให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย เมื่อถึงฤดูเข้าพรรษา พระก็หยุดอยู่กับที่ ไม่ใช่เพียงแต่คนเท่านั้นที่หยุดในฤดูฝน ถ้าเราศึกษา สัตว์ประเภทหลายอย่าง เมื่อถึงหน้าฝนนี่มันก็หยุดเหมือนกัน เช่น กบหน้าฝนนี่มันก็อยู่ในรูไม่ค่อยไปไหน ไม่ค่อยออกไปร้องให้คนได้ยิน แต่ว่าอยู่พักอยู่ในรูของมัน สัตว์ป่าบางชนิดก็อยู่ในที่ที่มันเคยอยู่ มีอาหารสะสมไว้สำหรับกินกันในฤดูฝน เช่น พวกมดบางประเภทนี่มันเตรียมอาหารไว้ในรูของมัน พอถึงฤดูฝนนี่มันไม่ขึ้นมาเพราะเดินไม่ได้ น้ำท่วมแผ่นดิน มันก็มุดอยู่ในรูและกินอาหารที่สะสมไว้ตลอดฤดูฝน พ้นฤดูฝนแล้วก็ออกมาท่องเที่ยวไปตามพื้นดินต่อไป อันนี้ดูคล้ายกับว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติที่มันเป็นอย่างนั้น คนเราก็ต้องคล้อยตามธรรมชาติ เมื่อถึงฤดูฝนก็ต้องหยุดอยู่กับที่ การอยู่จำพรรษานี้บางคนบางบ้านบางเมืองถือเคร่งมาก เช่น ทางภาคเหนือของประเทศไทย ถ้าเป็นฤดูพรรษานี่เค้าไม่ย้ายบ้าน อยู่บ้านไหนก็อยู่บ้านนั้นตลอดจนถึงออกพรรษา พระพุทธรูปตั้งอยู่ที่ใดเค้าก็ไม่ย้าย ถือว่าเป็นฤดูจำพรรษา เค้าถือไปถึงขนาดนั้น บางคนถือมากแต่ถือว่าฤดูเข้าพรรษานี่ไม่กล้าทำการแต่งงานกัน ให้ไม่แต่ง ออกพรรษาแล้วค่อยแต่ง อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน เรียกว่าเค้าถือเคร่ง เรื่องเคร่งมันก็ดี เพราะว่าการเคร่งทำให้เกิดระเบียบเกิดวินัย เกิดการควบคุมตัวเองดีขึ้น พวกเราซึ่งเป็นชาวบ้านชาวเมือง เมื่อถึงวันฤดูเข้าพรรษาเราควรจะปฏิบัติอย่างไร อันนี้ต้องศึกษาเรื่องเก่าๆว่าพระเถระในสมัยก่อนนี้ท่านทำอะไรบ้าง
พระที่เป็นหัวหน้าของพระไปอยู่บ้านใดเมืองใดก็ตาม พอถึงวันเข้าพรรษาท่านก็แนะนำตักเตือนว่าฤดูกาลเข้าพรรษาเป็นฤดูที่เราไม่ไปไหน เราได้พักอยู่กับที่ อย่าพักอยู่อย่างคนเกียจคร้านแต่ให้พักอยู่อย่างคนขยันในการปฏิบัติธรรมะให้เคร่งครัดในเรื่องการปฏิบัติธรรมวินัย อย่าให้ ๓ เดือนในฤดูเข้าพรรษาผ่านพ้นไปโดยไม่ได้กำไรทางจิตใจเป็นอันเด็ดขาด และก็แนะนำว่าให้ทุกรูปตั้งจิตอธิษฐานว่าจะทำอะไรตลอด ๓ เดือนฤดูกาลเข้าพรรษา พระเหล่านั้นก็อธิษฐานใจว่าจะทำอย่างนั้นจะทำอย่างนี้ ล้วนแต่เป็นเรื่องดีเรื่องงามตลอดฤดูกาลเข้าพรรษา เพราะฤดูเข้าพรรษเป็นฤดูแห่งการขูดเกลาจิตใจ ให้สะอาดปราศจากสิ่งเศร้าหมอง เป็นฤดูแห่งการทำจริงเรียกว่าสัจจะฤดู คือ ฤดูแห่งการทำจริงไม่ใช่เป็นเวลาที่จะเหลวไหล นอนสบายกินสบาย อย่างนั้นไม่ได้ ชีวิตมันไม่ก้าวหน้า เนื้อหนังเจริญแต่ว่าปัญญาไม่เจริญมันก็ใช้ไม่ได้ คนเราต้องอยู่ให้เจริญด้วยปัญญา จะไม่ใช่เจริญด้วยเนื้อด้วยหนัง เพราะงั้นคนที่ปฏิบัติธรรมจึงต้องคำนึงอยู่เสมอว่าฤดูกาลเข้าพรรษาเป็นฤดูพิเศษ เป็นฤดูที่เราจะต้องทำการขูดเกลาจิตใจของเรา สร้างคุณงามความดีให้เกิดขึ้นในใจของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ชีวิตจึงจะมีค่ามีราคา ท่านสอนท่านเตือนกันอย่างนั้น เพราะงั้นเราก็ต้องเอาคำเตือนของคนเก่าๆนี่แหล่ะมาใช้เป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ซึ่งเราเป็นชาวบ้านเราควรอธิษฐานใจอย่างไร ควรจะอธิษฐานใจในเรื่องปฏิบัติ เช่นเราอธิษฐานใจว่าในฤดูเข้าพรรษาเราจะถือศีลให้เคร่งครัดกว่าปกติ เราจะอบรมจิตใจให้เป็นสมาธิมากขึ้น เราจะเพ่งมองสิ่งทั้งหลายทั้งปวงให้รู้ว่าสภาพที่เป็นจริงของสิ่งนั้นๆ เป็นอย่างไร จะได้ผ่อนคลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น จิตใจจะได้อยู่ด้วยความสงบตามสมควรแก่ฐานะ อันนี้เป็นเรื่องที่เรามาอธิษฐานใจ อย่าอยู่โดยไม่ได้ตั้งใจว่าจะทำอะไร แต่ให้ตั้งใจทำ
การอธิษฐานใจเป็นเรื่องสำคัญ ก็เป็นเรื่องที่เรียกว่า ผูกใจไว้กับเรื่องที่เราจะทำ ถ้าเราไม่ผูกใจไว้กับเรื่องที่เราจะทำ เราก็ทำอย่างชนิดหละหลวม ไม่ก้าวหน้าแต่ถ้าเราอธิษฐานใจไว้ว่าจะทำเรื่องนั้นจะทำเรื่องนี้ เราก็จะดีขึ้น พระพุทธเจ้าของชาวเราทั้งหลายก็ได้ใช้วิธีการนี้มาตลอดเวลาตอนเป็นพระพุทธเจ้า เช่นทรงอธิษฐานใจออกบวช อธิษฐานใจในวันที่จะตรัสรู้ เอาหญ้าคาปูใต้ต้นโพธิ์ และยืนประทับนิ่งสำรวมจิต อธิษฐานว่าเลือดเนื้อจะเหือดแห้งไปเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ช่างมันเถอะ สิ่งใดที่จะสำเร็จด้วยความเพียรด้วยความบากบั่นของตน ถ้าเราไม่สำเร็จสิ่งนั้นเราจะไม่ลุกขึ้นจากที่นั่งนี้เป็นอันขาด อันนี้เรียกว่าเป็นการอธิษฐานใจอย่างแรงกล้า ยอมตายให้กระดูกผุอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ถ้าไม่สำเร็จแล้วจะไม่ลุกขึ้นอีก เป็นการอธิษฐานใจที่หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน หนักแน่นเหลือเกิน แล้วผลเป็นอย่างไร ผลก็คือได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และนำธรรมะมาสั่งสอนชาวโลกจนถึงทุกวันนี้ อันนี้เป็นเรื่องอธิษฐานใจ ตรัสรู้แล้วก็ยังทรงอธิษฐาน แต่อธิษฐานว่าเราจะมีชีวิตอยู่ตราบจนกระทั่งธรรมะมั่นคงในรูป ถ้าธรรมะยังไม่มั่นคงในรูปเราจะไม่นิพพาน อันนี้เป็นการอธิษฐานใจให้เกิดกำลังใจ เกิดความตั้งมั่นขึ้นในใจ คำอธิษฐานอย่าใช้ในทางผิด คนบางคนไปเที่ยวพูดผิดๆตั้งใจผิดๆไว้ เช่น พูดว่าถ้าทำเรื่องนี้ไม่สำเร็จตายเสียดีกว่า อันนี้มันไม่ได้ มันตายแล้วมันได้อะไรขึ้นมามันสูญไปเสียเปล่าๆ คนมีความรู้มีความสามารถ สิ่งทั้งหลายทำคนเดียวไม่ได้มันต้องอาศัยคนหลายคนช่วยกันจัดช่วยกันทำ อันนี้เราต้องดูว่าสิ่งที่เราจะทำมันสำเร็จคนเดียวหรือต้องสำเร็จเป็นหมู่เป็นคณะ อะไรที่มันจะสำเร็จเป็นหมู่เป็นคณะ เราจะทำบังคับใครไม่ได้ เพราะเราไปบังคับจิตใจคนอื่นไม่ได้ เราจะไปบังคับความคิดความเห็นของใครๆให้เหมือนเรามันก็ไม่ได้ มันสุดแล้วแต่ใครจะคิดใครจะเห็น เราไปควบคุมเขาไม่ได้ บังคับเขาไม่ได้ เมื่อสิ่งใดที่เราคิดว่าจะทำ เราก็อย่าไปพูดออกไปว่าถ้าทำเรื่องใหม่เรื่องนี้ไม่สำเร็จฉันตายเสียดีกว่า อันนี้มันไม่ได้ พูดแล้วไม่รู้จักถอนคำพูดเสียด้วย แต่ความจริงถอนได้ไม่เป็นไรถ้าเราพูดไม่ถูกต้อง เราก็ถอนกับเพื่อนฝูงว่าอันนี้ฉันขอถอน ฉันคิดดูแล้วว่าถ้าฉันตายนี่มันก็ไม่ใช่เรื่องอะไร ไอ้ที่จะทำมันก็ไม่ได้ทำ แต่ฉันอยู่ฉันก็ยังได้ทำต่อไป จึงขอถอนคำพูดที่พูดว่าเมื่อไม่ได้ทำสำเร็จจะตาย จะไม่ตาย จะอยู่ต่อไป อย่างนี้จึงจะเป็นการถูกต้อง อธิษฐานนี่มันต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ ต้องเป็นไปด้วยปัญญา ถ้าอธิษฐานในทางผิดมันก็ไม่ได้ เช่น บางคนธิษฐานว่ากูจะต้องยิงมันให้ได้ ถ้ายิงมันไม่ได้อย่าเรียกกูว่าเป็นผู้เป็นคนต่อไป อย่างนี้อธิษฐานผิดทาง ไม่ได้เรื่องอะไร อย่าเอาไปใช้ อย่าไปตั้งใจในรูปนั้น ตั้งใจในรูปที่มันจะช่วยให้เราดีขึ้น ให้เราเจริญขึ้น และเรื่องนั้นมันเป็นประโยชน์เป็นความสุขแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย จึงจะเป็นการอธิษฐานชอบ
พระพุทธเจ้าของเราท่านทรงอธิษฐานว่าจะทรงมีพระชนม์อยู่จนถึงเวลาที่ธรรมะตั้งมั่น ถ้าธรรมะยังไม่ตั้งมั่นในรูป ยังไม่เสด็จนิพพาน อันนี้เรียกว่าเป็นการอธิษฐานใจเหมือนกัน มหาตมะคานธีซึ่งเป็นคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศอินเดีย ท่านก็มีการอธิษฐานใจบ่อยๆในเรื่องที่เป็นประโยชน์เป็นความสุขของส่วนรวม แล้วก็ทำจริงตามสิ่งที่ได้อธิษฐานไว้ มีคนปองร้ายท่านบ้างเหมือนกัน เช่น วางระเบิด ระเบิดเรือนพังไปทันทีไม่ตาย ท่านบอกว่าถึงใครจะทำร้ายฉัน ฉันยังไม่ตาย ถ้าอินเดียยังต้องการฉันอยู่ฉันไม่ตาย แต่เมื่อใดประเทศอินเดียสำเร็จจุดหมายปลายทางคือได้รับอิสรภาพ ฉันจะตายได้เมื่อนั้น ไม่มีใครฆ่าฉันก็ตายของฉันตามเรื่องของมัน แต่เพราะว่าก็มีคนฆ่าฉันเหมือนกัน คนอื่นฆ่าให้เราตายยังดีกว่าฆ่าตัวตายเอง เพราะว่าเขามาฆ่าไม่ใช่ว่าเราฆ่าของเราเอง อันนี้ก็เป็นเรื่องน่าคิดในจิตใจ ในการทำอะไรๆ เราอย่าไปคิดว่ามันรุนแรงเกินไป ต้องถือหลักสายกลางของพระพุทธเจ้าที่เราเรียกว่า ทางสายกลาง
ทางสายกลางเอามาใช้ในรูปปฏิบัติหรือทำอะไรอย่าให้มันสุดโต่ง อย่าให้มันตึงเกินไป อย่าให้มันหย่อนเกินไป ตึงเกินไปมันก็ขาด ถ้าหย่อนเกินไปมันก็เงิบงาบ มันใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องขึงให้พอดีๆ คล้ายกับเราดีดไวโอลิน เล่นไวโอลิน ถ้าหากว่ามันหย่อนเสียงมันก็ไม่เพราะ ถ้ามันตึงเกินไปเสียงมันก็ไม่เพราะ ไอ้ที่จะเสียงเพราะมันต้องได้ขนาดพอดีๆ เพราะฉะนั้นเขาต้องขยับสายบ่อยๆ เพื่อให้เกิดความพอดี แล้วก็บรรเลงเพลงได้ไพเราะเพราะพริ้ง ในชีวิตของเราแต่ละคนก็เหมือนกันคนบางคนมันตึงเกินไป ทำอะไรมันแรงเกินไป ยึดถือมากเกินไป ทุ่มเทมากเกินไป จนไม่ได้พักได้หลับได้นอน ไอ้อย่างนี้ร่างกายมันก็ทนไม่ไหว เราจะต้องรู้จักแบ่งเวลา เวลานี้เป็นเวลาทำงาน เวลานั้นเป็นเวลาเล่นกีฬา เวลานั้นเป็นเวลาพักผ่อน เวลานั้นควรจะไปวัดเสียบ้าง ไปฟังพระสอนพระเตือน จะได้เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจให้เกิดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ต้องแบ่งอย่างนั้น ไม่ใช่มุดหน้าทำงานทำการจนไม่มีเวลาหยุดไม่ได้หลับได้นอน ร่างกายมันทนไม่ได้ มันเครียดทางสมอง แต่นี่เมื่อเครียดขึ้นก็ไม่รู้ว่าสาเหตุอะไร ทำไมเราเครียดอย่างนั้น อันนี้เรียกว่ามันตึงเกินไป คนบางคนมันหย่อยเนิบนาบเกินไป ไม่เอาไหน ไม่เอางานเอาการ ทำเล่นๆนิดๆหน่อยๆ มันก็ใช้ไม่ได้ ต้องสายกลางให้พอดีๆ คือ ไม่ตึงไม่หย่อน ทำให้มันพอดี อะไรทุกอย่างมันต้องสายกลางทั้งนั้น กินอาหารแบบพอดี นุ่งห่มแบบพอดี จ่ายเงินจ่ายทองก็พอดีๆ อย่าให้มันเกินรายรับ อย่าให้ต้องเป็นหนี้เป็นสินใคร ทำอะไรให้มันพอเหมาะ ขับรถนี่ก็เหมือนกัน ถ้าเร็วเกินไปมันก็สุดโต่ง ช้าเกินไปเพื่อนขับไปข้างหลังเค้าก็รำคาญ เรามันต้องพอดี เค้าขีดบอกไว้แล้วกี่กิโลต่อชม. เค้าขีดบอกไว้ บ้านเรามันไม่ค่อยละเอียด เมืองนอกเค้าเขียนไว้เสร็จ ขับไม่เกิน ๕๕ ไมล์ต่อชม. เค้าเขียนบอกไว้อย่างนั้น ถ้าใครวิ่งถึง ๖๐ เดี๋ยวมาแล้ว ตำรวจมาแล้วมาสกัดทันที ให้หยุดและให้ใบเตือน ใครได้รับใบเตือนบ่อยๆ ค่าประกันรถยนต์มันแพงขึ้น มันถูกปรับอยู่ในตัวบริษัทประกันจะมาตรวจเช็คบ่อยๆ ไอ้นี่ตำรวจเตือนบ่อยๆค่าประกันต้องขึ้นแสดงว่าเป็นคนประมาท ขับรถไม่ค่อยเรียบร้อย อันตรายจะเกิด เพราะฉะนั้นค่าประกันมันต้องแพง มันถูกลงโทษไปในตัว ของเรามันไม่ค่อยละเอียดอย่างนั้น ปักป้ายนิดๆหน่อยๆไม่บอก คนขับก็ชอบขับเกิน เขาให้ขับเพียง ๖๐ ก็ดันไปตั้ง ๑๐๐ เวลามีอะไรเกิดขึ้นก็เบรคไม่ทันพลิกคว่ำกันไปเลย เกิดอุบัติเหตุตายกันบ่อยๆ เพราะมันเกินพอดีทั้งนั้น กินอาหารก็ต้องกินพอดี ถ้ากินเกินพอดีมันก็หนักท้อง มันก็ไม่ได้เรื่องอะไร นอนมันก็ต้องพอดีตามที่ร่างกายต้องการ เกินพอดีไปมันก็ไม่ได้ ทางสายกลางที่พระพุทธเจ้าเทศน์ไว้เราก็ต้องเอามาใช้ ในชีวิตประจำวันของเราทำอะไรมันต้องพอเหมาะพอดี ถ้าพอเหมาะพอดีแล้วมันก็สำเร็จประโยชน์
พระพุทธเจ้าจึงตรัสเป็นหลักไว้ว่า มัฑตัณยุตา สธา สาธุ (22.50) ความรู้จักพอดีในกิจกรรมต่างๆ ทำให้สำเร็จประโยชน์ ประโยชน์มันจะเกิดเพราะความพอดี ถ้าเกินพอดีไม่ได้ ขาดพอดีก็ไม่ได้ พอดีมันไม่ใช่เรื่องเล็ก มันเป็นเรื่องสำคัญ ต้องใช้อย่างนั้น ชีวิตจึงจะไปรอดเรียบร้อยเป็นไปด้วยดี เพราะอย่างนั้นในฤดูกาลเข้าพรรษาเราก็อธิษฐานใจแบบธรรมดาๆ เช่น อธิษฐานใจว่าเราจะรักษาศีล ๕ ให้เคร่งครัดตลอดพรรษา ศีล ๕ มีอะไรบ้าง เราไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำร้ายใคร ไม่ฆ่าใคร เราไม่ถือเอาสิ่งของของใครๆโดยวิธีใดๆก็ตาม เราไม่ประพฤติผิดในทางกาม เราไม่พูดโกหกหลอกลวงใคร ไม่พูดคำหยาบกับใคร ไม่พูดคำที่ให้คนแตกหัก ไม่พูดคำเหลวไหลเพ้อเจ้อ เราไม่เสพสิ่งเสพติดมึนเมา ๕ ข้อเราก็เพ่งเกินไปกว่าปกติ ให้เคร่งครัดขึ้นไปหน่อย อย่างนี้เรียกว่าตั้งจิตอธิษฐานในเรื่องศีล แล้วก็คอยสำรวจตัวเองไว้บ่อยๆ ว่าศีลของเราบกพร่อง ศีลของเราบริบูรณ์หรือว่ามันขาดตอนไปตอนไหนบ้าง ถ้าบกพร่องก็ทำให้เต็ม มันขาดก็ทำให้เต็มขึ้น ให้เป็นศีลที่มองแล้วสบายใจ มองตัวเองแล้วสบายใจ ไม่ว่าพระสงฆ์ องค์เณรตลอดถึงญาติโยมชาวบ้าน เรียกว่าปฎิบัติธรรมให้มองตัวเองแล้วสบายใจ ถ้ามองตัวเองแล้วมันยังตะขิดตะขวงใจอยู่ ก็แสดงว่ามันยังไม่ค่อยเรียบร้อย ปฎิบัติไม่ก้าวหน้าในทางธรรม เพราะมองตัวเองแล้วมันยังรังเกียจตัวเองได้อยู่ ยังเบียดเบียนตัวเองได้อยู่ เราจึงต้องหมั่นพิจารณาว่า โดยศีลโดยการปฏิบัติของเรานั้นง เป็นที่ชื่นใจของเราแล้วหรือยัง หรือคนอื่นเขามองเราแล้วเค้าชื่นใจกับเราหรือไม่ มีอะไรที่เราจะทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ ให้เจริญขึ้นไปกว่านี้ได้บ้าง แล้วเราก็ก้าวต่อไปไม่หยุด เรียกว่าก้าวต่อไปไม่หยุด อย่างนี้เป็นการถูกต้อง
ในเรื่องศีล เราต้องอธิษฐานใจไว้อย่างนั้น หรือเราอธิษฐานใจว่าถ้าถึงวันอุโบสถแม้เราจะไม่ได้มาวัดแต่เราจะรักษาศีลอุโบสถ รักษาศีลอุโบสถอยู่ที่บ้านก็ได้ไม่เป็นไร เราต่อสู้กับปัญหาที่บ้าน แต่มาอยู่วัดมันไม่มีเรื่องกวนใจ มันยังไม่มี สู้อยู่ที่บ้านไม่ได้ เพราะที่บ้านยังมีอารมณ์มายั่ว คนนั้นมาพูดคนนั้นมาแหย่ จิตใจสงบได้ก็เรียกว่า ็็้้กดเราเก่ง แต่ถ้ามานั่งเก่งอยู่ใต้ต้นไม้คนเดียวมันก็ไม่ได้มีอะไรทดสอบ เราจะรู้ว่าเราเก่งได้อย่างไร เช่น บอกว่าฉันอยู่ป่านี้ไม่โกรธใคร ก็จะให้โกรธใครก็ไม่มีใครมาด่า ไม่มีใครมายั่วนี่ จะไปโกรธใคร แต่ถ้าเราไปอยู่ในบ้านแล้วคนมายั่ว และเราไม่โกรธเราก็เก่ง เราไม่ขุ่นไม่เศร้าหมองใจเราก็เก่ง ดังนั้นเราทดสอบที่บ้านบ้างก็ได้ ทดสอบในงาน เช่น เราอยู่กับคนมากๆแล้ววันนี้วันอุโบสถ ฉันจะทำให้ให้เยือกเย็น ให้สงบ ให้มีเหตุผล มันก็มีเรื่องมาทดสอบ เค้าเรียกว่ามีมาร มีพระก็มีมารมาอยู่ด้วย มารก็มายั่ว วันนี้ถืออุโบสถเหรอขอยั่วหน่อย มารมายั่วเราก็บอกตัวเองว่าฉันถือศีลนะวันนี้ ฉันอย่าไปโกรธเขานะ อย่าไปพูดคำหยาบกับเขา อย่าแสดงอาการอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควรออกไป มันจะเสียเหลี่ยมของคนถือศีล เรามีสติกำกับตัวอย่างนั้น เราก็นั่งสงบใจ มีอะไรก็พูดเรียบร้อย เย็นๆ สงบ แม้จะดุจะว่าใครก็ไม่ดุด้วยถ้อยคำหยาบคาย แต่ชี้แจงเหตุผลให้เขาเข้าใจว่าเรื่องนั้นควรเป็นอย่างนั้นเรื่องนั้นควรจะเป็นอย่างนี้ พูดด้วยอารมณ์สดชื่น พูดด้วยความเมตตากรุณา ไม่มีอารมณ์ขุ่นเศร้าหมองเกิดขึ้นในใจ อย่างนี้ศีลของเราก็มันก็ดีขึ้น จิตใจของเราก็สงบขึ้น เราทำได้และก็ทำบ่อยๆตามโอกาสที่เราจะกระทำได้ เราไปติดต่องานที่ไหนก็ได้ แม้เป็นวันที่เราถืออุโบสถก็ทำได้แต่เราไปด้วยสติไปด้วยปัญญา ไม่ได้ไปด้วยความหลง ความมัวเมาหรือความประมาท แต่ก่อนๆนี้เราไปไหนก็ไปด้วยความประมาท ไปด้วยไม่มีสติไม่มีปัญญากำกับจิตใจ แต่เมื่อเราถืออุโบสถเข้า เราไปได้ ไปติดต่อเรื่องค้าเรื่องขาย เรื่องอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้แต่ทำโดยมีสติปัญญากำกับ ทำไม่ให้ผิด ทำไม่ให้เสียหาย ใครเค้าจะทำเราให้เกิดอารมณ์ เราก็ไม่เกิดอารมณ์ คนที่ติดต่อกับเราเขาก็คงจะแปลกใจขึ้น วันนี้ใจเย็น วันนี้ใจสงบ พูดจาก็นิ่มนวล เขาอาจจะถามเราก็ได้วันนี้เป็นอย่างไรดูอารมณ์เย็นดี วันนี้ฉันถือศีลฉันถืออุโบสถ ฉันมานี่ก็มาด้วยศีล มาด้วยสติปัญญา ฉันไม่มาด้วยเป็นอย่างอื่นในจิตใจ คนก็จะชอบเรา จะทำให้เกิดความนิยมชมชอบในเรา เราจะทำธุรกิจการงานอะไร ถ้าเราทำอย่างคนมีศีลอย่างนั้นอยู่ในใจ คนอื่นเขาก็พอใจเรา เขาก็ให้ใจเรา เพราะเรามีฐานมั่นคงในจิตใจ ทำได้ไม่ใช่ทำไม่ได้ ไม่ใช่ถือศีลแล้วต้องมานั่งอยู่ที่วัดตลอดเวลา นั่งนั้นสำหรับคนแก่ เพราะอยู่บ้านก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ก็มานอนวัดถือศีลเสีย แต่ว่าคนที่ยังไม่แก่ถือศีลได้ทั้งๆที่ประกอบหน้าที่การงาน อยู่ในวงการธุรกิจ การค้าการขาย แต่เราก็มีศีลประจำจิตใจ
ศีลจะช่วยทำให้เราเกิดสติปัญญา เกิดความสามารถ เกิดความเชื่อความไว้วางใจจากคนทั้งหลายทั่วๆไป เพราะเราอยู่ในศีล มีคนแก่คนหนึ่งที่ปักษ์ใต้ท่านไม่รู้หนังสือ ความจริงอ่านหนังสือไม่ค่อยออก แต่ว่าทำค้าขายติดต่อกับทางกรุงเทพฯ เวลาได้เงินมาก็ส่งมาให้เขา ส่งมาให้เขา คือทำอย่างคนมีศีล มีความซื่อสัตย์ต่อคนที่ค้าขายด้วยกัน คนที่ค้าขายด้วยเค้าก็ไว้ใจ เค้าส่งสินค้าไปให้ขายมากมาย ได้เงินก็ส่งมาให้เขา ไม่รู้จักกันด้วยซ้ำไปว่าหน้าตาเป็นอย่างไร รู้จักกันทางจดหมายที่คนอื่นช่วยเขียนให้ แต่ต่อมาคนที่ค้าขายด้วยเขาก็ไปเยี่ยมถึงบ้าน เค้าก็ไปชมเชยว่าคุณเป็นลูกค้าที่ซื่อสัตย์สุจริตไม่เอาเปรียบกับผู้ที่ค้าขายด้วย ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น เพราะคนๆนั้นเป็นคนถือศีล ถือศีลก็ยังค้าขายได้ ยังประกอบการงานได้ เป็นนักธุรกิจได้ และจะเป็นนักธุรกิจที่ดีขึ้นด้วย แม้เราทำราชการ เช่นวันทำราชการเรา ถือศีลอุโบสถก็ได้ เราไปทำงานตามปกติและรับประทานอาหารกลางวัน ตอนบ่ายเราไม่ยุ่งอะไรตั้งหน้าตั้งตาทำงาน ทำงานด้วยความมีสติกำกับจิตใจ มีปัญญากำกับใจ ใจเราก็สงบขึ้น อะไรๆมันก็ดีขึ้น ลูกน้องก็สังเกตเห็นวันนี้นายไม่เหมือนวันก่อน แล้วเขาก็รู้ว่านายถือศีล ลูกน้องพอเห็นว่านายถือศีล ก็อยากจะถือศีลบ้าง คือหัวหน้าเดินทางไหนลูกน้องก็เดินทางนั้นแล้ว ถ้าหัวหน้าชอบดื่มเหล้าลูกน้องก็ชอบดื่มเหล้า หัวหน้าชอบเที่ยวกลางคืนลูกน้องก็ไปด้วย ประจบนาย ไม่ใช่เรื่องงานอะไร แล้วนายชอบอะไรลูกน้องก็ไปด้วย เละเทะไปหมด ถ้าเจ้านายตกต่ำ แต่ถ้าเจ้านายจิตใจสูงลูกน้องก็จิตใจสูง มันได้ประโยชน์ ดังนั้นถือได้ ไม่ลำบากอะไร คนบางคนผมยุ่งงานยุ่งถือศีลไม่ได้ หมายความว่า เรายุ่งการยุ่งงานจนไม่มีเวลาอาบน้ำเชียวหรือ คนไม่อาบน้ำจะอยู่อย่างไร ขี้เหงื่อขี้ไคลขนาดไหนถ้าไม่ได้อาบน้ำ เมื่อเช้านี้อ่านข่าว ๖ โมงเช้าที่หน้าคุกลาดยาวฝนไม่ตก ที่ฝนไม่ตกเพราะเจ้าหน้าที่ไปบนบานศาลไว้ว่าอย่าให้ฝนตก เสร็จแล้ว คนนั้นจะต้องไม่อาบน้ำตลอดเวลา ถ้าบนสัก ๗ วันคนนั้นคงนั่งใกล้เพื่อนไม่ได้อย่างนั้นสิ ถ้าไม่อาบน้ำเลยจะนั่งใกล้เพื่อนอย่างไร แบบนั้นมันก็แย่ ไม่ไหวอย่างนั้น ไปบนบานศาลกล่าวไว้ ความจริงมันก็ไม่มีอะไร ฝนก็ตกตามเรื่อง แต่ไม่ตกที่ตรงบางแห่งมันก็ไม่ตกมันไปตกตรงอื่นมันก็มีเหมือนกัน แต่ว่าคนเราก็ตกใจมันกลัว ก็ไปบอกที่นั่นบอกที่นี่ว่าช่วยหน่อยอย่าให้ฝนตกมา พอเสร็จงานแล้วก็เอาไก่ไปเที่ยวแก้ตั้งหลายตัว แต่มันดีอย่างหนึ่งเทวดาก็ไม่กินไก่ คนไปแก้แล้วก็เอาไปกินกับเหล้าแทน คนชอบบนบานศาลกล่าวเพราะมันได้กำไร ได้กินไก่เหลือเดนเทวดา เทวดากินไม่สิ้นเปลือง พวกนั้นเลยกินต่อไปอย่างนี้มันก็มี
คนเราต้องชำระล้างอยู่ตลอดเวลา ล้างกายล้างวาจาล้างจิตใจให้สะอาดให้เรียบร้อย พอถึง ๗ วันเราก็อาบชำระทีหนึ่ง ตั้งใจที่หน้าพระในบ้านก็ได้ถ้าไม่ไปวัด ตั้งใจว่าวันนี้เป็นวันพระข้าพเจ้าขอสมาทานอุโบสถศีลเป็นเวลาวันหนึ่งคืนหนึ่ง เรียกว่าตั้งใจรักษาอยู่ที่บ้าน ไม่ใช่พอรักษาศีลแล้วปิดประตูไม่รับแขกเลย อย่างนั้นมันก็ไม่ได้ ไม่ได้อวดแขกไง รักษาศีลไม่ได้อวดแขก เราปิดประตูแล้วใครจะเห็น เรารักษาศีลแขกมาเราก็คุยกับแขกได้ ถ้าเขามาตอนบ่ายเรายกของมาเลี้ยงแขกได้แต่เราไม่รับทาน เขาอาจถามว่าทำไมไม่รับทาน วันนี้ฉันถืออุโบสถ แล้วก็คุยเรื่องอุโบสถให้เขาฟังว่ามันดีอย่างไร เพื่อนของเราได้ยินอย่างนั้นฉันจะต้องถือบ้าง มันก็ดี ชวนเพื่อนให้ได้ถืออุโบสถบ้าง แม้คนหนุ่มๆสาวๆถ้าเราจะถือก็ถือได้ ไม่ลำบากยากเข็ญอะไร เราก็ถือแล้วคุยกับเพื่อน เพื่อนว่ายังไม่แก่ไม่เฒ่าเข้าวัดแล้วหรือ เข้าวัดมันต้องเข้าตั้งแต่ยังไม่แก่ไม่เฒ่า เหมือนเราเข้าป่าถ้าเข้าจวนค่ำ ตัดได้กี่ดุ้นมันมืดเสียแล้ว ตัดไม่ได้ มันต้องเข้าแต่เช้า เข้าแต่เช้าตัดไม้ฟืนได้เยอะ
คนเราทำดีต้องทำตั้งแต่เป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่มเป็นสาว ทำติดต่อกันไป ถ้าเราทำติดต่อกันไปอย่างนั้นชีวิตเราจะมั่นคง ยืนอยู่บนฐานแห่งความมั่นคง ฐานแห่งความมั่นคงคือยืนบนฐานศีลธรรม ฐานของศาสนานี่เรายืนมั่นคงไม่มีอะไรจะมาทำลายเราได้ แล้วจะมีความเจริญก้าวหน้าต่อไปในชีวิตในการงาน อันนี้เป็นเรื่องที่เราควรอธิษฐาน รักษาศีลไว้เป็นประจำ หรือว่าเราจะอธิษฐานว่าจะทำบุญด้วยการ ตักบาตร ตักบาตรถวายพระไม่ต้องมาก สมมุติตักวันละสัก ๓ องค์ก็พอ ถ้วยเล็กๆ ๓ องค์ ทุกวันๆ ใส่บาตรพระหรือว่าวันพระเราทำอะไรเราก็อธิษฐานใจไว้ ว่าจะทำอย่างนั้น ตักบาตรถวายอาหารแก่พระ เราถวายอาหารพระเรียกว่า อุทิศต่อพระอริยสงฆ์ อย่าไปนึกว่าพระองค์นั้นไม่ดีพระองค์นี้ไม่ดีมันวุ่นวายใจ เราอย่าไปคิดอย่างนั้น เราคิดว่าเราคิดต่อพระอริยสงฆ์ ใครมารับของเราก็ได้ทั้งนั้น ใส่ให้ไปด้วยจิตใจที่งดงาม มีความตั้งใจดีในเบื้องต้น ในท่ามกลาง ในที่สุด ทานของเราก็เป็นทานที่ใช้ได้ บริสุทธิ์เรียบร้อย ทำอย่างนั้นแม้สักถ้วยหนึ่งก็ยังดี ใส่บาตรสักถ้วย เมื่อก่อนนี้อาตมาอยู่กรุงเทพฯ อยู่วัดสามพระยาคนใส่บาตรน้อยสมัยนั้น แถวถนนบางลำพูมีใส่ขันใหญ่อยู่คนเดียวชื่อโยมจัน แกใส่ตั้งแต่ ๗โมงจนถึง ๙โมงก็ยังไม่เลิก ใส่เรื่อย ไม่มีอะไรใส่ข้าวกับขนมข้าวตากแห้งนำมาผัดกับน้ำผึ้งหวานๆฉันหวานๆทุกวัน ใส่เท่านั้น แต่ใส่มาก มาบางทีกลับมาก็ไม่ค่อยมีอะไร ใส่แค่ ๔ ช้อน ๕ ช้อนขนมหลายห่อ พอได้ฉัน บางทีเดินไกลได้สักอิ่มหนึ่ง ไปถามพระในปัจจุบัน เดี๋ยวนี้มันก็ดีขึ้น คนใส่บาตรมากขึ้น แสดงว่าจิตใจญาติโยมทำมาหากินสะดวกขึ้นแล้วก็ยังใส่บาตรอยู่ ไม่ทำนาก็ยังมีข้าวใส่บาตร เคยไปพบที่นครศรีธรรมราช อาตมาเคยอยู่นครฯ ๒ ปี ไปบิณฑบาตรคุณยายใส่บาตรทุกวันๆ ดูบ้านแกไม่เห็นยุ้งข้าว ไม่เห็นอะไร ใส่ทุกวัน บางทีเรามาหลังเพื่อน ข้าวจะหมดหม้อแล้ว ก็ยังอุตส่าห์ไปขูดก้นหม้อติดข้าวตังมาใส่ ใส่จนหมดหม้อ นานๆเข้าคุ้นกันเลยถามโยมทำมาหากินอะไร ตอบว่าดิฉันไม่ได้ทำมาหากินอะไรอยู่อย่างคนแก่ แล้วเอาข้าวสารที่ไหนมาใส่บาตร ใส่ทุกวันๆเอาที่ไหนมาใส่ คนเอามาให้ เอามาให้ทีละกระสอบ คนนั้นเอามาให้คนนี้เอามาให้ ดิฉันก็หุงใส่บาตรทุกวัน มันก็ไม่ขาด มีคนเอามาให้เรื่อย แกทำเป็นอาจิณ จนคนมาเห็นเข้าก็เอามาให้ช่วยหุงใส่บาตร แกก็หุงใส่ไปเรื่อยๆ ได้กินมั่ง ใส่บาตรบ้าง เหลือบ้าง ร่างกายผอมๆไม่อ้วนไม่ท้วนอะไร แต่ร่างกายอายุมั่นขวัญยืน อยู่นานเดี๋ยวนี้ได้ตายไปแล้ว ได้ความรู้ว่าที่แกใส่บาตรทุกวันคนเอาข้าวสารมาให้ คนเราถ้าทำอะไรเป็นอาจิณ เขาก็อยากช่วยเหลือ แต่นานๆทำทีคนก็ไม่รู้ แต่ทำทุกวันๆคนก็รู้ว่าทำอะไร เขาก็เลื่อมใสศรัทธา เขาก็มาช่วยมาค้ำจุนด้วยประการต่างๆ
นายประยงค์ ตั้งตรงจิตร เจ้าของห้างขายยาตราใบโพธิ์ แกก็ถือเคร่งศาสนา สวดมนต์ทุกคืน ตักบาตรทุกวัน แกเอาไปเงินไป สร้างตั้งโรงเรียนเมืองนั้นเมืองนี้ โรงเรียนตั้งตรงจิต แกคิดจะสร้างโรงเรียน ๗๐ จังหวัดตายเสียก่อน ได้ก็ได้สัก ๒๐ จังหวัดได้ เคยถามว่า โยมเอาเงินที่ไหนมาทำบุญมากมาย มันก็มาเรื่อย ค้าขายดีขึ้น ขายยาก็ดีขึ้น ทำอะไรมันก็ดีขึ้น ผมทำบุญทุกวันนี่มันยิ่งได้ มันเป็นอย่างนั้น คือยิ่งให้มันยิ่งได้ มันเป็นเรื่องธรรมดา คนเราถ้าไม่ให้อะไร แล้วมันก็ไม่ได้อะไร แต่ถ้าเราให้มันก็ได้คืนมา ลองดูเถอะโยม ให้ทานเราให้ไปมันก็ได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่งมาให้เกิดขึ้นแก่เรา เรียกว่าบุญมันมาช่วย อันนี้มันมีจริงๆ ไม่ใช่เรื่องเหลวไหล มันมา ถ้าเราทำจริงจัง ทำด้วยความเสียสละ มันก็เกิดประโยชน์แก่เรา เพราะฉะนั้นเราทำไปเถิด ทำตามมีตามได้ เล็กๆน้อยๆ ใส่ได้สักบาทหนึ่ง สักขันหนึ่ง ถ้วยหนึ่งก็ยังได้ แต่ถ้าเราไม่มีเวลาก็ไม่เป็นไรเอาปัจจัยมาที่วัดนี้ได้ วันอาทิตย์ก็มาหยอดได้ ใส่ตู้ไว้เป็นค่าภัตตาหารเลี้ยงพระ พระมากๆในพรรษานี้ พอพระมากคนเอามาให้แล้วข้าวสาร เมื่อวานคนหนึ่งเอามาให้ ๕ กระสอบ อีกคนเอามาให้ ๒ กระสอบ ไม่ได้บอก ไม่ได้ประกาศว่าพระมากนะโยมช่วยเอาข้าวสารมาให้ ก็มาจนกินไม่ทันแล้วเวลานี้ เห็นว่าจะต้องขยับขยายไปที่อื่นเหมือนกัน เอาไปให้วัดที่เขาขาดแคลน ต้องหาโอกาสเอาไปช่วยที่อื่นต่อไป เขามาเอง เขารู้ เขาเห็นว่าพระมาก ข้าวสารบิณฑบาตรคงไม่พอ คนที่ใส่บาตรก็เพิ่มขึ้นเหมือนกัน เช่นว่า คนในบริเวณนี้นอกพรรษาคนใส่บาตรก็น้อย พอเข้าพรรษาคนบวชมาก คนใส่บาตรมันก็เพิ่มขึ้น แล้วไปตามหมู่นั้นหมู่นี้ บ้านจัดสรรเยอะแยะ ก็ได้อาหารฉันกันไม่ได้เดือดร้อนอะไร มื้อเช้าฉันได้สบาย เมื้อเพลก็หุงบ้างนิดหน่อยเพื่อช่วยเหลือพระที่บวชใหม่ แต่ว่าจะเลี้ยงอยู่ ๒ เดือน พอเดือนที่ ๓ ให้ถือธุดงค์ฉันมื้อเดียว เพื่อให้รู้ว่าฉันมื้อเดียวก็อยู่ได้ ไม่เป็นไร จะได้เป็นปัจจัยหักห้ามความอดทน การบังคับตัวเองเวลาไปอยู่บ้านต่อไป นี่คือการทำทาน ทำแล้วมันไม่ได้ลำบากอะไร อย่ากลัว ให้ไปเถอะ ถ้ามีอะไร แต่ว่าให้พอดีๆ ให้ทาน รักษาศีล หรือเราตั้งใจว่าจะฟังธรรมทุกวันอาทิตย์ พอวันอาทิตย์เป็นวันฟังธรรมที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ เราก็อธิษฐานใจไว้ว่าในพรรษา ๓ เดือนนี้จะมาฟังธรรมทุกอาทิตย์ไม่ขาด ก็มาฟังธรรม หรือจะฟังธรรมทางวิทยุ ทางโทรทัศน์อะไรที่เขาออกๆกันอยู่ เราอยู่บ้านก็เปิดฟังหรือมีเทปธรรมะเราก็เปิดฟังก่อนหลับก่อนนอน ฟังให้มันเพลินไปพอจบเทปก็หลับพอดี มันจะได้ประโยชน์ มีบางคนนอนไม่หลับพอฟังเทปเพลินไม่รู้ว่าเทปหมดเมื่อใดหลับปุ๋ยไปแล้ว ใจมันไม่ฟุ้งซ่านมันก็หลับไว พอไม่ฟังธรรมใจมันก็ฟุ้งซ่านคิดนั่นคิดนี่ บินไปบินมา ไม่ไหว เอาธรรมะไปเป็นหลักก็หลับสบาย ตั้งอธิษฐานใจว่าจะฟังธรรม หรือเรามีอะไรบกพร่องอยู่ในตัวเรา เช่น เราเป็นคนใจร้อน อธิษฐานใจว่าในพรรษานี้ฉันจะไม่ใจร้อน ฉันจะเป็นคนใจเย็น แต่ว่าอธิษฐานแล้วต้องสืบต่อไว้ สืบต่ออย่างไร คอยมีสติควบคุมไว้ เวลาเข้าใกล้ใคร ต้องคอยเตือนว่าใจเย็นๆอย่าร้อนอย่าไปหุนหันพลันแล่น ใจเย็นๆ หัดพูดไว้บ่อยๆหัดพูดเตือนใจให้ใจเย็นๆไว้ มันก็ค่อยๆเย็นขึ้นๆแล้วเราก็สบายใจ เรื่องอะไรที่มันไม่ดีไม่งามที่มีอยู่ในจิตใจของเรา เรามาระบุกันตอนเข้าพรรษา มาเลิกมาละมาเอาออกด้วยการตั้งจิตอธิษฐานอย่างนั้น สิ่งทั้งหลายมันก็ดีขึ้น
เพราะงั้นในฤดูกาลเข้าพรรษา ให้ญาติโยมทุกท่านให้ถือว่า เป็นฤดูกาลแห่งการทำจิต ในเรื่องศีล ในเรื่องสมาธิ ในเรื่องปัญญา เช่น เรื่องสมาธิคือการฝึกจิตก็อธิษฐานไว้ ก่อนนอน ๑๐ นาทีเราจะนั่งสงบจิต ตื่นเช้าก่อนจะไปทำอะไรก็นั่งสงบจิตเสียก่อน ก่อนตื่นขึ้น ไม่ต้องไปห้องน้ำห้องท่านั่งสงบจิตเสียก่อน พิจารณาอะไรต่ออะไรให้ใจสบายและรักษาสภาพจิตใจนั้นไว้ตลอดเวลาอย่างนี้เราก็ดีขึ้น หรือเราตั้งใจว่าในพรรษาจะอ่านหนังสือธรรมะเรื่องอะไรที่ยังไม่ได้อ่าน อ่านให้มันตลอดเรื่อง อ่านให้จริงจัง อ่านทุก เช่นวันนั้นเวลานั้น อ่านให้มันตลอดเวลา เช่น กลางคืนตื่นขึ้นนอนไม่หลับ อ่านหนังสือเสียหน่อย วันละหน้าสองหน้า อ่านแล้วมานั่งคิดนั่งตรอง เรื่องนี้ท่านพูดถึงอะไร ท่านสอนอะไร เรื่องนี้มีอยู่ในจิตใจเราหรือไม่ มีมากหรือว่ามีน้อย ท่านสอนการขูดการเกลาไว้ด้วย เราก็ต้องขูดเกลา ขูดเกลาไม่มีอะไร สติกับปัญญาสองตัวเท่านั้นแหล่ะ มีดสองเล่มนี้ มีดสติ มีดปัญญา มาคอยขูดคอยเกลาไว้ กันไว้ไม่ให้มันเกิด ให้รู้เป็นหลักว่าจิตของคนเรานั้นไม่มีกิเลสโดยธรรมชาติ แต่มันเกิดขึ้นเพราะเราเผลอเราประมาท ขาดสติ ขาดปัญญา กิเลสมันก็เกิดขึ้น เราเอาสติมาคอยคุม เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายกระทบกระทั่งสิ่งใด ก็มีสติคอยคุมไว้ ไม่ให้เกิดยินดียินร้าย มันสองเรื่องเท่านั้น ยินดีมันก็ไม่ได้ ยินร้ายมันก็ไม่ดี ทั้งสองเรื่องมันไม่ดีคอยคุมไว้ ไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย ใจเราก็สงบ ไม่วุ่นวาย ไม่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้น ไม่มีอะไรมากระทบ เราก็รู้สึกสงบอยู่ตลอดเวลา แล้วเราก็จะรู้สึกขึ้นในทางจิตใจ เมื่อใจดีงามมันก็ดี สุขภาพกายก็ดี สุขภาพจิตมันก็ดี มันก็ดีไปหมด เพราะอาศัยการทำบ่อยๆ ในฤดูกาลเข้าพรรษาเป็นฤดูกาลที่เราจะทำอะไรก็ทำให้มันติดต่อกันไปตลอด ๓ เดือน เป็นทุนพอใช้ ถ้าเราทำอย่างจริงจังตลอด ๓ เดือน
เรามีเพื่อนมีฝูงของเรา เราควรจะชักจูงเพื่อนฝูงมิตรสหาย ให้ได้เข้าวัดบ้าง ให้ได้ฟังธรรมบ้าง ให้ได้อ่านหนังสือธรรมมะบ้างในฤดูกาลเข้าพรรษา ให้ถือเป็นหลักไว้ในใจว่า ถ้าเราคบเพื่อนเราจะมอบดวงแก้วคือก้านธรรมให้แก่เพื่อน ถ้าเราคบเพื่อนเราจะให้แสงสว่างแก่เพื่อน ในฤดูกาลเข้าพรรษานี้เราจะไม่เอาความมืดไปให้ใครๆ ไม่เอาความหลงความงมงายไปให้ใครๆ แต่เราจะเปิดหูเปิดตาเพื่อนฝูงมิตรสหายของเรา ให้ได้ปัญญา ได้ความรู้ความเข้าใจ อย่างน้อยๆเรามาวัดวันอาทิตย์ดึงเพื่อนมาด้วย ดึงมาตั้งแต่วันเข้าพรรษาเลย วันอาทิตย์ที่จะถึง วันอาทิตย์นี้เขาไม่มา เราไปหยุด อย่าไปละความพยายาม อาทิตย์หน้าดึงอีก ถ้าเรามีรถก็ไปรับถึงบ้าน พามาฟังเทศน์ ฟังเสร็จแล้วขับรถไปส่งถึงบ้าน นี่เขาเรียกว่าช่วยกัน ครั้งหนึ่งเดินทางผ่านเกาะฮาวาย มีพวกฝรั่ง ท่านสาธุคุณเป็นฝรั่ง แต่บวชเป็นนิกายญี่ปุ่น แกไปเทศน์หลังจากญี่ปุ่นเทศน์แล้ว แกไม่มีโบสถ์ ไม่มีโรงธรรมของแก อาศัยโรงธรรมญี่ปุ่น พอญี่ปุ่นเทศน์เสร็จแล้ว แกก็เอาคนของแกมาฟังเทศน์ แกมีรถคันใหญ่ แกไปรับคนฟังเทศน์ด้วย แกเป็นคนเทศน์แต่ขับรถไปรับคนฟังเทศน์ด้วย ขับรถไปฝั่งนั้นฝั่งนี้ ไปต้อนคนฟังเทศน์ อาตมาก็ไปด้วยไปที่โบสถ์นั้น แกก็บอกว่านี่คนฟังเทศน์ต้องเอารถไปรับ ส่วนมากแกเอารถไปรับ ที่มาเองก็มีอยู่ใกล้ๆ ญี่ปุ่นก็เทศน์เป็นญี่ปุ่น แกเทศน์เป็นภาษาอังกฤษแก่คนที่ฟังภาษาอังกฤษ แกทำอย่างนั้นทุกอาทิตย์ อุตส่าห์ขับรถไปรับคนฟังเทศน์ ไปรับคนมาวัดให้ได้แสงสว่าง เราก็ควรจะทำอย่างนั้นในฤดูกาลเข้าพรรษา พยายามชวนคนมาวัดบ้าง ถ้าเขาไม่มาเอาหนังสือไปให้ เอาเทปไปให้ ให้แล้วก็ต้องหมั่นถามอ่านหรือยัง ฟังหรือยัง ถามบ่อยๆคนนั้นจะกระดากก็ต้องฟังไปเอง ต้องอ่าน มันถามบ่อยๆเห็นจะต้องฟังเสียที หรือว่าเราถามเรื่องนั้นเป็นอย่างไร ตอบไม่ได้เขาก็ละอายเอง วันหลังจะตอบทีต้องอ่านเสียหน่อย เพื่อนได้อ่าน ถ้าเราทำให้เพื่อนได้อ่านหนังสือธรรมะ ได้เข้าวัดเข้าวา นั่นแหล่ะคือการช่วยเพื่อน เป็นการช่วยอย่างประเสริฐที่สุด ช่วยให้เขามีนั่นเขามีนี่ก็ยังไม่ดีเท่าช่วยให้เขาได้รู้จักยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น เพื่อนของเราได้ยกระดับจิตใจสูงขึ้นเป็นการช่วยอย่างแท้จริง เป็นการช่วยอย่างประเสริฐ เราทุกคนมีเพื่อนและเพื่อนบางคนของเราก็ป่วยทางใจ พวกที่ป่วยทางใจมีความทุกข์ ไม่รู้จะแก้อย่างไร เราพามาพบพระ ให้ท่านได้อธิบายให้ฟัง แต่ว่าก่อนที่จะพามา ก็ควรมาเล่าให้ฟังก่อน เรียกว่ามาวางแผนกันก่อน ว่าเพื่อนของหนูเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นิสัยอย่างนั้น มีความทุกข์อย่างนั้นมีปัญหาอย่างนั้น มีความทุกข์อย่างนั้น บอกไว้แล้วก็ไปพาเพื่อนมา เพื่อจะได้พูดเจาะลงไปให้เขาได้รู้ได้เข้าใจ ถ้าเพื่อนคนนั้นคลายจากความทุกข์ความเดือดร้อนใจ มีชีวิตเป็นปกติขึ้น เราได้มหากุศลมากมาย สบายอกสบายใจ ที่ได้ดึงเพื่อนขึ้นจากหล่มที่เป็นความทุกข์ความเป็นเดือดเป็นร้อนใจ อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องกระทำ เพื่อนในครอบครัวเราก็มี คนในครอบครัวเราก็มี บางทีก็ไม่ค่อยมาวัดมาวา เราก็พยายามดึงมาไปวัด พามาบ้าง ลูกก็พามา เล็กเกินไปก็ต้องไม่พามา มาเยอะๆเจี๊ยวจ๊าวไม่เข้าเรื่อง เอาแต่พอฟังได้ เด็กที่พอฟังได้ก็พามาให้ฟัง ถ้าหากว่าไม่มาเอาหนังสือไปลูกอ่านหนังสือให้แม่ฟังหน่อย นิดหน่อยก็ยังดี ให้อ่านวันละนิดวันละหน่อยมันก็ค่อยรู้ขึ้น ถ้าอ่านได้มากๆก็อ่านจบบูชากัณฑ์เทศน์ …… (52.02) หน่อยวันนี้ บูชากัณฑ์เทศน์ เด็กก็บอกอ่านหนังสือให้แม่ฟังได้บูชากัณฑ์เทศน์ ทีหลังไม่ต้องบอกแล้วมันจะมาอ่านให้เราฟังเอง เพราะมันอยากได้หน้ากัณฑ์ไม่ใช่อะไร (52.20) เด็กก็ค่อยๆอ่านไปก็ค่อยๆรู้ขึ้นในเรื่องธรรมะ นี่เป็นวิธีการ
แม้คนใช้ในบ้านของเรา เราก็อย่าเพียงแต่ใช้เขาในเรื่องแรงงาน แต่เราต้องช่วยยกระดับจิตใจเขาด้วย คนใช้บางคนมาอยู่ในบ้านนายตั้งปีกว่าๆแต่ยังประทุษร้ายนายได้ คือเราไม่ช่วยยกระดับจิตใจเขาให้ดีขึ้น ไม่พูดจาเรื่องบุญเรื่องกุศล เรื่องอะไรต่ออะไรให้เขาฟัง ไม่เปิดเทปทิ้งไว้ให้คนใช้ได้ยินมั่ง จิตใจมันก็หยาบอยู่อย่างนั้น กริยาหยาบไม่เท่าใด ใจหยาบนี่มันร้าย มันจะประทุษร้ายเราเจ้าของบ้านซึ่งเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ เพราะฉะนั้นเราต้องพาคนใช้มาด้วยให้มานั่งด้วยกัน เสร็จแล้วขากลับก็ชวนพูดชวนคุย เป็นอย่างไร ฟังรู้เรื่องไหม พระท่านสอนเรื่องอะไร บาปบุญเป็นอย่างไร คอยสั่งคอยสอน นานไป จิตใจคนนั้นมันจะโอนอ่อนขึ้นและมันจะรักนาย เพราะมันเข้าใจธรรมมะ มันรู้จักบุญคุณ การที่ได้มาอยู่อาศัย ได้สะดวกในการกินการอยู่ มันก็นึกได้ จิตใจมันก็ดีขึ้นช่วยให้ทุกคนที่อยู่กับเราได้เข้าถึงธรรมะ ได้มีจิตใจที่เป็นธรรมเราก็สบาย แต่ว่าถ้าคนเหล่านั้นมีจิตใจไม่เป็นธรรม เราก็มีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ อันนี้ก็ช่วยได้ ช่วยได้เสมอ เพื่อนอยู่ไกลไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้ ส่งหนังสือไปให้ ส่งธรรมะไปให้ ส่งเทปไปให้ ให้เขาได้ยินได้ฟัง เขาได้ฟังแล้วเขาจะเกิดความพออกพอใจเขาสนใจเขาก็หาของเขาต่อไป อันนี้เป็นเรื่องที่เราควรจะช่วยกันในฤดูกาลเข้าพรรษา ช่วยตัวเราเองด้วยช่วยคนอื่นด้วย ช่วยทั้งสองฝ่าย
พระพุทธเจ้าว่าให้บำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ ให้เต็มให้สมบูรณ์ เวลาจะนิพพานพระองค์บอกว่า อามันตยา มิ ชยะธรรมา …… สังขารา (54.42) ภิกษุทั้งหลาย สรรพสิ่งทั้งหลายมีความเสื่อมไป สิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่เหลวไหลเถิด พูดเป็นคำสุดท้ายแก่สาวกของพระองค์ว่าให้ทำประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ตนที่สำคัญคือฝึกฝนอบรมจิตใจให้เจริญด้วยธรรมมีประโยชน์แก่จิต เรื่องทรัพย์สมบัติเป็นประโยชน์ภายนอก เราก็ต้องแสวงหาไปตามหน้าที่ แต่ถ้าจิตใจเป็นธรรมแล้วการแสวงหาก็ดีขึ้น ได้มากได้น้อยก็ไม่เป็นทุกข์ทางใจ มีจิตใจสงบสบาย ดังนั้นประโยชน์ตนคือทำธรรมะให้เกิดขิ้นในตน ประโยชน์ผู้อื่นก็คือ ช่วยดูแนะนำเพื่อนฝูงให้ได้เข้าถึงธรรมะ ถ้าเราพบเพื่อนบ่นกลุ้มใจจริงๆ ชวนพูดชวนคุย แนะนำในเรื่องธรรมะ ให้เข้าได้รู้บ้างนิดๆหน่อยๆ แล้วจิตใจของเขาก็จะดีขึ้น โลกนี้ยังต้องการความช่วยเหลือด้านธรรมะ ถ้าเราไม่ช่วยกันปลุกระดมในด้านธรรมะ โลกจะเลวร้ายลงไปทุกวันทุกเวลา แล้วเราจะอยู่เป็นสุขกันได้อย่างไร
จึงขอฝากไว้กับญาติโยมทั้งหลาย ว่าให้ช่วยกันตั้งจิตอธิษฐานในเรื่องที่ดีมีประโยชน์แก่ตนแก่ตัวตลอดฤดูเข้าพรรษา ให้เป็นบุญไว้ก่อน แล้วออกพรรษาค่อยว่ากันใหม่ วันนี้พูดมาก็สมควรแก่เวลา ต่อนี้ไปขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที นั่งสงบใจ นั่งตัวตรง หลับตาเสียหน่อย หายใจเข้ายาวกำหนดรู้ตามลมหายใจเข้า หายใจออกกำหนดรู้ตามลมหายใจออก ให้มีความรู้สึกกำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้าและออกไม่ให้ไปไหน เป็นเวลา ๕ นาที ขอเชิญได้