แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ต่อนี้ไปก็ขอให้ทุกท่านอยู่ในอากรสงบ อย่าเดินไปเดินมาให้วุ่นวาย นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่งซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงชัดเจน แจ่มแจ้ง แล้วจงตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการมาในวันนี้ ตามสมควรแก่เวลา
วันนี้ เป็นวันพระ กลางเดือน ๔ และถือว่าเป็นวันมาฆบูชา ตามปกติวันมาฆบูชาก็เป็นวันกลางเดือน ๓ แต่ว่าปีนี้เป็นปีอธิกมาส คือ (มีเดือน) ๘ สองหน (00.47 เพิ่มเติมคำว่า คือ “มีเดือน”) ถ้า ๘ สองหนนี่ วันมาฆะก็เลื่อนมาเป็นกลางเดือน ๔ วันวิสาขะ ก็ไปกลางเดือน ๗ วันอาสาฬหะ ก็เป็น เดือน ๘ หลัง เป็นการเพิ่มอย่างนั้น ถือเป็นระเบียบกันตลอดมา ตามวิชาดาราศาสตร์ที่ได้พิสูจน์กันว่า (01.13 ดาว) ดวงจันทร์ผ่านดาวฤกษ์มาฆะ ในวันนี้ จึงตรงกับวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา
วันสำคัญในทางพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า วันมาฆบูชา ก็เพราะวันนั้นเป็นวันที่มีการประชุมใหญ่ พระอรหันต์จำนวน ๑,๒๕๐ องค์ พระอรหันต์ที่มาประชุมกันนั้นไม่ได้มีการนัดหมาย ไม่ได้เชื้อเชิญ ต่างรูปต่างก็มาเพราะความระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วก็มาพร้อมกันที่เวฬุวนาราม ใกล้เมืองราชคฤห์ เมื่อมาถึงพร้อมเช่นนั้น พระผู้มีพระภาคก็เสด็จไปสู่ที่ประชุมของพระอรหันต์เหล่านั้น แล้วแสดงโอวาทปาติโมกข์ในท่ามกลางสงฆ์ อันนี้จึงได้เรียกว่า เป็นวันมาฆบูชา เพราะเป็นวันประชุมใหญ่ ในตรงกับวันเพ็ญ วันมาฆะ
เราทั้งหลายเมื่อมีชีวิตผ่านมาถึงวันเช่นนี้ ก็มีความสบายใจ สบายใจว่าได้มาร่วมชุมนุม เพื่อน้อมจิตระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลายอีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นความสุขทางใจประการหนึ่ง ทางราชการก็เปิดโอกาสให้แก่ข้าราชการทั้งหลาย เพื่อจะได้หยุดงานหยุดการแล้วจะได้มาวัด เพื่อรักษาศีล ฟังธรรม ทำตนให้เข้าใกล้พระ ใกล้ธรรมะ ชีวิตก็จะมีความสุขมากขึ้น แต่บางท่านก็มา บางท่านก็ไม่ได้มา เพราะว่า ยุ่งกับเรื่องอื่นไปเสีย จุดหมายของการหยุดงานในวันสำคัญทางศาสนานี่ต้องการให้เราที่เป็นข้าราชการ รวมทั้งชาวบ้านทั่วไป เพราะหยุดงานวันอย่างนี้ เป็นการหยุดแบบทั่วไป เราเรียกว่า หยุดทั่วกันไปหมดทุกตำแหน่งแห่งที่ ห้างร้าน ธนาคารอะไรก็ปิดหมด เป็นวันหยุดสาธารณะทั่วไปแก่ทุกอย่าง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ได้เข้าวัด ได้ฟังธรรม ได้ปฏิบัติตนให้ดี ให้งามขึ้นตามหลักคำสอนในทางพุทธศาสนา นี่คือจุดหมายสำคัญ เพราะนั้น เมื่อถึงวันหยุดวันนี้เราก็ต้องทำตามเป้าหมาย คือชวนกันมาวัด มาวัดก็มาทำบุญตักบาตร บ้าง มาสมาทานศีล มาฟังธรรม มาเจริญภาวนา เพื่อควบคุมจิตใจให้อยู่ในสภาพสะอาด สงบ สว่าง อันจะเป็นการช่วยยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ตามหลักการในทางพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น วันนี้ ทั่วไปเกือบทุกวัด ประชาชนก็ไปวัดกัน ทำบุญสุนทานกันตามประเพณีที่ได้กระทำกันมา ที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์เรานี้ ปกติก็มีการแสดงธรรมในวันพระอยู่แล้ว แต่ว่าถึงวันหยุดก็มีการแสดงแถมอีกวันหนึ่ง ญาติโยมก็มากันมากมาย ทำให้สบายใจทั่วกัน เมื่อเรามาวัด เราก็ควรจะได้น้อมจิตระลึกถึงพระอรหันต์ทั้งหลาย
พระอรหันต์ นั้นคือ บุคคลประเภทใด พระอรหันต์ คือ บุคคลผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ หมดจดจากกิเลส เครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย จิตของพระอรหันต์นั้น ต่างจากจิตปุถุชน ปุถุชนคือเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายนั้น ยังมีกิเลสพัวพันจิตใจ ยังมีความโลภบ้าง โกรธบ้าง หลงบ้าง อิจฉา พยาบาท อะไรต่างๆ เกิดขึ้นในใจบ่อยๆ บางคราวก็เกิดเอามากๆ ทำให้เกิด เป็นทุกข์ทางใจ แต่พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายนั้น กิเลส ไม่ได้เกิดขึ้นอีกต่อไปแล้ว เราว่า ท่านเป็นผู้เข้าถึง ซึ่งปัญญาอันแท้จริงตามหลักพระพุทธศาสนา มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง อันไม่มีอะไรจะปรุงแต่งให้ท่าน เป็นอะไรอีกต่อไป เราจึงเรียกว่า พระอรหันต์ เป็นผู้บริสุทธิ์ จิตของท่านไม่ถูกอะไรปรุงแต่ง คือไม่ปรุงให้เกิดความยินดี ไม่ปรุงให้เกิดความยินร้ายในอารมณ์ที่มากระทบ ผิดกับพวกเรา เวลาอะไรมากระทบ เกิดความยินดีบ้าง เกิดความยินร้ายบ้าง ยินดีก็เพราะว่าเราพอใจในสิ่งนั้น ยินร้ายก็เพราะว่า เราไม่ชอบใจในสิ่งนั้น ความยินดีก็เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์เหมือนกัน ยินร้ายก็เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ยินดีนั่น มันเกิดทุกข์ทีหลัง ยินร้ายน่ะ เกิดทันที เราจึงหลงผิดว่า ยินดี พอใจไม่เป็นความทุกข์ แต่มันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ต่อไป เช่นเราได้อะไร เรามีอะไร ก็ยินดีในสิ่งนั้น ทีนี้เมื่อสิ่งนั้นมันเปลี่ยนแปลงไป เราจะรู้สึกอย่างไร เราก็รู้สึกเป็นทุกข์ขึ้นมาทันที ทุกข์นั้นเกิดจากความไปยินดีในสิ่งนั้น พอใจในสิ่งนั้น ติดพันอยู่ในสิ่งนั้น เมื่อสิ่งนั้นจากเราไป เราก็มีความทุกข์ทางใจ ยินดีจึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ได้ในภายหลัง ส่วนยินร้ายนั้น มันทุกข์ทันที เหมือนเราจับถ่านไฟ มันก็ร้อนทันที ใจมันเป็นทุกข์ขึ้นมาทันที เพราะเรื่องยินร้าย เรื่องไม่พอใจอะไรต่างๆ
พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายนั้น ท่านไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ท่านมีตาสำหรับดู มีหูสำหรับฟัง มีจมูกสำหรับดมกลิ่น มีลิ้นสำหรับชิมรส มีกายประสาททุกส่วนบริบูรณ์ ไม่มีความบกพร่อง แต่เมื่อสิ่งใดมากระทบ ท่านก็ไม่หวั่นไหวไปกับสิ่งนั้น จิตคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อารมณ์ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เมื่อมากระทบพระอรหันต์ ก็เหมือนไม่ถูกกระทบอะไร ใจของท่านคงสงบอยู่อย่างนั้น เพราะพระอรหันต์นั้นท่านมีสติอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ต้องทำแล้ว มันชินเสียแล้ว เป็นโดยธรรมชาติ มีสติโดยธรรมชาติอยู่อย่างนั้น มีศัพท์ในคำบาลีว่า สทา สโต (08.16) สทา สโต นี่แปลว่ามีสติทุกเมื่อ ไม่ว่าอะไรมากระทบท่านก็รู้ทัน ในสิ่งนั้น ก็ไม่เกิดอารมณ์อะไรขึ้น แต่ว่าเราทั้งหลายที่ยังมีสติไม่สมบูรณ์เรียกว่า เป็นปุถุชน ปุถุชนก็คือ คนที่สติปัญญามันน้อย ไม่สมบูรณ์พอ เมื่อมีอะไรมากระทบปุ๊บ ก็เกิดอารมณ์ขึ้นกับสิ่งนั้น สิ่งที่เกิดให้ยินดีก็ยินดี ยินร้ายก็เกิดความยินร้ายในสิ่งนั้นๆ จึงยังขึ้นๆ ลงๆ อยู่กับอารมณ์ที่มากระทบ พระอรหันต์ทั้งหลายไม่มีอาการเช่นนั้น ท่านมองเห็นอะไรด้วยปัญญา ไม่มีอะไรที่น่ารัก ไม่มีอะไรน่าเอา ไม่มีอะไรที่ควรจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งนั้น สิ่งนี้เพราะท่านมีปัญญามองเห็นสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง
พระอรหันต์ท่านมองเห็นสิ่งทั้งหลายเหมือนกันหมด เช่น สมมติง่ายๆ ว่าสุนัขขี้เรื้อน กับคนที่สวยงาม พระอรหันต์มองเห็นอย่างเดียวกัน แต่คนเรานั้นเห็นสุนัขขี้เรื้อนคิดอย่างหนึ่ง เห็นคนสวยๆ งามๆ ก็คิดอย่างหนึ่ง เห็นเพชรกับฟางมันก็คิดคนละอย่าง เห็นฟางนี่ไม่นึกอะไรเท่าไหร่ แต่ถ้าเห็นเพชรตกอยู่ตาลุกวาว อยากจะได้เพชรมาทันที ปุถุชนมันเป็นอย่างนั้น เพราะยังเห็นความแตกต่างของสรรพสิ่ง ต่างๆ เห็นว่ามันสวย มันไม่สวย มันอ้วนผอมน่ารักน่าชัง อะไรต่างๆ นี่ จิตของคนธรรมดามันเป็นอย่างนั้น แต่ว่าจิตของพระอรหันต์นั้น ท่านเห็นเท่ากันหมด ไม่ว่าของนั้นจะเป็นอะไร ไม่มีค่าเท่ากัน แต่คนเรามันมีค่า ของบางอย่างมีค่ามาก ไอ้ค่ามากก็เพราะเราชอบมาก ค่าน้อยเพราะเราชอบน้อย ในภาษาไทยว่า มีค่า มีราคา ค่าหรือราคานี้ ก็คือ ราคะนั่นเอง บาลีเรียกว่า ราคะ ราคะ แปลว่า ความพอใจ ยินดี เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ถ้าเราพอใจ ยินดี เพลิดเพลินในสิ่งใด สิ่งนั้นมันก็มีค่าสำหรับเรา สิ่งใดเราไม่ชอบใจ ไม่เพลิดเพลิน ราคามันก็น้อย เราไม่สนใจ เช่น เห็นฟางข้าวเราไม่สนใจ แต่วัวเห็นฟางมันสนใจ เพราะมันจะกินฟางข้าว คนเราเห็นเพชรพลอยสนใจ เห็นใบธนบัตร สนใจ เห็นเงินก็สนใจ อะไรอย่างนี้ นี่จิตของคนธรรมดา เพียงตีค่าของต่างๆ ไม่เท่าเทียมกัน
แล้วคนธรรมดานี่ ก็มักจะเปรียบเทียบระหว่างของ ๒ สิ่ง คือมีการเปรียบเทียบว่า ขนาดไม่เท่ากัน คุณค่าไม่เท่ากัน เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นเปรียบว่าอันนี้อ้วน อันนั้นผอม อันนี้ต่ำอันนั้นสูง อันนี้เป็นอย่างนั้น อันนั้นเป็นอย่างนี้ ก็เรียกว่ามีการเปรียบเทียบกันอยู่ เปรียบเทียบในสิ่งต่างๆ เมื่อเปรียบเทียบก็ย่อมจะเห็นความแตกต่าง ของสิ่งนั้น เห็นความแตกต่างว่า อ้วนมั่ง ผอมมั่ง ว่ายาว ว่าสั้น ว่าสวย ว่าไม่สวย ว่าดี ว่าไม่ดี ถ้าหากว่าเป็นฝ่ายที่ชอบใจ ก็ชอบ ถ้าไม่ชอบก็ชัง จิตอย่างนี้ ทำให้เกิดความทุกข์ทางใจ สร้างปัญหาขึ้นในชีวิตด้วยประการต่างๆ
แต่ว่าจิตของพระอรหันต์ ไม่มีอาการเช่นนั้น คือท่านไม่เห็นในแง่เปรียบเทียบ พูดเป็นศัพท์เป็นแสงก็ว่า จิตของท่านเป็นอันเดียว คือเห็นอย่างเดียว ไอ้เรามันเห็น ๒ อย่าง ๓ อย่าง ๔ อย่าง เป็นความแตกต่างกันในสิ่งต่างๆ แต่พระอรหันต์นั่นท่านเห็นเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน ไม่ว่าอะไรท่านเห็นเป็นอย่างนั้นไปทั้งหมด การเห็นเป็นอย่างเดียวกันนั้น เป็นการเห็นด้วย ปัญญา เห็นด้วยปัญญาก็คือ เห็นความจริงของสิ่งเหล่านั้น ไอ้ความจริงของสิ่งเหล่านั้นคืออะไร เขาเรียกว่า เป็นสาธารณะสำหรับสิ่งทั่วไป ภาษาธรรมะเรียกว่า สามัญลักษณะ ลักษณะที่ทั่วไปของสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นต้นไม้ เป็นวัตถุสิ่งของ หรือเป็นอะไรก็ตาม มันเหมือนกันโดยเป็นอาการ ๓ อย่าง อาการ ๓ อย่างก็เราสวดอยู่ทุกวันๆ นั่นแหละ ว่า ไม่เที่ยง อนิจจัง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่มีเนื้อแท้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นหลักที่พระอริยเจ้าท่านมองเห็น ท่านมองเห็นอะไร ก็เห็นในรูปนั้น เห็นในรูปว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อเห็นอย่างนั้น ก็เรียกว่าเห็นเหมือนกัน เช่น เห็นคนรูปร่างสวย ที่ชาวโลกนิยม สมมติว่าเป็นนางงามจักรวาล หรือว่านางงามประเทศ งานนั้น งานนี้ แม้นางงามงานวัน พระอรหันต์ท่านไม่เห็นในรูปว่างามอย่างนั้น แต่ท่านเห็นว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา ท่านเห็นต้นไม้ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นก้อนกรวด ก้อนทราย ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นเพชรกลิ้งอยู่ ท่านก็เห็นว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่คือจิตของพระอรหันต์ เห็นอย่างนั้น เข้าใจในเรื่องต่างๆ ทั้งหลายในรูปอย่างนั้น อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นสิ่งนั้นจึงไม่มีอิทธิพลเหนือจิตใจของพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย ท่านมีความเป็นอยู่ที่เรียกว่า สม่ำเสมอ ตลอดไป ไม่ขึ้นแล้วก็ไม่ลง ไม่เหมือนเราทั้งหลาย บางครั้งมันก็ขึ้นไป ดีใจ บางครั้งก็ลงฮวบฮาบไป เป็นทุกข์ มีความเสียใจ วันหนึ่ง วันหนึ่ง ต้องขึ้นหลายครั้ง ต้องลงหลายหน เมื่อขึ้นแล้วมันก็ลงหล่ะ ขึ้นแล้วไม่ลงมันก็ไม่ได้ เราขึ้นต้นไม้ ขึ้นแล้วมันก็ต้องลง จากต้นไม้ ถ้าไม่ลงก็จะไปนอนอยู่บนต้นไม้ได้อย่างไร เราไม่ใช่ลิง ใช่ค่าง ที่จะไปนอนเอ้เตอยู่ บนต้นไม้ เพราะฉะนั้น เมื่อขึ้นแล้วก็ต้องลง เวลาใดยินดีต่อไปก็จะยินร้าย เวลาใดชอบ ต่อไปมันก็จะเกิดชังขึ้นมาในสิ่งนั้น มันเป็นอยู่อย่างนี้ จิตจึงไม่เป็นปกติ
แต่พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายนั้น จิตท่านเป็นปกติ ไม่ว่าตอนเช้า ตอนสาย ตอนบ่าย ตอนเย็น ฝนตก แดดออก มีอะไร ไม่มีอะไร มันก็เท่านั้นอยู่ตลอดเวลา ลักษณะเป็นอย่างนี้ คือสภาพจิตของพระอรหันต์ จิตได้เป็นเช่นนั้นก็เพราะการปฏิบัติในด้านวิปัสสนาธุระ เจริญภาวนา ที่เรียกว่า วิปัสสนา จนกระทั่งเห็นแจ้งชัด ในเรื่องนั้นตามสภาพที่เป็นจริง การเห็นแจ้งชัดตามสภาพตามที่เป็นจริง นี่เรียกว่า ตรัสรู้ คือเห็นเอาด้วยการตีปัญหา คิดค้น จนทะลุปรุโปร่งไปในเรื่องนั้นๆ มองเห็นว่าสิ่งนั้นคืออะไร ตามสภาพที่เป็นจริง ความ เคยรัก เคยชัง เคยยึด เคยถือที่มีมาก่อนมันก็หายไป เพราะมารู้ชัดตามสภาพที่เป็นจริง เหมือนคำที่พระผู้มีพระภาค ตรัสอุทาน หลังจากการตรัสรู้ว่า พราหมณ์ทั้งหลายผู้มีความเพียรพึ่งอยู่ เมื่อมารู้ชัดว่า สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ดับเพราะเหตุ ความเข้าใจก็จะถูกต้อง ความทุกข์ก็จะหายไป หรือมาเห็นอะไรชัดเจนตามสภาพเป็นจริงขึ้นมาเมื่อใด ความคิดก่อนๆ เก่าๆ มันก็หายไปจากใจ เพราะมารู้ชัดว่าเนื้อแท้มันเป็นอย่างนี้ ก่อนนี้เราไม่เห็นเนื้อแท้ เห็นเป็นเปลือก เห็นเป็นกระพี้ แต่ไม่เห็นแก่นแท้ เมื่อไม่เห็นแก่นแท้ก็ยังมีความยึดมั่น ติดพันในสิ่งนั้นๆ มันก็เป็นความทุกข์ แต่เมื่อใดมาเห็นชัดในสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริง ความทุกข์นั้นก็หายไป พูดในภาษาชาวบ้านว่า ปลงตกลงไป ชั้นแรกมันปลงไม่ตก วางไม่ลง ใจมันยึดไว้ตลอดเวลา วางไม่ลง วางอะไรอะไรไม่ลง ติดอยู่ในทรัพย์ซึ่งเรียกว่าเป็นรูป อยู่ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในอะไรๆ ต่างๆ ที่เราเข้าไปยึดติดพันนั่นแหละ มันปลงไม่ลง เพราะยังไม่รู้ว่าเนื้อแท้ของสิ่งนั้นเป็นอย่างไรเลยวางไม่ได้ ทีนี้ถ้ามานั่งพิจารณาไตร่ตรองตามหลักการ ให้รู้ชัดตามสภาพที่เป็นจริงขึ้นมาเราก็ถึงบางอ้อ ร้องอ้อออกมา แล้วก็เลยไม่มีจิตที่จะคิดถึงสิ่งนั้นต่อไป ไม่รัก ไม่ชัง สิ่งนั้นต่อไป อยู่เฉยๆ เป็นปกติ มีความสุขอย่างแท้จริงตามวิถีทางของพระอริยเจ้า
อันนี้เราอาจสงสัยว่า บุคคลที่เป็นพระอรหันต์นี่ ท่านไม่ยินดียินร้ายแล้วชีวิตของท่านจะเป็นประโยชน์แก่ชาวโลกอย่างไร พระอรหันต์นั้นท่านไม่ได้อยู่นิ่งอยู่เฉย แต่ท่านมีความสงสารประชาชน ท่านอยากช่วยคนอื่นจากความเดือดร้อน ความทุกข์ทางใจ เช่นพระพุทธเจ้านี่ก็ไม่ได้อยู่นิ่ง พระสาวกของพระพุทธเจ้าที่เป็นพระอรหันต์ ก็ไม่ได้หยุดนิ่ง แต่ว่าท่านทำหน้าที่ งานที่จะต้องทำ งานหน้าที่ที่ท่านจะทำ ก็คือ ชี้ทางให้ชาวบ้านได้รู้ ได้เข้าใจ ที่เราสวดมนต์สมัยเป็นเด็กว่า ชี้ทางบรรเทาทุกข์ ชี้สุขเกษมศานต์ ชี้ทางพระนฤพาน อันพ้นโศกวิโยกภัย เขาแต่งให้เด็กสวด ตามโรงเรียนต่างๆ ในสมัยก่อน อันนั้นแหละคือตัวหน้าที่ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย หน้าที่ก็คือ ชี้ทางบรรเทาทุกข์ คนมันมีทุกข์ไปชี้ทางแก้ทุกข์ให้ และเมื่อชี้ทางแก้ทุกข์แล้ว ชี้ทางสุขให้ ชี้จนกระทั่งถึงพระนฤพานอันพ้นโศกวิโยคภัย ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีความเสียใจ ดับอาลัยอาวรณ์ทั้งหลายทั้งปวงได้ นี่คืองานหลักของท่าน
งานของพระอรหันต์นั้น ท่านทำติดต่ออยู่ตลอดเวลา เพราะคนที่เป็นพระอรหันต์นั้นทำงานไม่เหนื่อย ทำงานไม่เบื่อไม่เหมือนกับเราทั้งหลาย เราทำทำไป เอ ชักจะเบื่อแล้ว เห็นนานๆ ก็ชักจะเบื่อ กินอาหารอย่างเดียวก็ชักจะเบื่อกินไม่ค่อยได้แล้ว ต้องไปกินตามภัตตาคารเสียมั่งเรียกว่าเปลี่ยนรส เปลี่ยนชาติเสียมั่ง แล้วมากินนั่นต่อไป อยู่ บ้านนานๆ ก็เบื่อ เห็นดอกไม้อะไรบ่อยๆ เบื่อ ขุดทิ้ง ปลูกใหม่ต่อไป ของประดับบ้านดูดูแล้วมันก็ชินชา เอ้า หาใหม่ ไปซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่มาประดับต่อไป แต่ของเก่าก็ลุไปไว้หลังบ้าน ถ้าไม่มีที่เก็บก็ลุส่งมาไว้ที่วัดต่อไป ให้วัด ของไม่ใช้เลยเอามาถวายวัดต่อไป อย่างนี้เรียกว่าคนเรามันยังเป็นอย่างนั้น จิตใจมันยังรัก ยังชังอยู่ ยังเป็นอย่างนั้น แม้ทำงานก็มีการเบื่องาน อยู่ในตำแหน่งนี้นานๆ ชักจะเบื่อเป็นนายอำเภอนี้นานๆ ชักจะเบื่อ อยากไปอำเภออื่น เป็นเจ้าเมืองนี้นานๆ ชักจะเบื่อ อยากจะไปเจ้าเมืองอื่น เพราะนั้น ทางราชการจึงย้ายกันบ่อยๆ ย้ายอำเภอ ย้ายปลัด ย้ายเจ้าเมือง ย้ายอธิบดี ย้ายอธิบดีกันเพื่อจะให้มันไม่เซ็งนั่นเอง เรียกว่าทำนานๆ ก็ชักจะเซ็งแล้ว เอ้า ย้ายเสียที พอย้ายก็เหมือนกับว่า ใหม่ บ้านใหม่ งานใหม่ อะไรใหม่ อย่างนี้ก็มี หรือว่าบางคนมีแม่บ้านแล้ว เฮ้อมันแก่แล้ว อันนี้กูหาใหม่ดีกว่า ไปหาแม่บ้านใหม่ ก็เรียกว่า แต่ว่าใหม่บางทีอยู่ไม่นาน หาใหม่อีกชักจะยุ่งแล้ว ไปบ่อยๆ ชักจะเละแล้ว เกิดปัญหาอย่างนี้ จิตปุถุชนมันเป็นอย่างนั้น
แต่พระอรหันต์เจ้านั้นท่านทำอย่างใด ก็ทำอยู่อย่างนั้น เพราะท่านไม่ได้ทำด้วยความอยาก เรานี่ทำด้วยความอยาก คือทำด้วยความอยากในเรื่องอะไร อยากจะได้ผลจากงาน ทำงานเพื่อเงินนั่นหล่ะ ทำด้วยความอยาก เพื่อลาภ เพื่อยศ เพื่อสรรเสริญ เพื่อความสุขจากวัตถุ ปุถุชนยังคิดอย่างนั้น แต่พระอรหันต์ท่านไม่ได้คิดอะไร ท่านทำงานสักแต่ว่าหน้าที่ ทำงานเพื่องาน พูดง่ายๆ ว่าท่านทำงานเพื่องาน ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ไม่ต้องการอะไรจากงานนั้น ให้เราสังเกตจิตใจของเราเอง ถ้าเราทำอะไรโดยหวังจะได้มากๆ มันเหน็ดเหนื่อย จิตใจมันไม่ค่อยสบาย ที่เหน็ดเหนื่อยเพราะอะไร เพราะไม่ได้ดังใจ หรือว่าช้าไป น้อยไป ใจมันไม่สบาย เพราะเรามีความอยาก แต่ถ้าเราทำไปตามหน้าที่ ไม่คิดอะไรให้วุ่นวาย เราคิดแต่เพียงว่า มันเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องทำ แล้วเราก็ทำไป ทำตามหน้าที่ ทำด้วยความขยัน เอาใจใส่ เพื่อให้งานมันดีมันเจริญ ทำไปเถอะ แล้วก็พอเสร็จงานมันก็หมดเรื่อง ไม่ต้องมานอนเป็นทุกข์ ว่าจะมีอะไร จะได้อะไร ผู้ใหญ่จะว่าอย่างไรในผลของงานที่เราได้ทำไว้ สบาย อย่างนี้สบาย แต่ถ้าทำแล้ว เป็นห่วง กังวล มีปัญหา ใจมันก็ไม่สบาย ไอ้ที่ไม่สบายก็เพราะว่าเรามีความต้องการต่อสิ่งนั้น คล้ายๆ กับเราเดินทาง ถ้าเรารีบจะไปให้ถึงนี่มันเหนื่อย เหนื่อย เดินเหนื่อย เพราะเดินรีบเหงื่อไหลไคลย้อย ไม่เดินหล่ะนั่งรถก็ยังเหนื่อย นั่งรถไฟ เคยมีบ้างไหม สมมติว่าเขาโทรเลขมาว่า คุณแม่ไม่สบาย เจ็บหนัก ขึ้นรถไฟนี่นั่งใจมันตุ๊มตุ๊ม ต่อม ต่อม อยากให้ถึงไวไว จะได้ไปดูใจของคุณแม่ บางคนก็บอกจะให้ถึงไวไว จะขอแบ่งนาสักแปลงหนึ่ง มีเหมือนกันอย่างนั้น บางคนมาทำงานอยู่กรุงเทพ บอกว่าต้องลางานแล้ว คุณแม่เจ็บหนัก ต้องไปรับนาสัก แปลงหนึ่ง ให้คุณแม่ให้ เพราะว่าตอนใกล้จะตายคุณแม่ก็แบ่งนาให้คนนั้น คนนี้ ไม่ไปเดี๋ยวเพื่อนฮุบเอาหมดเพราะงั้นต้องรีบไป อันนี้นั่งเป็นทุกข์ไปในรถไฟ เพราะรถมันวิ่งช้า ความรู้สึกน่ะ เมื่อเราต้องการให้เร็ว มันก็ช้า ถ้าเราเฉยๆ นั่งไปเรื่อยๆ มันก็ถึงเองแหละ อย่างนี้เป็นตัวอย่างที่เห็นว่าเราเป็นทุกข์ สิ่งใดเราต้องการไว มันก็ช้า นั่งเรือบินยังช้าเลย เรือบินบินไม่ทันใจ ยังช้า ความจริงบินก็ไวแล้ว ไวกว่ารถไฟ ไวกว่ารถทัวร์แล้ว แต่เราก็ยังอยากให้ไปถึงไวไว
หรือคนหนึ่งหิวข้าว แล้วก็หุงข้าวนี่นั่งดูหม้อ ใส่ไฟ เร่งเข้าไป เร่งเข้าไป ทำไมมันไม่เดือดสักที เร่งไป เร่งไป ถ้าหุงด้วยแก๊ส ก็เปิดเร่งแก๊สใหญ่ ประเดี๋ยวก็หม้อแตกเท่านั้นเอง เร่งความร้อนนี่ เพราะความอยากนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร ใจไม่สบาย แต่ถ้าเราติดไฟเสร็จแล้ว ใส่ถ่านพอสมควรแล้วก็นั่งเฉยๆ ตามเรื่องมัน เดี๋ยวหม้อก็เดือด เอ๊ะ เดือดแล้ว เดือดไวจริงๆ เพราะเราไม่ได้สนใจ รู้สึกว่ามันไว แต่เราไปนั่งเพ่งอยู่ มันกลับช้าไป มันเป็นอย่างนี้ จิตมันเป็นอย่างนี้
พระอรหันต์ท่านทำอะไรนั่น ท่านไม่มีความต้องการอะไรจากวัตถุนั้น เพราะนั้นท่านทำตามหน้าที่ ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในการปฏิบัติงานของท่าน ไปตามเรื่องไป เดินไป เดินไป ก็ท่านเดินสบายๆ เพราะเดินด้วยใจสงบ มันก็สบาย แดดร้อนก็เหมือนกับไม่ร้อน หนาวก็เหมือนกับไม่หนาว มีอะไรมันเหมือนกับไม่มี จิตมันไม่รับสิ่งเหล่านั้น นี่มันสภาพนี้ จิตพระอรหันต์เป็นอย่างนี้ เอามากล่าวให้ฟัง ให้เห็นว่าแตกต่างกันจากจิตใจของเราธรรมดา
พระอรหันต์ที่มาประชุมกันในวันมาฆะเมื่อ สองพันกว่าปีมาแล้วนี่ ตั้ง ๑,๒๕๐องค์ ไม่ใช่น้อย ถ้าเรานั่งหลับตานึกถึงภาพที่ท่านนั่ง พระอรหันต์คงจะไม่คุยอะไรกัน เหมือนแขกทั่วๆ ไป แขกนี่ถ้ามายืนกัน ๒ คนคุยกันดังที่สุด แล้วถ้า ๓ แล้วดังเข้าไปใหญ่ ถ้า ๑๐ คนแล้วไม่มีใครฟังใครแล้ว พูดทุกคน พูดทุกคน เหมือนกับ รถเข้าสถานี โหวกเหวกทุกคน เรือเข้าท่า โหวกเหวกทุกคน ให้วุ่นให้วาย แขกนี่วุ่นวายที่สุดเลย แต่ว่าพระอรหันต์นั้นท่านนั่ง เงียบสงบ เหมือนกับไม่มีคนอยู่ในสถานที่นั้น ทั้ง ๑,๒๕๐ นี่มันไม่ใช่ที่เล็กน้อยนะ ถ้าเอามานั่งในลานไผ่นี่มันเต็มไปหมด แต่ท่านนั่งเงียบกริบ ไม่มีอะไร
เพราะพระพุทธเจ้าท่านว่า อริยบุคคล เมื่อมาพบกันให้ทำกิจ ๒ ประการ พูดธรรมะ กับ นิ่ง ถ้าพูดต้องพูดธรรมะ ถ้าไม่มีเรื่องธรรมะจะพูด นั่งนิ่งๆ เฉยๆ พระอรหันต์ท่านไม่มีอะไรจะพูดท่านก็ยิ้มๆ กันนิดหน่อยพอเห็น ยิ้มกัน อ้อมาด้วย แล้วก็นั่งกันเท่านั้น ไม่เอะอะโวยวาย นั่งสงบเงียบในที่นั้น จนกว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จมา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงท่านก็ลุกขึ้นยืนรับ พอพระองค์นั่ง ก็กราบพร้อมกัน กราบพร้อมกันแล้วก็เงียบ เหมือนกับไม่มีคนอยู่ในสถานที่นั้น พระพุทธเจ้าก็ประทับนิ่ง พระอรหันต์ก็ประทับนิ่งต่อไป ทีนี้เมื่อประทับนิ่งพอสมควร พระพุทธเจ้าก็ตรัสออกมาเป็นคำภาษาบาลีให้พระเหล่านั้นได้ยินได้ฟัง ที่เรียกว่า “โอวาทปาติโมกข์” โอวาทแปลว่า คำสอน ปาติโมกข์ แปลว่า เป็นประธานแห่งความหลุดพ้น คำสอนที่เป็นประธานแห่งความหลุดพ้น พูดให้ฟังง่ายๆ ว่า คำสอนหรือข้อปฏิบัติที่เป็นเบื้องต้นแห่งการหลุดพ้น ในภาษาพระท่านเรียกว่า “อธิกธรรมจักร” อธิก แปลว่า เริ่มต้น เบื้องต้น เรื่องทานเป็นเรื่องแรกของพรหมจรรย์ คือการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น พระองค์ก็ประทานธรรมที่เรียกว่า โอวาทปาติโมกข์ แก่พระสงฆ์เหล่านั้น ไม่ใช่ประทานเพื่อประโยชน์แก่พระเหล่านั้น แต่เพื่อประโยชน์แก่คนอื่นที่ยังไม่บรรลุคุณธรรม เพราะพระเหล่านั้นเป็นผู้ปฏิบัติงานได้ไปปฏิบัติงานมาแล้ว แล้วก็กลับมา พระองค์ก็วางหลักว่าให้ทำอย่างนี้ ให้สอนเขาอย่างนี้ เท่ากับว่า ให้หลักสูตรนั่นเอง ให้ไปสอนให้เหมือนๆ กัน พูดเหมือนๆ กันตามแนวนี้ พูดอย่างไรก็ตามใจ แต่ว่าเอาแนวนี้เป็นหลักไว้ การสอนก็จะเป็นไปในแบบเดียวกัน เผื่อผู้ฟังจะได้ไม่ต้องมานั่งถียงกัน ว่าองค์นั้นว่าอย่างนั้น องค์นั้นว่าอย่างนี้ มันก็ยุ่ง เหมือนกับในสมัยปัจจุบันนี่ อาจารย์ยังไม่หมดกิเลส แล้วยังต้องการลูกศิษย์อยู่บ้าง ยังต้องการพรรคพวกบ้าง ยังต้องการปัจจัยสร้างวัดบ้าง ยังต้องการเลื่อนชั้น เลื่อนฐานะขึ้นไปเป็นนั่นเป็นนี่บ้าง ก็ต้องการดังนั่นหล่ะ ไม่ใช่อะไร ทีนี้ต้องการการดังการเด่น ก็สอนไปตามคนชอบไม่ได้สอนเพื่อความถูกต้องเสมอไป แต่สอนให้คนชอบใจ ให้คนสบายใจ รู้ว่าสอนอย่างนั้น มันก็ขัดกัน อาจารย์หนึ่งก็สอนอย่างหนึ่ง อาจารย์วัดหนึ่งก็สอนอย่างหนึ่ง ลูกศิษย์มาเจอกันคุยกัน เอ๊ ไม่เหมือนของฉันนี่ เอ๊ วัดนั้นก็ไม่เหมือนของฉัน ของฉันมันต้องถูก ของเธอมันไม่ค่อยเข้าท่า อ้าว เอาแล้ว ลูกศิษย์จะไปกำหมัดต่อยปากกันแล้ว เพราะว่าคำสอนที่ได้รับมาผิดกัน เลยโต้เถียงแก่งแย่งกันในหมู่ผู้ฟัง และเกิดเป็นปัญหา นี่มันมีอย่างนี้อยู่
ทีนี้ พระผู้มีพระภาค จึงวางหลักลงไปว่า ให้สอนเขาอย่างนี้ โดยตามหลักการนี้ จึงสอนให้เข้าใจหลักนี้ พระท่านก็ไปสอนเป็นแนวเดียวกัน ไม่ว่าองค์ไหนไปทิศไหน ก็เป็นแนวเดียวกัน พุทธบริษัทมาเจอกันก็ไม่ต้องขัดแย้งกัน เพราะเข้าใจกันในเรื่องเหล่านั้น มันไม่มีปัญหา สมัยนี้มีปัญหาเพราะอาจารย์สอนไม่ตรงกันตามทัศนะของตัว แล้วก็สอนแปลกๆ แผลงๆ ต่างๆ ไป คนฟังแล้วก็ยึดเอาไป แล้วคนก็ไปยึดเอามากเกินไป ไม่ได้ใช้ธรรมะเหมือนพาหนะข้ามฟาก
พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เหมือนกันเรื่องนี้ ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรมะเป็นเหมือนแพข้ามฟาก สำหรับเป็นแพ เป็นเรือก็ได้ สำหรับข้ามฟาก แล้วเรายืนดูแพแหมไม้สวยๆ งามๆ ทั้งนั้น ไม้ถ่อก็ยาวดี แพก็แข็งแรง ทีนี้อีกคนหนึ่งลงแพโน้น อุ้ย แพแกมันไม่ได้เรื่อง ไม้เล็กๆ ผูกก็ไม่มั่นคง นี่ออกไปกลางกระแสน้ำก็คงพลิกคว่ำหล่ะ คนโดยสารก็คงตายหล่ะ เฮ้ย ของฉันก็แข็งแรง ไม่เป็นไรหรอก มันลอยได้ ฉันถ่อไปได้ เอ้า ก็เลยเถียงกันเอาไม้ถ่อฟาดหัวกันจมน้ำทั้งคู่ เลยไม่ได้ข้าม อย่างนี้มันเป็นอยู่ทั่วไป เรียกว่า ในระหว่างศาสนานี่ เถียงกัน ทะเลาะกันด้วยเรื่องต่างๆ ทะเลาะกันเรื่องอะไร เรื่องดึงคนนี่ ไม่ใช่เรื่องอะไรหรอก ดึงคนเข้ามาเป็นพวกของตัว ก็เลยสอนคนยึดติดมั่นในสิ่งเหล่านั้น พวกนั้นก็เอาเรื่องคำสอนไปเถียงกัน ทะเลาะกัน มันไม่ถูกต้อง อย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง เราอย่าเอาคำสอนที่เราได้รับไปทะเลาะกับใคร ไปเถียงกับใคร ใครพูดอะไรก็ฟังไว้ก่อน ฟังเท่านั้นแหละ ฟัง จำไว้แล้วเอามาพิจารณา คิดค้นโดยความแยบคาย เพื่อให้เข้าใจเรื่องนั้นตามสภาพที่เป็นจริง พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า ธรรมะเป็นเพียงแพข้ามฟาก อย่าไปติดอยู่ในแพ ลงแพแล้วต้องรีบถ่อไปขึ้นฝั่งโน้น ฝั่งที่มันไม่เหมือนฝั่งนี้ คือฝั่งโน้นมันไม่เหมือนฝั่งนี้สักอย่าง ให้เราคิดว่ามันตรงกันข้ามทั้งหมดน่ะฝั่งโน้น ฝั่งโน้นเรียกว่า พ้นทุกข์หรือนิพพาน มันไม่เหมือนกับฝั่งนี้ด้วยประการทั้งปวง ทีนี้พอเราได้แพก็ต้องรีบไปทันที อย่าไปชักช้าอยู่ ให้ไปถึงฝั่งเสียไวไว
หรือในเรื่องหนึ่งท่านเปรียบเทียบว่า คนๆ หนึ่ง หนีผู้ร้าย หนีผู้ร้ายมา ผู้ร้ายถือดาบถือมีดไล่ตามมา ก็มาถึงเจอแม่น้ำกว้างขวาง ว่ายไม่ได้ ก็มองไปมองมา เจอซากศพเข้าซากหนึ่ง ลอยมาอึดทึดทีเดียว เขาก็กระโดดลงไปนั่งบนซากศพนั้น ไม่เบื่อกลิ่นเหม็น ไม่เบื่อสิ่งที่ไม่น่าดู สองมือก็จ้ำเป็นการใหญ่เลย นั่งบนซากศพ หมอบลง จ้ำๆ แป๊บเดียวไปถึงฝั่งได้ ไปถึงฝั่ง ไม่ไปเบื่อหน่าย ไม่อิดหนาระอาใจในซากศพนั้น หรือไม่ได้ยินดีติดพันในซากศพนั้น ไอ้ศพน่ะ ไม่มีใครยินดี แต่ว่ามันน่ารังเกียจ แต่ก็ไม่รังเกียจเพราะต้องการใช้เป็นพาหนะข้ามฟากเท่านั้นเอง เรื่องนี้ก็เหมือนเปรียบเทียบเหมือนกันว่า เราใช้ธรรมะนี่ ใช้ในรูปว่าให้เป็นประโยชน์เพื่อข้ามสังสารทุกข์ ข้ามความเวียนว่ายตายเกิด ข้ามปัญหาทางใจด้วยประการต่างๆ อย่าเอาธรรมะไปเป็นเครื่องมืออะไรๆ เป็นอันขาด อย่างนี้มันก็ไปได้สบาย แต่คนไม่ค่อยมองแง่นี้ ตั้งเป้าทะเลาะกันในระหว่างศาสนาเดียวกันก็มี ระหว่างวัดก็มี ระหว่างอาจารย์ก็มี ลูกศิษย์ก็เถียงกัน เฮ้ย ของแกมันสู้ฉันไม่ได้หรอก อาจารย์ฉันอย่างนั้น อาจารย์ฉันอย่างนี้ ไอ้นี่ไม่มีทางพ้นทุกข์แน่ ถ้ายึดอย่างนี้แล้วไม่มีทางพ้นทุกข์ เพราะไปเกาะสำนักบ้าง ไปเกาะอาจารย์บ้าง อะไรบ้าง มันก็เกิดปัญหาด้วยประการต่างๆ ในทาง พระพุทธศาสนาไม่ให้ยึดอย่างนั้น แต่ให้รีบลงแพ คือปฏิบัตินั่นเอง รีบปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อไปฝั่งโน้น แล้วก็รีบถ่อไป ถ่อแพก็ด้วยสัมมาวายามะ คือ ความเพียร ๔ อย่างนี่ เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้น เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรสร้างกุศลให้เกิดขึ้น เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม เรียกว่า สัมมาวายามะ เป็นเครื่องมือสำหรับที่จะนำตัวเรากับแพนั้นไปถึงฝั่ง หรือพอถึงฝั่ง แล้วอาลัย แหมแพนี้สวย กูจะขึ้นก็เสียดาย เอ้าไปนั่งเกาะแพอยู่อีก ไม่ขึ้นฝั่ง ไม่ขึ้นฝั่งก็ไปต่อไม่ได้ ถึงฝั่งแล้วแต่ไม่ขึ้นจะไปนั่งชมแพอยู่ก็จะไปได้อย่างไร มันไปไม่ได้ เพราะนั้นเมื่อถึงฝั่งกระโดดปุ๊บขึ้นไปเลย ไม่ต้องอาลัยว่าแพมันจะลอยไป หรือคนอื่นจะใช้อีกก็ชั่งหัวมัน กูจะไปแล้ว ก็ไปเท่านั้นเอง มันต้องเด็ดขาดอย่างนั้น ถึงจะไปได้ การปฏิบัติมันต้องไปอย่างนั้น ไม่เที่ยวอาลัยอาวรณ์เรื่องเรือ เรื่องแพอะไรอยู่ เหมือนกับโยมจะมาวัด มาไม่ค่อยได้ เป็นห่วง ไม่ใช่อะไรหรอก ห่วงบ้าน ห่วงเรือน ข้าวของ ห่วงหลานน้อยๆ มาแล้วมันจะอยู่กับใคร อะไรต่ออะไรนี่ นี่เขาเรียกว่ามันเป็นเครื่องถ่วงนี่ เป็นบ่วง บ่วงผูกคอมั่ง ผูกมือมั่ง ผูกเท้ามั่ง มัดเราให้ติดอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ที่พระท่านว่า
มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว พันคอ
ทรัพย์ผูกบาทาคลอ หน่วงไว้
สามีภรรยาเยี่ยงป่านปอรึงรัด มือนา
สามบ่วงนี้ตัดได้ก็พ้นสงสาร
ตัดได้มันก็พ้น ไปได้นา ถ้าตัดไม่ได้ มันก็ไปไม่ได้ เพราะยังติดบ่วงอะไรๆ ต่างๆ อยู่ นี่คือความติดพันนั่นเอง มาวัดก็ใจเป็นห่วงบ้าน ห่วงลูก ห่วงหลาน ห่วงนั่น ห่วงนี่ กังวลด้วยประการต่างๆ ไม่มีการพักผ่อนที่แท้จริงทางใจ เพราะว่าวิ่งไปวิ่งมา ระหว่างบ้านกับวัดนี่ ตัวอยู่แต่ใจวิ่งไป แล้ววิ่งกลับมา วิ่งไป แล้วก็วิ่งกลับมา แล้วมันก็จะเหนื่อย เพราะมันวิ่งอยู่บ่อยๆ นึกว่าเอาเถอะ ลงจากบันได ก็นึกว่าบ้านฉัน พอลงบันไดปุ๊บ ก็นึกว่า ไม่ใช่บ้านของฉัน ปลงมันไปเลย ไฟมันจะไหม้ น้ำมันจะท่วม ขโมยมันจะงัด ช่างหัวมัน กูไม่อาลัยอาวรณ์มันต่อไปแล้ว ช่างหัวมัน เหมือนกับเศรษฐี คนหนึ่ง ไปฟังเทศน์พระพุทธเจ้า ไปฟังก็มีคนเข้าบ้าน โจรนั่น คนใช้ก็บอก ท่าน ท่าน โจรเข้าบ้าน ปัดมือ ปัดมือคนใช้ ฉันจะฟังเทศน์ คนใช้ก็ นาย โจร... อี๋ย ปัดมือคนใช้เข้าไปอีก ปัดกันอยู่อย่างนั้น แกก็ไม่สนใจ ไอ้โจรเข้าบ้านแกไม่สนใจ คอยปัดมือ จะฟังเทศน์ จนพระพุทธเจ้าเทศน์จบ พอเทศน์จบแล้ว แกก็จึงกลับบ้าน กลับไปถึงบ้าน ขโมยก็เอาของไป ท่านไปถึงมองๆ แล้วก็ยิ้มๆ เอ้อ นิดหน่อย ไม่เป็นไรหรอก นิดหน่อย ของมัน เอาไปบ้างนิดหน่อยแบ่งกันกิน แบ่งกันใช้ ช่างหัวมันเถอะ อย่างนี้คนมันไม่เป็นทุกข์ เพราะว่าปลงได้ วางได้ ลงไป มันก็สบายใจ ธรรมะช่วยอย่างนี้ ช่วยให้เราเอาไปใช้ เอาไปปฏิบัติในรูปอย่างนั้น เราก็จะมีความสุขกายสบายใจ เพราะอาศัยธรรมะ
ทีนี้ โอวาทปาติโมกข์ ที่พระองค์ตรัสนี่ เริ่มด้วยอะไรหล่ะ เริ่มด้วยความอดทน ขั้นแรกสอนให้อดทนก่อน เพราะว่าความอดทนนั้นเป็นฐานสำคัญของการปฏิบัติธรรมะ เราถือศีล ถ้าไม่อดทน มันก็ถือไม่ได้ เช่นถืออุโบสถนี่ ถ้าโยมถือศีล ๘ พอตอนเย็นก็ ๕ โมงก็หิวหิว ชักจะหิวแล้ว อดไม่ได้ก็ต้องไปฉันอะไร ไปรับทานอะไร ผิดศีลทั้งนั้นแล้ว
เมื่อหลายปีมาแล้ว เด็กหนุ่มคนหนึ่งมาบวชที่วัด ก็เป็นหนุ่มสำออยน้อย พอกลางคืน ก็ หลวงพ่อๆ ผมหิวจังเลย ให้ผมกินขนมปังได้ไหม โอ้ย ไม่ได้ กินขนมปังไม่ได้ กินอื่นได้ เดี๋ยวจะชงให้ ชงน้ำชา โอวัลติน เอ้อไม่ใช่ โกโก้น่ะ ชงโกโก้ให้ เอ้ากินนิดหนึ่ง กินแล้วหมดไปแก้วหนึ่ง เอ้าไปนอนไปนอน นอนได้สักครู่ ลุกขึ้นมาอีก หลวงพ่อมันไม่ได้เรื่อง เป็นน้ำทั้งนั้น เอาเป็นเนื้อสักหน่อยได้ไหม บอกไม่ได้ มันต้องถือ หน่อย อยู่ได้ ๓ วัน ลาสึกแล้ว ถามว่าทำไมสึกเร็ว บอกว่าไม่ไหว ทนไม่ไหว อดข้าวนี่ทนไม่ไหวเลย ไอ้อย่างนี้ แล้วจะไปสู้กับอะไร นิดหน่อยยังอดไม่ได้ ออกไปอยู่บ้านจะไปสู้ อะไรได้ เขาเคยเป็นคนสบายมากไป อยู่บ้านสบาย ได้กินสบาย นอนสบาย นั่งสบาย แล้วก็มาอยู่วัดนี่ อยู่ไม่ได้ก็ต้องลาไป ฝืนใจเขาก็ไม่ได้ ลำบาก ก็เลย เอ้าไป พอแม่มา บอกลูกชายจะสึกแล้ว เล่าเรื่องให้ฟัง บอกอ้อ เขาเป็นคน ชอบกินอย่างนี้ อยู่บ้านก็กินเรื่อยไป ไม่ได้หยุดได้หย่อน เรียกว่า เปิดตู้บ่อยๆ หยิบไอ้นั่นมากิน หยิบไอ้นี่มากิน กินไม่เป็นเวลา ครั้นมาอยู่วัด ต้องกินเป็นเวลาก็อยู่ไม่ได้ คือขาดความอดทน อยู่ไม่ได้แล้ว ถือศีลไม่ได้แล้ว เอ้าไ ปนั่งเจริญภาวนา พอนั่งไปหน่อย ปวดขา ปวดแข้งขึ้นมา บอกว่า ไม่ไหวปวดขาปวดแข้ง บอกว่า มันต้องทนหน่อย นั่งไปนั่งไป มันชินเข้า นั่งไปไม่ไหวแล้ว ปวดเต็มที ผมจะลาไปกุฎิแล้ว บังคับไม่ไหว ก็ให้ไปกุฎิไป ไม่มีความอดทน เมื่อไม่อดไม่ทน แล้ว ทำอะไรไม่สำเร็จ
พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า ให้มีความอดกลั้นทนทาน แล้วก็ตรัสว่า อดกลั้นทนทานนี่เป็นเครื่องเผาผลาญอย่างยิ่ง เผาผลาญความอ่อนแอ ความไม่มั่นคงทางจิตใจให้หายไป หรือเผาผลาญ ความอยาก ความคิดที่ไม่สมควรให้หายไปจากจิตใจ เพราะเราอดได้ ทนได้ คนอดไม่ได้ ทนไม่ได้ มันก็เลิกอะไรไม่ได้ เช่น คนเคยดื่มเหล้า จะให้เลิกเหล้า ไม่มีความอดทนก็เลิกเหล้าไม่ได้ ไม่มีความอดทนเลิกบุหรี่ไม่ได้ ติดความสนุก ไม่มีความอดทนก็อยู่ไม่ได้ เพราะการอยู่ปฏิบัตินั้น เป็นเรื่องบังคับตัวเอง ควบคุมตัวเอง ทั้งนั้น ขูดเกลาทั้งนั้น ทีนี้เมื่อไม่ยอมให้ขูดให้เกลาเพราะทนเจ็บปวดไม่ได้ แล้วจะไปได้อย่างไร ไม่มีทาง แม้อยู่บ้านนี่ ทำงานทำการก็ต้องอดทน คนค้าขายนี่ก็ต้องอดทน นั่งเปิดร้านแล้วนั่ง เอ ไม่มีใครเข้าร้านเลย ถ้ากลุ้มใจ มันก็เป็นทุกข์ ถ้าทำใจอย่างไร ก็บอกเอ้อ มันธรรมดา บางวันคนเข้ามาก บางวันคนเข้าน้อย วันนี้คนไม่มา เห็นจะเขาไปวัดไปวากัน เขาไม่มาซื้อข้าวซื้อของ คิดให้มันสบายใจ อย่าไปคิดให้กลุ้มใจ แล้วจะเป็นโรคประสาทเพราะขาดความอดทน ทำงานตากแดดตากลม พวกไถนานี่ ไถนาอยู่กลางแจ้ง ถูกลมบ้าง แดดบ้าง ขี้โคลนบ้าง น้ำบ้าง ก็ต้องอดต้องทน ทำไปตามหน้าที่เพื่อให้มีคุณค่าทางจิตใจสูงขึ้น อดได้ ทนได้ อะไรทุกอย่างต้องอดทนทั้งนั้น เพื่อนมาพูดกระทบกระเทียบเปรียบเปรยด่าว่า ถ้าไม่อดทนก็ไปด่าตอบเข้า เดี๋ยวก็ไปตีโต้กันเข้า เกิดปัญหา แต่ถ้าเราอดทนได้ ชนะ
เพราะฉะนั้น ท่านถือว่า ความอดทนเป็นเดช เป็นเครื่องเผาผลาญ เป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์ นักปราชญ์เขาประดับใจด้วยความอดทน ไม่ใช่ประดับด้วยสิ่งอื่น เอาความอดทนเป็นเครื่องประดับ ควบคุมจิตใจให้คงที่ ไม่ขึ้นไม่ลงกับอารมณ์ที่มากระทบ เขาชมก็ไม่ยินดี เขาด่าก็ไม่ยินร้าย เพราะเห็นว่ามันไม่มีอะไร ไอ้คำชมก็ลมปาก ไอ้คำด่ามันก็ลมปาก แต่เปล่งเสียงไม่เหมือนกัน โลกมันสมมติ ว่านั่นด่า ไอ้นี่ชม ความจริงชมกับด่ามันก็เท่ากัน คือลมออกจากปากเท่ากัน แล้วมันไม่ได้ถูกผิวหนังของเราเลย แต่มันเข้าหูเท่านั้นเอง อันนี้ถ้าเรานึกว่ามันไม่เจ็บไม่ปวด มันก็ไม่เป็นไร นั่งเฉยๆ แกอยากด่า สบายใจก็ด่าไป ด่าได้สบายใจ เหมือนพระองค์หนึ่งชาวบ้านมันโกรธ มันก็ไปด่า ด่า ด่า ท่านก็นั่งเฉยๆ พอเขาหยุดด่า หยุดทำไมด่าอีกสิ จะได้สบายใจ เอ้อ ไอ้นั่นเลยละอาย ต้องไปกราบพระองค์นั้นเลย เพราะท่านบอกด่าอีกก็ได้ สบายใจดี ก็เธอนั่นแหละสบายใจ ฉันเฉยๆ ไม่มีอะไรหรอก เลยต้องไปไหว้ขอโทษขอโพย ชนะได้ด้วยความอดความทน
ความอดทนจึงเป็นพื้นฐานเบื้องแรกของสิ่งที่จะไปสอนคนให้ปฏิบัติ เรียกว่าความอดทน
ทีนี้อันที่ ๒ ที่สอนว่า “ผู้รู้ทั้งหลายกล่าว พระนิพพานว่า เป็นบรมธรรม” นิพพานเป็นบรมธรรม นิพพานัง ปรมัง วะทันติ พุทธา ผู้รู้ทั้งหลาย ผู้รู้ คือพุทธะทั้งหลาย จะเป็นใครก็ตามใจ กล่าวสรรเสริญความดับทุกข์ได้ว่าเป็นบรมธรรม เป็นธรรมอย่างยิ่ง การดับทุกข์ได้นี่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ใช้ศัพท์ว่านิพพาน นิพพานแปลว่า ดับได้ เย็นได้ ดับร้อนได้ ดับทุกข์ได้ ดับความกระวนกระวายได้ เรียกว่า นิพพาน เป็นศัพท์ธรรมดาที่ ชาวบ้านก็ใช้กันอยู่ทั่วๆ ไป ข้าวร้อน พอข้าวเย็นก็ ว่าข้าวนิพพาน กินได้แล้ว เย็นแล้ว กินได้ อะไรมันร้อนๆ เย็นแล้ว ก็เรียกว่านิพพาน ทั้งนั้น
พระพุทธเจ้าก็เอาศัพท์นี้มาใช้ เป็นคำ เป็นผลของการปฏิบัติ เรียกว่า นิพพาน หมายถึงว่า ดับได้ ดับทุกข์ได้ เย็นได้ ไม่ร้อน ไม่กระวนกระวายต่อไป สิ่งนี้เป็นจุดสุดยอดของการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ว่าอยู่ที่ตรงนี้ การปฏิบัติทั้งหลาย ทั้งทาน ศีล ทั้งการเจริญภาวนา อะไรก็ตามใจ จุดมันอยู่ที่ตัวนิพพาน เราปฏิบัติเพื่อให้ถึงนิพพาน ถ้าไม่ได้ปฏิบัติให้ได้นิพพานก็เรียกว่า ยังไม่ถูกต้องเป้าหมาย ให้ทานเพื่ออย่างอื่น ไม่ถูกเป้าหมาย เช่น ให้ทานเพื่อให้เกิดในสวรรค์ จะได้เกิดเป็นคนรูปสวย รวยทรัพย์ อะไรต่างๆ นี่ ยังไม่ถูกเป้าหมาย ที่พระพุทธเจ้าให้เรากระทำ รักษาศีลก็เหมือนกัน ถ้าเราต้องการเรื่องอื่นก็ไม่ถูก เจริญภาวนา เพื่ออื่นก็ไม่ถูก มันต้องเพื่อดับทุกข์ ในใจของเรา ดับทุกข์ ดับร้อน ในใจของเรานั่น เรียกว่า ถูกเป้าหมาย
การปฏิบัติในทางธรรมะ ต้องตั้งเป้าให้ถูกไว้ คือว่า ปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ ให้ทานเพื่อความดับทุกข์ รักษาศีลเพื่อความดับทุกข์ เจริญภาวนาก็เพื่อความดับทุกข์ ฟังธรรมก็เพื่อความดับทุกข์ พระแสดงธรรมก็เพื่อความดับทุกข์ ในตัวเองด้วย ในผู้ฟังทั้งหลายด้วย หรือว่าเราจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ก็เพื่อความดับทุกข์ นักเรียน เรียนหนังสือ ก็เรียนเพื่อจุดหมายว่า เรียนเพื่อความดับทุกข์ เพราะถ้าไม่รู้หนังสือมันเป็นทุกข์ โง่นี่มันเป็นทุกข์ เราต้องเรียน เรียนเพื่อดับทุกข์ เพราะเมื่อเราเรียนหนังสือแล้วทุกข์มันน้อยลงไป แล้วเป็นช่องทางที่จะให้ดับทุกข์อันใหญ่ ยิ่ง ต่อไปในชีวิตของเรา เราเรียนเพื่ออย่างนั้น ไม่ได้เรียนเพื่ออย่างอื่น แล้วก็เรียนเพื่อดับทุกข์ ก็ต้องเรียนด้วยใจรัก ขยัน เอาใจใส่ คิดค้น เราก็สำเร็จในการเรียน สำเร็จได้มันก็พ้นทุกข์ สอบไล่ตกก็เป็นทุกข์ ตัวก็เป็นทุกข์ พ่อแม่ก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าสอบได้ คลายทุกข์ไปปีหนึ่ง เอ้า ปีหน้าเรียนต่อ เรียนต่อแล้วจบชั้น แล้วก็ไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย ถ้าสอบได้ก็ดับทุกข์ได้ เรียนไปจนจบได้ปริญญา ก็ดับทุกข์ไปได้ขั้นหนึ่ง แล้วเราเอาความรู้นั้นไปทำงาน ทำงานอะไรก็ทำเพื่อความดับทุกข์ ไม่ว่าจะทำราชการ เป็นลูกจ้างห้าง ร้าน ทำงานส่วนตัว ก็ทำเพื่อความดับทุกข์
ทุกข์มันคืออะไร ก็ต้องคิดให้เห็น แล้วทำงานนี้เพื่อความดับทุกข์ อย่าทำอะไรเพื่อสร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นในจิตใจของเรา ถือหลักไว้อย่างนั้น ทำอะไรเพื่อดับทุกข์ แต่ถ้าทำอะไร นั่งกลุ้มใจไม่ถูกแล้ว คิดอะไร ต้องคิดเพื่อความดับทุกข์ แต่ถ้าคิดแล้วนั่งกลุ้ม มือกุมหัว ไม่ได้เรื่องแล้ว คิดไม่เข้าเรื่องแล้ว ทำไม่เข้าเรื่องแล้ว ไปไหน ก็ต้องไปเพื่อความดับทุกข์ แต่ถ้าพอจะไปก็ร้อน อย่า อย่า นั่งเฉยๆ อยู่บ้าน ปิดประตู ใส่กลอนอย่าออกไป เพราะไปเพื่อความทุกข์จะไปทำไม ไปเพื่อความทุกข์เราไม่ไป เราถือหลักนี้ ไปเพื่อทุกข์เราไม่ไป ไปดื่มเหล้า เป็นความทุกข์ เราไม่ไป ไปเล่นการพนัน เป็นความทุกข์ เราไม่ไป ไปเที่ยวกลางคืน เป็นความทุกข์ เราไม่ไป เพื่อนชวนไปทำชั่ว หาเรื่องติดคุก เราไม่ไป สนุกสนานไม่เข้าเรื่องทุกข์ภายหลังเราไม่เอา เกียจคร้านเราไม่เอา เหลวไหลเราไม่เอา นี่ง่ายๆ เรียกว่า เราทำทุกอย่างเพื่อความดับทุกข์ มาฟังเทศน์ทุกอาทิตย์ นี่ก็เพื่อความดับทุกข์ หลวงพ่อเทศน์อยู่นี่ก็เพื่อให้เกิดความดับทุกข์ เทศน์ให้โยมฟัง อาตมาก็ฟังด้วยเหมือนกัน ทั้งเทศน์ทั้งฟัง ใช้ทั้งหูทั้งปาก เทศน์ไปว่าตัวเองไปมั่ง อะไรต่ออะไรตามเรื่อง นี่ก็เพื่อความดับทุกข์ทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องอะไร เราหาเงินนี่ก็เพื่อความดับทุกข์ ไม่ใช่หาไว้เพื่อความร่ำรวย เพื่อดับทุกข์ ถ้าหาแล้วมันยุ่งใจ หาไม่ถูกทางแล้ว อาชีพนั้นมันไม่ถูกต้องแล้ว ต้องมานอนเอามือก่ายหน้าผาก ไม่ได้เรื่องแล้ว ทุกข์แล้ว ต้องทำอย่าให้เป็นทุกข์ ทำงานอย่าให้เป็นทุกข์ คิดอย่าให้เป็นทุกข์ พูดก็อย่าให้เป็นทุกข์ นี่เป็นหลักสำคัญ อย่าให้เกิดปัญหาแก่ตัวเรา อย่าให้เกิดปัญหาแก่คนอื่น เรียกว่าถูกหลักการของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า นิพพานัง ปรมัง วะทันติ พุทธา ผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า พระนิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง ความดับทุกข์เป็นธรรมอย่างยิ่ง เราชาวพุทธ ถือว่าความดับทุกข์คือ จุดหมายที่เราจะไปให้ถึง ก้าวไปเรื่อยๆ ยังไม่ถึงก็ไปต่อไป พระพุทธเจ้าท่านกำชับว่า เมื่อยังไม่ถึงจุดหมายอย่าหยุดเสีย อย่าท้อแท้ อย่าเบื่อหน่าย อย่าหยุด ไปต่อไป ไปด้วยความอดทน ไปด้วยความเพียรมั่น ไปด้วยความตั้งใจมั่น ก็จะถึงจุดที่เราต้องการ ไม่ถึงวันนี้ ก็พรุ่งนี้ พรุ่งนี้ไม่ถึงมะรืนนี้ ไปเรื่อยไป ไม่หยุดก็แล้วกัน ไม่หยุดมันก็ถึงสักวันหนึ่ง ให้ถือหลักการอย่างนี้
เพราะฉะนั้น ในวันมาฆบูชา เราควรถือว่า เป็นวันที่เราควรระลึกถึงพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย และเราควรจะได้ทำชีวิตของเราให้เข้าไปหาสิ่งนั้น เข้าไปหาความสะอาดของจิต สว่างจิต สงบจิต เข้าไปสู่จุดนั้น แล้วก็พยายามใช้เวลาวันนี้ พิจารณาชีวิตของเราเองว่าเรามีปัญหาอะไรบ้าง ความทุกข์อะไรอยู่บ้าง คิดแก้ไขปัญหานั้น ทำลายความทุกข์ความเดือดร้อนใจ จากปัญหานั้นให้หมดสิ้นไป เราก็จะอยู่ได้สะดวกสบาย
นี่กล่าวมานี้ก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ตอนบ่ายก็มีการเจริญภาวนา แล้วก็อาจสนทนาธรรม ให้ญาติโยมทั้งหลายฟัง แต่ตอนบ่ายนี่อาตมา จะบวชนาคที่วัดสังฆทานหน่อย บวชนาคเสร็จแล้วกลับมา ๔ โมงเย็นก็ปาถกฐา เสร็จแล้วก็เวียนเทียน ๕ โมงเวียนเทียน เพื่อสะดวกแก่คนที่มากลางวัน กลับบ้านได้ง่าย ส่วนกลางคืนเราที่นอนวัด ก็จะได้พูดจาธรรมะกัน นั่งสงบจิต สงบใจกัน เป็นการปฏิบัติบูชากันอย่างแท้จริงตลอดเวลา ต่อไปนี้ก็ขอเชิญญาติโยม นั่งสงบใจ เป็นเวลา ๕ นาที