แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ.บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรม อันเป็นหลักคำสอนในทางพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันอาทิตย์เป็นวันที่เราทั้งหลายได้หยุดงาน ปล่อยกาย (07.08) อันเป็นงานหนักพอสมควร แต่ก็เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องทำ เพราะงานกับชีวิตเป็นของคู่กันแยกจากกันไม่ได้ คนที่ทำงานทางกาย แม้จะเหนื่อยกายแต่จิตใจสบาย เพราะได้ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ แต่ถ้าอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไร จิตใจก็จะฟุ้งซ่านออกไปนอกลู่นอกทางได้ง่าย เพราะฉะนั้นการจัดระบบคน เพื่อให้อยู่กันด้วยความเรียบร้อย จึงต้องจัดให้คนทุกคนมีงานทำ เมื่อคนทุกคนมีงานทำแล้วก็จะไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เกิดปัญหา อะไรขึ้นในจิตใจ
เมื่อสมัยสงครามญี่ปุ่น เรียกว่าสงครามมหาเอเชียบูรพา มีคนไทยไปรับจ้างญี่ปุ่นทำงานมากหลาย เวลาอยู่ว่างนี่ญี่ปุ่นเขาจะมาดูว่าอยู่บ้านทำอะไร ถ้านั่งเฉย ๆ เขาจะไม่ยอมเป็นอันขาด เขาจะหาอะไรมาให้เล่นให้ทำ หาดินมาให้ปั้นรูปบ้าง หาอะไรมาให้ทำ ไม่ใช่งาน แต่ว่าให้มีเรื่องเล่น จะไม่ให้อยู่นิ่ง คนเราถ้าอยู่นิ่งแล้วจิตใจมันไม่สงบ มันฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นมีอะไรให้ทำให้เพลิดเพลินไปในขณะที่พักผ่อน ถ้าหากอยู่นิ่งก็ต้องคุยกันเรื่องนั้นเรื่องนี้ คุยกันเรื่องนายจ้างบ้าง เรื่องอันโน้นอันนี้อะไรต่าง ๆ เดี๋ยวเกิดปัญหา ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในสังคมนั้น ๆ ก็ได้
เพราะฉะนั้นเขาจะต้องหาเรื่องให้คนได้เคลื่อนไหว ได้คิดได้นึกในเรื่องอะไร ๆต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา เป็นอุบายที่จะทำคนให้สงบเหมือนกัน นั่นเป็นเรื่องงานที่จะช่วยให้สงบใจได้อย่างหนึ่ง แต่ว่าถ้าเราคร่ำเคร่งอยู่กับงานมาก ๆ ก็เกิดความอึดอัดในจิตใจ เพราะมนุษย์เรานั้นไม่ชอบซ้ำซาก ทั้ง ๆ ที่ในชีวิตของเรานั้นต้องมีเรื่องซ้ำซากอยู่ตลอดเวลา หาเรื่องที่ไม่ซ้ำหามีไม่ มันซ้ำอย่างนั้น กินอาหารก็ซ้ำ หายใจก็ซ้ำ ไปไหน ๆ มาไหนทำอะไรอยู่ตลอดเวลา ซ้ำ ๆ อยู่เรื่อยไป บางทีเราก็เกิดความอึดอัดในจิตใจบ้าง เบื่อหน่ายในสิ่งเหล่านั้นบ้าง เพราะฉะนั้นต้องมีวิธีการที่จะให้คนได้มาพักผ่อนทางจิตใจ
การที่จะให้มาพักผ่อนทางจิตใจนั้น จะต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา เกี่ยวกับธรรมะ เพราะฉะนั้นทุกศาสนาจึงมีวันหยุดไว้ สำหรับให้คนได้พักผ่อนทางร่างกายแล้ว จะได้มาสงบทางจิตใจด้วย ทุกศาสนาจึงมีวันพระ ไว้สำหรับให้คนได้ปฏิบัติกิจทางศาสนา ทุกศาสนาเหมือนกันในเรื่องนี้ ทุกศาสนาเราก็มีวันพระ เหมือนกับศาสนาอื่น แต่เราถือตามแบบโบราณ คือวันพระนี่ถือตามหลักจันทรคติ วันขึ้นค่ำ แรมค่ำอะไรตามเรื่อง ก็นับดวงจันทร์ มาสมัยนี้เราเข้าหลักนิยมที่เรียกว่าเป็นสากล คือหยุดงานกันในวันอาทิตย์
เราจะเปลี่ยนระบบวันพระมาใช้วันอาทิตย์ก็ไม่เสียหายอะไร พวกที่ถือวันพระก็ถือไป สำหรับคนที่ว่างงานจริง ๆ ไปวัดในวันพระกัน แต่เราทั้งหลายที่ยังไม่ได้ว่างงานอย่างนั้น ต้องทำงานในระยะห้าวัน หกวันของสัปดาห์ พอถึงวันอาทิตย์เราก็ถือว่าเป็นวันพระของเรา เราก็มาวัดกัน วัดนี่ก็ควรจะเปิดสถานที่ให้คนได้มาศึกษา มาปฏิบัติธรรมกันในวันพระ เขาจะได้มาสะดวกสบาย ญาติโยมบางคนก็บ่นอยู่เหมือนกัน บอกว่าราชการของเรานี่ไม่หยุดงานในวันพระ ข้าราชการจะได้ไปวัด ความจริงนั้นถึงหยุดเขาก็ไม่มาหรอก คนที่ไม่มาหยุดวันไหนเขาก็ไม่มา หยุดวันพระก็ไม่มา เพราะว่าถ้าจะมาแล้วก็หาเรื่องมาวัดจนได้ เช่น หยุดวันอาทิตย์นี่ถ้ารักจะมาก็มาได้
สมัยหนึ่งก็เคยมีเหมือนกันหยุดวันพระ คือสมัยท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม มาหยุดกันวันพระกันชั่วระยะหนึ่ง ไม่มีใครไปวัดเหมือนกัน แม้หยุดในวันพระ แต่ว่าเป็นข้ออ้างเพื่อแก้ตัวเท่านั้นเองว่ามันลำบาก วันพระเขาไม่หยุดให้ ไม่มีโอกาสได้ไปวัดไปวา พูดว่าอย่างนั้น แต่เวลานี้อยากจะบอกญาติโยมว่าปัญหานั้นมันไม่มีแล้ว ถ้าเราจะมาวัดในวันอาทิตย์ก็ได้ แล้ววันอาทิตย์เราจะมาฟังธรรมก็ได้ จะมาถือศีลอุโบสถก็ได้ ไม่เห็นจะลำบากอะไร บางคนอาจจะพูดว่าศีลอุโบสถนี่ต้องถือในวันพระ ไม่ใช่อย่างนั้น วันไหนก็ถือได้มันเป็นอุโบสถทั้งนั้น เพราะคำว่าอุโบสถ คือการเข้าพักอยู่ในระบบศีลธรรมนั่นเอง เข้าไปอยู่ในระบบศีล
เรารับศีล ๘ ก็เรียกว่า เราถืออุโบสถ ศีลมันมี ๘ ข้อ อันนี้ถ้าเรารับเข้าไปและนับถือก็เรียกว่าเราเข้าอยู่อุโบสถ อุโบสถวันอาทิตย์ก็ได้ วันเสาร์ก็ได้ หรือวันไหนก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นวันพระเสมอไป เพราะนั่นเป็นแต่กฎที่ตั้งขึ้นเท่านั้น สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนได้ เนื้อแท้นั้นอยู่ที่ว่าเรารักษาศีล เจตนาที่จะงดเว้นอันไหน การดื่มกินของมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท การไม่รับประทานอาหารหลังเที่ยง การไม่ฟ้อนรำขับร้องประโคมดนตรีดีดสีตีเป่า ไม่นั่งนอนบนที่นั่งนอนอันสูงใหญ่ ภายในใส่นุ่นเละสำลี เมื่อเรางดเว้นวันไหน ก็เรียกว่ามันเป็นอุโบสถสำหรับเราแล้วในวันนั้น มันอยู่ที่การงดเว้น ที่การปฏิบัติ ไม่ใช่อยู่ที่วัน แต่อยู่ที่ตัวการปฏิบัติ ให้โยมเข้าใจอย่างนี้
เพราะฉะนั้นเราจะถือวันอะไรก็ได้ ที่เราว่างจากงานจากการ เช่น วันอาทิตย์นี่ เราหยุดงานเราก็มารับศีลอะไร ถือศีลอุโบสถ แล้วการรับศีลนั้นเราจะรับจากพระก็ได้ ตั้งใจเอาเองก็ได้ เรียกว่าเจตนาวิรัติ นี่ความว่าตั้งใจเอาเอง เช่น เรารู้สึกว่าวันนี้เราควรหยุดงานเราก็ตั้งใจว่าเราจะอยู่ในศีล ๘ ในวันหนึ่งกับคืนหนึ่งตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป พอตื่นเช้าวันอาทิตย์เราก็ถือ หรือว่าตื่นเช้าวันเสาร์เราก็ถือ ถือมาจนถึงวันอาทิตย์แล้วไปเลิกเช้าวันจันทร์ ถือสองวันก็ได้ สามวันก็ได้ ห้าวันก็ได้ สิบวันก็ได้ หรือถือจนตลอดชีวิตก็ได้ ไม่ใช่ว่าจำกัดในเรื่องนี้ ไม่ได้จำกัดอะไร เราถือสักเท่าไรก็ได้ ตามใจของเราที่ตั้งไว้ เมื่อตั้งไว้อย่างใดแล้วเราก็ถืออย่างเคร่งครัด ตามสัจจะที่เราได้ปฏิญาณไว้กับตัวเอง แต่ไม่ได้เป็นการขัดข้องอะไร เนื้อแท้มันอยู่ที่การตั้งใจงดเว้น แล้วก็ชำระจิตใจของเราให้สะอาด ปราศจากสิ่งเศร้าหมองใจ
เราต้องมุ่งเอาแก่น อย่าไปเอาเปลือกกระพี้มันไว้ เข้าถึงแก่นแล้วเราก็ทำอย่างนั้น ก็เรียกว่าใช้ได้ ไม่ลำบาก อย่าต้องปฏิเสธว่าไม่ถึงวันพระสักที ไม่รู้ว่าจะหยุดงาน เมื่อไรจะถึงวันพระ จะได้ไปถือศีลกินเพลกันสักหน่อย ทีนี้ไม่ต้องอ้างอย่างนั้น เพราะเราตั้งใจจะถือเมื่อไรก็ได้ ปฏิบัติเมื่อใดก็ได้ และสถานที่ใดก็ได้ เหมือนกับเราอาบน้ำ เวลาร้อนก็อาบได้ทั้งนั้น ถ้าไม่ร้อนก็ไม่ต้องอาบ อาบเมื่อร้อน อาบเช้าก็ได้ เย็นก็ได้ กลางคืนดึกดื่นมันเหงื่อไหลไคลย้อย ตื่นขึ้นมาอาบเสียหน่อยก็ยังได้ ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็เหมือนกับเครื่องระงับดับร้อน เราจะเอามาใช้เมื่อไรก็ได้ เมื่อเรารู้สึกว่าจิตใจของเรามันชักจะไม่ค่อยจะเรียบร้อย จะเดือดร้อนรุ่ม ๆใจด้วยปัญหาอะไรต่าง ๆ มากเหลือเกิน เราก็มาตั้งใจระงับดับร้อนเสียทีหนึ่งด้วยการปฏิบัติถือวัตรและศีล อันเป็นเรื่องที่ช่วยแก้ไขปัญหาชีวิต อย่างนี้ก็เป็นเรื่องที่เรากระทำได้ ไม่ลำบากยากเข็นอะไร ขอให้ญาติโยมเข้าใจไว้อย่างนี้
ทีนี้เรื่องเกี่ยวกับจิตใจของคนเรานี่ เราต้องศึกษาทำความเข้าใจกันให้ดี ว่าสภาพจิตของเราควรมีการปรับปรุงอะไรบ้าง ควรจะแก้ไขอะไรกันบ้าง ในเบื้องต้นก็ควรจะเข้าใจกันเสียก่อนว่าจิตของเรานั้นโดยปกติ ดังที่เคยกล่าวมาแล้วหลายครั้งหลายหนว่าเป็นสิ่งที่สะอาดอยู่ ไม่ได้เศร้าหมองอยู่ตลอดเวลา หรือเรียกว่าไม่ได้เป็นบาปอยู่ตลอดเวลา คนเราไม่มีบาปมาตั้งแต่เดิม ไม่ได้เศร้าหมองมากันตั้งแต่เดิม แต่บาปหรือสิ่งเศร้าหมองนั้น มันเกิดขึ้นในใจเราเป็นครั้ง ๆ คราว ๆ เมื่อใดเราหลงผิดไป เมื่อใดเราขาดสติปัญญา เราก็ไปรับอารมณ์ภายนอกที่มากระทบ แล้วก็เกิดความพอใจยินดีในเรื่องนั้นบ้าง ไม่พอใจยินดีในเรื่องนั้นบ้าง ถ้าพอใจยินดีก็เกิดความหลงเพลิดเพลิน ถ้าไม่พอใจไม่ยินดีก็เกิดความอึดอัดขัดใจ นี่มันเป็นเรื่องที่เรียกว่า จิตใจเปลี่ยนสภาพไปแล้ว จากหน้าตาที่เคยเป็นเคยอยู่ เปลี่ยนเป็นหน้าอื่นไป แล้วก็เกิดความเศร้าหมอง เร่าร้อน วุ่นวายขึ้นในจิตใจของเรา เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน
ทีนี้เมื่อเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนขึ้น เราก็ควรจะรู้ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ของเดิม แต่มันเป็นของใหม่ที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา เมื่อขณะที่กระทบกับอารมณ์ภายนอก เช่น ตาพบกับรูป หูพบกับเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส แต่ได้ถูกต้องสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้า แล้วก็เกิดความรู้สึกขึ้นในใจ มันถูกปรุงแต่ง เขาเรียกว่าเป็นสังขาร สังขาร คือการปรุงแต่งของใจ ปรุงแต่งให้เป็นฝ่ายชอบก็ได้ เป็นฝ่ายชังก็ได้ ถ้าไม่ปรุงแต่งมันก็เฉย ๆไม่มีอะไรเกิดขึ้น สภาพเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราจึงควรจะยอมรับในหลักการอันนี้ไว้ ว่าบาปทั้งหลายไม่ใช่ของติดอยู่โดยธรรมชาติ แต่มันเกิดขึ้นในใจของเรา
เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เราไม่ชำระชะล้าง เราหลงผิดไป ปล่อยให้สิ่งนั้นเกิดบ่อย ๆ เมื่อเกิดบ่อย ๆ ก็เลยกลายเป็นนิสัยขึ้นมา เป็นนิสัยเป็นสันดานขึ้นมาในตัวบุคคลนั้น เช่น บุคคลบางคนมีนิสัยขี้โกรธ แม้ไม่ได้ขี้โกรธอะไร แต่ว่าปล่อยตัวปล่อยใจไปมากไป ให้โกรธบ่อย ๆ พักหนึ่ง มันไม่ใช่ของเดิมทั้งนั้น มันเพิ่งเกิดขึ้นในใจของเรา แต่เพราะเราไม่รู้ไม่เข้าใจสภาพของสิ่งนั้น ว่ามันเป็นฝ่ายสร้างสรรค์ หรือฝ่ายทำลาย เป็นฝ่ายดี หรือว่าฝ่ายเสีย เราไม่เข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจในเรื่องอย่างนั้น ก็เลยปล่อยมันไปตามเรื่องตามราว โกรธบ่อย ๆ เกลียดบ่อย ๆ ริษยาบ่อย ๆ พยาบาทอาฆาตจองเวรบ่อย ๆ หลงใหลมัวเมาในเรื่องอะไร ๆ บ่อย ๆ ก็เลยกลายเป็นนิสัย
นิสัยเกิดขึ้นจากการคิดบ่อย ๆ ทำบ่อย ๆ ในเรื่องนั้น ๆ ถ้าเรารู้ว่าเรื่องนี้ไม่ดี เราหยุดเสีย มันก็สร้างนิสัยเราไม่ได้ มันสร้างไม่ได้เพราะเราหยุดยั้งไว้เสียก่อน ไม่ยอมให้มันเกิดมาก ๆ เกิดหลายหน มันก็หยุด ไม่เจริญงอกงาม แต่ถ้าเราไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่เห็นพิษเห็นภัยของสิ่งเหล่านั้น เราก็ปล่อยให้มันเกิดเรื่อยไป เกิดบ่อย ๆ มันก็กลายเป็นการสร้างนิสัยขึ้นในตัวแล้ว
คนเราอยู่บ้านก็เหมือนกัน ถ้าตื่นเช้าทำอะไรทันทีบ่อย ๆ นานไปมันก็ชิน ตื่นขึ้นบ่นก็บ่นอยู่อย่างนั้น บ่นเรื่อยไปแล้ว ถ้าตื่นขึ้นนั่งสงบจิตสงบใจ ทำบ่อย ๆ จิตใจก็สงบ แล้วจะพูดอะไรกับใครก็เรียกว่าพูดด้วยอารมณ์เย็น ไม่ใช้อารมณ์ร้อน น้ำร้อนนี่ไม่ดี มันไหม้ มันทำให้ผิวหนังเสีย แต่น้ำเย็นดี ไม่เป็นไร เราพูดเย็น ๆ ค่อยพูดค่อยจา ถ้ารู้สึกว่าตัวเราชักจะไม่ค่อยดีในเรื่องอะไร ตื่นขึ้นอย่าเพิ่งลุกขึ้นก่อน ให้นอนเฉย ๆ แล้วก็สำรวมใจเตือนตัวเองว่า ถ้าลุกขึ้นจากที่นอน เปิดประตูออกไปเห็นอะไรทำใจเย็น ๆ ไว้นะ อย่าพูดจาหยาบคาย อย่าใช้คำพูดที่ไม่เหมาะไม่ควร เป็นการแสดงความอ่อนแอทางจิตใจ ต้องค่อยพูดค่อยจา ให้สุภาพให้เรียบร้อย พูดด้วยเหตุด้วยผล พูดด้วยสติด้วยปัญญา เราพูดกับตัวอย่างนั้น แล้วก็ลุกขึ้นเตรียมยิ้มออกไป พอเห็นอะไรก็ยิ้ม ๆ ไว้ก่อน แล้วค่อยเรียกมาพูดมาจา บางคนอาจจะนึกว่าไม่ได้ ทำเหมือนท่านเจ้าคุณว่านี่ไม่ได้ เด็กมันจะได้ใจ มันจะต้องดุ ต้องว่า นี่เราคิดไปในแง่ร้ายเหมือนกัน
คนเรามีใครบ้างชอบให้เขาดุเขาว่า ใครบ้างชอบให้ได้ยินคำหยาบนี่ ไม่มีใครชอบ แต่คำอ่อนหวานสมานใจนั้น ใคร ๆ ก็ชอบทั้งนั้นแหล่ะ คำหยาบนี่ไม่มีใครชอบ เราก็ต้องพูดคำอ่อนหวาน ให้คนเขาได้สบายใจ สอนให้เขาทำอะไรด้วยวาจานิ่มนวล ดีกว่าสอนให้เขาทำอะไรด้วยวาจาดุดัน ถ้าเราพูดด้วยวาจาดุดันนี่ หน้าตาเราก็ดุ เสียงก็ดุ ท่าทางก็คอยดุไปด้วย นั่นแค่พูดนะ นาน ๆ ก็พูดไม่ได้แล้ว ต้องใช้อะไรต่อมิอะไรเข้าไปบ้างแล้ว ทีนี้ก็ไปกันใหญ่ เสียหายมากมาย เรื่องนี้น่าคิด สำหรับคนเราทั่วไป คิดสร้างอะไรขึ้นในจิตใจ โดยไม่รู้เท่าถึงการณ์ โดยขาดการพิจารณาตัวเอง ขาดการตักเตือนตัวเอง จึงได้สร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นในจิตใจ เลยกลายเป็นคนใจร้อน ใจเร็วไป อันเป็นเรื่องเสียหาย
ความจริงความใจร้อนใจเร็วนั้นมันไม่ได้มีอยู่ก่อน มันเพิ่งเกิดตามมาทีหลัง เพิ่งเกิดขึ้นทั้งนั้น ของใหม่ทั้งนั้น ไม่ใช่ของเก่า ให้เรารับอันนี้ไว้ แล้วคอยเตือนตัวเองว่านี่ไม่ใช่ของฉัน เดิมที่ฉันมี แต่มันเป็นของใหม่เพิ่งเกิดขึ้น เพิ่งมีขึ้นในจิตใจของฉัน ฉันจะต้องไม่เก็บสิ่งนี้ไว้ให้มันรกใจอีกต่อไป ต้องกวาดต้องล้าง ให้คิดว่าอย่างนั้น สิ่งทั้งหลายในจิตใจก็จะดีขึ้น นี่ประการหนึ่ง
อีกเรื่องหนึ่งที่ควรเข้าใจก็คือว่า เมื่อก่อนนี้ไม่มีหลักการอะไร เกี่ยวกับจิตใจของมนุษย์นี่ไม่มีหลักการ คือไม่มีผู้รู้ ไม่มีผู้มีปัญญามาค้นคว้าในเรื่องนี้ แต่ว่าต่อมานี่ คนที่อยู่ในหมู่คน เขามองดูคนอยู่ บางคนใจเย็นโดยธรรมชาติ แต่บางคนก็ใจร้อนวู่วาม บางคนพูดจานิ่มนวลชวนฟัง แต่บางคนก็พูดจาไม่ไพเราะ กริยาท่าทางไม่ดี เขาได้เห็นได้พบสิ่งเหล่านี้ คนที่เป็นนักคิดเขาก็เอาไปคิด คิดว่ามูลฐานมันอยู่ที่อะไร ทำไมจึงได้เป็นอย่างนั้น ทำไมจึงได้เป็นอย่างนี้ แล้วจะแก้ไข จะปรับปรุงสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ ก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นในใจ คนประเภทนี้ที่ไปนั่งคิดนั่งค้นอยู่ในป่าเงียบ ๆ ซึ่งในสมัยก่อนเขาเรียกว่ามุนี
มุนีนี่คือผู้แสวงหาทางดับทุกข์นั่นเอง เป็นผู้แสวงหาความดับทุกข์ เรียกว่าเป็นมุนี มุนีนี่จะต้องออกจากบ้านจากเรือน ไปอยู่ในป่า กินอาหารแต่น้อย ๆ นุ่งห่มแต่พอสมควร ที่พักอาศัยก็ไม่ค่อยจะสนใจอะไร เรียกว่าอยู่ง่าย ๆ อยู่ตามใต้ต้นไม้ อยู่ในถ้ำ อยู่ในป่าเงียบ ๆ แล้วก็ยกปัญหาเรื่องมนุษย์มานั่งคิดนั่งตรอง ว่าสิ่งที่ได้พบมา จิตใจคนทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ เอามานั่งคิดนั่งตรอง เมื่อคิดไปคิดมาก็มองเห็นว่า สภาพความคิดของคนนี้แบ่งออกได้หลายอย่าง แต่ว่าถ้าแบ่งสั้น ๆ ย่อ ๆ ก็เอาเพียงสองประการ เรียกว่าฝ่ายดีอย่างหนึ่ง ฝ่ายชั่วอย่างหนึ่ง
ฝ่ายดีนี่ถ้าพูดเป็นศัพท์เป็นแสง ก็เรียกว่าฝ่ายกุศล ฝ่ายชั่วก็เรียกว่าอกุศล กุศลนั่นแหล่ะ แต่เอาตัว “อ” มาใส่ไว้ข้างหน้า เป็นเรื่องปฏิเสธไป กุศลนี่หมายถึงดี ฉลาด ประเสริฐ แต่พอ “อะ” มาใส่ข้าง มันจะตรงกันข้าม ไม่ดีไปเสียแล้ว ไม่ประเสริฐเสียแล้ว ไม่น่ารักไปเสียแล้ว ไม่ดีไม่งามแล้ว เป็นอกุศลไป ก็ในเมื่อความคิดที่เกิดขึ้นในใจคนว่าเป็นสองอย่าง ฝ่ายกุศลพวกหนึ่ง ฝ่ายอกุศลพวกหนึ่ง
ฝ่ายอกุศลนั้นได้แก่ เรื่องฝ่ายไม่ดีทั้งนั้น ก็ดูอาการของจิตคนว่า คิดอะไรบ้างคนเรานี่ ถ้าคิดอยากได้ ถ้าคิดในทางโกรธ คิดในทางหลงงมงาย เขาแบ่งออกไปว่า พวกหนึ่งใจเฉย ๆ ไม่อยากได้อะไร พวกหนึ่งใจเย็น ๆ ไม่โกรธไม่ประทุษร้ายใคร พวกหนึ่งอะไรมากระทบก็รู้เท่ารู้ทันสิ่งนั้น เป็นสองฝ่ายขึ้นมา ฝ่ายดีก็คือพวกที่เรียกว่าใจเย็น ไม่อยากได้อะไรมากเกกินขอบเขต แล้วก็ไม่โกรธใครเคืองใคร ไม่หงุดหงิดงุ่นงานในทางจิตใจ แล้วก็มีใจประกอบด้วยสติปัญญา รู้เท่ารู้ทันในสิ่งที่มากระทบ ไม่เกิดความหวั่นไหวกับอารมณ์นั้น ๆ เรียกว่าเป็นคนหนักแน่น ถ้าเปรียบวัตถุก็เรียกว่าแน่นเหมือนแผ่นดิน เหมือนกับแผ่นดินที่มันไม่โยกโครง แม้ถูกลมพัดอย่างแรง แต่ดินก็ไม่เคลื่อน แผ่นดินก็ไม่เป็นไร หนักแน่นมั่นคง
อีกฝ่ายหนึ่งนั้น อยากได้ ใจร้อน ขี้โกรธ แล้วก็ไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องอะไรทั้งนั้น ก็เลยแบ่งออกเป็นสองพวก ฝ่ายดีพวกหนึ่ง ฝ่ายไม่ดีพวกหนึ่ง เพื่อเอาไปสอนคน ให้คนรู้จักแยกแยะวิเคราะห์วิจัยเรื่องของตัวเอง เรื่องจิตของตัว หรือกับสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเรา เพราะว่าการเรียนธรรมะ ดังที่เคยพูดให้ญาติโยมฟังหลายครั้งหลายหนบ่อย ๆ ก็ว่าได้ว่า เราเรียนเพื่อรู้จักตัวเอง เพื่อรู้จักสิ่งที่เกิดขึ้นในตัว เพื่อรู้สาเหตุของสิ่งนั้น เพื่อแก้ไขสิ่งนั้นทันท่วงที จุดมุ่งหมายมีอยู่สามประการนี้เป็นหลักสำคัญ
เรื่องที่เกิดขึ้นในตัวเรานั้นก็คือเรื่องที่เกิดขึ้นในใจ เรื่องร่างกายนั้นไม่สำคัญนัก เย็นร้อนอ่อนแข็งอะไรมากระทบก็ไม่สำคัญ ถ้าใจไม่เข้าผสมโรงแล้วไม่มีเรื่องอะไร แต่ถ้าใจเข้าไปผสมโรงด้วยล่ะก็ มีเรื่องขึ้นมาทันที เพราะฉะนั้นความสำคัญของเรื่องทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้น จึงอยู่ที่ใจของเรา ไม่ได้อยู่ที่อื่น เมื่อรู้ว่าอยู่ที่ใจ เขาก็เลยได้แบ่งออกเป็นสองฝ่าย เพื่อให้พิจารณาง่าย เรียกว่าฝ่ายขาว กับฝ่ายดำ กุศลนี่เป็นฝ่ายขาว ฝ่ายดี ฝ่ายมีประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดทุกข์เกิดโทษแก่ใคร ๆ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นเป็นฝ่ายดำ มืด บอดไม่ดีไม่งาม ไม่เกิดประโยชน์อะไร แบ่งออกเป็นสองฝ่าย เรียกว่าดีชั่ว สุขทุกข์ เสื่อมเจริญ หรือว่าฝ่ายดำฝ่ายขาว
พอจะได้เป็นหลักเบื้องต้น ที่จะวินิจฉัยว่าอะไรมันเกิดขึ้นในใจของเรา ซึ่งเรามีความรู้สึกขึ้นในใจว่าเห็นอะไรแล้วก็พอใจ เมื่อพอใจแล้วก็อยากได้ แต่ว่าของนั้นมันมีเจ้าของ แต่เราก็อยากได้ และความอยากได้นั้นรุนแรงขึ้นในจิตใจ เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นในจิตใจ ยับยั้งไม่ได้ เมื่อยับยั้งไม่ได้ก็เกิดโทสะ คิดประทุษร้ายต่อบุคคลนั้น ต้องไปทุบมัน แล้วก็แย่งเอาของนั้นไป คนจึงได้เข้าไปทุบตีคนอื่นเพื่อแย่งเอาทรัพย์ ไปทุบให้เขาบาดเจ็บแล้วก็เอานาฬิกา เอาแหวน เอาสายสร้อย เอากระเป๋าถือไป ทุบให้เจ็บเสียก่อน เพื่อไม่ลุกขึ้นสู้ นี่เป็นของโทสะ การกระทำในเรื่องหยาบก็ดี ในเรื่องโทสะก็ดี เกิดเพราะโมหะ เกิดเพราะความรู้ไม่เท่า รู้ไม่ทันในเรื่องนั้น ไม่ได้คิดตรองอย่างรอบคอบ ไม่ได้ตั้งปัญหาขึ้นถามตัวเอง ว่าถ้าสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นแก่เรา เราจะชอบใจไหม เช่น ใครมาทุบเรา เอาของ ๆ เราไป เราจะชอบใจไหม เขาไม่ได้คิดอย่างนั้น
เพราะเวลานั้นแสงสว่างไม่มี แสงสว่างที่เกิดขึ้นส่องให้เกิดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี มีประโยชน์ หรือไม่มีประโยชน์นั้นไม่เกิดขึ้นในใจเลยแม้แต่น้อย มีแต่ความมืดครอบงำจิตใจ คิดอย่างเดียวว่ากูต้องเอาให้ได้ เอาให้ได้ นี่คือโมหะแล้ว พอจะเอาให้ได้ แล้วจะทำอย่างไร คิดวางแผน กิเลิศหนุนหลังทั้งนั้น ความโลภหนุนหลัง โทสะหนุนหลัง ความหลงเข้ามาหนุนหลังจิตใจทำให้มืดมัวไปหมด มองอะไรไม่ชัดตามสภาพที่เป็นจริง ก็เลยจะทำความผิดลงไป ดังที่เราได้เห็นเป็นข่าวปรากฏอยู่บ่อย ๆ อันคนที่ได้กระทำผิดลงไป เพราะอำนาจความคิดฝ่ายดำ จะเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง อะไรก็ตาม คน ๆ นั้นเป็นคนที่ขาดการควบคุมตนเอง ไม่เคยนั่งลงพิจารณาตัวเอง ตักเตือนตัวเอง เพื่อแก้ไขตัวเอง
เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่รู้จักตัวเอง แล้วก็ไม่รู้จักว่าอะไรมันเกิดขึ้นในใจของตัว สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นให้ทุกข์ให้โทษ ให้ประโยชน์ ให้ความไม่มีประโยชน์อย่างไร คิดไม่ออก และไม่รู้ ทำไปโดยไม่รู้ ถ้าทำสำเร็จไปครั้งหนึ่งแล้ว ก็มีความภูมิใจในตัวเอง ภูมิใจว่าฉันเก่งที่ทำสำเร็จได้ในวันนี้ เราต้องวางแผนทำใหม่ต่อไป แล้วเขาก็เพลินไปในเรื่องนั้น เป็นความเพลินด้วยบาปด้วยอกุศล เรียกว่าบาปด้วยความเพลิดเพลิน
ถ้าพูดตามภาษาเขาเรียกว่า ...... นันทิ (29.22 คำบาลี) บาปะ คือบาปนั้น นันทิคือความเพลิดเพลิน บาปนันทิ แปลว่าเพลิดเพลินในการบาป สนุกในทางบาป หาเรื่องบาปมาปลอบโยนจิตใจอยู่ตลอดเวลา เขาก็คิดไปในเรื่องอย่างนั้น ทำสำเร็จก็ภูมิใจ สบายใจ และทุกครั้งที่ทำจิตใจก็ต่ำลงไป ทุกครั้งที่ดีใจจิตใจก็ต่ำลงไป ตกลงไปเรื่อย ๆ ตกลงไปเรื่อย ๆ จนไม่สามารถจะฟื้นตัวได้ กลายเป็นคนเสียผู้เสียคนไป บางทีก็ต้องถูกเจ้าหน้าที่ยิงตาย หรือจับตัวได้ก็ส่งเข้าไปอยู่ในคุกในตาราง ไปอบรมบ่มนิสัยกันต่อไป พอรู้สึกตัวขึ้นก็สายไปเสียแล้ว ไม่สามารถจะกลับจิตกลับใจไปเป็นคนดีได้ คือมันแก่เต็มทีแล้ว ทำอะไรไม่ได้ อย่างนี้น่าเสียดายชีวิตอย่างนั้น ก็เพราะว่าขาดอะไรบางอย่าง คือขาดการเข้าใกล้คนดี ขาดการได้ยินได้ฟังสิ่งดีสิ่งงาม เลยมองไม่เห็นว่าตัวเป็นคนบกพร่องอะไร มีความเสียหายอยู่ในเรื่องใดบ้าง อย่างนี้มีอยู่ไม่ใช่น้อย
จึงเป็นหลักที่ควรจะได้วิเคราะห์จิตใจของเราเองได้ จิตใจของคนอื่นบ้าง โดยเฉพาะพ่อแม่ ปูตา ย่ายาย มีผู้อยู่ในปกครอง ผู้ที่อยู่ในปกครอง ก็คือลูกหลานของเรานั่นเอง เราจะต้องคอยสังเกต การพูดจา กริยาท่าทาง การกระทำอะไรต่าง ๆ ของเด็กของเราไว้ ว่าเด็กของเรานี้มีความโน้มเอียงไปในทางไหน แม้เอียงไปในทางทำลาย หรือว่าโน้มเอียงไปในทางสร้างสรรค์ เขามีปกติคิดอะไร พูดจาอย่างไร กริยาท่าทางเป็นอย่างไร เราต้องคอยสังเกต คอยกำหนดไว้ เช่น การพูดนี่ เขาพูดคำประเภทใด พูดคำหยาบ ไม่มีหางเสียง ไม่มีความอ่อนน้อม พูดจาแบบเด็ดขาด ปฏิเสธก็ง่าย ๆ โว้ย.อะไรอย่างนี้
เราจะต้องสังเกตดูว่าทำไมเขาพูดอย่างนั้น กริยาท่าทางแข็งกระด้าง อะไรต่าง ๆ ตรงนี้มีพื้นฐานมาจากจิตใจของเขา เราก็ต้องคอยอธิบาย ทำความเข้าใจแก่เด็กเหล่านั้นให้เขารู้ว่ากริยาเช่นนั้นไม่ดี การพูดถ้อยคำเช่นนั้นไม่ดี สิ่งนี้มาจากความคิดในใจ ความคิดที่เกิดขึ้นในใจนั้นเป็นฝ่ายดำ เป็นฝ่ายอกุศล มันเกิดขึ้นแล้วสนับสนุนให้ลูกทำอย่างนั้น ให้หลานทำอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้บ่อย ๆ ต่อไปจะเสียผู้เสียคน ไม่สามารถจะตั้งเนื้อตั้งตัวได้ และชีวิตจะลำบาก จะเดือดร้อน เราค่อยพูด ค่อยสอน ค่อยฝึกไป อธิบายให้เขาเข้าใจ อย่าเอาแต่เพียงว่าไม่ได้ ทำอย่างนั้นไม่ได้ เด็กมันชอบเหตุผลเหมือนกัน เราต้องพูดให้เขาเข้าใจ เพื่อให้เขาคิดได้ว่าอะไรมันไม่เหมาะไม่ควร
ในเรื่องชาดกมีเรื่องเล่าไว้เรื่องหนึ่ง เข้าทีดีเหมือนกัน คือว่าองค์พระมหากษัตริย์ และพระมเหสีที่ครองเมืองนั้น มีพระโอรสองค์หนึ่ง โอรสคือผู้ชาย พูดง่าย ๆ ว่ามีลูกชายคนหนึ่ง ทีนี้ลูกชายนี่มีนิสัยค่อนข้างจะเกเร ...... (33.10) สักหน่อย ชอบทำอะไรตามใจตัวตามใจปรารถนา จะทักท้วงว่ากล่าวก็ไม่ค่อยเชื่อฟัง ไม่เอาใจใส่ทั้งนั้น แล้วก็ดุขึ้นไปเรื่อย ๆ เวลาไปไหนติดต่อกับใครก็ใช้อำนาจ ดุว่า เตะต่อย ให้มหาดเล็กจับตัวมาลงโทษ เฆี่ยนตี ในเรื่องต่าง ๆ อย่างนี้บ่อย ๆ ทีนี้พระราชาก็นั่งทรงพระรำพึง คิดว่าไม่ได้การแล้ว ลูกชายของเรานี่เติบโตขึ้นไปจะต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทนเราต่อไป ถ้านิสัยอยู่ในรูปอย่างนี้จะไปเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้อย่างไร เป็นพระเจ้าแผ่นดินก็สั่งคนฆ่าได้วันยังค่ำเท่านั้นเอง แล้วบ้านเมืองจะไปรอดได้อย่างไร
ท่านคิดมาก คิดแล้วก็อึดอัดอยู่เหมือนกันว่าไม่รู้จะทำอย่างไร วันหนึ่งก็เรียกประชุมคนฉลาด คนฉลาดก็คือพวก เขาเรียกว่าปุโรหิต ตำแหน่งปุโรหิตนี่เขาเรียกว่าตำแหน่งผู้ปรึกษาของพระเจ้าแผ่นดิน ปุโรหิตนี่มีหน้าที่จะต้องกราบทูลให้ทรงทราบว่าอะไรดี อะไรเสีย อะไรควร อะไรไม่ควร ปุโรหิตนี่จะต้องเป็นพวกที่จิตใจเข็มแข็ง ไม่เห็นแก่ลาภ แก่สักการะ กล้าทูลพระเจ้าแผ่นดินในเมื่อเห็นว่าอะไรมันจะเสียหายเกิดขึ้น ไม่กลัว แต่กล้าที่จะเข้าไปกราบทูลให้ทรงทราบว่า เรื่องนั้นเป็นอย่างนั้น เรื่องนี้เป็นอย่างนี้ ถ้าขืนปล่อยไว้แล้วก็จะเสียหาย อันนี้สำคัญมาก
ผู้ที่เป็นปุโรหิต หรือว่าผู้หลักผู้ใหญ่นี่ พระเจ้าแผ่นดินท่านตั้งไว้เพื่อเป็นสตินั่นเอง ให้เป็นสติคอยเตือนท่าน ในเมื่อท่านเผลอไป ท่านประมาทไป เพราะอะไร เพราะว่าคนใหญ่คนโตเหล่านั้น ไม่ว่าผู้ใด ตั้งแต่โบราณจนถึงกาลบัดนี้ จะเสียผู้เสียคนก็เพราะคนใช้นี่แหล่ะ โยมคิดดูเถอะ คนใช้นี่ทำให้ผู้ใหญ่เสีย คนใช้นี่ที่ทำให้ผู้ใหญ่เสีย ทำให้หัวหน้าเสียก็คนใช้ อันนี้ทำไมจึงทำให้หัวหน้าเสีย เพราะว่าคนนั้นเป็นคนเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ เห็นแก่อามิสอะไรต่าง ๆ กลัวว่าตัวจะขาดประโยชน์ที่ตนจะพึงมีพึงได้ ก็เลยคอยประจบประแจง คอยบอกเรื่องนั้นเรื่องนี้ แม้เรื่องเสียก็ไม่ทักท้วงอะไร มีแต่คำว่าดีครับ ดีครับเรื่อย ดีครับ ดีพระยะค่ะ ดีเพค่ะ ดีเรื่อยไป ทีนี้ก็ต้องเสียคน ผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้คนประเภทนี้จะเสียคน
หรือว่ายังมีอีกอย่างหนึ่ง คนที่อยู่ใกล้ต้องการเอาใจนาย ยิ่งเจ้านายหนุ่ม ๆ อะไรอย่างนี้ ต้องการเอาใจ แล้วก็คอยหาเรื่องทูลให้ทราบว่าควรจะทำอะไร ควรจะสนุกอย่างไร ตัวก็จะได้คอยสนุกด้วย ไม่ใช่เรื่องอะไร อันนี้คนหนุ่ม ๆ นี่ยังไม่ประสีประสาในเรื่องอะไรมากนัก คนเราไม่ใช่ว่าจะฉลาดในทางถูกทางชอบเสมอไป แม้ว่าจะเกิดในตระกูลใหญ่ ตระกูลสูง เกิดในตระกูลมั่งคั่ง ไอ้สิ่งเหล่านั้นมันเป็นวัตถุ ไม่ได้เป็นเครื่องช่วยทำให้คนเข้าใจอะไรถูกต้อง และวัตถุนี่พูดไม่ได้ ความเป็นใหญ่ มันก็สอนคนไม่ได้ แต่ว่าคนที่อยู่ใกล้นี่แหล่ะคอยกระตุ้นเรื่องนั้นเรื่องนี้ บางทีก็ไปเอาเรื่องอะไรมาเล่าให้ฟัง ให้เกิดความเพลิดเพลิน
ทีนี้ถ้าฟังบ่อย ๆ ก็ ฉันอยากจะไปเที่ยวมั่ง อยากจะสนุกบ้าง ไอ้พวกนั้น พอได้ยินเท่านั้น ดีแล้วกูจะได้ไปด้วย แล้วมันก็พาหัวหน้าไปเที่ยว พานายไปเที่ยว หาความสนุกสนานเพลิดเพลิน คนอย่างนี้ คนเราที่เป็นใหญ่เป็นโตมาเสียคนเพราะผู้น้อยที่อยู่ใกล้ ๆ บริวารนี่ บริวารทำให้คนเสียมามากแล้ว ลองอ่านประวัติศาสตร์โลกดู ประเทศไหน ๆ ก็เหมือนกัน ตั้งแต่โบราณเขาก็ว่าไว้อย่างนั้น ในเรื่องชาดกก็สอนไว้อย่างนั้น ให้รู้ว่า ไอ้คนใกล้นั้นจะทำลายคนที่อยู่ใกล้ตัว คนใช้ที่ไม่ดีจะทำลายนาย บริวารที่ไม่ดีจะทำลายผู้ที่เป็นหัวหน้าของตนให้เสียหาย
เพราะฉะนั้นจะต้องมีคนไว้ประเภทหนึ่ง เรียกว่าปุโรหิต ผู้คอยแนะนำตักเตือนทักท้วงในเรื่องอะไรต่าง ๆ ที่มันไม่เหมาะไม่ควร ปุโรหิตนี่ต้องกล้า ขลาดไม่ได้ เพราะจะเป็นความเสียหายแก่ส่วนรวม จึงต้องกล้ากราบทูล พระเจ้าแผ่นดินท่านก็อึดอัดแล้วก็เลยประชุมปุโรหิตทั้งหลาย ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้ลูกชายฉันหายเกเรเสียหน่อย จะได้เป็นผู้มีความคิดที่ถูกที่ชอบต่อไป ปุโรหิตทั้งหลายก็มองหน้ามองตากัน ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แต่ว่ามีคนดีอยู่คนหนึ่งในหมู่นั้น ลุกขึ้นกราบเอาหัวโขลกพื้นเลย แล้วก็กราบทูลว่ามีทางทำได้พะยะค่ะ พระราชาก็ถามว่าจะทำอย่างไร บอกว่าเรื่องนี้เป็นความลับ ต้องพูดกันสองคนเท่านั้น แล้วพระองค์ก็ไล่คนอื่นออกไปหมด พวกที่ไม่มาความคิดนี่ไล่ออกไป เหลือไว้คนเดียวที่มีความคิด แล้วก็กราบทูลให้ทรงทราบว่าเขามีแผนที่จะปราบปรามเจ้าชาย ซึ่งมีนิสัยดุร้าย ...... (39.01 เสียงไม่ชัดเจน) พระองค์ก็เลยบอกฉันมอบเรื่องนี้ให้แก่เธอทุกประการ ขอให้เธอจัดทำรับผิดชอบในเรื่องนี้
ต่อตั้งแต่นั้นมาปุโรหิตก็เข้าใกล้เจ้าชาย ไปไหนก็ไปด้วยกัน คอยหาโอกาสที่จะกราบทูลแนะนำตักเตือนอยู่เสมอ ทีนี้วันหนึ่งก็ไปเที่ยวสวน ในสวนมีต้นไม้เยอะแยะ ไม้ประเภทที่เรียกว่าขม กินเข้าไปแล้วขมปี๊ดก็มี เปรี้ยวก็มี หลายอย่างต่าง ๆนา ๆ ปุโรหิตแกจะสอนเจ้าชายแล้ววันนี้ เลยพาเดินรัดเราะไป รัดเราะไป อธิบายต้นไม้นั้นต้นไม้นี้ ก็ไปถึงต้นไม้ขมเข้าต้นหนึ่ง ขมเหมือนบอระเพ็ดอย่างนั้น แต่มันเป็นไม้ต้น เลยบอกว่า พระองค์ลองเด็ดใบไม้นี้เสวยดูหน่อยสิว่ารสชาติมันเป็นอย่างไร ให้เสวยใบไม้อื่นมาก่อนแล้ว วันก่อน ๆ นี้ เจ้าชายก็เสวย แต่มันไม่มีอะไร
วันนั้นไปเจอต้นไม้ขม พอถึงก็เด็ดใบมาเคี้ยว พระพักรเบี้ยวไปเลย หน้าบูดเบี้ยวไปเลย เพราะมันขมจัด พอขมจัดก็กริ้วเลย คนใจร้อนกริ้ว ถอนต้นไม้นั้นเลย ถอนต้นไม้ฟาดลงไปเหยียบกระทืบเลย ปุโรหิตยืนยิ้มอยู่ในใจ ไม่ยิ้มมากอะไรหรอก พอสร่างเบาโกรธแล้ว ปุโรหิตก็บอกว่านี่แหล่ะพะยะค่ะ พระองค์นี่เหมือนกับต้นไม้ต้นนี้ ต้นไม้ต้นนี้เป็นต้นไม้ไม่มีประโยชน์แก่การรับประทาน เพราะมันขม ใคร ๆ ก็ไม่ชอบ พระองค์ที่ประพฤติปฏิบัติมาก่อน มันมีสภาพเหมือนต้นไม้ต้นนี้ แล้ววันหนึ่งคนทั้งหลายก็จะจับพระองค์ขยี้ แล้วจะทำร้ายพระองค์ ถ้าหากว่าประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ต่อไปแล้วเขาจะขยี้พระองค์จนเสียหาย ไม่เป็นผู้เป็นคนอีกต่อไป ราษฎรทั้งหลายจะประท้วง รู้สึกพระองค์ทันที คนมันมีแล้ว มีแววฉลาดอยู่หน่อย ลูกพระเจ้าแผ่นดินนี้
อันนี้พอปุโรหิตกราบทูลเช่นนั้นก็สำนึกได้ สำนึกได้ในความผิดของตัว ยกมือขึ้นไหว้ปุโรหิตผู้นั้น เพราะว่าเป็นคนแก่ ท่านก็ไหว้บอกว่า ท่านช่วยชี้ทางสว่างให้แก่ข้าพเจ้า นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปท่านต้องอยู่ใกล้กับข้าพเจ้า เป็นพี่เลี้ยงข้าพเจ้าในการกระทำกิจการงานทุกอย่าง ทีนี้ปุโรหิตก็ต้องอยู่ใกล้คอยแนะนำตักเตือนในสิ่งที่ควรแนะควรเตือนตลอดเวลา เจ้าชายองค์นั้นก็เรียบร้อย ไม่เกะกะระรานต่อไป พูดจากับคนก็ดี ไม่ดุไม่ร้าย ประชาชนก็พอใจ พอใจว่าเจ้าชายของเราเรียบร้อยแล้ว มีความประพฤติดีงาม เวลาพระเจ้าพ่อสวรรคต เขาก็ยกเจ้าชายขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป นี่เรียกว่าเอามาเล่าให้ฟังว่า ในเรื่องชาดกนี่เขาก็มีเรื่องอย่างนี้อยู่เหมือนกัน เขาสอนไว้เพื่อให้คนได้คิด ได้แก้ไข
เรามีลูกมีหลาน มีคนในปกครองอะไรต่าง ๆ ก็เหมือนกัน เราจะต้องหาวิธีการว่าจะเทศน์เขาอย่างไร ถ้าเขามีนิสัยดุดันเหี้ยมโหดใจร้อน ใจเร็ว ต้องหาวิธีที่จะแนะนำพร่ำเตือนเขา พูดจาอุปมาอุปมัย เรื่องนี้สำคัญมาก พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนั้น ถ้าเราอ่านในเรื่องพระสูตร เขาเรียกว่าสุตันตะ หรือพระสูตร เป็นคำสอนทั่ว ๆ ไป ที่พระองค์สอนชาวบ้าน พระองค์มักจะเปรียบเทียบตลอดเวลา อุปมาว่าเหมือนอย่างนั้นเหมือนอย่างนี้ ยกข้อเปรียบเทียบให้คนเห็น เป็นข้อเปรียบเทียบทั้งนั้น มีมากมายก่ายกองที่เปรียบเทียบเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้คนเข้าใจ ให้คิดด้วยปัญญาแล้วจะได้แก้ปัญหาต่าง ๆ ต่อไป
เราก็ควรใช้อุบายอย่างนี้ สำหรับที่จะเอามาเปลี่ยนนิสัยคนที่ไม่เหมาะไม่ควรด้วยการพูดจาแนะนำตักเตือน ทำความเข้าใจ ชี้แนะให้เขาเห็นว่าสภาพเดิมเรานั้นเดิมไม่ได้เป็นอย่างนี้ ถ้าเขาเป็นคนใจร้อน บอกว่าเธอไม่ได้เป็นคนใจร้ายมาก่อนหรอก มันเพิ่งร้อนขึ้น เพราะความต้องการที่ไม่ได้ดั่งใจ โทสะนี่เกิดเพราะอะไร ความโกรธนี่เกิดเพราะอะไร เกิดเพราะไม่ได้ดั่งใจ ใจร้อนนั่นเอง อยากจะได้ก็ร้อน ใช้คนให้ไปเอาอะไรมา ใจร้อน กว่าจะมาถึง มาถึงทำไมเธอช้านัก ความจริงบางมันไม่ช้าหรอก แต่มันไปหาไปจับอยู่กว่าจะได้ยกมา แต่ว่าเรานี่ต้องการไวไปเลยมองเป็นช้าไป พอเขาได้มาก็ไปดุเขาว่าทำไมช้า อย่างนี้จะทำให้เสียหาย ความจริงมันก็ไม่ช้าอะไร ทำเฉย ๆ ไว้ก่อน เว้นไว้แต่ว่ามันถะไหลเกินไป เราก็ค่อยเรียกมาพูดมาจาทำความเข้าใจ และเวลาพูดจากันนั้นอย่าพูดด้วยอำนาจโทสะ คือต้องสงบเสียก่อนจึงค่อยพูดค่อยจากัน
เหมือนคนในครอบครัวนี่ สามีภรรยาทะเลาะกันไม่ใช่เรื่องอะไรหรอก ร้อนทั้งสองฝ่าย ฝ่ายพูดสามีก็ร้อน ภรรยาก็ร้อน เลยพ่นพิษใส่กัน เมื่อไฟไหม้บ้าน ถ้าพ่นพิษใส่กันแล้วไฟก็ไหม้บ้านทุกที อย่างนี้ไม่ได้ ต้องเย็นเสียข้างหนึ่ง คือต่างคนต่างรู้กัน เมื่อเห็นคนหนึ่งเสียงดังนิ่งเงียบเสีย เงียบกริบ ให้เขาดังอยู่คนเดียว ดังคนเดียวไม่นานหรอก เดี๋ยวเดียว แต่ถ้าดังสองฝ่ายก็ต้องบ้านระเบิดเลย ทำให้เกิดความเสียหาย นอกบ้านก็เหมือนกัน มีอะไรติดต่อกัน บางทีเกิดผิดใจกัน เดี๋ยวนี้ไม่ได้นะโยมนะ คนมันผิดใจกันนี่มันทารุณนะ พอเกิดผิดใจกันไปเปรี้ยงป้างกันแล้ว สังเกตดูที่ยิง ๆ กันนะ นิด ๆหน่อย ๆ ผิดใจกัน เปรี้ยงป้างขึ้นมาแล้ว นี่คนมันร้าย
เพราะฉะนั้นต้องใช้วิธีเรียกว่านุ่มนวลกันดีกว่า อย่าพูดจาด้วยถ้อยคำรุนแรงกับใคร ๆ พระผู้มีพระภาคท่านก็ตรัสเหมือนกันเรื่องนี้ บอกว่าเธออย่าใช้คำว่าผรุสวาท คือคำรุนแรงนั่นเอง กับใคร ๆ เป็นอันขาด ต้องค่อยพูดค่อยจา ทำความเข้าใจกัน เรื่องทั้งหลายจึงจะเรียบร้อย นี่เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าโลภะ โทสะ โมหะ นี่มันหนุนความคิด หนุนการพูด หนุนการกระทำให้เกิดขึ้นในทางเสียทั้งนั้น ไม่มีอะไรดีเลยแม้แต่น้อย อย่าใช้
เราต้องใช้ตรงข้าม คือไม่มีความโลภ ไม่มีความโลภก็หมายความว่าพอใจในสิ่งที่เรามีเราได้ ได้เท่าไรก็พอใจเท่านั้นไว้ก่อน เมื่อยังไม่ได้สิ่งอื่นมาก็พอใจไปก่อน เช่นเราทำการค้าขาย ทำธุรกิจการงาน แล้วเราก็ได้กำไรมาเพียงเท่านี้ อย่าไปหงุดหงิดว่า แหม่ทำไมมันน้อยไป มันควรจะได้มากกว่านี้ ถ้าว่ามีคนจัดงานจัดการบางทีไปดุคนจัดอีก อ้าว.ทำไมมันน้อยไป มันควรจะได้มากกว่านี้ สมัยนี้เขาขายกันขึ้นเราคาทั้งนั้นแล้ว ทำไมเธอไม่ขึ้นกับเขาบ้าง ทำไมจึงขายไม่ได้ นี่ยุ่งกันใหญ่แล้ว อย่างนั้นไม่ได้ โลภะมันเกิด ความไม่ดีเกิดในใจ เราก็ต้องนึกว่าได้เท่านี้ก็ดีถมไปแล้ว ดีกว่าไม่ได้อะไรเสียเลย อย่างนี้ก็สบายใจ มันไม่มีเรื่องไม่มีปัญหา
ถ้าเราจะพูดจาแนะแนวการทำงานเพื่อให้ดีขึ้น เวลาอื่น อย่าอาอารมณ์ใช้ แต่ว่าใช้สติปัญญา ใช้เหตุใช้ผล เพื่อจะไปพูดจาตะอวยกับใคร ๆ ในทางที่ถูกที่ชอบ เรื่องมันก็ไม่เสียหาย ไม่กระทบกระเทือนจิตใจ จึงต้องใช้หลักว่าเท่านี้ก็ดีแล้ว คือพอใจ พอใจเท่าที่ได้ รถเรามันวิ่งได้ชั่วโมงละเท่านี้อย่าไปขืนมันเข้า เครื่องมันจะระเบิด น้ำมันก็จะสิ้นเปลืองมาก ก็วิ่งไปตามเรื่อง ใครเขาจะวิ่งขึ้นหน้าก็ช่างเขา เขารีบไปเรื่องของเขา เราไม่รีบกับใคร เราไม่แข่งกับใคร ไอ้นี่ไม่ได้คนหนุ่มไม่ได้ พอเห็นเพื่อนขึ้นหน้า เห็นเมียโอ้ย.รถอย่างนั้นมันจะขึ้นหน้ากู บึ่งรถใหญ่เลยจะให้ไปทันคันหน้า บางทีก็เกิดเรื่องเกิดราว อาตมาเคยพบนั่งไป อ้าว.ไม่ต้องไปแข่ง ไปธรรมดา รีบไปไหน เวลายังอีกเยอะ ยังไม่เพลก่อน ขี่ช้า ๆ ไปช้า ๆ ก็ได้ มันเป็นอย่างนี้ก็มี เราต้องคอยหยุดกันไว้ คอยเตือนกันไว้
คนโบราณเขาจึงพูดว่า ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม ทำผลีผลามมักขาดทุน ว่าไว้อย่างนี้ ช้า ๆ นี่ได้พร้าเล่มงาม แต่ถ้าทำผลีผลาม เกิดอะไรเลย (48.30) เกิดความเสียหาย คนจีนฮกเกี้ยน จีนแต้จิ๋ว เขาพูดกันนี่แหล่ะ ฮกเกี้ยนนี่พอใครมาหามาสู่แล้ว เวลาจะลาไป เขาว่าอย่างไร เขาว่าไปช้า ๆ บั่น ๆ เตี่ย บั่น ๆ เตี่ยหมายความว่าเดินช้า ๆ ไม่ได้หมายความว่าให้เดินช้า แต่ว่าให้ทำอะไรด้วยความระมัดระวัง หมายความว่าเดินช้านี่ว่าทำด้วยความระมัดระวัง จะค้าขาย จะประกอบธุรกิจ จะไปติดต่ออะไรกับใครนี่ต้องช้า ๆ ระมัดระวัง อย่าผลุนผัน อย่าใจร้อน อย่าใจเร็ว เค้าเตือนอย่างนั้น ขับช้า ๆ
อาตมาได้ฟังคำนี้บ่อย ๆ เมื่อสมัยอยู่ปีนัง มาเล ...... (49.18 เสียงไม่ชัดเจน) เอ.ทำไมเขาพูดอย่างนั้น ทำไมต้องพูดให้เดินช้า ๆ เลยมาคิดได้ว่าเขาสอนธรรมะนั่นเอง สอนว่าให้ระมัดระวัง อย่าไปเร็ว ๆ มันจะเสียหาย เหมือนกับรถยนต์ที่เขาเจิมมา ถ้าเจิมไว้ว่าขับช้า ๆ เขียนตัวไทยนี่มันอ่านได้ อักษรขอมมันอ่านไม่ได้ คนขับรถนี่ไม่เคยไม่อ่าน อักษรขอมได้สักคนเดียว มีแต่คนเขียนที่มันอ่านได้ แล้วมันจะได้เรื่องอะไร อันนี้เราต้องเขียนไว้ว่าขับช้า ๆ ปลอดภัย เขียนไว้อย่างนั้นนะ พิมพ์ลงไปในกระดาษดีกว่า อย่าขีดเขียน พิมพ์ลงไปในกระดาษปิดไว้ เป็นสติ๊กเกอร์ไง แล้วก็ติดไว้ที่กระจก แทนการเจิมด้วยแป้ง เจิมด้วยแป้งไม่เท่าไรก็ลอกไป กระเทาะหลุดหมด แต่สติ๊กเกอร์มันถาวรดีกว่า อันนี้ต้องบอกหลวงพ่อที่เจิมรถ บอกว่าเปลี่ยนวิธีการหน่อยหลวงพ่อ เจิมแป้งมันไม่ดีแล้ว มันหลุดง่าย ทำสติ๊กเกอร์ดีกว่า แล้วสติ๊กเกอร์นี่ต้องเขียนภาษาไทยว่าขับช้า ๆ ปลอดภัย ขับไว ๆ อายุสั้น ขับช้า ๆ ปลอดภัย ขับไว ๆ อายุสั้น เป็นสติ๊กเกอร์ติดหน้ากระจกเลย พอมันขึ้นนั่งมองเลยอ๋อ...ขับช้า ๆ ปลอดภัย ขับไว ๆ อายุสั้น มันเห็นบ่อย ๆ พอเห็นบ่อย ๆ ก็เกิดยับยั้งชั่งใจ ไม่ทำอะไรให้เสียหาย
แม้คนไม่ขับรถก็ต้องระวังอย่างนั้นเหมือนกัน ไม่ว่าทำอะไรมันต้องทำอย่างระมัดระวัง ไม่ใช่ทำอย่างผลุนผันพันแล่น คนทำผลุนผันพันแล่นมันเสียท่าเขาง่าย ใจร้อนก็เสียท่าง่าย ต้องเย็น เย็นจึงดี นี่ต้องควบคุม ต้องสร้างคุณธรรมฝ่ายดีขึ้น คือหัดพอใจยินดีในสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า สมมุติว่าเราเดินทาง รถเสีย อย่าหงุดหงิดงุ่นง่าน อย่าทำใจร้อน มันเรื่องธรรมดา เรามันนักธรรมะ เรื่องสิ่งทั้งหลายนั้นไม่เที่ยง มันก็ต้องเสียบ้าง คนขับเขาทำงานของเขาอย่าไปยุ่งกับเขา เพราะเราไม่ใช่โชเฟอร์นี่ เราไม่รู้หรอก รู้แต่นั่งเท่านั้น ปล่อยมันเปลี่ยนไปตามเรื่อง อย่าไปเที่ยวบ่นเที่ยวอะไรเลย บ่นเดี๋ยวมันทำเสียหายหมด เดือดร้อนขึ้นมา ขี้บ่นนักแกล้งไม่ไปเสียเลย รถเสีย อย่าไปยุ่งกับเขา ปล่อยเขาตามเรื่อง เราก็เดินชมวิวทิวทัศน์ข้าง ๆ ไป นึกว่าไป แหม่ แถวนี้ยังไม่เคยมาเดินดูเลย วันนี้ดีจริง ๆ รถมาเสียตรงนี้ได้ชมวิวแถวนี้สักหน่อย ก็น่าเข้าทีดีเหมือนกัน ทุ่งนาแถวนี้ต่อไปเขาจะทำอะไรมั่งแถวนี้บ้างก็ไม่รู้ จะได้วางแผนมาซื้อที่ดินไว้ก่อนล่วงหน้า
คิดเรื่อย ๆ ไป ในทางที่มันไม่ยุ่งใจ ไอ้คนขับเขาก็แต่งเรื่อย ๆ ไป เขาไม่ต้องใจร้อนใจเร็ว เขาทำไปตามหน้าที่ พอเขาแต่งเสร็จ สตาร์ทติด เขาก็เอาขึ้นได้ เออเธอนี่เรียบร้อยดีจริง ความรู้ชำนาญเรื่องเครื่องยนต์นี่ เรียบร้อยนะ ไป ไปต่อไป ไม่มีเรื่อง ถ้าหากว่าเราไปบ่น ทำไมไม่ดูให้ดีอะไรต่ออะไร พึมพำ ๆ คนขับรถบางคนไม่ใช่มีการศึกษาสูงอะไรเท่าไร บ่นพึมพำ ๆ หนักเข้าเดี๋ยวเอาประแจฟาดกระบาลเราเอาเท่านั้น เจ็บเปล่าเท่านั้นเอง อันนี้มันสำคัญ ต้องใจเย็น ทำเฉย ๆ เรื่องมันเล็กน้อย เสียเล็กน้อยไม่เป็นไรหรอก
เวลารถเสียนี่ช่างมากเหลือเกิน ห้อมล้อมกันตรึมเลย ดูกันไปอย่างนั้น ไม่ได้เรื่องอะไรหรอก ไปยุ่งกับเขาทำไม ปล่อยเขาดีกว่า ความรู้เขามี เราไปทำเรื่องอื่นตามเรื่องตามราว ทำใจให้สบายดีกว่า อย่าไปห้อมล้อม ทุกคนนะทั้งหญิงทั้งชายชอบไม่มองเสียอะไร ก็ไม่รู้หรอกว่าเสียอะไร เพราะไม่ได้เรียนเครื่องยนต์นี่จะไปรู้ได้อย่างไร ไปดูให้มันเกิดอารมณ์ร้อนแก่คนขับเปล่า ๆ คนไปห้อมมาก ๆ ก็ร้อนนะสิ ร้อนแล้วอารมณ์ก็เสีย เราไปยืนห่าง ๆ ปล่อยเขา หน้าที่ของเขาให้เขาทำไปตามเรื่อง
นี่แก้ด้วยทำใจให้สบาย ยินดีกับสิ่งที่เรามีอยู่เฉพาะหน้า โลภมันก็จะไม่ครอบงำจิตใจ อันนี้โทสะ มันต้องแก้ด้วยใจเมตตา หัดเมตตาสงสารผู้อื่น เห็นอกเห็นใจผู้อื่น นึกไว้เสมอว่า คนเราจะทำอะไรจะพูดจะแสดงอย่างไร เพื่อให้คนอื่นสบายใจ ให้มีความสุขใจ ไม่ให้มีความเดือดเนื้อร้อนใจ ต้องคิดต้องหา แต่นี่ใคร เราก็นึกว่า (53.55) เออเป็นสุข ๆ เถอะ อย่าเดือดร้อน อย่ามีความลำบากกายลำบากใจอะไรเลย อย่านึกว่าเรื่องเล็กน้อยนะที่นึกอย่างนี้ โยมอย่านึกว่าเล็กน้อย มันมีอิทธิพลมาก คือกำลังใจของคนนี่มีอิทธิพลมาก ที่จะไปสร้างอะไร ๆ ขึ้นในคนที่อยู่ใกล้ เช่น ใครมา เรามองไปแล้ว ถ้ามองในทางร้าย มันก็มีอิทธิพลดลบันดานให้จิตใจคนนั้นให้รู้สึกต่อเราในทางร้าย แต่ถ้าเรามองไปในทางเมตตา สงสาร เอ็นดูเขา ทำให้เขาได้รับความรู้สึกในทางดีต่อเรา เมตตาต่อเขาก็มีเมตตาตอบมา ดุร้ายออกไปดุร้ายมันก็กลับเข้ามา ทำอะไรออกไปก็ไอ้นั่นแหล่ะส่งกลับมา มันเป็นคลื่นกลับมาอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นเราต้องส่งเรื่องดี หัดคิดเรื่องดี หัดอวยพรแก่คนที่เราได้พบได้เห็น หัดนึกให้เขาเป็นสุข ๆ นึกว่าเออ ... เป็นสุข ๆ เถอะ สบาย อย่ามีอะไรเดือดร้อนข้องใจเลย ทำบ่อย ๆ จิตมันก็คุ้นกับความดีความงาม ห่างจากโทสะ คือความประทุษร้าย เบียดเบียนคนอื่น แล้วหน้าตาเราจะเบิกบาน แจ่มใสมีอารมณ์ดี อารมณ์ดีเกิดจากใจดี คนเราถ้าใจดีแล้วอารมณ์สดชื่นรื่นเริง มองอะไร มันก็สดไปทั้งนั้น เห็นต้นไม้ก็สบายใจ คนก็สบายใจ เห็นสุนัขแมวก็สบายใจ มันไม่มีเรื่องร้อนใจ คนเราถ้าไม่มีเรื่องร้อนใจแล้ว นั่นแหล่ะยอดสุขไปเลย ยอดสบายแล้ว อยู่ตรงนั้นแหล่ะ เพราะฉะนั้นเราต้องคิด มันเกิดจากความคิดทั้งนั้น ทุกข์ก็เกิดจากความคิด สุขก็เกิดจากความคิด ดีชั่วก็เกิดจากความคิดของเรา เราจึงต้องควบคุมจิตใจให้มีความคิดในด้านดีด้านงามต่อคนทั่วไป เราไม่เป็นศัตรูกับใคร เราไม่โกรธใคร เราไม่เคืองใคร เราไม่กระทบกระทั่งกับใคร อยู่อย่างนี้สบายแล้ว ลองพิจารณาดู ญาติโยมลองพิจารณา ถ้าพิจารณาแล้วจะเห็นว่าโอ้.นี่ยอดสุขมันอยู่ตรงนี้เอง เราจะมีความสุขทางใจ
ต่อความประทุษร้าย หรืออีกอันหนึ่งเขาเรียกว่าปฏิฆะ ปฏิฆะหมายความว่าหงุดหงิด ใจคอหงุดหงิด อะไรกระทบ ฝนตกก็หงุดหงิด แดดออกก็หงุดหงิด เดินไปเหยียบกรวดก็หงุดหงิด ที่ว่ามันมีอารมณ์อย่างนี้ ไม่ได้เรื่องอะไร เรียกว่าสร้างแต่ความไม่สบายให้เกิดขึ้นในใจของตัว แล้วก็อยู่ด้วยอารมณ์ประเภทร้อนอยู่ตลอดเวลา มันจะดีที่ตรงไหน เราลองคิดดู ไม่ได้เรื่อง เพราะฉะนั้นสงบดีกว่า เย็นดีกว่า แผ่เมตตา ปรารถนาความสุขแก่คนอื่นทั่ว ๆ ไป
ส่วนโมหะนั้นต้องศึกษา ต้องแยกแยะวิเคราะห์วิจัย ถ้าพูดแบบวัดก็เรียกว่า ต้องเจริญวิปัสสนา คำว่าวิปัสสนานั้นหมายความว่าคิดค้นในเรื่องอะไรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตัวเรา เราโกรธแล้วก็มาคิดว่าโกรธทำไม โกรธใคร เขาทำอย่างไรจึงโกรธ แล้วเราโกรธเขาใครเป็นผู้เดือดร้อน เราแหล่ะมันเดือดร้อน คนถูกโกรธบางทีเขาก็ไม่รู้เราโกรธด้วยซ้ำไป เขานั่งสบาย นอนสบาย เรานี่มาผุดลุกผุดนั่ง ไม่สมปฤดีอยู่ในบ้าน เพราะเอาอารมณ์นั้นมาฝังไว้ในใจของเรา มันไม่ได้เรื่องอะไร
คอยคิดแยกแยะไป วุ้ย.ไม่ได้เรื่อง ต่อไปนี้ฉันจะไม่เอาเรื่องนี้ ทำให้ฉันร้อนเปล่า ๆ หรือว่าเราเกลียดใคร ไปเกลียดเขาทำไม เวลาเกลียดเขาแล้วเราได้อะไร เอามาคิดมาตรอง พิจารณาเรื่องอะไรต่าง ๆ อะไรที่มันไม่ดี ถ้าเกิดขึ้นแล้วเอามาแยกออกไป วิเคราะห์ดู ค้นคว้าดูว่ามันดีหรือชั่ว มันสุขหรือทุกข์ มันให้ความเสื่อม หรือให้ความเจริญ ให้ความเย็น หรือให้ความร้อนแก่เรา เอามาพิจารณาแยกแยะออกไป เราก็จะเห็นว่าอ๋อ.ไม่ได้เรื่อง เรานี่มันโง่ ไปสร้างแต่สิ่งชั่วร้ายขึ้นในจิตใจ ต่อไปนี้ฉันจะเป็นคนฉลาดเสียทีแล้ว ไม่สร้างสิ่งโง่ ๆ ขึ้นในความคิดของฉันต่อไป เราก็เดินยิ้มได้สบายใจ ไม่ได้ยิ้มเหมือนคนสูบกัญชา เพราะเรายิ้มอยู่ข้างใน อารมณ์สดชื่นอย่างนั้นก็สบายใจ นี่โยมเอาไปคิดดูเรื่องอย่างนี้ มันจะมีความสุขในทางจิตใจขึ้นมาทันที ถ้าเราได้นึกไปในรูปอย่างนั้น วันนี้พูดมาก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอจบไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจ เป็นเวลา ๕ นาที