แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย ต่อนี้ไป ขอให้ตั้งอกตั้งใจฟังให้ดี อย่ามัวเดินไปเดินมา นั่งลง ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงนี้ได้ แล้วจงตั้งใจฟังให้ดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา วันนี้ร่างกายส่วนล่างมันผิดปรกตินิดหน่อย คือว่ามันมาเยี่ยมทุกปี กลัวจะลืม ปีหนึ่งก็มาเยี่ยมสักครั้งสองครั้ง คือปวดที่ข้อเท้าใกล้หัวแม่เท้า ปวดแล้วก็มันปวดรุนแรง คืนไหนมันปวดจัดแล้วก็ไม่ต้องหลับต้องนอนกัน เพราะว่ามันตุ๊บๆ อยู่ตรงนั่นแหล่ะ ปวดเหมือนเอาอะไรไปทุบมันอยู่ตรงนั้น คนไม่เป็นไม่รู้หรอก แต่ถ้าคนเป็นก็เห็นออกเหมือนผม คือแนวร่วมมันมีเหมือนกัน เป็นกันหลายๆ คน ที่นี้มันเป็นคืนวันที่ยี่สิบแปด ก็เป็นนิดหน่อย พอยี่สิบเก้านี่ก็ขึ้นเรือบินไปไชยา สุราษฎร์ฯ ก็ลงจากเรือบินก็เดินโขยกเขยกไปเยี่ยมท่านเจ้าคุณพุทธทาส ท่านก็ปรกติตามประสาคนมีอายุ ๗๙ นั่งคุยกัน พาพระฝรั่งไปด้วยสองรูป คือท่านสุเมโธ ปภากโร แล้วคนอังกฤษชื่อมิสเตอร์ยอร์ช ชาร์ป ไปเยี่ยมพักสวนโมกข์ สามคืน อ้อ สองคืน เมื่อคนนี้ไปพักที่เกาะสมุย อาตมาก็ไปที่สุราษฎร์ฯ ไปร่วมในงานศพของอดีตเจ้าคณะจังหวัด แล้วก็ คืนที่ไปพักนั้นนะ เขาให้แสดงธรรม ยืนไม่ได้ต้องนั่งบนธรรมาสน์ แล้วก็ เสร็จแล้ว กลางคืนคืนนั้นมันปวดจนนอนไม่หลับ เลยก็หมอมาเยี่ยมตอนเช้า มาดู หมอคนแรกมาดู บอกว่าอย่างนี้ต้องไปหาหมออีกคนหนึ่ง เขาเก่งกว่า หมอคนนั้นก็มาตรวจอะไรต่ออะไรไปตามเรื่อง ถามหลายเรื่อง แล้วจัดยามาให้ฉัน ครั้งแรกสี่เม็ด แล้วต่อไปก็สองเม็ด สองเม็ด ฉันแล้วค่อยยังชั่วขึ้นหน่อย คือยังพอเดินได้โขยกเขยกได้ แต่ถ้ายืนนานมันก็ไม่ได้ เลยก็เอาเก้าอี้มานั่ง ข้อเท้าปวด ปากไม่ปวดไม่เป็นไร เพราะว่ายังพูดได้อยู่ ยังพูดได้ ไปไหนไปได้ แต่มันรำคาญตรงปวดข้อเท้า ต้องไปตามหน้าที่ที่ได้รับนิมนต์ไว้ เพราะยังพูดได้อยู่ ไม่เป็นไร วันนี้ก็เรียกว่ายังพูดได้ ไม่มีเรื่องที่จะต้องพัก ตอนพักกับนั่งพูดนอนพูดมันก็เหมือนกัน เลยก็พูดกับญาติโยมต่อไป
วันนี้ก็เป็นวันที่ทำพิธีบวชสามเณร มีทั้งหมด ๑๕๓ รูป ครั้งแรกจะรับเพียง ๑๐๐ คนนั้นมาคนนี้มาคณะกรรมการเขาก็รับเพิ่มขึ้น คือว่ามอบงานให้คณะกรรมการ บวชสามเณรนี่ อาตมาไม่รับผิดชอบให้กรรมการรับเอง เพราะถ้าอาตมารับมันก็ยุ่งแหละ คนนั้นมาขออีกคน คนนี้มาขออีกคน มันก็ยาว แต่นี่ใครมาหาอาตมาก็บอกว่าไปที่คณะกรรมการ ให้คณะกรรมการแล้วอาตมาเข้าไปเกี่ยวข้องไม่ได้ ก็มอบให้เขาแล้ว ก็บอกว่าขอให้ท่านรับ รับไม่ได้กรรมการรับถึงจะรับได้ คณะกรรมการเขาก็รับ รับเพิ่มไปเป็น ๑๕๓ จะบวชตอนบ่ายนี้แหละ และก็บวชพระด้วย ๑๔ คนวันนี้ แต่พรุ่งนี้บวชมาก ๓๐ คน เข้าหน้าร้อน ที่นี่บวชหน้าร้อนไม่โฆษณา เพราะว่าถึงไม่โฆษณาก็มากแล้ว ขืนโฆษณาก็จะมากกันใหญ่ เลยก็ไม่ต้องโฆษณาอะไร
การบวชสามเณรน้อยๆ หน้าร้อนนี้เป็นนโยบายอันหนึ่ง คือต้องการดึงเด็กเข้าวัด เข้ามาอบรม ถ้าพูดตามสมัยใหม่ก็เรียกว่าเข้าค่าย เข้าค่ายพุทธบุตร วัดนี้เป็นค่ายของพุทธบุตร คือบุตรพระพุทธเจ้า เอาเด็กน้อยๆ มาเป็นบุตรพระพุทธเจ้า ทำการอบรมสักเดือนหนึ่ง แล้วให้ลาสิกขาออกไปศึกษาเล่าเรียนต่อไป พ่อแม่ที่มีความรักลูกก็อยากจะให้ลูกเป็นคนดี มีคุณธรรมประจำจิตใจ ไอ้เรื่องคนดีมันอยู่ที่มีคุณธรรม ถ้าไม่มีคุณธรรมแล้วก็ดีไม่ได้ มีเงิน มีความรู้ มีความสามารถ แต่ถ้าไม่มีคุณธรรมเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ ก็เรียกว่ายังเอาดีกันไม่ได้ จะดีได้ก็ต่อเมื่อมีคุณธรรมเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ ใจที่มีคุณธรรมนั้นมันคุ้มครองความรู้ให้เป็นความรู้ที่มีประโยชน์ คุมความสามารถให้เป็นความสามารถมีประโยชน์ คุมทรัพย์ที่ตัวมีจากมรดกของพ่อแม่ให้เป็นทรัพย์ที่มีคุณค่ามีประโยชน์ แต่ถ้าขาดคุณธรรมแล้ว ใช้ความรู้ผิด ใช้ความสามารถผิด ใช้อะไรๆ ในทางผิดทั้งนั้น มันจึงเกิดความเสียหาย ดังที่เราเห็นปรากฏอยู่ในสังคมในยุคปัจจุบัน
หากคนมีความรู้มีความสามารถ แต่เอาความรู้ความสามารถไปใช้ในทางที่ผิด ที่ได้เอาไปใช้ในทางผิดก็เพราะขาดคุณธรรม ไม่มีคุณธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจ คนขาดคุณธรรมนี่จะเป็นอะไรมันก็เป็นไม่สมบูรณ์ เป็นมนุษย์ยังไม่ได้ แล้วจะไปเป็นอะไรได้ เป็นอะไรมันก็ไม่สมบูรณ์ทั้งนั้น อันนี้คือปมเสียของสังคมมนุษย์ในยุคปัจจุบัน เพราะว่าชาวโลกเรานึกว่าให้มีความรู้ ให้เก่งในทางใช้ความรู้ ก็นึกว่าจะเพียงพอ แต่ว่าความจริงมันไม่พอ เพราะว่ามันยังขาดอะไรบางอย่าง ซึ่งเป็นเครื่องคุ้มครองชีวิตให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เหมือนรถนี่เครื่องจะดีสักเท่าใด แต่ถ้าขาดห้ามล้อนี่มันก็ใช้รถนั้นเป็นประโยชน์ไม่ได้ เพราะห้ามล้อมันไม่มี หรือมีแต่ไม่ดี อาจไปชนท้ายรถคันอื่น ชนเสาไฟฟ้า หรือชนคนตาย เกิดเรื่องราวมากมายฉันใด ชีวิตคนเรานี่ก็เหมือนกัน มันต้องมีอะไรเป็นเครื่องห้ามล้อจิตใจบ้าง จึงจะเป็นคนดีสมตามความมุ่งหมาย ต่อเครื่องห้ามล้อใจนั้นไม่มีอะไรจะดีไปกว่าหลักธรรมะในทางศาสนา ศาสนาเป็นห้ามล้อจิตใจ เป็นเครื่องประคับประครองจิตใจให้ก้าวหน้าในทางที่ถูกที่ชอบ เราจึงต้องอบรมคนให้เข้าถึงศาสนา สมัยก่อนนั้นมันไม่ยากเท่าไร คือสมัยก่อนนี่ การอบรมสะดวก เพราะว่าเด็กไปอยู่วัดกันทั้งนั้น การศึกษาเล่าเรียนสมัยก่อนอยู่ในกำมือของพระ เด็กผู้ชายนี้พอเติบโตหน่อยก็ส่งเข้าวัด ไปเป็นคนอยู่ในวัด ได้เรียนหนังสือกับพระ หนังสืออ่านก็เป็นพวกหนังสือเกี่ยวกับหลักคำสอนทางศาสนา แต่ก็แต่งเป็นกาพย์เป็นกลอนให้อ่านง่าย เป็นยานี เป็นฉบัง หรือเป็นกลอนแปด เพื่อให้อ่านสบายใจ มักจะท่องจำกันได้ยืดๆ ยาวๆ ถ้าเราเข้าไปวัดไหนจะได้ยินเสียงเด็กสวดหนังสือ ว่ากันดังๆ ท่านสมภารก็นอนเอกเขนกอยู่ที่หมอนใกล้ๆ นั้นแหล่ะ ถ้าเสียงเงียบเมื่อใดก็ยกหวายฟาดเสื่อทีหนึ่ง พอฟาดเสื่อปุ๊ปก็เสียงฉาวขึ้นมาอีกทีหนึ่ง แล้วก็เงียบไป ไอ้ที่เงียบไปเด็กมันนึกว่าหลวงพ่อหลับแล้ว เลยมันก็เงียบ พอได้ยินเสียงเงียบก็ฟาดเปรี้ยงลงไป เด็กก็ฉาวขึ้นกันต่อไป มันก็อยู่กันอย่างนั้น แต่ว่าเด็กวัดสมัยก่อนนี่ก็หาทางเลี่ยงเหมือนกัน คือว่าใช้กระดานไม้เขียนหนังสือ กระดานยาวแผ่นแค่นี้ กว้างสักคืบกว่าแล้วก็ใช้เขม่าทาให้มันดำ แล้วเอาดินสอพองมาเขียน เขียนคัดจากหนังสือเอามาอ่าน หัดคัดลายมือไปด้วยในตัว พอเขียนเสร็จแล้วอ่านๆๆๆๆ พอบทขี้เกียจจะเขียนจะอ่านขึ้นมาก็ลบกระดาน ใส่น้ำมากๆ เอาไปผึ่งแดด ไปผึ่งแดดถ้าไม่ทำอะไร อาจารย์ถามก็ว่ากระดานยังไม่แห้งหลวงพ่อ เป็นลูกไม้มัน กระดานยังไม่แห้ง มันไม่แห้งจริงๆ ก็มันใส่น้ำลงไปเยอะ ที่นี่กระดานไม่แห้งก็เที่ยววิ่งเที่ยวเต้นออกกำลังได้ แต่พอกระดานแห้งก็ต้องขึ้นมานั่งคัดลายมือเขียนแล้วอ่านต่อไป เรื่องของเด็กเป็นอย่างนั้น มันเป็นเรื่องธรรมดา แล้วกลางคืนก็ได้ฟังเสียงพระสวดมนต์บ้าง ตัวสวดเองบ้าง จิตใจก็อยู่กับศาสนาเป็นเวลาหลายปี มีความรักพระพุทธศาสนา รักธรรมะ เคารพพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า เขาออกไปเขาก็กลัวบาปรักบุญ ทำอะไรเขาก็ไม่กล้ากระทำความชั่ว อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย จิตใจซื่อสัตย์ นั่นมันเป็นเรื่องสมัยก่อน
อันนี้มาในสมัยนี้ เราพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าในทุกแง่ทุกมุม การศึกษาก็เปลี่ยนจากมือพระมาอยู่ในมือของชาวบ้าน โรงเรียนก็เพิ่มขึ้น อะไรก็เพิ่มขึ้น แต่ว่าอาชญากรก็มากขึ้นเหมือนกัน ความเจริญในทางวัตถุมันยั่วจิตใจคน ให้ก่อกรรมทำเข็ญได้ง่าย ไม่มีอะไรเป็นเครื่องห้ามล้อจิตใจ เพราะการศึกษาในโรงเรียนนั้น แม้จะสอนเรื่องศีลธรรมบ้างนิดๆ หน่อยๆ ครูผู้สอนก็ไม่ตั้งใจจะสอน เพียงแต่ให้นักเรียนเรียน จำไปตามเรื่องตามราว ไม่ได้กวดขันเรื่องความประพฤติการปฏิบัติให้เป็นไปตามที่ถูกที่ชอบ อีกประการหนึ่ง สิ่งยั่วยุมันมากในสมัยนี้ ยั่วยุให้เด็กไปเที่ยวไปสนุก เช่นไปเที่ยวตามสถานที่เป็นลานสเก็ต แล้วก็ไปเล่นสเก็ตกันจนลืมหนังสือ ไปเที่ยวกับเพื่อนดูหนังฟังเพลงอะไรต่างๆ ซึ่งมีมากมาย ความจริงกฎหมายเขาก็ห้ามไม่ให้เด็กอายุเท่านั้นเท่านี้เข้าไปสู่สถานเหล่านั้น แต่ว่าผู้เป็นเจ้าของสถานที่เหล่านั้นจะไปกวดขันให้มันขาดทุนทำไม เด็กมันก็เข้าไปสนุกกันได้ สนุกนักเข้าก็ลืมการเรียน ลืมพ่อลืมแม่ ลืมหมดทุกสิ่งทุกอย่าง แม้จะเอามาบวช บางทีก็ยังไม่ทันบวชด้วยซ้ำไป มาอยู่วัด วันที่ ๒๘ ๒๙ ๓๐ วันนี้ก็เป็นวันบวช พอเอามาอยู่วัดก็หายไปแล้ว ยังไม่ทันบวชหายไปแล้ว โทรไปบอกที่บ้าน แม่ก็บอกว่าไม่ได้มาบ้าน มันไปไหน ตามๆ ไป โน้นไปเจอแถววงเวียนใหญ่ ฝั่งธนโน้น เลยถามว่าแถวนั้นมันมีอะไร มันมีหลายอย่าง เด็กชอบ เลยเข้าไปคบเพื่อนแถวนั้น จับตัวเอามาส่ง ให้พ่อมาส่ง แต่พ่อก็เหลือเข็ญเหมือนกัน มาส่งเพียงหน้าประตูวัดไม่นำเข้ามาพบพระ พอส่งเข้าประตูแล้ว ก็เหมือนเอาไก่มาปล่อย เหมือนเอาหมามาทิ้งวัดอย่างนั้นแหล่ะ ไม่กล้าเข้ามาปล่อยในวัด ปล่อยไว้หน้าวัด หมามันก็ต้องเข้าวัด แมวก็ต้องเข้าวัด แต่เด็กมันไม่ใช่หมาใช่แมว เอามาปล่อยหน้าวัดแทนที่มันเข้าวัด พอพ่อกลับมันก็วกตรงนั้น หนีต่อไป ในที่สุดมันก็เลยบวชไม่ได้ เพราะไม่มาให้บวช อย่างนี้มันก็มีเหมือนกัน ลำบาก ไอ้เรื่องอย่างนี้ลำบาก เพราะว่าสิ่งสนุกมันมาก มันยั่วจิตใจเด็กให้เพลิดเพลินสนุกสนาน ประกอบกับพ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูก มีเวลาในเรื่องการทำมาหากินหาเงินหาทองมาเลี้ยงครอบครัว แต่ไม่ได้ปลีกเวลามาคุยกับลูกบ้าง ลูกก็เกิดเหงา เด็กมันเหงา มันก็อยู่บ้านไม่ได้ เมื่ออยู่บ้านไม่ได้ก็ต้องไปหาความสุขนอกบ้าน ไปพบเด็กมีความเป็นอยู่แบบเดียวกัน มีอารมณ์เหมือนกัน ก็เลยสนุกเพลิดเพลินไปเที่ยวเตร่เฮฮาหาความสุขกันต่อไป อันนี้มันเป็นความบกพร่องทั้งสองฝ่าย คือความบกพร่องของพ่อแม่เป็นประการต้น ประการที่สองคือความบกพร่องของสิ่งแวดล้อมที่เราปล่อยให้มีสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีเกิดขึ้นในบ้านในเมืองของเรามากเกินไป จนเป็นสิ่งยั่วยุอารมณ์เด็กให้ไปสู่ความเสียหาย เด็กเหล่านั้นจึงเสียผู้เสียคนไปตามๆ กัน ส่วนเด็กที่ยังพอจะจูงไปได้ในภาษาธรรมะเขาเรียกว่า เวไนย
เวไนยนี่หมายความว่า พอจูงได้ ผู้ที่เป็น เวไนยนี่มันพอจูงไปได้ อยู่ในจำพวกดอกบัวสี่เหล่า แต่จำพวกที่สาม คือ พวกจูงได้ พวกที่เก่งนั้นคือพูดให้ฟังนิดเดียวก็เข้าใจ อันนี้เขาเรียกว่าดอกบัวชั้นลอยน้ำพร้อมที่จะบาน แล้วดอกบัวที่จะบานในเวลาต่อไป นั่นเรียกว่าพอพูดพออธิบายอะไรก็เกิดความเข้าใจ ดอกบัวชนิดที่สามนี้ พอจูงได้ พอผุดได้ แล้วก็นำไปทางไหนก็ได้ แบบนี้มีอยู่ แต่ถ้าไม่มีคนชักจูงมันก็ไปไม่ได้ หรือว่าสิ่งแวดล้อมมันจูงไปเสียก่อน แทนที่จะให้พระจูง ผีก็จูงไปเสีย เด็กเหล่านั้นก็ไม่มีโอกาสพบพระ ทำให้เกิดความเสียหาย ทางวัดพิจารณาเห็นว่าควรจะช่วยเหลือสังคม คือพ่อแม่ให้ได้มีความเบาใจโปร่งใจอย่างนี้บ้าง ด้วยการจับเด็กมาให้บวชเป็นสามเณรชั่วระยะหนึ่งของเวลาปิดภาคเรียน จะรับให้มากก็ได้ แต่มันปัญหาที่สถานที่ที่ไม่พอจะให้อยู่ อาหารนี่ไม่กลัวเพราะว่าคนมากอาหารมันก็มากขึ้น แต่ว่าที่นี่มันขยายไม่ทัน สร้างไม่ทัน แล้วก็ไม่มีที่จะสร้างให้มากไปกว่านั้นได้แล้ว ก็ต้องจำกัดอยู่ที่สถานที่ บางแห่งเขารับมากตั้ง ๑๐๐ ๒๐๐ แต่ว่าได้ศึกษาดูแล้วว่า มากเกินไปก็ไม่ค่อยจะไหวเหมือนกัน ดูแลไม่ทัน เรื่องเด็กนี้รำบาก ห้ามอย่างนี้ออกอย่างโน้น ห้ามอย่างโน้นออกอย่างโน้น มันมีหัวคิดปลอดโปร่งแจ่มใสในการที่จะหาทางออกในทางสนุกสนาน เวลากลางคืนนี่ อย่าไปไหน นอน มันก็นอนเงียบ พอพระอาจารย์ไปแล้ว มันก็ลุกขึ้น ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ หยอกล้อกันตามภาษาเด็ก อาจารย์ไม่อยู่ ถ้าอาจารย์รู้ทัน ตั้งอันนั้นขึ้น มันก็หยุด มีเหมือนกันหยุดทันที แต่มันหาทางออกทางอื่นต่อไป เพราะฉะนั้นอาจารย์ต้องคุมกันแจอยู่ตลอดเวลา ที่วัดนี้จึงใช้พระ เรียกว่านักเรียนสิบคนต้องใช้พระหนึ่งรูปเป็นพี่เลี้ยง แต่ปีนี้เห็นจะต้องเพิ่มสามเณร คือสามเณรสักยี่สิบ พระสักรูปหนึ่งดูแล พอจะดูแลได้ทัน จะควบคุมกันได้ แต่ถ้าควบคุมมันมากเกินไป ไม่ไหว ลำบากเพราะว่าไม่มีใครดูแล ก็ทำให้เกิดความเสียหายได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงรับเพียงจำนวนจำกัดเพื่อให้ได้คุณภาพ ดีกว่ามากปริมาณแต่ไม่มีคุณภาพ อย่างนี้ก็ไม่ได้ จึงรับเพียงเท่านั้น พ่อแม่บางคนมาสาย คือมาหลังวันเขารับ รับไม่ได้ก็เสียอกเสียใจ บอกว่า ไม่ต้องเสียใจเพราะเราไม่เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ลูกศิษย์พระพุทธเจ้านี่ต้องตื่นตัว ต้องว่องไว ต้องก้าวไปข้างหน้า ตื่นตัวหมายความว่าหูต้องคอยฟัง ตาต้องคอยดูว่าเขามีอะไรกันบ้าง ที่วัดชลประทานฯ เขาจะมีอะไร วัดนั้นเขาจะมีอะไร หูต้องเอียงฟังไว้ มาวัดก็ต้องดูไอที่เขาประกาศไว้หน้ากุฏิ ที่หน้ากุฏิมีสองที่ ไอ้ที่หนึ่งนั้นไม่ใช่ประกาศแต่เป็นการติดสิ่งจูงใจ เป็นรูปภาพเป็นอะไรต่ออะไรเป็นสิ่งจูงใจ เวลาเดินเข้ามา หยุดดูก็ได้ ดูแล้วจะได้ประโยชน์ แม้เป็นภาพแต่ก็เป็นภาพเตือนใจ มีข้อคิดเขียนติดไว้ข้างล่าง เพื่อสะกิดใจคนดูให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร มีทั้งสองด้าน อันนั้นเรียกว่าขนานกับทางเข้ามาทางนี้ ดูแล้วก็จะได้ประโยชน์ อีกป้ายหนึ่งนั้น ป้ายแรก พอเข้ามาถึงซ้ายมือก็มีป้ายสองข้าง โดยมากก็เป็นเรื่องบอกกิจการงานวัด จะทำอะไรบ้างมีอยู่ในสถานที่นั้น เช่นว่ากิจการจำเป็นในปีนี้ก็เขียนบอกไว้แล้วว่า ๖ เมษายน เป็นวันรับสมัครผู้บวชเข้าพรรษา แล้วก็วันที่ ๘ มิถุนายน เป็นวันซ้อมสวดมนต์ที่ให้ท่อง วันที่ ๒๐ กรกฎาคม เริ่มบวชนาคเข้าพรรษา วันที่ ๑ สิงหาคม เข้าพรรษา วันที่ ๓ พฤศจิกายน ทอดกฐิน ว่ากันเอาให้หมด เรียกว่างานสำคัญที่วัดนี้จะต้องทำ ว่ากันให้เรียบร้อย ถ้าเราไปอ่านก็ได้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ประกาศสามเณรก็มีติดไว้ว่าจะบวชเณรเมื่อไร ติดไว้หลายวันแล้ว แต่ว่าไม่มีใครสนใจอ่านก็เลยไม่รู้ แล้วบอกว่าไม่ทราบ บอกไม่ทราบไม่ได้ กฎหมายอันใดออกแล้ว ใครปฏิเสธบอกไม่รู้กฎหมาย ฉันไม่ให้อภัย ต้องลงโทษตามกฎหมาย อันนี้เขาประกาศอยู่ทุกปี วัดนี้มันเป็นยืนยันแล้ววันที่ ๓๑ มีนาคม บวชสามเณร แล้วเขารับวันที่เท่าไร เขาประกาศให้ทราบเป็นระยะ เราก็ต้องมา แต่ที่มาช้านี่เพราะไม่ค่อยมาวัดนั้นเอง รู้จักวัดชลประทานฯ แต่ไม่ค่อยได้มา เลยช้า แต่ถ้าคนมาวัดเกือบทุกวันอาทิตย์นี้ย่อมรับทราบว่าเหตุการณ์อะไรบ้างที่เกิดขึ้นภายในวัด เราควรจะทำอย่างไรก็ได้เพื่อความเรียบร้อย ไม่เสียหาย อันนี้ก็มีประกาศให้ทราบให้รู้ เป็นเรื่องที่ควรจะสนใจในเหตุที่จะทำภายในอาวาสนี้ ว่าเรามีทำอะไรบ้าง เมื่อรู้แล้วก็ต้องรีบมา โดยเฉพาะวันรับสมัครสามเณรนี้ มันแป๊ปเดียวเต็มเข้าไปตั้งร้อยแล้ว คือเขาจ้องอยู่แล้วพวกที่ไม่ประมาทมีความว่องไว มีความตื่นตัว จ้องอยู่แล้ว พอเปิดรับสมัครก็เข้าแถวไม่ทันไรก็ครบร้อย แต่ที่รับเพิ่มนั้น เป็นของ เพราะนักเรียนบางโรงเรียน เช่นโรงเรียนบดินทร์เดชาเขามาจองไว้จำนวนเท่านั้น ก็ต้องรับของเขาทั้งหมด แล้วเขามาแถมพกอีกนิดๆ หน่อยๆ ก็เลยรับควบเข้าไป จำนวนเลยเป็น ๑๕๓ มันเป็นอย่างนี้
นี่มาบวชแล้วก็ต้องเอากันจริงจัง อบรมสั่งสอน พระที่เป็นกรรมการเขาวางหลักสูตรลงไป พิมพ์ออกเป็นเล่ม ว่าควรจะสอนอะไรบ้าง ควรจะทำอะไรบ้าง ในรอบหนึ่งเดือนเขาวางอัตราไว้เสร็จ วางแผนไว้เรียบร้อย แล้วก็ปฏิบัติตามแผน พระที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยสงฆ์นี่ อยู่วัดนี้ ปีนี้ไม่ให้ไปไหน ปีก่อนๆ ไปช่วยที่นั่น ไปช่วยที่นี่ มีอยู่ แต่ปีนี้อาตมาบอกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ บอกว่าอย่าไปเที่ยวสัญญากับใคร วัดไหน ว่าจะไปช่วยงานอะไร เพราะงานวัดเรามันก็เต็มมืออยู่แล้ว ให้อยู่ช่วยทำงานที่นี่ ท่านก็ไม่ไป ได้ช่วยกันทำงานอบรมสามเณรเหล่านั้น ให้ได้เข้าถึงธรรมะ ให้ได้รู้จักพระพุทธเจ้าถูกต้อง ให้รู้จักหลักคำสอนอันพึงปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ให้รู้คุณค่าของการเกิดมาเป็นคนว่าเราควรจะมีอะไรบ้างสำหรับชีวิต เราควรจะประพฤติตนอย่างไร ควรจะคิดอะไร ควรจะทำอย่างไร อันนี้ต้องสอนกัน อาตมาก็ให้การอบรมตามวาระ คือตามว่าง ว่างเวลาไหนก็ไปกัน ไม่จำกัดเช้า สาย บ่าย เย็น ว่างกลางคืนก็ไปเรียกมากลางสนามหญ้ามาคุยกัน คุยกันในกุฏิโน้น กุฏิปัญญานันทะ กุฏิสี่เหลี่ยมเขาติดป้ายไว้อย่างนั้น แล้วก็เรียกมาประชุมในสนามหญ้าคุยกัน หรือว่างตอนเช้าคุยตอนเช้า วันไหนว่างบ่ายก็คุยกันตอนบ่าย ตามเวลาว่าง จะได้พูดอบรมปมนิสัยจูงจิตใจของเณรน้อยๆ ให้มีความเข้าใจในชีวิตดีขึ้น สามเณรองค์ใดที่บวชมาแล้ว ตั้งใจเรียน ตั้งใจศึกษา ตั้งใจปฏิบัติ มันเกิดผลเมื่อออกไปศึกษาเล่าเรียน พ่อแม่ได้มารายงานผลว่าเรียนหนังสือดีขึ้น มีความประพฤติดีขึ้น การใช้จ่ายสตางค์ก็เปลืองน้อยขึ้น นี่แสดงว่าได้ผล จากการที่เราเอามาพอกอัชฌาศัยให้เป็นผู้ไม่เหลวไหลต่อไป คือรักพ่อแม่ถูกทางขึ้น รักตัวเองถูกทางขึ้น รักพ่อแม่ถูกทางก็คือไม่หาเรื่องให้พ่อแม่ร้อนใจ การจ่ายสตางค์เปลืองนั่นคือการหาเรื่องให้พ่อแม่ร้อนใจ พ่อแม่ก็ต้องวิ่งเต้นหาเงินหาทอง ลำบากเดือนร้อนกันไปตามๆ กัน เพราะเงินทองมันก็หายาก มีอะไรก็ลำบากเวลานี้ ที่นี้เด็กมันไม่รู้ ขอทีไรคุณแม่ให้ทุกที มันก็นึกว่าคุณแม่นี่เป็นแบงค์ใหญ่ที่เบิกได้ทุกเวลา เอาเวลาไหนก็ได้ เลยมันเบิกกันใหญ่ นี่มันก็เสียนิสัยเพราะเราให้สตางค์เขามากเกินไป เวลาให้สตางค์ก็ไม่ได้สอน ขอแล้วก็ให้ไป ให้ไป ไม่เรียกมาสอนเสียบ้างว่าสตางค์มันมาอย่างไร อาหารนี้มันมาอย่างไร เสื้อผ้านี้มันได้มาอย่างไร บ้านเรือนอยู่อาศัยนี้ได้มาอย่างไร ไม่ค่อยคุยให้ลูกฟัง ไม่ค่อยมีเวลาว่างที่จะสนทนากับลูก ความจริงเรื่องในบ้านนั้นเป็นบทเรียนทั้งนั้น ถ้าเราว่างเราก็พูดกับลูกได้ เช่นพูดให้ลูกฟังว่าที่ดินที่เรามีอยู่นี่มีเนื้อที่เท่าไร ที่ดินประเทศไทยนี่มีเนื้อที่เท่าไร สองแสนตารางไมล์กว่า แต่ที่เราอยู่นี่มีเนื้อที่เท่าไร มีห้าสิบตารางวา วาหนึ่งก็กว้างขนาดที่ลูกยืนกางมือออกดูสิ เอ้านี่วา กว้างหันหน้าออกไปข้างโน้น วัดได้ว่าตารางวาหนึ่งเท่านี้ นี่มีห้าสิบตารางวา หากคุณพ่อกับคุณแม่ซื้อที่นี้มาเพื่อสร้างบ้าน กี่ปีจึงได้ที่นี้มาเป็นกรรมสิทธิ์ พูดให้ลูกฟังเสียบ้าง ลูกมันจะได้รู้ว่าลำบากนะกว่าจะได้ดินมาสร้างบ้าน กว่าจะให้เรามากระทืบเล่นมาวิ่งเล่น มันต้องใช้เวลา แล้วก็พูดให้ลูกฟังเสียบ้างว่าพ่อนี้มีเงินเดือนเท่าไร คุณแม่นี้มีเงินเดือนเท่าไร แล้วก็ใช้จ่ายเดือนหนึ่งนี่มันพอใช้ไหม พอกินพอใช้ไหม กว่าจะได้มานี่เป็นมาอย่างไร บ้านดินนี้ซื้อมากี่ปีจึงได้กรรมสิทธิ์ แล้วสร้างบ้าน กว่าจะสร้างบ้านเรือนนี้เสร็จต้องสะสมเงินกี่ปีจึงได้เกิดบ้านนี้ขึ้นมา ได้สะดวกสบาย เวลากินอาหารเราก็คุยเรื่องอาหาร ว่าอาหารมื้อนี้ข้าวราคาเท่าไร ปลาเนื้อราคาเท่าไร อะไรราคาเท่าไร เดือนไหนจ่ายเงินค่าน้ำประปา เรียกลูกมาประชุมกันว่าค่าน้ำเดือนนี้เราเสียเท่านี้ ค่าไฟนี่คุณพ่อคุณแม่เสียค่าไฟเท่านี้ อันนี้ถ้าเราไม่ประหยัดไฟก็เสียค่าไฟเพิ่มขึ้น ถ้าไม่ประหยัดน้ำก็เสียค่าน้ำเพิ่มขึ้น อันนี้ต้องสอนให้รู้ว่าประหยัดไฟจะประหยัดอย่างไร เมื่อใดไม่ต้องใช้แสงไฟ แล้วก็ปิดไฟซะ อย่างเปิดไฟทิ้งไว้ในห้อง แล้วไปนั่งดูโทรทัศน์หนึ่งชั่วโมง
ไอ้ไฟในห้องไม่เกิดประโยชน์อะไร แต่มันก็เสียสตางค์ทุกวินาทีของไฟฟ้า น้ำประปาก็เหมือนกัน ถ้าเราเปิดแล้วไม่ใช้น้ำก็ไหลไปทีละหยด ทีละหยด แล้วก็มิเตอร์มันก็ขึ้น มีมิเตอร์อยู่หน้าบ้าน เรียกลูกไปดูที่มิเตอร์บ้าง แล้วก็ให้ไปเปิดก๊อกน้ำดู พอเปิดก๊อกน้ำมิเตอร์มันหมุน หมุนไป มันหมุนไปนี้มันเป็นเครื่องวัดเงิน ถ้าเลขขึ้นไปเท่านั้นๆ ก็ต้องเสียเงินเท่านั้น ถ้าเราใช้มากเปิดน้ำแรงๆ มิเตอร์หมุนแรง ถ้าหมุนแรงก็เปลืองน้ำ เปลืองน้ำคือเปลืองเงิน แต่ถ้าเราใช้น้อยเปิดค่อยๆ อย่าให้มันไหลแรงเกินไป มิเตอร์มันก็จะหมุนช้า หมุนช้ามันก็ประหยัดการเงินไม่ต้องสิ้นเปลืองมากเกินไป อาบน้ำก็ต้องสอนลูกให้อาบเป็น อาบอย่างไรอาบเป็น ไม่ใช่ตักขึ้นรดหกราดไปไม่ทั่วร่างกาย รดบนหัวสักขันหนึ่ง รดด้านขวา รดด้านซ้าย ค่อยๆ ประครองรดไม่ใช่ยกแล้วถึงสาดลงไป เสียงดังซ่าซ่า ซ่าซ่า อาบน้ำได้ยินอย่างนั้น น้ำมันสูญไปเสียเปล่าๆ เอาเข้าไปสาธิตการอาบกันในห้องก็ได้ อาบน้ำ เอ้าวันนี้ แม่จะสอนเรื่องการอาบน้ำ แล้วตักน้ำมาให้เขารดค่อยๆ รดลงไปบนหัว รดด้านขวา รดด้านซ้าย รดที่ขาลงไปถึงหน้าแข้ง แล้วก็ถูสบู่ เมื่อถูสบู่แล้วก็ล้างจากข้างบน ล้างบนหัวก่อนให้หมดคราบสบู่บนศีรษะ แล้วก็ราดลงมาโดยลำดับมันค่อยหมดไปเป็นตอนๆ ไม่ใช้น้ำมากเท่าไร ลองตักน้ำใส่ถังพลาสติกใบขนาดพอสมควร ไอ้ที่เอามาถวายสังฆทานนั้นแหละให้เต็มถังพลาสติก แล้วบอกวันนี้อาบน้ำเพียงถังเดียว ให้อาบน้ำเพียงถังเดียว ให้ใช้วิธีว่าอาบน้ำถังเดียวให้พอ ถูสบู่ด้วยแล้วอาบน้ำให้พอ ลูกจะอาบอย่างไร ลองคิดปัญหาเรื่องนี้ นี่คือการสอนเด็ก ให้รู้จักประหยัดน้ำ ใช้น้ำ ซักเสื้อซักผ้า เราก็ต้องหัดให้ซักอย่างประหยัดอดออมโดยวิธีใด อันนี้คุณแม่รู้ ถ้าหากว่าสนใจ แต่ถ้าไม่สนใจก็ไม่รู้ ไม่รู้มันก็เปลือง เปลืองทั้งน้ำเปลืองทั้งไฟฟ้า ไฟฟ้าก็เปิดเมื่อเวลาต้องการใช้ ถ้าไม่ใช้ก็ไม่ต้องเปิดไฟ ท่องหนังสือที่จำแล้วนี่ไม่ต้องเปิดไฟก็ได้ ท่องไปปากเปล่าไม่ต้องเปิดไฟ เปิดไฟดูทีหนึ่ง แล้วก็ปิดไฟซะ ท่องต่อไป พอจำแล้ว เปิดดูอีกที แล้วท่องต่อไป ก็จำได้ เล่าเรื่องให้เด็กฟังว่าพระสมัยก่อนนี้ไม่มีตะเกียงใช้ แต่ใบไม้แห้งนี่ท่านกวาดมากองรวมไว้ กองรวมไว้แล้วก็จุดใบไม้แห้ง จุดขอนไม้ให้ไฟมันติดต่อกัน ไม่ดับ พออยากให้สว่างมากก็เอาใบไม้มาใส่ลงที่ถ่าน กองฟืน ตรงท่อนฟืน พอใส่แล้วมันก็รุกหือขึ้น อ่านหนังสือได้วรรคสองวรรค ท่อง ท่องได้สองวรรค พอไฟมอดไปก็ท่องไป พอจำดีแล้วจุดให้มันสว่างอีก ท่องไปอีกได้สองวรรค พอมืดก็หยุดท่อง พอสว่างก็ท่องต่อไป ท่านเรียนมาจนจบหนังสือได้ความรู้ได้ความเข้าใจ เวลานอนก็นอนหนุนหมอนมะพร้าว ลูกมะพร้าวมันกลิ้งได้ เวลาพลิกตัวมะพร้าวกลิ้ง หัวตกก็ต้องลุกขึ้น ลุกขึ้นแล้วก็อ่านท่องหนังสือต่อไป เขาเรียนอย่างนั้น เรียนด้วยความขยัน เรียนด้วยความอดทน ชีวิตคนเราในปัจจุบันนี้มันสะดวกไปหมดทุกอย่าง น้ำเปิดปุ๊ปมันก็ไหล แต่บางทีไม่ไหลเหมือนกัน อันนั้นเป็นความผิดของการประปาไม่ใช่เรื่องอะไร แต่ว่าสมัยนี้ผู้อำนวยการการประปาเขาจัดเก่ง คนไม่ค่อยพูดทางหนังสือพิมพ์ช่วงนี้ ไม่ค่อยด่าการประปาเพราะว่าได้ผู้จัดการดี ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ นี่เขาเรียนมาอย่างนั้น เขาเรียนเรื่องจัดการเรื่องอะไรต่างๆ อันนี้ก็น้ำประปาดี ในคลองประปาริมน้ำปริ่ม นั่งรถผ่านที่ไรก็น้ำเปี่ยมฝั่ง หน้าแล้งน้ำก็ยังเปี่ยมฝั่ง แสดงว่างานมันติดต่อไม่ขาดสาย ก่อนๆ นี้ หน้าแล้งนี้ น้ำในคลองประปา หน้าแล้งลดลงไปตั้งเมตร แห้งขอด แสดงว่าเครื่องที่สูบน้ำที่โน้นมันไม่ปรกติ น้ำมันก็ไม่เต็มคลอง เดี๋ยวนี้น้ำเต็มคลองอยู่ตลอดเวลา คือน้ำดิบเมื่อน้ำดิบอยู่ในคลองเต็ม โรงสูบที่สามเสนมันก็ทำงานได้สะดวก เมื่อสูบน้ำสะดวกมันก็ปล่อยออกจากถังได้ ประชาชนก็ไม่ลำบากเรื่องน้ำ และถ้าเกิดการเสียขึ้น ณ ที่ใด โทรศัพท์บอกปุ๊ป เจ้าหน้าที่ต้องไป คือการควบคุมมันดีขึ้น ด้วยตั้งใจทำงานเป็นคนหนุ่มที่หัวไว คล่องแคล่ว ทำงานดี แล้วมันก็ดีขึ้น น้ำประปาไม่ค่อยติดขัด เปิดทีไรไหลเราก็สบายใจ แต่ว่าเปิดไหลมันไหลบ่อยเราก็ใช้เปิดมาก เช่นว่าลูกชายจะแปรงฟัน เปิดน้ำประปาให้ไหล ไอ้นี่ก็แปรงไป แปรงเรื่อยไป มันแปรงซึมๆ ไปน้ำก็ไหลไป ไอ้นี่สูญเปล่า กว่าจะแปรงเสร็จมันไหลสักเท่าไร มันไหลไปเท่าไร นี่ต้องหัด เอ้า รองน้ำครึ่งขัน แปรงฟันบ้วนปากให้พอด้วยน้ำขนาดนี้ หัดจำกัดให้บ้าง จำกัดการใช้น้ำ จำกัดการใช้ไฟ จำกัดอะไรไว้ทุกสิ่งทุกอย่าง หากเราทำใหม่ๆ นี่ ลูกจะรำคาญ หาว่าคุณแม่นี้กวดขันในเรื่องความเป็นอยู่ แต่ว่าพอทำไป ทำไป เขาจะชินกับการเป็นอยู่อย่างนั้น เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็รู้จักบังคับตัวเอง ควบคุมตัวเอง
พระพุทธเจ้าสอนว่าคฤหัสถ์ครองบ้าน ต้องมีความซื่อสัตย์ ต้องรู้จักบังคับตัวเอง ต้องมีความอดทน จะต้องมีความเสียสละ เราต้องหัดแล้ว แม้เด็กยังไม่รู้จักชื่อธรรมะว่า ฆราวาสธรรมนี้คืออะไร แต่เราหัดให้เขาซื่อสัตย์ หัดให้เขาบังคับตัวเอง หัดให้เขาอดทน หัดให้เขามีความเสียสละด้วยการปฏิบัติจิตในชีวิตประจำวันนั่นแหละ เด็กของเราก็จะประพฤติธรรมจนติดต่อเป็นนิสัย เมื่อประพฤติธรรมติดต่อเป็นนิสัย เติบโตเป็นผู้ใหญ่เขาก็จะอยู่อย่างมีธรรมะ เขาจะเป็นคนบังคับตัวเองได้ เขาจะเป็นคนอดได้ทนได้ เขาจะเสียสละได้ในสิ่งซึ่งไม่จำเป็นต่อร่างกาย ไม่จำเป็นที่จะต้องกินต้องใช้ อันนี้ของเราก็มีธรรมะประจำใจ มีธรรมะเป็นหลักประจำใจ อะไรมันก็ดีขึ้นหมด นี่มันต้องทำไปตั้งแต่เด็กๆ ฝึกไปเรื่อยๆ ความจริงนั้นแม้เด็กน้อยๆ เราก็ฝึกได้แล้ว เช่นฝึกให้รู้จักกินเป็นเวลา เด็กเลี้ยงนมนี่ก็ต้องกินเป็นเวลา ไม่ใช่พอร้องแว้ เอานมยัดปาก ร้องแว้ เอานมยัดปาก มันก็พร่ำเพื่ออย่างนั้นก็ไม่เป็นเวลา เราให้กินเป็นเวลา แล้วให้นอน อาบน้ำแล้วนอน อย่าไปยุ่ง อย่าไปรบกวนเขา เขาก็อยากจะอยู่คนเดียวบ้างเหมือนกันเด็กน้อยๆ แต่นี่คุณยายเลี้ยง เดี๋ยวคุณยายอุ้ม เดี๋ยวคุณย่าอุ้ม เดี๋ยวคุณแม่อุ้ม คนนั้นอุ้ม น่าเอ็นดู น่าเอ็นดู ก็นั่งชมเด็ก เด็กมันก็รำคาญมันอยากจะนอนบ้าง มามัวชมแบบนี้มันไม่สบาย พอดื่มนมอะไรเสร็จแล้ว ก็นอน ให้เขานอนนะ เขาก็หลับปุ๋ยไปสบาย หากตื่นขึ้นหากยังไม่ถึงเวลากินอย่าให้กิน แม้จะร้องไปบ้างก็ให้ร้องไปเหอะ อย่าให้เขาเอานมไปให้ก่อนเพราะยังไม่ถึงเวลา ร้องก็ไม่เป็นไร ให้มันร้องไป อย่าไปยุ่งกับมัน มันร้องเหนื่อยมันก็หยุดเองแหละ ความจริงเด็กร้องมันก็ดีเหมือนกันมันได้ผายปอดออกกำลังกาย ยกไม้ยกมือยกแข้งยกขา เวลาร้องนี่ดูสิ เด็กมันบริหารร่างกาย บริหารปอไปด้วยในตัว มันร้องๆ ก็ไม่มีใครเอาใจใส่ มันก็นึกว่ากูร้อง แย่แล้วเหนื่อยเปล่า ไม่เห็นใครเอาใจใส่หยุดร้องดีกว่า แต่พอร้องแว้แล้วคนมาอุ้มมันออก ถ้าทำอย่างนี้แล้วคนมาทุกที ที่นี่มันร้องทุกที พอมีอะไรก็ร้อง ร้อง คนมา ร้องแล้วคนมา เลยมันใช้วิธีร้องเป็นเครื่องเรียกร้องความสนใจจากคุณแม่ แล้วพอโตขึ้นมันก็ทำอย่างนั้นอีก พอไม่ได้อะไรมันก็กระทืบเท้าบ้าง ทำหน้างาวหน้างอตีอกชกหัว เด็กบางคนเอาหัวชนฝาแต่มันเลือกชนไอ้ที่ฝามันบางๆ หน่อย มันรู้เหมือนกันชนตรงไหน แม่ตกใจ แม่ตกใจเลยต้องรีบบอก เอาไปเลยเอาไปลูก นี้มันเสียมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเมื่อกินนมเลยด้วยซ้ำไป เพราะไม่หัดให้เป็นเวลา ไม่ให้กินนมเป็นเวลา ไม่อาบน้ำเป็นเวลา ไม่ให้ถ่ายเป็นเวลา ถึงเวลาถ่ายก็ยกมานั่งในกระโถน นั่งไป เวลานี้มันต้องถ่าย ถ้าวันแรกนั่งนานก็ไม่ออกไม่ถ่าย ไม่เป็นไรก็นั่งไป นั่งไปก่อน นั่งไป อันนี้มันก็หัดอย่างนั้น พอถึงวันนั้นเราก็รู้แล้วว่ามันเป็นอย่างนั้น มานั่ง นั่งแล้วก็อึออกมา ออกมาแล้วอาบน้ำล้างอะไรให้ มันก็ไปนอนต่อไป เลี้ยงเป็นเวลาหมด ทำอะไรเป็นเวลา ก็ทำให้เด็กรู้คุณค่าของเวลาว่าทำอะไรก็เป็นเวลาไป โตขึ้นก็กินเป็นเวลา ไม่พร่ำเพื่อ กินอะไรก็กินพร้อมกับรับประทานอาหาร กินข้าว กินของหวาน กินนมก็กินให้เสร็จไป พ้นจากนั้นไม่มีกิน ตู้เซฟต้องปิดล็อกกุญแจ ไม่ใช่ว่าเดี๋ยวเปิด เดี๋ยวเปิด เปิดบ่อยๆ ท้องเสีย ฟันเสีย นิสัยก็เสีย เสียหลายๆ อย่าง ได้เรื่อง แต่พ่อแม่ไม่ค่อยคิดเรื่องอย่างนี้ อยากให้ลูกสบาย ให้มีกินมีใช้สบาย นั่นคือการทำลายอนาคตของลูกในวันข้างหน้า แต่ถ้าเรากวดขันไว้ ให้กินเป็นเวลา อะไรเป็นเวลา เด็กไทยไปเรียนเมืองนอกไปอยู่บ้านเขาเรียกไปอยู่ในครอบครัว ก็คิดว่าอยู่เมืองไทย ไปเที่ยวเถลไถลถึงเวลากินข้าวไม่มากิน เขากินเสร็จแล้ว เขาก็เลิกกินแล้ว พอกลับมาถึงก็เข้าไปในครัว เสียงก๊อกเก็กๆ แหม่มนึกว่าอะไร นึกว่าแมวอะไร พอเข้าไปก็แมวไทยนั่นเอง แมวเดินสองเท้าซะด้วยไม่ใช่แมวเดินสี่เท้า ก็เรียกมาดุมาว่า ว่าเมืองนี้เขาถือกันอย่างนี้ เข้มมีระเบียบมีหลักปฏิบัติอย่างนี้ ระเบียบการกินการอยู่ พอแหม่มพูดบ่อยๆ รำคาญ รำคาญไม่อยู่ ต้องไปหาผู้ปกครองเด็กให้หาบ้านใหม่ให้ หาให้เดี๋ยวไม่อยู่อีก ผู้ปกครองบอก แหม ไอ้เด็กไทยนี่มันลำบากจริงๆ เดี๋ยวย้าย เดี๋ยวย้าย บ้านนั้นย้ายบ้านนี้ หนักๆ เข้า บอกว่าเธอนี่ไม่ไหวแล้วฉันจะส่งกลับ กลับว่าลองสิ ใครจะส่งใครกลับกันแน่ มันคุยโตซะด้วยว่าพ่อมันใหญ่ จะเอาผู้ปกครองเด็กกลับบ้านซะด้วยซ้ำไป มันเป็นอย่างนี้ นี่ก็เพราะว่าพ่อมันเลี้ยงลูกไม่เป็น แม้จะเป็นใหญ่เป็นโตมันก็เลี้ยงลูกไม่เป็น เลยลูกก็ไปเบ่งเอากับผู้ปกครองเด็กนักเรียนอีก บอกว่าใครจะถูกส่งกลับกันแน่ มันท้าซะด้วยนะ นี่มันเป็นปัญหาเพราะว่าเราเลี้ยงโดยไม่มีระเบียบ ไม่มีการทำอะไรให้เป็นเรื่องเป็นราว เด็กมันก็เกิดปัญหา ดังที่เราเป็นๆ กันอยู่นี้ ที่นี่มันต้องแก้ แก้นิสัย สร้างคนใหม่ สร้างจิตใจใหม่ ให้เป็นพื้นฐานของชาติไทยต่อไป เวลานี้ฐานมันแย่ ไม่ค่อยดี ฐานมันไม่มั่นคง ฐานบิดฐานเบี้ยว อันนี้คนอยู่บนฐานมันก็เสียผู้เสียคนไปตามๆ กัน ดังนั้นต้องสร้างฐานใหม่ ตั้งแต่เริ่มเป็นเด็กมาทีเดียว ตั้งแต่อยู่ในท้องด้วยซ้ำไป
เมื่อผู้หญิงตั้งท้องก็ต้องประพฤติธรรมแล้ว ต้องรักษาจิตใจควบคุมอารมณ์ ทำให้เป็นคนใจเย็นใจสงบไม่ทะเลาะกับใคร ไม่ริษยา ไม่พยาบาทอาฆาตจองเวรใคร อันนี้สามีก็ต้องรู้ว่าแม่บ้านกำลังตั้งท้อง เหมือนกับคนกำลังเพ่งเขียนภาพสวยๆ งามๆ ถ้าเราไปทำให้เขายุ่งใจ ภาพแทนจะสวยกลายเป็นภาพยุ่งไป เขียนมนุษย์กลายเป็นยักษ์ไปโดยไม่รู้ตัวเพราะใจมันไม่สบาย พ่อบ้านก็ต้องรู้หน้าที่ ต้องกลับบ้านตามเวลา อย่าไปเที่ยวเตร่เถลไถล กลับมาให้แม่บ้านสบายใจว่าพ่อเจ้าพระคุณนั้นไม่เถลไถล ไม่ไปหาความสุขนอกบ้าน หรือไม่ไปหาความสุขกับคนอื่น แต่กลับมาบ้านตามเวลา แม่บ้านก็สบายใจ เมื่อแม่สบาย ลูกก็สบายใจ มันกระทบกระเทือนถึงการสร้างจิตใจของเด็กในท้อง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันทั้งพ่อและแม่ ถ้าไม่ช่วยกันมันก็ยุ่งมีปัญหา เกิดออกมาแล้วก็ไม่ใช่แม่เลี้ยงคนเดียว พ่อก็ช่วยเลี้ยงด้วย เวลาไหนพ่อว่างก็ต้องมาดูลูกบ้าง อาบน้ำให้ลูกบ้าง ช่วยเอานมให้ลูกรับประทานตามเวลา ไกวเปลให้ลูกนอน อะไรต่ออะไร ให้รู้ว่ามีหน้าที่เกี่ยวข้องกัน ไม่ใช่หน้าที่ของแม่คนเดียว พ่อก็ต้องช่วยด้วย เด็กเติบโตขึ้นในอ้อมอกของพ่อของแม่ ยิ้มกับคุณพ่อยิ้มกับคุณแม่ ถ้ามีแต่คุณแม่อย่างเดียว ยิ้มกับคุณแม่ หันหน้าไปยิ้มด้านอื่นมีแต่ความว่างเปล่า ไม่มีคุณพ่อเพราะคุณพ่อไม่ค่อยเอาไหน อย่างนี้มันก็ไม่ได้เรื่อง จึงต้องช่วยกันประคับประครองรักษาจิตใจของเด็กให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย ถ้าในครอบครัวนี้ ถ้าว่าพ่อบ้านแม่บ้านประพฤติธรรมเหมือนกัน มีความเชื่อตรงกัน มีศีลตรงกัน มีปัญญาเท่าเทียมกัน มีความเสียสละเท่าเทียมกัน ลูกก็เป็นสุขมาก มีความสบายใจ ก็เห็นคุณพ่อคุณแม่ประพฤติธรรมนั้นเอง คนประพฤติธรรมมันอยู่ร่วมกันเป็นสุข แต่ผู้ไม่ประพฤติธรรมอยู่กันเป็นทุกข์
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าอยู่ร่วมกับคนไม่ดีมีความทุกข์ ในทางตรงกันข้ามอยู่ร่วมกับคนดีก็มีความสุข คนไม่ดีก็คือคนขาดธรรมะ คนดีก็คือคนมีธรรมะเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ ถ้าเราได้อยู่กับคนดีเราก็มีความสุขใจมีความสบายใจ อันนี้เราต้องเป็นคนดี เป็นคนดีในครอบครัว เป็นคนดีในการงาน เป็นคนดีในสังคม ไปไหนก็ต้องไปดี ไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่กันและกัน มันก็ไม่มีอะไรที่ปัญหา เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่จะต้องสนใจ แล้วก็ต้องช่วยกัน ที่เอามาไว้วัดเพียงเดือนหนึ่ง วัดก็ช่วยกล่อมเกลาอัชฌาศัย หัดให้เป็นคนกินง่ายอยู่ง่าย เคยนอนเหมือนที่บ้านก็เปลี่ยนเป็นที่นอนใหม่ เป็นที่นอนมีเสื่อจันทบูรณ์ผืนหนึ่ง แล้วก็นอนบนพื้นธรรมดา หรือมีเตียง แต่ว่าเตียงก็ไม่ค่อยมี มันมากก็ไม่ไหว ซื้อเตียงไม่ค่อยไหว ก็นอนบนพื้นธรรมดา ปูเสื่อ แล้วก็นอนเป็นเวลา พอถึงเวลานอนต้องนอน ถึงเวลาตื่นก็ต้องตื่นแล้ว พระพี่เลี้ยงจะต้องไปปลุกให้ลุกขึ้นพร้อมกัน เข้าห้องน้ำ ถ่าย อะไรต่ออะไรไปตามเรื่อง แล้วก็ออกมาสวดมนต์ไหว้พระก่อนจะใกล้รุ่ง เช้าก็ไปบิณฑบาต ไม่ได้ไปทุกคนนะ คนไหนร่างกายเล็กเกินไป อายุมันเท่ากันแต่บางคนร่างกายไม่เท่ากัน คนไหนพอไปได้ก็ไปกับพระ คนไหนไปไม่ได้ก็ต้องทำงาน กวาดขยะ จัดที่ฉัน หาน้ำมาวางไว้ มีอะไรก็ให้จัดทำ ให้รู้จักใช้ชีวิตรับใช้ผู้อื่น เราอยู่บ้านนี่คุณพ่อคุณแม่ไม่ค่อยหัดให้ลูกรู้จักรับใช้ผู้อื่น แต่คอยเรียกคนอื่นมาใช้ตลอดเวลา ถ้ามีคนใช้ด้วยยิ่งไปกันใหญ่ มีอะไรก็คนใช้ เดี๋ยวก็เรียกแม่ตุ๋ยแม่แต๋วมารับใช้ มันใช้เขาเรื่อย จะกินน้ำก็เรียกคนอื่นมาเอาน้ำให้ จะทำอะไรก็เอาอะไรมาให้ มันสบายเกินไป เป็นชีวิตที่สบายเกินไป เรามีคนใช้ก็อย่าให้ลูกเรียกคนใช้มาใช้อย่างนั้น ให้ทำเรื่องอื่นที่มันหนักๆ เช่น หุงข้าวต้มแกงอะไรอย่างนั้นให้เขาทำ แต่ว่าเรื่องเล็กน้อยส่วนตัวของลูกอย่าให้ไปรบกวนคนใช้ ให้ใช้ตัวเองให้พยายามใช้ตัวเอง แล้วก็สอนให้รู้ว่าการได้มีโอกาสรับใช้ผู้อื่นนั้นเป็นเรื่องของคนดีมีคุณธรรม การมีโอกาสรับใช้ผู้อื่นนั้นเป็นเรื่องของคนดีมีคุณธรรม ความถือตัวมันก็ลดลงไป ความสำคัญตัวว่าฉันใหญ่มันก็จะน้อยลงไป เราไม่เพาะนิสัยการถือตัวให้เกิดขึ้นในเด็ก ไม่เพาะนิสัยหยิ่งให้เกิดขึ้นในเด็กว่าฉันเป็นลูกคนนั้น ฉันเป็นลูกคนนี้ หรือว่าฉันเป็นผู้มีสตางค์มาก อย่างนี้ไม่ได้ เป็นนิสัยไม่ดี คือสร้างนิสัยดูหมิ่นคนอื่น แล้วก็ยกตัวข่มคนอื่น ซึ่งเป็นอุปกิเลสที่เกิดขึ้นในใจ แล้วทำจิตใจให้เศร้าหมอง เราไม่เพาะอย่างนั้น แม้กับคนใช้ก็ต้องพูดด้วยวาจาสุภาพ ต้องแสดงความเคารพต่อคนที่มีอายุมากกว่าตัว ใครทำอะไรให้แก่ตัวแม้เล็กน้อยต้องขอบคุณเขา ก่อนยกมือไหว้ ต้องขอบคุณเขา อันนี้ต้องหัดไปตั้งแต่เบื้องต้น แล้วให้รู้จักว่าถ้ามีอะไรที่เราจะได้ช่วยเหลือคนอื่นได้ การเข้าไปช่วยเหลือเป็นบุญเป็นกุศล เป็นเรื่องดีที่สังคมต้องการ หัดลูกให้รู้จักบริการคนอื่น ไม่ใช่เป็นผู้คอยให้คนอื่นบริการตนอยู่ตลอดเวลา อันนี้ต้องหัดเหมือนกัน หัดเด็กให้เป็นอย่างนั้น แล้วต้องทำงานทุกอย่าง เราสอนเด็กให้รู้ว่างานนี่คือหน้าที่ของชีวิต การทำงานนี่เป็นการมีเกียรติ การได้ช่วยเหลือคนอื่นก็เป็นเรื่องมีเกียรติ แล้วอย่าเลือกงาน ถ้างานนั้นเป็นงานสุจริตแล้ว ทำเถิดไม่เป็นเรื่องเสียหาย แต่ถ้างานนั้นเป็นงานทุจริต ไม่ใช่เรื่องดีเราไม่ควรจะทำ ให้เขารู้จักเลือกงานในทางสองแง่ ดีหรือชั่ว ถ้าดีแล้วทำได้ ไม่มีงานต่ำ งานดีไม่มีความตกต่ำ งานชั่วคืองานต่ำ งานดีแล้วดีทุกเวลา ทุกสถานที่ ทุกบุคคล ทุกเหตุการณ์ เราต้องพูดต้องสอนให้เขาเข้าใจ ให้ทำได้ เช่นให้ล้างกระโถนก็ได้ ให้เด็กล้างกระโถนได้ ล้างจานได้ ให้กวาดขยะได้ ทำอะไรได้ อย่างนี้มันก็ดีขึ้น ไปที่วัดป่านานาชาติ ดูฝรั่งทำงาน ฝรั่งอยู่เมืองนอกมันไม่ได้ทำงานอย่างนั้น มาอยู่นี่ เอาปี๊บสองใบใส่เข้าในคานหาม สองคนหามไป หาบน้ำ ไปหาม ไม่ใช่หาบ หาม หาบมันทำคนเดียว นี่หาม ปี๊บสองใบหามสองคน น้ำในบ่อแล้วเอาไปใส่ห้องส้วมตรงโน้น ห้องส้วมตรงนี้ ห้องส้วมมันหลายแห่ง เผื่อคนไปมาจะได้สะดวก น้ำในส้วมต้องเต็มอยู่ตลอดเวลา ฝรั่งสองคนก็ช่วยกันหาบน้ำไปใส่ที่นั้นที่นี้ แล้วฝรั่งนั่งหุงข้าว นั่งล้างจาน กวาดขยะ เทกระโถน มันทำได้ทั้งนั้น ก่อนบวชมันต้องมาหัดอย่างนี้ก่อน หัดให้รู้จักรับใช้คนอื่น หัดให้ทำงานสุจริตที่มีเกียรติทุกอย่าง เขาก็ทำไปอยู่ปีหนึ่งถึงจะให้บวช อยู่สองปีถึงจะให้บวช มันก็ทนทำอย่างนั้น ตั้งใจจะบวชจริงๆ ก็ทำได้ เขาทำทุกอย่างได้เรียบร้อย
การฝึกอย่างนั้นเขาเรียกว่าลดการถือตัวถือตนลงไป หรือพูดง่ายๆ ว่าลดอัตตา คนเรามันอัตตามันเยอะ เพาะขึ้นไว้ เรามีลูกมีหลานก็เพาะเชื้อแห่งความถือตัวถือตนไว้ในตนเยอะ งานนั้นทำไม่ได้ งานนี้ทำไม่ได้ ไม่สมศักดิ์ศรีอะไรต่างๆ เลยกลายเป็นคนเลือกงาน ไม่ทำงานเท่าที่ควรจะทำ มีความรู้แต่ไม่ทำงาน เพราะงานมันไม่สมศักดิ์ศรี เงินเดือนมันน้อยไป นี่คือความอบรมผิดทั้งนั้นทำให้เด็กเข้าใจผิดในเรื่องอะไรต่างๆ เกิดเป็นปัญหาขึ้นในชีวิตของเด็กเหล่านั้น กลายเป็นคนมีโรคทางจิตมีโรคทางประสาทเพราะว่าไม่ได้ทำงาน แล้วก็นึกว่าตัวนี่เป็นคนเก่งอยู่ตลอดเวลา เก่งจนเสียคนไปเลย นี่คือความเสื่อมในสังคมที่เราเป็นกันอยู่ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างเด็กในรูปใหม่ เด็กมาบวชเป็นสามเณรนี่จะต้องทำงานทุกอย่าง พ่อแม่มาเห็นบางทีตกใจเห็นลูกทำอะไรอย่างนี้ เป็นการฝึก ฝึกให้กวาดขยะ ฝึกให้ล้างชาม ฝึกให้ล้างห้องน้ำ ให้ทำอะไรต่ออะไร ก็ของที่ตัวใช้ช่วยกันขัดช่วยกันถู ห้องน้ำช่วยกันทำความสะอาด ถูบ้านถูเรือนต้องสอนให้ทำ ให้เขาได้รู้ว่างานคือการกระทำที่มีเกียรติ ทำงานคือการมีเกียรติ ไม่ทำงานคือการไร้เกียรติ คนเอาเปรียบคนอื่นนี่เป็นคนไม่มีเกียรติ แต่คนที่ได้ทำอะไรตอบแทนคนอื่นเป็นเรื่องมีเกียรติ ให้รู้จักรับใช้คนอื่น การรู้จักรับใช้คนอื่นนั้นคือการทำลายตัวตนเบื้องต้น เพราะเรารับใช้คนอื่นได้ หากคนถือตัวก็รับใช้คนอื่นไม่ได้ ช่วยเหลือใครก็ไม่ได้มันไม่สมเกียรติสมศักดิ์ศรี ธรรมะมันค่อยจางไปจากจิตใจเพราะความคิดเห็นแก่ตัว หรือความยึดมั่นในตัวตนมากเกินไป แต่ถ้าเราไม่เห็นแก่ตัวไม่เห็นแก่อะไรๆ ของตัวแล้ว ทำได้ทุกอย่าง งานที่เป็นประโยชน์ เป็นคุณแก่เพื่อนมนุษย์ก็ทำได้ จิตใจก็สบาย มีความสุขในชีวิตประจำวัน มีเรื่องที่จะต้องฝึกฝนอบรม สามเณรน้อยๆ จึงทำประจำวัน ตลอดเวลาหนึ่งเดือน ก็คงได้ได้ติดไปบ้าง ในเวลาหนึ่งเดือนคงติดไปบ้าง มันมีไอ้พวกที่จูงได้ดึงได้ก็ติดไปเอาไปใช้ที่บ้าน
อันนี้เมื่อไปบ้านแล้วคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องสืบต่อสิ่งที่พระให้ไป อย่าให้หายไปเสีย อย่าให้สิ่งแวดล้อมละลายจิตใจกลายเป็นคนที่ไม่เอาไหนต่อไป เราต้องช่วยประคับประครองเขา แล้วก็หมั่นพาลูกมาวัดจะได้มาพบปะครูบาอาจารย์ จะได้มาเพิ่มเติมความรู้ความสามารถในด้านธรรมให้แก่เขาให้มากขึ้น ถ้าเราได้ช่วยกันจัดทำดังที่กล่าวนี้ทั่วๆ ไป ทั้งประเทศมันก็เจริญขึ้น จิตใจคนเจริญขึ้น แต่มันขาดอยู่อันหนึ่งที่ทำไม่ได้ คือขาดพระที่จะทำงาน พระยังไม่พอใช้ มีแหละ สำหรับเฝ้าวัด วัดนะมีพระเยอะที่เฝ้าวัด แต่ว่าที่จะเอามาทำการทำงานนี่ยังไม่พอ ไอ้ที่ยังไม่พอก็เพราะว่าหลักการของคณะสงฆ์เรา ในการสร้างพระเพื่อให้ปฏิบัติงานนั้น ยังไม่เรียบร้อยไม่สมบูรณ์ ไม่ได้คิดสร้างคนเพื่อทำงาน คิดแต่ว่าให้มีคนอยู่ก็แล้วกัน แต่ว่าไม่ได้เพาะให้มีใจรักงานให้ทำงาน เราจึงหาคนทำงานยากอยู่ในเวลาปัจจุบันนี้ ก็ต้องแก้อยู่เหมือนกัน แต่ว่ามันแก้ลำบาก เรือมันใหญ่ จะวิ่งไปแก้หัวเรือที ท้ายเรือที กลางเรือที ไอ้คนแก้มันจะสิ้นใจเสียตรงนั้น ตรงวิ่งไปวิ่งมานี่เอง
มันต้องหาทางว่าจะทำอย่างไรจึงจะกระตุ้นเตือนให้เกิดความคิดในการสร้างสรรค์ ช่วยกันทำงาน วัดนี้ก็มีนโยบายในเรื่องนี้ ก็เลยเอาพระบ้านนอก บ้านนามาอบรมกัน เรียกว่าอบรมพระธรรมทายาท ทำมาสี่ชุดแล้ว แต่ว่าการโฆษณามันยังไม่ค่อยมีเท่าไร แล้วก็ไม่เรียกร้องความช่วยเหลือจากฝ่ายราชการอะไร ก็ทำไปเท่าที่จะทำได้ ปีละร้อยกว่า ร้อยองค์บ้าง ร้อยกว่าบ้าง สุดแล้วแต่มา มาก็ให้การอบรมกันไป เลี้ยงท่าน เพราะอาหารยังพอจะเลี้ยงได้อยู่ ปัจจัยก็ยังพอมีใช้ไม่รบกวนอะไรกับญาติโยมชาวบ้าน ก็ทำได้สำเร็จไปเป็นชุดๆ ไป แล้วพระที่ได้รับการอบรมแล้ว กลับไปอยู่บ้านก็เปลี่ยนชีวิตจิตใจ คือว่าตื่นตัวขึ้น ว่องไวขึ้น รู้จักเรื่องที่จะจัดจะทำขึ้น ก็ดีขึ้นได้ประโยชน์ ไปทำงาน ก็เอ้า เรียกมาประชุมกันใหม่ มาสัมมนากัน เงียบๆ เพื่อจะได้รู้ว่าใครไปทำอะไรกันบ้าง ได้ประโยชน์อย่างไร มีอะไรขัดข้อง มีอะไรปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป ทำกันอยู่อย่างนี้ ทำมาสี่ชุดแล้ว ปีออกพรรษาก็ทำอีก ทำเรื่องที่จะทำได้ อันนี้เป็นงานที่ต้องการปลุกระดมให้ทุกคนได้ลุกขึ้นช่วยกันทำงานเพื่อพระศาสนา ศาสนาเราก็จะได้ยั่งยืนต่อไป ถ้าเราไม่ช่วยกันรักษา ศาสนาก็จะล่มจมไป การบวชสามเณร การบวชพระ การจะทำอะไรทุกอย่างนี้จุดหมายมันอยู่ที่นั้นแห่งเดียว ที่ว่าให้พระศาสนายังดำรงอยู่ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย ถ้าดำรงอยู่ไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ได้ ต้องให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย อันนี้ต้องหาคนทำงานสร้างงาน งานที่เป็นประโยชน์จึงได้ทำมา ญาติโยมก็ได้ช่วยเหลือเจือจุนกันมาโดยลำดับตามที่อาตมาบอกให้ทราบ ถ้าไม่บอกก็ไม่เป็นไร ไอ้ที่ไม่บอกก็แปลว่าไม่เหลือบ่ากว่าแรง ก็ว่าไป ไม่บอกให้โยมทราบ แต่เมื่อใดเหลือกำลังลากก็ต้องออกปากบอกแขกช่วยแบกหาบ มันเหลือกำลังแล้วก็บอกทุกที แต่ถ้ายังไม่เหลือกำลังก็ทนแบกไปก่อน เพราะยังมีกำลังพอแบกได้ งานมันจึงได้ดำเนินมาดังที่กล่าว
วันนี้ก็พูดเรื่องเกี่ยวกับบวชสามเณรให้ญาติโยมทั้งหลายฟังเล็กๆ น้อยๆ เวลาเที่ยงครึ่งก็จะเริ่มประชุมบวชสามเณรกันต่อไป สำหรับวันนี้ก็ขอยุติไว้แต่เพียงนี้ ในที่สุดนี้ ก็ขออวยพรให้ญาติโยมทั้งหลายจงอย่าเจ็บอย่าไข้ จงมีความเจริญก้าวหน้าทางจิตใจตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าจงทั่วกันทุกท่านทุกคน แล้วต่อไปนี้เชิญนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที
- ปาฐกถาธรรมวันอาทิตย์ที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๘