แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ต้นเดือนมีนาคม เดือนกุมภาพันธ์มีเพียง ๒๘ วัน ก็ผ่านไปตามเรื่องของเวลา ทำให้เราได้อายุเพิ่มขึ้นอีกเดือนหนึ่ง สังขารร่างกายก็เปลี่ยนไปตามสมควร เด็กมันก็โตขึ้น ผู้ใหญ่ก็โตลงไป แก่ โตลง เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของชีวิต เพราะว่าชีวิตมันไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เมื่อวันคืนผ่านไปอะไรก็เปลี่ยนแปลงไป วันคืนผ่านไปไม่ได้ผ่านไปแต่เวลา แต่ทำให้สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปด้วย เขาจึงกล่าวว่าอะไรๆ มันก็ขึ้นอยู่กับเวลา ขึ้นอยู่กับเวลาในเรื่องความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร เวลามันเปลี่ยนแปลงชีวิต เปลี่ยนแปลงอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง เราที่เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าจึงต้องคิดบ่อยๆ ว่าเวลาล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไร การได้คิดอย่างนี้ก็เพื่อจะให้เกิดความสำนึกในสิ่งที่เราจะต้องกระทำ เพราะสิ่งที่ต้องกระทำนั้นถือว่าเป็นหน้าที่ เป็นกรณียะที่เราจะต้องกระทำ พอใจหรือไม่พอใจก็ต้องทำ เรียกว่าหน้าที่ หน้าที่เป็นสมบัติของชีวิต เป็นสิ่งที่จะทำให้ชีวิตของเราสมบูรณ์ขึ้น จึงต้องทำตามหน้าที่ อาตมานี่ก็ทำหน้าที่ คือเทศน์ คือสอน สอนเทศน์ที่นั่นเทศน์ที่นี่ อะไรต่างๆ ทั่วไป
เมื่อวานนี้เดินทางแต่เช้าไปที่วัดๆ หนึ่งในอำเภออินทร์บุรี เขามีงานผูกพัทธสีมา ความจริงไม่อยากจะไปงานผูกพัทธสีมา เพราะว่าไปแล้วไม่ค่อยได้ผลเท่าใด เพราะว่า เขาจัดงานเพื่อสนุกกัน ยังไม่เข้าใจว่าจัดงานสนุกมันขาดทุนหลายอย่าง ขาดทุนเรื่องเงิน ขาดทุนเรื่องจิตใจ เพราะทำคนให้ติดในเรื่องความสนุกสนานเฮฮา ไปถึงก็เรียกว่าหนวกหูทั้งวัด คือพูดแข่งกัน ไมโครโฟนหลายอัน พวกหนึ่งพูด ….. (03.32 เสียงไม่ชัดเจน) ซื้อทองไปติดลูกนิมิต พวกหนึ่งจะขายกระเบื้อง กระเบื้องมุงหลังคาเต็มแน่นยังจะขายอยู่อีก ก็มีไม่กี่สิบแผ่นขนไปขนมาขายอยู่ตรงนั้น ขายได้วันยังค่ำ คนซื้อก็ซื้อได้วันยังค่ำเหมือนกัน ซื้อกระเบื้อง ซื้อที่ดิน ตารางวาละเท่านั้น ให้ซื้อที่ดิน คือว่าทำทุกอย่างที่จะให้ได้เงินเข้าวัด แต่ไม่ได้คิดว่ามันสมควรหรือไม่ ก็ไปนั่งฟังๆ หนวกหูเต็มที บอกพอถึงเวลาบ่ายโมงเขาให้เทศน์ ก็ดีหน่อย เพราะว่าบ่ายโมงเขาก็หยุดหมดทุกอย่าง ให้แสดงธรรม คนฟังก็ไม่ค่อยมากเท่าใด มีแต่คนแก่ๆ เด็กมันไม่มาฟังหรอกเพราะเมื่อคืนมันดูหนังง่วงนอน เพลิดเพลินเวลากลางคืน กลางวันจะมาฟังได้อย่างไร เทศน์แต่คนแก่ ไม่มากเท่าใด เทศน์ไปตามเรื่อง เตือนไปสอนไป แล้วเดินทางต่อไปจังหวัดนครสวรรค์ ไปเทศน์เวลาหนึ่งทุ่ม สองทุ่มกว่าก็จบแล้วเดินทางกลับ มาถึงวัดก็เที่ยงคืนพอดี จำวัด เช้ามีคนจะมาแต่งงานแต่เช้า ต้องรีบตื่น แต่งงานให้เขาหน่อย แล้วไปออกโทรทัศน์ หน้าที่เหมือนกัน ทำไปตามหน้าที่ที่จะต้องกระทำตามเรื่องตามราว เพื่อสอนคนให้รู้จักเรื่องที่ควรทำไม่ควรทำ
เรื่องงานวัดนี่ เขาติดงานกันหลายๆ วัน ถามว่า “ทำกี่วันดี” “7 วัน” ทำไมยาวอย่างนั้น ไม่คิดเสียบ้างว่างานหลายวันมันจ่ายมาก ได้เงินแต่มันจ่ายมาก เพราะมันหลายวัน แล้วได้ไม่คุ้ม ได้วันละน้อยๆ ทยอยกันมาทำ แต่ถ้าเราทำสมมติว่า 3 วัน คนก็ต้องรีบมา ปกติคนจะมาเอาอีกสองวันจะฝัง เช่นฝังวันที่เจ็ด วันที่สี่ที่ห้าเขาก็มา หรือมาห้าหกเขามาก็จะฝั่งแล้ว วันฝังคนจะมาก แต่วันต้นๆ นี่เรียกว่าจ่ายไปตามเรื่อง ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าข้าวสาร แต่ว่าคนไทยเราทั้งวัดทั้งบ้านไม่มีบัญชี คือไม่เป็นนักบัญชี ไม่คิดถึงเรื่องรับ ไม่คิดถึงเรื่องจ่าย ไม่คิดละเอียดในเรื่องบัญชี เลยไม่รู้ว่าขาดทุนหรือได้กำไร แต่ถ้าคิดละเอียดแล้วมันขาดทุนทุกวัด ได้ไม่คุ้ม คิดนู่นคิดนี่แล้วเสียเยอะแยะ แต่ไม่มีใครค่อยคิด พูดให้ฟังก็ไม่มีใครค่อยจะเอา แล้วชาวบ้านก็ไม่ชอบ มันต้องให้หลายวัน เขาจะได้มีรายได้บ้าง อะไรบ้าง แต่ไม่คิดถึงรายจ่าย ว่างานหลายวันลูกห้าคนต้องไปเที่ยวทุกคืน คืนหนึ่งให้เงินคนละสิบบาท ก็คืนละห้าสิบบาทแล้วต่อลูกห้าคน แล้วห้าคืนเสียเงินไปเท่าไร เขาไม่ได้คิดนึกอย่างนั้น ไม่ได้คิดเรื่องละเอียด คิดแต่ว่าเรื่องจะสนุกเฮฮากัน
มีวัดหนึ่ง ที่ …… (06.58 เสียงไม่ชัดเจน) พิษณุโลก มาปรึกษาเรื่องงานฝังพัทธสีมา บอกว่า “คุณทำตามมติของผมได้ไหม” “ทำยังไงหลวงพ่อ” “ไม่ต้องมีอะไร นัดคนให้มาทำบุญฟังเทศน์กันเท่านั้นเอง เอาสักสามพันก็พอ ไม่มากมายอะไร แล้วคุณเป็นหนี้เป็นสินใครอยู่บ้างในการสร้างโบสถ์” “ไม่มี ไม่เดือดร้อนอะไร ไม่ต้องเป็นหนี้แล้ว” “ไม่ต้องเอามากก็ได้ เอาสักสามวันสามคืน มีเทศน์เช้า เทศน์บ่าย เทศน์กลางคืน เอากันให้คึกครื้นไปเลย นักเทศน์คุณไม่ต้องทุกข์ จะจัดทีมไปช่วยเทศน์กัน หลวงพ่อก็จะไปเหมือนกัน” หายไป ไม่กี่วันกลับมาแล้ว มากับอุบาสกคนหนึ่ง “แหม ขัดข้องเรื่องโครงการหลวงพ่อ ชาวบ้านไม่เอาด้วย บอกว่าถ้าไม่มีมหรสพจะไม่ช่วยอะไรเลย” ชาวบ้านแข็งข้อขึ้นมาแล้ว เรียกว่าเดินขบวนประท้วงพระเข้าไปแล้ว บอกว่า “แล้วทำยังไง” “บอกว่าถ้าทำแบบหลวงพ่อเขาไม่ช่วยอะไรเลย” อย่างนั้นก็ลำบากเหมือนกัน ไม่ช่วย เพราะว่าต้องเลี้ยงพระเลี้ยงเจ้าอะไร ไม่ช่วยกันทั้งหมด ส่วนมากก็เป็นเช่นนั้น ขัดขืนไปก็จะลำบาก “แล้วทำยังไง” “นี่ไปสัญญากับคณะดนตรี พุ่มพวง ดวงใจ ไว้แล้ว” ถามว่า “เสียไปคืนละเท่าไหร่” “แปดหมื่น คืนเดียวแปดหมื่น แล้วบอกเลิกแล้วเพราะทำตามแบบหลวงพ่อ” ชาวบ้านไม่ยอมเพราะว่าไปบอกเลิกดนตรีนี่เอง “แล้วทำยังไง” “นี่กำลังจะไปตาม อยู่แถวขนส่งสายใต้ จะไปขอเงินค่ามัดจำคืน” “มัดจำไว้เท่าไหร่” “หมื่นหนึ่ง” เขียดเข้าปากงูแล้วมันไม่คายออกหรอก มันจะบอกว่ามันไม่ผิด ไปคืนเอง ต้องริบเงินมัดจำ มันไม่ถือศาสนาขึ้นมาตอนนั้น ถือเงินขึ้นมา ก็ลำบาก ไปลองดู ชาวบ้านเขาไม่ยอม เพราะว่าเรา …… (09.12 เสียงไม่ชัดเจน) ให้ชาวบ้านชอบอย่างนั้นมาเสียนาน แล้วจะแก้นี่มันดึงกันไม่ค่อยไหว แก้ไม่ไหว ต้องทำตาม บอก “เอ้า! แล้วทำยังไง” “คุณทำอย่างนี้ก็แล้วกัน ให้กันไปทำอยู่ในทุ่ง พวกดนตรีก็อยู่ในทุ่งนาอย่ามายุ่งกับวัด ในวัดนี่ไม่มีดนตรี ไม่มีหนัง ไม่มีเรื่องอะไร มีแต่เรื่องพระ อันนั้นให้เขาทำกันในทุ่ง เขาจะเก็บค่าประตูอะไรก็ช่างหัวเขา และอย่าไปคิดว่าเขาจะให้สักเท่าไรนะ เพราะสัญญากับชาวบ้านว่าให้วัดเท่านั้นเปอร์เซ็นต์ เวลาให้จริงๆ ก็ลดเปอร์เซ็นต์รายได้ขึ้นมา” บางทีก็บอกว่า “แหมแย่เลย คนมาไม่พอ ค่าผ่านประตูไม่พอ ต้องชักทุนด้วยซ้ำไป” เปอร์เซ็นต์วัดก็เลยหายไปด้วย ที่เขาเรียกว่ากรรมการครึ่งหนึ่งวัดครึ่งหนึ่ง กรรมการเอาไปเกินครึ่ง วัดก็ไม่ได้สักน้อยๆ ก็เป็นกันอยู่อย่างนั้น
อันนี้ไม่ใช่ความผิดของใคร แต่เป็นความผิดของพระที่ไม่คิดแก้มาตั้งแต่เริ่มต้น เลยเป็นกันอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ทำอะไรชอบยาวๆ ยาวทุกเรื่อง งานศพก็ชอบยาวๆ บอกให้ทำสามวันไม่ได้ ต้องเจ็ดวัน เป็นระบบไปแล้ว ตายแล้วต้องสวดเจ็ดวัน ทำกันอยู่อย่างนั้นเจ็ดวัน คนหรอมแหรม ก็ไม่ค่อยมากมายอะไร มากแค่คืนสองคืน ต่อไปก็หรอมแหรมๆ เสียเวลาเสียอะไรต่ออะไรมากมาย พูดเท่าไรๆ ก็ไม่เข้าใจกันสักที บางรายก็เจ็ดวัน พวกมาก พวกมากก็บอกให้รู้ว่าฉันทำสามวัน เขาก็แห่กันมาสามวัน คึกคักดี คืนหนึ่งสวดหลายเจ้าภาพก็ได้ เงินจะได้มากหน่อย ไม่ต้องถวายพระ ถวายวัดก็แล้วกัน แนะนำอย่างนั้น ก็ยังไม่ได้ ค่านิยมชอบความวุ่นวาย ไม่ใช่เรื่องอะไร เป็นกันมาเสียนานแล้ว แต่ยังแก้ไม่ได้ ไม่เป็นไร ค่อยว่ากันไป ว่าไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดลมหายใจ ว่ากันไปสอนกันไปตามหน้าที่ ได้มั่งไม่ได้มั่ง อะไรอย่างนี้ เป็นตัวอย่าง ทำให้เกิดการสิ้นเปลือง
แล้วเวลาเผาศพนี่ก็ลงทุนจัดดอกไม้บนเมรุ นี่คิดว่าจะต้องประกาศห้ามเสียที บริเวณวัดชลประทาน “ห้ามจัดดอกไม้วันเผาศพ” เพราะไปถามราคาแล้วมันแพง ห้าพันหกพัน แป๊บเดียว ไม่กี่ชั่วโมง ทิ้งแล้ว โกยไปทิ้งเป็นขยะไปแล้ว ไม่เหมือนวัดอื่น วัดอื่นเขาจัดงานนี้แล้วเขายกไปไว้จัดงานนั้นต่อไป ของเราไม่ได้เผาติดๆ กันทุกวัน อันนี้ใครจ่ายก็จ่าย ห้าพันหกพันดอกไม้ คิดค่าดอกไม้นี้มากกว่าค่าทำบุญในงานศพทั้งหลายทั้งปวง โยมคิดดูแล้วกัน ทำบุญไม่เท่าไหร่ ค่าสวดไม่เท่าไหร่ ค่าเทศน์ไม่เท่าไหร่ แต่เรื่องดอกไม้นี้แพงกว่า ไปเสียเรื่องที่ไม่ควรเสีย สิ้นเปลืองในเรื่องที่ไม่ควรสิ้นเปลือง ปีหนึ่งก็ไม่ใช่เล็กน้อย
คืนนั้นมีคนมาสายถือพวงหรีดกันมาคนละพวง บอกว่า “ทำไมมาสาย” “เพิ่งรู้เลยเอาพวงหรีดมา” เลยบอกว่า “แหม อยากจะถามสักหน่อย พวงหรีดนี่ราคาเท่าไร ไม่ใช่เรื่องอะไร ถามไว้เพื่อหาข้อมูล จะได้รู้ราคา” เขาบอกว่าพวงละสองร้อย คืนนั้นก็คงจะมีพวงละสองร้อยเรียกว่าเป็นมาตรฐาน สองคนถือมาสองพวงก็เรียกว่าสี่ร้อย แต่ว่าพวงดีกว่านั้นก็อาจแพงกว่านั้น แล้วในงานศพหนึ่งๆ พวงหรีดมีเท่าไหร่ มากมาย ถ้าเป็นคนรู้จักคนมาก ก็พวงหรีดล้นศาลา ต้องออกไปทำรั้วไว้ข้างนอก เหมือนศพนักการเมือง เอาศพมาตั้งวัดเบญจ ไปดู พวกหรีดไม่ได้ติดในศาลาแล้ว เอารั้วไว้ข้างนอก แขวนเป็นแถว เรียกว่าวางพวงหรีดศาลาไปด้วยในตัว เพราะมันมาก แล้วเงินเท่าไหร่ หามานี่คิดเสียดายเงินอยู่ แต่ว่ายังมีปัญหาว่าไม่รู้จะทำอย่างไรกับพวงหรีด เพราะต่างคนต่างซื้อ พอรู้ก็ซื้อมาๆ มันต้องประกาศว่าเป็นรสนิยม สมัยจอมพล ป. ประกาศรสนิยม วีรกรรมอะไรขึ้นมา ประกาศรสนิยมว่างานศพชาวพุทธไม่มีพวงหรีดไปวางในงานศพ ถ้าใครจะซื้อพวงหรีดก็เอาปัจจัยไปมอบให้แก่เจ้าภาพ เจ้าภาพรวบรวมไว้เอาไปให้มูลนิธิสายใจไทย ไปให้อะไรต่ออะไร ไม่ต้องให้วัดชลประทานก็ได้เดี๋ยวจะหาว่าเข้าข้างตัวไป เอาไปให้ใครต่อใครที่เป็นประโยชน์จะไม่ดีกว่าหรือ เราคิดอย่างนั้น มันได้คุณได้ค่าได้ประโยชน์ อันนี้ก็ต้องเทศน์โทรทัศน์สักวันหนึ่ง ยังไม่ได้เทศน์เรื่องนี้ เมื่อตะกี้เทศน์เรื่องนิยมไทย เพื่อให้เกิดความคิดในทางที่จะสร้างสรรค์อะไรกันต่อไป อันนี้เป็นการพูดเล็กน้อยก่อนจะเข้าเนื้อเรื่อง ก็เข้าเรื่องกันเสียที ต่อจากวันก่อน ค้างไว้ยังไม่จบ
วันก่อนนี้ได้พูดไปถึงเรื่องแง่ที่ว่าการเข้าถึงธรรมะ ว่ามาหลายวันแล้ว หลายอาทิตย์แล้ว ต่อกันอีกที การเข้าถึงธรรมะ เข้าถึงธรรมะด้วยการศึกษา เข้าถึงธรรมะด้วยการปฏิบัติ เข้าถึงธรรมะด้วยการปฏิบัติก็คือการทำตามสิ่งที่เราได้ศึกษาเข้าใจแล้ว เช่นเข้าถึงด้วยการรักษาศีล ๕ เข้าถึงด้วยการรักษาอุโบสถ เข้าถึงด้วยการเจริญภาวนา ก็ได้พูดให้ฟังแล้วว่าภาวนามีสองอย่าง คือสมถะภาวนา การเจริญภาวนาเพื่อทำใจให้สงบ ให้ตั้งมั่น ให้อ่อนโยนเหมาะที่จะใช้งาน มีวิธีการทำหลายอย่างหลายประการ เราเลือกที่จะเอามาใช้ เครื่องมือมีมาก มีถึง ๔๐ อย่าง สุดแล้วแต่จะเลือกใช้ เหมาะกับนิสัยใจคอ เหมาะกับอารมณ์ของตน เลือกใช้ได้ทั้งนั้น การใช้กรรมฐานหลายอย่างนี้ ก็ลองใช้ดู อันใดมันเหมาะ ใจมันสงบ แล้วก็เป็นอันว่าใช้ได้
วัดหนึ่งอาจจะสอนอย่างหนึ่ง อาจารย์หนึ่งอาจจะสอนอย่างหนึ่ง ให้ถือว่าไม่ได้แตกต่างอะไร เพราะว่าจุดมุ่งหมายก็เพื่อให้จิตสงบ ให้จิตตั้งมั่น ให้จิตอ่อนโยนที่จะใช้งาน แต่ว่าผู้ปฏิบัติกลับไปยึดถือสำนักนั้นสำนักนี้ อาจารย์นั้นอาจารย์นี้ จนเป็นเหตุให้ท่านกิเลสขึ้นในตัว คือความยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นในจิตใจ เพิ่มกิเลสขึ้นมาอีกตัว เพราะไม่เข้าใจเนื้อแท้ เนื้อแท้นั้นจะปฏิบัติตามวัดไหนก็ได้ เช่น สายวัดปากน้ำก็มี สายวัดมหาธาตุ สายฤาษีลิงดำ หรืออะไรๆ ต่างๆ มันหลายสาย ให้รู้ว่าจุดมันอันเดียวกัน คือต้องการให้จิตสงบ ให้ตั้งมั่น ให้อ่อนโยนเหมาะที่จะใช้งาน แล้วจะใช้อะไร เช่นว่า กำหนดลมหายใจว่าเอาพระพุทธรูปมาวางแล้วนั่งเพ่งพระพุทธรูป ก็เพื่อให้จิตสงบ ให้จิตตั้งมั่น ให้จิตอ่อนโยนเหมาะที่จะใช้งาน หรือว่าจะเอาน้ำใส่ขันมานั่งเพ่งน้ำ หรือว่าเพ่งดวงไฟ เพ่งอะไรๆ ต่างๆ มันก็อยู่ในสภาพเดียวกัน อย่ายุ่ง อย่าคิดให้มันยุ่งว่าของคนนั้นดีของคนนี้ดี มันดีเท่ากันถ้าเราทำจริงๆ แล้วมันก็ได้ผลเท่ากัน อันนี้จุดหมายต้องการจะทำให้รู้ว่าอยู่ที่ให้ใจสงบ ให้ใจตั้งมั่นในอารมณ์เดียว แล้วก็อ่อนโยนเหมาะที่จะใช้งาน เราทำแบบไหนก็ได้ ของใครก็ได้ ให้ถือว่าเป็นข้อปฏิบัติสากลที่ใครจะเอาไปใช้ได้ แล้วทำจริงๆ ทำให้เกิดประโยชน์สมจุดหมาย อย่าคิดว่าทำแล้วจะได้นั่นจะได้นี่ หรือว่าตาจะเห็นเรื่องนั้นจะเห็นเรื่องนี้ อะไรขึ้นมา เช่นทำเพื่อจะเห็นเบอร์ลอตเตอรีบ้าง เพื่อเห็นหวยบ้าง หรือเห็นว่าคนที่ตายแล้วไปเกิดที่ไหนบ้าง อย่างนี้มันก็ไม่ใช่เรื่อง ไม่ใช่จุดหมายที่ตั้งไว้ ในคัมภีร์ไม่มีสอนอย่างนั้น ไม่มีบอกอย่างนั้นเลย บอกไว้เพียงสามเรื่องเท่านั้น ทำเพื่อให้ใจสงบ ให้ใจตั้งมั่น ให้ใจอ่อนโยนเหมาะที่จะใช้งาน จุดมันมีเท่านี้
อันนี้มันแตกแขนงออกไป สำนักนู้นบอกว่าทำแล้วมองเห็นนรก มองเห็นสวรรค์ เห็นเป็นต่างๆ นานา …… (18.55 เสียงไม่ชัดเจน) นรกก็เหมือนภาพฝาผนัง สวรรค์ก็วิมานเป็นชั้นๆ เหมือนกับคอนโดมิเนียมที่เขาสร้างขึ้นในสมัยนี้ เดี๋ยวนี้สวรรค์แถวเอกมัยก็หลายหลังแล้วเวลานี้ คอนโดมิเนียมนั่นแหละวิมานเทวดา แต่ว่าอยู่ชั้นบนนี่ลำบาก ...... (19.11 เสียงไม่ชัดเจน) ขึ้นลิฟต์ไม่ได้ เดินลงเดินขึ้นก็หัวเข่าเป็นโรคบวมไปตามๆ กัน ไม่สะดวก คอนโดมิเนียมลำบาก ไม่เหมือนวิมานเทวดา วิมานเทวดาเป็นมโน นึกเอาว่าเป็นอย่างนั้น ก็เท่านั้น ไปเห็นอย่างนั้น มันควรจะเห็นข้างใน เห็นเรื่องในตัวเรามากกว่า เพราะว่าเห็นเรื่องตัวเรามันทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงเรื่องของตัวเองมากขึ้น เป็นจุดหมายสำคัญของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ให้ไปเห็นดังที่กล่าว แต่ว่าอาจารย์เขายืนยันให้เห็นอย่างนั้น ลูกศิษย์ก็ต้องเห็นตาม ถ้าไม่เห็นก็บอกว่า แกนี่บาปหนา ทำมาสามเดือนแล้วยังไม่เห็นสักที กลัวจะเป็นคนบาปหนาเลยต้องเห็นสักหน่อย เหมือนกับคนไปยกหิน คนไหนยกบอกว่าหนัก บาปหนา คนไหนยกหนักแล้วบาปหนาทุกคน ดังนั้นทุกคนจะไม่พูดว่าหนักต่อไป พอยก “เบาอยู่” “เออ บุญมาก แกบุญมาก” คือไปสร้างขึ้น นี่ไม่ใช่เรื่องอะไร อาจารย์มีอุบายที่จะสร้างให้ลูกศิษย์ตื่นเต้นกับสิ่งเหล่านั้น แล้วก็ทำให้เห็นว่าบาปหนา จิตฟุ้งซ่าน มีนิวรณ์ครอบงำอะไรว่าไปตามเรื่อง คนก็ไม่อยากจะเป็นอย่างนั้น พอนั่งแป๊บเดียว “เห็นแล้วค่ะๆ” อาจารย์ว่า “เออ แกนั่นมันบุญหนักศักดิใหญ่ นั่งประเดี๋ยวเดียวก็เห็นแล้ว เห็นต่อไป” นั่นก็ยึดถืออารมณ์นั้นต่อไป นั่งที่ไหนก็เห็นแต่นรก เห็นบ่อยๆ ก็กลัวอยู่ในนรก คนเห็นนรกบ่อยๆ เหมือนตกอยู่ในนรกแล้ว ก็เห็นแต่นรกจะเจริญก้าวหน้าอะไร เป็นอย่างนี้ สิ่งเหล่านี้มันค้านกัน ไม่ใช่จุดเนื้อแท้ของการปฏิบัติ ให้โยมเข้าใจไว้อย่างนี้ แล้วจะไม่ยุ่งต่อไป ไม่ต้องเถียงกับใคร ไม่ต้องไปทำอะไรให้วุ่นวาย รู้จุดหมายของการกระทำ เราก็ทำตามจุดหมาย ในเรื่องกรรมฐะกรรมฐาน (21.02 เสียงไม่ชัดเจน) มุ่งอย่างนั้น
ทีนี้การเจริญวิปัสสนาดังที่ได้พูดเพิ่มเติมไว้ว่า วิปัสสนานั้นเป็นเรื่องปัญญา เป็นเรื่องรู้แจ้งเห็นชัดในสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง ที่นี้เห็นชัดในสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริงนั้นไม่ได้หมายความว่าเห็นทุกอย่าง รู้ไปทุกอย่าง ไม่ใช่อย่างนั้น แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่ใช่จะรู้ไปหมดทุกอย่าง เป็นสัพพัญญู ผู้รู้สิ่งทั้งปวง ไม่ใช่รู้หมดทุกอย่าง จะเกณฑ์พระพุทธเจ้าให้มารู้จักเรื่องสมัยปัจจุบันนี่ไม่ได้ เพราะสมัยนั้นมันไม่มี รู้แต่สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ในสมัยนั้น และสิ่งสำคัญที่พระองค์รู้นั้นก็คือรู้ว่าความทุกข์คืออะไร เหตุให้เกิดทุกข์คืออะไร ความดับทุกข์เป็นอย่างไร การปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์เป็นอย่างไร เรื่องนี้สำคัญ เรื่องอื่นนั้นไม่สำคัญอะไร ถึงรู้พระองค์ก็ไม่บอก เพราะไม่ใช่เรื่องสำคัญ ไม่ใช่เรื่องจำเป็นแก่ชีวิตของมนุษย์ อันนี้จะได้เห็นในเรื่องเกี่ยวกับใบไม้
ครั้งหนึ่งพระองค์ประทับอยู่ที่ป่าไม้ประดู่ลาย แล้วทรงเก็บใบไม้ขึ้นมากำมือหนึ่ง แล้วถามภิกษุทั้งหลายว่า “ใบไม้ในกำมือของตถาคตกับใบไม้ที่อยู่บนต้นอันไหนมากกว่ากัน” แล้วกราบทูลว่า “ใบไม้ที่อยู่บนต้นมากกว่า อยู่ในกำมือของพระองค์น้อย” พระองค์บอกว่า “สิ่งที่เรารู้เหมือนกับใบไม้บนต้น แต่สิ่งที่เราสอนเหมือนใบไม้ในกำมือ ทำไมจึงอย่างนั้น ก็เพราะว่าแม้เราจะรู้เราก็ไม่นำมาสอนมาบอก เพราะไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ ไม่เป็นอาทิพรหมจรรย์” คำบาลีใช้ว่าอาทิพรหมจรรย์ อาทิพรหมจรรย์หมายความว่าไม่เป็นเบื้องต้นแห่งการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ เรื่องอย่างนั้นพระองค์จะไม่พูดไม่สอน “แม้ใครจะมาเคี่ยวเข็ญ …… (23.23 เสียงไม่ชัดเจน) ให้พูดให้สอน เราก็ยืนยันว่ามันไม่ใช่ทางดับทุกข์ ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ พูดไปก็เสียเวลา ไม่จำเป็นที่เธอจะต้องสนใจในเรื่องอย่างนั้น เรื่องที่ควรสนใจคือปัญหาเฉพาะหน้าปัญหาเฉพาะหน้าคือเรื่องความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับทุกข์” เพราะฉะนั้นพระองค์จึงตรัสยืนยันเรื่องนี้กับพระบ่อยๆ ว่า “ตถาคตสอนเรื่องเดียวเท่านั้นที่สำคัญ คือเรื่องความทุกข์และการดับทุกข์ได้” เรื่องมันสำคัญตรงเรื่องนี้ นอกนั้นพระองค์รู้ก็ไม่เอามาสอน ไม่เอามาพูดให้ใครๆ ทั้งหลายฟัง เราที่เป็นพุทธบริษัทก็ควรจะเข้าใจในเรื่องนี้ว่า เรื่องสำคัญที่สุดสำหรับชีวิตของเราคือเรื่องเฉพาะหน้า เรื่องเฉพาะหน้าก็คือเรื่องการแก้ไขปัญหาชีวิต ปัญหาชีวิตก็คือความทุกข์ความเดือดร้อนใจที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เราจะต้องศึกษาเรื่องนี้ ต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องนี้ต่อไปในชีวิตของเรา อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าจำกัดลงในรูปอย่างนี้ วงมันแคบเข้า ไม่กว้างขวางเกินไป ถ้าเราจะไปเรียนรู้เรื่องสากลจักรวาลเรื่องอะไรต่ออะไร มันมากมายก่ายกอง ซึ่งเป็นเรื่องยืดยาว พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเรื่องอย่างนั้นให้วุ่นวาย เวลาของพระองค์ก็จำกัดเหมือนกัน แล้วพูดเรื่องเท่าที่จำเป็นให้ฟัง
ยกตัวอย่างเช่นว่า ในเวลาใกล้จะปรินิพพาน (25.22 นิพพาน) มีปริพาชกคนหนึ่งชื่อสุภัททะได้ทราบข่าวว่าพระองค์จะปรินิพพานแล้ว ก็มีความรีบร้อนทีเดียว เพราะว่าเวลามันน้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคจะปรินิพพานแล้ว มีปัญหามากมายจะต้องไปไต่ถาม เดี๋ยวจะไม่ได้ถาม พอไปถึงนั่งลง ก็ถามเรื่องยืดยาว พระองค์บอกว่า “สุภัททะปัญหาที่เธอถามนั้นยาวเกินไป ไม่จำเป็นแก่การดับทุกข์ เวลามันน้อย ฟังดีกว่า ฉันจะพูดให้ฟัง” แล้วพระองค์ก็พูดอย่างจำกัดจำเขี่ยให้สุภัททปริพาชกได้ฟังจนเข้าใจความหมาย แล้วได้ขอบวชเป็นคนสุดท้ายในชีวิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า อันนี้เป็นตัวอย่างให้เราเห็นว่าพระองค์พูดสิ่งที่จำกัดที่สุด สั้นที่สุด เพื่อไปสู่ความดับทุกข์ พูดแบบที่เรียกว่าใบไม้กำมือเดียว ไม่ใช่พูดเรื่องใบไม้ทั้งป่า ใบไม้ทั้งป่ามันหลายชนิดหลายอย่าง พูดกันตลอดอายุก็ไม่จบไม่สิ้น แต่ใบไม้กำมือเดียวมันไม่กี่ใบ พอจะพูดให้เข้าใจกันได้ เอาไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ จุดหมายสำคัญอยู่ที่ตรงนี้
เราผู้ปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนาก็ง่ายขึ้น เพราะว่าปัญหาอยู่ในตัวเรา อยู่เฉพาะหน้าเรา เราก็มองดูว่าเรามีปัญหาอะไร เกิดขึ้นในขณะใด เราก็คิดถึงปัญหานั้น คิดตามหลักการของอริยสัจ คือว่าตัวปัญหา เหตุของปัญหา ปัญหาเป็นสิ่งแก้ได้ แก้ได้โดยวิธีใด ตามหลักการอริยสัจของพระพุทธเจ้า เท่ากับว่าเราเอาอริยสัจหรือหลักการอริยสัจมาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อแก้ไขปัญหาความดับทุกข์ แม้ปัญหาเรื่องอื่นก็เหมือนกัน เรื่องการบ้านการเมือง เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสังคม เรื่องอะไรๆ ต่างๆ ถ้าใช้หลักการอริยสัจของพระพุทธเจ้า การแก้ไขปัญหามันก็ง่ายขึ้น เพราะเราไปแก้ที่ตัวเหตุ อะไรเป็นเหตุเราไปแก้ที่ตรงนั้น ถ้าไม่แก้ตัวเหตุ ผลก็ต้องเกิดเรื่อยไป ไม่จบไม่สิ้น เหมือนเราดายหญ้าในสวน ถ้าไปตัดๆ ข้างบนซะ มันยังมีอยู่ มันก็ขึ้นอีก งอกงามต่อไป ตัดกันไปซะ ซื้อเครื่องตัดหญ้ามาหมดไปไม่รู้กี่เครื่องแล้ว มันไม่จบสักที ไม่สิ้น เพราะว่าเราไปตัดข้างบน เอาแต่ผล แต่ไม่ตัดที่เหตุ เหตุอยู่ที่เหง้าของมัน รากของมันที่หยั่งลงไปในดิน เราต้องคลำลงไปจนพบรากมัน ขุดมันเสียเลย ให้หมดสิ้นไป มันก็ไม่ขึ้นต่อไป ถ้าเราตัดที่เหตุ
ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นในชีวิตส่วนตัว ครอบครัว การงาน ตลอดจนถึงประเทศชาติ ถ้าแก้โดยหลักการของพระพุทธเจ้าปัญหาก็จะจบสิ้นในเวลารวดเร็ว แต่ถ้าเราไม่แก้ตามหลักการของพระพุทธเจ้า คือคอยแก้ผลแต่ไม่แก้เหตุ ก็ไม่รู้จักจบจักสิ้นเหมือนกัน เหมือนกับว่าเชื้อโรคมันเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะสิ่งสกปรก แล้วไม่ไปแก้สิ่งสกปรก แต่คอยให้ยา ให้คนที่เป็นโรค ก็เปลืองยา เปลืองเงิน เปลืองเวลารักษา เพราะฐานมันอยู่ที่สิ่งสกปรกในที่นั้น ถ้าเรารู้ว่าของเน่าเหม็นสกปรกเป็นตัวเหตุให้เกิดโรคขึ้น จัดการเก็บกวาดสิ่งนั้น เอาไปเผาไฟ เอาไปทำลาย แล้วไม่ให้คนทำสิ่งสกปรกต่อไป อย่างนี้เรียกว่าตัดที่ตัวเหตุ เมื่อตัดตัวเหตุได้ ผลก็หายไป ไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป ปัญหาอะไรอื่นก็เหมือนกัน คือเราแก้กันอยู่เวลานี้ แก้ด้วยวิธีการแก้ผลทั้งนั้น แต่ไม่ได้พุ่งลงไปให้ถึงเหตุของเรื่องนั้น ว่าตัวเหตุแท้จริงของเรื่องนั้นคืออะไร แล้วตัดที่ตัวเหตุ ผลก็หายไป เราไม่ได้คิดอย่างนั้น เราแก้กันที่ผล แก้โดยวิธียืมเงินเขามาใช้บ้าง ทำอะไรต่ออะไรกันไปตามเรื่อง มันจะจบจะสิ้นกันเมื่อใด ถ้าเราแก้อย่างนั้น นี่คือปัญหาที่ไม่ได้ใช้หลักการของพระพุทธเจ้า ไม่เรียนอริยสัจ แล้วไม่เอาอริยสัจมาใช้ในชีวิต ในการงาน ในบ้านในเมืองของเรา มีของดีเก็บไว้ในตู้เสียหมด ไม่เอามาใช้ ไม่เอามาคิดให้เป็นประโยชน์ แล้วของดีนั้นมันจะเป็นประโยชน์อะไรแก่เรา ก็เหมือนกับลิงได้แก้ว มันสู้ผลไม้ไม่ได้เพราะผลไม้ใส่เข้าปากเคี้ยวได้ แก้วใส่เข้าไป ฟันลิงก็จะหลุดเท่านั้นเอง ดับไม่ลง มันเป็นอย่างนี้ ญาติโยมลองคิดดู
อันนี้เมื่อเราคิดปัญหานี้ เราก็พอมองเห็นว่าอะไรคืออะไรในชีวิตของเรา เราต้องแก้ที่ตัวเหตุของเรื่องเท่านั้น ไม่ใช่แก้ที่อื่น เรื่องมันก็จะหมดไป ยกตัวอย่างเช่นว่าเฮโรอีนเป็นสิ่งเป็นพิษทำลายประชาชนในชาติในบ้านเมือง เป็นปัญหาไม่รู้จักจบ ปราบกันอยู่คอยจับเฮโรอีน แต่ว่าต้นเหตุของเฮโรอีนนั้นมันอยู่ที่อะไร มันอยู่มี่ชาวเขาปลูกฝิ่น อันนี้เราต้องไปแก้ที่ชาวเขาอย่าให้ปลูกฝิ่น เมื่อไม่ให้ปลูกฝิ่นก็ต้องให้มีอาชีพทำเป็นหลักฐาน ไม่ถางไร่เลื่อนลอย ไม่ทำลายป่าต่อไป พวกนั้นก็หยุดทำการปลูกฝิ่น แล้วก็ปลูกพืชที่ถาวรต่อไป ถ้าแก้ตรงจุดนี้ แหละก็ได้ ผู้ที่แก้จุดนี้คือในหลวง ท่านมองเห็นท่านใช้หลักอริยสัจ เพราะท่านปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดมา ท่านเห็นว่าปัญหาเรื่องนี้ต้องไปแก้ที่พวกชาวเขา ต้องไปจัดที่ให้ชาวเขาอยู่ ให้ปลูกพืชถาวร ปลูกแล้วก็ต้องเอาไปขายให้เขาด้วย ถ้าขายไม่ออกก็ไม่มีการช่วยอะไร ก็ลงทุนทำในรูปอย่างนั้น ชาวเขาก็หันมาปลูกพืชอื่นทดแทนฝิ่น แต่ยังไม่หมดหรอก เพราะชาวเขายังอยู่มาก ก็ปลูกเรื่อยไป แล้วมันยังเกิดพืชเกิดพันธุ์ต่อไป ถ้าไม่ให้ชาวเขาเกิดมากๆ ก็ไม่ยากอะไร จับผู้ชายชาวเขามาตอนเสียให้หมดเท่านั้นเองก็ไม่เกิดต่อไป พวกนี้ตาย ชาวเขาก็หมดพันธุ์ จะเกิดอะไรอีก ทำอย่างนั้นก็ได้ ตอนซะ ให้มีลูกสักคนหนึ่ง เอามาจัดการ อย่าไปบอกว่ามาทำอะไร บอกว่ามาฉีดยาบำรุงกำลังกันหน่อย จะได้แข็งแรง จะได้ถางป่าง่ายๆ โกหกอย่างนี้เขาเรียกว่าขึ้นสวรรค์ พูดจริงลงนรกก็มี โกหกขึ้นสวรรค์ จัดการทำหมดห้านาทีก็เสร็จแล้ว คนหนึ่งใช้เวลาไม่เท่าใด มันก็เกิดน้อย เกิดแล้วเอามาเรียนในเมืองเสีย ตั้งนิคม เอามาเรียนมาศึกษาในบ้านในเมือง มันโตขึ้นในทุ่งนามันไม่อยากไปอยู่บนภูเขา เพราะไม่สบายอยู่ในทุ่งดีกว่า หาที่ให้ทำมาหากิน ปลูกข้าวปลูกแตงแฟงเต้าอยู่ในทุ่งนา ก็ไม่ขึ้นไป ถ้าทำกันมาตั้งแต่ต้นนานปีแล้ว มันก็ดี
มีคนๆ หนึ่ง แกตายไปแล้วเป็นชาวเชียงใหม่ แกเป็นนักเกษตร แกเห็นภัยที่เกิดจากชาวเขา แล้วแกมาพูดกับอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ในสมัยก่อนนู้นบอกว่าต้องพัฒนาชาวเขา ต้องให้ชาวเขามีอาชีพเป็นหลักแหล่ง อย่าให้ถางป่าเลื่อนลอย ต่อไปฝนจะแล้งน้ำจะท่วมบ้านท่วมเมือง เพราะการทำลายป่า แต่แกพูดแนะแล้ว เขาก็ฟังแล้วหึดหัดๆ ไปตามเรื่อง ไม่มีใครเอาใจจริงจังในเรื่องอย่างนี้ มาถึงยุคในหลวงท่านทรงเอาจริงขึ้นมา อุตสาห์ไปเยี่ยมเยียนพวกชาวเขา ตอนนี้ก็อยู่เชียงใหม่ในหลวง บุกป่าฝ่าดงอยู่ตามดอยต่างๆ กับพวกแม้ว พวกอีก้อ พวกมูเซอ ท่านเหน็ดเหนื่อยเหลือเกินที่ไปทำๆ อยู่นี่ เพื่อประโยชน์แก่ชาวนาชาวไร่ในทุ่งราบทั้งหลาย ทุ่งราบนี้ถ้าภูเขาเตียนทุ่งราบมันก็ตาย ไม่ต้องทำมาหากินอะไรกันต่อไป น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะขอดแห้ง ไม่มีน้ำไหล ประปาก็จะไม่มีกินต่อไป เรือสินค้าก็จะเข้ามาไม่ได้ เข้ามาก็ไม่รู้จะบรรทุกอะไรไป เพราะไม่มีสินค้าที่จะผลิตขึ้นจากพื้นดินซึ่งแห้งแล้ง ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร หลับตาดูก็จะรู้ว่าคงจะเป็นทะเลทราย ก็เหมือนอะมิสทิเมีย (34.37 ไม่ยืนยันตัวสะกด) ซึ่งตายกันไปกันเท่าไหร่ไม่รู้ ที่เขาออกโทรทัศน์มา เด็กผอมพุงโรก้นปอด เห็นซี่โครง เดินร้องไห้เศร้าโศก ไม่มีอาหารจะกิน ผู้ใหญ่ก็จะอดตาย เด็กก็จะอดตาย ควายก็ตาย ตายอยู่ในทุ่ง ตายเพราะไม่มีน้ำ ไม่ใช่เรื่องอะไร นี่แหละคือภัยที่จะเกิดขึ้นในกาลต่อไปข้างหน้า ไม่ใช่ไฟบรรลัยกัลป์ไหม้ลวก แต่ว่าไฟคือความอยากนี่ทำให้คนเสียหาย เกิดเป็นปัญหา เหตุมันอยู่ที่ตรงไหน เราก็ตัดเหตุที่ตรงนั้น นี่คือตัวสำคัญของการแก้ปัญหาในชีวิตตามหลักการของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าปัญหาอะไร ให้เราคิดในแง่นี้ไว้เสมอว่า ปัญหาเกิดขึ้นเหตุอยู่ที่ใด ถ้าจะตัดก็ต้องตัดที่ตัวเหตุ เมื่อตัดเหตุได้ผลก็หายไป ให้คิดเอาหลักนี้เข้าไปใช้ในชีวิตในการงาน ในการบริหารประเทศชาติบ้านเมือง ทั่วไป ไม่ว่าเรื่องอะไรใช้หลักการนี้ แล้วประเสริฐที่สุด เป็นประโยชน์มากที่สุด เพราะเป็นหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบด้วยความลำบาก ใช้เวลาถึง 6 ปี จึงได้เข้าใจหลักการนี้แล้วเอามาใช้ในชีวิตของพระองค์ พระองค์ก็พ้นจากปัญหา คือความทุกข์ความเดือดร้อน วิธีการที่จะเข้าใจเรื่องนี้ก็คือการเจริญภาวนา แบบวิปัสสนาปัญญา วิปัสสนานั้นเป็นของลึกซึ้งละเอียดอ่อน ไม่ใช่เรื่องธรรมดา ที่เราพูดกันว่าสำนักวิปัสสนา วิปัสสนาที่นั่นที่นี่ มันไม่ถึงขั้นหรอก
เมื่อวานนี้นั่งรถไปเห็นวัดเกศคีรีสำนักวิปัสสนา เวลามี แวะเข้าไปเยี่ยมหน่อย แวะเดินเข้าไปดูบริเวณ (36.37 เสียงไม่ชัดเจน) หลวงพ่ออายุแก่แล้ว 78 แต่ว่าพรรษาอ่อนกว่าอาตมา เพราะว่าเพิ่งบวช เรียกว่ามีลูกมีเต้าแล้วมาบวชมาตั้งสำนักอยู่ที่นั่น เรียกว่าสำนักวิปัสสนาเขาเกศคีรี เข้าไปดูมันแห้งแล้งเต็มที มีแต่หินผาทั้งนั้น ต้นไม้ก็โกร๋นไม่ค่อยมีใบ มีแต่ก้าน เดินไปแล้วใจเหี่ยวใจแห้ง มีแม่ชีเดินอยู่บ้าง ถามก็ไม่พูดไม่จา เลยมาพบสมภารว่า “แม่ชีวัดนี้เป็นคนใบ้หรือไง” “อ้อ เขาสัญญาว่าจะไม่พูดกัน” “ทำไมต้องให้สัญญาอย่างนี้” “ไม่ได้ พูดมากมันยุ่งพวกผู้หญิง ถ้าพูดมากเดี๋ยวทะเลาะกัน เถียงกัน” เขาว่าอย่างนั้น โยมผู้หญิงอย่าไปโกรธไปเคืองเข้า อย่าหาว่าหลวงพ่อว่าผู้หญิงพูดมาก มันเป็นอย่างนั้นหละ เรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องอะไร ถ้าพูดมากแล้วยุ่ง ต้องบอกว่าตั้งอธิษฐานไม่พูดกันดีกว่า เลยไม่มีใครพูดกับใคร ต่างคนต่างอยู่ เงียบดี ขึ้นไปดูมีห้องสองข้าง เดินตรงกลาง สี่สิบแปดห้อง มองไปห้องไหนก็เงียบ ห้องโน้นก็เงียบ เงียบหมด ไม่ยิ้มด้วยนะ นั่งเฉย ไม่ยิ้ม ไม่มองตาใครทั้งนั้น เคร่งครัดดี แม่ชีบอกว่า “อยู่มากๆ คนให้พูดไม่ได้ ยุ่ง ต้องไม่ให้พูด” เรียบร้อยดี เข้าทีดีเหมือนกัน แต่นั่นไม่ใช่วิปัสสนาๆ เป็นการปฏิบัติไม่พูดเท่านั้นเอง ยังไม่ถึงขั้นอะไรอย่างนั้นหรอก อันนี้ดูๆ ไปก็แหม “นั่นอะไรครับ” “ศาลา” “ทำไมมันใหญ่โตอย่างนั้น” “ทำให้เสร็จแล้วจะเอาคนทั้งประเทศมาเจริญวิปัสสนา” แหม ตาเฒ่า (38.19 เสียงไม่ชัดเจน) นี่ฝันหวานมากเกินไปเสียแล้ว กว่าศาลาจะเสร็จอาตมาจะตายก่อน ไม่ทันได้สอนคน มันใหญ่เกินไป ทำไมทำใหญ่ๆ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าไม่ชอบให้ทำอะไรใหญ่โตถึงขนาดอย่างนี้ แล้วเงินแถวนี้ก็ไม่มี ชาวบ้านจนๆ ทั้งนั้น ดูบริเวณนั้น ริมทางไปนครสวรรค์แถวนั้นจน บ้านเล็กบ้านน้อย “เอาเงินที่ไหน” “พวกอื่นเขาเอามาให้ พวกกรุงเทพบ้าง นครสวรรค์บ้าง เขามาเห็นเขาก็ให้ไว้” “แล้วทำมากี่ปีแล้ว” “ก็ยืนเสาอยู่หลายปีแล้ว ปีนี้จะได้หลังคาหรือไม่ก็ไม่รู้” แล้วเข้าไปในกุฏิที่พักท่าน มีตู้หลายใบ ใบนี้บำรุงวัด บำรุงศาลา บำรุงอาหาร บำรุงค่าไฟ หลายเรื่อง แต่ว่าคนหนึ่งต้องใส่ทุกตู้ มีเงินบาทก็แบ่งเป็นยี่สิบบาท ใส่ลงไป สำนักอย่างนั้นก็ไม่ถึงขั้นวิปัสสนาอะไร
วิปัสสนาไม่ต้องสร้างสำนักใหญ่โตมโหฬารอะไร คือสอนให้คนรู้จักคิด รู้จักวิเคราะห์ปัญหาเท่านั้นเอง ปัญหาที่เราควรวิเคราะห์ก็คือปัญหาเรื่องตัวเราเอง พิจารณาแยกแยะตัวเราให้เกิดความเข้าใจถูกต้อง เราสวดมนตร์ ในบทสวดมนตร์นั้นมีบทว่า อัตถิ อิมัสมิง กาเย เกสา โลมา นะขา ทันตา อะไรนี่ เรียกว่าอาการ ๓๒ นั่นก็เรียกว่าเป็นบทเรียนวิปัสสนาเหมือนกัน คือให้แยกร่างกายออกเป็นส่วนๆ ได้ ๓๒ ส่วน ถอดออกให้หมด ทำไมจึงสอนให้ถอดอย่างนั้น เพื่อให้เห็นว่าคนไม่ดี สัตว์ไม่ดี ตัวเราไม่ดี มันมีแต่เรื่องประกอบกันเข้า ไหลไปตามอำนาจของการปรุงแต่ง อันนี้เราไปเห็นเป็นก้อน ภาษาธรรมะเรียกว่า คณะสัญญา คณะแปลว่าก้อน สัญญาว่าเป็นก้อน เข้าใจว่าเป็นก้อน เป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์เป็นบุคคล แล้วก็เป็นเราเป็นเขา เป็นนั่นเป็นนี่ ยิ่งเป็นกันใหญ่ เรียกว่าพอมีตัวแล้วก็เป็นกันเรื่อยไป แล้วยึดถือในตัวนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ยกตนข่มท่านบ้าง เกิดน้อยเนื้อต่ำใจบ้าง เกิดแข่งดีกันบ้าง มานะประเภทต่างๆ เกิดขึ้นในใจเพราะมีความสำคัญว่าเป็นตัว
วิธีการก็คือว่า ถอดออกไปเสียบ้าง ให้เห็นว่ามันไม่มีอะไร ใช้กายกับวัตถุอันหนึ่งเรามีไว้ แล้วก็นั่งดูว่าอันนี้เรียกว่าอะไร ออ นาฬิกา เรียกว่านาฬิกา นาฬิกานี้ประกอบด้วยอะไรบ้าง มีสาย มีเรือน มีเข็ม บอกเวลา ข้างในมีอะไร ตัวจับ (41.30 เสียงไม่ชัดเจน) เล็กๆ น้อยๆ มีมากมายก่ายกอง ถอดออกให้หมด โยนออกไป ถอดสายทิ้งไป เรือนทิ้งไป ตัวจับเอาออกไป นาฬิกาก็ไม่มีแล้ว หายไปแล้ว นาฬิกาไม่มี เพราะความมีนั้นกับความไม่มีมันก็อยู่ที่เดียวกันนั่นแหละ มีความมีอยู่ตรงใดความไม่มีก็อยู่ตรงนั้น เวทีนี้วางอยู่ตรงนี้ความไม่มีก็อยู่ตรงนี้ ยกความมีออกไปความไม่มีก็เกิดขึ้นมา ทีนี้คนเราไม่เอาความมีออก ยึดความมีนั้นไว้ ยึดความเป็นนั้นไว้ แล้วเพิ่มความมีความเป็นขึ้นในตัวมากมายก่ายกอง แล้วเข้าไปยึดถือ เรียกว่าถือตัวถือตน ถือเขาถือเรา ถืออำนาจ ถือยศถาบรรดาศักดิ ถือความมั่งมี ถือเรื่องนั้นเรื่องนี้ ยิ่งเรียนมากยิ่งถือมาก มากขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วยิ่งถือมากก็เกิดปัญหาระหว่างตนกับผู้อื่นมากขึ้น เป็นเหตุให้ทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่ลงร่องลงรอยกัน เพราะความถือมั่นสำคัญผิดนั่นเอง เช่นใครมาพูดกับเราสักคำหนึ่ง ใช้คำพูดที่ไม่เหมาะกับความเป็นของเรา เราโกรธคนนั้นแล้ว หาว่าคนไม่มีมารยาท ไม่มีสมบัติผู้ดี หรือว่าไม่มีตา มีตาก็ไม่มีแวว ไม่รู้จักว่าฉันคือใคร ทำอย่างนั้นกับฉัน มันเกิดอะไรขึ้นแล้ว เกิดความมานะในตัวฉัน สำคัญว่าฉันมีฉันเป็น อย่างนั้นอย่างนี้ นอกจากเป็นบุคคลธรรมดาแล้ว ยังเพิ่มความเป็นเข้าไปอีก เป็นคุณหญิง เป็นท่านผู้หญิง เป็นท่านขุนท่านหมื่น เป็นคุณพระ เป็นพระยา เป็นรัฐมนตรี เป็นอะไรต่างๆ ความเป็นนั้นเอามาใส่ลงในตัวที่มันมีแล้ว เหมือนกับมีภาชนะ เดินไปในตลาดก็หยิบนู้นใส่หยิบนี่ใส่ คล้ายกับเราไปร้านซุปเปอร์มาร์เก็ต ไปถึงเข็นรถเข้าคันหนึ่ง หยิบใส่ๆ ไม่รู้ว่าราคาเท่าไหร่ หยิบใส่ๆ พอเข็นมาตรงประตูคิดราคา เอ๊ะ สตางค์ไม่มี สตางค์ไม่พอ ถอนออก ถอนออกจนหมด หมดแล้วของก็ไม่มี แล้วพอรถนั้นถอดออกเสีย รถก็ไม่มี ตัวเราผู้เข็นก็ไม่มี ผู้ซื้อก็ไม่มี ผู้ขายก็ไม่มี เอ๊ะ ไม่มีทั้งนั้น เมื่อไม่มีแล้วจะไปยึดถืออะไร มันก็ไม่มี แต่ว่ามันยังมีสิ่งสมมติ เรียกว่าสมมติบัญญัติ เรียกว่าสมมติกันไว้จะได้พูดกันได้ สมมติว่าเป็นผู้ชาย สมมติว่าเป็นผู้หญิง สมมติว่าเป็นนั่นเป็นนี่เป็นโน่น หัวโขนที่เขาสวมให้ เหมือนกับตัวโขนที่ออกแสดง ออกไปถึงสวมหัวโขนทศกัณฑ์ก็ต้องทำท่าอย่างนั้น หนุมานต้องเการักแร้เกาสีข้าง เต้นเหยงๆ อะไรไปตามเรื่องตามแบบหนุมาน เขาตั้งมาตรฐานไว้ว่าหนุมานต้องเต้นอย่างนี้ ทศกัณฑ์ต้องเต้นอย่างนี้ ถ้าสวมมงกุฎเปิดหน้าพระลักษณ์พระรามเรียบร้อยหน่อย เป็นพระลักษณ์พระรามต้องเรียบร้อย ยักษ์กับลิงไม่ค่อยได้เรื่องอะไร ออกมาเต้นโหยงเหยงๆ ไปตามเรื่อง อันนี้สมมติ ตัวจริงไม่ใช่อย่างนั้น ข้างนอกมาถึงด่ากัน เข้าไปข้างในเอาแก้วชนกันดวดเหล้าต่อไป แล้วก็เมากัน นี่เป็นตัวอย่าง นี่เขาเรียกว่าสมมติ เรียกอย่างนั้น สมมติว่าเป็นพระ เป็นสามเณร เป็นพระครู เป็นเจ้าคุณ ถ้าเป็นเจ้าคุณใครมาเรียกพระครูล่ะ มองตาเขียว มึงมาถอดยศกูแล้ว อย่างนี้เป็นตัวอย่าง ความติดอยู่ในสิ่งเหล่านี้ภาษาธรรมะเรียกว่าอุปาทาน
อุปาทานคือการเข้าไปยึดถือ ยึดถือในเรื่องอะไรเป็นทุกข์ทั้งนั้น ไม่ว่าเรื่องอะไร พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่าตัวเหตุให้เกิดทุกข์นั่นคืออุปาทาน ตัวตัณหาอุปาทาน ตัณหาคือความอยาก อยากในอะไรก็ไปยึดถือสิ่งนั้น ยึดมั่นถือมั่น หมายความว่าเอามาคิดมานึกมาฝันอยู่ในเรื่องนั้น ถ้าไม่ได้ดังใจก็กลุ่มอกกลุ้มใจ ถ้าได้ดังใจก็ดีใจนิดหน่อย แล้วเกิดความทุกข์ต่อไปว่ากลัวคนจะมาแย่งเอาไป กลัวมันจะแตก กลัวมันจะหาย กลัวมันจะเป็นอย่างนั้นกลัวมันจะเป็นอย่างนี้ ทุกข์ตามมาอีกหลายเรื่องหลายประการ ก็เพราะว่าตัวอุปาทาน คือเข้าไปยึดถือในสิ่งที่เรียกว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์เป็นบุคคลทั้งหลายนี่เอง
พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้ถอดสิ่งทั้งหลายออกไป ให้มองด้วยการพิจารณาด้วยปัญญาว่าเนื้อแท้ไม่มี ถอดออกหมด เช่นร่างกายถอดหมดเป็นอาการ ๓๒ นั่นเรียกว่าเรื่องของร่างกายโดยเฉพาะ ไม่ได้เกี่ยวกับใจ ถ้าเกี่ยวกับใจท่านก็สอนให้แยกอีกเหมือนกัน แยกกายแต่เป็นรูป ใจนั้นเป็นนาม เรียกว่านามรูป เราสวดทุกเช้า นามะรูปัง อะนิจจัง นามะรูปัง ทุกขัง นามะรูปัง อะนัตตา แล้วก็นามรูปนั้นยังแบ่งออกไปอีก รูปก็อันเดียวไม่แบ่งแล้ว แต่นามแบ่งเป็นสี่ เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ แล้วเราก็สวด เวทะนา อะนิจจา สัญญา อะนิจจา สังขารา อะนิจจา วิญญาณัง อะนิจจัง สวดอยู่แต่ไม่ได้เอาไปคิด ไม่ได้เอาไปแยกว่า เออ อันนี้เกิดขึ้นอย่างไร วิญญาณเกิดขึ้นอย่างไร มันไม่มีเนื้อแท้ทั้งนั้น มันรวมกันแล้วเกิด …… (47.26 เสียงไม่ชัดเจน) ยกตัวอย่างว่าวิญญาณนั้นเกิดขึ้นอย่างไร คำว่าวิญญาณในที่นี้ให้เข้าใจว่าคือความรู้สึก ไม่ใช่วิญญาณที่สำนักทั้งหลายเขาเชิญมาหลอกชาวบ้านกันอยู่ ไม่ใช่อย่างนั้น อันนั้นวิญญาณหรอก เชิญมา เชิญสมเด็จมา แหมสมเด็จนี่คงไม่ได้พักผ่อน เพราะเดี๋ยวเชิญๆ อะไรก็เชิญสมเด็จทุกที ถ้าท่านเข้าทรงแล้วน่าจะบอกว่า “กูเหนื่อยเต็มทีแล้วโว้ย เชิญไม่ได้หยุด ให้กูพักมั่งซีวะ” แต่สมเด็จก็ไม่พูด เพราะว่าประโยชน์มันขัดกัน พูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะคนทรงมันพูด ไม่ใช่สมเด็จพูด มันพูดไม่ได้ พูดแล้วก็ขัดประโยชน์ นะสิ ไม่ได้เงินนะสิ ต้องมาบ่อยๆ เชิญมาเข้าทรง นี่ไม่ใช่ วิญญาณนั้นไม่ใช่ ไม่ใช่วิญญาณตามหลักการทางพระพุทธศาสนา
วิญญาณทางพระพุทธศาสนาคือความรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เรียกว่าวิญญาณ ๖ วิญญาณ ๖ ทางภาษาบาลีเรียกว่า จักขุวิญญาณคือความรู้ทางตา โสตะวิญญาณคือความรู้ทางหู ฆานะวิญญาญคือความรู้ทางจมูก ชิวหาวิญญาณคือความรู้ทางลิ้น กายะวิญญาณคือความรู้ทางกาย มโนวิญญาณคือความรู้ทางใจ
ทีนี้ความรู้ที่เรียกว่าวิญญาณ ไม่เที่ยง คือเปลี่ยน เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา แล้วก็เป็นทุกข์เพราะการเปลี่ยนแปลง เป็นอนัตตาคือไม่มีเนื้อแท้ มันรวมกันเข้า ตาเห็นรูปเกิดจักขุวิญญาณ ถ้ารูปไม่มากระทบตาวิญญาณตาก็ไม่มี เสียงไม่มากระทบหูวิญญาณหูก็ไม่มี กลิ่นไม่กระทบจมูกวิญญาณทางจมูกไม่มี รสไม่กระทบลิ้นวิญญาณทางลิ้นก็ไม่มี กายไม่ถูกต้องอะไรวิญญาณทางกายก็ไม่มี ใจไม่รับรู้อะไรวิญญาณทางใจก็ไม่มี …… (49.37 เสียงไม่ชัดเจน) ไม่ใช่ถาวรคงที่อยู่อย่างนั้น แต่เกิดขึ้นเพราะการปรุงแต่ง เราหลับตาวิญญาณทางตาไม่มี หูตึงนี่ไม่มีวิญญาณทางหูเพราะฟังไม่รู้เรื่อง คนที่ไม่มีลิ้นก็ไม่รู้ว่าวิญญาณทางลิ้นเป็นอย่างไร กายประสาทมันชาเสียแล้ว จับไม่รู้ เช่นคนเป็นเหน็บชาจับไม่รู้ วิญญาณทางประสาทส่วนนั้นก็ไม่มี มันไม่ใช่มีอยู่ตลอดเวลา ให้เข้าใจว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะการปรุงแต่ง เมื่อไม่มีการปรุงแต่งก็ไม่มี มันเกิดเป็นครั้งคราว ไม่ใช่ถาวร ไม่ใช่มีอยู่อย่างนั้นคงที่ถาวร ไม่ใช่ ที่เขาสอนว่ามีวิญญาณถาวร ผิดหลักพุทธศาสนา มันเป็นเรื่องศาสนาพราหมณ์ คือพวกพราหมณ์เขาถือว่ามีวิญญาณถาวร ออกจากร่างนี้ไปเข้าร่างนั้น ออกจากร่างคนไปเข้าร่างสุนัขก็มี
คนๆ หนึ่งยากจน ไม่มีอาหารจะกิน หิวเต็มที นั่งดูลูกหมากินอาหารได้สบาย ก็อิจฉาลูกหมาขึ้นมา แล้วเป็นลมตายตอนนั้น วิญญาณไปเข้าท้องหมา เกิดเป็นหมาขึ้นมาแล้ว แล้วก็ไปเกิดเป็นอะไรอื่นอีก อันนี้เขาเรียกว่าอธิบายตามวิญญาณแบบพราหมณ์ วิญญาณมีตัวมีตน ล่องลอยไปได้ ออกจากร่างนี้ล่องลอยไปที่นั่น ไปนู้นไปนี้ ล่องลอยเรื่อยไป อย่างนี้ไม่ใช่วิญญาณทางพระพุทธศาสนา แต่ว่าเราสอนปนกัน พูดปนกันไปหมด จนไม่รู้ว่าของใคร ไม่รู้ว่าอะไรเป็นเนื้อแท้ เลยเข้าใจไขว้เขวไป ด้วยประการต่างๆ ให้เข้าใจใหม่ว่าตัววิญญาณคือตัวปรุงแต่งจากของภายในกับภายนอก ของภายในเรียกว่าอายตนะ อายตนะแปลว่าเครื่อง …… (51.38 เสียงไม่ชัดเจน) อายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอกคือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์คือสิ่งที่เกิดกับใจ เมื่อสองสิ่งนี้มากระทบกัน ก็เกิด …… (51.53 เสียงไม่ชัดเจน) มันเป็นอย่างนี้ เหมือนกับเสียงเกิดเพราะเราตบมือ ถ้าเราเอามือตบ มันเกิดเสียง ถ้าอยู่อย่างนี้เสียงก็ไม่มี เสียงเกิดเมื่อเราตบมือ หรือว่าเสียงดังเพราะคนพูดเข้าไมโครโฟน แล้วอาศัยกำลังไฟฟ้าเป็นเครื่องปรุงแต่ง ก็ดังไปที่หัวลำโพง ดังออกไป ก้องออกไปตามกำลังที่มันจะดังไปได้ สิ่งทั้งหลาย …… (52.22 เสียงไม่ชัดเจน) หรือว่าดนตรี ดนตรีวางอยู่เฉยๆ ไม่มีเสียง เครื่องตีถ้าวางไว้ไม่มีเสียง แต่พอคนไปตีเข้า ก็เกิดเสียง เกิดเสียงขณะตี ทุบลงไปแล้วก็ตีเป็นจังหวะ (52.35 เสียงไม่ชัดเจน) โป๊งป๊างๆ ตีไปตามเรื่อง มันก็มีเสียงขึ้นมา เสียงนั้นไม่ได้เกิดก่อนหรือหลังการตี เกิดขณะตี พอตีก็เกิดเสียง แล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป ตีแล้วก็ดับไป อย่างนั้น เสียง ตัวแท้มีเมื่อไหร่ มันมีเพราะการผสมกันเข้าของสิ่งต่างๆ จึงเกิดสิ่งนั้นขึ้นมา
อาคารหลังนี้ไม่มีมาก่อน ตรงนี้ ไม่มี เป็นทุ่งนาว่างเปล่า แล้วมีความคิดก่อน คิดอยากจะทำขึ้นมา เพื่อประโยชน์แก่การเผยแผ่ธรรมะ บอกญาติบอกโยม ช่วยกันสร้าง เกิดอาคารขึ้นมา อาคารนี้คือส่วนผสมของ เหล็ก ทราย หิน น้ำ เอามาผสมกันเข้า เกิดเป็น …… (53.20 เสียงไม่ชัดเจน) เป็นอะไร เรียกชื่อ ชื่อทั้งหลายเหล่านี้เป็นความสมมติ เพื่อให้พูดกันรู้เรื่อง เข้าใจความหมาย ถ้าเราไม่ตั้งชื่อ เราก็พูดกันไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจความหมาย ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เรียกกันยาก คนนี่ถ้าไม่มีชื่อเรียกยากนะ คนนั้น คนโน้น คนนู้น หมดแล้ว สามนู้นเท่านั้นหมดแล้ว และคนต่อไปจะเรียกอะไร คนไหนอีก มันลำบาก ก็แล้วตั้งชื่อว่า นายแก้ว นายขวัญ นายจัน นายดี นางมี นางมา นางสา นางสี พูดแล้วมันง่ายนะ “มีเอ๊ย” ก็ขานเสียที (53.47 เสียงไม่ชัดเจน) มันยอมรับนั่นเอง ยอมรับว่า ผมชื่อมี ผมชื่อแก้ว ผมชื่อจัน เพราะเราสมมติ แต่อย่าไปติดสมมติ ถ้าติดมันก็ยุ่ง เพียงแต่รับว่าสมมติ เหมือนกับคำด่า คำด่าคือการเปล่งเสียงออกมาจากกิเลสในใจ กิเลสนั้นคือความโกรธ ความเกลียด ความพยาบาท พอเห็นหน้า เปรี้ยงเข้าใส่ ด่าเลย ถ้าคนมีปัญญา อ๋อไม่มีอะไร มันเป็นเพียงเสียงที่เปล่งออกมา หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง ดังบ้าง เบาบ้าง ออกมาแล้วมันก็หายไป ออกมาแล้วไม่ระคายผิวหนัง คลำดูก็ได้ มาทางด้านขวา ก็เรียบร้อย ไม่เจ็บไม่แสบอะไร แล้วจะไปด่าตอบทำไม ถ้าเราไปด่าตอบก็แสดงว่าเขาปรุงให้เราดูแล้วความชั่ว เราก็ปรุงตอบไปอีก ตอบกันไปตอบกันมา เลยเถียงกันทีนี้ ทะเลาะกัน ทะเลาะกันไป ขยับเข้าไปๆ แหมมันไม่สมใจ เปรี้ยงเข้าให้หมัดหนึ่ง ชกปากขึ้นจมูก ล้มลงไป ลุกขึ้นมาแล้วชกกันบ้าง ไม่พอ ถือมีดคนละเล่ม กะซวก (55.27 จริงๆ หลวงพ่อพูดว่าซวก แต่คำๆ นี้ตามพจนานุกกรมไม่มีความหมายมีแต่คำว่ากะซวก จึงขอเพิ่มเติม) เข้าไปในท้อง ไส้ไหล เรียบร้อย ป่อเต็กตึ๊งได้งานทำงานอีกสองราย เป็นเรื่องสมมติ เลยไปเถียงกัน ไปเกี่ยงไปงอนกัน ด้วยเรื่องที่ไม่เป็นสาระอย่างนี้ เพราะไม่ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา ทีนี้เราจะต้องพิจารณาไว้บ่อยๆ ให้เคยชิน ให้เห็นชัดในเรื่องนั้นตามสภาพที่เป็นจริง อะไรเกิดขึ้น เราเฉย เพราะมันไม่มีอะไร มันเป็นเพียงแต่สิ่งหนึ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ หายไป สามขณะเท่านั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ หายไป หายไปแล้วก็แล้วไป อย่าเอาขึ้นมาคิด มาปรุงแต่ง เหตุใดเกิดที่ใดดับที่นั่นไปแล้ว หมดไปแล้ว เอามาคิดทำไม เรื่องยุ่งอย่าเอามาคิด เรื่องไม่สบายใจอย่าเอามาคิด ถ้าเรามานั่งคิดเรื่องยุ่งแสดงว่าเราไม่มีปัญญา ไม่ใช้วิปัสสนาปัญญาของพระพุทธเจ้า แต่ใช้ความโง่ความเขลาเอามาทำให้ตัวร้อนใจไม่สบายใจ นั่งเป็นทุกข์ไปเสียเปล่าๆ ไม่ได้เรื่องอะไร เราจะไม่เอาเรื่องนั้นมาคิดให้วุ่นวาย นึกแต่เพียงว่ามันดับไปแล้ว หมดไปแล้ว อย่าเอามาฟื้นขึ้นมาเลย อย่าไปเที่ยวฟื้นฝอยหาตะเข็บเลย อย่าไปแกว่งเท้าหาเสี้ยนให้เขาเลย เรื่องก็จบเท่านั้นเอง จบเป็นเรื่องจบเป็นเรื่องไป แล้วเมื่อจบไปแล้วถ้าเราจะคิดก็คิดศึกษาหาเหตุผลของเรื่องนั้นๆ เพื่อเป็นเครื่องประกอบปัญญา ได้พิจารณาต่อไปในเรื่องอะไรต่างๆ ใจเราก็สบาย ไม่เกิดความทุกข์ไม่เกิดความเดือดร้อนใจ
หรือว่าเช่นการตายก็เหมือนกัน คนในครอบครัวตายไป ถ้าเราไม่เคยพิจารณาด้วยวิปัสสนาปัญญา ก็เสียอกเสียใจ เป็นทุกข์อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าเราคิดไว้ว่าอะไรในโลกนี้ยั่งยืนมั่ง อะไรไม่ตายมั่ง อะไรไม่สูญไม่เสียมั่ง คิดให้มันละเอียดไป คิดไว้บ่อยๆ นึกไว้เป็นเครื่องเตือนใจ เราก็จะพบความจริงว่า อ้อ ธรรมดา ธรรมชาติธรรมดา มันเป็นเช่นนั้นเอง เกิดความเข้าใจขึ้นมาว่าธรรมดามันเป็นเช่นนั้นเอง พอได้ความรู้สึกว่าธรรมดาเป็นเช่นนั้นเอง ก็ปลงตกลงไปทันที คือมันตกไปจากความยึดถือ เรียกว่าปลงตก ตกไปจากความยึดมั่นถือมั่น จากความคิดผิด จากความเข้าใจผิดๆ จิตปลอดโปร่งแจ่มใส ไม่มีปัญหาต่อไป ยิ้มอยู่ข้างในได้ ไม่ต้องมาเป็นทุกข์เศร้าใจในเรื่องอะไรต่างๆ ต่อไป นี่ใช้ปัญญาเป็นเครื่องแก้ อันนี้ต้องใช้ไว้ล่วงหน้า ในเรื่องอะไรต่างๆ เพื่อจะได้คิดแก้ปัญหาเมื่อเกิดขึ้นได้ทันท่วงที นี่วิธีการเจริญปัญญาตามแบบวิปัสสนาของพระพุทธเจ้า ซึ่งเราใช้ได้ทุกเวลานาที ทำอะไรอยู่ก็ใช้ได้ หุงข้าว ต้มแกง ทำน้ำพริก อะไรก็ใช้ได้ทั้งนั้น เอามาพิจารณาได้ ตำน้ำพริกโป๊กๆ เสียงเกิดขึ้นหายไปๆ อะไรมันก็อย่างนั้นทั้งนั้น มองในแง่ความจริง ก็เอาไปใช้ในเรื่องอื่นที่เป็นปัญหาได้ต่อไป นี่คือการคิดง่ายๆ เจริญแบบง่ายๆ ไม่ต้องไปนั่งในป่า ไปอยู่ในป่าคนเดียวก็ลำบาก เจริญในเมืองสบายดี คนช่วยเหลือเยอะ สะดวก ไม่ต้องลำบาก เรียกว่าไม่ต้องเดินทรมานร่างกาย
เมื่อวานเห็นพระเดินธุดงค์แดดเปรี้ยงๆ ก็นึกชมในใจว่าอุตสาห์เดินอยู่ได้ สมัยนี้เขาไม่เดินแล้ว เขาขึ้นรถดีกว่า ไปไหนมันเร็ว แล้วเดินไปทำไม เดินเพื่ออะไร เดินเพื่อไปสอนคน สมัยนี้จะเดินทำไมไปสอนคน ขึ้นเรือไปดีกว่า นั่งเรือบินไปดีกว่า ไปถึงเร็วๆ จะได้สอนไวๆ นี่เดินไปจนหน้าดำคร่ำเครียด แบกกลด มือถือสะพายบาตร ถือกาน้ำ ไปอย่างนี้เรื่อย แดดก็ส่อง ร้อนก็ร้อน ทรมานสังขารเหลือเกิน พอไปถึงจะสอนโยม หอบฮักๆ คิดอะไรไม่ออก เหนื่อยโยม อ่อนเพลีย เดินนิดๆ หน่อยๆ เพื่อทรมานร่างกายพอสมควรก็พอแล้ว ไม่ต้องเดินมาก เดินตั้งแต่กรุงเทพถึงเชียงใหม่ เดินเพื่ออะไร แล้วไปเดินบนถนนลาดยาง เดินทำไม เดินริมแม่น้ำสิ บ้านคนเยอะแยะริมแม่น้ำ น้ำท่าก็หาง่าย บ้านคนก็หาง่าย ถนนคนไม่ค่อยมี นานๆ จะเจอสักหย่อม แต่ถ้าเดินริมแม่น้ำ บ้านตลอดริมแม่น้ำ ทางเล็กๆ เดินสบาย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คนทั้งนั้น ทุ่งนาอย่าไปเดิน เดินออกจากบ้านเข้าทุ่งแล้วแหม ไม่มีน้ำจะกิน แห้งแล้ง ลำบาก เดินไป พัก ไม่ต้องพัก (60.29 เสียงไม่ชัดเจน) พักในวัดก็ได้ สบายๆ ป่าช้าเหมาะๆ นั่งพักสบายๆ แล้วออกไปเที่ยวสอนคน ญาติโยมบ้านนั้นบ้านนี้ สมควรเวลาก็เดินต่อไป ถ้าคิดจะเดินต้องเดินแบบนั้น ไปเดินบนถนนลาดยาง ร้อนก็ร้อน แล้วรถมาทีไรใจเหี่ยวทุกที แหมกูเดินอยู่ได้ โง่ทำไมไม่ขึ้นรถ เป็นทุกข์เปล่าๆ เดินให้มันสบายใจ แต่ไม่ค่อยคิด คือถือตามแบบ เขานิยมเดินก็เดินไป แล้วสะพายของหนักเสียด้วย ย่ามใหญ่ สะพายอะไรกันหนักหนา อะไรๆ ก็ใส่ลงไปในบาตรก็พอแล้ว จีวรผืนหนึ่ง ใส่บาตร ห่มไปสองผืน ในบาตรก็พอแล้ว (61.15 เสียงไม่ชัดเจน) นี่ย่ามใบเบื้อเริ่ม (61.20 เสียงไม่ชัดเจน) เตรียมจะเอาไปขาย ไม่ใช่ธุดงค์ลดกิเลส (61.20 เสียงไม่ชัดเจน) ธุดงค์เพิ่มกิเลส อย่างนี้ก็ไม่ใช่ทางนิพพาน เป็นทางหาเรื่อง
ก็ว่ากันพอสมควรแก่เวลา ยุติกันทีสำหรับวันนี้ อาทิตย์หน้าค่อยว่า ต่อไปนี้ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที
- ปาฐกถาธรรมวันอาทิตย์ ที่ ๓ มีนาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๒๘