แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะอันเป็น หลักคำสอนในทางพุทธศาสนาแล้วขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
อาทิตย์ก่อนหายหน้าไป ไปปักษ์ใต้ตามคำอาราธนาของกองอำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งตั้งอยู่ที่ยะลาได้ไปแสดงปาถกฐาอบรมข้าราชการประชาชน ในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และสงขลาให้เวลาเขาไป ๑๐ วัน ออกเดินทางวันที่ ๑๑ ไปแวะที่โรงปูนทุ่งสง เทศน์ที่นั่นก่อน แล้วไปหาดใหญ่ ไปยะลา และนาราธิวาส เขาจัดโปรแกรมให้แสดงธรรมแก่ข้าราชการ ประชาชน นักเรียนบ้าง ใน ๔-๕ จังหวัดนั้น กลับมาเมื่อวันศุกร์เวลา ๓ ทุ่ม ถึงวัดชลประทานรังสิต และก็มาพบญาติโยมทั้งหลายต่อไปการเดินทางไปแสดงธรรมนั้นก็พูดหลายแห่ง เขาจัดโปรแกรมเฉพาะตอนเช้าตอนบ่าย แต่ว่ากลางคืนอยู่ว่าง อาตมาก็จัดโปรแกรมแทรกเพื่อที่จะได้พบปะกับประชาชน เพราะเวลากลางวัน ประชาชนจะไม่ค่อยว่างเขาไปทำมาหากินกลางคืนนี่เขาว่างก็นัดไปเป็นแห่งๆ ถ้าไปเทศน์ที่ไหนเทศน์เช้าเทศน์บ่าย กลางคืนก็นัดประชาชน ตามวัดที่อยู่ใกล้ๆ ให้มาฟังกันต่อไปก็เทศน์วันละ ๓ ครั้งเป็นประจำก็ว่าได้ จบรายการก็กลับมา พบญาติโยมทั้งหลายต่อไป ขอขอบใจญาติโยมที่ ไม่ทิ้งศาลาฟังธรรมของพวกเราไป ได้ทราบว่า มาอยู่ตามปกติ หายไปบ้าง ก็ไม่มากนัก ก็คงจะมากันต่อไป เพราะว่าอาตมาไม่อยู่บางคนนั้นว่า “หลวงพ่อปัญญาไม่อยู่อย่าไปเลย” อย่างนั้นก็ไม่ได้ องค์ไหนเทศก็เป็นธรรมะเหมือนกันก็ต้องมาฟังกันไปตามเรื่องให้กำลังใจแก่พระผู้เทศน์ ฟังมากๆ พระก็มีกำลังใจขึ้นแล้วจะได้ขวนขวาย ในการที่จะได้แสดงธรรมให้มาก ให้ดียิ่งขึ้นไป ถ้าเราไม่ฟังพระที่มาเทศน์ ก็นึกว่าเทศน์ไม่มีคนฟังเลยใจอ่อนท้อแท้ ไม่มีกำลังใจ แต่ถ้าฟังมากๆ ก็จะมีกำลังใจจะได้ประพฤติตัวให้พูดจาธรรมะอะไรดีขึ้น เป็นประโยชน์ แก่พุทธศาสนาต่อไปตามสมควรแก่การกระทำ
ก่อนที่จะไปทางใต้ได้พูดค้างไว้ในเรื่องเข้าถึงธรรม เพราะว่าในปี ๒๕๒๘ ได้พูดไว้ว่า ให้เป็นปีแห่งการ เข้าถึงธรรมะ เข้าถึงธรรมะด้วยการศึกษา เข้าถึงธรรมะด้วยการปฏิบัติ เข้าถึงธรรมะด้วยการศึกษาและปฏิบัติแล้วจะ ทำให้จิตใจเราแนบสนิทอยู่กับพระธรรม เมื่อใจอยู่กับพระธรรมมันก็ไม่มี ปัญหาอะไรที่จะเกิดขึ้นรบกวนจิตใจ เพราะว่าธรรมะจะเป็นเกราะป้องกัน ไม่ให้เกิดภัยทั้งภายในและภายนอก แม้ว่าจะเผลอไปบ้างก็จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะเราได้เคยศึกษามาแล้วว่าอะไรเป็นอะไรพอเข้าใจเวลาใด ใจมันคิดในเรื่องชั่วเรื่องต่ำเราก็ยับยั้งชั่งใจไม่คิดไม่ทำในเรื่องอย่างนั้นสภาพจิตก็อยู่ในความสะอาดสว่างสงบความสุขก็จะเกิดแก่ผู้ปฏิบัติ ธรรมการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกคนในวิถีชีวิตคือตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งตายต้องใช้ธรรมะอยู่ตลอดเวลา
ตอนเป็นเด็กเราไม่รู้อะไรแต่ก็เป็นเด็กที่มีธรรมะเป็นธรรมชาติ เพราะเด็กนั้นไม่คิดชั่ว ไม่พูดเรื่องชั่ว ไม่กระทำอะไรที่เป็นเรื่องชั่วอยู่โดยธรรมชาติ เป็นผู้มีจิตใจเป็นอยู่ตามธรรมชาติ จะเรียกว่า สะอาดอยู่ก็ได้ สว่างสงบอยู่ก็ได้ แต่เมื่อเติบโตขึ้นอีกหน่อยพอรู้เดียงสาก็รับอารมณ์เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ย่อมปรุ่งแต่งความคิดความนึกให้เป็นไปในรูปต่างๆ ประกอบกับสิ่งแวดล้อมในครอบครัวและบริเวณที่อยู่อาศัยว่าเป็นไปในทางใดเด็กก็จะเป็นไปในทางนั้น เช่น อยู่กับครอบครัวที่ประพฤติดีประพฤติชอบมีศีลธรรมประจำจิตใจเด็กก็จะถ่ายภาพพ่อแม่ที่ประพฤติดีประพฤติชอบไว้ในใจของเขา แต่ถ้าอยู่กับพ่อแม่ที่ประพฤติไม่ดีไม่ชอบหรือไม่รู้ว่าควรจะอบรมสั่งสอนลูกอย่างไรลูกก็จะ โน้มเอียงไปในทางเหมือนกับพ่อแม่ที่เป็นอยู่ นี่เป็นเรื่องในครอบครัว สภาพสิ่งแวดล้อมก็สำคัญเหมือนกัน เด็กอยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมไม่ดีที่ เขาเรียกกันว่า “สลัม” หรือ “ย่านชุมชนแออัด” ก็จะพบเห็นแต่สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม เขาก็ถ่ายทอดไว้ในใจ เอาไปฝังเป็นนิสัย เป็นสันดาน ในทางอย่างนั้นกว่าจะขูดออกได้ต้องใช้เวลาอยู่พอสมควรเหมือนกัน อันนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าหากว่าเมื่อโตขึ้นพอรู้เดียงสาเราคอยให้คำแนะนำพร่ำเตือนพูดให้เข้าใจทำให้เขาดูเป็นตัวอย่างในสิ่งที่ถูกต้อง เขาก็จะรับไว้ซึ่งสิ่งถูกต้องนั้นชีวิตของเด็กก็จะก้าวหน้าไปในทางที่ถูกที่ชอบต่อไป
เมื่ออยู่ในวัยหนุ่มวัยฉกรรจ์ก็ยิ่งต้องใช้ธรรมะมากขึ้น เพราะวัยหนุ่มวัยฉกรรจ์นั้นเป็นวัยคะนองกำลังสนุกสนานบานใจและมีกำลังส่วนเหลือมาก อาจจะเอาส่วนเหลือนั้นไปใช้ในทางที่ผิด ที่ไม่เหมาะ ไม่ควรก็ได้ ถ้าไม่มีใครคอยกล่อมเกลาจิตใจของเขาไว้ เขาก็จะไปในทางที่ผิดที่เสีย จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องคอยกล่อมเกลาเขาให้เข้าหาธรรมะไว้ตลอดเวลา
เมื่อเป็นผู้ใหญ่มีภาระหน้าที่ในทางครอบครัวยิ่งต้องใช้ธรรมะมากขึ้น ถ้าเราไม่ได้ใช้ธรรมะเราก็ลงโทษตัวเอง คือเราเป็นทุกข์เอง เราเดือนร้อนเองได้รับผลจากการไม่ประพฤติธรรมะด้วยตัวเราเอง ก็เห็นๆ กันอยู่ทั่วไปว่าผู้ใดประพฤติไม่ชอบไม่ควร คิดไม่ถูกต้อง พูดไม่ถูกต้อง ทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ผลก็ตกอยู่แก่บุคคลผู้นั้น มีความทุกข์มีความเดือดร้อนทางใจด้วยประการต่างๆ อันนี้เราก็เห็นกันอยู่ทั่วๆไป ส่วนผู้ใดที่มีธรรมะเป็นหลักคุ้มครองจิตใจเขาก็มีความปลอดภัยมีความเจริญก้าวหน้าในการงานที่เขาประกอบ ตั้งตัวได้เป็นหลักเป็นฐานมีดีความเจริญประจำชีวิต
เมื่อวานนี้เขานิมนต์ไปที่โรงงานแห่งหนึ่ง เป็นโรงงานที่ผลิตพวกยาพวกอะไรต่างๆ ของห้างฯ ขายยาอังกฤษตรางู เมื่อไปถึงเห็นสภาพโรงงานที่เขาทำแล้วเป็นที่น่าชื่นใจ ก็คือว่า เขามีห้องไว้ห้องหนึ่งเป็นห้องสูงใหญ่กว่าห้องประชุมของเรานี่ ห้องนั้นเป็นห้องเปิดโล่งแล้วหาเสื่อจันทบรูยาวๆ มาไว้เป็นจำนวนมากสำหรับให้คนงานพักผ่อนตอนกลางวัน แล้วก็มีที่บูชาพระไว้ในห้องนั้นด้วย เขานิมนต์พระไปแสดงธรรมในห้องนั้นบ่อยๆ อย่างน้อยก็เดือนละครั้ง อาตมาไม่เคยไปเพิ่งไปเมื่อวานนี้ เมื่อไปแล้วก็เห็นว่าผู้อำนวยการโรงงานนั้นเป็นผู้ประพฤติธรรม คือสนในธรรมะมาตั้งแต่เป็นหนุ่มมีชีวิตครองเรือนมาด้วยดี ตอนนี้เขาอายุ ๖๐ แล้วก็ยังใช้ธรรมะเป็นดวงประทีปนำทางชีวิตของเขาอยู่ แล้วคนที่มาทำงานร่วมก็ถูกชักจูงให้เข้าหาธรรมะ คนของเขาประมาณ ๓๐๐ ถึง ๔๐๐ คน ที่ปฏิบัติงานในโรงงานขึ้นมานั่งเรียบร้อยเป็นอันดี นั่งกับเสื่อ พับเพียบ นั่งฟังกันด้วยความสงบ ได้พูดชี้แจงแนวทางชีวิตให้เขาฟังให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องปัญหาชีวิต ทุกคนนั่งฟังด้วยความสงบใจ อันนี้แสดงว่าได้ทำกันมาหลายครั้งหลายหนคนฟังจึงเรียบร้อย
ไปแสดงธรรมที่ใดก็บอกเหตุการณ์ให้รู้ เช่น ไปที่วัดไหนที่คนฟังไม่ค่อยจะเรียบร้อยก็แสดงว่าวัดนั้นไม่ค่อยจะแสดงธรรม ไม่มีการประชุมคนมานั่งในศาลาให้เป็นระเบียบ สมภารไม่เอาไหนว่างั้น มักจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าวัดไหนมีการเทศน์บ่อยๆ คนฟังก็จะเรียบร้อยตั้งใจฟังด้วยดีเพราะได้ทำกันบ่อยๆ มันบ่งให้เห็นเหมือนกัน ตามสถานที่ต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าที่ใดมีการประชุมบ่อยๆ พบปะสังสรรค์ในด้านธรรมะ พอพูดให้ฟังเขาก็อยากฟังเพราะเคยฟังเคยรู้รสชาติของพระธรรมเคยได้ประโยชน์ของธรรมะ พอพูดว่ามีการพูดธรรมะเขาก็สนใจมาฟังกันมาก แต่ในสถานที่ใดที่คนไม่เคยรู้รสชาติเขาก็จะไม่มา เหมือนกับว่าคนไม่เคยกินอาหารประเภทหนึ่งแล้วเราบอกว่าให้มากินอาหารนั้นเขาจะไม่รู้สึกอยากเพราะเขาไม่เคยกิน แต่ถ้าเคยกินมาบ้างแล้ว เพียงแต่เอ่ยชื่ออาหารเขาก็จะมาเพราะเขารู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไรให้ประโยชน์แก่ร่างกายของเขาอย่างไร เขาเกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องอย่างนั้น เขาก็ทำได้ดีมีคุณค่า อันนี้เป็นเรื่องของการทำบ่อยๆ ในเรื่องดังกล่าว แต่ถ้าไม่มีการกระทำกันเลย ก็บอกอยู่ในตัวว่าไม่เคย คนมาฟังก็ไม่เรียบร้อยอะไรก็ไม่เรียบร้อย อันนี้นำมาเล่าให้ฟังก็เพื่อจะชี้ในเห็นว่า “หัวหน้าของคนต้องนำคนเข้าหาธรรมะ” ถ้าเราได้นำคนเข้าหาธรรมะงานนั้นก็จะเจริญก้าวหน้าเป็นไปด้วยดี แต่ถ้าเราไม่นำคนเข้าหาธรรมะไว้งานก็เกิดขรุขระ เพราะจิตใจคนไม่เรียบร้อย ไม่เป็นไปในทางที่ถูกที่ชอบ อะไรๆ ก็เกิดความสับสนวุ่นวายกันด้วยประการต่างๆ อันนี้เป็นเรื่องที่น่าคิดประการหนึ่งเหมือนกัน
เรื่องที่พูดค้างไว้ในวันก่อนคือ เรื่องการปฏิบัติภาวนา คือพูดไว้เฉพาะเรื่องที่พูดว่าสมถะภาวนา ขอท้าวความเดิมนิดหน่อยว่า สมถะภาวนานั้นหมายถึง การปฏิบัติเพื่อให้จิตสงบ ตั้งมั่น อ่อนโยนเหมาะที่จะใช้งาน จุดหมายมันสำคัญอยู่ตรงนี้ เราจะไปนั่งภาวนาฝึกฝนอบรมจิตใจก็ให้รู้ว่าจุดหมายเราทำเพื่ออะไร เราทำเพื่อให้จิตของเราสงบ ไม่วุ่นวาย ตั้งมั่น ไม่ไปในที่อื่นนอกจากสิ่งที่เราได้ผูกใจไว้ แล้วก็อ่อนโยนหมายความว่าเหมาะที่จะใช้จิตคิดทำในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ ต่อไป คือเหมาะที่จะใช้งาน อันนี้คือจุดหมายของการเข้ามานั่งฝึกฝนอบอมจิตใจในด้านภาวนา การอบรมจิตในด้านภาวนานี้ความจริงก็เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับชีวิตของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ในบ้านในเรือนเป็นผู้ประกอบกิจในชีวิตประจำวันในเรื่องอะไรก็ตามถ้าจิตใจไม่มั่นคง ไม่สงบ ไม่ตั้งมั่น ไม่อ่อนโยนที่จะใช้งาน ผู้นั้นจะมีปัญหาในเรื่องการปฏิบัติงานในหน้าที่ เช่น มีความวิตกกังวลทางด้านจิตใจ มีความหวาดกลัวในเรื่องอะไรต่างๆ เรื่องยังไม่เกิดแต่ก็หวาดกลัวตกใจว่ามันจะเกิดขึ้น เรื่องที่ผ่านพ้นไปแล้วก็ไปดึงมาวิตกกังวลถึงเรื่องเก่าๆ ทำให้เกิดเป็นปัญหาในชีวิต
ปัญหาในชีวิตคนเรานั้นมันอยู่สองจุดนี้คือคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วด้วยอาลัย และคิดถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึงด้วยความไม่เข้าใจ อันนี้หมายความว่าอย่างไร คิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วด้วยอาลัยคือ เสียดายในเรื่องต่างๆ ที่ผ่านมา เรื่องอะไรที่ผ่านพ้นไปแล้วเลยไปแล้วเราก็ไปคิดถึงเสียดงเสียดายมีความกลุ้มใจด้วยเรื่องอย่างนั้น การคิดอย่างนั้นเรียกว่า การคิดด้วยความอาลัยติดใจพัวพันอยู่ในสิ่งนั้น คนที่คิดอย่างนี้มันเป็นทุกข์ในเรื่องนั้นๆ คิดแล้วน้ำตาไหล คิดแล้วอึดอัดขัดใจตัวเองในปัญหาต่างๆ ซึ่งความจริงเรื่องอย่างนั้นมันพ้นไปแล้ว เลยไปแล้ว แต่เราก็ไม่ให้มันเลยไปแต่ไปเอามาคิดมาตรองให้มันวุ่นวาย ไม่ได้คิดด้วย “ปัญญา” มันก็เกิดเป็นปัญหา แต่ถ้าคิดด้วยปัญญา คือ เอามาปลงเอามาพิจารณาในแง่ธรรมะเป็นเครื่องเตือนใจว่า “สิ่งทั้งหลายไม่คงทนไม่ถาวรมันมีความเปลี่ยนแปลงไปจนถึงที่สุดของมันและธรรมชาติมันก็เป็นอย่างนั้น”
ถ้าคิดอย่างนี้ไม่ใช่คิคด้วยความอาลัย ไม่ได้คิดด้วยความเสียดาย แต่คิดด้วยปัญญา ว่าธรรมชาติทั้งหลายมันเป็นอย่างนั้น มันสูญไปแล้วมันหายไปแล้วก็ช่างหัวมัน ถ้าคิดอย่างนั้นแล้วก็ไม่เสียใจ แต่ได้ปัญญา ถ้าคิดแล้วเกิดปัญญาไม่ใช่คิดด้วยอาลัยแล้วจะไม่เสียใจ ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะปัญญาช่วยให้รู้ ให้เข้าใจ ในเรื่องนั้นถูกต้องตามที่เป็นจริงเราก็ไม่ต้องนั่งเป็นทุกข์ แต่ถ้าเราคิดโดยไม่ใช้ปัญญา แต่ใช้ความอาลัยอาวรณ์ในเรื่องนั้นๆ ด้วยประการต่างๆ บางที่ของมันเก่าเต็มทีแล้วก็อุตส่าห์ไปฟื้นขึ้นมา นั่นแหละเข้าแบบที่เรียกว่า “ไปฟื้นฝอยหาตะเข็บ” หรือที่เขาเรียกว่า “แกว่งเท้าหาเสี่ยน” ไปเที่ยวหาจนเจอจนได้ แกว่งเท้าไปจนให้เสี่ยนตำจนได้ ฟื้นฝอยจนเจอตะเข็บ มันกัดนิ้วชี้เอาจนได้ นี่แหละคือเรื่องในใจที่เราเอามาคิดแล้วเป็นทุกข์วุ่นวายใจ เราไม่ควรจะคิดด้วยความอาลัยในรูปอย่างนั้น ถ้าจะคิดต้อง คิดว่าธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่เป็นแต่ครอบครัวเรา ครอบครัวอื่นก็เป็น ไม่ใช่หายแต่ของเรา ของคนอื่นมันก็เคยหาย ไม่ใช่เจ็บแต่เรา คนอื่นก็เจ็บ ไม่ใช่ตายแต่เรา คนอื่นก็ตายเหมือนกัน อย่างนี้เรียกว่า “คิดด้วยปัญญา” ถ้าคิดด้วยปัญญาก็สบายใจมันไม่มีความทุกข์ ให้สังเกตตัวเองว่า ถ้าเราคิดถึงเรื่องอะไรแล้วเรานั่งเป็นทุกข์นั่นคือคิดผิดแล้ว เรียกว่า คิดด้วยความอาลัยแล้วด้วยความเสียดายในเรื่องนั้นๆ เราก็นั่งเป็นทุกข์มีความเดือดเนื้อร้อนใจทำให้เกิดเป็นปัญหาขึ้นในใจด้วยประการต่างๆ ถ้าเราคิดไม่เป็น ขอให้เข้าใจไว้อย่างนี้
ทีนี้เรื่องที่ยังไม่มาถึง เที่ยวกลัวไป วิตกกังวลไป ว่ามันจะเป็นอย่างนั้น มันจะเป็นอย่างนี้ สร้างภาพขึ้นในใจ ซึ่งภาพนั้นมันยังไม่ปรากฎ แต่ว่าคิดแล้วก็กลัว ตกอก ตกใจ เหมือนคนที่ใกล้จะสอบไล่ แล้วก็คิดกลัวว่าน่าจะสอบไม่ได้ อันนี้เรียกว่า คิดไม่เข้าเรื่อง เพราะว่าไปกลัวทำไมว่าจะสอบไม่ได้ เราควรคิดว่าเราเรียนมาอย่างเต็มที่ เรียนด้วยความรักเรียน ด้วยความขยันเอาใจใส่ คิดค้นจนทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจมาเต็มที่แล้ว จะเข้าสนามสอบก็สอบได้เลย เราไม่ต้องกลัวว่าจะสอบตก เราต้องทำให้เต็มที่ หรือนักมวยจะขึ้นยกบนเวที ก่อนที่จะขึ้นชกก็มีความหวาดกลัวว่าจะแพ้นึกว่าไอ้นั่นมันเก่งกว่ากู ถ้ามันไม่เก่งมันไม่มาท้ากู อย่างนี้เรียกว่า คิดให้หมดกำลังใจ ไม่มีการต้านทานในใจไม่ฝึกใจ คิดให้เกิดความกลัวด้วยประการต่างๆ คนที่คิดในรูปแบบดังกล่าวเช่นนี้ เป็นบ่อเกิดให้เกิดความทุกข์ทางใจและจะเป็นโรคทางประสาท ที่เขาเป็นโรคประสาทกันนั้น ไม่ใช่เรื่องอะไรเรื่องคิดไม่เข้าเรื่อง ไม่วางระเบียบในการคิดให้ดี ไม่ควบคุมจิตใจในการคิด การนึก ในเรื่องอะไรต่างๆ เลยเกิดวิตกกังวลห่วงใยในปัญหาต่างๆ จนนอนไม่หลับ กินก็ไม่สบายกระเพาะ อาหารพิกลพิการไปเพราะความคิดที่ไม่เข้าเรื่อง เรื่องอนาคตเราอย่าคิดด้วยความกลัวแต่ให้คิดวางแผนไว้ การวางแผนให้ใช้ปัญญาว่า ถ้าเกิดสิ่งนั้นเราจะทำอย่างไร ถ้าเกิดสิ่งนี้ขึ้นเราจะทำอย่างไร สมมุติว่าบ้านที่เราอยู่นี้ถ้าเกิดไฟไหม้บ้านเราจะทำอย่างไร เราจะย้ายอะไรก่อน อะไรจำเป็น อะไรมีค่ามีราคาที่เราจะขนจะย้าย อย่างนี้เขาเรียกว่าวางแผนไว้ เหมือนหน่วยราชการ เคยไปเห็นในกองทหาร เขาเขียนเลขไว้ทุกอันแล้ววางไว้ อะไรจำเป็นก่อน จำเป็นหลัง ถ้าเกิดเรื่องยกอะไรก่อน ขนอะไรก่อน อันนี้เขาวางแผน ไม่ต้องไปนั่งกลัวว่าไฟจะไหม้ แต่วางแผนไว้พอเกิดทันทีก็ยกสิ่งนั้นสิ่งนี้ลงไปในที่ที่ไฟจะไม่ไหม้ วางแผนไว้อย่างนั้น
เราอยู่ในบ้านของเราก็เหมือนกัน เราต้องคิดวางแผนไว้ ถ้าหากว่าเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยเราจะทำอย่างไร ถ้าเกิดมีปัญหาอะไรขึ้นในครอบครัวเราควรจะคิดอย่างไร ควรจะทำอย่างไร วางแผนคิดนึกไว้ล่วงหน้าเพื่อที่จะแก้ปัญหาที่พอแก้ได้ แต่ถ้าเป็นปัญหาที่เรียกว่า “เหลือวิสัย” ที่ไม่สามารถจะแก้ได้ก็ต้องปลงไปว่า มันเกินวิสัย เพราะบางสิ่งอยู่ในอำนาจของเราก็มี อยู่เหนืออำนาจของเราก็มี บางอย่างพอแก้ได้แต่บางอย่างก็แก้ไม่ได้ ที่นี้อะไรที่แก้ไม่ได้เราก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นเรื่องแก้ไม่ได้ เช่น ถ้าเราป่วยเป็นโรคมะเร็งและถ้าเรารู้ตัว เราไม่ควรจะกลัวอะไรเพราะความตายมันเรื่องธรรมดา เมื่อมันจะเกิด ก็ต้องให้มันเกิดไปตามเรื่องของมัน อย่าไปตกอกตกใจว่ากูก็ตายแน่คราวนี้ มันตายแน่ๆ ไม่ตายคราวนี้ก็ต้องตายคราวหน้า ไม่วันนี้ก็วันหน้า ไม่เดือนนี้ก็เดือนหน้า ไม่ปีนี้ก็ต้องปีหน้า มันตายทุกคน แล้วจะไปกลัวอะไรกับเรื่องความตายเพราะมันเป็นเรื่องธรรมชาติ แล้วก็ไม่ใช่ตายแต่เรา ตายมามากแล้ว ในครอบครัวเราตายมากี่คนแล้ว คุณปู่ไปนานแล้ว คุณย่า คุณตา คุณยาย คุณชวดนี่ไปก่อนเรา เราเกิดมาไม่เห็นคุณชวดเพราะท่านไปก่อนเราแล้ว ก็เป็นอย่างนั้นไปตามลำดับ แล้วมันก็ต้องมาถึงใครสักคนในครอบครัวของเรา ใครจะตายก็เป็นไปตามเรื่องของเขา เรายังไม่ตายก็อยู่กันต่อไปทำอะไรกันต่อไป เราปลงไปอย่างนั้น คิดไว้ในรูปอย่างนั้นมันก็ไม่ต้องเสียอกเสียใจมากเกินไปเมื่อเกิดอะไรขึ้น
เรื่องการเงินการทองในชีวิตก็เหมือนกัน เราต้องวางแผนไว้ว่าเราหาได้เดือนละเท่าไร เราควรจะใช้เท่าไรจึงจะพอดีๆ เรียกว่า “กินพอดีอยู่แต่พอดี” อย่าพูดว่า “กินดีอยู่ดี” เลย เพราะว่ากินดีอยู่ดีนั้นไม่รู้จะเอาอะไรมาวัดเป็นมาตรฐาน ว่าขนาดไหนเรียกว่ากินดีอยู่ดี กินดีอยู่ดีอย่างใครอย่างคนไหน มันลำบากถ้าไปเปรียบกับที่คนเขาร่ำรวย เขากินดีอยู่ดีอย่างของเขา เราก็เทียบไม่ถึง ไปไม่ได้มันก็เดือดร้อน เราต้องถือหลักว่า กินพออิ่ม ดื่มพอแก้กระหาย นุ่งห่มพอปกปิดความละอายกันร้อนกันหนาวกันเหลือบกันยุงไม่ให้มาขบกัดร่างกาย ที่อยู่อาศัยเรียกว่าพออยู่ได้สบายตามสมควรแก่ฐานะ เรามีเงินเท่านี้ก็สร้างบ้านขนาดนี้ ไม่เดือดร้อนไม่เป็นหนี้เป็นสินใครไม่สร้างปัญหา แต่ต่อไปเราหาได้เพิ่มขึ้น ก็ต่อไปอีกหน่อย ทำเพิ่มออกไปตามฐานะที่เราจะหาได้ เมื่อก่อนอยู่กันสองคนต่อมามีลูกอีกคนหนึ่ง ทำมาหาได้ก็ต่อห้องเพิ่มให้ลูกอีกห้องหนึ่ง ต่อมาอีกคนหนึ่งก็เพิ่มให้อีกหน่อยหนึ่ง เราค่อยเพิ่มไปตามโอกาสที่เราจะทำมาหาได้ อย่างนี้มันก็สบายเพราะเราไม่มีความทะเยอทะยานอะไรมากเกินไป ทำไปพอดีๆ ก็มีความสุขในชีวิตประจำวัน การทำงานทำการก็เหมือนกันอย่าไปหวังจะได้เท่านั้นเท่านี้ หวังไม่ได้เพราะเราบังคับเอาไม่ได้ เช่น ถ้าเราลงทุนค้าขายแล้วเราจะนึกว่าจะมีกำไรสักเท่านั้นสักเท่านี้ มันไม่แน่มันอาจจะมีก็ได้มันอาจจะไม่มีก็ได้ มันสุดแล้วแต่เหตุการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเป็นราว อาจจะมาตัดปัญหาเราก็ได้ เพราะ “โลกมันไม่เที่ยงมันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา” เราจะไปบังคับโลกก็ไม่ได้บังคับเหตุการณ์ก็ไม่ได้ ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อไร ใครจะไปรู้ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เราก็ต้องเตรียมใจไว้ต้อนรับสถานะการณ์ที่จะเกิดขึ้น แล้วก็เตรียมทรัพย์สมบัติไว้ โดยไม่ประมาท คือได้มาแล้วเราไม่กินเสียหมด ไม่ใช้เสียหมด เราเก็บไว้บ้างเผื่ออนาคตข้างหน้า มันก็ไม่มีปัญหาอะไรที่จะเกิดความทุกข์ความยุ่งยากทางด้านจิตใจ เพราะเราหัดเป็นคนประหยัดอดออมอยู่ตลอดเวลาตามหลักการของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ชัดว่าให้ทำงาน ทำงานแล้วก็ได้ปัจจัยจากผลงาน เมื่อได้อะไรมาแล้วก็ต้องรู้จักเก็บ ต้องรู้จักใช้ ต้องรู้จักทำให้มันเจริญงอกงามต่อไป เราก็ทำตามนั้น ตามหลักการที่พระท่านสอนไว้ ก็ไม่มีอะไรจะเดือดร้อนจะลำบาก คนที่ลำบากเดือดร้อนเพราะไม่ใช้ปัญญา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่ปฏิบัติธรรม เช่นทำงานน้อยๆ แต่ต้องการมากๆ แล้วพอได้มาก็ไม่คิดว่าวันนี้ได้พรุ่งนี้มันก็ไม่แน่ เดือนนี้ได้เดือนหน้ามันก็ไม่แน่ อะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตของเราก็ไม่รู้มันต้องเตรียมไว้ เก็บกักไว้สำหรับใช้จ่ายเวลาเราไม่ได้ทำงาน คิดต่อไปว่าแก่ลงเราจะใช้เงินสักเท่าไร สมมุติวางแผนว่าเราจะอยู่ถึง ๘๐ ปีและเวลานี้สมมุติว่าเราอายุ ๕๐ ปีหนึ่งเราจะใช้เงินสักเท่าไรในการกินการอยู่ เผื่องบฉุกเฉินเอาไว้บ้างพอสมควร แล้วเราก็เก็บไว้ฝากธนาคารไว้ให้มันเกิดดอกเกิดผลบ้าง หรือว่าจะเอาไปลงทุนอะไรที่มันมีทางได้แน่นอนหน่อย แม้ว่าจะผิดหวังก็ไม่ต้องเป็นทุกข์อะไรมากเกินไป เมื่อทำอย่างนี้เราก็ไม่ต้องลำบากเพราะเราได้วางแผนไว้แล้ว
ชาวต่างประเทศนั้นเขาทำอะไรเขาวางแผนล่วงหน้าทั้งนั้น เขาไม่ทำแบบฉุกเฉินเหมือนคนไทยเรา ฝรั่งเขาติคนไทยว่า คนไทยทำอะไรไม่วางแผน ไม่เตรียมการล่วงหน้า ทำแต่งานเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น แก้ปัญหาเฉพาะหน้า งานส่วนบุคคลงานส่วนรวมตลอดจนถึงงานของประเทศก็เหมือนกัน ไม่ได้คิดวางไว้ล่วงหน้าแต่คิดแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พอแก้เสร็จแล้วก็ทำต่อไป “ยังไม่มีอะไรจะเกิดก็อย่าไปคิดมันเลยว่ามันจะไม่เกิดอะไร” ก็ไม่คิดแล้วก็ไม่ได้วางแผนไว้ อันนี้ก็เรียกว่าไม่ปฏิบัติธรรม ผู้บริหารไม่ปฏิบัติธรรมมันก็ยุ่งทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายกันด้วยประการต่างๆ แต่ถ้าผู้บริหารประพฤติธรรมก็ต้องวางแผนไว้ล่วงหน้า ว่าอะไรมันจะเกิดแล้วถ้าเกิดเราจะทำอย่างไรจะแก้อย่างไร แล้วไม่ใช่วางแผนไว้ใกล้ๆ มันต้องไกลๆ วางแผนไว้ ๑๐ ปี ๒๐ ปีต่อไปข้างหน้า ประเทศไทยเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพนี่มันอาจจะเจริญขึ้นคนมากขึ้นแล้วเราควรจะทำอย่างไร จะตัดถนนต่อน้ำประปาไฟฟ้าทำสนามเด็กเล่นโรงเรียนอะไรต่างๆ ควรจะมีขึ้นหรือไม่ แล้วคนควรจะไปอยู่ตรงไหน ก็ต้องตามไปดูว่ามันจะอยู่กันอย่างไร สร้างบ้านอย่างไร มีที่พอจะเดินได้หรือไม่ รถเข้าออกได้หรือไม่ หรือว่าทำเป็นสลัมไปอีก ทำให้เกิดเป็นปัญหา อย่างนี้มันต้องวางแผนผังให้เรียบร้อยแล้วก็คุมไว้ ใครจะไปทำอะไรก็ต้องเสนอผังมาให้ดู ว่าจะสร้างบ้านอย่างไร ทางเข้าอย่างไรทางออกอย่างไร น้ำเสียเอาไปปล่อยไว้ที่ไหน ท่อประปาเข้าไปทางไหน มีสายโทรศัพท์จะเข้าไปทางไหน มีสายไฟจะทำไปอย่างไร ต้องวางหมดเรียบร้อยจึงอนุญาติให้ทำได้ คนทำงานจึงทำงานอย่างว่องไวตื่นตัวก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา ถ้าทำช้าๆ มันก็ไม่ไหวเมื่อกัน ทำอะไรไม่ทันกิน เช่นถนนนี่ก็ต้องตัดไว้ให้มันใหญ่ เพราะต่อไปคนมากขึ้นไม่ต้องตัดเพิ่มทำให้ลำบาก ตรงไหนจะทำสะพานข้ามก็ทำเสียเลย ขณะที่ก่อสร้าง ไม่ใช่ก่อสร้างเสร็จแล้วรถวิ่งเต็มถนนแล้วจึงไปสร้างสะพานทำให้การจราจรติดขัด อย่างนี้มันเป็นปัญหา แล้วถ้าสร้างเสียขณะสร้างมันก็ถูกไม่แพงเกินไป เช่น ถนนสายซุปเปอร์นี่เมื่อสร้างใหม่ๆ ถ้าวางแผนทำสะพานให้เสร็จมันก็ถูก คนที่รับเหมาเคยมาคุยให้ฟังว่า สะพานลอยที่ลาดพร้าวเคยเสนอไว้แล้วสมัยนั้นราคาไม่แพงเท่าไร ทำทีหลังราคาแพงขึ้นไปเท่าตัว ทำให้เพิ่มขึ้นมาทำให้แพง เกาะกลางถนนไม่ทำไว้รถวิ่งเผ่นผ่านเต็มถนนแล้วมาขุดทำใหม่ อย่างนี้แสดงว่าทำงานแบบไม่มีแผน ไม่ได้ทำแผนว่าจะทำอย่างนั้นก็ต้องมาขุดมาลื้อกัน ทำถนนคอนกรีตเสร็จเรียบร้อยเจ้าหน้าโทรศัพท์มาเจาะถนน ประปามาเจาะถนน ไฟฟ้ามาเจาะถนน แล้วทำไมไม่มานั่งวางแผนพร้อมๆ กัน ว่าฉันจะตัดถนนสายนี้แล้วประปามาวางแผนไว้ว่าจะวางท่ออย่างไร โทรศัพท์จะวางอย่างไร ไฟฟ้าจะปักเสาอย่างไร จะได้ทำให้เสร็จพร้อมๆ กันไป อันนี้ผิดมาตั้งแต่รัฐบาลคุณปู่แล้ว มารัฐบาลหลานชายก็ยังผิดอยู่อย่างนั้น ยังไม่ได้แก้อะไรเลย แสดงว่าไม่มีแผนในการทำ ทำเพียงแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่อยๆไป ไม่มีเรื่องก็ไม่มีอะไร อันนี้มันผิดหลักธรรมคือไม่ประพฤติธรรม ไม่วางแผนให้รอบคอบ พระพุทธเจ้าสอนให้ใช้แต่ก็ไม่ได้ใช้จึงได้เกิดเป็นปัญหา
ในเรื่องส่วนตัวเราก็เหมือนกัน มันต้องคิดต้องวางแผนไว้ว่าจะทำอะไร เช่น มีลูกจะบวชแล้วก็พามาตอนใกล้เข้าพรรษา เทศน์เอาบ่อยๆ ว่า จะบวชลูกสักคนทำไมไม่คิดล่วงหน้า เรื่องที่ต้องคิดก่อนคือว่า เช่น จะบวชวัดไหนจะบวชกับใครมันต้องไปติดต่อล่วงหน้าไว้ เดี๋ยวจะไม่มีที่ มาเอาจะใกล้พรรษาแล้วก็หอบลูกหอบหลานมาว่าจะบวชแล้ว เรียกว่าทำโดยไม่มีแผนอย่างนี้ก็ไม่ได้ เพราะที่เต็มแล้ว แล้วก็มานั่งอ้อนวอนว่า
“ขอสักคนได้ไหม”
“ไม่ได้เพราะว่ามันเต็ม”
บอกว่า “ให้นอนตรงไหนก็ได้”
“นอนในส้วมได้ไหมเล่า”
มันนอนไม่ได้จะพูดเอาแต่ง่ายๆ มันนอนไม่ได้ ไม่ใช่อะไร ลำบาก ฉะนั้นมันต้องวางแผนไว้ว่าเราจะบวช เช่นปี ๒๕๒๘ นี่เราจะบวชลูกแล้ว วันเสาร์แรกของเดือนเมษายนเราต้องมาติดต่อไว้ จดชื่อไว้และเอาหนังสือไปท่องให้จำ แล้วก็จะตอบกันต่อไป มันก็ต้องมาวางแผนไว้ นี่ไม่วางแผนเพราะว่าไม่ได้คิดไว้ก่อน อยู่ๆ มันก็อยากบวชขึ้นมา ลูกก็ไม่รู้จักวางแผน พ่อก็ไม่รู้จักวางแผน แม่ก็ไม่รู้จักวางแผน ไม่ได้เรื่องทั้งครอบครัว เห็นบ่อยมีทุกปีอย่างนี้ต้องว่ากันทุกปี พอบ่นไปก็บอก “เจ้าคุณวัดชลประทานด่าเราทุกที” ทำไมจะไม่ถูกด่า ก็ทำเลอะเทอะก็ต้องด่าให้บ้างต้องว่า แต่ไม่ได้ด่าเจ็บแสบอะไร ว่าแบบผู้ดีหน่อย ก็ต้องสอนให้รู้ว่าต้องวางแผนไว้อย่างนั้น ถามว่า “เคยมาฟังเทศน์หรือเปล่า” ตอบ “ไม่ค่อยได้มา” อย่างนั้นจะรู้เรื่องอะไร มาวัดก็ไม่มา มันต้องมาก่อนล่วงหน้าไว้ มีบ่อยๆ อย่างนั้น หอบลูกมาเลยจะให้บวช ๒-๓ วัน ทำแบบบวชง่ายๆ อย่างนั้นไม่ได้ ทำอะไรต้องคิดต้องวางแผนไว้ เช่น เราจะไปไหนก็เหมือนกัน สมมุติว่าจะไปเที่ยว ก็ต้องศึกษาว่าจะไปอย่างไร จะไปเรือบินไป รถไฟ หรือจะเดินไปด้วยเท้า หรือจะขี่รถจักรยานไปก็ตามใจ ก็ต้องวางแผนว่า จะไปนี่ต้องใช้อะไรบ้างใช้เงินเท่าไร ตั๋วราคาเท่าไร แล้วต้องใช้สอยเท่าไร ต้องวางแผนเก็บเงินไว้จะได้ไปเที่ยว ไม่ใช่อยู่ๆ ก็จะไป เที่ยววิ่งไปกู้คนนั้นคนนี้ว่าฉันจะไปเที่ยวหน่อย ขอกู้เงินหน่อย ทนเสียดอกเบี้ยเพราะไม่ได้เตรียมไว้ก่อน อย่างนี้ก็ไม่ได้ ทำอะไรไม่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าท่านสอนให้คิดวางแผนทั้งนั้น เขาเรียกว่า คิดไว้ล่วงหน้าแต่คิดด้วยปัญญา วางแผนนั้นเขาเรียกว่าคิดด้วยปัญญา แต่ถ้าคิดด้วยความโง่ก็เป็นทุกข์เหมือนกัน นั่งคิดนั่งฝันแล้วก็กลุ้มใจ ไม่ได้เรื่องเพราะคิดอย่างไม่ใช้ปัญญา ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าต้องใช้ปัญญาทุกเรื่องทุกสถานะการณ์จึงจะเป็นการใช้ได้
ฉะนั้นอย่าคิดถึงสิ่งที่ล่วงแล้วด้วยความอาลัย อย่าคิดถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึงด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ ต้องคิดใหม่ ต้องไม่คิดถึงสิ่งที่ล่วงแล้วด้วยอาลัยแต่คิดเพื่อทบทวนเพื่อให้เกิดความเข้าใจในปัญหาต่างๆ สิ่งที่ยังมาไม่ถึงก็ต้องวางแผนด้วยปัญญาว่าเราจะทำอะไรต่อไปในชีวิตของเรา อย่างนี้ก็ไม่ยุ่งคนที่คิดล่วงหน้าก็ไม่ยุ่ง ให้เข้าใจไว้อย่างนี้อันหนึ่ง
อีกประการหนึ่ง ในการปฏิบัติที่เรียกว่าเจริญภาวนา ที่ยิ่งขึ้นไปกว่า “สมถะภาวนา” นั้นเรียกว่า “วิปัสสานาภาวนา” วิปัสสานาแปลตามตัวว่าเห็นแจ้ง เห็นชัด หรือว่าเข้าใจถูกต้องในเรื่องนั้นๆ ภาวนาคือ การกระทำให้เกิดการเห็นแจ้งชัดเจนในเรื่องนั้นตามสภาพที่เป็นจริง ถ้าเห็นไม่จริงก็ยุ่ง เช่น เห็นเชือกเป็นงูก็ยุ่ง แล้วเห็นงูเป็นเชือกก็ยุ่งเหมือนกัน เห็นงูเป็นเชือก นึกว่าเชือกไปจับเข้างูก็กัดเอา เห็นเชือกเป็นงู ก็ตกใจกระโดดหนี ความจริงเป็นเชือกไม่ใช่งูไม่มีอะไร อย่างนี้ก็ลำบาก หรือว่าคนเดินไปเหยียบกะลามะพร้าวแล้วก็เคาะที่ฝ่าเท้าไปนอนเจ็บครางฮือๆๆ ถามว่าเป็นอะไร บอกว่างูกัด สร้างขึ้นเองว่างูกัด ความจริงไม่ใช่กะลามะพร้าวเคาะให้เพราะไปเหยียบเข้า ไม่รู้เลย เกิดความยึดถือขึ้นในใจว่างูกัด เลยเป็นทุกข์เดือดร้อนไปด้วยประการต่างๆ
เมื่อคืนร้อนมากหน่อยเลยจำวัดไม่ค่อยหลับ เลยเปิดโทรทัศน์ดูตอนดึกว่ามีแสดงเรื่องอะไร ก็มีเรื่องพระนางบูเช็คเทียน ก็มีพวกเทียนซึ่งไม่ใช่เทียนแท้ แต่เป็นเทียนจอมปลอม บอกว่าใครอยากจะรู้อะไรให้มาที่นี่ (40.13 สียงไม่ชัดเจน) …… ก็ทำยันต์ให้อันหนึ่งเอาไปปิดประตูไว้ อีกอันหนึ่งไว้กับตัว และอีกอันหนึ่งให้เอาไปเผาแล้วให้เอาน้ำนั้นไปลดเมียซึ่งเป็นผี คนนั้นก็ทำตามที่เขาว่า ทำแล้วก็ไปดูกระจก หน้าของตัวก็เป็นหน้าปรกติ แต่เอามือไปคลำแล้วคิดว่าหน้ากูเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้ว ความเชื่อที่เป็นอุปทานว่าหน้าเป็นสัตว์เดรัจฉานไปได้ นี่เพราะไปเชื่อว่าไอ้เทียนคนนั้นมันวิเศษทำคนให้เป็นสัตว์เดรัจฉานไปก็ได้ ซึ่งก็เชื่อไปอย่างนั้น ในเมืองเราก็ไม่ใช่น้อย เชื่อตามหมอดูบ้าง หมอดูว่าจะเคราะห์ร้ายก็คิดถึงแต่เรื่องเคราะห์ร้ายตลอดเวลา ไม่คิดฝืนใจว่า กูไม่มีเคราะห์ร้าย กูปลอดภัย กูจะไม่มีโชคร้าย ไม่คิดอย่างนั้นแต่กลับคิดว่าอะไรก็ร้ายไปหมด เดินไปใบไม้หล่นใส่หัวก็คิดว่าเคราะห์ร้ายแล้วไม้หล่นใส่หัว ความจริงไม่ใช่ไม้เป็นแค่ใบไม้ ก็คิดว่าเคราะห์ร้ายเหมือนที่หมอทายแล้ว ไปเชื่อหมอดูไม่เข้าเรื่อง อย่างนี้ก็ลำบากเพราะไม่เข้าใจในเรื่องอะไรถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริง เมื่อเราไม่เข้าใจก็หลงผิด สำคัญสิ่งไม่เป็นจริงว่าเป็นของจริง สำคัญสิ่งที่เป็นจริงว่าเป็นของไม่จริงอะไรต่างๆ ยึดถือของที่เป็นมายาว่าเป็นเนื้อแท้ เกิดเป็นปัญหาถูกหลอกถูกต้มในเรื่องต่างๆ อันนี้คือความไม่เข้าใจในเรื่องนั้นๆ
ในการเจริญภาวนาที่เรียกว่า “วิปัสสนา” นั้นเป็นการภาวนาที่ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา ให้เข้าใจในเรื่องอะไรชัดเจนแจ่มแจ้งตามสภาพที่เป็นอยู่จริงๆ ใชัปัญญาที่เราได้อบรมมาในด้าน “สมถะภาวนา” ที่จิตมันสงบ แล้วตั้งมั่น และอ่อนโยนเหมาะที่จะใช้งานแล้ว น้อมจิตที่อ่อนโยนนั้นไปใช้เรื่องอะไรก็ได้ไปคิดเรื่องอะไรก็ได้ ให้รู้ให้เข้าใจตามสภาพที่เป็นจริง การเจริญวิปัสสนานั้นในชีวิตประจำวันเราก็ใช้ได้ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าต้องไปนั่งหลับตาอยู่อย่างเดียว ไม่ใช่ เพราะถ้าหลับตาตลอดเวลาก็จะไม่มีอะไรกินอะไรใช้ ถ้าไปฝึกอย่างนั้นก็ไม่ได้ ต้องสอนให้รู้จักเอาสิ่งเป็นประใยชน์ในธรรมะไปใช้ในชีวิตประจำวัน ไปใช้ในการปฏิบัติงาน ในการคบหาสมาคม ในเรื่องเหตุผลของชีวิตทุกวันทุกเวลา เราต้องเอาไปใช้อย่างนั้นไม่ใช่หลีกหนี พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เราหนีจากสิ่งต่างๆ แต่สอนให้เราต่อสู้กับปัญหาคิดตีปัญหาในเรื่องนั้นๆ ให้ทะลุปรุโปร่งไปเลย ไม่ใช่วิ่งหนี เพราะหนีนั้นไม่ใช่แก้เพราะตัวปัญหายังอยู่ เราหนีไปตัวปัญหาก็ยังอยู่ต่อไป เช่น เราอยู่ตรงนี้แล้วไม่ถูกกับเพื่อนบ้านก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น ไปอยู่ที่อื่นไม่ใช่การแก้ปัญหา อยู่ที่นี่แล้วไม่ถูกกันเพราะอะไร ใครผิดเราผิดหรือเขาผิด อย่าไปโทษว่าเขาผิด เพราะว่าลำบาก เราไปแก้เขาไม่ได้ เราต้องโทษว่าฉันคงบกพร่องอะไรจึงไม่ถูกกับคนนั้น นั่งพิจารณาด้วยปัญญาเรียกว่า เจริญวิปัสสนาเสียหน่อย พิจารณาว่าเรามีความบกพร่องอะไร การพูดจา การสมาคม การเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน การเข้าไปเกี่ยวข้องกับเพื่อนบ้านมีสภาพอย่างไร เราต้องพิจารณาหาเหตุที่ตัวเราเพื่อแก้ตัวเรา เราจะไปแก้คนโน้นไม่ได้ เราจะไปแก้เขาอย่างไร เราต้องแก้ที่ตัวเราว่าเราบกพร่องอะไร ใช้จิตที่สงบนั่งพิจารณาว่าเราบกพร่องอะไร เมื่อเราค้นไปมองไปคงจะพบข้อหนึ่ง ข้อสอง ข้อสาม ว่าเราบกพร่องอะไร เมื่อรู้ว่าเราบกพร่องอะไรแล้วก็แก้เสีย ไปแก้กับคนๆ นั้นไปปรับความเข้าใจกันเสียในเรื่องอะไรต่างๆ เบื้องต้นต้องไม่โกรธคนนั้นก่อน แต่ลงโทษตัวเองว่าฉันเป็นผู้ผิดเอง เมื่อผิดเองเราก็ไปเข้าหาคนนั้น ไปพูดจาปรับความเข้าใจกันในเรื่องที่เราบกพร่อง เราไปขอโทษเขา แต่ยากตรงนี้ คนเราเรียกว่าหลังแข็ง ไม่สามารถจะก้มไปขอโทษใครได้ ราวกับว่าอะไรหนักอยู่บนหัวก้มไม่ลง ยกมือไหว้เขาไม่ได้เพราะเสียเหลี่ยม มีเหลี่ยมมาก ไม่ลบเหลี่ยมออกเสียบ้าง เพื่อให้กลิ้งง่ายๆ หน่อย แต่นี่มีเหลี่ยมเหลือเกิน เอาไม้งัดแล้วก็ยังไม่ค่อยขึ้น เหลี่ยมมากต้องตัดเหลี่ยมออก เหลี่ยมนั้นไม่ใช่อะไร แต่เป็นถือตัวว่าฉันเก่งกว่าเขา ฉันดีกว่าเขา ฉันรวยกว่าเขา ฉันฉลาดกว่าเขา ตะกูลของฉันมันสูงกว่าของนายนะจะให้ฉันไมง้อนายได้อย่างไร อย่างนี้เขาเรียกว่าไม่มีปัญญาในเรื่องปัญหาชีวิต เพราะไปคิดเรื่องที่เข้ากับคนอื่นไม่ได้ทั้งนั้น แล้วจะไปเข้ากับใครได้ ถ้าเราลดตัวลงเสียบ้าง เราไปยกมือไหว้เขาก็ไม่มีเรื่องอะไร
วันก่อนจะเล่าให้ฟังว่า มีคนเล่าว่า คนคนหนึ่งบิดาเขาเป็นคนมีชื่อมีเสียงเหมือนกัน คุณแม่ตาย พ่อรักคุณแม่มากไม่ให้เผาก็ให้เก็บเอาไว้อย่างนั้น เก็บมาเรื่อยเก็บมาหลายสิบปี ในขณะที่รักคุณแม่ที่ตายไปแล้วคุณพ่อก็ไปมีภรรยาใหม่อีกคน แต่ว่าเป็นคนที่ไม่ค่อยจะเรียบร้อยเท่าไร เรียกว่าเป็นคนไม่ค่อยดีเท่าไร มาถึงก็วางกล้ามวางภูมิกับลูกๆ ของภรรยาเก่า แก่ต้องการให้อยู่ในอำนาจของแก่เท่านั้น อะไรๆ ต่างๆ เรียกว่าใหญ่ ใหญ่ยิ่ง “ฉันมีอำนาจในบ้านนี้ เพราะฉันครอบงำพ่อบ้านไว้ได้แล้ว ลูกๆ ทั้งหลายก็ต้องอยู่ในอำนาจของฉัน” อะไรอย่างนั้น เพราะเป็นคนไม่เข้าวัดไม่ค่อยคิดถึงธรรมะอะไร ต่อมาพ่อตายลูกๆ ก็วางแผนจะทำศพกัน กำลังนั่งวางแผนจะทำศพกันแม่เลี้ยงก็เข้ามา แป๊ดๆ! บอกว่า “ไม่ได้! เรื่องนี้ไม่ได้ ทำศพไม่ได้ ต้องให้ฉันเห็นด้วยถึงจะทำได้” อย่างนั้นอย่างนี้ น้องๆ ในครอบครัวนั้นก็หมั่นไส้เต็มทีแล้ว เรียกว่ามองตาเขียวๆ อยากจะลุกขึ้นไปใช้อวัยวะเบื้องต่ำประเคนให้แล้ว แต่ว่าพี่ชายใหญ่นี่ฉลาดมาก พี่ชายใหญ่เป็นคนประพฤติธรรมเก่งมากทีเดียว พอเห็นอาการเช่นนั้นก็บอก “เชิญคุณแม่นั่ง” เรียกแม่เลยบอกเชิญคุณแม่นั่ง พอคุณแม่นั่งบนเก้าอี้ก็กราบแทบเท้าเลย น้องๆ มองก็คิดว่า ทำไมพี่ชายไปกราบกองขยะได้ พี่ชายกราบเรียบร้อยและขอโทษคุณแม่ที่ไม่ได้ปรึกษา เพราะนึกว่าจะบอกทีหลังเมื่อตกลงกันได้เรียบร้อยแล้ว คุณแม่นั้นก็นั่งไขว่ห้างวางท่า คุณแม่ว่า “ไม่ได้! ทำฉุกเฉินอย่างนี้ไม่ได้ เครื่องแต่งตัวฉันยังไม่ได้ตัดเลย” พี่ชายว่า “ไม่เป็นไรคุณแม่ ผมจะจัดการเองเรื่องเครื่องแต่งตัว” โทรศัพท์เรียกร้านชั้นหนึ่งเลย ให้มาวัดตัวคุณแม่ วัดตัวเครื่องแต่งตัวชุดดำให้เรียบร้อย แล้วสั่งกระเป๋าถึอสีดำอย่างดีมาให้ แล้วถามว่า “คุณแม่ยังต้องการอะไรอีก” คุณแม่นั่งนิ่งบอกว่า “พอแล้วทุกอย่างเรียบร้อยดี” อันนี้เรียกว่าคนมีปัญญา ใช้ปัญญาเป็นเครื่องปราบความหยิ่งจองหองของคุณแม่คนนั้นลงได้ด้วยความเรียบร้อย แต่ถ้าทุกคนลุกขึ้นชี้หน้าก็คงจะไปกันใหญ่ ไม่ได้เรื่อง เกิดขัดคอขัดใจกันงานศพก็คงจะไม่ได้เผา เพราะว่าพวกที่เป็นๆ เผากันเสียแล้ว อย่างนี้จะไปเผาศพได้อย่างไร เรื่องมันก็เลอะเทอะ อย่างนี้เรียกว่า ปรับเหตุการณ์ให้เรียบร้อยด้วยคุณธรรม ก้มลงไปกราบนั้นคือลดตัวเองลงไป ถอนทิฐิมานะว่าเราเป็นคนมีชื่อมีเสียง คุณแม่นี่เหมือนกับอะไรอย่างนั้นที่ไม่มีคนไหว้ แต่นี่ลงไปไหว้เรียบร้อยแทบเท้าเลย และขอโทษคุณแม่อย่างนั้นอย่างนี้ จัดให้เรียบร้อยหมด พอถึงวันเผาศพคุณแม่ก็ไปเดินแอ็คท่า ไม่เข้าท่าเลย คล้ายกับตัวอะไรขึ้นไปนั่งอยู่บนวออย่างนั้น ไม่เป็นไรเขาไม่ถือ
เรียกว่าคนฉลาดใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาปรับปรุงเหตุการณ์ อันนี้เป็นตัวอย่างว่าเอาธรรมะที่เรียกว่า “วิปัสสนา” ไปใช้ในชีวิตประจำวัน เวลามีปัญหาเกิดขึ้นรีบใช้สติคิดว่าจะเอาอะไรอย่างไร จะจัดการอย่างไร คิดว่าจะทำอะไรกับเรื่องเหล่านี้ต้องใช้สติเป็นเครื่องพิจารณา ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาให้มีสติปัญญามาใช้ การเจริญวิปัสสนานั้นต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา ต้องมีปัญญาอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า “สติสัมปชัญญะ” แล้วก็ทำติดต่อไม่มีขั้นตอนติดต่อกันจนเป็นนิสัย มีอะไรเกิดขึ้นตัวสติก็แล่นมาทัน และปัญญาเกิดขึ้นตามมาพิจารณาสิ่งนั้นจนยุ่ยไปเลยย่อยจนแหลกไปเลย อย่างนี้เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ทุกเรื่องทุกเวลา คนเราเวลาผจญกับปัญหาแล้วเกิดมีเรื่องถกเถียงกัน โกรธกัน เกลียดกัน บางทีหนักจนใช้กระสุนตัดสินกันนี่ เป็นเพราะไม่มีการใช้วิชาวิปัสสนาในการเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ได้คิดว่าอะไรเกิดขึ้นเป็นกุศลหรือว่าเป็นอกุศล เป็นเรื่องดีมีประโยชน์หรือเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ ไม่ได้คิดไม่ได้ตรองในเรื่องเหล่านั้น ไม่ได้คิดว่ามันมืดมีโมหะ ให้เข้าใจว่าตัววิปัสสนานั้นคือตัวปัญญา ตัวปัญญาเหมือนแสงสว่างที่เรากดสวิทต์ปุ๊ปก็สว่างจ้าเห็นอะไรหมดในห้อง ปิดสวิทต์ก็มืดตึ๊ดตื๋อ มองอะไรก็ไม่เห็น ใจเราก็เหมือนกันมีปัญหามีเรื่องอะไรขึ้นมาเราไม่มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาก็มืด เมื่อมืดก็เข้าใจผิด แล้วก็ทำอะไรผิดไปหมดเพราะมืด มีโมหะครอบงำจิตใจ คิดก็ด้วยโมหะ พูดด้วยโมหะ ทำด้วยโมหะ ความเข้าใจต่อเหตุการณ์ก็เป็นโมหะไป นี่เรียกว่าไม่มีปัญญาไม่มีแสงสว่างส่องเข้าไปในใจ จึงไม่เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ทางที่ถูกที่ควรนั้นต้องหัดมองอะไรๆตามสภาพที่เป็นจริง
ยกตัวอย่างว่า มีใครคนใดคนหนึ่งมาเล่าให้เราฟังว่า ฉันไปที่บ้านนั้น คนนั้นเขาว่าคุณอย่างนั้นว่าคุณอย่างนี้ คนที่ไม่มีธรรมะก็ต้องลุกหือขึ้นทันที โกรธ!!! ไม่ได้อย่างนี้ต้องแก้ลำกัน บางทีก็พุ่งแปร๊นไปเหมือนกับช้างเมามัน จะไปต่อว่าต่อขานคนนั้น อย่างนี้เขาเรียกว่าไปด้วยโมหะไม่ได้ใช้สติปัญญาในการกระทำ แต่ถ้าเราใช้สติปัญญาว่าเขาพูดจริงหรือเปล่า หรือแม่คนนี้อาจจะมาพูดให้เราโกรธ แล้วเขาอยากจะดูเราไปทะเลาะกับแม่คนนั้น แม่คนนี้เป็นตัวบ่างช่างยุให้สัตว์ทั้งหลายแตกแยกแตกร้าวกัน ถ้าเราแสดงตามบทของแม่คนนี้ แม่คนนี้ก็จะหัวเราะเยาะเรา หาว่าเราเป็นคนพกนุ่นไม่ใช่คนพกหิน คนโบราณเขาสอนดีเขาบอก ไปไหนให้พกหินไปอย่าพกนุ่นไป บางคนไม่เข้าใจคิดว่าพกหินไปทุบหัวเพื่อนอย่างนี้ก็ไม่ถูก ให้พกหินหมายความว่า ให้หนักแน่นอย่าหวั่นไหวกับสิ่งที่มากระทบ อะไรอะไรที่มากระทบเรานั้นเราเป็นหินหนักแน่นไม่หวั่นไหวโยกโครงกับสิ่งนั้น แต่ถ้าเป็นปุยนุ่นปลิวง่ายพกนุ่นไม่ได้ ใจเบา ใจง่าย โกรธง่าย เกียดง่าย รักง่าย ไม่ใช้เหตุผลในเรื่องอะไรต่างๆ อย่างนั้นก็เดือดร้อนสร้างปัญหา อันนี้เขาบอกพกหินหมายความว่า หนักแน่นอะไรกระทบกระทั่งก็อดทนไว้ก่อนใจเย็นๆ ไว้พิจารณาอย่างรอบคอบ อย่าโต้ตอบด้วยความชั่วแต่ให้โต้ตอบด้วยความดี ให้ใช้ปัญญาเป็นเครื่องโต้ ปัญญาเป็นพระขันธ์ตัดอะไรได้เด็ดขาด แต่ถ้าเป็นความหลงเป็นความเข้าใจผิดนั้นจะตัดไม่ได้ เขาสอนอย่างนั้นว่ามีสติ มีปัญญา มีความหนักแน่น ในเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้น เรื่องก็จะไม่มีอะไร คนบางคนนั้นชอบยั่วเราให้โกรธ ให้แสดงอะไรต่างๆ ต่อชุมนุนชน เขาลดเกรียติของเรา ลดศักดิ์ศรีของเรา เขาต้องการทำเช่นนั้น แต่ถ้าเราเป็นผู้มีคุณธรรมเป็นพื้นฐานในจิตใจเวลาเขาพูดเราก็คิดในใจว่า “เอาอีกแล้ว มันจะยุให้กูทำในสิ่งเหลวไหลอีกแล้ว กูไม่ทำหรอกน่า อย่ายุเลย” เรายิ้มๆ เอาไว้ ทำใจเย็นๆ ถ้าเขาพูดอะไรก็นึกขำๆ ไปอะไรอย่างนั้น
คล้ายกับนิทานเซนที่ว่า มีพระญี่ปุ่นองค์หนึ่ง เด็กข้างวัดมีท้อง พ่อก็เรียกไปถามว่ามีท้องกับใคร มันไม่รู้ว่าจะตอบว่าอะไรดีก็ตอบว่าท้องกับหลวงพ่อ เอาแล้วหลวงพ่อก็จะแย่ทีนี้ บอกว่าท้องกับหลวงพ่อ พ่อก็ไปด่าหลวงพ่อว่า “เสียแรงที่นับถือบูชามานานทำอย่างนั้นได้หรือ” หลวงพ่อก็ไม่ว่าอะไรเพียงบอกว่า “อย่างนั้นรึ” พอโดนด่ามาก็ว่า “อย่างนั้นรึ” ชาวบ้านก็มาว่าหลวงพ่ออย่างนั้นอย่างนี้ ท่านก็บอก “อย่างนั้นรึ” ท่านไม่โต้ตอบอะไรท่านเพียงแต่ว่า “อย่างนั้นรึ” เท่านั้น ต่อมาผู้หญิงคนนั้นก็ท้องแก่พอคลอดลูกออกมา พ่อก็บอกว่าเอาไปให้พ่อมันเลี้ยง หลวงพ่อก็ต้องเลี้ยงเด็กอีก เอามาเลี้ยงป้อนข้าวป้อนน้ำ ใครมาก็ว่าเป็นนักบวชไปเที่ยวทำอะไรอย่างนั้นสมน้ำหน้าแล้ว แก่ก็ตอบว่า “อย่างนั้นรึ” ตามใจใครจะด่าแกก็ว่าอย่างนั้นหรือตลอดเวลา ทำไปทำมาเด็กหญิงคนนั้นก็รู้สึกว่าเป็นบาปเป็นเวรเหลือเกินที่ทำให้หลวงพ่อต้องเสียชื่อ วันหนึ่งมีการทำบุญที่วัด หญิงคนนั้นก็ไปสารภาพกับหลวงพ่อว่า เรื่องทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นหนูทำขึ้นเองทั้งนั้น พอสารภาพจบหลวงพ่อบอกว่า “อย่างนั้นรึ” ไม่ถืออะไรไม่โกรธไม่เครืองอะไร มีแต่คำว่า “อย่างนั้นรึ” เท่านั้น หรือพูดภาษาไทยว่า อ้อ!…อย่างนั้นหรือ ฉะนั้นก็ไม่มีเรื่องอะไร ชาวบ้านก็กลับมานับถือตามเดิมเพราะท่านไม่ได้ทำผิดอะไร คนมีสติมีปัญญาไม่หุนหันพันแล่นในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่คนใจเบาขาดสติขาดปัญญาก็เหมือนกับลมเป่าไฟให้โหมขึ้น พอถูกลมเป่าก็หือขึ้นมาทันทีลุกขึ้นมาทันที อย่างนั้นไม่ได้ เราก็ต้องคิดต้องตรองอะไรเกิดขึ้นก็อย่าใจร้อน ใจเย็นๆ แล้วก็สบายใจ คนใจเย็นชนะคนใจร้อน คนสงบชนะคนวุ่นวาย คนใจสว่างชนะความมืดได้ด้วยประการทั้งปวง หลักการเป็นอย่างนี้ เรื่องนี้ยังไม่จบแล้วค่อยว่ากันต่อไป
วันอาทิตย์นี้เอาเท่านี้ก่อน แล้วอาทิตย์ค่อยว่ากันใหม่ นี่เรียกว่าตีวงล้อมยังไม่เข้าถึงเนื้อใน วันหน้าค่อยว่ากันต่อไป สำหรับวันนี้ก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจ เพื่อทำจิตให้สงบให้ตั้งมั่นให้อ่อนโยนเหมาะที่จะใช้งานเป็นเวลา ๕ นาที เริ่มได้
- ปาฐกถาธรรมวันอาทิตย์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๘