แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา วันนี้เป็นวันอาทิตย์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ เดือนมกราคมผ่านไปแล้ว ๓๑ วัน วันคืนผ่านไป ชีวิตของเราก็พลอยผ่านไปกับวันเวลาด้วย วันเพิ่มขึ้นในชีวิตก็คือการได้อายุมากขึ้น ได้อายุมากขึ้นก็หมายความว่าแก่มากขึ้น แก่ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงที่สุดของความแก่ เมื่อถึงที่สุดของความแก่ก็คือความแตกดับ ชีวิตของคนเรานั้นเดินทางไปสู่จุดดับด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่าไปได้นานเท่าไร ระยะไกลเท่าใดเป็นเรื่องที่บอกไม่ได้บางคนเดินได้นิดเดียวล้มแล้ว บางคนก็ไปได้อีกสิบปี ยี่สิบปีล้ม สามสิบปีล้ม สี่สิบปี ห้าสิบปี หกสิบปี บางคนก็ไปได้ถึงเจ็ดสิบปี ไม่รู้จักล้มอยู่ได้ถึง แปดสิบเก้าสิบกว่า ร้อยนึงก็มี แต่ว่ายิ่งอยู่นานเท่าใดผลที่สุดมันก็ต้องเท่านั้น แม้อยู่เกินร้อยปี ก็จะต้องตายเหมือนกัน อันนี้เป็นเรื่องธรรมชาติที่เราหนีไม่พ้น เราไม่ต้องคิดให้มันมาก อย่าคิดให้เป็นทุกข์ แต่คิดว่าชีวิตของเรามันต้องถึงที่สุดสักวันหนึ่ง เมื่อยังไม่ถึงที่สุดเราก็ทำอะไรเสียให้เป็นประโยชน์ เท่าที่เราจะสามารถกระทำได้ คือการประพฤติดีงามตามหลักคำสอนในทางพระศาสนาที่เรานับถือ เอาธรรมะมาเป็นดวงประทีปนำทางชีวิตไว้อย่าเดินโดยขาดดวงประทีบนำทาง เพราะถ้าไม่มีดวงไฟส่องทางแล้วมันมืด มืดแล้วก็เดินผิดเดินตกหลุมตกบ่อ สะดุดตอไม้ เป็นอันตรายแก่ชีวิตของเรา แต่ถ้ามีแสงสว่างนำทางก็ค่อยสบาย พระพุทธเจ้าจุดดวงประทีปธรรมไว้ส่องลูก ให้ชาวลูกได้เห็นแสงสว่าง แล้วจะได้เดินไปในทางที่ถูกต้อง แต่ก็มีชาวลูกไม่ใช่น้อยเหมือนกันที่เมินเฉยต่อแสงสว่างนั้น ไม่หันหน้าเข้าหาแสงสว่าง ไม่รับแสงสว่างมาเป็นดวงเทียนส่องทาง เขาจึงเดินอยู่ในที่มืดที่บอด ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้นอันนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดายในชีวิตที่ได้ผ่านมา เราไม่ควรจะอยู่อย่างนั้น แต่ควรจะอยู่ด้วยมีประทีปนำทาง
จึงได้บอกกล่าวกับพี่น้องทั้งหลายทั่วไปว่า ขอให้ปี ๒๕๒๘ เป็นแห่งการเข้าถึงธรรมะเป็นปีที่ควรจะเข้าถึงธรรมะ เป็นปีที่เรารับธรรมะมาส่องใจ รับธรรมะมาส่องทางเดินของชีวิต เป็นปีที่เราจะอยู่กับธรรมะ เราจะไม่ทิ้งธรรมะไปไกล ๆ เราจะอยู่ใกล้พระธรรม เอาธรรมะมาใช้เป็นหลัก เป็นเครื่องบำรุงชีวิตจิตใจอยู่ตลอดเวลา ก็จะมีความสุขด้วยตัวของเราเอง ความสุขความทุกข์มันเกิดจากการกระทำของตนเอง ถ้าทำถูกก็เป็นสุข ทำผิดก็เป็นทุกข์ ทำถูกก็ได้ความดี ทำผิดก็ได้ความชั่ว อันนี้เป็นเรื่องกฎธรรมชาติที่ให้ผลอยู่แก่ผู้กระทำ แต่ว่าเราอาจจะไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้ อาจจะไม่ได้พิจารณา เพราะคนเรามักจะลืม ลืมดูที่ตัวเรา แต่ไปดูที่อื่นเสียหมด เวลามีอะไรเกิดขึ้นมักไม่ดูที่ตัว ไม่ดูใกล้ตัว ไปดูของไกล ๆ ดูไปจนถึงสวรรค์ ดูไปที่ดวงดาว ดวงอาทิตย์ ดวงอะไรต่ออะไรก็ไม่รู้ ซึ่งสิ่งนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเราแต่เราดูไป เที่ยวค้นไปไกล ของใกล้ ๆ ไม่ดู เมินเฉยต่อสิ่งที่อยู่ใกล้ เลยไม่พบสิ่งถูกต้อง ที่เกิดขึ้นมีอยู่ในตัวของเราเอง เพราะเราไปดูไกลเสียหมด พระพุทธเจ้าท่านให้มองดูใกล้ ๆ และก็ชี้ชัดลงไปว่าให้ดูข้างใน ดูข้างในมันก็ดูที่ใจของเราเอง ดูว่าใจเราคิดอะไร เรานึกในเรื่องอะไร เรามีความเห็นในเรื่องอะไร แล้วก็สอบทานต่อไปว่าเรื่องนี้มันถูกหรือผิด มันดีหรือชั่ว มันจะเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมหรือจะเป็นเหตุให้เกิดความเจริญ ให้ดูที่ตัว ค้นที่ตัว อย่าไปค้นที่อื่น อย่าไปดูที่อื่น แล้วไม่ต้องให้ใครมาช่วยดูให้เรา เพราะคนอื่นดูมันก็ไม่เห็น เรามันต้องเห็นด้วยตัวเอง เป็นของประจักษ์แก่ใจตนเอง เราจะไปให้คนอื่นช่วยดูให้มันก็ไม่ใช่เรื่อง เช่นไปให้หมอดูให้ หมอดูก็เรียกว่าดูไม่เห็น หมอเองก็ยังไม่รู้จักตัวเองด้วยซ้ำไป คือไม่รู้ว่าตัวกำลังโง่อยู่ตลอดเวลา เพราะนั่งดูแต่เรื่องคนอื่น ไม่เคยดูเรื่องของตัว เอาตัวไม่รอดแล้วเราจะไปให้คนเอาตัวไม่รอดมาช่วยตัวเราได้อย่างไร คนว่ายน้ำไม่เป็นแล้วจะไปช่วยคนตกน้ำได้อย่างไร คนจะไปช่วยคนตกน้ำมันต้องว่ายน้ำเป็นด้วย ถ้าว่ายน้ำไม่เป็นจะไปช่วยคนอื่นได้อย่างไร มันช่วยไม่ได้
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงไม่สอนให้ไปดูอย่างนั้น แต่ให้ดูที่ตัวเอง ว่าเราได้คิดอะไร พูดอะไร ทำอะไร เรามีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ตรงตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ ถ้าไม่ถูกไม่ตรงก็เปลี่ยนให้มันถูกมันตรงเสีย ชีวิตก็จะได้เรียบร้อยไม่สับสน อันนี้เป็นเรื่องที่อยากจะย้ำกันบ่อย ๆ เพื่อให้ญาติโยมได้เกิดความรู้ความเข้าใจ แล้วจะได้หันมาทองที่ตัวของตัวเอง มาดูว่าเราอยู่อย่างไร เราคิดอย่างไร เราทำอะไร เราคบหาสมาคมกับใคร เราเกี่ยวข้องกับสิ่งใด อะไรมันเกิดขึ้นที่ตัวเรา ให้ดูอย่างนี้ ค้นหาอย่างนี้ เราก็จะเป็นคนฉลาดขึ้น ถ้ามัวแต่ไปค้นข้างนอกมันก็ยังไม่ฉลาดในเรื่องตัว ช่วยตัวไม่ได้ เวลาทุกข์ก็ไม่รู้จะแก้อย่างไร เพราะไม่รู้จักแก้ที่ตัวของตัวเอง ให้เข้าใจอย่างนี้ อันนี้วันก่อนนี้ได้พูดมาถึงเรื่องศีล ๕ ข้อ ว่าให้เข้าถึงศีล ปฏิบัติศีล แล้วจะอยู่เย็นเป็นสุข มีคนเขียนปัญหามาถาม ลืมเอามาเลยไม่รู้ว่าถามอะไร ไม่ได้ตอบในวันนี้ ค่อยตอบวันต่อไป วันนี้ไปออกโทรทัศน์กลับมาก็รีบมาเทศน์ ลืมเอาไปรษณียบัตรฉบับนั้นมา ที่ถามปัญหาไว้ จึงค่อยตอบกันในเวลาต่อไป ทีนี้เรามาพูดก้าวหน้าขึ้นไปอีกสักหน่อยในเรื่องศีล เพราะว่าศีลมันมีหลายชั้น ศีล ๕ และก็ถึงขึ้นศีล ๘
ศีล ๘ นี้เขาเรียกว่าเป็นอุโบสถศีล หรือศีลพรหมจรรย์ การรักษาศีล ๘ นั้น เขารักษาในวันอุโบสถ คือวันพระ เดือนหนึ่ง ๔ วัน วันพระ ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ วันนี้ขึ้น ๑๔ พรุ่งนี้ก็ขึ้น ๑๕ เป็นวันเพ็ญ แต่ว่าวันเพ็ญนี้ไม่ใช่วันเพ็ญมาฆบูชา เพราะว่าปีนี้มัน ๘ สองหน ถ้า ๘ สองหนก็เลื่อนไปเป็นวันเพ็ญเดือน ๔ มาฆปีนี้อยู่ในวันที่ ๕ มีนาคม วิสาขก็เลื่อไปเป็นวันที่ ๒ มิถุนายน เป็นวันเพ็ญเดือน ๗ ที่เลื่อนไปอย่างนั้นก็เพราะว่า เขาเพิ่มเดือนเข้ามาเดือนหนึ่ง เพิ่มเดือนเพื่อให้มันสมดุลกันกับเดือนทางสุริยคติ เดือนสุริยคติคือนับวันที่ ๑, ๒, ๓, ๔ จนครบ ๓๐, ๓๑ วัน นับอย่างนั้นเรียกว่าการนับแบบสุริยคติ นับตามการเดินของดวงอาทิตย์ และอีกแบบหนึ่งเขาเรียกว่าจันทรคตินับตามแบบดวงจันทร์ ดวงจันทร์ขึ้นก็นับขึ้น ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘ ตามความเพิ่มของดวงจันทร์ พอดวงจันทร์เต็มดวงก็เรียกว่าวันเพ็ญกลางเดือน แล้วเดือนก็ค่อย ๆ แหว่งเว้าเข้าไปเรื่อย ๆ เรียกว่าข้างแรม จนกระทั่งหมดดวง มองไม่เห็นก็เรียกว่าวันดับ นั่นนับแบบจันทรคติโบราณเขานับอย่างนั้น ในประเทศอินเดียนับอย่างนั้นพระพุทธเจ้าก็ให้ปฏิบัติธรรม ตามแบบที่เขาถือกันอยู่ในสมัยนั้นว่าวันเพ็ญกลางเดือนเป็นวันที่พระธรรมโบสถ ชาวบ้านเขาถือกันอย่างนั้นถ้าพระพุทธเจ้ายังอยู่ในสมัยนี้ก็คงจะเปลี่ยนไปแล้วเหมือนกัน เพราะพระพุทธเจ้าท่านเปลี่ยนไปตามความเป็นอยู่ของบ้านเมือง ภาษาบาลีเขาว่า ราชา นิวัติ ตุง หมายความว่า เปลี่ยนไปตามพระราชา เปลี่ยนไปตามระบบบ้านเมือง บ้านเมืองเปลียนการนับไปอย่างไรก็เปลี่ยนไปตามนั้น ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่เปลี่ยนได้ เหมือนว่าเรามาวัดกันในวันพระ แต่ว่าวันพระราชการไม่หยุด เราก็มาวันอาทิตย์ได้ วัดนี้จึงได้เทศน์วันอาทิตย์ เพราะเห็นว่าถ้าขืนเทศน์ในวันพระอยู่ก็จะไม่มีคนฟัง เพราะคนไม่ว่าง มีแต่คนแก่ว่าง ๆ ไม่กี่คน หลอมแหลม แต่ว่าวันอาทิตย์เขาหยุดงานหยุดการกัน เพื่อให้คนพักผ่อน เราก็มีเทศน์วันอาทิตย์ คนก็มาวัดกันในวันอาทิตย์ มาวันอาทิตย์มาฟังธรรมก็ได้ มารักษาศีลก็ได้ มาเจริญภาวนาก็ได้ ทำอะไรได้ทั้งนั้น ไม่ลำบากยากเข็ญอะไร เช่นเหมือนว่าเราจะถืออุโบสถ ไม่จำเป็นว่าจะต้องถือในวันพระก็ได้ เพราะความสำคัญไม่ได้อยู่ที่วัน แต่ความสำคัญอยู่ที่ตัวการปฏิบัติ
ตัวการที่เราตั้งใจจะรักษาศีล อยู่ในศีล สำคัญมันอยู่ตรงนั้น ไม่ใช่อยู่ที่วันเวลา แต่ว่าเอาวันที่หยุดงานหยุดการ คนสมัยก่อนเขาหยุดในวันพระ เราจึงสอนให้ถือศีลในวันพระที่เขาหยุดกัน มาสมัยนี้เราไม่ได้หยุดงานในวันพระ ก็มีคนพยายามที่จะดึงรัฐบาลอยู่เหมือนกันที่จะให้หยุดงานในวันพระ อันนี้เห็นจะยาก เห็นจะดึงมายาก และก็ยังดึง ๆ กันอยู่ เห็นมีผู้แทนราษฎรจังหวัดไหนก็ไม่รู้ อยากจะหาเสียงกับประชาชน เลยทำหนังสือถึงรัฐบาลให้หยุดงานในวันพระ คนจะได้ไปวัด คนที่จะไปวัดน่ะหยุดวันไหนมันก็ไปได้ทั้งนั้น หยุดวันอาทิตย์เขาก็มา เหมือนที่โยมมากันอยู่นี่ ไอ้คนที่ไม่มา หยุดวันพระมันก็ไม่มา หยุดวันพระก็ไปตีกอล์ฟ ก็ไม่มาวัดเหมือนกัน หรือว่าไปเที่ยวบางแสน ไปพัทยา ไปอะไร ไปสนุก เขาไม่มาก็ไม่มา ไม่ใช่พอหยุดแล้วคนจะเฮกันมาวัด ไม่ใช่อย่างนั้น เขาอาจจะมาก็ได้ ไม่มาก็ได้ แล้วอีกอย่างหนึ่งวัดเรานี่มีสิ่งที่จะให้คนมาหรือเปล่า มีสิ่งดึงดูดใจคนให้มาวัดหรือเปล่า เขามาแล้วเขาจะได้อะไรจากการมาวัดหรือเปล่า มันต้องจับวัดให้เป็นที่เหมาะสำหรับคนที่จะมาวัด คือให้เขามาแล้วเขาได้ประโยชน์จากการมาวัด ถ้าทางวัดไม่มีอะไรจะให้เขา เขาก็จะมาทำไม อย่างนี้มันไม่ใช่เรื่องสำคัญที่วัน มันสำคัญที่จัดวัดให้คนมาวัด จัดสิ่งให้คนมาวัดได้รับไปคุ้มกับการมา แล้วคนเขาก็มากันเอง นี่ญาติโยมมากันวันอาทิตย์นี่มากันตั้ง ๒๔-๒๕ ปีแล้ว มากนอยู่อย่างนั้น มากันเรื่อย ๆ ถ้าได้พรรษาก็มาเพิ่มกันอีกมากหน่อย ถ้ามีลูกหลานบวชอยู่วัดก็มาเยี่ยมลูกด้วย มาฟังธรรมไปด้วย เขาก็มากันอยู่ เพราะฉะนั้นถึงแม้จะไม่ได้หยุดในวันพระ เราทำวันอาทิตย์ให้เป็นวันพระก็ได้ เพราะวันพระมันอยู่ที่ในของเรา ใจเราเป็นพระมันก็เป็นพระ ตัวเราก็เป็นพระ บ้านอยู่ก็เป็นพระ การพูดการจาก็เป็นพระ ทำอะไรมันก็เป็นพระไปหมด สมัยก่อนก็ถือวันพระอย่างนั้น ก็ถือวันนั้นกันมา
ครั้นเมื่อโลกมันเปลี่ยนแปลงไปก็เป็นไปอีกรูปหนึ่ง ไม่เห็นจะเป็นการลำบากเดือดร้อนอะไร เราทำได้ เช่นสมมติว่าโยมจะถือศีลในวันอาทิตย์ก็ได้ มาแต่เช้า มาถึงก็รับศีลจากพระ รับศีลเสร็จแล้วเราก็อยู่วัด นอนวัดก็ได้ ไม่ลำบากอะไร มีที่พักให้ เรานอนวัดเพื่อรักษาศีลแปดให้มันดีมันงามขึ้น เราก็มาอยู่ได้ พักผ่อนที่วัดได้ ถ้าต้องการ มันไม่ลำบากอะไร เป็นเรื่องสะดวกแก่ผู้ที่จะปฏิบัติไม่ใช่แค่ในวันอาทิตย์ ให้เข้าใจเสียใหม่ว่าการถืออุโบสถศีลไม่จำเป็นว่าต้องถือในวันพระเสมอไป แม้วันอาทิตย์ก็ถือได้ หรือไม่ใช่วันอาทิตย์แต่เราหยุดราชการ ลาพักร้อน สมมติว่าอย่างนั้น เราลาพักร้อน ๑๕ วัน เรามาถืออุโบสถศีล ๑๕ วันก็ได้ ลูกเล็กเด็กหนุ่ม เด็กสาวที่จะมาบวช เดี๋ยวนี้ลูก ๆ ที่จะบวชบางทีก็เป็นข้าราชการ แล้วจะลาพักรัอนแล้วแอบมาบวชไม่ได้ อันนี้ขอทำความเข้าใจไว้ด้วย คือ บวชไม่ได้ เพราะว่าลาพักร้อน ไม่ใช่ลาบวช ในระเบียบของการบวชนั้นต้องได้รับการอนุญาตจากพระราชา หรือข้าราชการต้องได้รับอนุญาตจากราชการ ใครเป็นผู้อนุญาต รัฐมนตรี หรือ อะไรก็ตาม เขาอนุญาตว่าไปบวชได้ ทีนี้ลาพักร้อนแล้วแอบไปบวช มันไม่ถูกต้อง อุปัชฌาย์ที่ไม่เอาไหนก็บวชให้มันก็ได้ไม่มีใครว่า แต่ถ้าคิดคำนึงถึงความถูกต้องมันก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นบวชไม่ได้ เมื่อบวชไม่ได้ก็แนะนำว่าเธอพักร้อนกี่วัน สมมติว่าพักร้อนได้ ๑๕ วัน เธอวัดมาถือศีลอุโบสถอยู่ที่วัด นุ่งขาวห่มขาว ให้มันแปลกขึ้นหน่อยแล้วก็อยู่อย่างคนถือศีลในวัด ๑๕ วัน ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสงบใจ อ่านหนังสือธรรมะ ใช้เวลาพิจารณากับตัวเอง เพื่อตักเตือนตัวเอง แก้ไขตัวเอง อย่างนี้มันก็ได้ คือได้ผลเหมือนกัน ได้ผลทางจิตใจเหมือนกัน แต่ว่าคุณยายคุณย่า คุณพ่อคุณแม่นี่ ยังติดผ้าเหลืองอยู่ ยังติดรูปแบบอยู่ บวชมันต้องโกนหัวโกนคิ้ว มันต้องนุ่งเหลืองห่มเหลือง อยากจะเห็นผ้าเหลือง มาคลุมร่างกายลูกชายหลานชาย ถ้าไม่ได้นุ่งผ้าเหลืองก็ถือว่ายังไม่ได้บวช อันนี้เรียกว่าเข้าใจแต่ด้านนอก ไม่เข้าใจถึงด้านใน
การบวชนั้นมีสองด้านคือบวชกายกับบวชใจ บวชกายก็คือนุ่งเหลืองห่มเหลือง โกนหัว ใส่เครื่องแบบ อันนี้บวชทางกาย บวชทางใจนั้นคือตั้งใจงดเว้นจากความชั่วด้วยประการทั้งปวง เรียกว่าบวชใจ ถ้ามีเวลาก็ควรจะบวชทั้งกายทั้งใจ แต่นี่เวลามันไม่มีทำงานยังไม่ถึงสามปีเขาไม่ให้ลา แต่ว่าจะพักร้อนแอบมาบวชอย่างนั้นมันไม่ได้ แต่บวชทางอย่างนี้ได้ไม่เอา พ่อแม่ไม่ยอมบอกว่า เอาไว้ก่อน ความจริงถ้ามาเด็กก็จะได้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องธรรมะ จะได้ฝึกฝนอบรมจิตใจให้มันดีขึ้น แต่ไม่เอาก็เลยไม่ได้ เมื่อไม่ได้อย่างโน้น เอาอย่างนี้ไว้ก่อน ไว้โอกาสหน้าเมื่อเวลามันมี ทำงานครบสามปีแล้วก็ลาบวชได้ เราก็มาบวชจริงจังกันอีกทีนึง เอาอย่างนี้ไว้ก่อน มันก็ได้ผลเท่ากัน คือได้ผลเหมือนกัน แต่เพราะเราไปยึดติดในรูปแบบมากเกินไปจึงไม่ยอม มันต้องนุ่งเหลืองห่มเหลือง ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ นี่เขาเรียกว่ามองแต่ข้างนอก ไม่ได้มองข้างใน สมมติว่านุ่งเหลืองห่มเหลืองแล้วมาอยู่วัดฉันแล้วนอน ฉันแล้วนอนไม่ปฏิบัติอะไร มันจะได้อะไรขึ้นมา มันก็ไม่ได้อะไร อันนี้ถ้าไม่ได้นุ่งเหลืองห่มเหลือง อยู่อย่างเคร่งครัด ปฏิบัติภาวนา ฝึกฝนอบรมจิตใจ อ่านหนังสือธรรมะ ศึกษาธรรมะ มันก็ได้ ไอ้ตรงที่ได้เขาไม่ค่อยคิด คือคิดแต่ว่า ขอให้ได้บวช บวชแล้วทำอะไรบ้างก็ไม่รู้เหมือนกัน มันเป็นเสียอย่างนี้เลยลำบากอยู่ จึงขอทำความเข้าใจเสียว่าถ้าไม่มีโอกาสจะบวช นุ่งเหลืองห่มเหลือง โกนหัวขูดคิ้ว มาบวชอยู่วัดพักผ่อน แบบคนถือศีล ๑๕ วัน ก็ได้เหมือนกัน อาจารย์ก็จะช่วยฝึก ช่วยสอน ช่วยทำความเข้าใจให้เหมือนกับการบวชนั่นแหละ เช้าขึ้นก็มาทำวัตรพร้อมกับพระ ได้ฟังการอบรมเหมือนกัน แล้วตอนบ่ายก็มีสอนเหมือนกัน กลางคืนนั่งภาวนาก็ไปนั่งเหมือนกัน แล้วไม่ให้ไปไหน ๑๕ วันนี่ไม่ให้ออกไปนอกวัดเลย ให้อยู่แต่ในวัด อย่างนี้ก็เรียกว่าบวชอยู่แล้วแต่เพราะโยมยังไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่มีใครอธิบายให้ฟัง มีอธิบายอยู่องค์เดียวแต่ท่านเจ้าคุณวัดชลประทาน โยมก็ยังไม่ค่อยรับฟัง ไม่เห็นที่ไหนเขาทำกัน วัดนี้ทำไม่เหมือนเพื่อนเลยยังไม่ยอมรับกัน เรื่องมันเป็นอย่างนี้จึงขอให้เข้าใจเสียใหม่ว่าทำได้ แล้วผู้หญิงก็มาบวชได้ สมมติว่าโรงเรียนปิดนี่ ลูกเด็กเล็กหญิงจะมาบวชก็ได้ ไม่ต้องโกนหัว แต่ว่านุ่งขาวห่มขาวหน่อย มันจะได้เป็นเครื่องเตือนใจ แล้วก็ถือศีลอุโบสถมาอยู่วัด ๑๕ วัน ครบ ๑๕ วันก็กลับไปบ้าน ไปเรียนหนังสือต่อไป อย่างนั้นจะช่วยให้เด็กได้อะไรดีขึ้น ได้กำไรทางจิตใจ เพราะเด็กหญิงจะบวชเป็นสามเณรหน้าร้อนก็บวชไม่ได้ แต่ว่ามาอยู่อย่างนั้นได้ มาอยู่วัดอย่างนั้น ปฏิบัติธรรมอย่างนั้นมันก็ได้ ผู้เฒ่าผู้แก่ก็อยากจะทำอย่างนั้นก็ได้
โดยเฉพาะคนแก่นี่จะบวชพระมันก็ลำบากเหมือนกัน ปัญหาก็มากเหมือนกันจะมาบวช อายุเท่าไรแล้ว ๗๐ แหมบอกว่ามันแก่เกินแกงเสียแล้วโยม มันไม่ไหวแล้ว ๗๐ นี่ จะออกไปบิณฑบาตมันก็ลำบากแล้ว บวชนั้นก็ลำบาก อย่าบวชเลย ถือศีลไปเถอะ จะมาอยู่วัดถือศีลเป็นครั้งคราวก็ได้ อยู่กับลูกกับหลานก็ได้ แต่ว่าตั้งใจรักษาศีลอะไรไป อยู่บ้านอึดอัดก็มานอนวัดเสียบ้าง อะไรอย่างนี้ ก็ไม่เอาอีกนั่นแหละ กลับไปเลย ไม่บวช บางคนบวชวัดนี้ไม่ได้ โน่น ไปบวชบ้านนอก บวชแล้วมาเดินอวดให้ดูว่าผมบวชแล้ว พอถามว่าไปบวชที่ไหนมา อุปัชฌาย์ตาถั่วที่ไหนบวชให้แล้ว อย่างนี้ก็ไม่ได้เรื่อง มีคนหนึ่งแขนไม่มี แขนซ้ายไม่มี จะมาบวชที่นี่ก็ไม่ได้ ไปวัดธรรมยุตขอบวชเขาไม่ให้บวช เขาถือ เขาไม่ให้บวช ก็ไปโน่น ไปจังหวัดเลย อำเภอภูเรือ อุปัชฌาย์ในป่าพงพลี ไหนก็ไม่รู้ บวชให้แล้ว วันนั้นมาถึง กราบบอกว่ามาจากไหน บอกว่าผมก็อยู่แถวนี้แหละเมื่อก่อน อยากจะบวชวัดนี้ก็ไม่ได้ ขอไปบวชวัดธรรมยุตก็ไม่ได้ เลยได้ไปบวชที่ภูเรือ เจ้าคณะอำเภอภูเรือ นาน ๆ จะได้เห็นเมืองใหญ่เสียที เห็นคนไปบวชก็นึกว่าบวชคนนี่มันได้บุญ ก็เลยบวชให้ บวชให้แล้วบิณฑบาตรก็ไม่ได้ บาตรนั้นถือได้แต่จะเปิดฝาอย่างไร เปิดไม่ได้น่ะสิ ก็ถือมือเดียวจะเปิดอย่างไร เอามือนี้เปิดฝา บาตรก็หล่นตุ๊บน่ะสิ มันก็ยุ่งแล้ว บอกว่าทำไมไปบวชคนอย่างนี้ ก็บอกว่าไม่ได้ ไม่ถูกต้อง บวชไม่ได้ก็ไม่ต้องบวช ถือศีล ประพฤติดี ประพฤติชอบ อยู่วัด งดเว้นสิ่งชั่วร้าย นี่มันก็ใช้ได้แล้ว โยมผู้หญิงนี่ก็บวชได้ บวชอย่างนั้น บวชถือศีล บางคนบอกว่าแหมชาตินี้เสียดาย ไม่ได้เกิดเป็นผู้ชาย จะได้บวช ไม่ต้องคิดเสียดายอย่างนั้นหรอก เพราะการปฏิบัติศีลธรรมนั้น ไม่ได้อยู่ที่เพศ แต่เรื่องการบวชนี้เป็นเรื่องวินัย ที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ เราก็ไม่ต้องไปเป็นอย่างนั้น
แต่ว่าเราทำใจของเราได้ ทำใจให้สูงขนาดไหนก็ได้ ไม่ได้ปิดกั้นประตูแห่งพระนิพพาน ไม่ได้ปิดกั้นประตูที่จะก้าวไปสู่ความเป็นอริยบุคคล ผู้หญิงก็เป็นโสดาบันขึ้นไปได้ ไปถึงนิพพานได้ เป็นพระอรหันต์ก็ได้ ไม่ใช่เป็นไม่ได้ การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ได้จำกัดเพศ ไม่ได้จำกัดวัย ชาติ ภาษา อะไรทั้งนั้น ผู้ใดปฏิบัติ ผู้นั้นก็ได้ เหมือกับน้ำนี่ มีประโยชน์สำหรับดับกระหาย ใครดื่มมันก็ดับกระหายได้ อาบแล้วแก้ร้อนได้ ทำความสะอาดได้ มันก็ใช้ได้ทั้งนั้น พระธรรมก็เป็นอย่างนั้น เราเอามาใช้ได้แต่ว่าเราต้องให้เป็นอย่างนั้น จะต้องบวช จึงขอบอกว่าไม่ต้องบวชแบบที่เขาบวช แต่เราประพฤติรักษาจิตใจให้มันสะอาด สงบไว้ ให้สว่างไว้ด้วยปัญญา อยู่ไหนก็บวชได้ แม้อยู่บ้านก็บวชได้ อยู่คนเดียวยิ่งดีใหญ่ เพราะไม่ยุ่งกะใคร ฉันถือศีล ตอนเย็นจะไม่ทานอาหารก็ได้ หรือว่าจะทานก็ได้ แต่ว่าทำใจให้มันสบายไว้ อย่าหงุดหงิด งุ่นง่าน อย่าไปโกรธใคร อย่าไปเกลียดใคร อย่าไปริษยาใคร ให้มีใจสงสารคน สงสารสัตว์ทั้งหลายอยู่ได้ด้วยความสบายใจ อย่างนี้ก็เรียกว่าบวชอยู่ในตัวแล้ว บวชได้อย่างนี้ ไม่ลำบากอะไร การถืออุโบสถนี่ก็เรียกว่าการบวชแบบหนึ่งเหมือนกัน ตามเรื่องก็เล่าว่าพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศอินเดีย ท่านไปอยู่กับพระ ๑๕ วัน ๗ วันบ่อย ๆ ถ้าว่าราชการงานบ้านเมืองรู้สึกว่ามันหนักแล้ว ท่านก็ไป เรียกว่าพักผ่อนตากอากาศ สมัยนี้เขาไปพัทยา ไปหัวหิน ไปไกล ๆ แต่สมัยนั้นพระเจ้าอโศกท่านอยู่กลาง ๆ ประเทศอินเดีย เขายังไม่มีความคิดจะไปเดินเล่นชายหาดเหมือนสมัยนี้ ท่านก็ไปพักผ่อนที่วัดกับพระ ไปอยู่กับพระ พอว่างจากราชการหรือว่ามันไม่ว่างก็ปลีกตัวไปพักอยู่กับพระ ๗ วัน บ้าง ๑๕ วันบ้าง แล้วไปบ่อย ๆ ไปพักอยู่กับพระ คือไปถืออุโบสถศีลนั่นเอง แล้วก็อยู่กับพระ สนทนาธรรมกับพระ นั่งฝึกภาวนา ระงับจิตใจ ได้กำลังใจเพิ่มขึ้น ได้เพิ่มกำลังใจให้ดีขึ้น ก็กลับมาบริหารงานต่อไป ปกครองประเทศโดยธรรม มีความสุข มีความเจริญก้าวหน้า ด้านประวัติศาสตร์โลกได้จารึกไว้ว่าเป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่ตรงที่มีธรรมะนี่เอง ยิ่งใหญ่ตรงที่มีธรรมะเป็นหลักในการปกครอง ปกครองคนโดยธรรมแปลว่ายิ่งใหญ่ ไม่ใช่เป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่เพราะมีเมืองขึ้นมาก มีเมืองขึ้นมากแต่ถ้าไม่มีธรรมมันก็ไม่ยิ่งใหญ่โดยธรรม ไม่ใหญ่โดยธรรมก็เรียกว่ายังไม่ใหญ่ หลักการมันควรเป็นอย่างนั้น ท่านก็ไปทำอย่างนั้น ประพฤติธรรมอย่างนั้น ถ้าหากว่าเป็นคนอายุมาก แก่ตัวออกจากราชการแล้ว บางทีเขาก็บวชเป็นสัญญาศีล ท่องเที่ยวไป ต้องการอาหารเพียงมื้อเดียว เครื่องนุ่งห่มเพียงเล็กน้อย หม้อน้ำใบเดียว ไม้เท้าอันนึงค้ำกาย เดินไป เที่ยวสอนคนตามที่ต่าง ๆ นั่นก็เป็นเรื่องของการบวช คนอินเดียนี่เขาได้สนใจในเรื่องการบวชมานานก่อนพระพุทธเจ้าของเราเกิดขึ้นในโลกด้วยซ้ำไป เขาสนใจมา เขาทำกันมาก่อน
ตอนนั้นเจ้าชายสิทธัตถะจึงได้เห็นนักบวช ได้เห็นนักบวชแล้วก็เปล่งวาจาว่า “สาธุ ... ปัจจฉา” บวชนี้เข้าที แล้วท่านก็บวชเหมือนกันก็เห็นว่ามันเข้าที เลยออกบวช การบวชมันก็เป็นอย่างนั้น แล้วเราที่มีภาระอยู่บ้านอยู่ช่อง มีปัญหาที่จะต้องแก้ไข ที่จะต้องทำ กำลังใจนี่ก็เป็นเรื่องสำคัญในการอยู่ในโลก ถ้ากำลังใจเข้มแข็ง เราก็สบาย ถ้ากำลังใจอ่อนแอเราก็พ่ายแพ้ต่อปัญหา มีความกังวลใจมาก มีความทุกข์มาก ชีวิตมันก็ไม่เรียบร้อย จึงต้องสร้างกำลังใจให้เข้มแข็ง การสร้างกำลังใจให้เข้มแข็งก็คือ อบรมด้านภาวนา ด้านเก็บตัวเงียบ ๆ ก็คือการมาอยู่อุโบสถนี่ ในเรื่องชาดก เรื่องวิฑูรชาดก เล่าเรื่องว่าพญานาคก็มารักษาศีล พญาครุฑก็มารักษาศีล เทวดาก็มารักษาศีล พระมหากษัตริย์ก็มารักษาศีล มารักษาศีลพร้อมกัน มาเจอกัน ครุฑกับนาคมาเจอกันด้วยสายตาเมตตา ครุฑนั้นเมตตานาคมากกว่า นาคไม่เมตตาครุฑอะไรเพราะไม่ได้กินครุฑ แต่ครุฑนั้นกินนาค เมื่อถือศีลแล้วก็มองนาคด้วยน้ำใจเมตตา ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ประทุษร้ายกัน เทวดาอยู่บนสวรรค์สบายเต็มทีแล้ว สบายด้วยความสุขทางเนื้อหนังมากก็รำคาญเบื่อพวกนางฟ้าทั้งหลาย เลยลงมาพักผ่อนรักษาอุโบสถศีล เหมือนกัน พระราชาก็เหมือนกัน การครองบ้านครองเมือง ไปรักษาศีลเหมือนกัน ไปเจอกันเข้า ไปสนทนากันว่าศีลของใครจะยิ่งใหญ่กว่าใคร ก็ให้พระวิฑูรบัณฑิตเป็นผู้ตัดสิน ว่าของใครยิ่งใหญ่กว่าใคร เป็นตัวอย่างว่าท่านเหล่านั้นยังมารักษาอุโบสถศีล การรักษาอุโบสถศีลก็คือการมาพักผ่อนทางกายและทางใจ เป็นการพักผ่อนที่เป็นไปเพื่อการขูดเกลา ไม่ใช่พักผ่อนเป็นไปเพื่อเพิ่มพูน ราคะ โมหะ โทสะ เราไปพักผ่อนตามชายหาด ตามที่ต่าง ๆ ก็มีอารมณ์ยั่วยุมากมาย ไปเห็นสิ่งโน้น เห็นสิ่งนี้ อะไรมันเพิ่มราคะ โทสะ โมหะได้ แต่ถ้าเรามาเก็บตัวเงียบ ๆ ตามวัด มันลดสิ่งเหล่านั้น เพราะเราไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้แตะต้องอะไรที่เป็นเครื่องยั่วจิตใจให้เกิดความฟุ้งซ่าน ก็ได้มาพักผ่อน นั่นเป็นการพักผ่อนจริง ๆ การพักผ่อนที่แท้คือการทำใจให้สงบ นั่นแหละคือการพักผ่อน ถ้าพักผ่อนใจไม่สงบก็เรียกว่าพักทางกาย ใจไม่ได้พัก ถ้าใจไม่ได้พัก มันก็ยังเหนื่อยอยู่นั่นเอง เหนื่อยกายนี่ไม่เท่าไร แต่เหนื่อยใจสิมันเหนื่อย
คนเราเหนื่อยใจนี่อาจจะหัวใจวายได้ แต่ถ้าเหนื่อยกายนั้นก็ไม่สู้กะไรนัก นอนพักมันก็หายแล้ว นั่งมันก็หายแล้ว แต่เหนื่อยใจนั่งก็เหนื่อย นอนก็เหนื่อย เดินมันก็เหนื่อย เรียกว่าเหนื่อยใจ ความเหนื่อยใจนี่เป็นความเหนื่อยที่ต้องแก้ด้วยธรรมะ ต้องแก้ด้วยการพักผ่อนในรูปธรรมะ จะไปแก้ด้วยการเปลี่ยนอารมณ์ไม่ได้ ไอ้ที่เราพักผ่อนทั่วไปนั้นเป็นการเปลี่ยนอารมณ์ คือ อยู่กับอารมณ์นี้นานก็ไปอยู่กับอารมณ์นั้น เปลี่ยนอารมณ์อย่างนี้ อยู่ในบ้านนาน ๆ ก็เปลี่ยนไปพัทยาเสียที ไปบางแสนเสียที ไปหัวหิน ไปชะอำ อะไรอย่างนี้ ไปเปลี่ยนอารมณ์เท่านั้นเอง แต่ว่าจิตใจยังไม่ได้พักผ่อนเท่าใด พักผ่อนมันต้องมาที่เงียบ ๆ มีสถานที่ทีสงบเงียบ แต่ว่าจะไปนั่งเงียบในป่ามันก็ไม่ปลอดภัย เดี๋ยวใครมาจับคนถืออุโบสถศีลไปฆ่าตาย มันก็ลำบากอีกนั่นแหละ อย่างนี้มันต้องมาวัดเงียบ ๆ ที่พักผ่อนเงียบ ๆ วัดเราก็ต้องมีสถานที่ให้คนมาพักผ่อน เรียกว่าเป็นโรงพยาบาลรักษาโรคทางวิญญาณ ให้มีไว้บ้าง ใครจะมาพักก็พักได้ พักอยู่อย่างง่าย ๆ อยู่อย่างคนธรรมดา ไม่เอาความมั่งคั่งมาด้วย ไม่เอาตำแหน่งหน้าที่การงานมาด้วย มาอย่างคนธรรมดา มาพักให้สบาย ได้กำลังใจเพิ่มขึ้นแล้วเรากลับไปทำงานต่อไป ไปทำงานมันก็จะรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้น เพราะได้มีการพักผ่อนทางใจ เรื่องนี้มันก็สำคัญเหมือนกัน จึงควรจะได้คิดในทางที่จะได้มาพักผ่อนอย่างนั้น ถือศีลไปด้วยในตัว ศีลอุโบสถนี้มันมี ๘ ข้อ ศีลธรรมดามันมี ๕ ข้อ ก็เรียกว่านิจศีล คือ ศีลที่รักษาเป็นนิจ ไม่ใช่รักษาเป็นครั้งคราว รักษาเป็นนิจตั้งแต่วินาทีที่ปฏิญาณตน ว่าเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า เราก็ต้องถือศีล ๕ ข้อเคร่งครัด ที่เรารับเรารู้กันอยู่อย่างเคร่งครัด ปฎิบัติตามหลักการนั้นอย่างสม่ำเสมอตลอดไป แล้วก็ไม่ต้องรับกันบ่อย ๆ รับกันบ่อยเหมือนกับว่าเชือกที่มันตัดต่อกันหลายทีมันไม่ค่อยมั่นคง เส้นเดียวไม่มีต่อนั้นมันมั่นคงดี เราก็ควรถือว่าเรารับศีลอยู่แล้ว ในฐานะเราเป็นชาวพุทธ เราก็ต้องมีศีล ต้องสำรวจตัวเองว่ามีศีลสมบูรณ์หรือไม่ ข้อใดขาดตกบกพร่องไปบ้าง มันสำรวม มันตรวจสอบ เหมือนเราตรวจสอบสตางค์ในบัญชีว่ามันขาดมันเกินอย่างไร ให้เราสอบตัวเราว่าเรามีศีลขาดข้อไหน บกพร่องข้อไหน อะไรไม่ดีบ้าง แก้ไขปรับปรุงเรื่อย ๆ ขึ้นไปเรื่องศีล ๕ ดังที่กล่าวแล้ว เพื่อให้ศีล ๕ ของเราบริสุทธิ์มากยิ่งขึ้น เราก็มารักษาอุโบสถเป็นครั้งคราว เช่น ๗ วันก็มาพักอุโบสถเสียทีหนึ่ง
การรักษาอุโบสถศีลนั้นจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นหลายอย่างหลายประการ การรับอุโบสถศีลนั้นมันรับผิดกันตรงข้อ ๓ ถ้าเรารับศีล ๕ เรารับว่า กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ แปลว่าข้าพเจ้าขอสมาทานสิขาบทคือรับเอาแบบฝึกหัดไปปฏิบัติในทางที่จะไม่ประพฤติผิดล่วงเกินในทางกาม นี่เรียกว่ารับศีล ๕ ของข้อนั้น และข้อ ๔ ข้อ ๕ ว่าเหมือนกัน ทีนี้ถ้ารับศีล ๘ หรืออุโบสถศีลนี่ เราก็รับว่า อพรัหมะจะริยา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ แปลว่าข้าพเจ้าขอรับข้อปฏิบัติคือการประพฤติงดเว้นจากการผิดพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ คือ ตัวคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เวลาพระพุทธองค์จะส่งสาวกไปประกาศธรรมะนี่พระองค์ตรัสว่า พรัหมมัง จะริยัง ปะกาเสถะ เธอทั้งหลายจงไปประกาศพหรมจรรย์ ให้ไปประกาศพรหมจรรย์ ตัวพรหมจรรย์นี่คือตัวสิ่งที่เป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เรียกว่าเป็นหลักคำสอน เป็นหลักการปฏิบัติของพุทธศาสนา คือ ตัวพรหมจรรย์ พรหมจรรย์นี่แปลว่าอะไร แปลว่า อยู่อย่างพรหม พรหมน่ะไม่ได้แปลว่าพรมน่าโรงแรมเอราวัณ หรือว่าพรมที่ไหน ๆ ไม่ใช่พรมอย่างนั้น ที่หน้าสถานีโทรทัศน์ก็มีพรหมนั่งอยู่องค์หนึ่งเหมือนกัน เมื่อตะกี้นี้ไปก็มีผู้หญิงคนหนึ่งไปนั่งไหว้อยู่ ก็เลยเข้าไปข้างหลัง ไปดูว่าเขาไหว้อย่างไร พอไหว้เสร็จแล้วก็มาบอกว่า หนูมาบนบานสานกล่าวเรื่องอะไร มาขออะไรจากพระพรหม เขาบอกว่าไม่ได้ขออะไรหรอก มาไหว้เท่านั้นเอง มาไหว้ เคยมาไหว้แล้วก็เลยมาไหว้ไว้ อย่างนั้นเอง ไม่ได้ขออะไร แล้วเขาก็ลุกขึ้นจะไป ก็เลยไม่ได้รบกวนถามอะไรต่อไป เขาก็ไป ไหว้พระพรหม เขาไม่ได้ปฏิบัติพรหมจรรย์ แต่เขาไหว้พระพรหม ไปไหว้รูปของพระพรหม พรหมนั้นเป็นตัวบุคคลสมมติในศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพราหมณ์เขานับถือพระพรหม พระศิวะ พระวิษณุ พระพรหมเขาถือว่าเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวง อันนี้มันเป็นศาสนาเก่าแก่ของคนที่ยังไม่พบความจริงในแง่ธรรมะ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในอินเดีย เกิดขึ้นในอาหรับ เกิดขึ้นในอิสราเอล มันก็แนวเดียวกัน เจอแนวคิดที่ว่าน่าจะมีผู้สร้างสิ่งที่เราเห็นเป็นอยู่น่าจะมีผู้สร้าง สมัยนั้นเขาคิดอย่างนั้น แต่มาสมัยปัจจุบันก็ว่าแล้วใครสร้างผู้สร้างหล่ะ มันไม่จบหล่ะทีนี้ ปัญหามันเหมือนไก่เกิดจากไข่ ไข่เกิดจากไก่ มันเวียนอยู่อย่างนั้นมันไม่จบไม่สิ้น
พระพุทธเจ้าบอกว่าอย่าไปคิดปัญหาผ่าเส้นผม เส้นผมมันเล็กอยู่แล้วอย่าไปผ่ามันเลย เสียเวลาไปเปล่า ๆ เรามาคิดปัญหาเฉพาะหน้ากันดีกว่า ปัญหาเฉพาะหน้าก็คือเรามันทุกข์อะไร แล้วเราจะแก้ความทุกข์ได้โดยวิธีใด นี่คือปัญหาเฉพาะหน้า อย่าไปนั่งคิดว่าใครสร้างโลก สร้างอย่างไร เอาอะไรมาสร้าง บ้าตาย ไม่เข้าเรื่องอะไร อันนี้เขาเรียกว่าปัญหาที่ไม่จำเป็น มันเสียเวลา มาคิดถึงเรื่องอย่างนั้น แต่อาศัยความเชื่อเก่าที่เขาเชื่อมาอย่างนั้นว่ามีพระพรหมเป็นผู้สร้าง คนก็นับถือพระพรหมกันไปตามเรื่อง ตามราว แล้วก็ทำรูปพระพรหมไว้ เป็นพระ ๔ หน้า พระพรหมสี่หน้า หน้ามันมากมองไปสี่ทิศ สร้างเสร็จแล้วก็นั่งดูว่าใครมันทำอะไรบ้าง แต่ว่าพระพรหมไม่มีอำนาจอะไร เพราะพระพรหมเป็นผู้อยู่เฉย ๆ และต้องสั่งให้พระศิวะดูแลด้วยนะ ฉันสร้างไว้แล้วนะ พระอิศวรก็นั่งดูแล ดูแลไปอย่างนั้นแหล่ะ จัดการอะไรก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน ถ้ามีเรื่องยุ่งขึ้นมาก็โน่น ไปหาพระวิษณุ ซึ่งนอนหลับคุดคู้อยู่ในมหาสมุทรโน่น ไม่ค่อยตื่นหรอก ถ้าโลกไม่ยุ่งก็ไม่ตื่น เวลานี้โลกยุ่งแล้วก็ยังไม่ตื่น อินเดียยุ่งก็ไม่ตื่น พระวิษณุยังไม่ตื่นเวลานี้เลย นอนเรื่อย เป็นเทพเจ้าที่ขี้เกียจที่สุดในโลกเพราะว่านอนมากเหลือเกิน คนมันก็ไปไหว้กันอยู่อย่างนั้น คราวนี้เมืองไทยก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่อุตริขึ้นมา เขาเรียกว่าเป็นพวกนับถือพระพรหม มีสมาคมและมีสำนักใหญ่โตนะ เป็นตึกอยู่โน่นใกล้ซอยเสนา ใกล้โรงเรียนสตรีวิทยา ๒ นั่น ตึกใหญ่ สำนักพระพรหมที่นั่น เขาทรงเจ้าเข้าผีกันอยู่ที่นั่นแหละ พระพรหมมาเข้าทรง วันนั้นมีเด็กหญิงคนหนึ่งมาถามว่าหนูนี่ทำงานอะไร หนูนี่ทำงานเป็นผู้ทรงพระพรหม แหมไม่ใช่เล็กน้อยนะ อาชีพทรงพระพรหม แต่ว่าพระพรหมมาเข้าทรง เข้าทรงแล้วพูดอะไรก็ไปตามเรื่อง ไอ้คนพวกนั้นก็เชื่อทั้งนั้นแหละ เพราะหลับตาเชื่ออยูนานแล้วว่าพระพรหมพูดอะไรก็เชื่อ เพราะฉะนั้นพระพรหมจะพูดอะไรก็ได้ คนที่ทรงเจ้าเข้าฝีไม่ต้องมีการศึกษาอะไร แล้วก็เลือกคนที่มันไม่ค่อยเต็มเต็งสักหน่อยยิ่งดี คือมันเข้าทรงง่ายน่ะพวกนั้น ถ้าเต็มร้อยมันทรงยากหน่อย ยิ่งมีการศึกษาก็ทรงยากเรื่องไปอย่างนั้น บางคนก็ลำบากยากจนก็มีฐานะดีขึ้น แต่บางคนฐานะดีอยู่แล้วก็อุตส่าห์เป็นนางทรงให้เขาด้วยเหมือนกัน
เมื่อวานนี้ไปนครปฐมกลับมา คุณเพ็ญน่ะเล่าให้ฟังว่าเพื่อนของแกคนนึงมีโรงสี่ แต่เข้าไปในบ้านมีโต๊ะหมู่บูชาไว้อะไรมากมาย ถามว่าทำไมจัดไว้ในห้องรับแขก ไม่ไว้ข้างบนบ้าน เดี๋ยวนี้ฉันน่ะเป็นคนทรงแล้ว ทรงเจ้าแม่ ถามว่าเจ้าแม่อะไร เจ้าแม่มณฑาทิพย์ว่างั้น เอ๊ะ เจ้าแม่มณฑาทิพย์นี่มาจากไหน เป็นมเหสีของรัชกาลที่ ๕ โอ๊ยอ่านประวัติศาสตร์มาไม่เห็นเจ้าแม่มณฑาทิพย์เลย และรัชกาลที่๕ ไม่มีมเหสีชื่อเจ้าแม่มณฑาทิพย์ ไอ้คนทรงก็แก้ตัวว่า นามแฝงว่างั้น เรียกว่าเอาตัวรอดไปได้นะ บอกค้นประวัติศาสตร์ทำไมไม่มีเจ้าแม่มณฑาทิพย์ไม่มี บอกว่านามแฝงมาเข้าทรง ว่าอะไรก็ได้ตอนกลางคืน โดยมากเข้าทรงตอนกลางคืน บอกว่ากลางวันจะทรงได้ไหม ถ้ากันเองก็ได้เหมือนกัน เรียกว่าไม่จำกัดเวลาทรงได้เสมอไป เป็นอย่างนี้ ไปเที่ยวเข้าทรงเอาพระพรหมมาเข้าทรง นั่นมันนอกเรื่องไป แต่ว่าพระพุทธเจ้าทรงเปลี่ยนตัวบุคคลสมมติให้เป็นธรรมะ เป็นข้อปฏิบัติ ประพฤติพรหมจรรย์ก็คืออยู่อย่างควบคุมจิตใจให้สะอาด ปราศจากทุกข์ เรียกว่าไปประพฤติพรหมจรรย์ การถือศีลอุโบสถเรียกว่าการประพฤติพรหมจรรย์เพราะเรางดเว้นจากสิ่งที่เป็นเครื่องเศร้าหมองจิตใจด้วยประการต่าง ๆ เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ พระ เณร ก็เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ถ้าเรามาถืออุโบสถเรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์ คืองดเว้นจากเรื่องกามารมย์ด้วยประการทั้งปวง ไม่ให้จิตไปข้องเกี่ยวคิดนึกในเรื่องอย่างนั้น เรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์เพื่อให้พรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์ด้วยดี จึงต้องเพิ่งศีลขึ้นมาอีก ๓ ข้อ คือเพิ่มว่าไม่กินอาหารมื้อเย็น หลังเที่ยงไปแล้วไม่กิน เพื่ออะไร ตัดกังวลเรื่องหุงหาอาหาร เรื่องเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร เพราะเรื่องอาหารนี่กังวลไม่ใช่น้อยนะในบ้าน ๆ หนึ่งน่ะ ดูสิแม่ครัวตื่นเช้าเตรียมอาหารเช้า อาหารเช้า เสร็จก็เตรียมมือเพล กลางวันเสร็จแล้วเตรียมมื้อเย็น ไม่ได้หยุดน่ะแม่ครัว ทำอยู่แต่ในครัวไม่มีหยุดไม่มีหย่อน โยมคนใดเป็นแม่บ้าน เป็นแม่ครัวเอง รู้ว่างานมันมากเรื่อง อันนี้ถ้ากินน้อย มันก็ยุ่งน้อย กินมากมันก็ยุ่งมาก เดี๋ยวนี้ถ้ากินน้อย จ่ายน้อย ถ้ากินมาก มันก็จ่ายมาก ถ้าเราไม่กินก็ไม่ต้องจ่าย มันช่วยประหยัดนะ เวลานี้เราทั้งหลายต้องการประหยัด รัฐบาลก็ป่าวร้องประชาชนว่าต้องประหยัด
การประหยัดถ้าเราถืออุโบสถศีลนี่มัประหยัดมื้อหนึ่งแล้ว คนในบ้านสองคนถ้าประหยัดสองคน เราก็ประหยัดเงินได้เยอะ อดไปมื้อหนึ่งก็ประหยัดเงินได้เยอะ ถ้าอดหลายมื้อมันก็ประหยัดได้มากขึ้นไปอีก เป็นเวล่ำเวลา คนอินเดียเขามีระบบอดอาหารทีหนึ่งนั้นหลายวันเลย เดือนหนึ่งก็มีวันหนึ่งสองวันต่อเดือนนะ เขาตั้งไว้ แสดงให้เห็นว่าประเทศอินเดียนี่เป็นประเทศที่ขาดแคลนอาหาร เพราะฉะนั้นนักบวชจึงเห็นว่าเมื่อขาดแคลนอาหารก็ต้องตั้งระบบให้คนอดอาหารไว้บ่อย ๆ เพราะฉะน้้นมีอดวันนั้น อดวันนี้ อดไม่หุงเลย ในครอบครัวไม่มีการกินกันเลย วันอดนี่ไม่มีการกินกันเลย เว้นไว้แต่เด็กกินนม ยังให้รับประทานนมมารดาอยู่ คือกินนมครูก็ให้ทานอยู่แต่ พอโตขึ้นแล้วอดหมด ไม่ทานอาหารกันเลย เรียกว่าครัวปิดเลย วันนั้นเขาปิดกันเลย ปิดทั้งประเทศ เราลองคิดดูว่าคนอินเดียมีตั้ง ห้าหกร้อยล้านแล้วอดกันทั้งประเทศในวันหนึ่ง จะเหลือเงินอยู่สักเท่าไหร่ มันไม่ใช่เล็กน้อยนะถ้าคิดเป็นตัวเลขแล้วก็ไม่ใช่เล็กน้อย อันนี้เป็นความฉลาดของคนสมัยโบราณ ที่จะให้คนประหยัด แต่ถ้าชวนให้อดเฉย ๆ มันก็อดไม่ได้ ต้องมีความเชื่อ เอาศาาสนาเข้ามาใส่ไว้ แล้วเขาก็มีเรื่องประกอบเยอะ อดเพื่ออะไรวันนั้น มีเรื่องเล่าอีกนะ เป็นเรื่องเล่า เล่ากันทุกเรื่อง วันไหนอดก็มีเรื่องเล่า เพราะอย่างนั้น เพราะอย่างนี้ อดกันไปเรื่อย ๆ เขาประหยัดนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร เพราะอาหารการกินมันฝืดเคือง เมืองไทยเราเวลานี้ อาหารก็ฝืดเคืองพอสมควร เรียกว่าไม่สมบูรณ์เท่าใด ของมันแพง ทีนี้ถ้าเราอดเสียบ้าง ก็ประหยัดได้ เดือนหนึ่งอด ๔ วัน ถืออุโบสถ ก็ช่วยได้เยอะ ทานแต่น้อย ๆ มันก็จำกัดลงไปหน่อย การใช้จ่ายมันก็ไม่มาก มันก็ได้ประโยชน์ จึงงดรับประทานอาหารตั้งแต่เที่ยงไป จะให้ทานได้เช้าถึงเที่ยง เช้าถึงเที่ยงก็ไม่ใช่ว่าทานเรื่อยไป ไม่ใช่อย่างนั้น ทานเป็นเวลา ทานอาหารเช้า อาหารกลางวัน ก่อนเที่ยง เสร็จแล้วพอหลังเที่ยงก็บ้วนปาก ล้างปากเสร็จ ไม่ยุ่งกับอะไรต่อไป ไม่ทานอะไร ความจริงนั้นควรจะงดเว้นทั้งหมดในวันอุโบสถ หมากก็ไม่ทาน บุหรี่ก็ไม่สูบ อดเสียบ้าง ทรมานเสียบ้าง ฉันถืออุโบสถฉันจะอดทานหมาก มักก็คงหาวมากหน่อย หาวไม่กี่นาทีมันก็หยุดเอง มันก็หายไปแล้วเราก็สบายใจว่าไม่ต้องทานหมากต่อไป
เมื่อวานก่อนนี้ไปตราด วันศุกร์โยมคนนั้นแกมา ฟันขาว อายุมากแล้ว อายุ ๖๒ฟันขาว มาถึงนั่ง อาตมาก็ไม่ทัก นั่งเฉย ๆ เขาก็ว่าท่านจำดิฉันได้ไหม อ๋อ จำได้ เอ๊ะ คราวก่อนฉันพบโยมฟันดำนี่ มาตอนนี้ทำไมโยมฟันขาวล่ะ หรือว่าใส่ฟันปลอม ไม่ใช่ฟันเดิม ที่ได้ขาวนี้ก็เพราะว่าดิฉันเลิกกินหมากแล้ว เลิกเมื่อไหร่โยม คราวนั้นแหล่ะที่ท่านเจ้าคุณมาเทศน์งานศพ แล้วดิฉันก็เลยเผาหมากไปเสียด้วย พ่อบ้านเขาก็เผาบุหรี่ เผาเหล้าหมดแล้วในครอบครัวนี้ไม่มีของเสพย์ติด แล้ววันนั้นก็มีคนเผากันหลายคน ว่าอย่างนั้น แต่ว่าบางคนไม่ได้มาในงานวันนี้เปลี่ยนไป นี่เรียกว่าผลประโยชน์จากธรระทำให้เปลี่ยนจากฟันดำเป็นฟันขาวขึ้นมาเรียบร้อย บอกว่าเป็นอย่างไรล่ะ พอไม่ทานหมากแล้วเป็นอย่างไร ก็สบายดี เดินไปไหนมันก็มือว่างทั้งสองมือ ก่อนนี้ไปไหนมือขวาหิ้วหนัก ก็เปลี่ยนไปเป็นซ้ายหิ้วบ้าง หิ้วไปหิ้วมา เดินตะแครงหนักหมากหนักพลู เที่ยวแบกตะบันบ้าง อะไรบ้าง รุงรัง ไปไหนเดี๋ยวนี้เดินสบายไม่ต้องหิ้วอะไร นี่ผลประโยชน์มันเกิดทำให้สบายใจ อาหารเราหยุดได้ ไม่เป็นไรหรอก คุยกับหมอแล้ว หมอบอกว่า คนเรานี่หยุดพักการกินเสียบ้างมันก็ดี คือว่าช่วยให้ร่างกายพักผ่อน ถ้าอวัยวะภายในได้พักผ่อน กระเพาะได้พักผ่อน ตับ ไต ไส้ พุงได้พักผ่อนเสียบ้าง ได้ว่างเสียบ้าง มันก็ดีเหมือนกัน มันก็ได้ประโยชน์ เราจึงหัดอดเสียบ้าง หรือถ้ายังอดเด็ดขาดไม่ได้ ไม่ใช่วันที่ปฏิญาณถืออุโบสถ ไม่ทานของหนัก ๆ ทานผลไม้ เบา ๆ ทานกล้วยสักผลหนึ่ง แล้วก็ทานน้ำ นม สักนิดหนึ่ง ใส่ชา ใส่นม หรือว่าโอวัลตินอะไร นิดหน่อย เบา ๆ และความจริงมื้อเย็นนี่ไม่ต้องทานมาก ทานแล้วนอน ไม่ได้ไปทำงานทำการอะไร ทำไมต้องทานมาก ๆ ไม่จำเป็นอะไร ทานน้อย ๆ คนญี่ปุ่นแต่งงานกับคนไทย แล้วก็เห็นคนไทยกินข้าวมือเย็นมาก เขาบอกว่าคนไทยกินอาหารไม่เป็น ก็ถามว่าไม่เป็นอย่างไร คนญี่ปุ่นกินอาหารมื้อเช้ากับกลางวันหนัก มื้อเย็นเขาทานน้อย ๆ ถามว่าทำไม ก็ทานแล้วนอนไม่ได้ทำงานอะไร ทำไมต้องกินมาก ๆ แต่ตอนเช้านี่ออกไปทำงาน กลางวันก็ทำงาน แต่ตอนเย็นกลับบ้านพักผ่อนแล้ว ทำไมจะต้องทานมาก ๆ มันไม่จำเป็นอะไร เขาว่ากินไม่ถูกหลักโภชนาการของแบบญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเขากินอย่างนั้น ญี่ปุ่นก็ล่ำสันดี แข็งแรงดีเหมือนกัน งานการก็เก่ง เขาก็อดได้ เพราะฉะนั้นเราลองหัดบ้างก็ดีเหมือนกัน พอว่าง ๆ วันนี้ฉันไม่ทานอาหาร ทานของนิดหน่อย เบา ๆ และนาน ๆ ไปก็หยุดทานเสียบ้าง พักผ่อนทางร่างกาย ก็ช่วยให้สบายใจ จิตใจจะได้สบายขึ้น ศีลข้อต่อไปที่ว่าไม่ให้ฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี ดีด สี ตี เป่าก็ดี และอีกข้อหนึ่งที่ว่าไม่ให้ประดับประดาร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอม เครื่องทา เครื่องย้อม ต่าง ๆ ก็ดี รวมอีกข้อหนึ่งที่ว่า ไม่ให้นั่งนอนบนเตียง ตั่ง ที่นั่งสูงใหญ่ ภายในใส่นุ่นสำลีก็ดี ๓ ข้อนี้กันจิตไม่ให้ฟุ้งซ่าน เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราฟ้อนรำขับร้อง จิตฟุ้งซ่าน จิตมันฟุ้งไป ในเรื่องอะไรต่าง ๆ เพราะสิ่งฟ้อนรำ ขับร้องนี่มันยั่วราคะ ยั่วโทสะ ยั่วโมหะ มันเกิดทั้ง ๓ เรื่อง มันมีราคะก่อน โทสะ โมหะตามมา มันก็ยั่วให้เกิดอย่างนั้น ทีนี้ตัดปัญหาไม่มีการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี ดีด สี ตี เป่า ฟ้อนรำเอง ขับร้องเอง ก็ไม่ได้ ไปดูเขาฟ้อนรำขับร้องก็ไม่ได้ เพราะดูแล้วมันเกิดอารมณ์ พอเกิดอารมณ์แล้วก็จะเกิดราคะ กิเลสขึ้นในจิตใจ พรหมจรรย์จะเศร้าหมอง
ท่านจึงห้ามปิดกั้นสิ่งนี้ไว้ไม่ให้เกิดความเศร้าหมองทางจิตใจ การประดับประดาตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอม เครื่องทา เครื่องย้อมต่าง ๆ มันก็เป็นเครื่องยั่วกิเลสเช่นเดียวกัน ยั่วราคะ คือความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลง ความมัวเมา ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ก็ไม่ต้องเพิ่มสิ่งเหล่านั้น เพราะต้องการลดอยู่แล้ว ก็เลยตัดสิ่งนั้นไป การนอนนั่งบนเตียง ตั่ง ที่นั่ง นอน สูงใหญ่ ถ้าเตียงตั่งสูงใหญ่แต่มีแต่พื้นกระดานก็ไม่เป็นไร แต่ที่เขาไม่ให้นอนที่นอนอ่อนนุ่ม นอนสบาย นอนสบายก็หลับมากไป ตื่นแล้วก็ไม่ลุกขึ้น เพราะนอนสบา แต่ถ้าเรานอนที่นอนไม่สบาย ร่างกายมันพักผ่อนตามความต้องการของร่างกาย เพียงพอความต้องการแล้วมันก็ตื่น ตื่นแล้วเราก็ตื่น ตื่นแล้วทำอะไร ตื่นแล้วก็ทำหน้าที่ภาวนา จิตใจ นั่งทำสมาธิอะไรต่อไป ก็เป็นประโยชน์ ไม่ให้มัวเมาในการนอน แล้วให้เป็นนอนง่าย กินง่าย อยู่ง่าย คนถือศีล ก็คือคนกินง่าย อยู่ง่าย นอนง่าย แต่งเนื้อแต่งตัวก็ไม่มุ่งเอาสีสัน วรรณะ อะไร แต่งเรียบ ๆ ธรรมดา ๆ มันตัดปัญหาได้หลายเรื่อง เรื่องการใช้จ่ายมันก็ลดน้อยลงไป ที่นอนก็ไม่ต้องซื้อ นอนบนพื้นกระดาน เสื่อจันทรบูนสักผืนหนึ่ง หมอนแข็ง ๆ เล็ก ๆ สำหรับหนุนคอสักใบหนึ่ง เวลานี้หมอนมันใหญ่ ๆ เวลาโยมบวชลูกบวชหลาน ไปซื้อหมอนมายาวแค่นี้ มันเกินความต้องการ มันเหลือ เปลืองสตางค์เปล่า ๆ ทำแค่นี้เล็ก ๆ สูงขนาดอย่างนี้ก็พอแล้ว เหมือนกับหมอนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ว่าให้เล็กลงอีกหน่อย บาง ๆ เหมือนหมอนไทย หมอนไทยแท้น่ะมันก็ประหยัดอยู่ในตัว ไม่ใหญ่ ก็อย่างนั้นหนุนคอ ไม่ใช่หนุนหัว อันนี้ถ้าใหญ่เกินไปก็นอนคู้ มันผิดสุขลักษณะ กระดูกคอมันจะเสีย มันต้องเรียบ ๆ ธรรมดา ๆ ไม่ใหญ่เกินไป เลยบอกโยมที่เป็นแม่เจ้านาคว่าโยมอวดฝีมือสักหน่อย เย็บหมอนให้ลูกชายสักใบ อย่างนี้ทำได้ไหม ไม่เห็นทำมาสักรายเดียว แสดงว่าคุณแม่นี่ไม่มีฝีมือเสียแล้ว เย็บหมอนไม่เป็น ไปซื้อที่เสาชิงช้า ยาวอย่างนี้ สูงอย่างนี้
อาตมาเห็นแล้วบอกจะนอนอย่างไรนี่ เข็ดคอตาย มันไม่ไหว เค้าไม่ให้นอนที่นอนสูงใหญ่ ภายในใส่นุ่นสำลี อันนี้บอกไม่ใส่นุ่นสำลีใช้ฟองน้ำได้ไหม มันก็อ่อนนุ่มเท่ากัน จุดหมายมันต้องไม่ให้อ่อนนุ่มเกินไป ให้นอนง่าย ๆ ท่านเจ้าคุณพุทธทาสท่านหนุนหมอนไม้มาตั้งแต่อยู่สวนโมกข์ ๕๐ กว่าปีแล้ว หนุนหมอนไม้ เวลาไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลเชียงใหม่เขาเอาหมอนคนไข้มาให้หนุน ท่านบอกว่านอนไม่สบาย นอนบนเตียงนะ นอนคืนเดียวบนเตียง พอรุ่งเช้าขึ้น ลุกขึ้นได้ก็ลงมานอนอยู่ข้างเตียง เสื่อจันทรบูนผืนหนึ่งปูแล้วบอกว่านี่ตรงนี้ ที่สบาย เลยนอนอยู่ที่พื้น แล้วเขาก็ไปหาหมอนใหม่ที่โรงยาฝิ่นเขาใช้สมัยก่อนหมอนไม้ไผ่ เอามาให้ อันนี้เข้าทีดี แล้วท่านก็นอนอย่างนั้น นอนอยู่อย่างนั้น นอนง่าย ๆ อยู่สบาย ๆ คนถือศีลก็นอนอย่างนั้น เพื่อทรมานร่างกายเสียบ้าง ให้รู้ว่านี่เนื้อแท้ชีวิตมันก็เท่านี้ ความต้องการมีเท่านี้ ไม่ได้มาก ไอ้ที่ต้องการมากไปมันยุ่งไปเปล่า ๆ เนื้อแท้มันก็เพียงเท่านี้ บังคับตัวเองให้มีความพอใจ มีความสบายใจ การรักษาอุโบสถมีเพียงเรื่องอย่างนี้ จุดหมายอยู่ที่ตรงนี้ ก็พอดีหมดเวลาเสียแล้ววันนี้ วันหน้าต่อใหม่ เรื่องสูงขึ้นมาอีก เรื่องสมาธิต่อไป ต่อไปนี้ก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจ เป็นเวลา ๕ นาที นั่งสงบใจนี่ก็ประพฤติพรมจรรย์เหมือนกัน ทำใจให้สงบ เพ่งลมเข้า ลมออก อย่าให้ฟุ้งซ่านไปในเรื่องอื่น เป็นเวลา ๕ นาที
- ปาฐกถาธรรมวันอาทิตย์ที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘