แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย วันนี้ท่านเห็นเครื่องวิดีโอตั้ง ๒ เครื่องมาตั้งอยู่ในศาลา วิดีโอเครื่องหนึ่งมาจากจังหวัดยโสธรมาอัดเสียงเพื่อเอาไปออกในวันครู เรื่องเกี่ยวกับโอวาทในวันครู ๒๕๒๘ เพราะฉะนั้น ในวันนี้การแสดงปาฐกถาก็จะพูดเรื่องเกี่ยวกับครู ญาติโยมที่นั่งฟังก็ฟังไปด้วยกัน เพราะว่าเราก็เป็นครูเหมือนกัน ทุกคนที่นั่งอยู่นี้เป็นครูอยู่ตลอดเวลา คือเป็นพ่อแม่ พ่อแม่ก็คือครูของลูก เท่ากับเป็นครูคนแรกของลูกด้วย พระพุทธเจ้าตรัสว่า มารดา บิดานี้เป็นครูคนแรกของลูก แล้วครูต่อไปก็คือครูในโรงเรียนและครูในมหาวิทยาลัย ใครที่ได้ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่เราก็ชื่อว่าเป็นครูด้วยกันทั้งนั้น พระที่เทศน์อยู่ทุกวัน นี่ก็เป็นครูเหมือนกัน ทำหน้าที่สอนวิชาการทางธรรมะให้คนได้เกิดความรู้ความเข้าใจ ในปีหนึ่งๆ เขาก็จัดให้มีงานวันครูกันวันหนึ่ง ปีนี้ก็วันที่ ๑๖ มกราคม เรียกว่าเป็นงานวันครู จุดมุ่งหมายของการทำงานวันครูก็เพื่อจะเตือนใจครูทั้งหลายให้ได้นึกถึงครูในอดีตที่ได้สั่งสอนวิชาการสืบๆต่อกันมาตั้งแต่โน้นโบรมโบราณ ตั้งแต่โลกมีมนุษย์แล้วก็มีครูมาโดยลำดับ โลกนี้ถ้าไม่มีครูแล้วจะเป็นโลกที่อับเฉาเบาปัญญา เพราะไม่มีใครสอน แต่เมื่อมีครูเกิดขึ้นในโลก ครูก็ได้ทำหน้าที่สั่งสอนวิชาการต่างๆ ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องวิชาอะไร คนที่ทำหน้าที่สอนเขาเรียกว่าเป็นครูทั้งนั้น เพราะฉะนั้น คนเป็นครูเป็นผู้ให้แสงสว่างแก่โลก เป็นผู้นำสิ่งเป็นประโยชน์แก่ชีวิตมาประสิทธิ์ประสาทให้ชาวโลกทั้งหลายได้เกิดความรู้ความเข้าใจ เราลองนึกดูว่าถ้าเราไม่มีครูนี่จะไปเรียนกับใคร เราจะมีความรู้ได้อย่างไร เมื่อไม่มีครูมันก็ไม่ได้เรื่อง แต่ว่าโลกนี้มีครูสืบต่อกันมา ตั้งแต่เริ่มการศึกษาในวิชาการต่างๆก็มีครูสอนกันมาโดยลำดับ
ครูในสมัยก่อนนั้นเป็นครูอย่างแท้จริงคือเป็นครูที่ไม่รับเงินเดือน ไม่มีใครตั้งเงินเดือนให้แก่ครู ครูก็หมดความอยากในเรื่องเกี่ยวกับเงินทอง ไม่ต้องไปคิดว่าได้มากได้น้อย ได้กี่ขั้นไม่ได้กี่ขั้น ได้เลื่อนชั้นไม่ได้เลื่อนชั้น เพราะไม่มีการให้ในเรื่องอย่างนั้น เมื่อไม่มีการให้ ความหวังในเรื่องเงินเดือนมันก็ไม่มี ครูจึงทำหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทำเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ลูกศิษย์อย่างแท้จริง ไม่ได้หวังอะไรตอบแทนแม้แต่น้อย แต่ก็มีการตอบแทนบ้าง เขาเรียกว่า “ของบูชาครู” คณะศิษย์ที่เรียนอยู่ก็เอาของมาบูชาครู เอาข้าวสารมาให้ เอาผักมาให้ หรืออะไรต่างๆที่ครูจะต้องใช้ เขาก็เอามาบูชา สิ่งที่ครูได้รับเล็กๆน้อยๆนั้น ไม่ใช่สินจ้างแต่เป็นเรื่องของการบูชาด้วยความสำนึกในบุญคุณของครู แล้วศิษย์ทั้งหลายก็นำมามอบให้เป็นเครื่องบูชาสักการะ คล้ายกับการที่เวลาพระแสดงธรรม เราก็บูชาด้วยจตุปัจจัยประเภทต่างๆ อันนั้นเรียกว่าเครื่องบูชาธรรม พระไม่ได้ขอร้อง ไม่ได้บังคับว่าจะต้องบูชาด้วยสิ่งนั้นสิ่งนี้มีปริมาณเท่านั้นเท่านี้ แต่เป็นเรื่องศรัทธาของญาติโยม เห็นว่าพระก็ต้องกินต้องใช้ ก็เลยถวายของเท่าที่จำเป็นแก่พระ เพื่อจะได้เอาไปใช้สำหรับหล่อเลี้ยงชีวิตจะได้ปฏิบัติหน้าที่ในพระศาสนาต่อไป สิ่งนั้นไม่ใช่เงินเดือน ไม่ใช่สินจ้าง ไม่ใช่รางวัล แต่เป็นเรื่องความสำนึกในใจของศิษย์ที่จะสนองตอบแก่ครู จึงได้นำสิ่งนั้นมาถวายแก่ครูบาอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราที่เป็นครูบาอาจารย์นี่ ก็อย่าไปคิดมากในเรื่องเกี่ยวกับปัจจัยเงินทองที่จะต้องมีต้องได้ อย่าไปเดินขบวนเพื่อขอขึ้นเงินเดือนหรือว่าอย่าทำอะไรที่เป็นการแสดงออกในทางที่จะลบวิญญาณของครูให้หมดไปจากจิตใจ เพราะวิญญาณของครูที่แท้จริงนั้น คือ ความเสียสละสิ่งที่เรามีเราได้เพื่อประโยชน์แก่ศิษย์ ถ้าเราเกิดมีความต้องการอะไรจากศิษย์ขึ้นมาหรือจากใครก็ตาม แสดงว่าเราลบหลู่ดูหมิ่นตัวเอง ลบหลู่คุณธรรมของความเป็นครู ลดความเป็นครูให้ลดน้อยลงไปจากจิตใจของเรา
ครูจึงต้องมีอุดมการณ์ประจำจิตใจอยู่ตลอดเวลาว่า “งานคือชีวิต ชีวิตคืองานบันดาลสุข” ไม่ใช่ ‘งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข’ คำว่า ‘งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข’ นั้นเป็นคำที่ไม่เหมาะกับคนที่เป็นครู จิตใจครูจะไม่นึกถึงเรื่องนั้นแต่นึกถึงว่างานคือชีวิต ชีวิตคืองานบันดาลสุข เราทำงานเพื่องาน ทำความดีเพื่อความดี ไม่ได้ทำเพื่อวัตถุ ถ้าจะมีวัตถุอะไรเกิดขึ้นแก่เราบ้าง เราก็ถือว่าเป็นผลพลอยได้เท่านั้นเอง ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ เป็นผลพลอยได้ ถ้าครูเราคิดในรูปอย่างนี้ วิญญาณครูก็จะสมบูรณ์ขึ้นในจิตใจของคนที่เป็นครู และครูนั้นจะได้รับความเคารพสักการะจากศิษย์มากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเราเอาเสียมาก ความบูชาสักการะก็ลดน้อยลงไป อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่อยากจะทำความเข้าใจกันไว้กับเราที่เป็นครูทั้งหลายในปัจจุบันนี้ เพราะว่าความโน้มเอียงทางจิตใจของคุณครูในสมัยนี้ โน้มเอียงไปในทางวัตถุมากไป คนอื่นเขาอาจจะนิยมในทางวัตถุ เช่น พ่อค้าเขาก็หวังกำไร ลงทุนเพื่อกำไร แต่ว่าครูเรานั้นลงทุนเพื่อไม่มีกำไร ลงทุนเพื่อความสูญเปล่าในทางจิตใจ ลงทุนเพื่อความว่างของจิตใจ เพื่อความสว่างทางใจ เพื่อความพ้นจากปัญหาทางจิตใจ อันนี้เป็นการลงทุนของครูแท้ที่ทำงานเพื่อศิษย์ ถ้าเราได้ทำงานอย่างนี้ จิตใจเราจะไม่ตกต่ำ จะไม่มีการแข่งขันด้วยอำนาจกิเลส จะไม่มีการริษยาพยาบาทใครๆ จะไม่มีใจลำเอียงด้วยอคติต่างๆเกิดขึ้นในใจ เพราะเราไม่มีอะไรเป็นสิ่งต้องการ เราไปทำงานด้วยความหวังความเจริญแก่ศิษย์ มุ่งให้ศิษย์ได้เกิดปัญญาเกิดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงเท่านั้น อะไรที่จะเป็นเครื่องตอบแทนนั้น เราที่เป็นครูถือว่ามันเป็นเรื่องขี้ผงไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร อันนี้เป็นวิญญาณแท้ของครูทั้งหลาย ซึ่งจะต้องสร้างไว้ในจิตใจของเราตลอดเวลา
เดี๋ยวนี้ชีวิตของครูเริ่มเสื่อมไปในบางแง่บางมุม ทำให้ความเคารพนิยมในครูอาจารย์ลดน้อยลงไป ก็เพราะว่าเราปฏิบัติตนไม่เหมาะไม่ควร ในฐานะที่เป็นครูจึงใคร่จะขอกล่าวย้ำกล่าวเตือนไว้ในที่นี้ว่า คนที่เป็นครูนั้นจะต้องสำนึกไว้ในใจเสมอว่า เราเป็นคนสำคัญของโลกคนหนึ่ง ครูนี่แหละคือคนสำคัญของโลก ไม่มีใครจะมีความสำคัญเท่าครู เพราะว่าการที่คนเราจะไปเป็นอะไรได้ ก็เพราะผ่านมือครูมาก่อน ถ้าเราไม่ได้เรียนวิชาการจากครูแล้ว เราจะไปเป็นอะไรได้ การที่จะไปเป็นนักการเมืองมีเกียรติมีชื่อเสียงก็เพราะว่าได้รับอบรมมาจากครู ไปเป็นทหาร, เป็นตำรวจ, เป็นข้าราชการพลเรือน, เป็นพ่อค้า, เป็นนักวิทยาศาสตร์, จะเป็นอะไรก็ตาม นั่นคือผลงานที่ครูได้สั่งสอนอบรมเรามาในวิชาการต่างๆ แล้วเราก็ได้นำวิชานั้นไปเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ทำเกียรติทำชื่อเสียงให้เกิดขึ้น เพราะงานที่เราทำก็เป็นงานของครูทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นงานของใคร เราที่เป็นครูจึงควรจะมีความอิ่มใจในผลงานที่เราได้สร้างแก่ศิษย์ ในจำนวนศิษย์ทั้งหลายที่เราได้สั่งสอนอบรมถ้ามีศิษย์คนใดคนหนึ่งเป็นคนดีเป็นคนเด่น เป็นคนทำประโยชน์แก่ชาติแก่บ้านเมืองขึ้นมา หรือแก่สังคมขึ้นมา ครูก็ควรจะอิ่มใจว่า นี่ผลงานของฉัน ฉันได้ปั้นคนๆนี้ขึ้นมาเพื่อให้เขาทำตนเป็นคนมีประโยชน์แก่สังคม แก่ชาติ แก่บ้านเมือง นั่นแหละคือสิ่งที่เราควรภูมิใจ ครูเรามีความภูมิใจในผลงานที่เราได้สั่งสอนอบรมศิษย์ให้เกิดขึ้น ตัวเราเองนั้นไม่หวังอะไร หวังอย่างเดียวว่าขอให้ศิษย์ของข้าพเจ้าเป็นผู้มีความเจริญด้วยความรู้ด้วยความสามารถ ด้วยความประพฤติดี มีความสำนึกรู้สึกผิดชอบในการที่จะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ เป็นความสุขแก่สังคม และเมื่อศิษย์คนใดได้ทำเช่นนั้น นั่นแหละคือเครื่องสักการะที่ครูพอใจในการกระทำของศิษย์คนนั้น อันนี้เป็นวิญญาณหรือเป็นจิตใจของครูที่ควรจะนำมาปลอบโยนใจตนเองให้เกิดความคิดนึกในทางที่ถูกที่ชอบ
คงจะจำกันได้ว่า เมื่อหลายปีมาแล้วมีการเดินขบวนของครูเป็นการใหญ่ไปที่คุรุสภา แล้วก็ทำพิธีเผารูปท่านรัฐมนตรีในสมัยนั้น คือ ท่านอภัย จันทวิมล ซึ่งเป็นครูเก่าครูแก่ก็ว่าได้ แต่ครูทั้งหลายก็ไปเผารูปของท่าน ณ ที่นั้น แล้วก็ทำพิธีกรีดเนื้อเพื่อให้เลือดไหลออกมา เป็นการกระทำในรูปที่เรียกว่า ผิดประหลาดไปจากความรู้สึกอันแท้จริงของความเป็นครู ไปเที่ยวที่ไชยาคราวนั้น พอไปถึง ท่านเจ้าคุณพุทธทาสก็โยนหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งมาให้ดู แล้วก็บอกว่า นี่!..น้องท่านดูซิ วิญญาณของครูมันหายไปไหนกันเสียหมดแล้ว ครูไปเรียกร้องต้องการเงินเดือนขึ้น ด้วยการกรีดเลือดกรีดเนื้อกันออกมา แล้วก็ทำพิธีเผารูปผู้บังคับบัญชา มันสมกับความเป็นครูหรือไม่ ? ท่านกล่าวด้วยความสลดใจ เมื่อได้ฟังคำเช่นนั้นก็พลอยรู้สึกสลดใจไปด้วยเหมือนกัน ว่าเป็นเรื่องที่เราไม่ควรจะกระทำอย่างนั้น แล้วในปีนั้นแหละไปแสดงธรรมที่จังหวัดสกลนคร ได้พบครูคนหนึ่งซึ่งเป็นครูอายุ ๕๘ ปีแล้ว ก็เลยถามว่าวันก่อนนี้เขามีการเดินขบวนเพื่อไปเรียกร้องเงินเดือนขึ้น ครูไปกับเขาด้วยหรือเปล่า? ครูคนนั้นบอกว่าผมไม่ได้ไป ผมไม่ได้ทำเรื่องอย่างนั้นเพราะผมเป็นครูมานานแล้วผมมีความสำนึกว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำ ก็เลยบอกว่า แหม ! ขอแสดงความดีใจด้วยที่ยังรักษาวิญญาณของความเป็นครูไว้ได้ ไม่ปล่อยให้วิญญาณของความเป็นครูหายไป แล้วไปหลงใหลมัวเมาในเรื่องที่เป็นวัตถุมากเกินไป ครูคนนั้นมีความสำนึกอย่างนั้น อันนี้เอามาเล่าให้ฟังไว้ เพื่อจะเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจในทางที่เราจะทำอะไรอันจะเป็นการลดเกียรติของความเป็นครูของเราให้น้อยลงไป แล้วจะได้ระมัดระวังกันในการต่อไปข้างหน้า
จริงอยู่โลกเรานี้มันไม่ค่อยจะยุติธรรมเท่าไหร่ แต่ว่าคนที่จะต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมนั้น เราจะต้องทำใจของเราให้เป็นธรรม เมื่อใจของเราเป็นธรรมแล้วจึงต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมได้ แต่ถ้าใจมันไม่เป็นธรรมการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมนั้นก็ย่อมจะเป็นไปไม่ถูกต้อง อันนี้เป็นเรื่องที่เขาฝากให้คิดไว้ประการหนึ่ง ความเป็นครูของเรานั้น เรียกว่า เป็นปูชนียบุคคลของศิษย์ทั้งหลายทั้งปวง สิ่งที่เราจะพึงได้รับก็ไม่มีมีอะไร นอกจากความเป็นปูชนียบุคคลในหมู่ศิษย์ทั้งหลายนั่นเอง เรื่องอื่นนั้นเป็นเรื่องที่เขาให้ ถ้าเขาไม่ให้เราก็ไปประท้วงอะไรไม่ได้ เพราะเราไม่มีหน้าที่ไปประท้วงอะไรเราทำหน้าที่เพียงแต่ให้สิ่งที่ควรให้แก่ศิษย์ เมื่อเราได้ทำหน้าที่ให้แล้วเราก็สบายใจ สบายใจว่าเราได้ให้แล้วตามหน้าที่ของเรา ตามที่เราควรจะทำได้ในตำแหน่งนี้ในกิจกรรมส่วนนี้ แล้วเราก็สบายใจ มันไม่ลำบากยากเข็ญอะไร แต่ว่าชีวิตของครูเราในปัจจุบันนี้มันเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยมหลายเรื่องหลายประการ ทำให้เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาในทางการเป็นอยู่ เพราะเราไม่ได้รักษาวัตรจริยาของครูไว้ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรจะรักษาอย่างกวดขัน เพราะคนที่เป็นครูนั้นเป็นแบบอย่างของคนอื่น เป็นครูนี้ไม่ใช่เป็นเฉพาะหน้าชั้นเรียนแต่ต้องเป็นตลอดเวลา นอกชั้นเรียน, ไปตามถนน, ไปนั่งร้านกาแฟ, ไปสู่สถานที่ใด เราจะต้องคิดไว้ในใจตลอดเวลาว่า ‘ฉันเป็นครู’ ฉันจะประพฤติอย่างครู จะทำอะไรๆก็อย่างคนที่เป็นครู ฉันจะพูด, จะคิด, จะทำอะไรนอกเหนือไปจากความเป็นครูนั้นไม่ได้เป็นอันขาด เพราะว่าฉันมีศิษย์ที่จ้องตาเป็นมัน ดูการกระทำของฉันอยู่ตลอดเวลา ถ้าฉันทำอะไรผิดพลาดเสียหายลงไปแม้แต่น้อย ความเลื่อมใสที่มีในครูก็จะลดน้อยลงไป ก็จะเสียทางระเบียบวินัยที่เขาเรียกว่า ดิส-ซิ-ปลิน (discipline) อะไรนี่..มันเสียหาย เพราะเด็กไม่เคารพ
การที่เด็กไม่เคารพครูก็เพราะครูไม่เคารพตนเอง ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามอารมณ์ตามสิ่งแวดล้อม เช่นว่า ครูไปข้องอยู่ในเรื่องอบายมุข เรียกว่าเป็นความเสียหาย ครูเป็นนักการพนันเป็นความเสียหาย, ครูเป็นนักดื่มเป็นความเสียหาย, ครูเป็นนักเที่ยวกลางคืนก็เป็นความเสียหาย, ครูไปสมาคมกับคนชั่วคนร้ายเหมือนม้าไปเดินปะปนกับลามันก็จะเป็นความเสียหาย, ครูชอบจัดงานสนุกฟุ้งเฟ้อเป็นตัวอย่างทำให้ชาวบ้านหลงใหลมัวเมาในความฟุ้งเฟ้อเหล่านั้นก็เป็นเรื่องของความสิ้นเปลืองในเรื่องที่ไม่จำเป็นก็เป็นความเสียหาย, ครูเกียจคร้านการงานก็เป็นความเสียหาย, สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ครูจะต้องงดเว้นเด็ดขาด ครูจะต้องปลีกตัวออกจากวงการอบายมุขทุกประเภท ไม่ให้มัวเมาในเรื่องอบายมุขเป็นอันขาด ได้ทราบว่าครูทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือมัวเมาในการดื่มสุราเมรัยกันมากเหลือเกิน มีคนได้พบได้เห็นเอามาเล่าให้ฟังบ่อยๆว่า ครูชอบดื่มเหล้าในงานต่างๆ เช่น ดื่มเหล้ากันในงานศพ ดื่มเหล้ากันในงานบวชนาค หรือว่าจัดงานสังสรรค์ขึ้นในโรงเรียนแล้วเอาเหล้ามาเลี้ยงดูกันดื่มกันจนกระทั่งเมามาย อันนี้ใคร่จะขอเตือนว่าเป็นการลดวิญญาณของความเป็นครูเราให้มันน้อยลงไป ครูเราไม่ควรจะเลี้ยงกันในรูปอย่างนั้น ไม่ควรจะสังสรรค์กันในรูปอย่างนั้นเพราะมันไม่เป็นแบบอย่างในทางสร้างชาติสร้างบ้านเมือง แต่จะเป็นแบบอย่างในทางเสื่อมทางเสีย ทำให้สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนไปในทางต่ำ เราเป็นครูมีหน้าที่ยกระดับวิญญาณของศิษย์และประชาชนทั่วไปให้สูงขึ้น แต่ถ้าเราไปทำอะไรเป็นการทำให้วิญญาณของคนตกต่ำ อย่างนั้นเราก็เรียกว่าขาดลักษณะของความเป็นครูไปเสียแล้วเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะไม่ควร
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ นี้ อาจจะเป็นปีที่เราที่เป็นครูทั้งหลายควรจะได้อธิษฐานใจไว้ว่า เราจะเปลี่ยนชีวิตจิตใจเข้าหาความถูกต้อง เราจะเป็นครูที่บริสุทธิ์สะอาดปราศจากสิ่งเศร้าหมอง เราจะเป็นครูที่มีวัตรจริยาอันดีอันงาม มีศีลมีธรรมประจำจิตใจ ไม่ประพฤติสิ่งใดในทางที่จะเป็นตัวอย่างในทางเสื่อมทางเสียหาย อย่าให้ชาวบ้านเขาพูดว่า ครูก็ยังดื่มเหมือนผม ครูก็ยังเข้าบ่อน ครูก็ยังทำอย่างนั้นอย่างนี้ ชาวบ้านเขาพูดเป็นตัวอย่าง เวลาไปสอนชาวบ้าน ชาวบ้านก็พูดว่าครูยังทำอย่างนี้เลย อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี เอาเถอะ! สิ่งใดที่ผ่านพ้นมากันแล้วก็ให้เป็นการแล้วกันไป เรามาตั้งต้นกันใหม่ มาอธิษฐานใจกันใหม่ มาสร้างชีวิตใหม่ มาสร้างครูใหม่ให้เกิดขึ้นในรูปของครูทั้งหลายในบ้านเมืองของเราต่อไป ด้วยทุกคนตั้งจิตอธิษฐานว่า “ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ หลังจากวันครูเป็นต้นไป เราจะเป็นครูที่เข้าถึงธรรมะของพระพุทธเจ้า เราจะมีหลักธรรมประจำจิตใจ เราจะคิดจะพูดจะทำในทางที่เป็นธรรมตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะไม่คิดไม่พูดไม่ทำอะไรในทางที่จะเกิดความเสื่อมความเสียหายแก่การศึกษาของชาติแก่ความเป็นครูของพวกเราทั้งหลาย”
ให้ทุกคนได้ตั้งใจไว้อย่างนั้น แล้วก็ชวนกันเข้ามาร่วมวงไพบูลย์กันในทางสร้างสรรค์ชีวิตของความเป็นครูให้ถูกต้องดีงามต่อไป อันนี้ก็จะเป็นเรื่องเจริญก้าวหน้าในชีวิตของพวกเราที่เป็นครูทั้งหลาย เมื่อพูดกับครูแล้วก็อยากจะพูดกับครูสักอย่างหนึ่ง ถือว่าอาจจะเป็นความเห็นของพระแก่ๆองค์หนึ่งก็ได้หรืออาจจะเป็นคนหัวโบราณไปสักหน่อยก็ได้ คือว่าครูเราสมัยนี้ชอบไว้ผมรุ่มร่ามรุงรังกันเหลือเกิน ไว้ผมยาวกัน คนไทยเราโบราณนั้นไม่ได้ไว้ผมยาว เขาตัดกันเรียบร้อย หวีผมเรียบร้อย ให้ดูรูปพระมหากษัตริย์ในสมัยโบราณ ดูรูปปั้นของพระนเรศวร พระนารายณ์ พระพุทธยอดฟ้าฯ พระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ตั้งแต่สมัยก่อนจนกรุงเทพฯ ของเราในปัจจุบันนี้ ท่านไว้ทรงผมอย่างไร? ไม่ได้ไว้ทรงผมฮิปปี้ (hippy) ดังที่เราไว้กันในปัจจุบันนี้ มันเป็นการน่าละอายที่เราทั้งหลายไปเอาอย่างชาวตะวันตกในเรื่องที่ไม่เหมาะไม่ควร ท่านนายกรัฐมนตรีได้พูดกับเด็กเมื่อวันเด็กนี้ว่า “ให้เด็กไทยใช้ปัญญาพิจารณารับวัฒนธรรมตะวันตกด้วยความรอบคอบ เพราะวัฒนธรรมตะวันตกที่ไม่เหมาะกับนิสัยคนไทยก็มีอยู่ไม่น้อย” เรามีอะไรของเราดีๆงามๆอยู่แล้ว เราก็ควรจะช่วยกันรักษาสิ่งดีสิ่งงามของบรรพบุรุษของเราไว้ต่อไป มีมารดาหลายคนเหลือเกินมาปรารภบ่อยๆ ว่าดูผมของลูกชายทีไรแล้ว มันแสบตาเหลือเกิน รำคาญใจเหลือเกินในการที่ลูกชายไว้ผมรุ่มร่ามรุงรังอย่างนั้นเป็นการน่ารำคาญ แต่ลูกชายหาได้คำนึงถึงความรู้สึกของคุณแม่ไม่ เพราะเขาถือว่าเป็นเสรีภาพส่วนตัวของเขา เสรีภาพนี้ใครๆก็ชอบ แต่ถ้าทำเสรีภาพในทางที่ให้คนอื่นเดือดร้อนมันก็เป็นการทำลายเสรีภาพของคนอื่น เสรีภาพของแต่ละคนต้องไม่กระทบกระเทือนเสรีภาพของบุคคลอื่น เราไว้ผมยาวรุ่มร่าม คุณแม่ไม่สบายใจ แต่ว่าตัดไม่ขาดเพราะเกิดมันมาแล้วก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร พูดเท่าใดก็ไม่รู้เรื่อง เพราะเขาอยากเป็นคนอย่างนั้นเรื่อยไป เอาเถอะ! ในสมัยเป็นนักศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยจะแต่งตัวอย่างไรก็ได้ตามชอบใจ เวลาเขานิมนต์ไปตามมหาวิทยาลัย เห็นนักศึกษาเดินอยู่ในมหาวิทยาลัยนั้น มองไม่ออกว่าเป็นนักศึกษา เพราะการแต่งตัวนั้น ขออภัย! ไม่ค่อยจะมีระเบียบอะไร ต่างคนต่างแต่ง ต่างคนต่างไป ผมเผ้าก็รุ่มร่ามรุงรัง ต้องถามเขาว่า นี่! ที่เดินๆอยู่นี่เป็นนักศึกษาทั้งนั้นหรือ? อาจารย์ที่นิมนต์มาบอกว่า ‘ครับ นักศึกษาทั้งนั้นครับ ที่เดินเพ่นพ่านกันอยู่อย่างนี้’ (หลวงพ่อ) บอกว่า เอ๊!.. เดี๋ยวนี้ทำไมเขาแต่งตัวกันอย่างนี้ อาจารย์บอกว่ามันเรื่องเสรีภาพ เลยก็บอกว่า โอ้!.. เสรีภาพนี่ไม่เป็นความเจริญทางตาเสียแล้วในเวลานี้ อันนี้เป็นข้อน่าคิด แล้วก็คิดอยู่บ่อยๆ
วันหนึ่งไปที่จังหวัดภาคใต้ แล้วก็มีคนหนุ่มคนหนึ่งเข้ามาหา มาคุยด้วย แล้วก็ถามว่า เธอทำงานอะไร? เขาบอกว่าผมเป็นครูอยู่ที่โรงเรียน..นี้นะ พอบอกว่าเป็นครูนี่นะ ใจหายไปเลยทีเดียว ทำไมจึงใจหาย? คือครูคนนั้นรุ่มร่ามเต็มที บนหัวนี้รุ่มร่าม ผมปล่อยตามเรื่องตามราว แล้วก็ยาวเฟ้ย ไม่ได้ตัดได้แต่งอะไรแม้แต่น้อย ก็เลยพูดว่า แหม! คนเป็นครูนี่ น่าจะทำตนให้มีลักษณะของความเป็นครูให้คนอื่นเห็นบ้างพอสมควร เขาก็ถามว่าทำอย่างไรครับ (หลวงพ่อ)บอกว่า โดยเฉพาะบนหัวนี่จัดเสียให้มันเรียบร้อยสักหน่อยไม่ได้หรือ? ตัดผมให้มันสะอาดหน่อย หวีให้มันเรียบร้อย พอมองแล้วก็นึกว่าเป็นคนเจริญ เป็นคนก้าวหน้าในทางเป็นทางอยู่ เขาก็ยิ้ม แล้วเขาก็ตอบว่าอย่างไร? เขาบอกว่าเดี๋ยวนี้เขานิยมกันอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ นึกจะตอบต่อไปว่าเดี๋ยวนี้คนไทยมานิยมความบ้าๆบอๆกันทั้งนั้น นึกจะว่าอย่างนั้น แต่ไม่ว่าหรอก เกรงจะกระทบกระเทือนจิตใจเขามากเกินไป อันนี้เป็นตัวอย่าง จึงใคร่จะขอฝากไว้ว่า ครูเราควรจะได้พร้อมใจกันหวีผมให้เรียบร้อย ตัดผมให้สั้นพอสมควร ให้สวยงามเรียบร้อยเพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับเด็กต่อไป ตามโรงเรียนต่างๆนี่บังคับเด็ก ให้ตัดผมสั้น, ให้กร้อนผมนะ เด็กนักเรียนมานั่งฟังอยู่ก็ผมสั้นๆกันทั้งนั้น แต่ว่าครูกลับไม่เหมือนเด็กไป กลับไว้ผมยาว เด็กนั้นก็ฝันอยู่ในใจว่า “วันไหนกูออกจากโรงเรียน ต้องไว้ผมแบบคุณครูนี้แหละ” เพราะว่าครูเป็นตัวอย่างอยู่ตลอดเวลา เลยพอออกจากโรงเรียนแล้วก็รุ่มร่ามกันไปทั้งบ้านทั้งเมือง พี่น้องทั้งหลายรู้สึกอย่างไร เมื่อเห็นใครแต่งตัวรุ่มร่ามรุงรังนี่ เรารู้สึกอย่างไรในจิตใจ? ถ้าเป็นคนอายุเลย ๕๐ปีขึ้นไปแล้ว ดูแล้วมันก็รำคาญ แต่ถ้าเป็นคนสมัยใหม่หรืออายุน้อยกว่านั้นก็ไม่เป็นไร เคยเห็นนายทหารบางคน เมื่อเป็นนายทหารนี่ ไว้ผมเรียบร้อยตัดแบบทหารเลย พอออกจากทหารวันไหนไว้ผมยาวเฟ้ยเลย เรียกว่าเป็นเพล์ยบอย (playboy) เอาตอนเมื่อจะแก่เข้าไปแล้ว เห็นแล้วก็นึกว่า เอ! ชั้นแรกก็นึกนิยมชมชอบในอุดมการณ์พอสมควร แต่ว่าพอไปเห็นทรงผมแล้วก็นึก เอ! เราเคยนิยมคนนี้ ต่อไปนี้ก็ถอนความนิยมออกไปเหลือไม่กี่เปอร์เซนต์ เพราะแสดงว่าจิตใจไม่มั่นคงไม่มีความเป็นระเบียบในตัวเอง ที่เป็น..เพราะเขาบังคับ แต่พอไม่มีใครบังคับก็เลยทำอะไรตามใจตัว คนที่ทำอะไรตามใจตัวนั้นจะเป็นผู้ใหญ่กับเขาได้อย่างไร? จะทำงานแก่ส่วนรวมได้อย่างไร? เมื่อจิตใจเป็นอย่างนั้น อันนี้เป็นเรื่องน่าคิด ครูทั้งหลายได้ฟังแล้วอย่ารำคาญคำพูดที่หลวงพ่อกล่าวออกไป เพราะที่กล่าวไปเช่นนี้กล่าวด้วยความรู้สึกในใจของคนค่อนข้างจะโบราณสักหน่อย เพราะเวลานี้อายุมัน ๗๔ ปีเข้าไปแล้ว ก็เรียกว่าเป็นคนโบราณพอสมควร ก็อยากจะเห็นความเรียบร้อยของคนในชาติตั้งแต่ผมจนกระทั่งถึงปลายเท้า เพื่อให้เกิดมีวัฒนธรรมอันดีอันงามต่อไป อันนี้ขอฝากไว้เป็นเครื่องเตือนใจแก่คุณครูทั้งหลายประการหนึ่ง
นอกจากนี้แล้วเราที่เป็นครู ดังที่กล่าวแล้วว่าความรับผิดชอบในเรื่องชาติประเทศนั้นสูงกว่าใครๆ ทำไมจึงได้ข่าวเช่นนั้น ก็เพราะว่าเราเป็นผู้ปั้นคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์, ให้สมบูรณ์ด้วยความรู้, ให้สมบูรณ์ด้วยความสามารถ, ให้สมบูรณ์ด้วยสติปัญญาที่จะรักษาตัวรอดปลอดภัยต่อไป, นี้เป็นงานของครู เป็นงานที่ครูควรจะอิ่มใจอิ่มเอิบตลอดเวลาที่เราได้เข้ามาทำงานประเภทอย่างนี้ เพราะงานนี้คนที่จะทำนั้นต้องอดทนหน่อย ต้องเอาใจใส่ในงานมากต้องขยันมากเป็นพิเศษจึงจะทำได้ เมื่อเราได้มาทำงานนี้แล้วก็นึกว่าต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ การที่จะทำให้ดีนั้นก็ต้องมีคุณธรรมเป็นหลักประจำจิตใจตามสมควร คุณธรรมที่ครูๆทั้งหลายควรจะมีประจำจิตใจไว้นั้น ก็อยากจะนำของเก่าๆอันมีอยู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนามาพูดให้ฟัง เพื่อให้เห็นว่าในทางธรรมะนั้นเขาก็ได้พูดได้กล่าวเรื่องเกี่ยวกับครูไว้มากพอสมควรเหมือนกันว่าควรจะเป็นคนอย่างไร ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาก็ได้มีหลักไว้สำหรับเป็นข้อปฏิบัติสำหรับคุณครูทั้งหลายดังต่อไปนี้ คือ
หนึ่ง ครูจะต้องทำตนให้เป็นที่รักของคนทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา เริ่มตั้งต้นตั้งแต่ให้ศิษย์รัก-เคารพด้วย ไม่ใช่รักเฉยๆ ถ้าพูดให้เต็มก็เรียกว่ามีความเคารพรักต่อครู ครูจะทำอย่างไร? จะประพฤติตนอย่างไร? จะวางตัวอย่างไร? จึงจะทำให้ศิษย์เคารพรัก เคารพแบบที่เรียกว่า ทั้งรักทั้งกลัว คือกลัวว่า ครูจะทำอย่างนั้นกับเรา แล้วเราก็มีความรักต่อครูเหล่านั้น เกรงใจในครูเหล่านั้น เคารพในครู ก็ครูตั้งตนไว้เหมาะสมตลอดเวลา ศิษย์ก็จะมีความรักมีความเคารพต่อครูผู้นั้น พ่อแม่ของเด็ก เราก็ต้องทำให้เขามีความรักมีความพอใจในเราผู้เข้าไปทำหน้าที่สั่งสอนอบรมลูกของเขา เพื่อให้เป็นคนดีมีปัญญา จะได้รักษาวงศ์ตระกูลตลอดถึงประเทศชาติบ้านเมืองของเราต่อไป อันนี้เป็นหน้าที่ของเรา แล้วเราจะทำอย่างไรให้พ่อแม่ของเด็กมีความรักมีความนิยมชมชอบในตัวของเรา? อันนี้ครูจะต้องทำตนให้เป็นที่น่าเกรงขามของพ่อแม่ อย่าไปคลุกคลีกันในทางต่ำ เราบางทีก็อาจนึกว่าทำให้พ่อแม่เด็กชอบ พ่อของเด็กชอบดื่มเหล้าเราไปร่วมวงดื่มเหล้ากับพ่อของเด็กจะได้ชอบใจกัน มันก็ชอบกันเหมือนกันแหละ แต่ว่าชอบแล้วมันเสื่อมชอบแล้วไม่เจริญถ้าเราทำอย่างนั้น เขาก็จะได้พูดได้ว่า โอ๊ย! ครูน่ะเคยก๊งกันกับผม, เคยชนแก้วกันกับผม, เป็นพวกผมในวงสุรา อย่างนี้ มันก็เสียหาย เราไม่ให้เขารักในรูปอย่างนั้น แต่ให้เขารักในฐานะที่เราเป็นบุคคลตัวอย่างในทางดำเนินชีวิตที่ถูกที่ชอบแก่คนเหล่านั้น อย่างนี้เรียกว่าทำให้เขารักถูกต้อง ครูจึงต้องมีลักษณะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อคนทั่วๆไป ต้องเป็นผู้พร้อมที่จะให้ แต่ว่าไม่ต้องให้อะไรแหละครูเรา.. ให้ความรู้เป็นเครื่องประกอบการเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน อย่าถือแต่ว่าสอนลูกศิษย์ก็พอแล้วแต่ควรจะสอนไปถึงพ่อแม่ของลูกศิษย์ด้วย เวลาใดเราว่าง เราก็ไปเยี่ยมครอบครัวของศิษย์ ไปเยี่ยมแล้วก็สังเกตดูว่า เขาเป็นอยู่กันอย่างไร? เขากินอาหารอย่างไร? บ้านช่องมีสภาพอย่างไร? บ่อน้ำมีสภาพอย่างไร? บริเวณบ้านมีสภาพอย่างไร? ครูเรามีการศึกษาในเรื่องอะไรต่างๆรอบตัว เมื่อเราไปเยี่ยมเขา เราก็คุยให้เขาฟังในเรื่องที่มันจะเป็นพิษเป็นภัยแก่ชีวิตของคนเหล่านั้น โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี่ มีสิ่งหนึ่งซึ่งอยากจะขอฝากไว้กับครูให้ช่วยกันแก้ไขญาติโยม ชาวบ้าน เพราะปรากฎว่าญาติโยมชาวบ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น เป็นโรคพยาธิใบไม้มากที่สุดในประเทศไทย เปอร์เซนต์มันสูงโรคพยาธิใบไม้นี่
โรคพยาธิใบไม้นี่มันเกิดจากอะไร? มันเกิดจากกินของดิบนั่นเอง เพราะว่าพี่น้องชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือเราชอบกินปลาดิบ, ชอบกินเนื้อดิบ เอามาถึงสับๆแล้วเอาตะไคร้ใส่, มะนาวใส่ แล้วก็ทานกัน อันนี้อันตรายมาก เราควรจะหาวิธีพัฒนาเรื่องนี้ในหมู่ชาวบ้าน ด้วยการชี้แจงให้เห็นว่าของดิบนี่มันมีเชื้อโรค ถ้าเรามีภาพประกอบหรือมีอะไรที่จะให้เขาเห็นด้วยตาเป็นแบบสาธิต ก็ควรจะแสดงให้เขาเห็นว่าในเนื้อสัตว์มันมีตัวพยาธิติดอยู่ มันไม่ตายด้วยน้ำมะนาว ไม่ตายด้วยตะไคร้ หรือไม่ตายด้วยพริกสดที่เราเอาผสมลงไปเพื่อให้เกิดความอร่อย มันจะไปอยู่ในท้อง แล้วมันจะไปเจริญขึ้นในร่างกายของเรา เที่ยวไต่ไปทั่วร่างกาย ไปที่ตาก็จะทำให้ตาบอด ไปที่สมองก็จะทำให้เป็นอัมพาตทางสมองแล้วเคลื่อนไหวไม่ได้เพราะพยาธิอย่างนี้เข้าไปอยู่ในสมอง มันเป็นโทษมาก ช่วยชี้แจงให้เขาเข้าใจในเรื่องอย่างนี้ ถ้าหากว่าในหมู่ตำบลที่เราไปอยู่นั้น คนยังไม่ได้ทำส้วมใช้แล้วเที่ยวถ่ายเพ่นพ่านตามแบบคนไทยเราเรียกว่าไปทุ่ง เช้าขึ้นก็ไปทุ่งหมายความว่าไปเที่ยวหยอดไว้ที่นั่นที่นี่ พยาธิที่ออกมาจากลำไส้ของคนมันก็ไปอยู่ในดินเจริญงอกงาม คนเดินไปเดินมาก็มีตัวพยาธิเจาะไชเข้าไปในเท้าแล้วก็ไปจนกระทั่งถึงกระเพาะอาหาร ไปอยู่ สร้างบ้านสร้างเรือนอยู่ในนั้น เป็นทุกข์เป็นโทษไม่ใช่น้อย เราก็สอนเขาได้ในเรื่องอะไรต่างๆ สอน-คุยกันเวลากินอาหาร ไม่ใช่สอนแต่ว่าคุยกันให้เขารู้ว่าอะไรเป็นอะไร
ในเรื่องอื่นอีก เราก็ชวนพูดชวนคุยชี้แนะในเรื่องเป็นประโยชน์แก่เขา เขาเจ็บไข้ได้ป่วยควรจะแนะนำว่าให้ไปหาหมอที่ไหน? อย่ากินยาเอง เพราะกินเอาเองมันเสี่ยงมากเกินไป อย่าไปกินยาที่ร้านขายยาเขาบอกว่าแก้โรคนั้นโรคนี้โดยไม่รู้ว่าจะกินครั้งละเท่าไหร่? กินเวลาไหน? มันเป็นทุกข์แก่ชาวบ้าน เดือดร้อนแก่เด็กลูกศิษย์ของเราด้วย เกิดความเสียหายแก่สังคมกลุ่มนั้น เราก็ไปทำ, ไปสอน, ไปเตือนเขา แล้วพยายามชักจูงคนเข้าหาศีลหาธรรม ครูไปอยู่ที่ไหนต้องคุ้นเคยกับพระที่อยู่ในวัดนั้น ถ้าพระท่านมีความรู้น้อยครูก็ไปช่วยแนะแนวทางพูดจาให้พระสนใจในการศึกษาเล่าเรียนมากขึ้นจะได้มีความรู้สอนชาวบ้าน แล้วก็ช่วยกันอบรมชาวบ้านชักนำชาวบ้านเข้าวัด เวลามาบำเพ็ญบุญที่วัดอย่ามีสิ่งชั่วร้ายเข้ามาผสมโรงในการบำเพ็ญบุญ คือ อย่ามีการพนัน, อย่ามีการดื่มเหล้า, อย่ามีการกระทำอะไรที่ออกไปนอกขอบเขตของธรรมะของพระพุทธเจ้าก็เป็นการช่วยให้คนเหล่านั้นเจริญงอกงามทางจิตใจ การที่เราไปพูดกับเขาอย่างนั้น ชั้นแรกเขาอาจจะรำคาญ อาจจะไม่ชอบใจเราก็ได้ แต่ว่าวันหนึ่งเขาจะชอบใจเราแล้วเราก็จะชนะ คนที่ประพฤติดีประพฤติชอบไปอยู่ในสถานที่ใด แม้คนจะไม่ชอบในตอนแรกแต่ต่อไปเขาจะชอบคนนั้นมาก มีตัวอย่าง มีตัวอย่างอยู่ในเรื่องนี้ เข้าไปอยู่แล้วคนไม่ชอบเพราะว่าไปกวดขันในเรื่องนั้นเรื่องนี้แนะนำอย่างนั้นอย่างนี้ เขาอยากจะอยู่ตามชอบใจแต่ว่าต่อมาเขาสำนึกได้ว่า อ้อ! ไม่มีใครพูดกับเราอย่างนี้ ตั้งแต่เราเกิดมามีอายุมาจนปูนนี้แล้ว ไม่มีใครเคยมาสอนเรา ไม่มีใครเคยแนะนำเราในเรื่องอะไรต่างๆ คนๆนี้มาอยู่ เขาพยายามสอน พยายามแนะนำในวิถีทางที่ถูกที่ชอบแก่เรา เขาจะเกิดความนิยม และความนิยมที่เกิดจากธรรมะนั่นแหละ เป็นความนิยมประเภทถาวรไม่มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าให้เกิดความนิยมด้วยการร่วมวงก๊งกัน ด้วยการร่วมวงเล่นการพนัน ด้วยความสนุกสนานที่ไม่เกิดสาระ มันเป็นไปชั่วครั้งชั่วคราวไม่ได้ถาวรอะไร ครูเราจึงควรสร้างความนิยมกับชาวบ้านด้วยสิ่งถาวร อันนี้เป็นเรื่องที่กระทำได้ ด้วยการแนะนำสั่งสอนตักเตือนให้เกิดความรู้ความเข้าใจในทางที่ถูกที่ชอบ ชาวบ้านก็จะมีความรักใคร่ต่อเรา มีความนับถือเรา เมื่อเขารักใคร่นับถือ เราจะเอาอะไรก็ได้ จะขออะไรก็ได้ ขอแรงก็ได้ ขอไม้ ขอเงินให้มาช่วยกันซ่อมสร้างโรงเรียนไม่ต้องรบกวนงบประมาณทางราชการ อาศัยประชาชนช่วยกันสร้าง กำลังของประชาชนนั้นมีมากกว่ากำลังอื่นทั้งหมด ถ้าเรารู้จักรวบรวมคนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในรูปที่เป็นธรรมะแล้ว ความรักนั้นก็จะมั่นคงถาวร เราสามารถจะทำอะไรได้ทุกอย่าง อาจจะเป็นครูดีเด่นในจังหวัดนั้นก็ได้ หรืออาจจะเป็นครูเด่นในประเทศก็ได้ ถ้าเราได้ประพฤติตนอย่างนี้เป็นตัวอย่างแก่คนทั้งหลาย อันนี้เป็นเรื่องสำคัญประการแรก
ประการต่อไป ครุครู ครูต้องเป็นคนหนักแน่น อย่าใจเบา อย่าใจง่าย ต้องพกหิน อย่าพกนุ่นไว้ในกระเป๋า นุ่นมันปลิว ถูกลมนิดหน่อยปลิวไปแล้วแต่หินนั้นไม่ปลิวไปไหน เราจึงต้องทำใจให้หนักแน่น มีการบังคับตัวเอง มีความอดทน มีความเสียสละในสิ่งที่ควรจะเสียสละแก่ประโยชน์และความสุขส่วนรวม การไปอยู่ในชนบทสถานที่ใดก็ตามมีปัญหาเยอะ แต่ว่าปัญหานั้นมันเกิดจากคน เราต้องแก้ปัญหาด้วยการแก้คน การแก้คนนั้นต้องศึกษาหาข้อมูลให้ดีแล้วเราก็ไปแก้ เราอย่าเป็นคนใจอ่อน, อย่าเป็นคนใจน้อย, อย่าเป็นคนกลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว ต้องเป็นคนหนักแน่น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เราเป็นครูอย่างแท้จริงอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราเป็นอย่างแท้จริงแล้วไม่มีอะไรจะมาทำลายเราได้ เราจะกลายเป็นเสาหินที่ปักลึกลงไปในดิน หรือเป็นภูเขา แม้ลมพัดมากี่ทิศเขานั้นก็ไม่โยกไม่คอน สภาพจิตใจของครูต้องหนักแน่นในรูปอย่างนั้น ไม่หวั่นไหวต่อคำนินทาต่อคำสรรเสริญเยินยออะไรทั้งนั้น อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นครูแท้ มีความหนักแน่นทั้งกายทั้งใจ ไม่อ่อนไหวไปตามอารมณ์ตามสิ่งแวดล้อม ผู้ใดจะมาชวนให้เราทำอะไร ถ้าเป็นเรื่องที่เรียกว่าไม่เหมาะไม่ควรเราก็ต้องแข็งไว้ เราจะต้องไม่ยอมกระทำอย่างนั้นอันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่งตรงกันข้ามกับความเข้มแข็ง มันคู่กัน คนเข้มแข็งก็คือคนอ่อนโยน เพราะฉะนั้นครูนี่จะต้องเป็นคนอ่อนโยนอ่อนน้อมต่อคนทั่วๆไป ไม่แข็งกระด้าง ไม่อวดดี ไม่ถือดี ไม่มีทิฐิมานะ ยอมรับฟังความคิดความเห็นของชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น เวลาเราจะทำอะไรอย่าทำตามใจตัว เรียกชาวบ้านมาประชุมกันปรึกษาหารือกันในเรื่องอะไรต่างๆ แล้วก็ถามความเห็นของเขาว่าควรจะทำอย่างไรในเรื่องอย่างนี้ สมมติว่า ของบางอย่างในโรงเรียนมันไม่มีพอจะใช้ เราอยากให้ชาวบ้านช่วยเหลือกัน ก็เรียกคนมาประชุมกันด้วยความเรียบร้อย เมื่อประชุมกันแล้วเราก็แถลงให้เขาทราบว่า ปัญหามันเกิดขึ้น สิ่งนั้นไม่มี เป็นความจำเป็นที่จะต้องมี เพราะถ้าไม่มีแล้ว การเรียนการศึกษามันก็จะไม่สะดวก แล้วไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เพราะงบประมาณทางราชการเขาก็ไม่มีจะให้ จึงเชิญพี่น้องมาปรึกษากัน ว่าเราจะทำอย่างไรกันดี แล้วเราก็ถามทีละคนๆว่าจะให้ความเห็นอย่างใด เขาก็ต้องให้ความเห็นว่ามันต้องช่วยกันนะ คงไม่นั่งนิ่งนั่งเฉยละ เพราะลูกของเขาทั้งนั้น ทีนี้จะช่วยกันอย่างไรละ เมื่อจะช่วยกันแล้ว จะช่วยกันอย่างไร? จะหาเงินมาโดยวิธีใด? จะเปิดบ่อนไพ่เก็บค่าต๋งเอามาซื้อของอย่างนั้นหรือ? อาจจะมีคนบางคนเสนอขึ้นมาอย่างนั้นก็ได้ หรือว่าอาจจะจัดการเลี้ยง เพื่อจะได้เก็บเงินจากการเลี้ยงก็ได้ แต่ถ้าเราทำอย่างนั้น เอ! มันจะไม่เหมาะ เป็นการส่งเสริมสิ่งชั่วร้ายไป เราก็พยายามโน้มน้าวจิตใจคน ให้เห็นว่าในสิ่งเหล่านี้ถ้าเราได้ช่วยกันมันก็จะดี ยกตัวอย่างที่ประเทศอื่นบ้านอื่นเมืองอื่นที่เขาทำอะไรใหญ่โตมโหฬารด้วยกำลังคนจำนวนมหาศาลมาช่วยกันทำ ไม่ต้องออกงบประมาณแม้แต่น้อย สิ่งทั้งหลายก็เกิดขึ้นเป็นประโยชน์แก่ประชาชนต่อไป ชี้ให้เขาเห็นว่าโรงเรียนนี้เป็นของชุมชน เป็นของพี่น้องทุกคน ผมนี้มารับใช้ มาช่วยพี่น้องทั้งหลาย แต่ความสำคัญมันอยู่ที่พี่น้องทั้งหลาย เราพูดให้เขาปลื้มใจว่าเขานี้เป็นคนสำคัญในส่วนนี้ ทุกๆคนก็พร้อมใจกันออก มันอยู่ที่การพูดจา อยู่ที่การกระทำตัวเราให้เป็นตัวอย่างแก่คนเหล่านั้น ถ้าเราอบรมตัวเราให้เป็นผู้มีความเจริญอยู่ด้วยคุณงามความดีสม่ำเสมอ เรียกว่าเป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ใช่ว่าตอนเช้าอย่างหนึ่ง สายอย่างหนึ่ง เย็นอีกอย่างหนึ่ง อย่างนั้นมันก็ไม่ได้ เขาเห็นว่าเราเป็นคนนิสัยเหลาะแหละโลเลไม่จริงไม่จัง เราจะต้องทำตนให้สม่ำเสมอ ทำตัวให้เรียบร้อย เช้าอย่างไร สายอย่างนั้น เที่ยงเย็นก็เป็นเช่นนั้น ต่อหน้าคนก็เป็นอย่างนั้น ลับหลังคนก็เป็นอย่างนั้น คนเขามองๆแล้วเขาก็จะเกิดความเชื่อในตัวเรา เพราะเราเป็นผู้มั่นคง เขาจะพูดชมเราว่า อือ! ครูคนนี้เป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ใช่เป็นคนลุ่มๆดอนๆ หรือว่าป้ำๆเป๋อๆแบบคนผีเข้าผีออก ไม่ใช่อย่างนั้น อันนี้มันขึ้นอยู่กับการกระทำของเรา คือ อบรมตัวเราให้มีความดีความงามประจำจิตใจอยู่ตลอดเวลาก็เอาตัวรอดได้
ประการต่อไป ครูเราจะต้องเป็นคนมีระเบียบวินัย อันนี้สำคัญมาก เวลานี้ชาติไทยเรากำลังรณรงค์เพื่อให้ประชาชนมีระเบียบวินัย แต่ว่ายากเต็มที เพราะคนไทยเรานั้น ขอโทษเถอะ! พี่น้องทั้งหลาย ตามใจตัวเองมาตั้งนานแล้ว ทำอะไรตามใจตัว และถือเอาการตามใจตัวนั่นแหละว่าเป็นเสรีภาพ เป็นเสรีภาพไป ความจริงไม่ใช่ เสรีภาพกับการตามใจตัวมันคนละเรื่อง ตามใจตัวนั้นเป็นความชั่ว เสรีภาพมันเป็นความดี เสรีภาพหมายถึงอะไร? หมายถึงการฝึกฝนอบรมตัวเองให้มีจิตใจเป็นอิสระเสรีจากความชั่วความร้าย เช่น
- เราเคยเป็นคนเสพสิ่งเสพติด เราก็ดิ้นรนหลุดมาได้ เรามีเสรีภาพจากสิ่งนั้น
- เราเคยเล่นการพนัน เราเลิกได้ เราก็มีเสรีภาพจากการพนัน
- เราเคยเที่ยวกลางคืน เราเลิกได้ เราก็มีเสรีจากเรื่องนั้น หรือว่า
- เราเคยสนุกสนานเฮฮาสิ้นเปลืองเงินทอง เราเลิกได้ เราก็มีเสรีภาพจากเรื่องนั้น
- เราเป็นคนขี้เกียจเหลวไหลไม่เอางานเอาการทำงานน้อยๆ อยากได้เงินเดือนมากๆ เราก็จะพ้นจากสิ่งนั้นไปเพราะเราต่อสู้กับมัน อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นเสรีภาพ
คนไม่ค่อยจะเข้าใจ ชอบทำอะไรที่เรียกว่าเสรีในทางที่ตามใจตัวทั้งนั้น ตามใจตัวเองมันก็เสียหาย ต้องมีการบังคับตัวเองควบคุมตัวเอง ต้องมีความอดทน ต้องเสียสละสิ่งที่มันไม่เหมาะไม่ควรแก่ชีวิตของเรา เราจะไม่เอามาใช้ เป็นคนหัดทำตนให้มีระเบียบมีวินัยซื่อตรงต่อเวลา ซื่อตรงต่อหน้าที่การงานที่เราจะปฏิบัติ แล้วก็รักษาระเบียบภายในโรงเรียนที่เราอยู่ ทำอะไรให้เรียบร้อย ปลูกต้นไม้, ไม้ดอก, ไม้ผลให้เกิดความร่มรื่น มีความสะอาด มีความเป็นระเบียบตั้งแต่แต่งเนื้อแต่งตัว, โต๊ะทำงาน, ห้องทำงาน, บริเวณทุกอย่างให้เรียบร้อย คอยกวดขันเด็กให้ช่วยกันรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในโรงเรียนเท่าที่เราสามารถจะจัดได้ ครูตามชนบทอาจนึกว่ามันไม่ค่อยมีอะไรจะใช้ ก็ใช้ของพื้นบ้านนั่นแหละ ทำให้เกิดความเป็นระเบียบในพื้นบ้านและโรงเรียนเราจะเป็นโรงเรียนตัวอย่างของชุมชนในถิ่นนั้น เรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยตั้งแต่คน วัตถุสิ่งของ สถานที่ สิ่งแวดล้อม อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่เราจะต้องช่วยกันจัดช่วยกันทำขึ้นให้เป็นการเรียบร้อย
ประการต่อไป ครูจะต้องอดทนต่อคำนินทาว่าร้าย คำเสียดสี กระทบกระทั่งต่างๆจากบุคคลอื่น เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดา คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ คนชอบเขาก็ชม แต่คนไม่ชอบเขาก็ด่า เราอย่าไปยินดียินร้ายกับสิ่งเหล่านั้น ต้องอดทนต่อถ้อยคำที่คนอื่นพูดกระทบกระเทือนเรา แม้คำชมก็อย่าไปลืมตัว อย่าไปเหลิงไป คำติก็อย่าไปทุกข์ร้อนให้มากเกินไป แต่ให้นึกมองดูตัวเองว่า เขาติเราๆมีสิ่งชั่วในตัวเราหรือไม่? ถ้ามี แก้เสีย ถ้าเขาชมว่าดีเราก็ดูว่า เอ! เรามันดีตามเขาชมหรือเปล่า? ถ้าเห็นว่าไม่มีอะไรดี เราก็แก้ไขให้มันดีขึ้น ให้สมกับคำชมของคนเหล่านั้น เอาคำติคำชมนั้นเป็นบทเรียน เป็นเครื่องเตือนใจ เราก็จะได้แก้ไขตัวเราให้ดีขึ้น ความอดทนในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ อีกแง่หนึ่ง เราต้องอดทนต่อการที่จะสั่งสอนเด็ก เพราะศิษย์บางคนมัน.. ปัญญามันน้อย ไม่ค่อยจะเข้าใจ เราอย่าขี้โกรธ อย่าใจร้อน อย่าไปทุบไปตีมัน ว่า เอ! สอนเท่าใดๆไม่จำซักที มันบังคับกันไม่ได้ สมองมันไม่เหมือนกัน ต้องหาอุบาย ถ้าเด็กไม่เข้าใจ อย่าไปโทษเด็ก แต่ควรคิดว่า เอ! เรามันไม่มีวิธีสอนที่ถูกต้องให้เด็กเข้าใจ ต้องแก้ตัวใหม่ อย่าไปโทษคนอื่น ที่เขาพูดกันว่า “รำไม่ดีแล้วไปโทษปี่โทษกลอง” มันก็ไม่ได้ มันต้องรำให้ดีจะไปโทษคนตีกลองตีฉิ่งว่าตีไม่ถูกจังหวะ คนรำเก่งมันก็ต้องรำให้เข้าจังหวะเองแหละ มีมโนราห์โรงหนึ่งที่ปักษ์ใต้สมัยก่อนนั้น ไอ้คนตีเครื่องนี่แกไปเที่ยวเก็บมาทั้งนั้น บอกว่าตีไปเถอะลูกเอ๋ย ลุงรำได้ทั้งนั้นแหละ นี่ว่าแกรำเข้าจังหวะได้ทั้งนั้น แม้คนตีไม่เป็นแกก็รำเข้าจังหวะของแกได้ แกไม่ไปโทษเด็กว่า “มึงตีอย่างไงวะ” แล้วเดี๋ยวเอาไม้ตีหัวเด็กก็เท่านั้นเอง แกไม่ทำอย่างนั้น แต่แกบอกว่า ตีไปเถอะ ตีอย่างไรก็ได้ ลุงรำเข้าจังหวะได้ทั้งนั้น นี่ก็เก่งนะคนอย่างนี้ เขาเรียกว่าทำได้เป็นตัวอย่าง คือว่าเราทำได้ในเรื่องที่ถูกต้องที่เหมาะที่ควร ไม่ไปว่าคนอื่น แต่เราว่าตัวเราเอง เราตีตัวเราเอง ทำอย่างนี้ได้จิตใจก็สบาย ไม่เกิดปัญหา
ประการต่อไปที่ครูควรกระทำก็คือการสอน อันนี้ไม่ต้องสอน เพราะครูเรียนวิธีการสอน หลักการสอนในวิชาครู สอนอย่างไร? สอนง่ายไปหายาก จากต่ำไปหาสูง จากสิ่งที่เข้าใจอยู่แล้วไปสู่สิ่งที่ยังไม่เข้าใจ อันนี้เขารู้ดีกันอยู่ทุกคนแหละ แต่ว่าทำตามที่รู้หรือเปล่าเท่านั้น มันเป็นปัญหาตรงนี้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องใช้หลักวิชาเท่าที่เราได้เรียนได้รู้มาให้เป็นประโยชน์ในการสั่งสอนเด็ก สิ่งใดมันยากต้องพยายามทำให้ง่าย ให้เด็กเข้าใจ พูดภาษาที่เด็กพอรู้เรื่อง เอาวิธีข้อเปรียบเทียบ ใช้วัตถุเป็นเครื่องประกอบให้เด็กเกิดความรู้ความเข้าใจ ก็จะเป็นการทำให้เด็กเกิดความเข้าใจถูกต้อง
ประการสุดท้าย สำคัญที่สุดในคุณธรรมของครู ข้อนี้คือว่า อย่าชักจูงเด็กไปในทางต่ำ (ย้ำ..อย่าชักจูงเด็กไปในทางต่ำ) เราจะจัดงานจัดการอะไร ต้องนึกถึงจิตใจของคนไว้ อย่าส่งเสริมความกำหนัดความขัดเคือง ความลุ่มหลง ความมัวเมา ความฟุ้งเฟ้อ เห่อเหิม ในเรื่องอะไรต่างๆ จะจัดงานอะไร จัดแบบไทยๆ แบบง่ายๆ ที่ไม่ต้องลงทุนลงรอนมากไป เช่นจะให้เด็กเล่นดนตรี มันมีพื้นบ้านดนตรี ดนตรีพื้นบ้าน เช่น เป่าแคน ไม่ต้องซื้อ ราคามันถูกหน่อย หัดเด็กให้เป่าแคน, เป่าขลุ่ย, ตีฉาบ, ตีฉิ่ง กันไปตามเรื่อง มันไม่แพง ถ้าเราจะไปซื้อเครื่องดนตรีไฟฟ้าของยามาฮ่ามาเล่น นี่ก็แพงเกินไป แล้วก็มันเสียดุลกับต่างประเทศโดยไม่จำเป็น เราหัดเด็กให้รำแบบไทยๆ ให้ร้องเพลงไทย ให้ฟังเพลงไทยได้ เดี๋ยวนี้ บ้านเมืองไทยมันก็วิตถารพอสมควรแหละ สถานีวิทยุต่างๆ อย่าเอาเพลงไทยมาฟังเลย มีแต่เพลงยึกเยะอะไรก็ไม่รู้ ฝรั่งทั้งนั้นแหละ ว่าไปไหนละ! ถ้าเราไปเมืองมาเลเซีย-เขาเปิดเพลงมาเลเซีย ไปเมืองพม่า-เขาเปิดเพลงพม่า ไปอินเดีย-เขาเปิดเพลงอินเดีย พอมาเมืองไทยแล้วไม่เปิดเพลงไทย เออ! มันบ้าบออะไรกันก็ไม่รู้ เปิดแต่เพลงฝรั่งมังค่า แล้วเราได้แต่พูดว่า นิยมไทยๆ จะนิยมได้อย่างไร? ก็เพลงมันก็ไม่เป็นไทย อะไรๆมันก็ไม่เป็นไทยกันอยู่ทั้งนั้นแหละ จะนิยมไทยได้อย่างไร แม้โรงหนังก็ไม่ชื่อหนังไทย แคปๆปิตอล แคปๆชิกากู้ อะไรก็ไม่รู้ ไอ้นี่มันอุตริไม่เข้าเรื่องนา ไอ้ภาษาไทยมันไม่มีหรือที่จะเอามาตั้งชื่อเป็นโรงหนัง หรือจะตั้งชื่ออะไรต่ออะไร แม้ตั้งชื่อลูกก็จะตั้ง ต้องตั้งให้มันโก้หน่อย ลูกเป็นชื่อฝรั่งไป ลูกใช้ชื่อเจ้ากุ๊ก แม่กิมลี้ อะไรต่ออะไร มันอุตริไม่เข้าเรื่องนา อันนี้เขาเรียกว่า “ส่งเสริมความไม่นิยมไทย” แม้ในเรื่องเล็กน้อย แต่มันก็แพร่หลายออกไปทุกวันทุกเวลาฟุ้งเฟ้อไม่เข้าเรื่อง เราก็ควรจะช่วยกันแก้ไข อย่าชักจูงเด็กไปในทางที่ต่ำ พยายามจูงให้สูงขึ้นไป ให้มีความละอายบาป ให้มีความกลัวบาป ให้รู้จักรักเกียรติรักศักดิ์ศรีของตัวเอง ว่าอะไรเป็นอะไร เรียกว่าชักจูงในทางที่สูงที่ชอบ พาไปเที่ยว ก็ไปชมสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมของชาติ เป็นศิลปะ เป็นอะไรต่ออะไร อธิบายให้เด็กเข้าใจ ให้เขาภูมิใจว่าชาติไทยไม่ใช่เป็นชาติที่ขาดวัฒนธรรม, ขาดศิลปกรรม ขาดอะไรต่ออะไร เรามีของเรา หนังสือดีๆก็ขนมาให้เด็กอ่าน ยกตัวอย่างมาเล่ากับเด็ก ให้เด็กเกิดความนิยมรักชาติรักบ้านเมือง ต้องชักจูงไปในทางอย่างนั้น สิ่งทั้งหลายมันก็จะดีขึ้น อันนี้ขอฝากคุณครูทั้งหลายไว้
หลวงพ่อพูดหนักบ้าง เบาบ้างก็ด้วยความปรารถนาดี ไม่ไช่เรื่องอะไร ฟังแล้วอย่าไปโกรธอย่าไปเคืองในเรื่องนั้นๆ แต่เอาไปคิดว่า อ้อ! ท่านเตือนเราด้วยความรักด้วยความปรารถนาดี เราเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ เพราะถ้าขาดครูแล้ว ลูกจะไปไม่รอด ถึงมีครูแต่ว่าไม่มี มันก็ไปไม่รอดเหมือนกัน เราจึงต้องช่วยกันเป็นครูดีมีคุณค่า สร้างจิตใจเด็กให้เจริญงอกงามตามสมควรแก่ฐานะดังที่กล่าวมา เพื่อเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจในงานวันครู ๒๕๒๘ ก็พอสมควรแก่เวลา ขออวยพรให้ครูทั้งหลาย จงเป็นครูดีของชาติของบ้านเมือง จงทั่วกันทุกท่านทุกคน เทอญ