แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟัง ปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านที่มีโอกาสมาวัดฯ ในวันนี้ พึงตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี ให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันอาทิตย์นี้ยังไม่สุดท้ายของปี เดือนนี้มันมีห้าอาทิตย์ อาทิตย์หน้าจึงจะเป็นอาทิตย์สุดท้าย แต่ก็เป็นอาทิตย์ที่เรียกว่าใกล้สิ้นปี พวกเราก็เตรียมกาย เตรียมตัวที่จะฉลองปีใหม่ ต้อนรับปีใหม่ ตามธรรมเนียมที่กระทำกันมาตั้งแต่โบราณ แต่ความจริงนั้นเรื่องวัน เดือน ปี มันไม่เก่า ไม่ใหม่อะไร แต่เราสมมุติกันเป็นอย่างนั้น เลยก็ทำอะไร อะไรกันให้วุ่นว่ายไป พอสมควร เป็นเรื่องของความสนุก ความสบายทางจิตใจของคนทั่ว ๆ ไป แต่ในฐานะของผู้ที่ศึกษาธรรมะ ก็ต้องรู้ว่าอะไรเป็นอะไรถูกต้อง ไม่ทำอะไรในทางที่ทำให้เกิด ความทุกข์ ความเดือดร้อนแก่ตน แก่บุคคลอื่นจึงจะเป็นการชอบตามหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา
เมื่อวานนี้ได้ไปที่วัดเทพศิริน เขามีงานถวายพระเพลิงศพสมเด็จพระธีรญาณมุนีซึ่งเป็นสมเด็จองค์หนึ่งอยู่วัดจักรวรรดิราชาวาส เป็นเจ้าอาวาสมาเป็นเวลา 29 ปี แล้วก็สิ้นบุญไป ก็ทำงานศพ ก็ต้องใหญ่ เพราะว่าเป็นสมเด็จฯ คนมามาก พระก็มาก จ่ายเงินไปก็มากเพื่อให้สมเกียรติ สมศักดิ์ศรี อาตมาก็ไปนั่งดูอยู่ตั้งแต่คนน้อย ๆ จนกระทั่งคนมาก แล้วเขาก็ขึ้นเผากัน ก็นั่งดูเขาขึ้นเผากัน ชาวบ้านก็มาก พระก็มาก เมรุมันก็แคบ วุ่นวายกันไปทั่วบริเวณก็ว่าได้ เพราะว่าเบียดเสียดเยียดยัดกันจะขึ้นไป จะเผาศพ เรื่องเบียดเสียดเยียดยัดก็เนื่องจากจะรีบกลับบ้าน เพราะเวลาเย็นแล้ว ถึง ๑๗ ครึ่งแล้ว ก็ต้องแทรกกันไปหน่อย นั่งดูแล้วก็มีความสลดใจ ว่าทำไมจึงต้องทำอย่างนี้ น่าจะทำอย่างอื่นซึ่งมันจะสะดวกสบายกว่านี้ แต่ว่ายังทำไม่ได้เพราะคนยังนิยมกันอยู่ในรูปอย่างนั้นก็ต้องนั่งพิจารณาไป ปลงไป ตามเรื่องตามราวจนกระทั่งได้เวลา (03.34 เสียงไม่ชัดเจน) คน พระห่างหน่อยก็ขึ้นไปวางดอกไม้ธูปเทียนสักการะศพ แล้วก็เดินทางกลับวัด
ในงานศพนี้แจกหนังสือเล่มโต ๆ ลงทุนพิมพ์เยอะ แต่เอามาอ่านแล้วก็… สิ่งที่เป็นสาระมีบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่ค่อยจะมากเท่าใด แต่ว่าลงทุนพิมพ์มาก จ่ายเงินไปตั้งเกือบล้าน…ค่าหนังสือ ก็เสียดายปัจจัยอยู่เหมือนกันว่า เสียเงินมาก คนรับแจกไปแล้วคงจะไม่ได้อ่าน คือเอาไปวาง ๆ ไว้เป็นที่ระลึกเท่านั่นเอง หรืออาจจะอ่านนิดหน่อยแล้วก็พิงทิ้งไว้ เป็นการจ่ายเงินที่ไม่ค่อยคุ้มกับการลงทุนเท่าใด แต่ว่าความนิยมของสังคมก็เป็นไปในรูปอย่างนั้น สู้พิมพ์หนังสือเล่มเล็ก ๆ แจกไปดีกว่า เล่มใหญ่นี่คนมันไม่ค่อยอ่านเวลานี้ เล่มเล็ก ๆ อ่านไม่กี่นาทีจบมันก็ดี ข้อความสั้น ๆ น้อย ๆ อ่านไม่ต้องใช้เวลามาก เพราะคนในสมัยนี้ไม่ขยันในการอ่านเท่าใด เวลาที่จะอ่านก็ไม่ค่อยจะมี เพราะฉะนั้น ทำเล่มน้อย ๆ แจกให้ทั่วกันไป แต่ว่าพิมพ์ให้สวยงาม ให้น่าอ่าน แล้วก็แจกญาติแจกโยม เขาจะได้เอาไปอ่านกัน อันนี้เป็นข้อคิดที่เกิดขึ้นในขณะที่ไปนั่งดูงานเผาศพใหญ่ ๆ ที่มีคนมาก ๆ รู้สึกว่ามีอะไรน่าคิดอยู่หลายอย่าง นี่ละ เอามาแสดงให้ญาติโยมได้รู้ได้ฟังกันเสียบ้าง
(เอ้า - คำอุทานเปิดประโยค) วันนี้จะพูดต่อจากเรื่องที่ค้างไว้เมื่อวันอาทิตย์ก่อน วันอาทิตย์ก่อนได้พูด ด้วยยกพุทธภาษิตเก่าแก่ที่พระเขาชอบเทศกันในสมัยก่อนว่า
กิจโฉ มะนุสสะปะฏิลาโภ – การได้สภาพเป็นมนุษย์นี่ยาก
กิจฉัง มัจจานะ ชีวิตัง – การเป็นอยู่นั้นก็ยาก ... แล้วก็
กิจฉัง สัทธัมมัสสะวะนัง – การได้ฟังสัทธรรมเป็นของยาก
กิจโฉ พุทธานะมุปปาโท – การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า นี่ก็ยาก
(06.18 เสียงไม่ชัดเจน) ความยากเป็น ๔ ประการ ในวันอาทิตย์ก่อนก็ได้อธิบาย ความยาก ๒ ประการ ว่า การเป็นมนุษย์นี้ยาก การดำรงชีวิตอยู่ให้เป็นสุขให้สบายนี่ก็เป็นการยาก แล้วก็ทิ้งไว้เพราะเวลามันหมดเสียแล้ว วันนี้ก็มาพูดต่อว่า "การได้ฟังสัทธรรมเป็นของยาก"
“สัทธรรม” นั่นคืออะไร ธรรมะนี่ ที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เขาเรียกว่า "สัทธรรม" แล้วก็มีคำตรงกันข้ามว่า "สัทธรรมปฏิรูป" คือธรรมะจอมปลอม เราจึงมีว่าธรรมะแท้ กับธรรมะปลอม ธรรมะแท้นี้ฟังยาก ไม่ค่อยมีโอกาสได้ฟัง ไม่ค่อยมีผู้พูด ผู้สอน แต่ว่าธรรมะปลอม ๆ นี้มีมากแล้วก็มีให้กันทั่ว ๆ ไป ไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย หรือเพื่อพระนิพพานเหมือนที่เราสวดในตอนเช้าเมื่อตะกี้นี้ (07.38 เสียงไม่ชัดเจน) เป็นไปเพื่อความหน่าย เป็นไปเพื่อความคลายความกำหนัด เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เป็นไปเพื่อนิพพาน อันนี้คำสอนที่ไม่ได้เป็นไปเพื่ออย่างนั้นก็มีกันอยู่มากเหมือนกัน แล้วคนชอบด้วย คือว่าคนชอบของปลอม ชอบของที่ไม่ค่อยแท้ ถ้ามีการหลอกบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ ดูเหมือนว่าคนจะชอบมากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงมีการหลอกกันด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่นหลอกเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ เรื่องความขลัง เรื่องทำอะไรได้แปลก ๆ แล้วคนก็ชอบตื่นเต้น อันนี้เขาเรียกว่า เป็นการกระทำที่ ให้ "โลกพิศวง" ในภาษาบาลีใช้ศัพท์ว่า "โกหัญเญ"
"โกหัญเญ" นี่แปลว่า การกระทำที่ทำให้เกิดตวามพิศวง งงงวย เช่นการทำอะไรได้แปลก ๆ ในเชิงเล่นกล ซึ่งปรากฏอยู่ทั่ว ๆไป แล้วก็มีคนไปขึ้น ไปหา กันมาก ๆ วัดไหนมีพระเล่นกลนี่คนชอบ คนชอบไปดู ชอบไปหาอะไรที่ได้จากสำนักเหล่านั้น เราจึงเห็นว่าคนตื่นเต้นกันไปรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากสำนักอาจารย์ต่างๆ ซึ่งมีอยู่มากในเมืองไทยเหมือนกัน สำนักอาจารย์เหล่านั้นมันต้องมีเครื่องล่อ เครื่องจูงใจ คือล่อให้หลง ให้มัวเมา ให้เข้าใจผิด ให้ไม่รู้จักสิ่งถูกต้อง คนก็ชอบไปหาสิ่งเหล่านั้น ยกย่องกันว่าเป็นพระอาจารย์ อย่างนั้น อย่างนี้ แล้วก็ยกย่องกันว่าเป็นผู้สำเร็จในทางอะไรต่ออะไร เช่นสำเร็จในด้าน "มโนมยิทธิ" คือแสดงฤทธิ์ได้ การแสดงฤทธิ์ได้นี่มันไม่ใช่เรื่องที่เป็นประโยชน์ในทางดับทุกข์อะไร ก่อนพระพุทธเจ้าเกิดคนในอินเดียก็แสดงกันอยู่ มีอยู่ทั่ว ๆ ไปตามสำนักฤาษีชีไพรต่าง ๆ คนก็ไปหา ไปบูชา ไปกราบไปไหว้ แต่เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบทางใหม่ พระองค์ก็ชี้ให้เห็นว่าทางนั้นไม่ใช่ทางดับทุกข์ ไม่ใช่ทางที่ควรจะส่งเสริมให้แพร่หลาย พระสงฆ์เราบางรูปแม้จะมี (10.42 เสียงไม่ชัดเจน) ทางใจ สามารถจะแสดงฤทธิ์เดชอะไรให้คนพิศวงได้ แต่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้กระทำเช่นนั้น เพราะถือว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นเหมือนกับการเล่นกล ของคนที่แสดงอยู่ตามกลางบ้าน กลางเมือง
ในประเทศอินเดียนั้นมีนักเล่นกลมากมาย เขาแสดงในรูปแปลก ๆ เราดูแล้วก็เห็นว่าเป็นเรื่องพิศวงน่ามหัศจรรย์ แต่ว่าการกระทำเช่นนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ ไม่ได้เป็นไปเพื่อนิพพาน พระพุทธเจ้าจึงห้ามพระไม่ให้กระทำในวิธีการนั้น ๆ เพราะเป็นเรื่องปาฏิหารที่ไม่จำเป็น ไม่ใช่ธรรมแท้แต่ว่าเป็นธรรมปลอม สำหรับหลอกคนโง่ให้หลง ให้มัวเมาไปด้วยประการต่าง ๆ แต่ว่าถ้าแสดงขึ้นมาในรูปอย่างนั้น คนก็นึกว่าเก่ง แล้วก็นึกว่าสำเร็จในวิชาการทางพระพุทธศาสนา เช่นเราได้ยินคำพูดว่า "องค์นั้นเก่งทางวิปัสนา" แล้วก็แสดงอย่างนั้น อย่างนี้ได้ ทำอะไรได้ เสกน้ำให้แตกเป็นฟองขึ้นในขันก็ได้ หรือว่าทำอะไรในเรื่องประหลาด ๆ อย่างนี้ไม่ใช่วิธีการที่จะทำคนให้พ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ แต่เป็นการแสดงกลเท่านั้นเอง พระพุทธ เจ้าไม่ทรงสรรเสริญให้กระทำ แต่ว่ามีการกระทำกันอยู่เพราะเป็นทางเจริญลาภ เจริญสักการะ ถ้าใครทำได้ก็เรียกว่าหลอกเอาลาภจากชาวบ้านได้ ชาวบ้านผู้ไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจ ก็ไปหลงไหลมัวเมากับสิ่งเหล่านั้น ไปแสวงหามา เอาด้ายจากผู้นั้นมาผูกข้อมือไว้บ้าง เอามาห้อยคอบ้าง หรือเอาอะไรมาติดไว้กับเนื้อกับตัว แต่ว่าไม่ได้ปฏิบัติธรรม ยังไม่ประพฤติในทางละ ในทางเจริญ กิเลสไม่ได้เบาลงไป ปัญญาก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น
การกระทำอย่างนั้นจึงมิใช่หลักการในทางพระพุทธศาสนา แต่เป็นสิ่งที่จูงคนให้หลงให้มัวเมาไปในด้านวัตถุ พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญ ไม่นิยมให้กระทำ เป็นธรรมปฏิรูป เรียกว่าเป็นธรรมปลอม ไม่ใช่ของจริง ของแท้ เราท้ั้งหลายที่นับถือพระพุทธศาสนาจึงควรจะได้เข้าใจในเรื่องอย่างนี้ไว้ แล้วอย่าไปตื่นเต้นกับข่าวลือประเภทต่าง ๆ ที่เขาลือว่าองค์นั้นเก่งอย่างนั้น องค์นั้นเก่งอย่างนี้ ศักดิ์สิทธิ์วิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ ให้รู้ว่านั่นคือคำลือที่ไม่ได้เรื่อง เป็นคำลือที่ออกมาจากปากคนปัญญาอ่อน ไม่ใช่คนมีปัญญาลึกซึ้ง ไม่ใช่คนที่มีการศึกษาธรรมถูกต้อง แต่เป็นคนประเภทไม่รู้อะไร เห็นอะไรก็เป็นของแปลกประหลาดมหัศจรรย์แล้วก็เล่าลือกัน ความเชื่อในรูปอย่างนั้นจะเป็นปากทางไปสู่ความถูกหลอกลวงด้วยประการต่าง ๆ คือถูกหลอกให้หลงไปในคุณของคนเหล่านั้นในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น คนก็ยิ่งเดินอย่างชนิดปิดหูปิดตา ไม่รู้จักอะไรว่าเป็นของจริงของปลอมทำให้เสียหายแก่ชาติ แก่บ้านเมือง
คนในประเทศใดชาติใดที่เป็นคนหลงงมงาย เชื่อง่ายในสิ่งที่เขาทำอะไรแปลกๆให้ดู วันหนึ่งจะมีคนบางประเภทมาทำสิ่งหลอกลวงเหล่านั้น แล้วคนก็จะไปหลงเชื่อ ถูกเขาจูงไปสู่ลัทธิอันเราไม่พึงปรารถนาก็ได้ หรือว่าเขาสอนให้เราทำลายสิ่งถูกต้องเสียก็ได้ เพราะความหลงผิด เข้าใจผิดในเรื่องต่าง ๆ อันนี้มันเป็นอันตรายอยู่มิใช่น้อย แต่เราไม่ค่อยคิดให้มันละเอียด เพราะถ้าหากว่าคนไม่มีปัญญา ใครเขาจะจูงไปในทางใดก็ได้ เพื่อประโยชน์ของเขา แต่ถ้าคนมีปัญญาแล้วใครจะจูงไม่ได้ เพราะเขาฟังด้วยปัญญา เขาดูด้วยปัญญา เขาคิดด้วยปัญญา เขาก็เกิดความเข้าใจถูกต้องในเรื่องต่าง ๆ จึงไม่ถูกชักจูงไปในทางที่ผิด ควรที่เราทั้งหลายจะได้ช่วยกัน แนะนำ ชักจูง ให้คนเกิดปัญญา ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าจึงจะเป็นการดี
ทั้งนี้...หลักธรรมของพระพุทธศาสนาที่เรียกว่าเป็น "สัทธรรม" คือธรรมที่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เพื่อความเย็น เพื่อความสงบทางจิตใจนั้นยากที่จะได้ฟัง คือไม่ค่อยมีใครสอน ไม่มีใครพูดให้เราฟังกัน ที่ไม่สอน ไม่พูดให้ฟัง ก็เพราะนึกว่ามันลึกเกินไป คนธรรมดาจะไม่เข้าใจในหลักคำสอนนั้น เลยไม่มีการสอน ไม่มีการพูดให้เกิดความรู้ความเข้าใจ พูดกันแต่เรื่องธรรมดาสามัญที่จะให้คนฟังแล้วเพลิดเพลินสนุกสนาน แล้วก็จะได้ลาภผลสักการะเพียงเท่านั้น หาได้จูงไปสู่ปัญญาชั้นสูง ซึ่งเรียกว่าโลกุตลปัญญาตามหลักการในทางพระพุทธศาสนาไม่ ความจริงเราต้องสอนไปโดยลำดับ ค่อยอธิบายความหมายที่ลึกซึ้งไปตามลำดับเหมือนกับการขึ้นภูเขา ค่อย ๆ เดินขึ้นไป ๆ พักเสียบ้าง หายเหนื่อยแล้วก็เดินต่อ แล้วก็เดินขึ้นไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งก็จะขึ้นไปยืนบนยอดเขาสูงได้ เมื่อขึ้นไปถึงยอดเขาแล้ว เราสามารถจะมองเห็นทิวทัศน์รอบ ๆ ภูเขานั้นได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง และรู้ว่าอะไรเป็นอะไรได้ถูกต้องฉันใด คนที่ศึกษาธรรมะก็ต้องไต่เต้าไปตามขั้นเพื่อให้ถึงปัญญาอันสูงสุดตามอุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา เมื่อเราก้าวไปจนถึงขั้นนั้น เราก็จะมองเห็นอะไรชัดเจนแจ่มแจ้ง หายหลง หายมัวเมา หายตื่นเต้นในสิ่งต่าง ๆ เพราะมารู้ชัดว่าเนื้อแท้มันคืออะไร อันนี้แหละเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรจะได้คำนึงกันให้มาก และควรจะได้เร่งศึกษาปฏิบัติเพื่อให้ถึงจุดหมายที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงประกาศไว้
ธรรมะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศนั้น ที่สำคัญที่สุด ย่อที่สุดก็คือว่า ทรงประกาศเรื่องความทุกข์และความดับทุกข์ได้ เรื่องความทุุกข์นี้เป็นเรื่องใหญ่ที่นำมาทรงประกาศ ความดับทุกข์ได้เป็นผลของการค้นพบ พระองค์จึงประกาศให้เราเข้าใจถึงเรื่องนี้ ทำไมจึงได้พูดแต่เรื่องนี้เป็นส่วนมาก ก็เพราะว่าการออกบวชของพระองค์นั้น มีจุดหมายเพื่อความดับทุกข์ พระองค์มองเห็นความทุกข์ยากลำบากของชาวโลก แล้วก็เห็นความทุกข์ของคนเหล่านั้น คิดจะช่วยเขาให้ผ่อนคลายจากความทุกข์ความเดือดร้อนจึงได้เสียสละความสุขแบบที่ชาวบ้านเขาต้องการไปหาความสุขที่แท้จริง จนพบสิ่งนั้นและมีจิตสงบเป็นสุขอย่างแท้จริง พระองค์ก็นำสิ่งนั้นมาประกาศให้ชาวโลกได้เกิดความรู้ความเข้าใจ
ชั้นแรกก็ทรงคิดนำว่าน่าจะลำบาก คนคงจะฟังไม่รู้เรื่อง แต่ว่าผลที่สุดคิดว่าต้องลองดู คงอาจจะมีคนที่มีปัญญาแก่กล้า พอจะเข้าใจสิ่งนี้ได้บ้าง ไม่ทดสอบก็จะไม่ทราบ เลยต้องทดสอบด้วยการไปสอนปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ที่ป่าอิสิปตน เมืองพาราณสี ได้ผล มีคนเข้าใจหลักคำสอนผู้หนึ่ง เป็นผู้แรก คือท่านโกณฑัญญะ แล้วอีก ๔ คนที่เหลือนั้นก็ค่อย ๆ สอนเลื่อนชั้นแห่งปัญญาขึ้นไปโดยลำดับจนรับได้หมดทั้ง ๕ แล้วก็ไปสอนสิ่งที่ลึกซึ้งให้ท่านทั้ง ๕ เข้าใจชัดเจน กิเลสหมดไป ใจก็มีความสงบอย่างแท้จริง เรียกว่าถึงที่สุดของความทุกข์ ไม่ต้องมานั่งเป็นทุกข์เป็นร้อนกันอีกต่อไปในปัญหาอะไรต่าง ๆ นี่แหละคือสิ่งที่พระองค์นำมาประกาศแก่ชาวโลกทั้งหลาย
เพราะฉะนั้นการศึกษา การปฏิบัติก็ต้องมุ่งไปสู่จุดนั้น ไปสู่ความดับทุกข์ของเรา แต่ว่าความทุกข์นี่มันก็มีหลายชั้น อาจจะเกิตขึ้นแก่เราในโอกาสนั้นโอกาสนี้ ในเรื่องนั้นในเรื่่องนี้ เราก็ต้องพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไปโดยลำดับ โดยวิธีศึกษาว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์อย่างนี้ขึ้นในจิตใจของเรา โดยการถือหลักว่า“สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ไม่มีเหตุ ผล จะเกิดขึ้นไม่ได้” “เหตุนั้นอยู่ที่ไหน ?”
ก็ต้องเข้าใจว่าอยู่ในตัวเรา ในจิตใจของเรา ในกายของเรา ไม่ได้อยู่ออกไปจากตัวเรา ถ้าเราไปค้นหานอกตัว มันก็ไม่พบ มันเป็นของปลอม แต่ถ้าค้นหาในตัวก็จะเป็นของจริงของแท้ คนเราที่ไม่เข้าใจในเรื่องนี้ จึงไปเที่ยวแก้ทุกข์โดยวิธีปลอม ๆ มากเรื่องมากประการ เช่นไปทำพิธีทางไสยศาสตร์ ไปบนบานศาลกล่าว ไปติดสินบนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่โลกสมมุติขึ้น แล้วก็ต้องไปแก้บนด้วยวัตถุต่าง ๆ ที่เราได้สัญญาไว้ นั่นไม่ใช่การดับทุกข์อย่างแท้จริง นั่นไม่ใช่ทางที่จะช่วยเราให้พ้นไปจากความทุกข์ หรือไม่ได้ช่วยเราให้เดินไปถึงที่สุดของความทุกข์ได้ เพราะเราไม่พบสาเหตุอันถูกต้อง (24.02 เสียงไม่ชัดเจน) มองข้ามไป ของอยู่ข้างในไม่มองแต่ไปมองไกลออกไป ที่ไหน ๆ ก็ไม่รู้ มองไปจนถึงอวกาศ ว่าดวงดาวให้โทษอะไรต่าง ๆ เราจึงไม่สามารถจะแก้ปัญหาด้วยตัวเราได้
ความจริงปัญหาทั้งหลายนั้นมันเป็นเรื่องของเราเอง เกิดขึ้นเพราะการคิด การพูด การกระทำของตนเอง ถ้าเราคิดผิด พูดผิด ทำผิด มันก็เกิดปัญหา เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน ถ้าเราคิดถูก พูดถูก ทำถูก มันก็ไม่เกิดปัญหาอะไร เราไม่เข้าใจเรื่องผิดเรื่องถูกชัดเจน เราจึงได้คิดผิด พูดผิด ทำผิด ไปหลงไหลในสิ่งที่จะให้เกิดความทุกข์ขึ้นในตัวเอง แล้วก็ไปแก้ที่อื่น อยางนี้ผลมันก็ไม่ถูกตัด เพราะเราตัดเหตุไม่ถูกที่ จึงผิดหลักการทางพระศาสนา ถ้าเราเข้าใจหลักพระพุทธศาสนา เราไม่ต้องไปหาใคร แต่เราจัดการกับตัวเราด้วยการพักผ่อนทางใจ ทำใจให้สงบ ให้เป็นตัวเองแล้วก็ใช้ความสงบนั้นมองปัญหา ค้นให้พบว่า
“เหตุมันอยู่ที่ความคิดอะไร ?”
“การทำอะไร ?”
“การคบกับใคร ?”
หรือ... “การไปสู่สถานที่ใด ?”
จึงได้เกิดสิ่งนี้ขึ้น ค้นไปเถอะ ค้นไปด้วยความสงบใจเถอะ แล้วเราจะพบสิ่งนั้นด้วยตัวเราเอง เมื่อเราพบแแล้วต้องใจแข็ง ต้องเลิกละสิ่งนั้นให้ได้ ถ้าใจไม่เข้มแข็งมันก็เลิกไม่ได้ เหมือนเรามีความทุกข์เพราะสิ่งเสพติด ถ้าเราไม่ใจแข็งมันก็เลิกไม่ได้ ยังจะต้องเสพมันเรื่อยไป ซึ่งปรากฏมีอยู่เยอะแยะ ไปติดเข้าแล้วทิ้งไม่ได้ แม้ว่าจะรู้จักโทษมันก็ทิ้งไม่ได้เพราะใจอ่อนนั่นเอง ไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอ บังคับตัวเองไม่ได้ ควบคุมตัวเองไม่ได้ ...เลยก็ต้องทำสิ่งที่เป็นทุกข์เพิ่มขึ้น อันนี้เราจะไปโทษใครไม่ได้ แต่เราควรจะโทษตัวเอง
คนเราโดยปกตินั้นมักจะไม่โทษตัวเอง ไม่บอกว่าตัวผิด แต่ไปเที่ยวโทษคน โทษวัตถุ โทษเวลา โทษเหตุการณ์ โทษอะไร ๆ หลายเรื่อง หลายอย่าง ซึ่งไม่มีเรื่อง ตนก็ทั้งนั้น ไปโทษสิ่งภายนอกทั้งนั้นแล้วก็แก้ไม่ได้ ตนก็ต้องแบกความทุกข์นั้นต่อไป อันนี้เป็นเรื่องที่มีอยู่ทั่ว ๆ ไป แม้ในญาติโยมทั้งหลายที่มาวัดอยู่นี้ ก็มีเหตุการณ์เช่นนั้น เพราะยังไม่เข้าถึงความจริงของพุทธศาสนา ไม่พยายามนำความจริงที่เรารู้ไปใช้ ของดีมีไม่ใช้ แต่ไปใช้ของปลอมเลยไม่สำเร็จประโยชน์ อันนี้จึงควรจะเข้าใจเสียใหม่ ว่าเราจะต้องใช้ของจริงของแท้ เราจะไม่ใช้ของปลอมต่อไป การที่จะรู้ว่าอะไรจริง อะไรแท้ ต้องหมั่นศึกษากับผู้รู้ อ่านหนังสือบ้าง ฟังบ้าง แล้วเอาไปคิดไปตรองให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ความโง่ค่อยหลุดหายใป ความทุกข์ก็ค่อยหายใป เราถึงที่สุดของมันสักวันหนึ่ง มีชีวิตเป็นสุขอย่างแท้จริง อันนี้เป็นเรื่องที่ควรกระทำ อย่าให้มันเป็นของยากสิ แต่ให้เป็นของง่าย ของบางอย่างไม่ยาก แต่มันกลายเป็นยาก ยากตรงที่เราไม่ทำนั่นเอง เมื่อไม่ทำมันก็ยังยาก แต่ถ้าสมัตรใจทำ ทำด้วยความตั้งใจ ด้วยความอดทน ด้วยความบากบั่น เราก็จะได้รับสิ่งนั้นสมความปรารถนา จึงขอให้เข้าใจไว้อย่างนี้
ธรรมะมีอยู่แต่เราไม่เข้าถึงธรรมะ ...ยามีอยู่เราไม่กินแก้ไข้ แล้วเราจะหายเจ็บ ป่วยได้อย่างไร ธรรมะมีอยู่แต่เราไม่สนใจศึกษา ไม่นำไปปฏิบัติ ธรรมะนั้นจะเกิดประโยชน์อะไรแก่เรา มันจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะฉะนั้นอย่าทำให้คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหมัน ให้คำสอนนั้นเป็นประโยชน์แก่ชาวโลกคือพวกเราทั้งหลายตลอดไป ด้วยเข้ามาศึกษา เข้ามาปฏิบัติ ขัดเกลาจิตใจของเราให้สะอาดปราศจากสิ่งเศร้าหมองใจ จะได้อยู่อย่างชนิดที่เรียกว่ามีใจสะอาดแท้จริง ใจสงบแท้จริง ใจสว่างอยู่ด้วยปัญญาอย่างแท้จริง ของยากมันก็จะกลายเป็นของง่ายขึ้นมา นี่ประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่งที่กล่าวว่า "การเกิดขึ้นของพุทธะนี้เป็นการยาก" อันนี้เราเห็น ง่าย ว่าพระพุทธเจ้าเกิดในโลกนี้เพียงองค์เดียว เวลานี้มีพระพุทธเจ้าองค์เดียว ไม่มีใครอื่นเกิดมาเลย ที่จะมาเป็นพุทธะอีกนะไม่มี มีองค์เดียวเท่านั้น แล้วพระองค์ก็บอกไว้ว่า ในโลกธาตุหนึ่ง ๆ มีพุทธะเพียงองค์เดียว ไม่มีองค์ที่สอง เมื่อคำสอนของพระพุทธเจ้าองค์นั้นยังอยู่ตราบใด พุทธะองค์อื่นก็จะไม่เกิดขึ้น ทำไมจึงไม่เกิดขึ้น เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดมาทำอะไร แล้วไม่รู้ว่าจะสอนอะไร เพราะมันมีอยู่แล้ว จะไปสอนใหม่มันก็ไม่ได้ เพราะของพระองค์มีอยู่เรียบร้อยแล้ว ก็ต้องใช้หลักคำสอนนี้ต่อไป เมื่อใดคำสอนนี้เสื่อมหายไปจากโลก เพราะคนไม่ได้สนใจศึกษา ปฏบัติ สืบต่อ นานเข้า ๆ มนุษย์โลกก็จะเป็นทุกข์มากขึ้น เมื่อทุกข์มากขึ้น ก็จะเกิดคนที่มาช่วยคลายทุกข์ พุทธะจึงจะเกิดขึ้นในโลก มาช่วยแก้ปัญหาของโลกต่อไป
เวลานี้มันยังไม่ขนาดนั้น คือยังไม่ถึงเวลาที่พุทธะองค์ใหม่จะมา พุทธะองค์เดิมคือพระโคดมสัมมาสัมพุทธะ ได้สอนพระศาสนาไว้ ยังอยู่ และยังทันสมัย ยังเป็นประโยชน์แก่ผู้ต้องการความพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าองค์ใหม่จึงจะยังไม่เกิดขึ้น ดังนี้เมื่อพระพุทธเจ้า “มีอยู่...เป็นอยู่” ธรรมะก็ “มีอยู่... เป็นอยู่” แต่ถ้าเราไม่รู้จักพระพุทธ เจ้า ไม่รู้จักพระธรรมที่พระองค์นำมาสอน เราก็เที่ยวเดินผ่านไปผ่านมาโดยไม่ได้อะไร เหมือนคนไปหาต้นไม้ชนิดหนึ่งเพื่อเอามาทำยา แต่ไม่รู้จักสภาพของต้นไม้นั้น ก็เที่ยวเดินเรื่อยไป เพราะไม่รู้จะเก็บเอาต้นอะไร เมื่อใดมีคนมาถามว่า "เธอเที่ยวหาอะไร" ....."ฉันหาต้นไม้ชื่อนั้น… " เขาบอกว่า "ก็นี่ไง ต้นไม้น่ะมันอยู่ตรงนี้เอง" ก็อยู่ที่ปลายจมูกนั่นเอง ไม่ไกลไปที่ไหน จึงได้ไปคว้าเอาต้นไม้นั้นไปทำยาได้ ฉันใด สิ่งที่ถูกต้องดี เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์มีอยู่ อยู่ข้างในตัวเรา อยู่ใกล้ตัวเรา แต่เราไม่สนใจมอง ไม่สนใจหา มัวเที่ยววิ่งไปหาที่นั่น ไปหาที่นี่ ให้วุ่นวายไปตาม ๆ กัน ได้ของหลอกบ้าง ได้ของไม่จริงมาบ้าง แล้วก็ไปคว้ามา
พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสเปรียบเทียบว่า ...เหมือนบุรษคนหนึ่งที่เข้าไปในป่า เพื่อต้องการแก่นไม้ แต่ไม่รู้จักแก่นไม้ เลยไปได้เปลือกมาโดยนึกว่าเป็นแก่น ได้กระพี้มาโดยนึกว่าเป็นแก่น หรือว่าได้ใบไม้มา ได้ยอดไม้มา โดยนึกว่าเป็นแก่น ไม่ได้แก่นที่แท้จริงของต้นไม้นั้น ไปเดินเซะเสียเวลาเหน็ดเหนื่อย แต่ได้สิ่งซึ่งไม่ได้เป็นแก่นแท้มา อันนี้เป็นข้อเปรียบเทียบ ว่าในธรรมะของพระพุทธเจ้านี่ก็เหมือนกัน เราไม่ค่อยจะได้พบแก่น เพราะว่าไปเอาของที่ไม่ใช่แก่นมาหลงชมอยู่ เหมือนคนได้ใบไม้มาก็นึกว่าเป็นแก่น ได้เปลือกมาก็นึกว่าเป็นแก่น ได้กระพี้มาก็นึกว่าเป็นแก่น เมื่อนึกว่ามันเป็นแก่น แล้วก็เลยไม่หาแก่น แล้วก็ไม่ได้แก่นแท้ของต้นไม้นั้น เพราะนึกว่าสิ่งที่ตนได้นั้นมันเป็นแก่นเสียแล้ว การแสวงหาก็หยุดเสียอย่างนั้น อันนี้คือความไม่รู้ ไม่เข้าใจ เราจึงต้องคลำเข้าไปให้เจอแก่นของเนื้อแท้ของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ แก่นแท้นั้นเมื่อเราพบแล้วจะทำให้เกิดความพ้นทุกข์ ความพ้นทุกข์นี้เป็นจุดหมายสำคัญในทางพระพุทธศาสนา เราเรียกในภาษาวัด ๆว่า "วิมุติ"
วิมุติคือ (35.31 เสียงไม่ชัดเจน) หมายถึง "ความพ้นทุกข์" นั่นแหละคือจุดหมายที่เราต้องการ ใจเรามันพ้นไปจากความทุกข์ในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องนั่งกลุ้มใจ ไม่ต้องนั่งเสียใจ ไม่ต้องนั่งดีใจเพราะได้นั่นได้นี่ และไม่เสียใจเพราะสิ่งนั้นสิ่งนี้มันหายไป มันเสื่อมไป ไม่มีทั้งสองอย่าง คือไม่มีเรื่องดีใจ แล้วก็ไม่มีเรื่องเสียใจ
มันอยู่อย่างไร "ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ" มันก็อยู่ตรงกลาง ...คือไม่ดีใจและก็ไม่เสียใจ ไอ้อยู่ตรงกลางนี่ไม่ต้องตั้งชื่อว่าอะไรหรอก ให้มันพบด้วยตนเองก็แล้วกัน จะไปตั้งชื่อมันก็ลำบาก ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ใจมันเป็นกลาง ๆ อย่างนี้เป็นเรื่องรู้ได้ด้วยตัวเอง ในเมื่อเราพบกับสิ่งนั้น ดีใจมันก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เสียใจมันก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เช่นเราถูกล๊อตเตอรี่ เราได้ลาภ ได้อะไรเราดีใจ แต่ว่าดีใจไม่เท่าไร ความดีใจนั้นก็หายไป เพราะสิ่งนั้นมันไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป หรือว่าอยู่กับเราแต่มันนานแล้ว เราก็ไม่ชอบ เราอยากจะได้ใหม่ ๆ ได้อะไรเพิ่มขึ้น และเมื่อได้มาแล้วก็ดีใจชั่วครู่ชั่วยาม แล้วก็ชา ชา กับสิ่งนั้น อยากจะได้สิ่งใหม่ต่อไป
เพราะฉะนั้นคนเรานี่ อยู่ด้วยความหวังอะไรใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา หวังจะได้เสื้อผ้าใหม่ อยากได้แหวนวงใหม่ อยากจะได้สายสร้อยใหม่ อยากจะได้บ้านใหม่ อยากจะได้รถยนต์คันใหม่ อยากจะได้อะไร ๆ ที่มันไม่ใช่อันนี้น่ะ เพราะอันนี้อยู่กันมานานแล้ว มันชักจะเบื่อ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยากจะได้อันใหม่ แล้วเมื่อได้อันใหม่มานั้น มันก็เบื่ออีกแหละ แล้วก็ต้องหาใหม่ต่อไป ได้มามันก็เบื่ออีก มันเป็นอย่างนี้
โยมลองสังเกตุตัวเองสิ ว่ามันเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ได้เสื้อมาเรียกว่า เสื้อใหม่ ทันสมัย เป็นแฟชั่นแบบใหม่ ใส่ไปสักพัก (เฮ้ย) มันชักจะเบื่อแล้วตัวนี้ เราก็ต้องหาตัวใหม่ต่อไป อยู่นาน ๆ มันก็เบื่อ อยู่ในห้องเดียวนอนหันหัวไปทิศเหนือ นาน ๆ (ฮื้อ) หันไปทิศใต้บ้าง หันไปนาน ๆ เปลี่ยนไปทิศตะวันออกบ้าง(ละ) ทิศตะวันตกนี่ไม่ค่อยกล้าหมุนไป (หัวเราะ) กลัว...กลัวจะหักคอ นั่น (เรียกว่า ... เลย) มันจะหมุนอยู่อย่างนั้นละ หมุนไป... บ้านก็เหมือนกันต้องจัดใหม่ เข้าของที่เคยว่างนี่ หลาย ๆ เดือน เอ้าก็จัดใหม่เสียที ห้องรับแขกเปลี่ยนไปไว้ห้องนั้น เปลี่ยนโต๊ะ เปลี่ยนอะไรเสียหน่อย คล้ายกับแมวได้ลูกใหม่ ๆ แมวเวลามันเกิดลูกนี่ พอเจ็ดวันแล้วมันคาบละ อยู่ตรงนี้มันคาบไปตรงนั้น คาบไปไว้ตรงนั้น คาบไปอยู่ตรงนั้นสักเจ็ดวัน เดี๋ยวมันคาบมาตรงนี้อีกแล้ว เดี่ยวมันคาบมาอยู่ที่เดิมอีกแล้ว มันลืมแล้วว่ามันเคยอยู่ตรงนี้ ทำไมมันต้องคาบไปเรื่อย ๆ ...มันกลัว กลัวว่าอยู่ตรงนี้นานแล้ว เดี๋ยวสัตว์อื่นที่จะกินแมวได้มันจะรู้ เพราะฉะนั้นต้องคาบหนี
แมวมันถ่ายแล้วทำไมมันถึงปิดซะ เพื่อไม่ให้มีกลิ่น ไม่ให้สัตว์อื่นรู้ว่ามีแมวมาขี้ไว้แถวนี้ แล้วมันจะมาจ้องจับเวลาแมวกำลังถ่าย แล้วมันจะตาย มันสัญชาติญาณมันช่วย ช่วยให้ปิด ให้ชำระเสีย อย่าให้ปรากฏอยู่ แต่ว่าคนเราบางทีไปถ่ายในห้องส้วมแล้วไม่ล้าง ก็เรียกว่าวัฒนธรรมแมวดีกว่าเท่านั้นเอง ถ่ายไม่ล้าง (หัวเราะ) มันก็ยุ่งเต็มที มีเขาเล่าให้ฟังว่า แขกยามน่ะ มันอยู่ยามที่ห้างแห่งหนึ่ง มันถ่ายแล้วไม่ล้างทุกที ไม่ราด คนเข้าไปเห็น เอ๊ะ ใครนะถ่ายไม่ราด ไม่รู้ว่าคนไหน คนมันเยอะนี่ บริษัทนี่ ก็ให้คนคอยจ้องดูไว้ ใครเข้าไปแล้วออกมาให้ไปคอยจ้องดู จ้องดูก็พบว่าแขกยามนี่เองเข้าไปถ่ายแล้วไม่ล้าง ก็เลยจับเข้าให้ แล้วเรียกว่า
"นี่นาย ! ทำไม่ทำอย่างนี้ ถ่ายแล้วทำไมไม่ล้าง"
ตอบ "เรื่องล้างไม่ใช่หน้าที่ของฉัน"
"ฉันมีหน้าที่ถ่าย แล้วฉันนี่ไม่ใช่วรรณะล้างสวม (ว่าอย่างนั้น)
“วรรณะฉันนี้มันเป็นกษัตริย์ ล้างสวมไม่ได้"
เออมันเป็นกษัตริย์ ถ่ายแล้วล้างไม่ได้ ว่าอย่างนั้นแหละ มันต้องให้วรรณะศูทรมาล้าง ทีนี้ "ศูทร" มันไม่มีในเมืองไทย (นี่)
เขาบอกว่า “ถ้านายทำอย่างนี้ก็นายต้องออกจากห้างนี้ จะอยู่ห้างนี้ไม่ได้เพราะขี้แล้วไม่ล้าง”
มันบอกว่า “ถ้าอย่างนั้นก็ล้างได้เหมือนกัน ว่างั้น” (หัวเราะ)
พอจะไล่ออก มันล้างได้ขึ้นมาแล้ว เออ เป็นอย่างนี้้ (นี่ เป็นอย่างนั้นแหละ) เขาเรียกว่า แมวมันทำของมันปกติ แต่คนไม่เอา อันนี้มันมีอยู่
เพราะอย่างนั้น สิ่งทั้งหลายนี่ไม่เป็นที่พอใจของใคร ๆ อยู่นาน ๆ ไม่พอใจ ตำแหน่งอะไรก็เหมือนกัน เป็นนาน ๆ แล้วชักจะไม่พอใจ แหมอยากจะย้ายไปที่อื่นบ้าง ...คือว่ามันเป็นความหวังอยู่ข้างหน้า คล้ายกับเราเดินทาง พอมาถึงตรงนี้ก็นึกว่า ข้างหน้ามันคงจะดีกว่านี้...เดินต่อไป พอไปถึงแล้ว (โอ๊ะ)ข้างหน้ามันจะดีกว่านี้...เดินต่อไป มันมีความหวังอยู่ข้างหน้า ๆ เรื่อยไปตลอดเวลา เพราะยังมีความหวังอยู่ในใจ ยังไม่เป็นผู้ทำลายความหวังเสีย มันก็เป็นทุกข์เรื่อยไป หวังแล้วมันไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ สมหวังก็เป็นสุขไม่นาน เพราะว่ามันเป็นความเบิกบานใจชั่วครั้งชั่วคราว พ้นจากนั้นไปก็ต้องหาสิ่งมา (42.16 ฆ่า…...) เป็นอาหารใจต่อไป คอยป้อนมันอยู่เรื่อย ไม่จบไม่สิ้น เป็นเรื่องไม่จบ ชีวิตมันเป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราดีใจก็เป็นทุกข์ เสียใจก็เป็นทุกข์ หรือว่ายินดีก็เป็นทุกข์ ยินร้ายก็เป็นทุกข์ ต้องทำใจให้อยู่ตรงกลางจึงจะไม่ดีใจเสียใจ ไอ้ใจที่อยู่ตรงกลางนี่จะทำอย่างไร มันต้องสร้างปัญญาขึ้นในใจ ให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามสภาพที่เป็นจริงอยู่ตลอดเวลา เห็นอะไรให้มันเห็นถูกต้อง เห็นตามที่มันเป็นจริง ไม่ใช่เห็นภาพมายา หรือสิ่งที่เขาแสดงไว้ภายนอก แต่เห็นทะลุปรุโปร่งเข้าไปว่าสิ่งนั้นคืออะไร อันนี้มันต้องใช้ปัญญา
ธรรมะของพระพุทธเจ้าสอนเรื่องอย่างนี้ไว้มาก เพื่อให้คนเอามาคิด เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตของเรา เช่นว่าคำพูดง่าย ๆ ที่พระองค์ตรัสว่า "สิ่งทั้งหลายเป็นสักแต่ว่าธาตุตามธรรมชาติเท่านั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่คนนั้นคนนี้ มันเป็นสักแต่ว่า ธรรมชาติที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่-ดับไป”
ธรรมชาติเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันเป็นไปตามเรื่องของธรรมชาติ ท่านสอนให้พิจารณาอย่างนั้น พิจารณาบ่อย ๆ ทำไว้ในใจบ่อย ๆ จนกระทั่งว่ามันชิน(เชียว) ชินกับความคิด พอมีอะไรเกิดขึ้นก็ ความรู้สึกอันนั้นมันมาทันที มาเตือนทันทีว่า (หึ)ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น...เช่นว่า พออะไรแตกเปรี้ยง แทนที่เราจะโกรธคนใช้ จะเสียใจ แต่ว่าความรู้สึกที่ถูกต้องมันเกิดขึ้นในใจทันทีว่า
"ธรรมชาติของแตก มันก็ต้องแตก" หรือเกิด...ขึ้นมาทันทีว่า
"ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น"
"ธรรมดามันเป็นอย่างนั้นแหละ"
พอเราคิดอย่างนั้น ความเสียใจจะไม่เกิด ความทุกข์จะไม่เกิด เพราะเรารู้ว่า
"ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น"
ถูกขโมยข้าว ขโมยของไป เราก็เกิดความรู้สึกว่ามันไม่ใช่ของเรา มันเป็นตามธรรมชาติ มันอยู่กับเราสักพักแล้วมันก็ไปอยู่กับคนอื่นต่อไป เราไม่มีมันมาก่อน และไม่มีมันเมื่อเราไป อาศัยกันชั่วครั้งชั่วคราว แล้วก็ต่างก็จากกันไป คล้ายกับเรานั่งศาลาพักร้อน นั่งชั่วคราว จะไปนอนเอ้เตเป็นเจ้าของก็หาได้ไม่ นั่ง ๆ หายร้อน..เดินทางต่อไป แล้วใครจะมาคิดถึงศาลาหลังนั้นบ้าง กลับมาดูว่า (เออ) มันยังอยู่หรือเปล่า ไม่มีหรอก ไปแล้วก็ไป เว้นไว้แต่เดินกลับมาทางนั้นก็แวะพักอีกเท่านั้นเอง ความทุกข์มันไม่มี ถ้าเราคิดอย่างนั้น มันทุกแง่ทุกมุมไม่ว่าเรื่องอะไร คนเราบางทีก็ไม่ได้คิดในทางให้หมดทุกข์ แต่ว่าคิดในทางให้เป็นทุกข์ เช่นมีอะไรเกิดขึ้น เรา..แทนที่จะคิดว่า
"มันเป็นอย่างนั้น...ธรรมดามันเป็นอย่างนั้นแหละ" เรากลับคิดว่า
“ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น” (แหนะ)
ฝืนนี่....เรียกว่าคิดให้มันฝืนธรรมชาติไว้ ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น แต่เราบอกตัวเองว่า ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ยังไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น สมมุติว่าใครตายลงไป เราก็พูดว่า "ไม่น่าจะตาย" ....."ไม่นึกว่าจะตาย"
มันถูกเมื่อไร เพราะว่าคนเรามันจะตายเมื่อไรก็ได้ ใครกำหนดหมายได้ว่า คนนั้นต้องตายวันนั้น ต้องตายวันนี้ ด้วยโรคนั้น ๆ ด้วยโรคนี้แหละ มีที่ไหน ไม่มี แต่ว่ามันก็ตายน่ะ ตายตามเรื่องของธรรมชาติ เมื่อมันตายลงไปแล้ว เราจะมาคิดว่าไม่น่าตาย มันได้อะไรขึ้นมา ไอ้คนนั้นมันฟื้นขึ้นมาหรือเปล่า ถ้าเราคิดอย่างนั้น (เออ) มันไม่ฟื้น แล้วเขาไม่ฟื้นแล้ว เราคิดอย่างนั้นแล้วเราได้อะไร เราก็ได้ความเสียใจ นั่งเป็นทุกข์ คิดถึง แล้วคิดถึงอยู่คนเดียว ไอ้คนตายแล้วไม่รู้ไปไหนแล้ว ไม่ได้มาแอบดูว่าเราคิดถึงหรือเปล่า ไม่ได้มาแอบฟังเราสักหน่อย เรานั่งกลุ้มใจอยู่คนเดียว อย่างนี้เขาเรียกว่าฉลาดหรือไม่ หรือเรียกว่า เขลาหรือไม่ ถ้าเรียกว่า โง่ มันหนักไป แต่ถ้าพูดว่า "อวิชชาครอบงำ" ค่อยยังชั่วหน่อย
"อวิชชา" มันก็โง่นั่นแหละ ไม่ใช่เรื่องอะไรหรอก แต่ว่าพูดให้มันไพเราะหน่อย "ถูกอวิชชาครอบงำ มองไม่เห็นความจริงของสิ่งนั้น จึงได้เป็นทุกข์อยู่"
อะไรอื่นก็เหมือนกัน ที่มันเกิดเป็นปัญหา เกิดความทุกข์ทางใจก็แยะ เรื่องที่จะทำให้เราเป็นทุกข์มาก หลายเรื่อง หลายประการ เราไม่ได้คิดให้เห็นชัดตามสภาพที่เป็นจริงก็เลยเป็นทุกข์ แต่ถ้าคิดปลงลงไปว่า (อื้ม)ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น เจ็บป่วยมันก็เป็นธรรมชาติ ไปโรงพยาบาลไม่ใช่นอนป่วยแต่เราคนเดียว เยอะแยะ คนป่วยมีเยอะแยะ เวลานี้สมเด็จฯ สององค์ไปป่วยแข่งกันอยู่ที่ศิริราช สมเด็จพระสังฆราชท่านก็ยังไม่หาย ยังป่วย สมเด็จมหาวีรวงศ์ก็ป่วย อยู่ชั้นเดียว ห้องติดกันเลย นอนป่วยแข่งกันอยู่ ไม่รู้ว่าใครจะชนะใครกันอยู่ในเวลานี้ แล้วจะไปเยี่ยมก็ยังไม่ว่าง ว่าจะไปเยี่ยมท่านสักหน่อย ก็ไม่ไปพูดอะไร ไปมองท่าน เห็นหน้า แล้วก็พูดสักสองสามคำว่า "...เรื่องมันไม่เที่ยงครับผม ธรรมดามันเป็นอย่างนี้แหละ" (หัวเราะ) แล้วก็ไปเท่านั้นแหละ ไปเรียนท่านเท่านั้นแหละ ว่ามันไม่เที่ยง ธรรมดามันเป็นอย่างนี้แหละ บางทีคนป่วยนึกไม่ออกเหมือนกันนะ เหมือนสมเด็จพระสังฆราชวัดบวรฯท่านป่วยนี่ เจ็บ ครางออกมา "เจ็บจริงโว้ย" ท่านว่ามา คึกฤทธิ์ไปถึงบอกว่า
"มันไม่เที่ยงครับผม"
"กูรู้แล้ว แต่ว่ามันเจ็บ" (หัวเราะ)
ท่านชอบพูดอย่างนั้น ...."กูรู้...แต่มันเจ็บโว้ย" (หัวเราะ) เวลาเจ็บ มันนึกไม่ออก เลยท่านก็พูดออกมาอย่างนั้น (เป็นอย่างนี้) นี่ต้องมีคนคอยพูดให้ฟัง คอยเตือนคอยบอก จะได้บรรเทาจากความเจ็บปวด จะได้มีความเบาใจ เพราะมารู้ชัดว่ามันเป็นอย่างนี้ ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เราสร้างมันขึ้น มันเป็นของมันเอง มันเกิดแล้วมันก็ดับของมันเองแหละ แต่มันยังไม่ถึงจุดดับเราก็แย่อยู่แล้ว อย่าไปนึกว่าแย่ก็แล้วกัน เร็ว (เอ้า)ดูมันต่อไปว่ามันเป็นอะไร นั่งพิจารณาไป ดูกันต่อไปจนกว่ามันจะแตกจะดับของมันเอง พอความเจ็บแตก เราก็แตกเหมือนกัน เรียกว่าไปพร้อมกัน ก็เป็นอย่างนั้น ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น คิดให้ได้ ใจก็สบาย
พระพุทธเจ้าเกิดมาเพื่อชี้สิ่งที่มีอยู่ให้คนเข้าใจ ไม่ใช่ของใหม่ สิ่งที่พระพุทธเจ้านำมาสอนนั้นไม่ใช่ของเกิดใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ มีอยู่ เป็นอยู่ ตลอดเวลา หากแต่ว่าไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเข้าใจ ไม่มีใครเอามาเปิดให้คนทั้งหลายเห็น พระผู้มีพระภาคได้ทรงคิดค้นด้วยพระปัญญาอันละเอียดอ่อน ใช้เวลาไม่ใช่เล็กน้อย ตั้งหกปีจึงได้พบสิ่งนั้น พบแล้วก็นำมาบอกให้เราเข้าใจ ให้เรารู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพื่อจะได้ใช้เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาชีวิต
อันนี้เครื่องมือมี แต่เราไม่ค่อยใช้ละ แต่จะไปโทษผู้ให้เครื่องมืออย่างไร คนบางคนก็พูดว่าพระพุทธเจ้าไม่ช่วย ...พระองค์ช่วยแล้ว แต่เราไม่ช่วยตัวเอง... เราไม่ช่วยตัวเองแล้วจะไปโทษพระองค์ได้อย่างไร ยามีแต่เราไม่ทานยา แล้วจะโทษว่ายานี้ไม่เกิดประโยชน์ มันก็ไม่ได้ เพราะเราไม่กินยาแล้วมันจะรักษาได้อย่างไร ธรรมะมีอยู่แต่เราไม่ใช้ เราก็ไม่ได้รับประโยชน์จากธรรมะ เรานับถือพระพุทธศาสนาแต่เราไม่ใช้หลักธรรมในพระพุทธศาสนา ก็จะเรียกว่าเรานับถืออย่างไร เราไม่นับถือโดยแท้จริง เพราะไม่ได้เอามาใช้ ต้องใช้เมื่อถึงคราวจำเป็นจะต้องใช้
ใช้ธรรมะเป็นเครื่องแก้ ก็ต้องใช้ ใช้เป็นเครื่องกัน ก้ต้องใช้ คือกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมา เวลาเกิดปัญหาเพราะเผลอไป.. ประมาทไป.. เราก็ต้องคิดแก้ คิดแก้ด้วยการปลอบโยนตัวเองว่า มันคือย่างนั้น ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น หรือว่า
"มันเป็นอย่างนี้"
"ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ ช่างหัวมันเถอะ"
เรานึกอย่างนั้น ก็นอนสบาย ๆ ใจมันสงบ ๆ ดูมันไป คิดมันไป ด้วยปัญญา ให้ถือเอาสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราเป็นบทเรียน เป็นเครื่องสอนใจ เป็นเครื่องพิจารณา เป็นกรรมฐาน ก็พูดได้เหมือนกันว่าเป็น "กรรมฐาน"
“กรรมฐาน” ความทุกข์ทางใจก็จะไม่เกิดขึ้นแก่เรา เราก็มีความสบาย เมื่อเรามีความสุขใจ เบาใจ โปร่งใจ เราก็เรียกว่ามี "พุทธะ" อยุู่ในใจของพวกเรา พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในใจของเราแล้ว แต่ยากที่จะเกิด เพราะเราไม่เปิดประตูให้เกิด ไม่คิดให้เกิด เกิดแล้วก็ไม่รักษาไว้ เอาไปทิ้งเสีย ไปเอาแต่ของปลอม ๆ มาไว้กับเนื้อกับตัว พุทธะที่แท้เราไม่เอา เราไม่ใช้ ใช้แล้วคุ้มครองชีวิต ทรัพย์สมบัติ ทุกสิ่งทุกอย่างให้อยู่รอดปลอดภัย แต่เราไม่คอ่ยจะได้ใช้สิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงเป็นเหมือนสิ่งไม่เป็นประโยชน์แก่เรา เหมือนเเพชร พลอย ไม่เป็นประโยชน์แก่ไก่ แค่จิกเขี่ยอาหารในลานบ้าน เพราะไม่รู้ราคา
เราจะไม่เป็นอย่างนั้น เราจะรู้คุณค่าของพระพุทธศาสนา และเราจะใช้ ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าเราใช้ทุกแง่ทุกมุมแล้วปัญหาจะไม่เกิด เช่นปัญหาเศรษฐกิจจะไม่เกิด ถ้าเราปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่เป็นปัญหา ไม่มีความเดือดร้อน เพราะเรื่องของแพง ไม่มีความเดือดร้อนเพราะเงินบาทลดราคา ความจริงก็ไม่ได้ลดอะไรหรอก ถ้าใช้อยู่ในบ้านเมืองของเรามันก็อย่างนั้น ของมันขึ้น เราอย่าไปซื้อมันซะบ้าง ตั้งใจทุกคนว่า เมื่อขึ้นราคาฉันไม่ซื้อ ฉันหยุดกินมันเสียบ้าง หยุดใช้มันเสียบ้าง ใช้เท่าที่จำเป็น กินเท่าที่จำเป็น พยายามช่วยตัวเอง พึ่งตัวเอง ในสิ่งที่เราสร้างได้.. ทำได้ ด้วยตัวของเรา ไม่ต้องไปแอนตี้สินค้าชาติใด แต่เราตั้งใจว่าจะใช้ของเรา น่าจะชักจูงกันในรูปว่า “ช่วยกันใช้ของที่ผลิตภายในประเทศ” อย่าไปพูดว่า “อย่าไปซื้อของญี่ปุ่น”
มันกระเทือนใจกัน กระเทือนใจสหาย ก็เป็นสหายกันมานานแล้ว พูดกันให้กระเทือนใจกันทำไม พูดเรื่องอื่นก็ได้ มันไม่ดีกว่าหรือ แต่ว่าไปพูดให้กระเทือนใจกัน เดี๋ยวเขาก็ตอบแทนเราเอาหนักเข้าไปอีก เพราะเขาเก่งกว่าเรา เขาเล่นงานเราได้หลายแง่หลายมุม อันนี้เราไปพูดให้กระเทือนใจทำไม เรามาพูดว่า "เราเป็นคนไทย ควรจะใช้ของในเมืองไทย" เท่านั้นก็พอ ไม่กระเทือนใจใคร เราพูดอย่างนั้น ไม่กระเทือน เพราะทุกชาติอยากให้ใช้ของในชาติตัวทั้งนั้น
ญี่ปุ่นนี้ก็เป็นชาตินิยมกว่าใคร ๆ ทั้งหมด เขานิยมใช้ของญี่ปุ่น มาเที่ยวก็ต้องนำไกด์ชาวญี่ปุ่นมานำเที่ยว นั่งรถ ฮีโน่ของญี่ปุ่น พักโรงแรมญี่ปุ่น กินอาหารญี่ปุ่น ทีนี้ถ้าเราพูดกับคนไทยว่าให้ใช้ของไทย เขาไม่โกรธหรอก ก็
"อ้อ เรามันก็เหมือนกัน (อย่างนี้)" เขาพูดเหมือนเรา แต่ถ้าเราพูดว่า
"อย่าใช้ของญี่ปุ่น"
ญี่ปุ่นเคืองขึ้นนิดหน่อย กระทบกระเทือน อันนี้น่าคิดเหมือนกัน ไอ้เล็ก ๆ น้อย ๆ นี้ ถ้าเราทำถูกมันก็ไม่มีเรื่อง ทำผิดมันก็มีเรื่อง ขอให้ญาติโยมได้คิดอย่างนี้
วันนี้ก็พอดีกับเวลาแล้ว ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้้ ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งพักใจ สงบใจเป็นเวลา ๕ นาที