แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย เมื่อคืนนี้ฝนตกพรำตลอดเวลาแต่วันนี้ก็อากาศโปร่ง มีแสงแดดทำให้คนที่จะมาวัดในวันอาทิตย์ไม่ต้องหนักใจมาได้อย่างสะดวกสบาย ธรรมชาติช่วยคนที่ทำความดี ใครที่ทำความดีก็ได้รับความช่วยเหลือจากธรรมชาติ ให้เรา ได้รับความสะดวกในการไปการมา ได้รับความสะดวกในทางจิตใจและในทางร่างกาย ญาติโยมทั้งหลายก็ได้มาวัดตามที่ได้ตั้งใจไว้ ตั้งแต่วันเข้าพรรษา วันที่ ๙ นี้ก็ครบสามเดือนแห่งการเข้าพรรษา เราทั้งหลายที่ได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาตลอดเวลาสามเดือนในฤดูการเข้าพรรษา ตั้งใจที่จะละอะไรก็ละได้แล้ว ตั้งใจที่จะประพฤติปฏิบัติในสิ่งใดก็ได้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งนั้นอยู่แล้ว พอมาถึงวันออกพรรษาเราก็อย่าออกจากสิ่งนั้น อย่าออกจากความดี อย่าออกหนีไปจากพระ แต่ต้องอยู่กับความดีต่อไป พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า คิตัญ (01.37) แปลว่าเมื่อชนะแล้วให้รักษาความชนะนั้นไว้ เราชนะสิ่งใดแล้วพึงรักษาความชนะนั้นไว้ ชนะความชั่วด้วยกำลังใจที่ประกอบด้วยธรรมะได้แล้ว เราก็ไม่ควรจะกลับไปแพ้สิ่งนั้นอีกต่อไป เพราะว่าคนเรามีอยู่ไม่ใช่น้อยที่เมื่อชนะแล้วก็กลับไปแพ้อีก แพ้อีกนี้แพ้หนักมาก เช่น คนเลิกบุหรี่ได้แล้ว กลับไปสูบอีกก็สูบกันใหญ่เลยที่เดียวไม่สามารถจะเอาชนะมันอีกได้ต่อไป คนเคยเลิกดื่มเหล้าชั่วระยะหนึ่ง แล้วต่อมาก็กลับไปดื่มอีก ก็กลับพ่ายแพ้สิ่งนั้นต่อไปไม่สามารถจะเอาชนะได้ คนเลิกเล่นการพนันแล้วไปเที่ยวบ่อนเพื่อนฝูงชักชวนให้เล่นการพนันอีก ก็เลยเล่นการพนันแพ้หนักเข้าไป
สิ่งใดที่เป็นเรื่องไม่ดี ถ้าเราเอาชนะมันได้แล้ว เราก็ต้องชนะมันตลอดไป แข็งใจไว้ บังคับตนเองไว้ อดทนไว้ เสียสละสิ่งนั้นออกไปจากจิตใจ ไม่เอามาไว้ในใจของเราต่อไป เราจะได้รับชัยชนะอย่างถาวร พระพุทธศาสนาของเรานั้นสรรเสริญความชนะ ไม่สรรเสริญความพ่ายแพ้ พระนามของพระพุทธเจ้าเป็นชื่อว่า ชนะพุทธะ หรือว่าชนะมาโร ชนะพุทธะ (03.32) ก็แปลว่าพระพุทธเจ้าผู้ชนะ ชนะมาโร พระพุทธเจ้าผู้ชนะมารไม่พ่ายแพ้ต่อพญามารต่อไป เราได้ต่อสู้กับมาที่ใต้ต้นโพธิ์ เอาชนะมารทั้งหลายได้ แล้วก็ไม่กลับแพ้อีกตลอดพระชนมชีพ เป็นผู้ชนะอย่างมั่นคงถาวร เราจึงเรียกว่าชนะพุทธะ กับพุทธผู้ชนะมารทั้งหลายทั้งปวงได้ เราเป็นศานุศิษย์ของพระพุทธเจ้า ก็ต้องทำตนให้เป็นผู้ชนะ อย่าทำตนให้เป็นผู้พ่ายแพ้ต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งใดที่ไม่ดีไม่ถูกต้อง เคยเกิดเคยมี ขึ้นในใจของเรา เราต้องต่อสู้กับมันด้วยสติด้วยปัญญา เราชนะมันได้หยุดได้ยั้งได้แล้ว ถ้าเรากลับไปแพ้มันอีกก็จะแพ้นานเป็นการใหญ่เอาตัวไม่รอด เพราะฉะนั้นในฤดูกาลเข้าพรรษา เราได้เลิกจากสิ่งที่เราได้ตั้งใจไว้ว่าจะทำแล้วเราก็งดเว้นได้นับว่าเป็นชัยชนะส่วนหนึ่งของชีวิต จะต้องรักษาความชนะนั้นต่อไป หรือว่าเราตั้งใจจะทำอะไรอันเป็นเรื่องดีเรื่องงามในชีวิตของเรา เราก็ได้ทำสิ่งนั้นมาตลอดเวลาก็ทำต่อไป ออกพรรษาเราไม่ออกจากความดีแต่เราจะออกจากสิ่งไม่ดีไม่งามเรียกว่าออกไป การออกจากความชั่วนั้นท่านเรียกว่าเนกขัมมะ เนกขัมมะนี้เป็นบารมีอย่างหนึ่งในบารมี ๑๐ ประการ
บารมี ๑๐แปลว่าธรรมที่ช่วยให้ถึงฝั่ง เป็นเครื่องประกอบกำลังใจให้เราทำอะไรจนได้ชัยชนะ หลุดพ้นจากบ่วงมาร หลุดพ้นจากเครื่องผูกรัดมัดใจอันจะเป็นเหตุให้เราเกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนต่อไป การหลุดพ้นต้องอาศัยบารมี บารมีก็คือการทำบ่อยๆในเรื่องที่จะให้ใจเราเข้มแข็ง เอาชนะสิ่งชั่วสิ่งร้ายได้ เมื่อเราว่าจะออกจากสิ่งใดเราก็ออกจากสิ่งนั้น การออกจากสิ่งชั่วสิ่งร้ายเรียกว่าเนกขัมมะ เนกขัมมะคือการออกจากความชั่ว ออกจากเครื่องผูกรัดจิตใจของเราให้พ้นจากเครื่องผูกรัด เราเป็นอิสระเป็นไทแก่ตัว เป็นผู้มีใจสูงส่งอยู่ตลอดเวลา ด้วยอำนาจการคิดจะออกจากสิ่งนั้น เราจะออกจากสิ่งใดเราต้องพิจารณาสิ่งนั้นว่ามันให้ทุกข์อย่างไร ให้โทษอย่างไร ให้ประโยชน์อย่างไร ควรจะหาทางออกอย่างไรเพื่อให้รู้ทั้งคุณทั้งโทษของสิ่งนั้น เราจึงจะหนีจากสิ่งนั้นได้ เห็นแต่คุณไม่เห็นโทษมันก็ไม่ได้ เห็นโทษอย่างเดียวไม่เห็นคุณก็ไม่ดี เพราะฉะนั้นจึงต้องมองให้เห็นทั้งสองอย่างว่ามันมีโทษอย่างไร มีคุณอย่างไร แล้วเอาคุณโทษนั้นมาขึ้นตาชั่งดูว่าอันไหนมันดีกว่ากัน อันไหนมีน้ำหนักกว่ากัน ถ้าเราพิจารณาแล้วเราพบว่าสิ่งที่ดีมีมากเราก็ควรทำสิ่งที่ดี สิ่งที่เป็นโทษมีมากเราก็ไม่ควรทำสิ่งที่เป็นโทษต่อไป เพราะขืนทำต่อไปก็มีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อน
เรารู้จักสิ่งนั้นเราก็หนีออกจากสิ่งนั้นไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรที่เราติดพันยึดมั่นอยู่ในใจของเรา เราต้องลุกขึ้นมาพิจารณาติดต่อกันไปทุกลมหายใจเข้าออก พิจารณาให้เห็นว่ามันเป็นทุกข์เป็นโทษไม่ให้ประโยชน์แก่ชีวิตของเรา เราก็ไม่ทำสิ่งนั้นอีกต่อไป ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าได้ชัยชนะต่อสิ่งนั้น ไม่กลับไปพ่ายแพ้สิ่งนั้นอีกต่อไป การที่จะไปกลับแพ้นั้นก็ต้องอาศัยสิ่งยั่วยุเป็นเครื่องเร้าอารมณ์ เช่นเพื่อนฝูง มิตรสหายของเรามาชักจูงเราให้ไปกระทำอะไรที่เราเคยกระทำเช่น เราเคยสูบบุหรี่ ถ้าเราเลิกสูบเสียได้ไปนั่งใกล้เพื่อนที่สูบบุหรี่ ควันบุหรี่มันก็เข้าจมูกของเรา และการกระทำของเพื่อนเป็นเครื่องยั่วยุอารมณ์ บางทีเขาก็ยัดเยียดว่า เอ้า สูบบ้างสิ ทำไมไม่สูบล่ะ สูบสักทีจะได้แก้อารมณ์ เวลาใดใจมันเครียดก็จะได้คลายอาการเครียดด้วยการสูบบุหรี่ เรามันเคยสูบ ได้กลิ่นบุหรี่แล้วก็มีเพื่อนโฆษณาชวนเชื่อในรูปอย่างนั้น เราก็กลับไปสูบมัน พอสูบแล้วเราก็แพ้ก็สูบเรื่อยๆไป คนเคยดื่มสุราเมรัย เลิกแล้วแต่ไปคบเพื่อนประเภทนั้น แล้วเพื่อนก็ชักจูงพูดจาโน้มน้าวจิตใจ เราก็โน้มเอียงไปเข้ากับสิ่งนั้น แล้วเรากลับไปดื่มต่อไป ก็เรียกว่ากลับไปสู่ความพ่ายแพ้ ไม่สามารถเอาชนะได้ ผู้ที่ต้องการความชนะสิ่งใด อย่าเข้าใกล้บุคคล สถานที่ เหตุการณ์อันจะทำให้จิตใจเราอ่อนแอ
เราต้องหลีกเลี่ยงจากบุคคล จากสถานที่ จากเหตุการณ์ประเภทใดๆที่ทำให้จิตใจเราอ่อนแอ หมดความเข้มแข็งลงไป หลีกให้ห่างไกลจากสิ่งนั้น เมื่อเราหลีกให้ห่างไกลจากสิ่งนั้นๆก็จะไม่มีอำนาจยั่วยุอารมณ์เราๆก็หลีกไปพ้นได้ แต่ถ้าหากเราไม่ระมัดระวังตัว ปล่อยตัวปล่อยใจ ไปคบหาสมาคมกับคนประเภทนั้นๆเข้า กับเหตุการณ์นั้นๆเข้า กับสถานที่อย่างนั้นเข้า ใจเราก็นึกไปถึงเรื่องเก่าๆ แล้วเราก็จะกลับไปสู่ภาวะเช่นนั้น กลายเป็นผู้พ่ายแพ้ต่อไป อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นบุคคลในสมัยก่อนนี้เช่น ชายหนุ่มที่เข้าไปบวชในพระศาสนา เมื่อบวชใหม่ๆไม่อนุญาตให้กลับไปบ้าน พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตให้คนนั้นกลับไปบ้าน เพราะถ้ากลับไปบ้านก็จะไปพบสิ่งที่เคยพบเคยเห็น เช่นไปพบมารดา บิดา ไปพบเพื่อนฝูง มิตรสหาย ไปพบอารมณ์ต่างๆ ที่จะยั่วยุให้เกิดการอ่อนแอ แล้วอาจจะพ่ายแพ้ลาสิกขาไปเสียก็ได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่ให้ไป แต่ถ้าจำเป็นจะต้องไปท่านก็ให้พระที่มีอาวุโสกว่าเป็นพี่เลี้ยงไปด้วยกันเพื่อได้คอยควบคุม แนะนำ ตักเตือนในส่วนที่จะทำให้เกิดความเผลอและความประมาท จิตก็จะตกไปสู่อำนาจของสิ่งนั้น ท่านทำอย่างนั้นเพื่อถนอมจิตใจของคนที่เข้ามาใหม่เหมือนพ่อแม่ถนอมลูกเล็กๆของตนไม่ให้ตกไปสู่อันตรายฉันใด นักบวชท่านก็กระทำเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ถ้าเมื่อใดบวชมานานแล้วมีความเข็มแข็งเพียงพอหรือได้บรรลุมรรคผลแล้วไปลาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านก็อนุญาตให้ไปได้ เพราะมีกำลังใจสูงพอที่จะเอาชนะอารมณ์ได้ มีกำลังพอที่จะต่อสู้กับสิ่งต่ำๆได้ ก็ให้ไปได้ อันนี้เป็นตัวอย่างในชีวิตสำหรับเราท่านทั้งหลาย ว่าเราเมื่อเคยแพ้อะไรเคยกระทำสิ่งใด พอออกจากสิ่งนั้นได้แล้วเอาชนะสิ่งนั้นได้แล้ว อย่าได้เข้าใกล้สิ่งนั้น อย่าเข้าใกล้บุคคลประเภทนั้น อย่าเข้าใกล้สถานที่เช่นนั้นเป็นอันขาด มันจะอยู่ในสภาวะเดิมต่อไปพ่ายแพ้ต่อไป
อย่างคนที่ติดเฮโรอีนแล้วก็ไปรักษาตามสถานที่รักษาต่างๆ เช่นไปอยู่ถ้ำกระบอก เป็นต้น แล้วเวลาจะออกจากถ้ำกระบอกเขาจะให้สัญญาเรียกว่าให้ถือสัจจะไว้ ว่าจะไม่ให้กลับไปสูบอีกแต่ว่าไม่ได้เรื่องหรอก สัจจะนั้นแม้จะรับมาแล้วมันก็แพ้อีก พอมาเจอเพื่อนเข้าเพื่อนที่เคยสูบ พอเห็นเพื่อนเท่านั้นแหละความอยากมันเกิดขึ้นมาทันที ลืมสัจจะลืมสัญญาไปหมด แล้วก็เข้าใกล้เพื่อนคนนั้น เพื่อนคนนั้นก็ถามว่าต้องการไหม พอเขาถามว่าต้องการไหมแทนที่จะบอกว่าไม่เอาแล้ว ฉันสัญญาแล้วว่าจะไม่สูบต่อไป ก็กลับตอบว่าที่ไหนมีบ้างล่ะ เพื่อนก็จูงไปสูบต่อ พอสูบต่อก็เลยแพ้ต่อไป ไม่สามารถจะเอาชนะสิ่งนั้นได้ มีถมไปพวกที่ไปอยู่ๆ ออกมาก็แพ้ไปเหมือนเดิมอีกต่อไป ถ้าใจอ่อนขาดสติ ขาดปัญญา ไม่มีการอบรมทางจิตใจให้มีความเข้มแข็ง ที่อื่นไม่สูบก็เพราะมันไม่มีจะสูบเท่านั้นเองแต่ถ้ามีโอกาสจะมีสูบมันก็สูบต่อไปเพราะกำลังใจยังไม่มี หยุดได้ด้วยอำนาจยาบางอย่างที่เขาให้กินเข้าไป และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีโอกาสจะกระทำสิ่งนั้นได้ แต่พอหลุดออกไปจากสถานที่นั้น ก็ไปกลับสู่ภาวะเดิมอีกต่อไป
อันนี้มีอยู่มากมายได้เคยพบเคยเห็นแล้วเคยถามว่าทำไมเลิกได้แล้ว ทำไมกลับไปสูบอีก เขาก็ตอบว่าแหม มันอยากหลวงพ่อ ทนไม่ได้ แล้วเมื่อก่อนทำไมทนได้ อยู่ในวัดทำไมทนได้ เพราะมันไม่มีอะไรยั่ว ไม่มีเพื่อน ไม่มีอะไร มันอยู่ในสงบเงียบ สิ่งแวดล้อมช่วยให้เกิดความคิดในทางที่ถูกที่ชอบ แต่พออกไปแล้วเขาลืสิ่งนั้น แล้วกลับไปพ่ายแพ้สิ่งนั้นอีกต่อไป ตกอยู่ในอำนาจของมารต่อไป อันนี้คือความเสียหายในชีวิตของบุคคลนั้น ซึ่งมีอยู่มากทั่วไป เพราะฉะนั้นเมื่อเราเห็นใครไปรักษาอย่างนั้นแล้ว ออกมาแล้วต้องช่วยกัน ช่วยเป็นพี่เลี้ยง ช่วยเตือนจิตสะกิดใจ ช่วยแนะช่วยจูงให้เขามีความเข้มแข็ง มีความอดทนหนักแน่น รู้จักเสียสละสิ่งชั่วร้าย ช่วยให้เขาได้มีความเข้มแข็งต่อไปชั่วระยะหนึ่ง ในที่สุดก็จะเอาชนะได้ เพราะมีพี่เลี้ยง แต่โดยมากเราไม่ค่อยช่วยกันอย่างนั้น ถ้ารู้ว่าคนนั้นติดเฮโรอีนพอออกมาก็ไม่ค่อยไว้ใจแล้ว โอ้ยไอ้ขี้ยาออกมาอีกแล้ว ระวังนะ ข้าวของอะไรต้องเก็บต้องดับให้มันเรียบร้อย เดี๋ยวมือกาวมันจะเอาไป ระแวงอย่างนี้แล้วไม่มีใครเข้าใกล้เพื่อเป็นพี่เลี้ยงเขา มีแต่คนรังเกียจเขา เขาก็อยู่ในครอบครัวอย่างว้าเหว่ เพราะไม่มีความอบอุ่น ญาติมิตรไม่เอาใจใส่ เขาก็ต้องไปหาเพื่อนสิ เพื่อนประเภทเดียวกัน เพื่อนที่เคยรู้จักมักจี่กัน เคยสนุกสนานกัน พอไปถึงเขาก็อ้าแขนรับทันที ยิ้มต้อนรับทันที เขาก็สบายใจก็ไปเจอเพื่อนประเภทนั้น แต่พอกลับมาถึงบ้านปุ๊ป ทุกคนไม่มองหน้า แล้วบ้านนั้นจะเป็นความสุขกับเขาได้อย่างไร เขาต้องไปหาพื่อนประเภทนั้นต่อไป เพื่อนนั้นก็จูงไปในทางนั้นต่อไป นี่มันเป็นอย่างนี้นะ เพราะคนในบ้านไม่ช่วยเหลือ ไม่ให้กำลังใจแก่เขา
เราจึงต้องรู้เคล็ดลับอันนี้ไว้ด้วยว่า ถ้าลูกหลานของเราไปติดสิ่งนั้นแล้วไปรักษาหายแล้วกลับมา เราจะต้องให้ความสนิทสนม คอยใกล้ชิด คอยพูดแนะนำพร่ำเตือน เอาความรักความเมตตาเข้าไปใช้ อย่าเอาความเหี้ยมโหด ดุร้ายเข้าไปใช้ เพราะความเหี้ยมโหดดุร้ายไม่เคยชนะใคร ไม่เคยเป็นประโยชน์แก่ใคร แต่ความเมตตาปราณีนั่นแหละเป็นคุณเป็นค่าจึงจะช่วยชุบย้อนชีวิตของคนที่กำลังเวียนว่ายในกระแสของความทุกข์ให้สบายใจ เราจะต้องทำอย่างนั้นจึงจะเป็นการช่วยเขา ให้พ้นจากสิ่งที่เป็นปัญหานั้นๆได้ เหมือนลูกๆเรามาบวชก็เหมือนกันนะ เวลามาบวชนี่เขาไม่สูบบุหรี่เพราะว่าระเบียบเป็นอย่างนั้นแล้วก็ตั้งใจไม่สูบ ก็ไม่สูบกันไปที่นี้กลับไปถึงบ้าน เราก็ต้องคอยพูดแนะพูดเตือนว่า ไปอยู่วัดหลวงพ่อท่านสั่งอย่างไร ท่านสอนอย่างไร ท่านเตือนอย่างไร คอยสะกิดๆเขาไว้ คุยๆกับเขาไว้ ให้เขาได้มีสติระลึกได้ว่าอาจารย์สอนอย่างไร อุปัชฌาย์แนะนำพร่ำเตือนอย่างไร เราออกมาแล้วควรจะปฏิบัติตนอย่างไร ไม่ควรออกหมดไม่ควรจะสึกหมด แต่ว่าสึกบางส่วน บางส่วนก็คือสึกเพียงเสื้อผ้าออกจากร่างกาย แต่ว่าจิตใจนั้นยังคงอยู่กับพระ อยู่กับความงามความดีตลอดไป อย่างนี้เรียกว่าสึกไม่หมด ถ้าสึกหมดสึกถึงก็ไปร้านเหล้าเลย สึกถึงก็ไปเที่ยวเลย อย่างนี้ก็ไม่ไหว แปลว่าไม่ระมัดระวังตัวก็จะตกต่ำต่อไป เราที่เป็นมารดาบิดา พี่น้อง เพื่อนฝูงต้องช่วยกันชะลอจิตใจเขาไว้ เพื่อให้มั่นคงในลูกต่อไป เขาก็จะอยู่อย่างผู้ชนะ ชีวิตจะไม่ตกต่ำเสียหาย งานนี้เป็นเรื่องที่ควรจะได้คิดไว้ประการหนึ่งเหมือนกัน
หลังจากออกพรรษาแล้วเราต้องมีการกระทำอะไรกันอย่างหนึ่งเรียกว่าการทอดกฐิน อันเรื่องของกฐินนี้เป็นเรื่องของพระเกี่ยวกับการแสวงหาเครื่องนุ่งห่มคือจีวรสำหรับนุ่งห่ม อยากจะเล่าให้ฟังไว้ว่า เมื่อยุคแรกของพระพุทธเจ้ายุคต้นพุทธกาล หมายความว่าพระพุทธเจ้าออกเทศน์ครั้งแรกๆ พระองค์ก็ได้ให้นักบวชที่ไปบวชกับพระองค์เป็นจำนวนไม่มากนัก พรรษาแรกก็เพียง ๖๐ รูปเท่านั้นเอง ใน ๖๐ รูป นี้ก็ปฏิบัติตามแบบที่พระพุทธเจ้าปฏิบัติคือว่าต้องการผ้าจีวร ก็ไปเที่ยวเก็บผ้าจากซากศพ จากที่เขาทิ้งๆขว้างๆไว้ เรียกว่าผ้าบังสกุลหรือเรียกเต็มๆว่าบังสกุละจีวร บังสกุลนี่แปลว่าเปื้อนฝุ่นนั้นเอง บังสกุลจีวรก็แปลว่าผ้าเปื่อนขี้ฝุ่น เปื้อนสิ่งสกปรก เช่นว่าอยู่ที่ซากศพมันก็เปื้อนสิ่งสกปรก อยู่ตามกองขยะมันก็เปื้อนขยะหมดสิ่งสกปรก พระท่านก็ไปเก็บเอาสิ่งเหล่านี้มา เอามาถึงก็เอามาซัก มาฟอกให้สะอาด ให้เรียบร้อย แล้วเอามาเย็บกันเข้าเป็นรูปจีวร
รุ่นแรกทีเดียวจีวรไม่ได้เป็นรูปอย่างที่เราเห็นเวลานี้หรอก ที่เราเห็นนี้ออกแบบทีหลัง พระอานนท์เป็นผู้ออกแบบตามคำแนะนำของผู้มีพระภาคเจ้า คือท่านผู้มีพระภาคเจ้าท่านประทับอยู่บนเขาคิชกูฏแล้วก็มองลงไปเห็นทุ่งนาเลยเรียกพระอานนท์เข้ามาใกล้แล้วบอกว่าอานนท์เธอดูทุ่งนานั้นสิ เธอสามารถจะทำผ้าจีวรพระให้เหมือนกับคันนาของชาวมคธได้ไหม อานนท์ท่านก็กราบทูลว่าพอจะทำได้ ก็มาวางแผนว่าควรจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้นจีวรพระถ้าเรากางออกดูจะเห็นว่าบางชิ้นใหญ่ บางชิ้นเล็ก ต่อกันหลายๆชิ้นที่ต่อกันหลายชิ้นก็เพราะว่าผ้าเล็กบ้างใหญ่บ้าง เอามาต่อกันเข้า ระหว่างต่อนั้นก็เรียกว่าขัน (21.15) ช่องหนึ่งๆเรียกว่าขันมีหลายขัน จีวรบางผืนก็มีตั้ง ๑๐๐ ขัน คือผ้าชิ้นเล็กๆเอามาต่อกันเข้า พระท่านเย็บของท่านเอง เมื่อได้ผ้ามาแล้วท่านก็เย็บ ย้อมเป็นจีวรขึ้นมา พระสมัยก่อนนี้มีเข็ม มีด้าย มีกล่องใส่เข็มจะทำด้วยอะไรก็ได้ สำหรับเก็บเข็มเย็บผ้าแล้วก็มีด้ายสำหรับปะชุนผ้า การเก็บผ้าก็เก็บเรื่อยๆไปจากที่ต่างๆที่พอหาได้ ยังไม่ได้รับผ้าจีวรจากชาวบ้าน แล้วเมื่อชาวบ้านรู้ว่าพระไม่รับผ้าจีวรจากมือชาวบ้าน เขาก็จะเอาผ้าไปทิ้งไว้ เอาไปทิ้งไว้ตามป่าช้า ทิ้งไว้ตามกองขยะมูลฝอยที่พระเดินผ่าน หรือว่าเอาไปพาดไว้ตามกิ่งไม้ เวลาพระผ่านมาก็มาพบเข้า ท่านก็ถือในฐานะเป็นผ้าบังสกุล เวลาจะเก็บผ้านั้นท่านจะพูดว่า “อิมังบังสกุลจีวรัง อัฐถัง” (22.29) ผ้าที่ถือนี้ไม่มีเจ้าของเราถือเอาในฐานะเป็นผ้าทอดทิ้งไว้ตามกองขี้ฝุ่น แล้วท่านก็เอาไป เอาไปถึงก็พาไปตัด ซักฟอก เย็บเป็นรูปเป็นร่าง พอห่มได้ สมัยก่อนนี้พระห่มผ้าไม่ได้ผืนใหญ่หรอก ผืนมันเล็กๆพอห่มได้เท่านั้นเอง และก็ไม่ได้ห่มอย่างที่เราห่มเพราะผ้ามันเล็ก ห่มพอปกปิดร่างกาย ไปไหนไม่เหมาะไม่ควรก็ปิดไว้เท่านั้นเอง ท่านทำอย่างนั้นอยู่อย่างนี้ตลอดมา
ครั้นต่อมามีหมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นหมอประจำพระองค์พระเจ้าพิมพิสาร หมอนี้ความจริงแกเป็นเด็กกำพร้า พอเกิดแล้วมารดาเอาไปทิ้งไว้ที่กองขยะ อภัยราชกุมารในแคว้นมคธนี้ ก็ได้ออกไปเดินเล่นเช้าๆ ไปเห็นว่าที่ตรงนั้นมีฝูงกามากมาย ร้องกันอยู่ กา กา กา สงสัยว่ากาทำอะไร ก็เลยเดินเข้าไปดูเห็นเด็กนอนร้องไห้ ดีที่กาไม่จิกตาบอด แต่มันเพียงห้อมล้อมไว้เท่านั้นเอง อภัยราชกุมารก็สงสารเลยเอามาเลี้ยงไว้ โดยให้ชื่อว่า ชีวกะ คือชีวกหมายความว่าผู้ไม่ตาย เพราะไปเห็นแม้กาจะร้องอยู่ก็ไม่ตาย ไม่ถูกจิก ถูกทำร้ายเลยให้ชื่อว่าชีวก ต่อมาก็เพิ่มสกุลว่าโกมารภัจจ์ เลี้ยงไว้จนกระทั่งโตแล้วก็ส่งไปเรียนที่เมืองตักศิลา ตักศิลาสมัยนี้อยู่ในเขตปากีสถาน สมัยก่อนนี้เป็นคล้ายกับวิทยาลัย มหาวิทยาลัย ใครไปตักศิลากลับมาก็เรียกว่าเป็นผู้คงแก่เรียน จะไปเรียนอะไรก็ได้วิชาต่างๆอยู่ที่นั่นทั้งนั้น เป็นสำนักเรียนใหญ่ของชาวชมพูทวีปในครั้งนั้น อภัยราชกุมารก็ส่งชีวกให้ไปเรียนที่ตักศิลา ชีวกแกก็ไปเรียนเรื่องยา เรื่องหมอ สมัยนี้ก็เรียนคณะเภสัชเรียนเรื่องยา รู้เรื่องเกี่ยวกับต้นหมากรากไม้ ใบไม้ใบหญ้าหมดทุกประการ เรื่องยานี้รู้หมด เรียนอยู่หลายปี อาจารย์ก็จะทดสอบลูกศิษย์ว่ามีความรู้ขนาดไหน เลยบอกว่าวันนี้เธอเดินไปทางทิศตะวันออกเป็นระยะทางสักโยชน์หนึ่ง แล้วให้เอาต้นไม้ รากไม้ ใบไม้ที่มันใช้ทำยาไม่ได้มาให้ฉันสักอย่าง ก็เดินไปไม่มีต้นไม้ที่จะเป็นยาไม่ได้ ไม่มี แปลว่าต้นไม้ทุกชนิดเป็นยาได้ทั้งนั้น เดินไปทิศตะวันตกลูกเดียวกันก็หาไม่ได้ ไปทิศเหนือทิศใต้ก็หาไม่ได้ เพราะมันเป็นยาไปเสียทั้งนั้น อาจารย์ก็บอกว่าเธอสำเร็จปริญญาแล้ว ประกาศปริญญาได้แล้ว จบการศึกษา เพราะมีความรู้ในเรื่องต้นไม้ว่าเป็นยาไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เธอเดินทางกลับไปบ้านเมืองได้ แล้วแกก็เดินทางกลับบ้าน
ในระหว่างเดินทางก็ได้แสดงฝีมือในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ก็มีการผ่าตัดด้วยเหมือนกันในสมัยนั้น หมอก็ทำการผ่าตัดด้วยเหมือนกัน มีเรื่องเล่ามาอย่างนั้น แต่เรื่องมันยาวก็เอาเพียงสั้นๆว่ากลับมาถึงเมืองก็ได้เป็นนายแพทย์ประจำพระองค์พระเจ้าพิมพิสาร อยู่มาคราวหนึ่งพระเจ้าจัณฑปัชโชติอยู่เมืองอุชเชนี อยู่ทางใต้เมืองราชคฤห์ลงไปอีกแคว้นหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินนั้นไม่สบายป่วยเรื้อรัง รักษาเท่าไรก็ไม่รู้จักหาย อำมาตย์ข้าราชการก็กราบทูลว่า พระองค์ควรจะส่งทูตไปเมืองราชคฤห์ ขอหมอชีวกโกมารภัจจ์ให้มาตรวจรักษาอาการไข้ก็จะหายได้ ท่านก็ส่งทูตไปขอเชิญหมอมารักษา หมอมาถึงตรวจอาการเสร็จเรียบร้อย แล้วก็กราบทูลว่าโรคนี้พอรักษาให้หายได้ ขอให้เบาพระทัย แต่ว่าหมอได้ศึกษาเรื่องรสนิยมของพระเจ้าจัณฑปัชโชติ พระเจ้าจัณฑปัชโชติไม่ชอบอยู่สิ่งหนึ่งคือไม่ชอบน้ำนมแพะ ไม่เคยดื่ม ไม่ชอบกลิ่นน้ำนมแพะ ยาที่จะปรุงถวายมีต้องเข้าน้ำนมแพะด้วยเพราะฉะนั้นมันจึงต้องทำอะไรสักอย่าง หมอจึงต้องได้ขอพรจากพระเจ้าจัณฑปัชโชติว่าบางที่จะต้องไปเก็บยากลางป่า กลางค่ำกลางคืน เพราะฉะนั้นขอให้นายประตูเปิดประตูให้ทุกเวลาเมื่อต้องการจะไป นี่หาทางหนี ทำอย่างนี้ไม่ใช่เพราะอะไร ขออภิสิทธิ์ไว้ว่าจะออกเวลาไหน จะเข้าเวลาไหนก็ได้ แล้วก็ขอช้างฝีเท้าดีพร้อมด้วยควาญหนึ่งเชือกเพื่อจะได้ใช้เป็นพาหนะไปเก็บยา พระเจ้าจัณฑปัชโชติ ก็อนุญาตท่านก็มองก็ผสมยา ข้าวนมแพะแต่ว่าเอาเครื่องสมุนไพรบางอย่างกลบรสไม่ให้ปรากฏเมื่อดื่ม เวลดื่มไม่มีรสนมแพ ไม่มีกลิ่นนมแพะ ดื่มได้สบายๆ เสวยได้สบายๆ
แต่ว่าภายหลังจากเสวยยาเข้าไปสักหนึ่งชั่วโมงเกิดเรอขึ้นมา พอเรอขึ้นมาก็มีนมแพะปรากฏในอาการเรอนั้น ทรงกริ้วทันที บอกว่าไอ้หมอนี่มันไม่ได้เรื่อง มันให้ฉันดื่มสิ่งที่ฉันไม่ควรจะดื่ม ให้ยาที่ฉันไม่ชอบจะกิน สั่งคนใช้ว่าให้ไปจับหมอมาเดี๋ยวนี้ คนใช้ก็บอกว่าจับไม่ได้พระเจ้าข้าเพราะหมอขึ้นช้างหนีไปตั้งนานแล้ว ป่านนี้ก็คงพ้นเขตแดนแล้ว หมอไปแล้ว บอกว่าไม่ได้ต้องให้นายกากะ (29.11) เป็นคนเดินเร็ววิ่งเร็วถ้าเอามาแข่งโอลิมปิคสมัยนี้ก็ได้เหรียญทองแน่ๆ บอกให้กากะไปตามเอาตัวมาให้ได้ นายกากะก็ตามไปเหมือนกัน เดินวิ่งไปพบหมอชีวกโกมารภัจจ์เช้ามืดนั้นนั่งอยู่ใต้ต้นมะขามป้อม พักผ่อนยังไม่ได้เดินทางต่อ แกไปถึงก็ว่าพระเจ้าแผ่นดินรับสั่งให้มาเชิญท่านกลับไป หมอบอกว่าไม่ต้องกลับหรอก โรคภัยของพระเจ้าแผ่นดินจะหายเรียบร้อย ไม่ได้ พระเจ้าแผ่นดินสั่งให้ข้าพเจ้าพาตัวท่านไป ถ้าหากว่าท่านไม่ไปก็คงต้องใช้กำลังกันล่ะ หมอบอกมาเดี๋ยวก่อนมาเหนื่อยๆ นั่งก่อนกินมะขามป้อมก่อนคนละซีกก่อน หมอเอามีดมาเล่มหนึ่งเอาด้านที่คลุกยาตัดมะขามป้อม มะขามป้อมก็ติดยาด้านที่คลุกไว้ตรงซีกนั้นให้นายกากะ กินแก้คอแห้งเสียหน่อยแล้วเราค่อยเดินทางกลับพร้อมกัน พอกินมะขามป้อมคลุกยาเข้าไป ตกถึงท้องไม่เท่าไร นายกากะ นอนถ่ายอยู่ตรงนั้นเอง หมอบอกว่าไม่ต้องตกใจ ยานี้เป็นยาถ่ายโรค เมื่อหยุดถ่ายท่านก็หายจากโรค จากไข้ จากเจ็บทั้งปวง ท่านจะสบายมาก ฉันจะไม่กลับไปกับท่านแล้ว ฉันจะเดินทางต่อไป นายกากะก็นอนถ่ายอยู่ตรงนั้น หมอขึ้นช้างไสช้างไปเลย ไปถึงเมืองราชคฤห์สบาย
พระเจ้าจัณฑปัชโชติเจ็บหายป่วยมีความสำราญทั้งกายทั้งใจ ก็นึกว่าหมอนี่เก่งมากทำให้เราหายป่วยได้จะตกรางวัลเป็นการใหญ่ ด้วยความขอบพระคุณอย่างยิ่ง เมื่อรับแล้วดูๆทำไมมันมากเหลือเกิน นุ่งกันตลอดชีวิตก็ไม่สิ้นผ้าเหล่านี้ ทำอย่างไรดี แกเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เป็นพุทธบริษัทก็นึกถึงพระที่ไม่มีผ้าจะนุ่งจะห่ม เลยก็นึกว่าถวายพระดีกว่า ก็เลยนำไปถวายพระทั้งหมดทั้งสามสิบพับนั่นเอง พระก็รับไม่ได้เพราะพระพุทธเจ้ายังไม่อนุญาต ไม่ได้บัญญัติไว้ หมอก็ต้องไปขอพรจากพระพุทธเจ้า ขอพรว่าขอให้พระภิกษุรับผ้าจากทายกทายิกาถวายได้ พระองค์ก็ถามว่ามันเรื่องอะไรที่เธอจะต้องมาขอพรข้อนี้ หมอก็กราบทูลเรื่องพิสดารให้ทรงทราบ พระองค์ก็อนุญาตให้พระรับผ้าจากชาวบ้านที่ถวายได้ พระก็ค่อยสบายขึ้นหน่อย ชาวบ้านได้ทำผ้าถวายเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา เรื่องมันเป็นมาอย่างนี้
แต่นี่ยังไม่ใช่เรื่องกฐินนะ เล่าเรื่องประวัติผ้าของพระให้ฟังก่อน แล้วต่อมาก็คราวหนึ่ง มีภิกษุชาวเมืองปาถา ๓๐ รูป จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่ว่าเมื่อเดินทางไปถึงเมืองสาเกต (32.34) พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี จากเมืองสาเกตไปถึงสาวัตถีระยะห่างไกลถึง ๓๐ โยชน์ ระยะไกลพอสมควร แต่ว่าพอดีถึงวันเข้าพรรษาพระเคารพพระวินัย ว่าวันเข้าพรรษาจะเดินต่อไปไม่ได้ต้องอยู่จำพรรษา ด้วยความระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นกำลัง อยู่จำพรรษาก็คิดถึงๆอยากจะไปให้ได้แต่ไปไม่ได้เพราะเคารพระเบียบวินัย พระท่านถือระเบียบวินัยเลยไม่ไป พอออกพรรษาปุ๊ปไปเลย ฝนยังตกอยู่ทางยังเป็นโคลนเป็นตม ยังไม่แห้ง พระเหล่านั้นก็มีจีวร สบง เปื้อนด้วยโคลนด้วยตม เปียกปอนเดินทาง ฝนตกรดบ้าง โคลนถูกบ้างเปื้อน ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าๆเห็นแล้วก็บอกว่าเธอทำไมรีบมา ออกพรรษาแล้วมันต้องรอให้ฝนแห้งก่อน ให้ทุ่งมันแห้งจะได้เดินสะดวกสบายทำไมจึงรีบมาอย่างนี้ พระท่านบอกว่าคิดถึงเหลือเกิน ทนอยู่ ๓ เดือนก็แย่แล้ว อยากจะมาเฝ้าพระองค์รับพระโอวาทไวๆ จึงมาอย่างนี้ พระองค์จึงเห็นว่าไม่เหมาะในการที่จะมาอย่างนั้น ก็เลยบัญญัติเรื่องขึ้นว่าเมื่อออกพรรษาแล้ว ๑ เดือนให้ฤดูฝนยังไม่ควรไปไหน ให้อยู่ทำจีวรกันเสียก่อน ฤดูฝนนี่มี ๔ เดือนตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ถึงกลางเดือน ๑๒ นี่เป็นฤดูฝนในประเทศอินเดีย เมื่อเราออกพรรษานี่เดือน ๑๑ แรมค่ำหนึ่ง ยังอยู่ในฤดูฝนเพราะฉะนั้นยังไปไหนไม่ได้แต่ว่ายังไม่มีข้อบัญญัติห้าม พระท่านออกไปตามเรื่องของท่าน พระผู้มีพระภาคเห็นว่าเป็นการไม่เหมาะ หาเรื่องให้พระทำเสียดีกว่า ก็เลยบัญญัติว่าเมื่อออกพรรษาแล้วให้ทำจีวรกันก่อนเพราะจีวรที่ใช้ในฤดูฝนนี้มันเปียกทุกวัน พระออกไปบิณฑบาตก็เปียก แล้วจีวรสมัยก่อนไม่ใช่บางเหมือนสมัยนี้ เราลองดูผ้าฝ้ายทำม่านบังหน้าต่างมันหนา เอามาเย็บจีวรก็หนา ห่มดีในหน้าหนาวแต่ว่าในหน้าร้อนคงจะร้อนพอสมควร แต่ว่าก็พอห่มไปได้ ทีนี้เมื่อหน้าฝนถูกฝนบ่อยๆ ตากฝนไม่ค่อยแห้ง ผ้ามันก็ชื้นขึ้นเห็ด ขึ้นราทำท่าจะผุจะเปื่อย แล้วจะไปปฏิบัติกิจศาสนาพอพ้นหน้าฝนนี้ต้องไปเที่ยวสอนคน เพราะฉะนั้นท่านก็ควรจะได้เตรียมผ้านุ่งผ้าห่มเสียใหม่ แล้วจะได้ออกไปสอนคนต่อไป
เดือนท้ายฤดูฝน ๑ เดือนให้ถือว่าเป็นเดือนสำหรับทำจีวร ในประมาณดีเรียกว่าจีวรกาล หมายความว่าเวลาสำหรับทำจีวร หรือว่าจีวรทานสมัย เป็นระยะที่ชาวบ้านจะได้ถวายผ้าให้พระทำจีวรใช้ จึงให้หยุดอยู่เพื่อทำสิ่งนั้นก่อน แล้วจึงจะเดินทางต่อไป อันนี้แหละเป็นเหตุให้ชาวบ้านได้นำมาผ้ามาถวายพระเพื่อทำจีวร การเย็บจีวรของพระนั้นท่านไม่ได้คล่องแคล่วเหมือนกับเราเย็บจักรในสมัยนี้ ท่านต้องมีไม้สะดึงเอามาวางสำหรับเป็นรูปจีวร ทำช่อง ตัดผ้าลงไปวางเป็นช่อง ๆช่องใหญ่ ช่องเล็ก วางเรียงกันเป็นแถวไป ตัดวางลงไป ทาบลงไป ไม้สำหรับกางวางทำเย็บจีวรเขาเรียกว่ากฐิน กฐินนี่ถ้าพูดภาษาไทยก็สะดึงสำหรับเย็บผ้า เช่นนักเรียนการเรือนสมัยก่อน ไปโรงเรียนก็ถือสะดึงไปด้วย เอาผ้าขึงสำหรับปักเย็บเป็นรูปต่างๆทำอย่างนั้นสมัยก่อน สมัยนี้ไม่ต้องจักรซิงเกอร์เขาทำได้หมดทุกอย่าง ไม่ต้องแบกไม้มารุงรังแล้ว พระสมัยก่อนเอาไม้มาตัดวางๆในสนามเลย ตัดวางๆเรียบร้อยตัดผ้าไปวางๆๆ ครบทุกช่องแล้วก็ช่วยกันเย็บ เย็บยาวๆให้พอผ้าติดกันก่อนแล้วช่วยกันเย็บล้มตะเข็บ เอาไปคนละชิ้นๆนี้ต่อกับชิ้นนั้นก็เอาไป ตรงนั้นเอาไปชิ้นช่วยกัน องค์หนึ่งจับองค์หนึ่งเย็บช่วยกันคนละไม้คนละมือแล้วเอามารวมกันเข้าอีกทีหนึ่ง ก็เป็นสบงเป็นจีวรได้เรียบร้อย เพราะฉะนั้นการทอดกฐินก็คือการเอาผ้าไปถวายพระเพื่อให้ตัดจีวร สบงใช้นั่นเองทำอย่างนั้น
สมัยนี้เราทอดกฐินไม่ได้ให้พระตัดเย็บแล้ว บางวัดก็ยังทำรักษาประเพณี แต่ว่าพระก็ทำ ๒-๓ ทีนิดหน่อย เอากรรไกรตัดๆนิดหน่อยแล้วโยนโครมไป โยมเอาไปเลย แล้วโยมก็เอาจักรไปวางในโบสถ์แล้วก็นั่งเย็บอยู่ตรงนั้น โยมผู้หญิงเอาไปตัดเย็บให้หมด พระไม่ต้องทำอะไรแล้ว พอเย็บเสร็จแล้วพระก็ไปย้อมของท่าน ย้อมให้ได้ที่ ย้อมเสร็จแล้ว ได้ที่แล้วก็ตีระฆังเรียกพระมาประชุมเพื่อบอกว่ากฐินสำเร็จแล้ว เวลาตัดจีวรต้องช่วยกัน เย็บจีวรต้องช่วยกัน ย้อมจีวรก็ต้องช่วยกัน ช่วยกันนี้มันลำบากพอสมควรเพราะว่าบางทีฝนตกเหมือนกันฤดูกฐินนี่ ย้อมแล้วมันไม่แห้งตากธรรมดามันไม่แห้ง ทำอย่างไรก็ก่อจุดไฟสักกองใหญ่กองหนึ่ง ก็เอามามาจับคนละมุม ๔ องค์ เอาอังในนี้พลิกอย่างนั้น พลิกอย่างนี้ พลิกไปพลิกมาจนผ้าแห้ง เพราะไม่มีเตารีดใช้ ถ้าสมัยนี้ตากแห้งไว้มันก็ไม่ยาก เตารีดเยอะแยะอัดเข้าไปพักเดียวมันก็แห้งเท่านั้นเอง หรือว่าส่งเข้าไปในเครื่องมอเตอร์มันแห้งเร็วเหมือนกันแต่ว่าตามวัดมันไม่มี ก็เลยทำอย่างนั้นจนแห้งเรียบร้อย ตีระฆังเรียกพระมา พระมาถึงก็บอกว่าจีวรสำเร็จแล้วก็ให้ท่านทั้งหลายอนุโมทนา พระท่านก็อนุโมทนากัน เรียกว่ากฐินสำเร็จ แต่ว่าการทำกฐินต้องทำให้เสร็จภายใน ๒๔ ชั่วโมง ทอดวัดนี้ต้องเย็บต้องย้อมให้เสร็จก่อนรุ่งของวันคืนนี้ ต้องให้เสร็จก่อนรุ่ง ถ้าไม่เสร็จกฐินไม่เรียบร้อยไม่สมบูรณ์ ระเบียบเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นสมัยนี้พระไม่ต้อง ญาติโยมไปซื้อสำเร็จรูปตามที่พระต้องการ สบง จีวรครบชุดเลย มาถึงถวายก็นุ่งได้เลย ช่วยไปอย่างหนึ่งให้พระไม่ต้องเย็บผ้า แต่ก็เสียอย่างหนึ่งเหมือนกันคือพระเย็บผ้าไม่เป็นเวลานี้ ผ้าจีวรขาดก็ปะไม่เป็น ชุนไม่เป็น แล้วก็ไม่ค่อยปะค่อยชุนด้วยเพราะมีสำรองเยอะแยะ เอาอันใหม่มานุ่งดีกว่า อันนั้นก็ใช้เป็นผ้าขี้ริ้วต่อไป ความสะดวกมันมากสมัยนี้ สมัยก่อนลำบากพระต้องเที่ยวหาผ้าเอามาเย็บ มาย้อมจีวร
ถ้าเรามองถึงภาพพระสมัยยุคพระพุทธเจ้านี่อยู่อย่างลำบากแต่ท่านทำงานมากเป็นประโยชน์แก่ประชาชน เสียสละ อดทน มีความเพียร มีเมตตาสูง ไปเที่ยวสอนคนตามที่ต่างๆ ไม่มีวัดอยู่เป็นหลักแหล่งคืออยู่เฉพาะฤดูฝนนั่นแหละ ชาวบ้านก็สร้างกระต๊อบหลังเล็กๆให้พักชั่วคราว พอพ้นหน้าฝนท่านก็ไปไม่ได้อาลัยไยดีอะไรกับสิ่งที่เขาสร้างให้อยู่ แล้วก็ไปเจอหน้าฝนที่ไหนก็ไปอยู่เมืองโน้นก็ได้ ปีนี้อยู่เมืองนนท์ ปีหน้าอาจจะไปอยู่นครสวรรค์ก็ได้สุดแล้วแต่เดินไปเจอฝนที่ไหนท่านก็อยู่ที่นั่น หมดฝนท่านก็ไปต่อไป ไม่ติดสถานที่ ไม่ติดอะไรทั้งนั้น มันก็ดีอย่างหนึ่งเรียกว่าไปเรื่อยไป เหมือนคำพูดที่ว่าน้ำที่ไหลไปเป็นน้ำบริสุทธิ์ พระที่เดินไปก็เป็นพระที่บริสุทธิ์เหมือนกันมีคำพูดไว้ว่าอย่างนั้น อยู่ประจำที่มันก็เป็นบ้านเป็นเรือน เป็นกุฏิมันก็รกข้าวของเยอะแยะ บนกุฏิโยมเอามาให้ไม่ใช่เรื่องอะไร คนนั้นให้ชิ้น คนนี้ให้ชิ้น ก็วางๆไว้ บางทีวางๆไปก็ลืม ไม่รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหนจนกระทั่งว่าไม่ได้ใช้ก็มีเหมือนกัน ถ้าเป็นผ้าอะไรอย่างนั้นวางไว้ นานๆก็หยิบมาทีเจียดคนนั้นคนนี้ไป แต่ถ้าของกินบางทีลืมกินเลยเน่าเสียแล้ว วางไว้คือไม่ได้ไปสนใจว่าวางอะไรไว้ตรงไหน คนเอามาให้ก็วางๆๆไว้เรื่อยๆมันมากมายก่ายกองเป็นอยู่อย่างนี้ นี่คือความแตกต่างกัน เรื่องกฐินมันเกิดเป็นมาอย่างนี้
แต่เมืองไทยเรานี้นับว่ายิ่งใหญ่ ก็เป็นประเพณีของราชการ ติดอยู่ในพระราชพิธี ๑๒ เดือนๆมีพิธีนั้นพิธีนี้ เดือนออกพรรษาก็ทอดกฐิน พระเจ้าแผ่นดินก็เสด็จไปทอดกฐินตามที่ต่างๆ อันนี้เป็นโอกาสให้ประชาชนได้เข้าเฝ้าใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน สมัยก่อนคนที่จะได้เฝ้าพระเจ้าแผ่นดินนี้ยากเต็มทีเพราะไปมาไม่สะดวก แต่พอถึงฤดูกฐินแล้ว ก็เสด็จทางบก เสด็จทางเรือ เสด็จไปวัดโน้น ไปวัดนี้ ไปทอดไกลๆ ชาวบ้านก็มากันเข้าเฝ้าได้ชมพระบารมี ทำให้เกิดความใกล้ชิดระหว่างองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและประชาชน เพราะฉะนั้นพระเจ้าอยู่หัวก็จะทอดกฐินทุกปี อย่างน้อยก็ ๑๒ วัด วัดใหญ่ๆ วัดชั้นเอกเอก ชั้นเอกโท และก็เอกตรี มี ๓ ชั้นวัดชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี ชั้นเอกชั้นสูงนั้นมีอยู่ ๑๒ วัด ในหลวงเสด็จ ๓ วันเสร็จ วันละ ๔ วัดๆ เสด็จวัดนี้เสร็จไปวัดนี้ออกวัดโน้น สมัยนั้นไปเรือแต่ว่าวันสุดท้ายไปรถวันสุดท้ายไปเรือลงท่าที่วัดราชาก็นั่งเรือขนานยนต์ เรือพายก็ได้ดูขบวนแห่อีก แห่เรือไปวัดแจ้ง ออกวัดแจ้งเป็นวันสุดท้ายของการทอด หลังจากในหลวงทอดแล้วประชาชนก็ทอดกันต่อไปเป็นงานประจำปีอันหนึ่งของเมืองไทย แล้วก็เป็นงานที่ครึกครื้นกันพอสมควร ถ้าไปทางเรือเราอยู่ริมน้ำก็ได้ยินเสียง ตุมตึงๆๆ ไปตามเรื่องเป็นภาพโหม่งระฆังตีกันสนั่นหวั่นไหวก้องพื้นน้ำ มีการเห่เรือ มีอะไรต่ออะไร คนก็ได้สนุกสนานผ่อนคลายความตึงเครียด ด้วยการไปทำบุญตามวัดต่างๆ เป็นประเพณีสืบตลอดมาจนถึงบัดนี้
มาในสมัยนี้เรื่องจีวรนี่ความจริงพระก็ไม่ได้ขัดข้องอะไรหรอก ก็มีคนถวายกันอยู่พอได้ใช้ แต่ว่าต้องการปัจจัยสำหรับบำรุงวัด บ้านนอกสร้างโบสถ์ครั้ง สร้างศาลาครั้ง ก็อุ่นใจว่ากฐินจะมาแล้ว พอกฐินมาก็ได้ซองรับกฐิน เอาเงินสร้างเสนาสนต่อไป แต่บางทีกฐินมาสมภารอกแห้งเพราะไม่ได้อะไร ลงทุนต้อนรับมากกว่าที่ได้รับมาเสียอีกด้วยซ้ำไป โดยมากกฐินไปจากกรุงเทพก็เป็นพวกกฐินทัศนาจรๆจัดขบวนใหญ่ไปทอดตั้งแต่เช้ามืดเลยก็ต้องรีบไปต่อไป ถ้าไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ต้องไปนครพนม ไปหนองคาย ข้ามไปเวียงจันทน์ ไปซื้อของต่างประเทศให้มันสิ้นเปลืองกันเสียหน่อย รีบทอดและก็ประกาศว่าถวายเงินเท่านั้นเท่านี้ แต่เข้าไปซุบซิบกันว่าถวายเงินเมื่อสักครู่นี้บอกความจริงให้ประชาชนทราบว่าได้เงินเท่านั้นแต่ว่ายังไม่ได้หักจ่ายหลวงพ่อ นี่แหละผมเอามาถวายหักจ่ายแล้ว จ่ายค่ารถบ้าง ค่านี่ค่าโน่นค่านั่นเหลือเท่านี้แหละ หลวงพ่อก็รับด้วยสายตาที่จะหลับไปให้ได้เพราะว่าเหนื่อยมาหลายวันแล้ว แต่พอรับเงินนี่จะหลับไปให้ได้ เงินมันนิดเดียวไปทอดได้ ๒,๐๐๐ บ้าง ๓,๐๐๐ บ้าง แต่เวลาถวายนี่ ๕๐,๐๐๐ เลย สมภารยถาเสียงดังเลย บ้านนอก ๕๐,๐๐๐ ก็เยอะแยะ แต่พอถวายจริงเหลืออยู่ ๓,๐๐๐ สมภารก็นอนนั่งเอามือนาบๆมารูปเท้า อกแห้ง อย่างนี้ก็มีพวกชอบแบบนี้ก็มี เค้าเรียกว่ากฐินหากิน
แล้วเดี๋ยวนี้ก็ไปไกลๆ กฐินไปไกลๆ เที่ยวไปต่างประเทศจัดทัวร์ไปด้วย เนื้อที่จะได้ไม่เท่าไรหรอกมันหมดกับเรื่องเที่ยวเสียมากกว่า โยมที่ไปก็หมดเงินไปเรื่องเที่ยวเรื่องค่าเรือบิน ค่ารถยนต์ ค่าทัศนาจร ในกระเป๋ามันก็แห้งไปถึงทำบุญนิดๆหน่อยๆ ไม่เคยศึกษาเรื่องนี้ปีกลายก็ไปทอดกันที่วัดไทยพุทธประทีป ประเทศอังกฤษ ได้เงินมาเท่าไรโฆษณากันครึกครื้น ได้เงินไปแสนเดียวเท่านั้นเอง มันน้อย คนไปกันเยอะทัศนาจรด้วยแต่ว่าได้แสนเดียว ไม่คุ้ม มันไม่คุ้มกับการไป อาตมาไม่ได้ไปทอดกฐินอะไร แต่บอกบุญญาติโยมไปก็ได้ไปตั้งสองสามแสนมากกว่าที่เขายกขบวนไปทอดกฐิน ก็เรามันมุ่งจะเอาปัจจัยไปช่วยเขาแต่นั่นมุ่งทัศนาจร ชวนคนไปเที่ยว ขบวนทอดกฐินไปเที่ยวนี่เคยสังเกต ไปทอดอินเดียบ้าง ลอสแองเจลลิสบ้าง ที่ไหนๆบ้างไม่เท่าไร ได้ไม่เท่าไร ก็คนที่ไปนี่ต้องสงวนเงินไว้ใช้จ่ายในการเดินทาง ซื้อข้าวซื้อของ ยิ่งคนไทยเราแล้วเป็นโรคซื้อของ ไปเมืองไหนต้องซื้อ ซื้อนั้นซื้อนี่ เวลาไปกระเป๋าเบา พอขากลับกระเป๋าหนักกันมาเลยทีเดียวมันเป็นอย่างนั้น เลยก็ขาดทุน
ถ้าเรามุ่งจะไปช่วยจริงๆแล้วอย่าจัดคนไปมากๆ ไปกันน้อยๆ แล้วก็บอกให้คนรู้ว่าต้องการปัจจัยเพื่อจะไปช่วยเหลือกิจการอะไร คนที่ศรัทธาแท้ๆเขาก็อยากช่วยเหมือนกัน แล้วช่วยมาเราก็ได้เต็มกำไร ได้ร้อยก็เอาไปถวายทั้งร้อย ไม่หักโน่นหักนี่ให้มันสิ้นเปลืองไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่กลัวว่าคนจะไม่ไปเลยต้องเอาการท่องเที่ยวเข้ามาล่อ เมืองไทยนี่ก็เหมือนกันอย่างไปปักใต้ก็ต้องไปถึงปาดังเบซา คนจะไปเที่ยวซื้อของชายแดน ของชายแดนก็ของเมืองไทยนั่นแหละแต่ก็ไปขายไว้ที่โน่น ซื้อเสร็จแล้วมาเปิดดูมันทำที่เมืองไทยนี่หว่า เสียท่าเลยไปซื้อของเมืองไทยถึงปาดังแล้วมันแพงกว่าซื้อจากเมืองไทยเสียอีกเรียกว่าทัศนาจร ให้แวะนั่นแวะนี่เรื่อยไปเท่านั้นแหละ เรียกว่าไปใต้นี่แวะสวนโมกข์ แวะเข้าไปพักเดียว ขึ้นรถๆไปแล้ว เข้าไปสวนโมกข์ก็ไปด้านหน้าไปถึงเช้ามืดนี่ พอเช้ามืดแวะหน่อย ล้างหน้าล้างตา ถ่ายทิ้งใส่วัดไปทั้งสองเรื่อง แล้วก็ออกไปอีกแล้ว บางที่ก็ไปพบขบวนเข้าท่านเจ้าคุณก็ยิ้มๆบอกว่ามันมาถ่ายใส่วัดแล้วมันก็ไปแล้ว ไม่ได้อะไร ยังไม่ทันได้ดูอะไร ไม่ได้ศึกษาอะไรก็คนจากทัวร์นั้นรีบร้อนที่จะพาคนไปให้ไปรับประทานอาหารที่สุราษฎร์ที่บ้านดอน แวะไปร้านไหนมีเปอร์เซนต์อีก ไม่ได้กินเฉยๆนะ เข้าไปร้านกินเสร็จแล้วนี่เปอร์เซนต์เสียผู้จัดทัวร์ คนทัวร์ได้กำไรทั้งนั้น เพราะอย่างนั้นจึงคิดพาทัวร์ไปเที่ยวนั่นเที่ยวนี่
เดี๋ยวนี้คนไทยไปอินเดียนี่ไม่ใช่ทัวร์เพียงสังเวชนียสถานนะ ทั่วไปถึงไสบาบา ให้ไปดูไสบาบา ซึ่งแต่งตัวเหมือนฮิปปี้ ไว้ผมทรงเป็นกระเซิงอย่างกับนิโกรในอเมริกา ผมทรงกระเซิงซึ่งมันผิดแบบของนักบวชในประเทศอินเดีย นักบวชอินเดียเขาตัดผมสั้นทั้งนั้นแต่ไสบาบา รูปร่างอ้วนตุ้ยแข็งแรง ไว้ผมเป็นกระเซิง ดูรูปแล้วนักบวชอะไรแต่งตัวอย่างนี้ พวกทัวร์ได้กำไร แต่คนไปขาดทุนเพราะไปแล้วไม่ได้อะไร คือที่คิดจะไปนี่อยากจะไปได้แหวนจากไสบาบาสักองค์เพราะไสบาบาแกว่งแขนหยิบแหวนมาให้ แหวนอย่างนี้เอาบ่อยๆได้เมื่อไร ทำมาได้เมื่อไรแหวนอย่างนี้ ได้นาฬิกาทำจากสวิตเสียด้วย มันน่าจะเมดบายบาบา ที่นี้ทำจากสวิตแกคงจะมีเตรียมไว้ ทีนี้แกคงจะมีเทคนิคที่แกว่งขึ้นแล้วอะไรออกมา เราไม่รู้เหมือนกับคนเล่นไพ่เราไม่รู้ว่าซ่อนไพ่ไว้ตรงไหน โยมเคยเล่นไพ่บ้างหรือเปล่า ในพวกวงไพ่มันเก่งนาในมือมันสอดได้ ซ่อนไพ่เก่งจะตาย พอออกมา ออกมาแล้วมาจากไหน มันซ่อนไพ่ บาบาแกก็ทำอย่างนั้น แกคงจะมีเทคนิคของแก แกว่งปุ๊ปมีแหวนได้มาวง แหวนนี้บาบาให้ อย่าไปพูดกับให้มันมากเราจะโลภมากไปหน่อย นี่ก็มาโฆษณาว่าได้แหวน ได้นาฬิกามา แล้วคนไปก็อยากได้นะ แหมคนนับถือคริสเตียนก็อยากจะไปได้ไม้กางเขนจากไสบาบา ไปแล้วก็ไม่ได้โทรมาบอกว่าแหมไม่ได้ แล้วบางทีไปไม่พบตัวเสียด้วยซ้ำไป ไอ้คนขลังๆเขาไม่ค่อยออกตัวบ่อยๆ บ่อยมันก็ไม่ขลังสิ มันต้องปิดๆมิดๆเม้มๆไว้ นานๆแสดงที ไปถึงช่วงที่เขาไม่ได้แสดง เอ้าเสียท่า เสียเงินไปตั้งหลายเป็นหมื่น แต่ว่าเมื่อไปถึงกันกัตตาแล้วลงมาใต้นี้มันหน่อยเดียว มาไกลถึงมันฑะ (52.30) ออกมานอกเมืองไม่ใช่ใกล้เสียเงินเสียทองไปเยอะแยะแล้วก็ผิดหวัง อันนี้เราไม่เข้าใจเรื่อง ความจริงนั้นไสบาบา นี่แกเจริญมาปฏิบัติด้านภาวนาก็เรียกว่าอาจจะได้กำลังใจพอสมควรเรียกว่าได้ฌาณเรียกว่าโลกียฌาณๆนี้มีอำนาจจิตที่จะทำอะไรได้
แต่ถ้าเรานึกถึงพระเทวทัต พระเทวทัตนี่เป็นภิกษุพาลซึ่งรังแกพระพุทธเจ้า ครั้งแรกก็ได้โลกียฌาณเหมือนกัน แล้วแสดงตัวอะไรได้เหมือนกัน เช่น เนรมิตตัวเป็นเด็กน้อย เอางูพันตัวเลยไปหาพระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าอชาตศัตรูตกใจ เด็กอะไรเข้ามาในราชสถานเอางูพันตัวมาด้วยก็กลัว พอพระเจ้าแผ่นดินกลัวแกก็เป็นพระขึ้นมาทันที เข้าไปหาพระเจ้าอชาตศัตรู ไปยุ ไปแหย่ จนอชาตศัตรูจับพ่อขังจนตายแล้วก็เสียหายในเรื่อง ตามประวัติเป็นอย่างนั้น นี่ก็เพราะเทวทัตแกเป็นผู้ที่ได้ฌาณสำเร็จเป็นโลกียะไม่ใช่ขั้นโลกุตตระ ไม่ถึงขั้นมรรคผลอะไร เรื่องธรรมดา นักแสดงกลในอินเดียนี่แสดงได้มากมายก่ายกอง แปลกๆเราเห็นแล้วงงไปตามๆกัน เช่นมันโยนเชือกแล้วมันไต่กันไปได้ เราดูแล้วมันเก่งไต่เชือกขึ้นไปได้ หรือว่าตัดตัวได้ใส่หีบแล้วตัดขาด เปิดออกมาไม่ขาด ตัวเรียบร้อยมันแสดงให้เราดูอย่างนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้สรรเสริญสิ่งเหล่านี้ บอกว่าปาฏิหารย์มี ๓ เรื่อง อิทธิปาฏิหารย์แสดงฤทธิ์ในรูปต่างๆได้ อาเทศนาปาฏิหารย์ดักใจคนได้ อนุสาสนีปาฏิหารย์ สอนคนเก่ง สองอย่างอย่าให้ทำเลยสอนพระว่าอย่าไปแสดงเพราะไปพ้องกับพวกเล่นกลเข้า จะหาว่าพระเป็นพวกปาหี่ไปจะเสียชื่อ ไม่ยอมให้ทำ ให้ทำเพียงประการเดียวคือสอนคนให้เก่ง สอนคนให้ฉลาด สอนคนให้ถึงธรรมะ ให้เอาหลักปฏิบัติไปใช้เพื่อความพ้นทุกข์เท่านั้นเอง เรามุ่งอย่างนั้น
ทีนี้ญาติโยมไม่เข้าใจไปหลงคำโฆษณาชวนเชื่อของพวกทัวร์ทั้งหลายที่เขาจะหากำไรจากการท่องเที่ยว ก็ไปกันกลับมาก็พูดว่าแหมกูนึกว่าจะได้สักวงกลับไม่ได้ นึกว่าจะเอานาฬิกาสักอันก็ไม่ได้ และจะได้เพชรสักเม็ดก็ไม่ได้ เสียเงินตั้งเยอะแยะแล้วไม่บอกใครนะเรื่องแบบนี้ เดี๋ยวเพื่อนไม่ไปบอกไม่ได้ คนเราก็อย่างนั้นถ้ารู้แล้วไม่มีบอกเพื่อน ต้องให้เพื่อนรู้เหมือนตัวก่อนจึงจะบอก เหมือนกับคนนั่งกินแกงชามเดียวกัน คนหนึ่งตักขึ้นไปคันไม่พูดเฉยๆ คนที่สองคันไม่พูด คนที่สามคันไม่พูด คนที่สี่คัน พอกินหมดทั้งสี่คน คนแรกพูดแกงถ้วยนี้ไม่ไหวมันคัน ไอ้สามคนก็คัน แล้วคนแรกไม่บอกกลัวเพื่อนจะไม่คัน ต้องให้เพื่อนคันด้วย กลัวเพื่อนจะไม่รู้ต้องให้เพื่อนรู้ด้วยมันเป็นอย่างนี้ มนุษย์เราเป็นอย่างนั้น ไปไหนถ้าเพื่อนถามว่าเป็นไง ก็บอกว่าดูเองก็แล้วกัน เหมือนเขามีอะไรขึ้นมาคลุมมิดชิด เขารอ เขาบอกว่าในนี้มีอะไรบ้างแล้วก็เข้าไปดู ไม่เหมือนอย่างที่เขาว่า ออกมาถึงก็บอกไปดูเองก็แล้วกัน มันไม่ยอมบอกเพื่อนไม่ให้เข้า ให้ไปดูเองก็แล้วกัน แต่คนนั้นไปดูก็พูดกูถูกต้มแล้ว ออกมาถึงก็ถามเป็นไง ไปดูเองเหอะ มันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นคนร้อยต้องถูกเขาหลอกทั้งร้อย เพราะคนที่หนึ่งไม่บอก สองไม่บอก คนก็ถูกหลอกต่อไปถึงจะได้บอกกัน มันเป็นอย่างนี้ มนุษย์เรามันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นใครถูกหลอกถูกต้มอะไรแล้ว ก็อยากให้คนอื่นถูกหลอกบ้างเลยไม่แก้ไข เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจึงหลอกได้ง่าย มนุษย์นี่หลอกง่าย หลอกให้เชื่อง่าย จูงง่ายไปอย่างนั้นเพราะว่าไม่ใช่ปัญญาพิจารณาว่าอะไรเป็นอะไรจึงหลงไหลกันด้วยประการต่างๆ อาตมาฟังๆแล้วก็สงสารญาติโยมอยู่ว่าทำไมโง่ไปได้ถึงขนาดนั้น ของดีบ้านเรามันก็มี ทำไมไม่หาไม่เอากลับเสียค่าเรือบินแพงไปแสวงหา ก็ไม่ได้อะไรมา ก็สมน้ำหน้าแล้วที่โง่ให้เขาหลอกได้อย่างนั้น ก็นึกในใจสงสารเขาอยู่เหมือนกัน แต่เรื่องเป็นอย่างนี้ พูดมากก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
ต่อจากนี้ไปขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที นั่งสงบใจหลับตาแล้วก็หายใจเข้าออกลึกๆหน่อยคอยกำหนดแล้วค่อยผ่อนหายใจเบาๆคอยกำหนดรู้ที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก อย่าให้จิตคิดเรื่องอื่น คุมไว้ด้วยสติ ให้มีความคิดอยู่เรื่องเดียวตลอดเวลา ๕ นาที