แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกคนอยู่ในอาการสงบ นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่งซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงนี้ได้ชัดเจน และจงตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้ตอนเช้าดูมันครึ้มๆ อย่างไรพิกล เมื่อวานฝนตก แต่ว่าตอนนี้ก็อากาศแจ่มใส นับว่าให้ความร่วมใจแก่พวกเราทั้งหลายที่จะมาฟังธรรมกันเป็นอย่างดี จะได้ไม่ต้องวิตกกังวลว่าฝนมันจะตกหรือเปล่า เพราะอากาศโปร่งดีแล้ว แล้ววันนี้ก็มีนักเรียนโรงเรียนราชวินิต โน้น!ไกลทางไปบางนาได้มาประมาณ ๔๐๐ คน แล้วก็มีโรงเรียนปากน้ำวิทยาคมมากันอีก แต่โรงเรียนปากน้ำเขาพาไปหอประชุมโน้น ที่โรงเรียนวันอาทิตย์ ส่วนโรงเรียนราชวินิต เขานั่งอยู่ที่นี่เพื่อที่จะได้มาดูกิจกรรมที่เรากระทำกันในวันอาทิตย์ จะให้เด็กได้คิด ได้เกิดความเข้าใจในเรื่องกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ว่าในวัดเขาทำอะไรกันบ้าง เช่น เมื่อมาถึงเขาทำอะไร แล้วก็ได้ฟังธรรมในเรื่องอะไร เพื่อจะได้จดจำนำไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป
สมัยนี้ก็ต้องพาเด็กเข้าวัดกันให้มากขึ้น ถ้าไม่นำเด็กเข้าวัด สิ่งอื่นก็จะนำเด็กไป คือเด็กจะไปสนุกตามที่ต่างๆ เป็นความสนุกที่พอกพูนกิเลส ไม่ใช่ความสนุกที่ส่งเสริมศีลธรรม จะทำให้จิตใจของเด็กเขว ออกไปนอกลู่นอกทาง เป็นปัญหาที่พ่อแม่จะต้องหนักอก หนักใจต่อไป พ่อแม่หนักใจด้วยเรื่องลูกมีไม่น้อย เพราะว่าสิ่งแวดล้อมมันคอยดึงลูกออกไปในทางต่ำ ในทางเสื่อมอยู่ตลอดเวลา เราจึงต้องนำเด็กเข้าสู่ทางที่ถูกที่ชอบ พูดง่ายๆ ว่านำเด็กเข้าหาพระ เพื่อจะให้เด็กพบพระ จะได้รู้จักพระ แล้วจะได้เดินตามพระต่อไป เพื่ออนาคตอันแจ่มใสของชีวิตของเด็กเหล่านั้น ครูอาจารย์ที่มีความคิดเห็นการณ์ไกล มองเห็นภัยแห่งความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมในจิตใจของเด็ก จึงได้นำเด็กมาวัด นับว่าเป็นการกระทำที่เหมาะที่ควรอยู่แล้ว พวกหนูๆ ที่มาแม้ว่าจะนั่งฟังธรรมไม่เห็นหน้าหลวงพ่อ เพราะที่แสดงมันไม่พอจะนั่งกันมากๆ ต่อให้นั่งฟังด้วยความตั้งอกตั้งใจ คอยกำหนดจดจำในเรื่องที่แสดงให้ฟัง เพื่อที่จะได้นำไปเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเราต่อไป นับว่าเป็นเรื่องดีประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่งวันอาทิตย์นี้ พรุ่งนี้ก็เป็นวันที่ ๒๔ เดือนกันยายน วันที่ ๒๔ เดือนกันยานี่ เป็นวันพระสิ้นเดือน วันพระสิ้นเดือนนี่ชาวบ้านชาวเมืองเขามักจะทำบุญกัน เรียกว่าทำบุญอุทิศให้แก่บรรพบุรุษ ทางปักษ์ใต้เขาเรียกว่า ทำบุญตายาย เดือน ๑๐ นี่เขาทำบุญตายาย ความจริงไม่ได้จำกัดแต่เพียงตากับยาย แต่ว่าทำบุญให้แก่ปู่ตาย่ายาย อันนี้ถ้าพูดปู่ตาย่ายายนี่มันยาวไป เขาชอบจัดให้มันสั้น เลยพูดว่าทำบุญตายาย หรือพูดตามภาษาคนที่ไม่เข้าใจก็มักจะพูดว่าทำบุญเปรต หรือว่าทำบุญชิงเปรตอะไรต่างๆ ทำบุญเปรตก็หมายความว่า ทำบุญอุทิศให้กับญาติที่ตายไปแล้ว ไอ้ที่ทำบุญชิงเปรตนั้นมันเพิ่งเกิดทีหลัง เป็นคำพูดที่เนื่องจากอาการที่กระทำ คือเขาเอาของไปตั้งเซ่นไหว้บรรพบุรุษ จุดธูปจุดเทียนบูชา บูชายังไม่ทันเสร็จเรียบร้อย ไอ้เด็กซุกซนมันก็แย่งเอาไปกินหมด เลยเรียกว่าชิงของเปรตเอามากินเสีย เลยพูดกันว่าทำบุญชิงเปรต ความจริงพูดไม่ถูกตามหลักของภาษา ที่หลักภาษาต้องพูดว่าทำบุญเพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่เปรตที่ล่วงไปแล้ว
เปรตมาจากคำว่า เปร-ตะ-ชน แปลว่า ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้ว เป็นการทำบุญแบบหนึ่ง การทำบุญในวันสารทนี้ความจริงก็มีกันทุกชาติ ในเอเชีย ชาวอินเดียแม้ไม่ได้นับถือพุทธศาสนา คือเขานับถือศาสนาพราหมณ์ ก็มีการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ที่ตายไปแล้ว เขาทำในเดือนนี้เหมือนกัน ในเดือนที่เรียกว่าเดือน ๑๐ เดือน ๑๐ นี่เขาเรียกว่า เดือนสารท สาระ-ทะ คำบาลีว่า สาระทะกาล จะดูเป็นที่ตะครั่นตะคร้อที่ปวดเมื่อย เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว ล่อแหลมการเป็นหวัด เพราะเป็นฤดูฝน แล้วฝนก็ใกล้จะสิ้น จะไปเชื่อมต่อกันกับฤดูหนาว คนมักจะมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว เรียกว่า สาระทะกาล หรือเป็นฤดูกาลที่สัตว์ทั้งหลายร่าเริง เบิกบาน เช่น สุนัขก็มักจะมีฤดูกาลผสมพันธุ์ในเดือนนี้ ฤดูเดือนนี้จึงเป็นเดือนที่มีอะไรแปลกๆ
ชาวอินเดียเขาก็ทำบุญสารทกันเหมือนกัน แต่ว่าการกระทำนั้นไม่เหมือนกับที่เรากระทำ คือยังไม่ได้พัฒนา ทำไปตามแบบเก่า แบบเก่านั้นเขาทำอย่างไร คือเขาเอาอาหาร ขนม นม เนย ไปที่ป่าช้า เผาศพที่ป่าช้าไหน เขาก็ไปกันที่ป่าช้านั้น หรือว่าไปสู่สถานที่ที่เขาสมมติไว้ว่าเป็นที่สำหรับทำบุญให้แก่บรรพบุรุษ เมื่อไปถึงสถานที่นั้นแล้ว เอาของไปกองไว้บนพื้นดิน กองกันไว้ มากมายก่ายกอง แล้วก็จุดธูปบูชาเทียนบ้าง เสร็จแล้วก็มีคำคล้ายกับกล่าวคำถวาย เหมือนเราถวายสังฆทานอะไรอย่างนั้น เป็นคำกล่าวประกาศให้ญาติที่ถึงแก่กรรมไปแล้วที่รับรู้ ก็ให้มารับเอาส่วนบุญ ให้มากินอาหารที่ญาติอุทิศให้ อันนี้เป็นเรื่องที่เขาทำกันทั่วไปในประเทศอินเดีย ในสมัยนี้ก็ยังทำกันอยู่
พระพุทธเจ้าท่านเสด็จไปดูเขาทำพิธีกรรมอย่างนี้ แล้วก็ถามคนทั้งหลายเหล่านั้นว่า พวกท่านทำอะไรกัน คนเหล่านั้นก็กราบทูลว่า เราเอาอาหารมาเซ่น มาไหว้ บรรพบุรุษที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว แล้วก็ถามว่า “อาหารที่เอามาวางไว้มากมาย ปู่ตาย่ายาย บรรพบุรุษของท่านทั้งหลายได้มากินหรือเปล่า ท่านได้เห็นหรือเปล่าว่าคนเหล่านั้นได้มากินอาหารของท่าน” คนเหล่านั้นก็ตอบตามความเป็นจริงว่า “ไม่ได้เห็นว่ามากินอาหารเหล่านี้” พระองค์ก็เลยบอกว่า “อริยชนเขาไม่ทำกันอย่างนี้” คำนี้พระองค์ใช้บ่อย คำว่า “อริยชน” หรือ “อารยชน” เพราะคนอินเดียเขาเรียกตัวเขาเองว่าอารยัน อารยัน หมายความว่า เป็นคนที่จะเจริญทั้งด้านวัตถุและด้านนามธรรม เรียกตนเองเป็นชนชาติอารยัน หรืออริยะ หรืออาริยันก็เรียก พระองค์จึงพูดให้คนเหล่านั้นฟังว่า “อริยชน เขาไม่ได้ทำกันอย่างนี้” พวกนั้นก็สงสัยว่าอริยชน คนฉลาด คนมีปัญญาเขาทำกันอย่างไร พระองค์ก็บอกว่าอาหารเหล่านี้ เราควรจะเอาไปให้แก่สมณชีพราหมณ์ผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบ หรือให้แก่คนยากจน เอาไปให้คนเหล่านั้นเรียกว่าทำทาน เมื่อให้ทานแล้วเราก็แผ่ส่วนบุญที่เราได้กระทำนี้ ไปให้แก่ญาติของเราที่กำลังรอรับส่วนบุญอยู่ จะเกิดประโยชน์มากกว่าที่จะเอามาวางให้เปื้อนขี้ฝุ่นอย่างนี้ แล้วก็เน่าสูญเสียไปเปล่าๆ คนเหล่านั้นก็เข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็ได้มีการทำตามแบบพระพุทธเจ้า แต่ว่าคนอินเดียมันมาก พวกที่ทำก็มี พวกไม่ทำก็มี ครั้นเมื่อพระพุทธศาสนาเสื่อมไปจากอินเดีย คนเหล่านั้นก็กลับไปสู่สภาพเดิมต่อไป คือทำตามแบบที่เคยทำตามกันมาต่อไป หาได้คิดเปลี่ยนแปลงให้เหมาะแก่เหตุผลไม่ อันนี้เป็นเรื่องที่เขาทำกันอยู่
ชาวจีนในเมืองไทยก็มีการทำบุญสารท เราเรียกกันว่า สารทจีน ผ่านพ้นมาแล้วเมื่อเดือนก่อน เรานับเดือนไม่ตรงกัน ในวันสารทจีนนั้นเขามีการทิ้งกระจาด คือทำบุญแจกอาหารแก่คนยากคนจน เรียกว่า ทิ้งกระจาด ใส่ของก็เป็นห่อเป็นอะไรต่ออะไร สมัยก่อนไม่มีพลาสติกสำหรับเป็นถุงห่อ เขาก็เอาไม้ไผ่มาสานเป็นรูปชลอม เป็นรูปกระจาดเอาของใส่ๆ แล้วก็ขึ้นไปยืนบนที่สูงโยนลงมา คนก็รับกันไป แย่งกันไปตามเรื่อง รับแย่งกันไป เอาไปกินไปใช้ สมัยต่อมาการทิ้งกระจาดเห็นว่า ไม่ไหว มันแย่งกันจนของแตกกระจุยกระจาย ทำวิธีใหม่ แจกกันดีกว่า คนก็มากันมากๆ เหมือนกับที่มูลนิธิอะไรฝั่งธนบุรีทำเมื่อเดือนก่อน ที่เราได้ข่าวคนเหยียบกันตายถึง ๒๐ คน นั้นก็เรียกว่าทำบุญสารทนั่นเอง ให้คนมารับแจกของแต่ว่าจัดระบบไม่ดี คนก็พังประตูกันเข้าไป เด็กนั้นเป็นตัวเล็ก เมื่อประตูล้ม ประตูก็ทับเด็ก คนก็เหยียบประตู เด็กก็อยู่ข้างล่าง หายใจไม่ออกก็ถึงแก่ความตายไปตั้ง ๒๐ คน บาดเจ็บอีกหลาย ๑๐ คน เพื่อเลือกไปรับของแจกนั่นเอง
คนที่ไปรับของแจกเหล่านั้นไม่ใช่เป็นคนยากจนสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีอะไรจะกินจะใช้ หามิได้ แต่ว่าเมื่อมีแจกแล้วคนก็มากันมาก เราลองประกาศทางวิทยุ ทางโทรทัศน์ว่าที่วัดชลประทานจะแจกของในวันนั้น คนจะมาเต็มวัดกันหมดเลย ไม่รู้จะแจกกันอย่างไร เพราะว่าแจกใครๆ ก็อยากได้ ก็ได้เปล่าๆ ไม่ต้องอะไรก็มีคนอยากได้ ก็แห่กันมารับ ถ้าจัดระบบแจกไม่ดีก็เลยเหยียบกันเหมือนกัน อันนี้มันไม่ใช่เรื่องความยากจน ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจไม่ดี แต่เรื่องการจัดไม่ดี จึงได้เกิดปัญหาอย่างนั้นขึ้น เขาเรียกว่าทำบุญสารทเหมือนกัน แจกข้าวแจกของคนยากคนจน
หากคนไทยเราที่อยู่ในเมืองไทย หาพวก คนพวกหนึ่งก็เรียกว่าพวน คนพวนก็คือคนประเทศลาวนั่นเอง พอไปยกมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ มาอยู่ที่ อ.โพธาราม อยู่ที่ อ.พรหม จ.สิงห์บุรี อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี อ. ... จ.นครนายก อะไรอีกอำเภอหนึ่ง มีมาก มาอยู่กันมาก เขามีสารทของเขา เขาเรียกว่า สารทพวน สารทพวนนี่ก็ทำก่อนสารทไทยเหมือนกัน ทำก่อนพวกเขา แต่ว่าจะทำเมื่อใด โดยวิธีใด จุดหมายก็อันเดียวกันคือระลึกถึงบรรพบุรุษ แล้วก็กระทำบุญอุทิศให้แก่บรรพบุรุษนั่นเอง แต่ทางปักษ์ใต้นั้นเขาทำกันทุกวัดวันพรุ่งนี้ แต่ความจริงเขาทำ ๒ ครั้ง คือทำเมื่อวันแรม ๑ ค่ำครั้งหนึ่งแล้ว แล้วมาทำวันดับอีกครั้งหนึ่ง การทำในวันแรมค่ำ ๑ นั้น เรียกว่าเป็นการรับ คือเขาถือตามแบบว่า คนที่ทำบาปไปเกิดเป็นเปรตนี่ พอถึงเดือนนี้เขามาปลดปล่อย ปล่อยให้มาเยี่ยมญาติได้ ๑๕ วัน คือวันแรมค่ำ ๑ เขาปล่อย พวกนั้นก็มากัน พวกเปรตทั้งหลายก็มากัน มายืนอยู่ริมฝาบ้างที่ประตูบ้าง ตามสถานที่ต่างๆ คอยรับส่วนบุญที่ญาติอุทิศไปให้ ถ้าญาติไม่ได้ทำบุญอุทิศไปให้ เปรตเหล่านั้นก็เสียอกเสียใจ น้อยอกน้อยใจ ว่า แหม! ลูกหลานญาติของเรานี่ไม่ได้คิดถึงเราเลย ไม่ได้คิดว่าจะทำบุญอุทิศให้แก่เราเลยแม้แต่น้อย ก็เสียใจกลับไป ที่เรียกว่าทำวันรับก่อน มาอยู่ ๑๕ วันก็จะกลับแล้วพรุ่งนี้ต้องกลับไปจองจำลำบากต่อไป ก็ทำบุญส่ง ทำบุญรับกับทำบุญส่งไม่เหมือนกัน คือทำบุญรับก็มีอาหารก็มีขนม
ขนมเขาก็ทำเป็นพิเศษสำหรับฤดูสารท คือขนมข้าวพอง เอาข้าวมาทอดน้ำมันให้มันพองๆ แต่ทำเป็นแผ่นเรียบร้อย แล้วก็ขนมอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า ขนมลา ขนมลาก็คือแป้งกับน้ำตาลผสมกันแล้วเอาไปใส่ในกระชอน ก็จะมีกระทะใส่น้ำมันเคี่ยวไว้ แล้วเมื่อแตกก็เร่ง ไหลลงเป็นเส้นแล้วก็จัดเร่งไปเร่งมาให้เส้นมันก่ายกัน ดูเรียบร้อยดีทำเป็นแผ่นกลมๆ บ้าง พับให้เป็นมันยอดก็ได้ เรียกว่าลา ขนมลา แล้วก็ทำขนมคล้ายกับขนมกง ขนมเหล่านี้ก็แป้งกับน้ำตาลทั้งนั้น แต่อาศัยน้ำมันเป็นเครื่องทอด คือน้ำมันมะพร้าว ขนมอีกชนิดหนึ่งคล้ายขนมปูน เขาเรียกว่าขนมเจาะหู เพราะมันเป็นรูตรงกลางเอาไปทอด แล้วขนมอีกอย่างหนึ่งเป็นรูปกลมๆ ทอดเสร็จแล้วเอามาทุบกับน้ำตาลโตนด น้ำตาลต้องเคี่ยวให้เข้มหน่อย แล้วเอามาทุบน้ำตาล เรียกว่าขนมลูกธนู อีกอย่างหนึ่งทำเป็นแผ่นกลมๆ แล้วก็ทอดน้ำมัน เรียกว่า ขนมลูกสะบ้า ลูกสะบ้ามันกลมๆ ขนมนั้นทำกลมๆ
เมื่อเด็กๆ เคยถามคนแก่ๆ ถามคุณยายว่าขนมลูกสะบ้านี่ ทำไมจึงทำอย่างนี้ ทำเพื่ออะไร ยายแกก็เล่าเป็นนิยาย บอกว่า ขนมลูกสะบ้าให้เปรตเอาไปยิงกันเล่น เหมือนเรายิงลูกสะบ้า เรียกว่าเปรตยังรักสนุกเหมือนกัน แล้วก็ขนมลูกธนูนี่เอาไปแล้ว ถ้ามีนกอะไรมารังแกก็เอาธนูยิงใช้ขนมนี่เป็นลูกธนู เหมือนเราทำกับดิน ดินแห้งๆ ยิงไป ยิงนก ยิงสัตว์ นี่เอาขนมยิงเลย ยิงมันเลยไม่ให้มันมารังแกขณะเดินทาง มีขนมหลายอย่าง อีกอย่างขนมเทียนห่อด้วยใบตองเอาไปนึ่ง ขนมเทียนกรุงเทพฯก็มีเหมือนกัน ขนมเหล่านี้ทำกันทุกบ้านทุกช่อง แล้วก็เอาไปถวายวัด คนโบราณนั้นไม่ใช่เป็นคนไม่ฉลาด ท่านฉลาดเหมือนกัน เพราะว่าทางปักษ์ใต้ พอเดือน ๑๐ เลยไปแล้วก็จะเข้าหน้าฝน ฝนตกชุกเหลือเกิน ฝนปักษ์ใต้ไม่เหมือนฝนกรุงเทพฯ กรุงเทพฯตกแป๊บ ก็หายไป แป๊บแล้วก็หายไป ปักษ์ใต้ถ้าเขาตกแล้ว เขาตก ๓ วัน ตก ๗ วัน ไม่ลืมหูลืมตาทีเดียวเลยแหละ ลำบากที่สุดก็หน้าฝน ถ้าตกมากๆ
ทีนี้ฝนตกมากพระในวัดก็ลำบาก ในการไปบิณฑบาต ทำบุญเดือน ๑๐ สองครั้งนี่ ขนมลามันเยอะ ก็เอาไปใส่ไหใส่อ่าง แล้วก็เอาน้ำตาลโตนดโรยไว้ เก็บไว้กินกันตลอดหน้าฝน ไม่รู้จักหมด ไม่รู้จักสิ้น ขนมลาอายุมันยืน กินได้นาน เรียกว่าเขาเข้าใจหลักเศรษฐศาสตร์เหมือนกัน ทำอาหารให้กินได้นานๆ แล้วไม่ค่อยเสีย ขนมเจาะหู ภาษาใต้เขาเรียกว่าขนมเมซำ ขนมเจาะหูคล้ายขนมปูน ก็เก็บได้นานเพราะมันทอดมันเก็บได้นานทั้งนั้น เอาไว้ฉันนานๆ ได้ เป็นความสะดวกแก่พระ นี่เป็นเรื่องของขนมที่เขาทำกันวันสารททางภาคใต้ แล้วก็มีการทำขนมเสร็จก็ไปวัดกันในวันพรุ่งนี้
ไปวัดนี่มีข้าวสารด้วย มีกะปิ มีน้ำปลา มีหอมมีกระเทียม ใส่เป็นภาชนะ ถ้าสมัยนี้ก็ใส่เป็นถังพลาสติก สมัยก่อนมันไม่มีทำเป็นตะกร้า เอาเปลือกไม้ไผ่มาสานกันเป็นตะกร้า แล้วก็ใส่ไปถวายวัด สิ่งเหล่านี้พระได้เก็บไว้ใช้ ฉันกันในหน้าฝนทั้งนั้น ก็ทำอย่างนั้น ก็เป็นการถูกต้องเมื่อได้ทำบุญถวายพระเสร็จแล้ว ก็ไปที่กลางวัดเขาทำร้านไว้ บางแห่งก็ทำร้านสูงหน่อย บางแห่งก็ทำร้านไม่สูงเท่าใด แล้วเอาขนม เอากับข้าว ผลหมากรากไม้ไปวางบนนั้น วางแล้วก็จุดธูปจุดเทียนบูชากันไปตามเรื่อง บอกกล่าวบอกเล่าไปตามเรื่อง ของเหล่านี้เขาเรียกว่าเอาไปให้เปรต ได้เอาไปกินกัน
ทีนี้เมื่อคนจุดธูปจุดเทียนบูชาเสร็จลุกขึ้นเท่านั้นแหละ เด็กมันก็จัดการแย่งเป็นการใหญ่ คนนั้นดึงเอาลาไป คนนั้นดึงเอาขนม คนนั้นเอาถ้วยแกง เอาข้าวไปกินสนุกๆ ตามประสาเด็กต่อไป จนเขาพูดกันว่าชิงเปรต งานอย่างนี้เขาทำทั่วไปทุกหนทุกแห่ง แต่เมืองนครนี่เขาทำใหญ่ กลายเป็นงานประจำปี ๙ วัน ๙ คืน ๑๐ วัน ๑๐ คืน เป็นเรื่องหารายได้ ไว้ใช้จ่ายในกิจกรรมในจังหวัดต่อไป แล้วก็จัดของมาถวายพระ เขาทำเป็นตะกร้าใหญ่ๆ ภาษาปักษ์ใต้เรียกว่า หรับ คือสำรับนั่นเอง คำว่าสำรับเขาตัดหมดเหลือแต่ หรับ ตัวท้าย ก็ทำเป็นกระจาดนั่นเอง ตะกร้า แล้วก็มีข้าวสาร มีขนม มีข้าว มีอะไรต่ออะไรใส่ยกไปถวายพระ เรียกถวายสำรับแก่พระ พระได้เอาฉันเขาทำกันเป็นงานใหญ่ เฉพาะที่วัดมหาธาตุ เพราะเมืองนครมีพระธาตุยอดทอง คนมาประชุมกันที่นั่นมากมาย เป็นที่สนุกสนานกันพอสมควร ในสมัยก่อน แต่มาในตอนหลังนี่ พระธาตุถูกพระสงฆ์คณะหนึ่งยึดเอาไปครอง แล้วก็เกิดความหวงแหน ไม่ค่อยเป็นสาธารณะในวันสารทเสียแล้ว เขาจึงแยกไปทำตามวัดต่างๆ ไม่เกิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อันนี้คือความเสื่อมโทรมทางจิตใจของผู้ที่เห็นแก่ตัว
แต่สมัยก่อนนั้นไปทำกันในนั้น พระทุกวัดก็ไปเทศน์ในนั้นด้วย อาตมาก็ไปเทศน์ที่นั่นสมัยอยู่นคร แล้วก็กล่าวได้ว่า วิหารครบรอบพระธาตุเป็นวิทยาทานในการเทศน์ เพราะใครเทศน์ไม่ค่อยเป็นก็ไปเทศน์ธรรมาสน์น้อยๆ คนฟัง ๓ – ๔ คน แล้วค่อยขยับขึ้นมาธรรมาสน์ ๒๐ คน ๓๐ คน จนกระทั่งถึงเชิงพระธาตุมี ๔ ด้าน เรียกว่าพระด้าน ด้านตะวันออก ถ้าได้ไปเทศน์ตรงนั้นก็เรียกว่าไต่บันไดดารา สำเร็จแล้ว บันไดดารานักเทศน์ ไต่มาตั้งแต่ธรรมาสน์น้อยๆ ขึ้นมาถึงขั้นนั้นเขาเรียกว่า สำเร็จ อาตมาก็เทศน์อย่างนั้นแหละ แล้วก็ไปนั่งเทศน์ที่นั่น พอขึ้นแล้วก็ไม่ลงมาอีกต่อไป เรียกว่าอยู่ขั้นยอดของดารา มีชื่อมีเสียงก็เทศน์ตรงนั้น คนมันมาก เขาฟังกันมากมาย
คราวหนึ่งก็ไปเทศน์ มีคนหนึ่งแกเป็นคนรับใช้ท่านกลาง ท่านกลางเป็นพี่สาวเจ้าพระยาบดินทร์ แย้ม ณ นคร ท่านไม่ได้แต่งงาน ในพรรษาหนึ่งก็เชิญพระมาเทศน์ ๓ คืน ยกกัณฑ์ไปทีหนึ่ง ๓ คืน ยกกัณฑ์ไปทีหนึ่ง ต่อคนที่มาฟัง “โอ! ต้องนิมนต์ท่านไปเทศน์บ้านท่านกลางหน่อย” บอกว่า “ไม่เป็นไร เทศน์เมื่อไรก็ได้” พระก็รู้ว่าอาตมาจะไปเทศน์ ก็บอก “แหม! บ้านนี้เทศน์ยาก เทียนของท่านสั้นนิดเดียว” คือเทียนเล่มหนึ่งท่านตัดเป็น ๒ ท่อนสำหรับบูชาพระเทศน์หนึ่ง แล้วถ้าพระเทศน์เทียนยังไม่ดับ ท่านบ่นว่าเทศน์น้อยไป ถ้าเทศน์ไปเทียนดับแล้วยังไม่จบ ท่านบ่นอีกว่า เทศน์มากไป ก็ลำบาก เขาบอกว่า “แหม! เทศน์บ้านท่านกลางนี่ลำบาก เทียนมันหมดไม่รู้ตัว อ่านใบลานยังไม่จบก็เทียนดับเสียแล้ว” เรายังไม่จบเรื่องนี่ เทศน์ต่อท่านก็บ่นว่าเทศน์มากไป เอาอ่านจบเสียก่อนเทียนยังไม่ดับ ท่านก็บ่นว่าเทศน์น้อยไป ไม่เป็นไร เรามันไม่ได้เทศน์ใบลานนี่ เทศน์ปากเปล่า เทศน์ไปดูเทียนไป ดูเทียนไปพอเทียนวืบ ก็เอวังด้วยประการฉะนี้ ท่านก็สาธุ อ้อ ท่านเทศน์พอดีๆ แล้วก็นิมนต์เทศน์บ่อย เรียกว่าได้ยกหลายกัณฑ์ เทศน์พอดี แล้วก็เทศน์ให้ฟังง่าย ไม่เหมือนพระองค์อื่นเทศน์ เรียกว่าเป็นนักเทศน์ ไต่บันไดขึ้นมาเป็นอย่างนั้น เทศน์บ้านท่านกลางได้ นี่เป็นตัวอย่าง
เมืองนครเขามีอะไรหลายอย่าง มีดีเหมือนกัน นี่ก็พูดถึงวันสารท มาถึงกรุงเทพฯ ก็มีวันเดียวคือวันพรุ่งนี้ เขาทำบุญสารทเป็นการใหญ่ จุดมุ่งหมายของการทำบุญสารทนั้นอยู่ที่ระลึกถึงบรรพบุรุษ ถ้าจะเรียกให้มันทันสมัยสักหน่อย เขาก็เรียกว่า วันกตัญญูกตเวทีนั่นเอง วันสารท วันกตัญญูกตเวที เป็นวันที่ทุกคนจะระลึกถึงพ่อแม่ปู่ตาย่ายาย ครูบาอาจารย์ และท่านผู้มีบุญคุณแก่ชาติแก่บ้านเมือง ไม่เฉพาะในครอบครัวของเราแต่ทั่วไประลึกถึงบุญคุณของบรรพบุรุษ ที่ได้ทำประโยชน์แก่ชาติ แก่บ้านเมือง เช่น เราระลึกถึงพระนเรศวรมหาราช ระลึกถึงพระพุทธยอดฟ้า พระเจ้าตากสิน หรือใครที่ได้ทำประโยชน์แก่ชาติ แก่บ้านเมืองมา เราก็นึกถึงคนเหล่านั้น การน้อมจิตระลึกถึงคนเหล่านั้นเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องทำให้เราเกิดความสำนึกว่าเราเป็นหนี้บุญคุณแก่คนเหล่านั้น แล้วเราควรจะทำอะไรเป็นเครื่องเปลื้องหนี้เปลื้องสิน ที่เรามีอยู่แก่คนเหล่านี้บ้าง เป็นเรื่องที่เราจะต้องคิด อันนี้เราไม่ต้องคิดมาก เพราะว่าคนโบราณเขาคิดไว้แล้ว เขาก็ตั้งธรรมเนียมไว้ว่าให้ทำบุญ
คราวนี้การทำบุญสมัยก่อนมีวงจำกัด คือนามันจำกัด สมัยก่อนไม่หลายแปลงเหมือนสมัยนี้ นาบุญสมัยก่อนก็อยู่ในวัดทั้งนั้น เพราะว่าวัดนี่เป็นทุกอย่างของประชาชน เป็นที่อยู่ของพระ เป็นที่ศึกษาสำหรับเด็ก เป็นสถานที่ เรียกว่าเป็นสนามกีฬาของลูกหลานคนบ้านใกล้วัด เด็กก็ไปเล่นในวัดทั้งนั้น เรียกว่าเป็นสนามกีฬา เป็นที่ประกวดผลหมากรากไม้ ใครมีผลไม้ดีก็เอาไปวัดทั้งนั้น ไปถึงคน อู้ย! ของใครน่ะ ลูกใหญ่ดีจริง เอาพันธุ์มาจากไหน ก็เอามาถวายสมภาร สมภารก็วางไว้ คนนั้นมาก็ขอ เวลาท่านฉันแล้วก็ขอเมล็ดเอาไปปลูกกันต่อไป เรียกว่า ของดีของงาม ผลหมากรากไม้ก็ไปดูที่วัด แม้คนสวยคนงามก็ไปดูที่วัด จึงได้พูดกันเป็นคำติดปากว่า พอไปวัดกับเขาได้ไหม เหมือนว่าเจ้าหนุ่มคนหนึ่งไปพอใจหญิงสาวแห่งหนึ่งเข้า แล้วมาเล่าให้เพื่อนฟัง เขาก็ถามว่าพอจะพาไปวัดกับเขาได้ไหม หมายความว่าไม่ขี้เหร่นักก็พาไปวัดได้ แต่ถ้าขี้เหร่ ก็พาไปวัดไม่ได้ วัดก็กลายเป็นที่ประกวดคนงามไป ใครจะไปดูคนงามไปรู้จักมักจี่สังสรรค์ ก็ไปที่วัดทั้งนั้น อะไรๆ ก็ไปกองอยู่ที่วัดทั้งนั้น เพราะฉะนั้นคนสมัยก่อนนี่ก็ทำบุญก็ทำกับวัด
แม่ทัพนายกองไปรบทัพกับข้าศึกได้ชัยชนะกลับมา ล้างบาปกันเสียทีหนึ่ง ไปรบมันต้องฆ่ากัน จำเป็นนี่ ฆ่าด้วยความจำเป็น กลับมาก็สร้างวัด สร้างวัดสร้างวาขึ้น พระเจ้าแผ่นดินท่านก็สร้างวัด เพราะฉะนั้นในเมืองหลวงจึงมีวัดมาก เมืองใหญ่ เช่นเชียงใหม่ เมืองเพชรบุรี อย่างนี้ต้องมีวัดมาก เพราะว่าแม่ทัพ นายกองเยอะแยะ ชวนกันสร้าง สร้างวัดสร้างวา ไปฝั่งธนลงจากสะพานพุทธยอดฟ้า จะเห็นวัดประยูรวงศาวาส วัดอนงคาราม วัดพิชัยญาติ วัดบุปผาราม ติดกันอยู่ใกล้กันหมด วัดของครอบครัวใหญ่ เจอตระกูลบุนนาค ตระกูลบุนนาคก็เป็นตระกูลใหญ่คู่บารมี กับราชวงศ์จักรี เรียกว่าเป็นเครือญาติเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมา ตั้งแต่คนเริ่มแรก คือ นายบุนนาคต้นตระกูล แล้วก็รับใช้แผ่นดินมา มีเกียรติ มีชื่อเสียง มาโดยลำดับ ท่านก็สร้างวัดกันไว้มากมาย
แต่เจ้าพระยาบดินทร์สร้างวัดตึก วัดเทพลีลา วัดอะไรต่ออะไร โน่น! ไปสร้างวัดในเมืองปราจีนเข้านี่ วัดโรงเปียน ยกทัพกลับมาจากเมืองเขมร จอดเกวียนที่นั่น แล้วเวลาจะไปสร้างวัดตรงนี้สักวัด วัดโรงเปียน เหลืออยู่จนกระทั่งบัดนี้ เจ้านายข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เศรษฐี ก็สร้างวัดกันทั้งนั้น แล้วก็ตั้งชื่อไว้เป็นที่ระลึกของตระกูล ลูกหลานที่สืบต่อกันมาก็ต้องรับภาระ คอยดูแลเอาใจใส่ ชำรุด ทรุดโทรม ก็ไปซ่อมแซมต่อไป ก็เท่ากับว่าสร้างนาบุญไว้ให้แก่ลูกหลาน จะได้ไปทำบุญสุนทานกันต่อไป อะไรๆ ก็ไปอยู่ที่วัดกันทั้งนั้น เพราะวัดเป็นหลายอย่าง แต่เมื่อในสมัยต่อมาสังคมเปลี่ยนแปลงไป ความต้องการในทางสิ่งช่วยเหลือมันมีมากขึ้น เช่น โรงเรียนสร้างมากขึ้นนอกวัด โรงพยาบาล สุขศาลา อนามัยหรืออะไรอื่นที่เราจะต้องช่วยเหลือก็มีมากมายหลายเรื่องหลายประการ เพราะฉะนั้นการทำบุญอุทิศให้แก่บรรพบุรุษนี่ ไม่ได้หมายความว่าต้องมาทำกับพระเสมอไป ทำกับใครก็ได้
เช่น พรุ่งนี้วันที่ ๒๔ เขาเรียกว่า วันมหิดลก็มี วันมหิดลเป็นวันสวรรคตของสมเด็จพระปิตุลา เจ้าฟ้ามหิดล หรือพระชนกของในหลวง เจ้านายพระองค์นี้เรียกว่าไม่เหมือนใคร เพราะว่าท่านมีความคิดในทางที่จะใช้ชีวิต ให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติในทางด้านสาธารณสุข ท่านมองเห็นว่าเมืองไทยยังขาดหมอ ขาดการอนามัย ประชาชนเป็นอยู่ไม่ปลอดภัยด้วยประการทั้งปวง ขั้นแรกก็เรียนการทหารเรือ เมื่อจบแล้วจะเป็นข้าราชการในกองทัพเรือ ท่านมองเห็นว่าสิ่งจำเป็นยังมีอีกอย่างหนึ่งคือการสาธารณสุขการแพทย์ ก็ลาออกจากกองทัพเรือ เดินทางไปอยู่อเมริกา ไปเรียนวิชาการสาธารณสุข แล้วต่อมาก็เรียนด้านการแพทย์ สำเร็จปริญญาด้านการแพทย์ กลับมาถึงก็มาทำการรักษาคนไข้ที่โรงพยาบาล คนไข้กลับกลัวหมอ หมอเจ้าฟ้าเขาไม่อยากเข้าไปรักษา กลับกลัวหมอเจ้าฟ้า แล้วโรงพยาบาลสมัยนั้น คนไม่ค่อยอยากไปโรงพยาบาล ไม่อยากไป สร้างแล้วไม่ค่อยมีคนไข้ ไม่เหมือนสมัยนี้ อู้ย! คนไข้มากมาย สมัยก่อนนี้ต้องให้รางวัลนะคนไปรักษาไข้ ต้องมีเครื่องล่อเครื่องจูงใจ เจ้านายผู้หลักผู้ใหญ่ก็ไปใช้ให้ดู ไปนอนโรงพยาบาลให้คนดูว่านี่มันดี โรงพยาบาลนี่ จูงใจคน อันนี้เจ้าฟ้าท่านมาเป็นหมอ คนยิ่งกลัวเจ้าฟ้าไม่ไปรักษาใหญ่ ท่านเห็นแล้วไม่ไหว กรุงเทพฯนี่ลำบาก
เอ้า! ไปเชียงใหม่ ไปอยู่กับพวกมิชชันนารี เผยแผ่ศาสนาก็มีโรงพยาบาลหมอ ค็อด ไปอยู่ที่นั่น ทรงปฏิบัติต่อคนไข้ ตรวจคนไข้ ทำการผ่าตัด ไปเยี่ยมคนไข้ทำกับคนไข้ทุกอย่าง ทุกประการ เป็นที่สบายพระทัย แปลว่า อยู่ไม่เท่าไรก็กลับกรุงเทพฯ กลับมาถึงก็ทรงพระประชวร แล้วก็เสด็จสวรรคตด้วยโรคปอดบวม ไอ้โรคปอดบวม ความจริงสมัยนี้ไม่ตาย แต่สมัยนั้นไม่มีหมอ ไม่มีเครื่องมือเท่าใดเลย ท่านก็สิ้นพระชนม์ในวันที่ ๒๔ เดือนกันยายน เมื่อ ๕๐ กว่าปีมาแล้ว หากพวกแพทย์ พวกหมอทั้งหลายก็ถือว่าท่านนี่เป็นสมเด็จพระบิดาการแพทย์ เป็นเจ้าพ่อในทางหมอ ทางยาว่างั้น พูดง่ายๆ ว่าท่านเป็นเจ้าพ่อในเรื่องหมอเรื่องยา เขาก็หล่อรูปไว้เป็นที่ระลึก ที่โรงพยาบาลศิริราช
โรงพยาบาลอื่นเขาก็หล่อรูปท่านไว้ทั้งนั้น ก็ถือว่าเป็นเจ้าพ่อในเรื่องนี้ พรุ่งนี้ก็เรียกว่าเป็นวันสวรรคต เขาก็ให้คนไปทำบุญ คนทำบุญก็ไปช่วยบำรุงโรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาลจ่ายเงินกับคนไข้ที่ยากจน ปีหนึ่งก็ตั้ง ๓๐ กว่าล้าน ก็ประมาณที่ได้ก็ไม่พอ เขาก็ต้องหาเงิน คืนก่อนนี้เขาก็หาเงินทางโทรทัศน์ มามันง่วงนอน ดูนิดเดียวแล้วก็เลื่อนไป ไม่รู้ว่าได้เท่าไหร่ แต่ว่าปีก่อนโน้นได้ ๗ ล้าน ปีนี้เขาบอกว่าคืนนี้น่าจะได้สัก ๘ ล้าน แต่ได้เท่าไรก็ไม่ทราบ แต่มีคนให้เรื่อยๆ โทรศัพท์ไปบอก ไอ้โทรศัพท์บอกนี่ก็ไม่แน่เหมือนกัน พอไปเอาเข้าจริง อ้าว ผมไม่ได้โทรสักหน่อย มาเก็บกับผมยังไง คนอื่นช่วยโทรให้ก็มีเหมือนกัน ใส่ชื่อคนนั้นเข้าไว้ ยังไม่แน่มันต้องได้จริงๆ ถึงจะแน่ นั่นก็เป็นนาอีกแปลง ที่เราควรเข้าไปช่วยเหลือ
แล้วก็ยังมีนาอีกเยอะ เด็กยากจนอดอาหารกลางวัน คนลำบากเป็นนาทั้ง นาบุญทั้งนั้น ที่เราจะต้องไปหว่านพืชลงไปกับคนเหล่านั้น นามันหลายแปลง สมัยก่อนนามันแปลงเดียวคือวัด กับพระสงฆ์ เดี๋ยวนี้มันเกิดหลายแปลง เราก็ต้องไปช่วยกันตามเรื่องตามราว ในวันที่เราระลึกถึงบรรพบุรุษ ควรจะถือว่าเป็นวันที่เราเสียสละเพื่ออุทิศส่วนบุญนั้นให้แก่บรรพบุรุษของเรา ในรูปการให้ทานในเรื่องไหนก็ได้ ขอให้เข้าใจอย่างนี้ อาจจะมีปัญหาว่าเรื่องทำบุญกับเปรตนี่ มันเป็นมาอย่างไร ก็จะเล่าเรื่องให้ฟัง
ความจริงมันทำกันอยู่ก่อน ก่อนพระพุทธเจ้าเกิดด้วยซ้ำไป แต่ว่าในยุคพระพุทธเจ้าก็มีเรื่องที่น่าฟังอยู่บางตอนเหมือนกัน คือพระเจ้าพิมพิสารนี่ เมื่อได้ทำบุญกับพระพุทธเจ้าถวายสวนเวฬุวัน ในเมืองราชคฤห์ สวนไม้ไผ่ที่เมืองราชคฤห์ถวายเสร็จ ทำบุญเป็นการใหญ่ท่านไม่ได้กรวดน้ำแผ่ส่วนบุญให้แก่ญาติของท่าน คืนนั้นท่านฝันไปท่านนอนแล้วก็ฝัน คือฝันเห็นกระทะใหญ่ในขุมนรก ฝันเห็นกระทะใหญ่แล้วก็มีพวกสัตว์นรกจมอยู่นั้น ผุดขึ้นมาจมลงไป ผุดขึ้นมาจมลงไป แล้วก็ได้เห็นว่ามีสัตว์นรก ๔ ตน ที่อยู่ในนั้น ผุดขึ้นมา
ตนหนึ่งผุดขึ้นมาร้องว่า ทุ ร้องได้คำเดียว โผล่ขึ้นมาร้อง ทุ ก็จมหายไป อีกตัวหนึ่งโผล่ขึ้นมาแล้วร้องว่า สะ จมหายไป อีกตัวหนึ่งผุดขึ้นมาร้อง นะ จมหายไป ตัวหนึ่งผุดขึ้นมาร้อง โส จมหายไป ก็เรียกว่า ทุ-สะ-นะ-โส อันนี้ ไอ้พวกถือคาถาไสยศาสตร์ ก็บอกว่านี่คาถาเปรต เอาไปท่อง เอาไปจำแล้วก็ภาวนา ทุ-สะ-นะ-โส ทุ-สะ-นะ-โส แล้วก็จะกัณฑ์โน้นกัณฑ์นี้ว่าไปตามเรื่อง นั่นเป็นเรื่องไสยศาสตร์ เป็นเรื่องถือที่ไม่ค่อยจะถูกตรงอะไรนัก ทีนี้เมื่อท่านฝันเห็นอย่างนั้น แล้วก็ได้ยินเสียงร้อง ร้องกรีด วีด หวาด โวยวาย รอบๆ วังนี่ ตื่นขึ้นมาตกใจ ตกใจก็เลยไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
เมื่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์ก็บอกท่านให้ทราบว่าพระองค์ได้ทำบุญ บริจาคที่ถวายพระสงฆ์ แต่ว่าไม่ได้แผ่ส่วนบุญไปให้แก่ญาติของพระองค์ที่ไปตกระกำลำบากอยู่ พวกนั้นก็มาร้องขอส่วนบุญ เรียกว่า มาประท้วง พวกเปรตนี่เดินทางมาประท้วงพระเจ้าพิมพิสาร ประท้วงด้วยการร้อง วีด หวาด โวยวาย รอบวังท่านฝันไปได้ยินเสียงอย่างนั้นตกใจ ไม่เคยได้ยินเลยเสียงอะไรมันเป็นอย่างนี้ ก็เลยไปถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็อธิบายให้ฟัง ในเรื่องเสียงที่ได้ยิน ๔ เสียงนี้ก่อน ว่า ทุ-สะ-นะ-โส เป็นเสียงที่พระเจ้าพิมพิสารได้ฟัง พระพุทธเจ้าท่านก็บอกว่า ไอ้เสียงที่ได้ยินนั้นเป็นเสียงของเปรตที่จมอยู่ในกระทะทองแดงซึ่งร้อนด้วยน้ำเดือดมาตั้งหมื่นปีแล้ว ขึ้นมาแล้วก็จมหายไป ขึ้นมาก็จมหายไป แล้วขึ้นมาร้องอย่างนี้ทุกที ทุ หายไป หายไปเป็นพันๆ ปี แล้วก็ สะ อีกตัวหนึ่ง นะ โส อย่างนั้น
พระองค์ก็อธิบายให้ฟังต่อไปว่า ไอ้ที่ร้องว่า ทุ นี่คือจากคาถาว่า “ทุชชีวิตะชีวิมหา เยสันโน นะทะทามหะเส วิชชะมาเนสุ โภเคสุ ทีปัง นากัมหะ อัตตะโน” บาลียาวหน่อย อย่าไปจำเลย ยืดยาวจำก็ไม่ได้ แปลเป็นไทยว่าอย่างนี้ พวกเรามีชีวิตอยู่ด้วยความทุกข์ยาก เมื่อเวลาพวกเรามีทรัพย์สมบัติ ไม่ได้ทำบุญให้ทานเลย ทั้งไม่ได้กระทำที่พึ่งให้แก่ตนด้วย จะร้องประกาศว่าความบกพร่องของตัวนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร ตั้งใจจะประกาศความบกพร่องของตัวว่า เมื่อมีทรัพย์สมบัตินั้นมีความประมาท ไม่ได้ทำทรัพย์สมบัตินั้นให้เป็นประโยชน์
แม้แต่ใช้ก็ใช้ในเรื่องกิน เรื่องเล่น เรื่องสนุกสนาน เหมือนคนมีเงินบางคน ไม่ใช่ทั่วไป บางคนก็มีเงินก็ไปสนุก หาความสุขทางเนื้อทางหนังทางเพลิดเพลิน ไปเปิดอะไร เขาเรียกว่า ไนท์บาร์ใหญ่ๆ โตๆ ให้พวกเศรษฐีมาสนุก มาเพลิดเพลินกัน แล้วก็เจ้าของบาร์ก็ถูกยิงตายไปต้องร้องอย่างนี้ ต้องร้องว่า “พวกเรามีชีวิตอยู่ด้วยความทุกข์ยาก เมื่อเวลาพวกเรามีทรัพย์สมบัติ ไม่ได้ทำบุญให้ทานเลย ทั้งยังไม่กระทำที่พึ่งให้แก่ตนด้วย ประกาศความประมาทเมื่อยังมีชีวิตอยู่ในโลก ว่าอยู่ด้วยความประมาท อยู่ด้วยเมา ด้วยความหลงใหล ในเนื้อในหนัง ซึ่งเรียกว่า กามารมณ์ ไม่คิดแสวงบุญกุศลสำหรับเป็นที่พึ่งแก่ตนเลย” ประกาศให้โลกรู้ว่าตัวไปรับทุกข์อยู่แล้ว จึงประกาศออกมาในรูปเช่นนั้น ก็นับเป็นความบกพร่อง
เมื่อเช้านี้ อุบาสิกาคนหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่า เพื่อนและน้าด้วย เพื่อนนี่เป็นหมอ เจ็บมากก็ไปบอกว่า “แหม! ไอ้ที่เธอเคยบอกกับฉันว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์นี่ ฉันมองเห็นแล้ววันนี้” แต่ว่าสมัยก่อนนี้คิดแต่หาเงินท่าเดียว ไม่เคยบริจาค ทำโน่นทำนี่ให้เกิดประโยชน์ แล้วก็ไม่ค่อยเข้าวัดเข้าวา ไม่สนใจธรรมะธัมโม ทีหลังมาถึงมารู้ว่าเป็นโรคมะเร็ง เป็นที่คอลามมารอบคอเลย เจ็บปวดรวดร้าว ก็เมื่อเจ็บมากใกล้จะตาย แหม เพื่อนผู้หวังดี เคยมาพูดให้ฟังถึงธรรมะธัมโม ครั้งก่อนฟังแล้ว ก็เฉยๆ ไม่ได้สนใจอะไร เพราะว่า เงินมันใหญ่กว่า สิ่งเหล่านี้ ธรรมะ ซื้อของกินไม่ได้ ก็นึกอย่างนั้น ก็เลยอยู่ในสภาพประมาท เวลาจะตาย จึงนึกได้ว่า โอ! แย่แล้วเรา ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง กลัวตาย ไม่รู้จะพึ่งอะไร อย่างนี้ก็เกิดเป็นปัญหา
อีกรายหนึ่งก็มีฐานะร่ำรวยเหมือนกัน เจ็บมาก แล้วก็มีคนๆ หนึ่งเป็นนายทุนให้กู้เงิน มารับ อุบาสิกาคนนั้นบอกไปหน่อย ไปหน่อย ไปช่วยพูดอย่าให้มันตายก่อน เป็นหนี้ผมอยู่สองแสนยังไม่ได้ ไอ้นั่นคิดจะให้เพื่อนอยู่เพื่อที่จะทวงหนี้ต่อไป แล้วก็ไปถึงก็บอกว่า “เอ้า! อย่างนี้มันตายแน่นะ พูดจริงๆ ให้ฟังว่าตายแน่” ไอ้เจ้านายทุนคนนั้นก็ว่า “ทำไมไปว่าอย่างนั้น ใจเสีย สมมติตายผมก็ไม่ได้เงินสองแสนนะสิ” ไปว่าอย่างนั้น คนนั้นก็แสดงความทุกข์อีกบอกให้รู้ว่า แหม! ไม่ได้ทำอะไร เห็นเพื่อนจัดข้าวจัดของไปวัด “คุณไปทำไม ไปวัดไม่ได้เรื่องอะไร เอาไปกินเองดีกว่า” เป็นซะอย่างนั้น คือไม่เห็นประโยชน์ในการทำบุญสุนทาน ที่บ้านอาตมาก็มีคนหนึ่ง ชื่อ ตารอด แกไถนาอยู่ข้างวัด ปัญญาเอากับข้าวไปวัด ปัญญาแกชื่อ เทพ ทีนี้ “มึงไปไหนน่ะ” “เอากับข้าวไปถวายตาหลวงที่วัดหน่อย” “เอามาให้กูดูก่อน มีอะไรบ้างน่ะ” เอามาถึงวางให้แกดู แกดูก็บอกว่าแกกินเยอะ เอาไปทำไม กูไถนาวันยันค่ำแกไม่มาช่วยเลย แกหาว่าพระไม่มาช่วยแกไถนา นั่งดูอยู่ได้ กูไถนา เอาไปให้กินทำไม แกกินเยอะ แกกินหมดเป็นซะอย่างนี้ คนเรามันอย่างนี้ มีเงินมีทองบางทีก็ลำบากเหมือนกัน มันต้องแสวงบุญไว้บ้าง หาเครื่องปลอบโยนจิตใจ เหมือนกับคนแรกพูดออกมาอย่างนั้น
เปรตคนที่สองพูดว่าอย่างไร “สัฏฐี วัสสะหัสสานิ ปะริปุณณานิ สัพพะโส นิระเย ปัจจะมา-นานัง กะทา อันโต ภะวิสสะติ” บอกว่าพวกเราทั้งหลาย พากันหมกไหม้อยู่ในนรกครบหกหมื่นปีบริบูรณ์แล้ว เมื่อไรจะสิ้นสุดกันเสียที บ่นออกมาด้วยความทุกข์ว่า เออ อยู่กันอย่างนี้ตั้งหกหมื่นปีแล้ว เมื่อไรมันจะจบจะสิ้นกันเสียที มีความทุกข์ ทุกข์อยู่ในกระทะทองแดง เดือดร้อน มีความทุกข์อยู่อย่างนั้นก็เลยพูดออกมาว่า ไอ้โทสะก็ว่า สัฏฐี วัสสะหัสสานิ พวกเราทั้งหลายพากันหมกไหม้อยู่ในนรกครบหกหมื่นปีบริบูรณ์แล้ว เมื่อไรจะสิ้นสุดกันเสียที ก็บ่นพิรี้พิไรไปตามเรื่อง มันยังไม่หมดเวร หมดกรรม ก็ต้องผุดขึ้น ผุดลงกันต่อไป
คนที่สามที่ร้องว่า นะ ขึ้นมาถึง นะ จมหายไป ใครร้องว่า นะนี่พระพุทธเจ้าต่อให้ ฟังว่า “นัตถิ อันโต กุโต อันโต นะอันโต ปะฏิทิสสะติ ตะทาหิ ปะกะตัง ปาปัง มะมะ ตุยหัญจะ มาริสา” ที่สุดมันไม่มีที่สุดจะมีที่ไหน ที่สุดจะไม่ปรากฏ นี่แหละเพื่อนเอ๋ย บาปกรรมที่เราและท่านได้กระทำกันไว้ในครั้งกระโน้น นึกได้ นึกได้ว่าครั้งกระโน้น นึกได้ว่าพวกเราทำบาป ทำกรรมกันไว้ จึงต้องมาหมกไหม้ในรูปกันอยู่อย่างนี้ ที่สุดมันไม่มี ที่สุดมันจะมีที่ไหน เพราะว่าเราและท่านได้กระทำกรรมไว้มากมายเหลือเกิน มันยังไม่จบไม่สิ้นกันสักที ตัวที่ ๓ พูดออกมาอย่างนั้น
ตัวที่ ๔ พูดว่า โส ได้คำเดียว พระพุทธเจ้าต่อให้ว่า “โสหัง นูนะ อิโต คันตวา โยนิง ลัทธานะ มานุสิง วะทัญญู สีละสัมปันโน กาหามิ กุสะลัง พะหุง” แปลว่า เราออกไปจากที่นี่แล้วได้เกิดเป็นมนุษย์มีความรู้จักผิดชอบชั่วดี จะรักษามารยาทให้ดีงาม และจะทำความดีให้มากทีเดียว ตัวที่ ๔ พูดออกมาว่า เมื่อเราหลุดออกไปจากที่นี่ได้เป็นมนุษย์แล้ว เราจะทำแต่ความดีในประเภทต่างๆ เพื่อให้ เกิดประโยชน์แก่ชีวิต แก่เรา แก่ท่านทั้งหลายต่อไป นี่คือคำปรารภ ที่พระเจ้าพิมพิสารได้ยินได้ฟัง ก็เป็นคำเตือนใจ เตือนใจให้เราได้รู้สำนึก ข้อแรก นี่ทำให้เรารู้ว่าอย่าประมาทในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในความสุข ในความเป็นใหญ่เป็นโต ที่เราได้รับมีอยู่ เพราะสิ่งนั้นมันไม่เที่ยง อาจจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อไรก็ได้ อย่าอยู่ด้วยความประมาท แต่อยู่ด้วยความรู้สึกตัวว่า อะไรๆ มันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
คาถาที่สองก็เป็นเครื่องเตือนใจว่า คนที่ทำบาปเมื่อไปหมกไหม้อยู่นั้น มันก็ต้องได้รับความทุกข์ลำบากเหลือเกิน เป็นเวลานานในสถานที่เช่นนั้น คือว่าได้รับผล ผลที่ตัวกระทำไว้อย่างใดก็เป็นอย่างนั้น ทำดีไว้ก็ได้มีความสุข ความเจริญ ทำบาปไว้ก็มีความทุกข์ ความเดือดร้อน หนีจากผลที่ตัวกระทำไว้ไม่ได้เป็นอันขาด ตัวต่อไปก็บอกไว้ ที่สุดมันไม่มี ที่สุดจะมีที่ไหน ที่สุดจะไม่ปรากฏ นี่แหละ เพื่อนเอ้ย! บาปกรรมที่เรากระทำไว้ในครั้งก่อนนั้น มันให้ผลอย่างนี้แหละ ประกาศผลให้รู้ว่าเราได้รับอยู่ คนเรานี่ไม่ได้คิดถึงผลการกระทำ มองแต่ในแง่ที่ว่าจะมีจะได้ จะเป็นสุขเป็นทุกข์ท่าเดียว แต่ไม่มองว่าจะเดือดร้อนอะไร จะมีปัญหาอะไร จิตใจมันมืดไปด้วยสิ่วยั่วยุเหล่านั้น เลยหลงใหลเพลิดเพลินไปด้วยประการต่างๆ เพราะฉะนั้นที่สุดของบาปของกรรมมันยังไม่จบกันสักที
ตัวสุดท้ายก็ขึ้นมาบอกว่า เออ! ถ้าเราหลุดไปจากที่นี่เมื่อใด เราเกิดเป็นมนุษย์เราจะไม่ทำชั่วอีกต่อไป เรียกว่า ถั่วสุกงาไหม้ กระทะแตก ไม่มีอะไรเหลือแล้ว ถึงนึกได้ เป็นอย่างนี้ คนเราในโลกนี้บางคนนึกได้เมื่อมันหมดแล้ว หมดเนื้อหมดตัวแล้ว สนุกจนหมดตัว หมดเงินหมดทอง หมดบ้านหมดช่อง หมดนาหมดสวน หมดเกียรติยศ แล้วไปนั่งนึกอีกว่า ถ้ามีเงินอีกสักที กูจะทำความดี ดีอะไรได้ มันหมดเรื่องไปเสียแล้ว มันทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรอยู่ด้วยความประมาท ในเรื่องอะไรต่างๆ แต่ควรจะแสวงหาทั้งสองอย่าง
พระพุทธเจ้าท่านว่า บัณฑิต หมายถึง ผู้ฉลาดในประโยชน์ ผู้ฉลาดในประโยชน์พึงกระทำกิจ ๒ ประการ คือ กิจที่เป็นประโยชน์แก่ตน และกิจที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น สองอย่างนี้ควรทำ กิจที่เป็นประโยชน์ในโลกนี้ กิจที่จะเป็นประโยชน์ในโลกอื่นด้วยก็เป็นกิจที่ควรกระทำ คือทำอะไรอย่าเห็นแก่ตัว อย่าเห็นแก่ได้ แต่ต้องคิดถึงคนอื่นด้วย อย่าเห็นแต่ประโยชน์เฉพาะหน้า แต่คิดว่าต่อไปมันจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แล้วก็หาทางป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งนั้นขึ้น อะไรที่จะเป็นบาปเป็นโทษเราไม่เอา เราจะแสวงหาแต่สิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศลให้ได้มาโดยธรรม ไอ้สิ่งที่ได้มาโดยธรรมนี่ใจสบาย แต่ถ้าได้มาโดยไม่เป็นธรรม จิตใจก็ไม่สบาย
นี่เรื่องเป็นอย่างนี้ พระเจ้าพิมพิสารได้ฟังแล้วก็ทำบุญและอุทิศส่วนบุญไปให้ เมื่ออุทิศส่วนบุญไปให้ก็ฝันอีก ฝันเห็นว่าพวกเปรตที่ได้ยินเสียงอะไรนั้นมาแสดงตัว ร่างกายสมบูรณ์ มีผ้านุ่งผ้าห่ม ยิ้มแย้มแจ่มใส แสดงว่าบุญที่ให้ไปนั้นเป็นประโยชน์ตามสมควร อันนี้เป็นเรื่องสมัยเก่าเอามาเล่าให้ฟัง มีเหตุมีผลพอสมควร เป็นเรื่องที่ควรจะได้คิด
แต่ว่าเรื่องสมัยปัจจุบันนี้มีคนเล่าให้ฟังว่าฝรั่งคนหนึ่ง พ่อเขาตาย ฝรั่งนี้เป็น ชนชาติเยอรมัน มาอยู่เมืองไทยนาน เป็นนายห้าง พ่อตาย พ่อตายก็ไปฝังตามประเพณี ของเขา เขาฝันเห็นพ่อบ่อยๆ ฝันเห็นพ่อทีไรแล้วผอม ผอมเหลือเกินไม่มีผ้านุ่ง ไม่มีผ้าห่ม ผ่ายผอม ก็ไปปรึกษากับพระบาทหลวง พวกบาทหลวงแกเป็นคาทอลิก บาทหลวงก็บอกว่าเที่ยวนอนฟุ้งซ่าน ไม่ไหว้พระเจ้า ฝันร้าย แกก็ไหว้ ไหว้แล้วก็ยังฝันอยู่นั่นแหละ ฝันเห็นพ่อทุกที แล้วผอมทุกที เอ! เป็นอย่างไร ทนไม่ไหว ก็มาเล่าให้คนไทยฟัง คนไทยบอกว่าอย่างนี้ถ้าเป็นคนไทยแสดงว่าพ่อมาขอส่วนบุญ เราจะต้องทำบุญอุทิศส่วนบุญไปให้ แกก็นึกว่าลองดู แกก็บอกว่าทำบุญ ทำอย่างไร
เขาก็บอกว่าจัดสังฆทานไปถวายพระ ๑๐ รูป ก็จัดอาหารพวกคาว หวาน ใส่ปิ่นโตไปถวายพระ ถวายพระเสร็จแล้วคนไทยก็แนะนำ บอกว่าให้กรวดน้ำ ให้แผ่ส่วนบุญไปให้แก่คุณพ่อ แกก็มาทำอย่างนั้นแหละ ทำเสร็จแล้ว กลับมากลางคืนก็ฝัน เห็นคุณพ่ออ้วน ร่างกายอ้วนท้วน เป็นน้ำเป็นนวล แถมไม่นุ่งผ้าอีกแล้ว ก็มาบอกคนไทยว่า เออ มาทำบุญกับพระดี คุณพ่อไม่ผอมแล้ว แต่ไม่มีผ้านุ่ง คนไทยก็นึกได้ว่า โอ! ลืมไปถวายสังฆทานไม่มีผ้าเลย มีแต่อาหาร ก็ได้กินอาหาร แต่ไม่ได้นุ่งผ้า เลยบอกว่าลืมไปบอกว่าไม่ครบ ต้องถวายผ้าด้วย เอา! คุณไปจัด
แกก็ไปซื้อผ้า ๑๐ ไตร พาฝรั่งนั่นไปถวายอีก ฝรั่งก็ไปถวายพระ ๑๐ ไตร แล้วก็กรวดน้ำอีก พอกรวดน้ำกลับมานอนฝันอีกเห็นคุณพ่อ โอ้ย! แต่งตัวเรียบร้อย อ้วนท้วน เป็นน้ำเป็นนวล ยืนยิ้มสบายใจ แกบอกว่า โอ! พระพุทธศาสนานี่ ดีกว่าศาสนาโรมันคาทอลิกแน่ เพราะทำบุญให้คุณพ่อได้ แกก็เลยถือพุทธตั้งแต่นั้น ถือพุทธ เวลาแกตายก็สั่งแม่บ้าน เป็นคนไทย บอกว่าฉันตายแล้วเอาไปเผานะ ทำบุญทุกอย่างตามแบบชาวพุทธทุกประการ นี่เป็นเรื่องสมัยใหม่ ฝรั่งเขาทำไปอย่างนั้น แล้วก็ได้เห็นผล ไอ้เรื่องอย่างนี้เราอย่าไปคิดว่า อย่างนั้น อย่างนี้ คนโบราณเขาทำมา เราพิจารณาว่ามันเป็นประโยชน์ เป็นเรื่องเตือนใจให้ระลึกถึงบุญคุณพ่อแม่ปู่ตาย่ายาย ครูบาอาจารย์ มันก็เป็นเรื่องดีมีคุณค่า เราก็สืบต่อกันไว้ เพราะความกตัญญูกตเวทีนั้น เป็นรากฐานของชีวิต ของครอบครัว ของสังคม ของประเทศชาติ เพราะคนเราถ้ายังปฏิบัติในความกตัญญูกตเวทีอยู่แล้ว จิตใจมันไม่เสื่อม ไม่เสียหาย แต่ถ้าขาดความกตัญญูกตเวทีลงไปเมื่อใด ก็เริ่มเสื่อม เราจะไม่นึกถึงปู่ย่าตายาย จะไม่นึกถึงครูบาอาจารย์ ไม่นึกถึงบุญคุณที่เขาทำคุณแก่ชาติแก่บ้านเมือง แล้วมันจะอยู่กันอย่างไร ฐานมันพังแล้ว เข็มมันทรุดเสียแล้ว มันก็อยู่ไม่ได้
เราจึงต้องสร้างฐานชีวิตด้วยภูมิธรรม คือความกตัญญูกตเวที วันสารทก็คือวันกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษนั่นเอง เพราะฉะนั้นเราก็ไปทำกันตามเรื่องตามประเพณี ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นคุณ เป็นค่าแก่พระศาสนา แก่สังคมก็เป็นอันใช้ได้ทั้งนั้น นี่เรื่องเกี่ยวกับวันสารท ท่านเจ้าคุณพุทธทาส เทศน์เรื่องนี้ไว้ ทุกปี ทุกปี ก็มาพิมพ์เป็นเล่มใหญ่ เรียกว่า สาระ สารทิก กับสารทิกะ คาถาเป็นหนังสือเล่มใหญ่ เขามีจำหน่ายเหมือนกัน หนังสือเรื่องสารท นี่ เป็นประโยชน์น่าอ่านพอสมควร ดังที่ได้แสดงมาในวันนี้ ก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจ พวกหนูนักเรียนที่นั่งอยู่ในบริเวณล่างนั้นก็นั่งตัวตรงหลับตา เอามือขวาทับบนมือซ้าย นั่งตัวตรง แล้วก็กำหนดลมหายใจเข้า หายใจออก ให้ใจอยู่ที่ลมเข้าลมออก อย่าไปคิดเรื่องอื่น แล้วก็ตั้งใจให้นั่งสงบนิ่งเป็นเวลา ๕ นาที จนได้ยินเสียงหลวงพ่อว่าครบ ๕ นาทีแล้วจึงจะหยุด ให้ทุกคนทำด้วยความตั้งใจ จะได้เป็นการสร้างฐานทางจิตใจให้มีความสงบ ให้ตั้งมั่น ให้อ่อนโยน เหมาะที่จะใช้งาน ในการศึกษาเล่าเรียนต่อไป ขอเชิญกระทำได้ ณ บัดนี้