แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้วขอให้ท่านอยู่ในความสงบอย่าเดินไปเดินมา นั่งเสีย ณ ที่ใดที่หนึ่งซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงนี้ได้ แล้วจงตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดีเพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้ก็มีนักเรียนบางโรงเรียนอยู่ที่มัธยมบางพลี ก็อุตส่าห์มากัน ญาติโยมก็มาด้วย มีมาฟังกันจำนวนมาก เรามาอยู่ไกลก็นานๆ มากันสักทีหนึ่ง มารับสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป เพราะในชีวิตประจำวันของคนเรานั้น ย่อมมีเรื่องมีปัญหาเกิดความทุกข์เกิดความเดือดร้อนขึ้นบ่อยๆ ความทุกข์ความเดือดร้อน ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้น มันเป็นเรื่องทีแก้ไขได้ไม่ใช่ว่าจะแก้ไขไม่ได้ แก้ไขได้ก็ต้องใช้สติปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาในปัญหานั้นๆ คนเราที่คิดอะไรแล้วก็มีความทุกข์อยู่ตลอดเวลาก็เพราะไม่รู้ว่าเราคิดอะไร และผลของความคิดนั้นมันเป็นอย่างไร เราไม่คิดไม่เข้าใจเอาแต่ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์เรื่อยไป เหมือนกับคนไปกอดเสาไหว้ กอดเสาแล้วก็บอกว่า เอาไม่ออก เอาไม่ออก ความจริงนั้นมันเอาออกง่าย คือปลดมือออกไปมันก็ออกแล้ว แต่ว่ามองไม่ออก ไปกอดมันแล้วก็ร้องดังๆ อยู่อย่างนั้นเอง เหมือนกัน เราทั้งหลายเวลาเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนใจ ในปัญหาอะไรก็ตาม เพราะเราไปคิดอยู่แต่เรื่องนั้น ไม่รู้จักคิดด้วยปัญญา แต่คิดด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องนั้น เมื่อคิดด้วยไม่ใช้ปัญญา มันก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าคิดด้วยปัญญาเราก็จะไม่มีความทุกข์ เพราะการคิดด้วยปัญญานั้นเป็นการคิดเพื่อค้นหา ในเมื่อเรื่องของสิ่งนั้นให้มันถูกต้อง เพื่อให้รู้เหตุรู้ผลของเรื่องนั้น รู้คุณรู้โทษของเรื่องนั้น แล้วเราควรจะออกจากเรื่องนั้นอย่างไร อันนี้เรียกว่าคิดด้วยปัญญา ถ้าคิดด้วยปัญญามันก็ไม่ทุกข์
ไอ้เรื่องเก่าๆ ที่เป็นอดีตนี่พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่าเอามาคิด อย่าเอามาคิดด้วยความอาลัย คิดด้วยความอาลัยก็คือคิดเสียดาย เสียใจ ในเรื่องนั้นๆ ที่มันเกิดขึ้นเช่นว่า ทรัพย์ของเราเคยมีอยู่ อยู่กับเรา แล้วมันก็สูญหายไป ด้วยอะไรก็ตาม ขโมยมาเอาไปเสียหรือว่ามันแตกมันหายไป แล้วเราก็คิดถึงสิ่งนั้นด้วยความอาลัยคือหมายความว่า เสียดายในสิ่งนั้น ว่ามันไม่น่าจะแตก ไม่น่าจะหาย ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ นี่เขาเรียกว่า คิดด้วยความอาลัย คิดแล้วมันก็เสียใจ เสียดายในสิ่งนั้นๆ แล้วเราได้อะไรบ้าง ลองคิดต่อไปว่า เราคิดอย่างนั้น เราได้อะไรบ้าง เราไม่ได้อะไรนอกจากว่าได้ความทุกข์ใหญ่ ได้ความทุกข์ในใจของเรา แล้วการที่เราได้ความทุกข์ ได้ความกลุ้มใจมันเป็นประโยชน์อะไรแก่เราบ้าง ลองคิดดูให้ดี คิดดูให้ดีแล้วก็จะเห็นว่า ไม่ได้เรื่อง แล้วทำไมเราไปคิดกับเรื่องนั้น เพราะเราไม่รู้ไม่เข้าใจนั่นเอง จึงได้คิดอยู่ในเรื่องอย่างนั้น เหมือนคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เพราะไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องอริยสัจ คือ เรื่องความทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ได้ และเรื่องข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์เราจึงได้ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ เป็นจำนวนนานหลายกัปหลายกัลป์ อันนี่เป็นพระดำรัสที่น่าฟัง คือน่าฟังว่า การที่เรามาเวียนว่ายอยู่ในกระแสของความทุกข์ด้วยประการต่างๆ นั้น เพราะไม่เข้าใจเรื่องความทุกข์ถูกต้อง ไม่เข้าใจเรื่องเหตุของความทุกข์ ไม่เข้าใจว่า ทุกข์นี่เป็นเรื่องแก้ได้ แล้วก็ไม่เข้าใจว่าจะแก้ไขอย่างไร อย่างนี้เขาเรียกว่า ผูกอวิชชา คือความไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องนั้นครอบงำจิตใจ เราก็เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา แต่ว่าเมื่อใดเมื่อเราเกิดปัญญาขึ้นในเรื่องนั้น หรือเกิดความรู้สึกตัวขึ้นมาด้วยตัวเอง ว่าเรานี่มันหลงใหลไม่เข้าเรื่อง เรายึดถือในสิ่งไม่เข้าเรื่อง เราไปคิดในเรื่องในเรื่องที่ไม่น่าจะคิด นึกขึ้นมาได้ พอนึกขึ้นมาได้ มันก็เกิดปัญญาขึ้นมา เหมือนกับคนเดินทางผิด พอรู้ตัวขึ้นมาว่า เราเดินทางผิดแล้วก็ควรจะหยุด ถอยหลังกลับไปหาทางที่ถูกต้องต่อไป
ในชีวิตเรานี่ก็เหมือนกัน ที่หลงผิดไป คิดไป นึกไปนั่งกลุ้มใจด้วยเรื่องอะไรต่างๆ อย่างมากมายนั้น ก็เพราะเรายังนึกไม่ได้ ยังไม่รู้จักตัวเองถูกต้อง ยังไม่รู้ว่าอะไรมันอยู่ในใจของเรา ยังไม่รู้ว่า ไอ้สิ่งนั้นมันดับได้แก้ได้หรือไม่ ยังเข้าใจผิดอยู่ แต่เมื่อใดเกิดความรู้สึกขึ้นว่า มันเป็นเรื่องพอแก้ได้ ไม่ใช่แก้ไม่ได้ มันไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัย แต่ว่าเราจะแก้อย่างไร ก็ต้องหาทางแก้ไขต่อไป ความจริงเรื่องอย่างนี้มันไม่ลำบากสำหรับพวกเราแล้ว พระผู้มีพระภาคย์ที่ทรงลำบากมาก ทรงลำบากเพราะต้องไปนั่งไปคิด นั่งค้นอยู่ คลำหาทางอยู่ด้วยพระองค์เองที่ในป่า ต้องใช้เวลานานเหลือเกินเราควรจะเรียกพระองค์ว่า เป็นผู้บุกเบิกในเรื่องนี้โดยเฉพาะ บุกเบิกในเรื่องนี้ ไอ้คนที่บุกเบิกนี่มันต้องเหน็ดเหนื่อย ต้องลำบากไม่ใช่น้อย เหมือนบุกเบิกไปสร้างบ้านสร้างเมืองในป่า นี่มันก็ลำบาก คนอเมริกันยุคแรก ที่ไปอยู่ในอเมริกา เขาเรียกว่ารุ่นบุกเบิกก็ต้องไปต่อสู้กับปัญหานานาประการ คนที่อยู่ในสมัยนี้นั้นสบายแล้ว สะดวกทุกประการแต่คนสมัยบุกเบิกนั้นต้องต่อสู้กับปัญหาทุกชนิด แต่เขาก็สู้ด้วยปัญญา เขาเอาตัวรอดมาได้ หรือชาวเกาะออสเตรเลียก็เหมือนกัน เข้าไปอยู่ใหม่ๆ ก็ต้องไปผจญภัยกับสิ่งต่างๆ กับคน ... (08.04 เสียงไม่ชัดเจน) เพื่อรู้กับสิ่งที่ไม่เคยคิดว่ามันจะมีมันก็เกิดขึ้น ต้องลำบากไม่ใช่น้อย พระพุทธเจ้าของเราก็ออกไปบุกเบิกไปเสี่ยงชีวิต ค้นหาธรรมะ จนกระทั่งได้พบธรรมะอันถูกต้องแล้วก็นำสิ่งนั้นมาแจกจ่ายแก่ชาวบ้านชาวเมืองเพื่อให้เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป เรานี่มันไม่ต้องไปเที่ยวคลำหาแล้วเหมือนกับข้าวอยู่ในจานแล้วเพียงแต่ว่าเรานั่งลงแล้วก็ตักกินเข้าไปเท่านั้นมันสะดวกสบายขนาดไหน แต่ว่าก็มีคนไม่ใช่น้อย ที่ไม่เอาสิ่งนี้ไปใช้ทั้งๆ ที่สิ่งนี้อยู่เฉพาะหน้าที่เราควรจะนำมาใช้ในชีวิตของเรา แต่เรากลับไม่เอา เราไม่สนใจเราทอดทิ้งสิ่งนั้น แล้วก็ไปนั่งหน้าเศร้า ใจเศร้า เป็นทุกข์ด้วยเรื่องนั้นเรื่องนี้กันด้วยประการต่างๆ ถือว่าเราแสวงหาเหมือนกัน แต่ว่าแสวงหาสิ่งที่ผิดทาง แทนที่จะได้ทางหลุดพ้นจากความทุกข์กลับหาได้ความหลุดพ้นไม่ กลับมีความทุกข์มากขึ้นไปอีก นี่เพราะไปแสวงหาผิดทาง
แม้ไปวัดก็เหมือนกันไม่ใช่ว่าจะไปถูกทุกแห่ง วัดบางวัดก็ไม่ได้นำคนไปในทางที่ถูกที่ชอบ พระบางองค์ก็ตั้งตนเป็นอาจารย์ แต่ว่าไม่ได้นำคนไปในทางที่ถูกที่ชอบแต่ชอบเรียกว่า อาจารย์ อาจารย์ อยู่ตลอดเวลา ชอบเป็นอาจารย์ แต่อาจารย์ที่ดึงคนไปในทางผิดสอนให้งมงายให้ไม่รู้ไม่เข้าใจสิ่งที่ควรรู้ควรจะเข้าใจ ชาวบ้านก็วนเวียนอยู่เหมือนกับมดไต่ขอบอ่างแต่น้ำผึ้ง ไม่ได้กินสักที เที่ยววนอยู่อย่างนั้น ไม่ได้ลงไปดื่มน้ำผึ้งในอ่างแม้แต่น้อย พุทธบริษัทเราก็อยู่ในสภาพคล้ายกัน เรามีสิ่งดี สิ่งประเสริฐที่พระพุทธเจ้าท่านค้นแล้วหามาไว้ เรียกว่าไปค้นหาด้วยความลำบาก เอาชีวิตเข้าไปแลกเพียงได้สิ่งนั้นมา เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ชาวโลกทั้งหลายแต่เรากลับเมินเฉยไปซะไม่ได้สนใจ
คนที่สนใจนั้น มีจำนวนหนึ่งแต่ไม่มากนัก เหมือนคนมาวัดกับคนไปสนามม้า นี่มันไกลกัน หากเอาไปเปรียบกันแล้วมีนไกลกันเหลือเกิน วันนี้เราไปผ่านสนามม้านางเลิ้งดู จะเห็นว่าคนมันมากขนาดไหน แออัดยัดเยียดกันขนาดไหน คิดเทียบกับคนมาวัดนี่มันน้อย พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "สัตว์โลกทั้งหลายย่อมคิดไปทางที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นบุญแก่ชีวิตมีมาก แต่คนที่คิดเป็นประโยชน์ เป็นคุณแก่ชีวิต ก็มี มีน้อย" เหมือนเรามานี่ไม่ใช่มาก หากเทียบส่วนกับไปที่อื่นมันมากกว่า ไปสนุกกันด้วยกิเลสมันมากแต่เราจะมาบรรเทามาขูดเกลาเอาสิ่งชั่วร้ายออกจากตัวมันมีน้อย ก็สมน้ำหน้าแล้วที่ต้องเป็นทุกข์ต้องเดือดเนื้อร้อนใจในเรื่องอะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะเราไม่ได้เตรียมหาสิ่งอื่นที่จะทำเราให้มีความสุขใจ
เช่นว่า คนเราทำงานหาเงินก็หาแต่เงิน หาๆๆๆๆๆ ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรมากมายก่ายกอง ผลที่สุดเงินมันก็เป็นทุกข์แก่ตัวผู้นั้นเหมือนกัน เมื่อเช้านี้ก็ได้ฟังข่าวว่าประธานของบริษัทเงินทุนอะไรทางภาคใต้ยิงตัวตาย แล้วก็ยิงตัวตายในวันฉลองครบรอบปี ครบรอบสิบกว่าปีแล้วที่ทำงานมา มาเลี้ยง มาฉลองครึกครื้นกัน แต่ว่า คนที่เป็นประธานนั้นกลับยิงตัวตาย ก็คงนึกได้ว่า เรามันฉลองเปลือกกันอยู่เวลานี้ แต่เมื่อแห้งนั้นข้างในมันเป็นโพรง ชื่อบริษัทมันดังแต่ข้างในมันเป็นโพรง ขืนอยู่ต่อไปขายหน้าเลยก็คิดฆ่าตัวตาย ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น เพราะอำนาจความอวิชชา เกิดความไม่รู้ไม่เข้าใจ ในเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วก็ไม่คิดว่า มันจะแก้ไขได้ มีทางแก้ไขต่อไป สู้มันต่อไป เลยไม่คิดสู้ ยอมแพ้ ก็ฆ่าตัวตายไป มีบ่อยๆ ฆ่าตัวตายกันมีบ่อยๆ เพราะปัญหาการงาน ปัญหาชีวิตที่เกิดขึ้น คนประเภทนี้ไม่ได้สนใจธรรมะเพื่อนชวนไปวัดนี่ไม่ยอมไป พอบอกว่าไปวัดก็ร้องยี้ขึ้นมาทันที ไม่อยากจะไป หรือว่าพูดว่าไปฟังธรรมก็ไม่อยากไป เขาไม่รู้ว่าธรรมะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างไร มันจะช่วยให้ชีวิตของเราดีขึ้นอย่างไร เขาไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่สนใจในเรื่องนั้น เพราะเขากำลังเพลิดเพลินสนุกสนาน คนที่กำลังหลงใหลเพลิดเพลินสนุกสนานนั้น เราจะไปพูดธรรมะเขาจะหาว่าเราบ้าซะด้วยซ้ำไป บอกว่าไอ้นี่มันบ้าธรรมะ อย่าไปฟังมันเลย เขาไม่สนใจ ไม่สนใจที่จะเรียน ไม่สนใจที่จะรู้ ไม่สนใจที่จะนำไปแก้ไขปัญหาชีวิตเพราะชีวิตมันยังไม่มีปัญหามันเดินไปราบรื่นเรียบร้อยแต่ไม่ได้นึกว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง
อันนี้สำคัญมาก ถ้าเราได้นึกเตือนใจไว้บ่อยๆ ว่า อะไรอะไร มันไม่เที่ยง ได้สุขแล้วมันก็ไม่เที่ยง ได้ทุกข์มันก็ไม่เที่ยง ยศที่เราได้มันก็ไม่เที่ยง ลาภที่เราได้มันก็ไม่เที่ยง คำสรรเสริญเยินยอก็ไม่เที่ยง ความสุขมันก็ไม่เที่ยงมันเปลี่ยนได้ วันนี้เป็นอย่างนี้ พรุ่งนี้ไม่แน่ตอนเช้าเป็นอย่างนี้ สายขึ้นสักหน่อยมันก็ไม่แน่ ใครจะรู้ได้ว่าชั่วโมงต่อไปจะมีอะไรเกิดขึ้นแก่ตัวเรา แก่ครอบครัวแก่ลูกแก่สังคม ใครจะไปรู้ในสิ่งเหล่านี้ เรารู้ไม่ได้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น แล้วเมื่อมันเกิดขึ้นเราก็ไม่รู้ว่าทำไมมันจึงเกิดขึ้น ไม่ได้เข้าใจตัวปัญหาว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติอย่างนั้น เพราะสิ่งทั้งหลายมันไม่เที่ยง เมื่อมันไม่เที่ยงมันก็เปลี่ยนไปตามเรื่องของมัน เป็นไปตามธรรมชาติ เราไม่เรียนรู้เรื่องของธรรมชาติ ไม่เรียนระเบียบกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เรามีความรู้ขัดต่อธรรมชาติเราอยากให้มันเที่ยง เราอยากให้มันสุข เราอยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อยากให้เป็นอย่างอื่น อันนี้มันจะได้หรือ เหมือนกับว่าคนคนหนึ่งไปยืนที่ริมฝั่งน้ำแล้วก็ตะโกนบอกตลิ่งฝั่งนู้นว่าให้ขยับเข้ามาสักหน่อย ฉันจะเดินข้ามไป ตะโกนอยู่นั่นแหละ ตะโกนเพื่อให้ตลิ่งขยับเข้ามาตนจะได้ข้ามไป แต่ตนไม่ว่ายน้ำหรือว่าไม่หาอะไรมาใช้เป็นพาหนะเพื่อจะข้ามน้ำแต่ไปยืนตะโกนอยู่ที่ริมฝั่งไว้ตลิ่งขยับเข้ามาหน่อยฉันจะได้ข้ามไปสะดวกสบาย ความต้องการของตนนี่มันจะสำเร็จได้หรือ เราลองคิดดูว่า มันสำเร็จไม่ได้ ไปตะโกนให้ตลิ่งเข้ามามันก็ไม่ได้ จะไปตะโกนให้น้ำมันหยุดไหลก็ไม่ได้ มันไม่อยู่ในอำนาจของเรา ไม่อยู่ในการบังคับบัญชาของเรา มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เกิดขึ้นเป็นไปตามเรื่องของธรรมชาติ
เพราะฉะนั้น ในชีวิตของเรานี้ จึงได้พบกับสิ่งต่างๆ ได้ลาภเสื่อมลาภ ได้ยศเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุขทุกข์ปนกันไปตลอดเวลา สลับสับเปลี่ยนกันไปตลอดเวลา ชีวิตร่างกายของเราเหมือนกับเวทีละคร ที่มีตัวละครแตกตัวออกมาแสดงอยู่ตลอดเวลา ตัวหนึ่งเรียกว่าลาภ ตัวหนึ่งเรียกว่ายศ ตัวหนึ่งคือตัวสรรเสริญ ตัวหนึ่งคือตัวความสุข นี่เรียกว่าฝ่ายที่คนชอบ อีกสี่ตัวนั้นไม่มีใครชอบ คือการเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทาและความทุกข์ ไม่ชอบ เราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตามสิ่งนี้มันก็ต้องเกิดขึ้นในวิถีชีวิตของเรา เมื่อมันเกิดขึ้นถ้าเราไปหลงใหลได้ปลื้มกับเรื่องนั้นเราก็เป็นทุกข์ เรียกว่ายินดีมันก็เป็นทุกข์ ยินร้ายมันก็มีความทุกข์เหมือนกัน จิตมันขึ้นๆ ลงๆ ไม่อยู่กับร่องกับรอย ไม่เป็นปกติ
จิตที่เป็นปกติก็จิตที่ประกอบด้วยปัญญา รู้เท่ารู้ทันต่อสิ่งนั้น รู้ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แล้วเรารู้ต่อไปว่า มันไม่เที่ยงหรอก ไม่เท่าใดมันก็คงจะเปลี่ยนแปลงไป และเมื่อมันเปลี่ยนแปลงไป เราก็ไม่ต้องตกใจ ไม่ตกใจเพราะเราประเมินสถานการณ์ไว้แล้ว เตรียมจิตใจไว้แล้วสำหรับต้อนรับเหตุการณ์นั้นๆ พอเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเราก็เฉยๆ เพราะเราเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า มีลาภแล้วมันก็ต้องเสื่อมลาภไป มียศก็ต้องเสื่อมยศไป คนที่เคยทำงานเป็นใหญ่เป็นโตก็มีวันที่เขาจะต้องให้ออก เขาต้องย้ายหรือว่าจะต้องให้ออกไป ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเป็นอะไร มันเป็นเรื่องธรรมดาที่ขึ้นแล้วมันก็ต้องลง อะไรบ้างที่ขึ้นแล้วไม่ลง ดวงจันทร์ขึ้นแล้วมันก็ลง เต็มดวงแล้วมันก็รี่ ก็สอนเราอยู่แล้ว เวลาข้างขึ้นมันก็เพิ่มขึ้นๆ จนเต็มดวงพอเต็มดวงแล้วมันก็รี่ลงไปๆ จนกระทั่งหมดดวง เขาเรียกว่าจันทร์ดับ พระจันทร์ขึ้นแล้วก็จันทร์ดับลงไป เราแหงนดูท้องฟ้าเห็นดวงจันทร์ ถ้าเอาดวงจันทร์นั้นมาเป็นบทเรียน เป็นเครื่องเตือนใจว่าชีวิตเราก็เหมือนดวงจันทร์ บางทีมันก็ขึ้น ได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้เรื่องอะไรต่างๆ สบายอกสบายใจแต่ว่า วันหนึ่งไอ้สิ่งนั้นมันเปลี่ยนไป ลาภหมดไป ยศหมดไป สรรเสริญก็หมดไป คนที่เคยเข้าใกล้ชมเชยก็ค่อยๆ หายไปๆ สุนทรภู่ว่า เมื่อมีบุญเขาก็มาเป็นข้า พึ่งบาทบาทาให้ใช้สอย เข้าป้อยอสอพลอพลอยทุกเช้าค่ำ อ้อ ไม่ใช่สุนทรภู่ อยู่ในพระเวสสันดร เขาว่าไว้ในเวสสันดรชาดก ว่าไว้อย่างนั้น ว่าเวลามีบุญแล้วก็มีคนชม คนมาหาเยอะ สมมติว่าเราเป็นเจ้าเมือง คนมาหาเยอะ แต่ว่าพอปลดเกษียณแล้วก็ไม่มีใครมา เช่นว่า เราเป็นอาจารย์ อธิบดีใหญ่ๆ เช่น อธิบดีตำรวจ คนมาหาเยอะ รับแขกไม่หวาดไหว พอออกแล้วเงียบไม่มีใครมาต่อไป ไอ้คนเคยมามันก็ไม่มาแล้ว ก็ไม่รู้จะมาทำไม มาแล้วก็พึ่งไม่ได้ ช่วยคุมครองบ่อนก็ไม่ได้แล้ว คุ้มครองอะไรก็ไม่ได้แล้วแล้วจะมาให้มันเปลืองสตางค์ทำไม เขาก็ไม่มาหาเรา เราไปหมดแล้ว คนเป็นใหญ่เป็นโต คนเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าทำงานอะไรแล้วคนมาไม่หวาดไหวแต่พออกจากตำแหน่งแล้ว ทำงานอะไรคนเหลืออยู่ไม่กี่คน น้อยลงไป
สมมติว่าแต่งงานลูกในขณะเป็นนายกฯ ของขวัญไม่รู้จะไปกองไว้ที่ไหน ตู้เย็นไม่รู้จำนวนเท่าไร ไอ้ของใช้ไม่รู้จะใช้อันไหนดี มันมากมายก่ายกอง แต่พอออกจากตำแหน่งแล้วแต่งงานอีกทีหนึ่งไม่มีใครค่อยมา มันเป้นอย่างนี้ธรรมดา ชีวิตมันเป็นธรรมดาเมื่อขึ้นแล้วก็มีอะไรดี พอลงแล้วก็ไม่มีอะไร เรานั่งหัวเราะได้ หัวเราะแก่ตัวเราเองได้ว่า เออ นี่แหละของจริง แต่เมื่อเรามีอะไรอยู่เราไม่รู้ เวลามั่งมีเราไม่รู้ว่าจนเป็นอย่างไร เวลาสุขก็ไม่รู้ว่าทุกข์เป็นอย่างไร เวลามีลาภก็ไม่รู้ว่าเสื่อมลาภมันเป็นอย่างไร มียศก็ไม่รู้ว่าเสื่อมยศมันเป็นอย่างไร มันเพลินอยู่กับสิ่งนั้น จนนึกไม่ได้ ที่นี่พอสิ่งนั้นหายไป เราก็เห็นว่า อ้อ แหม ฉันนั้นอยู่คนเดียว ว้าเหว่ ไม่เห็นใครมา อาจจะเป็นโรคประสาทไปก็ได้ เพราะว่าเคยเห็นคนมามากๆ แล้วเขาไม่มา เกิดน้อยอกน้อยใจว่า เอ เรานี่ไม่มีใครต้องการแล้ว หมดความต้องการแล้ว ฉันจะอยู่ไปทำไม ก็นั่งเศร้าสร้อยหงอยเหงา มีความทุกข์ความเดือดร้อนใจเหมือนคนที่เคยทำงาน สามสิบกันยานี่เขาก็ปลดแล้ว หกสิบแล้ว พอปลดแล้วก็เหงาหงอยไป ไม่รู้จะทำอะไร ถ้าคนมีปัญญาก็มาวัดสิ มาฟังธรรมะ มาศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ คนไม่มีปัญญาก็หงอยเหงา ก็ไปอาบอบนวด คนแก่แล้วไปให้อีหนูช่วยอาบน้ำให้ นี่มันขาดปัญญาเพราะแบบนี้ปัญหาในครอบครัวมันจะยุ่งยากด้วยประการต่างๆ เพราะไม่ใช้สิ่งที่ถูกต้องเป็นเครื่องประเล้าประโลมใจไปหาสิ่งผิดมาประเล้าประโลมใจ มันก็ไม่ได้เรื่อง หรือไปดื่มเหล้าบ้างทำอะไรบ้างนอกลู่นอกทางซึ่งไม่ใช่เรืองที่ควรทำ อายุมากแล้ว ควรจะหันหน้าเข้าวัดเข้าวา รักษาศีลฟังธรรมหาความสงบใจเป็นตัวอย่างแก่ลูกแก่หลานต่อไป มันก็ถูกต้อง แต่ว่าคิดไม่ได้ เพราะไม่เคยคบหาสมาคมกับคนที่เป็นสนใจธรรมะ เคยคุยกับคนประเภทอื่น เข้าใกล้คนประเภทอื่น ไม่เข้าใกล้บัณฑิต ไม่ได้ฟังคำสอน ไม่ได้เอาไปคิด ไม่ได้ปฏิบัติ ชีวิตมันก็ติดขัดในยามแก่มีปัญหา แต่ว่าพอออกแล้วก็มาวัด สบายเรื่อยไป เงินก็ไม่ฝืด อะไรก็ไม่ฝืดเพราะว่า รู้จักประหยัด รู้จักอดออม จำกัดความต้องการให้มันน้อยลงไป กินน้อยลงไป นุ่งห่มก็พอสมควร คบหาสมาคมก็ลดลงไป ไม่เที่ยวไม่เตร่ ตัดงานประเภทบางอย่างไป เงินมันก็เหลือ พอกินพอใช้ คนแก่นี่จะกินอะไรนักหนาอาหารมื้อหนึ่งจะกินสักเท่าใด กินก็อย่างนั้นแหละ แก่แล้วไม่ได้กินให้อ้วนให้เจริญแล้ว กินพอยาไส้
ภาษาพระเขาเรียกว่า ยาปรมัตถ์ (24.40) กินพอเป็นยาปรมัตถ์ นี่แปลว่าพอเป็นไปได้ กินพออยู่ได้ นุ่งห่มพออยู่ได้ สิ่งใดที่ไม่ควรกินไม่ควรดื่มเราก็ไม่กินไม่ดื่ม ประหยัดสตางค์ลงไปเยอะ แล้วไม่ต้องไปยุ่งกับใครต่อไปแล้ว เพราะมันปิดฉากชีวิตในสังคม แต่เรามาอยู่ในชีวิตที่มีธรรมะ เป็นเครื่องปลอบโยนจิตใจ เอาธรรมะเป็นเครื่องประเล้าประโลมใจใช้ธรรมะเป็นเครื่องประเล้าประโลมใจ มันไม่สิ้นเปลือง ไม่ต้องลงทุนอะไรนักหนา เช่นมาวัดนี่ไม่ต้องลงทุนมากก็ได้ นั่งรถประจำทางมา มีรถยนต์ก็ขับมา มาฟังธรรมเสร็จแล้วเราก็กลับบ้าน ไม่กลับบ้านก็นั่งพักตามใต้ร่มไม้ชายคา นั่งพิจารณาตัวเอง สอนตัวเอง คิดถึงธรรมะให้มันลึกซึ้งลงไป จิตใจก็จะสงบสบายมันไม่มีปัญหา อันนี้เรียกว่า เราหันเข้าหาความถูกต้อง เอาธรรมะมาใช้ในชีวิตของเรา อะไรที่มันเกิดขึ้นในชีวิตเรามันเกิดจากความคิดของเรา ถ้าเราคิดถูกเราก็สบาย ถ้าเราคิดผิดเราก็เดือดร้อน จึงเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องควบคุมความคิดของเรา ให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง ให้เป็นความคิดที่เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ ในองค์มรรค อริยมรรคที่องค์แปด ก็มีสัมมาทิฐิความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความคิดชอบ สัมมาวาจา พูดชอบ สัมมากัมมันตะ ทำงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะ เพียรพยายามในทางที่ชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ อยู่ในความถูกต้องทั้งหมด เช่นความคิดนี่ต้องคิดให้เป็นความถูกต้องอย่าคิดแล้วร้อนใจ อย่าคิดแล้วเสียใจ อย่าคิดแล้วมีความน้อยเนื้อต่ำใจ หรือเป็นอะไร อะไรในจิตใจของเรา อย่าทำใจให้ทุกข์โศก คิดแล้วอย่าทำใจให้มันทุกข์โศกลงไป แต่คิดแล้วเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ ให้มีปิติอิ่มเอิบอยู่ในใจ ปิติอิ่มเอิบที่เกิดขึ้นก็เพราะว่า เราคิดถูกนั่นเอง เมื่อคิดถูกก็มีความอิ่มใจ อิ่มใจประเภทอื่นมันก็มีเหมือนกัน แต่ว่าอิ่มแล้วมันทำให้เราเป็นทุกข์ในภายหลัง ใช้กับคนอิ่มอาหารมากเกินไป รับประทานมากเกินไป มันก็อิ่ม แต่ว่ามันแน่นท้อง แน่นท้องแล้วนอนพลิกไปพลิกมา อึดอัด นอนไม่ค่อยสะดวกอย่างนี้มันอิ่มในทางเป็นทุกข์ เรื่อยอิ่มอารมณ์ประเภทยั่วกิเลส อิ่มในเรื่องกามารมณ์เรื่อง รูปเรื่องเสียงกลิ่นรสสัมผัส มันอิ่มเหมือนกันแต่ว่าอิ่มแล้วมันเป็นทุกข์ในภายหลัง ไม่ใช่ความอิ่มที่เป็นไปเพื่อความสงบทางจิตใจ เพื่อความสว่างทางจิตใจ เพื่อสะอาดทางใจ มันไม่ใช่อิ่มอย่างนั้น แต่ว่าอิ่มธรรมะนี่มันไม่อึดอัดทางร่างกาย กายเป็นปกติ ใจเป็นปกติ ทุกอย่างเรียบร้อยไม่ขึ้นไม่ลง ไม่ไปไม่มา หยุดอยู่กับที่ ไม่เคลื่อนไหว เราลองคิดดู ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการขึ้น ไม่มีการลง ไม่มีการเปลี่ยนสีของโฉมของหน้าของดวงใจให้เป็นไปในรูปต่างๆ มันอยู่ในสภาพเดิมของมัน สภาพเดิมของจิต
สภาพเดิมของจิตนั้นคืออะไร ก็คือความสงบ ความสะอาดความสว่างอยู่ด้วยปัญญา อันนี้เรียกว่าสภาพเดิม แล้วก็เรียกภาษาง่ายๆ ว่าเป็นตัวเอง เมื่อใจเราเป็นตัวเอง เราก็มีความสงบใจ ไม่เรียกว่าเป็นความสุข แต่ไม่รู้จะใช้คำอะไร ใช้คำที่ชาวบ้านพอฟังได้เข้าใจความหมาย ก็พูดว่าเป็นความสุขแต่ความจริงนั้น ไม่ได้สุขเหมือนที่ชาวบ้านเข้าใจ เพราะคนเราทั่วไปเข้าใจความสุขก็คือการได้มาในเรื่องที่เราต้องการแล้วก็มีความสุข อยากได้เงิน มีเงิน มีความสุข อยากได้ของได้ของ มีความสุข อยากมีนั่นมีนี่แล้วมันมีสมใจก็เป็นความสุข แต่ว่าความสุขนั้นมันก็เปลี่ยนได้ พระผู้มีพระภาคย์จึงตรัสไว้ว่า อามิสสุข มีปริมาณเท่าใด ความทุกข์ก็ต้องมีปริมาณเท่านั้น คือเราเป็นสุขเพราะมี เพราะได้ ในเรื่องอะไรต่างๆ แล้วไปที่หลังมันเปลี่ยนไป เมื่อเกิดการเปลี่ยนไปเราก็เป็นทุกข์ ทุกข์เท่ากับที่เรามีเราได้นั้นแหละ เช่นสมมติเราได้มาร้อยเราก็ทุกข์ร้อย ได้ห้าสิบมันก็ทุกข์ห้าสิบ ได้เท่าใดมันก็ทุกข์เท่านั้น คล้ายกับขึ้นต้นไม้ขึ้นสิบเมตรมันก็ลงสิบเมตร จะลงโดยวิธีไต่ลงมาก็ได้ กระโดดลงมาให้แข้งหักก็ได้มันก็ต้องสิบเมตรเท่ากัน ขึ้นเท่าใดมันก็ลงเท่านั้น สภาพจิตเรานี่ก็เหมือนกัน เมื่อไรดีใจเพลินใจ ปลื้มใจ ในสิ่งที่เรามีเราได้ พอสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไป เราก็เสียใจ ไม่สบายใจ อาลัยอาวรณ์ในสิ่งนั้น มันก็เป็นทุกข์เท่ากัน เป็นทุกข์เท่ากับว่าที่เราเป็นสุขเพราะเราได้ เป็นทุกข์ก็เท่ากับสิ่งนั้น มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ของจริง ของแท้ แต่ว่าความสุขที่พูดโดยสมมติในแง่อื่นว่า สุขเพราะไม่มีไม่ได้ หรือสุขเพราะจิตใจเราอยู่เหนือสิ่งทั้งหลาย เรียกว่าเหนือความมีความได้ เหนือความเป็น สิ่งเหล่านั้นไม่มีอำนาจที่จะทำให้โฉมหน้าของดวงใจเราเปลี่ยนไป คือเวลาได้ มันก็ไม่เปลี่ยน เวลาเสียมันก็ไม่เปลี่ยนไป สภาพจิตคงที่ไม่กลับกรอกไม่ดิ้นรน ไม่กวัดแกว่งไปกับสิ่งนั้นๆ นั่นแหละคือความสุขที่แท้จริงที่เกิดขึ้นในจิตของเรา อย่านึกว่าความสุขแบบนี้มันทำไม่ได้หรือไม่มี มันมีบ่อยๆ มันมีขึ้นในจิตใจเราบ่อยๆ แต่ว่าเราไม่รู้เอง เพราะเราไม่ได้สังเกต ความจริงมันมี ณ ขณะใดที่เรานั่งสงบใจ เรียกว่าใจมันว่าง ว่างจากสิ่งรบกวนใจ ว่างจากความโลภ ว่างจากความโกรธ ว่างจากความหลง ว่างจากอะไรๆ ที่ทำให้วุ่นวายใจ อยากมี อยากได้ อยากเป็น อะไรมันก็ไม่มี มันว่าง ในขณะนั้นเราจะรู้สึกว่า สงบ แล้วก็มีความสุขแปลกขึ้นในใจของเรา ซึ่งเราอาจจะตกใจก็ได้ เพราะเราไม่เคยเห็นอย่างนั้น ไม่เคยพบอย่างนั้น
เหมือนคนรู้ว่า ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง เป็นลมชักไปเลยก็มีเหมือนกัน เขาเรียกว่ามันช็อค ดีใจเกินไป เลยช็อคตายไป ไม่ได้ใช้เงินนั้น มันเพียงแต่มีแต่ไม่ได้มาใช้ เพราะช็อคตายเสียก่อน เพราะว่าความต้องการในลอตเตอรี่มันมาก พอถูกนี่ก็ดีใจจนช็อคไป หรือว่าดีใจ กระโดดจนตัวลอยขึ้นมาแล้วตกลงมาขาหักนอน ไปรับลอตเตอรี่ไม่ได้ อย่างนี้มันก็มีเหมือนกัน มีบ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องลอตเตอรี่แต่เรื่องอื่นก็เยอะแยะ ดีใจเกินไป ขาดความควบคุมตัวเองจึงได้เป็นเช่นนั้น และถ้าดีใจแบบนั้นมันเป็นทุกข์มันก็หนักสิ ดังที่กล่าวแล้วว่าขึ้นเท่าใดลงเท่านั้น นั่นไม่ใช่เป็นความสุขแท้ ในภาษาธรรมะ เรียกว่า อามิสสุข สุขเจือด้วยเหยื่อ เจือด้วยเครื่องล่อ เครื่องจูงใจ หมดเหยื่อมันก็เป็นทุกข์ ไม่ได้เหยื่อมันก็เป็นทุกข์ (33.55 เสียงไม่ชัดเจน) ... เป็นทุกข์เพราะเป็นสุข เพราะมีเพราะได้เรื่องนั้น สุขเพราะได้ดู พอไม่ได้ดูก็เป็นทุกข์ สุขเพราะได้ยิน ไม่ได้ยินก็เป็นทุกข์ สุขเพราะได้กลิ่น ไม่ได้กลิ่นก็เป็นทุกข์ สุขเพราะถือกิน ไม่ได้กินไม่ลิ้มไม่ได้ชิมก็เป็นทุกข์ สุขเพราะจับต้องสิ่งใด เราไม่ได้จับต้องก็เป็นทุกข์ มันอย่างนี้ เมื่อได้ขึ้นพอไม่มีมันก็ตกลงไป อย่างนี้เรียกว่าไม่ใช่ความสงบ ความสุขแท้ ไม่ใช่ความสงบของใจ มันยังอยู่ในสภาพเปลี่ยนแปร มีการขึ้นๆ ลงๆ ถ้ามีขึ้นมีลง นั่นมันไม่สุข ไอ้ที่สุขคือไม่ขึ้นไม่ลง จิตมันปกติ อะไรมากระทบก็เฉย รูปกระทบ ตา เสียง กระทบ หู กลิ่น กระทบ จมูก รสกระทบลิ้น กายได้ถูกต้อง อะไรมีอะไรนี่ มันก็เฉย มันอยู่ในสภาพสงบ ไม่ใช่เฉยเพียงเพราะอะไร แต่เฉยเพราะปัญญา สติปัญญามันมาทัน
ทันท่วงทีกับสิ่งนั้นมากระทบ แล้วก็เกิดสติรู้ทันปัญญารู้เท่าขึ้นมาว่า เออ ไม่มีอะไรที่น่ารัก ไม่มีอะไรน่าเอามาเป็นของเรา ไม่มีอะไรที่น่าพิสมัยอะไรต่างๆ เรารู้ขึ้นมา ใจมันก็วางเฉย ทำอะไรอย่างนี้ ได้ก็สบายใจ คนที่ทำใจได้อย่างนี้ มิใช่ว่าจะอยู่ในโลกไม่ได้ คนบางคนเชื่อว่า ทำอย่างนั้นก็ไปอยู่บ้างเสียสิ เธอไม่ทำอะไรก็ไปอยู่ป่าเสียสิ อ้าวไปอยู่ป่าไปอยู่กับใคร มันต้องอยู่ในเมือง เราเรียนธรรมะ เพื่อเอาไปใช้ในเมือง ไม่ใช่เอาไปใช้ในป่า ไปป่าแล้วมันมันไม่ต้องใช้ธรรมะเท่าไรหรอก เพราะมันไม่มีอะไรกวนใจ มันธรรมชาติ มันก็เงียบสงบ มันก็สงบไปกับธรรมชาติ ถ้าเมืองสิมันมันยุ่ง ไปยืนอยู่ในเยาวราช เจริญกรุง นี่มันยุ่ง ใจมันต้องสงบที่ตรงนั้น ไม่หวั่นไหวกับสิ่งมากระทบเช่นนั้น ต้องสู้กับมัน ไม่มีข้าศึกจะต้อสู้แล้วจะรู้ฝีมือได้อย่างไร ไปเรียนวิชายุทธ์ วิธีมาจากสำนักบู้ลิ้ม เสียวลิ้มแล้วแต่ไม่มีคู่ต่อสู้แล้วมันจะเป็นเจ้ายุทธจักรได้อย่างไร จะเดินแบกดาบจนขึ้นสนิม ไม่ได้รบกับใครมันจะเป็นเจ้ายุทธจักรได้อย่างไร เราจะเป็นเจ้ายุทธจักรเพราะเราได้แสดงฝีมือ ในการต่อสู้กับปัญหาชีวิต เมื่อไม่มีปัญญาแล้วจะไปสู้อย่างไร อยู่ในป่าคนเดียวแล้วพูดว่า ฉันไม่โกรธใครเลย จะไปโกรธใคร เพราะไม่มีอะไรจะให้โกรธ แล้วจะไปโกรธใคร แต่พอออกมาในเมืองรถติด กลุ้มใจด่าคนขับเข้าให้แล้ว อย่างนี้มันก็ไม่ได้ ยังโกรธอยู่ ยังเคือง อารมณ์กระทบก็โกรธ อารมณ์กระทบก็รัก อารมณ์กระทบก็รัก อารมณ์ก็เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แสดงว่ายุทธวิธีมันไม่เพียงพอ ต้องกลับไปฝึกใหม่ ฝึกแล้วไปต่อสู้กันต่อไป เมื่อเราสู้ได้ในชีวิตของเรา ในที่ที่มีอารมณ์ให้สู้ แล้วเรามั่นใจตัวเองว่าเราสู้ได้ นั่นแหละวิเศษแล้ว เราจะอยู่ในโลกได้ด้วยวิธีอย่างนี้ ธรรมะที่เราศึกษา เราปฏิบัติ เอาไปต่อสู้กับสิ่งทั้งหลายที่มันจะทำให้เราตกต่ำในชีวิตประจำวัน เราจึงต้องเรียนเพื่อเอาไปต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้
แม้แต่เด็กนักเรียนนี่ นักเรียนวัยรุ่นในวันนี้ เด็กก็มานั่งฟังเยอะ วัยรุ่นทั้งหญิงทั้งชาย เด็กหนุ่มๆ น้อยๆ ทั้งหลายไม่ว่าหญิงชาย มีความคิดที่จะมีทั้งนั้น จะได้ทั้งนั้น จะมีนั่น จะมีนี่ อยากได้ นั่นอยากได้นี่ ด้วยประการต่างๆ อยากจะสนุก อยากจะเพลิดเพลินไปกับสิ่งทั้งหลาย ที่ไหนก็สนุกก็อยากจะไป เช่นที่ไหนเขามี ... (38.22 เสียงไม่ชัดเจน) ก็อยากจะไปเข้าไปถึงแล้วเห็นเขาทำอะไรก็ทำไป ทำไปด้วยไม่รู้สึกตัวว่าทำอะไร ถ้าเราไปนั่งดูไอ้กิริยาท่าทางที่เขาแสดงออกนี่ อาจจะนึกได้ว่า เอ มันทำทำไม ทำอย่างนี้ไปเพื่ออะไร แต่ถ้าไปถึงไม่ดูวิ่งเข้าไปร่วมวงไพบูลย์กับเขาด้วย มันก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร เหมือนคนแก่คนหนึ่งไปยืนดูรำวง ยืนดูไปๆ แรกๆ ก็ไม่ชอบ เอ มันเต้นทำไมนักหนา มันเต้นแล้วเต้นอีก ไอ้นั่นลงมาแล้วก็ซื้อตั๋วขึ้นไปเต้นอีก มันบ้าอะไรหนักนา นึกในใจอย่างนั้น แล้วก็มีคนคนหนึ่งเห็นแกยืนดูๆ แล้วก็บอกว่า เฮ้ย ยืนดูทำไม ขึ้นไปลองบ้างสิ เลยซื้อตัวให้ ให้ขึ้นไปลอง พอขึ้นไปแล้วเกิดสนุกในอารมณ์ขึ้นมา ลงมาทีนี้ซื้อตั๋วเองแล้ว ไม่ซื้อใบเดียวแล้ว ซื้อมันสิบใบเลย เอามันสิบรอบเลย ไปเต้นเหยงๆ อยู่บนนั้นได้ ลืมไปเลยว่า ฉันเป็นคนแก่ ลืมไปว่า ผมศีรษะมันเป็นอย่างไร ลืมไปแล้ว เต้นเพลินไป ไม่ได้มองดูใครแล้ว ไม่ละอายใครแล้ว ถ้าหลานมายืนดูแล้วคิดว่าทำไมคุณปู่ขึ้นไปเต้นอย่างนั้น หลานมันอาจจะคิดอย่างนั้นก็ได้ แต่ว่าตัวคนเต้นมันนึกไม่ออก คนเรากำลังอยู่ในเวที ชุลมุนนั้นมันนึกอะไรไม่ออก ตกใจแล้วมันนึกอะไรไม่ออก เป็นอย่างนี้ปัญหามันก็มีมากขึ้น เพราะเราไม่รู้แต่ถ้าเรารู้ขึ้นมาละอายใจตนเอง ลงจากเวทีไป หายไปเลย ไม่อยากจะมาและไม่อย่างให้ใครพูดเรื่องนั้นต่อไป เกิดความละอายใจขึ้นมา นี่อย่างนี้มีอยู่มากมาย ถมเถไป แล้วก็เป็นอะไรต่อมาอีกหลายเรื่อง หลายประการ เราจึงต้องคิดในทางที่ถูกต้องไว้
โดยเฉพาะเด็กๆ ที่อยู่ในวัยหนุ่มวัยฉกรรจ์นี่ ควรจะได้คิดปัญหาไว้ในใจบ่อยๆ คือคิดว่า ชีวิตเราต่อไปนี้ ควรจะมีอะไรบ้าง หนูทุกคนต้องคิดว่า ควรจะมีอะไรบ้างเป็นเครื่องประกอบในการดำรงชีวิต และเมื่อเราเติบโตไปนี่ เราจะทำอะไร เราอยากอยู่กับใคร เราจะอยู่กับพ่อแม่ตลอดไปจะได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะพ่อแม่เราก็มีความชราลงไปทุกวันเวลา ท่านก็หวังที่จะอาศัยลูกอยู่เหมือนกัน แก่แล้วก็ต้องอาศัยลูก ลูกก็ต้องเลี้ยงดูเอาใจใส่ เจ็บไข้ได้ป่วยต้องรักษา เราเองก็เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เรานึกไปถึงสัตว์เดียรัจฉานว่าเมื่อมันโตแล้วนี่มันทำอะไร โตแล้วมันช่วยตัวเอง มันพึ่งตัวเอง มันไปหาอาหารกินเอง วัวควายก็ไปกินหญ้า สัตว์อื่นที่กินเนื้อมันก็ไปเที่ยวจับสัตว์มากินเป็นอาหาร ไม่ไปขอใครไม่ไปพึ่งใคร ธรรมชาติสัตว์นี่มันพึ่งตัวเอง พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน อันนี้ก็คือหลักธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งหลาย ต้องมีการพึ่งตัวเอง เราเป็นคนมีจิตใจประเสริฐ ร่างกายดีกว่าสัตว์เดียรัจฉาน มีอาการสามสิบสองครบ มีสมองซึ่งเป็นสมบัติอันประเสริฐสำหรับชีวิต มีจิตสำหรับคิดนึกตรึกตรองในเรื่องอะไรต่างๆ เพื่อให้รู้ว่า อะไรถูกอะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร เราก็ควรจะได้ทำตัวเราให้มีอะไรดีกว่าสัตว์เดียรัจฉาน ถ้าไม่มีอะไรดีไปกว่าสัตว์เดียรัจฉานเราก็จะไม่สมชื่อ ไม่สมนามว่าเราเป็นคน หรือว่าเราเป็นมนุษย์ มันไม่สมชื่อ เพราะไม่มีอะไร แปลกไปจากสัตว์เดียรัจฉาน ยกตัวอย่างเช่นว่า เราไปพบเพื่อนพูดจากันสองสามคำก็เลยตีกัน ทุบตีกันด้วยท่อนไม้บ้างด้วยก้อนหินบ้างหัวร้างข้างแตก ตำรวจจับเอาไปโรงพัก เอาไปนั่งอยู่ในกรงเหมือนกับสัตว์เขาดิน
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร ก็เพราะว่า เราไม่รู้ว่าเรากำลังทำอะไร แล้วสิ่งที่เราทำนั้น มันถูกหรือผิดเราคิดไม่ได้ แต่มีอารมณ์ยั่วยุให้เราทำไป เมื่อคนหนึ่งเฮขึ้นเราก็เฮตามไป บุกกันเข้าไป เฮเข้าไปโครมๆ เหมือนนักเรียนช่างกลตีกับโรงเรียนช่างกลอื่น หรือช่างก่อสร้างอื่น ปรากฏเป็นข่าวบ่อยๆ อันนี้คนหนุ่มใจร้อนเพราะไม่มีเครื่องบังคับจิตใจจึงได้กระทบไปในรูปอย่างนั้น หรือว่าเราไปเที่ยวสนุกสนานเพลิดเพลินตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีอยู่มากในเมืองไทย ไปเที่ยวไปสนุกกับเขา เขาสนุกนี่มันยั่วให้เราติด ไปแล้วมันติด ติดรูป ติดเสียง ติดกลิ่น ติดรส ติดสิ่งที่มีอยู่ในสถานที่นั้น ค่ำเข้าต้องไป สตางค์คุณแม่ให้ไปกินขนมก็ไม่กิน ประหยัดเอาไว้เพื่อจะไปสนุก ไปกินอาหารทางสนุก ไม่กินอาหารเลี้ยงร่างกาย แล้วก็รบกวนขอสตางค์บ่อยๆ การเรียนตกต่ำ ผลที่สุดก็เรียนไม่ได้ สอบไล่ขึ้นปีขึ้นปีก็ไม่ได้คะแนน ตกกว่าเขา ตกแล้วก็ไปสอบเข้าอะไรก็ไม่ได้ เลยต้องมาอยู่บ้านเฉยๆ ถามคุณพ่อคุณแม่ ลูกชายคนโตนี่เรียนอะไร มันเรียนไม่จบแล้วก็มาอยู่บ้านเฉยๆ ไม่มีอะไรจะไปแล้ว อนาคตมันตันเหมือนขับรถเข้าถนนตัน ไม่มีถนนจะไป ไอ้จะถอยออกก็ไม่ได้ เพราะซอยมันแคบเหลือเกิน เลยก็ต้องไปจอดให้กีดขวางจราจรอยู่ที่ตรงนั้น ชีวิตไร้ค่า ไม่มีความหมาย คุณแม่ตรมตรอมใจ คุณพ่อตรมตรอมใจ เราคนเดียวทำให้พ่อแม่เป็นทุกข์ ทำให้พ่อแม่ต้องกินน้ำตาแทนข้าว นึกถึงลูกเมื่อไรใจหายใจคว่ำ อันนี้คือความผิดพลาดในชีวิตของเยาวชนที่มีอยู่พอสมควรเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราถึงได้มาวัด ครูพามาวัด มาวัดนี่ก็เท่ากับว่า มารับอาหารใจ มารับเอาเครื่องมือสำหรับเอาไปใช้วินิจฉัยปัญหาชีวิต เพื่อให้เราคิดถูกพูดถูกทำถูกแล้วเราจะได้เติบโตขึ้นด้วยปัญญา ด้วยสติ ด้วยความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิต และเอาความรู้นั้นไปใช้ในชีวิตของเราต่อไป
เราจึงควรจะได้คิด ถามตัวเองไว้บ่อยๆ ว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร เราอยู่เพื่ออะไร เกิดมาเพื่อ เราเกิดมาเพื่อใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช่เกิดมาอยู่เฉยๆ กินข้าวแล้วนอน เที่ยวสนุก ไม่ได้เรื่องอะไร เราต้องอยู่เพื่อทำชีวิตให้เป็นประโยชน์ ประโยชน์ตนก็ต้องให้ได้ ประโยชน์ผู้อื่นก็ต้องให้ได้ อยู่ให้เป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน อยู่ให้ใครเห็นแล้วสบายใจ ใครได้ฟังเราพูดสบายใจ ได้พบเราที่ไหน เขามีความสบายใจ ไม่ใช่พอเห็นหน้าเราแล้วเขาก็ไม่สบายใจ หรือบางทีเขาวิ่งหนีไม่อยากเข้าใกล้ เห็นเราเหมือนกับเป็นกิ้งกือเป็นไส้เดือน เป็นสิ่งน่าสะอิดสะเอียนไป มันไม่ได้เป็นมาตั้งแต่กำเนิดเลยสิ่งเหล่านี้ มันเกิดขึ้นเพราะความเผลอความประมาท เพราะการคบเพื่อนไม่ดี แล้วเพื่อนก็ดึงไปในทางชั่วทางกรรม
บรรดาความชั่วทั้งหลายในสังคมมนุษย์นี่ มันตั้งต้นจากเพื่อนที่ไม่ดี คือ เราไปคบเพื่อนชั่ว คบเพื่อนชั่วแล้วก็เพื่อนก็สอนเราให้ทำชั่ว เช่น เราไปคบเพื่อนที่ชอบสูบบุหรี่ มันก็จะสอนเราให้สูบบุหรี่ คบเพื่อนที่ชอบดื่มเหล้า ดื่มเบียร์มันก็ปลุกเราให้ดื่มเหล้าดื่มเบียร์เพื่อให้เหมือนเขา หมาหางด้วนแล้วมันชวนเพื่อนให้ตัดหางทั้งนั้น เพื่อให้เหมือนกัน แต่ถ้าคนฉลาดก็ไม่ยอมตัดหาง แต่ถ้าคนโง่ก็เลยไปตัดหาง เหมือนคนที่ทำชั่วย่อมชวนเพื่อนให้ทำชั่วด้วยก็เพื่อจะให้มีเพื่อนร่วมงานร่วมวงไพบูลย์กัน เราก็ไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็เลยทำไปอย่างนั้น คบคนที่หนีโรงเรียน มันชวนเราหนีโรงเรียนไปดูหนัง ไปเที่ยวสนุกสนาน หลบไปหลบมา ตอนเลิกเรียนก็กลับบ้านเท่ากัน หรือว่ามันชวนเราให้เกียจคร้านไม่ให้เรียนหนังสือ ด้วยเพื่อนพูดว่า เรียนมันทำไม เรียนไปก็เท่านั้นแหละ ไอ้คนเรียนจบได้ปริญญาแล้วไม่มีงานทำเยอะแยะ แล้วเราจะไปเรียนให้เสียเวลาทำไม เขาเรียกว่าให้กำลังใจในทางต่ำแก่เพื่อนผู้เข้าไปคบมา ยุให้เป็นคนไม่เรียนหนังสือ ให้ชอบสนุก ให้เล่นการพนัน ให้ไปเที่ยงในที่เหลวไหล เพื่อนมันจูงไป เราไปกับเขา ไปแล้วไม่รู้ว่ากำลังทำสิ่งเสียหายกำลังทำชั่วร้าย ก็เลยไปกันตลอดเวลา กลับตัวกลับใจไม่ได้ถลำร่องลึกเสียแล้ว จมอยู่ที่ร่องนั้นเลยเอาตัวไม่รอด อันนี้น่าเสียดาย
คุณแม่ที่เกิดเรามานั้น ท่านอธิษฐานใจพอรู้ว่าตั้งท้อง ท่านอธิษฐานใจ ขอให้ลูกของฉันเป็นเด็กดีมีปัญญา มีความฉลาด มีความสามารถเป็นผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบ เป็นเกียรติเป็นศรีแก่วงศ์สกุล ไปไหว้พระวัดไหน ไปไหว้อะไรที่ไหน ก็วิงวอนขอร้องเพื่อให้ลูกดีทั้งนั้น ไม่มีแม่คนไหนจะอธิษฐานว่าให้ลูกออกมาเป็นไอ้เสือ หรือเป็นอันธพาล รกบ้านรกเมือง ไม่มี แม่พ่อมีความปรารถนาดีต่อลูก อยากให้ลูกดี อยากให้ลูกเจริญให้ลูกก้าวหน้า อันนี้เราที่เป็นเยาวชน อยู่ในวัยรุ่นนี่ต้องคิดให้ได้ รักคุณแม่ให้มาก รักคุณพ่อให้มาก รักพี่รักน้อง อย่าไปรักคนอื่น ให้มันมากเกินไปเพราะถ้ารักมากเกินไปแล้วมันจะเสียคนได้ง่าย ตั้งใจเรียน เขียนอ่านให้มีความรู้สมชั้น ให้นึกเตือนไว้เสมอว่า คนไม่มีความรู้เหมือนคนตาบอด หูหนวก ตาบอดไม่เห็นอะไร ไม่เห็นสีของดอกไม้ ไม่เห็นสีของใบไม้ ไม่เห็นทิวทัศน์อันสวยงามตามธรรมชาติของโลกนี้เพราะตาเขาบอด หูหนวกไม่ได้ยินอะไร หลวงพ่อปัญญานันทะเทศน์ก็ไม่ได้ยิน เสียงดนตรีก็ไม่ได้ยิน เสียงอะไรๆ ก็ไม่ได้ยิน เขาเรียกว่าเป็นคนหูหนวก เมื่อหูหนวกไปแล้วมันก็ไม้ได้เรื่องอะไร เสียหาย (51.18) ทีนี้เราก็ไปอย่างนั้น เสียคน เราอย่าอยู่อย่างคนเสียคนแต่อยู่อย่างคนดีมีประโยชน์เป็นเด็กก็ต้องเป็นเด็กดี เป็นหนุ่มดี สาวดี แล้วออกไปเป็นผู้ใหญ่ดีต่อไป เพราะเราเกิดมาเพื่อสร้างความดี หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เกิดมาเพื่อประพฤติธรรม เพราะเราเกิดจากธรรมะ พ่อแม่มีธรรมะจึงได้เกิดเรามา ถ้าพ่อแม่ขาดธรรมะเราก็ไม่ได้เกิดล่ะ อาจจะเอาเราไปทิ้งเสียที่ไหนก็ไม่รู้ ก็ไม่ได้เกิดออกมา อันนี้ที่ได้เกิดเป็นตัวเป็นตนเรียบร้อยได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีก็เพราะว่าคุณธรรมที่อยู่ในน้ำใจคุณพ่อคุณแม่คุ้มครองรักษา เราเกิดมาจากธรรมะ เราอยู่ด้วยธรรมะ เราก็ต้องใช้ธรรมะ เป็นดวงไฟส่องทางให้เดินไปในทางที่ถูกที่ชอบ อย่าได้เดินไปทางที่ผิดที่เสียหาย
อยู่ในกรุงเทพนี่สิ่งยั่วยุที่จะทำให้เด็กหนุ่มสาวเสียคนมาก หนูๆ จำไว้มันมาก มันยั่วยวนชวนใจ เขายั่วทางวิทยุ ยั่วทางโทรทัศน์ ยั่วทางป้ายโฆษณาตามสามแยกสี่แยกต่างๆ ถ้าเราหลงใหลเพลิดเพลินไปกับสิ่งเหล่านั้น เราจะเสียคน เหมือนคนเข้าป่า หลงตนไม้ หลงดอกไม้ หลงกินผลไม้ เลยกินผลไม้มีพิษเข้าไป แล้วก็ตายด้วยผลไม้มีพิษนั้น คนโบราณเขาก็แต่งเป็นเรื่องเป็นราวไว้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจเข้าป่าระวังภัย ไม่ให้เกิดขึ้น ให้ระวังทุกอย่าง จะนั่ง จะนอนจะลุกก็ต้องระวัง ผลไม้ไม่ใช่กินได้ทุกอย่าง ใบไม้ไม่ใช่กินได้ทุกอย่าง ต้องระวัง สิ่งใดเป็นพิษอย่ากินเข้าไป ผู้ใดเชื่อฟังคำสอนคำเตือนชีวิตอยู่รอด เรียกว่าได้ชีวิต ชีวิตปลอดภัย แต่ถ้าเราไม่เชื่อฟังใคร พ่อแม่ห้ามไม่เชื่อ หาว่าพ่อแม่เป็นคนหัวเก่าไม่ทันสมัย สมัยนี้เขาอย่างนี้กันทั้งนั้นแหละ คุณพ่อคุณแม่ไม่รู้เรื่อง มันหาว่าพ่อแม่โง่เสียด้วยซ้ำไป ใจมันตกต่ำเสียแล้ว เลยคิดอย่างนั้น แล้วก็ไปตามคะนอง เหมือนกับโคทึกที่วิ่งไปตามคะนอง แล้วผลที่เกิดก็ไปโผล่ถนนศพกันทั้งนั้น เขาไปฆ่าตายแหละ บางคนก็ตายทั้งเป็น ตายทั้งเป็นก็คือ ชีวิตไม่มีค่า ไม่มีราคา เพราะเราทำแต่เรื่องชั่ว เรื่องร้าย ชีวิตเลยตกต่ำ สูญค่า
เพราะฉะนั้น ในฐานะที่เราเป็นเด็กอยู่ในวัยของการศึกษาจะต้องคอยเตือนจิตสะกิดใจไว้ให้คิดแต่เรื่องถูกต้อง พูดแต่เรื่องถูกต้อง ทำแต่เรื่องถูกต้อง คบคนที่มันดีมันงาม ไปสู่สถานที่ดีงามอย่าไปสู่ที่ชั่วที่ร้าย เช่นมาวัดนี่เรียกว่าใช้ได้ แต่ถ้าไปเที่ยวตามบาร์ตามไนท์คลับ ตามสถานที่ต่างๆ ที่เป็นเครื่องชวนให้เราเหลวไหลเสียผู้เสียคน เราก็จะหมดค่าหมดราคา ชีวิตจะไม่มีความหมาย เป็นพลเมืองไทยประเภททำจำนวนให้เต็ม
พลเมืองมันมีสามขั้น คนหนึ่งเกิดมาทำประเทศชาติให้งดงาม คนหนึ่งทำประเทศชาติให้ตำทราม คนหนึ่งเกิดมาให้จำนวนมันเต็มห้าสิบล้าน ให้เป็นจำนวนเต็มเข้า แต่ว่าไม่ได้ทำอะไรที่เป็นคุณงามความดี เราไม่ควรอยู่อย่างคนที่ทำประเทศชาติให้ตกต่ำ ไม่ควรอยู่อย่างคนที่ให้มันครบจำนวนที่เขานับกันในสำมะโน แต่อยู่เพื่อสร้างตัวเองให้เจริญให้ก้าวหน้า ให้เป็นประโยชน์แก่แผ่นดินที่เราได้อยู่อาศัย
หนูทุกคนจำเรื่องนี้ไว้ เอาไปคิดจำใส่ใจเอาไปปฏิบัติ การมาวัดก็จะได้ประโยชน์ ได้คุณได้ค่า ควรเขียนไว้ในสมุดบันทึก หรือเขียนใส่กระดาษเก็บไว้ข้างที่นอน ตื่นนอนอ่านเสีย ก่อนนอนอ่าน อ่านแล้วก็มองดูตัวเอง ว่าเราอยู่อย่างคนผิดหรือคนถูก เราอยู่อย่างคนเจริญหรืออย่างคนล้าหลัง อย่างคนดี หรืออย่างคนชั่ว ถ้ารู้สึกตัวว่ามันไม่ค่อยจะดีไม่เป็นประโยชน์ แก้ไข กลับใจเสีย เดินทางผิดรู้ว่าผิดอย่าเดินต่อไป รีบกลับเดินทางที่ถูก ที่ชอบให้คุณแม่คุณพ่อสบายใจ ให้ใครทุกคนที่รู้จักเราสบายใจ ชีวิตมันก็จะมีค่า สมความตั้งใจ ขอให้หนูทุกคนได้ฟังแล้วจำไว้ มาวัดชลประทานต้องเอาของดีกลับไป ของดีก็คือธรรมะนี่แหละดีที่สุด วิเศษที่สุด เป็นประโยชน์ที่สุด ให้เราเอากลับไปบ้านเอากลับไปใช้ในชีวิตต่อไป
ดังได้แสดงมาก็สมควรแก่กาลเวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านั้น ต่อไปนี้ก็ขอเชิญญาติโยมทั้งหลายนั่งพักสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที