แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
ฤดูนี้เป็นฤดูกาลที่ใกล้เข้าพรรษาของพุทธบริษัทเรา โดยมากมักจะมีการทำพิธีอย่างหนึ่งคือเรื่องการบวชนาค คือบวชกันให้เป็นพระ เป็นเรื่องประเพณีของบ้านเมืองเราที่ทำกันมาตั้งแต่โบราณ ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาแล้วมีคนบวชมากก็คือประเทศไทย เพราะว่าประเทศไทยนี่ให้บวชแล้วให้ลาสิกขาได้ ส่วนประเทศลังกานั้นให้บวชแล้วเขาไม่มีนิยมลาสิกขา เพราะฉะนั้นคนไม่ได้บวชทุกคน คนที่บวชก็ต้องตั้งใจเพื่อจะบวชกันอย่างจริงจัง บวชมาตั้งแต่เป็นสามเณร แล้วก็พออายุครบ ๒๐ หรือ ๒๐ กว่าก็ได้บวชเป็นพระ เมื่อบวชเป็นพระแล้วเขาก็ไม่ลาสิกขา เขาตั้งใจบวชไปจนตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นคนที่จะบวชนี่มันก็น้อย พระเขาจึงไม่มากเกินไป
แต่ในเมืองไทยเรานั้นมีการบวชตามธรรมเนียม บวช ๓ เดือน สมัยก่อนนี้ก็บวช ๓ เดือนทั้งนั้นเพื่อศึกษาเล่าเรียน ครบ ๓ เดือนแล้วสึกก็ได้ หรือจะไม่สึกบวชไปอีกสัก ๒ ปี ๓ ปีก็ได้ แล้วก็ถ้าอยู่ไม่ได้ในเพศของพระก็ลาสิกขาออกไปอยู่บ้านต่อไป อันนี้เป็นธรรมเนียมในเมืองไทยเราโดยเฉพาะ ธรรมเนียมอันนี้มันก็ดีเหมือนกัน คือดีที่ผู้ชายทุกคนจะได้บวช และถ้าคนใดไม่ได้บวชเขาก็เรียกว่าเป็นคนดิบไป เป็นคนดิบคือยังไม่ได้บ่มด้วยศีลธรรมด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้า จิตใจยังไม่สุกพอที่จะใช้ทำงานทำการอะไรได้ เหมือนกับเราต้มเผือกต้มมันหรือว่าผลไม้ ถ้ายังดิบอยู่ก็กินไม่ได้ แต่ถ้าสุกแล้วก็นับว่าใช้ได้
ทางอื่นไม่ค่อยถือเท่าใด แต่ทางภาคเหนือของประเทศไทยนั้นคนไม่ได้บวชนี่เขาถือว่าเป็นคนดิบ คนดิบนี่มักจะประกาศตนอยู่เสมอ ผมน่ะยังดิบอยู่ อาราธนาศีลก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้เพราะยังดิบอยู่ แต่ถ้าได้บวชเป็นสามเณรแล้วก็เรียกว่าเป็น “น้อย” ถ้าได้บวชพระแล้วก็เรียกว่าเป็น “หนาน” ถ้าเราได้ยินคนเมืองเหนือเขาพูดว่าหนานอิน หนานแก้ว หนานอะไรแสดงว่าได้บวชแล้วเป็นพระ แต่ถ้าเรียกว่าน้อยแสดงว่าไม่ได้บวชพระ บวชเพียงสามเณร
คนที่ยังไม่ได้บวชนี่เขาถือว่ายังไม่เข้าใจศาสนา ยังไม่สุกด้วยคุณธรรม เป็นที่รังเกียจของคนที่เคร่งครัดในทางศาสนา เช่นจะไปขอลูกสาวใครถ้ายังดิบเขาก็ไม่อยากให้เพราะเขาถือว่าไม่ได้รับการอบรมบ่มนิสัยเพื่อให้มีความเป็นคนที่สมบูรณ์ เขาก็ชักจะรังเกียจ คนโบราณถืออย่างนั้น เพราะฉะนั้นการบวชจึงมีอยู่ทั่วๆ ไป
คนที่เข้าไปบวชนี่ก็เรียกว่าบวชตามประเพณีทั้งนั้น อายุยี่สิบปีก็ต้องบวช ที่บวชโดยตั้งใจว่าจะไม่สึกนี่มันน้อย เปอร์เซ็นต์มันน้อย เพราะว่าเมื่อยังไม่ได้เข้ามาบวชก็ยังคิดอะไรไม่ได้ ยังตัดสินใจอะไรไม่ได้ ครั้นเมื่อบวชเข้ามาแล้วได้ศึกษาเล่าเรียนในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เกิดความรู้ความเข้าใจ ซาบซึ้งในหลักธรรมปฏิบัติและอยู่เป็นสุขก็เลยบวชต่อมาจนกระทั่งแก่ชราตายในผ้าเหลือง อันนี้ก็เรียกว่ามาตามประเพณีทั้งนั้น
พระที่มีชื่อมีเสียงกันอยู่ทั่วๆ ไปในสังคมในยุคปัจจุบัน เช่น ท่านพุทธทาสนี่ท่านก็บวชตามประเพณีคือเมื่ออายุครบบวชคุณแม่ก็อยากจะให้บวช ท่านก็เลยบวช แต่ว่าเมื่อบวชแล้วก็มาเรียนนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก เวลาเรียนนักธรรมชั้นตรีนี่ก็เทศน์สอนชาวบ้านแล้ว คือเทศน์ทุกคืน ชาวบ้านใกล้วัดก็จะได้มาฟังกัน แล้วท่านก็บวชมาศึกษามาเรื่อยๆ จนกระทั่งตัดสินใจว่าจะไม่ลาสิกขา โดยภาระในครอบครัวก็มอบให้น้องชายน้องหญิงของท่านดูแลทำกันต่อไป ท่านก็บวชมาจนมีชื่อมีเสียง ทำประโยชน์แก่พระศาสนาได้มาก
อาตมาเองก็เวลาบวชมันก็ไม่ได้นึกอะไร อายุ ๑๘ ปีไปอยู่ที่วัดอุปนันทารามเมืองระนอง ความจริงน่ะจะไปเป็นครูโรงเรียนประชาบาลในวัด แต่ว่าเมื่อไปถึงคนอื่นเขาเอาเสียแล้ว ท่านอาจารย์ท่านก็ให้เป็นครูไปเลย เรียกว่าเรียกครูทุกเวลา ครู!เทกระโถน ครูกวาดขยะ ครูยกสำรับ ครูทำนั่นทำนี่ ใช้คำว่าครูเสียเรื่อยเลย แต่ว่าเป็นเด็กวัดเราดีๆ แต่ว่าท่านเรียกครูตลอดเวลา แล้วก็วันหนึ่งไม่ทราบว่าท่านนึกอะไรขึ้นมา แล้วท่านบอก “ครูบวชเอาไหม” อาตมาก็ตอบโพล่งไปว่า “เอาครับ” แล้วก็เลยบวชเท่านั้นเอง มันง่ายเหลือเกิน เรียกว่าให้โกนหัวแล้วก็ไปบวช ไม่ได้ท่องหนังสือคำขานนาคอะไรกับเขา แต่ว่าความจริงนั้นท่องไว้แล้ว คืออยู่วัดว่างๆ ก็หยิบมาอ่าน ท่องๆ ไป ท่องมันประเดี๋ยวก็จำแล้ว วันเดียวก็จำหมดแล้ว มันไม่ได้ยากเย็นเข็ญใจอะไร ท่องไปได้ ทีนี้พอจะบวชมันก็ท่องได้ บวชเณรท่องไม่ยาวอะไร ขอศีลขออะไรเท่านั้นก็เลยบวช บวชแล้วก็ศึกษาเล่าเรียนมาเรื่อยๆ จนกระทั่งว่ามาบวชเป็นพระ
พอบวชเป็นพระก็มาอยู่เมืองนครศรีธรรมราช มีพระธาตุยอดทองคำ ไปถึงนั่นก็เลยไปอธิษฐานใจเข้าไป อธิษฐานใจว่าขอมอบกายถวายชีวิตแด่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ จะไม่ลาสิกขา มันเริ่มตรงนั้นเอง แล้วอยู่มาได้จนกระทั่งบัดนี้ อยู่เรื่อยมา แต่ว่ากลับบ้านทีไรคุณแม่ก็ถามทุกที เมื่อไรจะอึกทึกว่างั้น แต่ไม่พูดว่าสึกหรอก ท่านพูดว่าไม่คิดจะออกมาบ้างหรือ ว่างั้น บอกว่ายังไม่คิดตอนนี้ ถามบ่อยๆ พอพรรษาเลย ๑๐ แล้วก็เลย ๕ ท่านก็ไม่ถามอีกต่อไป แล้วก็อยู่มาอย่างนี้ ทีนี้ลองไปถามพระผู้ใหญ่ๆ ที่เป็นชั้นสมเด็จอะไรอย่างนั้น เคยถามท่านว่าเมื่อบวชนี่ บวชแล้วจะไม่สึกเคยคิดอย่างนั้นหรือเปล่า ตอบไม่ได้คิดอย่างนั้น บวชมาเรื่อยๆ แล้วก็อยู่มาจนกระทั่งได้เป็นสมเด็จ มันก็เป็นเอาอย่างนั้น อยู่มาอย่างนั้น
อันนี้เรียกว่าเป็นการบวชตามประเพณีที่เราทำกันมาตั้งแต่โบราณ ในเมืองไทยเรานั้นบวชกันเกือบทุกคน เรียกว่าน้อยที่สุดที่จะไม่ได้บวชในพระศาสนา แม้พระราชามหากษัตริย์ก็บวช ในสมัยกรุงศรีอยุธยากษัตริย์บางองค์ก็เรียกว่าไปบวชตั้งพรรษา เช่น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนี่ไปบวชที่จังหวัดพิษณุโลก ไปบวชที่วัดจุฬามณี แล้วเขาก็บอกว่า บันทึกในพงศาวดารว่าพวกข้าราชบริพารทั้งหลายก็ไปบวชสร้างกุฏิเล็กๆ อยู่เต็มไปหมดในบริเวณนั้น แปลว่าบวชกันมาก วัดนั้นก็ยังอยู่
แล้วพระเจ้าจักรพรรดิ์นี่ก็บวช เรียกว่ามีปัญหาขึ้นเกี่ยวกับราชสมบัติแล้วท่านก็ไปบวช ไปบวชแล้วเขาให้สึกก็มาอยู่ทำบ้านเมืองต่อไป ก็อาศัยเรื่องบวช บวชทุกพระองค์ แต่บางพระองค์นั้นบวชก่อนเสวยราช เช่น ในหลวงของเรานี่ก็บวชเมื่อเสวยราชแล้ว เจ้าฟ้าชายนี่บวชแล้วก่อนเสวยราชสมบัติ พระเจ้าแผ่นดินของกรุงเทพฯ ทุกพระองค์ได้บวชทั้งนั้น ที่บวชนานที่สุดก็คือรัชกาลที่ ๔ ท่านบวชนานถึง ๒๗ พรรษา นับว่าไม่ใช่น้อย มีชีวิตอยู่ในวัดนานเหลือเกิน ลาสิกขาออกไปครองราชสมบัติก็เมื่อพระชนมายุตั้ง ๔๗ แล้วก็ไปครองบ้านครองเมืองต่อไป
นับว่าบวชนานแล้วมีความรู้ดีมาก ภาษาบาลีนี่เก่งทีเดียว ขนาดเวลาเจ็บหนักใกล้จะสิ้นพระชนม์ยังบอกให้เขียน แล้วให้เขียนเป็นคำกาพย์ ไม่ใช่ร้อยแก้ว เป็นร้อยกรองนะ ท่านบอกว่าเพื่อให้ใครๆ รู้ว่าแม้ฉันจะเจ็บขนาดนี้สติยังดีอยู่ ยังไม่หลงไม่ฟั่นไม่เฟือน ท่านจึงให้เขียนเป็นภาษาบาลีเป็นคำลาพระสงฆ์ เพราะวันท่านสิ้นพระชนม์ในวันปาวารณาคือออกพรรษา แล้วให้เขียนคำลาพระสงฆ์ไปอ่านให้พระสงฆ์ฟังที่วัดราชประดิษฐ์ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้วังที่สุดที่ท่านสร้างขึ้น แสดงว่าท่านบวชนานแล้วก็ศึกษาเล่าเรียนมาก จึงเป็นเรื่องที่น่าคิด นอกนั้นก็บวชกันชั่วคราว ๓ เดือนบ้างอะไรบ้าง
สมัยนี้งานการมันมากขึ้น คนบวช ๑๕ วันก็มี ๒๐ วันก็มี เดือนหนึ่งก็มี บวช ๗ วันนี่ไม่ไหว ที่นี่ก็ไม่รับเหมือนกันบวช ๗ วันเพราะว่ามันไม่ทันทำอะไรหมดเวลาเสียแล้ว มันน้อยเกินไป บวชแบบนั้นเขาเรียกว่าบวชชุบเหล็ก คือเหล็กที่จะตีให้ร้อนนี่มันต้องชุบ เผาไฟแล้วเอามาชุบ ชุบแล้วก็เผาไฟอีก บวชชุบเหล็กมันน้อยเหลือเกิน ยังไม่ทันได้ทำอะไร อย่างน้อยบวชสักเดือนหนึ่งก็ค่อยยังชั่ว จะได้มีเวลาอบรม มีเวลาปฏิบัติ สร้างรากฐานทางจิตใจให้เจริญก้าวหน้า
พ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกบวช อย่าเข้าใจว่าได้นุ่งเหลืองห่มเหลืองแล้วก็เป็นใช้ได้ ให้รู้ว่าที่เราให้ลูกบวชเพื่อให้เข้ามาศึกษาศาสนา อบรมบ่มจิตใจให้มีหลักธรรมะเป็นพื้นฐานทางจิตใจ เมื่อออกไปอยู่บ้านก็จะได้ใช้หลักธรรมะที่เราได้เล่าได้เรียนเอาไปเป็นเครื่องป้องกันตนไม่ให้ตกไปสู่อบายคือความชั่วความร้าย เพราะฉะนั้น ต้องบวช ต้องใช้เวลา ถ้ายังไม่มีเวลาจะบวชนานก็เก็บไว้ก่อน เมื่อใดว่างจึงจะมาบวชกัน
หรือบางทีก็บวชหน้าศพ บวชเช้าเย็นสึกแล้ว มาก็ไม่รับบวชเหมือนกัน นอกจากเด็กตัวน้อยๆ เอามาเล่นละครกันหน่อยนั่นน่ะมันไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่มาขอบวชหน้าศพบอกเธอไม่ต้องบวชหน้าศพ เธอไปยืนที่หน้าศพคุณพ่อแล้วก็พูดดังๆ เอาไหม พูดดังๆ ว่าต่อหน้าไฟที่เผาศพคุณพ่อ ข้าพเจ้าขออธิษฐานใจว่าจะไม่เล่นการพนันตลอดชีวิต จะไม่ดื่มของมึนเมาตลอดชีวิต จะไม่คบเพื่อนชั่วตลอดชีวิต จะไม่เที่ยวกลางคืนตลอดชีวิต จะไม่ใช้จ่ายทรัพย์สุรุ่ยสุร่ายโดยไม่จำเป็นตลอดชีวิต จะไม่เกียจคร้านการงานตลอดชีวิต ให้คิดเอาก็เท่านี้ บวชเท่านี้ก็เหลือเกินแล้ว พอกินแล้ว เหลือกินเหลือใช้ ไม่เอา จะเอาแต่ว่าแต่งตัวเล่นละครให้คนดูตอนเผาศพเท่านั้นเอง ให้บวชจริงๆ อย่างนี้ไม่เอา
อย่างนี้แหละบวชแท้ แล้วไม่ใช่บวช ๓ วัน ๗ วัน บวชกันตลอดชีวิต เพราะคำว่าบวชนี่มันหมายความว่างดเว้นจากการกระทำความชั่ว ในภาษาบาลีเรียกว่า “ปัพพัชชา” ถือบวชเป็นอุบายงดเว้นจากการกระทำเรื่องชั่ว งดเว้นจากการคิดเรื่องชั่ว การพูดเรื่องชั่ว การกระทำสิ่งชั่ว การไปสู่สถานที่ชั่ว การคบหาสมาคมด้วยคนชั่วๆ งดเว้นหมด งดเว้นหมดอย่างนี้มันก็ประเสริฐแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องโกนหัวโกนคิ้วก็ได้ แต่ถ้ามีเวลาค่อยมาบวชแบบนั้นกัน แต่ถ้าเวลามันยังไม่มีก็เอาบวชนี้ บวชอย่างที่ว่านี้ไม่เอาสักคนเดียว พอสอนอย่างนั้นไม่เอา จะเอาบวชให้ได้ บอกว่าไม่ได้ฉันไม่บวชให้ เธอมันบวชเล่นๆ เล่นละครไม่เอา ให้งดเว้นอย่างนั้นกลับไม่เอา
นี่ก็เพราะว่าเราไปยึดถือในรูปแบบมากเกินไป ไม่ได้เพ่งเอาเนื้อแท้ของการบวช ว่าคืออะไร ถ้าเราจะบวชตามรูปแบบมันต้องมีเวลา มีโอกาสเหมาะที่เราจะบวชอย่างนั้น แต่ถ้ายังไม่มีเวลาไม่มีโอกาสก็บวชทางจิตใจไปก่อนก็ได้ เพราะว่าการบวชนั้นมันมี ๒ แบบเรียกว่าบวชทางร่างกาย บวชทางจิตใจ บวชกายนี่ก็คือรูปแบบนั่นแหละเรียกว่าบวชทางกาย โกนหัวโกนคิ้ว นุ่งเหลืองห่มเหลือง อันนี้บวชตามรูปแบบ ส่วนบวชอีกแบบหนึ่งนั้นคือบวชใจ บวชใจก็คืออธิษฐานใจ ตั้งใจงดเว้น ไม่กระทำอะไรที่เป็นการขัดต่อหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างนี้เรียกว่าบวชใจ
ทุกคนมีโอกาสบวชใจได้ทั้งนั้น แล้วบวชใจนี่แหละได้อานิสงส์มาก ได้ประโยชน์มากเพราะบวชนาน ไม่ได้บวช ๓ เดือนหรือไม่ได้บวช ๑๕ วันแต่บวชกันตลอดชีวิตไปเลยทีเดียว ตั้งใจงดเว้นจากเรื่องชั่วร้าย เช่น งดเว้นอบายมุขตลอดชีวิตไปเลย แล้วอานิสงส์มันจะขนาดไหนก็ลองคิดดู เช่น เราไม่เล่นการพนันเราก็ไม่มีทางแพ้ ไม่มีทางชนะแล้วก็ไม่มีทางแพ้ ไม่มีทางสูญเสียทรัพย์สมบัติ ไม่มีทางที่จะสูญเสียเกียรติชื่อเสียงของเรา ไม่มีทางที่จะเสื่อมเสียในสุขภาพทางร่างกายจิตใจอะไรต่างๆ ไม่มีโอกาส เราก็จะพ้นจากความตกต่ำ
ถ้าเราไม่ดื่มของมึนเมา งดเว้นจากการดื่มของมึนเมา เราก็ไม่ต้องเสียทรัพย์เพื่อไปซื้อสิ่งนั้น เราไม่มีโรคเพราะสิ่งนั้น หรือไม่เป็นโรคตับแข็ง เดี๋ยวนี้คนตายโรคตับแข็งกันบ่อย สองสามวันนี้ประเทศตกตายตับแข็งทุกคน ถามว่าตายเรื่องอะไร ตับแข็ง เรื่องตับแข็งนี่มาจากอะไร มาจากชอบดื่มเหล้า ดื่มมาตั้งแต่หนุ่ม ไอ้หนุ่มๆ น่ะดื่มคะนอง ดื่มติด เอ้า มาเลิกเมื่อตอนแก่นี่ ตอนใกล้จะตายนี่ เลิกมาห้าหกปี แต่ไอ้ที่กินมานานทำให้ตับพิกลพิการไปแล้ว เลยกลายเป็นโรคตับแข็งถึงแก่ความตายไป มีบ่อยๆ นี่
เราไม่ดื่ม เราก็ไม่ต้องเป็นโรคตับแข็ง ไม่ต้องเป็นโรคทางประสาทเสื่อม สมองเสื่อม ปัญญาเสื่อม โรคอย่างนั้นไม่มี โรคกระเพาะก็ไม่มี โรคอะไรๆ มันไม่เกิดเพราะไม่เสพของมึนเมา แล้วไม่มีเรื่องที่จะทะเลาะกับใคร เพราะเรามีสติมีปัญญาคุ้มครองตน ใครพูดอะไรบาดหูเราก็ไม่โกรธ เราไม่เคือง เราไม่ต่อล้อต่อเถียง เพราะถ้าไปต่อล้อต่อเถียงมันต้องพูดมาก พูดมากจิตฟุ้งซ่านไม่มีสมาธิ ขาดเหตุผล อาจจะทำอะไรโดยอารมณ์ก็ได้ เราไม่มีความมึนเมาเราก็ไม่ทำอย่างนั้น คนมึนเมานี่อาจจะทำอะไรผิดก็ได้ รถเก๋งไปชนกับสิบล้อก็เรื่องความเมาแท้ๆ ไม่ใช่เรื่องอะไร
เมื่อวันก่อนนั่งผ่านพระที่นั่งอนันฯ เห็นแหว่งไปช่อง เอ๊ะ ทำไมมันถึงแหว่งไป ได้ทราบว่าเด็กนักเรียนหนุ่มพาสาวไปเที่ยว ขับรถเร็วเกินไป แทนที่จะเลี้ยวไปตามโค้งข้างเขาดินนะก็ชนเลย ชนพังไปช่อง ไอ้รั้วพระที่นั่งอนันฯ นี่ไม่ใช่รั้วสมัยใหม่นะ รั้วสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ สมัยนั้นไม่มีคอรัปชั่นนะ เขาสร้างแข็งมาก คอนกรีตอย่างดีแล้วเหล็กนี่ไม่ใช่เหล็กอ๊อกเหมือนเดี๋ยวนี้นะ เหล็กหล่อนะ หล่อเป็นรูป เป็นชิ้นๆ เอามาติดเข้า มันชนพังกระทั่งเหล็กกระทั่งปูนนั่นแหละ พังไปเลย แต่ว่าหมอบอยู่ตรงนั้นไปไม่ได้ ตำรวจก็จับตัวได้เพราะอยู่หน้าวัง ตำรวจก็มีอยู่แถวนั้น ทหารสารวัตรก็มี หนีไม่พ้นเลยถูกจับ นี่เพราะอะไร เมา แล้วดึกแล้วพาสาวไปเที่ยว คะนอง พ่อแม่ก็เรียกว่าร่ำรวยสตางค์ หารถให้ลูกใช้แล้วก็ไม่บังคับลูกว่าให้กลับบ้านตามเวลา ลูกไปเที่ยวไหนก็ไม่รู้ มันเป็นคืนวันเสาร์เลยเที่ยวกันใหญ่ นี่ก็เพราะว่าเมานั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร ถ้าไม่มึนไม่เมามันก็ไม่มีเรื่องอย่างนั้น ไม่มีเรื่องเสียหาย งดเว้นมันเสียได้
เราพ่อบ้านต้องบวช แม่บ้านก็ต้องบวช เช่น บวชไม่เล่นไพ่ บวชไม่ดื่มเหล้า บวชไม่ทำอะไรเหลวไหล แล้วก็ชวนลูกให้บวชในเรื่องที่เขาประพฤติไม่ดีให้งดเว้น ให้เลิกละสิ่งเหล่านั้น นี่เรียกว่าเป็นการบวชอยู่ในตัวแล้ว เป็นการบวชที่ได้ประโยชน์ ผู้ชายก็บวชได้ ผู้หญิงก็บวชได้ ญาติโยมผู้หญิงบางคนมักจะบ่นว่า แหม เสียดายชาตินี้เกิดมาเป็นหญิงไม่มีโอกาสได้บวช โอกาสจะบวชมีสำหรับผู้หญิงเหมือนกันคือบวชใจ ไม่ต้องไปบวชชีก็ได้ แต่บวชใจ บวชใจนุ่งสีอะไรก็ได้ แต่งตัวอย่างไรก็ได้ แต่ใจเราบวชคืองดเว้นจากสิ่งชั่วสิ่งร้ายด้วยประการต่างๆ นั่นก็คือการบวชอยู่ในตัวแล้ว แต่ว่าเรามักติดรูปแบบของการบวชเลยอยากจะบวชอย่างนั้น
แล้วบางคนบอกว่าเป็นผู้หญิงเป็นพุทธเจ้าไม่ได้ ความเป็นพุทธะเขาไม่ได้จำกัดเพศ พุทธะไม่มีเพศ ไอ้ที่เราว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ชายน่ะคือรูปร่างของท่าน ท่านเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วท่านออกบวชได้ตรัสรู้นั่นมันรูปเก่ารูปดั้งเดิม แต่เมื่อเป็นพุทธะแล้วนี่ไม่มีรูปร่างอย่างนั้น ไม่มีเพศหญิงไม่มีเพศชาย ไม่เป็นแขก ไม่เป็นไทย ไม่เป็นอะไรทั้งนั้น คือไม่มีชื่อจะเป็น เป็นอะไรไม่ได้แล้ว เป็นพุทธะเท่านั้นเอง
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ เดินไปพบพราหมณ์คนหนึ่ง พราหมณ์ก็ถามว่าท่านเป็นเทวดาหรือ ไม่ใช่ ท่านเป็นยักษ์หรือ ไม่ใช่ ท่านเป็นคนธรรพ์หรือ ไม่ใช่ ท่านเป็นมนุษย์หรือ ไม่ใช่ เอ๊ะ อะไร พราหมณ์ว่าไม่เป็นอะไรสักอย่างแล้วท่านเป็นอะไร พระองค์ตอบว่าเราเป็นพุทธะ กิเลสที่จะให้เป็นเทวดาก็ไม่มี กิเลสที่จะให้เป็นยักษ์ก็ไม่มี กิเลสที่จะให้เป็นคนธรรพ์ก็ไม่มี กิเลสที่จะให้เป็นมนุษย์ก็ไม่มี เราเป็นพุทธะ ท่านเป็นพุทธะ
เพราะฉะนั้นพุทธะไม่ใช่รูปร่าง ไม่ใช่เครื่องแต่งกาย ไม่ใช่นั่นไม่ใช่นี่ แต่หมายถึงความเป็นพุทธะ และหมายความว่าเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้มีความเบิกบานแจ่มใส จึงไม่มีเพศ เราอย่าเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ชาย ไม่ใช่ ไม่ใช่ชายแล้วก็ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่อะไรทั้งนั้น เป็นพุทธะเท่านั้นเอง แล้วความเป็นพุทธะนี่เป็นคุณสาธารณะ ไม่ได้จำกัดไว้สำหรับใครคนใดคนหนึ่ง เป็นสาธารณคุณทั่วไปที่ใครจะเข้าถึงได้ เราจะเข้าถึงได้ทุกคน เป็นผู้ชายก็เข้าถึงได้ เป็นผู้หญิงก็เข้าถึงได้ เป็นฝรั่งเป็นนิโกรเป็นอะไรก็เข้าถึงได้ เมื่อได้ปฏิบัติตามแนวทางที่พระองค์ได้ค้นพบ ได้ปฏิบัติพระองค์พ้นไปจากความทุกข์แล้วทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ใช่ว่าจะปิดกั้นเฉพาะคนนั้นคนนี้หามิได้ เป็นได้ทั้งนั้น
ในศาสนาอื่นเสียอีกยังกีดกันไว้ แต่ของเรานั้นพระพุทธเจ้าไม่ได้กีดกัน ใครก็เอาไปใช้ได้ ฝรั่งก็เอาไปใช้ เดี๋ยวนี้ฝรั่งเขาเอาไปใช้กันมากขึ้น เขาปฏิบัติจริงจัง เขามีความสุข บางทีจะเข้าถึงมากกว่าที่เราจะเข้าถึงด้วยซ้ำไป อย่างนี้มันก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นเราอย่าไปวิตกกังวลว่าฉันเป็นหญิง รูปร่างหรอกเป็นผู้หญิงแต่จิตใจนั้นไม่เป็นหญิงไม่เป็นชาย เป็นจิตใจที่จะเข้าถึงความเป็นพุทธะได้ ถ้าพูดตามภาษานั่นเขาเรียกว่าพุทธภาวะไม่เป็นหญิงไม่เป็นชาย เป็นสิ่งที่ทุกคนจะเข้าถึงได้เมื่อต้องการจะเข้าไปให้ถึง ให้เข้าใจอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นอย่าไปเสียใจว่าไม่ได้บวช เพราะว่ามีบางคนบอกดิฉันไม่ได้บวช อยากจะบวชคนอื่น เลยบอกว่าบวชคนอื่นมันไม่ได้ประเสริฐอะไร สู้บวชตัวเองไม่ได้ แล้วเขาก็ถามว่าแล้วจะบวชอย่างไรก็แนะให้ฟังว่านี่บวชอย่างนี้ เคยเล่นไพ่ไหมล่ะ ไม่ตอบ เคยเล่นก็บวชสิ เลิกเล่นไพ่ซะ ขี้โกรธไหม เลิกโกรธซะ หาเรื่องทะเลาะกับพ่อบ้านบ่อยไหม มีบ้าง เลิกซะทีนี้อย่าทะเลาะกันต่อไป พ่อบ้านกลับมาก็ยิ้มรับซะอย่าไปทะเลาะกัน อย่าไปหึงหวงไม่เข้าเรื่อง จิตใจตกต่ำวุ่นวาย นี่บวชได้อย่างนี้ สอนให้บวชอย่างนั้นไม่ค่อยเอานะ อิดๆ ออดๆ อยากจะบวชคนนั้นบวชคนนี้
แล้วอยากจะบวชพระที่อยู่นานๆ เลยบอกว่าบวชองค์นี้สิอยู่นาน บวชมา ๕๒ ปีแล้ว จะบวชก็เอาปัจจัยมาสิบวชเท่าไรก็ได้ เอามาสักหมื่นยิ่งดีจะได้ตั้งเป็นทุนไว้ ไม่เอาอีก จะบวชคนที่ยังไม่ได้บวช คนไม่ได้บวชนี่ไม่แน่ว่าจะอยู่ได้กี่วัน แต่ว่าองค์นี้แน่แล้วว่าบวชกันจนตาย เอาองค์นี้บวชดีกว่า เป็นเสียอย่างนี้คือไม่เข้าใจ จะทำบุญจะทำอะไรไม่เข้าใจ เราจะทำบุญบวชคนก็เอาปัจจัยมาถวายวัดไว้ ได้เลี้ยงดูพระสงฆ์สามเณร ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยให้เจริญด้วยปัญญามันก็ช่วยอยู่แล้ว ช่วยศาสนาอยู่แล้ว ไอ้ที่ให้บวชก็เพื่อช่วยศาสนา ทีนี้หาคนบวชไม่ได้ก็เลยกลับบ้าน ไม่เอาตังค์มาให้เสียด้วยซ้ำไป นี่เป็นอย่างนี้
ที่นี้ถ้าเข้าใจ อ้อ เราจะบวชพระก็หมายความว่าบำรุงพระที่บวชแล้ว เหมือนเรารักษาสวนไม่ต้องเอาต้นไม้มาปลูก รักษาต้นเดิมที่ปลูกไว้แล้วก็ได้ รดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยให้มันเจริญงอกงามต่อไปมันก็ใช้ได้แล้ว แต่ถ้าเราไม่รักษามันจะตายไปซะเปล่าๆ เป็นอย่างนี้ นี่คือความไม่เข้าใจ แต่ถ้าเข้าใจแล้วมันก็ง่ายขึ้น เราจะบวชใครก็ได้ คือช่วยบำรุงกิจการของศาสนาในด้านที่เป็นประโยชน์แก่สังคม เราก็เรียกว่าช่วยศาสนา ช่วยให้คนเข้าถึงธรรมะ ช่วยให้คนลืมหูลืมตา ได้รู้ได้เห็นคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เรียกว่าเป็นการใช้ได้อยู่ในตัวแล้ว ขอให้โยมเข้าใจอย่างนี้
ทีนี้ประเพณีการบวชมีมาตั้งแต่เมื่อไรก็มีมานานนมแล้ว มีมาก่อนยุคพระพุทธเจ้าเกิดด้วยซ้ำไป คือคนในประเทศอินเดียนี่เขาแบ่งชีวิตเป็นขั้นเป็นตอนไว้ เขาแบ่งเป็น ๔ ขั้นตอน เรื่องแรกก็เรียกว่า “พรหมจารีย์” พรหมจารีย์คือนักศึกษาเล่าเรียนวิชาการต่างๆ เรียกว่าพรหมจารีย์ พรหมจารีย์นี่ก็ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ประพฤติอย่างพรหม ไม่ประพฤติสิ่งเหลวไหล อยู่ในโอวาทของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ไปอยู่โรงเรียนก็ตั้งใจเรียน ตั้งใจศึกษา ประพฤติดีประพฤติชอบ เรียกว่าเป็นพรหมจารีย์ นักเรียนทั้งหมดนี่เรียกว่าเป็นพรหมจารีย์
เดี๋ยวนี้นักเรียนเรานักศึกษาเราไม่เป็นพรหมจารีย์ ชอบประพฤติเหลวไหลออกนอกลู่นอกทาง เป็นนักเรียนดื่มเหล้าแล้ว เอาไอ้แบนๆ หนีบรักแร้ขึ้นรถไปแล้วยังแต่งตัวนักเรียน หัดดื่มเหล้า หัดเที่ยวกลางคืน หัดประพฤติเหลวไหลใช้จ่ายเงินทองสุรุ่ยสุร่าย ก็ไม่เรียกว่าเป็นพรหมจารีย์ตามแบบของอินเดียเขา อินเดียเขาพรหมจารีย์เขาอยู่เรียบร้อย อยู่ในระบบวินัย เคารพครูบาอาจารย์ เชื่อฟังคำสั่งคำเตือนด้วยดี นี่ระบบหนึ่ง ครั้นเมื่อจบการศึกษาแล้วมีทางไปอยู่ ๒ ทางคือไปครองบ้านครองเรือน ไปครองบ้านครองเรือนก็เรียกว่าเป็นคฤหัสถ์ คฤหัสถ์นี่แปลว่าผู้ครองเรือน หรือฆราวาสก็เรียกว่าผู้ครองเรือน
ผู้ครองเรือนก็ต้องประพฤติธรรมเหมือนกัน ไม่ใช่อยู่เฉยๆ ต้องมีธรรมะเป็นเครื่องประกอบชีวิต ชีวิตการครองเรือนก็จะเรียบร้อย ไม่ยุ่งไม่ยาก ต้องมีธรรมะ อาจารย์ต้องสั่งว่าควรทำอย่างนั้นควรทำอย่างนี้ เป็นผู้ประพฤติตามธรรมะ ชีวิตเรียบร้อย ครอบครัวเรียบร้อย ลูกดีหลานดี ถ้าไม่ไปครองเรือนเพราะว่าชอบชีวิตสันโดษ ชอบใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่นก็ประพฤติตนเป็นวานปรัสต์ วนปรัสถะหรือปรัตถ์ก็ได้ วนปรัสถะคือคนอยู่ป่า อยู่ป่าไม่ใช่อยู่โดดเดี่ยว แบบนี้วานปรัสต์ไม่ใช่อยู่โดดเดี่ยว แต่อยู่เพื่อทำหน้าที่สั่งสอนศิษย์ ช่วยเหลืออาจารย์ในสำนักสั่งสอนศิษย์ต่อไป
หรือจะไปตั้งสำนักขึ้นอีกแห่งหนึ่ง เพื่อให้คนได้เล่าเรียนสะดวกก็เรียกว่าอยู่แบบนั้น สำนักต่างๆ นี้รับศิษย์ให้มาอยู่ สมัยก่อนนี้มันโรงเรียนกินนอนทั้งนั้น โรงเรียนอยู่ในป่าน่ะเป็นโรงเรียนกินนอน เจ้าชายก็ไปเรียน ลูกเศรษฐีก็ไปเรียน ใครๆ ก็ไปเรียน เราเคยอ่านหนังสือเรื่องโบราณคดีจักรๆ วงศ์ๆ พอลูกชายโตขึ้นก็คิดว่าต้องให้การศึกษา อันนี้คือความคิดถูกต้อง พ่อแม่นี่ต้องให้การศึกษาแก่ลูก พ่อแม่มีหน้าที่ห้ามลูกไม่ให้กระทำความชั่ว แนะนำลูกให้กระทำความดี ให้มีการศึกษาเล่าเรียนอันนี้อันที่สาม ต้องให้ศึกษาเล่าเรียน จบการศึกษาแล้วต้องหางานให้ทำ มีงานทำแล้วหาคู่ครองที่สมควรให้ แล้วก็มอบทรัพย์ให้ไปตั้งเนื้อตั้งตัว นี่คือหน้าที่ของพ่อแม่
เพราะฉะนั้นเมื่อลูกเติบโตขึ้นก็คิดถึงเรื่องการศึกษา เช่น พระราชามีพระโอรส พอพระโอรสทรงเป็นหนุ่มก็คิดถึงเรื่องการศึกษา ก็ส่งไปอยู่กับพระฤาษีคือพวกวนปรัสถะนี่เอง ไปเล่าไปเรียนวิชาการต่างๆ เหมือนกับพระอภัยมณีศรีสุวรรณ พ่อบอกว่าเจ้านั้นต้องไปเรียน เอ้า ไปเรียน เดินทางไปเที่ยวหาอาจารย์ ไปเจออาจารย์ ๒ คน อาจารย์หนึ่งชำนาญกระบี่กระบอง อาจารย์หนึ่งก็ชำนาญการเป่าปี่ พี่ชายบอกพี่น่ะชอบเรื่องนี้อยากจะเรียนเป่าปี่ น้องชายว่าน้องนี่ชอบวิชากระบี่กระบอง ชอบฝ่ายบู๊ก็เลยไปเรียน
แต่ว่าหน้าสำนักเรียนเขาเขียนไว้ว่า ความรู้ที่จะให้นี่มีค่าพันตำลึงทอง ใครมีทองพันตำลึงถึงจะเรียนได้ ถ้าไม่มีทองเรียนไม่ได้ นี่เรียกว่าคิดค่าเล่าเรียนไว้ แต่ว่าอาจารย์ไม่ได้ทารุณโหดร้ายอย่างนั้นหรอก ไม่ใช่ว่าไม่มีค่าเล่าเรียนแล้วก็ไม่ให้เรียน สองศิษย์เข้าไปหาอาจารย์แล้วก็บอกว่าเป็นลูกกษัตริย์เมืองนั้นเมืองนี้ ทองไม่มี อาจารย์บอกไม่เป็นไรไม่มีทองก็เรียนได้ แต่ที่เขียนไว้ก็เพื่อให้คนดีมีคุณธรรมได้มาเรียน หรือให้คนมีฐานะดีได้มาเรียนวิชชานี้ไป เพราะถ้าวิชชานี้ไปอยู่กับคนใจต่ำมันจะเอาไปใช้ในทางผิดทางเสียจึงไม่อยากจะสอนให้ ก็ไปเรียนในป่า พระฤาษีเป็นครูเป็นอาจารย์ อยู่กินนอน ศิษย์ทำหน้าที่ปฏิบัติอาจารย์ ตื่นแต่เช้าตักน้ำใส่โอ่ง หุงข้าวต้ม แกง ปัดกวาดบริเวณ ปลูกผักปลูกพืชหรือไปหาผลไม้ในป่ามากินเป็นอาหารกัน ไปอยู่อย่างนั้นเรียกว่าเป็นโรงเรียนกินนอนทั้งนั้น
โรงเรียนกินนอนนี่ก็ดีเหมือนกัน ศิษย์อยู่ใกล้อาจารย์ อาจารย์ก็จะได้ควบคุมความประพฤติให้ดีขึ้นหน่อย สมัยนี้ก็มีโรงเรียนกินนอนเยอะ แต่ว่าเด็กมันมากเกินไป ครูก็ไม่ค่อยดูแลให้ทั่วถึง บางทีเด็กมันก็ไม่ค่อยได้เรื่องก็มีเหมือนกัน แต่ถ้าครูเอาใจใส่เด็กมักจะดี ในประเทศอังกฤษมีโรงเรียนประเภทกินนอนมาก พ่อแม่สบายใจแล้วก็ไว้ใจครูอาจารย์ ในหลวงรัชกาลที่ ๖ เราก็ไปเรียนโรงเรียนประเภทนี้ กลับมาถึงเมืองไทยขึ้นเสวยราชสมบัติ พระองค์เห็นว่าวัดพอแล้ว เพราะกษัตริย์ทุกพระองค์ก็ต้องสร้างวัดอย่างน้อยวัดหนึ่งสองวัด ในหลวงท่านเห็นว่าวัดในกรุงเทพฯ มากเต็มทีแล้ว สร้างโรงเรียนดีกว่า เลยไปสร้างวชิราวุธวิทยาลัย สภาพเหมือนวัดทุกอย่าง ศิลปะเหมือนวัด
ญาติโยมบ้านนอกบางทีมาก็ยกมือไหว้ ไม่ใช่แกไหว้อาคาร แต่นึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า คนสมัยใหม่เห็นคนแก่ไหว้แบบนี้ เอ๊ คนแก่เซ่อจริงไหว้โรงเรียน เขาไม่ได้ไหว้โรงเรียน เขาเดินผ่านวังเขาไม่ได้ไหว้วัง แต่เขาไหว้พระคุณของพระเจ้าแผ่นดินที่สิงสถิตอยู่ในวังนั้นเพราะวังนั้นเป็นที่อยู่ของพระเจ้าแผ่นดินมาถึง ๕ รัชกาล ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๖ ย้ายไปอยู่สวนจิตรฯ ไปอยู่ที่อื่น ไปอยู่ในวังนั้น เพราะฉะนั้นคนที่รักพระเจ้าแผ่นดินนั่งรถรางผ่านวัดก็ยกมือไหว้ เดินผ่านวังก็ยกมือไหว้ หรือผ่านวัดนี่ก็ยกมือไหว้ เราสมัยใหม่ว่า เอ๊ ไหว้อะไร ไหว้วัดไหว้ทำไม เขาไม่ได้โง่ถึงขนาดนั้น เขาไหว้เพราะนึกถึงพระคุณของเจ้าของวังที่ได้ช่วยพาบ้านพาเมืองมาให้รอดพ้นจากภยันตราย ไม่ต้องไปเป็นเมืองขึ้นของใครๆ ให้เรายิ้มได้สบายๆ หรือว่าเขาไหว้โบสถ์เขานึกถึงพระพุทธเจ้าผู้มีพระกรุณา มีปัญญา มีความบริสุทธิ์เขาก็ไหว้ ไอ้คนที่ไหว้ๆ อย่างนั้นเขาไม่ค่อยทำชั่วหรอก ไอ้คนที่ไม่ไหว้อะไรนี่น่ากลัวอยู่เหมือนกัน คือมันไม่มีหลักใจ ไม่มีอะไรเป็นสรณะเป็นที่พึ่งทางใจ
คนเหล่านั้นเขามีหลัก เขานับถือศาสนามั่นคง เขาจึงยกมือไหว้เรียกว่าไหว้สิ่งถูกต้อง ไหว้คุณธรรม ไหว้ความงามความดี แล้วก็เป็นเครื่องเตือนใจให้ทำความดีต่อไป ก็เป็นเรื่องดีของคนเหล่านั้นเหมือนกัน ครูบาอาจารย์สมัยก่อนจึงกวดขันลูกศิษย์ คอยอบรมสั่งสอนให้ดีให้เจริญ ศิษย์กลับไปแล้วยังตามไปช่วยเหลือ มีปัญหาเดือดร้อนอาจารย์ท่านก็ตามไปช่วยแก้ปัญหา เพราะหน้าที่อาจารย์นั้นเรียกว่าตามคุ้มครองศิษย์เพื่อให้ศิษย์มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป เป็นหน้าที่ของท่าน เด็กก็ไปเรียนอย่างนั้น สำเร็จกลับบ้านมาทำงานทำการเป็นประโยชน์ต่อไป
พวกที่เป็นอาจารย์วานปรัสต์นี่คือพวกที่อยู่บ้าน อยู่นานๆ ก็เบื่อบ้าน มีครอบครัวลูกเต้าเติบโตแล้วก็เบื่อบ้าน หรือว่าสอนเด็กมานานก็เบื่อการสอน ทีนี้จะไปเป็นอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า สันยาสี พวกสันยาสีนี่ออกบวชไม่บอกใคร แอบหนีกลางคืนไม่บอกว่าจะไปไหน ได้ไม้เท้าอันหนึ่ง หม้อน้ำอันหนึ่ง ชาวอินเดียพวกสันยาสีนี่มีไม้เท้ากับหม้อน้ำ ผ้านุ่งผ้าห่มก็ไม่มากอะไร พอกลางคืนเขาหลับหมดก็ออกเลย หนีเลย ไม่บอกใครทั้งนั้นแล้วไม่กลับบ้าน มุ่งไปข้างหน้าเรื่อยไป ไม่อาลัยอาวรณ์กับข้างหลังแล้ว มุ่งไปข้างหน้านี่พวกสันยาสี
พวกสันยาสีคือนักบวชประเภทท่องเที่ยวนั่นเอง ถ้าเป็นเมืองใหญ่ๆ เขาก็หยุดสัก ๒ คืนบ้านใหญ่ ถ้าบ้านน้อยก็หยุดสักคืนหนึ่ง อาหารก็เพียงมื้อเดียวสุดแล้วแต่จะได้ ตอนเช้าบ้าง สายบ้าง ใกล้เที่ยงบ้าง รับประทานเพียงมื้อเดียวไม่กังวลด้วยที่อยู่อาศัย ไม่กังวลด้วยเครื่องนุ่งห่ม ไม่กังวลด้วยอะไรทั้งหมด พักใจแท้จริง ออกไปเป็นสันยาสีอยู่อย่างนั้น เดี๋ยวนี้ก็ยังมีคนประเภทนั้น
เมื่อประมาณสัก ๕๐ ปีมานี้มีนักบวชเรียกว่าสวามี สวามีคนนี้แกชื่อเสียงโด่งดังมาก ไปประเทศอเมริกาไปเที่ยวเลคเชอร์ทั่วไป แล้วก็มาตั้งสำนักงานใหญ่ที่อินเดียชื่อ รามกฤษณะ เผยแพร่วัฒนธรรม ภาษา ศาสนาของอินเดียมีสาขาทั่วโลก พ่อของแกออกหนีไปโดยแม่ไม่รู้ ลูกก็ไม่รู้ พ่อนะ ออกหายไป ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ตกใจ นึกว่าใครจับตัวไปเรียกค่าไถ่ หรือเอาไปฆ่า แต่สมัยนั้นเขาไม่ได้ตกใจนะ เขารู้ว่าคงจะหนีไปบวชเสียแล้ว แล้วก็ไม่ได้สนใจติดตามเพราะว่าเจตนาของผู้ออกบวชนั้นต้องการอิสระเหมือนนกที่บินออกจากกรงขังแล้วไม่กลับมากรงขังอีกต่อไป เหยื่อหลุดจากปากงูแล้วมันก็ไม่เข้ามาปากงูอีกต่อไป นกหลุดจากแร้วก็ไม่กลับมาหาแร้วต่อไป ไปไม่เหลียวแลเลย
อันนี้ก็อยู่ต่อมา แม่พาลูกชายไปไหว้พระที่เมืองพาราณสี ขณะเดินไปจะไปไหว้พระเห็นสันยาสีนอนเป็นลมอยู่กลางแจ้ง แม่ก็เลยให้ลูกชายไปตักน้ำมา ตักน้ำมาถึงพรมตามหน้า เช็ดหน้าเช็ดอะไรให้ พอก้มลงเห็นหน้า โอ๊ะ ไอ้นี่มันพ่อไอ้หนูนี่เอง เรียกว่าหนีไปนานแล้วมาพบกันโดยบังเอิญ พ่อไอ้หนูนี่เอง ก็ปฏิบัติเช็ดหน้าเช็ดตาเรียบร้อย แกก็ขยี้ตามอง พอเห็นหน้าเมียแกก็ร้อง มายา มายา แล้วก็ลุกขึ้นเดินไม่พูดสักคำเดียว ที่จะพูดกับลูกสักคำกับเมียสักคำก็ไม่พูดเลย ได้แต่ร้องมายา มายา ของหลอกลวง ไม่ใช่ของจริงของแท้ จิตใจมันอย่างนั้น พอเห็นหน้าเมียก็ร้องมายา ของหลอกลวง คำว่ามายาแปลว่าสิ่งหลอกลวง รูปเป็นสิ่งหลอกลวง เสียงเป็นสิ่งหลอกลวง เป็นมายา กลิ่นรสสัมผัสเป็นมายา ไม่ใช่ของจริงของแท้ เดินเฉยหายไปเลย ไม่เหลียวหลังด้วยซ้ำไป เป็นอย่างนี้
ทีนี้ต่อมาลูกชายชื่อ (39.30) “ณเรนนุช” ไม่แน่ใจคำศัพท์ ก็เรียนมหาวิทยาลัย เรียบจบได้ปริญญาตรีทางอักษรศาสตร์ แล้วแกก็ไปหาอาจารย์ที่เฝ้าศาลเจ้าแม่ คุยธรรมะกันบ่อยๆ ชอบใจอาจารย์นั้นเลยบวชอีกแล้ว บวชกับอาจารย์นั้น ต่อมาอาจารย์ตายแกก็เดินอยู่ในอินเดีย ๑๒ ปี เดินทั่วอินเดียเลย ๑๒ ปี ใครขับรถเข้ามาก็ปักเครื่องหมายไว้แล้วยังดันเข้ามาได้ คราวนี้ก็เดินอยู่ ๑๒ ปีไม่ใช่เล็กน้อยนะ เดิน ๑๒ ปี แกก็นึกว่าอินเดียนี่แย่มาก วิญญาณของอินเดียนี่พอแล้วแต่วัตถุของอินเดียนี่ไม่ไหว เราไม่อยากทำงานอินเดียไปอเมริกาดีกว่า แกไปสอนศาสนาในอเมริกามีชื่อมีเสียงยืดยาว ถ้าจะเล่าแล้วมันยาว คือจะให้เห็นว่าในสมัยนี้ยังมีคนประเภทสันยาสีออกบวชอยู่เหมือนกัน
ทีนี้พระพุทธเจ้าหรือว่าเจ้าชายสิทธัตถะท่านได้เห็นนักบวช ดังปรากฏในตำนานว่าได้ออกไปเห็นเทวทูต เห็นคนแก่ เห็นคนเจ็บ เห็นคนตาย เห็นนักบวช นักบวชนี้เห็นเป็นวันสุดท้ายที่เสด็จชมเมือง พอเห็นนักบวชก็เปล่งวาจาออกมาว่า สาธุโขปัพพัชชา บวชนี่เข้าที แปลง่ายๆ ว่าบวชนี่เข้าที แล้วความคิดว่าบวชดีนี่ฝังอยู่ในใจของท่านแล้วก็เป็นเหตุให้หนีออกบวชอีกเหมือนกัน ออกบวชไปแสวงหาธรรมะต่อไป
อันนี้เป็นเครื่องแสดงว่าในประเทศอินเดียนั้นมีนักบวชอยู่แล้วมากมาย มีชื่อต่างๆ เช่นเรียกว่าอชีวก เรียกว่าปริพาชก เรียกว่าเดียรถีย์ นิครนถ์ หลายชื่อหลายอย่าง แต่ชื่อที่เขาเรียกกันมาเป็นสากลเขาเรียกว่ามุนี มุนีผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์ คนที่ออกไปบวชอยู่ในป่าเขาเรียกว่าเป็นมุนี มุนีคือผู้แสวงหาความพ้นทุกข์เพื่อตนก่อน และเมื่อตนพ้นทุกข์แล้วก็ไปช่วยคนอื่นให้พ้นทุกข์ต่อไป ส่วนเจ้าชายสิทธัตถะท่านเห็นว่าสิ่งนี้ โอ เข้าที
พวกที่ออกไปบวชตั้งแต่โบราณนั้นออกบวชเพราะอะไร เพราะปัญหา ก็ปัญหาเรื่องความทุกข์นี่แหละ ไม่ใช่เรื่องอะไร เรื่องความทุกข์ในชีวิตประจำวัน แล้วก็มีความคิดว่ามันน่าจะหาทางดับทุกข์ให้ได้ แล้วก็ออกไปเพื่อแสวงหาความดับทุกข์ ก็ไปศึกษาค้นคว้าแต่ก็ยังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ไม่เป็นนาทีที่ ๔๒.๔๑ อันติมติ ไม่แน่ใจคำศัพท์เขาเรียกว่าอย่างนั้น คือที่สุดของความรู้ยังไม่ถึง ไปได้อะไรนิดหน่อยก็พอใจแล้ว เช่น ไปนั่งภาวนาจิตใจสงบ นั่งสงบอยู่ได้สักชั่วโมงหนึ่ง วันหนึ่ง สองวันก็นั่งอยู่ได้พอใจแล้วเพียงเท่านี้ แต่ว่าเมื่อออกจากความสงบมันก็ยินดียินร้ายต่อไป เขาเรียกว่า บรรลุฌาน ฌานปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ฌานหนึ่ง ฌานสอง ฌานสาม ฌานสี่
ขณะอยู่ในฌานนั้นใจมันสงบ ไม่มีความวุ่นวาย ไม่มีปัญหา แต่เมื่อออกจากฌานแล้วก็ยินดียินร้ายตามธรรมดาเหมือนกับคนทั่วไป อันนี้เรียกว่ายังไม่ถึงที่สุด แต่เขาก็พอใจเพียงเท่านั้น แล้วก็มีคนบางพวกศึกษาก้าวหน้าไปกว่านั้น ไม่ใช่เพียงฌานสี่ แต่ว่าไปถึงอรูปฌานสี่ เช่น อาฬารดาบสอุทกดาบสซึ่งเคยสอนเจ้าชายสิทธัตถะเหมือนกัน ก็ได้เพียงอรูปฌาน เวลาเข้าอรูปฌานนี่นั่งนิ่ง สงบ เจ็ดวันอยู่ได้ ไม่กินข้าวไม่กินน้ำ อยู่เฉยๆ เกวียน ๕๐๐ เล่มผ่านไปก็ไม่รู้ ไม่ได้ยินเสียงเกวียน ๕๐๐ เล่มผ่านไป ลูกศิษย์ของอาฬารดาบสผ่านมาชมให้พระพุทธเจ้าฟังว่าอาจารย์ของเขานี่เกวียน ๕๐๐ เล่มผ่านไปก็ไม่รู้ ถ้าสมัยนี้ก็สิบล้อผ่านไปสัก ๑๐๐ คันก็ไม่รู้ เรียกว่านั่งนิ่งเหลือเกิน สงบมาก แต่ว่าเมื่อออกจากฌานนั้นแล้วก็ธรรมดา เหมือนคนธรรมดา แต่ว่าข่มจิตใจได้มากกว่าคนธรรมดา มีสงบมากกว่า แต่ก็ยังไม่ถึงที่สุดของความดับทุกข์
พระองค์พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนั้นก็ได้ไปศึกษาค้นคว้ากับอาจารย์เหล่านี้ ใครที่เรียกว่าเก่ง ว่าดีว่าเด่นอยู่ในสมัยนั้นพระองค์ต้องเข้าไปนั่งแทบเท้า ยอมตัวเป็นศิษย์ ศึกษาปฏิบัติตามคำสอนของอาจารย์นั้นๆ พระองค์ไม่ได้ถือพระองค์ว่าเป็นกษัตริย์ ไม่ได้ถือพระองค์ว่าเป็นผู้มีปัญญาอะไรอย่างนั้นไม่มี อ่อนน้อมถ่อมตัว เข้าไปหาใครก็เข้าไปหาอย่างอ่อนน้อมยอมเป็นศิษย์ ให้เขาสอนแล้วก็ปฏิบัติตามคำสอนของอาจารย์จนเก่งเหมือนอาจารย์
ครั้นเก่งเหมือนอาจารย์แล้วก็เห็นว่ายังไม่ใช่ อันนี้ยังไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ ยังไม่ดับทุกข์อย่างเด็ดขาด ผู้ที่ปฏิบัติรู้ได้ด้วยตนเองว่ายังดับทุกข์ไม่ได้เด็ดขาด มันยังมีความทุกข์ อ้าว ต้องหาใหม่ ก็ลาออกจากสำนักอาจารย์นั้นๆ ไปทำการศึกษาค้นคว้าด้วยลำพังพระองค์ต่อไป บางคราวก็แหมไปทรมานร่างกายจนผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ถ้าเอามือลูบแขนอย่างนี้ขนร่วงไปเลย ความผอมขาดอาหาร นัยน์ตาลึกเหมือนกับน้ำบ่อหน้าแล้ง พุงนี่แห้งเข้าไป จับท้องนี่ถูกกระดูกสันหลังนะ พอปั้นรูปเขาเรียกว่าพระผอมมาก ถ้าไปดูรูปมีเส้นเอ็น คนปั้นก็เก่งนะทำด้วยหิน รูปนี้ดั้งเดิมทำด้วยหิน แกะด้วยหิน แกะดีจริงๆ เส้นเอ็นนี่ผุดออกมาที่ผิวแขนผิวตัว ทำเก่งมาก ช่างอินเดียนี่ไม่ใช่ย่อยเหมือนกัน สมัยโบราณไม่ใช่สมัยนี้ เขาทำเก่ง ถึงสมัยนี้ก็ยังเก่งอยู่ ทำให้ดูว่าผอมถึงขนาดอย่างนี้ เกือบเอาร่างกายไปทิ้งเสียในป่า แต่เป็นบุญวาสนาของชาวโลกที่จะไม่สูญเสียสิ่งอันควรจะมีจะได้ พระองค์ก็ได้ไปเรียนวิถีทางการปฏิบัติ ไปนั่งค้นคว้าทดสอบอยู่ใต้ต้นโพธิ์จนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า นี่ ชีวิตเป็นอย่างนี้
เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็มีคนมาสมัครเป็นลูกศิษย์ มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทีนี้แหละ พระองค์จัดระเบียบของนักบวช เมื่อก่อนนี้บวชแล้วต่างคนต่างอยู่ไม่ขึ้นอยู่กับใครเลย ไม่มีใครเป็นหัวหน้า ไม่มีใครเป็นใหญ่ เคารพกันแต่อาจารย์ของตน เพ่นพ่านไป มีครูเยอะแยะ เจ้าลัทธิมากมาย พระองค์ก็เห็นว่ามันไม่ไหว ต้องปรับปรุงให้เข้าเป็นระเบียบ ให้มีระเบียบเรียบร้อย จึงได้วางฐานของนักบวชใหม่ว่าคนที่จะมาบวชนี่ต้องมีอะไรบ้าง
ชั้นแรกนี่ก็พระองค์บวชด้วยพระองค์เองทั้งนั้น ใครอยากจะบวชก็มาบวชกับพระองค์ พระองค์พิจารณาด้วยฌาน ด้วยปัญญา เห็นอุปนิสัยใจคอแล้วก็บอก เอ้อ เอา เธอมาเป็นภิกษุได้ นี่เป็นการบวชง่ายที่สุดว่า เธอมาเป็นภิกษุ เธอจงปฏิบัติธรรมเพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด ก็เรียกว่าเป็นการบวชแล้ว บวชแบบง่ายๆ ต่อมาสาวกไปเที่ยวสอนธรรมะ คนอยากบวชต้องเดินทางอ้างแรมมาเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อให้ช่วยบวชให้ พระองค์เห็นว่าลำบากในการพามาก็เลยอนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากุลบุตรมีความปรารถนาอยากบวชในศาสนาหรือในธรรมวินัยของตถาคตเธอบวชให้ได้” แล้วพระก็ถามว่าจะทำอย่างไร ให้ปลงผม ปลงหนวด ตัดเล็บมือเล็บเท้า แต่งตัวให้สะอาด นุ่งห่มผ้ากาสายะ กราบเท้าอาจารย์ เปล่งวาจาว่าพุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ แล้วก็รับศีล คือการบวชแล้ว สาวกทำให้ได้
เราจะเห็นว่าพระองค์สั่งให้ปลงผม ให้ปลงหนวด ให้ตัดเล็บ ทำไมต้องอย่างนั้น นักบวชในอินเดียมันรุ่มร่าม ใครเห็นรูปใสบ้าง มีชื่อมีเสียงนี่ไว้ผมเป็นกระเซิง เหมือนอะไรมาวางไว้บนหัว ดูรูปแล้วพิกลพิการ มันไม่สวย พระพุทธเจ้าก็เลยว่า ผมยาวบ้างรุ่มร่ามรุงรังก็ให้โกนผมเสียให้เกลี้ยง แล้วก็ให้โกนทุกเดือน คือบัญญัติว่าไม่ให้เกิน ๒ องคุลี หรือว่าไม่เกินหนึ่งเดือน ถ้าผมยาวเกินข้อมือแล้วก็ต้องให้โกน โกนภายในนั้น ไม่ให้ยาว ยาวแล้วมันไม่สวย พระต้องผมสั้นๆ ให้โกนผม
หนวด นักบวชสมัยก่อนไว้หนวดเครารุ่มร่าม ในวรรณคดีบอกว่านกกระจาบมาทำรังได้ พระฤาษีห้อยหัวลง เท้าเกาะกิ่งไม้ห้อยหัวไว้ นกกระจาบมาทำรังเลย อยู่นิ่งเข้าฌานจนนกกระจาบทำรังได้ ก็รุ่มร่าม เราเดินไปเห็นใครที่หนวดเครารุ่มร่ามนี่ เรารู้สึกว่าไม่น่าพิศมัย แต่ถ้าโกนเคราเรียบร้อยดูหล่อขึ้นเป็นกอง เพราะฉะนั้นก็ให้โกนหนวดโกนเครา ให้ตัดเล็บมือเพราะนักบวชชอบไว้เล็บยาวๆ เช่นบางคนชื่อว่า ฑีฆนขะ เล็บยาว หลวงพ่อเล็บยาว ไม่สวย เพราะฉะนั้นต้องตัดเล็บ แล้วต้องตัดบ่อยๆ นะ ต้องมีมีดตับเล็บด้วย มีดโกนหัว ตัดเล็บมือเล็บเท้าให้สะอาดให้เรียบร้อย
เครื่องแต่งตัวก็เรียบร้อย นุ่งห่มเป็นแบบเดียวกันหมด สีสันเหมือนกัน พอเดินเข้าแถวแล้วเหมือนกัน เหมือนกับพระรูปเดียวกัน อันนี้คือจัดระบบของพระพุทธเจ้า จัดระบบนักบวชให้มีแบบมีแผน ให้เป็นที่ตั้งศรัทธาประสาทะของชาวบ้าน เดินก็เรียบร้อย นั่งก็เรียบร้อย จะขบจะฉันอะไรก็เรียบร้อยไปหมด ไอ้ความเรียบร้อยนี่จูงใจคนเหมือนกัน จะเห็นตัวอย่างว่าท่านสารีบุตรนี่เมื่อยังเป็นปริพาชกคือเป็นนักบวชประเภทหนึ่ง ยังไม่ได้เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า
วันหนึ่งพระอัสสชิ เป็นพระองค์หนึ่งในจำนวน ๕ รูปที่ส่งไปประกาศศาสนาคือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ อัสสชินี่เรียกว่าน้องน้อยออกไปบิณฑบาต ท่านสารีบุตรปริพาชกก็ออกบิณฑบาตเหมือนกัน คือนักบวชนี่เลี้ยงชีพด้วยบิณฑบาตทั้งนั้น ไปบิณฑบาต ท่านก็ชำเลืองเห็นพระอัสสชิเดินเรียบร้อย นุ่งห่มเรียบร้อย เรียบร้อยทุกอย่าง เอ๊ แปลก พอเห็นแล้วก็นึกแปลกนี่ไม่เหมือนนักบวชธรรมดา นักบวชที่เราเห็นไม่เรียบร้อยอย่างนี้ นี่เรียบร้อยมาก ผิวพรรณวรรณะก็ผ่องใส สะอาดว่างั้นเถอะ พระของพระพุทธเจ้านี่สะอาดทั้งกายวาจาใจ เลื่อมใสแล้วก็เดินตามไปห่างๆ ไม่รบกวน ขณะบิณฑบาตมีมรรยาทดี ตามไปห่างๆ ตามไป พอท่านได้บิณฑบาตได้พอสมควรก็หลีกออกจากเมืองไปหาที่นั่งฉัน ท่านสารีบุตรก็เข้าไปปูอาสนะถวาย ตักน้ำมาถวาย แล้วคอยปฏิบัติเมื่อฉันอาหาร
พอฉันอาหารเสร็จก็เลยสนทนากัน ถามว่าดูหน้าตาของท่านผ่องใส ท่านเป็นลูกศิษย์ของใคร ท่านชอบใจธรรมะของผู้ใด ท่านพระอัสสชิท่านก็เป็นพระอรหันต์แต่ท่านบอกว่า เรามันบวชไม่นาน ไม่นานจริงๆ แล้วก็ธรรมวินัยที่ละเอียดอ่อนยังไม่รู้ รู้ย่อๆ สั้นๆ ท่านสารีบุตรว่าไม่ต้องมากเอาย่อๆ สั้นๆ ก็ได้ ผมชื่อสารีบุตรหรือว่าอุปติสสะปริพาชก ต้องการข้อความสั้นๆ ท่านก็พูดข้อความสั้นๆ ให้ฟัง เป็นรูปคาถาเดียวว่า “สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ พระผู้มีพระภาคจับเหตุของสิ่งนั้น และความดับของสิ่งนั้นด้วยการดับเหตุ”
พูดเท่านี้เข้าใจ คือเข้าใจว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา ท่านเข้าใจ เข้าใจทันที เป็นของใหม่ เป็นแนวคิดใหม่ที่พระพุทธเจ้านำไปสอนในสมัยนั้น ท่านเข้าใจเลยถามว่าเดี๋ยวนี้พระผู้มีพระภาค พระบรมครูของเรา เรียกว่าท่านเป็นครูแล้ว พระบรมครูของเราน่ะพักที่ไหน บอกว่าที่เวฬุวัณ พระคุณเจ้าไปก่อน ผมจะไปชวนเพื่อนตามไปทีหลัง แล้วก็บอกเพื่อนตามไปได้ไปบวชในพระศาสนา
นักบวชลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้ามีกิริยาอาการแปลกจากนักบวชที่อยู่ในสมัยนั้น คือการจัดของพระองค์ในเรื่องการเป็นการอยู่ เสนาสนะทุกอย่างเรียบร้อย เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาเลื่อมใสของชาวบ้าน ระบบการบวชก็ดีขึ้น แล้วก็นับถือกันตามลำดับชั้น คนบวชก่อนเดินหน้า คนบวชหลังเดินตามหลัง ไปไหนเดินเป็นแถวสวยงาม อันนี้คือระเบียบในพระศาสนาที่พระองค์ได้บัญญัติขึ้น ปรับปรุงนักบวชเก่าให้เป็นนักบวชใหม่ แล้วก็ปรับปรุงความคิดความเห็นความเชื่อซึ่งมันเก่าๆ ไม่มีเหตุมีผลให้เป็นความเชื่อที่สมบูรณ์ด้วยเหตุผลขึ้น นี่ความเป็นมามันเป็นอย่างนี้ วันนี้ก็เป็นวันบวชนาคเลยพูดเรื่องบวชให้ญาติโยมฟังเสียหน่อยก็พอสมควรแก่กาลเวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที