แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอทุกท่านอยู่ในอาการสงบ นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงชัดเจน แจ่มแจ้ง และจงตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดีเพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนที่เราทั้งหลายได้ปฏิบัติกิจในทางพระศาสนามาเช่นเดียวกัน เดือนหน้าก็เป็นเดือนกรกฎาคม เป็นเดือนสำคัญอีกเดือนหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา เพราะมีวันที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงปฐมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เรียกว่า วันธรรมจักร เพราะเป็นวันที่ประกาศธรรมจักรแก่ปัญจวัคคีย์ ตกในวันที่ 12 เดือนหน้า เราก็จะได้มาบำเพ็ญบุญกันตามเรื่องตามประเพณีต่อไป
การมาวัดทุกวันอาทิตย์ ก็เหมือนกับว่าเรามาอาบน้ำ แต่ว่าไม่ใช้น้ำในคลองในบึงหรือน้ำท่าน้ำฝน เป็นน้ำพระธรรม น้ำพระธรรมนี้เป็นน้ำสะอาดปราศจากเปลือกตม พระผู้มีพระเจ้าตรัสว่า …… (01.54 เสียงไม่ชัดเจน) แปลว่าธรรมะเหมือนน้ำที่ไม่มีเปลือกตม
น้ำเป็นของเย็น เป็นสิ่งสะอาด มีไว้สำหรับชำระล้างสิ่งโสโครกให้หมดไปจากสิ่งที่มันมีอยู่ เช่น ร่างกาย จิตใจของเราก็ต้องชำระด้วยน้ำ ร่างกายเปื้อนล้างน้ำมันก็หายเปื้อน แต่ใจเปื้อนมันจะล้างด้วยน้ำมันก็ไม่ได้ แต่ต้องล้างด้วยน้ำคือพระธรรม
พระธรรมเป็นน้ำสำหรับล้างใจ ชำระใจของเราให้สะอาดปราศจากสิ่งเศร้าหมอง สิ่งเศร้าหมองที่เกิดขึ้นในใจนั้นมันสร้างปัญหาคือ สร้างความทุกข์ ความร้อน ความกระวนกระวายให้เกิดขึ้นในใจเราด้วยประการต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรให้มันมาเกาะจับจิตใจ ควรจะชำระชะล้างให้ออกไปจนกระทั้งหมดไปจากใจของเรา
ใจที่ชำระจนหมดสิ้นแล้วก็เป็นใจที่บริสุทธิ์ เป็นใจที่เข้าถึงความเป็นพุทธะอย่างแท้จริง ความเป็นพุทธะอย่างแท้จริงก็คือ อยู่ที่ใจเรานั่นเอง คือใจเราสะอาด ใจเราสงบ ใจเราสว่าง สะอาดปราศจากสิ่งเศร้าหมองใจ สงบปราศจากความวุ่นวาย สว่างปราศจากความมืดบอด มีปัญญารู้จักทุกสิ่งทุกอย่างตามสภาพที่เป็นจริง เข้าใจอะไรถูกต้องตามที่มันเป็นจริง ไม่หลงผิด ไม่เข้าใจผิดด้วยประการต่างๆ อันนี้เป็นเรื่องที่เราควรเข้าถึง
จุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาของเรานั้นก็อยู่ที่จุดนี้ ไม่ว่าเราจะปฏิบัติในเรื่องอะไร เราให้ทาน เรารักษาศีล เราฟังธรรม เราเจริญภาวนา ทุกเรื่องที่เราปฏิบัติที่เรียกว่าบุญกิริยา คือการกระทำที่เป็นบุญ การกระทำที่เป็นบุญก็คือการทำให้มันดีขึ้นๆ ให้ก้าวหน้าไปในทางที่จะเกิดการเข้าถึงจุดหมายตามทางพระพุทธศาสนา ก็เรียกว่าเป็นบุญทั้งนั้น ทำแล้วสบายใจ ก่อนทำก็สบายใจ ทำอยู่ก็สบายใจ ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้วก็สบายใจ อย่างนี้เรียกว่าเป็นบุญ มันตรงกันข้ามกับบาป
ปาปะ เราเรียกเพี้ยนในภาษาไทยว่าบาป ภาษาบาลีว่า ปา-ปะ แปลว่า เศร้าหมอง ขุ่นมัว มืดบอด เร่าร้อน วุ่นวาย ล้วนแต่เป็นเรื่องตรงกันข้ามกับความสะอาด สงบ สว่าง ปาปะคือความเศร้าหมองเกิดในใจเมื่อใด ใจมืด ใจบอด มองอะไรไม่เห็นชัดตามสภาพที่เป็นจริง คล้ายน้ำที่กำลังเดือดมองอะไรก็ไม่ชัด น้ำขุ่นข้นมองอะไรก็ไม่ชัด น้ำสกปรกด้วยสีด้วยอะไรต่างๆมองอะไรก็ไม่ชัด ใจเราก็เป็นเช่นนั้น
เมื่อมีสิ่งเศร้าหมองอยู่ในใจ เราก็มองอะไรมันก็เป็นไปตามสิ่งที่มีอยู่ในใจ คล้ายกับเราสวมแว่น ถ้าสวมแว่นขาวมองอะไรชัดได้ สวมแว่นดำดูอะไรมันดำไปหมด แว่นแดงก็ดูอะไรแดงไปหมด สวมแว่นเขียวดูอะไรก็เป็นสีเขียวไปหมด มันเป็นไปตามกระจกของแว่น
จิตใจเราก็คล้ายอย่างนั้น ถ้าใจเรามีสิ่งเศร้าหมอง เราก็มองอะไรมันก็เป็นสิ่งเศร้าหมองไป มองไม่เข้าไปถึงเนื้อแท้ของสิ่งนั้น แต่ว่ามองเห็นแต่เปลือกผิวภายนอก นึกเอาตามอาการที่เรามอง ใจเรามันมีความเศร้าหมอง ก็เรามุดมองลงในเรื่องนั้นว่ามันเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส นี้มันเนื่องจากตัวเรามองผิด มองผิด เข้าใจผิดแล้วเอาไปปฏิบัติผิด ทำผิด ปัญหาก็เกิดขึ้น พระพุทธเจ้าของเรา สอนให้ชำระเพื่อให้มันสะอาด ให้ใจของเราสะอาด ปราศจากสิ่งเศร้าหมองใจ
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติไม่ว่าในรูปใด ให้รู้ว่าเรามีจุดหมายเพื่อเรื่องนั้น ถ้ามีจุดหมายเป็นอื่นมันก็ไม่ถูกหลัก เช่น เราไปนั่งเจริญภาวนาแล้วจะให้เห็นนรกมันก็ไม่ใช่ ให้เห็นสวรรค์ก็ไม่ใช่ หรือว่าเจริญภาวนาเพื่อไปพบพระพุทธเจ้าที่เป็นเนื้อเป็นหนังก็ไม่ใช่ เพราะพระพุทธเจ้าที่เป็นเนื้อเป็นหนังนั้นไม่มีแล้วเผาหมดแล้ว เหลือแต่กระดูกที่เราเรียกว่า พระธาตุ ซึ่งเป็นสิ่งสำหรับให้เรานึกไปถึงเนื้อแท้ของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่สิ่งนั้นเป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเราจะมองเห็นสิ่งนั้นไม่ได้ เคยถามคนที่มองเห็นว่า
ถาม : ไหนเห็นอย่างไรเห็นพระพุทธเจ้า
ตอบ : เห็นท่านนั่ง
ถาม : ห่มผ้าสีอะไร
ตอบ : สีเหลืองจ๋อย
ไม่ใช่แล้ว! เพราะพระพุทธเจ้าไม่เคยห่มผ้าสีเหลืองจ๋อย ดังที่เราห่มกันอยู่ในสมัยนี้ พระพุทธเจ้าท่านห่มผ้าจีวรสีกัก ย้อมดินแดง ดินแดงในประเทศอินเดีย อันนี้คนที่มองก็เห็นพระห่มผ้าเหลืองก็นึกว่าพระพุทธเจ้าห่มผ้าเหลือง อันนั้นมันไม่ใช่ภาพแท้ของพระพุทธเจ้า เป็นภาพมายาที่เราสร้างขึ้นในใจของเรา แล้วหลอกตัวเองให้ปลื้มใจว่าได้พบพระพุทธเจ้าแล้ว ไปพบพระพุทธเจ้าที่เป็นวัตถุไม่ใช่พระพุทธเจ้าองค์แท้
พระพุทธเจ้าองค์แท้ไม่ใช่วัตถุ ไม่สีสันวรรณะ ไม่ใช่อะไรอย่างนั้น แต่เป็นสิ่งที่เราสัมผัสได้ด้วยใจ ใจเห็นอะไรเป็นวัตถุไม่ได้ ต้องเป็นเรื่องของนามธรรม ก็เรื่องนามธรรมของพระพุทธเจ้าก็คือ ความสะอาด สว่าง สงบ นั่นแหละ นั้นเป็นคุณธรรมของพระพุทธเจ้าที่เราจะเข้าถึง
ในสมัยปัจจุบันนี้ เราเข้าถึงสิ่งนั้น เราเห็นสิ่งนั้น เห็นด้วยการปฏิบัติขัดเกลาจิตใจของเรา เหมือนกับเพชรที่มันก็มีแววอยู่ในเนื้อในตัวมันแล้ว ไม่ใช่เอาจากข้างนอกไปใส่ลงในนั้น แต่เมื่อขุดมาใหม่ๆมันก็หุ้มห่อด้วยหิน ด้วยสิ่งโครก ถ้าคนไม่รู้ก็ขว้างทิ้งไป แต่คนที่มีความชำนาญในเรื่องนี้เขาก็เก็บไว้ แล้วเอาไปขัดหรือเอาไปเจียระไนเอาสิ่งที่หุ้มห่อนั้นออกไป พอสิ่งหุ้มห่อออกไปก็เห็นแวววาว สีสันสวยงามในรูปต่างๆ มีราคาแพง เม็ดใหญ่ก็ราคาแพงมาก เม็ดเล็กๆก็ราคาน้อยๆ แต่ก็เป็นของมีค่าด้วยกันทั้งนั้น นั่นมันเป็นวัตถุที่เราเห็นอย่างนั้น แสงปรากฏอยู่ในตัวมันแล้ว แต่ว่าเมื่อมีสิ่งอื่นปิดไว้ เราก็ไม่เห็น
ความเป็นพุทธะ อยากจะบอกว่ามันมีอยู่ในตัวเราทุกคน ทุกคนสามารถจะเข้าถึงความเป็นพุทธะได้ แต่ว่าที่เราไม่เข้าถึงก็เพราะว่าเราไม่ปอกเปลือกออก จะกินทุเรียนทั้งเปลือกนี้มันไม่ได้หรอก ต้องปอกเปลือกทิ้งไป เอาแต่เนื้อทุเรียนที่มันหุ้มเมล็ดอยู่ เมล็ดก็กินไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีอะไรจะกิน เอาไปต้มก็ได้เหมือนกัน พอกินได้ แต่ว่าสิ่งที่เรากินนั้นคือเยื่อของทุเรียน มีรสชาติอร่อย ต้องปอกเปลือกทิ้ง
พุทธะคือ ความเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบานแจ่มใส เราก็ต้องปอกสิ่งที่มันหุ้มห่อใจเราออก แล้วเราก็จะได้พบสิ่งนั้น อันนี้ขอให้ญาติโยมเข้าใจว่า สภาพจิตของคนเรานั้น ถ้าพูดโดยธรรมชาติ โดยเนื้อแท้ละก็ เป็นสิ่งสะอาดอยู่ สงบอยู่ สว่างอยู่ แต่ที่มันไม่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะมันมีสิ่งอื่นเข้ามาปกปิดไว้ เรารับสิ่งต่างๆเข้ามาพอกให้มันหนาขึ้นๆด้วยอำนาจความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ได้ศึกษา ไม่เข้าใกล้ผู้รู้ ไม่ฟังคำสอน ไม่เอาไปคิดไปกรองให้เข้าใจแล้วไม่ปฏิบัติ สิ่งนั้นมันก็หุ้มอยู่ตลอดเวลา หุ้มจนหนาเตอะไปเลย เราก็มองอะไรไม่เห็น เห็นแต่สิ่งที่มันหุ้มห่ออยู่ ข้างในมันไม่รู้ว่าเป็นอะไร
เนื้อแท้นั้นข้างในมันสะอาดผ่องใสอยู่ ถ้าเราปอกเอาเครื่องหุ้มออกเป็นชั้นๆ ก็จะเห็นว่าข้างในนั้นสะอาดหมดจด พระผู้มีพระภาคจึงยืนยันข้อนี้ว่า ธรรมชาติจิตเป็นธรรมชาติที่ผ่องใส เศร้าหมองเพราะสิ่งภายนอกมากระทบแล้วเราเก็บไว้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันนี้เขาเรียกว่า กามคุณ
กามคุณ คือสิ่งที่น่าใคร่ น่าพึงใจ น่าเอา น่าเป็น เรียกว่า กามคุณ เป็นสิ่งน่าใคร่ น่าพึงใจ สำหรับคนที่ยังมีเปลือกหุ้มห่อ มีอวิชชาคือความไม่รู้หุ้มห่อจิตใจอยู่ ก็ชอบสิ่งเหล่านั้น หลงในสิ่งนั้น มัวเมาในสิ่งนั้น แสวงหา อยากมีอยากได้ไม่รู้จบไม่รู้สิ้น หาจนไม่รู้ว่าจะเอาไปไหน จะเอาไปทำอะไร มีแต่เรื่องเอาเข้าแล้วไม่คิดว่าจะใช้ให้มันเป็นประโยชน์อย่างไร เป็นประเภท …… ( 14.23 เสียงไม่ชัดเจน) จนไม่รู้จักจบ ไม่ลบออกเสียมั่งมันก็วุ่นวายพอสมควรแล้วก็เป็นทุกข์
เป็นทุกข์เมื่อได้ไม่เหมือนใจ ขาดไปนิดหน่อยก็ว่าขาดทุนจะล่มจะจม แต่ความจริงไม่ถึงขาดนั้นหรอก แต่ว่าเรายึดอย่างนั้น คิดอย่างนั้น มัวเมาอยู่อย่างนั้น จึงขวนขวายแสวงหากัน ถ้าใครมาขัดคอในแนวทางที่เราแสวงหาก็ต้องฆ่ากัน เพราะเดี๋ยวนั้นคนในสมัยนี้จึงฆ่ากันมาก ฆ่าเพราะประโยชน์ขัดกัน ไม่ยอมกันเลยฆ่ากันตาย คนที่ฆ่าเขาแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะอยู่ยั่งยืนค้ำฟ้า มันก็ฆ่ากันต่อไป ฆ่ากันอีกไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น
เพราะว่าเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งไปฆ่าฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายหนึ่งก็ต้องฆ่าอีกฝ่ายหนึ่ง ฆ่ากันจนหมดทีเดียวไม่ต้องฆ่ากันอีก ไม่มีใครชนะ แพ้ทุกคน ไม่มีใครได้ เสียทุกคน อันนี้คนมันคิดไม่ได้ เพราะไม่ได้เข้าใกล้พระ ไม่ได้ฟังคำสอน ไม่ได้เอาธรรมะไปใช้เป็นดวงประทีปส่องทางชีวิต
เขาจึงคิด พูด ทำ ตามอำนาจกิเลส ที่เกิดขึ้นห่อหุ้มจิตใจ คิดด้วยความโลภ คิดด้วยความโกรธ คิดด้วยความหลง คิดด้วยความริษยา คิดด้วยความพยาบาท คิดแข่งชั่วกัน ไม่ใช่แข่งดีกันแล้ว เรียกว่า แข่งชั่วกัน แล้วก็คิดจะทำลายกัน เบียดเบียนกันด้วยประการต่างๆ ระหว่างคน ระหว่างพวก ระหว่างชาติ ระหว่างประเทศ รบกันไม่จบไม่สิ้น เพราะไม่ได้คิด ได้เป็นสัมมาทิฏฐิ ไม่ได้คิดให้มันถูกต้อง ไม่มีเวลาไตร่ตรองเรื่องนั้นโดยละเอียด มีเวลาที่จะคิดว่าจะฆ่า จะฆ่ากันอยู่ตลอดเวลา
ไอ้พวกนักคิดเครื่องมือฆ่าก็ไม่มีปัญญาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นปัญญาฝ่ายโลกียะ ปัญญาที่เป็นไปเพื่อความเศร้าหมอง เพื่อความมืดบอด แล้วก็คิดอาวุธประหัตประหารกันให้ร้ายแรงที่สุดแต่เมื่อตนคิดได้ ฝ่ายหนึ่งมันก็คิดได้เลยคิดกันได้ทั่วหน้า ก็แข่งขันกันสร้างสิ่งนั้นเพื่อจะทำลายล้างกันต่อไป ไม่มีใครสามารถจะพูดกับคนเหล่านั้น ซึ่งไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีใจจะรับ
ตาเนื้อมันมี หูเนื้อมี ใจเนื้อมี แต่ไม่มีตาปัญญา ไม่มีตาในมันมีแต่ตานอก ไม่มีความคิดที่ถูกต้อง ใครพูดก็ไม่เข้าใจ ใครพูดก็ไม่รับฟัง ที่คนไทยเราพูดว่าเลือดเข้าตา เลือดเข้าตานี้มันมองอะไรไม่เห็น มันต้องเหวี่ยงมีด เหวี่ยงพร้าฟันสุ่มไปเรื่อยไป เลยตายกันกองไป เพราะความมืดบอด นี่คืออำนาจกิเลสที่ครอบคลุมจิตใจ ทำให้เป็นอย่างนั้น แล้วก็เป็นทุกข์ มีความเดือดเนื้อร้อนใจ
เราทั้งหลายจึงควรจะได้คิดในปัญหานี้บ่อยๆ คิดว่าเราเป็นทุกข์เรื่องอะไร เรากลุ้มใจเรื่องอะไร สาเหตุมันอยู่ที่อะไร เรื่องอย่างนี้เราเลิกคิดได้ไหม เราไม่ให้มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในจิตใจเราได้หรือไม่ อยากจะบอกว่าทำได้ ถ้าเราพยายามจะทำ แต่ถ้าไม่เชื่อว่าทำได้และไม่พยายามจะทำมันก็ทำไม่ได้ ไม่ว่าอะไรในโลกนี้ ถ้าเราไม่คิดจะทำ ไม่ตั้งใจจะทำ ไม่ทำด้วยความรัก ความขยัน ด้วยความเอาใจใส่ ด้วยการใช้สติปัญญาแล้วมันก็ทำไม่ได้ แต่ถ้าคิดจะทำจริงจังก็ต้องทำได้
ดูพระพุทธเจ้าของชาวเราทั้งหลาย พระองค์คิดว่าจะแสวงหาเครื่องมือสำหรับแก้ไขปัญหาชีวิตให้พ้นจากความทุกข์ในชีวิตประจำวันนี่เป็นความคิดเบื้องต้น เกิดขึ้นในน้ำพระทัยของพระองค์เพราะเห็นความทุกข์ของสัตว์โลก เห็นคนเกิด คนแก่ คนตาย นี่คือเห็นความทุกข์ที่มีอยู่ทั่วๆไป แต่ไม่รู้ว่าทุกข์นี้มาจากอะไร ไม่รู้ว่าเป็นสิ่งแก้ไขได้ ก็ต้องจมอยู่ในกองทุกข์เรื่อยไป ไม่มีทางออก
พระองค์ไม่ได้พอพระทัยที่จะอยู่ในกองทุกข์ ไม่เหมือนกับชาวโลกทั่วไปที่จมอยู่ในกับความทุกข์ตลอดเวลา แล้วก็เห็นผิดไป เห็นทุกข์เป็นสุข เห็นชั่วเป็นดี เห็นความเสื่อมเป็นความเจริญไป เห็นของไม่เที่ยงว่าเที่ยงอะไรอย่างนี้ ในทางธรรมะเขาเรียกว่า สัญญาวิปลาส
สัญญาวิปลาส ก็คือว่าความเห็นไม่เหมือนว่าความจริง เห็นไม่ถูกต้อง เขาเรียกว่าวิปลาสไป เมื่อเข้าใจผิดไปในอย่างนั้น ผู้นั้นก็จะต้องมีปัญหาไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น จะต้องมีความทุกข์เรื่อยไป ไม่มีทางจะแก้ไขได้ แล้วบางทีก็พอใจเสียด้วย เช่น บางคนพูดว่ามันตื่นเต้นดี ตื่นเต้นในการที่ได้หัวเราะ ได้ทำอย่างนั้น ได้ทำอย่างนี้ว่ามันตื่นเต้น รู้สึกว่าสบายใจแต่นั้นมันไม่ได้ผิดอะไรกับเด็กที่กำลังหัวเราะแล้วก็ร้องไห้
เด็กบางทีมันก็หัวเราะแล้วมันก็ร้องไห้ ร้องไห้เสร็จแล้ว เอ้า! เดี๋ยวมันก็หัวเราะอีกแล้ว นั่นมันเป็นเรื่องเด็กอมมือไม่ใช่เรื่องผู้ใหญ่ผู้มีปัญญาแต่ผู้มีปัญญานั้น เมื่อร้องก็ด้วยปัญญา หัวเราะก็ต้องหัวเราะด้วยปัญญา ไม่ใช่ร้องไห้ ฮูฮู ไม่ใช่หัวเราะ ก๊ากๆ ดังที่เราได้ยินใครเขาหัวเราะกัน นั้นมันไม่ใช้ปัญญาเป็นเครื่องประกอบ
ถ้าใช้ปัญญาเป็นเครื่องประกอบ “ห้ามล้อ” จะเกิดขึ้นในใจแล้วจะหยุดกระทำเช่นนั้น พอรู้สึกตัว ฮือ มันไม่เหมาะที่เราจะหัวเราะอย่างนี้ จะเพลิดเพลินอย่างนี้ จะหลงใหลมัวเมาในรูปเช่นนี้ มันไม่เหมาะกับคนเช่นเราที่จะปฏิบัติจิตในรูปเช่นนี้ เกิดความคิด ความคิดที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งจิตใจ ไม่ให้ทำอะไรเกินขอบเขต
ไอ้การทำอะไรเกินขอบเขตนั่นแหละมันมีปัญหา กินเกินขอบเขต ดื่มเกินขอบเขต สนุกเกินขอบเขต อะไรๆมันเกินไป พอเกินแล้วมันยุ่งหล่ะ เรียกว่าสร้างปัญหา แต่ถ้าเรามีเครื่องวัด มีมาตรเป็นเครื่องวัดว่าเท่าไหร่มันจึงจะพอดี เราก็ไม่เกิดปัญหา การไม่มีปัญหาก็คือการไม่มีความทุกข์ ไม่มีความวุ่นวายใจ ไม่มีความมืดบอดในชีวิต ญาติโยมลองคิดดูว่าอันไหนมันดีกว่ากัน มืดดีหรือว่าสว่างดี ปัญญาหรือว่าความหลงดี ต้องคิดให้เห็น ถ้าเราคิดเห็นแล้ว เราก็จะเกิดการแสวงหา
ทำไมเจ้าชายสิทธัตถะจึงต้องหนีออกไปอยู่ในป่า อันนี้เป็นเรื่องน่าพิจารณา น่าคิด เพราะว่าคนเราโดยปกติทั่วไปนั้น ไม่มีใครชอบหนี ชอบเข้าใกล้ ชอบมี ชอบเป็นกันทั้งนั้น เป็นพระเจ้าแผ่นดินนี่ใครๆก็อยากเป็นถ้าเป็นได้ หรือว่าเป็นอะไรที่เขาให้เป็นนี่ก็แย่งกันเป็น เช่นเป็นผู้แทนนี้ก็แย่งกันเป็น อุตส่าห์ลงทุนไปหว่านหาคะแนนเสียงเพื่อให้ได้เป็น ไม่ได้ถามว่าเป็นทำไม เป็นเพื่ออะไร เป็นเข้าไปแล้วควรจะใช้เวลาชีวิต เรี่ยวแรงอย่างไร ก็ไม่ค่อยคิดเท่าไร ขอให้ได้เป็นก็แล้วกัน เอ้า! พอได้เป็นผู้แทนแล้วเกิดอยากต่อ อยากจะเป็นรัฐมนตรี ถ้าได้เป็นรัฐมนตรี ก็แหม๋! อยากจะเป็นนายกกับเขามั่ง อยากไม่จบ
เหมือนพระเรานี่บางทีก็อยากเหมือนกัน อยากจะเป็นท่านพระครู พอได้เป็นพระครูก็แหม๋! อยากจะเป็นเจ้าคุณกับเขาสักหน่อย พอได้เป็นเจ้าคุณและก็นึกฝันๆว่าเมื่อไหร่จะได้เลื่อนเป็นชั้นราช เพื่อได้เลื่อนเป็นชั้นราช แหม๋!อยากจะเลื่อนเป็นชั้นเทศน์ เป็นชั้นเทศน์ไม่พออยากจะเป็นชั้นธรรม อยากจะเป็นชั้นเจ้าคณะรองสมเด็จฯ อยากจะเป็นสมเด็จฯเอ้า! เป็นสมเด็จแล้วจะอยากเป็นอะไรอีกล่ะ อยากจะเป็นสังฆราช มองๆว่าสังฆราชจะตายเมื่อไหร่ กูจะเป็นมั่ง ก็ไม่ตายซักที ตัวอยากเป็นตายก่อน เลยก็ไม่ได้เป็นไป แล้วก็อยู่ด้วยความอยากตลอดเวลา ไม่จบไม่สิ้น ชาวบ้านก็อย่างนั้นทางวัดก็อย่างนั้น
ถ้าไม่ได้ปฏิบัติธรรมแล้ว มันไม่จบ แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรมแล้ว เรื่องมันมันจบไป หยุดเพราะรู้สึกว่า แหม๋! เป็นเท่านี้ก็เหลือเฟือแล้ว เป็นเท่านี้ก็กลุ้มเต็มทีแล้วจะเป็นอะไรอีกนักหนา เช่น เป็นสมภารนี่ไม่มีใครอยากเป็นหรอกถ้าคิดให้ละเอียด นี่พระในวัดนี้ ใครอยากเป็นสมภารมั่งลองเรียกมาถามดูไม่มีใครเอา เป็นลูกวัดสบายกว่า ได้โดยไม่ต้องทำอะไร เก็บผลประโยชน์จากบารมีสมภารกินอยู่สบายแล้ว
พอเป็นสมภารก็ต้องบริหารวัด ตื่นเช้าก็ต้องไปเดินดูนั่นดูนี่ อะไรมันบกพร่อง สร้างโรงเรียนเสร็จกว่าจะเสร็จก็ไปเดินดูวันหนึ่งหลายเที่ยว พอสร้างเสร็จแล้วก็ไปเป็นห่วงอีกว่าเมื่อไหร่จะได้เปิด เอ้า! เปิดใช้แล้วก็ต้องไปดูอีกว่าเขาใช้กันยังไง มีเด็กมาเรียน เช้าก็ต้องไปดูละ เด็กมาแล้วพระทำอย่างไร เอาเด็กเข้าชั้นอย่างไร ไปเดินดูว่าสอนอย่างไร พูดอยู่คนเดียวเด็กฟังหรือเปล่า เรื่องมันเยอะโยม ต้องไปดูไปแลเขาแล้วจะหาใครมาช่วยอีกต่อไป ต้องวางแผนเรื่อย แต่ว่าไอ้อย่างนี่ ถ้าทำเป็นมันก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะเราทำด้วยปัญญา
ทำเพื่อไม่เอาแล้วมันไม่เป็นทุกข์หรอก แต่ถ้าทำเพื่อจะเอาแล้วกลุ้มใจ มีความทุกข์เกิดขึ้นในใจมากมาย ที่นี้เรามันต้องฉลาดทำ อย่าทำด้วยความเขลา อย่าทำแล้วนั่งกลุ้มใจ เอามือกุมขมับ นอนไม่หลับ ต้องกินยาระงับประสาทอย่างนี้มันก็ไม่ได้เรื่อง ไม่ได้ใช้เครื่องมือของพระพุทธเจ้าที่พระองค์วางไว้ให้เราใช้ ไม่หยิบใช้ ใช้ไม่เป็น ไม่รู้คุณค่าของเครื่องมือที่จะใช้ ก็เลยต้องลำบาก ตกนรก ร้อนอกร้อนใจอยู่ตลอดเวลา เป็นทุกข์ตลอดเวลา
เจ้าชายสิทธัตถะท่านมองเห็นว่าไอ้สิ่งนี้มันเป็นปัญหาแต่ว่าจะแก้อย่างไร ยังไม่รู้ทางแก้เหมือนกัน มันต้องไปหา แล้วจะไปหาที่ไหน คิดต่อไป ก็พอดีได้เห็นนักบวช คือว่าก่อนพระพุทธเจ้าเกิดนี่ก็มีคนบวชอยู่แล้ว แต่ว่าไม่ค่อยมีระเบียบ ไม่ได้จัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่มีพอว่าเป็นตัวอย่างว่ามีคนประเภทหนึ่งเบื่อโลก เบื่อความเป็นความอยู่ในที่ …… (28.55 เสียงไม่ชัดเจน) เลยออกไปบวช
บวชเพื่อแสวงหาธรรม เพื่อแสวงหาสิ่งถูกต้องแล้วจะได้ดับทุกข์ได้ เมื่อดับทุกข์ได้แล้ว ไม่ใช่ว่าจะนั่งดับอยู่คนเดียวไม่ใช่อย่างนั้น ผู้ที่ดับทุกข์ตัวเองได้แล้ว มีปกติเอ็นดูคนอื่น สงสารคนอื่นที่กำลังเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์ ให้คนขึ้นจากน้ำได้แล้ว ยืนบนตลิ่ง แต่ว่ามีอีกมากว่ายป๋อมแป๋มๆ อยู่ในน้ำนั้น
คนที่พ้นแล้วก็สงสารคนเหล่านั้น อยากจะช่วยคนเหล่านั้นให้พ้นจากการจมน้ำจะช่วยอย่างไร มีวิธีการใดพอช่วยได้ก็ช่วยดึงขึ้นมา ไม่ใช่ไปยืนดูให้คนเหล่านั้นจมน้ำตายทีละคนๆไม่ใช่อย่างนั้น อันนั้นทำไม่ได้ ไม่ใช่วิสัยของสัตบุรุษ
สัตบุรุษนี้นานๆจะเกิดขึ้นมาในโลกสักครั้งหนึ่ง เกิดมาเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ชาวโลกทั้งหลาย พระพุทธเจ้าไม่ได้เกิดบ่อยๆ เป็นพันปี หมื่นปีจึงจะโผล่ขึ้นมาสักองค์หนึ่งแล้วก็เกิดมาเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย ไม่ใช่เพื่อพระองค์ผู้เดียวทำเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ผู้อื่น อันนี้เราเอาไปเป็นเครื่องมือเพื่อวัดคนได้
วัดคน ไม่ว่าใครจะเป็นอะไร เราเอาเครื่องมืออันนี้ไปวัด วัดว่าคนๆนั้นมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ขนาดไหน วัดได้ถ้าเห็นว่าคนใดมีน้ำใจ เสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ความสุขของเพื่อนมนุษย์ แล้วก็ใช้ความรู้ความสามารถ ทรัพย์สมบัติที่ตนมีเพื่อทำให้คนอื่นได้แสงสว่าง ได้ปัญญา ได้เกิดความสุขขึ้นมาบ้าง นั่นแสดงว่าเขามีส่วนแห่งความเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า
เขามีส่วนแห่งการเดินตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ตนมีเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้อื่นอันนี้เราวัดคนได้ วัดใครๆได้ทั้งนั้น ใครที่เป็นอะไรเราวัดด้วยเรื่องนี้ เอาวิธีการของพระพุทธเจ้ามาเป็นมาตรสำหรับวัดคน ว่ามีความเสียสละขนาดไหน ได้ใช้ความรู้ความสามารถทรัพย์สมบัติ บริวารที่ตนมีไว้นั้น เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่พลโลกขนาดไหน
ถ้าได้ใช้สิ่งที่ตนมีเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่พลโลกมากเท่าใด ก็เรียกว่ามีความเป็นผู้เดินตามรอยพระพุทธเจ้ามากเท่านั้น อันนี้เป็นเครื่องวัดได้ เราเรียนรู้เรื่องพระพุทธเจ้าก็ต้องเอามาใช้เหมือนกันแล้วอย่าวัดแต่คนอื่นนะ วัดตัวแกมั่ง วัดตัวเองว่าเรานี้ ได้ใช้สติปัญญา ความสามารถ ทรัพย์สมบัติเป็นประโยชน์เป็นความสุขแก่เพื่อนมนุษย์ขนาดไหน เราใช้ด้วยใจบริสุทธิ์ หรือว่าใช้เพื่ออะไร ทำประโยชน์เพื่ออะไร เราต้องสอบถามตัวเอง
ถ้าเห็นว่าเราได้ทำประโยชน์ทำความสุข เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ผู้อื่นอย่างแท้จริงโดยไม่หวังอะไรตอบแทน นอกจากว่าต้องการเห็นเพื่อนมนุษย์มีความสุข ก็เรียกว่าเรามีส่วนแห่งความลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าเข้าไปมากแล้ว เดินต่อไป ตามรอยเท้าของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าท่านเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เพื่อนมนุษย์พูดถึงเรื่องนี้แล้วน่าภูมิใจ น่าภูมิใจว่าพระพุทธเจ้าของเรานั้น ท่านสมบูรณ์ ไม่ใช่คนขาดแคลน สมบูรณ์ทุกอย่าง อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย ผู้คนบริวารสมบูรณ์ต้องการอะไรก็ได้ดังใจ พูดว่าจะเอาอะไร จะมีอะไรนี่มันได้ทุกอย่าง ไม่มีคำขัดข้อง ไม่มีคำว่าไม่มี ไม่เคยได้ยิน มีทุกอย่างได้ทุกอย่าง
ถ้าเป็นคนธรรมดาสามัญก็จะหลงเพลินอยู่ในสิ่งนั้นไม่ไปไหนแล้ว จมอยู่ในสิ่งนั้นแหละ เมาอยู่ในสิ่งนั้นแหละ ไม่ไปไหนแล้ว แต่ว่าพระองค์ไม่ได้มัวเมา ไม่ได้เพลิดเพลินหลงใหลในสิ่งเหล่านั้น อันนี้เขาเรียกว่าน้ำใจมหาบุรุษ
มหาบุรุษนั้น มันไม่ใช่มีมากนะในโลกนี้ ที่เขาเรียกว่ามหาบุรุษนั้น มหาบุรุษนี้นะ มันไม่ใช่หรอก มันเป็นพวก Statesman ฝรั่งเขาเรียกว่า Statesman เป็นคนของรัฐ เป็นคนของประชาชน เป็นนักการเมือง แต่บางทีเลยเถิดเป็นนักปล้นไปซะด้วยซ้ำไป พวก …… (35.18 เสียงไม่ชัดเจน) ไปเที่ยวปล้นเขาไปเรียกว่าเป็นมหาบุรุษได้ยังไง
มหาบุรุษต้องมีจิตใจประกอบด้วยความกรุณาอย่างยิ่ง เสียสละอย่างยิ่ง พร้อมที่จะสละประโยชน์ความสุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ส่วนรวมและต้องเป็นเพื่อสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นถูกต้อง อันนี้ไม่ใช่เกิดบ่อยๆ ไม่ได้มีได้บ่อยๆ นานๆจะมีขึ้นสักครั้งหนึ่งในโลกนี้
พระพุทธเจ้านี้ไม่ได้เกิดบ่อยๆ แต่เกิดขึ้นสักครั้งก็ใช้กันไปเป็นพันๆปี สิ่งที่พระองค์ได้ค้นพบนั้นมีประโยชน์เหลือล้น ใช้ไม่หมดไม่สิ้น ใช้ได้ตลอดเวลา นี่คือความเสียสละที่ออกไปทรมานร่างกาย แสวงหากว่าจะได้มาก็เกือบเอาชีวิตไปทิ้งไว้ในป่า แต่ว่าเป็นบุญของชาวโลกที่จะได้เห็นแสงสว่างของพระธรรม พระองค์จึงได้ค้นพบและก็นำมาประกาศแก่ชาวโลกทั้งหลายอันนี้เป็นเรื่องที่เราน่าปลื้มใจ
เมื่อปลื้มใจแล้วก็ควรที่จะได้เดินตามรอยเท้าของพระพุทธเจ้า อย่ามาเดินชมรอยอยู่ อย่ามายืนชมอยู่ที่หน้าประตู ว่าแหม๋! ทางนี้น่าเดิน แต่ไม่เดินซักที ชมอยู่ที่ประตูนั้นเอง ไม่ได้เข้าไปเดินซักที จนตายคาประตูอยู่นั่นเองไม่ได้เข้าไปซักหน่อย อย่างนี้มันก็ไม่ได้เรื่อง เหมือนอาหารวิเศษยกมาดูแล้วก็นั่งชมแต่ไม่กินแล้วมันจะได้เรื่องอะไร มันบูดเสียเปล่าๆไม่ได้กินซักหน่อยไม่ได้เรื่อง
เพราะฉะนั้นเราจะต้องเดิน พระพุทธเจ้าบอกว่าเดิน เดินต่อไป เดินอย่าหยุดจนกว่าจะถึงจุดหมาย เมื่อยังไม่ถึงจุดหมายเธออย่าหยุดเป็นอันขาด เดินต่อไป เดินด้วยความเพียร ด้วยความอดทน ด้วยความตั้งใจมั่น เมื่อยังไม่ถึงจุดหมายคือความสะอาด สงบ สว่างทางใจ เราจะไม่หยุด เราก็คงได้พบสิ่งนั้น ไปไม่หยุดมันก็ต้องพบ ยิ่งไปมันก็ยิ่งใกล้ ยิ่งหยุดมันก็ยิ่งไกล เดินทางเป็นอย่างนั้น เดินไปมันก็เข้าไป หยุดมันยิ่งไกลใหญ่ เพราะฉะนั้นต้องเดินอย่าหยุด เดินช้าแต่ไม่หยุด ไม่ต้องวิ่งกระหืดกระหอบจนลิ้นลอก แล้วก็ไปนอนหอบแฮกๆไม่ได้เดินต่อไป ไม่ได้ เดินตามสบาย เดินพอดีๆ จนกว่าจะถึงจุดหมายที่เราต้องการ อันนี้สำคัญ ทีนี้เรามันไม่ค่อยเดินกัน ไม่เดินก็ไม่ว่า บางทีก็มาทำสิ่งไม่เหมาะไม่ควรเสียอีก
เมื่อวานนี้ไปเทศน์เมืองสุพรรณฯ ศพของพระครูกิติโสภณ อายุ 63 ปี มรณภาพ เขาก็มานิมนต์ไว้ตั้งแต่ก่อนไปประเทศอังกฤษ ได้รับไว้ว่าถ้ามาทันก็จะไป ถ้ามาไม่ทันก็ไม่รู้จะไปอย่างไร เขาก็คอยฟังข่าว พอดีไปออกวิทยุ เขาก็รู้ว่ามาแล้ว มาแล้วก็ต้องไป ก็เลยเขาโทรศัพท์มาว่าจะส่งรถมารับ บอกไม่ต้องหรอก เช้าฉันจะไปเทศน์ที่อยุธยาก่อน แล้วกลับมาวัด พบญาติโยมพ่อแม่เจ้านาค เดี๋ยวนี้ไปสุพรรณฯมันใกล้นิดเดียว ถนนดีวิ่ง ๑๒๐ ก็ได้ ถ้าไม่มีรถสวน เราก็ไปเร็วไปถึงจุดหมายปลายทาง๑ชั่วโมงครึ่งนะไปถึงได้แล้ว
ไปถึงก็ขึ้นไปแสดงความคารวะศพด้วยการยืนสงบหน้าศพ พิจารณากรรมฐาน บอกตัวเองว่า เอ้อ! ระวังไว้เถอะแกก็จะตายซักวันหนึ่ง พิจารณาอย่างนั้น แล้วก็บอกพระว่าจะเดินลงไปดูวัดหน่อย อาตมาไปวัดไหนต้องไปเดินสำรวจวัดด้วย เดินดูรอบบริเวณ
เดินขึ้นกุฏิ ขอเข้าห้องน้ำ มีครัวก็ไปดูในครัวหน่อย ว่าถ้วย ชามมันวิ่งเล่นกันอยู่หรือเปล่า เพราะว่าครัววัดโดยมากถ้วย ชาม มันมักวิ่งเล่นกันเผล้นพร้าน เกะกะเต็มบริเวณ วิ่งเล่น หยอกล้อกัน ซ่อนหากัน ก็ขึ้นไปดูๆจะได้มาพูดมั่ง หาเรื่องพูดไปจนได้จนเข้าเรื่องจนได้แหละ
คราวนี้ก็เดินไปที่ริมน้ำ มีคนกลุ่มหนึ่ง นั่งกินเลี้ยงกัน เขาคงจะรู้จักอาตมานิดหน่อย พออาตมาเดินเขาทำซุบซิบๆ …… (40.50 เสียงไม่ชัดเจน) แต่ว่าอาตมาก็เดินรอบ เหมือนเล่นซ่อนผ้า เดินรอบ ไอ้พวกนั้นก็ เอ๊ะ พระองค์นี้มาเดินดูอะไร มาเดินรอบเรา เดินเพื่อหาเรื่อง พอเดินรอบก็เห็นแก้วใบหนึ่งใส่น้ำไม่ใช่ชา ไม่ใช่กาแฟ ไม่ใช่อะไรแต่เป็นน้ำบางยี่ขัน เอ๊ะน้ำอะไรสีแปลกๆ ถามหาเรื่อง เขาบอกว่าน้ำชาครับ ชายี่ห้อไหนสีนี้อ้อ ยี่ห้อบางยี่ขันนี่ และก็มองๆไปก็เห็นขวด๒ใบเอาผ้าห่อไว้ เอ้ ขวดนั้นทำด้วยอะไรจึงได้ห่อมิดชิดหนักหนา ก็ขวดธรรมดาหลวงพ่อ แล้วมีน้ำอะไรในขวดอ่ะ หัวเราะแฮะๆ ไม่ตอบ ถามต่อไปว่า พวกเรามาจากไหน มาจากกรุงเทพฯ อ้อ มาจากกรุงเทพฯรึ ชาวกรุงเทพฯรึ เป็นเจ้าคนมาจากเมืองเจริญรึ ว่าตอกเข้าไปสองสามคำ พวกนั้นก็นั่งเฉยๆ บอกว่าแหม๋! เราอุตส่าห์มาจากกรุงเทพฯนะ ฉันนี้ไม่ใช่คนกรุง ฉันมันพระเมืองนนฯ อยู่ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี แต่มาเห็นชาวกรุงเทพฯมาแบบนี้ฉันรู้สึกไม่สบายใจ นี่เรามาทำอะไร ถามต่อไป มางานศพท่านพระครู มาทำบุญหรือมาทำบาป เขาก็ตอบว่ามาทำบุญ แล้วนี้นั่งตรงนี้ นั่งทำบุญหรือนั่งทำบาป หัวเราะ แฮะๆ ไม่ตอบล่ะ ตอบมันก็คงเศร้าซิ หัวเราะเสีย หัวเราะแล้วก็เลยเทศน์ให้ฟัง บอกว่านี่แหละเรานี่
แล้วมีคนหนึ่งแขวนพระเต็มคอเลย แล้วนั่นแขวนไว้ทำไมล่ะพระ แขวนด้วยความโง่หรือว่าด้วยปัญญา แขวนไว้เพื่อป้องกันศึก ป้องกันอะไรได้ ป้องกันไม่ให้ตัวกินเหล้าก็ยังทำไม่ได้เลย จะป้องกันอะไรได้ เราแขวนพระห้อยคอไว้ ยกแก้วเหล้าข้ามหัวหลวงพ่อสบายๆ ไม่ได้เคารพ ไม่ได้ละอายหลวงพ่อสักหน่อย แล้วเอาผูกคอไว้ทำไม เอาไปผูกคอสิ่งอื่นซะยังจะดีกว่านี้ ว่าให้มันหนักเข้าไปหน่อย พวกนั้นไม่ลุกขึ้นเตะก็ดีแล้ว เลยก็เอาผูกไว้ทำอะไร เขามีพระห้อยคอไว้เพื่อเตือนใจ ไม่ให้เราทำชั่ว อันนี้เรามีพระห้อยคอแล้วมานั่งดื่มเหล้าในวัด ไม่เคารพสถานที่ ไม่เคารพพระพุทธ ไม่เคารพพระธรรม ไม่เคารพพระสงฆ์ ถูกต้องไหม ไม่ถูกอ่ะ ไม่ถูกแล้วทำไมทำ ก็ไม่เห็นใครว่า อ้อ ถูกต้องของเขา พระก็ไม่สอนนี่ ไปวัดไหนก็กินได้นี่ ไม่ใช่ดื่มแต่ข้างวัดนะ ดื่มบนศาลาก็ยังได้ สมภารนั่งยิ้มให้ขี้เมาชม เอ้อ! หลวงพ่อใจดี ดียังไง ดีว่ากินเหล้าต่อหน้าก็ได้นะ นี่นะวัดชิบหาย มันก็ยังดีอยู่นั่นแหละนะ มันไม่ได้เรื่องอะไร อันนี้ก็พอไปสอนเข้ามั่ง ก็อันนี้หลวงพ่อสอนก็ดีเหมือนกันและก็เดินต่อไป
ฝากให้คิดว่าอะไรเป็นอะไร เป็นอย่างนี้ เป็นซะอย่างนี้ คือ เราไม่เดินตามพระพุทธเจ้า แต่ว่าชอบเดินนอกทาง ทั้งๆที่เรามักจะมีสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไว้ที่เนื้อที่ตัว แต่ไม่ใช้การปฏิบัติ อย่างนี้ก็ได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า
ขึ้นไปเทศน์บนศาลา เทศน์ ๑ ชั่วโมง ก็เอาเรื่องนี้เข้าไปใส่ไว้ด้วยเหมือนกัน เตือนไว้ ว่าเลือดสุพรรณฯนี้มันต้องสดใสหน่อย ต้องช่วยกันรักษาคุณงามความดี ให้เจริญให้ก้าวหน้าต่อไป อย่าทำอะไรที่มันยุ่งยากเสียหาย ก็สอนไป เตือนไปตามหน้าที่ พวกสุพรรณฯไม่ขว้างศีรษะก็ดีถมไปแล้ว เทศน์อย่างนั้นนะ
เราเทศน์ด้วยความปรารถนา พูดให้เข้าใจในเรื่องอย่างนั้น เขาไม่โกรธหรอกพูดให้เขารู้เรื่อง ให้เขาเข้าใจและก็ได้ประโยชน์ เขาอาจจะเอาไปนึกได้คิดได้ อันนี้แหละอยากจะฝากๆไว้ เวลาเราจะทำอะไรในกิจกรรมทางพระศาสนา พยายามที่จะให้บริสุทธิ์ ให้สะอาด ให้สงบ ไว้เสมอ ถือหลักไว้ว่า สะอาด สงบ สว่าง อย่าเอาสกปรก วุ่นวาย เร่าร้อน มืดมัวไม่เอา ถือหลักว่าทำเพื่อให้เกิดความสะอาด เพื่อให้เกิดความสงบ เพื่อให้เกิดความสว่าง เช่น เราจะบวชลูกนี่ ที่นี่นะเรียกว่าทำได้แล้ว ญาติโยมก็พอใจแล้ว
แต่เมื่อวานนี้มีมารายหนึ่ง บอกว่าลูกชายฉันนี้อยากจะให้บวชสามเณรก่อนแล้วจึงจะบวชพระ บอกว่าโยมเขาบวชเณรก่อนทั้งนั้นแหละเวลาบวชที่ไหนๆ เขาก็บวชเณรก่อนทั้งนั้นแหละ ไม่ใช่ว่าบวชแล้วถึงจะเป็นพระได้เลยก็ต้องเป็นเณรก่อน บวชเป็นสามเณรรับศีล ๑๐ ประการ เสร็จแล้วจึงจะไปบวชพระกันในโบสถ์ บอกว่าอยากจะให้บวชเณรหลายๆวันหน่อย บอกว่าทำไมต้องบวชหลายวันล่ะ ได้บนบานศาลกล่าวไว้ ว่าลูกชายคนนี้จะให้บวชเณรแล้วจะให้บวชพระต่อไป บอกว่านี้แหละมันแก้บนอยู่ในตัวแล้วเพราะว่าบวชเณรด้วย บวชพระด้วยอยู่ในตัวแล้ว แกบอกว่า บนบานไว้ว่าให้บวชก่อนสัก ๕ วัน บอกว่ามันมาอยู่วัดนี่ก็บวชแล้ว มาอยู่วัดนี้ก็ถือศีลแล้ว ไม่ให้กลับบ้านแล้ว ไม่ให้กินข้าวเย็นแล้ว มาอยู่วัดนี้ก็บวชอยู่ในตัวแล้ว พูดไม่ทันจบเรื่องก็รีบไปแล้วบอกว่าวันหลังค่อยมาคุยกันใหม่อีกสักทีก็ได้ คือไปเที่ยวยึดอะไรๆไว้ให้มันวุ่นวายสับสนในจิตใจ เป็นพันธะผูกพันทำให้เกิดเป็นปัญหา
เราจะไปสร้างพันธะทางใจ อย่าสร้างในเรื่องที่มันยุ่ง สร้างในเรื่องที่มันจะเกิดประโยชน์ถูกต้อง เช่นว่า ถ้าเราป่วยหนัก แล้วพูดว่า แหม๋! ถ้าหายป่วยคราวนี้ จะเป็นคนรักษาศีล๕ เคร่งครัดตลอดชีวิต หายป่วยคราวนี้จะไม่เล่นการพนันทุกประเภท จะไม่ดื่มของมึนเมา จะไม่เที่ยวกลางคืน จะไม่คบคนชั่ว ไม่ส่งเสริมความชั่วไม่จัดงานสนุกสนานในทางสิ้นเปลือง ไม่ขี้คร้าน ไม่เหลวไหล อธิษฐานใจอย่างนั้น ไม่ต้องไปสัญญากับใครๆให้มันวุ่นวาย สัญญากับตัวเอง แล้วก็ทำเสีย เมื่อหายป่วยแล้วก็ทำเสีย มันก็เรียบร้อย
อันนี้ไปสัญญากับหลวงพ่อ จะเอาหัวหมูไปถวาย จะเอาไก่ย่างไปถวาย จะเอาทองไปปิด จะเอาละครชาตรีมารำให้หลวงพ่อดู หลวงพ่อที่ไหนชอบละครชาตรี หลวงพ่อในโบสถ์ไม่ชอบหรอก หลวงพ่อบนกุฏิชอบหน่อย เราก็ไปทำอย่างนั้น เรียกว่ามันไม่ถูกตามหลักการของพระพุทธเจ้าแล้วมันก็ยุ่งไง ไม่ได้ทำก็ยุ่ง ถ้าทำมันก็ต้องเสียสตางค์มาก หาเรื่องให้เสียสตางค์ แต่ถ้าเรางดเว้นจากการเล่นการพนัน จากการดื่มของเมา จากการเที่ยวกลางคืน จากการคบเพื่อนชั่ว จากการจัดงานสนุกสนานสิ้นเปลือง จากความเกียจคร้าน ไม่ต้องเสียอะไร ได้กำไร ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องเสียอะไรมีแต่ได้ ทำไมไปอธิษฐานให้มันยุ่ง ให้มันเสียสตางค์มากๆ
อธิษฐานในเรื่องที่ไม่ยุ่งแล้วเป็นเรื่องที่เป็นไปเพื่อความขูดเกลา ทำให้จิตใจเราสะอาดขึ้น สงบขึ้น สว่างขึ้น ไม่ดีกว่ารึ ไม่ได้แนะนำกันอย่างนั้น ญาติโยมจึงยังทำอะไรมันผิดๆกันอยู่ แล้วชอบไปสัญญากับสิ่งไม่เข้าเรื่อง ไปสัญญากับเสา ไปสัญญากับก้อนหิน ไปสัญญากับจอมปลวก ไปสัญญากับต้นไม้ ซึ่งมันไม่มีประโยชน์ ไม่สำเร็จตามตัวบทกฎหมายอะไรทั้งนั้นแหละ ไม่ได้เรื่องอะไรทั้งนั้นแหละ เราจะเพิกถอนสัญญาขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ มันไม่เสียหาย เขาไม่ได้ฟ้องศาลหรอกไอ้เรื่องอย่างนั้น
แต่ถ้าเรามาสัญญาว่าจะแก้ไขตัวเราให้ดีขึ้นอะไรที่บกพร่อง เราแก้ไขเสียทำให้มันถูกต้องเสียนั้นแหละมันถูกต้อง เช่น เราเป็นคนขี้โกรธ ใจร้อน ใจเร็ว ก็อธิษฐานใจว่าต่อไปนี้จะไม่โกรธ จะไม่ใจร้อนใจเร็ว แล้วทำอย่างไรมันจึงจะไม่โกรธ ต้องนึกไว้ทุกลมหายใจเข้าออก ว่าฉันไม่โกรธ ฉันไม่โกรธ หายใจเข้าฉันไม่โกรธ หายใจออกฉันไม่โกรธ เวลาจะไปหาใครก็บอกตัวเองว่า อย่าใจร้อนนะ พูดดีๆนะ ใจเย็นๆนะ อย่าไปโกรธเขานะ อย่าไปด่าเขานะ อย่าไปชี้หน้าเขานะ นึกทุกลมหายใจ มันไม่มีโอกาสที่ความโกรธจะแทรกเข้ามา เพราะเรานึกไม่โกรธไว้ทุกลมหายใจแล้ว ไม่เกลียดไว้แล้ว มันก็เรียบร้อย จนกว่ามันจะชิน พอชินแล้วมันก็ไม่เป็นไรที่นี้ก็เย็น
เรื่องอื่นก็เหมือนกัน เราจะละอะไร จะเลิกก็ทำไว้ทุกลมหายใจในเรื่องอย่างนั้น ว่าเราจะไม่ทำสิ่งนั้น จะไม่ทำสิ่งนี้ทุกลมหายใจ เข้า-ออก ภาวนาไว้ตลอดเวลาแล้วไอ้เรื่องชั่วมันก็ไม่แทรกแซง มารร้ายไม่เข้ามาแตะต้องจิตใจของเรา เราก็ปลอดภัยมีความสุข มีความสงบในชีวิตประจำวันนี่อย่างนี้จึงจะเป็นการถูกต้องตามหลักการในทางพระพุทธศาสนา เราเป็นพุทธบริษัทต้องเดินตามรอยเท้าของพระพุทธเจ้า อย่าไปเดินตามรอยเท้าผู้อื่น สิ่งอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับรัตนตรัย ต้องเดินตามรอยเท้าพระพุทธเจ้าตลอดเวลา
มีเรื่องขำเรื่องหนึ่ง ไปที่มีนบุรีตรงนี้ ไปเทศน์กับพวกครู เทศน์เสร็จแล้วก็ไปฉันอาหารในห้อง เขาทำสวย ห้องจริยศึกษา มีห้องโถงยาว ปูพรมสีเขียวเต็มห้อง มีพระพุทธรูป มีตู้ประไตรปิฎก มีอะไรต่ออะไรมีธรรมมาศด้วยนะ ห้องจริยศึกษาสำหรับอบรมเด็กนักเรียนโรงเรียนนั้น ครูใหญ่จัดดีและบริเวณสะอาดเรียบร้อย ปลูกดอกไม้ได้สวยงามมาก ก็ชมเขาว่าจัดดีโรงเรียนนี้ควรเป็นตัวอย่าง นี่ขนาดฉันอาหารนะ
ครูก็มาเล่าให้ฟังว่า แหม๋! เรื่องใหญ่โต เรื่องว่าครูพานักเรียนไปที่พระบรมมหาราชวัง ไปถวายบังคมพระบรมศพของสมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ นักเรียนก็ไปกันมาก ครูพาไป มีนักเรียนอิสลามไปด้วย ครูก็ไม่ได้บังคับไม่ได้ว่าอะไรหรอก แต่ว่านักเรียนมันมีความสำนึกว่าเราอยู่ในหมู่ก็ต้องทำให้เหมือนหมู่ เด็กมันฉลาด มันใช้ได้เด็กอย่างนี้ เด็กเขาก้มกราบ มันก็กราบด้วยนะ เด็กอิสลามมันก็กราบ กราบโดยที่ไม่ได้นึกว่าอะไรเป็นอะไรหรอก กราบไปตามเรื่องมัน กลับมาถึงบ้านมันก็เล่าให้พ่อแม่ฟังเป็นเรื่องสนุกนั่นเอง ว่าได้ไปกราบ แหม๋! พ่อ-แม่ พอรู้ว่าลูกไปกราบสมเด็จพระศพนี่เป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาแล้ว โกรธแล้ว ไปเที่ยวบอกเพื่อนบ้านไม่ได้ต้องเดินขบวน เดินขบวนไปที่โรงเรียนไปหานายอำเภอ บอกว่าครูใหญ่โรงเรียนนี้ใช้ไม่ได้ พาลูกผมให้ไปไหว้สิ่งที่ไม่ควรไหว้ ต้องถอดครูใหญ่ ต้องเอาคนอิสลามมาเป็นครูใหญ่ ถ้าไม่เอาครูใหญ่ออกจะเอาดินคืน จะไม่ให้สร้างโรงเรียนต่อไป เรื่องไปกันใหญ่โตแล้ว อาตมาฟังแล้วก็นึกขำในใจว่า เฮ้อ เรื่องนิดเดียว
เด็กมันไม่ประสีประสามันไปทำ แล้วไอ้ที่เด็กมันไปไหว้ก็ไม่ใช่ว่ามันเสียหายอะไร มันเป็นเรื่องดีมีประโยชน์ แต่ว่าพ่อ แม่นี้คือว่าเคร่งศาสนาจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรไปกันใหญ่ ทำให้เกิดเป็นปัญหาแล้วไม่จบ นายอำเภอหัวเสียไปในเวลากับไอ้เรื่องนี้ในเวลานี้ คือความไม่เข้าใจในเรื่องอะไรที่ว่าเป็นอะไร ยึดถือมากเกินไป เลยเกิดเป็นปัญหาทำให้ยุ่งยาก ครูก็ไม่รู้เหมือนกัน เรื่องว่าจะเกิดเรื่องอย่านี้ ครูก็ไม่ได้สั่งอะไร เด็กมันทำของมันเอง ครูก็สารภาพว่าไม่ได้สั่ง ไม่ได้บังคับ แต่ว่าคนอื่นเขาทำมันก็ทำด้วย มันจะไปยืนโด่อยู่อย่างไรคนอื่นเขานั่งหมดแล้ว เราไปยืนโด่อยู่มันก็เรียกว่าไม่ถูกกาลเทศะ ลูกทำถูกแต่พ่อเข้าใจไม่ถูกเลยเกิดเป็นปัญหาขึ้นอันนี้แหละที่มันได้เกิดรบกันอยู่ในระหว่างประเทศแขกซิก ….. (55.20 เสียงไม่ชัดเจน) ในประเทศอินเดีย ได้รบกันก็เพราะเรื่องอะไร เรื่องนิดหน่อย อยู่เลบานอน อิรัก อิหร่านที่เขายุ่งกันอยู่นี้มันเรื่องอะไร เรื่องเล็กน้อย เรื่องไม่เข้าถึงธรรมะของศาสนา แต่ไปติดอยู่ที่เปลือกผิวนิดๆหน่อยๆ เรียกว่าจะกินหนามทุเรียนให้ได้ แต่ไม่ปอกเอาเปลือกออกแล้วกินเนื้อในมันก็ยุ่งอย่างนี้เป็นปัญหาอย่างนี้ นี้น่าคิดเอามาเล่าสู่กันฟังว่ามันเป็นเรื่องประหลาดเกิดขึ้น นี่พี่น้องอิสลามถ้าได้อ่านกัณฑ์เทศน์อาจจะแห่มาวัดชลประทานก็ได้
ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจซักที ทำความสงบใจคือนั่งตัวตรง หลับตา กำหนดลมหายใจเข้า - หายใจออก ให้รู้อยู่ที่ลมเข้า - ลมออก คุมไว้อย่าให้ไปไหน ให้อยู่ที่ลมเข้า ลมออก ตลอดเวลา ๕ นาที