แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะแล้ว ขอให้ทุกคนอยู่ในอาการสงบตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เขามีการปรับปรุงถนนสายที่ออกไปจากนี่ผ่านหน้าโรงเรียน สร้างใหม่คือใช้ปูนซีเมนต์ลาด เพราะฉะนั้นรถที่จะเข้ามาในบริเวณนี้ทางประตูนั้นก็เข้าไม่ได้ ไปเข้าทางด้านใต้แล้วก็จอดไว้ตามบริเวณที่พอจอดได้ ไม่ต้องเข้ามาถึงหน้าโรงเรียนที่ฟังเทศน์นี้ก็ได้ ญาติโยมลงรถแล้วก็เดินเสียบ้างจะได้บริหารแข้งขา ร่างกายจะได้แข็งแรง เวลานี้ใช้รถมากจนกระทั่งว่าเดินกันไม่ค่อยได้ ขาลีบขาเรียวไปตามๆกัน เพราะฉะนั้นเดินเสียบ้างจะได้แข็งแรงดี แล้วก็ถึงเวลาฟังธรรมแล้วอย่าเดินไปเดินมาให้มันวุ่นวาย นั่งพักเสีย ณ ที่ใดที่หนึ่งซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงได้ แล้วจงตั้งใจฟังด้วยดีเพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้ท่านทั้งหลายจะเห็นว่าที่บริเวณหินคู่มีพระเณรเพิ่มขึ้น คือสามเณรบวชเมื่อวันที่ ๑ นี้ ๙๖ รูป แล้วก็บวชพระ ๕๓ รูป วันที่ ๑ นี่บวชนานที่สุดตั้งแต่เป็นอุปัชฌาย์มา คือบวชตั้งแต่เที่ยงครึ่งจนกระทั่งสามทุ่มจึงเสร็จ กว่าจะออกจากโบสถ์ได้นี่สามทุ่ม อาตมานึกว่ามันนานที่สุดแล้ว เพราะว่าก่อนนี้เคยบวชเพียงวันละ ๒๑ รูป ไม่เกินนั้น แต่เมื่อวันที่ ๑ นี่ว่ากันไป ๕๓ รูป นั่งกันนานที่สุดก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นวันนี้พระเณรก็มากหน่อย มากไปประมาณเดือนหนึ่ง คือ เดือนเมษาฯซึ่งสามเณรก็ลาสิกขา พระก็ลาไปบ้างยังอยู่บ้าง
เราบวชหน้าร้อน การบวชหน้าร้อนนี่ก็เพื่อจะได้ดึงเด็กเข้าวัด แต่ว่ายังดึงได้ไม่หมดหรอกเพราะว่ามันจำกัดหลายเรื่อง ๑.สถานที่ ๒.คนที่จะสั่งสอนอบรมก็มีความจำกัด เพราะบวชสามเณรนี่ต้องมีพระพี่เลี้ยง สามเณรสิบรูปพระพี่เลี้ยงองค์หนึ่ง เก้าสิบรูปก็ต้องใช้พระเก้าองค์ จัดเป็นกลุ่มเป็นพวกคอยดูแลการเป็นการอยู่แนะนำพร่ำเตือน แล้วก็ยังมีครูที่จะสอนวิชาการให้แก่สามเณรบวชใหม่ ปีนี้นับว่าสะดวกมากขึ้นในเรื่องการสอนเพราะว่าโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์สำเร็จแล้วใช้ได้ ยังขาดอยู่แต่ห้องน้ำซึ่งกำลังทำอยู่ข้างล่าง กั้นรั้วจัดบริเวณให้สวยงามให้น่าดูน่าแลจะได้เกิดความสบายใจ ถนนหน้าโรงเรียนมันก็ชำรุดเต็มทีก็เลยเอายางที่ปะข้างหน้าออก ทิ้งฐานหินข้างล่างไว้เพราะมั่นคงดี แล้วก็เทปูนซีเมนต์ทับลงไป ท่านทองใบเป็นแม่งานไม่ได้พักผ่อนหรอก แดดออกแดดร้อนท่านก็ไปยืนอาบแดดดูงานดูการเพื่อจะให้เสร็จเรียบร้อยก่อนสิ้นเดือนพฤษภาคม เพราะว่าสิ้นเดือนโรงเรียนทั้งหลายเปิดเราก็รับนักเรียนมาเรียนพุทธศาสนาในวันอาทิตย์กันต่อไป เรื่องอย่างนี้มันจะรับหมดไม่ได้ เหมือนเณรนี่มีคนมาฝากทีหลังก็หลาย
บอกเขาว่า “มาช้าไปเต็มเสียแล้ว”
เขาบอกว่า “แหม!ขอสักองค์ไม่ได้หรือ”
บอกว่า “ไม่ได้ คุณขอองค์คนนั้นขอองค์ก็ไม่รู้จะให้นอนตรงไหนมันก็ลำบาก”
แล้วก็พระที่บวชเข้ามา ๕๓ รูปวันนี้บวกอีก ๗ รูปก็เป็น ๖๐ รูป ที่อยู่ไม่พอเวลานี้ พระหน้านี้อยู่กันไม่พอ เพราะว่ารับเกินเนื้อที่ก็ต้องบรรจุไว้ซ้อนๆกันไป ห้องหนึ่งสองบ้างสามบ้างก็พออยู่กัน อยู่เวลากลางคืน กลางวันก็ออกมานั่งใต้ต้นไม้ เดินจงกรม ทำอะไรไปตามหน้าที่ก็พออยู่กันได้ในระยะที่มาบวช พอเรื่องบวชนี่ไม่ใช่เรื่องหาความสบาย แต่บวชเข้ามาเพื่อต่อสู้กับความลำบาก จะได้มีความอดทนติดเนื้อติดใจเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป เราต้องการอย่างนั้นไม่ใช่ให้สบายเกินไป เอาแต่พอสมควร
พระเณรที่อยู่กันในสมัยนี้ถ้าพูดไปแล้วก็สบายกว่ายุคพระพุทธเจ้า ยุคพระพุทธเจ้านั้นท่านอยู่ในป่า อยู่ตามโคนไม้ อยู่ในเรือนเฉพาะหน้าฝน คือพอฝนตกนี่ก็มีเรือนน้อยๆเป็นที่มุงที่บัง ไม่ได้ใหญ่โตมโหฬารอะไรหรอก เราไปเที่ยวอินเดียไปเห็นกุฏิในวัดต่างๆที่เขาขุดค้น มันเป็นของสร้างในตอนหลัง คือในตอนที่มีวัด ยุคพระพุทธเจ้านี่ไม่มีวัด มีแต่สวนของชาวบ้าน สวนเจ้าเชต สวนนางวิสาขา สวนของพระเจ้าพิมพิสาร สวนหมอชีวกโกมารภัจจ์ พระไปอาศัยตามในสวนทั้งนั้น อยู่ใต้ร่มไม้ นอนอยู่ใต้ต้นไม้ นั่งใต้ต้นไม้ ไม่มีเสนาสนะ เสนาสนะจะมีก็เมื่อถึงฤดูฝน เรียกว่าฤดูกาลเข้าพรรษา ฝนตกมากต้องมีกุฏิ มีหลังคา มีฝากั้น ส่วนมากก็ทำด้วยใบไม้เรียกว่า “ปัณณกุฏิ” ทั้งนั้นไม่ถาวรอะไร
แต่มาสมัยหลัง คือยุคเมื่อพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วประมาณ ๒๐๐ ปี ก็เกิดวัดถาวรขึ้นแล้วก็สร้างกุฏิเป็นอิฐ อิฐถาวรนี่สร้างในสมัยหลัง ยังเหลือเป็นซากให้เราได้เห็นที่ขุดค้นขึ้นมา ก็ในยุคพระเจ้าอโศกฯเป็นส่วนมาก ส่วนยุคพระพุทธเจ้านี่อยู่ตามธรรมชาติมากกว่า
ในสมัยนี้เราอยู่กุฏิมีไฟฟ้าใช้ มีพัดลม เวลาบวชมากๆแล้วไฟเปลือง เพราะว่าพระหนุ่มเณรน้อยทั้งหลายไม่ใคร่จะรู้จักประหยัดในเรื่องการใช้ไฟ อยู่บ้านนี่ไม่ประหยัดหรอก เพราะอยู่บ้านนี่ไม่เคยควักสตางค์เสียค่าไฟ ไม่เคยควักสตางค์ออกไปเสียค่าน้ำ คุณแม่เสีย แล้วแม่ก็ไม่ประชุมลูกเล่าให้ฟังบ้างว่าเดือนนี้ใช้ค่าไฟไปเท่าไร ค่าน้ำเข้าไปเท่าไร ค่าอาหารการกินสิ้นเข้าไปเท่าไร ให้เธอไปโรงเรียนนี่สิ้นเงินเข้าไปเท่าไร แม่พ่อนี่ไม่ค่อยจะบอกให้ลูกทราบ การไม่บอกให้ทราบนั่นแหล่ะเด็กมันก็ไม่รู้ว่าใช้เงินเท่าไร หมดเปลืองเท่าไร มันก็ใช้ไปตามเรื่องของมัน ไม่คิดถึงความลำบาก เมื่อเช้านี้มาลาสึกไปองค์หนึ่ง ก็เลยถามว่า “อยู่บ้านทำอะไร”
“ยังเป็นนักศึกษาอยู่”
“เรียนอะไร”
“เรียนบัญชี”
“เรียนมากี่ปีแล้ว”
“เรียนมาหกปีแล้ว”
“โอ้! เขาให้เรียนกันสี่นี่เรียนมาหกแล้ว”
ถามว่า “ที่บ้านนี่ร่ำรวยมากรึ พ่อแม่ทำงานอะไร”
“คุณแม่ไม่ได้ทำอะไร แต่คุณพ่อเป็นข้าราชการ”
“ซีไหนล่ะ”
บอกว่า “ประมาณซี๖”
ก็ไม่ได้เงินเดือนเท่าไรหรอก ซี๖ นี่ ซี๖ นี่มันไม่เท่าไร แล้วก็อาชีพอื่นก็ไม่มี
“อยู่บ้านในสวนหรือว่าที่ไหน”
“อยู่บ้านจัดสรร ฐานะง่อนแง่นไม่ค่อยดีเท่าใด”
“แล้วทำไมเรามันเรียนช้าหนักหนา เขาให้เรียนสี่ปีทำไมดันไปตั้งหกปีล่ะ”
บอกว่า “ผมเที่ยวเสียมากว่าอย่างนั้น”
ถามต่อไปว่า “เที่ยวไปไหนล่ะ”
“เที่ยวไปเมืองนั้น เที่ยวไปเมืองนี้”
“เที่ยวทำอะไร”
“เที่ยวสนุกๆ”
“อ๋อ!เราไม่ได้เกิดมาเพื่อเที่ยวนะ ไม่ได้เกิดมาเพื่อเดินเล่นนะ ไม่ได้เกิดมาเพื่อหาความสนุกนะ เราเกิดมาเพื่อใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ มัวแต่ไปเที่ยวอย่างนี้แล้วมันก็อย่างนี้ สึกออกไปแล้วนี่ต้องเปลี่ยนชีวิตนะ เลิกเที่ยวเลิกคบเพื่อนเหลวไหล ต้องทำงานทำการให้เป็นเรื่องเป็นราวแล้วก็ตั้งใจเรียน ยังไม่กี่วิชาแล้วเรียนให้มันจบ”
เขาบอกว่า “แหม!คณบดีคนนี้กวดขันมาก ไอ้ที่เรียนมาแล้วก็ต้องสอบให้ได้ ถ้าไม่ได้ก็ไม่ได้ แล้วก็กวดขันทุกอย่าง”
“อ้าว! ก็ดีสิคณบดีกวดขันอย่างนี้ดี เด็กมันจะได้เรียนเก่งๆ หากคณบดีไม่กวดขันก็พวกเรามันปวกเปียกเป็นบอลลนไฟกันไปหมดเลย ดีแล้วที่เขากวดน่ะ เรากวดตัวเองเสียบ้าง” สอนเขาอย่างนั้น
แล้วก็เลยถามว่า “บวชกี่วันละเธอนี่”
“เจ็ดวัน”
“อ้าว!ความจริงบวชเจ็ดวันนี่ไม่รับนะ”
แต่นั่นมันจับพลัดจับผลูติดเข้ามาได้อย่างไรก็ไม่รู้ หรือว่าบวชมาเป็นหมู่แล้วก็เลยติดเข้ามาด้วย ความจริงนี่เจ็ดวันนี่ไม่รับไว้บวช เพราะยังไม่ทันทำอะไรแล้วก็ลาสิกขาไปแล้ว ห่มผ้าก็ยังไม่เป็นบวชเจ็ดวันนี่ไม่เอา อย่างน้อยก็สิบห้าวันเดือนหนึ่งขึ้นไปจึงจะได้ พ่อแม่ที่เอาลูกมาบวชนี่อย่าบวชสักแต่ว่าพอผ่านพ้นไป บวชให้มันได้เนื้อได้หนัง ได้คุณได้ค่าทางจิตใจ คือต้องบวชให้หลายวันหน่อย อย่ารีบร้อนเกินไปมันจะไม่ได้เรื่อง เหมือนกับเอาเหล็กไปชุบน้ำ น้ำมันก็ร้อนขึ้นหน่อยเพราะเหล็กมันถูกไฟร้อนมันก็ได้เท่านั้น เขาเรียกว่าบวชแบบชุบเหล็กมันก็ไม่ได้เรื่อง ให้บวชหลายๆวัน ให้อยู่นานๆหน่อย จึงจะได้เรื่องได้ราว
แล้วอีกประการหนึ่งจะเอาลูกเอาหลานมาบวชนี่ พ่อแม่ควรจะมาก่อนแล้วก็มาเล่าพฤติกรรมของลูกให้อาจารย์ได้ฟังไว้ มาเล่ากับอาตมานี่แหล่ะ มาเล่าให้ฟังว่าลูกน่ะเป็นอย่างไร นิสัยใจคอเป็นอย่างไร เป็นคนประเภทใด ชอบเที่ยวชอบเล่น ใช้สตางค์เปลือง ไม่เอางานในการศึกษาเล่าเรียน มาบอกให้รู้ ก็เราเอามาให้พระท่านช่วยรักษานี่ ช่วยปรับนี่ แล้วไม่รู้ว่ามันบกพร่องอะไรแล้วจะไปปรับได้อย่างไร อันนี้ถ้ารู้ก็ได้เรียกมาปรับเฉพาะคนนั้น มาพูดจาทำความเข้าใจ ไอ้ที่พูดนี่พูดทั่วไป ประชุมกันในลานไผ่ตอนเช้าตอนเย็นก็พูดทั่วไป แต่ว่ามันมีคนบางคนเป็นโรคเฉพาะจะต้องสวดเป็นพิเศษ ให้ยาเป็นพิเศษ ต้องเอามาอบมารมกันอย่างจริงจัง เพื่อให้มันมีกลิ่นดีมีสีดีขึ้นมาสักหน่อย
เพราะฉะนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองนี่ต้องมาก่อนอย่าเอาลูกมา แล้วก็มาเล่าให้ฟังว่าชีวิตจิตใจของลูกเป็นอย่างไร มีความบกพร่องอะไร ไม่เรียบร้อยในส่วนใด ก็จะได้จำไว้ แล้วเวลาบวชก็จะได้เรียกมาคุยกันเป็นพิเศษ แนะแนวทางปรับปรุงชีวิตกัน ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าใครเป็นอะไร เหมือนเราไปหาหมอรักษาลูกนี่เราก็ต้องเล่าให้หมอฟังว่าเป็นโรคอะไร หมอก็จะได้ให้ยาถูกกับโรค โรคขนาดไหน เป็นมาเท่าไรแล้ว จะได้รักษาได้ง่าย เอาลูกมาวัดนี่ก็เหมือนกันแหล่ะเท่ากับว่าเอามาให้พระท่านช่วยรักษา เราก็ต้องมาบอกเล่าเก้าสิบให้รู้เรื่องว่าลูกชายนี่ชอบอะไร ติดบุหรี่ ติดเหล้า ชอบเที่ยวชอบสนุก ขี้คร้านการงาน ไม่เอาถ่าน ประพฤติเหลวไหล อ้าว!ก็ได้เรียกมาจ้ำจี้จ้ำไชกล่าวสอนกล่าวเตือนให้เกิดความรู้ความเข้าใจเฉพาะคนๆนั้นไป อันนี้จึงจะเป็นการถูกต้อง ไอ้ที่เป็นอยู่นี้เด็กมันมาเอง พ่อแม่มาก็วันบวชนู่นเลย เรียกว่ามาชำระสตางค์ค่าผ้าค่าบาตรเสร็จแล้วก็หายไป ไม่ค่อยมาเยี่ยมอีกล่ะ มาก็มาเยี่ยมลูก ไม่มาเยี่ยมอาจารย์เสียบ้าง ทีหลังต้องมาหาอุปัชฌาย์บ้าง มาเล่าให้ฟัง แม้ลูกบวชแล้วก็มาเล่าได้ มาบอกให้รู้ว่าลูกเป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไร เป็นการร่วมมือร่วมใจกันเพื่อปรับปรุงนิสัย แก้ไขคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น อันนี้ขอฝากไว้ให้ได้รู้
แล้วใครจะมาบวชก็บอกให้เขารู้ด้วย สมมติว่าจะเอาลูกมาบวชวัดชลประทานฯ มาถามเรา เราก็ช่วยบอกว่าต้องไปก่อน คุณต้องไปก่อน ไปหาเจ้าคุณก่อน แล้วก็ไปพูดเล่าให้ฟังว่าลูกนั้นมีอะไรประจำเนื้อประจำตัวอยู่บ้าง แล้วก็จะได้ช่วยกันปรับปรุงแก้ไข อย่างนี้เป็นการถูกต้อง สามเณรก็เหมือนกันต้องมาบอกให้รู้บ้าง พระพี่เลี้ยงเขาจะคอยดัดคอยแก้คอยปรับปรุงเพื่อให้เป็นการเรียบร้อยขึ้น จะได้ผลจากการบวชอย่างแท้จริง ไม่ใช่บวชสักแต่ว่าบวช แต่บวชเพื่อศึกษา บวชเพื่อปฏิบัติขัดเกลาจิตใจให้สะอาดปราศจากสิ่งชั่วร้าย เพื่อจะได้เป็นคนมีคุณมีค่า มีความเป็นอยู่ที่สมบูรณ์ เชิดชูเกียรติ์ของตระกูลต่อไป นี้เรื่องสำคัญเหมือนกัน อยากจะทำความเข้าใจกันไว้ เพราะฤดูนี้ก็เป็นฤดูบวชนาคหน้าร้อน แล้วก็เมื่อวันที่ ๗ เมื่อวานนี้ก็เปิดรับพวกบวชเข้าพรรษา มาสมัครเมื่อวานนี้ ๖๐๖ คน ก็ส่งหนังสือไป เอาไปท่อง บอกให้เขารู้ว่าจะได้บวชหรือไม่ได้บวชไม่ใช่ฉัน ไม่ใช่เรื่องของฉัน เรื่องของเธอทุกคน ถ้าเธอเอาหนังสือนี้ไปท่อง ๒๐ หน้าได้เรียบร้อย สอบได้ เธอบวชได้ แต่ถ้าท่องไม่ได้ฉันไม่บวชให้ ไม่ใช่ความผิดของอุปัชฌาย์ แต่เป็นความผิดของพวกเธอที่ไม่เอาถ่าน ท่องไม่ได้นี่อย่ามาแก้ตัวว่าไม่มีเวลา หรืออะไรอย่างนั้นมันไม่ได้ทั้งนั้นล่ะ บอกว่าเอาหนังสือไปแล้วต้องท่องตั้งแต่คืนนี้เป็นต้นไป ต้องท่องทุกคืน เลิกเที่ยวเลิกสนุก เลิกไปไหนต่อไหน ต้องมาบ้านมาอ่านมาเรียนหนังสือจะได้จำขึ้นใจ แล้วก็จะสอบ ก็มีตกไปบ้างเหมือนกัน ปีหนึ่งก็ไม่กี่คนหรอก สมมติว่าในร้อยหนึ่งนี่จะออกไปเสียหรือไม่มาเสียบ้าง ไม่สอบเสียบ้างก็มีเหมือนกันประมาณ ๒-๓ คน เปอร์เซ็นต์ที่เหลวไหลมันน้อยแล้ว ส่วนมากก็ตั้งใจท่องแล้วก็สอบได้ แล้วก็ได้บวชในวัดนี้กันต่อไป
การที่ตั้งระบบเช่นนี้ขึ้นก็มิใช่เพื่ออะไร แต่เพื่อเลือกสรรเอาคนที่ตั้งใจจริงให้มาบวช เพราะว่าคนบางคนมันบวชเพราะแม่ให้บวช แล้วก็บวชแล้วก็ไม่เอาถ่าน มันเคยเห็นมา ปีก่อนๆนู้นเคยเห็น เมื่อเห็นก็ต้องแก้ไปเรื่อยๆ อะไรบกพร่องแก้ ปีนี้บกพร่องอะไร ปีหน้าต้องแก้เรื่องนั้นต่อไปปรับปรุงกันไปเรื่อยๆให้มันดีจนได้ เพราะฉะนั้นจึงมีระเบียบตั้งขึ้นในรูปอย่างนั้น แล้วจะต้องกวดขันอะไรอีกบางเรื่องบางประการซึ่งเป็นการภายในเวลาบวชแล้วเพื่อให้ดีขึ้นเรียบร้อยขึ้น อันนี้เป็นจุดหมายสำคัญในใจที่ได้ตั้งไว้สำหรับผู้ที่มาบวชเรียนในพระศาสนา โดยเฉพาะพวกบวชหน้าร้อนนี่อาตมายังไม่สบายใจ คือยังให้เขาน้อยไป เพราะว่ามันติดงาน งานไปเทศน์ที่นั่นเทศน์ที่นี่ มันมากที่มากแห่ง ความจริงจะเลิกแล้วล่ะเรื่องไปเทศน์ไกลๆอะไรต่างๆนี้ แต่มันยังเลิกไม่ได้ คนมันมาแล้วมันมาอ้อนวอนขอให้ไปสักทีเถอะอะไรอย่างนี้ อ้อนวอนเหมือนกับแมวอ้อนวอนพระขออาหารนี่นะ แล้วก็สงสารเขาก็ต้องไปอีกล่ะ ไปรายนี้แล้ว ไอ้รายโน้นมาอีก เอ้า!ก็ต้องไปอีก แต่ว่ามันต้องหยุดกันสักที คือว่าหยุดเทศน์ภายนอก เอาตั้งหน้าตั้งตาอบรมคนที่เข้ามาภายในให้ได้คุณค่าอย่างแท้จริงต่อไป มีธรรมเมื่อไรก็จะประกาศล่วงหน้าให้รู้กัน แล้วก็จะได้ทำแต่หน้าที่สร้างคนภายในให้เป็นการเรียบร้อยต่อไป อันนี้เป็นเรื่องปรารภให้ญาติโยมทั้งหลายฟังเรื่องเกี่ยวกับการบวชอะไรต่างๆ ให้ได้เกิดความรู้ความเข้าใจกันไว้ แล้วจะได้ช่วยกันปรับปรุงแก้ไขอะไรบางส่วนให้ดีขึ้นต่อไป
ต่อไปนี้ก็จะพูดข้อธรรมะที่เราควรจะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป ปัญหาในชีวิตประจำวันของคนเรานั้นที่มีอยู่เป็นประจำก็คือเรื่องความไม่สบายใจ ด้วยอะไรๆต่างๆที่มันมากระทบนี่เป็นเรื่องที่มีประจำ คือมีอารมณ์ขุ่นมัวเศร้าหมอง เพราะอารมณ์ภายนอกที่จรเข้ามา เรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้างเป็นเรื่องประจำอยู่ในจิตใจของคนเราทั่วๆไป แต่ว่าคนบางคนได้เข้าวัดศึกษาธรรมะ เอาธรรมะไปคิดพิจารณา ความวุ่นวายทางใจก็ผ่อนคลายลงไป ผ่อนคลายลงไปเพราะมองเห็นว่ามันเป็นเช่นนั้น คือเห็นว่าเป็นเรื่องอย่างนั้น ธรรมดามันเป็นอย่างนั้น มันก็เกิดมีบ้างเพราะเราเผลอไป เราประมาทไป มันจึงได้เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา พอปลงพอวาง ความยึดถือในเรื่องอะไรต่างๆค่อยน้อยลงไปโดยลำดับ ก็เลยสบายขึ้นพอสมควร โดยเฉพาะญาติโยมที่มาฟังอยู่เป็นประจำตั้งแต่เริ่มต้นมาจนกระทั่งบัดนี้ บางคนก็ฟังมาหลายปีแล้วก็เอาไปใช้ได้บ้าง มองอะไรตามความเป็นจริงได้บ้าง แล้วก็จิตก็ไม่เป็นทุกข์มากเกินไปพอผ่อนพอคลายเพราะเอาธรรมะที่ได้พูดได้เทศน์นี่เอาไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับปลอบโยนจิตใจแก้ไขปัญหาในชีวิต ชีวิตก็ค่อยเบาขึ้นโปร่งขึ้น ไม่หนักไม่มืดเหมือนกับเมื่อก่อน อันนี้เป็นอานิสงส์ของการที่เราได้หันหน้าเข้าหาธรรมะ และได้นำธรรมะไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับแก้ไขปัญหาปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้นก็ได้ประโยชน์อยู่แล้ว
บางท่านอาจจะนึกว่ายังไม่เห็นประโยชน์ของธรรมะ ที่ยังไม่เห็นประโยชน์ของธรรมะก็แสดงว่าเรายังใช้ธรรมะไม่ถูก ยังใช้ไม่เป็น ประโยชน์มันก็ไม่เกิด เราจึงต้องปรับปรุงตัวเราใหม่ ต้องเอาไปคิดใหม่ในเรื่องอะไรต่างๆแล้วก็หัดคิดให้มันทันเวลาทันเหตุการณ์ ไม่ใช่มันผ่านพ้นไปแล้วจึงคิดได้ แต่ให้มาทันท่วงทีให้มีสติเกิดขึ้นทันท่วงที แล้วก็มีปัญญาตามมาเพื่อเป็นเครื่องพิจารณาในสิ่งนั้น สามารถจะวิเคราะห์วิจัยปัญหาต่างๆได้อย่างถูกต้อง มันก็ค่อยหลุดไปทีละเปลาะๆโดยลำดับ เครื่องผูกพันทางจิตใจที่เราสะสมไว้เพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจมันก็ค่อยจะหลุดไปเรื่อยๆ ใจเราก็เป็นอิสระขึ้น มีความคิดถูกต้องมากขึ้น ความทุกข์ที่เคยมีก็ลดน้อยลงไปโดยลำดับ เราเห็นว่ามันเป็นประโยชน์ มันเข้าแบบที่เรียกว่า “สันทิฏฐิโก” ที่เราสวดมนต์ในพระธรรมคุณ คุณของพระธรรม หรือว่าความศักดิ์สิทธิ์ของพระธรรมนั้นมันอยู่ที่เราสวดน่ะ
“สวากขาโต ภควตา ธัมโม” พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว
“สันทิฏฐิโก” อันผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง
“อกาลิโก” เป็นสิ่งที่ให้ผลไม่จำกัดเวลา
“เอหิปัสสิโก”ควรเรียกมาดูมาชม
“โอปะนะยิโก” ควรน้อมเข้ามาใส่ตน
“ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ” อันวิญญูชน คือผู้รู้ผู้ฉลาดเห็นได้ด้วยตนเอง
เห็นได้ เห็นอะไร คือเห็นผลของธรรมะเหล่านั้นด้วยตัวของเราเอง ธรรมะที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้นั้นดี ดีอย่างไร คือดีในทางที่เป็นประโยชน์สำหรับเอาไปใช้แก้ไขปัญหาชีวิตของเรา มันดีตรงนี้ แล้วก็ดีทุกโอกาสทุกเวลา เราหยิบมาใช้เมื่อใดสำเร็จประโยชน์เมื่อนั้น อันนี้เรียกว่าดี หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งที่เราสวดมนต์ว่า ไพเราะในเบื้องต้น
“อาทิกัลยาณัง” ไพเราะเบื้องต้น
“มัชเฌกัลยาณัง” ไพเราะในท่ามกลาง
“ปะริโยสานะกัลยาณัง” ไพเราะในที่สุด
ขึ้นต้นก็ไพเราะ ท่ามกลางก็ไพเราะ สุดท้ายก็ไพเราะ หมายความว่าดีงามเรียบร้อยทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ไพเราะเบื้องต้นก็ได้แก่เรื่องศีล ไพเราะในท่ามกลางก็ได้แก่เรื่องสมาธิ
ไพเราะที่สุดก็ได้แก่เรื่องปัญญา ทำให้หูตาสว่างรู้แจ้งชัดในสิ่งนั้นๆตามสภาพที่เป็นจริงนี่เรียกว่ามันไพเราะ ไพเราะน่าฟัง งามน่าดู น่าใช้ น่าเอามาปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรา อันนี้ก็เรียกว่าดี ดีที่ไม่มีที่ติ มีดีทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด จึงเรียกว่า “สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม”
“สันทิฏฐิโก” หมายความว่า ผู้ศึกษาผู้ปฏิบัติจะเห็นได้ด้วยตนเอง เพราะมันเป็นเรื่องของใจ เป็นเรื่องของใจ ก็ใจใครก็ใจใคร ใครรู้ใครเห็นก็เป็นเรื่องของบุคคลนั้น เปรียบในทางวัตถุก็พอจะเห็นได้ เช่นว่า พริกเผ็ด น้ำตาลหวาน บอระเพ็ดขม พวกส้มมันก็เปรี้ยว ไอ้เปรี้ยว หวาน เค็มอะไรต่างๆนี้เรารู้ได้ด้วยตัวของเราเอง คือถ้าชิมมันจึงรู้ ถ้าเอาลิ้นไปแตะให้รู้ว่ารสมันเป็นอย่างไร เรารู้ได้ด้วยตัวเอง คนอื่นที่ไม่ได้ชิมนี่ไม่สามารถจะรู้ได้ แม้เราจะอธิบายให้เขาฟังว่ามันเป็นอย่างนั้นมันเป็นอย่างนี้ไม่มีทาง ไม่มีทางที่จะอธิบายให้เขาฟังได้ เหมือนกับเต่าอยู่ในน้ำ นกมันอยู่บนบกแล้วมันมาเจอกันวันหนึ่งที่ริมฝั่ง นกถามเต่าว่า “แกมาจากไหน”
เต่าบอกว่า “มาจากในน้ำ”
เต่าถามนกว่า “แกมาจากไหน”
“ฉันอยู่บนบกน่ะ”
เต่าก็ถามว่า “บกมันเป็นอย่างไร”
นกก็ถามว่า “น้ำมันเป็นอย่างไร”
ไอ้เจ้าเต่าก็อธิบายตามความรู้ความสามารถของเต่า อธิบายเพื่อให้รู้ว่าน้ำมันเป็นอย่างไร
ไอ้นกก็ แหม!อธิบายให้รู้ว่าบกมันเป็นอย่างไร เท่าไรๆเต่าก็ไม่รู้ว่าบกเป็นอย่างไร นกก็ไม่รู้ว่าน้ำมันเป็นอย่างไรเพราะไม่เคยขึ้นบก แล้วไม่เคยลงไปในน้ำ ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ชิมเลยไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างไร
ประโยชน์ของธรรมะก็เรียกว่าเป็นสิ่งที่จะรู้ได้ด้วยตนเอง เช่นเรามีความสุขใจในการที่เราปฏิบัติธรรม เรามีความสงบใจมีความสบายใจนี่ เราจะพูดให้ใครฟังได้อย่างไร พูดได้อย่างมากแต่เพียงว่า “แหม!สบายใจ สบายใจเหลือเกิน สงบเหลือเกิน สงบอย่างยิ่ง” เอ้า!ว่าไปเถอะ แต่ว่าไอ้คนฟังนั้นไม่สามารถจะรู้ได้ในสิ่งที่เราพูดให้เขาฟัง เหมือนเราพูดว่าน้ำตาลหวาน แต่ถ้าเขาไม่ชิมจะรู้ได้อย่างไร บอระเพ็ดขมไม่ชิมจะรู้ได้อย่างไร ส้มเปรี้ยวจะรู้ได้อย่างไร รู้ไม่ได้ แต่ถ้าเอาน้ำตาลใส่ปากเข้าไปก็ “อ๋อ!หวานอย่างนี้ เปรี้ยวอย่างนี้ ขมอย่างนี้” รู้ได้ รู้ได้ด้วยตนเอง อันนี้สำคัญมาก ว่าเหตุผลทางธรรมะ หรือว่าเราปฏิบัติธรรมะแล้วเราเห็นด้วยตัวของเราเองว่าเรามีความสุขอย่างไร มีความสงบอย่างไร จิตใจเป็นสมาธิอย่างไร อย่าไปถามใครเลยว่ามันเป็นอย่างไร ต้องรู้ด้วยตัวเอง เมื่อเราต้องการรู้ด้วยตัวเองเราก็ต้องปฏิบัติด้วยตัวของเราเอง เช่นว่าเรามาถือศีลนี่เรางดเว้นจากการฆ่า การลัก การประพฤติผิดในกาม การพูดโกหก การดื่มของมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ก่อนนี้เราเป็นทุกอย่าง เราทำทุกอย่าง แล้วเราเลิกอย่างเด็ดขาด แม้จะทำต่อไปเรารู้สึกอย่างไร ใจมันเป็นอย่างไร สุขภาพทางกายทางใจเป็นอย่างไร นอนเป็นสุขกว่าเมื่อก่อนหรือไม่ลองสังเกต สังเกตแล้วเราจะรู้ด้วยตัวเราเองว่ามันดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน คือเมื่อก่อนไม่รักษาศีลนี่ แล้วมารักษาศีลขึ้นนี้มันดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน จิตใจก็ปกติขึ้นแล้วก็มองใครก็ไม่มองว่าเป็นศัตรู เพราะเราไม่เป็นศัตรูกับใคร เราไม่มีเวรไม่มีภัยกับใครๆ เราก็มองคนว่าเป็นมิตรกับเรา เราเห็นใครแล้วเรานึกว่าเป็นมิตรนี่ใจมันสบาย แต่ถ้าเห็นใครนึกว่าไอ้นี่มันจะเล่นงานกูอีกแล้วนะ ใจมันก็เดือดร้อนวุ่นวาย มีเวรมีภัยใจมันไม่สบาย แต่พอเราไม่มีเวรกับใคร ไม่มีภัยกับใคร ใจมันก็สบาย ทุกเรื่องที่เราถือนั้นเราก็เห็นว่าสภาพจิตใจเราดีขึ้น รู้ได้ด้วยตัวเอง ประสบการณ์เป็นของผู้นั้นเองว่าดีขึ้นอย่างไร หรือว่าเราไปฝึกฝนภาวนา ทำจิตให้สงบเป็นสมาธิ จุดหมายต้องการเจริญภาวนานั้น ก็ไม่มากหรอกมี ๓ เรื่องเท่านั้น ๑.เพื่อให้ใจสงบ ๒.เพื่อให้มันตั้งมั่น ๓.ให้อ่อนโยนสำหรับที่จะเอาไปใช้งานใช้การต่อไป
การเจริญภาวนาที่เรียกว่า “สมถกัมมัฏฐาน” เป็นการเตรียมพื้นสำหรับที่จะเจริญวิปัสสนาต่อไป เหมือนเราปรับพื้นเพื่อสร้างบ้าน ใครจะสร้างบ้านต้องไปปรับพื้นก่อน ขุดตอไม้ออก ถางหญ้าออก แล้วก็เอาวางแผนลงไปตอกไม้เพื่อเป็นผัง แล้วก็ลงเข็มลงรากสร้างบ้านต่อไปฉันใด เราจะก้าวหน้าไปในการปฏิบัติเพื่อให้ถึงปัญญาอันสูงตามหลักพระพุทธศาสนาก็ต้องปูพื้นด้วยการปฏิบัติสมถภาวนาเหมือนที่โยมไปทำอยู่ตอนบ่ายในวันอาทิตย์ที่ศาลาข้างใน อย่างนั้นเรียกว่าไปเตรียมการปูพื้นฐานทางจิตใจเพื่อก้าวไปสู่การศึกษาชั้นสูงต่อไป
การปฏิบัติในขั้นสมถะนั้นก็มีจุดหมายสำคัญเพียงสามเรื่อง คือ ๑.ให้สงบ ๒.ให้ตั้งมั่น ๓.ให้อ่อนโยนเหมาะที่จะใช้งาน จิตใจคนเราทั่วๆไปที่ยังไม่ได้ฝึกฝนมันไม่สงบ มันวิ่งวุ่นไปนู่นมานี่ซุกซนเหมือนลิง เขาจึงเปรียบว่าสภาพจิตเหมือนกับลิง ลิงมันไม่อยู่นิ่งมันซุกซน มันทำอะไรอยู่ตลอดเวลาฉันใด ใจเราก็อย่างนั้น คือใจที่ยังไม่ได้ฝึกฝนอบรมนี่มันเป็นอย่างนั้น ให้เราสังเกตดูสภาพจิตของเราเวลาเราไปนั่ง ถ้าดูจิตก็รู้ นี่รู้ว่าแหม!มันไม่หยุดเสียเลย มันชอบไปเสียเรื่อย นี่มันเป็นอย่างนี้ มันใช้งานไม่ได้ มันอยู่อย่างนั้นมันใช้งานไม่ได้ เราจะต้องปราบทำให้มันสงบ ให้สงบก็คือว่าให้อยู่กับเรื่องเดียว เช่นว่า กำหนดลมหายใจเข้าออกซึ่งเป็นของง่ายที่สุดเพราะลมมันมีอยู่แล้ว แล้วเราก็หายใจอยู่แล้ว แต่หายใจโดยไม่รู้ ไม่รู้ว่าหายใจเข้าเมื่อใดหายใจออกเมื่อใด พระผู้มีพระภาคฯเห็นว่าลมหายใจนี้มันเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติมาก เพราะเราไม่ต้องสร้างอะไร
ไปปฏิบัติอย่างอื่นต้องเตรียม เช่นเจริญกสิณภาวนาต้องเตรียมดิน ต้องเตรียมน้ำ ต้องเตรียมไฟ ถ้าเจริญปฐวีกสิณเพ่งดินก็ต้องเตรียมดิน ต้องเอาดินอย่างนั้นเอามาใส่แผ่นผ้าวางไว้สำหรับนั่งเพ่งพิจารณา ต้องเอาน้ำใส่บาตรใส่ขันมานั่งพิจารณา พิจารณาไฟก็ต้องจุดไฟขึ้น แล้วก็ทำเป็นช่องสำหรับมองให้เห็นจำกัดที่สุดเพื่อให้จิตไปอยู่ที่ไฟนั้นเรื่องมาก
ถ้าเราเจริญอสุภกัมมัฏฐานนี่ต้องไปป่าช้า ต้องไปดูซากศพ มันต้องไปป่าช้าแล้วไปป่าช้านี่เดี๋ยวนี้มีให้เจริญเมื่อไร เขาเก็บเข้าโกดังทั้งนั้น อยู่ในหีบในโลง แม้เวลาเขานิมนต์พระบังสุกุลศพนี่จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้พระไปดูศพเท่านั้นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไรหรอก ที่เรานิมนต์บังสุกุลชักมหาบังสุกุลอะไรกันนั้นน่ะจุดหมายสำคัญก็ต้องการนิมนต์พระให้ไปดูศพ เพราะศพนี่เป็นดอกไม้ของพระ เป็นดอกไม้ที่พระควรเด็ดเอามาพิจารณา เอามาศึกษาเพื่อให้รู้ความจริงของศพนั้น สมัยก่อนนั้นเวลาเขาจะนิมนต์พระบังสุกุลเขายกหีบมาวางกลางแจ้งเปิดฝาเลย แล้วเอาผ้าไปพาดที่ปากหีบ พาดทีละสี่องค์ พระเขาก็เดินไป ไปถึงก็ยืน มันต้องเห็นนะ ศพอยู่ในโลงก็ต้องเห็น ดูอย่างไรมันต้องเห็นวันยังค่ำมันต้องเห็นศพ เห็นแล้วจึงจะพิจารณาแล้วเปล่งวาจาออกมาว่า
“อนิจจา วัฏสังขารา” สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ
“อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ” เกิดแล้วก็ดับไป
“อุปปาทวยธัมมิโน”มีความเกิดแล้วก็มีความเสื่อม"
“เตสัง วูปะสะโม สุโข” การสงบสังขารเป็นความสุข
ให้ว่าอย่างนั้น ให้ว่าจากความรู้สึกที่มองเห็นศพ ไม่ใช่ว่าพอเป็นพิธี เดี๋ยวนี้เราทำพอเป็นพิธี ศพอยู่บนโน้นเสร็จเรียบร้อย ชักสายสิญจน์มาให้พระพิจารณาสายสิญจน์ ไม่ได้พิจารณาศพอะไรหรอก เอาผ้าไปวางบนสายสิญจน์ บนภูษาโยง แล้วพระก็ว่าไปตามเรื่อง มันไม่ถูกเป้าหมาย ทำเป็นพิธีรีตองไปเสียแล้ว เป้าหมายเดิมนั้นต้องการให้พระไปดูศพเพื่อจะได้คลายจากความหลงใหลเพลิดเพลินในรูป ในเสียง กลิ่น รส สัมผัส
พระในสมัยก่อนนั้นท่านชอบไปป่าช้า เพราะว่าศพของอินเดียนี่เขาเอาไปวางไว้ที่ป่าช้ามอบสัปเหร่อ สัปเหร่อก็เผาตามคิว ใครมาก่อนเผาก่อน คนมาทีหลังรอไปก่อนนะ นอนไปก่อนนะ พักผ่อนไปก่อน แล้วพอถึงเวลาก็เอาไม้มากองขึ้นเผาต่อไป ขณะที่เอาศพมารอไว้นั่นแหล่ะพระท่านก็แอบไปดู
ท่านสอนวิธีดูศพไว้ อย่าไปใต้ลม คือไปใต้ลมนี่ลมมันพัดผ่านศพกลิ่นจะเข้าจมูก ไอ้เรื่องกลิ่นนี่สำคัญจริงๆ เข้าจมูกปุ๊บแล้วมันไปไม่รอดแล้ว กลิ่นนี่มันทำให้เขวไปหมดเลยไปไม่รอดหรอก เหมือนกับว่าแกงปลาร้านี่ใส่ปลาร้ามากๆนี่ อาตมามันพูดตรงๆมันไม่ชอบหรอกปลาร้า ไม่ชอบตรงกลิ่นนี่เองไม่ใช่เรื่องอะไร พอมันเตะจมูกแล้วมันกินไม่ได้แล้วหรือฉันไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นพอเห็นจานปลาร้านี่บอกว่าเอาอันนี้ไปถวายองค์โน้นเอาไปไกลๆหน่อย คือมันเข้ากันไม่ได้กับกลิ่นนี่มันเข้ากันไม่ได้ ถ้ากลิ่นเข้าจมูกแล้วมันไปไม่รอด กลิ่นศพก็เหมือนกัน พอเราได้กลิ่นแล้วความคิดที่จะพิจารณามันไม่มี มันจะโอ้กอ้ากออกมาเสียด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นท่านบอกว่าให้เดินไปทางเหนือลม ศพตั้งอยู่ตรงนี้ ถ้าลมพัดผ่านศพอย่าไปด้านนี้ ต้องไปด้านโน้น มาเหนือลม อย่าเข้าไปใกล้นักอย่าห่างนัก ให้ยืนพอมองเห็น คือมองเห็นตลอดหัวถึงเท้า มองศพตลอด กลิ่นไม่แตะจมูก แล้วให้ยืนพิจารณา พิจารณาแล้วก็หลับตา หลับตาเห็นให้เห็นศพนั้น หลับตาเห็นแล้วกลับกุฏิ กลับไปใต้ต้นไม้ ไปนั่งหลับตาเห็นภาพศพนั้น นั่งพิจารณาว่านี้เป็นซากศพ สมัยก่อนเป็นคนเดินได้ กินได้ พูดได้ แต่งเนื้อแต่งตัวได้ เป็นที่พอใจของคนอื่น แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นศพ ร่างกายเฟะฟอนเน่า กลิ่นไม่ดีผิดปกติ ไม่สวยไม่งาม ไม่น่ารักไม่น่าพอใจ ไม่น่าจะเอามาเป็นของตัว นั่งคิดนั่งนึกอย่างนั้น นึกไปคิดไป ตาก็สร้างภาพนั้นไว้แล้วก็นึกพิจารณา พิจารณาไปตลอดเพลา จิตก็จะเบื่อหน่ายคลายความกำหนัดยินดี หลุดพ้นไปจากสิ่งที่น่าเพลิดเพลินยินดี ท่านให้ทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้นพระท่านจึงไปป่าช้า เพื่อจะไปดูศพแล้วเอามานั่งพิจารณา เราทั้งหลายที่เป็นชาวบ้านอยากจะสงเคราะห์พระ เรียกว่าให้กำลังแก่พระ เวลาทำศพนี่มีคำที่พระอนุโมทนาตอนท้ายว่า (40.59 “พลังจะภิกขู นะมนุสปฏินนัง ตุมเหหิปุณนัง ปสุตตังอะนัปปะกัง”)
“พลังจะภิกขู นะมนุสปฏิณนัง” แปลว่า เพิ่มให้กำลังแก่พระภิกษุในพระพุทธศาสนาท่านจะประสบสิ่งที่เป็นบุญ เพิ่มให้กำลังแก่พระในงานศพนี่เราให้กำลังสองอย่าง ให้ปัจจัยเนื่องอาศัย ถวายอาหาร ถวายจีวร ถวายหยูกยาตามเรื่องที่เราจะถวาย อันนี้เป็นกำลังฝ่ายกาย ส่วนกำลังฝ่ายใจนั้นเราก็ถวายด้วยการให้พระมาพิจารณาศพที่เราเรียกว่านิมนต์บังสุกุลน่ะ คือให้พิจารณา แต่ทางใต้นี่ก็ใช้ภาษาน่าฟัง เขามานิมนต์ว่านิมนต์พิจารณาขอรับ อาตมาจำได้เมื่อเด็กๆอยู่วัดนี่ได้ยินเขานิมนต์บ่อยๆ แต่ไม่รู้ว่าอะไร แต่มาบวชเป็นพระแล้วนึกว่า อ๋อ! แหมเขานิมนต์ให้พิจารณา คือให้ไปศึกษาซากศพ ให้พิจารณาซากศพว่าเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดไม่น่ารักไม่น่าชม เขาให้พิจารณาอย่างนั้นเพื่อจะได้เบื่อหน่ายคลายความยึดมั่นถือมั่น อันนี้ก็เรียกว่าต้องไปหาถึงป่าช้า ทำอะไรๆต้องไปหาทั้งนั้น แต่ว่าลมเข้าลมออกนี้ไม่ต้องไปไหน มันอยู่กับเราตลอดเวลา หายใจอยู่ตลอดเวลา ยังใช้ได้อยู่ ยังเป็นอยู่แล้วก็ใช้ได้อยู่ แต่ถ้าตายแล้วจึงใช้ไม่ได้ ไม่มีลมแล้วไม่รู้จะเพ่งอย่างไร เราก็มาเพ่งที่ลม พิจารณาลมเข้าลมออก กำหนดเท่านั้น ไม่ต้องพิจารณาอะไร ใช้วิธีการกำหนดให้รู้ว่าลมมันอยู่ตรงไหน มันไปอย่างไร มันขึ้นมาอย่างไร กำหนดตามไป
ขั้นแรกกำหนดตาม แต่ว่าต่อมาก็กำหนดตามมานานแล้ว ไม่เอาล่ะหยุดอยู่ตรงใดตรงหนึ่งจุดใดจุดหนึ่งที่ลมกระทบ คลื่นลมกระทบข้างจมูกด้านใดด้านหนึ่ง เราหายใจแล้วลองนั่งสังเกตว่ามันกระทบตรงไหน แล้วก็คอยกำหนดรู้อยู่ที่ตรงนั้นน่ะ ไม่ต้องวิ่งตามมัน แล้วกำหนดรู้อยู่ เหมือนกับคนเลี้ยงวัว ก็เที่ยวตามวัวไปในทุ่งในป่า วัวไปกินหญ้าที่ไหนก็เดินตามมันไป คอยกำหนดแล้วว่ามีกี่ตัว ตามอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าคนเลี้ยงวัวที่ฉลาดเขาไม่ต้องไปตามดูวัว แต่เขามาดูอยู่ที่หนองน้ำ มีทางที่จะลงไปสู่ลำห้วย วัวมันต้องกินน้ำ กินหญ้าแล้วมันต้องกินน้ำ เดี๋ยวเวลาเย็นมันก็ต้องกินน้ำ เวลาเที่ยงมันก็ต้องกินน้ำ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไป ขึ้นไปทอดห้างบนต้นไม้เลย นั่งจ้องดูวัวมันลงมากี่ตัวขึ้นกี่ตัวอันนี้ใช้ได้ เสือยังไม่เอาไปกินยังครบเรียบร้อย ไปนับตอนนั้น ฉันใด
ในเรื่องกำหนดลมนี้ก็เหมือนกัน เมื่อเราทำไปหลายวันแล้วเราก็คอยกำหนดจุดใดจุดหนึ่งที่ลมมากระทบ กำหนดรู้อยู่ที่ตรงนั้นให้มีความรู้อยู่ที่ตรงนั้น ไม่ให้ไปไหน อย่างนี้เรียกว่าทำสมาธิ เจริญแบบสมถกัมมัฏฐานเพื่อให้ใจสงบตั้งมั่นอยู่ในตรงนั้น แล้วมันอ่อนโยน อ่อนโยนหมายความว่าใช้งานได้ ใช้งานได้ เหมือนกับเราได้สัตว์ป่ามา มันยังไม่อ่อนโยนต้องเอามาฝึกมาหัด มันอ่อนหมายความว่าใช้ให้ทำอะไรได้ พูดภาษาคนมันรู้เรื่องนะ สัตว์นี่พอพูดภาษาคนรู้เรื่องแล้วเรียกว่ามันอ่อนแล้ว อ่อนโยนแล้วเราก็ใช้ให้ทำอะไรก็ได้ บอกให้นอนมันก็นอน ให้หมอบมันก็หมอบ บอกให้นั่งมันก็นั่ง เอามือมาจับมือเรามันก็ยื่นมา เอ้า!นี่เก่งแล้ว สุนัขตัวนั้นเก่งแล้ว วัวอ่อนโยนก็ใช้ได้แล้ว ช้างอ่อนโยนก็เอามาเก็บสตางค์ในกรุงเทพฯได้แล้ว เหมือนพวกสุรินทร์เอาช้างมาให้เก็บสตางค์ ให้เด็กดู ได้เก็บสตางค์คือเอาให้คนปัญญาอ่อนลอดใต้ช้าง (46.02) ลอดใต้ช้างน่ะมันดีกับหลายๆคน ลอดไม่ได้ลอดเปล่านะ ลอดแล้วเสียสตางค์ด้วย กลับหาว่าเป็นมงคลไปด้วย ลอดใต้ช้างอย่างนี้ก็มี เขาหัดแล้วใช้ได้
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าช้างม้าสัตว์เดรัจฉานที่หัดดีแล้วเอาเข้าสู่สมาคมได้ คือเอาไปเดินในที่คนมากได้ มันไม่ตกใจไม่หวั่นไหว ไม่ทำให้เสียหาย แต่ช้างม้าที่ยังฝึกไม่ดียังไม่เชื่องอย่าเอาไปใช้ในหมู่คน เดี๋ยวมันไปเหยียบคนเหยียบตะกร้าใส่ขนมเสียหาย ถูกเสียสตางค์กันยุบยับไปเลยทีเดียวฉันใด คนเรานี้ก็เหมือนกันที่จะออกไปสู้กับสังคมนี่มันต้องหัดให้พร้อม โดยเฉพาะเด็กหนุ่มที่จบการศึกษาแล้ว อย่านึกว่าจิตจะสมบูรณ์ หรืออย่านึกว่าความสมบูรณ์ของชีวิตอยู่ที่ได้ปริญญา ยังไม่ได้เรื่อง ยังไม่ได้เรื่องหรอก ได้ปริญญานั้นยังไม่ได้เรื่อง แต่ว่าเขามีความรู้ในวิชาที่เรียนเท่านั้น แต่ยังอ่อนต่อโลกเหลือเกิน ยังไม่ประสีประสาอะไรเลย ยังไม่ได้เรียนยุทธวิธีในการต่อสู้กับปัญหาชีวิต พ่อแม่อยากให้ลูกดีมีความรู้มีความเข้าใจในเรื่องการต่อสู้ในชีวิตจริงๆ ลองมาบวช มาบวชนี่ก็คือมาฝึกยุทธวิธีสำหรับเอาไปต่อสู้กับข้าศึกที่มันจะเกิดขึ้นในใจของเรา ข้าศึกนั้นก็คือกิเลสประเภทต่างๆ มันอาจจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ถ้าเราสู้มันไม่ได้มันก็อยู่เหนือเรามันชนะเรา มันบังคับเราให้ไปนั่นไปนี่ ทำนั่นทำนี่ ให้ไปซื้อข้าวซื้อของ ให้ไปกินอาหารแพงๆ
เมื่อคืนก่อนนี้นั่งรถไปสมุทรสงคราม ขากลับก็คนขับแกก็คุยให้ฟังน่ะ บอกว่าลูกสะใภ้ไปกินอาหารที่ร้านเซ็นทรัลลาดพร้าว กินเสร็จแล้วอาหารสองอย่างเท่านั้น เขาเรียกเท่าไร ๓,๐๐๐ เรียก ๓,๐๐๐ สตางค์ไม่พอ แต่ว่าดีมีเครดิตการ์ดไป แล้วก็โอเคเอาการ์ดไป หักอะไรกันตามแบบของเครดิตนะ แล้วก็ถามคนที่เสิร์ฟอาหารบอกว่านี่คุณแกล้งสังเกตบ้างไหมว่าคนที่มากินครั้งแรก แล้วมากินอีกเป็นครั้งที่สองที่สามมีหรือไม่ ไอ้คนขายบอกว่ามาทีเดียวหายหัวไปทั้งนั้นล่ะ ทำไมไม่หายหัวล่ะมันแพงอย่างนั้น มันแพงหูฉี่ มันแพง ๒ จานกินเข้าไป ๓,๐๐๐ แล้ว แล้วมันแพงอะไรนักหนาอย่างนั้น แล้วใครจะไปกินอีกล่ะ ผู้พันกินสักครั้งแล้วจะไปกินอีกหรือไม่ล่ะ ไม่เข้าไปต่อไปล่ะบานกระเท่อเร่อขนาดนั้นน่ะ นี่มันเป็นอย่างนี้มันแพง ไม่รู้เรื่องไปกินเข้าแล้วก็เสียท่า อย่างนี้ลำบาก เพราะไม่รู้ รู้แล้วก็ไม่ไปกินหรอก ไปกินก๋วยเตี๋ยวในซอยดีกว่ามันไม่แพงเท่าใด อยากจะไปลองไม่ใช่เรื่องอะไรหรอก กินกุ้งเข้าไปตัวหนึ่งมัน ๙๐๐ เข้าไปแล้ว กุ้งตัวเดียวนะ ๙๐๐ บาท ถ้าโยมเอามาถวายอาตมา อาตมาถามว่าราคาเท่าไร โยมบอกว่า ๙๐๐ อาตมาคอตีบกินไม่ลงหรอก แต่ว่าโยมซื้อมาแล้วก็ต้องฝืนฉันให้มันหมดเพราะมันแพงเหลือเกิน ต้องฉันให้หมดเพราะมันแพง อาหารมันแพง ไอ้ที่อย่างนั้นมันแพง แพงเพราะบริการ ชื่อเสียง อะไรมันแพงหมดล่ะ ใครโฉบเข้าไปในนั้นแล้ว ออกมาใจเหี่ยวใจแห้ง กินอาหารแล้วท้องอิ่มแต่ใจหิวนะ ใจเหี่ยวใจแห้งนะ มานอนเป็นทุกข์อยู่ที่บ้าน ๓ วัน ๓ คืน บอกแหม!ทำไมมันแพงอย่างนั้น นี่เป็นอย่างนี้มันลำบาก อยู่ในโลกนี่มันลำบาก อันนี้เราสู้มาก็ต้องไปกินที่นั่น ไปซื้อที่นี่สิ้นเปลืองเงินทองเท่าไร แล้วบ่นกันว่าเงินไม่พอใช้ ขอขึ้นเงินเดือน ขึ้นไปเถอะมันก็ไม่พอ ถ้าเราไม่บังคับตัวเองแล้วมันจะพอได้อย่างไร เรียนธรรมะเพื่อเอาไปบังคับตัวเองไม่ให้ทำอะไรที่เรียกว่าเกินพอดี เกินพอดีแล้วมันใช้ไม่ได้ มันต้องพอดี อะไรพอดีแล้วก็ใช้ได้ เกินแล้วมันก็ใช้ไม่ได้ มันเกิดความเสียหาย
นี่เมื่อวานนี้เขาเอาศพมาส่ง เด็กหนุ่ม ไปดูชื่อแล้ว เอ!นี่มันเคยบวชที่นี่นี่นา ก็เคยบวชที่นี่แหล่ะ บวชเดือนหนึ่งหน้าร้อน ก็อบรมสั่งสอนไปเถอะ ไอ้เวลาจะสึกนี่สั่งนักสั่งหนานะ สั่ง ๓ เรื่อง อย่าเล่นการพนันนะ อย่าเสพของมึนเมานะ อย่าคลุกคลีกับเพื่อนชั่วนะ สั่งนักสั่งหนาเคี่ยวเข็ญ สั่งแล้วสั่งอีกล่ะ ลืมอาจารย์ไปกินเหล้ากับเพื่อน พอกินเหล้ากับเพื่อนเสร็จแล้วเอารถแฟน ยังไม่ได้แต่งหรอกแต่ว่าหมายมั่นปั้นมือกันไว้ เอารถขับ เมาอย่างไรล่ะ ขับไปสะเออะกับสิบล้อ ไอ้รถอื่นไม่ชนไปชนกับสิบล้อมันก็ได้เรื่องเรียบร้อย ศีรษะแตก แขนหัก อะไรบ้าง อาตมาไปดูศพ อื้มแหม! ยุบยับไปหมด นี่เพราะอะไร เมา เมาตัวเดียว เมาเหล้า สั่งนักสั่งหนาว่าอย่าไปดื่มมันไม่จำเป็น มันยังไป ชีวิตกำลังจะขึ้นไปข้างหน้ารุ่งโรจน์ ไปเรียนต่อเมืองนอก กลับมาอยู่ธนาคารทหารไทย กำลังจะก้าวหน้า ตกปุ๊บทีเดียวแล้วปีกหัก ลงไปนอนแอ้งแม้ง แล้วไปไม่รอด เหล้าตัวเดียว ความเสียหายมันเกิด อันนี้สำคัญหนักหนา เตือนลูกเตือนหลาน ผู้หลักผู้ใหญ่ก็อย่าไปดื่มให้เด็กเห็น ไม่ดื่มแล้วเป็นดีล่ะ ดื่มแล้วมันใช้ไม่ได้
มีพ่อของนักการเมืองคนหนึ่ง เมานี่แหล่ะ มากรุงเทพฯพักที่โรงแรมคุนกี่ หัวลำโพง จะมาขออนุญาตพกปืน วันจันทร์จะไป บอกลูกแปดโมงปลุกพ่อนะ ลูกก็ปลุก พอปลุก บอกลูกเอ้า!ไปซื้อมาหน่อย เอ้า!ถอนๆ พวกกินเหล้านี่มันต้องถอนเช้าๆ พอถอนแล้วเมาแอ้กหลับไปไม่ได้ไป วันอังคารก็ไม่ได้ไป วันพุธ วันพฤหัสฯไม่ได้ไป วันศุกร์วันสุดท้ายแล้ว พอบอกว่าพ่อลุกขึ้นนะ ให้ไปซื้ออีกแล้ว ไอ้ลูกชายมันอายุ ๑๗ ปีก็กำหมัดแน่นเลย ตึ้ง!เข้าให้เลย ชกพ่อเข้าตรงนี้เลือดออกพลั่กลงมาเลย ต้องพาไปโรงพยาบาล ตั้งแต่นั้นพ่อไม่ดื่มเหล้าต่อไป เอ้อ!แหมมันสอนดีเหลือเกิน ไอ้ลูกชายคนนี้มันสอนพ่อมันดีแล้ว บอกว่าเลิกเด็ดขาดเลย ไม่ดื่มต่อไปจนกระทั่งตาย ไม่มีดื่มต่อไปเพราะหมัดลูกชายนี้เอง แล้วลูกชายนี่ไม่แตะต้องของมึนเมา ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ไม่เหลวไหล เพราะว่าเห็นพ่อมามากแล้ว เมาทีไรต้องชกแม่บ้าง ถือปิ่นโตมา แม่เปิดตัวปิ่นโต ฟาดเปรี้ยงเข้าให้ คุณแม่ก็เลือดอาบไป เห็นแต่ภาพเหล่านี้ เลยนึกในใจ แหม! ไม่ไหว ไอ้เรื่องเมานี่มันน่าเกลียดที่สุดแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เลยพอถึงวันศุกร์ชกเลย เปรี้ยง!เข้าให้ เลือดไหลพลั่กต้องเย็บเลย เป็นแผลติดอยู่ที่ปากตลอดมา เลิกดื่มตั้งแต่นั้น อื้ม!ดีเหมือนกัน แต่อย่าเอาไปใช้นะ เรื่องนี้อย่าเอาไปใช้ไม่ไหว เอ้า!สมควรแก่เวลาแล้ว