แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะแล้ว ขอให้ทุกคนที่เดินไปเดินมา นั่งเสีย นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่งซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงนี้ได้ ถ้าท่านนั่งใกล้ใครที่เป็นคนชอบพูดมากให้ลุกขึ้นหนีไปเสีย อย่าพูดด้วย เพราะว่าถ้าพูดมากแล้วมันรำคาญคนอื่น เพราะงั้นถ้านั่งใกล้ใครเป็นคนช่างพูดก็รีบลุกขึ้นไป ให้แกนั่งพูดบ้าอยู่คนเดียว ใครๆก็จะเห็นว่า นี่ อ้อ ไม่สบาย ก็นั่งพูดอยู่คนเดียว เวลาฟังนี่เขาไม่พูดกัน ใช้หู ไม่ต้องใช้ปาก แล้วก็ฟังด้วยความตั้งอกตั้งใจให้ได้ประโยชน์จากการมาฟังอย่างแท้จริง แล้วในการฟังก็เป็นการฝึกตนเองให้มีความอดทน ให้มีการบังคับตัวเอง ให้เสียสละ หลายอย่าง ในขณะฟังก็เป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วยในตัว เพราะงั้นขอให้ปฏิบัติตามดังที่กล่าวมา
วันนี้เป็นวันที่ ๑๕ เดือนเมษายนตรงกับวันพระกลางเดือนพอดี เรียกว่าวันสงกรานต์ผ่านมา ขึ้นปีใหม่ก็เป็นวันกลางเดือนห้า กลางเดือนห้านี่แดดมันก็ร้อน แต่วันนี้อากาศดี ไม่ร้อน เพราะว่าฝนตกลงมาบ้างแล้ว ฝนมาแล้วคนก็ดีใจว่ามันจะเบาไปหน่อยจากความร้อน ร้อนข้างนอกนี่ไม่สำคัญหรอกแต่ร้อนข้างในนี่น่ากลัว ร้อนข้างในก็ร้อนด้วยไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ อันนี้แหละเป็นความร้อนที่อันตราย เกิดขึ้นในผู้ใดแล้ว มันลุกลามออกมาที่กาย ออกมาที่วาจา แล้วก็จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ตนแก่ท่านด้วยประการต่างๆ จึงเป็นความร้อนที่น่ากลัว ส่วนความร้อนแดดที่แผดเผานี่ไม่น่ากลัวอะไร มันหลบได้ เข้าร่มไม้ก็ได้ เข้าไปในหลังคาก็ได้ กางร่มเสียก็ได้ ร้อนมากๆ อาบน้ำเสียก็ได้ ไม่เป็นพิษเป็นภัยอะไรเท่าใด แต่ร้อนในนี่เป็นพิษเป็นภัยมาก ในฤดูสงกรานต์เขาจึงได้รดน้ำกันเพื่อให้เกิดความชุ่มความเย็น การรดน้ำก็เพื่อเป็นการให้พรให้เตือนใจว่าให้หาน้ำมารดเสียบ้าง น้ำที่เอามารดนั้นไม่ใช่น้ำธรรมดา ไม่ใช่น้ำใส่น้ำอบน้ำหอมหรือว่าใส่ดอกไม้ นั่นก็มันเป็นน้ำอยู่นั่นแหละ แต่ว่าน้ำที่ควรจะเอามารดกันให้มากก็คือน้ำคำ คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นน้ำที่รดแล้วทำให้เกิดความชุ่มความเย็น เกิดความสงบในภายใน เกิดความสะอาด เกิดความสว่างทางใจ น้ำประเภทนี้เราควรจะรดกันให้มากๆ คือทุกคนต้องรดตัวเอง คนอื่นรดให้ก็ไม่ได้ เราต้องรดเราเองแต่ว่าก่อนที่จะรดก็ต้องศึกษาทำความเข้าใจด้วยการอ่านบ้าง ด้วยการฟังบ้าง ด้วยการคิดจากสิ่งที่เราได้พบได้เห็นบ้าง แล้วก็เอาสิ่งนั้นแหละมาเป็นเครื่องเตือนใจ เป็นคติธรรมประจำใจ สอนใจตนเองให้เกิดความคิดความนึกในทางที่ถูกที่ชอบ เรียกว่าเป็นการรดน้ำแก่ตัวเอง รดน้ำให้แก่ผู้อื่นก็เป็นการแสดงน้ำใจว่าเรามีความเคารพสักการะบูชาบุคคลผู้นั้น เราก็เอาน้ำไปรด พร้อมกับรดน้ำคนอื่นเราก็ต้องรดธรรมะให้แก่ตัวเราเองให้ใจมันเย็นขึ้น สงบขึ้น สว่างขึ้น นั่นจึงจะเป็นการรดน้ำที่ได้ผล ในวันสงกรานต์นี่ก็มีอะไรที่น่าจะเอามาสนทนาสู่ญาติโยมฟังบ้างเล็กๆ น้อยๆอยู่เหมือนกัน ดูปฏิทินแบบเก่าๆ เขาจะมีรูปนางเทพธิดาแห่เศียรพระพรหม พรหมนี่มันหลายองค์เหมือนกันนะ ไม่ใช่องค์เดียว พรหมที่นั่น พรหมหน้าโรงแรมเอราวัณ พรหมหน้าโรงแรมนั่น เดี๋ยวนี้พระพรหมชักจะเพ่นพ่านไปเที่ยวนั่งอยู่ตามที่ต่างๆ
เมื่อคืนก่อนไปเทศน์ที่หมู่บ้านชุมชนเคหะท่าทราย พระพรหมก็แอบมานั่งอยู่ตรงนั้นองค์หนึ่งเหมือนกันแล้วก็มีคนไปกราบไปไหว้ไปขออะไรต่ออะไรจากพระพรหม นึกว่าพระพรหมนี่มีทรัพย์สมบัติเยอะจะมีอะไรให้ แต่ถ้าพระพรหมพูดได้แกคงว่าให้แล้ว บอกว่าพวกแกนี่ไม่รู้จักช่วยตัวเอง ไม่รู้จักพึ่งตัวเอง เป็นศิษย์พระพุทธเจ้าแต่ไม่เข้าหาพระพุทธเจ้า ไม่เอาพระธรรมของพระพุทธเจ้ามาใช้ ไม่ฟังเสียงพระสงฆ์ จะมาไหว้ข้าที่เป็นตุ๊กตาที่คนโง่เขาปั้นขึ้นเท่านั้นเองไม่ได้เรื่องอะไร ถ้าพระพรหมพูดได้แกคงจะว่าอย่างนั้น แต่ว่าพระพรหมไม่มีทางจะพูดได้หรอก เพราะเป็นตุ๊กตาธรรมด๊าธรรมดา ท่านปัญญาเทศน์แทนได้พูดแทนพระพรหมเสียหน่อย ให้เรารู้ว่าไม่ได้เรื่อง พระพรหมนี่ก็ไม่ได้เรื่องเหมือนกัน คนอินเดียนี่ไม่ค่อยไหว้พระพรหม เขาไหว้พระศิวะ ไหว้พระวิศณุ เพราะพระศิวะนี่เรียกว่ามีเรื่องมหัศจรรย์ มีเรื่องมีฤทธิ์มีเดช ทำอะไรได้ต่างๆนานา ให้พรใครก็ได้ แช่งใครก็ยังได้ พระศิวะนี่ พระวิศณุก็เก่งในทางปราบปราม คนจึงไหว้ พระพรหมนี่คนอินเดียไม่ไหว้ ไม่เห็นมีรูปพระพรหมที่ไหนในเมืองอินเดีย มีแต่รูปพระศิวะ รูปพระวิศณุ อะไรเท่านั้น พระพรหมอยู่อินเดียไม่ไหว เลยต้องมาเมืองไทยให้คนไทยไหว้แทนคนอินเดียอย่างนั้น เพราะงั้นเดี๋ยวนี้พระพรหมได้หน้าได้ตา มาอยู่เมืองไทย
ในวันสงกรานต์นี่ก็มีเรื่องเกี่ยวกับพรหมองค์หนึ่งเหมือนกัน แสดงว่าพรหมมีหลายองค์ไม่ใช่องค์เดียว พรหมในเรื่องเกี่ยวกับสงกรานต์นี้ เป็นผู้ที่มาสนทนากับธรรมบาลกุมาร ธรรมบาลกุมารกับพระพรหมเกิดพนันกันขึ้น แสดงว่าการพนันนี่เป็นผีร้ายมานานแล้ว ทำให้เกิดปัญหา คือว่าพระพรหมแกถามปัญหาธรรมบาลกุมาร ถามว่ามนุษย์สามราศีนั่นได้แก่อะไร ให้คิดภายในเจ็ดวันให้ตอบให้ได้ ถ้าตอบได้จะให้ตัดเศียร พระพรหมเป็นผู้ท้า ท้าธรรมปาละ บอกว่าถ้าท่านตอบได้เราให้ตัดเศียรเสียเลย แต่ถ้าท่านตอบไม่ได้เราก็ตัดท่านเหมือนกัน นี่การพนันขันต่อได้เกิดขึ้นระหว่างชายหนุ่มกับพรหมองค์หนึ่ง ธรรมปาละก็มาคิด นั่งคิด นอนคิด เดินคิด คิดแล้วคิดอีก มันไม่ออก ไม่รู้ว่าจะตอบว่าอย่างไร ก็นึกทอดอาลัยในชีวิตแล้วไปนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ที่ในป่าคือนั่งให้มันตายไปเสียเลยไม่ต้องให้พระพรหมมาตัดหัวแก นั่งอยู่นั้นบนคาคบไม้นั้นมีอีแร้งอยู่ชุดหนึ่งคือมีแม่และก็ลูกสามตัว ลูกก็กวนจะกินอาหารจากแม่ รบกวนจะกินอาหาร แม่ก็ว่าอดไว้ก่อน พรุ่งนี้ค่อยกิน ลูกก็ถามว่ากินอะไรวันพรุ่งนี้ อ้าว กินของอร่อยกว่าสิ่งที่เราเคยกิน ลูกถามว่ากินอะไร โน่นๆ ที่โคนไม้ นั่งอยู่นั่นตรงนั้น เนื้ออ้วนท้วนน่ากิน แล้วทำไงจะกินเขาได้ ก็ยังเป็นอยู่จะจิกกินเขาได้อย่างไร ก็พวกเรามันไม่กินสัตว์เป็นนี่ แร้งนี่มันดีนะ มันไม่กินสัตว์เป็น ไม่ประทุษร้ายใคร เรียกว่ากินสัตว์ที่ตายแล้ว ว่างั้นจะกินเขาอย่างไรแม่ โธ่เอ๊ย ไม่ต้องตกใจ พรุ่งนี้ก็จะตายแล้ว ทำไมถึงจะตาย ลูกแร้งก็ชอบซักไซ้ไล่เรียง แม่ก็ตอบว่า พระพรหมกับเจ้าคนนี้มันพนันกัน ถามว่ามนุษย์สามราศีคืออะไร ถ้าเจ้านี่ตอบได้ก็ตัดเศียรพรหม แต่ถ้าตอบไม่ได้พรหมก็ตัดเศียรเจ้านี่ นี่ที่มานั่งอยู่นี่มานั่งกลุ้มใจ ไม่รู้จะตอบอย่างไร ก็เลยมานั่งให้มันผอมตายอยู่ตรงนี้ แต่ไม่ทันตายพรหมจะมาตัดหัววันพรุ่งนี้ ว่าอย่างงั้น ลูกแร้งก็ชักจะสงสัย ตามประสาสัตว์ที่ชอบถาม ก็เลยถามว่าแล้วมนุษย์สามราศีอะไรล่ะแม่ แม่ก็บอกว่ามนุษย์สามราศีน่ะคือ เช้าราศีอยู่ที่หน้า กลางวันราศีอยู่ที่อก ตะวันตกราศีอยู่ที่เท้า ธรรมปาละนี่แกก็มีวิชาวิเศษเหมือนกันที่จะไม่ตาย คนมีวิชานี่มันช่วยตัวได้ คือแกมีวิชาได้ยินเสียงสัตว์พูดเข้าใจ แร้งพูดยังเข้าใจเลย รู้ว่าพูดอะไรกัน และแกก็ได้ยินว่า อ้อ สามราศีอย่างนี้เอง เลยก็ลุกขึ้นไป รุ่งเช้าพระพรหมมาหา บอกว่าอะไร มนุษย์สามราศีคืออะไร ธรรมปาละก็ตอบไปอย่างที่ว่าเมื่อตะกี๊นี้ สมัยก่อนนี่เขาไม่ค่อยเบี้ยวกัน ถ้าพรหมแกจะเบี้ยวก็ได้ บอก อ๊า ไม่ใช่อย่างนั้น มันอย่างอื่น เพราะไม่มีคำเฉลยที่ไหนนี่ พรหมจะเบี้ยวก็ได้ แต่ว่าพรหมนี่ก็ยังเคารพธรรมะอยู่ ถือสัจจะเป็นหลักอยู่เหมือนกัน เลยบอกเอ้า ถ้างั้นท่านตอบถูก เราให้ท่านตัดหัวเรา พรหมก็เลยถูกตัดเศียร ทีนี้เศียรพระพรหมนี่มันร้าย ทิ้งลงไปในทะเลน้ำแห้ง ปลาตาย โยนไปในอากาศก็จะลุกเป็นไฟ เปลวไฟ เหมือนขวานฟ้าของขวานฟ้าหน้าดำ เลยมันยุ่งกันใหญ่ เป็นอันตรายแก่คนแก่สัตว์ แล้วจะทำอย่างไรล่ะ จะไม่ให้เป็นอันตราย บอกว่าตัดแล้วต้องถือไว้ แล้วให้ลูกสาวเอาพานมารับไป ลูกสาวก็เอาพานรับ รับแล้วเอาไปไว้ในถ้ำแห่งหนึ่งในป่าหิมพานต์ ยังไม่ได้สำรวจว่าอยู่ตรงไหน ถ้ำนั้น เอาไปไว้ในถ้ำ พอถึงวันสงกรานต์ก็ลูกสาวนี่ถือพานแห่ไปรอบๆเขาพระสุเมรุ แล้วไปเก็บไว้ในถ้ำ ไม่เน่า ความจริงก็ไม่ได้ฉีดหยูกฉีดยาอะไร แต่ว่ามันเน่าไม่ได้ ของอย่างนี้เน่าไม่ได้ มันเป็นประเพณี เน่าไม่ได้ ต้องเอาไว้ต่อไป และก็เวียนกันอย่างนั้น ลูกสาวถือเวียนไปทุกปี ปีนี้ คนนี้ ปีนี้ คนนี้ ถือแล้วต้องเอาไปรักษาดูแลด้วย รักษาเศียรพระพรหม
อันนี้เป็นเรื่องเขาเรียกว่าไสยศาสตร์ เป็นเรื่องเล่ากันมาตั้งแต่โบรมโบราณ เพราะงั้นในรูปปฏิทินสมัยก่อนที่เขาพิมพ์เป็นแผ่น ห้างขายยาต่างๆ พิมพ์แจก จะเห็นรูปนางสาวเทวดาถือพานแห่เศียรพระพรหมไป แล้วก็มีรูปนางสงกรานต์ขี่อะไรก็ตามที ปีนี้ขี่อะไรก็ไม่ทราบ ทัดดอกไม้อะไร กินอะไร แล้วก็มีการทายว่า ฝนจะตกเท่านั้นเท่านี้ ตกในป่าหิมพานต์ห้าร้อยห่า เดี๋ยวนี้ป่าหิมพานต์ฝนไม่ค่อยตกแล้ว เพราะว่าป่ามันไม่ค่อยมี แต่ว่ายังมีหิมะปกคลุมอยู่ ก็พอชดเชยไปได้ น้ำยังท่วมบ้านท่วมเมืองอยู่ในฤดูฝนเหมือนกัน ตกในทะเล ตกในมนุษยโลก ปีนี้อ่านดูได้ว่าตกในมนุษยโลกนี่น้อย เขาเรียกว่าเกณฑ์ธาราน้ำน้อย ข้าวจะเสียคือจะแห้ง มันก็ชดเชยกับปีกลาย ปีกลายมันท่วมมากแล้ว ปีนี้ท่วมอีกก็มันไม่ได้เรื่อง ก็มันลดลงมาหน่อย ให้ท่วมน้อยๆ สักหน่อย เขาก็ทายทำนายกันอย่างนั้น แล้วอีกไม่เท่าใดก็มีการแรกนาขวัญที่ท้องสนามหลวง เสี่ยงทายกันว่าวัวกินอะไร วัวกินผ้าหรือวัวกินข้าวหรือวัวกินเหล้า พวกไถนานี่มันอุตริเอาเหล้าไปให้วัวกิน คือมันอยากจะกินเหล้าหลังวัวนั่นเองไม่ใช่เรื่องอะไร เพราะถึงอย่างไรวัวก็ไม่ดื่มเหล้า เพียงแต่แหย่หัวลงไปได้กลิ่นมันก็หัวขึ้นเสีย เหล้านั้นมันก็เหลือให้พวกไถนากินกันต่อไป นี่อุบายพวกไถนา พวกพราหมณ์ทั้งหลาย หาเรื่องจะดื่มเหล้า ดื่มเวลาอื่นมันไม่ค่อยได้ แต่เลือกดื่มเวลาทำยัญกรรมนี่ได้ ถือว่าเป็นของเหลือจากเทพเจ้า เลยกินได้ไม่เป็นอะไร พราหมณ์ก็หาเรื่องอย่างนั้นแหละ พิธีกรรมต่างๆ หาเรื่องจะเอาสตางค์ เอากินกันทั้งนั้นแหละ ไม่ใช่เรื่องอะไร แต่ว่ามีเรื่องน่าคิดอยู่อันหนึ่ง ในเรื่องเศียรพระพรหมเนี่ย จะว่า เหตุที่ได้ถูกตัดเพราะเรื่องอะไร เรื่องเล่นการพนัน แสดงว่าการพนันนี่มีโทษถึงกับถูกตัดหัว ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย พระพรหมไปท้าพนันกับธรรมบาลแล้วก็แพ้เขาเลยถูกตัดหัว ไม่ได้ต่อกับเนื้อกับตัวต่อไป เหลือแต่หัวอยู่จะยักคิ้วได้หรือเปล่าก็ยังไม่ทราบเพราะเขาไม่ได้เขียนไว้ คงไม่ได้เรื่องแล้ว ตายแล้ว คงไม่ได้เรื่องอะไร แต่มันเป็นคติเตือนใจพวกเราทั้งหลายว่าการพนันนี่มีพิษสงพอใช้ทำให้เกิดปัญหามากมายหลายเรื่อง
สมัยพุทธกาลก็คงมีการพนันเหมือนกัน เพราะว่าในนิทานชาดกมีหลายเรื่อง ที่พระเจ้าแผ่นดินพนันเล่นสกากัน ทอดสกาพนัน แพ้เขาถูกออกจากเมือง พระเจ้าแผ่นดินในสมัยก่อนก็ถือสัจจะเหมือนกัน เมื่อพูดว่าแพ้ยกเมืองให้ก็ต้องยกให้ ตัวก็ต้องไปเดินป่าเป็นเวลาเท่านั้นปีเท่านี้ปี ครบกำหนดแล้วกลับเข้าเมืองได้ ได้ครองบ้านครองเมืองต่อไป คนโบราณนั้นแม้จะเป็นคนชั่วแต่ก็ยังมีสัจจะ มีศีลมีธรรมประจำจิตใจ เรียกว่าไม่ชั่วร้อยเปอร์เซนต์ ถึงจะชั่วอย่างไรก็ยังมีความดีอยู่ในความชั่วนั้นบ้าง เพราะงั้นเมื่อแพ้เขาก็ต้องทำตามสัญญา ออกไปอยู่ป่าเป็นเวลาเท่านั้นเท่านี้ปี ท้าวหฤตจันทร์ในเรื่องชาดกที่เขาเอาไปแสดงเป็นเรื่องละคร มหาตมะคานธีน้อย นายคานธีน้อยเมื่อยังไม่โตไม่มีชื่อเสียงนี่แกก็ไปดูละครท้าวหฤตจันทร์เหมือนกัน ท้าวหฤตจันทร์นี่เล่นพนันเหมือนกัน เล่นสกาพนันเขา แล้วก็พนันเมืองกันเลยทีเดียว แพ้ เมื่อแพ้ท้าวหฤตจันทร์ก็ไปบอกกับเสนาบดี ข้าราชการทั้งหลาย บอกว่าเราแพ้การพนันแล้ว ตามสัญญาต้องยกเมืองให้ เราก็ต้องยกให้ แล้วเราจะเข้าไปอยู่ในป่า พวกทหารที่จงรักภักดีก็กราบทูลว่าจะไปยกให้มันทำไม สัญญาในการพนันนี่เป็นโมฆะเสียเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีพันธะกันตามนิติกรรมหรือตามกฏหมาย เราไม่ต้องรับรองพันธะนั้น ถ้ามันจะเอาก็ทหารจะปราบเอง เราบอกไม่ได้ เราเป็นกษัตริย์ตรัสอะไรแล้วคืนคำไม่ได้ น้ำลายถ่มแล้วจะเอามาคืนอีกไม่ได้ มันไม่ได้เป็นอันขาด เราต้องไปขอให้ท่านอยู่รักษาเมืองให้เรียบร้อย แล้วท่านก็ออกป่าไปอยู่ป่า คานธีดูเรื่องนี้แล้วประทับใจมาก เกิดความคิดขึ้นในใจในขณะนั้นว่า สังคมมนุษย์เรานี้ถ้ามีความซื่อสัตย์ต่อกันอย่างท้าวหฤตจันทร์นี้โลกมันก็คงไม่วุ่นวาย แล้วก็ตั้งจิตอธิษฐานว่าเราจะอยู่ด้วยสัจจะ จะอยู่ด้วยความซื่อสัตย์ เพราะงั้นในชีวิตท่านมหาตมะคานธีเกิดธรรมะขึ้นก็เรื่องละครท้าวหฤตจันทร์ แล้วท่านก็ยึดมั่นในอุดมการณ์นั้นถือสัจจะมั่นตลอดชีวิต เมื่อจะทำอะไรก็ทำจริง เลิกไม่ได้ ทำทุกอย่างตามที่ได้ตั้งใจไว้ ก็เป็นสัจจะอันหนึ่ง
ในเรื่องชาดกบางเรื่องเช่นเรื่องวิธูรชาดก กษัตริย์เมืองที่วิธูรชาดกทำงานด้วยนี่ก็ชอบเล่นสกาเหมือนกันแล้วไปเล่นสกากับยักษ์ ทีแรกก็เทวดาที่เป็นแม่ในชาติก่อนมาช่วย ยึดลูกสกาเวลาทอดให้ชนะทุกที แต่ว่ายักษ์นี่ตาเหมือนกับไฟ เรียกว่ายักษ์นี่มีสายตาเหมือนกับไฟ มองรู้ว่าเทพธิดามาช่วยเลยขึงตา มองด้วยตาเขียวๆ เทพธิดาตกใจหนีไป ท้าวนั้นก็เลยแพ้สกาของยักษ์ ปุณณกยักษ์ ปุณณกยักษ์ก็เลยบอกว่าท่านแพ้แล้ว เราจะต้องเอาเมืองของท่าน ราชาบอกว่าเมืองเอาไปได้แต่วิธูรบัณฑิตท่านเอาไปไม่ได้ อ้าว เกิดเป็นปัญหาว่าวิธูรบัณฑิตนี่เป็นทรัพย์ติดเมืองหรือว่าไม่ใช่ทรัพย์ติดเมือง ก็เถียงกัน เถียงกันก็เลยให้หาวิธูรบัณฑิตมาเป็นผู้ตัดสิน วิธูรบัณฑิตตัดสินเป็นธรรมคือว่าตัดสินว่าข้าราชการนี่เป็นข้าของพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินจะให้ทำอะไรก็ได้ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินท้าพนันว่ายกเมืองให้เขา ข้าราชการซึ่งเป็นของพระเจ้าแผ่นดินก็ต้องเป็นทรัพย์ติดบ้านติดเมืองต้องเป็นขี้ข้าเขาด้วย พูดง่ายๆว่าอย่างงั้น วิธูรบัณฑิตตัดสินอย่างนั้นโดยไม่รู้ว่าเขาจะเอาตัวไปทำอะไร แต่ตัดสินอย่างนั้นให้เป็นธรรม ผลที่สุดวิธูรบัณฑิตก็ต้องติดอยู่กับตัวเมือง พระเจ้าแผ่นดินก็ออกปากไป แล้วยักษ์นั้นความจริงยักษ์ที่ไปเล่นสกานี่ต้องการจะเอาวิธูรบัณฑิตเท่านั้นเองไม่ใช่เอาบ้านเอาเมืองอะไร แต่ว่าพนันเมืองกันผลที่สุดก็ได้วิธูรบัณฑิต เพราะต้องการจะเอาหัวใจวิธูรบัณฑิตไปให้นางอิรันทตี มเหสีของพญานาค เรื่องมันว่าพญานาคนี่ก็ขึ้นมาถืออุโบสถ นาคนี่ก็มาถืออุโบสถ ครุฑก็มาถืออุโบสถเหมือนกัน มาเจอกันก็ไม่ทำร้ายกัน มองกันด้วยสายตาเมตตาว่านาคไม่ใช่อาหารเราวันนี้ ครุฑก็ไม่ใช่ศัตรูของนาคในวันนี้ เพราะต่างสัตว์ต่างมีธรรมะ นาคมีธรรมะ ครุฑก็มีธรรมะ เมื่อมีธรรมะมันก็ไม่เป็นศัตรูกัน คนเรานี่ถ้ามีธรรมะไม่เป็นศัตรูกัน แต่พอไม่มีธรรมะอยู่ในใจความเป็นศัตรูก็เกิดขึ้นทันที จะกินเลือดกินเนื้อกันได้เพราะขาดธรรมะ เพราะงั้นนาคมาฟังธรรม วิธูรบัณฑิตแสดงธรรมก็ชอบอกชอบใจ กลับไปเมืองไปเล่าให้มเหสีฟัง มเหสีก็แหมอยากจะฟังธรรมของวิธูรบัณฑิต แต่ไม่รู้จะเอาวิธูรบัณฑิตมาได้อย่างไร เลยแสดงอาการมีไข้นอนคลุมโปง สามีเข้าไปเห็นก็ถามว่าเรื่องอะไร บอกว่าเราไม่สบาย อยากจะได้หัวใจของวิธูรบัณฑิตมาเป็นเครื่องประกอบยา พญานาคบอกโอยเอามาได้อย่างไร วิธูรบัณฑิตเป็นบัณฑิตของพระราชาจะเอาไม่ได้เอาหัวใจไม่ได้ ถ้าเราไม่ได้หัวใจวิธูรบัณฑิต เราจะไม่กินข้าวกินน้ำ จะตาย เอาแล้ว ทีนี้ก็ร้อนถึงลูกสาว ได้ยินข่าวแม่ไม่สบายก็มาบอกแม่ ก็มาเฝ้าแม่ แม่ก็บอกเรื่องให้ฟัง บอกไม่เป็นไร ลูกอาสา จะให้คนใดคนหนึ่งไปเอาหัวใจวิธูรบัณฑิตแล้วลูกจะแต่งงานกับเขา ลูกสาวก็ขึ้นมาเมืองมนุษย์ แปลงตัวเป็นมนุษย์สวยงาม สมัยก่อนเขาแปลงตัวกันง่ายๆ ความจริงสมัยนี้เขาก็แปลงได้เหมือนกันนะ แปลงกันบ่อยๆ
คราวนี้เมื่อแปลงตัวก็ปุณณกยักษ์นี่ออกจากการเฝ้าท้าวเวสวัณผู้เป็นลุง ก็มาเที่ยวป่า มาเจอนางนั้นเข้าก็เลยชอบใจเข้าไปเกี้ยวพาราสี นางก็เออออห่อหมกละ แต่ว่าท่านต้องยอมทำอะไรให้ก่อนถึงจะยอมเป็นภรรยา ให้ทำอะไร บอกให้ไปเอาหัวใจวิธูรบัณฑิตมาให้ แล้วเราจะเป็นภรรยาท่าน ยักษ์ก็เลยไปเล่นการพนันเอาวิธูรบัณฑิตมา เอามาทำทุกอย่าง ยกขึ้นแกว่งก็มี โยนไปก็มี จับพลิกคว่ำพลิกหงาย ไม่ตายซักที ทำหลายเรื่องก็ไม่ตาย เลยวิธูรบัณฑิตก็เลยสงสัยนี่มันเรื่องอะไร ที่จับฉันมาโยนเล่นเหมือนลูกตะกร้ออย่างนี้ เพื่อจะเอาอะไร ยักษ์บอกว่าเราจะเอาหัวใจท่านไปให้นางอิรันทตี มเหสีของพญานาค แล้วเราจะได้ลูกสาว วิธูรบัณฑิตว่า เอ้อ ท่านนี่มันเป็นยักษ์ปัญญาอ่อนตลอดเวลา ขึ้นไปสวรรค์บ่อยๆ ก็ไม่ได้เรื่องอะไร เขาไม่ได้เอาหัวใจที่เป็นก้อนๆ ในอกฉันหรอก เขาต้องการหัวใจคือธรรมะ นางอิรันทตีที่แท้ต้องการฟังธรรมะ ไม่ได้เอาก้อนหัวใจซึ่งเหมือนลูกๆกำปั้น ไม่ใช่ ท่านเอาฉันไป ฉันจะไปเทศน์ให้นางฟัง เลยยักษ์ก็รู้สึกตัวว่า แหม แย่จริง วางลงบนดินแล้วก็นั่งลงกราบขอโทษขอโพย แต่ทำเอากระดูกร่วนไปแล้ว ขอโทษว่าไม่เป็นไร ถ้างั้นเลยพาไปให้ได้ฟังธรรม นางได้ฟังธรรมแล้วก็สบายใจ นั่นแหละหัวใจของวิธูร ไม่ใช่หัวใจเต้นติ๊กๆ ไม่ใช่อย่างงั้น หัวใจคือธรรมะของวิธูรบัณฑิตก็เลยเอาไปให้ได้ฟังธรรม แล้ววิธูรบัณฑิตก็ได้กลับเมือง ยักษ์ก็ให้อภัยเสร็จพระราชาที่แพ้สกาได้กลับมาครองบ้านครองเมืองกันต่อไป นี่ก็เรื่องการพนันเหมือนกัน
มีอยู่หลายเรื่องในเรื่องชาดกนี่เกี่ยวด้วยการพนันขันต่อ ทำเอาต้องเดินป่า สมัยก่อนใครแพ้การพนันก็เดินป่า หมายความว่าแพ้การพนันแล้วหมดเนื้อหมดตัวนั่นเอง พูดภาษาธรรมดาว่าหมดเนื้อหมดตัว หมดเนื้อหมดตัวก็บ้านไม่มีอยู่ ทรัพย์ไม่มีใช้ ต้องไปกินผลไม้ในป่า นอนกับลิงกับค่างอยู่ตามใต้ต้นไม้ เพราะเป็นคนหมดเนื้อหมดตัวแล้ว อันนี้ก็คือเขาชี้โทษให้เราได้เห็นว่าการพนันน่ะทำให้คนหมดเนื้อหมดตัว ต้องสิ้นเนื้อประดาตัวไปมากมาย เขาว่าที่เมืองไกลโน่นแน่ะ คาสิโนที่บอนคิทาโลซึ่งเป็นเมืองนักการพนัน เมืองนั้นไม่ได้ทำมาหากินอะไร เพราะไม่มีที่ทำกิน ตั้งอยู่บนภูเขา แล้วก็วางตึกสลับซับซ้อนตัดถนนคดๆเคี้ยวๆ ขึ้นเขาลงเขา มีอ่าวสวยหน่อยหนึ่ง แล้วอาชีพของเมืองนั้นก็คือว่า คนไปเที่ยวตากอากาศ แล้วก็ไปเล่นการพนัน พวกเล่นการพนันนี่เมื่อแพ้เข้าก็ไปยิงตัวตายที่ชายหาดบ่อยๆ แพ้หมดตัวน่ะ แพ้หมดตัวก็ไปยิงตัวตาย อันนี้ไม่เหมือนกับคนโบราณ แพ้แล้วเขาไปเดินป่า เขาไม่ตาย แต่ฝรั่งแพ้แล้วยิงตัวตาย ไม่สามารถจะกลับบ้านได้ นี่ก็โทษของการพนันเหมือนกัน เมืองไทยนี่มีคนขวนขวายกันอยู่ที่จะให้เปิดบ่อนคาสิโนขึ้นในประเทศไทย จะได้เป็นสถานที่สำหรับคนฆ่าตัวตายกันต่อไป หาเรื่องให้มันยุ่งน่ะเรื่องเนี้ย ทำมาหากินเรื่องอื่นไปเถอะ ไม่ต้องไปทำมาหากินกับเรื่องการพนันก็ได้ แต่ว่าคนบางประเภทเขาชอบอย่างนั้น ไม่ได้คิดถึงภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากเรื่องการพนันขันต่อ พระพุทธเจ้าท่านแสดงโทษไว้หลายสถาน คือหนึ่งเมื่อชนะก่อเวร เมื่อแพ้เสียดายทรัพย์ ทรัพย์ที่ตนมีก็จะหมดไปสิ้นไป ไม่มีใครให้เครดิตแก่นักการพนันชื่อเสียงเกียรติยศก็เสื่อมตั้งเนื้อตั้งตัวไม่ได้ นี่โทษที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปเสีย เมื่อชนะก่อเวรก็ว่าฮึกเหิม แหมวันนี้ดวงดีได้ชัยชนะแล้วก็เล่นต่อไป ไม่เลิก เล่นต่อไปก็แพ้ เมื่อแพ้หนักเข้าก็เสียดาย เสียดายก็ต้องแก้ตัว เอาอะไรล่ะ ในบ่อนนั้นเขามีการรับจำนำอยู่แล้ว เขียนเช็คไว้ให้เขาแล้วเอาเงินไปใช้ก่อนก็ได้ ถ้าเช็คเด้งก็ติดคุกกันเท่านั้นเองเดือดร้อน ทีนี้มีอะไรติดเนื้อติดตัวขายสร้อย มีแหวนเพชร มีนาฬิกา มีอะไรก็เอาจำนำไว้ก่อนแล้วไปเล่น แพ้อีกก็ไม่ได้ถอนคืนทำให้เกิดเป็นปัญหาเสียหายมากมายแล้วก็ไปให้เครดิต ไปขอเครดิตจากใครเขาก็ไม่ให้แล้ว ไปกู้เงินธนาคารเขาก็ไม่ให้ ก็ไม่ได้ลงทุนทำอุตสาหกรรมอะไร ไม่ได้ทำมาหากินอะไร มัวแต่ไปเล่นการพนัน ใครเขาจะเชื่อเครดิต ใครเขาจะให้กู้ให้ยืม ผลที่สุดยืมก็ไม่ได้ กลายเป็นคนหมดเนื้อหมดตัวได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน สกุลใหญ่ๆที่มั่งคั่ง แล้วก็หมดเนื้อหมดตัวด้วยเรื่องการพนันนี่ก็ไม่ใช่น้อยเมามัวหลงไหลในการพนัน ไม่ทำมาหากิน ไม่หาทรัพย์เก่า เอ้อไม่หาทรัพย์ใหม่มาเพิ่มทรัพย์เก่า ผลที่สุดทรัพย์ก็หมด หมดมาโดยลำดับ หมดที่นาหมดที่สวนหมดห้องแถวหมดบ้านที่ตัวอยู่ แก้วแหวนเพชรนิลจินดาที่ปู่ตาย่ายายหาไว้ให้บ้างก็ขายกินไปจนหมดจนสิ้นเหลือแต่ตัวไม่มีค่าไม่มีราคาไม่มีใครจะเอาไปใช้ไปสอยกันต่อไป นี่มีตัวอย่างอยู่ถมไปในเรื่องเช่นนี้แต่คนไม่ได้คิดไม่ได้นึกในเรื่องคุณโทษของสิ่งเหล่านี้จึงสร้างปัญหาคือความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตด้วยประการต่างๆ
เราเห็นภาพในปฏิทินโบราณแล้วก็ให้สำนึกไว้ว่านี่แหละตัวอย่างแห่งความชั่ว ตัวอย่างแห่งโทษการพนันขันต่อ เราอย่าไปริเล่นการพนัน ใครเล่นอยู่บ้างก็เลิกมันเสีย ใครส่งเสริมการพนันก็เลิกส่งเสริมการพนัน ให้ตั้งเป็นสัจจาธิษฐานไว้ในใจว่าเราจะไม่เล่นการพนันอีก เราจะไม่ให้ใครมาเล่นการพนันในบริเวณบ้านของเรา เราจะไม่ส่งเสริมสนับสนุนการพนันทุกประเภท เพื่อให้ประเทศชาติอยู่รอดก่อน คนไทยปลอดภัย ศาสนาตั้งมั่นอยู่ในบ้านเมืองของเราต่อไป อันนี้เป็นเรื่องที่ได้คติจากวันสงกรานต์เรื่องหนึ่งอยากจะขอฝากไว้กับญาติโยมทั้งหลาย ให้เอาไปเป็นหลักพิจารณาด้วย
ทีนี้พูดถึงเรื่องพรหมหน่อย พรหมในที่นี้หมายถึงอะไร พระพุทธเจ้าท่านตรัสพรหมอย่างหนึ่ง คนอินเดียก่อนพระพุทธเจ้านี่เข้าใจพรหมอย่างหนึ่ง คือเขาเข้าใจว่าพรหมะนี่เป็นผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งหลาย ก็เหมือนๆกับพวกอิสราเอลพวกอาหรับในทะเลทรายเข้าใจนั่นแหละคือเข้าใจว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากพระผู้เป็นเจ้า จากเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เป็นผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวง คนอินเดียโบราณก็มีความเชื่ออย่างนั้น เชื่อว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากพรหมะ พรหมะเป็นผู้สร้างสรรค์ เป็นผู้บันดาลให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น แต่วิธีสร้างไม่เหมือนกัน คัมภีร์ของฝรั่งของอิสลามเขาสร้างเป็นวันๆไป เจ็ดวันเสร็จ แต่ว่าคัมภีร์อินเดียน่ะไม่อย่างนั้นไม่ได้สร้างเป็นวันๆ สร้างด้วยอำนาจฤทธิ์ทางใจสำเร็จขึ้นมา แล้วก็เป็นอยู่ดังที่เราเห็นเดี๋ยวนี้ สร้างแล้วก็ไม่ทอดทิ้งหรอก ยังดูแลรักษาเพื่อจะได้ให้สัตวโลกทั้งหลายต่อไปๆ เรื่องนิทานเขาเขียนไว้อย่างนั้นเป็นเรื่องศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพราหมณ์นี่ไม่มีผู้สอนที่มีชื่อเฉพาะ แต่เป็นตำราเป็นคัมภีร์ที่เขียนกันขึ้นหลายๆคนไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งเป็นเจ้าของโดยเฉพาะ ไม่เหมือนศาสนาอื่นเช่นศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าเป็นผู้สอน ศาสนาคริสต์ก็พระเยซูเป็นผู้สอน อิสลามก็นบีมูฮัมหมัด แต่ของพรามหณ์นั้นไม่มีศาสดาโดยเฉพาะ มีแต่พวกฤาษีเป็นผู้เขียนคัมภีร์ไว้ในรูปต่างๆ แล้วเอามาศึกษามาปฏิบัติกันอยู่ทั่วๆไปก็ตั้งต้นด้วยพระพรหมผู้ยิ่งใหญ่ เพราะนั้นเราจึงได้ยินคำพูดในเมืองไทยคำหนึ่งว่า พรหมลิขิต พรหมลิขิตก็เกิดจากความเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายอยู่ในเงื้อมมือของพระพรหม พระพรหมเป็นผู้สร้างสรรค์ เป็นผู้ดลบันดาล ใครจะดีใครจะชั่วก็อยู่ที่พรหมลิขิต ลิขิตไว้ที่ตรงไหน เขาบอกว่าเขียนไว้ที่หน้าผาก คนอื่นอ่านไม่ออก พระพรหมอ่านคนเดียว เขียนไว้ที่หน้าผากแล้วว่าคนนี้จะมีอายุเท่านั้น จะมีสิ่งนี้สิ่งนั้นเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นในชีวิต คนอินเดียจะปลงไปว่าเป็นความต้องการของผู้อยู่เบื้องบนที่อยู่บนสวรรค์ เป็นความต้องการของเบื้องบนว่าอย่างนั้นคือพระพรหมนั่นเองต้องการให้เป็นอย่างนั้น สั่งมาเสร็จแล้วว่าคุณต้องเป็นอย่างนั้นนะ แกต้องเป็นอย่างนั้นนะ เขาเชื่ออย่างนั้น เป็นความเชื่อเก่าแก่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณ เพราะยุคโบราณนั้นคนมันถือศาสนาจากความกลัว ไม่มีปัญญา เรื่องกลัวอย่างเดียว กลัวอะไรต่ออะไรแปลกๆ แปลกออกไปเที่ยวกราบไหว้วิงวอนขอร้อง บนบานศาลกล่าวเพื่อให้ตัวปลอดภัยจากสิ่งต่างๆ แล้วก็ทำสืบต่อกันมาจนฝังอยู่ในจิตใจคนในเรื่องอย่างนี้ ถอนไม่ออก
พระพุทธเจ้าของเรานี่เป็นผู้ที่กล้าหาญชาญชัยที่สุด ที่สอนสิ่งซึ่งเขานับถือกันอยู่ก่อนว่าไม่ถูกต้องไม่ใช่อย่างนั้น พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงเช่นเรื่องพระพรหมนี่ก็เหมือนกัน มีพราหมณ์คนหนึ่ง พราหมณ์นี่ก็ถือว่าเกิดจากปากพระพรหม เกิดจากปากทีเดียว กษัตริย์นี่เกิดจากแขนพระพรหม พวกพ่อค้านี่เกิดจากท้องพระพรหม กรรมกรนี่แย่หน่อยเกิดจากหน้าแข้งของพระพรหม เกิดจากหน้าแข้งก็มันต่ำที่สุด ชีวิตต้องแบกต้องหามต้องทำอะไรซึ่งเป็นงานกรรมกรน่ะ พวกศูทรนี่เป็นพวกค้าขายเป็นพวกพ่อค้าร่ำรวยทรัพย์สมบัติ พวกกษัตริย์ก็มีแต่เรื่องรบราฆ่าฟัน มีหน้าที่เป็นทหารป้องกันชาติบ้านเมือง พราหมณ์นี่เอาเปรียบกว่าเพื่อนเพราะว่าเกิดจากปากพระพรหม พราหมณ์พูดอะไรต้องเชื่อต้องฟัง ถ้าไม่เชื่อไม่ฟังก็จะเป็นบาปตกนรกหมกไหม้ได้รับความทุกข์ในอเวจีต่อไปน่ะ พราหมณ์ก็ตั้งระบบไว้อย่างนั้นให้คนเชื่อพราหมณ์ พราหมณ์พูดอะไรก็ต้องเชื่อต้องฟังทั้งนั้นแล้วตั้งสิทธิไว้หลายอย่าง สิทธิพิเศษ เอกสิทธิ์ของพราหมณ์นี่มีมาก คนอื่นกลับไม่มี คนศูทร กรรมกรหรือวรรณะศูทรที่ว่าวรรณะที่ต่ำที่สุดนี่ ถ้าเดินผ่านพราหมณ์นี่ต้องเดินหลีกไป อย่าเหยียบเงาน่ะ อย่าเหยียบเงาพราหมณ์ เหยียบเงาไม่ได้เป็นบาปเป็นทุกข์ แล้วพราหมณ์นี่ไปไหนก็ต้องมีสายเชือกเส้นหนึ่ง ปกติจะเฉวียงบ่าไว้ เหมือนกับเราผ้าอังสะของพระแต่เป็นเส้นเล็กๆมีด้ายเก้าเส้นเอามาห้อยไว้เฉวียงบ่าแต่มันยาวไปถึงเลยสะเอวไป เพราะนั้นเดินไปที่ไหนก็ต้องดึงเชือกนั้นมาห้อยไว้ที่เอว เพื่อเป็นยี่ห้อ เดินไปให้คนเห็นว่านั่นพราหมณ์มาแล้วๆ ต้องนอบน้อมต่อพราหมณ์ ต้องแสดงความเคารพต่อพราหมณ์ เพราะงั้นพราหมณ์เดินมาพวกศูทรต้องเดินไปไกลๆนะ ไม่ได้ และเขาบอกว่าพวกศูทรมีแต่จะให้สิ่งสกปรกแก่พราหมณ์ แต่พราหมณ์นั้นให้สิ่งสะอาดแก่พวกศูทร เหมือนแผ่นดินให้ขี้ฝุ่นแก่ฟ้าแต่ฝนนั้นชำระขี้ฝุ่นให้ท้องฟ้าสะอาด เขาว่าอย่างงั้น แสดงว่าพวกศูทรนี่เป็นพวกไม่ได้เรื่อง เป็นขี้ฝุ่นนะ แต่พราหมณ์นี่เป็นพวกเก่ง ยกกันไว้อย่างนั้น
งั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น พระองค์เห็นว่าแหมนี่เอาเปรียบมากไปแล้วพระองค์ก็บอกว่าคนเราไม่ใช่ดีที่ความเกิดว่าเป็นพราหมณ์ เป็นกษัตริย์ เป็นแพทย์ เป็นศูทร แต่ดีที่การประพฤติปฏิบัติ ความประพฤติปฏิบัตินั่นแหละทำให้คนดีก็ได้ชั่วก็ได้ ถ้าเราทำกรรมชั่วเราก็ชั่ว ถ้าเราทำกรรมดีเราก็ดีไม่ใช่ดีเพราะเกิดในสกุลพราหมณ์ไม่ใช่เลวเพราะเกิดในสกุลพ่อค้าหรือวรรณะศูทร แล้วมันมีผสมอีก ถ้าว่าวรรณะสี่นี่มาผสมกันออกมาเป็นจัณฑาล เป็นจัณฑาลนี่แตะต้องไม่ได้เลย เป็นพวกที่สกปรกที่สุดเลย เขาว่างั้นนะ ไม่ได้ แตะต้องไม่ได้ เข้าใกล้ไม่ได้ กินน้ำบ่อเดียวกันก็ไม่ได้ นั่งร่มไม้เดียวกันก็ไม่ได้ ไปไหว้พระที่เดียวกันก็ไม่ได้ ดูสิที่มันทำให้อินเดียสับสนก็เพราะเรื่องอย่างนี้ ปัญหาวรรณะนี่ทำให้อินเดียดิ้นรนเพื่อหลุดพ้นจากแอกไม่ถนัดถนี่เพราะวรรณะมันขวางไว้ เพราะนั้นเมื่ออินเดียได้รับอิสรภาพนี่เขาเขียนรัฐธรรมนูญ เพราะว่าคนที่เป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอินเดียเป็นคนศูทรแท้ๆ วรรณะศูทรแท้ๆ เกิดที่เมืองบอมเบย์ เกิดในย่านสลัมด้วยซ้ำไป แต่แหมมันเป็นเพชรในโคลนตมแท้ๆทีเดียวนายคนนี้ แกเรียนหนังสือเก่งมาก เรียนเก่งมาตั้งแต่ชั้นประถม พอขึ้นมัธยมนี่แกเรียนเก่ง ราชา ราชาแห่งบรามูด้าซึ่งเป็นคนมั่งมีให้ทุน ให้ทุนจนเรียนจบมัธยมศึกษา แกขอทุนไปเรียนอเมริกา เรียนอเมริกานี่แกเรียนเร็วมากได้ปริญญาตรี โท ทำปริญญาเอก เอ้า ปริญญาเอกมันสามปริญญา ทำปริญญาทั้งสิ้นสามปริญญา แล้วมาเรียนต่ออังกฤษ ทำปริญญาอังกฤษอีก กลับมาก็เข้าหุ้นเข้าส่วนกับพวกที่อยากดิ้นรนต่อสู้เพื่ออิสรภาพ เมื่อได้อิสรภาพแล้ว แกนั่นแหละเป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญเอง แกเขียนไว้ว่าประเทศอินเดียเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่มีแยกชั้นวรรณะ ไม่ถือชั้นวรรณะอีกต่อไปโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างนั้นน่ะ ไม่มีชั้นวรรณะ แต่ว่าสังคมมันไม่ยอมรับ คนอินเดียมันไม่ยอม มันยังมีชั้นวรรณะกันอยู่ต่อไป แต่มหาตมะคานธีแกไม่ถือเหมือนกัน แกกินข้าวที่วรรณะศูทรหุงได้ อาบน้ำกับวรรณะศูทรก็ได้ วรรณะศูทรไม่สบายแกไปนวดให้ก็ได้ ก็ขออภัยนะ ไปเช็ดอุจจาระให้ก็ได้ ไปทำทุกอย่าง คนชั้นสูงมาเห็นก็แล้ว โอ้ย พอแล้ว คานธีนี่คบไม่ได้แล้ว ไปอยู่กับพวกศูทรอย่างนั้น พวกสกปรกเต็มที บางคนถึงกับตัดไมตรี ไม่ยอมออกเงินช่วยเหลือกิจการนิคมต่อไป เพราะเอาพวกศูทรเข้าไปไว้แล้วก็นั่งรถม้ามา มาคอยอยู่ที่นอกเขตนิคมบอกให้คานธีไปหา คานธีก็ไป ไปถึงบอกว่าถ้าท่านยังเอาพวกศูทรมาไว้ในนิคมนี้ ฉันไม่ให้เงินต่อไป คานธีบอกไม่เป็นไร ท่านไม่ให้เงินก็ไม่เป็นไรแต่ข้าพเจ้าจะเอาพวกศูทรออกไปจากนิคมไม่ได้ จิตใจข้าพเจ้ามันทำไม่ได้ในเรื่องเช่นนั้น ข้าพเจ้าต้องเลี้ยงดูเขา ต้องปฏิบัติต่อเขาต่อไป ท่านไม่ให้เงินก็ไม่เป็นไร ข้าพเจ้าจะต้องช่วยตัวเองต่อไป กลับมาถึงก็ประชุมพวกในนิคมแล้วบอกว่าเวลานี้เรามีเงินเท่านี้ใช้อีกสองเดือนก็หมดแล้ว ไม่มีใครให้เราต่อไปเราต้องช่วยตัวเอง แกก็สอนคนเหล่านั้นให้ปลูกผัก ให้ปั่นด้าย ให้ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่จะช่วยตัวเองต่อไปเพื่อต่อสู้กับสิ่งที่ไม่เป็นธรรม แกทำได้ ผลที่สุดไอ้คนนั้นแหละมาอีกมาแล้วจอดรถใกล้ๆอีก และไม่เข้าล่ะ เรียกคานธีมาบอกว่าฉันทนไม่ได้เหมือนกันเห็นท่านอดทนถึงขนาดนี้ ยังเสียสละเพื่อพวกคนชั้นต่ำขนาดนี้ก็ต้องช่วยต่อไปน่ะเอาเงินมาให้ คานธีแกก็ชนะคนนั้นเหมือนกันด้วยการทำดีของแก อย่างนี้เรียกว่าถือกันรุนแรงเหลือเกินในเรื่องหลายเรื่องหลายประการยุ่งที่สุด
พระพุทธเจ้าท่านเห็นแล้วว่ามันยุ่งไอ้เรื่องอย่างนี้ ต้องแก้ปัญหานี้ก่อน จึงจะแก้เรื่องอื่นต่อไป เพราะงั้นจึงแก้มาเรื่อยๆ ในเรื่องอะไรต่างๆที่เขาถือกัน เช่นพระอานนท์เดินทางไป กระหายน้ำ ไปถึงก็ขอน้ำจากหญิงที่บ่อน้ำ หญิงบ่อน้ำนี่พวกทาสี คนใช้ทั้งนั้น คนชั้นต่ำทั้งนั้น พระอานนท์ไปถึงบอกว่าน้องหญิงขอน้ำให้ฉันดื่มหน่อย แม่หญิงนั้นก็บอกว่า ไม่ได้ๆๆ ฉันเป็นวรรณะศูทรจะตักน้ำให้ท่านเป็นนักบวชไม่ได้ พระอานนท์บอกว่าฉันต้องการน้ำ ฉันไม่ต้องการวรรณะ ฉันต้องการน้ำ แม่หญิงคนนั้นแหมปลื้มอกปลื้มใจตั้งแต่เกิดมาไม่ได้ยินคำพูดอย่างนี้เลย แต่มาได้ยินว่าฉันไม่ต้องการศูทร ฉันต้องการน้ำ แล้วแม่หญิงก็ตักน้ำมาถวายท่านท่านก็ดื่ม แล้วแม่หญิงนั้นตามพระอานนท์ไปจนถึงวิหารที่พระพุทธเจ้าพักไปสืบหาว่าพระอานนท์อยู่ที่ไหน เลยได้พบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ถามว่าเธอมาธุระอะไร บอกว่าต้องการพบพระอานนท์ ดิฉันรักพระอานนท์ พระพุทธเจ้าบอกว่าเธอไม่ได้รักร่างกายของพระอานนท์หรอก เธอรักจิตใจของพระอานนท์เพราะจิตใจของอานนท์นั้นเป็นจิตใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง ไม่เลือกชั้นวรรณะ เดี๋ยวเธอนั่งรอนี้จะเรียกมาพบก็ได้ แล้วก็ไปบอกพระอานนท์มาได้พบได้สนทนากัน นี่ก็เป็นเรื่องคือว่าในวงการพระท่านไม่รังเกียจอะไรทั้งนั้น ในเรื่องวรรณะนี่ไม่รังเกียจ แต่ว่าชาวบ้านมันไม่ยอมหรอก ไปที่เมืองกุสินารานี่ ไปพบพระองค์หนึ่งชื่ออัจจุตานันทะ อัจจุตานันทะนี่แปลว่ายินดีในพระนิพพานแบบนี้ ก็เป็นวรรณะพรามหณ์มาบวช ถามว่าพ่อไม่โกรธเหรอที่มาบวช โอ้ย เข้าบ้านไม่ได้ ถามว่าทำไมไม่ไปเทศน์บ้างล่ะ เทศน์อะไรล่ะ เข้าบ้านไม่ทันพูดเอาไม้ไล่ตีแล้ว จะไปเทศน์อะไรได้ ทีนี้วันหนึ่งนั่งฉันข้าวที่วัด พ่อมา ไปฉันข้าวกับพระอีกองค์หนึ่ง องค์นั้นน่ะเป็นวรรณะ วรรณะศูทรเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา เขามีความรู้ มีความประพฤติดีประพฤติชอบไม่ใช่คนเหลวไหล ชื่ออะไรลืมเสียแล้ว ทีนี้ก็นั่งกินข้าวร่วมกัน พ่อมาถึง เพียงแต่มาบวชนี่ก็บาปนักบาปหนาแล้ว ยังจะมากินข้าวกับวรรณะศูทรอีก หาไม้ท่อนมาอันหนึ่ง ไล่ทุบลูกชาย ลูกชายต้องทิ้งจานข้าว วิ่งรอบๆวิหารนั้น พ่อแก่วิ่งไม่ทัน ลูกชายยังแข็งแรง วิ่งเหนื่อยเสียยิ่งล่อแล้วก็หยุดสักหน่อยแล้วก็เหนื่อย พ่อก็กลับบ้านไปบอกว่าอยู่อย่างนี้ไม่ได้ยินดีเลยในการลูกชายมาบวช นี่เขาเรียกว่าอุปาทานรุนแรงในเรื่องไม่เข้าเรื่อง ไปยึดถือแรงเกินไปในเรื่องไม่เป็นเรื่อง
พระพุทธเจ้าท่านสอนไม่ให้ยึดถือในเรื่องสิ่งเหล่านั้น เพื่อจะได้คลาย จิตใจจะได้สบายลงไปบ้าง ครั้งหนึ่งมีพราหมณ์คนหนึ่งมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วก็ถามว่าพระองค์รู้จักพระพรหมหรือไม่ บอกว่ารู้จัก พระองค์รู้จักทางที่จะไปพบพระพรหมไหม รู้จัก พราหมณ์ถามว่าพระพรหมคือใคร พระองค์บอกว่าพระพรหมก็คือบุคคลที่มีพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ พรหมวิหารธรรม ๔ ก็คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อย่างนี้เรียกว่า ธรรมของผู้ใหญ่ พรหมก็คือผู้ใหญ่ ผู้ใดมีธรรม ๔ ประการนี้ผู้นั้นเป็นพรหม แล้วก็พราหมณ์ถามว่าแล้วจะไปหาพระพรหมอย่างไร ก็ไปหาด้วยการประพฤติเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขานั่นแหละ เมื่อใดท่านสร้างคุณธรรม ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาให้เกิดขึ้นในใจเมื่อนั้นท่านก็ได้พบกับพระพรหมแล้ว พระพรหมอยู่ในใจของท่านแล้ว ไม่ต้องไปเที่ยววิ่งหาให้มันเหนื่อยแรง ไม่ต้องเดินไปถึงเชิงเขาหิมาลัยแล้วไปแหงนดูก้อนหิมะเพื่อพบพระพรหม อย่างนั้นไม่ใช่ พระพรหมอยู่ในใจของท่าน เมื่อท่านสร้างคุณธรรม ๔ คือ เมตตา ปรารถนาความสุขความเจริญแก่ผู้อื่น กรุณา สงสาร ทนไม่ได้ เมื่อเห็นใครเดือดร้อนก็เข้าไปช่วยเหลือ มุทิตา ยินดีเบิกบานเมื่อเห็นใครได้ดิบได้ดีมั่งมีศรีสุข มีความเจริญก้าวหน้าหรือเมื่อเราได้ทำอะไรอันเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นเสร็จแล้วเราก็มานั่งสบายใจ สบายใจว่าได้ช่วยเขาแล้ว ทำให้เขาพ้นทุกข์แล้ว อย่างนี้เป็นมุทิตา ส่วนอุเบกขานั้นหมายความว่าวางเฉย ไม่ใช่เฉยไม่เอาไหน ไม่ใช่อย่างนั้น เฉยด้วยปัญญา เฉยด้วยปัญญาเฉยเพราะคิดว่าช่วยไม่ได้ ปลงตกลงไปว่าช่วยไม่ได้ ช่วยไม่ได้เพราะอะไร เพราะกรรมเขาทำไว้อย่างนั้นเราจะไปช่วยไม่ได้ มันเหลือวิสัยที่จะเข้าไปช่วยก็ต้องเฉยๆ ปลงตกว่า เอ้อกรรมของสัตว์ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรม สัตว์ทั้งหลายย่อมได้รับผลกรรมที่ตัวทำไว้ เมื่อเขาทำกรรมไว้อย่างนั้นเขาก็ต้องไปตามกรรมเขา เช่นเราเห็นตำรวจจับผู้ร้ายไป แล้วเราจะกระโดดเข้าไปชกตำรวจเพื่อช่วยผู้ร้าย มันก็ไม่ได้ เราต้องอุเบกขา หรือว่าเห็นงูมันกลืนเขียด เราสงสารเขียดว่าถูกงูรังแก แล้วเราจะไปอ้าปากงูเพื่อช่วยเขียด มันก็ไม่ได้ งูมันโกรธ มันกัดให้เราก็เดือดร้อน มันก็เท่านั้นเอง ไอ้อย่างนี้มันต้องแฝงด้วยอุเบกขา ด้วยการพิจารณากรรมของสัตว์มันก็ต้องกินเข้าไปอย่างนี้แหละ เรื่องมันต้องเป็นอย่างนี้ เป็นเวรเป็นกรรมกัน เราช่วยไม่ได้ อุเบกขา
พรหมวิหารสี่นี่ใช้ให้เหมาะ คือว่าปกตินั้นเราอยู่ด้วยเมตตา ตลอดเวลานี่อยู่ด้วยเมตตา คิดด้วยเมตตา พูดด้วยเมตตา ทำอะไรก็ด้วยเมตตา ไปไหนก็ไปด้วยความเมตตา คือไปด้วยจิตที่คิดว่าเราจะใช้ชีวิต ความรู้ ความสามารถ ทรัพย์สมบัติเท่าที่มี เพื่อให้เกิดประโยชน์เกิดความสุขแก่ผู้อื่น อันนี้คิดไว้ตลอดเวลา เรียกว่าเป็นพรหมเบื้องต้น คิดไว้อย่างนั้น เมื่อเราคิดไว้อย่างนั้น ถ้าไปเจออะไรเข้า เจอคนที่ลำบาก ตกทุกข์ได้ยากเราก็ต้องมีใจกรุณา คือเข้าไปช่วยทันทีช่วยแบกภาระ ช่วยเบาความทุกข์ของเขาเท่าที่เราจะช่วยได้ ช่วยด้วยปัจจัย ช่วยด้วยแรง ช่วยด้วยการแนะนำให้เขาไปแก้ปัญหา อย่างนี้เรียกว่ากรุณา ครั้นเมื่อช่วยเขาเสร็จแล้วเราก็ปลื้มใจ สบายใจ วันนี้เราไม่ได้มีชีวิตอยู่เฉยๆ แต่เราได้ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นแล้ว ชีวิตที่ได้ทำประโยชน์แก่ผู้อื่นนั่นแหละ เป็นชีวิตที่ประเสริฐทุกนาทีของชีวิต แต่ชีวิตที่ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ใครๆ นั้น มันยังไม่ประเสริฐอะไร เราจึงควรจะได้คิดเมตตา กรุณาต่อเขา แล้วก็สบายใจ หรือว่าใครเขาดีขึ้นเอง เขาได้เลื่อนยศ เลื่อนบรรดาศักดิ์ ได้รับลาภผลสักการะ เราก็ยินดี แม้จะไม่พูดออกมาว่า แหม ขอยินดีด้วยนะ แต่ในใจนั้นพลอยยินดี พลอยยินดีในเขา อย่างนี้เขาเรียกว่ามีมุทิตา พลอยยินดีในความดีของคนอื่น แต่ถ้าเราไม่สามารถจะเมตตา กรุณา หรือมุทิตาได้ ก็ต้องวางอุเบกขาด้วยการพิจารณาว่ากรรมของสัตว์ ช่วยไม่ได้ เหลือวิสัยที่จะช่วย ปลงตกลงไปอย่างนั้น คนเจริญเมตตาย่อมทำลายความโกรธ ความเกลียด ความพยาบาทหายไปจากจิตใจ คนเจริญความกรุณาก็ไม่มีความตระหนี่ ไม่มีความเห็นแก่ตัว มีแต่ความพอใจในการจะให้สิ่งที่เรามีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ผู้อื่น คนเจริญมุทิตาก็ไม่มีความริษยาใคร ไม่มีความริษยาใคร เพราะเรามีแต่มุทิตา ใครได้ดิบได้ดีเจริญมั่งคั่ง เราดีใจด้วยทั้งนั้น เราไม่มีริษยา ตัวริษยานี่แหละตัวมารร้ายล่ะที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในสังคมมากมายก่ายกอง เราจะต้องคอยทำลายความริษยาด้วยการคิดมุทิตาแก่คนอื่นตลอดเวลา มุทิตานี่หายาก เมืองไทยเรายังขาดอยู่มาก มุทิตานี่ เพราะฉะนั้นงานบางอย่างไม่ค่อยก้าวหน้า ยกตัวอย่างผู้น้อยมีความคิดความอ่านอยู่ร่างโครงการจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ แต่เสนอผู้ใหญ่ใส่ลิ้นชักเก็บเงียบเพราะไม่มีมุทิตาในความคิดของผู้น้อยนั้น ไม่ยินดีในความคิดก้าวหน้าของคนนั้น กลัวว่ามันจะเด่นกว่ากูไป ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น คนในงานของเรา ในกองของเรา ในกรมของเราทำอะไร เขาไม่ชมคนนั้นหรอก เขาชมอธิบดีทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าอธิบดีมันโง่ ก็มันไม่ให้ลูกน้องแสดงความคิดอะไรจะเอาดีคนเดียว แล้วคิดไหวเหรอ คิดไม่ทันหรอก
ลูกน้องต้องช่วยคิดต้องช่วยทำแล้วเราก็ดีใจว่า เออคุณนี่เก่ง ผมสนับสนุนความคิดนี้เอาไปเสนอผู้ใหญ่ต่อไป เอาเงินมาใช้เพื่อทำความคิดนั้นให้เกิดดอกออกผล อย่างนี้เขาเรียกว่าคนฉลาด รู้จักใช้คน ใช้คนฉลาด บ้านเมืองมันก็ดีขึ้น แต่ถ้าเราไม่ให้ใครฉลาด ถ้าใครฉลาดกีดกันไว้แล้วงานมันจะดีขึ้นได้อย่างไร อันนี้เรียกว่าขาดมุทิตาจิตในความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของผู้น้อย ผู้น้อยก็ไม่มีทางก้าวหน้าเลยลาออก ไปทำงานกับบริษัทฝรั่งเงินเดือนสูงกว่า ประเทศชาติก็ขาดคนดีสำหรับบริหารงานเพราะว่าผู้ใหญ่ขาดมุทิตาธรรม อันนี้สำคัญมากในวัดนี่ก็เหมือนกัน สมภารฉลาดต้องใช้คนให้ทำงาน ใช้ลูกน้อง ฝึกฝนอบรมให้ทำงานกันต่อไปเรียกว่าเป็นคนฉลาด ถ้าสมภารทำคนเดียวมันก็แย่ สมภารเหนื่อยตายทำหมดทุกอย่าง ไม่ได้ เราต้องสนับสนุน ใครมีความคิดเอ้าทำ คุณทำ มีอะไรเสนอ เอาเลยทำเลย ไปทำมา ผมจะให้เงิน ทำไป แล้วเขาก็ทำให้ เรานั่งดูสบาย ไม่ต้องไปลำบาก แต่นี่บางวัดสมภารตระหนี่หรือว่าขาดมุทิตาพอลูกน้องเก่งขึ้นมา หาเรื่องใส่แล้วให้ออกไปจากวัดตัวจะได้นั่งโง่คนเดียว อย่างนี้มันก็แย่สิ วัดวาอารามมันจะเจริญได้อย่างไร กิจการทั้งหลายไปไม่รอดถ้าเราไม่มีมุทิตาต่อกัน เรื่องนี้สำคัญมาก เรื่องมุทิตานี่สำคัญมาก ต้องแสดงออกซึ่งน้ำใจว่าเรายินดีสนับสนุนความคิด ความริเริ่มก้าวหน้าของใครก็ตาม เอาไปสนับสนุนส่งเสริมให้เจริญงอกงามต่อไป อย่าทำลาย จึงจะทำให้ผู้น้อยมีกำลังใจคิดทำอะไรเจริญก้าวหน้าต่อไป อันนี้ยังขาดยังไม่พอใช้ เมตตานั้นพอหา กรุณานั้นพอใช้ มุทิตานั้นก็ไม่ค่อยมี แต่อุเบกขานั้นไม่ถึง เรียกว่าไม่เฉย มีแต่เรื่องยินร้ายทั้งนั้น ยินดีไม่มี เฉยก็ไม่เป็น มันก็ลำบาก เพราะนั้นเราต้องใช้คุณธรรมเหล่านี้ ทุกคนเป็นพรหมได้ ญาติโยมเป็นพระพรหมได้ ไม่ต้องไปไหว้พระพรหมที่ไหน เป็นพรหมของเราเองดีกว่า พระพุทธเจ้าสอนให้เราเป็นเสียเอง เป็นเทวดาเอง เป็นพรหมเอง เป็นอะไรเอง แล้วไม่ต้องไปไหว้ใคร เราไหว้ตัวเราได้ เพราะเรามีสิ่งเหล่านั้นอยู่ในใจของเรา อันนี้ก็คือเหลี่ยมหนึ่งของพระพุทธศาสนาที่สอนให้เรารู้ว่าอะไรคืออะไรอยู่ในใจของเรา เราเป็นอะไรก็ได้ เป็นพรหมได้ เป็นเทวดาได้ เป็นมนุษย์ได้ เป็นพระอรหันต์ก็ได้ เพราะความเป็นทั้งหลายนั้นอยู่ในใจของเราแล้วแต่ว่าสิ่งอื่นมันมาบังไว้ เราทำหน้าที่เปิดสิ่งนั้นออก สิ่งนั้นก็จะปรากฏออกมาอันนี้ขอญาติโยมได้เข้าใจไว้ในรูปอย่างนี้
ดังที่กล่าวมาก็สมควรแก่เวลาขอจบแต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที