แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เรียกว่าเป็นวันพิเศษ คือ วันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันสงกรานต์ ตามธรรมเนียมโบราณ วันสงกรานต์ก็คือวันปีใหม่เหมือนกัน เป็นวันที่ถือว่าดวงอาทิตย์เดินข้ามไปสู่อีกราศีหนึ่ง จากจุดหนึ่งไปสู่จุดหนึ่ง พูดง่ายๆ อย่างนั้น เรียกว่า เป็นวันสงกรานต์ วันปีใหม่ของไทยสมัยโบราณที่ได้ปฏิบัติกันมานาน ตอนหลังก็มาเปลี่ยนเป็น วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันปีใหม่ตามแบบสากลนิยม คือ ทั่วโลกเขาทำกันอย่างนั้น เราอยู่ในสังคม ก็ทำอะไรให้เหมือนกับเขา จะได้สะดวกในการนัดหมาย ในการพูดจากันเรื่องอะไรต่างๆ ถ้าเราถือไม่เหมือนเขา เวลาจะพูดกันก็ต้องทำความเข้าใจกันเรื่องวัน เรื่องเวลา เรื่องนั้น เรื่องนี้ ก็เป็นการขลุกขลักไม่สะดวก ทางราชการจึงได้เปลี่ยนระบบปีใหม่มาเป็นเดือนมกราคม ก็ดีเหมือนกัน เพราะว่าเป็นเดือนที่พ้นฝน เวลามีฝนนี่ท้องฟ้ามันมืด มันครึ้ม แต่พอพ้นฝนแล้วมันก็แจ้งสว่าง เดือนมกราคมเป็นเดือนแห่งความสว่าง เพราะพ้นจากความมืด พอสว่างแล้วมันก็มาถึงตอนเที่ยง คือ หน้าร้อน ฤดูนี้เป็นกลางวัน แล้วพอถึงหน้าฝนมันก็มืดต่อไป ก็เท่ากับว่าเช้า เที่ยง เย็น ตามเวลา เราได้ถือมาอย่างนั้น ปีใหม่จึงได้เปลี่ยนไป
ความจริงปีใหม่ไทยมีหลายอย่าง ขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕ ก็เป็นวันปีใหม่เหมือนกัน เขาเรียกว่า “ตรุษไทย” วันตรุษไทย นี่ก็คนไปวัด ตามชนบททั่วไปก็ไปวัดกันในวันตรุษไทย ทำขนมแดง ข้าวเหนียวปัดน้ำผึ้ง เรียกว่าข้าวแดงเหนียวแดง แล้วก็กาละแม เอาไปถวายพระในวันนั้น ถือว่าเป็นวันปีใหม่ แล้วก็มาถึงเดือนเมษายน วันสงกรานต์นี่ก็เป็นวันปีใหม่อีก วันสงกรานต์ที่ไม่เก่งเท่ากับเชียงใหม่ มีงานสงกรานต์คึกครื้น คนไปเที่ยวกันมาก เวลานี้รถประจำทางเข้าเมืองเชียงใหม่เป็นพันคัน วัดต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่คนไปนอนเต็มไปหมด โรงแรมไม่พอ แต่คนทั่วไปก็ไม่อยากนอนโรงแรม เนื่องจากแพง เลยไปนอนโรงแรมคุณพระ มันถูกกว่า ฉะนั้น วัดต่างๆ นั้นเต็มไปด้วยคน จอดรถไปนอนกัน นอน อาบน้ำ แล้วรุ่งเช้าไปขึ้นรถไปเที่ยวจอมทอง ไปเที่ยวไหนต่อไหน กลับมานอนอีก ๒ คืนอย่างน้อย แล้วก็กลับบ้านกัน
การปฏิบัติงานสงกรานต์ของเมืองเชียงใหม่นั้นเขาทำอย่างไร ถือว่าวันที่ ๑๒ เมษายนที่ผ่านมานี้ เขาเรียกว่าเป็นวัน “จั๋งก๋านล่อง” สงกรานต์ เขาเรียกว่า “จั๋งก๋าน” เป็นวันสงกรานต์โลก เขาจะไปที่แม่น้ำ ไปขนทรายเข้าวัด ชายหนุ่มหญิงสาว คนเฒ่าคนแก่ ไปกันที่ท่าน้ำ ขนทรายเข้าไปกองไว้ในวัด วันสงกรานต์มีการก่อพระเจดีย์ทราย คนต้องไปขนทรายมาตั้งแต่เย็นวันที่ ๑๒ เมษายน แต่ว่าตอนเช้าเขากวาดบ้านถูเรือน กวาดพื้นบ้าน กวาดบริเวณบ้าน กวาดหยากไย่ให้สะอาด ซักผ้าผ่อนหมอนมุ้ง โดยซักกันที่ห้วยแก้วก็มาก จะได้ไปคุยเพลิดเพลินใจ หรือไปซักที่แม่น้ำปิง พอเย็นลงก็ไปสู่ฝั่งน้ำ ขนทรายเข้าวัด ฝั่งน้ำมันมีน้ำตักง่าย เขาก็ตักน้ำสาดเล่นกันสนุก แล้วค่อยขนทรายเข้าวัดหลายๆ เที่ยว วัดไหนอยู่ใกล้ก็มีทรายมาก การขนทรายเข้าวัดเป็นการพัฒนาวัดไปในตัว เพราะเอาทรายมาถมในที่ลุ่ม ให้ทรายเป็นที่ดอน หรือว่าเอาทรายมากองไว้ จะได้ทำประโยชน์ในเวลาก่อสร้างเสนาสนะภายในวัด แล้วก็ไปจ่ายตลาด คนภาคเหนือไม่ไปวัดวันที่ ๑๓ เมษายน แต่วันที่ ๑๒ เมษายนเป็นวันจ่ายเงิน ไปตลาดซื้อข้าวของ เตรียมสำหรับที่จะทำบุญในวันพรุ่งนี้ ไปวัดทำบุญ แล้วก็กลับบ้าน ไปเล่นน้ำสงกรานต์กัน
ภาคเหนือเล่นน้ำสงกรานต์พื้นเมืองนี้เรียบร้อย ไม่ทำเลอะเทอะอะไร มีขันใบใหญ่ ดอกมะลิ ใบส้มปอย น้ำอบน้ำหอมแช่ไว้ให้หอม ผิวมะกรูด เป็นเครื่องขัดเครื่องขูด และมีเขาสะบ้า ก็เป็นเครื่องขัดถูเหมือนกัน เป็นเครื่องเตือนใจว่าวันปีใหม่นี้ ต้องมีการขัดการขูด ทำให้มันเรียบร้อย ขูดจิตขูดใจ แต่ก็เอาวัตถุเป็นเครื่องเตือนใจ เขาเดินถือไปเจอใครก็ต้องพูดว่า “สมาเน้อ” สมา แปลว่า ขอขมาลาโทษ ถ้าพูดภาษาภาคกลางพูดว่า ขอโทษเถอะ แล้วก็ตักน้ำรดที่แขนนิดหน่อย เขาไม่รดสูงหรือรดหัวใคร ไม่ใช่สาดไปอย่างนั้น ผ้าเขาเปื้อน ทำอย่างนั้นไม่เป็นการเคารพ หรือตักน้ำใส่ขันเงินเล็กๆ แล้วรดลงไป คนถูกรดก็พูดว่า “ยินดีเจ้า” หมายความว่า ยินดี เป็นสุข ก็สบายใจทุกฝ่าย
แปลว่า ราชการได้จัดส่งเสริมการทำสงกรานต์ สังเกตมานานแล้ว อะไรที่ชาวบ้านทำอยู่นี่เรียบร้อย พอราชการส่งเสริมแล้วเลอะเทอะทุกที ยกตัวอย่าง เช่น งานลอยกระทง คนภาคเหนือเขาลอยกระทงเล็กๆ เอาใบตองมายึดแล้วก็ตัดผมและเล็บใส่ เอาเงินใส่ในกระทง จุดเทียนเล็กน้อย ไปนั่งริมฝั่งน้ำ ยกกระทงขึ้นเหนือหัวแล้วก็ลอยเลย ดวงประทีปเต็มแม่น้ำ พอราชการส่งเสริม ไม่ได้ลอยกระทงในวันเพ็ญ แต่ไปลอยวันแรม 1 ค่ำ ไม่ใช่ลอยกระทง เขาเรียกว่า “ลอยแพ” ทำเป็นแพ มีนางรำ ทำเป็นรูปดอกบัว แล้วมีผู้หญิงนั่งบนรูปดอกบัว มีกระจับปี่สีซอ ทำกันเป็นการใหญ่ มีการประกวดแข่งขันกัน ทำให้สิ้นเปลืองไม่ได้เรื่อง พระยังใหม่ก็บอกว่า หากลอยกระทงแบบนั้นพระไม่ร่วมมือ แต่ว่าหน่วยงานราชการต้องทำ เพราะว่าเจ้าเมืองสั่งให้หน่วยงานราชการจัดงานลอยกระทง แผนกนั้นแผนกนี้จัด แล้วก็บรรทุกเกวียนมา ประกวดกันก่อนว่ากระทงไหนดี แล้วค่อยลอยไป ลอยก็ช้าๆ พอไปถึงเชิงสะพานเนาวรัตน์ก็หยุดที่นั่น ลอยเพียงให้คนดูเล่นชั่วครู่ชั่วยาม แล้วก็เอาขึ้นมา เอาไม้ไผ่ที่เป็นแพขายต่อไป ทำอย่างนี้เรียกว่ามันสนุกเกินขอบเขตไป ไม่เป็นประเพณีอันดีงาม แต่พื้นเมืองที่เขาทำกันอยู่นั้นดีอยู่แล้ว เราไม่ต้องยุ่ง อีกประการหนึ่ง ผู้น้อยตีความหมายไม่ถูก เขาให้ส่งเสริมหมายความว่า เมืองไหนไม่มีให้ทำขึ้น แต่เมืองไหนที่เขามีอยู่แล้วไม่ต้องไปทำอะไร เช่นเมืองเหนือนี่ทำกันใหญ่โตแล้ว ชาวบ้านทำกันโดยทั่วไป ไม่ต้องไปยุ่งอะไร แต่ว่าบางจังหวัดเขาไม่ทำ เราก็ไปช่วยแนะนำให้เขาทำ นั่นถึงจะเป็นการถูกต้อง แต่นี่คือความผิด ก็เลยไปกันใหญ่
สงกรานต์นี่ก็เหมือนกัน เขาทำกันตามปกติก็ทำกันอย่างนั้น วันที่ ๑๓ เมษายน ก็ไปซื้อข้าวซื้อของเตรียมไปทำบุญ พรุ่งนี้เป็นวันที่เขาไปวัดกัน ทำกับข้าวไปถวายพระ แล้วเขาก็ตัดไม้เอาไปค้ำต้นโพธิ์ เราจะเห็นว่าในวันสงกรานต์จะมีไม้ยาวสัก ๑ วา กองที่ต้นโพธิ์ เขาเรียกว่า “ไม้ค้ำโพธิ์” ไม้ค้ำโพธิ์ นี่มันเป็นปริศนาเหมือนกัน เตือนใจว่าวันปีใหม่ เดือนใหม่ให้ช่วยค้ำจุนศาสนาไว้ด้วย ต้นโพธิ์ คือ ตัวศาสนา โพธิ หมายถึง ปัญญา ความรู้ เรียกว่าเป็นเครื่องหมายแทน ศาสนา คำมั่น เมื่อวันสุขวันสงกรานต์ก็ให้ไปช่วยกันค้ำโพธิ์ไว้ แต่ชาวบ้านไม่เข้าใจไม่ได้ตีความหมายการตัดไม้ไปค้ำต้นโพธิ์ กิ่งโพธิ์มันใหญ่กว่าไม้ค้ำแต่ก็ยังเอาไปค้ำกันไว้ แต่ก็ดีเหมือนกัน เด็กได้เก็บไปทำฟืนต่อไป มันก็ได้เท่านั้น แปลว่า ปัญญายังไม่เกิด เมื่อไปอยู่เชียงใหม่ก็เทศน์แล้วว่าค้ำโพธิ์หมายถึงอะไร เขียนลงหนังสือพิมพ์ด้วย ให้คนได้อ่าน จะได้รู้ว่าจุดหมายมันอยู่ที่อะไร ชาวบ้านก็ยังไปค้ำกันอยู่ แล้วก็ไปทำบุญตักบาตร แล้วพระก็แสดงธรรม เรียกว่า อานิสงค์สงกรานต์ กัณฑ์หนึ่ง แล้วกลับบ้าน
บ่ายก็มาเล่นน้ำกันที่ถนนท่าแพ คนกรุงเทพฯและคนทุกๆ ภาคไปมาก แล้วก็เล่น เล่นชนิดที่ว่าไม่มีระเบียบอะไร เอารถสิบล้อขนถังยางใส่บนรถ นำน้ำใส่เต็ม แล้วคนก็ขึ้นไปบนนั้น ขับไปก็สาดไปถูกเนื้อถูกหู เข้าตา อะไรตามใจช่างหัวมัน แล้วก็เอาน้ำแข็งแช่ด้วย ให้มันเย็นเจี๊ยบ ถูกใครแล้วก็ต้องสะดุ้งเพราะน้ำเย็นเกินไป สาดกันจนน้ำนองบนถนนท่าแพ สนุกสนานกันสุดเหวี่ยง อย่างนี้เรียกว่า สาดน้ำสงกรานต์ ผิดจากที่เขาทำกันทั่วๆ ไปตามวัฒนธรรมพื้นเมืองเขา แล้วอีกอย่างหนึ่ง คนแต่งตัวจะไปทำงานไปธุระ ไอ้พวกนี้ก็สาดเปียกเป็นลูกแมวตกน้ำไปตามๆ กัน แทนที่จะได้บุญได้กุศลกับขุ่นเคือง ต้องกลับบ้านไปแต่งตัวใหม่ อันนี้เรียกว่า ทำไม่เรียบร้อย ไม่ถูกต้องตามกระบวนการ แต่พูดยากเพราะคนมันมากเหลือเกิน ไปจากที่ไหนๆ ก็ไม่รู้ เมืองเชียงใหม่ก็ขายของดีเทน้ำเทท่าเหมือนกัน เพราะคนไปเที่ยวกันมาก แต่ว่าดีอยู่อย่างหนึ่ง พอ ๑๘.๐๐ น. ก็กลับบ้าน ไม่สาดน้ำกันต่อไป รุ่งขึ้นวันที่ ๑๕ เมษายน เขาทำอะไร เขาจะไปสรงน้ำพระพุทธรูป วัดต่างๆ ก็ยกพระพุทธรูปมาวางหน้าวิหาร แล้วทุกคนก็ตักน้ำไปสรงพระพุทธรูป โดยนำน้ำใส่ขันมาจากบ้าน เขาทำเป็นระเบียบ สรงน้ำพระพุทธรูปเท่านั้น พระสงฆ์ไม่เกี่ยว
เสร็จแล้ววันที่ ๑๖ เมษายน เขาจะไปสรงน้ำพระสงฆ์กัน ในเขตเทศบาลเชียงใหม่วัดไหนเก่าที่สุด ทุกวัดต้องไปสรงน้ำวัดนั้น เขาจะทำอย่างนี้ เรียกว่า เคารพผู้ใหญ่ พื้นเมืองเขาเรียกว่า “ดำหัว” แต่ไม่ใช่จับพระกดหัวในน้ำ อย่างนั้นก็เป็นบาปเป็นโทษ พระท่านก็นั่งอยู่บนอาสน์สงฆ์ คนก็เอาน้ำใส่รวมกันในกะละมังใบใหญ่ๆ เสร็จแล้วก็เอาไปประเคนถวายพระ พระท่านก็วักน้ำมาลูบหัวลูบหน้านิดหน่อย ก็เรียกว่าเป็นการสรงน้ำดำหัวท่านแล้ว ท่านก็ให้ศีลให้พรตามธรรมเนียม คนบ้านนอกบ้านนาก็เข้ามาในเมือง มานมัสการพระที่เขาเคารพนับถือ คนมารดน้ำดำหัวที่วัดอุโมงค์ คนที่มาไม่ใช่มาแต่น้ำนะ มาพร้อมมะพร้าวอ่อน อ้อย กล้วย ลูกมะปราง มะปลิงที่เป็นผลไม้ฤดูนี้ เขาใส่ชะลอมมามากมาย ทั้งวันไม่ได้ไปไหน นั่งรอให้เขาดำหัวกันอยู่ แล้วถ้าวัดไหนเป็นสมภารใหญ่ต้องเอาไปดำหัวพระด้วย เสร็จจากนี้แล้วไปดำหัวเจ้าเมือง ต่อด้วยบ้านผู้ว่า นายอำเภอ หรือไปบ้านคนที่มีชื่อเสียงเป็นคนทำความดีแก่บ้านเมือง แม้จะแก่แล้วเขาก็แห่กันไป เช่น ไปหาเจ้าราชบุตร ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์เชียงใหม่องค์สุดท้ายที่อยู่ เป็นนายพลทหาร เสียชีวิตแล้ว ณ วันนี้
แม้ฝรั่งก็ได้รับเกียรติดำหัว เช่น หมอคอร์ท มาอยู่เชียงใหม่ตั้งแต่พูดไทยไม่ได้สักคำ แกพูดภาษาไทยกลางไม่ได้ แต่พูดภาษาไทยเชียงใหม่ได้ มาอยู่ตั้งแต่บ้านเมืองไม่เจริญ ไม่มีรถไฟ อยู่จนบ้านเมืองเจริญมีรถไฟไปมาสะดวก รักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย ในสมัยนั้นให้กินยาควินินแล้วยังให้เงินอีก ๑๐ สตางค์ ต้องจ้างให้กินยาเพราะคนไม่ยอมกินยา คนเป็นไข้มาลาเรียกันมาก จนเวลานี้ไม่ต้องจ้างแล้ว ต้องเอาเงินจากคนรักษาด้วยซ้ำไป แล้วเอาแพงไปเรื่อย คนก็ยังมารักษา หมอคอร์ดทำประโยชน์ในด้านทำการรักษาโรคภัยไข้เจ็บมาก ชาวบ้านก็เกียรติ ไม่มีใครนัดหมาย ต่างคนก็ต่างมา เขามีกลองแห่ ตีฆ้องกันไป สนุกสนาน แห่น้ำไปดำหัวคนนั้นคนนี้ คึกครื้นตามประเพณี จากนั้นก็ไปเที่ยว ไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุจอมทอง พระธาตุเชียงดาว พระธาตุถ้ำตับเต่า แล้วก็มีพระธาตุที่ลำพูน และที่ไหนต่อไหน รถวิ่งกันให้ว่อน ไปเที่ยวหลังปีใหม่ก็พักงาน เขาทำกันอย่างนี้ เป็นการกระทำที่เป็นประเพณีของคนพื้นบ้านเขาอย่างนั้น แล้วทำเรียบร้อย ไม่ยุ่งยาก ไม่เกิดเป็นปัญหาอะไรทั้งหมด เป็นเรื่องที่ดีประการหนึ่งที่เขาทำกันอยู่ถ้วนทั่วไป
ส่วนทางภาคอื่นก็มีทำเหมือนกัน เช่น ภาคใต้เขาก็ไปทำบุญวันที่ ๑๓ เมษายนนี้เหมือนกัน แล้วก็ฟังธรรม บังสกุลกระดูกบรรพบุรุษ แล้วก็ไปสนุกสนานกันตามเรื่องตามราว มีเล่นสะบ้า ลูกสะบ้าเป็นผลไม้ชนิดหนึ่ง เรียกว่า โบว์ลิ่งไทยก็ได้ เขามาปักกันเป็นแถว ๑๐ เม็ดแล้วก็มีคนมายืนห่างๆ เอาลูกกลมๆอีกลูกหนึ่งมาใส่ก็ได้เลย ดีดไปอย่างนั้นพอตก แล้วมันหมุน ล้มหมดทั้ง ๑๐ ลูกเขาว่าเก่ง บางคนยิงไปทีล้มลูกเดียวเท่านั้นเอง ได้เงินลูกละ ๑ สตางค์ แต่โดยทั่วไปไม่ค่อยพนันกัน สมัยนั้นผีการพนันยังไม่เข้าสิงคนไทย เดี๋ยวนี้อะไรก็พนัน เห็นรถยนต์มาก็พนันกันว่าเลขท้ายทะเบียนเป็นอะไร หาเรื่องเล่นการพนันกันเสียเรื่อย สมัยก่อนไม่มี เขาเล่นแค่เขกหัวเข่ากัน แล้วก็นั่งหัวเราะกันเป็นเด็กๆ และเล่นเพียง ๓ วันเท่านั้นเอง หยุดแล้วก็ไม่มีการเล่นต่อ เดี๋ยวนี้ ๓ วันกลายเป็นน ๑๐ วันขึ้นมา ผีพนันมันเข้าสิง สมัยก่อนเขาทำอะไรก็มีระเบียบ แล้วอีกอย่างที่ทำกันทั่วๆไปคือ การไปกราบผู้ใหญ่ หรือการไปสรงผู้ใหญ่ เมืองเหนือเรียกว่า “ดำหัว” มีพาน ใส่ดอกไม้ ธูปเทียน บางทีก็มีผ้าขาวสักผืน เอาไปให้คนแก่ที่แก่กว่าเพื่อน ในหมู่บ้านหรือตำบลนั้นๆ หลายคนก็เอาขนมไปให้ด้วย ทำให้บ้านคนสูงอายุในวันสงกรานต์มีขนมมาก เด็กก็ได้กินขนมนั้นๆ จากการที่ท่านแจก บ้านคุณปู่ คุณตา คนไหนอายุมั่นขวัญยืน พวกเราก็จะไปกราบไหว้ นับถือบูชา แล้วก็ไปเที่ยววัดต่างๆ ทำบุญวันละวัด ตามประเพณี หลายอย่างเป็นเรื่องที่สืบต่อกันมาอย่างนั้น
จุดหมายของวันสงกรานต์ คือ เป็นวันกตัญญูกตเวที
วันนี้ทางราชการก็จัดว่า เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ เรียกว่า “วันคนแก่” แต่ฟังแล้วไม่ไพเราะ จะทำให้คนแก่ไม่สบายใจ เลยเปลี่ยนคำพูดเล็กน้อย เป็น “วันผู้สูงอายุ” วันคนแก่ก็เป็นวันที่เราทั้งหลายจะต้องไปหา ไปสักการะคนเฒ่าคนแก่ โดยเฉพาะพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ให้ท่านสบายใจ แล้วเราก็สบายใจ ท่านก็ให้พร ขอให้อายุมั่นขวัญยืน ท่านเองก็สบายใจที่ลูกหลานมากันมากๆ เป็นวันที่เราควรแสดงความกตัญญูกตเวทีแด่ผู้หลักผู้ใหญ่ด้วยการไปเยี่ยมเยียน ในวันอย่างนี้ คนที่มาอยู่กรุงเทพฯ พ่อแม่อยู่หัวเมือง เขามักจะหยุดงานก็กลับบ้าน รถมุ่งสู่ภาคเหนือเป็นแถวยาว และทุกภาคของประเทศไทย เต็มทุกคัน รถไฟก็คนแน่น เครื่องบินก็คนเต็มลำ เป็นฤดูกาลที่ผู้น้อยจะไปเคารพผู้ใหญ่ เป็นบรรพบุรุษที่เราควรสักการะบูชา ถ้าไม่ไปเลยท่านก็จะน้อยใจว่าเรามันแก่แล้ว ลูกหลานไม่คิดถึงแล้ว ไม่มีเงินจะให้ ลูกหลานก็ไม่มา ทำให้ใจไม่สบาย เวลาไปก็ควรจะซื้อของไปฝาก เช่น ผ้าถุง ก็ควรเลือกที่คนแก่ใส่ได้ เช่น ผ้าพื้นเมือง ผ้าทอ หรือว่าเอาปัจจัยไปให้ท่าน ตามฐานะที่เราจะให้ได้ เพื่อให้ท่านจับจ่ายใช้สอย จะไปใช้ส่วนตัวหรือทำบุญก็แล้วแต่ ตามใจท่าน บางคนบ่น ให้เงินไปก็เอาไปทำบุญเสียหมด อันนี้มันเรื่องของท่าน เราให้แล้ว สุดแล้วแต่ท่าน เราอย่าไปบ่น ไม่ใช่หน้าที่ จุดหมาย คือ เราให้ท่าน เพื่อให้ท่านสบายใจ เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องตอบแทนท่าน นอกจากพ่อแม่แล้ว ครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนมา ถ้าเราไปเยี่ยมจะทำให้ท่านสบายใจว่าไม่ลืมครู ตัวเราก็เจริญทางด้านจิตใจ
ในทางพระพุทธศาสนาสอนเราให้รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน การไปหาผู้หลักผู้ใหญ่เขาเรียกว่าไปแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน แสดงเคารพท่าน ท่านก็ย่อมจะได้ความสุขใจในวันปีใหม่ไทย คนยังไม่แก่ก็ยังนึกไม่ได้ ถ้าแก่เมื่อไรก็จะรู้ว่าอยากให้ลูกหลานมาเยี่ยม ถ้าหากไม่มาเยี่ยมก็จะเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะฉะนั้นให้เห็นใจคนแก่ เพราะวันนี้เป็นวันที่ท่านต้องการให้คนที่ยังไม่แก่ได้เห็นใจคนแก่ ช่วยเหลือในสบายใจในเรื่องอะไรก็ได้ที่เราพอจะทำได้ คนแก่บ้านเรายังสบายอยู่ เพราะว่าได้อยู่กับลูกหลาน คนแก่ตะวันตกนี่เดือดร้อน หมายถึงยุโรป อเมริกา ทั้งหมด วัฒนธรรมไม่เหมือนเรา พ่อแม่เลี้ยงลูกจนบรรลุนิติภาวะ ลูกก็ไปหางานการทำ ไม่ต้องอาศัยพ่อแม่ต่อไป พ่อแม่จะสอนอะไรก็จะบอกว่า เวลานี้อายุ ๒๐ ปีแล้ว อ้างสิทธิ์ขึ้นมา ระบบเขาอย่างนั้น อันนี้ไม่ดี อย่าเอามาใช้ในเมืองไทยเลย คนแก่จะเป็นลมตายวันละหลายคน จะเดือดร้อน ตายเพราะลูกไม่รักพ่อแม่ พ่อแม่จะพูดอะไรก็โต้ เรียกว่า “เถียงคำไม่ตกฟาก” คนไทยเราเรียกอย่างนี้ ไม่ถูกต้อง ไม่เรียบร้อย ทำให้เกิดความรำคาญแก่พ่อแม่
พ่อแม่ฝรั่งที่แก่นั้นจะอยู่กัน 2 คนตายาย เลี้ยงสุนัขเป็นเพื่อน จะเห็นว่าทุกบ้านเลี้ยงสุนัข ไม่มีลูกหญิงชายเป็นเพื่อน เพราะปีกกล้าขาแข็งบินไปหมดแล้ว ทิ้งให้คนแก่เหงาอยู่บ้าน ด้วยเหตุนี้คนแก่ตะวันตกจะเหงามาก เพราะไม่มีใครเหลียวแล ลูกหญิงลูกชายจะมาเยี่ยมคุณพ่อคุณแม่ในวันคริสต์มาส วันสิ้นปี มาอวยพรคำ ๒ คำ เอาดอกกุหลาบมาให้สักช่อ แล้วก็หายไป ท่านก็อยู่อย่างลำบาก บางครอบครัวตายแล้วก็ไม่รู้ ตายอยู่ในบ้าน เมืองหนาวมันไม่ค่อยมีกลิ่น ไม่เน่า ไม่เหมือนเมืองร้อน อากาศร้อนทำให้เน่าเร็ว คนบ้านใกล้เรือนเคียงก็สังเกตว่าคนแก่บ้านนี้ไม่ค่อยออกมา ประตูปิด หายไปไหน เพราะอะไร ชักสงสัย ลองโทรศัพท์เข้าไปก็เงียบ เลยโทรไปหาตำรวจ สงสัยว่าคนแก่บ้านนี้จะตายแล้ว ตำรวจมาก็งัดประตูเข้าไป ก็นอนตายแข็งทื่อ สุนัขนอนเฝ้าอยู่ข้างๆ สุนัขนี่จงรักภักดีต่อเจ้าของมาก ไม่ไปไหน แม้เจ้าของจะตายแล้วก็ยังอยู่ตลอดเวลา เขาก็จัดการนำศพไปฝังตามประเพณีต่อไป อย่างนี้มีมากในตะวันตก เพราะลูกไม่เอาใจใส่พ่อแม่ คำสอนในคัมภีร์ก็ไม่มีเรื่องกตัญญูกตเวที ผิดจากชาวเอเชียเรา สอนมาก มีเรื่องเกี่ยวกับความกตัญญูมากมาย ให้เกิดความสำนึกในหน้าที่ ทั้งอินเดีย จีน จึงมีหนังสือ พิธีกรรมอะไรต่างๆ เกี่ยวกับการแสดงความเคารพต่อพ่อแม่ แม้ตายไปแล้วก็ยังมีพิธีตามมา เช่น วันเชงเม้ง คือ วันไปเคารพบรรพบุรุษที่อยู่ในฮวงซุ้ย หมายความว่า ไปกราบไหว้ ทำความสะอาดบริเวณนั้น อย่าให้หญ้าขึ้น อิฐแตกก็ต้องซ่อมให้เรียบร้อย ทำให้ทุกคนไปเห็นแล้วจะได้เกิดสังเวช นึกถึงผู้ที่อยู่ในฮวงซุ้ยนั้นว่าเป็นผู้มีอุปการะต่อเรา เลี้ยงเรามา จะได้ตอบแทนบุญคุณของท่าน
เขาเล่าว่า ขงจื๊อ เมื่อมารดาถึงแก่กรรม เขาไปสร้างกระต๊อบอยู่ที่ฮวงซุ้ยถึง ๓ ปี เพื่อเอาใจใส่ต่อฮวงซุ้ย ก็เป็นเรื่องการแสดงความกตัญญูนั่นเอง ใครเคยอ่านเรื่อง ๓ ก๊ก มีเล่าปี่ก๊กหนึ่ง โจโฉก๊กหนึ่ง แล้วก็ซุ่นกวนก๊กหนึ่ง ๓ เมือง ๓ ก๊ก เมืองกังสังของซุ่นก๊วน โจโฉอยู่เมืองหลวงชื่อฮู่ต๋ง เล่าปี่อยู่เมืองเสฉวน รบปราบโจโฉ ทหารของเล่าปี่มี ๓ คนสำคัญ คือ กวนอู เจียหุย จูล่ง ใน 3 คนนี้เป็นทหารเอกทั้งสามคน แต่คนที่เก่งที่สุดคือ กวนอู แม้ตายแล้วก็กลายเป็นปูชนียบุคคล เป็นผู้ที่คนทั้งหลายเคารพบูชาว่าเป็นเทพเจ้า
เทพเจ้ากวนอูมีความเด่นอยู่ 3 เรื่อง
๑. ความซื่อสัตย์
๒. กตัญญู
๓. ความเสียสละ
ตอนนั้นกวนอูตายแล้วก็สร้างศาลไว้ ปั้นรูปกวนอูไว้กราบไหว้ สมัยต่อมา ตามบ้านชาวจีนก็มีรูปปั้นกวนอูติดมา แล้วก็มีรูปของจิวฉ่ง ก็คือง้าวของกวนอู หนัก ๘๐ ชั่ง คนอื่นแบกไม่ได้ กวนอูใช้ง้าวนี้รบกับข้าศึก ยกขึ้นเท่านั้นไม่ต้องฟันแล้ว เพราะมันหนัก ๘๐ ชั่ง พอมันหล่นบนหัวใครก็หัวแบะไปเลย เขาให้เอารูปกวนอูมาไหว้ให้นึกถึงความซื่อสัตย์ ความกตัญญู ความเสียสละ แล้วก็นำคุณธรรม 3 ข้อนี้มาใส่ไว้ในใจเรา แล้วก็ลองศึกษาเรื่องวรรณคดีชาวจีน จะมีเรื่องความกตัญญูมากเหลือเกิน อะไรที่เกี่ยวกับพ่อแม่ถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญที่จะต้องดูแลเอาใจใส่ รักษาด้วยดีตลอดเวลา เป็นเรื่องที่เขาฝึกเขาสอนกันฝังมาในจิตใจ ชาวเอเชียเราจึงอยู่ด้วยคุณธรรม คือ ความกตัญญูกตเวที
ในทางพระพุทธศาสนาถือว่า ความกตัญญูกตเวที คือ เครื่องหมายของคนดี
สินค้าทุกประเภทก็มียี่ห้อ คนเราก็มียี่ห้อเหมือนกัน เครื่องหมายของคนอยู่ที่ความกตัญญูกตเวที คนใดมีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ หรือบุคคลใดก็ตามที่ตนไม่ลืม นั่นแหละคนดี คบได้ แต่ถ้าคนใดขาดคุณธรรมข้อนี้ อย่าคบไป จะทรยศหักหลังเราเมื่อไรก็ได้ เพราะเขาไม่มีคุณธรรม คือ ความกตัญญูกตเวที แต่ถ้ามีเขาจะไม่ทำชั่ว เพราะเขามองเห็นว่าคนนั้นมีบุญคุณต่อเรา จะไม่ทำชั่ว พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า เราได้กินน้ำในบ่อใด นั่งศาลาใด นั่งใต้ต้นไม้ใด อย่าประทุษร้ายต่อสิ่งนั้น หรือว่าใครช่วยเหลืออะไรเราแม้นิดหน่อย เราก็ต้องจดจำใส่ใจไว้ เราไปช่วยคนอื่นแม้โตเท่าภูเขา ไม่ต้องจำ เสียเวลา แต่ว่าคนอื่นทำกับเราต้องจำไว้ เพื่อจะได้จ่ายคืนให้เขาในเมื่อมีโอกาสจะทำให้แก่เขาได้ อย่างนี้เขาเรียกว่า เป็นคนมีน้ำใจ มีความกตัญญูกตเวที คนประเภทนี้ดีทุกคน ให้เราสังเกต เป็นคนดีทั้งนั้น
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านมีประวัติงดงามมาก ปกติท่านตื่นเช้าไปทำงานที่กระทรวง ท่านต้องแวะไปที่ตำหนักหม่อมมารดา แล้วไปกราบที่ตักเหมือนเมื่อเด็กๆ กราบแล้วถามว่า คุณแม่สบายดีหรือ วันนี้มีอะไรให้ลูกรับใช้ ต้องการอะไรบ้าง จะได้จัดหามาให้ คุณแม่ก็ไม่ค่อยต้องการอะไร ขอบใจ ท่านก็กราบลาไปทำงาน กลับจากงานนี่ต้องไปกราบคุณแม่ก่อน แล้วก็ถามว่า ได้ทานอะไร ทานอาหารได้ไหม พักผ่อนได้หรือเปล่า เป็นนิจ ทำทุกวันเป็นอาจิณ ท่านจึงเจริญงอกงาม เป็นคนสำคัญของชาติบ้านเมือง แม้ตายไปแล้ว กระทรวงมหาดไทยมาศึกษาผลงานของท่านที่ได้วางรากฐานแห่งความเจริญไว้ในกระทรวงไว้อย่างมากมาย ก็นึกถึงบุญคุณท่าน ก็เลยปั้นรูปมานั่งอยู่หน้ากระทรวงมหาดไทย เพราะว่ามีความดีลึกซึ้งอยู่ในจิตใจ จึงได้ปั้นรูปไว้ คนเขาสอนกันไว้อย่างนั้น เพราะฉะนั้นจะดูคนต้องดูว่ามีความกตัญญูกตเวทีขนาดไหน
มีตัวอย่าง คนๆ หนึ่งเด็กบ้านนอก พ่อแม่ก็ชาวนา ตายแล้วแกก็เผาเรียบร้อย เอากระดูกเล็กๆ ห่อผ้าขาวห้อยคอไว้ แล้วมากรุงเทพฯเที่ยวหางานทำ หาที่นั่นที่นี่ ไม่มีใครรับสักที่ ก็คิดในใจคงต้องไปห้างฝรั่ง เพราะงานเขาเยอะ เขาอาจจะรับเราสักคน ได้เข้าไปในห้างฝรั่ง ไปถึงพบฝรั่ง แกทำแบบไทยนะ แกเอาผ้าปูแล้วนั่งยองๆ กราบฝรั่ง 3 ครั้ง ฝรั่งมองแล้วชอบใจ คนบางคนคำนับ ฝรั่งไม่ประทับใจ เพราะเขาชอบคนที่รักสิ่งของตัว คนใดเป็นชาติอะไรรักสิ่งอะไรที่มีอยู่ในชาติตัว คนต่างประเทศเขานิยมชมชอบ คนไทยสมัยก่อนไปห้างฝรั่ง ถ้านุ่งม่วงนี่เขาให้เกียรติมาก ถ้านุ่งแบบสากลเขาเฉยๆ เขาให้เกียรติเพราะว่าคนนี้รักสิ่งที่ตัวมีอยู่ แล้วก็ใช้ของตัวนี่เขานิยม คือ เรานิยมตัวเอง แล้วคนอื่นเขามานิยม แต่ถ้าเราไม่นิยมตัวเองแล้วใครจะมานิยมเราได้ นี่เรื่องสำคัญ กลับไปพูดถึงคนนั้น แกนั่งลงกราบฝรั่ง ๓ ครั้งเลย เหมือนกราบพระ ฝรั่งก็มอง ชอบใจ ยิ้ม เลยถามว่ามาธุระอะไร แล้วแกก็บอกว่าอยากจะมาของานทำบ้าง
คนมาหาฝรั่ง ยกมือไหว้แล้วก็มักจะขอลูบมือ “โอ้ นาย ตั้งแต่เช้าข้าวยังไม่ตกถึงท้องเลย ขอเงินหน่อย” เขามักจะไม่ชอบหน้า แต่นี่บอกจะมาของานทำบ้าง ฝรั่งก็ประทับใจว่าเขามาของานทำ เขาไม่ขอเงิน เลยถามว่า มีความรู้อะไรบ้าง แกก็บอกว่า อ่านออก เขียนได้ บวกลบเลขได้เท่านั้นแหละ เขามันคนบ้านนอกยากจน ฝรั่งมองที่คอแก คนไทยปกติผูกคอด้วยพระ แต่นายคนนั้นผูกอะไรห่อผ้าขาวกลมๆ ถอดไว้ ก็มอง “อะไรห้อยคอน่ะ ไม่มีพระห้อยคอ มีอะไรห้อยคอ” แกก็ยกมือไหว้ “อันนี้อยู่ที่คอคือ คุณพ่อ คุณแม่” ฝรั่งสงสัย “อะไร คุณพ่อคุณแม่มาอยู่ในห่อผ้าขาวได้อย่างไร” เขาบอกว่า “กระดูกของคุณพ่อคุณแม่ กระผมเผาแล้วก็เก็บกระดูกมาไว้กับเนื้อกับตัว” “กระดูกผีเอามาไว้ทำอะไร” ฝรั่งถาม แกบอกว่า “ไม่ใช่กระดูกผี กระดูกคุณพ่อคุณแม่ เอามาไว้เป็นเครื่องเตือนใจ กลางคืนก่อนนอนก็คิดถึง ตื่นเช้าก็คิดถึง กราบไหว้บูชาสักการะ ทุกค่ำเช้าเข้านอน” ฝรั่งฟังแล้วประทับใจมาก มาอยู่เมืองไทยหลายสิบปีแล้วยังไม่เคยพบคนอย่างนี้ เพราะคนที่มาของาน คือ คนสมัยใหม่ มาถึงก็คุยฝรั่งจ้อกันทั้งนั้น ไอ้คนธรรมดาแบบนี้แกไม่เคยพบ แกก็ประทับใจ บอกว่า “ทำงานอะไรดีนะ เราเนี่ย” “อะไรก็ได้ครับนาย ขอให้ผมมีงานทำ ผมมีงานทำแล้วผมพอใจ” ก็รับเป็นภารโรงปัดกวาดสำนักงาน แล้วก็เช็ดรถล้างรถให้ฝรั่ง แกเป็นคนกตัญญู กตัญญูมันเป็นฐานอยู่ในใจ พอได้งานทำ แกก็นึกเตือนตัวเองว่า แกก็เดินเตะฝุ่น ดื่มน้ำประปาจากก๊อกมาตั้งหลายวัน มาเจอนายห้างคนนี้ ให้เราทำงาน นายห้างคนนี้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้แก่เรา เราต้องตอบแทนบุญคุณของนายห้าง เราทำอะไรไม่ได้ แต่เราจะต้องทำงานให้ดีที่สุด แกเช็ดห้องสะอาด เรียบร้อย ถ้าสมมติมีฝใครเอามือไปแตะที่โต๊ะนาย จะไม่มีรอยดำเลย เช็ดเรียบร้อย แล้วก็พร้อมที่จะรับใช้ อยู่ใกล้ๆ ให้นายเห็นหน้าเสมอ นี่แหละฐานแห่งความเจริญของคนนี้ มันอยู่ที่ความสำนึกว่าผู้นี้มีบุญคุณต่อเรา เราจะต้องตอบแทนให้มากที่สุด อันนี้สำคัญ
ความกตัญญูเป็นฐานที่ทำให้แกเจริญก้าวหน้า
แกก็ทำงานดี ฝรั่งก็ชอบใจ ขึ้นเงินเดือนให้ แล้วแกเห็นพวกเสมียนคุยภาษาอังกฤษกับฝรั่ง แกเข้าไปถามว่า “นายคุยกับฝรั่งภาษาอะไร ผมฟังไม่รู้เรื่องเลย” นายตอบ “นี่แหละภาษาอังกฤษ ถ้าเรารู้ภาษาอังกฤษเราจะคุยกับนายได้” แกถามต่อ “คนอย่างผมเรียนได้ไหม” นายตอบ “เรียนได้ทั้งนั้นแหละ” แกก็ถามอีก “แล้วจะเรียนอย่างไรล่ะ” นายตอบ “ก็ซื้อหนังสือมาสิ” แกถามต่อ “แล้วใครจะเป็นครูสอนผม” เสมียนตอบ “พวกเรานี่แหละจะช่วยกันสอน” ทำไมเสมียนทั้งหลายจะช่วยสอน เพราะแกคอยช่วยเหลือพวกเสมียนเหล่านั้น อะไรที่แกพอช่วยได้จะไม่เฉย ทำอะไรให้ก็ได้ เป็นผู้พร้อมที่จะรับใช้คนอื่น คนอื่นก็พร้อมที่จะช่วยเหลือเรา แต่ถ้าเราไม่รู้จักรับใช้ใคร ใครมันจะมารับใช้เรา อันนี้เขาเรียกว่าคนไม่ฉลาด เพราะฉะนั้นจะต้องรู้ว่า เราจะให้เขาช่วยเรา เราจะต้องทำอย่างไร
เมื่อวานนี้ไปพักอยู่ที่วัดแจ้ง สงขลา เห็นเด็กหนุ่ม 3 คนนั่งรถเก๋งคันใหญ่เข้ามา หลวงพ่อยืนอยู่ตรงนั้น เขาไม่รู้จัก ตรงอาศรมเจ้าคุณ เป็นเจ้าอาวาส ตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัด มาคุยกัน พอเขาไปแล้ว หลวงพ่อลองถามว่า หนุ่มๆ นั้นมาหาหมอ หรือว่ามารดน้ำมนต์ หรือมาดูอะไร เขามาขอร้องบอกให้เจ้าคณะจังหวัดเขียนหนังสือสั่งไปที่สมภารวัดบ่อ ให้อนุญาตให้บริษัทขนของขึ้นได้ เพราะว่าเอาเรือไปจอดไว้แล้ว สมภารไม่อยู่ มีแต่ลูกวัด เข้าไปขอเอาของขึ้น ลูกวัดก็ไม่อนุญาต เพราะว่าสมภารไม่อยู่ แล้วแทนที่จะไปสืบว่าสมภารอยู่ไหนก็ไม่ไปสืบ กลับมาหาผู้ใหญ่ให้เบ่งทับสมภารเพื่อจะได้อนุญาต สมภารบอกว่า เสียใจที่ไม่ได้พบ 3 คนนี้ ถ้าพบแล้วจะสอนมันหน่อย ไอ้เด็ก 3 คนนั้นคงยังไม่เคยเข้าวัด และไม่เคยเรียนวิชามนุษยสัมพันธ์ อย่างนี้ไม่รอด
เราจะไปหาใคร ไม่ใช่ไปถึงไปขอเอา มันก็ไม่ใช่ จะไปขอลูกสาวใคร ไปถึงนั่น ฉันจะมาขอลูกสาวมาแต่งงานกับลูกชายหน่อย เขาก็เตะเอาเท่านั้นเอง ต้องฉลาดในการไปขอ เราต้องวางแผนว่าจะไปทำงานที่นั่น เอาของขึ้นตรงไหน แล้วจะใช้ที่ดินของใคร มันต้องไปก่อน แล้วอย่าไปมือเปล่า ใส่ไปสักถาดหนึ่ง ขนม กาแฟ โอวัลติน อะไรต่ออะไรไปถวาย ทำความคุ้นเคยคุยกับท่าน อย่าไปเอ่ยขอ วันหลังก็ไปอีก ไปเช้าหิ้วปิ่นโตไป ไปบ่ายมีของติดไม้ติดมือไป เคยไปแล้วก็เกิดความคุ้นเคย พอคุ้นเคยแล้วก็แนะนำ ผมนี่เป็นตัวแทนบริษัทสร้างสะพาน อยากจะมาขอพึ่งบารมีใต้เท้าสักหน่อย แล้วก็ไม่รู้จะไปพึ่งใครนอกจากพึ่งใต้เท้า งานนี้จะสำเร็จก็เพราะใต้เท้าเลยแหละ สมภารถูกยกเยินมันก็หัวใจพองเลยคนเรา ทีนี้ได้แล้วก็ต้องหมั่นไปเยี่ยมไปเยียน เอาของไปถวาย เงินสร้างสะพานไปกี่ร้อยล้านไม่รู้ เอาไปถวายสมภารสักสี่ห้าหมื่นคงไม่เดือดร้อนอะไร หรือซื้อกระเบื้องมาเปลี่ยนให้สมภาร ขนของให้เต็มวัด สมภารก็ไม่ว่าอะไร คนมันไม่ฉลาด พูดและใช้ไม่เป็น นี่เป็นตัวอย่าง คนเรานี้ เรื่องยอใช้ได้อยู่แล้ว ลูกยอ ชอบไม่ชอบก็สอยไปทิ้ง เดี๋ยวคนก็เก็บกินเอง
มีตัวอย่างจะเล่าให้ฟัง ท่านพระครูเมฆ เป็นสมภารที่วัดโคกข่อย เมืองพัทลุง วัดโคกข่อยอยู่ใกล้กับตลาด เด็กมากมาย เพราะว่าใกล้โรงเรียนประจำจังหวัด ลูกชาวนาชาวไร่มากวาดเรือน วันนั้นแกชักไม่ชอบเด็กขึ้นมา แกก็บอกว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จะลูกเทวดาที่ไหนมาก็ไม่รับต่อไปแล้ว มันวุ่นวาย ที่รับแล้วก็แล้วไป ที่มาใหม่ไม่รับ เต็มแล้ว พูดเด็ดขาดตอนเช้า พอตอนบ่าย ผู้ใหญ่ทอง บ้านอยู่ริมภูเขา เรียกว่า บ้านจันนา ได้พาลูกชายมา มาถึงก็กราบแล้วมอง สมภารกล่าว “พูดไปแล้วเมื่อเช้าว่าไม่รับ” ผู้ใหญ่ทองบอกว่า “แหม ผมผิดหวังแล้ว ผมนี่หวังจะมาฝากกับใต้เท้า ๑๐๐% เพราะผมรู้ว่าใต้เท้าเป็นอาจารย์ที่ดีมาก เลี้ยงลูกศิษย์ได้ดิบได้ดี เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นข้าราชการมามากแล้ว มีระเบียบ เลี้ยงเด็กได้ดี เด็กไม่เคยเสีย ผมหวังจะมาฝากใต้เท้า ถ้าใต้เท้าไม่รับผมพากลับบ้านไปเลี้ยงควาย วัดไหนมีผมก็ไม่ฝาก ผมจะฝากแต่วัดใต้เท้า ไม่รับผมก็ไม่เอาแล้ว” สมภารนั่งคิด โต้เถียงกับข้างใน เมื่อเช้าว่าไม่รับ แต่มันพูดอย่างนี้ก็เห็นใจ สมภารกล่าว “เออ รับสักคน” ตกลงรับอีกคนหนึ่ง รับเพราะอะไร เพราะผู้ใหญ่ทองแกใช้โวหาร เขาเรียกว่ายอเข้าที่ นี่แหละเขาเรียกว่าคนมันฉลาด เข้าใจพูด แกก็เลยรับ เพราะว่ามันอยู่ได้ ยังมีที่ วันหลังลูกศิษย์เข้าไปนวด บอกว่า “วันก่อนพูดว่าไม่รับเด็ดขาด ทำไมรับอีก” หลวงพ่อกล่าว “มันไม่รู้จะไปไหน ก็ต้องรับมันหน่อย” ลูกศิษย์แกล้ง “เขายอเข้า ก็เลยชอบไว้” ท่านก็เลี่ยง คนเราไปไหนมันต้องฉลาด เตรียมงานล่วงหน้า วางแผนว่าจะไปลงที่ไหน จะไปพูดกับใคร ไม่ใช่เรามีเงินแล้วไปถึงจะไปใช้อำนาจ ไม่ได้ คนบางคนไม่เห็นแก่เงิน ไม่เห็นแก่อะไร เราต้องไปผูกมิตรกันก่อน ไปเยี่ยมเยียน ไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ แสดงว่า ๓ คนนั้นไม่ได้เรียนธรรมะ ไม่ได้เรียนมนุษยสัมพันธ์ของพระพุทธเจ้า ท่านสอนให้ พูดจาอ่อนหวาน ประพฤติสิ่งเป็นประโยชน์ ไม่ถือตัว ไปไหนไปได้ ไม่เดือดร้อนวุ่นวาย ไม่มีปัญหาอะไร
วันสงกรานต์นี่เป็นวันกตัญญูกตเวที เราทั้งหลายก็ไปแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อคุณพ่อคุณแม่ ต่อครูบาอาจารย์ ต่อแผ่นดินที่เราอยู่อาศัย ตั้งใจว่าจะประพฤติดีประพฤติชอบ อยู่ให้เป็นประโยชน์แก่แผ่นดิน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อย่างนี้ก็เรียกว่า วันสงกรานต์มีค่าสำหรับชีวิตเรา