แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เราฟังเทศน์ฟังธรรมเพื่อนำไปเป็นหลักในการดำเนินชีวิต หากเราไม่นำธรรมไปใช้ เราจะถูกผู้อื่นจูงไปในทางที่ผิด ตัวอย่างคือเมื่อเช้านี้มีโยมมาถวายสังฆทานแล้วบอกว่ามีคนทรงหลวงปู่แนะนำให้มาถวายสังฆทาน ซึ่งการทรงเจ้าเหล่านี้ไม่ใช่หลักการของพุทธศาสนา เรามีอะไรเกิดขึ้นก็ต้องมองที่ตัวเอง ศึกษาจากตัวเองเพราะตัวเราเองเป็นผู้กระทำ ความสุข ความมั่งมี ความทุกข์ ความเป็นที่รัก ความเกลียดชังของผู้อื่น ก็เกิดขึ้นจากตัวเราเป็นผู้กระทำ แต่หากเราไม่มองพิจารณาที่ตัวเอง เราจะหลงไปเชื่อสิ่งเหลวไหลนอกพุทธศาสนา ชาวพุทธเรานี้เป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบานในคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่าทำตนเป็นผู้ไม่รู้ ผู้ไม่เบิกบานในธรรมะ จะเป็นการผิดหลักการในพุทธศาสนา
ในศาสนาอื่นนั้นเขากวดขันมาก ไม่ให้ศาสนิกของเขาเดินออกไปทำสิ่งนอกศาสนา แต่ในพุทธศาสนาเรานั้น ตามจริงก็มีหลักคำสอน มีข้อปฏิบัติไว้เช่นกัน แต่พระเรานั้นไม่คอยเตือนชาวบ้านผู้หลงผิด คล้ายกับคนเลี้ยงวัวไม่ดูวัวที่ตนเลี้ยงให้ดี ปล่อยให้ไปกินข้าวของชาวบ้าน หรือเดินเข้าไปในป่าบ้างถูกเสือกินบ้าง วัวก็หายไปเรื่อย ๆ ทีละตัวสองตัว พุทธบริษัทของเราก็เช่นกัน ถูกหลอกให้เข้าใจผิด งมงายไปในเรื่องอะไรต่างๆ แล้วเราไม่บอกไม่เตือน ทำให้เขาหลงผิด เข้าใจผิดอยู่อย่างนั้น ไหว้พระพุทธเจ้าบ้าง ไหว้ผีบ้าง ไหว้เทวดาบ้าง ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมากมายต่อบุคคลนั้น ๆ เพราะไม่ประพฤติตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ตัวอย่างนี้เล่าให้ฟังเพื่อให้ทราบว่าอันนี้ไม่ใช่ผู้ที่การประพฤติตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ผู้ที่มีศรัทธาในพุทธศาสนานั้นจะไม่ไปหาการทรงเจ้าเข้าผี ซึ่งเป็นวิธีการที่มีไว้หลอกผู้อื่น เราเป็นพุทธศาสนา ไม่ว่าจะมีผู้มาชักจูงว่าวิเศษอย่างไรก็ตาม เราเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า เราจะไม่ไปพึ่งสิ่งเหลวไหลเหล่านั้น ให้ยึดหลักไว้ในใจอย่างนี้แล้วเราก็จะไม่เสียอะไรไปในทางไม่เป็นเรื่องกับสิ่งเหล่านั้น เราเดินอยู่ในเส้นทางของพระพุทธเจ้าตลอดไป สิ่งใดสงสัยไม่รู้ ไม่เข้าใจ ให้มาถามพระที่สอนธรรมะ อย่าถามพระที่เป็นหมอดู ปลุกเสก ลงเลขอย่างนั้น เพราะท่านเองก็ไม่รู้เช่นกันจึงได้หลงไป พระตาบอดจะจูงญาติโยมตาบอดได้อย่างไร เมืองเหนือมีคำกล่าวว่า ธุเจ้าตาดีจูงศรัทธาตาบอด ถ้าธุเจ้าไปบ่ฮอด ศรัทธาตาบอดก็ต้องจูงธุเจ้าตาดีด้วย หมายความว่าพระตาดีที่มีความรู้ความเข้าใจจูงญาติโยมที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจ แต่ถ้าพระตาบอดขึ้นมา โยมก็ต้องจูงพระคือเตือนพระบ้างว่าสิ่งนั้นไม่ใช่หลักการของพุทธศาสนา อย่างนี้ก็เป็นการถูกต้อง แต่ปัจจุบันนี้ชาวบ้านไม่จูงพระไปในทางที่ถูก แต่จูงพระไปในทางสนุกเฮฮา จะจัดงานก็เอาแบบสนุก สุดท้ายเมื่อจบงานก็ได้แต่ขยะเต็มวัด อย่างนี้ชาวบ้านจูงพระไปในทางเสื่อม พระต้องคอยเตือนให้เขาเกิดความรู้ความเข้าใจ
เราต้องดูที่ตัวเอง อย่าไปดูที่ดวง เพราะดาวดวงทั้งหลายนั้นไม่ได้ช่วยเรา เราต้องช่วยตัวเอง เรื่องของเรา เราย่อมรู้ดีกว่าหมอดูทุกคน เราทายตัวเราเองได้ ไม่ต้องไปหาหมอดู เราลองนั่งลงใช้สติพิจารณาว่า เราทำอะไร เป็นทุกข์เรื่องอะไร และคิดต่อไปว่าทุกข์นั้นมาจากไหน ก็จะพบว่าทุกข์ก็มาจากตัวเราทำ เราสร้างมันขึ้น เราพูด เราคิด เราทำ เราคบกับใคร แล้วเขาจูงเราไปในทางอย่างนั้น จึงเกิดปัญหาอย่างนี้ขึ้น เมื่อเข้าใจแล้วก็ต้องระมัดระวัง คราวหน้าจะต้องไม่หลง ให้เกิดความเสียหาย เราก็จะมีความปลอดภัย เราใช้หลักธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องนำทางชีวิตจึงจะเป็นการถูกต้องมากกว่า นี่เป็นประการแรกที่จะพูดในวันนี้
อีกประการหนึ่ง สังคมมนุษย์เราในวันนี้มีปัญหาอยู่ ๒ เรื่อง มีการรบกันในส่วนบุคคลบ้าง พรรคพวกบ้าง ชาติบ้าง ที่เกิดปัญหาอย่างนี้ก็เพราะกิเลส กิเลสหมายถึงสิ่งที่ทำใจให้เศร้าหมอง เหมือนกับการที่ฝุ่นละอองมาจับที่กระจกทำให้กระจกหมอง หรือแม้แต่เสื้อผ้าที่ซักสะอาดดีแล้ว ก็เปื้อนเหงื่อของเราเองหรือฝุ่นที่มาติดผ้าทำให้ผ้าเปลี่ยนเป็นสีมัว ๆ ไป บ้านเรือนก็เช่นกันหลังจากกวาดสะอาดแล้ว ฝุ่นก็มาจับให้เกิดความสกปรกขึ้น ฉันใด สภาพจิตของคนเราก็เช่นกัน โดยปรกติกิเลสไม่ได้มีอยู่ในจิดตลอดเวลา หากมีกิเลสตลอดเวลาเราจะเป็นบ้า หากมีความโกรธ ความโลภ หรือความหลงอยู่ตลอดเวลาเราเป็นบ้า ความจริงคือเราไม่ได้มีกิเลสตลอดเวลาอย่างนั้น กิเลสมันเกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว เรียกว่าเกิดดับตามสภาพความคิดของคนเรา ความคิดของคนเราเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป ถ้าไม่มีเครื่องปรุงแต่ง ความคิดที่เกิดขึ้นก็จะดับไปแต่หากมีปัจจัยมาปรุงแต่งความคิดมันก็ลามคล้ายไฟไหม้ไปจนกว่าเชื้อจะหมด ไฟก็จะดับไป กิเลสในตัวเราก็เช่นกัน เกิดจากการปรุงแต่งจากสิ่งที่มากระทบ ภาพมากระทบตา เสียงมากระทบหู กลิ่นมากระทบจมูก รสมากระทบลิ้น สิ่งสัมผัสมากระทบผิว ประสาทก็รับรู้ และใจที่รับรู้ก็นำไปปรุงแต่ง สิ่งใดชอบเราก็อยากได้ สิ่งใดชังเราก็ผลักไส หากสิ่งใดไม่ชอบไม่ชังเราก็จะเฉย ๆ แต่พอดูนาน ๆ มันก็จะเกิดอะไรขึ้นมา คือของไม่ชอบ ดูนาน ๆ มันก็จะชอบ ชอบน่าเกลียดน่าชัง ดูนาน ๆ ก็จะน่าเกลียดขึ้น มันเกิดขึ้นจากการปรุงจากเหตุในใจขึ้นมา เช่น เกิดความโลภก็อยากได้มาเป็นของตัว เมื่ออยากได้มากก็ไม่ยั้งคิด จะผิดหรือถูก ดีหรือชั่ว ก็ไม่ได้คิด คิดแค่ว่าอยากได้ แล้วก็ใช้กำลังเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งนั้น กลายเป็นโจรไปเอาของเขา ไปประพฤติผิดทางกามารมณ์ ไปพูดโกหกหลอกลวงเขา กินสุราย้อมใจเพื่อให้เกิดความกล้าในการทำจิตใจต่ำ แล้วก็ไปทำสิ่งชั่ว นี่เพราะความโลภมันเกิดขึ้นก่อน แล้วเราไม่รู้ ไม่ยับยั้งชั่งใจ ปล่อยให้มันครอบงำ เราจึงตกเป็นทาสของกิเลส หมดความเป็นไท หมดความเป็นมนุษย์ หมดความเป็นพุทธบริษัท
ความเป็นพุทธบริษัทนี้ ขาดเมื่อเราไม่เป็นไทแก่ตัว ไม่มีธรรมะในใจ เราก็กลายเป็นคนขาดพระ คือขาดแสงตะเกียงขาดแสงสว่างในการชี้นำทาง ตกอยู่ในความมืดบอด ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี อาจคิดหรือทำในสิ่งที่เสียหายแก่ตนแก่ท่านเมื่อใดก็ได้ เพราะเราไม่มีแสงสว่างประจำใจ อะไรมากระทบก็ตึงตังโผงผาง นั่นคือไม่เป็นไทแก่ตัวแล้ว แต่เป็นทาสของกิเลสประเภทอย่างนั้น คือความโลภ หรือว่าเราเป็นทาสของความโกรธ ใจร้อนขึ้นมา ความร้อนไหลมาที่มือที่เท้า ที่ปากก็จะเปล่งเสียงที่ไม่ไพเราะออกมา หยาบคาย มือก็ใช้ในการต่อย ตบตีผู้อื่น ทำอาการหยาบคายแบบสัตว์เดรัจฉาน นี่เพราะเราขาดเครื่องทำให้เกิดปัญญา ขาดสิ่งที่คุ้มครองจิตใจ กิเลสก็จะทำให้เราตกเป็นทาสของมัน แล้วก็เกิดปัญหาขึ้นในใจด้วยประการต่าง ๆ ให้เรารู้ไว้ว่ากิเลสเกิดขึ้นเมื่อเราเผลอ คนเผลอคือคนที่ขาดสติควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือคุมไว้ที่เดียวก็ได้ คือคุมไว้ที่ใจ เมื่อตาได้เห็น จมูกได้กลิ่น หูได้ยิน เราก็คุมใจของเราไว้ ไม่ให้ไปปรุงแต่ง คือไม่ยินดียินร้ายในสิ่งนี้ ให้ใจแค่รู้ว่ามีสิ่งนั้นมากระทบ เช่นตาเห็นรูปน่ารัก เราก็ระวังไม่ให้ใจเกิดความรัก หากตาเห็นรูปน่าเกลียด เราก็ระวังไม่ให้ใจเกิดความเกลียด ได้ยินเสียงไพเราะ เราก็ระวังไม่ให้เกิดความยินดีในเสียงนั้น ได้ยินเสียงหยาบคาย เราก็ระวังไม่ให้เกิดความยินร้ายในเสียงนั้น แค่รู้ว่ามีอะไรมากระทบ รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่ใจ คอยคุมใจไว้ด้วยความรู้สึกตัว
ความรู้สึกตัวนี้ก็คือสติ มีสติกำหนดรู้ เมื่อเรามีสติรู้มันจะไม่เกิดอะไรขึ้นต่อ เมื่อเราจะไปทำอะไรที่ไหนให้เรามีสติกำหนดรู้ตลอดเวลา สิ่งที่มากระทบนั้นจะไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่เรา ไม่ทำให้เรายินดียินร้าย เช่นคนที่ถูกลอตเตอรี่หากไม่กำหนดสติรู้ก็อาจจะกระโดดออกไปนอกบ้าน ตะโกนเสียงดัง ผู้อื่นก็ตกใจ อย่างนี้ก็เรียกว่า ลืมตัวทำอะไรไม่เหมาะไม่ควร ก็อาจเป็นภัยมาแก่ตัว เราควรพึงระวังไม่ยินดีในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดี และไม่ยินร้ายในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความยินร้าย พระพุทธเจ้าเรียกว่าความไม่ประมาทในที่ ๔ สถาน คือ ไม่ประมาทในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ไม่ประมาทในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง ไม่ประมาทในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความหลง ไม่ประมาทในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความเพลิดเพลิน เราคุมมันไว้อย่างนี้และทำติดต่อกันไปอย่างสม่ำเสมอ เราจะอยู่อย่างเป็นไท เป็นผู้มีใจสูง เป็นมนุษย์ เป็นพุทธบริษัท คือรู้ในเรื่องนั้น ๆ รู้ตัวอยู่ด้วยสติ เบิกบานอยู่ด้วยการกระทำเช่นนั้น จิตใจไม่หลงไปกับการกระทำต่าง ๆ อันนี้ทำให้เราอยู่อย่างมีความสุข ไม่เดือดร้อน แต่ว่าคนเราไม่ค่อยได้ปฏิบัติ จึงมักทำอะไรเกินความต้องการของตัวเอง หรือเกินขอบเขตของธรรมะโดยไม่ละอายใจ
เมื่อ ๔-๕ วันมานี้ มีคนส่งหนังสือพิมพ์มาบอกกับอาตมาว่า หนังสือพิมพ์ที่อาตมาอ่านอยู่นั้นหาซื้อยากเพราะมีหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่ไปสั่งร้านค้าทั้งหลายว่า หากจะขายหนังสือพิมพ์ของตนห้ามขายหนังสือพิมพ์ของคนนั้น ร้านค้าก็คิดถึงเงินเพราะมีคนซื้อไปอ่านมาก หนังสือพิมพ์แพร่หลาย วัดคนอ่านได้ ถ้าคนอ่านชอบอ่านข่าวอาชญากรรม หมายความว่า จิตใจของคนนั้นยังมัวเมาอยู่ในเรื่องของการทำร้าย จิตใจไม่สุภาพ แต่หากคนใดอ่านบางฉบับที่เป็นสาระความรู้แสดงว่าคนนั้นเป็นปัญญาชน คนไทยเรานี้ชอบอ่านข่าวอาชญากรรม อยากรู้ว่าใครฆ่าใครที่ไหน ไม่รู้ว่าจะอยากรู้ไปเพื่ออะไร รู้แล้วก็ไปจับผู้ร้ายก็ไม่ได้ แต่ก็ยอมเสียเงินซื้อมาอ่าน อันนี้ก็ทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่ขายดีและไปบอกร้านค้าไม่ให้ขายของบางฉบับ ร้านค้าเมื่อคิดถึงยอดขายแล้วก็ยอมที่จะไม่มีหนังสือพิมพ์บางฉบับ เพื่อให้ตัวเองขายฉบับใหญ่ ๆ ได้ในปริมาณมาก อาตมาเมื่อได้ทราบข่าวแล้ว ก็มาคิดว่า พวกหนังสือพิมพ์ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้ต่อสู้เพื่อความถูกต้อง แต่มีแค่ปากกากับน้ำหมึกลงบนกระดาษเท่านั้น ใจของคนเขียน เจ้าของหนังสือพิมพ์ ตลอดจนคนทำตลาดของหนังสือพิมพ์ ยังไม่มีคุณธรรมเพียงพอ ยังใช้ความริษยาเป็นเครื่องมือ ในการทำลายอีกฝ่ายให้ย่อยยับลงไป แล้วตัวเองจะได้ขายมากต่อไป ความจริง คนที่ซื้ออีกฉบับหนึ่งก็ซื้อฉบับนี้ด้วย ไม่ได้ทำให้ขายได้น้อยลงแต่อย่างใด แต่ใจมันมากด้วยกิเลส ริษยา อาตมาก็คิดได้ว่าคนเรานี้ไม่ได้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมอย่างแท้จริง แต่ต่อสู้เพื่อเอาเงินมาเข้ากระเป๋าของตัวเอง แม้จะได้เงินจากการขายหนังสือพิมพ์นั้นไปสร้างสาธารณะประโยชน์ สร้างโรงเรียน ก็ไม่ได้ให้ด้วยน้ำใจที่บริสุทธ์ แต่ให้ด้วยความต้องการชื่อเสียง ไม่สมควรยกย่องว่าเป็นผู้มีใจบุญอย่างแท้จริง
อันนี้ เรียกว่าเป็นอันธพาลในเมืองหลวง อันธพาลที่โจ่งแจ้งนั้นไม่น่ากลัว เช่น เสือ เรารู้ว่าน่ากลัว เราก็หนี แต่ถ้าเสือปลอมตัวเป็นลาก็เป็นอันตรายเพราะเราไม่รู้ อาตมานั่งคิดดูว่าสังคมมนุษย์เราที่พูดว่าสู้เพื่อธรรมะมีการประชุมกันเพื่อแก้กฏหมายต่าง ๆ แต่คนที่ไปประชุมนั้น ใจของเขาเป็นธรรมแล้วหรือยัง ความจริงก็ยังไม่ดีอะไร แต่ก็ทำการต่อสู้เพื่อประโยชน์ของตัวเอง เพื่อตัวเองจะได้เขียนอย่างที่ตัวเองอยากเขียน แต่ถ้าเราเป็นคนถือธรรมะ เราก็ไม่ต้องกลัวอะไร เพราะกฏหมายไม่ลงโทษคนที่ถือธรรมะ ไม่ทำผิดทางกาย ทางวาจา คนกลัวกฏหมายคือคนที่ทำผิด เช่นนักค้าของเถื่อน ค้าเฮโรอีนมีบทลงโทษอย่างหนัก พวกนี้ก็จะกลัว แล้วเขาก็จะมาต่อสู้ว่ากฏหมายไม่เป็นธรรม ไม่เปิดโอกาสให้ทำธุรกิจ เพราะจิตใจไม่เป็นธรรม จึงไปต่อสู้เพื่อให้สิ่งนั้นหายไป จะได้ทำสิ่งผิดได้สะดวกสบาย แต่ถ้าใจเป็นธรรม เราจะไม่ไปต่อสู้เพราะเราไม่มีเรื่องอะไรที่จะเสียหาย ไม่ต้องกลัวว่าจะมีอะไรจะมาลงโทษเรา อันนี้เอามาเล่าให้ฟังเพื่อเป็นตัวอย่างว่าคนที่ออกมาต่อสู้ว่าเพื่อความเป็นธรรม แท้จริงแล้วในของเขาหาได้เป็นธรรมไม่ คนเราทำอาชีพอย่างเดียวกันก็ต้องแข่งกันด้วยเทคนิค ไม่ใช่แข่งกันด้วยการใช้ดาบใช้ปืน ถ้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับแข่งขันกันด้วยเทคนิคทางการเขียนไม่ต้องกลัว คนจะเลือกอ่านเอง คนไทยยังมีหลายแบบ คนที่ชอบอ่านข่าวอาชญากรรมก็มี คนที่ชอบอ่านสาระความรู้ก็ยังมี จึงไม่ต้องกลัวการแข่งขัน หนังสือพิมพ์ในต่างประเทศไม่จั่วหน้าว่าใครฆ่าใคร แต่เขาจะจั่วหน้าถ้าเป็นข่าวใหญ่เช่นสงครามระหว่างประเทศ แต่ของเรานี้จะจั่วหน้าแล้วเขียนเนื้อความให้ยาวเต็มหน้ากระดาษแต่ไม่ได้อะไร และคนซื้อก็ชอบอ่าน เพราะคนที่มีการศึกษายังมีน้อย
การทำงานประเภทเดียวกันก็แข่งขันกัน เช่นร้านค้า ๒ ร้านอยู่ติดกันก็มักจะโกรธกัน เช่นร้านขายสบงจีวรเหมือนกัน ๒ ร้านอยู่ติดกันในจังหวัดสงขลา เทคนิคในการแข่งขันของเขาคือร้านหนึ่งไปที่ท่าน้ำแต่เช้า เมื่อมีพระพายเรือมา เขาก็จะลงไปคุยกับพระ เมื่อพระตอบว่ามาพิจารณาสบงจีวรเพื่อนำไปบวชพระ เขาก็จะเสนอว่าที่ร้านของเขามีของ และก็นิมนต์พระให้ไปที่ร้าน ก็ทำให้เขาขายของได้ เมื่ออีกร้านรู้เข้าก็ทำบ้าง เมื่อเกิดการแข่งขันต่างฝ่ายก็หาเทคนิคใหม่ ๆ มาแข่งกันอยู่อย่างนั้นเป็นหลายปี ไม่มีการทำลายกัน
อีกตัวอย่างหนึ่งคือร้านจีนชำ เมื่อมีคนมาซื้อของ เขาจะมาทักทายจับเอวดู เพราะคนสมัยก่อนเอาเงินผูกไว้ที่เอว ถ้าคลำไปแล้วพบว่าถุงเงินยาวมีเงินมาก ก็จะเอาใจและเชิญให้นั่ง แม้ของที่ลูกค้าต้องการซื้อไม่มีในร้านของตน ก็ไปเอาของร้านอื่นมาขาย ไม่ให้ลูกค้าแวะไปร้านอื่น เขาทำกันอย่างนี้ ไม่มีการทำลายกัน
หนังสือพิมพ์ก็เช่นกัน ถ้าเขียนสิ่งที่เป็นสาระให้คนอ่าน ต่างก็มีลูกค้าของตนไม่ต้องไปรังแกซึ่งกันและกัน การรังแกกันจะสร้างปัญหาต่อไป เพราะอาจจะมีใครสักคนนึกโกรธขึ้นมาก็ทำร้ายกัน เราร้ายกับเขา เขาก็ร้ายกับเรา อันนี้ไม่ใช่ทางที่ผู้มีปัญญาอยู่ในสังคมที่เรียกว่าผู้ดีจะพึงกระทำกันในรูปเช่นนี้ ใครที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็ควรบอกหรือเตือนกัน ให้เจริญด้วยคุณธรรม ผู้ที่เจริญด้วยคุณธรรมมีลักษณะคือ ไม่ทำสิ่งที่ขัดต่อศีลธรรม ขัดต่อประเภณี ถ้าเราทำสิ่งไม่ดีแล้ว ผู้รู้ทั้งหลายก็จะติเราได้ ว่าเราใจต่ำ มีความเป็นอันธพาล อย่างนี้เรียกว่ายังไม่เจริญทางจิตใจ เจริญแต่ทางวัตถุ ใจยังไม่เจริญ ก็ยังรบกันต่อไปอย่างประเทศในตะวันออกกลาง รบกันจนชาวยุโรปที่เคยมาท่องเที่ยวก็หายไป รบกันไปก็ไม่มีใครชนะ แพ้ทุกฝ่าย นี่ก็เพราะว่าเอากิเลสมาใช้ มิได้เอาธรรมะมาใช้
คนเราไม่ยอมรับว่าตัวผิด แล้วก็ไม่มีใครที่ในสภาพเดียวกันต่อสู้ คัดค้านเพื่อความถูกต้อง ทำงานให้เขา รับเงินเขาไปแล้ว ถ้าไปเตือนเขาแล้วถ้าเขาให้ออกตัวเองก็จะไม่มีเงินกินใช้ คนเราปัจจุบันนี้สยบอยู่กับอำนาจเงินตราทั้งหมด หูก็ใช้ไม่ได้ ตาก็ใช้ไม่ได้ มือก็เขียนอย่างอิสระเสรีไม่ได้ ต้องเขียนตามที่เขาสั่งให้เขียน มันไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรมแล้วผลที่เกิดก็จะไม่เป็นธรรม เหมือนกับการปลูกต้นไม้มีหนาม เราก็จะได้หนามเต็มบ้าน ถ้าเราปลูกไม้ดอก เราก็จะได้ดอกไม้หอมเต็มบ้าน
เราจะทำงานก็ควรทำงานที่สุจริต คนที่ทำงานทุจริต อย่างซ่องโสเภณี ค้ามนุษย์จะเจริญไปได้อย่างไร ถ้าเราดูต่อไปจะเห็นว่าความล่มจมจะเกิดแก่คนนั้น ตระกูลนั้นในไม่นาน หรือคนไปโกงผู้อื่นมาก็จะไปไม่รอด มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย เหมือนอย่างการไปจับของร้อนมันจะจับไม่ได้นานต้องรีบวาง เงินทองที่เป็นของร้อนก็จะต้องอยู่กับเราได้ไม่นาน มีนักโทษคนหนึ่งเรียนนักธรรมตรีแล้วถูกส่งไปอยู่ห้วยเปิด นักโทษทำงานให้หลวงในตอนเช้า ส่วนตอนบ่ายเป็นเวลาส่วนตัว จะทำอะไรหรือไปไหนก็ได้แต่ต้องกลับมาก่อน ๖ โมงเย็น อาตมาได้พบกับนักโทษคนหนึ่ง สอบถามก็ได้ความว่ามาจากบางขวาง และชอบที่ห้วยเปิดมาก เขาบอกว่ารู้สึกเหมือนได้ขึ้นสวรรค์ ไม่เหมือนอยู่บางขวาง เหมือนอยู่นรก อาตมาแกล้งบอกเขาว่าอยู่ที่นี่หนีได้สบาย ลงเรือไปตอนไหนก็ได้ เขาบอกว่าเขาไม่หนี ยอมอยู่ที่นี่ อยู่สบายดี หลังจากนั้นหลายปี อาตมาก็ได้พบเขาอีกที่ปราจีนบุรี สอบถามว่าเขายังเป็นเสืออยู่หรือไม่ เขาตอบว่าไม่แล้ว ตอนที่เป็นเสือไปปล้นเงินคนอื่น ได้ห้าพันบ้าง สองหมื่นบ้าง แต่ก็ไม่มีเงินเหลือ เอาไปกินไปเที่ยวเล่นจนหมด ไม่มีเงินเหลือตั้งตัวเลย เป็นอย่างนี้เพราะมันเป็นเงินร้อน เหมือนข้าราชการคอรัปชั่น เงินก็จะไม่เหลือเหมือนกัน คนชั่วไม่ได้คิดว่าจะสร้างตัว คนชั่วคิดแต่ทำลายตัวเองตลอดเวลา อย่าเอาตัวเองไปอ้างอิงกับคนใหญ่คนโต เพราะมันไม่แน่นอน บางคนก็เที่ยววิ่งหาคนที่มีอำนาจ แล้วก็ต้องวิ่งหาตลอดไป อาตมาเคยสอนให้อิงงานเป็นหลัก ทำงานให้ดี บางคนคิดได้ก็ทำงาน มาคิดสร้างเนื้อสร้างตัว คิดละอายต่อสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร อย่าคิดว่าสังคม จะไม่รู้ในเรื่องความชั่ว เพราะในโลกนี้มันไม่มีที่ลับ มันต้องปรากฏออกมาให้คนรู้อยู่ตลอดเวลา คิดอย่างนี้ใจจะโปร่งขึ้น แข่งขันกันก็ทำในเชิงเทคนิค ไม่แข่งขันกันในแบบอันธพาล ยิงกัน เพราะผลประโยชน์ขัดกัน คนไม่ดีที่ยังยิงกันไปมาย่อมไม่มีความสุข ทำด้วยความคึกคะนอง ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผลที่สุดก็จมทั้งคู่ คนดีที่สุด จะอยู่ในโลกต่อไป ฝากให้ญาติโยมไปคิด เห็นใครทำไม่ถูกก็เตือนกัน เพื่อให้เกิดแต่ความดีในบ้านเมืองต่อไป