แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติ โยม พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถา ธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียง ได้ชัดเจน แล้วจงตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการมาวัดในวันอาทิตย์ ตามสมควรแก่เวลา
วันนี้ เป็นวันที่ ๑ เดือนเมษายน เป็นวันอาทิตย์ด้วย โดยเฉพาะวันที่ ๑ นั้น มีงานของราชการอยู่งานหนึ่ง เขาเรียกว่าวัน ก.พ. วันก.พ. นี่ ก็คือ วันข้าราชการ พลเรือน สำนักก.พ. คือ สำนักกรรมการข้าราชการพลเรือน ให้มีการจัดงาน นิทรรศการบ้าง อะไรบ้างเป็นพิเศษ แล้วก็ขอร้องอาตมาให้พูดทางวิทยุ กระจายเสียงแห่งประเทศไทย เรื่องเกี่ยวกับข้าราชการ ได้พูดไปแล้ว เมื่อตอนเช้าทางสถานีวิทยุ ซึ่งท่านทั้งหลายอาจจะได้ฟัง ที่มาวัดก็คงจะฟังได้ เพราะเปิดให้ฟังอยู่ การพูดก็พูดทั่วประเทศเพื่อจะได้รับฟังกัน และเมื่อตะกี้นี้ ไปออกโทรทัศน์ก็ได้พูดบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ บวกกับเรื่องอื่น ๆ เพื่อให้ประชาชน ได้รับทราบเกิดความรู้ความเข้าใจ
ในตอนนี้ก็อยากจะทำความเข้าใจ อะไรเล็กน้อยในเรื่องเกี่ยวกับวันต่าง ๆ ที่เราจัดกันขึ้น เช่นจัดงานวันเกิด วันเกิดของกระทรวง ของกรม ของอะไรต่าง ๆ วันนี้ก็เป็นวันเกิดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยเหมือนกัน ตั้งมาหลาย สิบปีแล้ว ก็มีการทำบุญอะไรกันตามธรรมเนียม แต่โดยมากไม่ค่อยจะมีการจัด เพื่อฟังธรรม มักจะเพียงแต่การจัดนิมนต์พระมาทาอาหารเพล เพลเสร็จแล้ว พระก็ประพรมน้ำมนต์ให้ แก่ผู้ที่เป็นข้าราชการ อาตมาเห็นว่าการกระทำเพียงเท่านี้ ยังไม่เกิดประโยชน์เท่าใด ทางด้านจิตใจ
ถ้าให้ดีในวันเกิดนี่ควรจะประชุมใหญ่ แล้วก็นิมนต์พระมาแสดงธรรม นิมนต์พระผู้หลักผู้ใหญ่ ไปแสดงก็ได้ เช่นนิมนต์สมเด็จพระสังฆราชไปแสดงธรรม แทนที่จะนิมนต์ท่านไปสวดมนต์ หรือนิมนต์สมเด็จองค์ใดองค์หนึ่งไปแสดงธรรม หรือจะนิมนต์ท่านปัญญานันทะไปแสดงก็ยังได้ ไม่ได้ลำบากอะไร
ทำไมจะต้องนิมนต์พระไปแสดงธรรม เพื่อจะได้พูดจาทำความเข้าใจกัน ในเรื่องชีวิต เรื่องการงาน อันเราจะต้องจัด ต้องทำ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่สังคมกันต่อไป เป็นการเตือนกันในวันเกิด เพราะวันเกิดนั้น เป็นวันที่เรา ควรจะได้มองไปข้างหลัง คือ มองดูตัวเราเอง มองดูการงาน มองดูความประพฤติ ปฏิบัติ มองจนกระทั่ง ทรรศนะ คือ ความคิดความเห็นในชีวิตประจำวันของเรา ว่ามีความถูกต้องอย่างไร มีความผิดพลาดอย่างไร มีอะไรควรจะปรับปรุง แก้ไขต่อไปอีกบ้าง แล้วจะได้ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น
ถ้าชีวิตของคนเรานั้น รวมทั้งการงานที่เราปฏิบัติด้วย การปรับปรุงขึ้นไปเรื่อย ๆ ในสมัยนี้ เขาเรียกว่าการพัฒนา การพัฒนาก็คือ การปรับปรุงให้เจริญ ให้ก้าวหน้าต่อไป ที่ใดที่ไม่มีการพัฒนา ที่นั้นก็ไม่ก้าวหน้า คนเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าไม่พัฒนาตัวเองให้เจริญด้วยความรู้ ด้วยความสามารถ ด้วยความประพฤติดี ประพฤติชอบ ก็เรียกว่ายังไม่เจริญเท่าที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้น การพัฒนานี่เป็นเรื่องจำเป็นทุกแง่ ทุกมุม ที่เราจะต้องกระทำกัน
ประเทศไทยเรานี้ ชาวโลกเขายังเรียกว่าประเทศด้อยพัฒนา คือยังไม่พัฒนาถึงขีดที่เรียกว่าเป็นความเจริญ ประเทศในยุโรป ในอเมริกา ในเอเชียเราก็คือ ประเทศ ญี่ปุ่น เขาเรียกว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว คือพัฒนาให้เจริญขึ้น ในการศึกษา ในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ ทุกแง่ทุกมุม เขามีความเจริญทุกด้าน ทุกสาขาการงาน จึงได้เรียกว่า เป็นบ้านเมืองที่พัฒนาแล้ว บ้านเรานี่กำลังอยู่ในการพัฒนา คือปรับปรุงให้ดีขึ้น ก็ถ้ามองกันในแง่ดี ก็จะเห็นว่า มีดีขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะ ๕๐ - ๖๐ ปี ที่พวกเรามีชีวิตอยู่ พูดถึงว่าคนอายุประมาณ ๗๐ ถึง ๗๐ กว่าๆ พอจะมองย้อนหลังได้ว่า สภาพบ้านเมืองของเราเป็นอย่างไร มองไปข้างหลัง อาจจะสัก ๕๐ ปีโน้น เราก็จะเห็นว่าดีขึ้นมากมายหลายเรื่อง หลายประการ เช่นถนนหนทางในสมัยก่อนก็ไม่ค่อยมี แต่เดี๋ยวนี้มีถนนหนทาง มากมาย สามารถจะนั่งรถไปได้ ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ก็ว่าได้
แล้วก็การศึกษาเล่าเรียน สมัยก่อน โรงเรียนมีน้อย มีในจังหวัด แล้วก็มีตามอำเภอ ตามตำบลนี่ก็ยังไม่มี แต่เดี๋ยวนี้ มีโรงเรียนประถม มีทั่วไปทุกหนทุกแห่ง แล้วก็มีโรงเรียนประจำตำบล ตามตำบลใหญ่ ๆ โครงการนั้นจะทำให้ทั่วทุกตำบล ให้คนไทยทุกคน ได้รับการศึกษา อย่างน้อยสัก ๙ ปี เพื่อให้มันสมบูรณ์ขึ้น เมื่อก่อนนี้เรียน ๓ ปี เดี๋ยวนี้ เรียน ๖ ปี ๖ ปี เรียกว่าเป็นภาคบังคับ คือ ประถม ๖ ปี ต่อไปจะต้องบังคับขึ้นไปถึง ๙ ปี เพื่อให้คนมีการศึกษามากขึ้น ให้ทันโลก ทันเหตุการณ์ อันนี้ก็เป็นการเจริญ ก้าวหน้าขึ้น
มหาวิทยาลัยต่าง ๆ สมัยก่อน ก็มีเพียงแห่งเดียว คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เดี๋ยวนี้ มีมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ในต่างจังหวัด และก็ได้รับข่าวว่า จะตั้งเพิ่มขึ้นตามภาคต่าง ๆ เดี๋ยวนี้ก็มีการแย่งกันอยู่ ว่าจะเอาไปเปิดที่ไหน ถ้าสมมติว่าเปิดภาคใต้ จังหวัดต่าง ๆ ก็แย่งกัน ให้ไปเปิดในจังหวัดของตัว มีการแย่งกันเพื่อประโยชน์แก่การศึกษา อันนี้ก็เป็นความเจริญก้าวหน้าในแง่หนึ่ง
ในเรื่องการรักษาพยาบาล สมัยก่อนนี้ เจ็บไข้ได้ป่วย ก็ต้องไปหาหลวงพ่อ ตามวัด ฉันยาหม้อ ที่ต้องไปต้มกันเป็นหม้อใหญ่ ๆ เอามาต้ม แล้วก็กินกัน เป็นถ้วยใหญ่ ๆ กินวันละ ๓ ถ้วย ก่อนอาหาร เดี๋ยวนี้ ยาต้มเหล่านั้นก็ยังมีต้มอยู่บ้าง แต่ก็ไม่แพร่หลายแล้ว เพราะว่ามีโรงพยาบาล ประจำจังหวัด มีโรงพยาบาลประจำ อำเภอ เดี๋ยวนี้ ตามอำเภอต่าง ๆ ก็มีโรงพยาบาลอย่างน้อย ๒๐ เตียง มีหมอคนหนึ่ง มีนางพยาบาล ๒ - ๓ คน ก็แสดงว่า ในเรื่องการรักษาพยาบาลก็เจริญก้าวหน้า
ในเรื่องการน้ำ สำหรับการทำมาหากิน เดี๋ยวนี้ก็มีเขื่อนใหญ่ ๆ เช่น เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพล สิริกิตติ์ แล้วก็เขื่อนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีมากมาย แสดงว่า บ้านเมืองของเรานั้น ได้มีการพัฒนาไปตามสมควรแก่ฐานะ บ้านเมืองมันไม่ใช่ของเล็ก ๆ จะทำเสร็จในวันเดียวนั้นไม่ได้หรอก แต่ว่าต้องทำกัน ไปเรื่อย ๆ ตามแผนการที่ตั้งไว้ เรียกว่าโครงการ ๕ ปี ๕ ปีนี้จะทำอะไร ทำให้เสร็จตามโครงการ ๕ ปีหน้าต่อไปจะทำอะไร ก็ทำไปตามโครงการนี้ ทำกันมาโดยลำดับ ก็เป็นความเจริญก้าวหน้าในระนาบนั้น
ในด้านการพระศาสนา เราก็มีความก้าวหน้าขึ้นพอสมควร สมัยก่อนนี้ พระนักเทศน์ ต้องถือคัมภีร์ไป แล้วก็อ่านไปตามคัมภีร์ เพื่อให้คนฟัง รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง อ่านถูกบ้าง ผิดบ้าง แต่คนก็หมอบฟังกันเรียบร้อย ฟังกัน อยู่ในรูป อย่างนั้น เดี๋ยวนี้การแสดงธรรม ทันสมัยขึ้น ไม่ต้องถือคัมภีร์อ่าน พูดเอาเอง ตามความรู้ ความเข้าใจที่ได้เรียนมา เหมาะแก่สมัยมากขึ้น การเทศน์ทางวิทยุ สมัยก่อนก็เทศน์แต่เพียงวันพระ แต่เดี๋ยวนี้ วันอาทิตย์ ตอนเช้าก็มีเทศน์ทุกวัน แล้วก็พูดจา ทันสมัย ทันเหตุทันการณ์ สมัยก่อนพระเรียนนักธรรม ตรี โท เอก เดี๋ยวนี้ เรียนบาลี ก้าวหน้าไป ถึงขั้นวิทยาลัยสงฆ์ สอบได้ปริญญา แต่เมืองไทยยังไม่รับรอง คณะรัฐมนตรี เพิ่งอนุมัติ รับรองการศึกษาของพระ เปรียญเก้าประโยค เป็นเทียบเท่ากับบัณฑิตทางสังคมศาสตร์ พวกที่ได้ พุทธศาสน์บัณฑิต ศาสนศาสตร์บัณฑิต ก็เทียบให้ เป็นความดีใจของพวกพระเณร รุ่นใหม่ ที่กำลังศึกษาอยู่ คือ เมื่อเทียบให้เช่นนั้น ต่อไปสมัครอะไร มันค่อยยังชั่วหน่อย แต่สำหรับพระที่จะบวชเอานิพพานนั้น ท่านเฉยๆ รับ ไม่รับ มันก็ เท่ากัน เพราะเรื่องนิพพานหน่ะ มันไม่ใช่เรื่องใบรับรอง ต้องรู้ด้วยตัวเอง ก็ไม่ดีอกดีใจอะไร แต่ก็เป็นการแสดงความเจริญก้าวหน้า
สมัยก่อน พระพุทธศาสนาเรา มีอยู่ในประเทศไทย แต่เดี๋ยวนี้ พระพุทธศาสนาแผ่กระจายไปในต่างประเทศ มีพระไปอยู่ ไปทำงาน เพื่อประกาศศาสนาพุทธ ให้คนได้เกิดความรู้ ความเข้าใจ วัดวาอารามก็มีการพัฒนาให้ทันสมัยขึ้น ทันเหตุ ทันการณ์ขึ้น อันนี้เป็นเรื่องของความเจริญก้าวหน้าทั้งนั้น แต่ว่าเป็นความเจริญ ในทางด้านวัตถุ เสียเป็นส่วนมาก ส่วนการพัฒนาเพื่อให้เกิด ความเจริญทางจิตใจนั้น ความจริงก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน แล้วก็ต้องพัฒนาควบคู่กันไป กับความเจริญในทางด้านวัตถุ ถ้าเรามีการพัฒนา แต่ในด้านวัตถุ แต่ไม่มีการพัฒนาทางจิตใจ จิตใจคนก็จะไปติดอยู่ในวัตถุ มัวเมาในวัตถุ
อันเรื่องของวัตถุนั้น มันเป็นเครื่องล่อ เครื่องจูงใจ ทำให้เกิดความ กำหนัด ให้เกิดความขัดเคือง ให้เกิดความลุ่มหลง ให้เกิดความมัวเมา เมื่อไรก็ได้ จิตใจอาจจะตกไปอยู่กับสิ่งนั้น เมื่อใจเราตกไปเป็นทาสของสิ่งใด เราก็ต้องทำเพื่อสิ่งนั้น การกระทำอะไรด้วยอำนาจกิเลส ก็ย่อมเป็นเหตุ ให้เกิดความทุกข์แก่ตนบ้าง แก่คนอื่นบ้าง เพราะฉะนั้น เรื่องจิตใจนี่ ก็ต้องมีการพัฒนา
การพัฒนาทางจิตใจ ก็ต้องอาศัยหลักธรรมในทางพระศาสนา เป็นเครื่องช่วย เพราะคนเราโดยปรกติ ก็ได้ปฏิญญาตนว่าเป็นผู้มีศาสนา คนมีศาสนา นั้นเป็นคนเจริญ คนไม่มีศาสนา เป็นคนไม่เจริญทางจิตใจ เพราะไม่มีหลักรักษาจิตใจ เขาจะคิดอะไร จะพูดอะไร จะทำอะไร ในเรื่องใดก็ได้ ไม่มีอะไร เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งบังคับจิตใจ ถ้าพูดไปก็เหมือนกับรถที่ไม่มีห้ามล้อ ถ้าเราเอาไปขับขี่ ในถนนที่มีการจราจรพลุกพล่าน มันก็อันตราย คืออาจจะไปชนรถคันอื่นก็ได้ อาจจะไปชนเสาไฟก็ได้ ชนคนก็ได้ เป็นการอันตรายมาก แต่ถ้ารถนั้น มีห้ามล้อ อุดมสมบูรณ์ เรียบร้อย ปัญหาในเรื่องจะชนกัน มันก็ไม่มี สภาพจิตใจคนเรานี้ก็เหมือนกัน
ถ้าเรามีศาสนาเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ เราปฏิบัติตามหลักศาสนา ก็เรียกว่า เรามีห้ามล้อสำหรับจิตใจ คนที่มีห้ามล้อจิตใจนั้น ย่อมมีความยับยั้งชั่งใจ มีความละอายบาป มีความกลับบาป จะทำอะไร มโนธรรมมันก็เกิดขึ้นมาในใจ แล้วก็บอกว่า ไม่ควรทำสิ่งนั้น ไม่ควรทำสิ่งนี้ เพราะสิ่งนั้นเป็นบาป เป็นโทษ เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ และ ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน ก็จะได้หยุดยับยั้งชั่งใจ ให้เกิดขึ้น
ในสังคมใด ที่มีคนหนักแน่นในศาสนา สังคมนั้นมีปัญหาน้อย แต่ในสังคมใด ที่ไม่มีคนยึดมั่นในศาสนา สังคมนั้นก็มีปัญหามาก เพราะฉะนั้น เรื่องของธรรมะ เรื่องของศาสนานี้ เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับชีวิต เราจึงควรจะได้หันมาสนใจในเรื่องอย่างนี้ คือสนใจด้วยการมาฟังไว้บ้าง อ่านจากหนังสือบ้าง แล้วเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน
บางทีเราอาจจะคิดว่า ไม่ต้องไปฟังก็ได้ เพราะอะไรๆ เราก็รู้อยู่แล้ว อันนี้ ก็ไม่ค่อยจะถูกต้องนัก เพราะว่าการไม่ฟัง ก็ไม่มีเครื่องเตือนใจ คนเราเตือนตัวเอง มันน้อย แต่ถ้าได้คนอื่นเตือน มันดีมากขึ้น และจะได้เป็นปัจจัยให้เตือนตนเองต่อไป ถ้าไม่มีใครตักเตือนเรา แล้วเราจะเอาอะไรมาเป็นเครื่องประกอบ ในการตักเตือนตัวเอง
เพราะฉะนั้น การไปฟังธรรม ครั้งหนึ่ง คราวหนึ่ง ก็เท่ากับว่า ไปรับคำเตือนจากพระ แล้วจะได้นำมาใช้ในระยะหนึ่ง ทุกศาสนาก็มีวันพระ เจ็ดวันครั้ง จะเป็นทางสุริยคติก็ได้ จันทรคติก็ได้ เราชาวพุทธก็มีวันพระ ตามแบบจันทรคติ คือนับ ขึ้น แรม ตามแบบของดวงจันทร์ แต่ว่า ศาสนาอื่นนั้น เขานับเอาวันตามสุริยคติ คือวันอาทิตย์เป็นหลักสำคัญ หรือ วันศุกร์ อาจจะไม่ตรงกันเสมอไป แม้ในศาสนาคริสต์เอง ก็ไม่ใช่ว่าจะถือวันอาทิตย์ทุกช่วง บางช่วงก็ไปถือวันอื่นก็มีเหมือนกัน อันนี้ มันเป็นเรื่องบัญญัติขึ้น ตกลงกันในสังคมนั้น ๆ เขาเรียกว่า เป็นสัญญาประชาคม ที่ได้ตั้งกันขึ้นไว้ ทุกคนก็ปฏิบัติตามสัญญานั้น เราเข้าไปอยู่ในสังคมใด ก็ต้องถือกฏเกณฑ์ของสังคมนั้น คนไม่ถือกฏของสังคม แม้ตนอยู่ในสังคม ก็เรียกว่าเป็นคนจิตขวางอยู่ในสังคม ที่เขาเรียกว่าเป็นแกะดำอยู่ในฝูงแกะขาว เพราะทำอะไรไม่เหมือนเขา
เรื่องวันพระนี่ก็เรียกว่าเป็นเรื่องของสัญญากัน ว่าวันนั้น เราจะทำอย่างนั้น เราจะทำอย่างนี้ อย่างวันพระของชาวพุทธ เราก็เป็นวันขึ้นแรม แต่ว่าทางราชการ หยุดในวันอาทิตย์ ก็ไม่เป็นไรหรอก ไม่ต้องกลับไปสู่ภาวะเดิมก็ได้ มีคนวิ่งเต้นอยู่ เวลานี้ ที่จะให้ไปหยุด ในวันพระอีก อาตมามองเห็นว่ามันจะไม่สะดวก หลายอย่าง หลายประการ เพราะว่าวันพระนี่ มัน ขึ้น ๆ ลง ๆ บางทีมันก็ขาด บางทีมันก็เกิน
แล้ววันพระในเมืองไทย นี่ก็มีพระสองพวก พระธรรมยุตพวกหนึ่ง พระมหานิกายพวกหนึ่ง บัญญัติไม่ตรงกันอีก ธรรมยุตบางทีก็ตรงกับมหานิกาย บางทีก็ไม่ตรง ทีนี้ ทางราชการจะไปหยุดวันพระ นี่จะไปเอาวันพระไหน จะเอาวันพระ มหานิกาย เดี๋ยวธรรมยุตก็จะว่าลำเอียง จะเอาวันพระ ธรรมยุต เดี๋ยวมหานิกายก็จะว่าลำเอียง ถ้าวันอาทิตย์มันเป็นนั้นแหล่ะ ดีแล้ว มันไม่ยุ่งยากอะไร เราหยุดงานวันอาทิตย์ มันสากล ชาวโลกเขาหยุดกัน ในวันนั้น ทั้งนั้น เราก็มาหยุดกันในวันอาทิตย์ คือหยุดวันไหน ๆ มันก็เท่ากัน
บางคนบอกว่า หยุดวันพระ คนจะได้ไปวัด แม้หยุดวันพระ คนก็ไม่มาวัด ก็ไปสนามกอล์ฟกัน เยอะแยะเหมือนกัน ทั้งๆ ที่เป็นวันหยุด แต่ว่า คนที่จะมานั้น หยุดวันไหน เขาก็มา เช่นวันอาทิตย์ นี่เขาหยุดงานกัน วัดชลประทานนี่ เทศน์กันวันอาทิตย์มายี่สิบสี่ปีแล้ว โยมก็มากันนี่ อย่างนี้ มาเพิ่มขึ้น ๆ จนหอประชุมไม่พอให้นั่งอยู่แล้วเวลานี้ ต้องไปนั่งกันใต้ต้นไม้ ก็แสดงว่า คนนิยมชมชอบอยู่เหมือนกัน
วัดอื่นก็ควรจะพัฒนาเสียบ้าง แทนที่จะเทศน์อยู่ในวันพระ ก็ลองเปิดเทศน์วันอาทิตย์ขึ้นบ้าง ตามวัดต่าง ๆ ในกรุงเทพ แข่งกับท่านปัญญาบ้าง ลองดูจะเป็นไรไป ว่าใครจะเก่งกว่าใคร แต่นี่มันไม่มีคู่แข่ง อาตมาขึ้นเวทีอยู่องค์เดียวเวลานี้ เวทีวันอาทิตย์นี่มันไม่มีใครแข่ง ที่วัดมงกุฏฯ เคยเทศน์อยู่สามเดือน แล้วก็ล้มไป ถามสมเด็จฯ ที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว บอกว่า ใต้เท้าเคยจัดเทศน์วันอาทิตย์แล้วทำไมเลิก หัวเราะแหะ แหะ มันไม่มีคนฟัง ท่านว่างั้น นี่แสดงว่าคนมันไม่ไปฟัง คนไม่ฟังเราก็เทศน์ได้ ไม่มีชาวบ้านฟัง เอาพระในวัดมาฟังทั้งหมด นั่งให้เต็มไปเลย เทศน์กับพระ
ทีนี้เราเทศน์กับพระทุกวันอาทิตย์ ชาวบ้านก็เห็นว่า อ๋อ วัดนี้ทำมั่นคง เขาก็จะมากันต่อไป หรือว่า พระไม่มาฟัง ก็นึกว่าเทศน์ให้เทวดาฟังก็แล้วกัน เรียกว่า ยืนเทศน์อยู่คนเดียว แต่เขาถามว่า ไม่มีคนฟัง อุ๊ย คนเต็มศาลา ใคร บอกว่าเทวดามาฟังตั้งเยอะแยะ ให้คนละอายเทวดามั่ง ว่าเทวดาเขาอุตส่าห์ มาฟังธรรมกัน อันนี้มันก็ได้
ถ้าเราบัญญัติกันขึ้น ความนิยมมันก็เกิดขึ้นเองในเรื่องอย่างนี้ ไม่ต้องไปวุ่นวาย หยุดกันวันอาทิตย์นี่ก็ดีอยู่แล้ว เราอย่าไปยึดว่า อาทิตย์เป็นของศาสนาอื่น ไม่เป็นของศาสนาอะไรหรอก เขานับกันมา ตั้งก่อนพระเยซูเกิดด้วยซ้ำไป ไอ้เรื่องอย่างนี้ เขานับกันมานานแล้ว ไม่ใช่เป็นของศาสนาใด มันไม่มีอะไรหรอก เราถือเอาประโยชน์ของการหยุด ให้เป็นคุณค่าขึ้น มันก็ใช้ได้ อันนี้เป็นเรื่องที่อยากจะทำความเข้าใจด้วย อันหนึ่งเหมือนกัน
พูดถึงเรื่องการพัฒนาจิตใจต่อไปว่า ควรจะพัฒนาอย่างไร ว่ากันโดยความจริงสภาพจิตใจของคนเรานั้น โดยธรรมชาติ มันไม่ได้สกปรก เร่าร้อน มืดบอดอะไร โดยธรรมชาตินั้น สะอาดอยู่ ผุดผ่องอยู่ อันนี้พระพุทธเจ้ารับรอง ดังคำ พระบาลี ที่พระองค์ตรัสว่า "ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจ โข อาคนฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ อุปกฺกิลิฏฐํ" ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติ ผ่องใส เศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรเข้ามา ไอ้กิเลสที่เกิดขึ้นนี้ มันคล้ายกับอาคันตุกะ ที่ผ่านเข้ามาในบ้านเราเป็นครั้ง ๆ คราว ๆ มันเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว จิตของคนเรานั้น ไม่ได้มีกิเลสอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้มีมาโดยสันดาน ไม่ได้มีมาตั้งแต่เราเกิด มันเกิดเป็นครั้งคราว มันเกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป แต่เราไปเข้าใจผิด เพราะมีบางที่บางเแห่งเขาพูดว่า จิตมันเศร้าหมองอยู่โดยปรกติ อันนี้ พูดไม่ถูก ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
เราไม่ต้องคิดถึงพระพุทธภาษิตหรอก แต่เราลองมานั่งดูตัวเองว่า บางครั้งบางคราวจิตเราสงบ แต่บางครั้งมันก็วุ่นวาย บางครั้งมันก็สว่างด้วยปัญญา แต่บางครั้งมันก็มืด บางครั้งมันก็เย็น บางครั้งมันก็ร้อน ไอ้ของเดิมน่ะมันเป็นอย่างไร เราลองนั่งพินิจพิจารณาว่า เดิมมันเป็นอย่างไร ให้เราพิจารณาในแง่นี้ว่า ทำไมมันจึงร้อน ร้อนนี่มาจากอะไร ร้อนมาจากสิ่งที่มากระทบ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายได้ถูกต้องสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วใจก็รับเอาไปปรุงแต่ง บางครั้งเราพอใจ ดีใจ อยากได้ อยากมี แต่บางครั้งเราไม่พอใจ ไม่อยากมี ไม่อยากได้ อยากขับไล่ไสส่ง สิ่งนั้นออกไป เวลาเราพอใจ ใจเป็นอย่างไร ไม่พอใจ ใจเป็นอย่างไร เวลาพอใจ เรารู้สึกสบายนิดหน่อย แต่ว่าพร้อม ๆ กับความสบายใจนั้น มันก็มีความวิตกกังวลแทรกขึ้นมาว่า น่าจะไม่สำเร็จตามที่เราต้องการ มันจะไม่อยู่กับเรานาน เดี๋ยวมันจะจากเราไป อะไรอย่างนี้ มันคอยปะทุ อยู่ในใจตลอดเวลา หรือบางครั้งเราก็ไม่พอใจ เมื่อเราไม่พอใจ เราเห็นทันทีว่า เกิดอาการไม่สบายใจ ถ้าสิ่งนั้นไม่เป็นที่พอใจ เช่น เราพบคนที่เราไม่พอใจ เราเกิดขุ่น ขึ้นมาทันที แต่ถ้าเราพบคนที่เราคิดถึง เราพอใจ เราก็จะยิ้มแย้มแจ่มใสออกมาทันที อันนี้มันเป็นเรื่องของอารมณ์ เขาเรียกว่าอารมณ์
อารมณ์คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับใจ เกิดเพราะตาเห็น หูได้ยิน กลิ่นได้ทางจมูก รสผ่านทางลิ้น สิ่งถูกต้อง ผ่านทางกายประสาท อันนี้ก็เรียกว่า อารมณ์ ในภาษาพระ ท่านเรียกว่า รูปารมณ์ อารมณ์คือ รูป สัททารมณ์ อารมณ์คือเสียง คันธารมณ์ อารมณ์คือกลิ่น รสารมณ์ อารมณ์ก็คือ รส ที่กระทบกับประสาทลิ้น โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์ที่กระทบกายประสาท อารมณ์เหล่านี้ มันกระทบใจของเรา แล้วเรารับสิ่งนั้น ด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ใช้ปัญญา เพราะเราไม่ได้ฝึกฝนให้มีสติ ให้มีปัญญาทันท่วงที เราก็มักจะรับไว้ ด้วยความอยากได้ อยากมี อยากเป็น รับไว้ด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ใจจึงเศร้าหมอง เร่าร้อน วุ่นวาย ไปด้วยประการต่างๆ
สิ่งนี้ ไม่ใช่ของเดิม ไม่ใช่ของแท้ ที่มีอยู่ในจิตใจของเรา มันเพียงแต่เป็นสิ่งที่เข้ามาชั่วคราว แล้วมันก็ดับนั่นแหล่ะ ความจริงสิ่งทั้งหลายนั้น ถ้าพูดตามหลักทางพระพุทธศาสนา เรียกว่า เกิด ดับ เกิด ดับ เกิด ดับ เกิด ดับ อยู่ตลอดเวลา ถี่ยิบเลย เกิด ดับ อย่างถี่ยิบ มันถี่ยิบจนเรามองไม่เห็นว่ามันเกิดดับ เรานึกว่ามันเป็นอยู่เช่นนั้น เราเห็นว่าเป็นของเที่ยงไป ความจริงมันไม่เที่ยง ความจริงมันเกิด ดับ เกิด ดับ แต่เรามองเห็นเป็นเช่นนั้น เพราะเราไม่ได้มองด้วย ปัญญาอันละเอียดอ่อน จึงเห็นเป็นของหยาบ ๆ นึกว่ามันอยู่อย่างนั้น มันเป็นอยู่อย่างนั้น
แล้วเมื่อทำบ่อย ๆ เข้า จิตมันก็คุ้นกับเรื่องอย่างนั้น เช่น เราหัดโกรธบ่อย ๆ เราก็มากไปด้วยความโกรธ เราเกลียดคนบ่อย ๆ เราก็มากด้วยความเกลียด เราพยาบาท เราแต่มีอารมณ์ขุ่น ภาษาธรรมะเขาเรียกว่า ปฏิฆะ ปฏิฆะหมายความว่า หงุดหงิด งุ่นง่าน อยู่ตลอดเวลา ในเมื่อกระทบกับใครๆ นี่ก็เพราะว่าใจเรา มีไว้แต่ในเรื่องอย่างนั้น สร้างไว้ในรูปอย่างนั้น อะไรมากระทบก็หงุดหงิด งุ่นง่าน แดดออกก็หงุดหงิด รถติดก็หงุดหงิด นั่งรถไปก็ เวลารถใครตัดหน้าก็อารมณ์ หงุดหงิดขึ้นมา แล้วก็บอก แหม มันตัดหน้า กูต้องไล่ให้ทัน กระแทกมันหน่อย เอ้า ประเดี๋ยวก็ไปขับรถกระแทกคนอื่นเข้า ไอ้คนอื่นมันก็เกิดหงุดหงิดขึ้นมา ลงมา บอกว่า ทำไมมึงทำอย่างนั้น เลยลงมาฟาดกันกลางถนนเลย
เพราะอะไร เพราะว่าเราไม่ได้คิดด้วยปัญญา ใจมันร้อน มันสร้างสมความ เป็นอยู่ในรูปอย่างนั้น ที่เราเรียกว่า นิสัยเป็นอย่างนั้น นิสัยเป็นอย่างนี้ มันเป็นเพราะเรา สะสมมันไว้ นิสัยดี ก็หมายความว่า คนนั้นคิดแต่เรื่องดี ๆ พูดเรื่องดี ๆ ทำแต่เรื่องดี ๆ เข้าใกล้คนดี ก็มีนิสัยดี คนมีนิสัยชั่ว ก็เพราะว่าคิดแต่เรื่องชั่ว พูดแต่เรื่องชั่ว ทำก็แต่เรื่องชั่ว อยู่ตลอดเวลา จนกลายเป็นนิสัย เป็นสันดานขึ้นมา
นิสัย สันดานนั้น ไม่ใช่ของที่เอาออกไม่ได้ เราอย่าเข้าใจผิด เหมือนคนบางคนพูดว่า นิสัยนี่มันเอาออกไม่ได้ แล้วพูดว่า นิสัยนี่เปลี่ยนไม่ได้ นั่นพูดไม่ถูก มันของเปลี่ยนได้ทั้งนั้น นิสัยไม่ดี เปลี่ยนให้เป็นดีได้ นิสัยดี เปลี่ยนให้เป็นไม่ดีก็ได้ สุดแล้วแต่บุคคลนั้น จะไปในทางใด ถ้าเราทำในเรื่องดีมาก นิสัยเราก็ดีขึ้น ถ้าเราทำเรื่องชั่วมาก นิสัยเราก็ชั่วขึ้นลงไป มันเป็นกันอยู่อย่างนี้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เรามีลูกอยู่ในบ้าน ปล่อยให้นอน ตื่นสาย สักอาทิตย์เดียวแล้วนะ มันจะมีนิสัยตื่นสาย คุณแม่ต้องไปปลุกทุกเช้า ถ้าไม่ปลุก แล้วมันไม่ลุกขึ้น นิสัยมันเป็นอย่างนั้น แต่ถ้ามีนิสัยขยัน ชอบตื่นแต่เช้า มันก็ตื่นแต่เช้า
ที่ปักษ์ใต้ มีคนคนหนึ่ง แกเป็นมหา ออกไปอยู่ แล้วแกออกไปอยู่บ้าน ทำงานทำการ แกมีลูกชาย แกมีปกติ ตื่นเช้าเหมือนกับสมัยอยู่วัด คนอยู่วัดนี่ก็ตื่นเช้า ตื่นตีสี่ เพื่อลุกขึ้นทำกิจทางพระศาสนา คือลุกขึ้น ปัจจเวก ทำกรรมฐาน พิจารณาสิ่งทั้งหลาย ให้รู้ชัดตามสภาพที่เป็นจริง เคยทำอย่างนั้น เมื่อออกไปอยู่บ้านก็ตื่นตีสี่ แต่ว่า ตื่นแล้ว ไม่ทำกรรมฐาน แกไปลับมีดให้คม พร้าที่ใช้ถางป่านี่ แกมีสิบเล่ม เวลายังไม่สว่าง แกลับมีดทั้งสิบเล่มให้คมกริบเลย แล้วแกก็ พอสว่าง แกก็ไปถางป่า ทำสวน มีดเล่มนี้ทื่อ แกก็วางไว้ เอาเล่มนี้ใช้ต่อไป เล่มนี้ใช้ต่อไป ทำอย่างนั้น แกมีลูกชายเป็นคนหัวปี พอมันโตขึ้น พอจะ อะไรได้ มันก็ตื่น เหมือนพ่อตื่น เด็กมันตื่นตามพ่อ พ่อไปทำอะไร มันก็ไปนั่งดูพ่อทำ พ่อเข้าป่าตัดต้นไม้ มันก็ถือมีดไปตัดเล่นๆ กับพ่อมั่ง นิสัยมันเป็นไปตามพ่อ เพราะมันอยู่ใกล้พ่อที่ขยัน ลองอยู่กับพ่อขี้เกียจซิ ตะวันโด่งแล้วยังไม่ลุกขึ้น ไอ้ลูกชายก็คุดคู้เข้าไปในระหว่างขาพ่อหน่ะ เลยนอนต่อไปกับพ่อ ตื่นสายไปตามๆ กัน ถ้าตื่นเช้า พ่อต้มน้ำ ขยำคอไก่ ลูกชายมันก็เรียนวิธีขยำคอไก่เหมือนพ่อ แล้วพ่อไปบ่อนไก่ มันก็ไปกับพ่อแหล่ะ ไปนั่งดูไก่ตีกัน ตบมือ หัวเราะ เฮฮา ไปตามประสาคนที่ชอบอย่างนั้น มันไปตามสิ่งแวดล้อม สิ่งโน้มน้อมจิตใจ คนเราเป็นไปอย่างนั้น
ถ้าเราตื่นไหว้พระสวดมนต์ ลูกก็จะไหว้พระ สวดมนต์ เรามาวัด ชวนลูกมาด้วย เด็กมันก็มาวัด คุ้นเคยกัน ในฤดูที่มาวัดได้ เช่นฤดูหน้าร้อนอย่างนี้ พ่อแม่มาวัด พาลูกมาด้วย พามาให้มันเป็นนิสัย เขาเรียกว่า พามาพอเป็นนิสัย คือว่ามันไม่ได้มาเรียน มารู้ มาเห็นการกระทำในวัด แล้วก็ได้สร้างเสริมนิสัย ในทางดีขึ้น ไม่ต้องบวชเป็นสามเณร เสมอไป เพราะว่าที่มันจำกัด ปีนี้รับได้ร้อยหนึ่ง ก็เต็มแล้ว เนื้อที่เต็มแล้ว มีพระอีกห้าสิบกว่า เมื่อวาน มีเรื่องจัดที่กันจนหอบ
ยังบรรจุไม่หมด เรียกว่า หมากรุกมันเกินกระดาน ไม่รู้ จะเอาเบี้ยไปไว้ตรงไหน เอาม้าไปไว้ตรงไหน มันล้นกระดาน และยังล้นอยู่เวลานี้ บอกว่า เดี๋ยวก่อน เดี๋ยวก่อน บวชก่อน บวชแล้วค่อยจัดใหม่ ต้องไปจัดเอาพระเก่า ไปรวมกันเสียบ้าง ให้พระใหม่ ก็ไปแซมลงไป
ความจริงก็บวชไม่นานหรอก เดือนหนึ่ง ท่านเหล่านี้ หน้าร้อน ประเภทมหาวิทยาลัยปิดภาค แต่ก็ได้มาบวชเสียบ้าง พอจะได้ขีดความรู้สึกนึกคิด ที่เป็นสัมมาทิฐิ เข้าไปในจิตใจของเขา อย่างน้อยก็จะได้รู้ว่า พระพุทธศาสนาที่แท้ มันเป็นอย่างไร ก็จะเป็นประโยชน์แก่คนเหล่านั้น แต่ว่าเราจะบวชหมดก็ไม่ได้ บางคนมาสาย เขารับกันเต็มแล้ว มา มา ทำไมเพิ่งมา เพิ่งรู้ อ้าว
นี่เป็นความผิด ที่ไม่ค่อยมาวัดนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไรหรอก ถ้ามาวัดอยู่ทุกอาทิตย์ก็จะได้รู้ว่า วัดนี้เขาทำอะไร เขาประกาศอะไร เขาบอกไว้ล่วงหน้า ก็จะได้รู้ นี่นานๆ โผล่มาทีหนึ่ง มันก็อย่างนี้ เป็นความผิดพลาดอย่างนี้ ให้มาบ่อยๆ สิ ทีหลัง จะได้สะดวก สอนเขาไปอย่างนั้น
ที่มาหลังเพื่อน ก็เพิ่งนึกขึ้นมา จะให้ลูกบวช บางคนก็บอกว่า นึกไว้นานแล้ว แต่มันไม่ว่าง ภาระมันมาก งานมันไม่ได้หยุด ไอ้ความจริง เราควรจะหยุดงานกันบ้าง วันอาทิตย์นี่ หยุดให้หมด ทุกอย่างเลย หยุดให้หมด โรงหนังก็ต้องหยุดฉายวันอาทิตย์ ไม่ฉาย กลางวันไม่ฉาย ฉายกลางคืน คือให้เมืองมันว่างไปเลย ต่างประเทศ เมืองเขาว่างนะ วันอาทิตย์นี่
กรุงลอนดอน คนอยู่ตั้งสิบกว่าล้านนะ ไม่ใช่เล็กน้อย แต่ถ้าวันอาทิตย์ เราจะไปเดินเล่นบนถนนสายใหญ่ๆ ก็ได้ ไม่ต้องกลัวรถชนนะ มันไม่ค่อยมีรถวิ่ง วันอาทิตย์นี่ อาตมาเคยไปพักอยู่ในเมือง ครั้งก่อน ครั้งแรก ไปครั้งแรก
แล้วก็วันนั้น เป็นวันอาทิตย์ ออกมาเดิน หูย ทำไม มันเหมือนกับเมืองร้าง เมืองนี้ เหมือนกับไม่มีคนอย่างนั้นเลย คนเขาไม่เข้าเมืองวันอาทิตย์ เขาออกไปนอกเมือง เขาไปเที่ยวชายหาด ไปเที่ยวตามสวนสาธารณะ ตามป่า ตามดง ไปหาอากาศบริสุทธิ์ เขาไม่เข้าเมือง คนเราอยู่ตรงเมืองไทยนี่ วันอาทิตย์เข้าเมือง ก็เพียงนี้
วันเสาร์ก็อย่างนี้ คืนวันอาทิตย์นี่ ยี่สิบสามนาฬิกาแล้ว รถยังวิ่ง ถนนสุขุมวิท ติดกันอยู่ตลอดเวลา นี่แสดงว่า ธุระในเมืองมันมาก ไม่ใช่ธุระอะไรดอก ธุระมาเที่ยว วันหยุดนี่ควรไปเที่ยวนอกบ้านนอกเมือง ขับรถไปเที่ยวข้างนอก
ขับรถไปเที่ยวอยุธยาใกล้ๆ ไปดูอิฐเก่า พระเจดีย์เก่า จะได้พิจารณา ถึงความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งทั้งหลาย แล้วจะได้รู้ว่า เสียหายเพราะอะไร เพราะพม่ามาตี อย่าไปโกรธพม่า โกรธเขาไม่ได้ บางคน แหม เห็นพม่าไม่ได้ อยากจะเตะ ว่างั้น ครั้งหนึ่ง อู นุ มาเมืองไทย แล้วจะไปอยุธยา ต้องตั้งหน่วยอารักขา กลัวชาวอยุธยาจะเล่นงานอู นุ อู นุแกไม่รู้เรื่อง แกไม่ได้มีส่วนมาเผากรุงศรีอยุธยาอะไร แม้แต่น้อย ไอ้พวกเผากรุงศรีอยุธยา ตายตกนรก ยังไม่ผุดไม่เกิด สักคนเดียว แล้วเราจะไปโกรธคนสมัยใหม่ได้อย่างไร
ถ้าเราจะโกรธ โกรธให้มันถูก โกรธอะไร โกรธกิเลส ที่เห็นนี่ ควรจะโกรธ ควรจะฆ่ามันเลย กิเลสเนี่ย ควรจะโกรธความโลภ ความโกรธ ความหลง ความริษยาพยาบาท ความแข่งดี ความถือตัว เรียกว่า กิเลสทุกประเภท เป็นเรื่องน่าโกรธ น่าเกลียด แล้วน่าฆ่ามันเสียเลย อย่าเอาไว้
แล้วกิเลสที่จะควรฆ่า มันกิเลสอยู่ที่ไหน อยู่ที่ตัวเรานั่นแหล่ะ สำคัญหนักหนา ถ้ามันอยู่ที่คนอื่น เราไปฆ่าเขาไม่ได้ ไปฆ่ากิเลสที่คนอื่นไม่ได้ มันเสียหาย เราฆ่าของเรา เราดูว่าตัวเรามีอะไร เราฆ่ามันเสีย ฆ่าความโลภ ฆ่าความโกรธ แล้วเราก็สบาย เคยมีคนไปถามพระพุทธเจ้าว่า ฆ่าอะไร จึงจะไม่บาป และจะมีความสุขด้วย พระองค์บอกว่า “โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ” ฆ่าความโกรธได้ มีความสุข ฆ่าความโกรธมันมีความสุข ฉะนั้น เราอย่าไปโกรธคน แต่เราโกรธสิ่งที่ทำคน ให้ไม่เป็นคน
ไอ้สิ่งที่ทำคน ไม่ให้เป็นคนน่ะ คืออะไร ก็คือ กิเลสประเภทต่างๆ ตัวใหญ่ก็สามตัว ตัวโลภะ โทสะ โมหะ โลภ โกรธ หลง ไอ้สามตัวนี้ ตัวร้ายหล่ะ เป็นตัวที่เราเห็นหน้า แล้วต้องเล่นงานมันเลยทีเดียว อย่าปล่อยให้มันมาโจมตีเรา อย่าให้เป็นนายเหนือเรา จึงจะได้ เดี๋ยวนี้ คนเรามันไม่โกรธกิเลส แต่มันไปโกรธคน มันไม่ถูก คนเราก็ไม่ใช่ว่า จะชอบในการมีกิเลสกับเขาเมื่อไหร่ มันไม่รู้ ไม่เข้าใจ แล้วเผลอ มันก็มีขึ้น น่าสงสารด้วยซ้ำไปนะ ไอ้คนทำชั่วนี่ เป็นคนน่าสงสาร น่าเอ็นดู แล้วก็ควรจะหาทางว่า เราจะช่วยเขาอย่างไร ให้เขาดีขึ้น ให้เขาเจริญขึ้น ให้มีปัญญา ให้รู้จักรักษาตัวรอดปลอดภัย เราควรจะทำอย่างไร นั้นแหล่ะ จึงจะเป็นการถูกต้อง แต่เราไม่ค่อยคิดอย่างนั้น เขามีกิเลสแล้ว เรากลับมีกิเลสขึ้นมาด้วย เช่นเราเกลียดเขานี่ มันเป็นกิเลส เราโกรธเขา เราก็มีกิเลส เราริษยาเขา เราก็มีกิเลส
เราทำอะไรในทางไม่ดี ก็เท่ากับว่า ช่วยเพิ่มสิ่งชั่วร้ายขึ้นในสังคม สังคมมันจะดีขึ้นได้อย่างไร ถ้าเราไม่ช่วยกันทำลายสิ่งชั่วร้าย หน้าที่ของเราทุกคน คือ ต้องทำลายสิ่งชั่วร้ายในตัวเรา และในบุคคลอื่น ในบุคคลอื่นนั้น เราอาศัยการทำตัวเราให้เป็นตัวอย่างแก่เขา
เราเข้าใกล้ใคร เราอวดแต่เรื่องความงาม ความดีที่อยู่ในใจของเรา เราพูดเรื่องดี เรากระทำเรื่องดี แสดงกิริยามารยาทที่ดี ให้เขาเห็น ให้เขาเป็นตัวอย่าง และถ้ามีช่องทางที่จะพูดจา ทำความเข้าใจกับเขาบ้าง เราก็พูดจา แนะนำตักเตือนเขา ในเวลาที่เหมาะ ในเหตุการณ์ที่เหมาะ ไอ้เรื่องเตือนคนนี่ก็ ต้องดูเหมือนกันนะ เตือนไม่เหมาะ มันก็ไม่ได้ เวลาไม่ถูก มันก็ไม่ได้ อาจจะเกิดเรื่องเสียหายขึ้นได้เหมือนกัน เพราะงั้น
เรื่องนี้ พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้เหมือนกัน ท่านบอกว่า จะพูด สอน ใคร มันต้องดู กาละเทศะ พูดสมัยใหม่ เราบอกว่ากาละเทศะ ดูเวลา ดูบุคคล ดูเหตุการณ์ ดูสิ่งแวดล้อม ที่เราควรจะบอก ควรจะสอนเขา ให้เขาฟังแล้วสบายใจ ถ้า เราสอนเขา ไม่เหมาะแก่เวลา แก่เหตุการณ์ ผู้ฟังแล้วก็เกิดรำคาญขึ้นมา แล้วเขาอาจต่อยปากคนสอนเข้าไปก็ได้ มันเป็นปัญหาเหมือนกัน
เหมือนอาจารย์สอนกรรมฐานองค์หนึ่ง ไอ้คนนั้นมันเป็นโรคประสาท บ้าๆ บวมๆ เอามาบวชแกก็ไม่รู้ ความจริงนี้ แกไม่รู้ แล้วก็บอกว่า ย่าง แล้วเวลาย่างนี่ อะไรย่าง ไอ้นั่นก็ว่า ตีนย่าง บอกว่า ไม่ใช่ตีน เท้า เท้าย่าง ไอ้นั่นก็ว่า ตีนย่าง แล้วกำหนดรู้ว่า ปลายเท้าลง ปลายตีน ส้นลง ส้นตีน
พออาจารย์บอก อย่าพูดว่า ส้นตีน บอกว่า ส้นเท้า เท้า สอนไปสอนมา ไอ้นั่นรำคาญ เปรี้ยงเข้าให้ เตะอาจารย์เลย มันบาป ก็มันบ้าอยู่ มันเลยเตะอาจารย์พลิกคว่ำไปเลย ต้องไปนอนสะลึมสะลืออยู่โรงพยาบาลตั้งเดือนหนึ่ง กลับมาสอนกรรมฐานได้ต่อไป นี่เขาเรียกว่า สอนไม่ถูกนิสัย ให้กรรมฐาน ไม่เหมาะแก่นิสัยคนๆ นั้น แล้วก็ไม่ได้ศึกษาคนนั้น ว่ามันเป็นคนประเภทใด ไม่ได้ศึกษานี่ ไปให้อย่างนั้นก็ไม่ได้ มันทำให้มีปัญหา ทำให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน
พระสารีบุตรเคยสอนกรรมฐาน ผู้เรียนไม่บรรลุความสงบได้เลย จึงได้นำไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า ท่านพิจารณา ก็ทรงทราบว่า คนนี้ เขาเป็นคนสะอาด เป็นคนชอบความสะอาด ไปสอนเรื่องปฏิกูลนี่มันไม่ได้ มันไม่ถูกกับนิสัย สอนเรื่องปฏิกูล นี่ไม่ถูก สอนให้พิจารณาร่างกาย เป็นของไม่สะอาด น่าเกลียด ของเน่า ของเหม็น นี่ มันไม่ถูกกับนิสัย พระองค์ก็เลยบอกว่า ไม่ได้ สอนอย่างนั้นไม่ได้ อาจจะสอนใหม่ เลยเอาผ้าขาวที่สะอาดมา แล้วก็บอกให้ ให้ถือไว้ในมือ แล้วก็สองมือ ให้ถูไปถูมา ถูไปถูมา ถูไปถูมา นานๆ เข้าผ้ามันก็เปื้อน เปื้อนแล้ว ก็ได้มองเห็นว่า อ้อ ของสะอาดก็เปื้อนได้ ถ้าเราทำให้เปื้อน เลยได้ปัญญา บรรลุมรรคผล เป็นจุดหมายปลายทางได้
อันนี้แสดงว่า สิ่งที่เราสอน มันต้องเหมาะนิสัยคนที่สอน ถ้าไม่เหมาะแก่เขา เขารับไม่ได้ บางทีเขาพูดเอาด้วยซ้ำไป ก็ว่า เขารับไม่ได้ จึงต้องระมัดระวังเหมือนกัน เราอยากจะแนะนำอะไรแก่ใคร หาโอกาสเหมาะๆ ที่จะสอน จะเตือนเขา สอนเขาในเวลาที่เขามีความทุกข์หน่ะ เหมาะที่สุด เช่นว่า เขาเป็นคนเหลวไหล ชอบเล่นการพนัน ชอบดื่มเหล้า ประพฤติเสียหายต่าง ๆ แต่ว่ายังสอนไม่ได้ ทีนี้ วันหนึ่งลูกเขาตาย เขามีความเศร้าโศก มีความเสียใจ เราก็หาโอกาสที่จะพูดให้เขาเข้าใจ ในเวลานั้น เพื่อกลับใจเขาให้เป็นคนที่มีคุณธรรม มีความประพฤติเรียบร้อยต่อไป อันนี้ทำได้ เวลามันให้ มันเหมาะที่จะสอน เราก็ต้องเลือกปรับความคิดความเห็นเขาอย่างนั้น เรียกว่าแก้ข้างใน
แก้ข้างนอกนี่มันลำบาก แต่ว่า บางทีก็ต้องช่วยข้างนอกบ้าง ไอ้ข้างนอก นี่คือว่า ปรับสิ่งแวดล้อมให้มันดีขึ้น ปรับสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น เวลานี้ทางราชการก็พยายามปรับอยู่ ทำสิ่งแวดล้อมให้ดี เช่นว่า สร้างสวนสาธารณะ เพื่อให้เกิดความร่มรื่นชื่นใจ คนจะได้ไปพักผ่อน ในสวนสาธารณะเหล่านั้น แต่ว่าคนมันก็ยังไม่เหมาะกับสวนสาธารณะ เพราะว่า ไปเที่ยวแล้ว ทิ้งขยะไว้เต็มหมด
เอาหนังสือพิมพ์ไปรองนั่ง ลุกขึ้นแล้ว กระดาษไม่ติดก้นไปด้วย ไม่ติดมือไปด้วย ทิ้งไว้ที่นั้น เต็มไปหมดในบริเวณ เอาถุงพลาสติกใส่ข้าวของไปกิน พอกินแล้ว ก็ทิ้งไว้ตรงนั้น ไม่เก็บใส่ตะกร้า พากลับไปทิ้งในที่ควรทิ้ง ทั้งๆ ที่เขามีถังขยะ และเขียนบอกไว้ด้วยว่า ที่ทิ้งขยะ แต่ก็ไม่มีใครทิ้ง ทิ้งตรงนั้น ช่างมันเถอะ อันนี้เกิดจากอะไร เกิดจากนิสัยมักง่าย มักง่าย คือทำอะไรง่ายๆ ไม่ได้พิจารณา ไม่ได้เตือนจิตสะกิดใจ จึงเป็นคนมักง่ายอยู่อย่างนั้น ตลอดเวลา
เมื่อเด็กๆ นี่ จำได้ว่า คุณยายเคยพูดบ่อยๆ เคยพูดว่า กินอะไรอย่าให้ใครรู้ว่าเรากินอะไร กินกล้วย อย่าให้ใครรู้ว่าเรากินกล้วย กินมะม่วง อย่าให้ใครรู้ว่าเรากินมะม่วง กินขนุน อย่าให้ใครรู้ว่าเรากินขนุน ท่านว่าอย่างนั้น ก็ถามว่า เอ๊ะ กินอย่างไรไม่ให้ใครรู้ กินแล้ว อย่าเที่ยวทิ้งเปลือกเพ่นพ่านไว้ใต้ถุน เพราะว่ากินแล้วมักจะทิ้งใต้ถุน นี่เรือนโบราณมันมีชาน แล้วก็มีร่อง นี่ง่ายนะ กินตรงนี้ ใส่ร่องลงไป มันก็อยู่ใต้ถุนนั่นแหล่ะ ไปอยู่ใต้ถุน คนก็รู้ว่าเรากินกล้วย เรากินขนุน เรากินมะม่วง กินมังคุด เปลือกมันเพ่นพ่าน แล้วทำยังไง นี่ตะกร้ามีแล้ว วางไว้ตรงนี้ ใส่ตะกร้า ทีหลังก็ต้องเอาไปใส่ตะกร้า กินกล้วย ใส่ตะกร้า กินมะม่วง ใส่ตะกร้า แล้วคุณยายนั่นแหล่ะ เป็นคนเทตะกร้าเอง ไม่ใช่เราเทหรอก
คุณยายเนี่ยขยัน กวาดบ้านทุกวัน ใต้ถุน ดุนร่อง กวาดหมด เรียบร้อย ออกกำลังกาย ทำอยู่อย่างนั้น อายุมั่นขวัญยืน เขาหัดอย่างนั้น ต้องหัดมาตั้งแต่เด็กๆ อย่าให้เป็นคนมักง่าย นั่งรถเก๋งสวยๆ งามๆ กินเงาะ หรือกินอะไร ทิ้งไปทางหน้าต่างรถ พบบ่อย เคยวิ่งตามรถเก๋งคันหน้า ราคาแพง รถราคาตั้งหลายแสน แต่ว่าคนนั่งในรถนี่ ราคาไม่ถึงสิบสตางค์เลย เพราะอะไร ที่ราคามันน้อย มันกินแล้วมันไม่ทิ้ง มันทิ้งขยะลงบนถนนนี่ ทิ้งซะติดล้อ ขว้างลงไป บางคนขว้างออกไป ไกลรถหน่อย กลัวจะถูกรถเพื่อน ขว้างออกไป ทั้งถุงหน่ะ แล้วถุงนั้นมีจิปาถะ ของอะไรที่เดน เป็นเดน ทิ้งขว้างออกไป นี่แสดงว่า สถานที่มันดี แต่คนยังไม่ดี อันนี้เราจะเห็นได้ทั่วๆ ไป ว่ายังมีความบกพร่อง เศษกระดาษ เศษขยะ ทิ้งเพ่นพ่าน ไม่เป็นที่ ไม่เป็นทาง นี่คือ คนเรายังไม่ดี
ในประเทศยุโรปหลายประเทศเรานั่งรถไปไกลๆ ไม่เจอเศษกระดาษ บนถนน ไม่เจอถุงพลาสติกอะไรทั้งนั้น เขาใส่ไว้ในรถ แล้วไปถึงปั๊มน้ำมัน เวลาเติมน้ำมัน จะเอาน้ำมันเขาแล้ว ให้สตางค์เขาแล้ว แถมขยะให้เขาถุงหนึ่ง เอาไปใส่ไว้ในถัง ที่เติมน้ำมัน เขาสะอาดอย่างนั้น แล้วตามปั๊มน้ำมันต่างๆ ถ้าเราเกิดปวดท้อง ปวดไส้ เข้าไปนั่งถ่าย ไม่เป็นลมหรอก มันสบาย สะอาดเรียบร้อย ตามปั๊มน้ำมันประเทศไทยนี่ อาตมาเข้าไม่ได้ ไม่ได้เข้า ไปถึงเห็นแล้ว อูย จะเป็นลม ไม่ใช่อะไรหรอก มันสกปรกที่สุดเลย แล้วก็ต้องไปหาเจ้าของปั๊ม บอกว่า แหม ปั๊มนี่ขายน้ำมันได้ เยอะนะ วันหนึ่งๆ คนงานนี่ก็เยอะ ทำไมไม่ให้ช่วยกวาดห้องน้ำเสียบ้าง เขายิ้ม ยิ้มแล้วบอกว่า ไอ้นั่นมันห้องน้ำสาธารณะ ว่าอย่างนั้น อ้อ ไอ้สาธารณะนี่ มันต้องทิ้งให้สกปรก เป็นเชื้อโรค เขามีห้องน้ำพิเศษ ใช้ของเขาเอง แต่มันเข้าไม่ได้ มันใส่กุญแจ เราจะไปถ่ายยังไง ก็ต้องไปถ่ายอย่างนั้น เข้าไม่ได้ เข้าไม่ได้ จะทำยังไง ต้องแอบไปข้างหลัง ไปนั่งปลงอนิจจังอยู่ข้างหลังต่อไป เป็นอย่างนั้น
นี่มันอย่างนี้ คือว่า คนมันไม่เรียบร้อย ไม่สะอาด ไม่มีนิสัยรักษาความสะอาด ชอบทำอะไร สกปรกรกรุงรัง ทั้งๆ ที่บริเวณเขา สะอาดเรียบร้อย นี่ที่วัดเนี่ย พระใหม่ในพรรษานี้ ท่านช่วยกัน เอาแป๊ปน้ำไปปัก ใส่ปูน เดี๋ยวใครจะมายกเอาไปขายเสีย ปักเฉยๆ แข็งแรง แล้วก็เอาถังมาแขวนไว้ แขวนไว้ทั่วไป ตั้งแต่ประตูวัดเข้ามาเนี่ย มีถังแขวนไว้ทั้งนั้น ให้คนใส่ขยะ ค่อยดีขึ้น เดี๋ยวนี้ค่อยๆ เป็นขึ้นแล้ว ใส่ขยะลงในถัง แล้วญาติโยมกลับแล้ว ก็พระท่านก็เก็บ ใส่บรรทุกรถ ไปเทที่ถังเทศบาล ของอำเภอ เอามาวางไว้ ทางอำเภอก็ นานๆ มายกไปทีหนึ่ง หลายๆ วันก็เอาไปที ก็เต็มเร็วหล่ะ ถามว่าทำไมมาช้า ขยะมากครับ ต้องไปเอาที่อื่นก่อน ที่วัด ไม่เป็นไร ก็ว่าอย่างนั้น ไม่เป็นไร เป็นอย่างนี้ นี่ก็ต้องเอาไปรวมไว้ มันค่อยดีขึ้น หักคนให้รู้จัก ทิ้งขยะเป็นที่เป็นทาง แล้วสมัยนี้ คำเตือนเยอะแยะนะ ทิ้งขยะไม่เป็นที่ หมดราศีไปทั้งเมือง เตือน อะไรต่ออะไรเยอะ เตือน คนมันไม่ค่อยอ่านหรอก มันขับรถ มันดูต่ำๆ ไม่ได้แหงนหน้าไปดูข้างบนหรอก ไม่ค่อยอ่าน ไม่ค่อยรู้หรอก ก็ยังทิ้งกันอยู่อย่างนั้น มันลำบาก
นี่แหล่ะคนเรา บางแห่ง บางที่จึงต้องใช้อำนาจ เพราะพูดกันดีๆ นี่ไม่ค่อยรู้เรื่อง จึงต้องใช้อำนาจจับ ไปเอาคนที่ไหนไปจับหล่ะ เช่นไปจับคนข้ามถนนไม่เป็นที่ ถ้าขยันจับ วันหนึ่งก็ได้ค่าปรับเยอะแยะ แต่ว่า จะจับทุกวัน จะเอาคนที่ไหนมาจับ จะเอาตำรวจที่ไหนมาจับ เพราะว่า คนมันไม่พอ อันนี้ คนเราทุกคน ต้องช่วยกันแก้ไข ปรับปรุงตัวเอง ทำอะไรให้มันดีขึ้น ให้มีคติเตือนใจว่า อย่าเป็นคนทำโลกให้รก อย่าทำตัวเราให้รก แล้วก็อย่าทำแผ่นดินที่อาศัยให้มันรก ช่วยกันรักษาความสะอาด ให้ปราศจากสิ่งปฏิกูล ด้วยประการต่างๆ
เคยมีผู้แทนบ้าๆบอๆ ของมหานคร คนหนึ่ง ตายไปแล้ว ชื่อ นายฉ่ำ จำรัสเมฆ แกเป็นคนบวมๆ ทำอะไรแผลงๆ วันหนึ่ง แกไปสมัครผู้แทน ที่ศาลากลาง แล้วแกไปในห้องน้ำ พอไปถึง แกกลับมาถึงห้องผู้ว่า แกนอนหงาย หูย ชักดิ้นชักงอ ผู้ว่าตกใจ คุณฉ่ำเป็นอะไร คุณฉ่ำเป็นอะไร เรียกอนามัยจังหวัด มาช่วยกัน ช่วยปั๊ม ให้หยูกให้ยา แกก็ดิ้นใหญ่เลย แกแกล้งนะ ไม่ใช่เรื่องอะไร ดิ้นใหญ่ หมอก็ให้ยา ให้อะไร เสร็จแล้ว ค่อยๆ ลุกขึ้นนั่งทำสะลึมสะลือ ผู้ว่าถาม เป็นยังไง คุณฉ่ำเป็นยังไง แหม ผมไปเข้าส้วมที่ศาลากลางเมื่อตะกี้นี้ มันสกปรก จนผมเป็นลมไปเลย ผู้ว่าแกขายหน้าเลย จำไว้ เลยสั่งให้ภารโรงไปล้างส้วมเป็นการใหญ่เลยทีเดียว นายฉ่ำนี่ แกมันเรียกว่า บ้าการเมือง ทำอย่างนี้หล่ะ แกทำอะไรแผลงๆ ทำให้มันผิดเพื่อนหน่อย เพื่อนจะได้แก้ไขนั่นเอง สมัยนั้น ท่านผู้ว่า ชื่อ ขุนจรรยาวิเศษ คุ้นกันกับอาตมาดี เคยไปเที่ยวเทศน์ ตามตำบลด้วยกัน แกเป็นคนเล่าให้ฟังเอง คุณฉ่ำนี่แกเป็นคนบ้าเข้าทีเลยนะ จะเล่าให้ฟัง แกไปเตือนผม ที่ศาลากลาง ว่าส้วมมันสกปรก ผมต้องให้ล้างกันเป็นการใหญ่มันเป็นอย่างนี้
อันนี้ สำคัญ ห้องน้ำนี้สำคัญ ต้องสะอาด ต้องเรียบร้อย ห้องน้ำสำหรับญาติโยมที่นี่ แม่ชีมาจากมาแตร์เดอี ยังชมเลย บอกว่า แหม วัดนี้ ห้องน้ำสะอาด แน่ะ ทำไมจะไม่สะอาด ท่านมหาบุญเลี้ยงของเรานี่ ท่านขยัน พอใกล้ถึงวันอาทิตย์ ท่านต้องไปขัด ต้องไปแต่ง โยมอย่านึกว่า พระขัดแล้วจะเป็นบาป ไม่บาปอะไร โยมใช้ตามสบาย ไม่บาปอะไรหรอก ท่านได้กุศล ท่านได้ทำงาน ท่านได้เสียสละ ได้ทำตนให้เป็นประโยชนแก่ผู้อื่น ท่านก็ไปเช็ด ไปล้าง ไปใส่น้ำให้มันเรียบร้อย ไม่ให้บกพร่องนี่ ทำความสะอาด
คนที่ทำความสะอาดนี่ ต้องเป็นคนเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว แต่เห็นแก่ประโยชน์และความสุขของผู้อื่น บ้านเมืองเราต้องการคนประเภทนี้ คนที่เสียสละ ความสุขส่วนตัว เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ส่วนรวม เราต้องการคนประเภทนี้มาก ดังนั้น ให้เราตั้งใจว่า เราจะทำตนให้เป็น ประโยชน์แก่ผู้อื่น ทุกโอกาส ทุกสถานที่ ทุกเหตุการณ์ มีอะไรที่เราจะทำได้ ทำ เพื่อให้เกิดประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ผู้อื่น อันนี้ขอฝากไว้ กับทุกท่านที่มาชุมนุมกันในวันนี้
ก็พอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปก็ ตอนบ่ายนี้ก็บ่ายโมง บวชสามเณร พอเสร็จสามเณรแล้วก็บวชพระต่อ บวชพระนี้ ต้องนาน บวชในลาน บ่ายเสร็จ พาเข้าโบสถ์ ว่ากันจนหกโมงเย็น วันนี้ มันตั้งห้าสิบกว่านาค มันก็ว่ากันนานหน่อย ญาติโยมก็มา ไปร่วมทำบุญสุนทานกัน ไปตามเรื่อง ช่วยเหลือในเรื่องไฟฟ้า น้ำ ภัตตาหารอะไร ไปตามเรื่อง ต่อนี้ไป ก็ขอชวนเชิญญาติโยม นั่งสงบใจห้านาที นั่งสงบใจ นั่งตัวตรง หลับตาซะ กำหนดลมหายใจเข้า หายใจออก กำหนดตามลม คุมจิตให้อยู่ที่ลมเข้า ลมออก ไม่ให้ไปไหน