แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีป่วยนะ ๒ เดือน ขณะนี้หายป่วยแล้วได้มาฟังธรรมต่อไป แล้วก็วันนี้มีพี่น้องชาวจังหวัดชุมพรเดินทางทัศนาจรไปเมืองเหนือกลับมา มาพักนอนที่นี่ วันนี้ก็ได้มาร่วมฟังธรรมกับพวกเราด้วย มาพักนอนคงไม่สะดวกสบายเท่าใด เพราะว่าไม่ได้เตรียมที่ทางไว้ให้ นอนบนพื้นกระดาน ไม่มีเสื่อสาดอาสนะ แต่นึกว่านอนในวัดก็แล้วกัน นอนแบบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านนอนบนพื้นกระดาน ญาติโยมก็คงไม่ทุกข์ร้อนอะไร ท่านพระครูบรรหารธรรมพิลาศที่เคยมาเทศน์กับพวกเราหลายครั้ง ได้นำญาติโยมไปเที่ยวทัศนาจรไปเมืองเหนือหลายแห่ง แล้วเดินทางกลับมาและที่วัดนี้ ตอนเที่ยงนี้ก็รับประทานอาหารร่วมกันที่นี่ ตอนบ่ายไปวัดพระแก้ว แล้วเดินทางกลับไปชุมพรต่อไป จึงขอให้ญาติโยมได้รับทราบแล้วก็ได้ฟังธรรมกัน คนที่อยู่ลานไผ่ก็นั่งให้เรียบร้อย พักให้สบาย อย่าเดินไปเดินมาให้วุ่นวาย
ถึงเวลาฟังแล้ว ก็ต้องนั่งฟังด้วยความตั้งอกตั้งใจ จะได้ความรู้กลับไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป เพราะว่าสังคมโลกในปัจจุบันนี้มีปัญหามากมายที่เราจะต้องช่วยกันแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น อากาศก็เริ่มร้อน แต่ว่าความร้อนข้างนอกนี้ไม่สำคัญ สำคัญร้อนข้างในคือร้อนใจนะ ถ้าใจร้อนมันก็ร้อนหมดทั้งกายทั้งใจ แต่ถ้าใจเย็น แล้วก็มันไม่ร้อน แม้อากาศจะร้อนก็ไม่เป็นไรนั่งอยู่ได้
ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคถูกเทวทัตซึ่งเป็นผู้ที่มีใจเป็นพาล ได้กลิ้งหินจากภูเขา เวลาพระองค์เดินลงจากเขาคิชกูฏนี่มันมีไหล่เขาเอียงอย่างนี้เหมาะที่จะกลิ้งหินลงไปชนคนเมื่อใดก็ได้ เทวทัตก็ขึ้นไปจ้องอยู่บนยอดภูเขา พอเห็นพระองค์เดินมาก็กะพอให้พอดีกลิ้งหินก้อนใหญ่ กลิ้งลงมาเพื่อจะให้ชนพระพุทธเจ้าตกลงไปข้างภูเขาเลย แต่ว่าหินนั้นมันกลิ้งไปชนต้นไม้ ไม่ชนพระพุทธเจ้า สะเก็ดนิดเดียวกระเด็นไปถูกหน้าแข้ง ถึงเขาเรียกว่าพระชงฆ์ พระชงฆ์คือหน้าแข้ง โลหิตไหลซิบๆ นิดๆ หน่อยๆ อันนี้เรียกว่าทำบาปหนัก คือทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต เขาเรียกว่าเป็นกรรมหนักฝ่ายบาปที่เป็นอนันตริยกรรม
หมอชีวกโกมารภัจจ์ก็เอายาไปโปะที่แผลของพระผู้มีพระภาคเพื่อให้หาย แล้วก็ยานั้นมันก็ร้อนหน่อย คล้ายกับทิงเจอร์ไอโอไดด์ที่เขาทาใส่แผล แต่ว่าสมัยนั้นไม่ใช่ยาเป็นสมุนไพรใบไม้ แต่ว่ามันร้อน กลับไปถึงบ้านนอนไม่หลับ มีความเป็นห่วงว่าเราเอายาร้อนปะแข้งพระพุทธเจ้าเราคงจะบรรทมไม่หลับ เช้ามืดรีบออกจากบ้านมาเฝ้าพระพุทธเจ้า มาถึงก็ถามว่าเมื่อคืนนี้พระองค์ทรงบรรทมหลับเป็นปกติหรือ พระองค์ก็กลับบอกว่าเราเป็นคนหนึ่งในโลกที่นอนหลับเป็นปกติทุกคืน ไม่มีอะไร บอกว่าถ้าพระองค์นอนไม่หลับเมื่อคืนนี้ก็เป็นห่วง เรื่องยาที่ปะไว้ที่แผลของพระผู้มีพระภาคเพราะยานั้นร้อนมาก พระองค์ตรัสว่าเธอไม่ต้องเป็นห่วงฉัน เพราะฉันไม่มีความร้อนข้างในแล้วก็ไม่มีความร้อนข้างนอก คือน้ำพระทัยไม่ร้อน ไม่ร้อนด้วยไฟกิเลส ไฟกิเลสที่ทำให้ร้อน เขาเรียกว่าราคะ-ความกำหนัด โทสะ-ความประทุษร้ายผู้อื่น โมหะ-ความหลง อันนี้เรียกว่าไฟสามกองเป็นของร้อน ร้อนด้วยราคะ ร้อนด้วยโทสะ ร้อนด้วยโมหะ
ถ้าเรามีไฟสามกองนี้อยู่ในใจเราก็ร้อน เมื่อใจร้อนกายก็ร้อน อะไรๆ ก็ร้อนไปหมด แต่ถ้าใจมันไม่ร้อนก็ไม่มีความร้อนอะไร เพราะความรู้สึกนะมันเกิดที่ใจ รู้สึกเย็น รู้สึกร้อน รู้สึกหนาว รู้สึกหิว รู้สึกอิ่ม อะไรต่างๆ นี้มันเป็นเรื่องของใจ เขาเรียกว่าเป็นนามธรรม นามธรรมนั้นคือสิ่งที่เกิดกับใจ เมื่อมันเกิดขึ้นในใจแล้วก็ทำให้สภาพของใจเปลี่ยนแปลงไป คือเปลี่ยนจากภาวะเดิม ภาวะเดิมของใจนั้นเป็นอย่างไร สภาวะดั้งเดิมของจิตที่ในภาษาหนังสือของพวกมหายานเขาเรียกว่า หน้าตาดั้งเดิมในบริหรั่ง (06.06) สูตรบริหรั่ง (06.07) ที่เจ้าคุณพุทธทาสแปลมา ใช้ศัพท์ว่าหน้าตาดั้งเดิม หน้าตาดั้งเดิมของจิต หน้าตาดั้งเดิมของจิตนั้นมันสะอาดอยู่ สว่างอยู่ สงบอยู่ ตลอดเวลา แต่เมื่ออารมณ์มากระทบ อารมณ์คือสิ่งที่ผ่านเข้ามาทางประสาท รูปผ่านเข้ามาทางตา เสียงเข้ามาทางหู กลิ่นเข้าทางจมูก รสผ่านลิ้น สิ่งถูกต้องภาษาธรรมะเรียกว่าโผฏฐัพพะผ่านเข้ามาทางกายประสาท แล้วก็ใจเป็นผู้รับรู้คือกระทำอารมณ์ขึ้นในใจ เมื่อใจรับรู้แล้วไม่มีปัญญากำกับก็เรียกว่าไม่มีวิชชา แต่มีอวิชชากำกับก็เกิดกิเลส เช่น เกิดรัก เกิดชัง เกิดอยากได้ เกิดแข่งดี เกิดอะไรต่างๆ พูดย่อๆ ว่า ยินดียินร้าย
เมื่อเกิดความยินดีก็เป็นเรื่องเป็นทุกข์ภายหลัง ยินร้ายก็เป็นทุกข์เฉพาะหน้า มันเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลาด้วยความยินดียินร้าย ใจที่ไปยินดียินร้ายกับสิ่งที่มากระทบอย่างนั้นก็เรียกว่าเปลี่ยนหน้าไป ไม่เป็นของเดิมแล้ว ถูกย้อมด้วยสี เป็นไปในรูปต่างๆ ถ้าโกรธก็หน้าแดง ถ้าเสียใจก็หน้าเซียว ถ้าดีใจก็หน้าร่าเริง อะไรต่างๆ อย่างนั้น นั่นคือโฉมหน้าที่เปลี่ยนไป เปลี่ยนเพราะใจเปลี่ยน ถ้าใจไม่เปลี่ยน จิตใจคงที่ รักษาสภาพดั้งเดิมไว้ได้ โฉมหน้าของเราก็ไม่เปลี่ยนแปลง คำพูดก็ไม่เปลี่ยนแปลง การกระทำก็ไม่เปลี่ยนแปลง อะไรที่แสดงออกก็เป็นไปในรูปสงบ ในรูปที่ไม่เป็นพิษ ไม่เป็นภัยแก่ใครๆ นี่คือสภาพดั้งเดิมของใจ คนเรานี้ถ้ารู้จักรักษาสภาพดั้งเดิมของจิตไว้ ไม่ให้มันเกิดขึ้นเกิดลงตามอารมณ์ พูดตามภาษาธรรมะว่าไม่หวั่นไหวด้วยอารมณ์ที่มากระทบ ไม่ยินดีในสิ่งที่ก่อให้เกิดความยินดี ไม่ยินร้ายในสิ่งที่ก่อให้เกิดความยินร้าย เราก็มีสภาพคงที่ ภาษาธรรมะท่านเรียกว่าตาปีบุคคล
ตาปีบุคคล หมายความว่า บุคคลที่คงที่ มีจิตสงบอยู่ อยู่คนเดียวก็สงบอย่างใด ไปอยู่ในหมู่คนก็มีความสงบอย่างนั้น นั่นเขาเรียกว่าคนมีความคงที่ เช่นพระอรหันต์เจ้าทั้งหลายที่ท่านอยู่ในป่ามีความสงบเงียบ ใจท่านก็สงบ ท่านมาเดินอยู่ในเมืองที่มีคนพลุกพล่าน มีรถ มีช้าง มีม้า มีคนเดินเท้าวุ่นวาย แต่ว่าใจท่านไม่วุ่นวายกับสิ่งเหล่านั้น สิ่งแวดล้อมไม่มีอิทธิพลเหนือจิตใจของพระอริยบุคคล จิตใจของพระอริยบุคคลนั้นไม่หวั่นไหวกับสิ่งที่มากระทบ อย่างนี้เรียกว่าท่านไม่เปลี่ยนโฉมหน้า หน้าตาของใจเป็นอย่างใดก็เป็นอยู่อย่างนั้น ไม่มีความเปลี่ยนแปลง คนที่หน้าตาของใจไม่เปลี่ยนแปลงนี่คือคนที่มีความสุข
ความสุขในทางใจนั้นมันไม่เหมือนกับความสุขในทางที่เราได้วัตถุ เช่นเราได้เงินได้ทอง ได้เพชรนิลจินดา หรืออยู่ๆ ก็เขามาบอกว่าสลากล๊อตเตอรี่ของคุณนี่มันถูกนะวันนี้ เราก็จะรู้สึกตื่นเต้น บางทีนั่งอยู่กระโดดลอยตัวขึ้นไปเพราะความดีใจว่าถูกล็อตเตอรี่ แต่ว่าเมื่อเอาไปจากเทียบเคียงดูแล้ว มันพลาดไปเสียตัวหนึ่ง คือ ตัวหลัง พอพลาดไปตัวหนึ่งก็ใจแฟบลงไป เสียใจทันทีว่า แหม! นึกว่าถูกแล้วแต่ว่ามันไม่ถูก เสียใจ อย่างนี้ก็มี แต่ถ้าเราเฉยๆ เขาบอกว่าถูกก็เฉยๆ ไม่ยินดียินร้าย ค่อยๆ เอาไปเทียบดูว่ามันจริงหรือเปล่า ถ้าจริงก็ไม่ดีใจ ถ้าไม่จริงก็ไม่เสียใจ อย่างนั้นก็เรียกว่าเป็นคนมีสติ มีปัญญา รู้จักรักษาสภาพจิตใจให้อยู่ในความสงบ เป็นหน้าตาดั้งเดิมไว้ได้ คนนั้นจะไม่มีความทุกข์ความเดือดร้อนในกรณีใดๆ ที่เกิดขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่เราควรจะฝึกฝนให้เกิดขึ้นในชีวิตของเรา เพราะว่าในชีวิตของเราในแต่ละวันนั้นมันมีสิ่งมากระทบอยู่ตลอดเวลา เรื่องดีบ้าง เรื่องชั่วบ้าง เรื่องให้เป็นสุขบ้าง ให้เป็นทุกข์บ้าง ให้ดีใจบ้าง ให้เสียใจบ้าง มันมากระทบอยู่ตลอดเวลา
เรื่องบางเรื่องเราไม่เคยกระทบ ไม่เคยมีปัญหา แต่ว่ามันเกิดขึ้นเพราะว่าคนบางคนทำให้เรากระทบกระเทือนต่อเรา เขาจะทำลายเกียรติยศทำลายชื่อเสียงของเรา แต่ความจริงนั้นเราไม่ได้เป็นอย่างที่เขาว่า ถ้าเป็นคนไม่ได้ศึกษาธรรมะไว้บ้าง ก็จะหวั่นไหวโยกโคลงไปกับคำติคำว่าของคนเหล่านั้น หรือข้อเขียนที่เขาเขียนลงในเอกสาร หนังสือพิมพ์ต่างๆ พอเราอ่านแล้วใจมันหายไปเลยทีเดียว มีความเสียใจ ไม่สบายใจ คืออาจจะคิดไปว่า แหม! เรานี่ไม่ได้กระทำความผิด จิตใจของเราไม่มีเจตนาอะไรในเรื่องอันนั้น แต่ว่ามันเล่นเขียนทำให้เราเสียหาย ถ้าเราคิดอย่างนั้นเราก็ไม่สบายใจ เรามีความทุกข์ทางใจเกิดขึ้น
แต่ถ้าเรามีสติมีปัญญามาทันท่วงที เราก็พูดกับตัวเองว่า อันนี้เป็นเรื่องที่เขาเสกสรรปั้นขึ้นเพื่อทำลายเกียรติยศชื่อเสียงของเรา แต่ความจริงเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าอย่างไร ควรเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องเตือนใจ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สุทธิ อสุทธิ ปัจจัตตัง-ความบริสุทธิ์ ความไม่บริสุทธิ์ เป็นเรื่องเฉพาะตัว” เป็นเรื่องเฉพาะตัวหมายความว่าคนนั้นแหละรู้ นาย ก. รู้ว่า นาย ก. เป็นคนบริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ์ นาย ข. ก็รู้ด้วยตัวเองว่าบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ใครจะมาแปดเปื้อนเรา เอาอะไรมาทาเราให้มันเปลี่ยนแปลงไป
แต่ถ้าเราเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่มั่นคง เราจะไปตกใจอะไร เราจะไปกลัวอะไรกับคำที่เขาพูดเขาว่านั้น เพราะคำพูดคำว่าของคนเหล่านั้นไม่ได้ทำใจให้เราเปลี่ยนแปลงไป เว้นไว้แต่ว่าเราเกิดวิตกกังวล มีความทุกข์ขึ้นด้วยเรื่องนั้นแล้วก็ไม่สบายใจ ก็แสดงว่าเรื่องที่เขาเสกสรรปั้นแต่งขึ้นนั้นมีอิทธิพลเหนือจิตใจของเรา เราจึงได้เป็นทุกข์ไปเพราะเรื่องนั้น อันนี้ล่ะเป็นเรื่องที่จะต้องระวังไว้ อย่าให้เกิดความทุกข์ในเรื่องอย่างนั้น โดยถือหลักมั่นว่าความบริสุทธิ์หรือความไม่บริสุทธิ์เป็นเรื่องของเฉพาะตัวใคร คนใดอื่นจะมาทำเราให้บริสุทธิ์หรือเศร้าหมองไม่ได้ แต่ว่าเขามีโอกาสที่จะพูดที่จะเขียนหรือที่จะใส่ไคล้เราในเรื่องอะไรก็ได้ มันเป็นเรื่องของเขา เราอย่าไปหวั่นไหวไปโยกโคลงกับคำเหล่านั้น ถ้าเราคิดได้อย่างนี้เราก็สบายใจ ไม่เกิดอะไร เรานั่งยิ้มได้ แล้วเรารู้ว่าสันดานของคนนี่มันมีหลายแบบ
คนบางคนมากไปด้วยความริษยาพยาบาทต่อคนอื่น เห็นใครได้ดิบได้ดี มั่งมีศรีสุข มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ในการงาน ก็มีใจริษยา ไม่ยินดีกับความเจริญนั้น แล้วก็คิดว่าทำอย่างไรจึงจะทำลายชื่อเสียงเกียรติยศของคนนั้นได้ เขาก็วางแผนแล้วเขาก็ทำตามแผนที่เขาตั้งไว้ เราจะได้เรียนรู้ว่าสันดานคนมันเป็นอย่างนั้น มีปกติเป็นอย่างนั้นก็มี มันเป็นเรื่องของเขา เขาทำเขาก็ได้ คนใดริษยาคนอื่นก็ได้ความริษยาเพิ่มขึ้นในใจของเขา โกรธคนอื่นก็ได้ความโกรธเพิ่มขึ้นในใจของเขา เกลียดคนอื่นก็ได้ความเกลียดเพิ่มขึ้นในใจของเขา พยาบาทอาฆาตจองเวรคนอื่น ใจเขาก็มากไปด้วยพยาบาทอาฆาตจองเวร อันนี้คือสิ่งที่เขาได้
ที่พระพุทธเจ้าตรัสเป็นหลักตายตัวว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เราจะหนีจากผลที่เรากระทำไว้ไม่ได้เป็นอันขาด อันนี้ก็เป็นหลักที่เราจะเอามาวินิจฉัยในเรื่องอะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่ตัวเราจากบุคคลอื่น เราก็เอาหลักนี้มาพิจารณาว่า เราไม่ทำเราก็ไม่มีโอกาสจะได้ ไม่ว่าเรื่องดี เรื่องเสีย เรื่องสุข เรื่องทุกข์ เรื่องเสื่อม เรื่องเจริญ เมื่อเราไม่ทำแล้วเรามันจะได้อย่างไร เขาบอกว่าคนนั้นเขาอิ่มแต่เรา เขาไม่ได้กิน แล้วมันจะอิ่มได้อย่างไร ถ้าเขาว่าดื่มน้ำ แต่เราไม่ได้ดื่ม มันจะแก้กระหายได้อย่างไร มันไม่มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น เมื่อใครมาใส่ไคล้ มาพูดจาว่าอะไรเรา เราก็นึกว่ามันเป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่มีใครจะทำให้เป็นอะไรขึ้นมาได้
เขาจะพูดจะว่าก็มันก็เรื่องของเขา ช่างเขาเถอะ ช่างหัวมัน เรียกว่าหัดเป็นคนคิดช่างหัวมันเสียบ้างแล้วก็สบายใจ อย่าเอามาเป็นอารมณ์ อย่าเก็บเอาคำพูดหรือการกระทำของใครๆ มาใส่ไว้ในใจจนตัวเราเป็นทุกข์ คนบางคนมักจะเป็นอย่างนั้น ชอบเก็บคำคนนั้น เก็บเรื่องคนนี้มาใส่ใจไว้ แล้วตัวก็เป็นทุกข์ และเมื่อเขาเห็นว่าเราหวั่นไหวโยกโคลงไปตามคำเหล่านั้น เขาก็แกล้งใหญ่ แกล้งว่าเรา แกล้งด่าเรา แกล้งทำให้เราเสียหายมากขึ้น เพราะเขารู้ว่าเหยื่อที่เขาปล่อยลงไปนั้นได้ผล เราไปงับเหยื่อเข้าแล้ว แล้วก็ก้างมัน เบ็ดมันก็ติดเหงือกของเราไว้ด้วย เราก็เป็นทุกข์ไปตลอดเวลา เราอย่าตกเป็นเบี้ยล่างของใครๆ ในการที่เขาจะทำเราในรูปใดๆ แต่เรารักษาใจให้เฉยไว้ ให้เป็นปกติไว้ตลอดเวลา ก็จะเป็นความสุขใจประการหนึ่ง
ว่าเดินทางไปหนองคายเมื่อวานซืนนี้ ได้พบกับท่านพระครูที่อยู่วัดยกกระบัตรนะ สมณศักดิ์นี่จำไม่ค่อยได้เพราะท่านเพิ่งสิ้น แต่ว่าความจริงขึ้นมาก็นานแล้ว ท่านพูดว่าท่านไปอยู่วัดยกกระบัตรนี่คนไม่ค่อยชอบท่านหรอกเมื่อไปใหม่ๆ เพราะว่าไปถึงก็ไปแก้ไขอะไรหลายอย่างในถิ่นนั้น คือไปเห็นสภาพคนในถิ่นนั้นแล้วรู้สึกว่ายากจนข้นแค้น การทำมาหากินก็ไม่สะดวก แล้วก็สิ้นเปลืองในเรื่องอะไรหลายอย่าง ท่านก็ไปแก้ไข เช่นว่ามีงานศพนี่ เขาดื่มเหล้ากัน เขาเล่นการพนันกัน อันเป็นเรื่องที่สิ้นเปลือง ไม่ได้ประโยชน์ ท่านก็ไปห้ามเขาไม่ให้ทำอย่างนั้น คนมันก็โกรธ ไอ้คนที่มันใจมันไม่ชอบดีมันก็โกรธ โกรธก็มาขว้างกุฏิท่านบ้าง อะไรท่านบ้าง ทำให้เกิดความเสียหาย
ท่านบอกว่าท่านไม่เคยบ่นให้ใครฟังว่ามีคนขว้างกุฏิ แล้วรู้ตัวด้วยซ้ำไปว่าใครขว้าง แต่ก็ไม่พูดเอ่ยชื่อคนนั้นให้ใครฟัง ก็ถ้าท่านไปพูดขึ้น ญาติของท่านที่อยู่ที่อื่นห่างออกไปจากนั้นก็เป็นพวกนักเลงเก่าเหมือนกันนะ บอกว่าถ้าพูดให้ฟังมันก็มาจัดการเสียเมื่อใดก็ได้ แต่ท่านบอกว่าทำอย่างนั้นไม่ได้มันเป็นบาปเป็นโทษ เขาจะได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน ทำเฉยๆ ไม่แสดงว่ารู้ ไม่แสดงว่ารังเกียจคนๆ นั้น พบกันที่ไหนก็ทักทายปราศรัยกันไปตามเรื่อง มีธุระอะไรก็ไปหาเขาถึงบ้าน ให้เขามาช่วยเหลือในการงานต่างๆ ท่านถือหลักว่าต้องไปหาเขาถ้าเขาไม่มาหาเรา ท่านว่าอย่างนั้น แต่ท่านก็ไปหา ไปขอร้องให้มาช่วยอย่างนั้น ให้มาช่วยเรื่องนี้ นานๆ เข้าคนที่เป็นศัตรูกลายเป็นมิตรไป เพราะท่านไม่เป็นศัตรูกับเขา ไม่ตอบแทนด้วยความเป็นศัตรูต่อเขา อันนี้ก็เรียกว่าใช้หลักของพระพุทธเจ้าว่าชนะความชั่วด้วยความดี ชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ ชนะความตระหนี่ด้วยการให้ ท่านเอาชนะอย่างนั้น ผลที่สุดคนเหล่านั้นก็หายโกรธหายเกลียดท่าน แล้วก็เปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจเป็นคนดี
ท่านก็ช่วยพัฒนาคนเหล่านั้นให้รู้จักทำที่ดินซึ่งมีอยู่ให้เกิดประโยชน์ด้วยการปลูกมะพร้าว ตอมะพร้าวนี่มันงามดี แต่ว่าเมื่อก่อนน้ำเค็มมันรบกวน ท่านก็หาวิธีทำเขื่อนกั้นน้ำเค็มยาวตั้งหลายกิโล ให้ชาวบ้านมาช่วยกันจัดช่วยกันทำจนกระทั่งสำเร็จ เวลานี้ชาวบ้านบ้านยกกระบัตร อำเภอบ้านแพ้ว สมุทรสาคร เขาสบายเขามีตังค์ใช้ เขามีความสุขกัน ท่านเป็นตัวการที่ทำให้เขาเกิดความสุข ท่านเป็นพระที่ใจดี พูดจามีเหตุมีผล ราชการก็นิมนต์ท่านให้ไปอบรมปลัดอะไรบ่อยๆ อบรมเรื่องพัฒนาว่าจะพัฒนาอย่างไร
มีเรื่องน่าขำที่ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านไปที่อำเภอวารินชำราบนี่ จังหวัดอุบลฯ ไปอบรมข้าราชการ เมื่อไปพักอยู่ที่วัดนะมีโยมคนหนึ่งเอาลิ้นจี่มาถวายถาดใหญ่ ลิ้นจี่นี่ ท่านก็ถามว่าลิ้นจี่นี่ไปซื้อมาจากไหน ซื้อมาจากเมืองไหน โยมบอกว่าไม่ได้ซื้อ ของในสวนดิฉันเอง เอ๊ะ! สวนนี่มันอยู่ที่ไหนล่ะ บอกว่าอยู่นี่ใกล้ๆ อำเภอวารินฯ หน้าอำเภอนี่แหละมีสวนลิ้นจี่ แล้วก็นี่แหละคือผลลิ้นจี่ ท่านก็บอกว่าถ้างั้นเอาไว้ก่อน อย่าฉันนะ ฉันจะเอาไปแจกพวกข้าราชการที่อำเภอ เพราะจะมีการประชุมกัน เมื่อไปถึงที่ประชุมก็แจกนายอำเภอ ปลัดอำเภอ ข้าราชการนี่คนละ ๒ ผล แจกครูที่มาประชุมคนละผลๆ ท่านมาแจกเสร็จแล้วก็บอกว่า ก่อนพูดอะไรนี่กินลิ้นจี่ก่อนดีกว่าจะได้สบายใจ ก็ให้พวกเหล่านั้นกินกันเลยนะ นายอำเภอก็กิน ๒ ผล ข้าราชการก็กิน ครูก็กิน กินแล้วท่านก็ถามว่ามันเป็นยังไง ลิ้นจี่นี้รสชาติดีไหม ทุกคนก็บอกว่า แหม! หวานดี ว่านั้นหวานดี
แล้วท่านก็ถามต่อไปว่า เมืองอุบลนี่ปลูกลิ้นจี่ได้ไหม ท่านถามอย่างนั้น ถามนายอำเภอก่อนว่าเมืองอุบลนี่ปลูกลิ้นจี่ได้ไหมท่านนายอำเภอ นายอำเภอบอกปลูกไม่ได้ เมืองนี้มันแห้งแล้ง ปลูกไม่ได้ว่าอย่างนั้น ปลูกไม่ได้ ถามปลัดอำเภอ ถามเกษตรอำเภอ ปลูกไม่ได้ ถามครูประชาบาล ถามครูใหญ่ กลายเป็นครูใหญ่ไปถามทุกคน ปลูกได้ไหมลิ้นจี่นี่ บอกว่ามันปลูกไม่ได้นะลิ้นจี่ มันมีอยู่เมืองเชียงราย เมืองเชียงใหม่ และเมืองสมุทรสงคราม แถวโน้นเขามีลิ้นจี่ อุบลนี่ปลูกไม่ได้เลย
ท่านบอกว่าพวกเรามันปกครองบ้านเมืองกันอย่างไร ไอ้ที่สวนลิ้นจี่อยู่หน้าอำเภอนั่นนะ นายอำเภอเคยเห็นบ้างหรือเปล่า ถามนายอำเภอ นายอำเภอว่ายังไม่เคยเห็น อยู่หน้าอำเภอแท้ๆ ยังไม่เคยเห็นเลย แล้วจะไปพัฒนาอำเภอได้อย่างไร ของอยู่ปลายจมูกยังไม่เห็น แต่ท่านพูดจนตลกว่า ไอ้ความจริง ตาจะดูปลายจมูกนี้มันก็ไม่เห็นเหมือนกันนะ โยมลองก้มดูปลายจมูกนี้มันจะเห็นไหม มันไม่ได้เรื่องนะ ดูไม่เห็นแล้ว มันต้องเอากระจกมาส่อง พอยกกระจกมา ก็เห็นจมูกของเรา เห็นปากของเราได้ เห็นอะไรบริเวณนี้ได้ ไอ้ของอยู่ใกล้มองไม่เห็นก็น่าให้อภัยอยู่นะ อยู่ใกล้นี้ยังมองไม่เห็น แต่ว่าความจริงสวนลิ้นจี่มันอยู่หน้าอำเภอนั่นเอง แต่นายอำเภอไม่เห็น
แล้วท่านถามว่านายอำเภอมาอยู่นี่กี่ปีแล้ว มาอยู่ ๒ ปีแล้ว แสดงว่ายังไม่ตรวจท้องที่ แม้หน้าอำเภอก็ยังไม่ได้ไปดูเลย ว่าอย่างนั้นเลย เล่นงานกันเลย ท่านพระครูเป็นคนพูดโผงผางอยู่สักหน่อย ตรงไปตรงมาดี แล้วก็บอกว่าปลูกได้ เมืองนี้ปลูกได้ ควรจะช่วยกันพัฒนาปลูกลิ้นจี่ ให้เมืองอุบลเป็นเมืองลิ้นจี่เหมือนกับเชียงราย เขาเรียกว่าเมืองลิ้นจี่นา เชียงรายนะเขามีคำสโลก (24.21) ที่เขาเขียนไว้ว่า เมืองลิ้นจี่เมืองเชียงราย ก็ลิ้นจี่มาก อำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน เขาปลูกกันเยอะแยะมีชื่อมีเสียงว่าเมืองลิ้นจี่ อุบลก็ทำได้ แล้วท่านก็พูดให้ฟังอะไรๆ ต่อไป
อันนี้คือว่าท่านเป็นนักพัฒนา ไม่ใช่พัฒนาเพียงปากว่า ลงมือเอง ปลูกมะพร้าวเอง ทำให้มันเห็นว่ามะพร้าวต้นหนึ่ง เนื้อที่ ๑ ไร่ ปลูกได้กี่ต้น ทำน้ำตาลปีบได้กี่ปีบ เป็นผลได้เท่าไหร่ ราคาเท่าไหร่ เดือนหนึ่งได้กี่ผล ปีหนึ่งได้กี่ผล จะได้เงินเท่าไหร่ โห! ท่านเทศน์บนธรรมาสน์บอกว่าไม่เทศน์ให้ไปสวรรค์นะ ไม่เทศน์ให้ไปนิพพาน เทศน์ให้มันสร้างสวนมะพร้าวก่อนว่าอย่างนั้น แล้วก็ท่านเขียนไว้ที่ข้างกุฏิท่านนี้ เขียนว่าไง ชิคัจฉา ปรมา โรคา-ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง, อิณา ทานัง ทุกขัง โลเก-เป็นหนี้เขาเป็นทุกข์อย่างยิ่ง, ความจนเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ท่านเขียนไว้ ๓ ภาษิตนะ เขียนให้คนอ่าน ใครมาต้องอ่านอธิบาย มาถึงนะ มึงอ่านนี่ดูสิว่าไง ชาวบ้านมาจะบอกว่าให้อ่านดังๆ อ่านดังๆ แล้วก็ว่าไง เข้าใจไหม ความหิวเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ความจนเป็นทุกข์อย่างยิ่งนะ ความจนเป็นทุกข์อย่างยิ่งเข้าใจไหม บางคนว่าอย่างนี้ไม่เข้าใจ อธิบาย เทศน์ให้ฟัง แล้วก็สอนให้ทำงาน ให้พัฒนาตัวเอง
ท่านเก่ง ท่านบอกว่าท่านพัฒนาให้นายอำเภอได้แหวนเพชรไป ๒ คนแล้ว ท่านพูดว่าเราไปทำเกือบตาย นายอำเภอเอาไปกินเสียแล้ว นายอำเภอเอาแหวนเพชรไปเสียแล้ว พัฒนาดี ความจริงนายอำเภอไม่ได้ทำอะไร สมภารทำเอง ท่านก็บอกว่าดีแล้ว ให้เขาได้ เขาเจริญก้าวหน้าต่อไปก็เป็นการถูกต้องนะ แล้วก็ยังคุยว่าแกสนิทกับท่านผู้ว่า ของเราเหมือนกัน คุ้นเคยกัน นี่มันเป็นอย่างนี้ คนเขาพยายามครับท่าน อะไรให้มันดีขึ้นเป็นประโยชน์ เป็นคนทำงานทำการ ก็จิตใจนั้นคิดแต่เรื่องจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ เป็นความสุขแก่ผู้อื่น ไอ้เรื่องจิตใจที่คิดจะทำประโยชน์แก่ผู้อื่นนี้เป็นเรื่องสำคัญที่พระพุทธเจ้าต้องการให้เราทำ
เพราะว่าโลกเราในสมัยนี้คนเห็นแก่ตัวมากขึ้น เห็นแก่ตัวมากขึ้น เห็นแก่วัตถุมากขึ้น ไม่ค่อยจะเสียสละให้แก่กันและกัน ถ้าไม่มีการเสียสละให้แก่กัน ความทุกข์ก็จะเกิดมากขึ้น มีพระพุทธภาษิตที่พูดไว้ว่า ตรัสไว้ว่า ทานัง สังคคโส ปาณัง-ทานนี่เป็นบันไดไปสวรรค์ สวรรค์ในที่นี้หมายถึงอะไร หมายถึงความสุขในสังคมของมนุษย์ สวรรค์นี่คือความสุขในสังคมของมนุษย์นี่ ไม่ใช่สวรรค์อยู่บนฟ้า ไม่ใช่สวรรค์เป็นวิมานสูง ๕๐ โยชน์อย่างนั้นไม่ใช่ ไอ้วิมานอย่างนั้นมันสูงเกินไป ขึ้นลงก็ลำบาก แล้วปรากฏว่าไม่มีลิฟต์เสียด้วยนะ เทวดาปีนขึ้นปีนลงก็เข่าเป็นโรคเข่าข้อไปตามๆ กัน เหมันมากไปสวรรค์อย่างนั้นนะ ไอ้สวรรค์แท้จริงหมายความว่าให้ทุกคนสร้างความสุขในสังคม
การสร้างความสุขในสังคมนั้นตั้งต้นด้วยอะไร ก็ด้วยการให้กัน การให้กัน ทานัง สังคคโส ปาณัง-ทานให้สวรรค์ เป็นบันไดไปสู่สวรรค์ เป็นเครื่องเชื่อมโยงมิตรภาพ เป็นเครื่องที่จะก่อให้เกิดความมีไมตรีจิตต่อกัน ท่านสอนว่าอย่างนั้น ให้คนให้กัน ให้ความเห็นอกเห็นใจกัน ให้ช่วยเหลือกันในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ ที่พอจะช่วยเหลือกันได้ เรามีอะไรพอจะให้แก่คนอื่นได้ เราก็ให้ อย่าเป็นคนเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ เรื่องทานนี่ญาติโยมมักจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่จะต้องทำกับพระอย่างเดียว ไม่ใช่ ทำกับใครก็ได้ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนว่าให้ทำกับพระเสมอไป ทำกับคนทั่วไปก็ได้ กับใครก็ได้ที่ต้องการความช่วยเหลือจากเราหรือขาดแคลนในวัตถุบางสิ่งบางประการ เราก็ทำกับเขาได้
สมัยก่อนนี้เมื่อไปอยู่เชียงใหม่นี่ คือว่าคนไม่ค่อยนิยมสร้างโรงเรียน การช่วยเหลือโรงเรียน สร้างโรงเรียนนี้มีน้อย แต่ถ้าไปบอกบุญ เอาเงินมาสร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้างกุฏิ สร้างอะไรที่เป็นเรื่องในวัดนี่คนจะชอบทำมาก ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าท่านเทศน์มานาน พระท่านเทศน์แต่เรื่องในวัดเท่านั้นเอง ไม่ได้เทศน์เรื่องนอกวัดให้คนฟังเลย คือว่าเมื่อก่อนนี้วัดมันเป็นทุกอย่าง เป็นโรงเรียน เป็นหอประชุม เป็นสถานที่เด็กมาเล่นกีฬากัน เป็นที่ประกวดอะไรต่างๆ ประกวดต้นไม้ ประกวดคนงาม อะไรก็มาวัดกันทั้งนั้น เขาจึงพูดว่า เออ! มันพอพาไปวัดได้ไหม
ถ้าสมมติไอ้หนุ่มมันไปติดสาวบ้านไหน เขาถามว่ามันพอพาไปวัดได้ไหม หมายความว่ารูปร่างไม่ขี้เหร่เกินไป พอพาไปวัดได้ ไปสังคมได้ แต่ถ้ามันขี้เหร่เกินไปพาไปวัดไม่ได้ก็ไม่ไหว นี่แสดงว่าวัดเป็นที่ประกวดสิ่งเหล่านี้ ทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็เป็นโรงเรียนของเด็ก โรงเรียนผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนแก่ก็ไปวัด เรียนกันที่วัดทั้งนั้นแหละ เด็กก็ไปเรียนที่วัด เพราะฉะนั้น เขาจึงเทศน์กันในเรื่องให้สร้างวัดมาก สร้างศาลา สร้างกุฏิ สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างหอไตร เรื่องในวัดทั้งนั้น เพราะวัดในสมัยนั้นเป็นสถานที่ให้ทุกอย่างแก่ประชาชน แต่ว่าสมัยก่อนนี้โรงเรียนก็ชอบสร้างในวัดเหมือนกัน
แต่เดี๋ยวนี้ก็เขาพยายามดึงออกไปนอกวัดมากขึ้นๆ ทุกวัน ทุกเวลา ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ในที่บางแห่งก็น่าเห็นใจ เพราะว่าวัดมันเล็ก เช่น ภาคเหนือนี่วัดเนื้อที่เล็ก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี่ก็วัดเนื้อที่น้อยๆ ไม่มากอะไร ไม่เหมือนวัดภาคใต้ วัดภาคกลางนี่กับวัดภาคใต้ เนื้อที่เขามากๆ ทางภาคใต้วัดมีเนื้อที่ตั้งเจ็ดสิบแปดสิบไร่ บางวัดมีตั้งร้อยกว่าไร่ เพราะฉะนั้น โรงเรียนก็ไปอยู่ในวัด โรงเรียนที่ไปอยู่ในวัดได้รับความอุปถัมภ์ค้ำชูจากเจ้าอาวาส ท่านช่วยสร้างให้ ช่วยบำรุง ช่วยรักษา แต่ถ้าครูไปขัดใจกับสมภารแล้วนั้นก็เรียกว่าครูไม่ได้เรื่องแล้ว อาตมาเคยเทศน์ครูประเภทนั้นว่าเรานี่มันโง่กว่าแมว แมวมันฉลาดกว่าครู เพราะอะไร บางทีเราตึงๆ แมวมันไปถึงโรงฉันก่อนพระซะด้วยซ้ำไป มันรู้นะ รอก่อนแล้ว พอพระไปฉัน มันก็ไปนั่งหมอบอยู่ บางทีมันตะขิดตะโพก พระกำลังฉัน ข่วนตะโพก หลวงพ่อไม่ทิ้งมาข้างหลังบ้างเลยว่าอย่างนั้น สมภารก็ต้องแบ่งให้แมวบ้างล่ะ แมวมันฉลาด
แล้วโรงเรียนอยู่ในวัด ครูไม่รู้จักสมภาร ไปทะเลาะกับสมภาร มันไม่ไหวล่ะ เคยไปที่ปากพนัง มีอยู่โรงเรียนหนึ่ง โรงเรียนก็ไม่มี ก็เลยถามสมภารว่าทำไมไม่ช่วยสร้างโรงเรียนบ้าง เออ! ถ้าไอ้ครูคนนั้นยังอยู่ผมไม่ช่วย มันถือดี มันไม่ง้อผม มันเก่งกว่าผม อันนี้เขาเรียกว่าครูคนนี้โง่กว่าแมว เลยต้องไปบอกศึกษาอำเภอที่รู้จักกัน บอกว่าครูที่โรงเรียนนั้นครูควรจะย้ายไปที่โรงเรียนไหนได้แล้ว เพราะอยู่ในวัด มันไม่รู้จักไปหาสมภาร มันโง่กว่าแมว ไม่ควรจะให้อยู่ต่อไป ศึกษาก็ย้ายเหมือนกัน ย้ายไปสอนที่โรงเรียนอื่น เอาครูคนอื่นมาสอน อันนี้เป็นความเข้าใจเขว คือไม่เข้าใกล้ ความจริงเราเข้าไปหาพระท่านช่วยหลายอย่าง อะไรมันขาดมันเกินไปบอกหลวงพ่อช่วยหน่อย หลวงพ่อแกพูดกับชาวบ้านมันง่าย ครูพูดร้อยคำ หลวงพ่อพูดคำเดียว ชาวบ้านก็มาช่วยพัฒนาโรงเรียน ได้รับความสะดวกสบาย คนก็เฮไปในวัดทั้งหมด โรงเรียนไม่มีใครสร้าง
อาตมาก็เทศน์เรื่องว่า “วิหารนอกวัด” เขียนไม่ได้เทศน์ เขียนลงในหนังสือพิมพ์ว่าวิหารนอกวัดคืออธิบายให้เห็นว่าโรงเรียนนี่คือวิหารนอกวัด วิหารในวัดก็คือโรงเรียน ศาลาการเปรียญก็คือโรงเรียน กุฏิที่พระอยู่ก็คือโรงเรียน กุลบุตรที่เข้ามาบวชในพระศาสนานี้มาเข้าโรงเรียนกินนอนอยู่ในกุฏิ เรียนหนังสือ เรียนธรรมะ ฝึกฝนอบรมจิตใจ ครบ ๓ เดือนก็ออกไปเป็นชาวบ้าน เมืองเหนือเขาเรียกว่าเป็น “หนาน” หมายความว่าได้บวชแล้ว ถ้าเป็นสามเณรเขาเรียกว่าเป็น “น้อย” ถ้ายังไม่ได้บวชเขาเรียกว่าคนดิบ คนดิบนี่ไม่มีใครชอบใจ ขอลูกสาวใครเขาก็ไม่ค่อยให้ เขาว่ามันยังดิบอยู่ มันยังใช้ไม่ได้นะ คือไม่ได้บ่มน่ะสิ ไม่ได้บ่มด้วยการศึกษา ด้วยปัญญา ด้วยธรรมะ ด้วยหลักปฏิบัติเขาก็รังเกียจ เพราะฉะนั้น ที่เหล่านั้นก็คือโรงเรียน แต่เวลานี้โรงเรียนต้องออกไปนอกวัดเพราะเด็กมันมาก แล้วก็เด็กผู้หญิงก็เรียนด้วย เรียนบนศาลาก็ไม่สะดวก
โรงเรียนตั้งอยู่ในวัดก็ไม่สะดวก บางเรื่องบางประการก็ต้องใช้อะไรหลายอย่าง สนามต้องกว้างขวาง ต้องมีแปลงเกษตรสำหรับหัดนักเรียนให้รู้จักปลูกพืชปลูกผัก จึงต้องย้ายออกไปนอกวัด เราที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เมื่อบำรุงวัดได้อย่างไร ก็ควรช่วยบำรุงโรงเรียนอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะโรงเรียนก็คือสิ่งที่สร้างประโยชน์ให้แก่ลูกหญิงลูกชายของเรา อ่านเขียนไปในรูปอย่างนั้น แล้วก็ลงหนังสือพิมพ์ ศึกษาฝ่ายกระทรวงศึกษาฯ ก็เอามาลงวิทยาจารย์ให้คนได้อ่านกันแพร่หลายในเรื่องอย่างนี้
คราวหนึ่งไปเทศน์ที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา โยมคนหนึ่งแกเดินฟังไปถึง ๕ ครั้ง ก็พูดเรื่องโรงเรียนทุกครั้ง แล้วแกก็มาสารภาพว่า ผมเมื่อก่อนไม่เห็นด้วยที่จะไปสร้างโรงเรียน มันไม่ใช่เรื่องของพวกชาวบ้าน มันเรื่องของพวกข้าราชการ กระทรวงศึกษาฯ ต้องมาสร้างให้ ก็ต้องอธิบายว่านี่โยมนี่เข้าใจผิดเรื่องนี้ แต่ว่าผมเข้าใจถูกแล้วเวลานี้ ผมกำลังจะไปชวนเพื่อนสร้างโรงเรียนที่วัดมะขามเฒ่า อำเภอระโนด เพราะโรงเรียนไม่มี อาศัยศาลาเรียนอยู่น่าสงสาร จะต้องไปช่วยกันสร้าง ผมฟัง ๕ ครั้ง ผมเข้าใจว่านั้นได้ประโยชน์ แล้วโยมคนนั้นแกก็ไปชวนเพื่อนสร้างโรงเรียนต่อไป นี่เป็นอย่างนี้ อันนี้คือสิ่งที่เราเสียสละให้แก่เด็ก เด็กของเราก็จะได้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องถูกต้อง ต่อไปก็เป็นคนดีมีปัญญาเป็นประโยชน์แก่ชาติแก่บ้านเมืองต่อไป เราก็ให้ได้ในเรื่องอย่างนั้น ในเมื่อเราเห็นเพื่อนบ้านของเราขาดแคลนด้วยปัจจัย เครื่องยังชีพ ขาดอาหาร ขาดเสื้อผ้า ขาดอะไรพอจะช่วยกันได้ เราก็ช่วยกัน
จำได้ว่าเมื่อเป็นเด็กนี่มีอยู่คราวหนึ่ง มีครอบครัวหนึ่งยากจนมาก ยากจนข้นแค้น ขาดแคลนทุกประการ แล้วชาวบ้านในบริเวณนั้นนะหลายหมู่บ้านไปทอดผ้าป่า นัดกันไปทอดผ้าป่า ไม่ได้ทอดให้วัด ทอดให้ครอบครัวนั้นแหละ มีผ้า มีข้าวสาร มีถ้วยชาม มีเครื่องกินเครื่องแกงอะไรหลายอย่างนะ เครื่องใช้นะ จนกระทั่งมีขวาน แล้วก็พานไถนา เอาไปทอดหมดนะ ไปหามแห่กันไป แหม! แต่ว่าที่ไม่ประทับใจ ก็คือ มองไปทุกคน ในสมัยนั้นก็ชอบอย่างนั้น สมัยเด็กก็คือไปด้วยเหมือนกัน ไปทอดผ้าป่า บ้านครอบครัวนั้นแหละไปแห่กันไป ดื่มเหล้ากันไป สนุกนะ แต่สนุกก็ถึงเมาก็ยังให้ประโยชน์อยู่ คือไปทอดผ้าป่าที่บ้านนั้น เชิญเจ้าของบ้านทั้งผัวทั้งเมียลงมานั่งนะ นั่งเรียบร้อย แล้วก็มีหัวหน้าถวายผ้าป่า แต่ไม่พูดเหมือนถวายพระหรอก พูดว่าพวกเรานี่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันมาช่วยครอบครัวนี้เพื่อให้มีความสะดวกสบาย ในการเป็นอยู่ตามสมควรแก่ฐานะ รวมเงินมาได้เท่าไหร่ แล้วก็มีวัตถุ มีผ้า ผ้านุ่งนะกับผ้าห่ม สมัยนั้นก็ไม่ได้สวมเสื้อกันหรอก นุ่งผ้าล่ะก็ใช้ได้แล้ว แต่ก็มีผ้าห่ม ผ้าขาวม้าเคียนพุง มีผ้าขาวม้า ผ้านุ่งครบจำนวนนะ มีลูก ๕ คน ครบคนละชุดๆ พ่อบ้านชุด แม่บ้านชุด ลูก ๕ คน คนละชุด เขาก็มาให้เรียบร้อย แล้วก็มีขวานสำหรับตัดไม้ มีจอบสำหรับขุดดิน มีมีด พร้า แล้วก็มีพานไถนาด้วย เพราะใกล้ฤดูไถนาแล้ว แต่ไม่มีคันไถเท่านั้นเองคันไถไปหาได้ตามป่า ไม้คดๆ งอๆ เยอะแยะให้ไปตัดเอาเอง ให้ขวานให้มีดแล้วไปตัดเอาเองว่าอย่างนั้น เขามาทำบุญเสร็จแล้วก็มีการเลี้ยงกัน เอามาเองเพราะบ้านนั้นเขาก็ยากจน ต่างคนต่างเอาข้าวมาใส่ปิ่นโตมา พอทำบุญเสร็จก็กินเลี้ยงกัน เมามายกัน สนุกสนานกันพอสมควร อาตมายังจำภาพนั้นได้ว่า โอ้โฮ! เขาคิดถูกเหมือนกัน ทอดผ้าป่าแก่ครอบครัวที่ยากจน เขาทำมาตั้งแต่อาตมาเป็นเด็กน้อยๆ อายุ ๑๑ ขวบ แล้วเวลานั้นจำได้ว่า ๑๑ ขวบ แล้วเขาก็ทำอย่างนั้น
มาสมัยนี้ก็มีการทอดผ้าป่าให้โรงเรียนอะไรต่างๆ ในกรุงเทพฯ นี่มีทำบ่อย นิมนต์อาตมาไปเทศน์ เขาบอกเทศน์ให้ทอดผ้าป่าช่วยเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนอาหารกลางวัน ทอดผ้าป่านี่ทอดกับพระนะต้องไปบอกสมภารให้เข้าใจนะ เวลาเขาชักแล้วแกขนไปกุฏิแล้วมันจะลำบากนะ บอกหรือยัง ไปทำความเข้าใจกับสมภารแล้วยัง สมภารก็ไปเรียนเปรียญ ๙ ประโยคซะด้วย ว่าเลยบอกไป ทำความเข้าใจกันแล้ว ฉันไปเทศน์ได้ และไปเทศน์ให้เขาฟัง แล้ววันนั้นได้เท่าไหร่ ได้ตั้ง ๒ แสนนะ เอามาเป็นทุนไว้สำหรับเป็นอาหารกลางวันแก่เด็กนักเรียน เขามีเด็กนักเรียนที่ไม่มีอาหารกินกลางวันประมาณ ๗๐ คน ในโรงเรียนนั้นนะ พอโรงเรียนเลิกเด็กเหล่านั้นก็ไปเที่ยวแอบหลังโรงเรียน ก็ไปแอบหลังพุ่มไม้ คือไม่อยากดูเพื่อนกินอาหาร กินดูแล้วมันไม่สบายใจ เลยไปแอบเสียอย่างนั้นนะ ครูเขาก็เห็น เห็นแล้วก็สงสาร เลยบอกญาติโยมมาทอดผ้าป่ากัน อาตมาก็เทศน์อานิสงส์การทอดผ้าป่านั้นให้ฟังนะ ก็ได้ปัจจัยด้วย อันนี้เรียกว่าเราพัฒนาไปได้ เรื่องทำบุญนี่เรียกว่าเราทำกับวัด ทำกับบ้าน ทำกับสถาบันการศึกษา โรงพยาบาล สุขศาลา อนามัย หากเราเห็นว่ามันขาดตกบกพร่องอะไร หรือแม้กับชาวบ้านในละแวกแห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งยากจนข้นแค้น เราก็ไปช่วยเหลือได้ ทานอย่างนี้แหละเป็นบันไดสวรรค์ เป็นทำให้คนมีความสุขขึ้น คนก็มีความสุขขึ้นด้วยอาหาร ด้วยเสื้อผ้า ด้วยที่อยู่อาศัย ด้วยเรื่องหยูกยาแล้ว เขาก็ไม่ก่อกรรมทำเข็ญแก่ใครๆ ไม่เบียดเบียนใครให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน การไม่เบียดเบียนกันนั่นแหละเป็นความสุขในโลก
พระพุทธเจ้าท่านตรัสยืนยันว่า “อัพยา ปัชฌัง สุขัง โลเก-การไม่เบียดเบียนกันเป็นความสุขในโลก” อันนี้เราไปช่วยให้คนไม่ต้องเบียดเบียนคนอื่น ให้อยู่ด้วยความรักความสงสารต่อกัน ก็เท่ากับสร้างสวรรค์ในหมู่บ้านนั้น ในตำบลนั้น ในสังคมนั้น ให้มีความสะดวกสบายขึ้น นี่โยมมาวัดชลประทาน มานั่งสบาย ฟังเทศน์ฟังธรรมสบาย ที่นี่ไม่พอก็นั่งใต้ต้นไม้ ทุกคนนั่งสบาย ความสบายในการนั่ง ในการยืน การเดิน การนอน การกินอาหาร นั่นแหละคือสวรรค์ที่เราเห็นอยู่แล้ว ไม่ต้องคิดไปถึงสวรรค์ชั้นฟ้าอะไรซึ่งมันไกลไปแล้ว ถ้าอยู่ในโลกนี้เป็นนรก ตายไปมันก็ตกนรกต่อไป อยู่ในโลกนี้เป็นอะไรมันก็เป็นอย่างนั้นนะ มันเป็นอย่างที่เราเป็นอยู่ล่ะ ทีนี้เราอยู่ให้สบาย ไม่เบียดเบียนกัน ช่วยเหลือกันด้วยการแจกการแบ่ง ทำทานการกุศลแก่คนที่ควรแจกควรแบ่งก็เป็นเรื่องที่ประเสริฐ เป็นคุณเป็นธาตุ
ทางภาคใต้นี้พี่น้องอิสลามกันอยู่มาก บางทีพระหลายๆ วัดชักชวนกันไปทอดผ้าป่าที่มัสยิดก็มีเหมือนกัน เพราะว่ามัสยิดนั้นมันสร้างมาหลายปีแล้ว ไม่รู้จักเสร็จสักที พระท่านเดินผ่านบ่อยๆ ก็เห็นว่า แหม! มันต้องสร้างไมตรีจิตกับพวกนี้หน่อย ก็เลยชวนวัดต่างๆ ๙ วัด ๒๐ วันนะ ชักชวนชาวบ้าน มีพุ่มประดับด้วยปัจจัย ถือกันไปเป็นแถว ไปที่มัสยิดนะเขาเอาไปให้ เรียกว่าไปทอดผ้าป่าที่มัสยิด พวกไฮยี พวกเจ้าของมัสยิดก็มาต้อนรับ เลี้ยงดูปูเสื่อกันอย่างแข็งแรงนะ นี่มันก็เกิดไมตรีจิตระหว่างศาสนา ไม่ต้องทะเลาะกันเหมือนกับประเทศเลบานอน ญาติโยมดูข่าวโทรทัศน์ ข่าวขึ้นหน้า พออ่านข่าวต่างประเทศก็ผ่านดาวเทียม ข่าวในเลบานอนเรียกว่าเป็นข่าวขึ้นหน้า จั่วหน้าตลอดเวลา รบกันระหว่างกันเอง ชาวเลบานอนพวกหนึ่งเป็นคริสเตียน พวกหนึ่งเป็นอิสลาม พูดกันไม่รู้เรื่อง ความจริงก็ถือพระเจ้าด้วยกันนั่นแหละ แต่ว่าพระเจ้ามันคนละชื่อ แต่พระเจ้าคริสเตียนชื่อ “ยะโฮวา” พระเจ้าของอิสลามชื่อ “พระอัลเลาะห์” มันก็องค์เดียวกันนะ ไม่มีอะไรนะ เกิดในทะเลทรายด้วยกันทั้งนั้นแหละ ไม่ได้ผิดแผกอะไร มันคิดไม่ออกนะ ทิฎฐิมานะ ความถือตัว แข่งดี ระหว่างคน ๒ ฝ่ายซึ่งถือศาสนาต่างกัน เลยรบกัน รบๆ กันไปก็เหนื่อย คนจะเรียกประชุมกันทีไปประชุมบ้านตัวเองก็ประชุมไม่ได้ ต้องเสียเงินเสียทองนั่งเรือบินไปประชุมกันที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์โน่น ไปพักผ่อนอยู่หลายวันนะ พวกนั้นมันรบเหนื่อย มันอยากจะพัก เลยพักประเทศสวิตฯ ไม่ใช่เรื่องอะไร แล้วก็ไปประชุมกันนะ ก็เรียกว่าไม่ได้เรื่อง ไม่ตกลงกัน กลับบ้านต่อไป มายิงกันต่อไป เออ! มนุษย์นี่มันแสนเข็ญนะ มันพูดกันไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ เพราะไม่ได้เอาความเป็นมนุษย์มาพูดกัน เอาอะไรมาพูด เอากิเลสมาพูดกัน เอาความถือตัวถือตน ที่ทางพระท่านเรียกว่า “อหังการมมังการ”
อหังการ คือ สำคัญว่าเป็นฉันมี สำคัญว่าเป็นของๆ ฉันมี ไอ้ ๒ ตัวนี้ตัวมารร้ายล่ะที่มีอยู่ในจิตใจคนนี่ สำคัญว่าฉันมี ฉันเป็น เมื่อมีคำว่าฉันมีแล้ว มันก็มีคำว่าของฉัน แล้วฉันก็ไม่ยอมให้ใครเอาของฉันไป ไม่ยอมเสียเปรียบแม้แต่นิดหน่อย ไม่ยอมให้กัน คนเราถ้าไม่ให้กันแล้ว มันจะอยู่กันได้อย่างไร เหมือนสามีภรรยาที่อยู่กันเรียบร้อยจนแก่จนเฒ่าเพราะต่างคนต่างให้กัน ต่างคนไม่เห็นแก่ตัวกัน เวลาไปแต่งงานก็สอนเจ้าบ่าวเจ้าสาวว่า “เธอสองคนนี่มันต้องให้กัน เสียสละกัน เสียสละคือต้องให้สามีอยู่เพื่อภรรยานะ ภรรยานี่ก็อยู่เพื่อสามีนะ พอเรามีลูกแล้ว เราทั้งสองอยู่เพื่อลูก แม้ว่าจะมีรสนิยมไม่ตรงกัน พูดไม่ลงรอยกันก็ให้นึกถึงลูก ต้องอยู่ชนิดที่เรียกว่าหวานก็ต้องกลืน ขมต้องกลืน แต่ก็พูดว่าหวานอมขมกลืน หวานไม่ต้องอมไว้ กลืนไปเลย ไอ้ขมก็ต้องกลืนลงไปด้วยนะ ไปอมไว้ทำไม หวานอมขมกลืนนี่ไม่ได้แล้ว มันต้องกลืนทั้งหมด ทั้งหวานทั้งขม บอกว่ามันต้องกลืนทั้งสองอย่าง อย่าให้ออกมาข้างนอก ต้องหันหน้าเข้าหากัน ยิ้มกัน ไม้เขากลัดให้เข้ากันได้ เหล็กเชื่อมกันได้ อะไรๆ หินเขายังเชื่อมสวยงามได้ แล้วเราเป็นคน เชื่อมกันไม่ได้มันก็แย่เต็มที” พูดให้เขาฟังแล้วนะ เจ้าบ่าวเจ้าสาวหัวเราะ ชอบอกชอบใจ เวลาสอนเขานะ แล้วบอกว่าวันไหนมีเรื่องขัดใจเปิดเทปฟังซะก่อนนะ ไม่ต้องกัดกัน ก็อัดเทปไว้แล้วนี่ แล้วก็มีปัญหาอะไรให้ไปวัดนะ ไปวัดชลประทาน ไปหาหลวงพ่อจะได้ตัดสินให้ สอนให้เขาเข้าใจ ให้อยู่กันด้วยความเสียสละ สามีภรรยาอยู่กันด้วยความเสียสละมันก็ไม่มีเรื่อง
ในหมู่นายทุนกับกรรมกร นายทุนนี่คือคนที่เป็นเจ้าของงาน ไอ้ความจริงไม่ใช่นายทุนหรอก อาตมาไปเทศน์ตามโรงงานต่างๆ บอกว่าคนที่เป็นเจ้าของโรงงานนี่ไม่ใช่นายทุน เพราะว่าเจ้าของโรงงานนี้หนี้ท่วมหัวทั้งนั้นนะ ไปถามโรงงานไหนลองไปถามดูเป็นหนี้ทั้งนั้นนะ เป็นหนี้ใคร เป็นหนี้ธนาคาร ที่เอามาลงทุนได้นี่ไปกู้เขามาทั้งนั้น กู้ธนาคาร กู้ ๑๐ ล้าน ๒๐ ล้านนี่ ใครเป็นนักธุรกิจ มันก็ต้องกู้เงินกันทั้งนั้นแหละ ไม่ใช่นายทุน ส่วนนายทุนก็คือนายแบงก์นั่นแหละ นายทุนใหญ่นะนั่งเอ้เตอยู่ในห้อง นั่งคิดแต่ดอกเบี้ยตลอดเวลา กูจะขึ้น กูจะลง กูจะให้สินเชื่อ กูจะไม่ให้สินเชื่อ กูจะให้บ้านเมืองปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ หรือว่าจะให้เมืองเจริญด้วยเศรษฐกิจอยู่ที่คนนี้ทั้งนั้น นายแบงก์นายทุนใหญ่นะ เจ้าของงานจึงไม่ใช่นายทุน แต่เป็นคนมีหัวคิด มีปัญญา มีการศึกษา แล้วก็มีใจรักเพื่อนมนุษย์ อดหลับอดนอนมานั่งวางแผนที่จะทำโรงงาน วางแผนนั่น วางแผนนี่ เพื่อประโยชน์แก่พวกเราที่เป็นกรรมกรทั้งหลายนี้ นี่เขาไม่เสียสละ เขาไม่ทำโรงงานนะ เขาไปทำงานกับอะไรก็ได้ เขาไม่มาอดหลับอดนอน เหน็ดเหนื่อยเหมือนกับพวกเรานี้
เราจะมีงานทำไหม ถามพวกกรรมกรได้เลย ทุกคนบอกว่าไม่มีงานทำ อันนี้เรามีงานทำก็เพราะคนนี้เขาเสียสละเพื่อเรา เราก็ต้องเสียสละเพื่อเจ้าของงาน เพราะโรงงานนี้เป็นของเราทุกคน งานอยู่เราก็อยู่ ถ้าโรงงานล่มพวกเธอจะไปไหนล่ะ ต้องไปเที่ยวเดินเตะฝุ่นสมัครงานต่อไปนะ ไม่มีงานทำนะ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องช่วยกันหล่อเลี้ยงงานของเราไว้ ให้มันอยู่ต่อไปก็เราจะได้ทำงาน อย่าไปเคี่ยวเข็ญจะเอาค่าจ้างให้มันมากเกินไป เพราะถ้าเอามากเกินไปก็ต้องเป็นหนี้ธนาคารต่อไป เป็นหนี้ธนาคารมาก ผลิตออกแล้วขายไม่ได้ โรงงานมันก็ล่ม เมื่อล่มแล้วพวกเธอก็จะกลับบ้านไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อไป แล้วจะไปทำอะไรกันนะ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่บ้านเดิม คนมาจากโน่นส่วนมากนี่นะแห้งแล้ง หน้าดินก็แห้งแล้ง แล้วน้ำก็ไม่ค่อยมี อาตมาไปเมืองเลย ไปหนองคาย ไปอุบลฯ ก็ดูแห้งแล้ง ๒ ข้างทางรถไฟ นี่เราได้มาอยู่นี่นับว่ามีบุญเหลือเกินแล้วที่ได้มาทำงานนี่ ต้องตั้งใจทำงานเถอะ เก็บหอมรอมริบ อย่าไปเร่งจะขึ้นราคา อย่าไปสไตรค์ให้มันเสียเวลาการงานเลย สไตรค์หนักเข้าเจ้าของเขาเคืองว่า เออ! กูล้มซะดี แล้วเราก็เทกระดาน กลับบ้านกันเท่านั้นเอง เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน ต้องเสียสละกัน คนงานต้องเสียสละเพื่อโรงงาน เจ้าของโรงงานก็ต้องเสียสละเพื่อคนงาน ถ้าได้กำไรมาก ปีนี้ได้กำไรมากหน่อยก็แบ่งเฉลี่ยกันคนละเล็กละน้อย ให้เขาสบายใจ ไอ้เรื่องได้แม้สักนิดก็สบายใจ คนเราได้แล้วสักนิดหนึ่งก็สบายใจ
ไอ้เรื่องออกสักนิดหนึ่งก็ไม่อยากออก ไอ้เรื่องเอานะชอบ ชอบบวกไม่ชอบลบออกนะคนเรา เหมือนกันทุกคนนะ เรื่องให้นี้ไม่ค่อยคิดนะ แต่เรื่องเอาล่ะก็ชอบ ได้แถมสักนิดหนึ่งก็พอใจ เหมือนเราไปซื้อของนะเขาใช้หลักจิตวิทยา แถมหน่อย ไอ้อันที่เขาแถมรวมในราคาที่เขาคิดแล้ว แต่เราดีใจร้านนี้เขาดีเขาแถมให้ ไอ้เรื่องได้นี่ก็ชอบใจ อันนี้เรารู้คนสบายใจเมื่อได้ เราก็ทำให้คนอื่นสบายใจด้วยการให้แก่เขา มีอะไรพอจะให้ได้ เช่น เรื่องเล็กๆ น้อยๆ นี้เราขึ้นนั่งบนรถเมล์ บางทีก็นั่งแล้วเราเอาของวางด้วย ไม่ให้เพื่อนนั่ง เพื่อนก็ยืนอยู่เราก็ไม่ให้ เราเห็นคนยืนอยู่น่าสงสาร เอาของวางบนตักเสียแล้วบอกเชิญนั่ง คนนั้นจะรู้สึกสบายใจว่า แหม! เราเอื้อเฟื้อให้ที่นั่ง เห็นคนแก่ เห็นเด็กน้อย หรือว่าเห็นใครก็ตามที่เขายืนไปนี่ เขยิบให้เขานั่งเสียหน่อย หรือว่าเดินทางไกลขึ้นไปรถไฟ บางทีก็ตกลงกันว่า เอ้า! ฉันนั่ง ๑ ชั่วโมงนะ คุณนั่ง ๑ ชั่วโมง สลับกันนั่งนะ
นั่งในรถไฟนี่ อาตมาเคยโดยสารนั่งไปเชียงใหม่ วันที่ ๑๒ รุ่งขึ้น ๑๓ นะ ขึ้นที่จังหวัด ไม่ใช่จังหวัดนะ ขึ้นที่สถานีตะพานหิน รถด่วนนะ ขึ้นแล้วเข้าไปในตู้ไม่ได้ ต้องยืนอย่างนี้ ยืนอยู่นี้ แล้วก็ทนยืนอยู่ตลอดเวลา ล้มไม่ลง ล้มไม่ลงจริงๆ ยืนอยู่แบบนี้ เข้าไม่ได้ ความจริงเข้าไปมันก็มีนะคนของรถไฟรู้จักกันนี่ เข้าไม่ได้ พวกนั้นก็ออกมาอีกไม่ได้ ยืนแล้วกูวันนี้ ชะตามันตกจริงๆ แล้วก็ยืนไปถึงไหนโยมรู้ไหม ตั้งแต่ตะพานหินถึงอุตรดิตถ์โน่น ถึงอุตรดิตถ์มันเช้านี่ รถมันหยุดสมัยก่อนเช้าอุตรดิตถ์นี่ พอถึงอุตรดิตถ์ก็ลงนะ ลงไปยืดเส้นยืดสายนะ ก็เดินผ่านมาห้องบน …… (50.56 เสียงไม่ชัดเจน) คนรู้จักกันมี ก็บอกว่า อ้าว! ท่านมายังไง บอกว่าขึ้นที่ตะพานหินเมื่อคืนนี้ แล้วนั่งตรงไหน ยืน ยืนมาตั้งแต่ตะพานหินแล้วมาถึงอุตรดิตถ์นะ บอกมานั่งในห้องผมก็ได้ เลยได้นั่งทีนี้ ได้นั่งไปจนถึงเชียงใหม่ มันเป็นอย่างนี้ มันไม่มีที่จะให้ คนเหล่านั้นก็เห็นแล้วว่า แหม! พระยืนอยู่ เขาก็ไม่รู้จะหลีกอย่างไร มันแน่นจิ๊บเลย เหมือนกับเอาแป้งยัดสนามซะอย่างนั้น ทำไงได้ก็ต้องยืนไป ทนไป เพราะว่าไม่มีอะไรจะให้ แต่พอไปเจอคนเขา เขาก็บอกเขาให้นะ เขาให้ที่นั่ง ก็ได้นั่งสบาย เจ้าชัยณรงค์ ผู้แทนเชียงใหม่ เวลานั้นมานั่ง นิมนต์มานั่งกับผม เลยได้นั่งไป มันเป็นอย่างนี้นะ บางคราวนะเขาให้อะไรนิดหน่อยเราก็สบายใจ แล้วผู้ให้ก็สบายใจ ผู้รับก็สบายใจ เพราะต้องคอยถือโอกาสว่าเราเดินใกล้ใคร เรานั่งใกล้ใคร เราอยู่ที่ไหนก็ควรจะนึกไว้ในใจว่าเราจะช่วยเหลือคนที่อยู่ใกล้เราด้วยวิธีใดบ้าง ช่วยเหลือด้วยการให้ที่นั่งด้วยความเอื้อเฟื้อ ด้วยการยิ้มแย้มแจ่มใสเข้าหากัน อย่าหน้าบึ้งเข้าหากันอะไรอย่างนี้ มันเป็นทางสร้างสวรรค์ให้เกิดขึ้นในจิตใจ ให้คนทุกคนมีความสุขความสบาย
โลกเราที่มันปั้นหน้าไม่ดีเข้าใส่กันเพราะว่าใจไม่ยอมให้ ถ้าเรายอมให้แล้วมันเป็นไมตรีกันหมด รักกัน ปราณีกัน หันหน้าเข้าหากัน ก็อยู่กันด้วยความสุขความสบาย เพราะฉะนั้นในหน้าร้อนเวลาจะไปไหนมาไหน อย่าเป็นคนเห็นแก่ตัว ให้คิดว่าเรานั่งตรงนี้ จะทำให้คนข้างเคียงพลอยสบายได้อย่างไร ยืนอย่างไร ทำอะไร ทุกเวลาให้คิดไว้ว่า เรามีโอกาสจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้สบายด้วยวิธีใดบ้าง หากมีวิธีใดก็ทำทันที นั่นแหละเป็นทางสร้างสวรรค์ให้เกิดแก่พวกเราทั้งหลายที่อยู่ในสังคมปัจจุบันนี้
ดังที่ได้แสดงมาก็พอสมควรแก่กาลเวลาแล้ว ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อไปนี้ก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที นั่งสงบใจ คือ นั่งตัวตรง โยมที่มาจากชุมพรนั่งตัวตรง หลับตา แล้วหายใจเข้ายาวกำหนดรู้ หายใจออกกำหนดรู้ ให้จิตกำหนดอยู่ที่ลมเข้า-ลมออก ตลอดเวลา อย่าไปให้คิดเรื่องอื่น ดึงกลับมาที่ลมเข้า-ลมออกตลอดเวลา อ้าว! ลองทำได้