แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เอ้า ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังพระอรรถกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
ในวันอาทิตย์เราหยุดงานทางฝ่ายร่างกายมาทำงานทางใจ งานทางร่างกายนั้นทำกันตั้ง ๖ วันต่อสัปดาห์ พอถึงวันอาทิตย์ก็หยุดพักเสียหน่อยแล้วก็มาทำงานทางจิตใจ การทำงานก็ต้องเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเป็นธรรมดา เมื่อความเหน็ดเหนื่อยเกิดขึ้นเราก็ต้องมีการพัก ธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายย่อมมีการพักทั้งนั้น แม้ต้นไม้มันก็ยังพัก เราจะเห็นต้นไม้บางประเภทเวลาตะวันตกดินมืดใบมันก็หุบเข้า เขาเรียกว่ามันนอน มีหลายชนิดที่นอนพักอย่างนั้นเราเรียกว่าต้นไม้มันนอน แสดงว่ามันพักเหมือนกัน
สัตว์เดรัจฉานถ้าหากินกลางวัน กลางคืนก็ต้องพัก แต่ถ้าพักกลางวันมันก็ออกหากินกลางคืน มีนกบางประเภทกลางคืนออกหากินเช่นค้างคาวเป็นต้น ค้างคาวมันอยู่ในถ้ำ มีจำนวนมากๆ ถ่ายมูลลงไปในถ้ำ จนเราเอามาทำปุ๋ยใส่นาได้ แต่พอตกเย็น ตะวันจะตกดินมันก็ออกจากถ้ำ ออกเป็นเกลียวไปใหญ่โตมากมาย ขึ้นไปบนท้องฟ้าแล้วดูมืดครึ้มไปหมด มันออกไปหากิน นกเหล่านี้มันกินตัวแมลงเล็กๆ ซึ่งเป็นศัตรูพืช มันก็กินหมด สัตว์แมลงเหล่านั้นก็ไม่มาทำลายพืชผลของเรา มันเป็นประโยชน์แก่มนุษย์อยู่มากเหมือนกัน หนูที่อยู่ในรูนี่มันออกมากินข้าวชาวนา แต่ถ้างูเห่าเจอหนู หนูก็ถูกงูเห่ากิน ชาวนาไม่รู้เลยจับงูเห่าไปขายภัตตาคาร ให้เขาต้มขายกันไปตามๆ กันเลยไม่มีงูเห่าจะกินหนู หนูก็ชุกชุม พอหนูชุมขึ้นชาวนาก็เดือดร้อน อันนี้เรียกว่าทำลายธรรมชาติโดยไม่รู้สึกตัวไม่ได้คิดให้ละเอียด เราไปทำลายสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็เกิดความเสียหาย สัตว์ทั้งหลายมันก็มีการหยุดพักเป็นครั้งเป็นคราว
แม้โลกเรานี้เวลาตะวันเที่ยงตรง ถ้าเราสังเกตรู้สึกว่ามันสงบในตอนนั้น มันเงียบเวลาตะวันเที่ยงคล้ายๆ กับว่าหยุดนิดหน่อย แต่ว่าไม่ได้หยุดเลยทีเดียว แต่มันแสดงความเงียบในเวลาตอนเที่ยงวันแล้วก็หมุนต่อไปตามเรื่องของโลก ชีวิตของคนเรานี้ก็เหมือนกัน ทำงานหนักๆ ตรากตรำมาตลอดเวลาก็ควรจะได้มีการพักผ่อน การพักผ่อนก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกาย อย่าว่าแต่เราๆ ท่านๆ ทั้งหลายเลย แม้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาท่านอยู่ มีคนมาเฝ้ามาถามธรรมะมาศึกษามากมาย พระองค์ก็ต้องหลีกเข้าไปพักเป็นครั้งคราวเหมือนกัน เขาเรียกว่าหลีกเร้น ภาษาบาลีเรียกว่า “ปฏิสัลลานะ” เมื่อก่อนมีไปอยู่ในที่เงียบ ไม่ให้ใครเข้าไปรบกวน เข้าไปได้แต่เพียงพระอานนท์ผู้เดียว พระอานนท์ก็ไม่ได้เข้าไปมากมายแต่ว่านำภัตตาหารไปถวายวันละมื้อ เมื่อถวายภัตตาหาร พระองค์ฉันเสร็จก็ล้างบาตรล้างอะไรเก็บ พระอานนท์ก็ออกมาอยู่ข้างนอก ใครไปก็ไม่ให้เข้า แล้วคนก็ไม่ไปรบกวนเพราะเป็นเวลาที่ทรงพักผ่อน ความจริงพระพุทธเจ้านั้นท่านไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยอะไร แต่ว่าร่างกายมันเป็นของเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ก็ต้องมีการหยุดพักให้มันบ้าง ท่านจึงเสด็จไปพักในที่ต่างๆ เรียกว่าหลีกเร้นพักผ่อน
บัณฑิต เนห์รูซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีอินเดีย ถ้าแกทำงานหนักเหนื่อย แกขึ้นไปพักบนยอดเขาเมืองมิสซูรี เวลาไปพักนี่แกไปกับเลขา ไป ๒ คนเท่านั้น แล้วก็เข้าบ้านปิดประตูมีทหารยืนเฝ้าอยู่ข้างนอกไม่ให้ใครเข้าไปรบกวนเป็นอันขาดเป็นเวลา ๗ วัน แกไปนั่งทำสมาธิของแก ไปฝึกจิตให้เกิดความสงบพักผ่อนทางใจ เสร็จจากการพักผ่อนแล้วก็ออกมาบริหารงานต่อไปรู้สึกว่ามีความกระปรี้กระเปร่าในการบริหารงานมากขึ้น ผู้ที่เป็นคนใหญ่คนโตทำงานมากๆ ต้องมีเวลาหลีกเร้นเพื่อออกไปพักผ่อนทางร่างกาย สมองจะไม่มึนชาในเรื่องการบริหารงาน จะมีความรู้สึกว่องไวในการปฏิบัติงานต่อไป จึงเป็นเรื่องที่เขาทำกันอยู่ทั่วๆ ไป
แต่ว่าคนในสมัยปัจจุบันเรานี้ไปพักผ่อนเหมือนกับไม่ได้พักผ่อน เพราะว่าไปพักชายหาด ไปพักตามโรงแรมใหญ่ๆ ซึ่งมีการสนุกพลุกพล่านหรือไปนั่งอยู่ตามชายหาด อารมณ์มันกระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ได้เป็นการพักที่แท้จริงและก็เปลี่ยนอารมณ์เท่านั้นเอง เปลี่ยนจากความวุ่นวายในกรุงเทพฯ ไปหาความวุ่นวายที่พัทยาหรือที่หัวหิน อย่างนี้ไม่ชื่อว่าเป็นการพัก แต่ถ้าให้ได้พักจริงๆ ต้องไปหาที่สงบเงียบ ณ ที่ใดที่หนึ่ง เช่นไปพักตามวัดบ้านนอกหรือแม้วัดในกรุงนี่ก็พอจะหาได้บ้าง ถ้าไปนั่งในโบสถ์พักผ่อนอยู่คนเดียวเงียบๆ ตลอดวันหนึ่งหรือว่าคืนหนึ่งก็เรียกว่าเป็นการพักผ่อน ในต่างประเทศที่มิใช่นับถือพระพุทธศาสนา โบสถ์ของเขาอยู่ตามใจกลางเมือง แต่ถ้าเราเข้าไปในโบสถ์แล้วจะไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย มันเงียบสงบ บางทีเข้าไปดูก็เห็นคนมานั่งอยู่คนเดียว นั่นเขามาพักผ่อนเหมือนกัน มานั่งหาความสงบในที่เงียบ
ที่เงียบนี่มันเหมาะทั้งนั้นไม่ว่าที่ใด เปลี่ยนจิตใจเปลี่ยนความคิดนึกถ้าเราเข้าไปอยู่ในสถานที่สงบเงียบเช่นนั้น จึงควรจะได้ไปหาที่อย่างนั้นหยุดพัก เช่นว่าถ้าเราทำงานรู้สึกว่าสมองมึนชาไม่ค่อยจะว่องไวหรือรู้สึกเพลียทางร่างกาย เราก็ไปพักในรูปอย่างนั้น ความรู้สึกก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่สงบขึ้น จิตใจก็เป็นปกติมากขึ้น ฉะนั้นในทางพระพุทธศาสนาจึงสอนไว้ในโอวาทปาติโมกข์ที่พระองค์ประทานแก่ภิกษุ ๑,๒๕๐ องค์ในวันมาฆบูชา มีอยู่ข้อหนึ่งว่า “ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง” ให้ไปอยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงบเสียบ้าง อันนี้เป็นจิตที่ควรได้กระทำ
ถ้าสมมติว่าเราอยู่ในบ้านเงียบๆ แล้วก็อยู่ในบ้านนั้นจะเป็นการพักผ่อนได้หรือไม่ อยู่ในบ้านมันไม่ได้เป็นการพักผ่อนจริงจังเพราะว่าจิตมันคิดถึงเรื่องอะไรต่ออะไรที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ยังมีความยึดถือด้วยสิ่งของต่างๆ ก็ยังยุ่งนั่นแหล่ะ อยู่ในบ้านมันยุ่ง คนเราอยู่ในบ้านนี้จิตก็ไปอยู่กับตู้บ้างโต๊ะบ้าง ไอ้โน่นไอ้นี่ เครื่องใช้ไม้สอย คนใช้ กิจการอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่ได้พักผ่อน ไม่ได้เกิดความสงบอย่างแท้จริงและเราอยู่กับสิ่งเหล่านั้น จึงต้องปลีกตัวออกไปจากบ้านไปพัก ณ ที่เงียบๆ ให้เราสังเกตว่าอย่างนี้ เวลาใดเราไปเที่ยวทัศนาจร ณ ที่ใดก็ตามจะรู้สึกว่าจิตใจสบาย มีอิสระขึ้น ที่ได้มีจิตใจสบายเพราะการไปเที่ยวนั้นเพราะอะไร ก็เพราะว่าความยึดถือว่าเป็นของฉันนั้นมันน้อย อาจจะไม่มีเลยก็ได้ ถ้าจะยึดอยู่กับกระเป๋าของฉันอยู่ตรงไหน อันนี้เป็นเรื่องกระเป๋า แต่ถ้าคนจัดเขาจัดเรียบร้อย เขาทำให้ดี เขาเก็บเขาจัดไว้เป็นที่ ไปถึงแล้วก็เอามาส่งให้เราก็ไม่ต้องกังวล กังวลก็กับกระเป๋าถือซึ่งใส่สตางค์ไปด้วย มันก็นิดหน่อย มันไม่มากเกินไปแล้วก็ชมวิวทิวทัศน์ไปสองข้างทาง ดูนั่นดูนี่ ก็รู้สึกเพลิดเพลินใจในขณะที่ไปเที่ยวทัศนาจรอย่างนั้น
คือคนเรานี่พอออกจากบ้านแล้วมันก็สบาย ใจมันว่าง ความยึดถือมันน้อยลงไปในขณะนั้น ใจเราก็สบาย แต่พอกลับมาถึงบ้านเอาอีกแล้ว ไอ้ของเก่ามันเข้ามาสะกิดข้างๆ ตัวเราอีกแล้ว ไอ้นั่นของฉันไอ้นี่ของฉัน แหม ของฉันเยอะแยะ ของฉันยิ่งมากเท่าใดจิตใจยิ่งกังวลมากเท่านั้น แต่ถ้าตัดคำว่าของฉันออกไปเสียได้ จิตใจมันก็สบาย แต่ว่ายังตัดไม่ได้เลยทิ้งมันเสียบ้างเป็นครั้งๆ คราวๆ ด้วยการไปพักผ่อนตามสถานที่ต่างๆ เช่น คนกรุงเทพฯ ไปถึงไชยานี่ก็ไปเพื่อการพักผ่อน แต่ว่าไปนั้นมันรีบเกินไปเพราะต้องการจะไปเที่ยวเกาะสมุยด้วย ต้องการจะไปเที่ยวพังงาด้วย การไปพักมันก็ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ความจริงนั้นควรจะไปพักจริงๆ ไปพักสัก ๕ วัน ๗ วัน บ้านพักเขาก็มีให้ สะดวกสบายไม่เดือดร้อน อาหารไม่ต้องหุงเองก็ได้ สั่งร้านหน้าวัดบอกว่าเอาให้ฉัน ตอนเช้าเอาอะไรตอนกลางวันเอาอะไร กลางคืนก็อดเสียบ้างพักถือศีลให้ท้องไส้มันได้พักผ่อนบ้าง ก็สบายไม่เดือดร้อนอะไร แล้วไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาจี้มาขโมย แถวนั้นมันไม่ค่อยมีอะไร ข้าวของทิ้งไว้ก็ไม่หายไม่สูญ ก็อยู่ได้สบายไม่ต้องวิตกกังวล จะได้มีโอกาสสนทนาธรรม มีโอกาสปฏิบัติจิตใจ
ไปนั่งพักใต้ต้นไม้ที่สงบๆ คนเดียวนั่งพิจารณาตัวเองว่าเรานี่อายุขนาดนี้แล้วผ่านโลกมาอย่างโชกโชน สุขบ้างทุกข์บ้าง ได้บ้างเสียบ้างมีอะไรมากมาย ย้อนไปดูข้างหลังอย่างมองดูว่ามีอะไรเป็นแก่นสารบ้างในชีวิตที่ผ่านมา มันมีอะไรเป็นสาระบ้างพิจารณาก็จะมองเห็นความจริงว่ามันก็ไม่มีอะไร มีแต่ว่ามาแล้วผ่านไป มีแล้วก็ผ่านไป ไอ้ที่จะมีอยู่อย่างจริงจังก็ตัวบ้านตัวเรือนที่เราอยู่อาศัย มันยังอยู่ ของอื่นบางทีมันก็หายไปบ้าง ขโมยเอาไปเสียบ้าง แตกหักไปเสียบ้าง มองๆ ดูแล้วก็จะเห็นว่ามันก็ไม่คงทนถาวรอะไร เป็นสิ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราจะไปยึดไปถืออะไรมันนักหนา แต่ว่าเรามีไว้ด้วยปัญญาใช้มันด้วยปัญญา ไม่ใช้ด้วยความหลงติดในสิ่งเหล่านั้น เราใช้อย่างนั้นมันก็ไม่เป็นทุกข์มากเกินไป เพราะรู้จักพิจารณารู้จักใช้ปัญญาเป็นเครื่องประกอบ สภาพจิตใจของเราก็สงบอยู่สว่างอยู่ตามสมควรแก่ฐานะ เพราะฉะนั้นคนบางคนจึงชอบไปเที่ยวที่โน่นที่นี่ ร่างกายออกจากบ้านแล้วจิตใจมันก็ว่าง ไม่กังวลด้วยปัญหาต่างๆ นั่นก็เรื่องหนึ่ง
ทีนี้อีกเรื่องหนึ่งที่ว่าเป็นการพักผ่อนอันแท้จริงนั้น เราจะต้องพักด้วยการฝึกจิตให้เกิดความสงบให้ตั้งมั่นให้มันอ่อนโยนเหมาะที่จะใช้งาน เรียกว่าเป็นการกระทำกัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานก็คือที่ตั้งแห่งการงาน หมายถึงวิธีการปฏิบัติเพื่อให้ใจเรามันสงบให้ตั้งมั่นให้อ่อนโยนเหมาะที่จะใช้งาน มีมากมายหลายอย่างสุดแล้วแต่เราจะเลือกมาใช้เป็นหลักปฏิบัติ ทำแล้วก็ต้องทำกันอย่างสม่ำเสมอทุกวันทุกเวลา ตั้งเวลาไว้เวลาเราว่างเช่นเวลากลางคืนก่อนนอนเราก็ฝึกจิตเสียหน่อย ๑O นาที ๑๕ นาที ค่อยมากขึ้นไปตามลำดับ หรือว่าตื่นเช้าไม่นอนตื่นสาย มักจะตื่นเช้าๆ เมื่อตื่นเช้าก็ยังทำอะไรไม่ได้เราก็นั่งฝึกจิตให้สงบเจริญพระกัมมัฏฐาน อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นการพักผ่อนในทางจิตใจ
คนที่เขาฝึกกัมมัฏฐานมีความแคล่วคล่องชำนาญในการกระทำแล้ว พอทำปุ๊บมันก็หยุดปั๊บทันที จิตหยุดไม่ไปท่องเที่ยวในที่ใดต่อไป แล้วก็นั่งสงบนิ่งอยู่เป็นเวลาตั้ง ๗ วัน ในครั้งพุทธกาลมีพระสงฆ์อรหันต์บางองค์หรือว่าพวกฤๅษีชีไพรที่ฝึกฝนในเรื่องจิตนี้ เขานั่งสงบอยู่ได้ไม่ไหวติงทางร่างกาย เพียงสักแต่ว่าลมหายใจเข้าออก แต่ลมหายใจนั้นก็เบาที่สุด หายใจพออยู่ได้เท่านั้นเองก็อยู่ได้ถึง ๗ วัน ไม่เป็นอะไร นั่งเฉย ไม่ได้ยินอะไรแม้ว่าเกวียนมันจะผ่านมาทางนั้นก็ไม่รู้สึก เช่นอาฬารดาบสที่เจ้าชายสิทธัตถะเคยไปฝึกฝนจิตกับท่านผู้นี้ ท่านผู้นี้เมื่อทำสมาธิเกวียน ๕๐๐ ผ่านไปข้างทางที่ท่านนั่ง ท่านไม่รู้ ไม่รู้ว่าเกวียนผ่านไปจึงไม่ได้ยินเสียง ไม่รับอารมณ์อะไรทั้งนั้น นั่งอยู่สงบอย่างนั้นเขาเรียกว่าเข้าฌานสมาบัติ ท่านก็นั่งอยู่ได้เป็นเวลานานๆ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการพักผ่อนชั้นสูงสุดของพระอรหันต์เจ้าทั้งหลายหรือพวกที่ได้ปฏิบัติจิตถึงขั้นนั้นก็มีการพักผ่อนอย่างนั้นได้ สบายใจไม่ต้องกังวลห่วงใยอะไรทั้งนั้น
แต่สำหรับเราชาวบ้านทั่วไปในสมัยปัจจุบันนี้ เรายังไม่ได้ปฏิบัติถึงขั้นนั้นแต่ถ้าทำบ่อยๆ เราก็จะเกิดความชำนาญขึ้น เมื่อมีความชำนาญ เวลาใดเราต้องการให้สงบมันก็สงบได้ทันทีเพราะเราทำบ่อยๆ จิตก็เข้าสู่ความสงบ นั่งสงบนิ่งไม่ต้องนึกถึงอะไร ความโกรธที่จะเกิดกับใครๆ มันก็ไม่เกิด ความเกลียดก็ไม่มี ความรักก็ไม่มี ความโลภความโกรธความหลงในขณะนั้นมันก็ไม่เกิดขึ้นรบกวนจิตใจ สภาพจิตใจอยู่ในสงบว่างจากอารมณ์ ว่างจากกิเลสประเภทต่างๆ อย่างนี้เรียกว่าอยู่ด้วยความว่าง ขณะว่างมันก็เป็นสุขไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นรบกวนจิตใจ
เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องที่ควรฝึกฝนอบรมได้ ไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัยแล้วจะเป็นประโยชน์แก่เราทุกคน ผู้อยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยปัญหามีความปั่นป่วนด้วยอะไรๆ ต่างๆ ถ้าเราไม่ฝึกจิตของเราให้ดีมันก็ขึ้นลงกับสิ่งแวดล้อม มีอะไรก็ตื่นเต้นไปตามเหตุการณ์นั้นๆ ตามเรื่องตามราวขึ้นๆ ลงๆ กระทบกระเทือนจิตใจไปด้วยประการต่างๆ ทำให้ไม่สบายทางกายด้วยเพราะว่าใจเราถ้าขึ้นๆ ลงๆ นี่ร่างกายก็จะไม่สบาย ประสาททำงานไม่ปกติมันก็มีอาการวูบอะไรเกิดขึ้นในตัวของเราก็ได้ แต่ถ้าเรามีจิตใจสภาพของจิตมีความเป็นปกติ ประสาทก็ปกติ หัวใจทำงานเป็นปกติ ระบบการย่อยอาหารก็เป็นปกติ งานทุกอย่างเป็นปกติ มันก็ไม่เกิดโรคที่ทำให้เสียหายแก่ร่างกาย การฝึกในรูปอย่างนี้จึงเป็นเรื่องที่เรียกว่าให้ประโยชน์แก่ชีวิตของเรา
เช่น มารดาบิดาเป็นผู้นำในครอบครัว ถ้าได้พยายามพักผ่อนด้วยการฝึกจิตไว้เสียบ้าง สภาพจิตใจก็ดีขึ้น ลูกเต้าในครอบครัวก็จะได้รับแต่ความเยือกเย็นได้รับแต่สิ่งที่เป็นความสงบไม่มีปัญหา เขาก็จะมีความเจริญเติบโตทั้งกายทั้งใจและได้เห็นเราประพฤติเป็นตัวอย่างแก่เขา เขาก็จะถ่ายทอดแบบนั้นเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันของเขาต่อไป การอยู่ในโลกด้วยกำลังจิตที่เข้มแข็งมีภูมิต้านทานสามารถจะเอาชนะสิ่งชั่วร้ายที่เข้ามารบกวนจิตใจของเราได้ นั่นแหล่ะคือการอยู่ชอบ เป็นการอยู่ที่ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ใดๆ เราก็เป็นไทแก่ตัว เป็นมนุษย์สมบูรณ์มีความสุขสมบูรณ์ตามหลักของธรรมะในพระพุทธศาสนา จึงใคร่จะขอแนะนำว่าเราควรจะได้หาโอกาสพักผ่อนเสียบ้างในเรื่องอย่างนั้น
อีกประการหนึ่งถ้าพูดในแง่เศรษฐกิจ ถ้าเราหาวิธีพักผ่อนดังที่กล่าวก็จะทำให้การเงินในครอบครัวเราดีขึ้น มันดีขึ้นอย่างไร มันดีขึ้นตรงที่เราไม่ต้องไปเที่ยว ไม่ต้องไปหาเหยื่อมาป้อนกิเลสของตัวเราเองตามร้านต่างๆ ซึ่งเป็นร้านขายของใหญ่ๆ เราไม่ต้องไปเพราะว่าความต้องการมันน้อยลงไป นุ่งห่มเท่านี้ก็พอแล้ว บ้านเรือนเท่านี้ก็พอแล้ว อาหารการกินเรากินพออยู่ได้ ไม่ได้กินเพื่อความเอร็ดอร่อยเพื่อความอ้วนพีมากเกินไป เอาแต่พออยู่ได้สบายๆ มันก็สิ้นเปลืองน้อย ไม่ต้องไปเที่ยวกินตามภัตตาคารหรือสั่งอาหารพิเศษมารับประทานซึ่งต้องเสียเงินทองมากๆ เราทำอาหารของเราเองเรียกว่าทำให้พอสะดวกสบาย รับประทานไปตามความพอใจในสิ่งนั้น มีความสันโดษในสิ่งนั้น เงินทองก็ไม่สิ้นเปลือง แล้วเราไม่ไปเที่ยวไปเตร่ เครื่องแต่งตัวก็ไม่ต้องหลายชุดไม่ต้องไปอวดใคร
และถ้าปฏิบัติด้านจิตใจสูงขึ้น ใจที่จะอวดมันก็ไม่มี ที่จะอวดมั่งอวดมีอวดสีอวดรูปอะไรต่างๆ มันหายไปจากใจ เราอยู่ได้โดยปกติ เราไม่ต้องแข่งขันกับใครในทางที่ต้องใช้จ่ายเงินมากๆ ได้เงินเดือนน้อยก็พอใช้ไม่มีปัญหา เดี๋ยวนี้คนได้เงินเดือนมากก็ไม่พอใช้ มีปัญหามากมายก็เพราะว่าไม่ปราบปรามจิตของตัวเสียบ้าง ปล่อยให้มันเที่ยวไปให้มันอยากโน่นอยากนี่แล้วก็ต้องหาของมาสนองความอยาก ถ้าไม่ได้สมอยากก็กระวนกระวายเที่ยวทำอะไรต่ออะไรให้มันสับสนเป็นปัญหา แล้วก็หาเรื่องทะเลาะกับคนนั้นทะเลาะกับคนนี้เพราะสภาพจิตมันผิดปกติ แล้วก็ทำเรื่องที่ไม่เหมาะไม่ควรเกิดขึ้น อันนี้คือตัวปัญหาที่ทำให้เราสิ้นเปลือง
แต่ถ้าเราหันเข้าหาธรรมะพักผ่อนจิตใจในรูปดังที่กล่าว ความขวนขวายแสวงหาในทางวัตถุมันก็ไม่จำเป็น เพราะเรารู้สึกสบายโดยไม่ต้องใช้วัตถุมากๆ ไม่มีโทรทัศน์เราก็สบาย ไม่ได้ฟังวิทยุก็ไม่เห็นจะเดือดร้อน ไม่ได้ไปดูหนังก็ไม่เห็นจะเดือดร้อนเสียหาย เราก็ไม่ต้องไปหรือไม่ต้องไปตามร้านใหญ่ๆ ทุกเสาร์ เพื่อไปดูว่าของอะไรมันตกมาใหม่ สตางค์มันอยู่กับตัวนี่มันร้อน จะได้ใช้เสียให้มันหมดๆ ไป เราไม่ทำอย่างนั้นเพราะจิตใจเราไม่ได้คิดในเรื่องอย่างนั้นแล้ว เราคิดพอใจในสิ่งที่เรามีเราได้ แต่งตัวก็แต่งง่ายธรรมดา กินอยู่ก็ง่ายๆ ไม่หรูหราฟูฟ่า ไม่ต้องไปแข่งอวดความมั่งมีกับใครๆ
เพราะแข่งความมั่งมีก็คือแข่งความยากจนนั่นแหล่ะ ไม่ใช่แข่งเรื่องอะไรกัน ยิ่งมั่งมีมากก็ยิ่งจนมากลงไป ก็ต้องไปซื้อไปหาเอามาแข่งกัน แข่งกันซื้อเสื้อผ้าแข่งกันซื้อเพชรนิลจินดา แข่งกันทำบ้านให้มันใหญ่ๆ โตๆ ผลที่สุดก็ไม่เป็นของตัว คนอื่นเขามาเอาไปเสียเพราะเราไปแข่งอย่างนั้น ถ้าเราไม่มีอารมณ์แข่งอย่างนั้นเราก็สบายใจ ความสบายที่แท้เกิดจากใจที่สงบ ไม่ใช่เกิดจากจิตใจที่วุ่นวายอยู่ตลอดเวลา เกิดจากใจที่สงบไม่ได้เกิดจากจิตใจที่วุ่นวาย แต่ว่าจิตใจที่วุ่นวายนั่นแหล่ะคือทำให้เราเป็นทุกข์
ให้สังเกตเวลาไหนใจเราวุ่นเราเป็นทุกข์ ใจร้อนเราก็เป็นทุกข์ ใจอยากอะไรขึ้นมาเราก็เป็นทุกข์ มันเป็นทุกข์อยู่ในตัว ความร้อนก็เป็นทุกข์ ความอยากก็เป็นทุกข์ ความวุ่นวายกระสับกระส่ายนั่งไม่ได้ก็ลุกขึ้นไปดูนั่นดูนี่ เดี๋ยวไปนั่นไปนี่ ถ้ามีรถก็ขับไปไม่รู้จุดหมาย ขับไปเรื่อยๆ ขับไปโน่น ใครถามไปไหน ไปเรื่อยๆ กลุ้มใจขับรถไปเรื่อยๆ ขับรถไปน้ำมันก็เปลือง แรงก็เปลือง ยางมันก็สึกหรอ แล้วขับเผลอๆ ใจลอยๆ เดี๋ยวก็ไปสะเออะกับสิบล้อเข้า ทีนี้เรียบร้อย พระได้จัดการกันต่อไป เป็นเสียอย่างนี้
นั่นมันไม่ใช่ความสุขที่แท้ แต่ว่าเรามักแสวงหาจากสิ่งภายนอกไม่แสวงหาจากสิ่งภายในอันเป็นเนื้อแท้แห่งความสุขอย่างแท้จริงที่เราสร้างขึ้นได้โดยไม่ต้องลงทุน ความสุขจากวัตถุนี่มันต้องลงทุน แพงเสียด้วย ต้องไปซื้อไปหาแพงเท่าใดก็เอาเพราะว่ามันเกิดอารมณ์แข่ง คนนั้นเขามีเราไม่มีดูมันน้อยหน้า หน้ามันน้อยไปเรียกว่าน้อยหน้า ความจริงหน้าก็ไม่น้อย หน้ามันก็เท่าเดิมนั่นแหล่ะแต่ว่าใจมันคิดน้อยหน้าน้อยใจว่าเราสู้เขาไม่ได้ มันต่ำกว่าเขาไม่เหมือนเขา นี่เขาเรียกว่ามานะ ภาษาธรรมะเขาเรียกว่า “มานะ” เกิดมานะเกิดแข่งดี เกิดการถือเขาถือเราขึ้นในเรื่องอะไรต่างๆ แล้วก็แข่งกัน แข่งกันจนพังไปทั้ง ๒ ข้าง ให้เราสังเกตดูเถอะมันแข่งกันจนพังไป จนหมดเนื้อหมดตัวเพราะการแข่งขันที่ไม่เข้าเรื่อง
แต่ถ้าเราหันหน้าเข้าหาธรรมะ แล้วเราหาการพักผ่อนทางด้านจิตใจดังวิธีการที่กล่าวมา เราก็จะรู้สึกว่าไม่ต้องมีอะไรก็ได้ เราอยู่ได้สบายอยู่ได้เท่าที่ความจำเป็นของร่างกายต้องการ กินเท่าที่จำเป็น ดื่มเฉพาะสิ่งที่จำเป็นแก่ร่างกาย นุ่งห่มก็เท่าที่จำเป็นแก่ร่างกาย ทำอะไรเอาแต่ความจำเป็น ถ้าเกินไปที่เราเรียกว่าส่วนเกิน เราไม่มีส่วนเกิน เกินมากๆ มันก็เปลืองมาก เพราะจะใช้ส่วนเกินมากไป ทีนี้เราไม่มีส่วนเกินเราก็ไม่ต้องสิ้นเปลืองในเรื่องที่ไม่จำเป็น ฐานะการเงินดีขึ้นหรือไม่ และจิตใจสงบขึ้นเรือไม่ ญาติโยมลองพิจารณา ถ้าพิจารณาแล้วก็จะเห็นว่า เออ มันเป็นเช่นนั้น
ดูคนแก่สิ คนแก่นี่กินน้อย นุ่งห่มก็พอประมาณ จะเที่ยวจะเตร่ก็ โอ้ย ฉันเบื่อละ ไม่อยากไปเที่ยว ท่านก็ไม่ใช้เท่าไหร่ใช้เงินไม่มากเท่าไหร่ แต่คนอยู่ในวัยหนุ่มวัยฉกรรจ์วัยกลางคนยังสนุกด้วยรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ยังอยากจะไปดูนั่นอยากจะไปดูนี่ อยากจะไปชมนั่นชมนี่ ตังค์ก็ออกมากแล้วก็บ่นว่าสตางค์ไม่พอใช้ แต่คนแก่นั้นไม่ค่อยมีอะไร ลูกหลานให้เดือนละเล็กเดือนละน้อยก็พอกินพอใช้ แต่ก็บอกว่าข้ามันก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรแล้ว เงินทองนี่ข้าก็เอาไปทำบุญอะไรตามเรื่องของท่าน ลูกหลานที่ให้ก็ชักจะไม่พอใจอีกเหมือนกันบอกว่า แหม คุณแม่นี่ให้อะไรๆ ก็เอาไปทำบุญหมด ไม่กินไม่ใช้ ก็ท่านพอใจอย่างนั้น ไอ้เราจะไปบังคับท่านอย่างไร ท่านพอใจของท่าน ท่านได้บำเพ็ญคุณงามความดีตามความเชื่อความเลื่อมใสท่านก็พอใจ เป็นความสบายของท่าน ให้ท่านแล้วอย่าไปบังคับท่านเลยว่าไอ้นี่ต้องไปซื้อนั่นกินนี่ ต้องไปทำอย่างนั้น อย่างนั้นก็เรียกว่าบีบคั้นคนแก่มากเกินไป มันก็ไม่เป็นดีเป็นโทษเหมือนกัน ทำให้ท่านรำคาญใจ เราให้แล้วหมดเรื่อง เป็นเรื่องของท่าน ท่านจะเอาไปทำบุญที่ไหนไปทำอะไรก็เรื่องของท่านอย่าไปบ่น มีหน้าที่อย่างเดียวให้ท่าน
เมื่อเราเป็นเด็กๆ เรามีหน้าที่คือขออย่างเดียว ขอได้แล้วยังไม่พอใจ ให้ ๕ จะเอา ๑๐ ให้ ๑๐ จะเอา ๒๐ นะ ไม่พอใจ ถ้าไม่ให้ก็กระทืบเดินลงส้นปังๆ ไปเลยทีเดียว นี่แสดงอาการข่มขู่ เขาเรียกว่าขู่เข็ญไปจี้คุณแม่ กับคุณพ่อไม่กล้าจี้ แต่กับคุณแม่ก็ไปจี้เอาบ่อยๆ ไปบังคับขู่เข็ญท่าน ทีนี้เมื่อเราเติบโตขึ้นเราก็มีหน้าที่ให้ท่าน ให้เพื่อลบใช้หนี้ที่เราไปขู่เข็ญท่านมามากแล้ว ทำให้ท่านเดือดร้อนมานานแล้ว เราก็ให้ท่านไป ให้แล้วท่านจะเอาไปทำอะไรมันเรื่องของท่าน อย่าไปบังคับท่านเลย อย่าไปบอกให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องวิสัย คนแก่จึงไม่กินมากไม่ใช้มาก มีเงินน้อยๆ ก็พอกินพอใช้ ข้าราชการบำนาญนี่ถ้าไม่เกี่ยวกับต้องให้ลูกให้เต้า เงินเดือนที่ได้นี่มันเหลือกิน ฟุ่มเฟือยทีเดียวแหล่ะ ใช้กันสบาย แต่ท่านก็ไม่ใช้คือไม่รู้จะใช้อะไร ความต้องการมันลดลงไปโดยธรรมชาติเพราะมันก็ไม่ต้องการมากแล้ว ไอ้เรื่องอื่นมันก็ไม่ต้องการ ระงับไปเองระงับไปโดยธรรมชาติ โดยเฉพาะการกินนี่คนแก่กินไม่มาก คือกินไม่อร่อยแล้ว กินได้เรื่อยๆ เรียกว่ากินไป พูดภาษาชาวบ้านว่าซังกะตายกินไปอย่างนั้นเอง ถึงเวลาก็กินมันหน่อยกินไปตามเรื่อง
เคยไปพบคนแก่อายุ ๑๐๔ ปี เวลานี้ ๑๐๔ นะ ถามว่าอาหารการกินเป็นอย่างไร โอ้ย ผมไม่ได้นึกเรื่องกินเรื่องอยู่ เขาเอามาให้ก็กินให้อะไรก็กินทั้งนั้น ไม่เคยบ่นไม่เคยว่า เขาให้เวลาไหนก็กินไป มันก็ไม่หิวไม่กระหายอะไร มันนั่งเฉยๆ มีแต่รู้อยู่ตัวเดียวเท่านั้นแหล่ะ แกมีสติกำหนดรู้จิตอยู่ตลอดเวลา มีแต่รู้ ถ้าเขายกมาให้ก็ เอ้า กินเสียหน่อยให้เขาสบายใจ กินนิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่ได้กินมากอะไรและก็อยู่เป็นสุข แล้วไม่อยากไปไหน ไม่อยากจะไปไหนมาไหน แต่ลูกก็เห็นว่าควรจะพาคุณพ่อไปเที่ยวบ้าง แล้วก็พาไป นั่งรถไป ไปวัดโน้นบ้างวัดนี้บ้าง ไปนั่งสักพักก็พากลับบ้าน แกบอกว่าไปก็ได้ไม่ไปก็ได้เพราะมันไม่จำเป็นอะไร อะไรๆ แกก็ไม่จำเป็นทั้งนั้นเพราะว่าจิตมันพอ ถ้าจิตพอแล้วมันก็ไม่วุ่นนักคนเรา
แต่ถ้าจิตไม่พอแล้วมีแต่ความต้องการไอ้โน่นไอ้นี่ไอ้นั่น ไม่ได้ดังใจก็กระฟัดกระเฟียด โกรธคนนั้นโกรธคนนี้บ่นน้อยอกน้อยใจดันพาลจะเป็นลมด้วยซ้ำไป มันเป็นอย่างนี้ เพราะเราไม่ควบคุมจิตใจจึงได้มีสภาพเช่นนั้น เพราะฉะนั้นหัดควบคุมจิตใจไว้ตามโอกาสที่เราจะกระทำได้ เวลาไหนว่างงานเรานั่งดูด้านใน ทำงานเหนื่อยแล้วหยุดขึ้นมาก็นั่งหลับตากำหนดลมหายใจดูด้านใน สมควรแก่เวลาก็ทำงานต่อไปเรียกว่าพักงานทางร่างกายมาทำงานทางจิตใจ เฝ้าดูจิตใจของเราเองว่ามันคิดอะไรมันนึกอะไร มันเป็นอย่างไรหรือจะเอาจุดใดจุดหนึ่งเป็นจุดทิ้ง เพื่อให้มีสมาธิอยู่ในที่เรื่องนั้น
เรื่องที่ง่ายที่สุดก็คือกำหนดลม กำหนดลมหายใจเข้าหายใจออก คอยกำหนดรู้ทำไปเรื่อยๆ ทำไปแล้วค่อยรู้ค่อยชำนาญขึ้น อันนี้ตอนนั่งปุ๊บกำหนดมันก็เป็นสมาธิได้ เวลาไหนรู้สึกว่าใจมันวุ่นวายมันร้อน มันมีปัญหา ปล่อยปัญหาทิ้งไว้แล้วไปนั่งสงบใจเสียก่อน เมื่อใจสงบแล้วค่อยมาคิดปัญหาค่อยมาตีปัญหาต่อไป ใจที่สงบคิดอะไรได้ดีกว่าใจที่วุ่นวายใจที่เร่าร้อน ฉะนั้นทำใจให้นิ่งเสียก่อนให้สงบเสียก่อนแล้วไปยกปัญหาขึ้นพิจารณา
เพราะฉะนั้นในแง่การปฏิบัตินี่ท่านจึงวางไว้ ๒ ชั้นเรียกว่าสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา ภาวนานี่เป็นคำกลาง ถ้าเราจะพูดเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติทางจิตนี่ก็พูดให้ถูกต้องก็เรียกว่าไปเจริญภาวนา ไปอบรมภาวนา ไปเรียนภาวนา พูดให้ถูกอย่างนั้น เวลานี้เรามักจะพูดเอาจิตยอด ถามว่าท่านจะเจริญวิปัสสนาบ้างหรือเปล่า นี่เรียกว่าถามกลืนไป ขึ้นบันไดกระโดดถึงชานเรือนเลย ไม่ขึ้นตามลำดับขั้นเพราะไม่รู้ไม่เข้าใจ ให้รู้ไว้เสียใหม่ว่าคำพูดว่าภาวนาเป็นชื่อของการฝึกฝนอบรมจิตใจ
วิธีการอบรมจิตใจนั้นมี ๒ แบบเรียกว่าสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา สมถภาวนานั้นมุ่งทำจิตให้สงบให้ตั้งมั่นให้อ่อนโยนเหมาะที่จะใช้งานใช้การต่อไป นี่เรียกว่าขั้นต้น เป็นการฝึกฝนขั้นต้น สมถภาวนาและต่อไปเมื่อจิตใจเรามีความสงบตั้งมั่นอ่อนโยนแล้ว เราก็ไปเจริญวิปัสสนาภาวนาต่อไป การเจริญวิปัสสนานั้นก็คือการใช้จิตที่สงบที่ตั้งมั่นที่อ่อนโยนนั่นแหล่ะเอาไปคิดค้นตีปัญหาในเรื่องอะไรต่างๆ เพื่อให้ทะลุปรุโปร่ง พูดตามภาษาธรรมะว่าคิดให้ลึกแทงให้มันตลอด ให้ตลอดปลอดโปร่งไปเลยแล้วก็หยั่งลงไปให้ลึกในเรื่องนั้นๆ เพื่อให้เข้าถึงตัวปัญหา อย่างนี้เรียกว่าเจริญวิปัสสนา ไอ้ที่ทำกันทั่วๆ ไปตามสำนักต่างๆ นั้นไม่ค่อยจะถึงขั้นวิปัสสนาหรอกความจริงน่ะ แต่ว่าพูดไปตามคำพูดที่พูดๆ กันมาโดยไม่คิดแก้ไขให้มันถูกต้อง แล้วก็พูดอย่างนั้นที่ทำกันอยู่ส่วนมากก็คืออยู่ในขั้นสมถกรรมฐาน
การฝึกจิตเพื่อให้สงบเพื่อให้ตั้งมั่นเพื่อให้อ่อนโยนเหมาะที่จะใช้งานอันเป็นขั้นแรก เราต้องทำขั้นนี้ก่อนแล้วก็การปฏิบัติอย่างนี้จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น ให้การงานดีขึ้น ให้ความเป็นอยู่ในส่วนตัวครอบครัวและส่วนงานในหน้าที่ดีขึ้น มันดีขึ้นเพราะอะไร ดีขึ้นเพราะว่าเราควบคุมตัวเองได้ ควบคุมด้วยสติด้วยปัญญา ควบคุมจิตให้มันสงบได้ ควบคุมจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในเรื่องที่เราต้องการคิดได้ แล้วก็ควบคุมให้มันอ่อนโยนไม่แข็งกระด้างไม่ดื้อไม่ดัน
เหมือนกับสัตว์เดรัจฉานเช่นว่าเราไปหาวัวมาคู่หนึ่งเอามาไถนา ไม่ใช่ว่าเอามาสวมแอกแล้วก็จะไปไถไปได้เมื่อไหร่ล่ะวัวน่ะ มันต้องฝึกกันหลายเช้า เช้าๆ ต้องไปเตรียมแอกแล้วต้องมีคนจูงเชือกไปข้างหน้า มีคนถือคันหามยามไว้ข้างหลัง แล้วมีคนเดินข้างๆ อีก คอยคุม คอยดึงกันไว้ให้มันเดินไปตามร่องรอย แล้วก็พูดภาษาที่พูดกับวัวให้มันรู้เรื่องว่าให้ไปให้เลี้ยวให้หยุด ก็พูดกับมันรู้เรื่อง พูดกับมันทั้งวัน ไม่ใช่พอถึงก็สวมแอกเอาไม้เรียวตีก้น ก็พังไปเลย มันทำให้คันไถพังไปเลย ถ้าแบบนั้นน่ะ มันยังไม่เชื่อง ยังใช้ไม่ได้ ต้องค่อยๆ ฝึกหัดไปจนกว่ามันจะเชื่อ ไอ้คนหัดวัวนี่ก็ต้องใจเย็น ถ้าโมโหโทโสกับวัวก็คันไถพังเหมือนกัน เรียกว่าเวลาโกรธขึ้นมาก็หวดปิ้วมันก็สะดุ้งนะ กระโดดก็แอกหักไปคันไถหักไปต้องไปซื้อใหม่ละทีนี้ มันเพราะโมโหโทโส มันใช้ไม่ได้ ต้องค่อยๆ ต้องคิดว่าวัวนี่มันไม่ได้เรียนภาษาคนต้องค่อยพูดค่อยจากัน ค่อยทำความเข้าใจกัน เย็นๆ
ในหนังสือแบบเรียนเล่มหนึ่งเขาก็เขียนสอนไว้ดีบอกว่าตากับยายอยู่ด้วยกัน ก็ยังไม่แก่เท่าใดยังไถนาได้ ก็ไปซื้อวัวมาสำหรับไถนา ทีนี้ตานี่คนใจร้อน ไปหัดวัว วัวมันก็กระแทกเอาบ้างกระโดดเครื่องใช้เครื่องมือมันหักมันผุพังไป บ่นกับยายว่าไม่ไหววัวตัวนี้ ฉันจะขายให้เขาไปชำแหละกินเนื้อเสียแล้ว ไถนาไม่ได้ ยายบอกว่าตา...มันต้องค่อยๆ วัวมันไม่รู้ภาษาของตา ต้องค่อยๆ พูดค่อยจาค่อยฝึกฝนไปแล้วมันก็คงจะใช้ได้แหล่ะ ตาก็ดีเหมือนกันนะไม่ดื้อไม่มีทิฐิมานะ ไม่เถียงว่าเฮ้ย! แกอย่ามาสอนข้า แกไถนาเป็นกับเขาเมื่อไหร่ล่ะ มีแต่รู้จักดำนากับเกี่ยวข้าว ฉันไถทุกปี ตาก็ดีเรียบร้อยเป็นคนฟังยาย แต่ทางครอบครัวก็เกรงใจก็ตามใจ แต่แกก็ฟังแล้วก็ใช้ได้ละ ฟังยายแล้วก็เลยว่าค่อยปลอบค่อยพูดค่อยจา ไม่ใช้ความรุนแรงกับวัว วัวมันก็รู้สึกตัวเหมือนกัน ถ้าใครพูดดีฉันก็ทำให้ ถ้าพูดไม่ดีฉันก็จะเล่นงานล่ะ เลยผลที่สุดวัวก็เลยเรียบร้อย หัดไปวัวก็เรียบร้อย หัดลิงก็เหมือนกัน ลิงนี้หัดยากกว่าวัว มันซน แต่เขาหัดลิงให้เล่นละครได้ หัดช้างให้มาเตะฟุตบอลก็ได้ ใช้ได้ทุกอย่างช้าง หัดลากซุงบ้าง ทำอะไรได้ร้อยแปด ช้างละครสัตว์ทำได้ทุกอย่าง เขาหัดเขาฝึก
แต่ว่าคนฝึกช้างคนฝึกลิงคนฝึกม้าไม่เคยฝึกตัวเอง เล่นละครลิงเสร็จแล้วเย็นก็ไปกินเหล้าเมาแอ๋ ถ้าลิงพูดได้มันก็คงด่าแล้ว แหม หัดข้าได้แต่หัดตัวเองไม่ได้ มันเป็นอย่างนี้ มันใช้ไม่ได้ คนไม่รู้จักหัดตัวเองมันก็ลำบาก ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าก่อนจะหัดผู้อื่นต้องหัดตัวเองเสียก่อนจึงจะไม่ยุ่งเหยิง เราต้องหัดตัวเราพยายามฝึกหัดอบรม การฝึกหัดตัวเรานั้นเราต้องรู้ความบกพร่องของเรา รู้ว่าเราบกพร่องอะไรบ้าง เราเป็นคนมีสภาพจิตใจอย่างไร ใจร้อนใจเลว มักโกรธ หุนหันพลันแล่นหรือว่าเป็นคนขี้เผอเรอทำอะไรก็ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ต้องตรวจสอบต้องพิจารณาสัมภาษณ์ตัวเอง ไต่ถามตัวเองให้รู้ว่าบกพร่องอะไร ไม่ดีไม่งามที่ตรงไหนบ้างเพื่อจะแก้ แก้ไอ้จิตที่มันไม่ดี
เหมือนเราจะซักผ้าต้องเปิดขึ้นดูว่าเปื้อนตรงไหน มันเปื้อนอะไร เปื้อนน้ำมัน เปื้อนน้ำหมึก เปื้อนยางไม้หรือเปื้อนขี้ฝุ่น จะใช้วัตถุซักฟอกอะไรจะเอาผงชนิดใดซักให้มันเหมาะกันให้มันถูกกัน หรือว่าผ้าชนิดไหนควรใช้น้ำยาซักแห้งหรือใช้แฟ้บ ต้องใช้ให้ถูก เราต้องตรวจสอบแล้วก็ทำ ร่างกายจิตใจเรานี้ก็เหมือนกัน เราจะต้องรู้จุดบกพร่องของตัวเราเองว่าเรามีความบกพร่องในเรื่องอะไรบ้างแล้วเราก็คิดว่าต้องแก้ ถ้าขืนอยู่อย่างคนบกพร่องอย่างนี้มันไม่ดี เพื่อนฝูงจะเกลียดชังจะเป็นคนมีปมด้อยในสังคม ใครๆ เขาจะดูหมิ่นหาว่าเป็นคนไร้วัฒนธรรม
วัฒนธรรมหมายถึงว่าธรรมะที่จะช่วยให้คนเจริญ มันไม่มีอยู่ในใจของเราเรียกว่าเป็นผู้ไม่มีวัฒนธรรมประจำจิตใจ เราก็ต้องไม่เป็นอย่างนั้นพูดกับตัวเองว่าไม่ได้ ถ้าขืนเป็นอยู่อย่างนี้ขายหน้าวันละ ๕ เบี้ย ๑๐ เบี้ย เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ต้องเลิก ควบคุมที่จะเอาชนะสิ่งเหล่านั้น แล้วเราก็ไปฝึกเพื่อให้จิตมีกำลังที่จะต่อสู้กับธรรมชาติฝ่ายต่ำที่มันเคยมารบกวนเรา ทำให้เราพ่ายแพ้ แพ้มานานแล้วต่อไปนี้ฉันจะไม่ยอมแล้ว ฉันจะต้องเป็นนายเหนือแกบ้าง แกบังคับฉันมานานแล้วหลายปีแล้ว ต่อไปนี้ฉันจะไม่ยอมให้แกบังคับต่อไป เราพูดกับตัวเองพูดดังๆ ให้ตัวเองได้ยินก็ได้ ไม่มีใครว่าหรอกแล้วเราก็พยายามฝึกฝนจิตใจ ทำให้สม่ำเสมอเป็นเวล่ำเวลา เวลาไหนว่างก็ทำ เช่นวันอาทิตย์เราไม่ไปทำงาน เราอย่าไปเที่ยวอย่าไปดูหนังอย่าไปอะไรต่ออะไรซึ่งมันไม่ได้เรื่อง เพราะการไปเที่ยวในสถานที่เช่นนั้นเหมือนกับไปเพิ่มความเศร้าหมองให้แก่จิตใจ
คนเราควรจะอยู่เพื่อชำระชะล้าง อยู่เพื่อการขูดเกลาให้สะอาดขึ้นให้สงบขึ้นให้สว่างขึ้น อย่าไปเพิ่มสิ่งชั่วร้ายให้เกิดขึ้นในจิตใจของเรา คนโดยมากชอบเพิ่มก็คือการไปเที่ยว ไปกอบโกยสิ่งไม่ดีใส่ใจเพิ่มเข้าๆ จนเต็มไปหมด เอาออกไม่ไหวมันหนา เหมือนกับอะไรนี้ หาบไม่ไหวเสียผู้เสียคนกันไปตามๆ กันเป็นอย่างนี้ เราจึงต้องบอกกับตัวเองว่าต่อไปนี้ฉันจะเลิกเที่ยวเลิกสนุกในทางเพิ่มพูนกิเลส แต่ฉันจะสนุกในทางตัวเราในทางหาความสงบทางจิตใจ คือสนุกกับธรรมะ ถ้าเราสนุกกับธรรมะเราเจริญขึ้น แต่ถ้าสนุกกับวัตถุเครื่องยั่วยวนชวนใจเราจะสิ้นเปลืองทรัพย์มากขึ้น สิ้นเปลืองชีวิตมากขึ้น คุณค่าของชีวิตก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ นี่มันไม่ได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นเราจะไม่เพิ่ม เท่าที่มันมีอยู่นี้ก็เหลือเฟือแล้ว ฉันจะต้องไม่เพิ่มขึ้นไปอีก ฉันจะเอาออกให้หมดตั้งใจอย่างนั้นแล้วก็พยายามที่จะควบคุมจิตใจ ขั้นแรกก็หัดให้มันสงบเสียไม่วุ่นวายให้มันตั้งมั่น ไม่เที่ยวส่ายไปส่ายมา ให้มันอ่อนโยนเรียกว่าสอนได้บังคับได้ว่าให้ทำอะไรก็ทำได้ อ่อนโยนก็หมายความว่าอยู่ในอำนาจสติปัญญา อยู่ในอำนาจความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทำอย่างนี้ทำไปแล้วมันก็ดีขึ้น ทุกอย่างจะดีขึ้น
เช่น ชีวิตในครอบครัวนี่ถ้าพ่อบ้านประพฤติธรรมแม่บ้านก็สบายขึ้น แม่บ้านประพฤติธรรมพ่อบ้านก็สบายขึ้น ทีนี้เรามาตกลงกันว่าไอ้ที่เราอยู่กันมานี่กี่ปีแล้ว อยู่กันมาแบบระหกระเหินแบบขึ้นๆ ลงๆ ดีบ้างชั่วบ้างสลับสับเปลี่ยนกันไป เรามาลองนั่งสงบจิตสงบใจกันแล้วก็มานั่งพิจารณาว่าความบกพร่องในตัวเราทั้งสองมีอะไรบ้าง ให้ต่างคนต่างหากันก่อนแล้วก็อีกคนหนึ่งหาอีกคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งก็หาอีกคนหนึ่งเรียกว่าช่วยคิดช่วยมอง เพราะปกติคนเรานั้นไม่ค่อยเห็นความผิดของตัว ไม่เห็นความชั่วของตัว ถึงมีก็มองไม่ค่อยเห็นแกล้งทำเมินเฉยไม่สนใจเป็นเสียอย่างนั้น นี่ก็ให้ภรรยามองสามี สามีมองภรรยาแล้วก็เปิดโปงออกมาว่าพี่บกพร่องอย่างนั้นนะ น้องมันบกพร่องอย่างนี้ และก็ยอมรับว่าฉันมันบกพร่อง ต่างคนต่างบกพร่อง
เมื่อรู้ว่าต่างคนต่างบกพร่องแล้วจะอยู่อย่างกระท่อนกระแท่นอย่างนี้ไหม อยู่เหมือนน้ำไม่เต็มหม้ออย่างนี้ไหม น้ำไม่เต็มหม้อเวลาถือแล้ว ช้อกๆ แช้กๆ อยู่ตลอดเวลา มันดัง น้ำไม่เต็มหม้อนี่มันดัง ดังบ่อย คนไม่ค่อยเต็มอยู่ด้วยกันก็ดังบ่อย เถียงกันบ่อยๆ ทะเลาะกันบ่อย เพื่อนบ้านได้ยินบ่อยๆ เอาอีกแล้วๆ คู่นั้นเอาอีกแล้วประสานงาอีกแล้ว มันก็ยุ่งไม่เรียบร้อย เรามาปรับตัวใหม่เถอะมาตั้งใจว่าจะเลิกสิ่งนั้นเลิกสิ่งนี้ ชีวิตนี้สดใสแสงสว่างเข้ามาสู่บ้าน พระกำลังมาประทับอยู่ในบ้านคือในใจของเราแล้วและเราก็ทำตามความตั้งใจ ทุกคนในครอบครัวจะรู้สึกแปลก เอ้อ หมู่นี้คุณแม่แปลกไป หมู่นี้คุณพ่อแปลกไป ลูกมันแปลก ต่างคนต่างก็บ่นว่าแปลกเพราะว่าเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่เหมือนเดิม และก็เราเดินตามเส้นทางที่เลือกใหม่ทางถูกต้องทางสงบทางสว่างทางที่สะอาด ปัญหาชีวิตจะลดน้อยจนกระทั่งเราอยู่โดยไม่มีปัญหา เราอยู่ด้วยความสุขความสงบในครอบครัวไม่ต้องมีปัญหาต่อไป
เมื่อครอบครัวนี้สงบกระทบกระเทือนไปถึงเพื่อนบ้านด้วย เขาเห็นตัวอย่างว่าเราอยู่กันสงบเพราะอะไร แล้วเพื่อนบ้านก็อยากเอาอย่างบ้างหรือว่าเราไปชวนเขาบ้างว่าแหม ฉันนี่วันก่อนนี้มันอย่างนั้นอย่างนี้ ต่อมาก็รู้สึกตัวก็เลยเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ เดี๋ยวนี้ฉันสบาย ฉันไม่ต้องเป็นหนี้สินใครฉันไม่มีปัญหาเรื่องการเงินเรื่องการงานเรื่องอะไรทั้งนั้น ชีวิตเป็นสุขเพราะพระเข้ามาอยู่ในบ้าน ครั้งก่อนนี้ผีมันมาอยู่ เราก็เชิญผีออกเอาพระเข้ามาแทน ไอ้ผีอื่นมันไม่สำคัญหรอก ราดด้วยน้ำมนต์ไม่ได้หรอกผีนี้ มันต้องไล่มันด้วยน้ำธรรมด้วยธรรมะ
ที่เรานิมนต์พระไปสวดมนต์ที่บ้านความจริงต้องการนิมนต์พระไปสอนเราอย่างนี้ แต่ว่าแทนที่จะสอนให้ท่านสวดเสียจนคอแหบคอแห้งและก็เลี้ยงอาหารมื้อหนึ่ง ถวายปัจจัยอีกนิดหน่อย พระยังไม่ทันลงจากบันไดเปิดขวดโป้งกันแล้ว แปลว่าผีหน้าด้านมันไม่ไปไหน รดน้ำมนต์แล้วก็ผียังอยู่นั่นเอง รดไปเถอะ รดสัก ๓ หม้อมันก็ไม่หายเพราะผีมันอยู่ในใจเรา ผีอยากเหล้าอยากสนุกอยากเหลวไหล มันไม่ไป ยังอยู่นี่ ไล่ไม่ออก แต่ถ้าเราไล่ด้วยสติปัญญาของตัวเราเองด้วยการมองตัวเองให้เห็นว่ามันบกพร่องอะไร มันไม่ดีอย่างไรแล้วคิดเลิกอย่างเด็ดขาด นั่นแหล่ะผีออก ผีออกจากใจเราจากเรือนเรา แล้วมันจะไม่กลับมาหาเราอีกถ้าเราไม่ไปเชิญมันมา ส่งไปแล้วจะไปเอามาทำไมไอ้พวกผี ไม่ได้เรื่องอย่าเอากลับมา
เราตั้งหน้าตั้งตาเดินไปตามเส้นทางที่เราได้เดินถูกแล้ว ก่อนนี้เดินผิดไปตั้งหลายปี กว่าจะวกเข้าเส้นทางเสียเวลามาตั้งเยอะ ไปเดินอยู่ในถนนขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อกว่าจะเข้าซุปเปอร์ไฮเวย์นี่รถเกือบเสียไปเลย เกือบเสียท่า ทีนี้พอเข้าเส้นทางแล้วอย่าไป ทางถนนขรุขระอย่าไป ไปทางเรียบร้อยต่อไป เดินไปด้วยสติด้วยปัญญาตลอดไป ควบคุมจิตใจไว้ตลอดเวลาไม่เผลอไม่ประมาท สร้างกำลังต้านทานด้วยการฝึกฝนภาวนาไว้บ่อยๆ เตือนจิตสะกิดใจในเรื่องละในเรื่องเจริญไว้บ่อยๆ สภาพจิตก็จะดีขึ้น ไม่สร้างปัญหาคือความทุกข์ความเดือดร้อนให้แก่เราต่อไป
นี่แหล่ะคือยอดปรารถนาของสังคมไทยว่าความสุขในชีวิตประจำวันที่เราทำได้ แต่ที่ทำไม่ได้เพราะอะไร เพราะยังอาลัยในสิ่งเหลวไหลอยู่ แหม จะเลิกเหล้าก็เสียดายดื่มมานานแล้ว จะเลิกเล่นไพ่ก็เสียดายไม่รู้จะเอาไปทิ้งที่ไหน ก็โยนมันเข้ากองไฟเสียก็หมดเรื่อง เผามันเสียเลย ไม่กล้าเผาเอาไว้เล่นต่อ นี่แหล่ะอาลัย อาลัยการสนุกการเพลิดเพลินในวัตถุ ถ้ายังมีอาลัยก็ยังเลิกไม่ได้ พระอรหันต์นี่เขาเรียกว่า “อาลยสมุคฺฆาโต” หมายความว่าถอนความอาลัยออกได้หมด ไม่อาลัยใยดีกับอะไรสิ่งเหลวไหลไร้สาระต่อไป ถอนทิ้งหมดรากหมดโคนจึงเป็นพระอรหันต์ เรามันลูกศิษย์พระอรหันต์เราก็ถอนๆ มันออกเสียบ้าง ถอนทีละเรื่องๆ ค่อยถอนไปๆ เหมือนถอนหญ้าคาในลานบ้าน ถอนทุกวันมันก็หมดมันไม่ขึ้นหรอก ขุดหัวทิ้งไปเผาไฟไป หญ้าคามันไม่มาขึ้นในจิตเราอีกต่อไป มันกลัวจอบของเรา กลัวเราขุดมัน ไปขึ้นบ้านคนขี้เกียจต่อไป เราก็ไม่มีหญ้าคารกในบ้าน ในชีวิตเราก็เป็นอย่างนั้นถ้าเราพยายามขูดเกลาสิ่งสกปรกมันจะเกาะจับไม่ได้ แต่ถ้าเราไม่ขูดไม่เกลามันก็จับหนาเตอะจนกระทั่งว่าไม่รู้ว่าเนื้อเดิมมันเป็นอย่างไร อันนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องคิดแล้วก็ต้องทำด้วยนะ ไม่ใช่คิดแล้วก็ผ่านไป ต้องทำเพราะการกระทำนั่นแหล่ะเรื่องสำคัญที่สุดที่เราจะต้องเอาจริงเอาจัง เพราะถ้าไม่กระทำแล้วพระศาสนาจะมีประโยชน์อะไรกันเล่า เราจึงต้องปฏิบัติเพื่อให้ศาสนาเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเราสมความตั้งใจ
ดังได้แสดงมาก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้