แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๑๓ เดือนพฤศจิกายน ญาติโยมคงจะติดน้ำติดท่า มาไม่ค่อยเรียบ ไม่สมบูรณ์ เพราะว่าน้ำมันมาก มากจนขนาดมาท่วมที่วัดด้วยเหมือนกัน คือว่าท่วมบ้านก็ท่วมแล้ว วัดไม่ท่วมก็จะเป็นการลำเอียงเกินไป เพราะฉะนั้นท่วมให้มันเหมือน ๆ กัน จะได้ไม่ต้องเสียใจว่าที่นั่นไม่ท่วม ที่นี่ไม่ท่วม ให้ท่วมเสียเท่า ๆ กัน ก็ดีไปอย่างหนึ่ง
ความจริงท่วมที่วัดนี่ ก็ไม่ค่อยจะเดือดร้อนอะไร เพราะว่ามันก็มาแล้ว มันก็ไป พระท่านบ่นบอกว่าน้ำท่วม ไอ้เรานึกว่าเพิ่งท่วม ชาวบ้านเขาท่วมมานานแล้ว จะไปทุกข์ร้อนหรือลำบากอะไร ก็ต้องทนต่อไป ให้ไปต่อไป (01.30 เสียงไม่ชัดเจน) มันก็ลงเองนะ เพราะว่าเมื่อฝนหยุด น้ำมันก็หยุดเหมือนกัน ไม่เห็นจะต้องเดือดร้อน แต่ว่าไปมานี่เดือดร้อนหน่อย เพราะถนนบางสายเต็มไปด้วยน้ำ แต่บางสายก็ไม่มีน้ำ เมื่อวานนี้ไปเทศน์วัดมงกุฏ คนที่มารับเขาก็เก่ง ก็พาลัดเลาะไปสู่ถนนที่ไม่มีน้ำทั้งนั้น ก็ไปได้ แต่มันอ้อมหน่อย
วันก่อนนี้ไปไชยากลับมา เกือบจะมาถึงวัดไม่ได้ เพราะว่าน้ำมันมาก มาผ่านนครปฐม ผ่านสามพราน มาถึงก็แวะเข้าถนนสายพุทธมณฑล ขาไปไม่ท่วม แต่ขามาท่วม แล้วถนนที่เขาทำใหม่ใหญ่โตมากก็ยังท่วม พอมาถึงบางขุนนนท์ก็รอเลี้ยว รอกันนานเหลือเกินกว่าจะได้เลี้ยว พอเลี้ยว ตำรวจบอกว่ารถคันนี้เห็นจะไปไม่ได้ เพราะว่าน้ำมันตั้งเมตรครึ่ง อ่อ, แล้วบอกว่าไปไม่ได้แล้วจะออกไปอย่างไรล่ะ เขาบอกท่านจะไปไหน โน่น ไปนนทบุรี ไปได้ครับ ไปทางบางบัวทอง ไม่รู้ว่าถนนมันดี ก็เลยบอกว่าต้องกลับไป กลับไปก็ไม่ทำเครื่องหมายบอกไว้ว่าจะแวะตรงไหน ก็มา ๆ ก็เห็นทางเขาแวะกันบ้าง ก็เลยแวะบ้างตามเขาไป แวะมาแล้วก็นึกว่าไม่ได้ ต้องถามก่อน เลยถามโยมผู้หญิงที่นั่งอยู่ข้างถนน คงจะน้ำท่วมบ้าน ก็เรียกมาถามว่าไปบางบัวทองทางไหนโยม ทางนั้นล่ะเจ้าค่ะ ไปถึงวงแหวนแล้วก็เลี้ยวซ้ายต่อไป แล้วก็นั่งดูวงแหวนมันอยู่ตรงไหน มันไม่เจอวงแหวนนะ วงมันไม่เป็นแหวนน่ะ มันเป็นสามเหลี่ยม ก็เลย เอ้า เลี้ยวไปทางนั้นก็แล้วกัน เลี้ยว ๆ ก็มาสะดวกมาเรื่อย คราวนี้เขากั้นไว้ บอกว่าไม่มีถนนต่อไปนี้ เอ้า, แล้ว
แต่ว่ามันมีถนนสองเส้น เส้นบนยังมี ก็เลี้ยวขึ้น เลี้ยวขึ้นเส้นบน แล้วก็มีคนผู้ชายยืนอยู่คนหนึ่ง ก็เรียกมา …... (03.53 เสียงไม่ชัดเจน) บอกว่าไปบางบัวทองทางไหน อ๋อ, ไปนี่ฮะ ๑๔ กิโล ก็ถึงทางแวะ ก็นั่งจ้องอยู่กิโล มันไม่มีสักหลักเดียว ขับไปเป็นนานแล้ว ถนนมันเพิ่งสร้าง กิโลก็ยังไม่ปัก แต่โยมคนนั้นแกเป็นนักคำนวณชั้นเลิศ แกบอกว่า ๑๔ กิโล ขับกันตั้งนาน ก็ยังไม่ครบ ๑๔ เสียที ก็มาเจอเด็กผู้ชายนั่งอยู่บนจักรยานยนต์ ก็เลยเรียกมาถาม พอเรียกกุกกัก ๆ (04.25 เสียงไม่ชัดเจน) เหมือนนึกว่าจะถูกจี้ เลยต้องบอกว่าพระเรียก แล้วมันก็มา เลยถามว่า ไปบางบัวทองทางไหนหนู นี่แหละครับ ไปทางนี้ ไปถึงข้ามคลองแล้วก็มีทางสี่แยก แล้วก็เลี้ยวขวาก็ไปได้
เอ้า, ไป พอถึงสี่แยกก็เลี้ยวขวา ก็เข้าตลาดบางบัวทองได้ แต่พอถึงบางบัวทองก็มันเป็นบางสมชื่อ ไอ้บาง ๆ นี่ไว้ใจไม่ได้เลยล่ะ บางแคก็ท่วม บางพลัดก็ท่วม บางบัวทองก็ท่วมเหมือนกัน เรื่องบางนี่ไว้ใจไม่ได้ ก็มาถึงก็น้ำมันมิดไปบนถนน คนเดินอยู่พ้นเลยเข่า บอกว่าขับไปดีนะ ฉันเคยมาที่นี่ เขาก็ทำปูนไว้ข้างใดข้างหนึ่ง ยังไม่ได้ทำ ถามนายกว่าทำไมไม่ทำ ผู้ว่าการน้ำไม่ให้ทำ เอ๊ะ, ทำไมไปห้าม ผู้ว่าการคนก่อนไม่ใช่คนปัจจุบัน เลยว่าขับไปดีนะ ชิดขวาไว้เรื่อยเลย ชิดขวาไว้ พอมาถึงก็ รถบรรทุกเทศบาลก็มาจนประจันหน้ากันแล้วนะ ไอ้เราก็ไม่ถอย เขาก็ไม่ถอย ประจันหน้ากันอย่างนั้นน่ะ อาตมาก็ต้องลงนะ โยมในรถบอก หลวงพ่อไม่ต้องลง /ไม่เป็นไร น้ำนิดหน่อย ลงไป ลงไปถึง พวกนั้นก็เห็น อ้าว, หลวงพ่อวัดชลประทาน บอกว่าจะไปไหนครับ ก็ไปวัดแหละ เอ้า, ขึ้นรถประจำทางเลยครับสะดวกดี บอกขึ้นไม่ได้ ฉันมาจากรถนี่ มาตั้งแต่ไชยาน่ะ ต้องพารถไปด้วย จะไปแต่คนได้อย่างไร แล้วรถเรามันขวางอย่างนี้ ฉันจะไปอย่างไร/ ไม่เป็นไรครับ เดี๋ยวผมหลีกเอง
พอขึ้นบนรถ โยมบอกว่า แหม, แขวนหลวงพ่อปัญญามาด้วย ค่อยยังชั่วหน่อย ค่อยขลังหน่อย ก็หาว่าห้อยคอหลวงพ่อปัญญามาค่อยยังชั่วหน่อย เขาเกรงใจ แล้วก็มาถึงวัดได้เรียบร้อย ทุลักทุเลเต็มทีกว่าจะมาถึงได้ มาถึงวัดก็เห็นน้ำยังไม่มากเท่านี้หรอก เพิ่งมา มันก็ดีนะ ความจริงนะ เพราะวันที่ ๖ นี่เราทำบุญทอดกฐิน น้ำยังไม่มากกระไร นิด ๆ หน่อย ๆ คนก็มาสะดวกสบาย ทำบุญกันเรียบร้อย พอพ้นกฐินแล้วก็มาเลย มาจมเมืองไปเลย ถ้านัดทอดกฐินวันนี้นะ ยุบเลยแน่ ไม่ได้เรื่องเลย มันก็ไม่ร้ายเกินไปนะ อะไร ๆ ก็ไม่ร้ายเกินไป มันต้องมีดีอยู่ในร้ายด้วย มันเป็นอะไรๆ ในโลกนี้ ร้ายกับดีนี่มันปนกัน เมื่อมีที่ร้าย ที่ดีมันก็มี มีดีมันก็มีร้ายปนอยู่บ้างเหมือนกัน วิสัยของโลกมันเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่วิสัยธรรมะ ถ้าเรื่องธรรมะ มันก็เป็นเนื้อดีล้วน แต่เรื่องนี้มันดีบ้างชั่วบ้าง ปนกันไป
เช่นน้ำท่วมนี่ เราว่ามันไม่ดี ความจริงมันก็ดีเหมือนกัน มันดีหลายอย่าง นั่งรถไปตามถนนน้ำท่วม เห็นแท็กซี่กับตำรวจก็เป็นมิตรกันดี เมื่อก่อนนี่เรียกว่าเป็นขมิ้นกับปูน เห็นหน้ากันไม่ได้นะแท็กซี่กับตำรวจนี่ แต่ว่าตอนน้ำท่วม นี่ตำรวจช่วยเข็นแท็กซี่ เอาใจใส่ดี อาตมาว่าเออ, ดี น้ำท่วม แท็กซี่กับตำรวจก็ได้เป็นมิตรกัน แล้วก็ตอนน้ำท่วมนี่ ถุงใส่ทรายขายดี คนขายถุงนี่ก็ต้องขึ้นราคาขึ้นเป็นพิเศษ ได้แต่ถุงนะ ไม่ได้ทรายนะ ก็ต้องไปซื้อทรายอีก บางแห่งทรายมีแต่เขาไม่ขาย เขาบอกว่าไว้ขายรัฐบาลหมดเลย ขายรัฐบาลมันแพงกว่าขายกับประชาชน เพราะว่ารัฐบาลคิดอะไรกับประชาชนก็แพงกว่าบริษัทเหมือนกัน เช่นเสาไฟฟ้านี่ ถ้าซื้อของบริษัทถูกกว่าของรัฐบาล ๑๕ เปอร์เซ็นต์ พอไปซื้อของการไฟฟ้านี่ แพงขึ้นไป ๑๕ เปอร์เซ็นต์ ถามว่าทำไมต้องแพงกว่าของประชาชน ธรรมเนียมมันอย่างนี้ครับหลวงพ่อ ก็ตั้งธรรมเนียมไว้ให้มันแพงกว่า เราก็ไม่ว่าอะไรก็ต้องซื้อ เพราะว่าเขาบังคับให้ซื้อ อันนี้พวกขายถุงขายทรายนี่สบาย พอน้ำท่วม เขาไม่อยากให้น้ำลดหรอกพวกนี้ เพราะจะได้ขายถุงขายทรายกันต่อไป เขาดีใจ พวกนั้นพวกสบายใจ
คราวนี้พวกมีเรือก็พวกสบายใจ พอมีเรือสักลำก็เข้ารับคนออกจากบ้านมาขึ้นถนน มาอะไรต่ออะไร รับไปรับมา ราคาก็แพงกว่าธรรมดา เขาก็ดีใจเหมือนกัน พอน้ำลด เขาเสียใจว่า แหม, ลดเร็วเกินไป คือจะหารายได้จากการลำเลียงคนอีกเยอะ เขาก็มีรายได้ เขาไม่ได้เสียใจพวกเหล่านั้น สบายใจไป คนบางคนก็เป็นทุกข์ บางคนก็เป็นสุข ไอ้สิ่งที่มีอยู่ในวิกฤต มันให้ความสุขแก่บางคน ให้ความทุกข์แก่บางคน ให้การหัวเราะแก่บางคน แต่ให้การร้องไห้แก่บางคน มันเป็นแบบนั้น เรื่องนี้มันสุดแล้วแต่ใจของเรา สิ่งเหล่านั้นมันเป็นไปตามเนื้อ ตามธรรมชาติ ฝนตก แดดออก น้ำมาก น้ำน้อย แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่จะต้องเป็นอยู่ตามเรื่องของมัน
บ้านเรานี่มีน้ำท่วม แต่ที่ประเทศอิตาลีก็เกิดแผ่นดินไหว ในคราวเดียวกันนี่แหละเกิดแผ่นดินไหว คนตายเป็นพัน ไม่ใช่ตายน้อย ๆ ตายเป็นพัน หาซากไม่พบอีกเยอะ หาพบแล้วตายเสียก็มี บาดเจ็บสาหัส ต้องขนศพ ขนคนกันให้วุ่นวายไปหมดเลย นั่นเรื่องธรรมชาติ คือแผ่นดินไหว มันไหวบ่อยในประเทศตุรกี ประเทศอิตาลี แถวนั้น ไม่ทราบว่าแผ่นดินตรงนั้นมันหลวมอย่างไร มันไหวบ่อย ๆ ญี่ปุ่นนี่ก็มีแผ่นดินไหว ฟิลิปปินส์นี่ก็มีแผ่นดินไหว เมืองไทยไหวนิดหน่อย …... (10.54 เสียงไม่ชัดเจน) ไหวนิด ๆ หน่อย ๆ ก่อนนี้พบว่ามีแผ่นดินไหว แต่ไม่มีใครเจ็บ ไม่มีใครตาย ดูเหตุการณ์แล้วบ้านเรายังอุ่นใจอยู่ ว่าไม่รุนแรงเกินไป อะไรที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ไม่รุนแรง สู้ที่มันเกิดขึ้นในต่างประเทศไม่ได้ น้ำท่วมบ้านเรานี่ ถ้าเปรียบกันแล้ว มันยังไม่รุนแรงเลย ถ้าเปรียบกับประเทศอื่นที่ท่วมมันมากกว่านี้
มีข่าวโทรทัศน์ น้ำท่วมในอเมริกา น้ำท่วมในประเทศเยอรมัน ในฝรั่งเศส ถ้าเอามาเปรียบกับที่กรุงเทพ มันก็หนักกว่า หนักกว่าบ้านเรา แต่ว่าของเขามันดีอย่างหนึ่ง คือว่าท่วมไว แล้วก็ไปไว เพราะแผ่นดินมันไม่เหมือนของเรา ของเรานี่มันเป็นแอ่ง เมื่อมาแล้วมันก็ไปช้า ๆ อยู่เยี่ยมเที่ยวในกรุงเทพฯ นาน ๆ หน่อย เพราะว่ากรุงเทพฯ นี่เมืองน่าเที่ยว คนก็ชอบมาเที่ยว น้ำก็ชอบมาเที่ยวด้วยเหมือนกัน มันคิดอย่างนั้น ฉะนั้นต้องอยู่นาน
ถ้าเทียบส่วนกับที่อื่นแล้ว ของเขาท่วมหนักกว่าเรา แรงกว่าเรา ไม่ว่าภัยธรรมชาติอะไรที่เกิดขึ้นในเมืองไทยนั้น เรื่องเล็กน้อยเหลือเกิน อย่าเอาไปเทียบกับที่อื่น ถ้าไปเทียบกับที่อื่นแล้ว เรามันเป็นเรื่องนิดหน่อย ของเขามันใหญ่โตมโหฬาร บังกลาเทศเกิดพายุใหญ่ ทีเดียวมีคนตายไป ๗ พันคน คืนเดียวมันขึ้นมากวาดไปเลย คลื่น เขาเรียกว่าคลื่นใต้น้ำ มันม้วนขึ้นมา ม้วนขึ้นมาบนดิน แล้วกวาดคนลงไป ตายไปตั้ง ๗ พันกว่าคน วัวควายตายไปอีกมากมาย บ้านเรือนเสียหายเยอะแยะ ของเราไม่มีอย่างนั้น เคยมีที่แหลมตะลุมพุก ก็เรียกว่ายังไปเทียบกับเขาไม่ได้ ยังสู้เขาไม่ได้ มันมวยคนละชั้นอย่างนั้นเอง
คิดดูแล้ว เมืองไทยเรานี่ มันยังดีอะไรหลายอย่าง ภูมิประเทศยังช่วย ธรรมชาติก็ยังช่วย เช่นว่าพายุที่เรียกว่า โกหรือคิมอะไรนี่ ที่มาตกหนักเมืองไทยนี่ มันตกหนักที่ประเทศเวียดนามมากกว่าเรา แต่ว่าประเทศนั้นเขาปิดข่าว เขาไม่ให้โลกรู้ แต่ทีหลังโลกเขารู้ก็ว่ามันเสียหายมาก ทุ่งนาเสียหายมาก บ้านเรือนเสียหายมาก คนก็ตายมากเหมือนกัน มันทิ้งหนักที่โน่นแล้ว หากแต่มาบ้านเรามันน้อย ที่น้อยก็เพราะว่า มีภูเขาเขาเรียกว่าพนมดงเล็ก เขาดงรัก ฝรั่งมาเขียนเป็นดงเล็ก เขาดงรัก พนมดงรักนี่ มันต้านไว้ พอพายุใหญ่มาตรงนั้น มันก็เบาลง เพราะพายุนี่พอขึ้นแผ่นดินมันก็เบา ถ้ายังอยู่ในน้ำมันก็แรง ที่แรงก็เพราะว่าได้รับไอน้ำที่ระเหยขึ้นมาสมทบ และที่มันกว้าง แต่พอถึงมาบนบกแล้ว มันมีภูเขา มีที่ไม่สม่ำเสมอ มันก็อ่อนตัว แต่ว่าก็ยังตกพอสมควร ถ้าเปรียบแล้วมันน้อยกว่าประเทศอื่นที่เขารับเคราะห์มากกว่าเรา
ฟิลิปปินส์ ถ้าเกิดพายุทีไรแล้ว เสาไฟนี่ล้มระเนระนาดไปเลย เสาเหล็กก็ยังล้ม เสาปูนก็ล้ม บ้านเรือนเสียหาย น้ำท่วมจมไปหมดทุกหนทุกแห่ง เทียบส่วนกันไม่ได้กับบ้านเรา พวกเราที่ถูกน้ำท่วมนี่มานึกถึงที่เขาเป็น เขามีกันที่อื่นแล้ว จึงสบายใจ สบายใจว่าของเรานี่ยังน้อยกว่าของเขา เบากว่าของเขา คิดอย่างนี้ใจก็สบาย จะไม่เกิดความกลุ้มใจอะไรมากเกินไป ความจริงเรื่องความกลุ้มใจนี่ ไม่ควรจะให้เกิด ต้องใช้ปัญญาพิจารณา พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าให้ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา พิจารณาให้รู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร ธรรมชาติมันเป็นอย่างไร แล้วเรามานั่งกลุ้มใจมันแก้ปัญหาได้หรือไม่ มันเป็นทุกข์ มันแก้ปัญหาอะไรได้หรือไม่ ก็แก้ไม่ได้ แต่ว่าเป็นการเพิ่มความทุกข์ให้แก่ตัวเอง สิ่งนั้นมันเป็นเรื่องเป็นอยู่ตามธรรมชาติ แล้วเราก็ไปเอาสิ่งนั้นมาพิจารณาด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจ จึงมีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจด้วยปัญหาต่าง ๆ เป็นการลงโทษตัวเอง ทำให้จิตใจไม่สบาย
แต่ถ้าเรานึกในแง่ที่ดีที่งาม คิดเปรียบเทียบเหมือนกับที่กล่าวมาว่า ของเรานี่มันน้อยกว่าที่อื่น เบากว่าทื่อื่น ความรุนแรงก็ไม่เกินไป อย่างนี้ก็ใจสบายแล้ว เรามีความสบายใจ แล้วเราก็คิดว่ามันไม่ใช่เราพวกเดียว ครอบครัวเดียว มันเป็นกันทั้งอำเภอ หลายอำเภอ แล้วเป็นกันทั่วกรุงเทพฯ สมัยก่อนกรุงธนบุรีไม่เป็นไร กรุงเทพท่วมก่อน ก็ถนนบางกะปิ มีนบุรี บางพลี บางบ่อ สมุทรปราการ ก็เรียกว่าเป็นทัพน้ำเอาก่อน ธนบุรีหนุนเดี่ยว (16.28 เสียงไม่ชัดเจน) ยังยึดเหนี่ยวว่าเราไม่เป็นไร เราไม่เป็นไร แต่เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร ธนบุรีกลับหนักกว่ากรุงเทพฯ หลาย เพราะน้ำมันเทไปทางด้านนั้น
คนที่หนักใจที่สุดคือเจ้าของสวน ที่จะต้องคอยเพิ่มดินขึ้นมา เพื่อไม่ให้น้ำไหลลงไปในสวน แล้วก็ไม่ได้หลับได้นอน พ่อ ลูก แม่ ต้องอยู่ยามกัน พ่ออยู่ยามหนึ่ง ลูกอยู่ แม่อยู่ ช่วยกัน ช่วยกันเดินเฝ้า เพราะว่ามีนักเลงดีที่จะช่วยให้น้ำเข้าสวนได้เหมือนกัน ของตัวจมแล้ว ของเพื่อนยังไม่จม ก็นึกว่าไม่เหมือนกู ต้องช่วยมันให้จมหน่อยนะ มันไม่ยากอะไร เอามือเขี่ยนิดเดียวเท่านั้น พอให้น้ำไหลเท่านั้น มันก็พังไป …... (17.18 เสียงไม่ชัดเจน) ฉะนั้นก็ต้องคอยเดินดูอยู่ตลอดเวลา แบกจอบด้วยนะ ไม่ใช่เดินเฉยๆ เดินแบกจอบ คอยเดินดู ตรงไหนทำท่าจะน้ำเข้า ก็เอาอิฐดิน (17.30 เสียงไม่ชัดเจน) มายา ทำให้แห้ง แล้วก็ต้องเพิ่มคูตลอดเวลา สูบน้ำออกจาก …… (17.37 เสียงไม่ชัดเจน) คนที่ธนาคารกสิกรไทยบอกว่า หมู่นี้มีคนถอนเงินออกมาก โดยเฉพาะชาวสวนฝั่งโน้นของจังหวัดนนทบุรี มาถอนเงินเป็นหมื่น ถอนวันละหมื่น สองหมื่น ถอนเอาไปใช้ ไปซื้อน้ำมัน ไปซื้อเครื่องสูบน้ำ แล้วก็ไปจ้างคน เอาดินมาก่อกัน กันไม่ให้สวนล่ม เพราะว่าทุเรียนนี่ถ้าแช่น้ำ คืนเดียวเรียบร้อย ตายหมดเลย ก็ต้องปลูกไว้ให้แห้ง วันไหนรักษาไว้ได้คราวน้ำใหญ่ มีกำไร แต่ถ้าปล่อยให้น้ำขังแล้วก็ตายหมดเลยทีเดียว เมื่อปี ๒๔๘๕ ที่ว่าท่วมใหญ่ บางครัว บางสวนก็รักษาไว้ได้ เขากั้นทำคูแข็งแรง สูบน้ำรักษาไว้ได้ พอน้ำแห้ง เขาก็ตอนกิ่งทุเรียนที่มันไม่ตายขายต่อไป ก็ได้กำไรพอสมควร นี่ถ้ากันได้แล้วมันก็ดี แต่ว่าไม่ใช่ว่าจะทำได้ทุกราย บางรายก็ทำไม่ไหว ทุนไม่พอ แรงงานไม่พอ ก็ล่มจมไป เป็นเรื่องที่น่าสงสาร
แต่ว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่เกิดเพิ่งมี เพิ่งเกิด มันก็เป็นมาแล้ว บรรพบุรุษของเราได้ต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองมาตั้งแต่ยุคโน้น ยุคสุโขทัยเป็นราชธานี เมื่อเรามาสร้างบ้านสร้างเมืองขึ้นในบริเวณนี้ เราก็ต้องต่อสู้กับปัญหาต่าง ๆ ตลอดมา เอาใจชนะมาได้โดยลำดับ จนกระทั่งถึงพวกเราสมัยนี้ ถ้าพูดกันไปแล้วบรรพบุรุษนั้นลำบากมากกว่าเรา เพราะว่าเครื่องมือไม่ค่อยจะมี สิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายก็ไม่ค่อยจะมี แต่น้ำนั้นมันก็มีเหมือน ๆ มันก็ท่วมเหมือน ๆ กัน ยุคสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็เคยท่วมใหญ่กรุงเทพ แล้วต่อมาก็ปี ๒๔๘๕ ห่างกัน ๒๕ ปีจึงมาท่วมอีกทีหนึ่ง ถ้าเรานับมาตั้งแต่ปี ๒๔๘๕ มาจนถึง ๒๕๑๘ ก็ ๒๓ (19.58 อาจเป็น ๓๓ ปี) มันก็ระยะใกล้ ๆ มันเป็นยุคที่จะต้องเกิดท่วม แล้วไม่ใช่ท่วมประเทศเดียว ถ้าท่วมแล้ว ท่วมทั่วโลก เดี๋ยวประเทศนั้น เดี๋ยวประเทศนี้ ตามยุค ตามกาลเวลา เป็นเหมือนกันหมด ธรรมชาติจึงไม่ค่อยลำเอียงหรอก เขาแจกจ่ายให้ทั่วถึงกันทุกหนทุกแห่ง เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ให้ไปทั่วกัน
กรุงเทพฯ นี่ท่วม แต่ปักษ์ใต้ยังแห้ง คนปักษ์ใต้มาถามว่ามีฝนบ้างหรือยัง ยังไม่มี มันมาเทเอาที่นี่ เพราะว่ามรสุมยังไม่ไป เมื่อใดความกดอากาศจากประเทศจีน จากไซบีเรียแรงลงมาถึงกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ หนาว มันก็ดันฝนไปปักษ์ใต้ ไปตกตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ บางสะพานใหญ่ บางสะพานน้อย ไปชุมพร ลงไปนครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง โน่น ไปถึงโน่นน่ะ กลันตัน ตรังกานู พอออกไปเจอกันใหญ่ บางทีก็เทกันมาเหลือเกิน จนกระทั่งว่าเสียหายย่อยยับไปก็มีเหมือนกัน มันเป็นอย่างนั้น คนเฒ่าคนแก่ก็เคยพบกับสิ่งเหล่านี้ และถ้าไม่ตายเสียก็ได้พบอีก ในชั่วอายุคน ๆ หนึ่ง ต้องพบปัญหาน้ำท่วมอย่างน้อย ท่วมใหญ่นี่สัก ๓ ครั้ง แต่เล็ก ๆ นั่นมันเป็นเรื่องธรรมดา ปีหนึ่งมันท่วมหลายครั้งหลายหน อาตมาอยู่พัทลุงนี่ ปีหนึ่งมันต้องท่วม เรียกว่า เดือนสิบสอง เดือนอ้าย สมัยเด็ก ๆ มันต้องพะหลายหน เขาเรียกว่าน้ำพะ น้ำพะนี่คือน้ำมาก มันมากสองสามหน แต่ว่าก็ไม่ค่อยมีใครเดือดร้อน เพราะเขารู้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นเช่นนั้น
เขาคิดได้ ปลงตกได้ เขาก็สบายใจ ทีนี้คนเราไม่ได้คิดว่าเรื่องเช่นนี้มันเคยมีมาก่อนหรือเปล่า ถ้าเราคิดว่ามันเคยมีมาก่อน เรื่องที่เป็นอยู่นี่ มันเคยเป็นมาแล้ว เป็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่รู้จะกี่สิบครั้งกี่สิบหน มันก็เป็นมาโดยลำดับ ไม่ใช่ว่ามารับเคราะห์ในสมัยเรา แต่ก็รับกันมาเรื่อย ๆ มาโดยลำดับ จนกว่าจะถึงพวกเราทั้งหลาย คนที่เกิดมาก่อนก็มีประสบการณ์เรื่อย ๆ อย่างนี้ตลอดมา เมื่อเราคิดได้อย่างนี้ เราก็ไม่น่าจะเดือดร้อนอะไรมากเกินไป แล้วถ้าเราคิดอีกอย่างหนึ่งว่า ความสะดวกสบายของคนในสมัยปัจจุบันนี้มีมากกว่าคนในสมัยก่อน เพราะในสมัยก่อนสมมติว่าฝนตก ๗ วันนี่จะไม่มีข้าวกิน ไม่มีข้าวกินเพราะว่าแดดไม่ออก เมื่อไม่มีแดดนี่ไม่รู้จะเอาข้าวไปตากอย่างไร เพราะว่าเขาไม่ได้เก็บข้าวสารไว้เป็นถุง ๆ เขาสีข้าว เขานวดข้าวทุกวัน อาตมาเป็นเด็ก ๆ นี่เคยเห็นมา คุณโยมนวดข้าวทุกวัน ตื่นเช้าก็นวด นวดแล้วก็ผึ่งแดด พอผึ่งแดดแล้วเอาไปสี สีแล้วเอาไปตำด้วยครก แล้วก็เอามาหุงรับประทานกัน ถ้าฝนตก ๗ วันนี่เป็นปัญหาแล้ว เพราะว่าไม่มีแดดจะตากข้าว เขาจะทำอย่างไร ก็ต้องใส่กระด้งเอาไปวางไว้บนเตาไฟ บนเตาไฟก็มีร้าน ภาษาปักษ์ใต้ เขาเรียกว่า “ผรา” ผ-ผึ้ง-ร-สระอา ผรา วางไว้บนนั้นแล้วก็ติดไฟไว้ ติดไฟย่าง ย่างข้าวให้มันแห้ง พอย่างแห้งแล้วเอาไปตำ ตำแล้วก็ได้ข้าวสารมารับประทาน เห็นสภาพอย่างนั้น เขาลำบาก เพราะว่าไม่มีแดดนี่เรื่องลำบาก และไม่มีการเก็บข้าวสารไว้มาก ๆ เขาใส่ไว้ในหม้อดิน หม้อใบอย่างนี้ ใส่ข้าวสารไว้ แล้วก็ตักหุงไปก็สี สีเอามาใส่เพิ่มเติมไว้ตลอดเวลา ทำอยู่อย่างนั้น
พอไม่มีแดดสัก ๓ วัน ๗ วันก็เดือดร้อนแล้ว เพราะไม่มีแดดจะผึ่งข้าว ก็ต้องหาไฟมาย่างข้าว เพื่อให้แห้งแล้วเอามาตำให้เป็นข้าวสาร แต่ว่าข้าวแบบนั้นน่ะ รับประทานอร่อย ไม่เหมือนข้าวโรงสี ข้าวโรงสีนี่เราเอาไปสีโรงสี โรงสีเอาหมด ส่วนดี ๆ ของข้าว โรงสีเอาไปหมด แล้วเอาไปให้ใครรับประทาน เอาไปให้หมูรับประทาน หมูนี่มันไม่ได้ทำนา แต่มันกินของดีกว่าคนทำนา แล้วคนทำนานี่เหลือแต่แป้งนะนี่ จืดชืดไม่เป็นรส เป็นชาติ ข้าวสารเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้เรื่องเลย ที่วัดนี่ที่เขาหุงให้ฉันทุกวัน ๆ ฉัน ๆ แล้วรู้สึกว่าไม่เหมือนที่โยมทานที่บ้าน วันไหนเขานิมนต์ไปฉันที่บ้านก็นึกทุกที เอ, ข้าวสารที่นี่มันไม่เหมือนข้าวสารที่วัดนี่ ก็ภาพมันติดกันน่ะ ที่เขาหุงให้ฉันที่บ้านรสมันดีกว่า แต่มาหุงที่วัดนี่ เหมือนกับกินขี้เลื่อยเลย กินข้าวบ่อย ๆ เอ, ข้าวสารเราทำไมมันไม่ค่อยมีรสมีชาติ สืบไปสืบมาเขาเรียกว่าข้าวโอชานะนี่ โอชานี่แปลว่ารส แต่มันไม่มีรส ควรจะเรียกว่าข้าว “นโอชา” มากกว่า มันไม่ได้เรื่อง กินไปแล้วมันก็อย่างนั้น มันไม่ค่อยให้กำลังร่างกายเพราะคุณภาพมันน้อย คุณภาพมันน้อย แต่ว่าข้าวที่เขาตำด้วยมือนี่คุณภาพมาก มีแต่ข้าวไม่มีกับยังทานอร่อย แต่ถ้ามีกับก็ยิ่งทานมากเข้าไปอีก กับข้าวมันอร่อยนี่ คือการต่อสู้ของคนสมัยก่อน เขาสู้กับอย่างนั้น
แล้วก็สังเกตเห็นอีกอันหนึ่ง ไม้ขีดไฟ หน้าฝนนี่แหม, เอามาจุด ชึก ไม่ติด ชึก ไม่ติด ทำอย่างไรเพื่อให้จุดไฟติด เขาใช้วิธีการอบไม้ขีด เอาไม้ขีดใส่ไปในรักแร้ หนีบไว้ เห็นโยมเขาทำอย่างนั้น เอาไม้ขีดทั้งกลักใส่ไปในรักแร้ หนีบไว้สักพักหนึ่ง พอสักพักหนึ่งมันก็อุ่น พออุ่นแล้วเอามาขีด ติด เขาก็มีปัญญาเหมือนกัน รู้จักใช้ของในครัวให้เกิดประโยชน์ เพราะว่าอากาศมันชื้น ไม้ขีดมันเปียกจุดไม่ติด ถึงจะต้องไปเอามาใส่รักแร้ไว้ สักสองสามนาที มันก็แห้งเกิดความร้อนก็เอามาขีดได้ นี่วิธีการต่อ เขาทำอย่างนั้น เขาต่อสู้กับปัญหาด้วยอาการอย่างนี้
แสงสว่างที่ใช้ในบ้าน สมัยก่อนนี่มันมีไฟฟ้ากับเขาเมื่อไหร่ เดี๋ยวนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะมีไฟฟ้าทั่ว รัฐบาลมีนโยบายว่าจะให้ใช้ไฟฟ้าทุกตำบล แต่ว่าตำบลไหนมีไฟฟ้าใช้ ประชาชนนี่ยอม ...... (27.13 เสียงไม่ชัดเจน) ยอมตั้งแต่เริ่มจะใช้ เสา ประชาชนก็ต้องออก สายประชาชนก็ต้องออก แปลว่าต้องปักเสาเอง ต้องเดินสายเอง แต่ไม่ใช่แบกเสามาปัก เจ้าหน้าที่เขาไปปักให้ แต่ต้องซื้อเสา ต้องซื้อสายไฟ ต้องซื้อเครื่องประกอบที่จะใช้ในบ้าน มีซื้อก็ต้องซื้อ ซื้อหมดทุกอย่าง แล้วก็เดินไฟ พอเดินไฟแล้ว การไฟฟ้าเขาคิดค่าไฟ นี่เขาเรียกว่าเป็นการขายของที่เอาเปรียบที่สุดในโลกเลย แต่ว่าคนซื้อต้องทำเอาเองทุกอย่าง มันผิดกับขายของอื่นนะ ชาวนาปลูกข้าวจะเอาข้าวไปขาย ต้องหาบไป ต้องแบกไป ต้องเทินไป เอาไปขาย แต่ว่าการไฟฟ้า คนซื้อต้องไปง้อ ต้องไปบอกให้เขามาช่วยทำให้ แล้วไม่ใช่มาดังใจนะ ติดต่อเสร็จแล้วนี่ สามเดือนสี่เดือน เสายังไม่มา ปักเสาโด่ไว้แล้ว รอสายอีกสามเดือนสี่เดือน แหม, กว่าจะได้ใช้นี่ทุกลักทุเล
แต่ว่าสมัยก่อนไม่มีสายไฟอย่างนั้น ไม่มีไฟฟ้า เขาใช้อะไร ใช้ไต้ ไต้นี่อาศัยน้ำมันยาง สมัยก่อนต้นยางมันเยอะ เขาก็ไปเจาะให้เป็นรู พอเจาะเป็นรูแล้วน้ำมันยางก็ออกมา ออกขังอยู่ในรูนั้น ขังในรูเขาก็ตัดเอามา ตัดมาแล้วก็เอา เขาเรียกว่า เปลือกต้นเสม็ด ต้นเสม็ดนี่มันมีสีขาวกับสีแดง เมื่อวานไปไชยานี่พาพระฝรั่งไปด้วย ไปเดินชมวัด บอกนี่ต้นอะไร ไม้ต้นนี้สีแดง ไม่เคยเห็น ก็บอกว่านี่มันต้นเสม็ด เรียกว่าเสม็ดชุน แผ่ต้นเสม็ด เสม็ดมันต้นขาว ขาวมันมีเปลือกหุ้ม เนื้อเราไปกระเทาะมา แล้วก็เอามาชุบกับน้ำมันยาง พอชุบน้ำมันยางแล้วเอาใบเตยนี่มาห่อ ห่อแล้วก็เอาเชือกมัด เขาเรียกว่าไต้ ไต้นี่คนทำมาขาย อันเล็ก ๆ ก็มี อันใหญ่ก็มี ถ้าวัดมีงานมหาชาติ มีงานบวชนาคนี่ ขออภัยด้วย ต้นไต้นี่ใหญ่ ขนาดเอามือโอบไม่รอบ ใหญ่ เวลาปักนี่ก็ต้องเอาไม้ไผ่มาทำเป็นนั่นเสียอย่างนี้ เอาไต้วางบนนั้น แล้วก็คอยเขี่ย คอยเขี่ยบ่อย ๆ ถ้าไม่เขี่ยแล้วไฟมันไม่ลุก ก็มีคนคอยเขี่ย ตรงนั้นดวง ตรงนี้ดวงไป น้ำมันไม่มี
ต่อมาก็มีน้ำมันใช้ ก็ตะเกียงสังกะสีที่เขาบัดกรี แล้วเอาไส้ใส่ลงไป เอาน้ำมันใส่ ควันโขมงเลย ถ้าไปนั่งอ่านหนังสือใกล้ตะเกียงก็จมูกดำเหมือนกับรูยาเลย ควันมันเข้าจมูกนะ ก็ใช้กันอยู่อย่างนั้นล่ะ ท่านเจ้าคุณพุทธทาสนี่ท่านใช้ตะเกียงอย่างนั้นหลายปี ที่สวนโมกข์เมื่อเปิดใหม่ใช้ตะเกียงอย่างนั้น เขียนหนังสือ ต่อมามีคนซื้อตะเกียงลานไปให้ ตะเกียงลานมันไม่มีควัน เพราะมันมีเครื่องดูดควัน ตะเกียงลาน หนังสือที่ท่านเขียนเล่มแรก ๆ ให้เราอ่านนั้น เขียนจากแสงตะเกียงริบหรี่ทั้งนั้น ไม่ได้มีไฟฟ้าเขียนนะ ต่อมาเดี๋ยวนี้มีไฟฟ้าให้ใช้ มีเครื่องประกอบการทำงานสะดวกสบาย ห้าสิบปีนี่เรียกว่าเดี๋ยวนี้สบาย มีเครื่องใช้ทันสมัย คนโบราณนี่เขาต่อสู้มากกว่าเรา
เอ้า, การไปไหนมาไหน คนสมัยโบราณนี่ก็บ้านเรานะ ชาวนานี่ก็ขี่ควายขี่วัว แต่ชาวนานี่ก็สงสารควาย ไม่อยากขี่ ให้มันเดินสบาย ๆ แล้วก็เดินจูงมันไป วัวก็จูงไป ไปไหนไกล ๆ ก็เดินกันไป จะไปเยี่ยมญาติไกล ๆ ก็ต้องเดินไป นอนค้างอ้างแรม กว่าจะไปถึงบ้านญาติได้ มันก็ไปมาหาสู่กัน มีงานมีการก็มาช่วยเหลือกันอย่างแข็งแรง ทั้ง ๆ ที่ไปมาลำบาก รองเท้านี่คนสมัยก่อนไม่เคยใช้ เขาไม่ได้ใช้รองเท้านะ เขาเดินเท้าเปล่า จะเห็นได้ว่าคนสมัยก่อนเดินโขยกเขยกมากที่สุด ที่โขยกเขยกก็เพราะว่ามันมีคุดทะราดที่ฝ่าเท้า คุดทะราดฝ่าเท้านี่ไม่ค่อยหาย เพราะมันรับแต่ของเจิ้น (32.00 เสียงไม่ชัดเจน) ตลอดเวลา ถ้าไปเดินในป่าหญ้าชนิดหนึ่ง พวกนี้ต้องเดินร้องไห้ เพราะหญ้าชนิดนั้นมันแข็ง แหลม เขาเรียกว่า หญ้าหนวดปลาดุก หญ้าหนวดปลาดุกนี่มันแข็ง ไปเหยียบก็แข็ง จึ้ก ยกเท้าขึ้น แล้วก็น้ำตาไหลเลย เห็นทีไรแล้วก็น่าสงสาร แต่ก็ต้องเดินไป เดินไปอย่างนั้น ไม่ได้มีอะไรป้องกันเท้า เขาก็อยู่ได้ สร้างบ้านสร้างเมืองให้เราได้อยู่อาศัย เวลาจะสร้างบ้านสร้างเรือนนี่ แม้แต่ว่าไปถึงก็บอกโยมด้วย เอาเสาแปดต้น เอาไม้ขนาดนั้น สองคูณสาม สามคูณสี่ โรงเลื่อยก็บรรทุกมาให้เสร็จเลย
โอ๊ย, สมัยก่อนนี่จะสร้างบ้านสักหลังนี่ อาตมาจำความได้ว่า โยมผู้ชายสร้างเรือนทั้งหลัง เรือนมันมีหลังหนึ่งแล้วแต่มันเก่าเต็มที ฝาก็ทำด้วยไม้ไผ่ขัดแตะ ขี้มอดเกรอะกรัง ก็อยากจะทำเรือนพื้นกระดาน ฝากระดาน เสาดี ๆ หน่อย พอเสร็จงาน ก็ขึ้นไปบนภูเขา ไปตัดไม้ ขึ้นทุกปี ๆ จนท่านอาจารย์พระครูที่วัดคูหาสวรรค์มา โอ๊ะ, พ่อมึงนี่กูเห็นขึ้นป่าทุกปี ยังไม่เห็นเป็นเรือนขึ้นมาสักทีว่ะ เลยบอกมันยังไม่ครบครับ มันมีเสา แต่เครื่องบนมันยังไม่มี แล้วไม้ทำกระดานก็ไม่มี ขึ้นตัดทุกปี ๆ แล้วก็มากองไว้ แล้วก็เลื่อยต่อไป เลื่อยอย่าง …… (33.43 เสียงไม่ชัดเจน) คนเดียว เลื่อยไม้กระดาน เลื่อยแล้วจัดก็กองไว้ ๆ ได้เสา ได้ไม้กระดาน ได้เครื่องบนอะไรครบ ครบแล้ว ต้องไปวานคนมา วันไหนจะนัดขัดเสา (34.00 เสียงไม่ชัดเจน) ต้องวานคนมาช่วยขัดเสา บางคนก็มีเครื่องมือมาช่วยกันถาก ทำให้เป็นเสาแปดเหลี่ยม แล้วก็ช่วยกันเจาะด้วยสิ่ว สิ่วมาวางแล้วทุบ ตอกมันลงไป …... (34.14 เสียงไม่ชัดเจน) ในสมัยก่อนเขาเอาไปใส่ เสาก็เจาะเป็นรู เอาไม้ปืนใส่เข้าไปในรูนั้น เจาะทั้งนั้น ข้างบนก็เจาะ พอเจาะเสร็จเรียบร้อย เอ้า, วันนี้ช่วยกันยกบ้าน คนก็มากัน ต้มแกงไก่สี่ห้าตัว ฟักเขียวหลายลูก แกงน้ำกะทิมันเยิ้มกันเลยทีเดียว เป็นของคาว ของหวานก็ข้าวเหนียวแล้วก็กาบมะพร้าวมาคลุกกับน้ำตาลโตนด ให้มันหวาน ๆ หน่อย แล้วก็กินเป็นของหวาน
มาช่วยกันยกเสา ตั้งปูน ตั้งฝาอะไรขึ้น เรียกว่าทำขึ้นเป็นโครงยังไม่มีหลังคา หลังคานี่ก็ยังไม่มีกระเบื้อง กระเบื้องหายาก แต่จังหวัดพัทลุงนี่ไม่มีกระเบื้อง มีแต่จาก ต้นจาก ต้นจากมันก็คล้ายกับต้นสาคู แถวนี้ไม่มีสาคู มีภาคใต้ ใบมันหนา โตเท่าฝ่ามือ เอามาเย็บเป็นจากแล้วมุงหลังคา มุงหลังคามีโครงแล้ว ยังไม่มีพื้นกระดาน เพราะว่ากระดานยังไม่เรียบร้อย เอากระดานมาวางทีละแผ่น ทีละแผ่น กว่าจะเต็มห้อง วางไปนอนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้พื้น แล้วก็ฝายังไม่มี ต้องเตรียมทำฝา กว่าจะได้อยู่ ตั้งหลายปี พอได้บ้านอยู่เรียบร้อย เปอร์เซ็นต์นอนไม่ถึง ๒ ปี ก็ตายแล้ว เอ้า, อาตมาดูแล้วก็นึกสลดใจว่า แหม, โยมนี่เหนื่อยกับการสร้างบ้านหลายปี พอสร้างบ้านเสร็จนอนสบาย ๒ ปีเท่านั้นเอง เป็นโรคปอด แล้วก็ถึงแก่กรรมไป
กลับไปบ้าน เห็นบ้านหลังที่ยังอยู่เดี๋ยวนี้ เห็นทีไรก็นึกถึงโยมสร้างตั้งหลายปีกว่าจะเป็นบ้านขึ้นมาได้ แต่บ้านหลังนั้น เดี๋ยวนี้มันก็แก่เต็มทีแล้ว หลังคาก็เป็นรู ซ่อมรูรั่วอะไรต่ออะไรไป พวกเขาอยู่กัน น้องเขาอยู่กันไปดูแล้วก็อย่างนั้น ๆ คนบางคนบอกว่าเจ้าคุณไม่มาซ่อมบ้านกันบ้าง บ้านไม่ใช่วัดแล้วฉันจะมาซ่อมได้อย่างไร ถ้าว่าเป็นกุฏิพระ ฉันจะมาซ่อมได้ นี่มันบ้าน ฉันจะมาซ่อมได้อย่างไร คนเขาจะด่าสิว่าเจ้าคุณจะมาซ่อมบ้าน มันไม่ได้นะโยมนะ ก็อยู่กันอย่างนั้น ดูมันด้วยความสังเวชใจ เอ้อ มันแปลก แต่เดี๋ยวนี้คนแถวนั้นเขาไม่ได้สร้างบ้านด้วยไม้แล้ว เขาสร้างตึกทั้งนั้นเดี๋ยวนี้ รอบ ๆ บ้านเขาเป็นตึกหมดแล้ว เขาทำเอาเอง ไปซื้อเอาทรายมา ขนทรายมา หาบมาทีละสองปี๊บ ๆ ไปขนหินมา แล้วก็เอาไม้แม่พิมพ์มา กระดานสองสามแผ่น ตั้งคลุม กวนกัน ช่วยกัน ผัวเมีย ลูก ช่วยกันกวนปูน เทหล่อ หล่อทั้งนั้นเวลานี้ หล่อมันสะดวกดี แล้วก็ก่อเป็นตึก เดี๋ยวนี้เป็นตึกทั้งนั้น ทำกันสะดวกสบาย เพราะวัตถุก่อสร้างมันหาง่าย สะดวกสบาย
สมัยก่อน คนตายแล้วกระดูกฝังดินทั้งนั้น ไม่ว่าใคร ฝังไว้ในวัดก็ได้ ในบริเวณโบสถ์ก็ได้ ขุดหลุมแล้วเขาก็ฝังทิ้งไว้ ๆ เดี๋ยวนี้เขาไม่ฝังแล้ว เขาก่อเป็นเจดีย์ ไอ้เสือก็ใส่เจดีย์ คนมั่งมีก็ใส่เจดีย์ คนชั่วคนร้ายก็ใส่เจดีย์ด้วยกัน ไปเห็นชื่อแล้ว ไอ้เสือนี่ก็อยู่บนเจดีย์ใส่กระดูกเหมือนกัน พระพุทธเจ้าบอกว่าคนที่ควรจะใส่เจดีย์นั้นคือพระเจ้าจักรพรรดิ ควรใส่เจดีย์ แล้วก็พระพุทธเจ้า หรือว่าคนดี พระอรหันต์ หรือว่าคนที่ทำประโยชน์แก่สังคมมาก ๆ แต่ว่าบางคนมันไม่ได้ทำอะไร แต่ลูกมันก็สร้างเจดีย์ มันเก็บกระดูกพ่อมันไว้เหมือนกัน เป็นอนุสรณ์ …… (38.18 เสียงไม่ชัดเจน) เพราะวัตถุหาง่าย สร้างกันเต็มไปหมดแล้ว ในวัดนี่ก็มาเที่ยวแทรกสร้างเรื่อยนะ อาตมาบอกว่าไม่มีที่แล้ว ก็มาตรงนั้นยังมี พอสร้างได้ ก็มาแทรกลงไป นาน ๆ เข้าเปิดโอกาสให้สร้าง แล้วก็เต็มวัด ไม่มีสนามจะเดิน มีแต่ผีเต็มวัดไปหมดเลย ที่บรรจุกระดูกเต็มเลย วัดเก่า ๆ บางแห่งก็ไม่ไหว
ความจริงไม่ควรจะเก็บไว้อย่างนั้น คนตายแล้ว เราจะเอาไว้ชิ้นหนึ่ง ใส่โกศน้อย ๆ เอาไว้ที่บ้าน เพื่อจะได้กราบบูชา แต่ความจริงก็ไม่ต้องกราบกระดูกก็ได้ ถึงมีกระดูกบางทีก็ไม่ได้กราบเลยด้วยซ้ำไป กราบคุณงามความดีของท่าน ความดีน่ะควรเอามาใส่ไว้ในใจของเรา แต่ไม่ค่อยเอา เอาแต่กระดูกไปไว้ พอวันสงกรานต์ก็ยกกระดูกมาให้พระดูเสียที เรียกว่าบังสุกุล เอาให้พระดู ได้พิจารณากัมมัฏฐาน เหลือแต่กระดูกก็เท่านั้นเองนะ อาตมาทำทันที บางทีก็ไม่ได้ทำอะไร ความจริงก็เอาไปฝังไว้ในวัด ที่ไหนก็ได้ ฝังไว้ ฝังดินมันก็หมดเรื่อง มันไม่มีอะไร ท่านเจ้าคุณพุทธทาส ท่านเอากระดูกคุณโยมหญิงชายบรรจุที่ดีมาก คือภูเขาใหญ่ภูเขาหนึ่ง ภูเขานั้นมันโตมาก ยาวตั้งสองสามกิโล ที่สถานีท่าชนะ เขาเรียกว่าบ้านหนองหวาย ท่านมองขึ้นไปบนภูเขา แล้วมันมีรู เอาเชือก หยอดลงไป ลงไปในเหวลึก อยู่นั้นน่ะ แล้วท่านบอกว่า น้องท่าน นั่นแหละอนุสาวรีย์โยมหญิงโยมชายผมน่ะ อยู่ในทะเลก็เห็น เดินบนบกก็เห็น นั่งบนอากาศ ก็เห็นภูเขาลูกนั้น แล้วภูเขาลูกนี้มันไม่มีล่ม มีสลาย มันอยู่ชั่วโลก โลกล่มเมื่อใดภูเขาล่ม ไม่ต้องไปยุ่งกับมันต่อไป เอาไปทิ้งไว้ที่นั่นก็สบายดี ว่าอย่างนั้น
อาตมาก็ไม่ได้เก็บบรรจุเจดีย์เหมือนกัน กระดูกคุณโยมผู้ชายนี่ตายก่อนโยมหญิง ก็ไปฝังไว้ที่วัดใกล้บ้าน ขุดหลุมลึกเล้วก็ฝังไว้ ในบริเวณใกล้โบสถ์ ฝังไว้ ใครจะทำอะไรก็ไม่ถึงเพราะว่าลึก ใส่หม้อดินคว่ำลงไปแล้วก็ฝังไว้อย่างนั้น กระดูกคุณโยมผู้หญิงนี่ก็ถือตามแบบท่านเจ้าคุณพุทธทาส เอามาไว้ที่เขาคูหาสวรรค์ วัดคูหาสวรรค์ แล้วข้างล่างมันก็เป็นเหวลึก เลยเอาไปไว้ในเหวนั้น ภูเขานั้นมีอยู่ตลอดเวลา นั่งรถไฟก็มองเห็น นั่งรถยนต์ก็มองเห็น เห็นทีไรก็นึก คุณโยมอยู่นั้น อยู่อย่างนั้นล่ะ แต่นั่นเป็นกระดูกเราเก็บเอาไว้ แต่ว่าคุณงามความดีของโยมนั้นมันอยู่ในใจของเรา เรามาใส่ไว้ในใจ แต่คนไม่ค่อยคิดถึงสิ่งที่มีค่าสูงสุด มักจะเอาแต่สิ่งภายนอกอย่างนี้
นี่มีนะ อีกอันหนึ่งคือคนชอบบวช บวชให้คุณแม่ ไม่ได้บวชให้ตัว จะเอาให้คุณแม่ แล้วถามว่าบวชกี่วัน/ ๗ วัน บวชให้คุณแม่เห็นว่าได้โกนหัวแล้ว ได้นุ่งเหลืองห่มเหลืองแล้ว มันเท่านั้นเอง คุณแม่ท่านอยากจะเห็นผ้าเหลือง อาตมาบอกไปซื้ออยู่แถวเสาชิงช้า เอามาทำม่านก็ได้ ม่านก็เปิดอยู่ทุกวัน ๆ ไม่ต้องเอาไปคลุมห่มตัวลูกชายก็ได้ เรียกว่าบวชพอให้ผ่านพ้นไป คุณแม่อยากให้บวชก็บวชมันพ้นไปสักที เท่านั้นเองน่ะ ไม่รู้ว่าบวชเพื่ออะไรนี่ แล้วก็ทำอย่างนั้น เขาเรียกว่าบวชเหมือนกับเล่นละคร บวชเล่น ๆ ๗ วันพอแล้ว ๑๕ วันไปแล้ว เดี๋ยวนี้อาตมาบอกว่าอย่ามาบวช บวชให้คุณแม่สบายใจนี่ แนะนำใหม่ บอกว่าไปอธิษฐานใจต่อหน้าคุณแม่ ว่าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอตั้งสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าคุณแม่ว่า
“ผมจะไม่ดื่ม ไม่เสพของมึนเมาตลอดชีวิต ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ของเสพติดทุกชนิด จะไม่แตะต้อง
สอง ผมจะไม่เล่นการพนันเลยตลอดชีวิต
สาม ผมจะไม่เที่ยวกลางค่ำกลางคืนตลอดชีวิต
สี่ ผมจะไม่เกียจคร้านการงานตลอดชีวิต จะประพฤติดี ประพฤติชอบอยู่ในศีลในธรรมตลอดชีวิต”
บวชอย่างนี้มันดีกว่าบวช ๑๕ วัน เพราะมันบวชนาน บวชจนตาย งดเว้นจนตาย เพราะว่าการบวชก็คือการงดเว้นนะ งดเว้นจากการกระทำความชั่ว อันนี้เรางดเว้นตลอดชีวิต อานิสงส์มันยาวเหลือเกิน มันดีกว่าบวช ๑๕ วัน ออกไปดื่มเหล้าเมาแอ๋ต่อไป มันไม่คุ้ม
อธิบายให้อย่างนั้น ไม่เอาอีก ไม่เอา ต้องการจะห่มผ้าเหลืองให้ได้ นี่เราติดในรูปแบบ คือติดประเพณี ว่าบวชต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้ ก็เลยสอนใหม่ว่า ไม่ต้องอย่างนั้น ถ้าจะบวชก็ต้องบวชนาน ๆ หน่อย อย่างน้อยสัก ๒-๓ เดือน พอได้มีเวลาฝึกฝนอบรมจิตใจให้มั่นคงขึ้นมาสักหน่อย นี่มาบวชนิดหนึ่ง บางคนบอกว่าต้องรีบบวชครับ เพราะว่าจะต้องแต่งงาน อีกอาทิตย์เดียวจะแต่งงานแล้ว คุณแม่บอกว่ามึงยังไม่ได้บวชจะไปแต่งงานไม่ได้ มึงต้องบวชเสียก่อน เลยมาบวช ๗ วันแล้วออกไปแต่ง ผมยังสั้นอยู่เลย แต่งงานแล้ว มันมากไปหน่อย เกินไป เรียกว่ามาชุบตัวเสียหน่อยแล้วก็ไปแต่งงาน ว่าอย่างนั้น อย่างนั้นก็มี
นี่คือไม่รู้ความหมายว่าบวชเพื่ออะไร ทำอะไร เราบวชเพื่อศึกษา บวชเพื่อปฏิบัติขัดเกลาจิตใจ บวชมาเพื่ออบรมบ่มนิสัย ให้มีคุณงามความดีประจำจิตใจ ทิดใหม่ คงไม่ค่อยรู้ความหมายแล้วก็ทำไปเรื่อย ทำตามเขาว่า มันก็ได้เท่านั้นเอง มีอะไรหลายอย่างที่เราไม่ค่อยเข้าใจ แล้วก็ทำกันตามธรรมเนียม โดยไม่รู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร ก็เลยเกิดความยุ่งยากในการจิตใจ จึงควรจะคิดให้มันเข้าใจว่าทำทำไม ทำเพื่ออะไร ทำเพื่อจะได้อะไร ต้องคิดให้เข้าใจแล้วก็ทำให้มันถูกเรื่อง มีเวลาค่อยมาทำ หรือแม้ไม่ได้บวชนุ่งเหลืองห่มเหลือง ถ้าเราจะมาฝึกฝนอบรมจิตใจก็มาได้
เช่น เราทำงานทำการนี่ ราชการไม่ต้องลา วันศุกร์เย็นก็มาวัด มานอนวัด มานั่งภาวนา ฝึกจิตทำสมาธิ วันเสาร์ทั้งวันอยู่วัด วันอาทิตย์ก็อยู่วัด เช้าวันจันทร์ก็ออกจากวัดไปทำงานเลย แล้วก็ไปอยู่บ้าน พอวันศุกร์เราก็มาวัด มาสม่ำเสมอ มาบ่อย ๆ อย่างนี้ก็เรียกว่า เรามาพึ่งกำลังภายใน ทำให้จิตใจเราดีขึ้น มายกระดับจิตใจ ฝึกฝนเอาชนะตัวเอง ฝึกฝนให้เกิดความอดทน ฝึกฝนสติปัญญาให้รู้จักควบคุมตัวเอง บังคับตัวเองได้มากขึ้น มันได้ง่าย ทำได้ ไม่ต้องลาราชการ เรามาทำอย่างนั้น
ก็เหมือนกับเราไปอยู่เวร แต่เรามาอยู่เวรพระพุทธเจ้า พอวันศุกร์ก็มาอยู่เวรอยู่วัด วันเสาร์อยู่วัดทั้งวัน อยู่ก็ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติจิตใจ สร้างความสงบให้เกิดขึ้น ทำสมาธินั่งสงบใจ พิจารณาตัวเอง ให้รู้ว่าเรามันบกพร่องอะไร มีความไม่ดีไม่งามที่ตรงไหน แล้วก็คิดแก้ไขปรับปรุงเรื่องชีวิตให้มันดีขึ้น อย่างนี้มันก็ได้ประโยชน์ เรามาทำอย่างนี้ได้ อย่างนี้ดีกว่าที่จะบวช ๑๕ วัน ๗ วัน ถ้าจะบวชก็ต้องบวชกันสัก ๓ เดือน มีเวลานานหน่อย แล้วก็ให้บวชด้วยความเต็มใจ ที่มาบวช ๆ ๓ เดือนนี่ก็มีเยอะเหมือนกัน โดยไม่ได้เต็มใจ คุณแม่ต้องการให้บวช บวชเพื่อเอาใจคุณแม่ บวชให้คุณแม่ ไอ้พวกไม่เอาอะไรเลย บวชให้คุณแม่เท่านั้นอย่างนี้ ให้คุณแม่ได้เห็นผ้าเหลือง แล้วก็ไม่ค่อยสนใจศึกษา ไม่ค่อยสวดมนต์ไหว้พระ นั่งกัมมัฏฐานก็ไม่ค่อยเอา ต้องคอยเข็น คอยนาบอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้เรียกว่าบวชให้คุณแม่ ไม่ได้บวช เรียกว่าคลุมผ้าเหลืองให้คุณแม่ดูหน่อยเท่านั้นเอง
ต่อไปนี้ไม่เอาน่ะ ใครจะมาบวชต้องถาม สมัครใจ จะคิดถามว่าเรามาบวชด้วยความสมัครใจหรือเปล่า หรือบวชเพราะคุณแม่เคี่ยวเข็ญให้มาบวช ถ้าบวชเพราะคุณแม่เคี่ยวเข็ญให้มาบวชนี่จะไม่รับ ต้องด้วยความเต็มใจ แล้วก็ต้องมีเจตนามุ่งมั่นที่เป็นกุศล จะต้องตั้งกฎเกณฑ์เพิ่มขึ้นหลายข้อ บวชแล้วต้อง ๑ ๒ ๓ ๔ เขียนไว้เลย ทำได้ไหม ถ้าทำไม่ได้ไม่ต้องมา ไม่มาบวช …... (48.10 เสียงไม่ชัดเจน) เก่า ๆ อันนี้ถ้าหากว่าปฏิบัติได้ตามนี้ เอ้า, บวช บวชตามนี้ได้ ปฏิบัติตามนี้ก็ตามระเบียบนี้ก่อน เข้ามาแล้วก็ค่อยควบคุมกันต่อไป หากควบคุมกันในรูปใหม่ ให้เป็นอยู่อย่างขูดเกลาจริง ๆ จึงจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง
คนฝรั่งที่เขามาบวช โดยเฉพาะที่ป่านานาชาติ เขาอยู่อย่างขูดเกลาจริง ๆ เขาปฏิบัติสม่ำเสมอทุกวันเวลา แล้วเขาไม่ได้ต้องการอะไร เขาไม่ได้ไปสวดมนต์ ไม่ได้ไปบังสุกุล หรือไม่ได้ไปทำอะไร ๆ หากมีคนมาวัดเขาจึงจะเทศน์ให้ฟัง แต่กิจกรรมตามบ้าน เขาไม่มี เขาสนใจศึกษา สนใจปฏิบัติ กลางวันก็เดินไปเที่ยวดูตามกุฏิ เขาก็นั่งทำจิตของเขา บำเพ็ญเพียร เขาเรียกว่าบำเพ็ญเพียรภาวนา กลางคืนนี่ ตีสี่เขาต้องตื่นลุกขึ้นนั่งภาวนา เวลาไปไชยานี่เอาพระฝรั่งไป ๒ องค์ ก็ไปนอนพักกุฏิเดียวกัน อาตมาก็แกล้งสังเกตดูว่า ตีสี่นี่เขาก็ตื่นทั้งสอง ตื่นแล้วเขาก็นั่ง นั่งอยู่จนสว่าง เขาทำอย่างนั้นทุกคืนที่นอนด้วยกัน เขาก็ทำอย่างนั้น เขาทำด้วยความตั้งใจ แล้วพอมีเวลาก็พาไปสนทนาธรรมกับท่านเจ้าคุณพุทธทาส เขาถามปัญหาหลายข้อ ปัญหามากมายเรื่องศัพท์เรื่องแสง ความหมายของธรรมะ ภาษาบาลีแปลว่าอย่างนี้ แปลเป็นฝรั่งว่าอย่างไร ปรึกษาท่านเจ้าคุณ เรียกว่าไปอยู่ ๓ วันนี่ เขาไปเพื่อการศึกษาจริง ๆ เข้าใกล้แล้วก็ปรึกษา เอาหนังสือไปถาม ไปศึกษา ไม่ได้ไปเที่ยว เดินเที่ยวก็ชมวัดทั่วแล้ว มันก็เท่านั้น แต่เขามาศึกษา
คนไปสวนโมกข์นี่ไปบ่อย ๆ นักกจัดทัวร์นี่ชอบจัด แวะสวนโมกข์ แวะ แวะหน่อย แวะพอคนเดินไปยังดูอะไรไม่ทั่ว เชิญขึ้นรถ รถจะออกแล้ว ท่านก็คิดว่ามันมาทำไม ท่านบ่นกับอาตมาว่า คนพวกนี้มันมาทำไม ไม่ได้เรื่องอะไร มาไม่ได้เรื่อง มาเที่ยว เที่ยวก็ยังไม่ได้ผลประโยชน์จากการเที่ยว เที่ยวให้มันได้ประโยชน์ มันต้องเที่ยวเพื่อการศึกษา พระจะพูดอะไรให้ฟังก็ไม่ค่อยฟัง เข้าไปในโรงมหรสพ พระจะพูดอธิบาย ก็เดิน ๆ เหม่อ ๆ มอง ๆ กันเอง ไม่มีความหมาย เพราะว่าคนที่ไปนั้น ฐานมันไม่มี พื้นฐานทางธรรมะไม่มีเลย ไปเที่ยว ไปเดิน แล้วบางทีก็บ่น เอ, ไม่มีที่ไหว้พระ หมายความว่าจะไปไหว้ แล้วก็จะไปขออะไรต่ออะไร สั่งโน่นสั่งนี่มันไม่มี ไปเที่ยวอย่างนั้นกันเป็นส่วนมาก
ทีนี้ถ้าเราจะไปเพื่อศึกษานี่มันต้องไปพัก พักแล้วก็เข้าไปนั่งใกล้ท่าน ไปคุยกับท่าน ท่านไม่เบื่อหรอกถ้าคุยธรรมะสิ ท่านนั่งคุย อาตมาก็ไปนั่งคุย ฟังด้วย ฝรั่งถามท่าน นั่งคุย ท่านก็คุยของท่านไป ไก่คอกหนึ่งก็มาก๊อกแก๊ก ก๊อกแก๊ก มาขอข้าวสารท่าน ท่านก็โปรยให้มันกิน ที่นี้มาแล้ว ไม่เผลอเลย ลูกไก่กระโดดขึ้นมา เกาะมือบ้าง เกาะเท้าบ้าง บางตัวก็ขึ้นไปถึงบนบ่า ท่านก็นั่งคุยเฉย สุดแล้วแต่มันจะขึ้นไปตรงไหน ตามใจมัน ท่านก็นั่งคุยเรื่อยไป ไม่ได้สนใจลูกไก่เหล่านั้น
สุนัขอีกตัวหนึ่ง ถ้าท่านนั่งแล้ว มันต้องไปนั่งข้าง ๆ นั่งเก้าอี้ตัวนั้น มันก็ต้องไปนอน ท่านนั่งอยู่ ๓ ชั่วโมง มันก็นอนอยู่ ๓ ชั่วโมง ไอ้ตัวนั้นมันศักดิ์สูงหน่อยนั่งข้างบน ไอ้ตัวหนึ่งนั่งข้างล่าง แต่ถ้าท่านจะลุกขึ้นไปเทศน์ มันไปก่อน มันเรียกว่าเป็นกองหน้า เคลียร์พื้นที่ไปก่อน ชาวบ้านรู้ว่าพอไอ้สองตัวนั่นมา เจ้าคุณจะมาแล้ว แล้วมันไปถึงแล้วก็ไปนอนใต้ธรรมาสน์นะ นอนอย่างนั้นน่ะ ท่านก็เทศน์ไป มันก็นอนไปตามเรื่องของมันน่ะ แต่ว่าพอท่านเทศน์จบนี่มันลุกขึ้นนะ มันรู้ได้ยินเสียงคน “สาธุ” นั่นเอง พอ “สาธุ” จบแล้ว เลิก มันก็ลุกขึ้นทีหนึ่ง ลุกขึ้นว่าท่านจะไปหรือเปล่า ถ้ายังไม่ไป มันก็ดู ๆ ยังไม่ไปเว้ย มันก็นอนต่อ พอท่านนั่งคุยต่อไปบนธรรมาสน์มันก็นอนต่อไป จนท่านห้อยเท้าลงมาแล้ว แน่แล้ว อย่างนี้ มันก็ออกเดินไปก่อน มันทำอยู่อย่างนั้น สุนัขเหล่านั้น มันอยู่อย่างนั้น ถ้าคนเดินมา แปลกหน้า มันเห่าสัก ๒-๓ ที เห่าแล้วคนนั้นก็ยังเดินเข้ามาก็หยุดเห่า แต่ถ้ากลางคืนมันเห่ามาก ใครเดินตรงนั้นมันเห่า พระเดินก็เห่า ชาวบ้านเดินก็เห่า มันก็ทำหน้าที่ของมันสมบูรณ์ ไม่บกพร่อง เรียบร้อยนะ
ท่านบอกว่ามันดี มีพวกไก่ มันให้กัน ท่านยกตัวอย่าง ไอ้ไก่ตัวผู้ มันมักจะมีเห็บที่หงอน มีที่หงอนนี่มันช่วยตัวเองไม่ได้ มันจิกเห็บที่หงอนไม่ได้ ถ้ามีแล้วจะทำอย่างไร มันก็ก้มหัวลง ไอ้ลูกไก่ตัวเล็ก ๆ มันยังทำหน้าที่ปฏิบัติไก่ตัวใหญ่ได้ พอมันก้มหัว ไก่ตัวเล็กจก เอาตัวเห็บที่หงอนออก ไก่ตัวใหญ่ด้วยกันมันก็ก้มลงไป มันก็รู้ว่าไอ้นี่มันจะให้กูเก็บเห็บอีกแล้ว มันก็เก็บให้ ท่านนั่งสังเกตดูมันปฏิบัติต่อกัน มันช่วยเหลือกัน แล้วมันอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ไอ้เวลาที่ไม่โปรยข้าวสารต่างคนต่างอยู่ พอโปรยข้าวสารแล้ว มันก็มากันแล้ว เต็มไปตรงนั้น มากินข้าวสาร ความจริงโปรยให้ไก่เล็ก ๆ กิน แม่มันก็พลอยกินด้วย แต่แม่มันพอเจอข้าวสาร แม่มันกางปีกกั้นไว้เลย กางออกมาเหมือนกับทำให้เรารู้ว่ากางมือไว้ มึงอย่างเข้ามานะ กู ของกู ตอนนี้ มันทำท่าของมันอย่างนั้นน่ะ ให้ลูกได้กินสบายหน่อย แต่ถ้าตัวไหนยังฝืนมันก็ไล่ตีออกไป ให้ลูกกิน ถ้ามันพูดได้ก็ “เฮ้ย ให้เด็ก ๆ กินก่อน อย่าเข้ามายุ่ง” ร้องไป มันก็ทำของมันตามเรื่อง
ท่านก็นั่งดูไป ศึกษามัน แล้วก็เล่าให้คนอื่นฟังว่าไก่มันมีธรรมะอย่างไร ปลามันมีคุณธรรมอย่างไร นกมันมีอะไร คุยกันได้หลายชั่วโมง อย่างที่ท่านเล่าให้ฟัง อย่างนั้นอย่างนี้ ท่านสังเกต ท่านดู คนไป ต้องไปเพื่อการศึกษา นักจัดทัวร์นี่ก็เหมือนกันนะ จัดไปแวะไชยาอย่ารีบร้อน ให้คนเขาได้เข้าไปนั่งคุย นั่งสนทนา และเราก็ควรจะถามแทนชาวบ้านที่ไปด้วย ให้เขาได้ความรู้ความเข้าใจ อย่างนั้นแล้วก็ท่านก็พอใจว่าเขาได้มาเพื่อการศึกษา ไม่ใช่มาชมต้นไม้ ต้นไม้ก็ชมไม่ทั่ว เดินไป เหม่อไป ๆ แล้วก็กลับกันเท่านั้นเอง มันไม่ได้อะไร อันนี้เป็นเรื่องน่าคิด ทำอะไรมันต้องใช้ปัญญา เป็นเครื่องพิจารณาเพื่อจะได้รู้ได้เข้าใจถูกต้อง พูดมาก็สมควรแก่เวลา ด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ดวันนี้ ก็สมควรแก่เวลา ต่อไปนี้ก็ขอเชิญญาติโยม นั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที
- ปาฐกถาธรรมอาทิตย์ที่ ๑๓ พฤศจิกายน ปีพ.ศ. ๒๕๒๖