แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ อย่ามัวเดินไปเดินมา นั่งพัก ณ ที่ใด ที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียง จากเครื่องขยายเสียงนี้ได้ แล้วจงตั้งใจฟังให้ดี เพื่อให้ได้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
เมื่อปีก่อนนี้คอมันไม่ค่อยจะดีนะ เลยไม่ได้มาแสดงปาฐกถาเมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว วันนี้ก็ยังไม่ค่อยดีเท่าใด แต่ว่าพอพูดได้ ไม่พูดวันนี้ก็ไม่รู้จะไปพูดวันไหน เพราะว่าวันนี้เป็นวันปีใหม่ที่ชาวโลกเขานิยมกัน แล้วก็มีการอวยชัยให้พรกันเป็นการใหญ่
เมื่อคืนนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงประทานพระพรแก่ประชาชนชาวไทย ทั่วๆไป พระพรที่พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงประทานนั้น มีใจความสำคัญก็อยู่ที่ว่า ให้ทุกคนรู้จักหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นการเรียบร้อย และให้ทุกคนมีความเสียสละ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม อย่าเห็นแก่ประโยชน์และความสุขส่วนตัว อันนี้นับว่าเป็นพรหลัก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงกระทำอยู่เป็นประจำ แล้วก็ชักชวนพี่น้องชาวไทย ทุกชาติและทุกศาสนา ให้มาปฏิบัติตนเช่นนั้นด้วยกัน เพื่อสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในประเทศชาติของเราต่อไป
และต่อจากในหลวงก็มีของท่านนายกรัฐมนตรี มีพรของประธานสภา ประธานศาลฎีกา ว่ากันไปหลายราย ก็ล้วนแต่ต้องการให้เรารักกันสามัคคีกัน ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างคุณงามความดี เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุขกันทั่วหน้า
เพราะว่าความสุขนั้นมันไม่ได้เกิดจากเพียงแต่คนอื่นบอกให้เกิด เพราะนี่มาบอกให้เราว่า เออ จงเป็นสุขเป็นสุขเถอะ พบใครพบใครก็พูดว่า จงเป็นสุขเป็นสุขเถอะ เท่านั้น มันยังไม่เพียงพอ ยังไม่เป็นเครื่องที่จะให้เกิดความสุขอย่างแท้จริง เพราะถ้าคนนั้นไม่ทำตัวให้เป็นสุข ความสุขก็เกิดขึ้นไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของเรา ที่จะต้องทำตัวเราให้มีความสุข
การทำตัวเราให้มีความสุขนั้น เราจะต้องรู้ว่า ความสุขมันอยู่ที่ไหน ความสุขอยู่ที่อะไร ว่าตั้งปัญหาขึ้นอย่างนี้ เราอาจจะคิดไปว่า ความสุขอยู่ที่ทรัพย์สินเงินทอง ความสุขอยู่ที่เพื่อนฝูงมิตรสหาย หรือความสุขอยู่ที่บ้านนั้น บ้านนี้ เมืองนั้น เมืองนี้ ที่คนนั้น คนนี้ ถ้าไปนึกอย่างนั้นมันก็ไม่ถูกต้อง เรียกว่ายังไม่รู้จักความสุขที่แท้จริง
เพราะความสุขที่แท้จริง หรือความทุกข์ที่แท้จริงนั้น มันไม่ได้เกิดขึ้น จากอะไรๆ ภายนอก แต่มันเกิดจากเรื่องภายในตัวเราเอง ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นในตัวเรา อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่เราจะต้องสนใจศึกษาไว้ เพื่อเป็นหลักประจำจิตใจ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุข เรื่องทุกข์ เรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องความเสื่อม ความเจริญ เรื่องความมั่งมี ความยากจน มันเกิดจากภายในตัวเราทั้งนั้น ไม่ได้เกิดมาจากสิ่งภายนอก
สิ่งภายนอกนั้นเป็นแต่เครื่องประกอบ ไม่ใช่ตัวการที่แท้จริง มันเป็นตัวประกอบ ถ้าพูดเป็นละครก็เรียกว่าไม่ใช่ตัวพระเอก แต่เป็นตัวประกอบเรื่องเท่านั้นเอง ตัวพระเอกนั้นมันอยู่ในใจของเรา อยู่ที่ความคิดของเรา อยู่ที่การพูดการกระทำของเรา ถ้าพูดให้สั้นก็ว่าอยู่ที่กรรม คือการกระทำของเราเอง เราทำอย่างใด เราก็จะเป็นอย่างนั้น เราหนีจากความเป็น จากผลกรรมที่เราทำไม่ได้
เพราะฉะนั้นเราจึงควรจะยึดหลักนี้ไว้ เป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจ ว่าอะไรๆก็เกิดที่ใจ อะไรๆก็เกิดจากการกระทำของเรา และการกระทำนั้น ฐานมันอยู่ที่ใจก่อน คือใจต้องคิดก่อน ใจคิดแล้วจึงมีการพูด ใจคิดแล้วจึงมีการทำ ใจคิดแล้วจึงมีการไปสู่ที่นั่นที่นี่
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวิถีชีวิตของเรา มันก็เกิดขึ้นจากความคิดของเราก่อน ความคิดนี่เป็นตัวนำของสรรพสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของเรา หรือจะพูดว่าความคิดนี่มันเป็นตัวนำ เพื่อให้เกิดสิ่งทั้งหลายขึ้นในโลกนี้ เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในโลก ดังที่ผ่านมาในปี ๒๕๒๖ หรือจะเกิดขึ้นในปีต่อไปก็ดี มันก็เกิดจากความคิดของคนทั้งนั้น ถ้าคนมีใจชั่วก็คิดแต่เรื่องชั่ว ถ้าคนมีใจดี ใจงาม ก็จะคิดแต่เรื่องดีเรื่องงาม
เราดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก บางทีก็เป็นเหตุการณ์ที่ร้ายเหลือเกิน เช่นการฆ่าหมู่กัน การเอาระเบิดไปวางให้คนตายมากๆ อุตส่าห์เอาระเบิดใส่รถแล้วก็ขับไป ไอ้คนขับนั้นมันก็รู้ว่าตัวจะต้องตาย เมื่อระเบิดเกิดขึ้น แต่มันก็ยอมตาย เอารถยนต์บรรทุกระเบิดพุ่งเข้าไปในโรงแรมที่พักของพวกทหารซึ่งอยู่กันเป็นจำนวนมาก ระเบิดก็เต็มรถ ระเบิดแรง โรงแรมพัง คนตาย นี่ก็เกิดจากความคิดที่จะเบียดเบียนคนอื่น อยากจะเห็นคนอื่นตาย แล้วตัวก็พลอยตายไปกับเขาด้วยเหมือนกัน
หรือว่าเกิดความคิดขึ้นมาว่า ไอ้เรือบินนี่มันลอยมา ใกล้บ้านของกู เสียงมันหนวกหู กูจะยิงมันไปเสีย เออ เสร็จแล้วก็ยิงมันให้มันตกลงมา คนตายไปตั้ง ๒๐๐ กว่ากว่าคน แบบนี้ก็เกิดจากความคิดชั่ว ที่เกิดขึ้นในใจของคนก่อน หรือ เหตุการณ์ย่อยๆ ที่เราดูในข่าวหนังสือพิมพ์ ว่ามีการฆ่ากัน การทำร้ายกัน การปล้นการจี้ การทำอะไรต่างๆ ที่เป็นเรื่องทุจริต มิจฉาชีพ มันก็เกิดจากความคิด เกิดขึ้นในใจของคนทั้งนั้น
ทำไมใจคนมันจึงคิดอย่างนั้น ก็เพราะว่าคนนั้นไม่มี ธรรมะเป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจ ไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เพื่อให้จิตใจกอดจับ แล้วก็จะได้ไม่ไปคิดในเรื่องเสีย เรื่องหาย (08.35 เสียงไม่ชัดเจน) เป็นคนที่เรียกว่า ใจเปลือย ใจเปลือย ใจเปล่า คล้ายกับคนไม่นุ่งผ้า ถ้ามีคนสักคนหนึ่งเดินไม่นุ่งผ้า ไปบนถนน เราก็เรียกคนคนนั้นว่าทำอนาจาร หมายความว่า ประพฤติสิ่งที่ไม่สมควร ในที่สาธารณะ
จิตใจคนที่ไม่มีหลักธรรมะ เป็นเครื่องคุ้มครอง ก็เป็นจิตอนาจาร คือมีความคิดที่ไม่เหมาะไม่ควร แล้วก็การพูด การกระทำ การเป็นการอยู่ เครื่องประกอบของบุคคลนั้น ล้วนแต่เป็นเรื่องไม่ดี ไม่งามไปทั้งนั้น เพราะจิตเขาขาดธรรมะ ขาดเครื่องคุ้มครองรักษาจิตใจ
โลกเราในปัจจุบันนี้ ถ้ามองดูจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาในรอบปีแล้ว ก็จะเห็นว่าชาวโลก มีความบกพร่องมากขึ้นทุกวันทุกเวลา บกพร่องในทางจิตใจ จิตใจเสื่อมโทรมจากคุณงามความดี ห่างเหินจากธรรมะ อันเป็นแสงสว่างของชีวิต จึงได้คิดได้พูดได้ทำ ในสิ่งที่เป็นความเสื่อม ด้วยประการต่างๆ ดังที่เราเห็นเป็นข่าว ปรากฎอยู่ทุกวันๆ
แต่เราได้ยินข่าวอย่างนั้น ได้เห็นภาพการกระทำเช่นนั้น เราควรจะคิดอย่างไร เราจะปล่อยให้สิ่งนั้นมันผ่านตาเราไปเฉยๆ หรือว่าผ่านหูเราไปเฉยๆ โดยเราไม่คิดอะไรนั้น จะเป็นการสมควรหรือไม่ ก็อยากจะกล่าวว่า มันไม่เป็นการสมควร ที่เราจะปล่อยให้เฉยๆไปเช่นนั้น แต่เราควรจะเอามาพิจารณาดูว่า เหตุการณ์เช่นนั้น มันเกิดขึ้นเพราะอะไร มันขาดอะไรจึงได้เกิดเรื่องร้ายแรงต่างๆขึ้น ในสังคมด้วยประการต่างๆ เราจะต้องพิจารณา
เมื่อพิจารณาเราก็จะพบความจริงว่า จิตใจคนเรานี้ ห่างเหินจากคุณธรรม จากหลักศาสนา หรือจากพระออกไปมากขึ้นๆ เมื่อเรารู้สาเหตุของเรื่องทั้งหลายทั้งปวง ว่ามันเกิดขึ้นเพราะว่าจิตใจคนห่างพระ ไม่มีธรรมะ ไม่มีตัวศาสนาเป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจ แล้วเราจะปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนั้น ลุกลามต่อไปอย่างนั้นหรือ
เหมือนเราเห็นไฟกำลังไหม้ใบไม้ แล้วก็ลามมาสู่บ้านเรา เราจะนั่ง (11.25 เสียงไม่ชัดเจน) ดูไฟกำลังไหม้ลุกมาสู่บ้านเรา จนกระทั่งมันไหม้บ้านของเราให้เสียหาย อย่างนั้น เป็นการถูกต้องหรือไม่ ก็จะตอบได้เองว่า มันเป็นการไม่ถูกต้อง เราควรจะทำอย่างไร เราควรจะลุกขึ้นหาเครื่องดับเพลิงเอาไปสกัดไฟ ไม่ให้มันลุกลามเชื้อ จนมากระทั่งถึงบ้านเรา เช่น เอาน้ำไปราด หรือเอาไม้ไปทุบ ไอ้ตรงที่ไฟกำลังไหม้อยู่ ให้ไฟนั้นมันมอดดับไป แล้วเราก็จะอยู่อย่างปลอดภัย ข้อนี้ฉันใด แล้วเหตุการณ์ของโลก ดังที่เป็นมาในรอบปีที่ผ่านมานี้ เราก็จะมองเห็นสาเหตุอันแท้จริงแล้วว่า โลกขาดธรรมะ โลกขาดศาสนามากขึ้นๆ จึงได้สร้างปัญหา คือความทุกข์ ความเดือดร้อน แล้วเราจะนิ่งเฉย ไม่สนใจในเรื่องที่มันขาดนั้น ไม่ได้ เราจะทำอย่างไร เราก็ต้องปฏิบัติวิธีการที่จะช่วย ให้คนได้เข้าถึงธรรมะมากขึ้น ให้มีศาสนาเป็นหลักคุ้มครองจิตใจมากขึ้น
แต่ว่าก่อนที่เราจะไปจัดกับเรื่องของคนอื่นนั้น เราก็ควรจะมองดูตัวเราเองเสียก่อน เพราะว่าการทำอะไรนั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า จงทำตนให้เป็นตัวอย่าง ในเรื่องที่เราจะสอนเขา ราวกับว่า เราจะสอนผู้อื่นด้วยเรื่องใด เราจะต้องทำเรื่องนั้น ให้เขาดูเป็นตัวอย่าง จึงจะเป็นการสอนที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเราจึงควรจะหันมา มองดูตัวเอง พิจารณาตัวเองว่า ในตัวเรานี่ เป็นคนมีศาสนาขนาดไหน มีธรรมะประจำจิตใจขนาดไหน
หรือมองในแง่ที่ว่า เรานับถือศาสนาถูกต้องหรือเปล่า เราได้ปฏิบัติตนใกล้พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เข้าไปหรือเปล่า หรือว่าเราเป็นคนนั่งอยู่ห่างพระ เพียงแต่ประกาศตนว่า ฉันนับถือพระพุทธเจ้า แต่ว่าไม่เดินเข้าไปใกล้พระพุทธเจ้า ไม่เดินตามธรรมะที่พระพุทธเจ้าชี้ให้เดิน ไม่เข้าใกล้พระสงฆ์ที่ประกาศธรรมะ แต่เราไปเข้าใกล้พระประเภทไม่ได้เรื่องได้ราว ไปหาพระที่มีความไม่รู้ไม่เข้าใจ ในเรื่องคำสอนของพระพุทธศาสนา แต่ว่าเป็นผู้จูงญาติโยมให้หลง ให้งมงาย ให้เข้าใจผิด ไปจากหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วก็ไปนั่งแวดล้อมเฝ้าพระเหล่านั้น เวลามีปัญหา ก็ไปหา ก็ถูกหลอก ถูกต้มให้กันทั้งนั้น อย่างนี้ ตามแบบไสยศาสตร์บ้าง ตามแบบโหราศาสตร์บ้าง หรือว่าตามแบบที่มิใช่เป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าบ้าง
ถ้าเรายังเป็นอยู่ในรูปอย่างนั้น ก็แสดงว่า เรายังไม่เป็นชาวพุทธสมชื่อ ยังไม่เป็นชาวพุทธด้วยการศึกษา ยังไม่เป็นชาวพุทธด้วยการปฏิบัติ ยังไม่เป็นชาวพุทธโดยการมีจิตเข้าถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์อย่างแท้จริง เมื่อเราเป็นเช่นนี้ เราก็จะถูกสิ่งยั่วยุ ชักจูง โน้มน้อมจิตใจ ให้เราไหลไปตามอารมณ์ต่างๆได้ง่าย นี้ว่าเราอาจจะ มีความกำหนัด ขัดเคือง ลุ่มหลง มัวเมา ในอารมณ์ อันใด อันหนึ่ง แล้วทำให้เราเสียผู้ เสียคนไปก็ได้
เหมือนกับตัวอย่างว่า คนที่ได้ศึกษาธรรมะมาพอสมควร มีความรู้ เช่นว่า บวชนาน เป็นมหาเปรียญอะไรต่างๆ แต่ว่าออกไปแล้ว เป็นคนขี้เมา หยำเป ดื่มเหล้าเช้า ดื่มเหล้าเย็น ประพฤติสิ่งเหลวไหล ด้วยประการต่างๆ อันนี้แสดงว่า ธรรมะ ไม่เข้าไปถึงใจอย่างแท้จริง มันเพียงผิวเผิน ถึงธรรมะแต่เพียงผิวเผิน ถ้าเปรียบให้ (16.16 เสียงไม่ชัดเจน) ก็เหมือนสิ่งลูบไล้ ที่เราเอามาลูบไว้ตามผิวหนัง เหงื่อออกมันก็หลุดไป ฝนตกมันก็หลุดไป ถูกน้ำมันก็หลุดไป หรือแม้ไม่ถูกอะไรมันก็ค่อยหายไป ไม่ปรากฎอยู่ที่เนื้อที่ตัวเราต่อไป ฉันใด คนที่เรียนธรรมะ สักแต่ว่าเรียน เอาไว้คุยกันเล่น แต่ไม่ปฏิบัติขัดเกลาจิตใจ ให้สะอาด ปราศจากสิ่งเศร้าหมองใจ ผู้นั้นก็ยังไม่ได้ประโยชน์อะไร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า คนเลี้ยงโค แต่ไม่ได้กินนมโค ก็มีถมไป คือมีหน้าที่เลี้ยง ตื่นเช้าก็ต้อนโคไปให้กินหญ้า ตอนเย็นก็ต้อนโคกลับมาที่บ้าน แล้วก็คนอื่นเขารีดนมเอาไปกิน ไอ้คนเลี้ยงเองไม่ได้กินนมโคเลยสักหน่อย อย่างนี้ก็เรียกว่า เหมือนคนที่อยู่ใกล้สิ่งดีงาม แต่ไม่ได้ใช้สิ่งดีงามนั้นให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต เป็นผู้เรียนรู้ศาสนา แต่ไม่เข้าถึงศาสนา ไม่ได้เอาธรรมะในศาสนาไปปฏิบัติ ก็จะเป็นเหตุให้คนนั้น ใช้ศาสนาไปในทางผิดก็ได้
อันนี้มีตัวอย่างอยู่ในรูปทั่วๆไป เป็นเรื่องของทุกศาสนาก็ว่าได้ เช่นในบางประเทศมีคนนับถือศาสนาหนึ่ง แล้วก็อีกพวกหนึ่งก็นับถืออีกศาสนาหนึ่ง หรือว่าในศาสนาชื่อเดียวกันน่ะแหละ แต่ว่าเขาไปเพิ่มชื่อให้แก่ศาสนานั้น เพิ่มชื่อ เพิ่มชื่อก็คือว่า ตั้งเป็นนิกายขึ้นมา แล้วก็ไปติดอยู่ในชื่อใหม่นั้น แล้วก็ยึดมั่น ถือมั่น ถ้าคนอื่นไม่เหมือนกับพวกตัว ก็คิดจะทำร้าย จะเบียดเบียนกันด้วยประการต่างๆ ฆ่ากันทำลายกัน ในระหว่างคนที่มีความเห็นแตกต่างกัน ในเรื่องศาสนา ในเรื่องนิกายของศาสนา เหมือน ปรากฎเป็นข่าวอยู่ในประเทศตะวันออกกลาง เช่น เลบานอน เป็นต้น
หรือในประเทศอื่นๆ ในยุโรปก็มี ในอเมริกาก็มี ในบ้านเมืองเรานี่ก็มีเหมือนกัน นั่นคือการไม่รู้จักศาสนา ไม่รู้จักเนื้อแท้ของพระศาสนา ไม่เข้าถึงตัวธรรมะ อันเป็นหลักปฏิบัติของพระศาสนาอย่างแท้จริง เขาถือศาสนาเป็นเครื่องมือ สำหรับเอาไปประหัตประหารแก่กันและกัน ก็เรียกว่า เหมือนเป็นคนไม่มีศาสนา แต่ว่าเอาชื่อของศาสนาไปใช้เป็นยี่ห้อ เหมือนกับ (19.20 เสียงไม่ชัดเจน) แล้วก็ (19.23 เสียงไม่ชัดเจน) ยี่ห้อลงไป ว่าทำที่นั่นที่นี่ ให้คนหลงใหลไปซื้อไปหา เอามากินมาใช้ แล้วก็เกิดทุกข์โทษ เพราะสิ่งนั้นมันไม่ถูกต้อง อันนี้มีอยู่ทั่วๆไป
เราผู้นับถือพระพุทธศาสนานี่ พระพุทธเจ้าสอนเรา ไม่ให้ยึดถือจนเป็นเหตุงมงาย ไม่ให้ยึดถือจนเป็นเหตุยกตนข่มท่าน ด้วยประการใดประการหนึ่ง คือว่าการนับถือพระพุทธศาสนา หรือการปฏิบัติตามคำสอนในทางพระพุทธศาสนานั้น ยิ่งปฏิบัติมากขึ้นเท่าใด จิตใจยิ่งสะอาดมากขึ้น ยิ่งสงบมากขึ้น ยิ่งสว่างมากขึ้น แล้วความมีตัวมีตนมันก็ลดน้อยลงไป อ่อนน้อมมากขึ้น ถ่อมตัวมากขึ้น ไม่หยิ่ง ไม่จองหอง ไม่เหยียดหยามใคร ไม่ยกตนข่มท่าน ไม่สำคัญว่า ตนเก่งอย่างนี้ ตนเก่งอย่างนี้ อารมณ์ที่จะอวด อะไรๆที่ตนมีน่ะ มันลดน้อยลงไป เช่น อวดมั่ง อวดมี อวดความเป็นใหญ่ อวดศักดา อะไรต่างๆ มันค่อยเบาลงไป บางลงไปเรื่อยๆ กลายเป็นคนที่เรียกว่า อ่อนน้อม ถ่อมตัว
ว่าเป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตัวนี่ก็เรียกว่า ตัวน้อยลงไป ความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา ซึ่งเรียกว่า อัตตานุทิฏฐิ หรือ อัตตวาทุปาทาน แปลว่าความยึดมั่นในตัวตน ว่าฉันเป็นนั่น ฉันเป็นนี่ ฉันมีนั่น ฉันมีนี่ ฉันอย่างนั้น ฉันอย่างนี้ มันลดน้อยลงไป เมื่อความเป็นฉันมันน้อยลงไปมากเท่าใด ก็เรียกว่าเราเข้าถึงธรรมะมากขึ้น จิตใจเราสูงขึ้น เมื่อสูงขึ้นมันก็จะปราศจากสิ่งที่จะดูดลงมาให้คลุกคลีด้วยสิ่งชั่วสิ่งร้าย คล้ายกับเรือบินที่บินไปในอากาศนี่
เดินทางด้วยเรือบินบ่อยๆก็เกิดความคิด คือว่า ถ้าเรือบินลำเล็กๆนี่มันบินไม่สูง บินไม่สูงนี่มันโคลง มันถูกอากาศกระทบแล้วมันโคลงไปโคลงมา บางครั้งก็โคลงเอามากๆ แต่ว่าพอนั่งเรือบินที่ใหญ่ แล้วมันบินสูง สูงขึ้นไปตั้ง ห้าหกกิโลเมตรอะไรอย่างนี้ เรือบินนั้นจะวิ่งเรียบไปตลอดเวลา เหมือนกับเรานั่งอยู่ในบ้าน ไม่มีการกระเทือน แล้วก็ไม่มีความรู้สึกว่าอะไร เมื่อมันอยู่สูง แต่เมื่อใดเขาลดลงต่ำ ใกล้จะลงสนามบิน ยิ่งลงมาต่ำเท่าใด ก็ยิ่งโคลงนิดๆหน่อยๆเรื่อยๆไป จนกระทั่งถึงสนามบิน ถ้าลานบินไม่ค่อยเรียบร้อยมันก็ขลุกขลักพอสมควร แต่ถ้าลานบินราบเรียบ มันก็วิ่งเรียบไป แต่เราก็รู้ว่าเรือบินลงถึงพื้นดินแล้ว อันนี้ก็เป็นข้อเปรียบเทียบกับใจคนได้
จิตใจคนที่สูงขึ้นไป จนพ้นจากอำนาจดึงดูดของวัตถุ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันเรียกว่าเป็นกามคุณ กามคุณนั้นแปลว่า สิ่งที่คนที่โง่เขลาพอใจ แต่ผู้ฉลาดมีปัญญา ไม่พอใจในสิ่งนั้น มองเห็นสิ่งนั้นว่าเป็นของไม่น่ารัก ไม่น่าชม ไม่น่าจะเอามาเป็นของตัว แต่ว่าคนที่ปัญญาน้อย กิเลสมากกว่าปัญญา ก็ยังมองเห็นว่า รูปเป็นสิ่งน่ารัก เสียงก็ยังเพราะ กลิ่นก็ยังหอมหวลชวนดม สัมผัสก็ยังน่าจับน่าต้อง อะไรๆก็น่าเพลิดเพลิน เจริญใจ ไปด้วยประการต่างๆ อย่างนั้นก็เรียกว่า คนยังมีปัญญาน้อย ยังมองไม่เห็นความจริงของสิ่งที่มันเป็นอยู่ตามความเป็นจริง
เมื่อเราไม่เห็นความจริงของสิ่งนั้น พอเราเข้าใกล้สิ่งนั้น สิ่งนั้นก็ดูดเราไป รูปดูดไป เสียงดูดไป กลิ่นดูดไป รสดูดตัวเราไป สัมผัสดูดไป ความเพลิดเพลิน ความสนุกสนาน ในสิ่งต่างๆที่เข้ามายั่วยุมันก็ดูดไป ดูดไปจนเสียผู้ เสียคนไป
ก็เห็นว่ามีคนบางคนมีเงินมีทองมาก พ่อแม่สะสมไว้ให้ เพื่อความสบายของลูก แต่ว่าลูกนั้นถูก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ดูดไป เลยเอาเงินทองนั้นไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะ เช่นเอาไปใช้ในการพนัน เอาไปใช้ในการเสพสุรา ยาเมา เอาไปใช้ในการคบคน แต่ไม่รู้จักคบ ไปคบเพื่อนชั่ว เพื่อนร้าย เอาไปใช้ในความสนุกสนาน ยามราตรี ไปเที่ยวบาร์ เที่ยวไนท์คลับ แล้วก็จัดงานปาร์ตี้สนุกบ่อยๆ อวดตนว่าฉันเป็นคนมั่งมี อวดความใหญ่ความโตของตน
ผลที่สุด ก็ถูกดูดเอาไปหมดไม่มีเหลือ เหลือแต่ตัวเท่านั้นเอง ตัวก็ไม่ใช่ตัวแท้แล้ว เหลืออยู่ก็เหมือนกับเป็นซากเดินได้ ไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นเกียรติ เป็นคุณเป็นค่าแก่ชีวิต ใครเห็นเข้าก็ปลงอนิจจัง แล้วก็เป็นการ เป็นตัวอย่างให้ใครเขาเห็นว่านี่แหละ คนที่มันประมาท มันมัวเมา จิตใจไม่สูงด้วยธรรมะ จึงถูก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ดูดไป ในทางชั่วทางต่ำ จนหมดเนื้อหมดตัว หมดเกียรติ หมดชื่อเสียง
แม้ว่าคนนั้นจะเกิดในสกุลที่สูงส่ง (25.57 เสียงไม่ชัดเจน) มีเชื้อสายวงศ์วาน สืบต่อกันมา หลายชั่วคน แต่ก็สิ่งเหล่านั้นช่วยไม่ได้ เพราะว่าเขาเป็นคนประมาท เป็นคนมัวเมา เป็นคนไม่ได้สำคัญตัว ในทางที่ถูกที่ชอบ แต่ว่าไปสำคัญตนผิด นึกว่าตัวมีเงินมีทอง มีอะไรมากมายไม่รู้จักหมด จักสิ้น อันนี้พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า เป็นคนประมาท เมื่อเป็นคนประมาทมัวเมาอย่างนั้น ก็เรียกว่าอยู่ที่ปากเหว ของความตาย ไม่เท่าใดก็ตกลงไปในเหวเท่านั้นเอง ชีวิตเอาตัวไม่รอด อันนี้เป็นเรื่องที่เราเห็นกันอยู่ทั่วๆไป เพราะจิตใจขาดสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ
เพราะฉะนั้น ในวันปีใหม่อย่างนี้ เราจึงควรจะได้นั่งมองดูตัวเอง พิจารณาตัวเอง หาข้อบกพร่องในตัวเองให้มากสักหน่อย หาข้อบกพร่องในตัวเราว่า เรานี้เป็นคนไทย มีความเป็นไทขนาดไหน เราเรียกตัวเองว่าเป็นมนุษย์ เรามีความเป็นมนุษย์ขนาดไหน เราเรียกตัวเองว่าเป็นพุทธบริษัท เรามีความเป็นพุทธบริษัทขนาดไหน เราเป็นพ่อ เราเป็นแม่ เราเป็นครู เป็นอาจารย์ เราเป็นทหาร เป็นตำรวจ หรือเป็นอะไรๆที่โลกสมมติให้เป็น เราเป็นสิ่งนั้นตรงธรรมะหรือเปล่า หรือว่าเราเป็นสักแต่ว่าเขาให้เป็น เป็นพ่อ สักแต่ว่า รู้จักทำคนให้เกิด เป็นแม่สักแต่ว่า เกิดคนออกมา แล้วก็ถูกเรียกว่าเป็นแม่ เป็นครูเพราะไปยืนสอนหนังสือหน้าชั้น หรือว่าเป็นตำรวจเพราะแต่งเครื่องแบบ เป็นทหารเพราะแต่งเครื่องแบบ เป็นเพราะ (28.02 เสียงไม่ชัดเจน) เครื่องภายนอกเป็นเครื่องแสดงออกว่า ให้เป็น ถ้าเป็นอย่างนั้น มันเป็นไม่ได้เรื่อง เป็นไม่ถูกต้อง เป็นที่ไม่มีค่า เป็นที่ไม่มีราคา ไม่มีความหมาย สำหรับชีวิตแม้แต่น้อย
ทีนี้ความเป็นที่ถูกต้องนั้นมันเป็นที่อะไร ก็เป็นด้วยความมีคุณธรรม เข้าไปกำกับความเป็นนั้นไว้ เช่น เราเป็นไท ก็ต้องมีคุณธรรมของความเป็นไท เข้าไปรักษาจิตใจของเราไว้ ให้ความเป็นไทมันสมบูรณ์ คุณธรรมที่จะรักษาจิตใจให้เป็นไทสมบูรณ์นั้น มีมากมาย แต่จะยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เพียงบางประการ แต่ว่าในชั้นต้นนี้ต้องรู้ความหมายเสียก่อน ว่าความเป็นไทนั้นคืออะไร
ความเป็นไทก็อยู่ที่จิตใจเรามันอิสระ ไม่เป็นทาสของอะไรๆ ใจที่ไม่เป็นทาสนั่นแหละ คือใจที่เป็นไท ใจที่ยังเป็นทาสของความอยาก ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นทาสของวัตถุ ไม่ว่าในเรื่องอะไร เราก็ยังไม่เป็นไท เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นไท นิดๆหน่อยๆ ก็เรียกว่าเป็นยังไม่สมบูรณ์
เราจะต้องยกระดับจิตใจของเรา ให้มีความเป็นไทมากขึ้นๆ คือหลุดจาก (29.36 เสียงไม่ชัดเจน) ความเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น เช่น เราเป็นทาสของสิ่งเสพติด ต้องสูบบุหรี่ ต้องรับประทานหมาก ต้องดื่มน้ำอัดลม ตื่นเช้าต้องดื่มกาแฟ กาแฟก็ต้องยี่ห้อนั้นเสียด้วยนะ ถ้าไม่ใช่ยี่ห้อนั้นนะ แหม มันไม่ถูกปากถูกลิ้น (29.57 เสียงไม่ชัดเจน) ดื่มไม่ได้ ต้องทำอย่างนั้นต้องทำอย่างนี้ อย่างนี้ก็เรียกว่าเราไม่เป็นไท เราเป็นทาสของสิ่งเสพติด
สิ่งเสพติดเหล่านั้นมันเป็นนายเหนือเรา เราต้องแบกนายไป ต้องอุ้มนายไว้ ต้องเอานายมาใส่ไว้บนหัวตลอดเวลา นี่ลองคิดดูเถอะ ใครเป็นทาสอะไรต้องพามันไป เป็นทาสบุหรี่ก็ต้องพกบุหรี่ไป เป็นทาสหมากก็ต้องหิ้วกระเช้าไป สำหรับคุณโยมแก่ๆไปไหนก็ต้องหิ้วไป ตัวเองก็พาไม่ไหวแล้ว ยังไปหิ้วให้มันหนักเข้าไปอีก มันเรื่องอะไร แล้วไม่นึกบ้างว่า เอ๊ะทำไมกูต้องหิ้วมันไปอย่างนี้ เลิกๆมันให้ได้เถอะ ไม่ได้ ใจมันไม่ยอมเลิก มันยังเป็นทาสของสิ่งนั้นอยู่ หรือเราเป็นทาสน้ำเมา ตื่นเช้าต้อง (30.54 เสียงไม่ชัดเจน) หนึ่ง ตอนบ่าย ตอนกลางวันก่อนกินอาหารก็ต้องเป๊กหนึ่ง ตอนเย็นก็ต้องไปนั่งก๊งกันอีกนานๆ ก๊งกัน ก๊งกันไปนานๆอย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นทาสของน้ำเมา
เมื่อเช้านี้ฟังข่าวว่า เขามีการแข่งขันกัน แข่งขันว่าใครจะดื่มเหล้าได้มากกว่าใคร เอามาแข่งกัน (31.18 เสียงไม่ชัดเจน) อันนี้เอามาดูกัน ไอ้คนๆนั้นมันกินเข้าไปสองกลมแล้ว ขวดกลมๆสองกลม แล้วก็กินเหล้าแท้ๆ ไม่ต้องเติมอะไร กินเข้าไปแล้ว มันยังไม่รู้สึกมึนเมาเลย แต่ว่าคนสองคนคู่แข่งนั้น ยังกินไม่ได้เท่าไร คอพับ คอเอียงไปแล้ว ไอ้นั่นยังกินกลมที่สามเข้าไปอีก แล้วกินเข้าไปแล้วครึ่งกลมแล้ว ก็ยังไม่เป็นไร ไอ้สองคน คือคู่แข่งนั้น อาเจียน โอกอาก ออกมาแล้ว เลยกรรมการยกมือให้คนนั้นน่ะเป็นผู้ชนะในการดื่มเหล้าวันนั้นน่ะ
ไอ้ชนะอย่างนี้มันไม่ได้เรื่องอะไร ชนะในการดื่มเหล้านี่มันจะได้เรื่องอะไร คนเรามันต้องชนะในการไม่ดื่ม ชนะในการไม่เล่นการพนันต่อไป ชนะไม่เที่ยวกลางคืนต่อไป ชนะไม่โกรธใคร ไม่เกลียดใคร ไม่ริษยาใคร จิตใจอยู่ในอาการสงบเรียบร้อย จึงเรียกว่าชนะ ไอ้อย่างนั้นมันแพ้ ไอ้คนที่โลกสมมติว่าชนะน่ะ คือคนแพ้ แพ้เข้าไปตั้งสองกลมครึ่งแล้ว แล้วมันยังจะแพ้อีกนะ แต่กรรมการบอกว่าพอแล้วไอ้นี่คงจะเอาไปแพ้เอง กรรมการเอาไปกินต่อไป แต่ว่ากรรมการก็แพ้ ไอ้คนเข้าแข่งก็แพ้ แพ้น้ำเมา แพ้มันทุกรายไป อย่างนี้มันก็ไม่เป็นไทอะไร จากเรื่องเหล่านั้น
เรามาทำกันดูอย่างนี้ ว่าเรามันเป็นทาสอะไร เราต้องดิ้นรน ต้องต่อสู้ เพื่อปลดความเป็นทาสให้ลดออกจากจิตใจของเรา ให้เราอยู่ด้วยความเป็นไทอย่างแท้จริง การที่จะทำตัวเราให้เป็นไทนั้น ก็ต้องใช้คุณธรรม เช่นว่า ให้มีความละอายต่อการที่เราไม่เป็นไท ให้มีความกลัวต่อการที่เราไม่เป็นไทแก่ตัว ตามภาษาธรรมะเรียกว่า มีหิริ โอตัปปะ
หิริ คือความละอายแก่ใจ โอตัปปะ คือความกลัวต่อผลอันจะเกิดขึ้นแก่ตนในทางชั่วทางร้าย ให้เรามีคุณธรรม ๒ประการนี้ ให้ยิ่งกว่าสิ่งใดๆไว้ในใจของเรา ให้นึกละอายไว้ทุกวินาที ทุกลมหายใจเข้าออก ทุกลมหายใจเข้าออก เราละอายตัวเอง ละอายตัวเองว่า เราจะไม่เป็นไทสมชื่อสมนาม
ให้ละอายตัวเองว่า การทำอย่างนี้นั้นไม่เหมาะสมแก่คนเช่นเรา ผู้มีอายุเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้ใหญ่นี่ อายุ ๒๐นี่ก็เรียกว่าเป็นผู้ใหญ่ ถ้าอายุ ๖๐นี่ก็เรียกว่า ผู้เฒ่า ใหญ่แล้วมันก็เฒ่า ผู้เฒ่าผู้แก่ อายุ ๖๐ขึ้นไปนี่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่
ถ้าเราเป็นผู้เฒ่าผู้แก่แล้ว จะไปทำอย่างนั้น มันน่าละอาย ไม่สมฐานะของเรา เราต้องมีความละอายอยู่ในใจตลอดเวลา นึกเตือนตัวเองว่า อย่าทำสิ่งที่น่าละอาย อย่าพูดสิ่งที่น่าละอาย อย่าไปสู่สถานที่ ที่มันน่าละอายเช่นนั้น ให้เราเตือนตัวเองไว้อย่างนั้น ปลอบใจตนเองไว้อย่างนั้น ทุกลมหายใจ เข้าออก แล้วให้มีความกลัวไว้ ความกลัวให้คิดถึง ผลอันจะเกิดแก่เรา ผลที่เกิดขึ้นจากการทำชั่ว ไม่ว่าเรื่องอะไร ผลจากความเป็นทาสของอะไรๆ ให้นึกถึงผลมันว่า เมื่อเราเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น เรานี่ได้รับผลอะไรบ้าง ทางจิตใจเป็นอย่างไร ทางกายเป็นอย่างไร ทางเกียรติยศชื่อเสียงจะเป็นอย่างไร
เราก็ต้องพิจารณาให้มันรอบคอบ ในเรื่องผลที่จะเกิดขึ้นแก่ตัวของเรา ถ้าเรามองเห็นว่า มันเป็นผลไม่ดี ทำให้ชีวิตตกต่ำ ทำให้หมดคุณค่าของความเป็นไท เราก็ไม่กระทำสิ่งนั้น เราแข็งใจไม่กระทำสิ่งนั้น ก็เราแข็งใจไว้ไม่กระทำสิ่งนั้น ก็เรียกว่าเราเอาชนะสิ่งนั้นได้ คนเราจะชนะสิ่งใด มันต้องทำ ๒ อย่าง ด้วยการบังคับตัวเองอย่างหนึ่ง ด้วยปัญญาอีกอย่างหนึ่ง
ด้วยการบังคับตัวเองคือต้องแข็งใจไว้ อดไว้ ทนไว้ อย่างนี้บังคับตนเอง อีกอย่างหนึ่งนั้นมันชนะด้วยปัญญา คือมันเกิดความคิดในทางปัญญาขึ้นในใจ มองเห็นไหม มันไม่ได้เรื่องนะ มันสูบทำไม มันดื่มทำไม ไปเที่ยวทำไม เล่นการพนันทำไม ทำไมต้องหาความสุขด้วยการเล่นไพ่ ความสุขอย่างอื่นมันมีถมไป ที่เราจะทำได้
สุขที่แท้คือใจสงบ ไม่ใช่สุขจากไปนั่งแจกไพ่กัน ตลอดวัน ตลอดเวลา เกิดปัญญาขึ้นมา พอเกิดปัญญาขึ้นมา มันหลุดไปเอง ไอ้ความชั่วทั้งหลายทั้งปวงมันหลุดไปจากตัวเรา มันไม่มากอดจับเราต่อไป เพราะเรามีปัญญา มองเห็นสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริง เห็นทุกข์เห็นโทษ ของสิ่งนั้น เราเกลียดสิ่งนั้น เรากลัวสิ่งนั้น เราละอายที่จะเข้าไปแตะต้องสิ่งนั้น เหมือนเราเกลียดกิ้งกือ เกลียดไส้เดือนน่ะ เราไม่อยากเข้าใกล้มันอีกต่อไป
นี่แหละเขาเรียกว่า ดูด้วยปัญญา ปัญญามันเกิดขึ้นในจิตใจของเรา มันหลุดไปเอง เหมือนคนมาฟังธรรมบ่อยๆ แล้วบางสิ่งบางอย่างมันหลุดหายไป นั่นก็แสดงว่า เราฟังธรรมแล้วเกิดปัญญา เกิดปัญญาแล้วมองเห็น สิ่งนั้นว่าเป็นเรื่องของเด็กอมมือ เป็นเรื่องของคนไร้เดียงสา เป็นคนก็คนปัญญาอ่อน เป็นคนก็ผู้ไม่มีการศึกษา เรารักไหมที่จะไปทำเช่นนั้น เรากลัวที่จะทำเช่นนั้น เราก็เป็นไทแก่ตัวขึ้นมา นี่มันช่วย ธรรม ๒ ประการนี้ มันช่วยให้เราเป็นไทสมบูรณ์ขึ้น
อีกอันหนึ่งถ้าเรามีสติไว้กับตัวตลอดเวลา สติหมายถึงความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ความรู้สึกที่ทำให้รู้สึกว่า อันนี้ผิด อันนี้ถูก อันนี้ชอบ อันนี้ดี เรียกว่า รู้สึกผิด ชอบ ชั่ว ดี เรารู้ทุกประการ รู้ว่าอันนี้ผิด รู้ว่าอันนี้ชอบ รู้ว่าอันนี้ชั่ว อันนี้ดี มีสติเกิดขึ้นทันท่วงที เช่นว่า เราคิดอะไร สติมันมาทัน พอมาทันมันก็หยุดความคิดนั้นเสีย เราจะพูดอะไร แต่มันไม่เหมาะที่เราจะพูด สติมาทัน เราก็หยุดพูดเรื่องนั้นเสีย เราจะไปไหน สติมาทัน รู้ว่าไปแล้วมันไม่ดี ไม่ได้ประโยชน์ เราก็งดไม่ไป งดไม่ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ อันนี้คงจะมีแก่ท่านทั้งหลาย ประสบการณ์อย่างนี้คงจะมี เช่น สมมติว่าท่านคิดว่าจะทำอะไร แล้วอีกใจหนึ่งมันเกิดว่า หื้อ ไม่ดีน่ะ อย่าทำเลย นั่นแหละ ตัวสติน่ะคืออันนั้นน่ะ มันมาช่วยท่านแล้ว ช่วยท่านได้
แต่ทีนี้คนบางคน สติมาช่วย ปัดมันไปเสีย พอสติมาก็ปัดสติไปเสีย ไม่เอา ชั้นจะเอาไอ้นี่แหละ นี่ก็เรียกว่า สติมันน้อยไป กำลังฝ่ายธรรมะมันน้อย แต่กำลังฝ่ายอธรรมมันแรงกว่า ถ้ากำลังอธรรมมันแรง ธรรมะมันเบามันก็สู้ไม่ได้ ธรรมะถอยกรูดไป อธรรมก็เข้ารุกรานจิตใจของเรา เราก็พ่ายแพ้แก่สิ่งนั้น เราเป็นทาสสิ่งนั้นต่อไป อันนี้เราก็เอาตัวไม่รอด
เพราะฉะนั้นเราจะต้องอบรมสติไว้เสมอ เวลาเราจะคิดอะไร จะพูดอะไร จะทำอะไร จะไปสู่สถานที่ใด เราก็ต้องคอยมีสติ คือว่า ฉุกคิดขึ้นมาไว้ ฉุกคิดขึ้นมา ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ทำไมต้องทำอย่างนั้น ทำไมต้องไปที่นั่น ทำไมต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น เพื่ออะไร มันจะเกิดอะไรขึ้นแก่เรา เอาสติมาใช้คิด คิดให้มันทะลุปรุโปร่ง แล้วก็จะเป็นเหตุให้เรา เกิดความยับยั้งชั่งใจ ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับการกระทำนั้น เราก็เป็นไทแก่ตัว
เมื่อเราเป็นไทแก่ตัว ไม่เป็นทาสของอะไร เราก็เป็นมนุษย์ขึ้นมาล่ะ มนุษย์นี่มันเป็นขึ้นมาเพราะความเป็นไท เมื่อเป็นไทก็เรียกว่าเป็นมนุษย์ด้วย มนุษย์เพราะใจมันสูง สูงขึ้นจากความชั่ว เริ่มไม่ชั่ว เหมือนน้ำท่วมกรุงเทพนี่ ไอ้ตรงไหนเป็นที่สูงน้ำไม่ท่วม เช่น ภูเขาทองนี่น้ำไม่ท่วมเด็ดขาดเลย ภูเขาทอง น้ำท่วมกี่ปีกี่ปี ไม่ท่วมภูเขาทอง ถ้าท่วมภูเขาทองก็ ท่านปัญญาก็ไม่ต้องเทศน์ต่อไปแล้ว ก็เพราะว่ามันต้องว่ายป๋อมแป๋มกันไปไหนก็ไม่รู้ล่ะ นี่ที่สูงนี่น้ำมันไม่ท่วม
จิตใจคนเรานี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันสูงไว้ น้ำจะไปท่วมได้อย่างไร น้ำคือกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความริษยา ความพยาบาท อะไรต่างๆนั้น มันเกิดไม่ถึงกับระดับของใจ ใจมันสูงกว่า มันไปไม่ถึง มันไหลไปไม่ถึง มันก็ไหลปู้นไป มันไม่วกเข้าไปท่วมใจของเรา เราก็เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เพราะเรามีความเป็นไท
อันนี้เมื่อเรามีความเป็นไท เรามีความเป็นมนุษย์แล้ว เราจะเข้าถึงพระพุทธเจ้าได้ง่ายขึ้น ถ้าเป็นมนุษย์นี่เข้าถึงพระพุทธเจ้าได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นคนที่จะเข้าไปบวชนี่ พระท่านจึงถามว่า มนุสโสสิ มนุสโสสิ (42.13 เสียงไม่ชัดเจน) ถามว่าเธอนี่เป็นมนุษย์หรือยัง หมายความว่า มีใจสูง พอที่จะเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนาได้หรือยัง ถ้ายังสูงไม่พอ ไม่ควรจะบวช ต้องอบรมบ่มนิสัยกันก่อนจึงจะให้บวชได้
ความจริงคนที่จะมาบวชนี่มันต้องอบรมกันก่อนนะถึงจะบวช แต่ว่าเวลานี้เรามันบวชแบบชาวบ้าน บวชตามพิธี ตามธรรมเนียม บวช ๑๕ วัน บวช ๒๐ วัน บวชนิดๆหน่อยๆอะไรอย่างนี้ ก็จะมาทำอะไรก่อนก็ไม่ได้ เพราะว่าต้องรีบบวช ให้คุณยายเห็นผ้าเหลือง เพราะคุณย่าแก่แล้ว คุณยายแก่แล้ว อยากจะเห็นหลานบวช โดยไม่รู้เนื้อแท้ของเรื่อง
ความจริงนั้นที่เขาว่าให้บวชน่ะ หมายความว่า ให้งดเว้นจากความชั่ว ความร้ายด้วยประการทั้งปวง ถ้าลูกหลานงดเว้นจากความชั่วอยู่แล้ว ก็เรียกว่ามันบวชอยู่แล้ว เช่นว่า หลานเราไม่ดื่มเหล้า ไม่เล่นการพนัน ไม่เที่ยวกลางคืน ไม่คบเพื่อนชั่ว ขยันทำงานทำการ รู้จักเก็บหอมรอมริบ ตั้งเนื้อตั้งตัว มันก็บวชอยู่แล้ว ใจมันบวชอยู่แล้ว คือมันงดเว้นความชั่วอยู่แล้ว ก็เป็นอันว่าใช้ได้แล้ว แม้ไม่คลุมผ้าเหลือง ก็ไม่เป็นไร เพราะมันใช้ได้อยู่แล้ว
ถ้าจะให้บวชก็บวชให้มันนานหน่อย อย่างน้อยสัก ๓ เดือน เรียกว่า บวชมาเพื่อศึกษาให้มันลึกซึ้งต่อไป บวชเพื่อมีเวลาอบรมตนเอง ให้เจริญด้วยศีลด้วยธรรมมากขึ้น แต่ถ้าบวช ๗ วัน ๑๕ วัน มันน้อยเกินไป ยังไม่ทันทำอะไร บวชเพื่อให้คุณยายสบายใจ ให้คุณย่าสบายใจ ว่าได้บวชแล้ว
หรือว่ามันไปรักผู้หญิงอยู่คนหนึ่ง ทางฝ่ายโน้นเขาก็เร่งเร้าให้แต่งงาน แม่กลัวว่ามันจะไม่ได้บวชมันจะเบียดเสียก่อน เลยมาหาอุปชาว่า ต้องรีบบวชให้มันหน่อย เพราะว่ามันจะเบียดอยู่แล้ว ก็เห็นใจเหมือนกัน เลยต้องบวชให้มันเสียหน่อย ให้มันชื่อว่าได้บวชในพระศาสนา เลยก็ต้องบวชให้ ๑๕ วัน พอสึกออกไป ผมไม่ทันยาวเท่าไร ก็มานิมนต์ ว่า มานิมนต์หลวงพ่อไปแต่งงานผมด้วย ว่างั้น เออ ไอ้เจ้าบ่าวผมยังสั้น เจ้าสาวผมยาวอยู่ แต่งงานกัน อย่างนี้ก็เรียกว่าบวชเพื่อแต่งงาน ไม่ใช่เพื่ออะไร บวชอย่างนั้นมันก็เป็นตามประเพณี
ทีนี้ถ้าเรารู้ความหมายว่าการบวช คือการงดเว้นจากความชั่ว ก็เป็นอันว่าใช้ได้ เป็นการงดเว้นอยู่แล้ว ผู้ที่จิตใจเป็นมนุษย์ ก็เป็นผู้งดเว้นจากความชั่วอยู่แล้ว ก็เรียกว่า ก้าวไปใกล้พระพุทธเจ้า ใกล้พระธรรม พระสงฆ์เข้าไปทุกที เพราะว่าผู้เป็นพุทธะนั้นต้องเป็นผู้รู้อยู่ตลอดเวลา เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบานแจ่มใส เป็นผู้รู้ก็หมายความว่า รู้สึกจากจิตใจของตัวว่า ขณะนี้ใจกำลังมีอะไร กำลังเป็นอะไร รู้สภาพของจิต รู้สภาพของจิตว่า มีความโลภ มีความโกรธ มีความหลง มีราคะ มีโทสะ โมหะ หรือมีอะไร มีนิวรณ์ ๕ ประจำจิตใจ หรือว่า มีศรัทธา มีปัญญา มีอะไรอยู่ในใจ รู้ รู้อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้รู้
รู้อีกแง่หนึ่งว่ารู้ว่าตัวเรานี้คือใคร อยู่ในฐานะอะไร ตำแหน่งอะไร เราควรจะทำอะไรที่จะให้มันดีขึ้นไปกว่านี้ ให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ มีความรู้ คือรู้อยู่อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นผู้รู้หรือว่ามีอะไรมากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราก็รู้ รู้ว่า มันไม่เที่ยง มันมีความทุกข์ มันไม่มีอะไรที่เป็นเนื้อแท้ ไม่มีอะไรที่น่ารัก ไม่มีอะไรน่าจะเอามาเป็นของตัว เพราะไปรักกันแล้วมันจะยุ่ง ไปเอาเข้ามามันก็จะยุ่ง ปล่อยมันไปเสีย อย่าไปเกี่ยวข้องกับมันเลย ทำใจเฉยๆ ปล่อยวาง ในสิ่งที่มากระทบเหล่านั้น ก็เรียกว่า รู้จักสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริง
หรือมีอะไรมากระทบจิตใจ เช่น ใครมาด่า มาว่าเรา เราเป็นผู้รู้ เราก็ไม่โกรธเขา เราไม่เคืองเขา เพราะว่าไอ้เรื่องนั้นมันไม่ใช่เรื่องจริงจังอะไร มันเป็นเรื่องที่เขาพูดด้วยอารมณ์โกรธ อารมณ์เกลียด อารมณ์พยาบาท อาฆาต จองเวร ถึงได้พูดออกมาด้วยวาจาเช่นนั้น เราควรจะนั่งยิ้มรับอารมณ์นั้น แล้วก็ควรจะสงสารคนๆนั้นว่า เออ น่าสงสาร ที่จิตใจมันตกต่ำเหลือเกิน เมื่อใดมันจะเป็นผู้เป็นคนกับเขาเสียทีนะ เรานึกสงสาร อย่างนี้มันก็เรียกว่าเป็นผู้รู้อยู่ในเรื่องนั้น
แล้วก็เราเป็นผู้ตื่นตัว ตื่นตัวคือ ไม่ประมาท ไม่เผลอสติ มีสติกำกับ การคิด การนึก อยู่ตลอดเวลา เรียกว่า สติ พระพุทธเจ้าตรัสว่า สติ โลกสมิ ชาคโร สติเป็นธรรมเครื่องปลุกให้ตื่น ทำให้เราตื่น ไม่ใช่ลืมตาเรียกว่า ตื่น ไม่ใช่ อันนั้นมันตื่นทางกาย ใจไม่ตื่น บางคนตาลืมแต่ว่าใจหลับ ไปหลับอยู่กับอารมณ์อะไรก็ไม่รู้ ไปหลงอะไรอยู่ก็ไม่รู้ ไม่ตื่น
อันนี้เราต้องใจต้องตื่น ตื่นด้วยสติด้วยความรู้เท่ารู้ทัน ต่อสิ่งต่างๆ ที่มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้ตื่น ผู้ตื่นย่อมไม่ถูกอะไรมากระทบ จิตใจจะไม่หลงใหลมัวเมาในเรื่องอะไรๆ เรียกว่าเป็นผู้ตื่น
เป็นผู้เบิกบาน เมื่อตื่นมันก็เบิกบาน เหมือนดอกบัวบานตอนเช้ารับแสงแดด ตอนเย็นมันก็หุบเข้าไปเสีย แล้วก็บานทุกเช้าๆ เราก็มีใจเบิกบานอยู่ด้วยความรู้ ด้วยปัญญา ด้วยความเข้าใจในสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง สิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ไม่ทำใจให้เราตกต่ำ เราอยู่ในฐานะเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบาน แจ่มใส ก็เรียกว่า เราอยู่กับพระพุทธเจ้า เราอยู่กับพระธรรม เราอยู่กับพระสงฆ์ เราเป็นพุทธบริษัทอย่างแท้จริง เพราะใจอยู่กับพระ ไม่ใช่กายอยู่กับพระ ใจต้องอยู่กับพระ ใจต้องใกล้พระ สนิทเป็นอันหนึ่งอันเดียวอยู่กับพระพุทธเจ้า กับพระธรรม พระสงฆ์ ตลอดเวลา ก็เรียกว่าเป็นผู้อยู่กับพระ เราก็มีแต่พระอยู่ในใจ พระอยู่ในใจ ใจก็สะอาด ใจสงบ ใจสว่าง แต่ถ้ามาร ผี เข้ามาอยู่ในใจ ใจมืดมัว ใจเร่าร้อน ใจวุ่นวาย เพราะมันเป็นผี มันเป็นตัวกิเลส ทำให้เกิดความเศร้าหมอง แก่จิตใจ
เพราะฉะนั้นเราจึงควรจะได้พิจารณา ในวันนี้ วันปีใหม่นี้หยุดงานหยุดการมาวัดมาวา ไม่กลับบ้านก็นั่งพักใต้ต้นไม้ นั่งคนเดียวเงียบๆ นั่งมองดูตัวเอง พิจารณาตัวเอง ว่าเรานี้อยู่ใกล้พระขนาดไหน มีธรรมะอะไรอยู่ในจิตใจ หรือมีผีตัวใด อยู่ในเนื้อในตัวของเรา เราเป็นทาสของอะไร เราขึ้นอยู่กับอะไร เราเป็นผู้เป็นภัยแก่ตัวไหม เราเป็นมนุษย์ไหม เราเป็นพุทธบริษัทไหม เรามีความสุขในชีวิตประจำวันหรือเปล่า หรือเรามีเรื่องกลุ้มอกกลุ้มใจ ด้วยปัญหาอะไร ปัญหาเมื่อปีก่อนไหม ปีใหม่กับปีก่อนมันก็สัมพันธ์กันน่ะ เรื่องเก่าทั้งนั้นแหละ ที่เอามาคิดในปีใหม่นี้ ทีนี้อะไรที่มันเก่า จนบูดจนเน่า อย่าเอามาเลย ทิ้งๆมันเสียบ้าง อะไรที่มันไม่ดี ทิ้งเสีย
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า จงวิดเรือให้มันเบา แล้วเธอจะไปถึงฝั่งคือพระนิพพาน วิดเรือให้มันเบา แล้วไปถึงฝั่งคือพระนิพพาน ร่างกายเหมือนกับเรือ ใจนี่เป็นผู้ครองเรือ คือเป็นผู้นำเรือไป ทีนี้เรือมันไม่เบา มันหนัก หนักด้วยอะไร หนักด้วยความชั่ว ด้วยความยึดถือ ในตัวตน ในพิธีรีตอง ในความคิดความเห็น ในเรื่องอะไรต่างๆ ไปยึดไว้มาก ยึดไว้มากเรือมันก็หนัก หนักนักเข้ามันก็จมเลย ไปไม่ได้ อันนี้พระองค์บอกให้วิดน้ำออกจากเรือ คือสิ่งไม่ดีอะไรวิดออกเสีย อย่าเอาไว้ ทิ้งให้หมด
เราจึงต้องดูว่าอะไรไม่ดี ที่เราหอบมา หอบมาหลายปีแล้ว หอบมาเป็น ๒๐ปีแล้ว ๓๐ปีแล้ว เที่ยวหอบอยู่นั่น ไอ้ของไม่ดีไม่งามทั้งหลายนะ เที่ยวหอบพะรุงพะรัง เที่ยวหนักอยู่นะ แล้วจะมาหอบต่อไปนะ ๒๕๒๗ นี่จะหอบต่อไปทำไม ทิ้งมันเสียดีกว่า เอาทิ้งไว้เสีย อย่าเก็บต่อไป โยนภาระอันหนักลงเสีย อย่าแบกอันอื่นต่อไป ทำใจให้มันเบา ทำกายให้มันเบา
กายเบาใจเบาก็คือ ใจที่มันมีคุณธรรม มีปัญญา มีสติ มีความละอายบาป มีความกลัวบาป จิตใจเราก็เบาโล่ง ไม่มีอะไรเป็นเครื่องถ่วงให้หนักอกหนักใจ เราก็จะไปถึงจุดหมายปลายทางได้สมความปรารถนา
เพราะฉะนั้นในวันนี้ขอให้ญาติโยมได้มีเวลา ตรวจสอบตัวเอง พิจารณาตัวเอง แล้วอธิษฐานใจว่า ในปีนี้เราจะอยู่อย่างผู้มีธรรมประจำใจ เราจะอยู่ด้วยความรักเพื่อนมนุษย์ เราอยู่ด้วยการปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้อง ไม่เป็นทาสของการงาน แต่ทำงานอย่าง ทำใจอิสระ เราจะปฏิบัติหน้าที่ในครอบครัวให้เรียบร้อย เป็นพ่อให้สมบูรณ์ เป็นแม่ให้สมบูรณ์ อบรมลูกนั้นให้เจริญด้วยคุณธรรม เราจะอยู่ในสังคมด้วยการประพฤติตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม เราจะรักษาจิตใจให้เป็นไท ไม่เป็นทาสของอะไรๆตลอดไป ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ถ้าญาติโยมได้ตั้งอกตั้งใจ อธิษฐานใจ ประพฤติ ปฏิบัติ ในสิ่งถูกต้องดังที่กล่าวนี้ ท่านก็จะมีความสุข โดยไม่ต้องมีใครให้พรท่านให้เป็นสุข ไม่ต้องอ้างอำนาจอะไรที่ไหนมาช่วยให้ท่านเป็นสุขหรอก เพราะสิ่งเหล่านั้นน่ะช่วยท่านไม่ได้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆก็มาดลบันดาลให้ท่านเป็นสุขไม่ได้ ถ้าท่านไม่คิดให้มันเป็นสุข ไม่พูดให้มันเป็นสุข ไม่ทำให้เป็นสุข ความสุขขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจ ในสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริงด้วยตัวของท่านเอง
เพราะฉะนั้นจงเข้าใจหลักอันนี้ แล้วทำชีวิตให้เป็นสุข ตามหลักการของพระพุทธเจ้า ดังที่แสดงมา ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อไปนี้ก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจ เป็นเวลา ๕ นาที นั่งสงบใจ นั่งตัวตรง หลับตา กำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก อย่าให้ฟุ้งซ่านไปในเรื่องอื่น เป็นเวลา ๕ นาที