แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรม อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
อาตมาเดินทางไปประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน แล้วก็เดินทางกลับมาถึงเมื่อตอนเช้าวันนี้ เวลา ๖โมงพอดี มาถึงก็ได้มาแสดงธรรมให้ญาติโยมทั้งหลายฟัง แต่ว่าเรื่องไปประเทศอังกฤษนั้นค่อยเล่าในวันอาทิตย์ต่อไป วันนี้จะพูดเรื่องเกี่ยวกับหนังสือความสุขปีใหม่กันเสียก่อน เพราะว่าจะได้พิมพ์ให้ญาติโยมได้เอาไปส่งส.ค.ส. กัน ถ้าไปเทศน์อาทิตย์ต่อไปก็จะพิมพ์ไม่ทัน เพราะว่าพิมพ์ทีหนึ่งมันก็ตั้งหลายหมื่นเล่ม ปีกลายนี้ก็พิมพ์ไปตั้ง ๕๐,๐๐๐ เล่ม ญาติโยมยังไม่พอใจ คือไม่พอ ปีนี้ก็ทำเนิ่นๆ ไว้หน่อย จะได้เกิดความสะดวก
ถามว่าถึงวันสิ้นปีเก่า เราก็มีความดีอกดีใจ ดีใจว่าไม่ตายเสียในรอบปีนั้นนั่นนะสิไม่ใช่เรื่องอะไร เพราะว่าคนเรานี้อยากจะอยู่ ไม่อยากจะตาย ชีวิตของใครใครก็อยากจะอยู่ทั้งนั้น แม้คนที่ขาง่อยพิกลพิการร่างกายผิดปกติอยู่กันด้วยความลำบากก็ไม่อยากจะตาย ยังอยากจะอยู่ในโลกต่อไป จึงต้องแสวงหาหยูกยาเวชภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเอามารักษาร่างกายให้ยั่งยืนถาวรต่อไป อันนี้เป็นธรรมดาของสัตว์ทั้งหลาย
ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์เดรัจฉาน ย่อมมีความต้องการตรงกันอยู่ประการหนึ่ง คือต้องการจะอยู่นานๆ อยากจะมีอายุยืน สัตว์มันก็คงจะมีความต้องการเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นว่ามันกลัว เช่น ยกไม้เรียวจะตีนี่มันก็กลัว หรือเอาไม้กระบองจะตีกระบาลมันนี่มันก็กลัว แล้วก็วิ่งหนี การวิ่งหนีนั้นแสดงอาการว่ามันอยากจะอยู่ ไม่อยากจะตาย ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากปวด ไม่อยากจะเป็นโรคอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นในชีวิต อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งหลาย ที่เรียกว่ามีชีวิต ที่มีความรู้สึกนึกได้ เช่น คนก็ดี สัตว์ก็ดี มีสภาพเช่นเดียวกัน
โดยเฉพาะคนเรานั้นมีความต้องการที่จะมีชีวิตอยู่มากกว่าสัตว์เดรัจฉาน เพราะว่าคนเรานั้นมีการติดพันในระหว่างชีวิต เช่น มีเพื่อนก็ติดพันเพื่อน มีคู่ครองก็ติดพันคู่ครอง มีทรัพย์สมบัติก็ติดพันอยู่ในทรัพย์สมบัติ มีความเป็นใหญ่ มีอำนาจก็ติดอำนาจ ติดโน่นติดนี่โรมรันไปหมด จนกระทั่งว่าสร้างปัญหาคือความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ตัวเอง ทั้งๆ ที่ต้องการความสุขนั่นละ แต่ว่าเราก็สร้างความทุกข์ให้แก่ตนเองอยู่ไม่ใช่น้อย คือสร้างความทุกข์ก็เพราะว่าเรารู้เท่าไม่ถึงการณ์ในเรื่องอะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต จึงเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ
คนเราไม่ว่าจะทำอะไร ต้องการความสุขทั้งนั้น แม้ว่าโจรใจร้ายเที่ยวบุก เที่ยวปล้น เที่ยวฆ่าคน ก็เรื่องมันต้องการความสุขเหมือนกัน เพราะอยากจะได้ทรัพย์สมบัติเขามากินมาใช้ อยากจะมีอำนาจเป็นใหญ่เป็นโต แล้วก็ยกพวกไปปล้นเขา เช่น ในสมัยของคนแสวงหาเมืองขึ้น ประเทศต่างๆ ในยุโรปก็ลงโรง (04.53) กันเป็นการใหญ่ เพื่อยกกองทัพเรือไปเที่ยวปล้นประเทศนั้นประเทศนี้ ไปยึดครองเอาประเทศเหล่านั้นมาเป็นเมืองขึ้นของตัว
ใครยึดครองได้มากก็เรียกว่าเป็นมหาอำนาจ แล้วคนที่เป็นหัวหน้าไปยึดครองนั้น ก็ได้รับเกียรติ์คือสร้างอนุเสาวรีย์ไว้ ที่เมืองอังกฤษนั้นมีอนุเสาวรีย์มากเหลือเกิน โดยเฉพาะในย่านกลางเมือง มีอนุเสาวรีย์ขี่ม้าบ้าง ไม่ขี่ม้าบ้างมากมายก่ายกอง ยืนกันอยู่เกะกะไปหมด ล้วนแต่เป็นคนที่สำคัญในบ้านเมือง แต่ว่าพูดถึงความสำคัญก็หมายความว่าสำคัญในการที่ยกทัพไปเที่ยวปล้นเมืองอื่นนั่นเอง ไปปล้นเมืองอินเดีย ไปปล้นเมืองพม่า ไปปล้นเมืองมลายู ไปปล้นประเทศนั้นประเทศนี้เอามาเป็นของตัว เลยกลายเป็นคนสำคัญ คุกไม่มีที่จะขังก็ต้องเป็นสร้างอนุเสาวรีย์ไว้ เป็นเครื่องหมายกันต่อไป อันนี้ก็ เขาก็อยากจะได้ความสุขเหมือนกัน
โจรผู้ร้ายเที่ยวปล้น เที่ยวฆ่าคน ฉกชิงวิ่งราว ล้วงกระเป๋า มันก็ต้องการความสุขเหมือนกัน แต่ว่าความสุขของคนเหล่านั้นมันสร้างปัญหา คือทำความทุกข์ ความเดือดร้อนให้เกิดแก่คนอื่น จึงไม่ใช่ความสุขที่ถูกต้องด้วยหลักเกณฑ์ทางศีลธรรม หรือด้วยหลักเกณฑ์ทางศาสนา จึงไม่ใช่เป็นความสุขอย่างแท้จริง
แล้วคนเราที่วิ่งเต้นทำงานทำการ หาเงินหาทอง อยากจะได้เงินมากๆ มีมากๆ มีมากๆ แล้วก็สบาย คนมีเงินมากที่หน้าตายิ้มย่องผ่องใสใจเบิกบาน ถ้าอยู่ในกระเป๋ามากๆ เป็นร้อยเป็นพันนี่ รู้สึกว่าหน้าตาสดชื่น มีความสุขเพราะมีเงินในกระเป๋า แต่ถ้าไม่มีเงินไม่มีทองเลยนั้น หน้าเหี่ยวหน้าแห้ง ไม่ค่อยจะสบายใจ ต้องการอะไรก็ไม่ได้ดังที่ตนต้องการ ก็มีความทุกข์ความเดือดร้อน
ดังนั้นในชีวิตของคนเรานี่จึงแสวงหาทรัพย์ แสวงหาอำนาจ แสวงหายศฐาบรรดาศักดิ์ แสวงหาสิ่งต่างๆ หลายอย่างหลายประการนั้น จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้ได้มีความสุขทางใจ แต่ว่าสิ่งที่เขาแสวงหานั้น หาได้ทำให้เกิดความสุขเสมอไปไม่ เพราะว่ามันเป็นเรื่องของวัตถุ เป็นเรื่องภายนอก เรียกว่าเป็นเครื่องล่อใจจูงใจให้เกิดความหลงไหลเพลิดเพลินไปชั่วขณะหนึ่งๆ ถ้าไม่มีสิ่งนั้นเราก็มีความทุกข์ขึ้นทันที เช่น เรามีเงินนี่เรามีความสุขเพราะเงิน แต่ถ้าไม่มีเงินเมื่อใดก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น
มีลาภ เมื่อได้ลาภ ได้อะไรมา จะเป็นแก้วแหวน เงินทอง ช้าง ม้า วัว ควาย หรือวัตถุอะไรก็ตาม เมื่อได้มาเราก็รู้สึกว่ามีความสุขยิ้มย่องผ่องใสใจเบิกบาน แต่เมื่อสิ่งนั้นมันหายไป หรือว่ามันจากเราไป เราเป็นอย่างไร เราก็รู้สึกว่ามีความทุกข์ทางใจ มีความเดือนร้อนใจ ไม่มีความสุขสงบใจแม้แต่น้อย
คนที่มียศ เวลาได้เลื่อนยศก็สบายใจ ได้เลื่อนชั้นนั้นชั้นนี้ เป็นซีนั้นซีนี้ ในสมัยนี้ตำแหน่งยศสูงขึ้นก็หมายความว่าเงินเดือนมันสูงขึ้นด้วย แล้วก็มีความเบิกบานใจ พอได้เลื่อนยศนี่เชิญเพื่อนมากินเลี้ยงกันเป็นการใหญ่ เสียเงินเสียทองก็ไปเยอะแยะ มีความสุขใจในเรื่องการได้มา แต่ถ้าถูกถอดยศก็เป็นทุกข์อีกเหมือนกัน
เวลาใครมาพูดสรรเสริญชมเชยเรา เราก็มีความสุขทางใจในคำสรรเสริญเยินยอนั้น เพราะคำสรรเสริญนี้เป็นที่พอใจของทุกคน ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร สรรเสริญมันเถอะ เขาจะต้องยิ้มย่องผ่องใสด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าหากว่ามีคนมาติมาว่า เราก็ไม่พอใจ พอด่าเข้าสักคำหนึ่งก็ชักจะไม่ชอบใจ บางทีเขาด่าด้วยความปรารถนาดี เพื่อให้มีความรู้ มีความเข้าใจถูกต้อง ได้เปลี่ยนความคิดเข้าหาแนวทางที่ถูกที่ชอบ ก็ไม่ค่อยจะชอบใจ
เหมือนพระเทศน์นี่ ถ้าเทศน์ว่าโยมมากๆ โยมก็ไม่ค่อยชอบเหมือนกัน แต่ถ้าหากว่าชมบ่อยๆ โยมชอบ นิมนต์บ่อย เอาองค์นั้นมาชมสบายใจดี อันนี้ก็เรื่องความสุข สุขจากเสียงที่มากระทบหู คือคำสรรเสริญเยินยอนั่นเอง ทำให้เกิดความสุขใจขึ้นมาในขณะนั้น แต่ถ้าได้รับคำติเตียน ว่ากล่าว ไม่พอใจ เช่น เด็กๆ นี่ถ้าพ่อแม่สอนนักก็ไม่ค่อยชอบ ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ ก็ไม่โต้เถียง แต่พอโตขึ้นหน่อยก็มักจะพูดว่า แม่อย่าพูดมากนะ หนูโตแล้วนะ นี่มันไม่ชอบให้สอนแล้วตอนนี้ แต่ว่าถ้าเป็นเด็กชายก็เหมือนกัน ถ้าสอนมากๆ เข้า มันก็ลุกขึ้นหนีไปเสีย ไปเที่ยวแล้ว ไม่กลับมาให้แม่สอนต่อไป แล้วไปบ่นกับเพื่อนฝูงว่า แหม ขี้เกียจกลับบ้าน ขี้เกียจฟังเทศน์คุณแม่ว่างั้น นี่มันไม่ชอบ ความจริงนั้นคุณแม่รัก ปรารถนาจะให้ลูกดี ให้ลูกเจริญ ให้มีความก้าวหน้า แต่ว่าลูกไม่ชอบคำสอนเหล่านั้น
นักเรียนก็เหมือนกัน ถ้าครูคนไหนเอาใจ ชมเชย แม้เรื่องนั้นจะไม่มีจริงก็ชอบใจ แต่ถ้าครูคนไหนคอยติคอยว่า คอยย้ำคอยเตือน นักเรียนไม่ค่อยจะชอบในคำติว่าเหล่านั้น เพราะรู้สึกว่าครูไม่ชอบตัว แต่ความจริงน่ะ ครูที่ติว่านักเรียนบ่อยๆ น่ะ ครูรักนักเรียน อยากจะเห็นนักเรียนเป็นคนดี มีความประพฤติเรียบร้อย มีความก้าวหน้าในการศึกษา แต่ว่าเด็กไม่ค่อยจะเข้าใจผู้ใหญ่ เด็กไม่เข้าใจครูว่ามีน้ำใจรักขนาดไหน กับไปชอบครูที่คอยเอาอกเอาใจ พูดจาให้เกิดความเพลิดเพลิน พาไปเที่ยวไปเตร่ในทางสนุกสนานจนเสียผู้เสียคน นักเรียนกลับชอบครูอย่างนั้น แต่ครูที่คอยเข้มงวดกวดขันนี่ก็ไม่ค่อยชอบเท่าใด
สมภารเจ้าวัดนี่ก็เหมือนกันนะ ถ้าหากว่าปล่อยตามเรื่องตามราว พระชอบ ชอบว่าสมภารนี่ดี ไม่เอาไหน ว่างั้น ดีคือไม่ว่าอะไร ถามว่าพระสมภารวัดนั้นเขาว่าดี ดีอย่างไร ไม่ว่าอะไรใครเลย ไม่สอนอะไร ไม่ยุ่งอะไร ใครจะเอาหัวขึ้น เอาตีนลง เดินยังไงก็ตามใจ สมภารไม่ว่าคือสมภารดี แต่ถ้าสมภารองค์ไหนคอยว่า คอยเตือน คอยติ ชักจะไม่ค่อยชอบ หาว่าจ้ำจี้จ้ำไช อย่างนั้นอย่างนี้ อย่างนี้ก็เพราะว่าไม่ชอบในเรื่องให้เขาสอน เขาเตือน คนเราถ้าไม่ชอบให้ใครเตือนแล้ว มันก็ดีขึ้นไม่ได้ มีความสุขไม่ได้
คนที่จะมีความสุขนี่ต้องยินดีรับฟังคำสอนคำเตือนของผู้อื่น ลูกยินดีรับฟังคำสอนคำเตือนของพ่อแม่ แม้คำพูดนั้นจะขมสักหน่อย แต่ว่ามันก็เป็นยา บอระเพ็ดขมนี่เป็นยา น้ำตาลหวานนี่กินมากๆ ไม่ค่อยดี เป็นโรคอ้วน อ้วนแล้วมันจะเป็นโรคเบาหวานต่อไป ทำให้เกิดความเสียหาย แต่ว่าของขมนี่มันเป็นยาทั้งนั้น
บอระเพ็ดนี่ก็เป็นยา ยอดสะเดาขมนี่ก็เป็นยา ผักขมๆ นี่คนแก่ชอบ คนอายุมากๆ นี่ชอบกินแกงขมๆ แกงลูกบวด แกงยอดขี้เหล็ก แกงอะไรต่ออะไรชอบ ไม่ต้องใส่อะไร เอาเกลือใส่ลงไปต้มๆ ชอบ กินได้ แต่คนหนุ่มเขากินไม่ได้ เด็กยิ่งไม่ได้เลย เด็กมันชอบของเปรี้ยวๆ เช่นว่า ของเปรี้ยวละก็ชอบ กินกับเกลือ เอาส้มจิ้มเกลือกินเพลินไป ธาตุของเด็กมันเป็นอย่างนั้น แต่ธาตุของคนแก่นั้นชอบของขม แกงขมๆ เด็กกิน (14.17) ลูกหลานกินไม่ได้ กินแต่คุณยายคนเดียว เพราะว่ามันขม
ทีนี้คำพูดที่ขมน่ะ มันเป็นสิ่งให้ประโยชน์แก่วิญญาณ คือจิตใจ ถ้าใครพูดกับเราด้วยคำขมหน่อย แสดงว่าเขาพูดเพื่อเตือน เพื่อให้เกิดความสำนึกรู้สึกผิดชอบชั่วดี เขาจึงพูดอย่างนั้น เป็นการเตือนให้รู้สึกตัว แต่ว่าคนเราไม่ค่อยชอบคำเตือนอย่างนั้น ก็มีความทุกข์ทางใจ ความสุขนี่ทุกคนต้องการ ใครๆ ก็อยากได้กันทั้งนั้นละ แต่ว่ายังไม่มีความสุขสมปรารถนา ยังมีความทุกข์ มีความเดือดร้อนอยู่ในจิตใจด้วยประการต่างๆ
นี่โยมมาวัดฟังเทศน์นี่มาเพื่ออะไร ก็มาเพื่อความสุขนั่นเอง ฟังธรรมแล้วมันสบายใจ อาตมานี่ก็มาเทศน์เพื่อความสุขเหมือนกัน คือได้เทศน์แล้วมันสบายใจ สบายใจว่าได้เปลื้องหนี้ก้อนข้าวของชาวบ้าน เพราะว่าชาวบ้านเลี้ยงมา เลี้ยงด้วยอาหาร ด้วยจีวร ที่อยู่อาศัย หยูกยาแก้ไข้ อะไรๆ ก็ของโยมทั้งนั้นละ เป็นหนี้เป็นสินโยมอยู่มากมาย ก็คิดเปลื้องอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นพอได้ไปเทศน์ไปสอนญาติโยมนี่ก็ปลื้มใจ มีความสุขใจ
ญาติโยมที่ฟังก็มีความสุขใจเหมือนกัน ถึงได้มาฟังกันทุกอาทิตย์ คนใดมีความสุขใจเพราะการฟังธรรมก็มาฟังทุกอาทิตย์ ถ้าคนใดมาฟังอาทิตย์เดียวแล้วหายไปนั้นแสดงว่าไม่เป็นสุข ฟังแล้วไม่สบายใจ เลยไม่อยากจะมา แต่ถ้ามาบ่อยก็มีความสุขใจ เหมือนเราไปดูหนังนี่ ถ้าชอบแล้วก็ไปดูบ่อยๆ ฟังดนตรีถ้าชอบก็ฟังบ่อยๆ แต่ถ้าไม่ชอบก็ไม่อยากจะฟัง ที่เรามาฟังก็เพื่อความสุขทางใจ แม้เด็กนักเรียนก็อุตส่าห์มากัน มานั่งอยู่ที่ข้างหน้า ที่ไปโน้น (16.30) มากมาย นักเรียนเหล่านั้นเขาก็ต้องการความสุขจึงได้มาฟังธรรมกัน
คนบางคนก็เป็นสุขด้วยการไปเที่ยว เที่ยวนั่นเที่ยวนี่ เมืองนั้นเมืองนี้ ไปต่างประเทศ ไปไหว้พระ อะไรต่างๆ แล้วก็มีความสบายใจ บางคนสบายใจด้วยการซื้อของ ไปเที่ยวที่ไหนแล้วก็ซื้อจริงๆ ซื้อกันเยอะแยะ เมื่อเช้านี้ก็มีพวกร่วมขบวนขึ้นเวทีคนไทยไปนมัสการสังเวชนียสถานกลับมา มีคนหนึ่งซื้อลูกแอ๊ปเปิ้ลมาลังหนึ่ง ลังยาวขนาดนี้ อันนี้มันแตก ไม่รู้ใครงัด เวลาขึ้นไปบนนั้นมาถึงชนไปที่ ตกลงมาถึงชนลูกแอ๊ปเปิ้ลหล่นออกมา นี่ของโยมอินเดียแล้ว ไปซื้อแอ๊ปเปิ้ลอินเดียมา ความจริงแอ๊ปเปิ้ลอินเดียนี่กินไม่อร่อยเลย ลูกมันเล็กๆ กินก็ไม่อร่อยเท่าใด แต่ว่าชอบซื้อ แต่ว่าผลไม้เมืองไทยก็มีกินไม่อร่อย สู้กินของต่างประเทศไม่ได้ อร่อยดี ความจริงของเราดีกว่าของต่างประเทศทั้งนั้น ไม่ว่าผลไม้อะไร แต่ว่าเมื่อไปแล้วก็ชอบซื้อ เห็นซื้อแอ๊ปเปิ้ลมาลังใหญ่
บางคนก็ซื้อกระเป๋าที่เขาด้วยหนัง ซื้อมาซ้อนกันมาตั้ง ๙ ใบ ๑๐ ใบ เอาแจกเพื่อน เพื่อนมาไม่ได้ไปก็เอากระเป๋ามาแจก เดี๋ยวนี้ญาติโยมหิ้วกระเป๋าอินเดียเยอะแยะ เป็นแฟชั่นเหมือนกัน เรียกว่าได้หิ้วกระเป๋าอินเดียแล้วดูมันโก้หรานขึ้นนิดหน่อย มีความสุขดีเหมือนกันนะ สุขว่าได้หิ้วกระเป๋าต่างประเทศ สุขว่าได้กินผลไม้ต่างประเทศ เป็นสุขเพราะได้ทำอย่างนั้นได้ทำอย่างนี้ นี่มันเป็นความสุขใจ ที่ใครๆ ก็ต้องการและทำกันอยู่ทั่วๆ ไปตลอดเวลา
คนเราเวลาพบกันจึงให้พรกัน ให้พรกันว่า ‘เออ เป็นสุขเป็นสุขเถอะ’ คนฟังก็สบายใจ คนให้ก็สบายใจเหมือนกัน ถ้าเราไปเจอกันแล้วก็บอกว่า ‘เออ ขอให้มีความทุกข์มากๆ เถอะ’ ใครมันจะชอบบ้างเล่า ถ้าพูดอย่างนั้นคนก็คงไม่ชอบ คนพูดนี่ก็คงใจไม่สบายแล้วละ คงมาจากโรงพยาบาลศรีธัญญาจึงได้พูดอย่างนั้น พอเจอหน้าเพื่อนบอกให้เพื่อนเป็นทุกข์แสดงว่าประสาทมันไม่ค่อยจะดีแล้ว ไอ้คนฟังก็คงจะนึกในใจว่า ‘อะไร มาแช่งกูอย่างนั้น’ ทำให้ไม่สบายใจ จึงให้พรว่าเป็นสุข
ถ้าให้พรก็ให้อย่างนั้น ‘อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง’ ให้พรทุกวัน อายุ มีอายุยืน ให้มีผิวพรรณงาม ให้มีความสุข ให้มีกำลัง เป็นการให้พรเพื่อให้เป็นสุข แต่ว่าพรที่พระท่านให้ ท่านให้ปฏิบัติธรรมจึงจะได้เกิดความสุข ไม่ได้ให้ว่า ‘ขอให้มีอายุมั่นขวัญยืนเถอะ ขอให้สวยเถอะ ขอให้มีกำลัง ขอให้มีความสุข’ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ท่านบอกเหตุให้เกิดสุขไว้ข้างหน้า คือบอกว่า อะภิวาทะนะสีลิสสะนิจจัง วุฑฒาปะจายิโน จัตตาโร ธัมมาวัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง แปลว่าพร ๔ ประการ คือสิ่งประเสริฐที่คนอยากได้ คือ อายุ วรรณะ สุข กำลัง ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นปกติ ท่านให้หลักปฏิบัติ ให้หลักปฏิบัติว่าให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ถ้ามีความอ่อนน้อมถ่อมตนแล้วย่อมมีความเจริญ มีความก้าวหน้าในชีวิต ในการงาน ไปไหนก็ไม่มีคนเกลียด เพราะว่าไม่ไปทำให้เขาไม่สบายใจ พูดภาษาชาวบ้านก็เรียกว่าไม่ไปเบ่งทับใคร เขาก็ไม่เกลียด ไปด้วยความอ่อนโยนอ่อนน้อม อย่างนี้ทำให้เกิดความสุขความเจริญในทางจิตใจ
พระพุทธเจ้าสอนพุทธบริษัทให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตัว อย่าเป็นคนขี้โอ่ขี้อวดในเรื่องอะไรต่างๆ มีเงินก็อย่าไปอวดความมีเงิน มีทรัพย์อื่นก็อย่าไปอวด มีความรู้ก็อย่าไปอวด มีอะไรๆ ก็อย่าไปอวด แต่ถ่อมตัว ถ่อมตัวนี่ทำให้คนเอ็นดู แต่ถ้าเราอวดนี่ทำให้คนเกลียดชัง ทำให้เขาหมั่นไส้ ว่างั้น เขาเห็นหน้าเขาก็นึกว่า ‘หมั่นไส้ คนอะไรอย่างนี้’ เขานึกอย่างนั้น แล้วก็ไม่สบายทีหลัง แต่ถ้าเราอ่อนนี่มันสบาย ไม้อ่อนนี่มันอยู่ได้นาน ลมพัดมันก็ไม่ล้ม มันลู่ไปตามลม แต่ไม้แข็งนี่ต้านลมแรง พอลมพัดจัด ไม้ก็ล้ม ล้มแล้วลุกไม่ขึ้น ปลวกกินหมดเลย มันแตกต่างกัน
เพราะฉะนั้นอยู่ด้วยความอ่อนในทางจิตใจ ถ่อมตน อย่าอวดว่ารู้มาก อย่าอวดว่ามีทรัพย์ อย่าอวดว่ามีพวก อย่าอวดว่ามีอำนาจ อย่าอวดว่ามีนั่นมีนี่ อย่าไปอวดเขาเลย ให้เขารู้เอาเองก็แล้วกันว่าเรามีอะไร เขาเรียกว่าเป็นคนมักน้อย ภาษาพระเรียกว่ามักน้อย คู่กันกับคำว่าสันโดษ ญาติโยมคงจะได้ยินคำว่า มักน้อยสันโดษ มักน้อยน่ะคือคนมักไม่อวดนั่นเอง เรียกว่ามักน้อย มีอะไรก็ไม่อวดใคร มีความรู้ก็ไม่อวด นั่งเฉยๆ ถ้าไม่มีใครถามเจาะจงแล้วก็ไม่พูด
แต่คนที่มักอวดนั้น เขาไม่ถามก็อยากจะพูด เขาพูดกับคนอื่นก็เสือกเข้าไปพูดแทนคนนั้น นี่เขาเรียกว่าคนมันมักอวด อยู่ไม่ได้อกจะแตกตาย ถ้าไม่ได้พูดอยู่ไม่ได้ ต้องอุตส่าห์พูดออกไป นี่เขาเรียกว่ามักอวด กลัวเพื่อน กลัวเขาจะว่าไม่รู้ ความจริงน่ะที่ทำอย่างนั้นน่ะก็เพราะว่าตัวไม่รู้อะไรมากนั่นเอง รู้นิดๆ หน่อยๆ ก็เลยต้องอวดหน่อย คล้ายกับตัวแมลงป่อง พิษมันน้อยนะ แต่ไปไหนทำไมชูกล้าชูหาง แมลงป่องน่ะ ชูหางไป แต่ว่างูใหญ่ๆ สัตว์ใหญ่ๆ นาค นาคมีพิษเหมือนกับดวงอาทิตย์ นาคีมีพิษเพี้ยงสุริโย ไม่แสดงอะไร ไปไหนก็ไปช้าๆ แต่แมลงป่องละยกหางเลยนี่ อวดความรู้ อวดทรัพย์สมบัติ อวดมั่งอวดมี เพราะไม่มีจึงอวด คนความรู้น้อยมักจะอวดความรู้ มีทรัพย์น้อยก็มักจะอวดทรัพย์ รูปร่างไม่สวยก็อวดความไม่สวยของตัวเหมือนกัน พยายามตกแต่ง เพิ่มนั่นเพิ่มนี่ เพื่อให้มันสวย แต่คนที่เขาสวยแล้วเขาไม่ค่อยแต่งเท่าใด มันเป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้นเราได้ยินใครอวดก็แสดงว่ามีน้อย อวดเงินก็เรียกว่ามีเงินน้อย อวดทรัพย์สมบัติก็มีทรัพย์น้อย อวดว่ามีอะไรนี่แปลว่ามีน้อยทั้งนั้น คนมีมากเขาไม่อวด คือเขาอิ่ม เหมือนกับน้ำเต็มหม้อนี่มันไม่คร๊อกแครก เราถือน้ำใส่หม้อใบหนึ่ง ถ้ามันครึ่งหม้อนะ คร๊อกแครกคร๊อกแครกอยู่ตลอดเวลา มันดังอยู่ แต่ถ้าเต็มนี่ไม่ดัง คนที่เต็มด้วยความรู้ก็ไม่ดัง เป็นคนเก็บ มักน้อย คือไม่แสดงอาการให้ใคร นั่งเฉยๆ ควันของธูป ไม่อวดอะไรออกไป แต่ถ้าเขาถามเจาะจงก็พูดเหมือนกัน พูดให้ใครเขารู้ พูดชัดถ้อยชัดคำ มีหลักมีฐาน มีความสามารถในการที่จะแสดง อย่างนี้เขาเรียกว่าคนมักน้อย คนมักน้อยนี่ไม่อวดใคร เก็บเนื้อเก็บตัว อย่างนี้ดี
ฉะนี้ สันโดษนั้นมันคู่กับมักน้อย สันโดษนี่เป็นความสุขเหมือนกัน พระพุทธเจ้าว่า สันตุฏฐี ปรมัง ธนัง ความพอใจในสิ่งที่ตัวมีตัวได้นี่เป็นความสุขในชีวิตประจำวัน เป็นบรมทรัพย์ คือเป็นทรัพย์ภายใน มีอยู่ในใจของเราตลอดเวลา ผู้ที่มีความสันโดษคือเป็นผู้ที่พอใจในสิ่งที่เกิดขึ้น มีอยู่เฉพาะหน้า พอใจในสิ่งนั้น มีผ้านุ่งผ้าห่มอยู่เท่าใด พอใจเท่านั้น เมื่อยังไม่มีสิ่งอื่นมาชดเชยก็พอใจไปก่อน
อาหารมีข้าวอย่างหนึ่งแกงอย่างหนึ่งก็พอใจ กินสบาย กินเหมือนได้กินของทิพย์ แต่ถ้าเรามีมากแต่เราไม่พอใจ กินด้วยความเบื่อหน่าย จิตใจก็เป็นทุกข์ ถ้าพอใจแล้วก็สบาย มีรถยนต์เก่าๆ แต่เครื่องยังดี ขับไปไหนมันก็ถึงปลายทางได้ เราก็พอใจ แต่ถ้าไม่พอใจ พอมองเห็นของคนอื่น แหมนี่มันรุ่นใหม่ ของเรานี่มันรุ่นลายครามแล้ว สู้เขาไม่ได้ นี่ไม่สันโดษ พอเห็นรถคันอื่นทีไร มองรถของตัวเป็นทุกข์ทุกที
เห็นเครื่องนุ่งห่มของคนอื่น มองเครื่องนุ่งห่มของตัวก็เป็นทุกข์ทุกที เห็นบ้านเรือนคนอื่นใหญ่โต เห็นของเราเล็กๆ ก็มีความทุกข์ทุกที เห็นอะไรของเพื่อนใหญ่กว่าเราก็เป็นทุกข์ นี่เพราะไม่มีความสันโดษ ก็สร้างความทุกข์ให้แก่ตัวเอง ทำจิตใจให้กระทบกระเทือนอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความสุขใจ แต่ถ้าเรามีความพอใจในสิ่งที่เรามีเราได้ เราก็มีความสุข
คนมีความสันโดษจึงเป็นคนมีความสุขด้วยปัจจัยที่มีที่ได้ คนมีความมักน้อยก็มีความสุขใจ ไม่เดือดเนื้อร้อนใจในภายหลังเพราะการกระทำอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควร คนมักน้อยนี่เป็นคนประเภทถ่อมตัว แต่ว่าเมื่อถึงคราวที่จะต้องทำอะไรอันเป็นหน้าที่ที่ตัวจะทำแล้วทำได้ ทำได้อย่างดี แต่ถ้าไม่ถึงเวลาก็ไม่ทำ ไม่ถึงเวลาก็ไม่พูด อย่างนี้เขาเรียกว่าคนถ่อมตัว คนถ่อมตัวนั้นเป็นที่พอใจของคนอื่น แต่คนอวดนี่ไม่เป็นที่พอใจของใคร เขาเกลียด เขาหมั่นไส้ เพราะความอวดดี อวดมั่งอวดมี อวดนั่นอวดนี่เพื่อประการต่างๆ ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าไม่พึงเป็นผู้มักอวด แต่พึงเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตัว เข้าไปที่ไหนก็ไปอย่างคนถ่อมตัว อย่างนี้แล้วก็สบาย เป็นความสุขทางใจได้ คนเรามันอยากได้ความสุขกัน จึงหากันด้วยประการต่างๆ
ในแง่ของพระศาสนาตั้งแต่ในยุคดึกดำบรรพ์มา คนแสวงหาความสุขกัน ความสุขในบ้าน สุขจากวัตถุเขามีกันอยู่แล้ว เช่น สุขเกิดจากเนื้อจากหนัง จากวัตถุ ทรัพย์สมบัติซึ่งเรียกว่าเป็นอามิส เป็นเครื่องจูงใจ เขามีกันอยู่แล้ว แต่ว่ามันยังมีความทุกข์คอยกระซิบอยู่ในใจ ยังมีความเดือดเนื้อร้อนใจอยู่ เขาจึงคิดว่าอันนี้มันไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง ทำอย่างไรจึงจะให้เกิดความสุขที่แท้จริงขึ้นในชีวิตของเรา
ก็มีคนที่สมัครทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ เรียกว่าสมัครออกไปหาความสุข เพื่อเอามาแจกให้แก่คนอื่นต่อไป คนประเภทนี้มีมาตั้งแต่นานแล้ว ตั้งแต่ยุคโบราณ คนที่สมัครจะไปแสวงหาทางที่จะให้เกิดความสุขอย่างแท้จริงนี้ เขาละทิ้งชีวิตชาวบ้าน ละทิ้งการมีครอบครัว ออกไปอยู่ป่าหาความเงียบ เมื่อมีความเงียบ จิตใจจะได้สงบ เมื่อจิตใจสงบแล้วก็จะได้คิดค้นถึงเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ความสุขว่ามันมาอย่างไรมันไปอย่างไร เราควรจะทำใจอย่างไรจึงจะมีความสุขในชีวิตประจำวัน
คนเหล่านี้ก็ออกไปแสวงหา สร้างพิธีกรรมต่างๆ ขึ้น เพื่อทำให้คนสบายใจ ในชั้นแรกก็ทำไปตามวิธีการที่ไม่ค่อยจะก้าวหน้าเท่าใด ยังไม่เป็นความสุขที่แท้จริง เช่น พวกฤษีชีไพรที่ไปอยู่ในป่า ท่านไปหาความสุขจากป่า ไปหาความสุขจากที่สงบเงียบแต่ในสถานที่ที่สงบเงียบ แล้วก็รู้สึกว่ามีความสุขทางใจ ทีนี้เอาความสุขนั้นไปบอกแก่คนอื่นว่าควรจะอยู่ในที่เงียบๆ แต่ว่าคนจะไปนั่งเงียบอยู่ตลอดเวลามันก็ไม่ได้ เพราะต้องทำงานทำการ ต้องแสวงหาทรัพย์สมบัติมาเลี้ยงชีวิต ต้องอยู่กับครอบครัว ท่านก็แนะนำว่าอยู่ในครอบครัวนี่ควรจะอยู่อย่างไรจิตใจจึงจะมีความสุข จะไม่เกิดปัญหา เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ตนแก่ท่าน ก็เอาหลักธรรมะมาเป็นแนวทางปฏิบัติให้แก่คนเหล่านั้น ได้ทำกันมาโดยลำดับจนถึงยุคพระพุทธเจ้าของเรา
ยุคของพระพุทธเจ้าของเรานั้น ท่านก็ออกไปแสวงหาความสุขที่ดีกว่า เพราะความสุขธรรมดานี่ท่านมีเยอะแล้ว ท่านอยู่ปราสาท ๓ ฤดู ปราสาทฤดูหนาว ฤดูฝน ฤดูร้อน แล้วก็มีคนคอยดูแลเอาใจใส่ช่วยเหลือเกื้อกูลด้วยเรื่องปัจจัยต่างๆ ต้องการอะไรก็ได้สิ่งนั้น คำว่าไม่มี หรือไม่ได้ นี่ไม่เคยได้ยิน ได้พบแต่สิ่งที่สะดวกสบายตลอดเวลา แต่ว่าหาทรงพอพระทัยในสิ่งนั้นไม่ ก็ทรงมองเห็นว่ามันยังมีอะไรแฝงอยู่เบื้องหลังความสุขนั้น
มีทรัพย์ก็มีความทุกข์แฝงอยู่ มียศมีอำนาจก็มีความทุกข์แฝงอยู่ มีอะไรมันก็มีความทุกข์แฝงอยู่ทั้งนั้น ความทุกข์คล้ายกับเงาที่ติดตามตัวเราตลอดเวลาเมื่อมีแสงแดด ถ้ามีแดดส่องแล้วก็ต้องมีเงา เงากับตัวนี่มันไปด้วยกัน ตัวไปไหนเงามันก็ไปนั่น แต่ถ้าเราไม่สังเกต ก็ไม่เห็นว่ามันมีเงาอยู่ตรงไหน ความจริงมันมีอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีแสงแดด ความสุขที่ปรากฏออกมา มันก็มีเงาแห่งความทุกข์อยู่ข้างหลังความสุขอยู่เหมือนกัน
อันนี้ญาติโยมลองพิจารณาดูว่ามันจะเป็นจริงหรือไม่ เช่น เรามีเงินมีทองอยู่ เราก็นึกว่าสบาย มีความสุข แต่ว่าพร้อมๆ กับมีความสุขนั้น เราก็มีความวิตกกังวลในเรื่องของสิ่งที่เรามี กลัว กลัวว่ามันจะหาย กลัวจะถูกขโมย กลัวจะถูกปล้น แล้วก็ทำร้ายตัวเรา มันมีความทุกข์แฝงอยู่ในความมั่งมีนั้น ไม่ว่ามีอะไร มันมีความทุกข์แฝงอยู่ทั้งนั้น
มีอำนาจก็มีความทุกข์ กลัวคนอื่นจะมาแย่งอำนาจของตัว กลัวเขาจะทำลาย ทำรัฐประหารแล้วโค่นตัวลงไป กลัวจะสูญเสียอำนาจนั้นไป มีพรรคมีพวกก็กลัวคนอื่นจะมาแย่งพรรคแย่งพวกของตนไป มีอะไรที่เรารักเราชอบใจก็มีความกลัว มีความวิตกกังวลในสิ่งนั้น ความกลัวเหล่านั้นมันเป็นความทุกข์ที่แฝงอยู่เบื้องหลังของความสุขที่เรามีเราได้ เมื่อเรานั่งเป็นสุข ความทุกข์มันก็แอบอยู่ข้างหลังแล้ว
ถ้าเปรียบก็เหมือนกับสุนัข ๒ ตัวไล่ตามเรามา ตัวหนึ่งสีขาวตัวหนึ่งสีดำ ไอ้ตัวสีขาวนั้นหมายถึงตัวความสุข ตัวสีดำนั้นดุร้ายหมายถึงความทุกข์ เมื่อตัวขาวตามมา ไอ้ตัวดำก็ตามมาด้วย เวลาใดตัวขาวปรากฏ ตัวดำมันก็แอบอยู่ข้างหลังตัวขาว พอตัวขาวหาย ไอ้ตัวดำก็ปรากฏออกมา มันเป็นอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ขอให้สังเกตในชีวิตของญาติโยมทุกคนว่ามันมีอย่างนี้ เรามีอะไรก็ตามเถอะ มันมีเรื่องวิตกกังวลห่วงใยมีปัญหาด้วยเรื่องนั้นอยู่ตลอดเวลา คนที่จะไม่มีความทุกข์นั้นหามีไม่ ถ้าจิตใจยังไม่เข้าถึงธรรมะ
เป็นใหญ่เป็นโตมีอำนาจในบ้านเมืองก็เป็นทุกข์ ถ้าหากว่ามีโอกาสเข้าไปใกล้ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ลองคุยกับท่านเหล่านั้นดูเถอะ เรียกว่าคุยแบบกันเอง ท่านก็คงจะบอกว่ามีความทุกข์เหมือนกัน แต่ว่าไม่บอกใคร ว่ามีความทุกข์ แต่ก็ดูได้ว่าร่างกายชราลงไปเร็ว คนเป็นใหญ่นี่ชราเร็ว ผมก็หงอกเร็ว เพราะว่าความคิดมันยุ่งอยู่ตลอดเวลา หน้าขมวด หน้านิ่วคิ้วขมวดอยู่ตลอดเวลา เร่งปัญหาคือความทุกข์ความเดือดร้อนใจ
ใครๆ ก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นใหญ่ทางทหาร ทางพลเรือน ทางอะไรก็มีความทุกข์ใจ คนมีเงินมีทองมากๆ เป็นนายธนาคารใหญ่ๆ ถ้าไปคุยด้วยก็จะปรากฏว่าเขาก็มีความทุกข์อยู่เหมือนกัน ทุกคนมีความทุกข์แฝงอยู่จากความสุข แต่ว่ามันเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา ขณะนี้เป็นสุขสบายใจ เดี๋ยวก็มีความกลุ้มใจเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นคนในสมัยปัจจุบันนี้จึงปรากฏว่ามีโรคทางประสาทมาก
โรคประสาทนี่ในเมืองใหญ่ยิ่งมีมาก เมื่อมีมากก็เรียกว่ามันมีปัญหา คนเหล่านั้นมีปัญหา เราจึงเห็นว่าคนในสมัยนี้ชอบใช้วัตถุบางประเภทแก้ความทุกข์ เช่น ใช้ยาทำให้นอนหลับ หรือว่าใช้ยาบางประเภทที่ทำให้เคลิบเคลิ้มไป เพลินไป พวกที่ไปสูบกัญชา สูบเฮโรอีน สูบยาฝิ่น พวกนี้มันก็ต้องการความสุขเหมือนกัน แต่ว่าเขาไม่เข้าใจว่าความสุขนั้นมันไม่ถาวร เขาแสวงหาอย่างนั้น เพราะว่ามันมีปัญหาว่าเขาจะดับทุกข์ได้อย่างไร ไม่รู้จะดับทุกข์อย่างไรก็ดับไปงั้น
ในต่างประเทศเด็กหนุ่มๆ ที่เป็นฮิปปี้น่ะ อย่าไปนึกว่ามันเรื่องอะไร ที่มันเป็นอย่างนั้นก็เรื่องต้องการความสุข ไม่อยากจะอยู่ในระเบียบประเพณีที่เขาเป็นเขาอยู่กัน ไม่อยากจะนับถือศาสนาที่พ่อแม่นับถือ เลยออกไปเป็นอิสระ อยู่ตามชอบใจ ทำอะไรตามชอบใจ แล้วก็มักจะไปสูบกัญชา เคยถามคนที่สูบกัญชาว่าสูบแล้วมันเป็นอย่างไร เขาบอกว่าสูบแล้วมันซึมซึมสบายดี นี่ก็พวกหาสุขเหมือนกัน แต่ว่ามันทุกข์ทีหลังมากเหลือเกิน เพราะว่าไปติดสิ่งเหล่านั้นเข้า แต่เขาไปสูบก็เพราะว่าต้องการความสุข คนสูบบุหรี่ก็อยากได้ความสุข แต่มันทุกข์ตามมามาก ดื่มเหล้าก็อยากได้ความสุข แต่มันทุกข์ตามมารุนแรง ทำอะไรๆ ที่ตามใจตัวเอง มันมีความทุกข์ตามมาอย่างรุนแรงทั้งนั้น จึงไม่ใช่เป็นความสุขที่ถาวรที่เราต้องการ
พระพุทธเจ้าท่านสมบูรณ์ด้วยความสุขในทางวัตถุที่ในวังทุกอย่าง ตามแบบที่พระราชาในอินเดียในสมัยนั้นจะพึงมีพึงได้ แต่พระองค์มองเห็นว่ามันมีความทุกข์ในสิ่งเหล่านั้น ชีวิตไม่มีค่าเท่าใด จึงได้เสียสละออกจากวังไปอยู่ในป่า เพื่อทำการศึกษาค้นคว้าในวิชาที่จะทำให้เกิดความสุขอย่างแท้จริง
แล้วก็ไปศึกษาอย่างจริงจัง ไปปฏิบัติในสำนักครูอาจารย์ต่างๆ ที่มีชื่อมีเสียงอยู่ในสมัยนั้น ครูอาจารย์ในสมัยนั้นก็ค้นหากาลแห่งความสุข ก็ได้พบทางอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ก็ไม่ถาวร เป็นความสุขชั่วครั้งชั่วคราวเท่าที่จิตมันอยู่กับเรื่องนั้น เช่นว่า มีความสุขในฌาน คือปฏิบัติภาวนาทำกรรมฐาน จนได้ฌาน ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน หรือว่าเลยขึ้นไปถึงนั้น อรูปฌาน ๔ แล้วก็นั่งสงบอยู่อย่างนั้น ๓ วัน ๗ วัน ไม่ดื่มน้ำ ไม่กินข้าว ถือว่าเป็นความสุข ขณะอยู่ในฌาน มันก็เป็นสุขอย่างนั้น แต่ว่าเมื่อออกจากฌานแล้วมันหิว แล้วก็มีความทุกข์อย่างอื่นตามมาอีก มันไม่ใช่เป็นความสุขถาวร แต่ว่าท่านที่เขาค้นพบนี่เขาก็พอใจในความสุขเหล่านั้น ไม่ก้าวหน้าต่อไปเพราะไม่คิดก้าวหน้า มันจึงหยุด
แต่พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนั้น เมื่อได้ไปทรงศึกษาและปฏิบัติอย่างจริงจัง ปรากฏผลเป็นที่พอใจของอาจารย์ อาจารย์ก็ยกย่องชมเชยว่าเธอปฏิบัติได้ดีมาก มีความรู้เท่าเทียมกับฉันแล้ว อยู่ที่นี่ละ อย่าไปไหน จะได้ช่วยกันทำการสั่งสอนศิษย์ต่อไป แต่พระองค์ทรงเห็นว่ามันเป็นความสุขชั่วคราว มันถาวรชั่วคราว มันดีกว่าความสุขที่เกิดจากวัตถุนิดหน่อย ก็ดีกว่าความสุขที่เกิดจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันเป็นเรื่องความสุขที่เรียกว่า มีเครื่องล่อ เครื่องจูงใจ จิตมันไปสงบอยู่ชั่วขณะหนึ่ง เช่น ชั่วโมงหนึ่ง ๓ ชั่วโมง วันหนึ่ง ๗ วัน เขาเรียกว่าเข้าสมาธิใหญ่ หรือสมาบัติจิต อยู่ได้ ๗ วัน ไม่รู้เรื่องอะไร ไม่รับรู้อารมณ์อะไรทั้งนั้น มันก็มีความสุขในฌาน ในสมาบัติอย่างนั้น แต่ท่านออกมาจากนั้นแล้ว มารับรู้อารมณ์ต่างๆ ก็มีความทุกข์ต่อไป
เหมือนกับเรื่องว่าพระฤาษีนี่เจริญฌานแก่กล้า แต่ว่าไปเห็นอารมณ์ที่กระทบตาเข้า บังคับตัวเองไม่ได้ ฌานเสื่อมไปก็มี มันเสื่อมได้ ยังไม่ถาวร พระองค์จึงเห็นว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่พระองค์ต้องการ ไม่ใช่จุดปรารถนาที่พระองค์ตั้งไว้อยู่ที่ตรงนี้ จึงได้ลาออกจากสำนักอาจารย์เหล่านั้น เพื่อไปค้นหาศึกษาต่อไป
ในประเทศอินเดียนั้น มีความเจริญก้าวหน้าในเรื่องการศึกษาค้นคว้าในเรื่องจิตเรื่องวิญญาณ ในเรื่องเกี่ยวกับความสุขนี้มากกว่าที่ใดๆ ในโลกในสมัยนั้น ประเทศอื่นก็มีบ้างแต่ว่าไปไม่ไกล เช่น ประเทศกรีกในยุคเดียวกับพระพุทธเจ้า ก็มีคนสำคัญเกิดขึ้นเหมือนกัน แล้วก็ทำการศึกษาค้นคว้า พูดในเรื่องอย่างนี้ แต่ว่าไปไม่ไกล ไม่ไกลเหมือนกับในประเทศอินเดีย เพราะว่าในอินเดียนั้นคนมันคิดค้นสืบต่อกันมาเป็นระยะยาวนาน ต่อกันมาเป็นระยะยาว จนถึงยุคของเจ้าชายสิทธัตถะ ออกไปบวชแล้วได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ก็เรียกว่าค้นพบความสุขชั้นสูงสุด นำมาประกาศให้แก่ชาวโลกทั้งหลายให้เกิดความรู้ความเข้าใจ นำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันต่อไป
อันนี้เป็นยอดสุขที่พระองค์ได้ค้นพบ ความสุขที่พระพุทธเจ้าได้ค้นพบนั้นคือความสุขชนิดถาวร ความสุขชนิดถาวรนั้นคือถอนรากเหง้าของความทุกข์ได้เด็ดขาด อันนี้รากเหง้าของความทุกข์นั้นก็คือกิเลสประเภทต่างๆ เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่เรียกว่าเป็นตัวสำคัญ เป็นรากเหง้าสำคัญ ตัวใหญ่ๆ แล้วยังมีตัวเล็กตัวน้อยที่เกิดแทรกแซงขึ้นมาอีกมากมาย มีอยู่ในจิตใจของคนเรา คือมันเข้ามากอดจับอยู่ในจิตใจเหมือนสนิมเหล็กเกิดขึ้น แล้วไม่ขัดไม่ถูสนิมมันก็เกิดมากขึ้นทุกวันทุกเวลา จิตใจก็ตกต่ำ ไม่สามารถจะมีความสุขอยู่ได้
เราได้ค้นพบว่าสาเหตุมันมี คือพระองค์คิดถึงเรื่องปัญหา ปัญหาเรื่องความทุกข์นี่ ความทุกข์ในชีวิตของมนุษย์ แล้วก็คิดค้นว่าอะไรมันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ขึ้น ก็เพราะเหตุของความทุกข์นั้น แล้วก็คิดว่าทุกข์นี่มันน่าจะดับได้ เพราะสิ่งทั้งหลายมันดับกันได้ แม้ดับชั่วคราวก็ดี อันนี้ดับชั่วคราวนี่มันไม่เก่ง มันต้องให้ดับถาวร ก็ทรงคิดค้นว่าทำอย่างไรจึงจะดับสิ่งนั้นได้ ก็ได้หลักการว่าสิ่งทั้งหลายมันเกิดจากเหตุ เมื่อมีเหตุ ผลก็ต้องมีต่อ แต่ถ้าเหตุมันไม่มี ผลก็จะไม่มี เราก็ได้หลักการว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ จะดับได้ก็เพราะว่าดับเหตุเสียก่อน ผลก็จะคอยดับไปด้วย จึงได้คิดค้นว่าจะดับเหตุอย่างไร ก็ได้พบแนวทางหรือพบเครื่องมือ สำหรับที่จะดับเหตุของความทุกข์เหล่านั้น
เครื่องมือที่พระองค์ได้ค้นพบนี่ละเป็นสำคัญ ที่ไม่มีใครสอนมาก่อน ไม่มีใครพูดกันมาก่อน พระองค์ได้ค้นพบด้วยปัญญา ด้วยความสามารถ ด้วยความเพียร ความอดทนอย่างแรงกล้า จึงได้สิ่งนั้นมา และเมื่อค้นพบแล้ว พระองค์ก็ได้ทดสอบ ปฏิบัติด้วยพระองค์เองก่อน เพื่อจะได้รู้ผลว่ามันเป็นอย่างไร ไม่ใช่เพียงทฤษฎีเฉยๆ แต่เป็นเรื่องของการปฏิบัติ ปฏิบัติได้ผลคือพระองค์พ้นจากความทุกข์เด็ดขาด แล้วก็นำมาประกาศให้ชาวโลกได้รู้ได้เข้าใจ ได้ปฏิบัติกันต่อไป
คนที่มีปัญญา มีดวงตา มีความปรารถนาที่จะพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนในยุคนั้นในสมัยนั้นก็มีอยู่ไม่ใช่น้อย ก็หันเข้ามาหาแนวปฏิบัติของพระพุทธเจ้า เขาก็ได้รับความสุขความสงบในชีวิตประจำวัน อยู่อย่างไม่ต้องเป็นทุกข์กับใครๆ ต่อไป มีอยู่มากมายในสมัยนั้น คำสอนนั้นยังมีอยู่ แนวทางนั้นยังมีอยู่ ยังขาดแต่ว่าคนมันไม่เดินตามทางนั้นนั่นเอง ถ้าเราอยากจะพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน เราก็ต้องเดินตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าท่านชี้ให้เราเดิน ทางเดินนั้นมีอยู่ ขอให้เราศึกษาทำความเข้าใจ แล้วเราก็เดินต่อไปไม่หยุดไม่ยั้ง เดินควบคู่กันไปกับชีวิตนั่น
ชีวิตอยู่บ้านก็ทำการปฏิบัติไปด้วย ปฏิบัติธรรมะไปด้วยในตัว อย่าทิ้งธรรมะ อย่าทิ้งแนวทางของพระพุทธเจ้า เดินตามแนวทางนั้น เพื่อสร้างชีวิต สร้างการงานให้เกิดความเจริญก้าวหน้า เราก็จะไม่ต้องมีความทุกข์ความเดือดร้อนใจมากเกินไป เป็นเรื่องที่ทำได้ ถ้าเราตั้งใจจะทำ แต่ถ้าเราไม่ทำ เราก็ต้องเป็นทุกข์เรื่อยไป ถูกสิ่งทั้งหลายมันกระทบกระเทือนใจอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดปัญหาคือความเดือดร้อนไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่เข็ดไม่หลาบ ไม่กลัว ไม่รู้จักแก้ไข ในสิ่งที่มันทำให้เราเกิดปัญหา
คนเรามักจะเป็นอย่างนั้น คือไม่คิดแก้ไข มีอะไรเกิดขึ้นแล้วก็ผ่านพ้นไป เมื่อผ่านพ้นไปแล้วก็ไม่คิด ไม่คิดศึกษาให้ละเอียดว่าอะไรมันเกิดขึ้น เกิดจากอะไร เราเผลอเรื่องใด ประมาทเรื่องใดจึงได้เกิดเรื่องนั้นขึ้น ไม่ได้เอามาพิจารณา ไม่ได้ศึกษาให้รอบคอบในเรื่องนั้น เลยก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่เข้าใจเรื่องชีวิตถูกต้อง ก็ต้องเป็นทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่ตลอดเวลา ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น แต่ถ้าเรามาหมั่นพิจารณาด้วยปัญญาของเรา เอาหลักการของพระพุทธเจ้าไปใช้ในชีวิตประจำวัน อะไรเกิดขึ้นก็เอามาพิจารณา ว่าสิ่งนี้คืออะไร มันมาจากอะไร แล้วมันให้อะไรแก่เรา เราควรจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร ต้องคิดอย่างนั้น
หาปัญญาเกี่ยวกับเรื่องความทุกข์อยู่บ่อยๆ เรื่อยๆ ไป ทำให้มันติดต่อทุกวันทุกเวลา เวลาใดว่างก็มาทำมันเสีย คิดมันเสีย แก้ไข ปรับปรุง หลีกหนีทางเดิมที่เราเคยเดิน เพราะเคยเดินมาในทางทุกข์ ทางยุ่งยาก เรามีปัญหาสลับซับซ้อน ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น เราก็มาเปลี่ยนวิธีเสียใหม่โดยการมาแก้ไขปรับปรุงสิ่งเหล่านั้น เพื่อให้มันหายไปจากแนวทางชีวิตของเรา คล้ายกับว่าเราเดินทางผิดนั่นนะ อันนี้เรารู้ว่ามันผิด แล้วเราจะเดินอยู่ทำไม เราก็เปลี่ยนทางเดินเสียใหม่ หันมาเดินในทางที่ถูกที่ชอบ ที่มันจะไม่ผิดต่อไป ถ้าอย่างนี้เราก็พ้นจากความทุกข์ในชีวิตประจำวันได้ ถ้าเราทำ
ปัญหามันอยู่ที่ตัวเดียว ไม่ลงมือทำ ไม่ลงมือปฏิบัติ แล้วก็มักจะพูดว่า ‘มันยาก’ ยังไม่ได้ทำแล้วมันก็ยากเรื่อยไป แต่ถ้าได้ลงมือทำเข้าสักหน่อย เราก็จะเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องยาก มันเรื่องธรรมดา เหมือนกับเราพลิกหน้ามือไปมาอย่างนี้ มันก็เรื่องง่ายๆ มันไม่ใช่ยากอะไร พลิกทุกข์ให้เป็นสุขเสียเท่านั้น มองอะไรให้มันถูกต้อง ให้เห็นชัดตามสภาพที่เป็นจริง อย่ามองด้วยความหลง ด้วยความมัวเมา ด้วยความประมาท เราก็จะเข้าใจในสิ่งนั้นถูกต้อง เมื่อเข้าใจถูกต้อง มันก็จะไม่ทำให้เราเจ็บช้ำต่อไป ไอ้ที่เราต้องเจ็บแสบอยู่ทุกวันทุกเวลานี่เพราะว่าเราไม่เข้าใจสิ่งนั้นถูกต้อง เมื่อไม่เข้าใจถูกต้อง มันก็ทำผิดพลาด ยึดไว้ผิด เอามาคิดผิด เอามารับไว้ผิด มันผิดหมด เมื่อผิดหมด มันก็เป็นทุกข์ สร้างปัญหาให้แก่ตนแก่ท่าน เราจึงต้องคิดแก้ไขปรับปรุงให้มันดีขึ้น
โดยเฉพาะในรอบปีที่ผ่านมานี่ เราควรจะได้มีเวลาศึกษาตัวเอง พิจารณาตัวเอง แล้วก็แก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น คือพิจารณาว่าในรอบปีมานี่ เราได้ประสบปัญหาอะไรบ้าง มีอะไรเกิดขึ้นในวิถีชีวิตของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นความทุกข์หรือเป็นความสุข หนักหรือเบา เป็นอย่างไร ก็เอามาศึกษา มาพิจารณา ทบทวนให้รอบคอบรอบรู้อย่างแท้จริง เราก็จะมองเห็นตัวเราชัดเจนขึ้น คนที่ไม่รู้จักตัวเองจะแก้ไขปัญหาไม่ได้ ไม่รู้ว่าตัวเป็นอย่างไรเลยแก้ไม่ได้ เหมือนนักเรียนไม่รู้ว่าตัวอ่อนในวิชาอะไร แล้วมันจะแก้ได้อย่างไร มันต้องรู้ก่อนว่าเราอ่อนอะไร เราอ่อนคำนวณ เราอ่อนภาษา เราอ่อนวิทยาศาสตร์ เรามันจะสอบตก จะไม่ได้เลื่อนช้ัน หรือเลื่อนไปได้ก็โดยคะแนนเฉลี่ย แต่เราไม่เก่งในวิชาหลัก โตขึ้นเราจะไปเข้าทำงานที่ไหนก็ลำบาก เรารู้ตัวแล้วมันก็ปรับตัวได้ แต่นี่ไม่รู้ ไม่รู้ว่าตัวอ่อนเรื่องอะไร บกพร่องเรื่องอะไร เลยก็ไม่คิดแก้ไข
เราจะเห็นว่าคนเราบางคนนั้นมีความบกพร่องในเรื่องใดก็ตาม ก็บกพร่องอยู่ตลอดเวลา บกพร่องมาตั้งแต่หนุ่มๆ จนกระทั่งแก่ นี่แสดงอยู่ในตัวว่าไม่ได้ประพฤติธรรม ไม่ได้นำธรรมะของพระพุทธเจ้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างน้อยๆ ก็คือไม่ได้เอาธรรมะที่ว่า ไม่ได้เตือนตนด้วยตนเอง แก้ไขตนด้วยตนเองนี่มาใช้ เพราะไม่ได้ใช้ธรรมะเหล่านี้ จึงไม่มีอะไรดีขึ้น เตือนแล้วก็ยังอย่างนั้น เคยเห็นคนหลายคนที่มีสภาพ พบเมื่อตอนหนุ่มก็อย่างนั้น พบเมื่ออายุกลางคนก็อย่างนั้น พบเมื่อแก่แล้ว ก็ยังอยู่อย่างนั้น ไม่มีอะไรดีขึ้น ความคิด ความนึก การพูดจาการแสดงออก มันไม่ดีขึ้นเลย ที่ไม่ดีขึ้นนั้นเพราะอะไร เพราะไม่ได้มองตัวเอง ไม่ได้พิจารณาตัวเองว่าเราบกพร่องอะไร เราควรจะแก้ไขอะไรในตัวเราบ้าง ไม่เคยคิดพิจารณา มองแต่คนอื่น มองแต่เรื่องคนอื่น พูดแต่เรื่องคนอื่น ไม่นั่งซุบซิบกับตัวเองเสียบ้าง คนเราว่างๆ มันต้องไปนั่งซุบซิบกับตัวเองเสียบ้าง ซุบซิบว่านี่เธอนี่มันแย่นะ มันไม่ไหวแล้วนะ อย่างนั้นนะ อย่างนี้นะ ซุบซิบกันบ้าง ถ้าเราไปซุบซิบกับตัวเองเสียบ้างมันก็ดี แต่ว่าไม่ค่อยมีเวลาซุบซิบกับตัวเอง มีแต่มีเวลาซุบซิบเรื่องคนอื่นอยู่ตลอดเวลา แล้วมันจะดีขึ้นได้อย่างไร ไม่ได้
พระพุทธเจ้าท่านตักเตือนไว้อันหนึ่งดีเหมือนกัน ท่านบอกว่า ถ้าเรามัวแต่เพ่งโทษคนอื่น กิเลสเรามันจะมากขึ้น เพราะฉะนั้นอย่าไปเพ่งความชั่ว ความดีของคนอื่น แต่ให้เพ่งดูที่ตัวเอง ว่ามีอะไรบกพร่องบ้าง มีอะไรไม่ดีไม่งามอยู่ในตัวบ้าง แล้วก็คิดปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น อย่างนี้จึงจะเป็นการถูกต้อง เวลาสิ้นปีต้องคิดบัญชีใหญ่กันสักที พิจารณาตัวเอง หาความบกพร่อง แล้วก็ปรับปรุงแก้ไขตั้งต้นชีวิตใหม่ ให้ดีให้งามขึ้น ตามสมควรแก่ธรรมะที่นำมาปฏิบัติ
ก็อยากจะฝากไว้ว่า ในปี ๒๕๒๗ นี่ ให้เราถือว่าเป็นปีแห่งการประพฤติธรรม เป็นปีแห่งการประพฤติธรรม (56.10) คือเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาใช้ให้มากขึ้น ให้มากกว่าปกติ ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต แก่การงาน แก่ความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ก็ให้แก้โดยหลักธรรมะของพระพุทธเจ้า อย่าแก้โดยวิธีไม่เข้าเรื่อง อย่าไปเชื่อสิ่งเหลวไหลงมงายทั้งหลายทั้งปวง แต่ให้เชื่อให้ถูกให้ตรงตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เอาหลักธรรมะที่ถูกต้อง เอามาใช้เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหา การแก้ไขปัญหาตามหลักของพระพุทธเจ้าก็คือว่าแก้ที่ตัวเราเอง โดยพิจารณาให้รู้ว่าเราบกพร่องอะไร เราไม่ดีที่ตรงไหน แล้วก็พยายามที่จะแก้ไขให้ดีขึ้นทุกวันทุกเวลา นั่นละเรียกว่าใช้หลักธรรมของพระพุทธเจ้า
จึงอยากจะให้ถือว่าปี ๒๕๒๗ นี่เป็นปีแห่งการประพฤติธรรม เอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับแก้ไขปัญหาชีวิตอย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้ต้องขายหน้าชาวโลกทั้งหลายในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัท ให้ใครเขามองดูแล้วเขาพูดชมเชยว่า ออ เขาถือพุทธศาสนา เขามีชีวิตเป็นสุข มีความสงบในครอบครัว มีงานการเจริญก้าวหน้า มีชีวิตผ่องใสอยู่ด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้เขามองอย่างนั้น
ถ้าเราทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่าเราเป็นตัวธรรมะ เราเดินอยู่อย่างคนมีธรรมะ นั่งอย่างคนมีธรรมะ พูดจาอย่างคนมีธรรมะ ประกอบกิจการงานอย่างคนมีธรรมะ ใครเห็นเราก็เหมือนกับเห็นธรรมะในตัวเรา เป็นการช่วยกันประกาศสัจธรรมของพระพุทธเจ้าให้ปรากฏแก่ชาวโลกทั้งหลายอยู่ตลอดเวลา ดังที่ได้กล่าวมา เพื่อเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจแก่ญาติโยม ในเรื่องความสุขปีใหม่
ในรอบนี้ก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขออวยพรให้ท่านทั้งหลายจงเจริญก้าวหน้าในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยทั่วกันทุกท่านทุกคนเถิด ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที