แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา วันนี้เป็นวันอาทิตย์แรกของเดือน วันที่ ๒ เดือนตุลาคม ๒๕๒๖ สมัยก่อนพระเวลาจะขึ้นเทศน์นี่ เขาเรียกว่าบอกศักราช ก็สมัยก่อนนี้ไม่มีปฏิทิน ชาวบ้านก็นับตามปฏิทินของพระ อยากจะรู้ว่าวันกี่ค่ำนี่ถามพระที่ไปบิณฑบาตได้ ถามเด็กวัดบ้าง เด็กวัดจะไปบิณฑบาตนี่ ต้องศึกษาว่าวันนี้กี่ค่ำ ถ้าว่าไปถึง ชาวบ้านถามตอบไม่ได้ ชาวบ้านก็จะหาว่าไม่เข้าเรื่อง พระเองก็ต้องรู้ว่าขึ้นกี่ค่ำ แรมกี่ค่ำ จะได้ตอบปัญหากับชาวบ้านได้ บางทีเขาก็เอาศรีษะของพระเป็นปฏิทินไป พอเห็นโกนหัวเกลี้ยงก็รู้ว่าวันพระอีกแล้ว อย่างนี้ก็มี เพราะมันไม่มีปฏิทินจะดูน่ะ
อันนี้เวลาพระจะขึ้นเทศน์ก็บอกศักราชว่าวันนี้วันที่เท่าไหร่ แรมกี่ค่ำ ขึ้นกี่ค่ำ ล่วงมาแล้วเท่าไหร่ ยังอีกข้างหน้าเท่าไหร่จะครบห้าพันพระวรรษา มักจะพูดว่าอย่างนั้น แต่ความจริงที่พูดว่าจะครบห้าพันนี่ มันไม่ถูกต้อง พระพุทธศาสนาไม่ใช่มีอายุเพียงห้าพันปี แต่จะมีอายุยั่งยืนอยู่กับโลกตลอดไป ตราบเท่าที่มีคนศึกษา ปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้า ยังมีอยู่ต่อไป เวลาพระองค์จะนิพพานนี่ก็ได้ตรัสว่า “ตราบใดที่ชาวโลกยังปฏิบัติตนตามอริยมรรคมีองค์แปด โลกจะไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์” ว่าอย่างนั้น เพราะฉะนั้นธรรมะนี่เป็นสิ่งอยู่คู่โลก จะไม่สิ้นไม่สูญไปไหน แต่ท่านบอกตามธรรมเนียมอย่างนั้นเพื่อให้เป็นผู้ไม่ประมาท จะได้รีบเร่งใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ในการทำหน้าที่ตามหน้าที่ที่ตนจะพึงมีพึงปฏิบัติ ก็เป็นเรื่องได้ประโยชน์อย่างหนึ่งเหมือนกัน
วันนี้เป็นวันที่ ๒ นี่ที่สมาคมเขาเรียกว่าไทยภารตะ ที่ข้างวัดสุทัศน์ฯ ไทยกับพวกอินเดียเขาตั้งเป็นสมาคมขึ้น เรียกว่าไทยภารตะ ภารตะนี่เป็นชื่อของประเทศอินเดีย ที่เรียกอินเดียนี่ไม่ใช่ชาวอินเดียเขาเรียกเองนะ คนอังกฤษที่มาปกครองประเทศนั้น เขาตั้งชื่อว่าอินเดีย ชื่อว่าอินเดีย แต่ว่าชื่อจริงๆของประเทศอินเดียนั้น เขาเรียกว่า ภารตะ ภารตะนี้เป็นชื่อเก่าแก่มีมาตั้งแต่โบราณ วรรณคดีของชาวภารตะเรื่องหนึ่ง เขาเรียกว่าภารตะสังยุทธ์ คือสงครามภารตะที่รบกันที่ทุ่งกุรุเกษตร ทุ่งนา ทุ่งนากว้างๆเขายกทัพออกไปรบกัน รบกันเป็นระเบียบ ไม่ใช่รบเหมือนสมัยนี้ รบกันเฉพาะกลางวัน พอตะวันตกดินก็เลิกรบ ถอยเข้าค่าย ไม่มีการแอบซุ่มโจมตี ไม่มีการดักทำร้าย ไม่มีการทำอะไรที่เป็นเรื่องไม่ยุติธรรม นอนสบาย ทหารนอนสบาย ไม่ต้องมีกลัวว่าใครจะมาแอบโจมตี แต่พอว่าสว่างนี่ ก็ตีฆ้อง ตีกลอง เป่าสังข์ กระเทือนไปหมดทั้งสองค่ายออกมาสู่ทุ่งกุรุเกษตร แล้วก็รบกันต่อไป รบกันจนมืดค่ำ จนกว่าจะพ่ายแพ้ไปข้างหนึ่ง เรียกว่ายกธงขาวไปข้างหนึ่ง เรียกว่าเป็นการรบที่มีกติกา มีกติกาเป็นเครื่องนัดหมาย เคารพกติกา ไม่ใช่ทำตามแบบเดี๋ยวนี้ สงครามเดี๋ยวนี้มันสงครามของคนที่ไม่มีกติกา เรียกว่าใช้วิธีการรบแบบเอาเปรียบ อาวุธร้ายแรง ประหัตประหารกัน สมัยก่อนเขาไม่ได้ทำอย่างนั้น เพราะคนในยุคก่อน สมัยก่อนนั้นยังมีคุณธรรม ทำอะไรก็ไม่ทิ้งธรรมะ แม้จะรบกันก็ยังรบด้วยความมีธรรมะ เดี๋ยวนี้คนมันทิ้งธรรมะกันไปหมด จึงได้เกิดปัญหายุ่งยากขึ้นในสังคมด้วยประการต่างๆ เราจึงต้องช่วยกันกู้ธรรมะให้กลับมาสู่โลกต่อไป โลกจะดับเข็ญร่มเย็นได้ด้วยธรรมะ ถ้าไม่ได้ใช้ธรรมะแล้วโลกจะเดือดร้อนวุ่นวายมากกว่านี้ อันนี้เป็นข้อคิดที่อยากจะฝากไว้
อันนี้ชาวภารตะที่มาอยู่เมืองไทยมีอยู่จำนวนมาก ก็เป็นไทยไปหมดแล้ว แต่ว่าเขายังแต่งตัวแบบภารตะ เราเห็นทีไรก็นึกว่าแขกอินเดียทุกที มีคนหนึ่งสอบเป็นผู้พิพากษาได้ แม้จะขึ้นไปนั่งบัลลังก์โพกหัวโตไปอย่างนั้น เขาบอกดูแล้วมันขัดนัยน์ตาเหลือเกิน ขึ้นไปนั่งบนบัลลังก์หัวโตแบบนั้นมันเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง เลยแกก็ไปตัดผมสั้นเรียบร้อย ทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาตามแบบทั่วๆไป เปลี่ยนแปลงไปได้ตามหน้าที่การงาน
วันนี้ชาวภารตะหนุ่มสาวเฒ่าแก่เขาไปประชุมกันที่นั่น คนไทยก็ไปประชุมด้วยเหมือนกัน ประชุมเพื่อทำพิธีไว้อาลัยแก่มหาบุรุษของชาวอินเดียและเป็นมหาบุรุษของโลกด้วยเหมือนกัน ท่านผู้นั้นก็คือท่านมหาตมะ คานธี อันเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศอินเดีย อาตมานี่เคารพชีวิตของบุคคลผู้นี้ เรียกว่านับถือทีเดียว นับถือท่านคานธี เพราะท่านคานธีนี่มีคุณธรรมสูงในจิตใจ เป็นผู้ประพฤติธรรมอย่างแท้จริง แม้จะเป็นนักการเมืองที่ต่อสู้เพื่อสิทธิ อิสรภาพของประเทศอินเดีย แต่ท่านใช้คุณธรรมต่อสู้ ไม่ชอบการประหัตประหาร ไม่ชอบใช้วิธีการแบบอันธพาล แต่ใช้หลักอหิงสา คือการไม่เบียดเบียนกันเป็นเรื่องสำคัญ หลักประจำใจของท่านคานธีที่ประกาศให้โลกรู้ก็คือหลักที่ว่า อหิงสา ปรโม ธัมโม อหิงสา ปรโม ธัมโม แปลว่า “การไม่เบียดเบียนเป็นบรมธรรม” เป็นธรรมสูงสุดในชีวิตของชาวโลก คือการไม่เบียดเบียนกัน
พระพุทธเจ้าของเราตรัสว่า อัพยา ปัชฌัง สุขัง โลเก “การไม่เบียดเบียนเป็นความสุขในโลก” คนอยู่ในโลกนี่ต้องงดเว้นจากการเบียดเบียนกันด้วยประการทั้งปวง จึงจะอยู่กันด้วยความสุข
ท่านคานธีท่านก็เดินตามรอยพระยุคลบาทของพระพุทธเจ้า แม้ท่านจะไม่เรียกตัวเองว่าเป็นพุทธบริษัท แต่เป็นผู้เข้าถึงธรรมะยิ่งกว่าคนที่ปฏิญาณตนเสียอีกด้วยซ้ำไป อยากจะเล่าเรื่องให้ญาติโยมฟังสักหน่อยว่าชีวิตของท่านผู้นี้เป็นมาอย่างไร เมื่อตะกี้ก็เทศน์ทางวิทยุและโทรทัศน์แล้ว แต่มันไม่จบ เรื่องมันสั้น เวลามันน้อย ต้องมาต่อใหม่ เรียกว่าเริ่มต้นกันใหม่ที่นี่ คนจะได้อ่านได้ศึกษาชีวิตซึ่งในแง่ธรรมะ ไม่พูดในแง่ประวัติ แต่ว่าพูดในแง่ธรรมะว่าเรามองธรรมะจากชีวิตท่านคานธีนี่เห็นอะไรบ้าง อันจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและการปฏิบัติของพวกเราชาวไทยทั้งหลายต่อไป
คานธี ท่านเกิดในแคว้นคุชราต คุชราตนี่อยู่ใกล้แคว้นบอมเบย์ เป็นรัฐเล็กๆมีเจ้าผู้ครองนครเหมือนกัน เรียกว่าสาหิบ (09.00) แล้วก็บิดาของท่านก็เคยเป็นข้าราชการดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งแคว้นนั้นเหมือนกัน บิดามารดาของท่านคานธีเป็นคนที่เคร่งครัดในศาสนามาก ท่านนับถือศาสนาไชนะ ศาสนาไชนะนี่คือศาสนาของมหาวีระ มหาวีระนี่เป็นนักบวชยุคเดียวกับพระพุทธเจ้า ออกบวชจากพวกสกุลมัลละที่เมืองปาวา ออกบวชก่อนพระพุทธเจ้า อายุแก่กว่าพระพุทธเจ้า แต่ว่าเที่ยวสอนศาสนาอยู่พร้อมๆกันกับพระพุทธเจ้า แล้วก็ถึงนิพพานคือตายก่อนพระพุทธเจ้า มหาวีระนี่ตายก่อน
สถานที่ไหนมีปูชนียสถานของพุทธศาสนา ก็มักจะมีปูชนียสถานของศาสนานี้อยู่ด้วย เช่นเมืองราชคฤห์นี่ พระพุทธเจ้าเคยประทับที่เขาคิชฌกูฏ ประทับที่เวฬุวัน เวฬุวันสวนไม้ไผ่ของพระเจ้าพิมพิสาร มหาวีระแกก็ได้แสดงธรรมครั้งแรกที่นั่นเหมือนกัน แต่ว่าบนยอดเขาอีกยอดหนึ่งที่อยู่ในเมืองราชคฤห์ สถานที่นั้นเป็นสถานที่แสวงบุญของชาวศาสนาไชนะทั่วๆไป ถึงฤดูเขาก็เดินไปนมัสการ เวลาเดินไปนมัสการนี่ต้องไปด้วยเท้าเปล่า ไม่ใส่รองเท้า แล้วก็เดินย่ำกรวดย่ำหินไปบนภูเขาที่ไปนมัสการ เขาต้องการฝึกหัดคนให้อดทน ให้รู้จักต่อสู้กับปัญหาชีวิต จึงได้ปฏิบัติอย่างนั้น คนถือศาสนาไชนะนี่ถือเคร่งในเรื่องชีวิต จะไม่เบียดเบียนสัตว์เลย จะไม่กินเนื้อสัตว์ อันนี้เขาถือเคร่งมาก ไม่กินเนื้อ ไม่กินปลา ไม่กินของมีชีวิตทั้งนั้น กินแต่ผักเป็นอาหาร ผักก็ต้องต้มให้สุก ถ้าเป็นของดิบก็กินไม่ได้ นักบวชเขายังมีอยู่บ้างในสมัยนี้ แต่เป็นนักบวชประเภทที่ไม่นุ่งผ้า เขาเรียกว่าพวกทิฆัมพร นุ่งลมห่มฟ้า อยู่ในป่าไม่ค่อยเข้าเมือง แต่เวลาบิณฑบาตก็ต้องเข้าเมืองเหมือนกัน เวลาเข้าไปบิณฑบาตเขาไม่มีภาชนะใส่อาหารแต่แบมือรับ ทำมือเข้าอย่างนี้รับอาหาร แล้วก็เอามากินอย่างนี้ เขาก็ใส่เติมให้ ยืนใส่ยืนกินกันอยู่ตรงนั้นแหละ กินกันจนอิ่มเลย พออิ่มแล้วก็เอาน้ำมาล้างมือให้ ล้างมือเสร็จแล้วเขาก็ให้พร ญาติโยมผู้หญิงที่ไปใส่บาตรก็ก็มลงกราบแทบเท้า ลูบเท้าแล้วเอามาลูบหัวตามวัฒนธรรมแบบอินเดีย เขาเคารพ
เดี๋ยวนี้ยังมีคนนับถือศาสนานี้อยู่มากในประเทศอินเดีย แล้วก็เป็นเศรษฐีเยอะ ร่ำรวย เพราะคนพวกนี้เป็นอยู่อย่างง่ายๆ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ไม่เล่นการพนัน ไม่ประพฤติสิ่งเหลวไหล ก็ประพฤติเคร่งครัดดี สร้างชีวิตจนเป็นเศรษฐีกันมากมาย วัดของพวกเชนนี่เป็นวัดที่สะอาดที่สุดในประเทศอินเดีย วัดฮินดูนี่สกปรกที่สุดด้วยเหมือนกัน เช่นโบสถ์เจ้าแม่กาลีนี่เหม็นคาวแต่เลือดแพะทั้งนั้น เพราะเขาต้องฆ่าแพะวันละ ๑๒ ตัว เพื่อเอาไปทาปากเจ้าแม่กาลี เจ้าแม่กาลีได้กินแพะวันละ ๑๒ ตัว ก็ไม่ต้องฆ่าคนให้กิน ชื่อก็น่ากลัวอยู่แล้ว ตานี้รูปร่างก็น่ากลัว โบสถ์ยิ่งสกปรก เข้าไปไม่ไหวเลย เคยไปดูแล้ว แหม! ไม่ไหว ไม่น่าจะเป็นจุดท่องเที่ยวเลย แต่คนก็ไปดู ดูว่ามันสกปรกขนาดไหนเท่านั้นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร แต่วัดเชนนั้นสะอาดเรียบร้อย นั่งตรงไหนก็ได้ นอนกลิ้งเกลือกก็ได้ แผ่นหินสะอาด สถานที่สะอาด
คานธีบิดามารดาของท่านนับถือศาสนานี้ แล้วก็เป็นคนเคร่งครัดในศาสนา ปกติจะมีคนมาหาคุณพ่อบ่อยๆ โดยมากก็มาคุยกันเรื่องการงาน หรือว่าคุยธรรมะกัน และศาสนาที่มีอยู่ในอินเดีย เช่นว่าศาสนาฮินดู ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสเตียน ก็มาคุยกับคุณพ่อเสมอ แล้วก็คุยกันได้นานๆ คุยกันอย่างชนิดที่เรียกว่าไม่ขัดคอกัน คุยให้เข้ากันได้ ไม่ต้องด่ากัน ไม่ต้องเถียงกัน ปกติเป็นอย่างนั้น คานธีท่านได้รับรสธรรมะตั้งแต่ตัวน้อยๆจากการสนทนาธรรมของคุณพ่อกับคนต่างศาสนา ความรู้สึกในทางศาสนาจึงฝังลึกลงไปในจิตใจของท่านตั้งแต่ตัวน้อยๆ คุณแม่ก็เป็นคนเคร่งครัดในศาสนามาก ถ้าฤดูฝนอย่างนี้ในประเทสอินเดีย แกถือศีล อดข้าว คือถ้าไม่เห็นแสงอาทิตย์ไม่กินข้าว วันไหนถ้าแสงอาทิตย์ไม่โผล่มาเลยแล้วก็ไม่ได้กินข้าวกันเลยทีเดียว ลูกๆก็คอยจ้องดูว่าเมื่อไหร่ดวงอาทิตย์จะโผล่ออกมา พอเห็นโผล่ออกมาก็รีบวิ่งไปบอกคุณแม่ บอก “แม่จ๋าแม่ ออกมาดูเถอะ ดวงอาทิตย์โผล่มาแล้ว แม่จะได้ทานอาหาร” คุณแม่ก็ลุกขึ้นเดินช้าๆไม่รีบไม่ร้อน ที่ว่าไปดูแล้วจะได้กินข้าว ไม่รีบไม่ร้อนไปถึง อ้าว! ดวงอาทิตย์ลับกลีบเมฆไปเสียอีกแล้ว แม่ก็บอกว่า “พระผู้เป็นเจ้ายังไม่ต้องการให้แม่กินอาหาร ไม่เป็นไร แม่ทนได้” นิสัยไม่กินอาหารของแม่นี่ถ่ายทอดมาสู่คานธี เมื่อเติบโตขึ้นเป็นนักการเมือง นักต่อสู้ ท่านอดข้าวได้บ่อยๆ อด ๑๕ วัน อดเดือนหนึ่ง ไม่ตาย ไม่กินอะไรนอกจากน้ำเท่านั้นเอง น้ำกับน้ำมะนาวเท่านั้น นอกนั้นก็ไม่กินอะไร ท่านก็อยู่ได้เพราะว่าคุณแม่เคยอดให้ลูกเห็นมาตั้งแต่เริ่มต้น
อันนี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งซึ่งเราจะนำไปใช้ได้ ในชีวิต ในครอบครัว คือพ่อแม่นี่เป็นตัวอย่างของลูก ถ้าพ่อแม่เป็นอย่างใดลูกมักจะเป็นอย่างนั้น เราเมื่อมีลูกก็ต้องนึกถึงอนาคตของลูก นึกถึงอนาคตของครอบครัวเคยประพฤติอะไร สนุกสนาน กินเหล้าเมายา เที่ยวเตร่เฮฮา อะไรๆที่เรียกว่าตามใจตัว แบบคนที่เป็นโสดนั้น พอแต่งงานมีครอบครัวก็ต้องเลิกหมดสิ่งเหล่านั้น เพราะเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว คนมีครอบครัวนี่เขาเรียกว่าเป็นผู้ใหญ่ ภาษาไทยเราเรียกว่าเป็นเหย้าเป็นเรือน หมายความว่าเป็นผู้มีอายุสมควรแก่การครองเรือน มีเหย้ามีเรือน มีหลักมีฐาน จะประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรนั้น ไม่ถูกหน้าที่ เพราะหน้าที่ของพ่อบ้านแม่เรือนนั้นต้องประพฤติธรรมด้วย ต้องมีศีลธรรมประจำจิตใจ ในครอบครัวนั้นต้องมีพระประจำบ้าน ถ้าเรานับถือพระพุทธศาสนา เราก็มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นพระประจำบ้าน พระพุทธเจ้าเป็นผู้นำในครอบครัว พระธรรมเป็นแผนที่บอกทางชีวิตให้เราเดิน พระสงฆ์ก็เป็นเหมือนพี่เลี้ยงคอยเตือนจิตสะกิดใจ เรามีปัญหา มีความทุกข์ มีความเดือดร้อน มีเรื่องไม่สบายใจ เราก็มาหาพระ มาปรึกษา ขอคำแนะนำ พระท่านก็เอาธรรมะมาให้เป็นเครื่องปลอบโยนจิตใจ ชีวิตของพ่อแม่ที่อยู่ดี มีศีลธรรมนี่ ลูกมักจะไม่เสียผู้เสียคน ลูกเรียบร้อย เคยรู้จักหลายครอบครัวที่พ่อแม่เรียบร้อย อยู่ในศีลในธรรม ลูกดีหมดทุกคน เรียกว่าไม่มีลีบสักเม็ดเดียว ออกมาเรียบร้อย ทำงานการเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เจริญในวงงานราชการ แล้วก็เป็นคนดีเหมือนพ่อเหมือนแม่ ถ่ายทอดนิสัยมา สร้างประโยชน์แก่ชาติ แก่บ้านเมือง เห็นอยู่หลายครอบครัวอีกเหมือนกัน ที่พ่อแม่เหลวไหล พ่อเป็นคนขี้เหล้า แม่เป็นคนขี้ไพ่ ลูกมามันก็ไม่เรียบร้อย แม้จะทิ้งทรัพย์สมบัติซึ่งหาได้จากความทุจริตไว้ให้อย่างไม่ถาวร ไม่ยั่งยืน เพราะสิ่งที่ได้มาจากความชั่วนั้นมันร้อน เหมือนกับถ่านไฟ เรากด เราจับไม่ได้ จับได้ก็ต้องรีบวาง ไม่วางมันก็ไม่ได้ สิ่งนั้นมันร้อน จึงไม่มั่นคงถาวร ครอบครัวใดที่เป็นเจ้าของบ่อนการพนัน คอยดูอนาคตของลูกๆคนเหล่านั้นว่ามันจะมีสภาพอย่างไร หรือว่าครอบครัวใดที่ค้าของเถื่อนร่ำรวย ก็ดูต่อไปว่าลูกเต้าจะเป็นอย่างไร ครอบครัวใดที่ประพฤติเหลวไหล เช่นเป็นคนขี้เมาหยำเป ดูต่อไปสิว่าลูกเต้าจะเป็นอย่างไร
โยมดูไปเถอะ ดูจากความจริง ดูจากชีวิตจริงว่าธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนไว้นั้น เป็นความจริงอย่างไร เราดูได้ทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งเสื่อมทั้งเจริญ จากชีวิตของคนทั้งหลายทั่วๆไป อาตมานี่ดูมานานแล้ว รู้จักครอบครัวต่างๆก็สังเกตดูมา ว่าครอบครัวใดที่พ่อแม่ขาดศีลขาดธรรมนี่ลูกไม่เจริญ ไม่ก้าวหน้า แม้จะจบการศึกษาไปได้ แต่ว่าไปทำงานก็ไม่เจริญเพราะไปโกงเขาบ้าง ทุจริตคอร์รัปชั่น ผลที่สุดก็ถูกไล่ออกจากราชการ มีชีวิตตกต่ำ แต่ว่าครอบครัวใดที่พ่อแม่อยู่ในศีลในธรรม ลูกเกิดมาก็เป็นคนฉลาดรอบคอบ เรียนดี ประพฤติดี ประพฤติชอบ สร้างเนื้อสร้างตัวได้เป็นหลักเป็นฐาน นี่คืออานิสงส์ของธรรมะที่สิงสถิตอยู่ในจิตใจของพ่อแม่ ปู่ตาย่ายาย ในครอบครัวนั้นๆเรื่องนี้มันเห็นชัดด้วยชีวิตปัจจุบัน ไม่ใช่ตายแล้วไปค่อยเห็นกัน ไอ้เรื่องตายแล้วมันอีกเรื่องหนึ่งดูกันต่อไป แต่ว่าดูปัจจุบันให้มากเถอะ ให้เห็นว่าอะไรมันเป็นอะไร เราก็จะพบความจริงว่าสิ่งทั้งหลายเป็นอย่างไร
ท่านมหาตมะ คานธีและพี่ๆน้องๆของท่านเป็นคนเรียบร้อยทั้งนั้น ทำงานดี แต่ว่าเด่นอยู่ที่ตัวท่านคานธี ท่านได้รับอิทธิพลทางศีลธรรมจากพ่อแม่ จากสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในครอบครัว จึงเป็นคนมั่นในคุณงามความดี เมื่อสมัยเป็นเด็กนักเรียนหนุ่มอยู่ชั้นเรียนนี่ท่านเคยอ่านหนังสือเรื่องสรวรณะ (21.01) เรื่องสุวรรณสามชาดกนี่เอง แต่ว่าภาษาสันสกฤตเขาอ่านว่า สรวรณะ (21.06) สุวรรณสามน่ะเป็นผู้ที่เลี้ยงพ่อแม่ ให้พ่อแม่นั่งหลังแล้วก็แบกไปที่ท่าน้ำ อาบน้ำให้พ่อให้แม่ แล้วแบกกลับมาสู่ที่บ้าน ไปหาผลไม้มาให้พ่อแม่รับประทาน คอยปฏิบัติวัตรฐากตลอดเวลา ท่านอ่านหนังสือนี้แล้ว ท่านนึกว่า แหม! คนๆนี้ยอดมนุษย์ที่มีคุณธรรมคือความกตัญญูกตเวที รู้คุณของผู้ที่ทำคุณแก่ตน แล้วท่านก็อธิษฐานใจว่าเราจะมีชีวิตเหมือนสุวรรณสามที่เราอ่านนี้ หนังสือดีมีอิทธิพลสร้างคุณธรรมให้แก่เด็ก แต่หนังสือเลวก็มีอิทธิพลสร้างความชั่วร้ายในจิตใจเด็กเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราที่เป็นพ่อแม่เวลาจะให้ลูกกินอาหารนี่เลือกแล้วเลือกอีก กลัวจะเป็นพวกท้องไส้เสีย แต่ว่าอาหารใจนี่พ่อแม่ไม่ค่อยได้เลือกให้ลูกกิน ลูกไปหาซื้อมาอ่านตามชอบใจ หนังสือการ์ตูนบางประเภทอ่านแล้วเป็นพิษก็มี หนังสืออ่านเล่นก็เป็นพิษแก่จิตใจก็มี ภาพบางประเภทในกระดาษเป็นพิษเป็นภัยแก่ลูกเหลือเกิน พ่อแม่ไม่ค่อยได้สนใจ ไม่ได้เอาใจใส่ว่าอันนี้นี่มันเป็นอาหารที่เป็นพิษให้โทษกว่าอาหารทางร่างกาย อาหารร่างกายนี่กินเข้าไปแล้วท้องเสีย ถ่ายหมดมันก็หยุดกันเท่านั้นเอง แต่อาหารที่เป็นพิษแก่จิตใจนั้น จะให้โทษแก่ชีวิตของเด็กจนตลอดชีวิตเลย ถ้าเขาไม่ได้พบคนดี หรือไม่ได้พบสิ่งดีมาแก้ มันก็จะเสียผู้เสียคน เพราะฉะนั้นเราที่เป็นพ่อแม่นี่ต้องระวังในเรื่องนี้ ต้องทำตนให้เป็นตัวอย่างแก่ลูก แล้วคอยควบคุมสิ่งที่จะเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของลูก อย่าให้สิ่งเป็นพิษผ่านเข้ามาในครอบครัวเรา หรือไม่มีสิ่งเป็นพิษ เราไม่ให้เข้ามาสิ่งเป็นพิษ จะเอาไว้แต่สิ่งที่เป็นคุณเป็นค่าในการสร้างเสริมชีวิตจิตใจ จึงจะเป็นการถูกต้อง อันนี้น่าคิดกัน
แล้วครั้งหนึ่งท่านได้อ่านและดูละครเรื่องท้าวหริตจันทร์ (23:33) ท้าวหริตจันทร์นี่เป็นเรื่องชาดกเหมือนกัน คนไทยเราเคยอ่านเคยพบบ้างแต่คนสนใจ คือท้าวหริตจันทร์นี่แก มันมีการพนันอยู่ประเภทหนึ่งในอินเดียในสมัยนั้น เขาเรียกว่าสกา เล่นสกามีเรื่องเล่นสกาพนันกันนี้บ่อยที่สุด ในมหาภารตะสังยุทธ์ เรื่องรบใหญ่ที่ทุ่งกุรุเกษตรนี่ก็ไม่ใช่เรื่องอะไร เรื่องเล่นสกากัน แล้วก็คนเล่นอีกฝ่ายหนึ่งมันโกง เอารัดเอาเปรียบ ฝ่ายหนึ่งก็แพ้ แพ้แล้วมันต้องออกจากเมืองกัน ไม่ใช่เล่นกันพอดีพอร้ายนะ เรียกว่ายกบ้านให้เขา เอาบ้านเป็นการพนันไปเลย แต่นี่ก็เป็นพระราชาก็ยกเมืองให้เลย พอแพ้แล้วก็รักษาความสัตย์ ไม่บิดไม่เบี้ยว ไม่ทำอะไรหักหลังใคร ยอมออกจากเมืองไปเดินป่า แล้วก็ไปเดินป่าแล้วยังถูกรังแกอีก เลยต้องรบกันทีนี้ หนีไม่พ้น เลยเกิดเป็นสงครามระหว่างพี่น้อง ลูกพี่ลูกน้องกัน
ในเรื่องวิธูรชาดก (24:43) วิธูรบัณฑิตนี่แกเทศน์เก่ง ทีนี้นาคปลอมมาเป็นมนุษย์มาฟังเทศน์ ฟังเทศน์จบแล้วก็ไปบอกให้เมียฟัง เมียก็อยากจะฟังเทศน์บ้าง แต่ว่าไม่พูดตรงๆว่าฉันอยากจะฟังเทศน์วิธูรบัณฑิต กลับบอกว่าฉันอยากได้หัวใจวิธูรบัณฑิตเสียอย่างนั้น ทีนี้ก็พ่อนาคเดือดร้อนนะ จะเอามาอย่างไรหัวใจเขา มันต้องฆ่าคนน่ะจะเอาหัวใจมาได้ เรียกว่านาคก็ยังไม่รู้ตีความหมาย เขาพูดภาษาธรรม เข้าใจเป็นภาษาคนไปเสียเรื่อย ไม่เรียนภาษาคนภาษาธรรม เลยก็นึกว่าจะทำอย่างไร ก็มีลูกสาวอยู่คนหนึ่ง รูปร่างสวย แล้วลูกสาวนี่รับอาสาว่าจะหาคนที่นำหัวใจมาให้แม่ได้ ก็เลยขึ้นไปท่องเที่ยวในเมืองมนุษย์ ไปพบยักษ์ซึ่งเป็นหลานท้าวเวสสุวัณเข้า ยักษ์นั้นมีฤทธิ์มีเดชมาก ก็ติดใจในลูกของนาง นางก็บอกว่าเราจะยอมแต่งงานด้วยเมื่อท่านไปเอาหัวใจวิธูรบัณฑิตมาให้ได้ ยักษ์นั้นก็หลงนางแล้วทีนี้ ต้องไปแล้ว ไปแล้วจะเอามาอย่างไร ก็ไปท้าพระเจ้าโกรพเล่นการพนันสกากัน เจ้าโกรพนี่ฝีมือชั้นหนึ่ง เรียกว่าได้ว่าถ้วยทองแล้วความจริงนะ แต่ว่าคราวนั้นแพ้ยักษ์ ก็ยักษ์มันเก่ง แพ้ พอแพ้ก็พนันเมือง ทีนี้บอกว่าเมื่อเราแพ้ก็ยกบ้านเมืองให้แก่ท่าน ทีนี้พอแพ้ก็ยักษ์บอกว่า “ไม่เอาเมือง แต่จะเอาวิธูรบัณฑิต” พระเจ้าโกรพก็บอก “นั้นมันไม่ใช่เมือง มันเป็นคน เป็นคน” ยักษ์ว่า “คนก็เป็นสมบัติของพระราชา เมื่อพนันจะยกสมบัติให้ คนก็ต้องให้ด้วย” พระราชาบอก “มันไม่ถูกนา เรื่องนี้ไม่ถูก ต้องไปให้วิธูรบัณฑิตตัดสิน” วิธูรบัณฑิตตัดสินว่า “ตัวของท่านนั้นเป็นสมบัติของพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อพระเจ้าแผ่นดินแพ้ก็ต้องยกให้เหมือนกัน” คนมีธรรมะไม่ตัดสินเข้าข้างตัว ถ้าเข้าข้างตัว เฮ้อ! มันไม่ถูก อย่างนี้ ต้องบิดต้องเบี้ยวกัน นี่เขามีธรรมะเขาไม่เบี้ยว บอกว่าต้องเป็นสมบัติที่ยกให้ได้ ไอ้ยักษ์นั้นก็พาวิธูรบัณฑิตเหาะไป เที่ยวแทรกไประหว่างเขาบ้าง ยกเหวี่ยงทำอะไรต่ออะไรจะให้ตาย วิธูรบัณฑิตก็ไม่ตายสักที เลยก็เหนื่อยแล้วจะทำให้คนอื่นตาย ไม่ตาย เหนื่อยนั่งหอบพัก วิธูรบัณฑิตว่า “นี่เรื่องอะไรที่ทำกับฉันอย่างนี้” เขาบอกว่า เล่าเรื่องให้ฟัง ว่า “แหม! ท่านนี่โง่ชะมัดเลย นางอิรันทตีน่ะเขาต้องการหัวใจ ไม่ใช่หัวใจที่เป็นเนื้อ เขาต้องการธรรมะซึ่งเป็นหัวใจนามธรรมของฉัน เอาฉันไปแสดงธรรมให้นางฟังก็หมดเรื่องเท่านั้นเอง” แหม! ยักษ์ก็เลยได้รู้สึกตัวว่า แหม! เรานี่แย่เกือบฆ่าคนตาย เลยก็พาไป นี่ก็เรื่องเล่นสกากันเหมือนกัน
ท้าวหริตจันทร์ก็เล่นสกา พนันเมืองเลย แพ้เขา เมื่อแพ้ก็อำมาตย์ข้าราชการบอกว่าเบี้ยวได้ ไอ้เรื่องการพนันนี่ไม่ใช่สัญญาตามกฏหมาย เป็นหนี้สินที่กฏหมายไม่รับรอง ไม่เป็นไร เบี้ยวได้ พระราชาบอกว่า มันไม่ได้ เรื่องใจนี่เป็นเรื่องสำคัญ เราจะบิดจะเบี้ยวใครไม่ได้ เราต้องถือศีลถือสัตย์ โลกนี้ถ้าไม่มีความสัตย์แล้ว มันจะเกิดปัญหายุ่งยาก เลยก็ต้องออกจากเมืองไปอยู่ในป่า อยู่ในป่าก็ไม่ให้คนเห็นเสียด้วยนา ถ้าใครเห็นต้องวิ่งหนี ไม่ให้ใครเห็นตามสัญญา ถึงไม่มีใครไปเห็นก็ทำตามสัญญา คนสมัยก่อนนี้เขาถือศีลถือสัตย์ ทำอะไรไม่ต้องสัญญาด้วยกระดาษหรอก เดี๋ยวนี้เขียนกระดาษก็ยังมีถ้อยคำให้เบี้ยวกันได้ ยังโกงกันได้ทั้งมีสัญญา สมัยก่อนไม่ต้องมีสัญญาแต่เขาไม่โกงกัน เพราะเขามีคุณธรรมประจำจิตใจ ท้าวหริตจันทร์ก็ต้องไปเดินป่าแสนลำบาก ตัวละครก็ลำบากนะ
คานธีนั่งดูดู นึกชมท้าวหริตจันทร์ว่านี่ คนมีสัจจะดีอย่างนี้ แล้วแกอธิษฐานใจว่าเราจะมีชีวิตอยู่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จะไม่ยอมกระทำความชั่วเป็นอันขาด นี่เริ่มต้นแห่งการสร้างคุณธรรมในจิตใจเพราะได้ดูละครเรื่องท้าวหริตจันทร์ เราดูละครกันบ่อยๆเวลานี้โทรทัศน์ออกเรื่องละครสิงหไกรภพกัน คุณโยมคุณยายคงจะชอบนะของโบราณ ถ้าลูกหลานดูมันต้องอธิบายให้ลูกหลานฟัง บางตอนมันดีมีคุณค่า บางตอนมันก็เสีย มีทั้งพระเอกนางเอก มีโจรผู้ร้าย มีอันธพาลอยุ่ในเรื่องทั้งนั้นแหละ เราคอยชี้ให้เด็กฟัง ว่านี่อันธพาลใช้ไม่ได้ อย่าเอาเป็นตัวอย่าง นี่บัณฑิตเป็นคนดีมีคุณธรรม ลูกต้องเอาเป็นตัวอย่าง เราสอนเด็กไปด้วยในตัว จากเรื่องละครเหล่านั้นที่เขาแสดงเรื่องอะไรก็ตามใจ เขาต้องมีตัวร้ายกาจอยู่ตัวหนึ่งในเรื่องนั้นบางทีไม่ใช่ตัวเดียวนะ สองตัวสามตัว ช่วยกันแสดงความร้ายกาจ เราก็สอนลูกได้อยู่ อันนี้ไม่ดี ขาดศีลขาดธรรม เป็นคนใช้ไม่ได้ เด็กก็จะได้รู้อะไรๆเสียตั้งแต่เบื้องต้น ไม่ได้ดูโทรทัศน์เพื่อความสนุกอย่างเดียว หรือไม่ได้ฟังวิทยุเพื่อความสนุกอย่างเดียว แต่ให้ได้ตัวอย่างจากชีวิตของละครในเรื่องนั้น
เหมือนคานธีท่านได้ตั้งแต่เป็นเด็ก แล้วเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตอยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นหนุ่มขึ้น อยู่ในโรงเรียนมัธยม เขามีบทเพลงร้องว่า คนอังกฤษร่างกายกำยำล่ำสันเพราะเขากินเหล้ากินเนื้อ คนอินเดียร่างกายผ่ายผอมสู้คนอังกฤษไม่ได้ อังกฤษมันมาปกครองเรา เราเป็นขี้ข้าเขาเพราะเราไม่กินเนื้อไม่กินเหล้า เด็กมันแต่งขึ้น พวกวัยทีนเอจมันแต่งขึ้น ก็ร้องกันไปอย่างนั้น เลยเพื่อนมาชวน เราไปกินเนื้อกันเถอะ ไปกินเหล้ากันเถอะ เขาชวนบ่อยๆก็โอนเอียงไปตามคำเชิญชวนเหล่านั้น ก็เลยไป แต่เวลาไปกิน ไปกินกันในที่ลับ แต่ความรู้สึกในใจ เอ! นี่มันไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นเรื่องถูกต้องมันต้องเปิดเผยได้ นี่มันเป็นเรื่องลับ มันต้องเป็นเรื่องชั่ว ให้เราคิดดูถ้าทำเรื่องชั่วมันต้องทำในที่ลับนะ เปิดบ่อนเล่นการพนันนี่ ต้องมีด่านหลายด่าน มีหมาเฝ้า มีโทรทัศน์วงจรปิด มันก็บอกอยู่แล้วว่ามันชั่วแต่ก็ยังทำ นี่เรียกว่าพวกหน้าด้าน มันก็ทำไปอย่างนั้นเอง แสดงว่าคานธีแกหน้าไม่ด้านพอ แกเมื่อเพื่อนชวนไปนั้น แกหงอย นึกในใจว่ามันไม่ถูก แต่เมื่อไปแล้วก็ต้องกินแพะเข้าไปชิ้นหนึ่ง ดื่มเข้าไปนิดหน่อย กลับมาบ้านรู้สึกว่าแพะมันร้องอยู่ในท้องตลอดเวลา แบ๊ะ แบ๊ะ แบ๊ะ แบ๊ะ อยู่ตลอดเวลา แล้วสบายใจ มีความทุกข์ไหม เป็นธรรมดาคนเรานี่ทำอะไรผิดแล้วมันเป็นทุกข์ทั้งนั้น ไม่ว่าเรื่องอะไรละ สังเกตดูเถอะ สังเกตดูในตัวเราว่า เวลาเราทำผิดเราเป็นทุกข์ ไม่สบายใจ แกไม่ทนทุกข์อยู่หรอกคานธีน้อยนี่ แกไปหาพ่อเลย ไปถึงบอกพ่อว่าผมได้กระทำความผิดไปอย่างหนึ่ง มีความเสียใจมาก เธอได้ไปกินเนื้อ กินน้ำเมา พ่อก็ไม่ว่าอะไร แต่น้ำตาไหล น้ำตาไหลไม่ใช่เสียใจ ดีใจว่าลูกยังมีคุณธรรมเหลืออยู่ในจิตใจ แม้จะกระทำความผิดก็เรียกว่ายังสำนึกว่าตัวผิด คนที่ทำผิดแล้วสำนึกว่าตัวผิด นี่ยังให้อภัยได้ ยังเลี้ยงได้ แต่ถ้ามันผิดแล้วมันไม่ยอมรับผิด นี่เรียกว่าตัดหางปล่อยเลย แต่อย่าเอามาปล่อยวัดมันจะยุ่งกับพระต่อไป ไอ้ที่เขาว่าตัดหางปล่อยวัดนี่ ไม่ได้ พระลำบาก ตัดหางปล่อยวัดนี่ไม่ไหว ยุ่งเหลือเกิน ตัดหางปล่อยเลี้ยงไม่ไหวแล้ว มันเหลือเข็นแล้วคนอย่างนั้นน่ะ ดอกบัวใต้น้ำ เน่าเป็นเหยื่อเต่าเหยื่อปลา สู้ไม่ไหว ต้องปล่อยไป
คานธีท่านได้บทเรียนว่าไม่ถูกต้อง เลยก็ตั้งแต่นั้นมาก็ระมัดระวัง ไม่กระทำอะไรที่เป็นความผิดต่อไป ก็เรียนหนังสือมาได้ด้วยดี แต่ก็ไม่เก่งเท่าใด เรียนไม่ค่อยเก่งเท่าใด แต่ตั้งใจเรียนดี เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมในอินเดียแล้ว ก็คิดว่ามีคนเขามาแนะนำ ทนายความคนหนึ่ง มาแนะนำบอก โอ๊ย! คานธีนี่มันต้องส่งไปเรียนเมืองนอก เรียนอังกฤษ เรียนกฏหมาย แล้วต่อมาก็จะได้เป็นทนายความ ชีวิตก็จะดีขึ้น ไอ้เรียนอินเดียมันไม่สูงพอหรอก ต้องส่งไป ทีนี้ก็คุณแม่ไม่อยากให้ลูกไป ก็พาไปปรึกษาพระ ไปปรึกษาพระฝ่ายฮินดู ไปปรึกษากับพระฝ่ายไชนะ พระก็บอกว่าไม่เป็นไรหรอก ควรให้เขาไป แต่แม่ก็ยังคิด ไม่ค่อยยอม คือกลัวว่าลูกไปอยู่เมืองฝรั่งนี่จะเอาวัฒนธรรมฝรั่งมาใช้ จะไปดื่มเหล้า จะไปเที่ยวผู้หญิง จะไปกินเนื้อ จะประพฤติเหลวไหล วิตกกังวลเรื่องนี้ แล้วบอกให้ลูกทราบว่า “แม่ไม่อยากให้ลูกไป เพราะกลัวลูกจะไปเอาวัฒนธรรมฝรั่งมาใช้ จะไปประพฤติสิ่งเหลวไหล” คานธีกราบลงแทบเท้าคุณแม่ แล้วบอกว่า “ แม่ไว้ใจผมเถอะ ผมขอปฏิญาณว่าเมื่อไปอยู่เมืองนอกจะไม่ประพฤติสิ่งเหลวไหลอันขัดต่อระเบียบ ประเพณี วัฒนธรรม ของอินเดีย ของครอบครัวของเราเป็นอันขาด” คุณแม่ก็ตกลง ไว้ใจลูก เลยให้ไป ไปเดินทางไปทางเรือ สมัยนั้นยังไม่มีเรือบิน กว่าจะไปก็นาน กว่าจะถึงตั้งเดือน ออกจากบอมเบย์ ไปในเรือพอถึงเวลาเขาก็เลี้ยงอาหาร ตั้งโต๊ะกินแบบฝรั่ง คานธีไปถึง นั่งดูแล้ว โฮ้ย! มีแต่เนื้อทั้งนั้น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ไม่มีอะไร กินไม่ได้ เลยขอโทษ ลุกขึ้นกลับห้อง มากินขนมปังกรอบๆที่ซื้อไปจากบอมเบย์ กลั้วคอด้วยน้ำไปตลอดทาง ฝรั่งเขารู้ เขาก็มาปลอบโยน บอกว่า “อย่าทำอย่างนั้น ชีวิตมันจะสูญเสียเปล่าๆ เราต้องกินเนื้อ เราต้องบริโภคของที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย
เธอนี่ร่างกายผ่ายผอมเพราะไม่กินเนื้อ” คานธีก็บอกว่า “ผมกินไม่ได้เรื่องเนื้อ เพราะว่าสัญญากับคุณแม่แล้วว่าจะไม่กินเนื้อ ผมรักคุณแม่ ผมทำผิดไม่ได้ ไม่ยอมกินเนื้อ แม้จะตายก็ไม่ยอมกินเนื้อ ไม่ผิดสัญญาที่ให้ไว้กับคุณแม่” นี่น้ำใจมั่นคงอย่างนี้ แล้วก็ไปในเรือ ฝรั่งเขาสงสารก็มาพูดจาปลอบโยน แล้วไปบอกพ่อครัวให้ทำแกงผักให้กิน แกบอกว่ากินแล้วมันไม่มีรสชาติอะไร ผักต้มเฉยๆไม่ได้ใส่พริก ไม่ได้ใส่เครื่องเทศ อินเดียเขากินของใส่เครื่องเทศมันร้อนๆ ซู่ๆ ซ่าๆ มันพอกินได้นะ อาตมาไปอินเดียก็ชอบฉันเหมือนกัน แต่ว่าเดือดร้อนตอนถ่าย มันถ่ายไม่ค่อยออก ท้องผูก อันนี้แกบอกว่าไม่อร่อย แต่ก็กินพอประทังชีวิตไป อันนี้พอต่อไปฝรั่งคนหนึ่งมาชวนคุย บอกว่า “เมื่อไปถึงอ่าวบริสนี (36:51) เธอจะต้องเปลี่ยนความคิดเรื่องกินเนื้อ เธอจะต้องเปลี่ยน” คานธีถามว่า “ทำไม” “เพราะที่นั่นมันหนาว หนาวนี่จะต้องกินเหล้าให้อุ่น ต้องกินเนื้อ ให้ความร้อนแก่ร่างกาย” คานธีบอก “ฝรั่งที่ไม่ดื่มเหล้ามีไหม ฝรั่งที่ไม่กินเนื้อมีไหม” เขาบอกว่า “มี แต่ว่าเขาทนได้ เพราะเขาอยู่ในที่นั่น เธอมันอยู่เมืองร้อน มันจะทนไม่ได้ จะเอากระดูกไปทิ้งเสียเปล่าๆ” คานธีก็ยิ้มในใจแล้วพูดว่า “ถึงฉันตายฉันก็ไม่ยอมเสียสัจจะ” นี่เสียชีพอย่าเสียสัตย์ ลูกเสือเขาสัญญากันไว้อย่างนั้น ท่านก็ไม่ทำ
ท่านไปถึงอินเดียก็ไปพักโรงแรม ไปกับทนายความ เพราะไม่มีอะไรจะกินได้ แกก็กินอยู่ในห้องของแก ทีนี่มีคนมาแนะนำว่า โห! มาพักอย่างนี้ไม่ได้ แพง ฉันจะไปหาบ้านให้อยู่ เลยไปหาบ้านเช่า ให้อยู่กับครอบครัวเขา แกก็ไปอยู่ แต่แกก็เวลากินข้าวแกก็ไม่ยอมกินด้วยกับเขา เขาก็รู้ว่าไม่กินเนื้อ เขาก็ต้มผักให้กิน มันก็ไม่มีรสชาติดังเคย แกก็คิดว่าไม่ได้เราต้องเลี้ยงตัวเอง ก็พยายามหาวิธีการมาปรุงอาหารเอง แล้วก็หาพรรคพวกมารวมเป็นสมาคม ตั้งสมาคมเสพผักขึ้นในกรุงลอนดอนได้ ดูสิ แกสู้ของแกตามเรื่อง จนแกอยู่ได้
แล้วก็พูดย่อๆสั้นๆว่า เรียนจบได้เนติบัณฑิตอังกฤษสมความปรารถนาของพ่อแม่ แล้วก็เดินทางกลับ เมื่อมาถึงท่าเรือที่บอมเบย์ทุกคนไปรับ แต่ว่าขาดคุณพ่อ แกก็ยังไม่ถามนึกว่าคุณพ่อมาไม่ไหวเพราะมันไกลจากท่าเรือที่อยู่ ก็เฉยๆไว้ แต่พอไปถึงบ้านจึงรู้ว่าคุณพ่อสิ้นบุญเสียแล้ว แกก็มีความเศร้าโศกเสียใจพอสมควรร้องไห้ร้องห่มนะ แกเป็นคนไม่ใช่ใจแข็ง คานธี แต่ว่าเข้มแข็งบางเรื่องนะ เรื่องพ่อแม่นี่แกก็เสียใจ แล้วก็คิดว่าเราจะดำรงชีวิตอย่างไรต่อไปข้างหน้า แกก็คิดว่าจะไปอัฟริกาดีกว่า เขาเรียกว่า South Africa อัฟริกาใต้ อัฟริกาใต้นี่เป็นประเทศที่ใจโหดเหี้ยมที่สุดในโลกก็ว่าได้ เพราะเหยียดผิวที่สุด คนผิวดำถูกเหยียดผิว ผิวเหลือง ผิวอื่นถูกเหยียดทั้งนั้น นอกจากฝรั่งสีน้ำข้าวเท่านั้นที่จะไม่ถูกเหยียดเลย รถไฟอย่างนี้คนผิวดำผิวเหลืองเขาไม่ให้นั่งชั้นหนึ่งหรอก ชั้นสองก็นั่งไม่ได้ ต้องนั่งชั้นสาม
คานธีแกก็ไปอยู่ที่นั่น แกเห็นการเหยียดหยามกันในทางผิว กีดกันกันหลายเรื่องหลายประการ แกนึกว่า เอ! ไม่ได้ มันไม่เป็นธรรม ไอ้สิ่งใดไม่เป็นธรรมแล้ว คานธีแกทนไม่ได้ แกจะต้องต่อสู้เรื่องความไม่เป็นธรรมนี่ แกเรียกร้องความเป็นธรรมเสมอ เลยก็ครั้งหนึ่งเดินทางโดยรถไฟ แกตีตั๋วชั้นหนึ่งเลย
“ตีตั๋วชั้นหนึ่ง”
คนขายตั๋วบอกว่า “ไม่ได้หรอก ชั้นหนึ่งนี่ท่านนั่งไม่ได้”
บอกว่า “ฉันซื้อตั๋ว ฉันไม่ได้พูดเรื่องนั่ง เอาตั๋วให้ฉันก็แล้วกัน”
นั่นบอกว่า “ถึงซื้อไปก็นั่งไม่ได้” เขาไม่อยากขายให้
“ท่านมีหน้าที่ขายตั๋ว ฉันมีหน้าที่ซื้อ ขายฉันก็แล้วกัน”
พอซื้อตั๋วได้ รถจอด ขึ้นไปนั่งก๋าอยู่ชั้นหนึ่งเลย นั่งเฉย ทำท่าเฉย เดี๋ยวการ์ดรถหนีบตั๋วมา มาถึงก็ทำมือ เฮ้ย! พูดจาดูหมิ่น
“เฮ้ย!ทำไมมานั่งนี่้”
“ตั๋วชั้นหนึ่ง” แกชูตั๋วให้ดู “นี่ตั๋วชั้นหนึ่ง”
“ไม่ได้ ตั๋วชั้นหนึ่งก็นั่งไม่ได้”
“ฉันมีสิทธิเพราะฉันมีตั๋วชั้นหนึ่ง”
บอกว่า “สิทธิไม่มีตามตั๋ว ท่านมันคนผิวดำมานั่งนี่ไม่ได้ ต้องไปนั่งชั้นสาม”
“ฉันไม่ไป ฉันนั่งตามตั๋วที่ฉันซื้้อ”
ไอ้พวกนั้นมันโกรธ แกก็ร่างผอมๆมันยกโยนมาทางหน้าต่างเลย โยนมาที่ชานชลา แล้วก็รถออกไปเสียเลย แกก็ไม่ได้ไป แกโทรเลขถึงผู้อำนวยการรถไฟซึ่งเป็นคนอังกฤษ แกบอกว่าแกคือใคร โทรเลขมาทำไม ผู้อำนวยการตกใจ เพราะแกฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย เรียกร้องสิทธิปรับกันเป็นเงินสักเท่าไหร่ก็ได้ ศาลต้องเข้าต้องถือกฏหมายนะในศาล ต้องจัดกระบวนรถพิเศษมารับแกตู้หนึ่งกับหัวรถจักร คานธีนั่งคนเดียว แล้วต้องเป็นตู้ชั้นหนึ่งด้วยนา ตู้ชั้นสามก็ไม่ได้ เพราะว่าถ้านั่งต๋วก็นั่งไปได้ แต่แกพูดว่าแม้ได้นั่งก็ยังไม่ได้ ต้องต่อสู้ต่อไป แกก็ทำการต่อสู้เรื่อยไป
คนอินเดียที่ไปอยู่เมืองนั้น ไปอยู่กันมากไปเป็นกรรมกรตามไร่อ้อย ตามสวน ตามอะไรต่ออะไรต่างๆ ถูกเหยียดหยามมาก ลำบากยากจน ข้นแค้น แกไปเห็นแล้วก็สงสาร คิดว่าจะต้องช่วยคนเหล่านี้ แกก็พยายามเปิดสำนักงานว่าความขึ้นในประเทศนั้น
ครั้งหนึ่งแกนั่งเรือกลับจากไปอินเดียแล้วกลับมา คนผิวขาวมันไปห้อมล้อมที่ท่าเรือ มันจะตีให้ตาย ตีให้ตาย ตำรวจบอกว่า “ท่านปลอมตัวเป็นผู้หญิงเถอะ ฉันจะพาไป” แกบอก “ทำอย่างนั้นมันขี้ขลาดตาขาวนี่ ฉันทำไม่ได้ ฉันจะต้องเดินออกไปอย่างธรรมดา เขาจะทำอะไรฉันไม่ได้ ฉันยังไม่ตายก่อน ฉันยังจะต้องทำงานเป็นประโยชน์แก่สังคมต่อไป” แกก็เดินลงไปพอถึงสะพาน ถึงดินนั่นนะ ไอ้พวกนั้นมันก็รุมกันทุบแก แต่ตัวแกเล็ก แกเที่ยวซอกไปตามหว่างขาพวกนั้น แล้วมีสุภาพสตรีคนหนึ่งเอาร่มมากั้นไว้ไม่ให้ถูกท่านคานธี แล้วก็กันพาไปถึงบ้าน หัวร้างข้างแตกถลอกปอกเปิกไปหมดทั้งเนื้อทั้งตัว ไปอยู่ในบ้านนั้นแล้วมันก็ไปล้อมบ้าน มันบอกว่าส่งคานธีออกมาเราจะต้องเอาไปแขวนคอที่ต้นมะขามสนามหลวง ว่าอย่างนั้น ทำเหมือนกรุงเทพฯนะ ที่โน่นก็มีต้นไม้อื่น จะเอาไปแขวนคอ ตำรวจก็มาช่วยพาขึ้นรถพ้นไปจากสถานที่นั้น แกก็ไม่ทุกข์ไม่ร้อน แกบอกว่าพวกนี้มันยังโง่เขลาเบาปัญญา เราจะต้องทำให้เขาสำนึกในความเป็นมนุษย์ร่วมโลกกัน แกก็ต่อสู้
ทีนี้เมื่อเปิดสำนักว่าความ แกเป็นทนายความที่ไม่เหมือนใครคือแกไม่อยากจะได้เงินจากการว่าความหรอก แต่แกต้องการจะให้ลูกความนี่ไม่ต้องเป็นความกัน แล้วแกก็ทำอย่างนั้น มีตระกูลเศรษฐีเป็นอิสลามค้าขาย พี่กับน้องเกิดแตกแยกกัน ไม่ตกลงกันเป็นความกัน เงินทุนตั้ง ๒๐ กว่าล้านไม่ใช่เล็กน้อย แกก็บอกว่า “นี่เรามันเป็นอะไรกันสองคนนี้” “ พี่กับน้อง” “ พี่กับน้องมาเป็นความกัน มันเรื่องอะไร” พยายามพูดจาทำความเข้าใจกัน แล้วไปทนายความฝ่ายโน้น พูดจาทำความเข้าใจ แล้วไปหาคู่ความ พูดจาทำความเข้าใจ แล้วนัดมาพบกันทั้งสองฝ่าย แกก็เทศน์ให้คนทั้งสองฟัง พวกนั้นใจอ่อน ถอนคดีไม่ต้องเป็นความกันต่อไป แกบอกว่า “ไอ้เป็นความนี่จะเป็นโรคประสาทเพราะเรื่องมันยาว ยิ่งความแพ่งแล้วมันช้ากว่าจะตัดสินนี่ ไอ้เราก็เป็นทุกข์ไม่รู้ว่าจะแพ้หรือจะชนะจะลำบากอย่างไร จิตใจเป็นห่วง ล่อแหลมต่อการเป็นโรคประสาท โรคท้องไส้ ท้องพิการ กระเพาะอาหารเป็นพิษมันหลายเรื่อง ประนีประนอมกันสบายกว่า” ตกลงสองฝ่ายประนีประนอมกัน พูดจากัน คานธีก็เป็นคนกลาง เรื่องมรดกก็เรียบร้อยไม่เกิดเป็นปัญหา คนทั้งสองนั้นก็รัก เคารพ บูชาคานธี
ทีนี้ต่อมาแกเห็นคนยากจนมาก แกก็ไปตั้งนิคมเรียกว่านิคมฟีนิกซ์ ตั้งเพื่อเอาคนจนไปอยู่ที่นั่น ให้มีบ้านอยู่แล้วก็ไปหาเงินจากพวกพ่อค้าที่ร่ำรวยที่แกได้ช่วยเหลือในธุรกิจต่างๆไว้ เขาก็ให้เงินมา แกก็ไปอยู่ในนิคมนั้นด้วยช่วยเหลือคนเจ็บไข้ได้ป่วย พยาบาลคนทุกประเภท ไม่ถือว่าเป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร อะไร แกไม่ถือชั้นวรรณะ ช่วยเหลือคนเหล่านั้น คนก็มีความรักใคร่พอใจ เหตุการณ์ก็ค่อยดีขึ้น คือแกกินอยู่น้อย ใช้จ่ายไม่มากในครอบครัว แต่ว่าแกเอาเงินส่วนเกินนั้นไปทำประโยชน์แก่คนอื่น ให้คนอื่นได้อยู่เย็นเป็นสุขตามสมควรแก่ฐานะ แกพร้อมที่จะรับใช้คนอื่น
แล้วก็คราวหนึ่ง แกคิดว่าที่โรงพยาบาลมีคนป่วยมาก แต่ว่าบุรุษพยาบาลมีน้อย แกก็ไปบอกผู้อำนวยการโรงพยาบาล ขอสมัครมาเป็นบุรุษพยาบาลโดยไม่ต้องมีเงินเดือน ไม่ต้องมีสิ่งตอบแทน แกจะมาช่วยวันละกี่ชั่วโมง แกให้วันละหลายผลัด วันหนึ่งสมมติว่า ๓ ชั่วโมง แกก็ไปทำงาน ไปช่วยพยาบาลคนเจ็บไข้ได้ป่วย ปลอบโยนจิตใจ ให้ความสะดวกอะไรต่างๆ โดยไม่ได้รับอะไรตอบแทนแม้แต่น้อย นี่คือความเสียสละที่มีอยู่ในน้ำใจท่าน ตั้งแต่เริ่มต้นของชีวิตต่อสู้ทางการเมือง ท่านสร้างสิ่งนี้ขึ้นก่อน แล้วก็อยู่สบายอยู่ในประเทศนั้น
แกเป็นทนายนี่แกจะว่าความแต่เรื่องที่ถูกต้อง ถูกเขาโกง คนนี้เป็นผู้บริสุทธิ์ถูกเขาโกง ต้องพูดความจริงให้ฟัง ถ้าพูดความเท็จให้ฟัง แกจะไม่ว่าความให้ ไม่ว่าเป็นอันขาด ครั้งหนึ่งมีเศรษฐีชาวปาร์ซี่ที่อยู่อินเดีย ปาร์ซี่ก็คือพวกอิหร่าน เขานับถือศาสนาเก่าก่อนอิสลามเกิด อิสลามเกิดก็รุกเข้าไปในอิหร่าน พวกนี้ไม่ชอบ หนีมาอยู่อินเดียมาตั้งหลักแหล่งอยู่ในอินเดีย ในบอมเบย์ เป็นพ่อค้าใหญ่โตมี ฐานะดีเหมือนกัน มีคนหนึ่งชื่อรุสตำยี่ไปค้าขายอยู่ที่เมืองอัฟริกาใต้ ก็ร่ำรวย แต่แกนึกว่านายคนนี้ร่ำรวยเพราะการค้าขาย ความจริงแกค้าของหนีภาษี หนีมานานแล้ว แต่ว่าไม่ถูกจับ พอถูกจับก็วิ่งแร่มาหาคานธี มาปรึกษาให้ว่าความ คานธีบอกว่า “เล่าชีวิตจริงๆของเธอให้ฉันฟังหน่อย เล่าความจริงนะ ถ้าไม่เล่าความจริงแล้วฉันช่วยไม่ได้” แกก็เล่าให้ฟังว่า แกค้าขายไม่สุจริตหรอก แกค้าของเถื่อนเอามาจากประเทศนั้นประเทศนี้มานานแล้ว เพิ่งจับได้คราวนี้เอง แกบอกว่า “เรื่องนี้ฉันไม่ว่าความให้เธอ แต่ว่าเธอต้องไปกับฉันไปกรมศุลกากรด้วยกัน” พาไปกรมศุลกากร แล้วบอกว่า “เธอต้องสารภาพความผิดของเธอกับอธิบดีกรมศุลกากรให้หมด” ไอ้นั้นก็เล่าให้อธิบดีฟัง แล้วก็ไปหาตำรวจ ไปหาอัยการ หาหมดสามเจ้าหน้าที่แกไปหาหมด ผลที่สุดก็เขาไม่เอาเรื่อง แต่ว่าต้องเสียภาษีย้อนหลังมากมายเลย เศรษฐีนั้นต้องยอม ยอมเสียภาษีย้อนหลัง ซึ่งถูกปรับเป็นเงินตั้งล้านกว่า ถูกปรับมากมายเพราะไม่เสียภาษีนี่ ตั้งแต่นั้น นายคนนั้นเลิก ไม่ค้าขายต่อในเรื่องอย่างนั้น ค้าขายแต่ในทางสุจริตไม่ผิดกฏหมาย ชีวิตก็เรียบร้อยไม่ต้องเป็นโรคประสาทเพราะกลัวตำรวจจะจับอีกต่อไป ก็ได้รับความสุขจากคำแนะนำของท่านในฐานะเป็นทนาย
ท่านเป็นทนายแบบนี้ ไม่ใช่ทนายที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ เขามีภาษิตบอกว่า “ยื่นมือให้ทนาย แล้วเขาจะจูงท่านไปสู่ตะแลงแกง” คือไปสู่ที่ตายนะเรายื่นมือให้ แต่คานธีนั้น เรายื่นมือให้จะจูงเราไปสวรรค์เลย ท่านจะไม่เห็นแก่รายได้จากทนาย แต่ว่าจะช่วยลูกความให้เข้าสู่ธรรมะ ให้ประพฤติดีประพฤติชอบ อันนี้หายาก เป็นทนายความคนเดียวในโลกก็ว่าได้ ที่มีอยู่ในโลกนี้ นอกนั้นเขาต้องการเงินทั้งนั้นแหละ ทนายนี่ ความอะไรก็กูว่าทั้งนั้นน่ะ จะแพ้ก็ไม่เป็นไรเรื่องนี้สู้ได้ แพ้ศาลชั้นต้น อู๊ย! มีทางจะอุทธรณ์ ต้องสู้ชั้นอุทธรณ์ต่อไป เอามาอีกสามหมื่น พออุทธรณ์แพ้ แหม! ศาลฎีกายังมีอีกศาลหนึ่ง ไอ้ตรงนี้มันต้องพิจารณาแง่กฏหมาย ถ้าตามแง่กฏหมายต้องให้ศาลฎีกา เอาเงินมาอีกสามหมื่น แล้วก็ถึงศาลฎีกา พอถึงศาลฎีกา ก็ศาลฎีกาตัดสินแพ้ เพราะอะไร เพราะว่าเรื่องมันจริงอย่างนั้น ลูกชายไปฆ่าเขาตายกลางวันแสกๆ แล้วจะไปสู้ความให้ชนะ มันจะชนะได้อย่างไร พยานมันเห็นเยอะแยะ เขายืนยัน เลยแพ้ แพ้ก็เพราะว่าทนายมันว่าไม่แพ้ ก็เชื่อทนาย ก็คนนั้นก็ต้องขายนาไปจนหมดตัว ลูกชายติดคุก นาติดคุกนี่ ไปคบกับทนายอย่างนี้เข้าก็ฉิบหายเท่านั้นเอง ถ้าไปเจอทนายแบบคานธีเข้า เขาคงบอกว่าเราอย่าไปสู้เลย ก็ลูกเราไปฆ่าเขาจริงๆ รับสารภาพเสียเถอะติดคุกไม่นานแล้วก็ได้อภัยโทษ ไม่เท่าไรได้ออก ไอ้นี่ติดคุก ๒๐ ปีกว่าจะได้ออกก็แย่ไปตามๆกัน เพราะทนายเห็นแก่ได้ ต้องการเงินท่าเดียว นี่เป็นอย่างนี้
คานธีแกเป็นทนายที่มีคุณธรรม ไม่เห็นแก่รายได้จากเรื่องทนายความ แกจึงเป็นที่รักของประชาชน ครั้งหนึ่งแกอยู่สามปีแล้วจะกลับบ้าน เมื่อจะกลับบ้านนี่พ่อค้าชาวอินเดียก็เรี่ยไรเงินซื้อสายสร้อยประดับเพชรสายใหญ่ให้แก่ภรรยา แหวนอะไรต่ออะไรหลายอย่างเอามาให้เวลาคานธีไม่อยู่ คานธีกลับมาถึงเห็นภรรยาสวมสายสร้อยเพชรเส้นใหญ่ “นี่เธอเอามาจากไหน” “พ่อค้าเขาเอามาให้” พอรู้ว่าพ่อค้าให้ แกสะอึกทันที คิดว่า ตายแล้ว! มันเอามาให้ทำไม สิ่งของอย่างนี้แกไม่อยากได้ แกจะพูดกับภรรยาว่า “ไม่ได้ อย่ารับ” มันก็จะหักโหมน้ำใจกันมากเกินไป ก็ผู้หญิงเขาชอบของสวยๆงามๆ เลยก็นอนไม่หลับคืนนั้น เรียกลูกชายมาพูดบอกว่า “ลูก ไปพูดกับแม่นะ ทำความเข้าใจกับแม่ให้ที ครอบครัวเราเป็นครอบครัวที่มีอุดมการณ์ เราไม่เห็นแก่ได้ ไม่เห็นแกอามิส เราตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น สิ่งเหล่านี้ไม่ควรจะรับไว้ ไปบอกแม่ พูดให้ที” ลูกชายไปบอกแม่ แหม! แม่มาตุปัดตุป่องมาเลย น้ำมูกน้ำตาไหลออกมา ฉอดๆๆ ว่าคานธี คานธีก็นั่งฟังเฉยๆไปก่อน แล้วก็พูดจาปลอบโยนอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วผลที่สุด ก็ปลดสายสร้อยออกจากคอเมีย สายสร้อยคอ สายสร้อยมือ อะไรต่ออะไรนะ มีอยู่ที่ไหนอีก เอามาให้หมด รุ่งเช้าเรียกคณะพ่อค้ามาบอกว่า ฉันรับไม่ได้ของเหล่านี้ มันผิดอุดมการณ์ของฉัน ฉันไม่มีหน้าที่จะรับอะไรจากใคร ฉันมีหน้าที่แต่จะให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น เพราะฉะนั้นขอให้พวกท่านรับไป เอาไปขายเสียให้หมดแล้วเอาเงินมาไปช่วยมูลนิธิ มาช่วยสงเคราะห์คนยากจนที่นิคมที่ฉันได้ตั้งไว้เถอะ พวกนั้นก็ไปจัดการตามที่ท่านปรารถนา นี่ดูตัวอย่างน้ำใจ หายากคนอย่างนี้ หายาก สมัยนี้เขาไม่ให้ก็ยังบ่น แหม! ไอ้นี่มันไม่ช่วยเลย ให้อะไรมันก็ไม่ให้ เราไปติดต่ออะไรถ้าไม่หยอดน้ำมันยี่ห้อในหลวง เครื่องมันฝืด มันไม่ค่อยเดิน หมุนช้า ต้องหยอดลงไปนิดหน่อย มันเป็นอย่างนี้นะทุกหนทุกแห่ง ไม่มีน้ำใจอย่างคานธีบ้างเลย นี่ท่านไม่เอา ถือว่าเป็นของไม่ดี แล้วท่านรับใช้ผู้อื่นตลอดเวลา
ครั้งหนึ่งเขามีการประชุมคองเกรส เรียกว่าพรรคการเมืองอินเดียที่เมืองกัลกัตตา คนมากมาประชุมนี่ แกเข้าไปในห้องส้วม แหม! สกปรกที่สุดเลย ส้วมสกปรก พอเห็นสกปรกถ่ายไม่ลง แกไปตักน้ำมา เอาไม้กวาด มากวาด มาเช็ด มาถู คนหนึ่งมาเห็นบอก “อ้าว!ทำไมทำอย่างนั้น ไอ้นี่มันงานคนใช้ ไม่ใช่งานเช่นท่าน” เวลานั้นยังไม่ได้เป็นมหาตมะ ยังไม่ดังนะ “ใครๆก็ต้องทำอย่างนี้ ถ้าเห็นสิ่งสกปรกแล้วไม่ทำนี่ คนอื่นเขาก็ไม่ทำ ฉันทนดูไม่ได้ เมื่อเห็นสิ่งทั้งหลายมันไม่สะอาดฉันก็ต้องทำของฉัน” ไอ้นั้นบอก “ท่านไม่ใช่คนชั้นวรรณะที่กวาดขยะ” บอกว่า “วรรณะนี่มันกินไม่ได้หรอก มันน้ำใจสำคัญกว่า” แกก็กวาดล้างเรียบร้อย นี่ไม่ได้ถือเนื้อถือตัวอะไร นี่เป็นตัวอย่าง
แกตั้งนิคมขึ้นที่อินเดีย ที่บ้านเกิด แล้วเอาครอบครัววรรณะต่ำ วรรณะที่ ๕ เขามีกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ไอ้ที่ ๕ นี่จัณฑาล คนไม่แตะต้อง พวกพราหมณ์ก็ไม่แตะต้องหรอก ใครๆก็ไม่แตะต้อง กับพวกจัณฑาลนี่ จัณฑาลนี่เดินเหยียบของคนอื่นเขาไม่ได้นะ กลัวเป็นบาป แกก็รับครอบครัวจัณฑาลเข้าไปไว้ คนทั้งหลายไม่ชอบเลย มีเศรษฐีคนหนึ่งให้เงินอุดหนุนอยู่ทุกเดือนนะ พอมาเห็นครอบครัวนั้น บอกว่า “ถ้าครอบครัวนี้อยู่ในนิคมฉันจะเลิกให้นะ” คานธีบอกว่า “ขอบใจ แต่ไม่เป็นไรหรอกธรรมะต้องช่วยคนที่รักธรรมะต่อไป” แกกลับมาถึงสำนักงาน ถามลูกชาย “เงินเหลือเท่าไหร่” “เงินมีอยู่สองหมื่น” “ต่อไปนี้เราต้องช่วยตัวเอง ทุกคนต้องทำงาน ต้องปลูกผัก ต้องช่วยตัวเอง เพราะไม่มีคนช่วยเหลือแล้ว” แกก็เกิด เขาเรียกว่าลัทธิช่วยตัวเองขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อแกเป็นใหญ่เป็นโต เป็นมหาตมะ แกทำได้ทุกวัน แกทอเสื้อทอผ้าสำหรับใช้ตัดเสื้อตัดผ้าแกเอง แล้วสมาชิกทุกคนต้องปั่นด้าย ต้องทอผ้า ช่วยตัวเองกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนชั้นไหน แกคิดขึ้นมาอย่างนั้น แล้วก็คนนั้นก็ไม่ช่วย แต่ว่าวันหนึ่งคนนั้นขับรถมา ขับรถมาจอด นู๊น! ไกล กวักเรียก “บอกคานธีมาพบหน่อย” คานธีไปถึงบอกว่า “ฉันจะไม่ให้เงินแล้ว แต่ว่าสงสาร แต่ว่าฉันไม่เข้าไปในนิคมนั้น ฉันมาหยุดตรงนี้ ฉันกลัวบาปจะติดฉันในนิคมนั้น” คานธีก็บอกว่า “ถ้าท่านกลัวบาปแบบนี้ท่านก็จะเป็นคนบาปตลอดไป เพราะท่านไม่รู้ว่าบาปคืออะไร การช่วยเหลือคนนี่มันจะเป็นบาปที่ตรงไหน การที่ตระหนี่ เห็นแกตัว เอารัดเอาเปรียบ เอาดอกเบี้ยเขาแพงๆนั่นแหละมันบาปหนักกว่าเรื่องอย่างนี้” แกด่าเศรษฐีคนนั้นเข้าให้แล้ว เศรษฐีก็เลยบอกว่า “เอาเถอะ ฉันมาแล้วก็รับเงินไปด้วย” แล้วทีหลังเศรษฐีคนนั้นต้องยอมแพ้คานธี ต้องเข้าไปในนิคมไปช่วยเหลือคานธีต่อไป แกเอาชนะด้วยความดี ชีวิตของท่านผู้นี้เป็นชีวิตที่มีคุณธรรมตลอดเวลา จนกระทั่งตาย
วันตายนี่ก็กำลังเดินจะไปสวดมนต์ ปากพูดธรรมะให้คนในสนามฟังมากมาย ไอ้บุรุษหนุ่มใจร้อนคนหนึ่งไปถึงเอามือแตะเท้าลุกขึ้นยืน โป้ง! ยิงคานธี มันก็ยิงง่ายจะตาย แกไม่ใช่สู้ใคร ตัวผอมๆ ยิงก็ล้มลง คนก็มารับ ท่านยกมือ “ราม ราม ราม ราม” เอ่ยชื่อพระรามซึ่งถือว่าเป็นพระผู้เป็นเจ้า เหมือนเราเอ่ยนามว่า “พุทโธ พุทโธ” ให้อภัยกัน ไม่ถือโทษโกรธตอบ ไอ้คนนั้นก็ถูกจับ ถูกประหารชีวิตไปตามกฏหมาย ตัวท่านตายแต่ว่าชีวิตไม่ตาย คนทั้งหลายยังเคารพสักการะบูชา อนุสาวรีย์มีทั่วประเทศอินเดีย มีอยู่ในอังกฤษ มีในอเมริกา คนทั้งโลกยกย่องคานธีว่าเป็นผู้มีน้ำใจประเสริฐ มีคุณธรรมประจำจิตใจ
อาตมาก็นึกถึงความดีของท่านผู้นี้ อยากจะเอามาอวดให้ญาติโยมได้ยินได้ฟัง แล้วก็จะเป็นหนังสือ คนจะได้อ่าน เพื่อจะได้เห็นว่า อ้อ! โลกนี้ยังมีคนดีและไม่ตกต่ำในชีวิต แต่ว่าคนชั่วนั้นตรงกันข้าม ตกต่ำลึกลงไปแผ่นดินสูบไปเลย คนชั่วน่ะแผ่นดินสูบเพราะว่าเป็นที่รังเกียจของสังคม ไม่มีใครคบหาสมาคมต่อไป ขอให้เข้าใจอย่างนี้ พูดมาก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมสงบใจ นึกแผ่ส่วนบุญให้ท่านมหาตมะ คานธีด้วยเหมือนกัน
- ปาฐกถาธรรมอาทิตย์ที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๒๖