แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบอย่าเดินไปเดินมา ให้นั่งลง ณ ที่ใดที่หนึ่งที่สามารถได้ยินเสียงเครื่องกระจายเสียงนี้ได้แล้วจงตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดีเพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันอาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายน เดือนตุลาคมได้ผ่านพ้นไปอย่างเรียบร้อย วันเวลามันก็ต้องผ่านพ้นไปตามเรื่องของเวลาไม่มีใครจะไปหยุดยั้งได้ สิ่งทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นผ่านไปๆ ตามอำนาจของเวลา เวลานี้อยู่เหนือสรรพสิ่งทั้งหลาย พระพุทธเจ้าตรัสว่าเวลานี่มันเคี้ยวกินตัวของมันเองและสรรพสิ่งทั้งหลาย ที่ว่าเคี้ยวกินตัวเองคือหมายความว่ามันหมดไปๆ แล้วก็ทำให้สรรพสิ่งทั้งหลายพลอยชราไป จนกระทั่งแตกดับไปตามวันเวลา การเพิ่มอายุของเราก็หมายความว่าเราแก่ขึ้นๆ รอบปีหนึ่ง แก่ขึ้นเดือนหนึ่ง แก่ขึ้นวันหนึ่ง ชีวิตของเราก็ใกล้ถึงจุดจบลงไปทุกวันทุกเวลา
พระผู้มีพระภาคจึงสอนให้เราทั้งหลายได้พิจารณาบ่อยๆ ว่าเวลาล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรกันอยู่อันนี้เป็นเรื่องควรคิด คิดเพื่อให้เกิดความสำนึกในหน้าที่อันเราจะปฏิบัติในชีวิตประจำวัน แล้วก็จะเป็นคนไม่ชักช้าไม่เสียเวลาในการปฏิบัติงานในหน้าที่นั้นๆ เพราะว่าถ้าเราช้าเวลาก็สูญไปเสียเปล่าๆ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราเป็นกาลัญญูหมายความว่ารู้จักเวลา
รู้ว่าเวลานี้มันผ่านไปเอากลับคืนมาไม่ได้และเมื่อผ่านไปแล้วมันก็แล้วกันไป และไม่ได้ผ่านไปแต่เวลาเฉยๆ ทำให้เราแก่ไปด้วยแล้วก็ใกล้ต่อสิ่งที่เป็นปลายทางของชีวิตขึ้นทุกวันทุกเวลา ดังนั้นเมื่อขึ้นวันหนึ่ง ขึ้นเดือนหนึ่ง ขึ้นปีหนึ่งจะต้องนึกถึงว่าชีวิตเราเพิ่มความแก่ขึ้นไปอีกเท่านั้นเท่านี้ แล้วก็คิดว่าเราควรจะทำอะไรในชีวิตของเราก็จงรีบกระทำงานนั้นๆ เสีย พุทธบริษัทต้องอยู่ด้วยความตื่นตัว ด้วยความว่องไว ด้วยความคิดที่จะก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลาไม่หยุดนิ่ง ไม่เฉื่อยชาไม่ชักช้าแต่ว่าต้องคิดก้าวหน้าในเรื่องทุกเรื่อง เป็นเด็กๆ ก็ต้องก้าวหน้าในการศึกษาเล่าเรียน เป็นเด็กหนุ่มอยู่ในมหาวิทยาลัยก็ต้องรีบเรียนรีบศึกษาให้จบไวๆ จะได้ออกไปทำงานเพื่อส่วนรวมต่อไป ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่เราก็นึกถึงเวลาที่เราจะประกอบกิจการงานว่าเรามีอะไรที่จะต้องทำบ้างจงทำเสียทันที
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อะเทวะ กิจะมาติปัง ความเพียรเพื่อเผากิเลสให้เร่าร้อนต้องทำในวันนี้อย่าผลัดว่าเป็นพรุ่งนี้ มะรืนนี้ เพราะว่านิสัยผลัดเพี้ยนนั้นไม่ใช่นิสัยของพุทธบริษัท พุทธบริษัทต้องทำสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าให้สำเร็จด้วยดีให้ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ถ้าเราเป็นผู้ขยันทำงานอย่างนั้นก็จะมีชีวิตเพลิดเพลิน สนุกสนานในการปฏิบัติงานแต่ถ้าเราไม่ทำงานก็จะมีชีวิตหดหู่เหี่ยวแห้งแก่เร็วตายเร็ว แต่ถ้าทำงานอยู่ก็จะรู้สึกสนุกในงาน การทำงานก็คือการปฏิบัติธรรมนั้นเอง ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาก็คือใช้ชีวิตให้เป็นงานเป็นการ ให้เป็นประโยชน์แก่ตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นเท่าที่เราสามารถจะกระทำได้ ชีวิตของเราก็จะมีค่ามีราคา
มีเดือนหนึ่งผ่านพ่นไป เดือนพฤศจิกาผ่านพ้นไปแล้ว ๕ วัน วันนี้วันที่ ๖ เรียกว่าเป็นวันปัจจุบัน เวลาผ่านไปทุกวินาทีไม่มีหยุดนิ่งเลยและก็ไม่มีช้าไม่มีเร็วไปตามเรื่องตามระเบียบของเวลา แต่ความรู้สึกช้ารู้สึกเร็วนั้นมันอยู่ที่ใจของเรา ถ้าว่าเราไปเร่งเวลาก็รู้สึกว่ามันช้า คล้ายๆ กับว่าเราไปคอยใคร ณ ที่ใดที่หนึ่งถ้าเขาไม่มาก็รู้สึกว่าเวลามันช้า หรือว่าคนมีความทุกข์ว่าไปถูกขังอยู่ในกรของโรงพัก ติดคุกติดตะรางนี่เวลามันช้า แต่ถ้าทำงานแล้วเวลามันเร็ว คนที่ทำงานทุกวันๆ จะรู้สึกว่าเวลามันผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน ทำอะไรได้ไม่กี่อย่างก็หมดไปเดือนหนึ่งแล้ว หมดไปสัปดาห์หนึ่งแล้วแต่มันก็เพลิดเพลินอยู่กับงาน เขาจึงกล่าวเปรียบไว้ว่าเวลาในนรกมันช้าเหลือเกินแต่เวลาบนสวรรค์นั้นมันรวดเร็ว มันผิดกันอย่างนี้ ความทุกข์ก็ทำให้เวลาเริ่มช้า ความสนุกใจ ความสุข ความเพลิดเพลินก็ทำให้เวลาผ่านไปสบาย เราพุทธบริษัทจึงควรคิดถึงข้อนี้ไว้ด้วย
และนี้วันนี้ก็เป็นวันที่ญาติโยมมาประชุมกันด้วยเรื่องงานพิเศษก็เจองานทอดกฐินตามธรรมเนียมของพระพุทธศาสนา การเราทำมาทุกปีทำกันมาตั้งแต่โน่นตั้งแต่ยุคสุโขทัยเป็นราชธานี พระเจ้าแผ่นดินของประเทศไทยนั้นรู้ว่างานกฐินนั้นเป็นงานสำคัญได้เสด็จไปด้วยพระองค์เองตามพระอารามหลวงหลายวัด แล้วส่วนที่เหลือก็พระราชทานให้ข้าราชการในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ นำไปถวายแทนองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป ประชาชนชาวบ้านก็ช่วยกันจัดช่วยกันทำเป็นประจำปีกันตลอดมา นับว่าเป็นการกระทำที่แพร่หลาย จุดมุ่งหมายต้องการถวายผ้าพระกฐินก็เพื่อจะถวายผ้าแก่พระนั่นแหละเป็นเรื่องสำคัญ
แรกเริ่มเดิมทีนั้นอยู่ที่เรื่องผ้าเพราะว่าพระในสมัยยุคพุทธกาลไม่มีการสร้างอะไรเกี่ยวเสนาสนะหรืออะไรทั้งนั้น พระท่านอยู่แบบป่าอยู่กระต๊อบเล็กๆ ได้ชั่วคราวอยู่เพียง ๔ เดือน ฤดูฝนหลังจากนั้นแล้วท่านก็อยู่กลางแจ้งนอนใต้ต้นไม้บนดินบนทราย จาริกไปเที่ยวเทศนาประชาชนต่อไป ได้หยุดอยู่จำพรรษา ๓ เดือน จีวรที่ใช้มันเปียกบ่อยๆ เปียกบ่อยแล้วก็แห้งยากเพราะว่าผ้าสมัยก่อนไม่เหมือนสมัยนี้เป็นผ้าหนาทำด้วยฝ้ายหนักด้วยเหมือนกับผ้าฝ้ายที่เห็นทั่วๆ ไปมันหนามันหนัก เอามาห่มได้ เวลาเปียกแล้วไม่แห้ง หน้าฝนก็ไม่ค่อยมีแดดเสียด้วย ตอนนั้นจึงขึ้นรา ชื่น แล้วก็ชำรุดทรุดโทรมไป
พอพ้นหน้าฝนพระก็จะจาริกเดินทางต่อไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่แจกธรรมะแก่ประชาชน พระพุทธเจ้าจึงทิ้งท้ายหนาฝนไว้เดือนหนึ่งคือเดือน ๑๒ เป็นเดือนท้ายฤดูฝน ความจริงมันยังเป็นฤดูฝนเมื่อคืนฝนยังตกอยู่ ตกแล้วทำให้ตกใจนิดหน่อยกลัวจะมาเล่นงานเราในตอนเช้าวันอาทิตย์แต่ว่าไม่เป็นไร ครึ้มๆ อย่างนี้ดีแล้วอย่าเทลงมาก็แล้วกันเพราะว่าคนเขาจะมาทำบุญสุนทานกันจะได้ความสะดวกสบายอย่ามาดักคอกันเลย พูดกันทำความเข้าใจกับฝนแล้วเมื่อคืนนี้แต่ว่าจะพูดกันรู้เรื่องหรือเปล่าก็ไม่ทราบก็หวังว่าคงจะเข้าใจกัน
ทีนี้ก็ฤดูท้ายที่เหลืออยู่นี้พระยังไม่ไหนแต่ว่าอยู่ทำจีวร การทำจีวรของพระในครั้งพุทธกาลไม่สะดวกเหมือนสมัยนี้ สมัยนี้เขามีร้านขายตัดเย็บเรียบร้อยไม่ลำบาก สมัยก่อนนี้พระต้องช่วยกันตัดช่วยกันเย็บ สมมติว่าได้ผ้ามาก็ต้องพิจารณาว่าควรให้แก่ใคร ก็พิจารณาให้แก่พระที่มีจีวรเก่าคร่ำคร่าที่สุดก่อน เมื่อให้แล้วก็ต้องช่วยกันตัดช่วยกันเย็บ ช่วยกันย้อมให้สำเร็จก่อนรุ่งอรุณ เช่นได้วันนี้ก็ทำให้สำเร็จก่อนรุ่งอรุณนี้จึงจะเรียกว่าเป็นกฐินสมบูรณ์แบบ จุดหมายก็เพื่อให้พระได้มีผ้าสำหรับนุ่งห่มจะได้ปฏิบัติกิจศาสนาสะดวกสบาย นี่คือจุดหมายดั้งเดิม
แต่ว่ามาในสมัยนี้เรื่องกฐินกลายเป็นเรื่องปัจจัยไปซะมากกว่า เวลานี้ก็เป็นฤดูกาลที่วัดจะได้ปัจจัยบำรุงวัด แล้วทายกทายิกาประจำวัดนั้นก็มักจะไปหาเจ้าภาพที่มีฐานะพอจะทอดกฐินได้ให้รวมกันไปทอดเป็นพักเป็นพวกเพื่อจะได้ปัจจัยบำรุงวัด ซ่อมแซมเสนาสนะอะไรกันต่อไป มันกลายไป กฐินเวลานี้ก็กลายไปในรูปอย่างนั้น แม้ที่วัดเรานี่ก็เหมือนกัน ความจริงเรื่องผ้านั้นไม่ขัดข้องแล้วมีนุ่งมีห่มสมบูรณ์อยู่ แต่ว่ามีกฐินก็เพื่อต้องการปัจจัยเอาไว้เพื่อบำรุงกิจการการศึกษาพระพุทธศาสนาของเด็กในวันอาทิตย์ เพราะว่าเราสร้างโรงเรียนแล้วมันก็ต้องมีปัจจัยไว้บำรุงรักษา เรื่องสร้างไม่ยากเรื่องบำรุงรักษานี่เรื่องใหญ่เพราะมันต้องรักษากันตลอดไปตราบใดที่มีโรงเรียนอยู่มันก็ต้องรักษาต้องมีปัจจัยสำหรับใช้จ่ายเพื่อการบำรุงส่งเสริมให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปเรียบร้อย แล้วก็ยังต้องช่วยเด็กที่มาเล่ามาเรียนในเรื่องอะไรบ้าง ให้เขาสบายใจภูมิใจ เช่นเด็กบางคนอาจจะเป็นคนขัดข้องในเรื่องปัจจัยแต่ว่าเป็นคนรักการเรียนขยันขันแข็ง คนดีๆ อย่างนี้เราไม่ควรจะปล่อยให้ตกต่ำควรหาทางช่วยเหลือ เราก็หาปัจจัยไว้เป็นทุนสำหรับให้แก่เด็กเหล่านั้นจะได้ไปใช้จ่ายในโรงเรียนมัธยม ถ้าหากว่าเขาเรียนดีก็ส่งต่อไปขั้นมหาวิทยาลัยให้เขาได้เรียนต่อไป เขาก็จะได้รับประโยชน์จากพระศาสนา จากญาติโยมผู้อุปถัมม์ค้ำจุนจิตใจเขาก็จะมีความนึกอยู่ตลอดเวลาว่าเราได้สำเร็จในชีวิตด้วยความเมฆตาของประชาชน ด้วยความสงเคราะห์ของพระศาสนา เขาก็สำนึกถึงพระศาสนาสำนึกถึงธรรมะจะได้เป็นคนปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามหน้าที่ต่อไป การช่วยคนให้เป็นคนดีนั่นแหละเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสังคมในยุคปัจจุบัน เราจะช่วยเขาให้เป็นคนดีได้ด้วยอย่างไรเป็นเรื่องที่จะต้องหาวิธีทำเพื่อให้เขาเป็นคนดีขึ้นด้วยวิธีการต่างๆ การเปิดโรงเรียนขึ้นก็เพื่อมุ่งชุบย้อมชีวิตจิตใจของเด็กให้เป็นผู้อิ่มด้วยธรรมะให้มีธรรมะเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ เมื่อเติบโตขึ้นไปข้างหน้าเขาก็จะได้เป็นคนดีของชาติบ้านเมืองต่อไป
เมืองไทยเรานั้นยังต้องสร้างคนให้ดีอีกมากเพราะเรายังไม่ดีพอ ยังไม่ถึงขนาด ยังมีสิ่งชั่วร้ายปรากฎอยู่บ่อยๆ เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ในวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องบอกให้เราทั้งหลายอย่าเมินเฉยอย่าทำเป็นทองไม่รู้ร้อนหรืออย่านึกว่าธุระไม่ใช่เพราะว่าอะไรที่มันเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์นี่มันต้องกระทบกระเทือนทั่วกันทุกคน เราจะนึกว่าเราไม่เป็นไร เรามีกินมีใช้แล้วนั่นมันเป้นเรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของเรา นึกอย่างนั้นไม่ได้เพราะสิ่งทั้งหลายย่อมกระทบกระเทือนถึงกันหมด ยิ่งในสมัยปัจจุบันนี้แล้วเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกกระทบไปทั่วโลกเลย ไม่ว่าใครจะอยู่ส่วนไหนของโลกถูกกระทบกระเทือนทั้งนั้น เราจะเห็นได้ง่ายๆ เขารบกันแถวตะวันออกกลางโน่น เขาก็ขึ้นราคาน้ำมันสูงเกินไปเดือดร้อนกันไปตามๆ กัน เมืองไทยก็เดือดร้อนเมืองไหนก็เดือดร้อนเพราะเรื่องน้ำมันราคาสูง เพราะเวลานี้น้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญของการปฏิบัติงาน พวกอาหรับเขาก็ขึ้นราคาก็เดือดร้อนกันไปหมดเหตุการณ์มันไกลบ้านเราเหลือเกินแต่ก็เดือดร้อนทั่วถึงกันไม่ว่าเรื่องอะไรกระทบกระเทือนถึงกันหมดเพราะฉะนั้นในสังคมมนุษย์ยังมีคนดีอยู่ความดีนั้นมันก็คลุมมาถึงเราถ้ามีความชั่วความชั่วนั้นก็ร้อนมาถึงเราด้วยเหมือนกัน กลิ่นไม่ดีก็ต้องเข้าจมูกเราภาพไม่ดีก็ต้องเข้าตาเรา เรื่องไม่ดีก็กระทบถึงจิตใจของเรา เราก็ไม่สบายเพราะเห็นสิ่งเหล่านั้น
อันนี้ญาติโยมสังเกตจากตัวเราเอง เราได้เห็นสิ่งที่ไม่น่าดูก็ไม่สบาย ฟังสิ่งที่ไม่น่าฟังก็ไม่สบาย ได้กลิ่นที่ไม่ดีก็ไม่สบาย อะไรที่เป็นที่ไม่ชอบใจพึงใจเราไม่สบายทั้งนั้น แต่เมื่อเราได้รับสิ่งเหล่านั้นเราไม่อาจคิดก็ได้ว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้มันลดน้อยลงไปไม่ให้มันมากมายมากขึ้นเพิ่มขึ้น สิ่งนี้ถ้าเราคิดเราก็ต้องหาทางช่วยเหลือกันว่าจะลดความชั่วร้ายได้อย่างไร เพิ่มพลังแห่งความดีความงามในสังคมมนุษย์ได้อย่างไรเป็นเรื่องที่เราจะต้องช่วยกันคิดพิจารณา ถ้าเรายังคิดไม่ออกแต่ว่ามีบางคนคิดออกและก็ริ่เริ่มกระทำอะไรขึ้นในเรื่องที่จะส่งเสริมความงามความดียกระดับจิตใจของคนให้สูงขึ้นจนกระทั่งพ้นจากความตกต่ำทางจิตใจ เหมือนเราไปเห็นใครบ้านมันท่วมถึงหลังคา เราก็หาเครื่องมือเครื่องไม้ไปช่วยกันหนุนให้บ้านมันพออยู่ได้
การกระทำนั้นมันก็เป็นความดีทำให้คนทุกคนได้รับความสะดวกสบายใจ เราเองก็สบายใจเราให้อะไรแก่ใครเราสบายใจก่อนเขาแล้วผู้รับก็สบายใจตามมาอีกทีหนึ่ง อันนี้โยมสังเกตตัวโยมเองทุกท่านก็แล้วกันว่าทุกครั้งที่เราทำอะไรเป็นประโยชน์แก่พื่อนมนุษย์นั้นเรารู้สึกอย่างไร เราจะรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ อิ่มใจไปนานๆ ทีเดียว อิ่มตั้งเดือนสองเดือนตั้งปี แล้วมานึกขึ้นทีไรรู้สึกเอิบอาบซึมซาบด้วยความอิ่มอกอิ่มใจ อันนี้แหละเขาเรียกว่าปิติ เกิดจากความคิดดี พูดดี ทำดี จะสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุยษ์ คนเราถ้ามีแต่ความอิ่มใจอายุยืน ผิวพรรณผ่องใส มีกำลังกาย มีกำลังใจ มันสมบูรณ์ สมบูรณ์ด้วยจิตใจสบายนั่นเอง แต่ถ้าเรามีแต่เรื่องขุ่นข้องหมองใจ มองไปทิศไหนก็มีแต่เรื่องร้าย ได้ฟังอะไรก็มีแต่เสียงไม่ดีไม่งาม เราจะรู้สึกหดหู่ เหี่ยวแห้งจิตใจไม่สบาย เมื่อจิตใจไม่สบายร่างกายก็ไม่สบาย กินก็ไม่ได้นอนก็ไม่หลับ อะไรๆ ในร่างกายเรามันเปลี่ยนแปลงไปหมด นี่คือสาเหตุของเรื่อง
เพราะฉะนั้นในทางพระศาสนาท่านให้เราอยู่เพื่อทำให้คนอื่นสบาย มีอะไรที่เราจะช่วยให้คนอื่นสบายใจได้ การช่วยให้คนอื่นสบายนั้นก็คือการช่วยเราไปในตัวมันอาศัยกันอย่างนี้ เพราะฉะนั้นคนบางคนจึงชอบบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นเท่าที่เขาสามารถจะช่วยได้ ที่เบตงมีเถ้าแก่อยู่คนหนึ่งเขาเรียกเถ้าแก่ลิ้ม ลิ้มนี่เป็นแซ่นะแต่ทางใต้เขาไม่เรียก เขาเรียกลิ้มเฉยๆ แกนี่เหมือนกับพระเวสสันดรของเบตง ตื่นเช้ามานั่งหน้าบ้านใครผ่านไปผ่านมาแกก็เรียกมาแจกสตางค์ให้คนลพห้าบาทคนละสิบบาท ถ้าแกไปนั่งกินกาแฟร้านไหนคนที่ไปนั่งอยู่ก่อนสบายใจแล้วเถ้าแก่ลิ้มจะจ่ายหมดกาแฟใครไปกินกี่คนแกก็จ่ายหมด แกอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนทั่วไป แกมีสวนยางมีทรัพย์สมบัติแต่ว่าไม่มีใครรังแกแก หจก. ก็ไม่รังแกแก โจรบูโรก็ไม่รังแกเถ้าแก่คนนี้ แกไม่ถูกบีบคั้น ไม่ถูกทำอันตรายอะไรหรอก อะไรเป็นเครื่องป้องกันไว้ก็น้ำใจที่มีความดีงามเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แกหว่านไว้คนทั้งหลายก็ชมเชยแกว่าเป็นคนดี คนเราถ้าดีแล้วไม่มีใครเบียดเบียนนะ แต่ถ้าชั่วแล้วไม่มีใครเบียดเบียนตัวก็เบียดเบียนตัวเองสร้างความทุกข์ให้กับตัวเองตลอดเวลา เวลานี้ยังอยู่หรือเปล่าก็ไม่ทราบมันหลายปีแล้วแกเป็นคนมีปกติอย่างนั้น ถ้าเราไปคุยกับแกไปดูหน้าตาแกผ่องใสเชียว ใจดีใจงามแล้วไม่เคยพูดเรื่องร้ายของใคร ไม่วิพากษ์วิจารณ์ใครในทางเสียหายแต่พูดเรื่องดีทั้งนั้น ท่านนายอำเภอคนนี้ดี พูดกับคนนี้ก็ดีดีทุกคน ข้าราชการที่อยู่เบตงเถ้าแก่ลิ้มก็ว่าดีทั้งนั้นแต่คนอื่นอาจจะว่าไม่ดีก็ได้ แต่นี่แกว่าดีทั้งนั้น ใครมาก็ว่าดีทั้งนั้นไม่มีเสีย แกมองคนในแง่ดีแล้วก็พูดแต่เรื่องดีของเขา แกก็มีแต่ความสบายใจ เช้าแกต้องออกมานั่งหน้าบ้านทุกวันใครผ่านไปผ่านมาก็เรียกมา ไปไหนไปตลาดเอาตังค์ไปซื้อของแจกให้สามบาทสองบาทแกก็แจกของแกเรื่อยๆ ไป แกให้ยิ่งให้แกก็ยิ่งได้ คือได้ความนิยมชมชอบได้ความสุขใจ วันไหนแกไม่ได้ให้สตางค์ใครดูเหมือนแกจะไม่สบายใจเพราะฉะนั้นต้องเรื่องให้คนนั้นให้คนนี้เรื่อยๆ ไป ใครไปบอกให้ทำอะไรแกก็ทำไม่มีคำว่าปฏิเสธแก่ผู้ที่มาขอร้อง
อันนี้แหละพระพุทธเจ้าเรียกว่า วทันยู วิทัญญู วิสมัชรา คนไม่มีความตระหนี่ใจจิตใจรู้ถ้อยคำของคนอื่นที่มากล่าวขอในเรื่องอะไรๆ แล้วก็ให้ด้วยความเต็มใจ หรือมีคำพูดอีกคำหนึ่งว่าเป็นคนมีฝ่ามือเปียกอยู่ตลอดเวลา ฝ่ามือเปียกด้วยเรื่องอะไรด้วยการหยิบอาหารให้ทานแก่คนนั้นคนนี้และก็ต้องล้างมือบ่อยๆ เขาเรียกว่าผู้มีฝ่ามือเปียกไม่รู้จักแห้งเพราะมีการให้อยู่นั่นเอง แต่ถ้าเราให้ปัจจัยนี่มือมันไม่เปียกแต่ก็เรียกว่าอย่างนั้น เรียกสมมติว่าเป็นคนมีฝ่ามือเปียก เป็นคนรู้จักถ้อยคำที่คนอื่นมาขอให้ช่วยเหลือแล้วก็ให้ด้วยความเต็มใจไม่ปฏิเสธเหมือนกับพระเวสสันดรว่าอย่างนั้น
พระเวสสันดรในเรื่องเวสสันดรชาดกนี่คนสมัยใหม่บางคนนี่ก็ไปวิพากษ์วิจารย์แกเหมือนกันหาว่าพระเวสสันดรนี่ไม่ไหวให้ทานทรัพย์สมบัติ ให้ทานช้าง ให้ทานม้า แม้ลูกก็ให้ทาน เมียก็ให้ทาน แล้วก็บอกว่าคนอะไรอย่างนั้นก็ระดับใจมันไม่ถึง เรียกว่าจิตใจเราในปัจจุบันมันอย่างหนึ่งแต่จิตใจคนในสมัยโน่นมันอีกอย่างหนึ่ง
คนในสมัยนั้นเขาส่งเสริมให้มีการแจกการให้แล้วก็มีเรื่องอะไรต่างๆ ที่เขาสอนไว้มากเพื่อให้แจกให้ให้ ทำไมจึงมีเรื่องประเภทนี้มากในประเทศอินเดียก็พอจะพบสาเหตุได้อยู่เหมือนกัน คือว่าชาวอินเดียโดยมากเป็นคนตระหนี่นั่นเองไม่ค่อยให้มีแต่จะเอาเข้าตลอดเวลา เป็นพวกฝ่ายบวกลบไม่ค่อยเป็นจะบวกเลขอยู่เรื่อย นี่ทางศาสนาหรือว่าทางฤๅษีชีไพรเขาก็มักเขียนเรื่องเพื่อเป็นการสอนคนให้เห็นคุณค่าของการให้
เรื่องแบบเวสสันดรไม่ใช่เรื่องเดียว มีมากมาย เรื่องสั้นบ้าง เรื่องยาวบ้าง เขาเขียนไว้ในรูปอย่างนั้น เพื่อให้เห็นว่าคนที่เป็นคนดีมีคุณธรรมมีจิตใตใหญ่นั้นคือคนที่พอใจในการให้ เรียกว่าเกิดมาเพื่อให้แท้ๆ ทีเดียวตั้งแต่เด็กมาก็ให้แล้วให้เรื่อย ใครขออะไรก็ให้ แล้วก็ตั้งจิตอธิฐานด้วยว่าไม่ว่าใครจะขออะไรเราก็ให้ทั้งนั้น ขอตาก็จะควักให้ ขอเนื้อก็จะตัดให้ แม้ขอดวงใจก็จะนอนให้เขาแหวกควักเอาไปเลย ตั้งใจไว้อย่างนั้น ตั้งใจอย่างสูงคือให้ทั้งสิ่งภายนอกและสิ่งภายในตั้งใจไว้ในรูปอย่างนั้น ผลที่สุดก็ไปให้ทานช้างซึ่งชาวบ้านชาวเมืองเขาถือว่าเป็นช้างมิ่งมงคลประจำบ้านประจำเมืองอาจทำให้มีความสุข แต่ว่าคนที่ถือนิยมวัตถุก็เข้าใจอย่างนั้น แต่พระเวสสันดรแกก็เห็นว่าช้างมีไว้สำหรับนั่งขี่ไปไหนมาไหน นั้นมีคนมาบอกว่าที่บ้านเมืองนั้นมันเดือดร้อน ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลเขาเล่าลือว่าช้างปัจจัยนาคนี่ถ้าไปที่ใหนแล้วฝนจะตกก็อยากได้ขึ้นมาเลยมาขอ พระเวสสัดรแกก็ใจดีพอเขามาขอแกก็บอกว่าเอาไปเลย จูงเอาช้างจูงงวงมาถึงก็มอบให้เลย ไอ้พวกนั้นก็ขึ้นขี่หลังบ้างจูงบ้างห้อมล้อมพากันไป ชาวบ้านชาวเมืองก็มาเห็น นี่มันช้างของพระเจ้าแผ่นดินมาลักช้างพระเวสสันดรมาแล้ว เข้าไปต่อว่าต่อขานบอกว่าไม่ได้ลักเราไปขอมานะท่านให้นะ พวกนั้นก็โพนทะนากันไปเป็นข่าวดังออกไปก็โกรธกันทั้งบ้านทั้งเมืองกลายเป็นมติมหาชนขึ้นมา แล้วก็มีเดินขบวน สมัยก่อนก็มีเดินขบวนเหมือนกัน เดินขบวนไปหาพระเจ้ากรุงสญชัย หาพระเจ้ากรุงสญชัยก็บอกว่าพระลูกเจ้าของพระองค์ทำไม่ถูกช้างนี่เป็นสมบัติของบ้านเมืองไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของพระเวสสันดรและก็เป็นช้างมิ่งมงคลเมืองเป้นขวัญใจของประชาชน พระเจ้าลูกนี่ทำผิดเอาไปให้แก่พวกพรามหณ์ที่มาจากเมืองกะริงกะราชไปเสียแล้วเป็นการไม่สมควร ขอให้พระองค์ขับพระเวสสันดรออกจากบ้านจากเมือง เราจะได้เห็นความยุติธรรมในน้ำใจของพระเจ้ากรุงสญชัยท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดินเป็นพระมหากษัตริย์ถ้าว่าท่านจะลำเอียงเข้าข้างลูกมันเสียธรรมะ เสียความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพราะว่าประชาชนทั้งบ้านทั้งเมืองเขามีมติว่าพระเวสสันดรนี่ใช้ไม่ได้ แม้ว่าพระองค์จะเห็นว่าลูกยังใช้ได้ยังดีอยู่แต่ว่าประชาชนเขาว่าไม่ดีจะไปเข้าข้างลูกก็ไม่ได้มันเสียหายแก่กิจการบ้านเมือง เรียกว่าเสียทางฝ่ายรัฐศาสตร์มันไม่ได้แล้ว พระองค์ก็ต้องตัดสินพระทัยเรียกลูกมาพูดจากันก่อนบอกว่า
“ลูกทำไม่ถูกเรื่องนี้นะประชาชนเขามาทำการประท้วงต่อพ่อ พ่อแม้ว่าจะรักลูกมากเท่าไรแต่ว่าต้องรักประชาชนมากกว่าลูก รักบ้านรักเมืองมากกว่าลูก พ่อจะลำเอียงกับลูกให้ประชาชนเขาเข้าใจผิดไม่ได้เพราะฉะนั้นพ่อจะต้องให้ลูกออกจากเมืองไปเสีย” สั่งให้ออกไป พระเวสสันดรก็เป็นลูกที่ดีของพ่อมีความเชื่อฟังพ่อสั่งทุกประการไม่คัดค้านอะไรทั้งนั้น บอกว่า
“เมื่อความประสงค์เป็นเช่นนั้นก็ไม่ขัดข้อง ลูกจะเดินทางไปอยู่ป่าเขาวงกตไปคนเดียวนะความจริงนางมัทรี ชาลี กัณหาไม่ติดอยู่ในข่ายที่จะต้องไป” แต่เมื่อพระเวสสันดรมาเล่าในนางมัทรีฟัง นางมัทรีบอกว่า
“หม่อมฉันต้องไปด้วย”
พระเวสสันดรบอกว่า
“อย่าไปเลยในป่านี่มันลำบากต้องไปอยู่กินผลไม้ อาหารก็ไม่มีไม่สมบูรณ์เหมือนอยู่ในวัง”
แต่นางมัทรีบอกว่า
“เป็นภรรยาของสามีเมื่อสามีเป็นสุขอยู่ในวังก็สุขด้วยแต่พอสามีเป็นทุกข์ไปอยู่ในป่าแล้วไม่ไปนั่งลอยนวลอยู่ในวังแต่งหน้าแต่งตาอยู่ในวังประชาชนก็จะแย้มจะสวนเขาจะนินทาไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ไหน จะเดินก็ลำบากจะนั่งก็ลำบาก มันลำบากทั้งนั้นแหละที่คนเขาพูด จะเดินก้มก็ไม่สบายจะเดินเงยก็ไม่สบาย จะพูดอะไรก็ไม่สบาย จะไม่พูดก็ไม่สบาย มันตรมตรอมใจเพราะฉัตรกั้นแก้วกั้นเกตุงามหน้างามเนตรทุกเวลา ถ้าไม่มีฉัตรกั้นแก้วกั้นเกตุแล้วผู้หญิงจะอยู่ได้อย่างไร”
เขาสอนผู้หญิงนะตอนนี้ สอนให้รู้ว่าภรรยาจะต้องติดสอยห้อยตามสามี เมื่อสามีไปไหนภรรยาก็ต้องไปด้วยไม่ใช่ว่าให้ไปตามลำพังปล่อยไปตามเรื่องแล้วสามีไปอยู่คนเดียวเกิดเหงาขึ้นมาแล้วก็เลยไปหาใครมาอยู่แทนภรรยาในกาลข้างหลังก็ยุ่งใจเดือดร้อนแล้ว มันเป็นความผิดของเราเองไม่ใช่ความผิดของพ่อบ้านที่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นแล้วเราทำไมไม่ไปเฝ้ามันก็เสียหายคนโบราณเขาก็สอนไว้ดีแล้ว เพราะนั้นนางมัทรีก็เลยบอกว่า
“ถึงอย่างไรก็ต้องไปลูกก็ต้องพาไปด้วยจะได้ช่วยเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจะได้อมยาพ่นฝนยาทาตามประสาจน หากจะทิ้งไว้ในเมืองก็ดูกระไรอยู่” ก็เลยไปทูนลาพระเจ้ากรุงสญ-ชัย พระเจ้ากรุงสญชัยก็บอกว่า
“เธอไม่ต้องไปหรอกเพราะเธอไม่ได้ทำความผิดคิดร้ายอะไร” และนางก็บอกว่า
“ไม่ได้หม่อมฉันนี่เป็นภรรยาต้องจงรักภักดีเหมือนนางสีดาที่มีความจงรักภักดีต่อพระรามผู้เป็นสามี”
แสดงว่าเรื่องนี้เกิดหลังเรื่องพระราม เรื่องพระเวสสันดรนี่เป็นนิทานที่เกิดทีหลัง ก็ต้องยอมให้ไป ชาลี กัณหา พระเจ้าปู่ก็บอกว่า
“อย่าไปเลยหลานเอ๊ยอยู่กับปู่เถอะ” แต่ชาลี กัณหาก็ไม่ยอมต้องไป แล้วไปลาพระเจ้าย่า พระเจ้าย่าก็บ่นไปต่อว่าพระเจ้ากรุงสญชัยหาว่าใจไม้ใส้ระกำกับลูกต้องไปอยู่ป่า อยู่ดง พระเจ้ากรุงสญชัยจะทำยังไงนั่งเฉย อุเบกขาพูดมากก็ไม่ได้กับพระนางผุสดีผู้เป็นอัครมเหสีนี่พูดยาก นั่งเฉยหันหลังให้ซะเลย นางก็บ่นๆ แล้วถอยกลับไปปราสาทเท่านั้นเอง
พระเวสสันดร นาง มัชทรี ชาลี กันหาก็ต้องไปนั่งรถม้าไปคนมาขอม้าเหลือแต่รถมันจะไปได้ยังไง ก็พอดีอีกพวกหนึ่งมาขอรถด้วยก็ให้รถไปเสียด้วย แล้วก็เดินสิทีนี้ พระเวสสันดรอุ้มชาลี นางมัทรีอุ้มกัณหาเดินกันไปในป่า อันนี้ต้องไปด้วยความยากลำบากทำให้เห็นชีวิตของผู้ที่ประพฤติธรรมไม่ย่นย่อท้อถอยในการต่อสู้กับความลำบากยากจนเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของพ่อผู้เป็นพระมหากษัตริย์ไม่ขัดขืนต้องไปตามคำสั่ง ต้องไปจนถึงเมืองเชตุดร กษัตริย์เมืองนั้นก็ออกมาตอนรับขับสู้อย่างดีเพราะว่าเป็นไมตรีกันและก็บอกว่า
“พระองค์จะไปป่าทำไมอยู่ที่นี่ก็ได้ จะให้อยู่สะดวกสบายคล้ายกับว่าลี้ภัยการเมือง มาอยู่สบายไม่เดือดร้อนอะไร” พระเวสสันดรท่านว่ายังไง
“ไม่ได้มันกระทบกระเทือนทางการเมือง ถ้าพูดสมัยนี้กระทบกระเทือนทางการเมืองประชาชนกรุงสีพีก็จะสงสัยพวกท่านหาว่ารับข้าพเจ้าไว้แล้วเขาก็อาจว่าพวกท่านนี้สนับสนุนจะให้กำลังส่งเสริมพระเวสสันดรมีกำลังมากแล้วจะยกกองทัพไปตีกรุงสีพียึดบ้านยึดเมืองต่อไป มันจะกระทบกระเทือนกันทางการบ้านการเมือง ขอขอบใจไมตรีจิตที่ท่านทั้งหลายมีความเอื้อเฟื้อแต่ว่าเรารับไม่ได้ เราจะต้องเดินทางต่อไปถ้าหากว่าท่านจะอนุเคราะห์ช่วยหาคนนำทางให้ซักคนก็แล้วกัน”
กษัตริย์เมืองเชตุดรก็จัดพราณเชตุบุตรให้นำทางไปแล้วก็บอกว่าไปแล้วไม่ต้องกลับให้เฝ้าต้นทางอย่าให้ใครไปรบกวนขออะไรกับพระเวสสันดรอีกต่อไปเพราะไม่มีอะไรจะขอแล้ว แต่ว่าไอ้พวกขอมันเยอะมันรู้ว่าใครใจดีมันก็มารุมมาขอ ทีนี้เฝ้าต้นทางไม่ให้มีให้เข้าไปให้พระเวสสันดรได้บำเพ็ญศีลธรรมอยู่ในป่าสะดวกสบาย ท่านก็ไปจนกระทั่งถึงเขาวงกตไปสร้างอาศมอยู่แต่ว่าในหนังสือบอกว่าเทวดามาสร้างไว้ให้แล้ว ก็หมายความว่ามีคนไปสร้างไว้ล่วงหน้าให้พระเวสสันดรไปถึงก็อยู่ได้เลย เทวดาก็ไม่ใช่ใครที่ไหนคือกษัตริย์เชตุดรที่ส่งคนมาเตรียมไว้ สร้างกระท่อมไว้ให้พักพาอาศัยแต่คนสมัยก่อนมันต้องพูดถึงเทวดาหน่อยเพราะว่าพูดถึงคนไม่ค่อยขลัง ถ้าเทวดามันใหญ่ขึ้นมาทันทีเพราะนั้นเขาถึงว่าเทวดาเตรียมไว้ให้เรียบร้อย
เมื่อไปถึงพระเวสสันดรก็อยู่แห่งหนึ่ง นางมัทรีกับลูกก็อยู่อีกแห่งหนึ่ง มีกติกาสัญญากันไว้ว่าเวลาพระอาทิตย์ตกดินแล้วห้ามนางมัทรีเข้ามาในเขตพระเวสสันดร ห้ามเข้าแต่ว่าให้อยู่อย่างผู้ทรงพรตพรมห์จรรย์ นางมัทรีนั้นทำหน้าที่แม่บ้านที่ดีที่สุดตื่นแต่เช้าเข้าป่ามีไม้คานหาบตะกร้าไปมีไม้สอยไปเที่ยวสอยผลหมากรากไม้ที่กินได้ไม่เป็นพิษไม่เป็นภัย เอาเลี้ยงพระเวสสันดรและลูกเสวยผลไม้เป็นอาหาร เป็นพวกอยู่ในป่ามีชีวิตอยู่ในรูปอย่างนั้น
จนกระทั่งว่ามีเรื่องร้อนใจอีกแล้วพรามหณ์ชูชกแกเป็นคนที่ชอบขอรูปร่างก็พิกลพิการ แข้งคดขางอตะปุ่มตะป่ำ หน้าตาก็ไม่ดี เรียกว่าลักษณะสวยในตัวชูชกนี่ไม่มีชักอย่างเดียว เรียกว่ามีแต่เหมือนงอศอกงอสิงคล้ายกับข้าวเย็นเหนือข้าวเย็นใต้เอามาต้มแก้โรคอะไรนั่นแหละ มันหงิกงอไปทั้งตัวแต่ว่าแกเป็นคนชอบขอ ขอจนรวย มีเงินมีทองถ้าจะรักษาไว้เองก็กลัวขโมยเลยเอาไปฝากไว้กับเพื่อนครอบครัวหนึ่ง บอกว่า
“ฉันมันต้องเดินทางไปโน่นมานี่งานฉันมาก” งานขอทั้งนั้นไม่มีงานอะไร
“จะเก็บเงินเก็บทองไว้ที่ตัวกลัวใครจะรู้แล้วมาทุบเลยฝากไว้วันหลังฉันค่อยมาเอา” แล้วชูชกก็ไปหายไปสองสามปีไม่กลับมา สองผัวเมียก็ว่าเรานี่มันเรื่องอะไรที่มาเป็นคนเฝ้าทรัพย์อยู่ ในหนองอย่างนี้มันไม่ได้ประโยชน์อะไร ชูชกคงไปตายที่ไหนแล้วสามปีไม่กลับมา เงินทองข้าวของก็เอามาจับจ่ายกินซะเถอะเอามาใช้หันเถอะ หาเรื่องแล้วยุ่งแล้ว แกก็กินจ่ายไปจนหมด พอปีที่สี่ชูชกมา มาถึงก็บอก
“ฉันจะมาเอาทองคืน” ก็บอกให้นั่งก่อนค่อยพูดค่อยจากัน เรือล่มในหนองทองมันไม่ไปไหนเสียหรอกอย่าไปวู่วามอะไร ชูชกว่า
“ไม่ได้จะเอาคืนเดี๋ยวนี้” สองผัวเมียก็เดือดร้อนก็ขอตัวไปประชุมปรึกษาหารือกันในห้อง สามีถามว่า
“จะเอายังไง” ภรรยาบอกเรายังมีของชดเชยให้ได้ เรามีลูกสาวชื่ออมิตดารูปร่างก็พอไปวัดไปวาได้และก็โตเป็นสาวแล้วและยังไม่มีครอบครัว ชูชกแกก็แก่แล้วเรายกลูกให้ จากนั้นก็ออกมาบอก
“เรื่องเงินๆทองๆ ของท่านฉันมันจำเป็นเลยใช้ไปซะหมดแล้ว” ชูกชูเลยโกรธบอกว่า
“เอาของมาฝากไว้เอาไปใช้อย่างนี้ไม่ถูก” แม่บอกว่า
“ไม่เป็นไรท่านอย่าวู่วามเลย เราจะมีของชดเชยให้” ก็เลยเรียกลูกสาวออกมา แล้วบอกว่า
“นี่คือของชดเชย ชูชกก็แก่แล้วและยังไม่เคยแต่งงานพอเห็นนางอมิตดาก็เลยลืมเรื่องเงินเรื่องทอง” อย่างนั้นก็พอใช้ได้ก็เลยพานางอมิตดากลับไปอยู่บ้าน นางอมิตดานี่ก็เป็นหญิงดีที่สุดในเรื่องเลย แม้ชูชกจะแก่ชรามีสามีแก่ไม่รังเกียจปฏิบัติทุกอย่างเรียบร้อยการบ้านการเรือนน้ำก็ไปตักมาจากท่าใส่โอ่งให้ชูชกอาบ หุงข้าวต้มแกงเรียบร้อย ทีนี้มันเกิดเรื่องไอ้พวกพรามหณ์อื่นที่ภรรยา ภรรยาไม่เคยเอาเรื่องชอบเที่ยวชอบสนุกสนาน คงจะไปเล่นไพ่บ้างสมัยนั้นแต่คงจะยังไม่มีไพ่ไปเที่ยวไม่ค่อยอยู่บ้านไม่หุงหาอาหารไม่ต้มไม่แกง คั้นไปเห้นชูชกแก่ได้เมียสาว เมียสาวปฏิบัติดีก็ริษยาและก็มองว่าเมียของตนไม่ได้เรื่องเลยตบตีภรรยากันทุกคน ฉาวไปทั้งบ้านแม่บ้านทั้งหลายถูกตีก็ยุ่ง ก็ไปยืนคิดกันที่ท่าน้ำหาสาเหตุที่ถูกตีก็เป็นเพราะว่าเม่คนนั้นที่ได้ผัวแก่ ปฏิบัติผัวดีจนผัวเราอิจฉาแล้วหาว่าเราไม่เอางานเอาการบ้านเรือนไม่เรียบร้อยเราจึงถูกตีเลยอยากแก้แค้น ไปแก้นอกเหตุไม่แก้ที่ตัว เรียกว่าไม่รู้อะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล เหตุมันอยู่ที่ตัวบกพร่องไม่ได้มองแต่ไปมองว่าเหตุมันอยู่ที่นางอมิตดาไปแก้ภายนอกมันก็ยุ่ง เลยจองอยู่ที่ท่าน้ำพอนางอมิตดามาตักน้ำก็เข้าไปตัดพ้อต่อว่า นางอมิตดาก็เสียใจร้องให้กลับไปหาชูชก ชูชกเห็นเลยรีบลงมารับหม้อน้ำและถามว่า
“ใครทำให้เธอเดือดร้อนเศร้าหมอง” นางก็บอกว่า
“พวกผู้หญิงเหล่านั้นทำดิฉันเดือดร้อนต่อไปดิฉันจะไม่กล้าลงไปที่ท่าน้ำอีกต่อไปแล้ว จะไม่ตักน้ำ จะไม่ทำอะไร” ชูชกว่า
“ไม่เป็นไรเธอไม่ทำฉันทำก็ได้” แต่นางอมิตดาบอกว่า
“มันไม่ถูกนะหากสามีทำงานแทนภรรยานี่มันไม่ถูก ภรรยาต้องทำงานให้แก่สามีปฏิบัติสามี ท่านจะทำอย่างนั้นไม่ถูกต้องมันผิดประเพณีความนิยมของสังคมในสมัยนั้น ฉันทำไม่ได้มีทางเดียวที่จะทำได้คือว่าท่านต้องไปหาคนใช้มาให้ฉันซักสองคน” ชูชกตบอกและบอกว่า
“แก่ป่านนี้จะไปหาที่ไหนใครเขาจะมาเป็นคนใช้เรา” นางอมิตดาบอกว่า
“หาได้ ได้ข่าวพระเวสสันดรท่านใจดี ท่านมีลูกสองคนชื่อชาลี กัณหาถ้าท่านไปขอท่านก็คงจะให้” ชูชกก็เลยไป นางอมิตดาก็จัดเตรียมอาหารให้อะไรกินก่อนจัดไว้ข้างบนอะไรกินทีหลังก็เอาไว้ข้างล่างเรียบร้อยใส่ภาชนะให้ ก่อนไปก็เดินเวียนเรือนสามรอบนึกในใจว่าไปครั้งนี้ครั้งนี้คงไม่ได้กลับแล้วมีรางบอกเหตุอยู่และก็สั่งภรรยาบอกว่า
“กลางค่ำกลางคืนอย่าเปิดประตู ห้ามลงมาข้างล่างเป็นอันขาดให้อยู่ข้างบนบ้านใครมาเรียกก็ทำเป็นไม่ได้ยินเสีย อย่าไปไหนฉันก็จะกลับมาอีก” ไปด้วยความอาลัยอาวรณ์ แล้วก็ออกไปเรื่อยจนกระทั่งไปเจอนายพราณเชตะบุตรเข้า นายพราณเชตะบุตรเลี้ยงหมาไว้เยอะ พอชูชกไปถึงหมาก็ไล่กัด พอปีนขึ้นต้นไม้นายพราณก็จะยิงธนูไปที่ ชูชก ชูชกก็ขอร้องไม่ให้ยิงและบอกว่า
“ฉันเป็นคนเชิญสารตราของพระเจ้าแผ่นดิน” แต่ความจริงไม่ใช่แต่เป็นอาหารที่เอาไปกินกลางทาง แต่ว่าชูชกเป็นคนเจ้าเล่ห์และขี้โกง เรียกว่าเป็นพวกฉลาดแกมโกง เขาเรียกเป็นพวกเฉโก แล้วชูเกลือว่า
“นี้เป็นสารตราพระราชสีห์จะไปหาพระเวสสันดรท่านทำร้ายเราท่านจะต้องถูกลงโทษติดคุกประหารชีวิต” เชตะบุตรอยู่แต่ป่าไม่รู้เรื่องจึงก้มลงกราบสารตราปลอม ชูชกลงมาแล้วเชตะบุตรก็พาไปเลี้ยงมีเนื้อย่างมีอะไรก็เลี้ยงให้กินสบายเสร็จแล้วก็นำทางพาไปส่ง ป่าเล็กมหาพนป่าใหญ่พรรณาเรื่องป่าไปว่าสวยงามมากมีหินย้อยมีน้ำตกมีผลไม้ มีว่านประเภทต่างๆ มากมายก่ายกองเป็นสำนวนที่ไพเราะ
สมัยก่อนเด็กนักเรียนชั้นมอเจ็ดมอแปดนี้ต้องอ่านพระเวสสันดรนะเขาให้อ่านนั้น หนึ่งให้รู้เรื่องพระเวสสันดร สองให้ภาษาไทยเก่ง เพราะในนั้นมีศัพท์ที่เรียกว่าร่ายยาวและสำนวนไพเราะ เดี๋ยวนี้ไม่ได้ให้อ่านภาษาไทยอ่อนเพราะฉะนั้นมหาลัยต่างๆ มาตกลงกันใหม่ใครจะเข้าเรียนมหาลัยต้องสอบภาษาไทยด้วยเพราะเด็กเดี๋ยวนี้ภาษาไทยอ่อนมากได้ปริญญาเขียนหนังสือไม่เป็นตัวเลย พอเขียนก็สะกดไม่ถูกเพราะว่าหลักภาษาอ่อน คนสมัยก่อนเขาไม่อ่อนเพราะเขาเรียนพระเวสสันดรชาดก เรียนหนังสือที่มีสาระ ภาษาก็ดีเข้าใจในเรื่องภาษา เดี๋ยวนี้ก็เลยคิดใหม่ต้องสอบเพื่อให้ภาษาดีขึ้น
เรื่องที่เขาเขียนไพเราะเพราะพริ้งป่าใหญ่ป่าน้อย แล้วก็ไปพบฤๅษีอีกองค์หนึ่งชื่ออัจจุตฤๅษี ชูชกก็เข้าไปประจบประแจง ฤๅษีเอ็นดูให้พักให้ผ่อนสบายและก็ชีทางให้ไปเขาวงกต ไปถึงก็เวลาเย็นแล้วก็นอนเสียก่อนเพราะไปตอนเย็นนางมัทรีอยู่เพราะว่านางมัทรีเป็นสตรีในหนังสือว่าอันธรรมชาติสตรีเป็นเกาะแก่งจิตตั้งกระแสกุศล มีมัฉริยะมืดมนเป็นตัวมาร เมื่อสามีทำทานมักจะท้วงติงเขาว่าอย่างนั้น แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นนี่โยมหญิงทั้งนั้นที่มาบริจาค โยมผู้ชายไม่กี่คนนะ โยมซะอีกที่จะเป็นเกาะแก่งจิตตั้งกระแสกุศล มีมัฉริยะมืดมนเป็นตัวมาร เวลาภรรยาทำทานมักจะท้วงติงเป็นอย่างนั้นนะโยมนะ ความจริงมันเป็นอย่างนั้นซะแล้วเวลานี้เพราะว่าภรรยาไม่ค่อยมีความตระหนี่ไปบริจาคทานดี แต่สมัยนั้นก็ว่า ชูชกแกว่าอันนี้ไม่ใช่ใครว่าชูชกแกว่าธรรมดาสตรีเป็นเกาะแก่งจิตตั้งกระแสกุศล เลยเอาผ้าขึ้นไปคาดนอนบนต้นไม้นอนจนสว่าง
พอสว่างนางมัทรีก็เข้าป่า ตื่นเข้าไปตอนนั้นตอนที่นางมัทรีไปป่าก็เข้าไปหาพระเวสสันดร พอไปถึงแกไม่ขอเฉยๆ หรอกนี่ขอเรียกว่าต้องใช้ศิลปะในการพูดชูชกก็ชักแม่น้ำทั้งห้าเข้ามาล้อมแม่น้ำทั้งห้าคือแม่น้ำอจิรวดี คงคา สรภู มหิ ยนุมา ว่าแม่น้ำทั้งห้านี่มันเป็นแม่น้ำเล็กและก็ไหลมาเป็นแม่น้ำสินธุแม่น้ำคงคา เมื่อน้ำในห้วยเต็มก็ไหลลงมาสู่แม่น้ำ แม่น้ำเต็ม เต็มแล้วก็ไหลลงมหาสมุทรแต่ก่อนจะถึงมหาสมุทรก็ท่วมกรุงเทพฯ แย่กันไปตามๆ กัน มันท่วมผู้ว่าก็ต้องวิ่งอุดน้ำให้แย่ไปเลย มันท่วมน้ำมันไหลมากเกินไปก็ท่วม ญาติโยมอย่าไปบ่นตกอกตกใจน้ำ ธรรมดาเราอย่าไปบ่นกับใครอันนี้ก็ ชูชกก็ไปพูดเปรียบเทียบว่า
“น้ำเป็นฉันใดเหมือนกับน้ำพระทัยของพระเวสสันดรที่เต็มเปี่ยมเต็มอยู่ตลอดเวลาใคจะตักจะตวงจะอาบจะกินน้ำก็ไม่สิ้นลงไป” ยอน้ำใจพระเวสสันดร เรียกว่ายอก่อน อันนี้เป็นหลักธรรมดาคนเราจะไปหาใครมันต้องยอเขาก่อนแต่ว่ายอให้สมควรนะถ้ายอเกินเขารู้เท่า ไอ้นี้ลูกไม้อีกแล้ว ไม่ได้ เราต้องใช้คำยอแต่พอดีอย่าให้มันเกินไป ยกย่อง คนเรามันชอบยอทั้งนั้นแหละ เขาจึงบอกว่าลูกยอนี่ใครๆ ก็ชอบทั้งนั้นสอยๆ ไปเถอะมันก็คงได้ผลมั่งแหละแต่คำตินี่ไม่มีใครชอบแหละ
แกก็ยอพระเวสสันดร และที่สุดแกก็บอกว่า
“ข้าพระองค์อุตส่าห์เดินถ่อกายอันลำบากมาก็เพื่อประสงค์จะขอพ่อชาลี แม่กัณหาเพื่อเอาไปเป็นคนใช้” พระเวสสันดรก็บอก
“ไม่เป็นไรไม่ขัดข้องเราจะให้ด้วยความเต็มใจเมื่อท่านต้องการเราก็จะให้แต่ว่าเดี๋ยวก่อนเวลานี้นางมัทรีไปป่า ขอให้นางมัทรีกลับมาก่อนแล้วก็นางจะได้ดีอกดีใจจะได้ร่วมกันบริจาค” ชูชกบอก
“ไม่ได้ถ้าปล่อยให้นางมาชักช้าเวลาเพราะนั้นก็เอาเลย ขอเดี๋ยวนี้” พระเวสสันดรก็มองหาลูกที่หายไป ชาลี กัณหาเห็นตาชูชกรูปร่างอัปลักษณ์ก็หนีแล้ว หนีไปอยู่ในสระบัวเอาใบบัวปิดหัวไว้ไม่ให้เห็น พระเวสสันดรก็รู้ว่าลูกอยู่ในสระ ก็ไปพูดพรรณาให้ลูกขึ้นจากสระน้ำ ในนี้เขาเรียกว่ากัณฑ์กุมารคือเกี่ยวกับกุมารกุมาลีทั้งสอง แล้วก็เปรียบเทียบว่า
“พระองค์เหมือนกับว่าเป็นพ่อค้าเรือสำเภาเตรียมของลงเรือเรียบร้อยจะออกไปสู่ฝั่งคืออมันตนิพพานลูกก็จะได้ช่วยเหลือให้เรือออกไปได้สะดวกสบายเพราะฉะนั้นมาช่วยพ่อเพื่อให้ได้ไปถึงจุดหมายคือความดับทุกข์เถอะลูก ขึ้นมาเถอะ” ลูกได้ฟังคำพ่อก็สงสารพ่อเลยขึ้นมากราบแทบเท้าให้พระเจ้าพ่อยกให้ตาชูชก ชูชกพอได้แล้วก็เอาเชือกผูกมือเลย พอผูกมือแล้วไม่ได้จะเอาไปเป็นคนใช้ต้องผูกกับตัวไว้เลยเอาหวายเฆี่ยน พระเวสสันดรก็คิดว่าคนนี้หยาบคายจริงๆ เฆี่ยนลูกต่อหน้าเราแต่มาข่มพระทัยได้ว่าเราให้เขาแล้ว เขาเป็นบ่าวเป็นคนใช้กันไม่ใช่ลูกของเราแล้วก็ต้องข่มไว้ด้วยพระขันติไม่แสดงอาการอะไรให้ปรากฎ ชูชกก็พาไปจนค่ำมืดเข้าไปในป่า อันนี้ก็ต้องพักชูชกแกก็ขึ้นไปนอนข้างบน เอากุมารทั้งสอง แกก็นอนกรนอยู่บนต้นไม้แต่ว่าสองกุมารก็ไม่เดือดร้อนอะไร มีคนมาช่วยเหลือก็เทวดาอีกนั่นแหละ เทวดาก็ช่วยให้สบาย แล้วก็พาเดินต่อไปถึงทางสองแพร่งเข้าแยกหนึ่งจะไปเมืองชูชกแยกหนึ่งจะไปเมืองสีพี ชาลีเป็นผู้ฉลาดแหลมคม ชูชกแกงงจะไปทางไหนชาลีบอกทางนี้โดยชี้ไปทางที่จะไปเมืองพระเจ้าปู่ ชูชกก็หลงกลเด็กก็เดินไปออกเมืองสีพีเมืองพระเจ้าปู่ ประชาชนได้เห็นตาแก่จูงเด็กมาคิดว่าไปลักลูกเขามา ลักลูกพระเวสสันดรมาเลยจะจับ ชูชกบอก
“ไม่ใช่ฉันไม่ได้ลักฉันไปขอมาพระเวสสันดรให้” ประชาชนบอกว่า
“พูดไม่จริงพ่อที่ไหนจะให้ลูกเป็นทานต้องพาไปหาพระเจ้าแผ่นดิน” ก็พาไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน ชาลี กัณหาก็ไปนั่งพับเพียบเรียบร้อยอยู่ชั้นล่างไม่ขึ้นไปนั่งเฉย พ่อก็ถามเรื่องราวชูชกแล้วก็บอกว่า
“หลานทั้งสองทำไมนั่งอยู่อย่างนั้นไม่ขึ้นมานั่งใกล้ปู่” ชาลีก็บอกว่า
“เวลานี้หลานไม่ใช่หลานปู่แล้วแต่เป็นคนใช้เป็นทาสของตาแก่ชูชกคนนี้ หลานจะต้องเคารพนายจะขึ้นไปนั่งใกล้องค์พระมหากษัตริย์ย่อมเป็นการไม่สมควร” พระเจ้าปู่ได้ฟังเช่นนั้นก็เสียพระทัย คิดว่าหลานน้อยยังพูดกระแทกแดกดันปู่เลย ทำให้ปู่ไม่สบายใจ ก็เลยบอกว่าไม่เป็นเราจะขอถ่ายชีวิตของหลานไว้ พระเวสสันดรท่าตั้งค่าไว้แล้ว ตั้งค่าหลานทั้งสองไว้ด้วยราคาแพงทีเดียวเผื่อว่าใครจะถ่ายต้องเป็นคนมั่งมีถึงจะถ่ายได้เมื่อคนจนถ่ายจากชูชกไม่ได้เพราะตั้งค่าไว้ กัณหานี่แพงกว่าชาลี ผู้หญิงนี่ตั้งค่าแพงมาก ชูชกก็บอกว่าถ้าจะเอาเด็กสองคนนี้ก็ต้องถ่าย พระกรุงสญก็ยินดีถ่ายถอน เมื่อถ่ายถอนแล้วก็บอกว่าท่านอย่าไปก่อนเลยสมบัติท่านจะเอาไปก็ลำบาก เราจะเลี้ยงท่านซักมื้อก่อนเลยเลี้ยงอาหารอย่างดี ชูชกเดินป่ามานานแล้วไม่ได้กินอาหารดี กินมากเลยจุกตาย เขาเรียกว่าท้องแตกตายไม่ใช่ท้องระเบิดอย่างนั้นหมายความจุกตาย กินมากหายใจไม่ออกตาย ทรัพย์สมบัติตาชูชกก็ประกาศหาญาติไม่มีใครมารับก็เวนคืนเข้าพระคลังหลวงต่อไป
ชาลี กัณหาก็ได้เป็นไทยได้อยู่อยู่กับพระเจ้าปู่ แต่เมื่อได้อยู่กับพระเจ้าปู่แล้วชาลี กัณหานึกถึงพ่อแม่ที่ต้องตกระกำลำบากอยู่ในป่าก็เลยกราบทูลพระเจ้าปู่ว่าพ่อแม่เดือดร้อนมากอยู่ในป่าปู่ควรจะไปรับกลับมาเสียที และก็พอดีกับประชาชนได้ข่าวว่าชาลี กัณหาถูกให้เป็นทานเขาก็นึกกันว่าพระเวสสันดรท่านมั่นคงในเรื่องทานนักให้ม้า ให้ช้าง ให้ทรัพย์สมบัติ ให้ลูก และยังให้นางมัทรีอีก พระอินทร์ปลอมตัวเป็นตาแก่มาขอ ที่มาขอไม่ใช่เรื่องอะไรเดี๋ยวคนอื่นมาขอแล้วแกให้ไปอีกจะลำบาก เลยขอไปเสียก่อน ขอเสร็จแล้วก็บอกขอฝากไว้กับท่านเพื่อจะได้อยู่ปฏิบัติวัฏฐากต่อไปไม่งั้นพระเวสสันดรจะให้หมดใจก็ดีเหลือเกิน ใครมาขอท่านก็มอบไป หลังจากชาลี กัณหาไปเล่าเรื่องให้ปู่กับย่าฟัง ปู่ย่าก็สงสาร พอดีกับประชาชนเขาเห็นอกเห็นใจก็เดินขบานมาขอให้ไปรับพระเวสสันดรกลับมา ก็จัดขบวนแห่ไปรับกลับมา เขาเรียกว่านครกัณฑ์ กัณฑ์สุดท้ายแห่กลับเข้าบ้านเข้าเมืองอยู่เย็นเป็นสุขต่อไป คนทำดีก็ไม่ตกต่ำอะไรหรอก
ตามวัดต่างๆ เมื่อออกพรรษาก็ต้องมีมหาชาติ เทศมหาชาติวันหนึ่งคืนหนึ่ง เช้าเทศคาถาพันเป็นภาษาบาลี บาลีล้วนไปเลยทีเดียวฟังไม่รู้เรื่องหรอกแต่ว่าคนก็นั่งฟังหลับไหลไปตามๆ กัน ส่วนใหญ่คุณยายก็นั่งฟังพอๆ พระเสร็จมีเอวังก็จบแล้ว สาธุต่อไปนี่คุณยายเขาเป็นแบบนั้น แล้วมีทั่วประเทศนะมหาชาติ ปักใต้เรียกว่าเทศมหาชาติ ภาคเหนือเรียกว่าเทศพระเวสทำบุญพระเวส ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็อะไรหรือจะเรียกว่าทำบุญพระเวสด้วยหรือเปล่า ก็มีคาถาพันสองตอน ปั้นต้นปั้นปลายสลับกันสองคน แล้วก็ทานกัณฑ์ วนปเวสน์ และก็กัณพ์เรื่อยๆ ไปจนกระทั่งนครกัณฑ์ ๑๓ กัณฑ์ คนละกัณฑ์ไป
ปัจจัยก็เอาไปบำรุงวัดวาอารามต่อไป เมื่อเทศมหาชาติจบแล้วก็ต้องมีเทศอารยะสัจสี่สองธรรมะให้คนฟังกันต่อไปเรื่องมันเป็นอย่างนั้น เอามาเล่าให้โยมฟังว่าคนโบราณเขาเรื่องประเภทสอนใจคนไว้ให้รู้จักบริจาคทาน ให้มีความอดทน ให้มีความเพียร ให้มีความตั้งใจมั่น เขาเรียกว่าบารมี ๑๐ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญในอดีตชาติ คือในชาติที่เป็นพระเวสสันดร เป็นมโหสถ เป็นเตมีย์ใบ้ เป็นภูริทัตชาดก เป็นอะไรต่ออะไรพระเวสสันดรเป็นชาติสุดท้ายแล้วก็ได้มาเป็นพระพุทธเจ้า เป็นเรื่องของการให้ เป็นตัวอย่างของการเสียสละ เราอยู่กันด้วยความเสียสละแล้วก็จะสบาย พ่อแม่เสียสละเพื่อลูก ลูกก็มีความคิดเสียสละเพื่อพ่อแม่ ครอบครัวทุกครอบครัวที่อยู่ในบ้านเดียวกัน ตำบลเดียวกันเสียสละต่อกัน เมื่อมีความเสียสละความเห็นแก่ตัวมันหายไป การอยู่ก็จะมีแต่ความสุขความเจริญ เอามาเล่าสู่กันฟังเพื่ออย่างนี้
ก็พอสมควรแก่เวลาฝนฟ้าไม่ตกไม่เป็นไรเดี๋ยวญาติโยมจะได้ทำบุญตักบาตรกันต่อไปแล้วบ่ายโมงก็ประชุมฟังปาฐกถาอีกนิดหนึ่งกัณฑ์หนึ่ง ๑๔ นาฬิกาก็ถวายผ้ากฐิน จบเรื่องกันไปตอนนั้น ตอนนี้ก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจ ๕ นาที