แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงชัดเจน แล้วจงตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันที่ ๓๐ ตุลาคม ก็พรุ่งนี้ก็หมดเดือนไปอีกเดือนหนึ่ง วันผ่านไปชีวิตของเราก็ผ่านไปด้วย คือเวลานี่มันคร่าชีวิต ท่านจึงกล่าวว่า เวลานี่เคี้ยวกินตัวมันเอง และเคี้ยวกินสรรพสัตว์ทั้งหลาย ตลอดจนถึงวัตถุทั้งหลายทั้งสิ้นให้เสื่อมไปสิ้นไป วินาทีหนึ่งผ่านไป ชีวิตของเราก็เพิ่มเวลามากขึ้น ข้างหน้านะมันน้อย แต่ข้างหลังนั้นชักจะมากขึ้น มากขึ้น คล้ายกับเขานทอผ้า ถ้าเราดูผ้าที่เขาทอ ข้างหน้ามันยิ่งน้อย แต่ว่าได้พื้นผ้ามากขึ้น ชีวิตเรานี่ก็เหมือนกัน ข้างหน้ามันยิ่งน้อยเข้าไปเรื่อยๆ ยิ่งวันเพิ่มขึ้น ปีเพิ่มขึ้น อายุเราก็ยิ่งน้อยลง ความแก่ก็เพิ่มมากขึ้น ใกล้จุดหมายที่เราจะไปถึงคือความตาย
ความตายนี่มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นแก่ทุกชีวิตไม่ว่าจะเป็นใคร มั่งมี ยากจน โง่ ฉลาด เป็นอะไรก็ตามย่อมไปถึงจุดอันเดียวกัน จุดนั้นก็คือความตายของสรรพสิ่งทั้งหลาย ชีวิตเรามันเป็นของผสมปรุงแต่ง เกิดขึ้นเป็นอยู่ด้วยการเพิ่มเติมวัตถุเข้าไปตลอดเวลา เช่นเรารับประทานอาหาร เราดื่มน้ำ สูดลมหายใจเข้าออก นี่ก็เป็นเครื่องช่วยให้ชีวิตดำรงอยู่ แต่ว่าวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้จะขาดแคลน เหมือนรถที่วิ่งไป หมดน้ำมัน รถนั้นก็จะหยุด เครื่องไม่เดิน ชีวิตเราก็เมื่อหมดเครื่องปรุงเครื่องแต่ง มันก็หยุดเดินเหมือนกัน การหยุดเดินของชีวิต เราก็เรียกว่าเป็นความตาย ความตายเป็นสมบัติประจำชีวิต ไม่มีใครจะหนีไปพ้นได้ มีเงินก็ช่วยไม่ได้ มีบริวารก็ช่วยไม่ได้ เป็นใหญ่เป็นโตในแผ่นดินก็ช่วยไม่ได้ ถึงเวลามันก็ต้องเป็นไปตามเรื่องของมัน เราจึงไม่ต้องวิตกกังวลในเรื่องอะไรต่างๆ ที่เรียกว่าเกี่ยวกับความตาย แต่เราควรจะเอาความตายนั้นมาเป็นข้อเตือนจิต สะกิดใจให้ได้รู้ไว้ว่า ชีวิตนี้มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มันมีความไม่เที่ยง ไม่เที่ยงก็หมายความว่า เปลี่ยนไม่หยุด ไม่หยุดยั้งจากการเปลี่ยนแปลง ตราบใดที่ยังเปลี่ยนแปลงอยู่ ก็เรียกว่ายังมีชีวิต ถ้าหากว่าหยุดเปลี่ยนแปลงเมื่อใด ชีวิตเราก็หมดเรื่องกันเมื่อนั้น เรียกว่าแตกดับไปอันเรียกว่าความตาย ซึ่งเราทุกคนก็จะต้องประสบด้วยกันทั้งนั้น
คนบางคนกลัวตายเหลือเกิน ไอ้ที่กลัวตายนั่นมันเพราะอะไร ก็เพราะเรามันอยากจะอยู่นั่นเอง มีความอาลัยรักต่อสิ่งต่างๆ ที่เรามีอยู่ เช่นอยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป เสียดายทรัพย์สมบัติ บ้านเรือน สรรพสิ่งทั้งหลายที่เราหามาได้ เราก็อยากจะมีสิ่งนั้นนานๆ อยากจะใช้สิ่งนั้นต่อไป และยังอยากจะดูความก้าวหน้าของโลกต่อไป ว่าโลกนี้มันจะเป็นไปอย่างไร จะมีอะไรเกิดขึ้นในโลกอีกบ้าง นี่คือความคิดที่อยากจะอยู่ทั้งนั้น เมื่อความคิดที่อยากจะอยู่มีมาก ความกลัวตายก็มากขึ้น เพราะเราอยากจะอยู่มากกว่า ไม่อยากจะตายไปจากโลกนี้ ทั้งๆ ที่มันจะต้องเป็นอย่างนั้น แต่เราก็ไม่อยากจะตาย ยังกลัวตาย
ความกลัวตายเกิดก็เพราะรักสิ่งของต่างๆ เช่น เรามีบุตร มีธิดา ก็อยากจะเห็นหน้าเขานานๆ มีข้าวมีของ ก็อยากจะมีไว้นานๆ ความอยากจะมี อยากจะเป็น มันเป็นวิสัยของมนุษย์ทั่วๆ ไป ย่อมมีด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่าถ้าเราไม่รู้เท่า รู้ทัน ก็ทำให้เกิดความทุกข์เหมือนกัน ทุกข์เพราะว่าอยากมากเกินไปในเรื่องอะไรต่างๆ แล้วก็เกิดความกลัว กลัวสิ่งนั้นจะหายไป กลัวสิ่งนี้จะจากเราไป เลยเกิดวิตกกังวล อาจจะถึงกับว่า เป็นโรคทางประสาทไปก็ได้ เพราะความกลัวมากเกินไปในเรื่องอะไรต่างๆ ที่เรามีเราได้ไว้ ที่เราเป็นเราอยู่กันตลอดเวลา มันก็เกิดเป็นปัญหาสร้างความทุกข์ความเดือนร้อน
พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราอยู่อย่างคนมีความสุข อยู่ด้วยความสุขนั้นจะอยู่อย่างไร คืออย่าอยู่ด้วยความกลัว อย่าอยู่ด้วยความสะดุ้งต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่ว่าอยู่ด้วยปัญญา อยู่ด้วยความรู้ว่า อะไรมันจะเป็นอย่างไร เรายอมรับสิ่งที่มันจะเป็นซะ เช่น เรื่องความเจ็บไข้ เราก็ต้องยอมรับว่าชีวิตนี่มันต้องมีความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา เราหนีไม่พ้น และรู้ไม่ได้ว่าเราจะป่วยวันไหน ด้วยโรคอะไร เพราะว่าเชื้อโรคนี้มันไม่เห็นตัว ไม่เหมือนกับข้าศึกประเภทที่เป็นตัว เช่น เสือ ช้าง กวาง แรด งู อะไรต่างๆ ซึ่งมันจะมาทำร้ายเรา เรามองเห็นด้วยตาของเรา เราวิ่งหนีมันได้ คือเราหาเครื่องมือสำหรับต่อสู้ป้องกันมันได้ แต่ว่าไอ้เชื้อโรคนี่ เรามองไม่เห็น เรากินเข้าไปบ้าง เราสูดเข้าไปทางลมหายใจบ้าง หรือว่าเราอาจจะไปติดต่อมาจากคนที่เรารู้จักมักคุ้น ไปนั่งคุยกันแล้วคนนั้นมันมีเชื้อโรค หายใจออกมา เราก็หายใจเข้าไป ติดต่อกันก็ได้ ด้วยการสัมผัสถูกต้องทางร่างกายก็อาจติดโรคมาก็ได้ หรือว่าเราไม่มีบุคคล แต่ว่าเชื้อโรคมันเล็กๆ เล็กเหลือเกิน เช่นเชื้อไวรัสที่เขาค้นพบกันในสมัยใหม่นี่มันเล็กมาก มันก็ลอยฟ่องอยู่ในอากาศ คนใดไปสูดเข้าก็เจ็บไข้ได้ป่วย เกิดอาการไม่ดีขึ้นในร่างกาย อันนี้มันเป็นเรื่องที่จะเกิดจะมีแก่ใครเมื่อใดก็ได้ แม้คุณหมอเอง ซึ่งมีความรู้ในทางป้องกัน มีความรู้ในทางรักษาโรค แต่ว่าคุณหมอก็มีโรคเหมือนกัน เจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนกัน บางทีก็ป่วยขนาดหนักเหมือนกัน หมอป่วยหนัก จนกระทั่งถึงแก่ความตายไป เพราะโรคบางชนิด ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นนะแต่มันก็เป็นได้ โรคบางอย่างเป็นแล้วยังหาเหตุปัจจัยไม่พบ ยังไม่รู้ว่ามันเป็นโรคอะไร รักษาไม่ทัน คนป่วยนั้นก็ถึงแก่กรรมไป อันนี้ก็มีบ่อยๆ ถ้าเราไปดูที่โรงพยาบาล ไม่ว่าโรงพยาบาลเอกชน ของทางราชการ จะพบว่ามีคนป่วยมากมายเหลือเกิน เต็มไปหมด ป่วยตอนเช้า ป่วยตอนสาย ตอนเที่ยง ตอนบ่าย ตอนเย็น กลางค่ำ กลางคืน ก็มาหาหมอ เพราะฉะนั้นเขาจึงตั้งหมอเวรไว้เพื่อต้อนรับคนไข้ ที่มาในเวลาผิดปกติ เช่นเวลาวิกาล ไม่น่าจะเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ก็มีคนป่วยเกิดขึ้นในตอนกลางคืน เขาก็ต้องพามาหาหมอ หมอก็ต้องต้อนรับขับสู้ ตรวจตราดูแลให้การรักษาไปตามหน้าที่ การรักษานั้นเป็นเรื่องทำตามหน้าที่ เป็นเรื่องของหมอที่จะต้องรักษา แต่ไม่ใช้จะเป็นหลักประกันว่า จะหายเสมอไป เพราะว่าโรคบางอย่างนี่รักษาได้ แต่โรคบางอย่างก็รักษาไม่ได้ ถ้ารักษาหายทุกโรค คนมันก็ไม่ตายกันเท่านั้นเอง
แต่ปรากฎว่ามีคนตายเยอะแยะ ทั้งๆ ที่อยู่โรงพยาบาล ถ้าเราไปดูสถิติที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ ก็จะพบว่ามีคนตายทุกวันก็ว่าได้ วันหนึ่งบางทีอาจจะหลายคนก็ได้ อันนี้เป็นเครื่องแสดงว่า มันไม่อยู่ในอำนาจของใคร พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสบอกไว้ว่า ไม่อยู่ในอำนาจของใคร ไม่มีใครคุ้มครองได้ ไม่มีใครเป็นผู้ประกัน แม้บริษัทประกันทั้งหลายก็ประกันไม่ได้ แต่ว่าเป็นการท้าทายกันเท่านั้นเอง บริษัทประกันนี้ คือเรื่องการท้าทาย เป็นการพนันกันระหว่างคนไปเอาประกันกับบริษัท พนันกันว่า ถ้าตายลงในเวลานั้น ในระยะประกันนี่ จะต้องให้เงินเท่านั้นเท่านี้ ประกันฉันว่าอย่างนั้น บริษัทก็เสี่ยงเหมือนกัน เรียกว่าเสี่ยงรับไว้ ก็เป็นการท้ากันว่าคงไม่ตายในตอนนั้น แล้วก็จะได้เงินไปใช้ เอาไปให้เขากู้เขายืมอะไรกันต่อไป แต่ก็ปรากฎว่ามีการตายกันเกิดขึ้นในระหว่างประกัน เป็นถ้อยร้อยความกัน เพราะว่าบริษัทประกันนี้ ไม่ยอมจ่ายเงินกันง่ายๆ หรอก มันต้องมีข้อโน้นข้อนี้ ที่จะเบี้ยวกับคนเอาประกันได้ เป็นถ้อยร้อยความกันก็มี แต่ว่าบางบริษัท ก็ไม่ ไม่ถึงกับขนาดนั้น พอรู้ว่าเขามีเรื่องอะไรที่จะต้องจ่ายตามสัญญา ก็ต้องเอาไปจ่าย เวลาไปจ่ายนี้ ต้องไปจ่ายในวันเผาศพ คนมันมากหน่อย จะได้โฆษณาบริษัทไปด้วยในตัว ว่าได้ทำตามสัญญาเรียบร้อย แล้วก็จ่ายกันต่อหน้าคนมากๆ ทำให้คนอื่นอยากจะไปเอาประกันกันไว้ต่อไป เรื่องประกันนะ ไม่ใช่ประกันไว้ไม่ให้เจ็บ ไม่ใช่ประกันไม่ให้ตาย แต่เป็นการประกันเพื่อเอาเงินจากบริษัทประกันนั่นเอง เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นในระหว่างนั้นก็เรียกว่า ได้เงินชดเชย แต่ว่าผู้เอาประกันก็ต้องฝากเรื่อยไป ถ้ายังไม่มีอะไรขึ้นก็ต้องฝากเรื่อยไป จนกว่าจะมีเรื่องมีราวขึ้น หรือว่าครบกำหนดกี่ปี ๑๐ ปี ๑๕ ปี จึงจะถอนเงินได้ แล้วก็จะได้ดอกผลบ้างตามสมควร มันก็ดีเหมือนกันนะ เรียกว่าช่วยให้ประหยัดเงินไว้ได้ก้อนหนึ่ง แต่ไม่ใช่จะเป็นเครื่องประกันว่าเราจะไม่เจ็บไข้ หรือว่าเราจะไม่ตาย ไม่มีอย่างนั้น เพราะธรรมชาติ มันเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องที่จะต้องไปตามอาการของสรรพสิ่งที่เกิดจากการปรุงแต่ง ไม่มีใครเข้าไปค้ำประกันได้ ไม่มีใครช่วยป้องกันต้านทานได้ ว่าไม่ให้เป็นอย่างนั้น ไม่ให้เป็นอย่างนี้ แต่ว่าบางคนมันเป็นช้าหน่อย เพราะว่ามีความระมัดระวังอยู่ แต่ระวังเท่าใดมันก็ตายเหมือนกัน
มีเจ้าคุณคนหนึ่ง อยู่แถวบางกอกน้อย เป็นนักเรียนนอกมาจากอังกฤษ เมืองไทยมียุงมาก แมลงวันมาก จะต้องทำลวดตาข่ายกั้นหมด ในห้องทุกห้อง ในห้องอาหาร ห้องรับทานนี้ก็ป้องกันแข็งแรง ไม่ให้แมลงวันเข้าไป ถ้าแมลงวันหลงเข้าไปสักตัวหนึ่ง ไปตอมอาหารในจานนั้น อาหารจานนั้นต้องเอาไปเททิ้ง ไม่รับประทานเป็นอันขาด ทำอยู่อย่างนี้ เพราะกลัวจะเป็นโรคอหิวาห์ แต่ผลที่สุด เจ้าคุณคนนี้ตายด้วยโรคอะไร ตายด้วยอหิวาตกโรคนั่นเอง ทั้งๆ ที่กวดขันที่สุด แม้เมลงวันเข้าในห้องอาหาร ในครัวก็ต้องมีลวดตาข่ายกั้นเรียบร้อย ไม่ให้แมลงเข้าไป เชื้อโรคมันก็ยังเล็ดลอดไปทางรูตาข่ายได้เลย เข้าไป ท่านก็เป็นอหิวาห์ตาย เป็นพระยา อยู่กระทรวงการคลัง ตายด้วยอหิวาตกโรค ทั้งๆ ที่ป้องกันเต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว
อันนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า เราป้องกันก็ทำไปตามหน้าที่เท่านั้นเอง แต่ว่ามันไม่ช่วยอะไร ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นัก ยังมีการที่จะเป็นอะไรขึ้นมาก็ได้ เป็นโรคอย่างนั้น โรคอย่างนี้ขึ้นมาก็ได้ เพราะว่าเชื้อโรคนี้เรามองไม่เห็น ไม่รู้ว่ามันมาทางไหน มันเข้าไปอย่างไร เป็นศัตรูที่ร้ายกาจของชีวิตเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นเราก็ควรจะคิดไว้ว่า ไอ้เรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องธรรมชาติ ธรรมดา ถ้ามันจะเป็นก็เอา ก็ต้องยอมรับความจริงไป อย่านอนบนเตียงคนไข้ด้วยความเป็นทุกข์ ด้วยความไม่สบายใจ แต่ให้นอนด้วยความสบายใจ นอนบนเตียงด้วยความสบายใจก็คือ นอนด้วยปัญญา ด้วยรู้ว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องธรรมชาติ ที่จะต้องมีกับคนเรา เพราะคนเรานี้มันหลีกจากความเจ็บไข้ไปไม่ได้ ย่อมมีการเจ็บไข้ได้ป่วยกันทั้งนั้น แม้องค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งมีการระมัดระวังมากที่สุด แต่ก็ยังทรงประชวร ประชวรแล้วก็หนักเสียด้วย หนักมากเหมือนกัน นี่เป็นเครื่องชี้ให้เห็นอยู่ในตัว ว่าสิ่งทั้งหลายนี่ไม่มีอะไรเป็นเครื่องต้านทาน ไม่มีอะไรเป็นเครื่องคุ้มกันอย่างแท้จริง เพราะธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเรารู้ไว้ในเรื่องอย่างนี้ จิตใจจะได้ไม่ต้องวิตกกังวล ในปัญหานี้มากเกินไป แต่ว่าเราก็ไม่ประมาทในการเป็นการอยู่ ไม่ใช่ว่า เออ ไอ้เจ็บไข้เป็นธรรมดา แล้วก็ไปคลุกคลีกับคนเป็นโรคภัยไข้เจ็บมากไป มันก็ถึงแก่ความตายได้
มีพระองค์หนึ่ง ที่บ้านอาตมา ท่านเป็นหมอแผนโบราณ คนมาหามาก จนกระทั่งต้องสร้างโรงยาเอาไว้ในวัด ให้คนป่วยมานอนพักเพราะว่ามากจากตำบลไกลๆ มากัน บางคนก็มาท้องโต มาเลย ผู้ชายนะไม่ใช่ผู้หญิง ท้องโตมาให้ท่านรักษา พอรักษาจนท้องยุบกลับไปก็มี จนหายกลับบ้านไป ไอ้ที่ไม่หายตายก็มีเหมือนกัน แล้วก็ ท่านก็รักษาอยู่อย่างนั้น ผลที่สุดท่านเองนะ เป็นวัณโรค เป็นวัณโรค อาเจียนออกเป็นโลหิตเลยทีเดียว ทั้งๆ ที่ร่างกายแข็งแรง อ้วนท้วน เรียกว่าเป็นนะเนื้อ เป็นหนังสมบูรณ์ เป็นวัณโรค อาเจียนเป็นโลหิต แล้วไม่เท่าใดก็ถึงแก่มรณะ อาตมาไปเยี่ยมท่าน ท่านก็บอกว่าเรานี่มันประมาทไปหน่อย รักษาแต่คนอื่น แต่ไม่รู้จักรักษาตัวเอง ใครเป็นไข้ได้ป่วยมาก็ต้องรักษาตามหน้าที่ ช่วยเหลือเขาเต็มที่ แต่ไม่ระวังตัวในโรคบางชนิดที่เขามาเป็น เช่นวัณโรคนี่ ท่านก็ไม่ได้เกรงกลัวอะไร ท่านก็คลุกคลีกับคนเหล่านั้น ให้หยูกให้ยา ให้หลับให้นอนที่กุฏิ แล้วก็ไม่ได้ทำความสะอาดฆ่าเชื้ออะไร ตามแผนใหม่ ตอนนี้ที่สุดโรคนี้ก็โกรธหมอเข้าให้ แล้วก็เอาหมอถึงแก่มรณะไปด้วยเหมือนกัน เวลาก่อนสิ้นบุญนี่ ท่านก็พูดว่า เออ เรานี่มันประมาทไปหน่อย ไม่ระมัดระวังตัว อาจคิดแต่เรื่องจะรักษาคนอื่น แต่ว่าไม่ได้คิดรักษาตัว จึงเสียท่า แล้วต่อมาท่านก็สิ้นลมหายใจ จากโลกนี้ไป
ก็เป็นเครื่องแสดงอยู่ในตัวว่า แม้หมอก็อาจจะเผลอได้ คนไทยเราจึงพูดเป็นคำพังเพยว่า “หมองู ตายเพราะงู” หมองู ตายเพราะงู คือว่าคลุกคลีกับงูมากเกินไป จนถูกงูกัดตายเพราะความประมาท แคล่วคล่องว่องไว ในการจับงู แต่เผลอๆ งูมันก็ฉกเข้าให้ แล้วก็ตายกับงูนั่นแหละ คนอยู่กับอะไร มันก็ตายกับเรื่องนั้น อันนี่เป็นเรื่องที่น่าคิด ว่าเป็นเรื่องที่จะเกิดจะมีแก่คนเราทั่วๆ ไปได้ จึงควรจะไม่ประมาทในเรื่องอะไรๆ ต้องคิดไว้ แต่ถ้าว่ามันเป็นขึ้นแล้ว เราก็ต้องคิดอีกแง่หนึ่งว่า อ่ะ ธรรมดา ใช้ศัพท์ที่ว่า มันเป็นเช่นนั้นเองไว้ ตถาตา มันเป็นเช่นนั้นเอง เป็นเครื่องปลอบโยนจิตใจ เป็นเครื่องคิดพิจารณาเพื่อไม่ให้ต้องเป็นทุกข์มากเกินไป หรือว่าเศร้าโศกด้วยปัญหานั้นๆ มากเกินไป เพราะว่าความเศร้าโศก ความเสียใจในเรื่องอะไรที่เกิดแล้วเป็นแล้วนี่มันตัดทอนความสุขในชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดปัญหาเพิ่มพูนขึ้น ในชีวิตของเราอย่างมากมายเหลือเกิน เราจึงไม่ควรจะโทมนัสเสียใจ ในปัญหาเหล่านั้นมากเกินไป แต่ควรคิดให้ได้ว่า มันเป็นเช่นนั้น เรื่องทั้งหลายมันต้องเป็นเช่นนั้น ของใดที่มันเกิดแล้วเป็นแล้ว ก็ยอมมันซะ เรียกว่ายอมให้มันเป็นไปตามเรื่องของมัน ไหนๆ มันเป็นแล้วเราก็ยอมมันเสีย แต่ถ้าเราไม่ยอม เราก็ไปนั่งเป็นทุกข์ นั่งกลุ้มใจอยู่แต่เรื่องอย่างนั้น นึกทีไรแล้วมันเจ็บใจนัก นึกทีไรแล้วมันเสียวในหัวใจขึ้นมา อย่างนี้เขาเรียกว่ามันทิ่มแทง เหมือนที่เราสวดมนต์ว่า ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว หยั่งเอาแล้วหมายความว่ามันหยั่งลงไปในใจของเรา มันแทงเข้าไปในใจของเรา เราก็ปวดเสียวอยู่ตลอดเวลา พอนึกทีไรแล้ว มันปวดแสบปวดร้อนขึ้นในใจ มีความกลุ้มใจด้วยปัญหานั้น อันนี้มันได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา นอกจากช่วยให้เรามีความทุกข์เท่านั้นเอง ให้เรากลุ้มใจเท่านั้นเอง
การอยู่ด้วยความทุกข์มันไม่ดี อยู่ด้วยอารมณ์กลุ้มมันก็ไม่ดี เราเป็นพุทธบริษัท ต้องอยู่ด้วยความเบิกบานแจ่มใส ตามหลักการของพุทธ เพราะพุทธนี้แปลว่า เป็นผู้รู้ ผู้ตื่นอยู่ ผู้มีความเบิกบานแจ่มใส เป็นผู้รู้หมายความว่า รู้จักสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ สิ่งทั้งหลายที่มันเกิดขึ้นเป็นอยู่อย่างไร เรารู้เราเข้าใจ รู้ถึงความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งหลาย รู้ถึงความทุกข์ของสิ่งทั้งหลาย รู้ถึงว่าสิ่งทั้งหลายนั้นมันไม่มีเนื้อแท้ มันเป็นของผสมปรุงแต่ง เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยเครื่องปรุงแต่ง ถ้าปัจจัยเครื่องปรุงแต่งยังสมบูรณ์ สิ่งนั้นก็เป็นไปได้ ถ้าปัจจัยเครื่องปรุงแต่งขาด สิ่งนั้นก็ต้องมีความดับเป็นธรรมดา เรารู้ว่าเมื่อมีการเกิด มันก็ต้องมีการดับ มีการเป็นมันก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป เหมือนกันทั้งหมดไม่ว่าอะไร ให้รู้ไว้อย่างนี้ เรียกว่าอยู่อย่างผู้รู้ ไม่ใช่อยู่อย่างผู้ไม่รู้ ผู้ไม่รู้คือ ไม่เข้าใจหลักความจริง ของสิ่งทั้งหลาย เมื่อเราไม่เข้าใจความจริง เวลาสิ่งนั้นมันเกิดขึ้น เราก็เป็นทุกข์ เปลี่ยนแปลงไปเราก็เป็นทุกข์ มีความไม่สบายอกไม่สบายใจ เพราะไม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องเช่นนั้น มันต้องเป็นอย่างนั้นธรรมดามันเป็นอย่างนั้น เช่น เรื่องความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ เรามีวัสดุ มีสิ่งของอะไร เราก็พออกพอใจในสิ่งนั้น เวลาสิ่งนั้นสูญไปหายไป เราก็มีความทุกข์ ไม่สบายใจ มองไอ้ที่ที่มันเคยมี มันไม่มี เราก็ไม่สบายใจ ไอ้ความจริงนะ ความไม่มีนะมันของเดิม ความมีนี่มันมาทีหลัง มันมาที่หลัง เราไม่ได้นึกว่าความไม่มีมันของเดิม แต่ไปนึกถึงความมีอยู่ตลอดเวลา
สมมุติว่าในบ้านเรานะ เมื่อก่อนมันไม่มีอะไร แล้วเราก็ไปซื้อหามาใส่ให้มันรกบ้าน เอาโต๊ะตัวนั้นมาวางตรงนั้น ไอ้นั่นมาวางตรงนี้ วางให้เต็มไปหมดเลย แล้วก็มีของอะไรเป็นเครื่องประดับประดา ตามสมัยนิยม ชาวบ้านเขานิยมอะไร ก็เอามาประดับประดาไว้ อวดความมีนะ ไม่ใช่เรื่องอะไร เขาเรียกว่าอวดมั่งอวดมี เอามาอวดไว้ในบ้าน ในห้องรับแขกบ้าง ตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง เครื่องใช้ไม้สอยประเภทต่างๆ เราก็เอามาวางไว้ ตื่นเช้าก็มอง เออ ยังอยู่ มองไอ้นั่นก็ยังอยู่ มองไอ้นี่ก็ยังอยู่ สบายใจ ดูแล้วมันสบายใจ แต่ไม่ได้คิดว่า วันหนึ่งมันอาจจะเคลื่อนที่ไปก็ได้ เพราะมีคนประเภทหนึ่งที่มีฤทธิ์มีเดช มาเคลื่อนที่ได้ กลางค่ำ กลางคืน เราเผลอๆ มันก็มาเคลื่อนเอาไปเสีย อาจจะถึงวันนั้นเข้าสักวันหนึ่งก็ได้ แต่เราไม่ได้คิดไว้ล่วงหน้า ว่ามันจะเป็นอย่างนั้น พอมันเป็นขึ้นจริงๆ ตื่นเช้าขึ้น ใจหาย หายใจเกือบไม่ออกไป นี่ก็เรียกว่าเพราะไม่ได้เตรียมตัวไว้ก่อน พอเห็นแล้วมือตก บอกว่าอู๊ย ตายแล้ว ไอ้ตายแล้ว นี่มันไม่เป็นไร มันยังไม่ตาย ถ้าตายแล้วพูดไม่ออก ตายแล้ว ตายเรื่องอะไร เอานั่นดู ตรงนั่นเอาไปหมด เอาไปหมด หายไปหมดแล้ว ไอ้อย่างนี้ก็ต้อง เราไม่ได้คิดไว้ก่อน เรียกว่าไม่รู้ ไม่รู้ว่ามันจะจากไป ความจริงนะเขียนไว้ที่ของมั่งก็ได้ เตรียมกระดาษแผ่นเล็กๆ ติดไว้ “วันนี้เจ้าอยู่กับฉัน พรุ่งนี้ไม่แน่” เขียนไว้อย่างนั้นนะ เขียนติดไว้ที่แจกันสวยๆ ที่ตู้ ที่วิทยุ ที่โทรทัศน์ อะไรต่ออะไรนั่น เขียนตัวพออ่านได้ มองเห็นแต่ไกล วันนี้อยู่กับฉัน พรุ่งนี้ไม่แน่ แล้วก็เขียนไว้ แล้วทีนี้วันไหนมันเกิดหายไป ใครมายกไป เราก็พูดว่า เหมือนที่นึกไว้ไม่ผิด หรือพูดออกมาว่า กูว่าแล้วว่ามันต้องหายสักวันหนึ่ง แล้วมันก็หายจริงๆ เราคิดอย่างนี้แล้วก็สบายใจ เรียกว่ายิ้มออกทันที ยิ้มออกนะเพราะอะไร เพราะเรารู้ เราเตรียมตัวไว้ต้อนรับสถานการณ์ ว่ามันจะต้องหายสักวันหนึ่ง เรานึกไว้อย่างนั้น ถ้านึกไว้อย่างนั้นแล้ว มันก็สบายใจ แต่ถ้าเรานึกว่ามันจะหาย แล้วเราไม่อยากให้มันหายไว เราก็ต้องป้องกันอีกแหละ ทำบ้านให้มันแข็งแรงอีกหน่อย ใส่อะไรต่ออะไร เหล็กเหลิกอะไรไว้ ประตูหน้าต่าง ติดเหล็กให้มันแข็งแรงหน่อย มันก็จะไม่หาย ไม่สูญไปไหน
เมื่อสอง สามคืนก่อนนี้ เจ้าหน้าที่ที่มาเป็นช่างขัดพื้นของหอประชุมโรงเรียนนี้ มันก็นอนกันตามปกตินี่ ไอ้เครื่องมือสำหรับใช้ขัดพื้นนี่ เป็นเครื่องยนต์นะ มีอยู่ ๕ ตัวทั้งหมด ก็วางไว้ตรงนั้น ๒ ตัว บนเวที ๒ ตัว ไอ้ตัวหนึ่งมันกำลังซ่อม ไม่หายนะไอ้ตัวกำลังซ่อม ตัวที่เรียบร้อย ๔ ตัวนี่ มันยกเรียบร้อย ยกเข็นไปเรียบร้อย เอาไปใส่รถปิกอัพ นอกประตู แล้วมันก็พาอันตรธานไป รุ่งเช้าพวกนั้นตื่นขึ้น ก็ว่า เอาแล้ว หายหมดแล้ว แล้วอาตมาก็ไปสืบถามดูว่ามันหายยังไง พวกเรานอนกันหลับหมดรึ ไอ้คนที่เป็นหัวหน้าว่า ผมนี่ ปกตินอนมักตื่นตี ๔ ไอ้คืนของหายมาตื่น ๖ โมงเช้า อือ มันเรื่องอะไรถึงตื่นสายอย่างนั้น แล้วเธอนอนตรงไหน นอนตรงนั่น กลางแจ้ง มีมุ้งกาง แล้วพอเช้าขึ้น ไปยืนดูข้างบน มีรอยเท้ายืน รอยเท้ามันยืน เพราะว่าทำปูนใหม่ๆ ใครไปเหยียบก็เป็นรอย แสดงว่ามีคนคนหนึ่ง ยืนคุมไอ้คนนอนอยู่ แล้วมันนอนไม่ลุกขึ้น บอกว่า เออ ดีเธอไม่ลุกขึ้นนี่ดีมาก ถ้าลุกขึ้นแล้วหัวแตกแน่ มันต้องทุบก่อนแล้ว พอโงหัวขึ้นก็โป้งเข้าให้เท่านั้นเอง แล้วมันก็มาเดือดร้อน นอนหลับอย่างนี้ดี มีประโยชน์ นอนหลับอย่างนี้ดี มันเอาไป ไม่ต้องทำเธอให้เสียหาย มันก็ยกไปออกไปเรียบร้อย เอาไปหมด ก็ไม่ใช่ราคาเล็กน้อย เครื่องหนึ่งตั้งหมื่น ราคาตัวหนึ่งตั้งหมื่น เอาไปหมด ๔ ตัว เหลืออีกตัว ตัวนั้นก็ใช้ไม่ได้ เลยก็ ตกอกตกใจกันไปตามเรื่อง บอกว่าไปแจ้งความหรือยัง ยังไม่ได้แจ้งความ บอกเถ้าแก่ให้รู้ แล้วเถ้าแก่รู้แล้วไง ยิ้มๆ เท่านั้นเอง แปลว่าเถ้าแก่นั้นยิ้มว่า เออ มันหายซะแล้ว ก็แล้วไป ซื้อใหม่ แสดงว่าไม่ด่าคนงาน ว่าพวกแกนอนกันอย่างไร ถ้ามันอยู่กลางแจ้ง มันก็ต้องเอาไปได้ ทำให้เกิดความคิดขึ้นมาว่าเออ ไม่ได้การแล้ว มันต้องทำรั้วรอบขอบชิดให้แข็งแรงหน่อย ต่อไปเพราะว่ามันจะลักอะไรต่อไปอีก เครื่องอะไรต่ออะไรที่มี ต่อไปเอาเครื่องขยายเสียงมาไว้ เดียวมันก็หายไปอีกน่ะ เครื่องขยายเสียง มันเคยหายนะ เครื่องขยายเสียงที่วัดนี้ แต่ที่นี่ยังไม่เคยหาย แต่กุฏิโน้น เครื่องอย่างดีเลย เขาซื้อมาจากอเมริกา เขาหิ้วมา เอามาให้ ราคามันแพง หลายหมื่น หลายหมื่นบาท ใช้ปีเดียวเท่านั้นเอง อาตมาไปนอกเวลานั้น กลับมาเรียบร้อยแล้ว มันเอาไปเรียบร้อยแล้ว ไอ้นี่มันเก่งเหมือนกัน คนลักนี่มันเก่งเหมือนกัน เพราะว่ามันต้องผ่านด่านประตูข้างล่าง แล้วก็ประตูข้างบนอีก ๒ ประตู มันไขได้เรียบร้อย มันเอาไป แล้วก็ถอดเรียบร้อย ตู้เต้อไม่งัดไม่เงิด ให้เสียหาย แล้วก็สายไฟก็ยังอยู่เรียบร้อย แสดงว่าขโมยนี่ เป็นผู้ชำนาญการ เกี่ยวกับเครื่องขยายเสียง คือไม่ให้เสีย ยกไปได้เรียบร้อย ก็ไม่ว่าอะไรหรอก มันหายแล้วก็แล้วไป พบเจ้าของที่ซื้อให้ก็บอกว่า ไปแล้วเธอ ขโมยเอาไปแล้ว แล้วก็บอกว่าไม่เป็นไร ผมซื้อใหม่ให้อีกก็ได้ ก็ดี คนอย่างนี้ก็พอคบกันได้ เพราะว่าหายแล้วก็ยังซื้อให้ใหม่ได้อีก ก็เลยซื้อมาให้อีกต่อไป นี่เขาเรียกว่าปลงตกนั่นเอง เขาปลงตก มันเรื่องธรรมดา สำหรับเมืองไทยเรานี้ มันเรื่องธรรมดาของอย่างนี้
ในครั้งพุทธกาลนี่ก็มี เศรษฐีคนหนึ่ง ใจดีพอใช้ คือแกสร้างวิหารถวายพระพุทธเจ้าสำหรับเป็นที่พัก พระสงฆ์ก็ได้พักเวลาไปมาก็ได้พัก ก็มีคนๆ หนึ่ง มันโกรธท่านเศรษฐี ไม่รู้ว่าโกรธเรื่องอะไร โกรธแล้วมันก็มาทำการเผาวิหารซะเลย เผาแหลกเป็นขี้เถ้าไปหมด คนก็ไปบอกเศรษฐี ไฟกำลังลุกโพลง มาบอกท่านเศรษฐีให้รู้ เศรษฐีก็ไป ยืนดูไฟไหม้ คนจะไปหาอะไรมาดับ สมัยก่อนมันไม่มีรถดับเพลิง ต้องไปตักน้ำมาดับอย่างนั้นมันก็ไม่ทัน ท่านเศรษฐีบอกว่า ไม่ต้องไปดับมั๊ย มันไหม้แล้วก็แล้วไป แล้วก็พอไหม้เรียบร้อยแล้วก็สร้างใหม่อีกที สร้างเรียบร้อย สร้างแล้วก็มีการฉลอง นิมนต์พระมาฉันในวิหาร ไอ้คนที่เผามันยังเจ็บใจอยู่ ยังเจ็บใจไม่หาย มันก็มาแอบอยู่ข้างหลัง หลังม่าน ท่านเศรษฐีเดินเข้าไปตรวจหลังม่านแล้ว มันจะฆ่าซะเลย มันจะฆ่า แต่ว่าเศรษฐีแกก็มีบุญเหมือนกัน แกไม่เดินไปหลังม่าน อยู่ข้างหน้าม่านตลอดเวลา ทำกิจเกี่ยวกับการถวายทาน ถวายอาหาร อะไรเสร็จแล้วพระก็จะอนุโมทนา เวลาพระจะอนุโมทนานี่ ท่านก็ตั้งใจแผ่ส่วนบุญ ขอแผ่ส่วนบุญที่ข้าพเจ้าได้ทำมาทั้งหมดนี้ ให้แก่คนที่ช่วยเผาวิหารของข้าพเจ้า ให้ก่อน คนๆ นี้ให้ก่อน ให้แก่คนที่เผาวิหารของข้าพเจ้า พระท่านก็ถามว่า ท่านไม่โกรธไม่เคืองหรือ ในการที่เขามาเผาวิหารของท่านเสียหายขนาดนี้ เศรษฐีบอกว่าไม่ได้โกรธเคืองอะไร แต่กลับดีใจว่าจะได้สร้างใหม่ให้มันดีขึ้นไปกว่าเก่าอีกนิดหนึ่ง เพราะงั้นไอ้คนที่เผา นี่เรียกว่าช่วยให้ข้าพเจ้าได้บุญได้กุศลเพิ่มขึ้น จึงแผ่ส่วนบุญไปให้ แล้วก็อีกประการหนึ่ง ไอ้คนที่มาเผานี่ มันก็เป็นเครื่องทดสอบกำลังใจของข้าพเจ้า ว่าข้าพเจ้ามีกำลังใจในทางธรรมะเพียงพอหรือไม่ อ้า ก็รู้สึกว่ามีเพียงพอ เพราะขณะที่ไฟไหม้วิหารอยู่เนี่ย ไม่ได้เสียใจ ไม่ได้เสียอกเสียใจ ดูเปลวไฟด้วยความสบายใจ ก็แสดงว่าคนนั้นมันสอบไล่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าสอบไล่ได้ในเรื่องจิตใจ จึงขอบใจเขา ทำบุญเสร็จแล้วต้องแผ่ให้ก่อนใครๆ แล้วก็จึงแผ่ส่วนบุญให้คนอื่นต่อไป ไอ้คนนั้นมันนั่งฟังอยู่หลังม่าน ฟังแล้วมันเกิดความสำนึกขึ้นในใจว่า เอ... กูนี่มันแย่มาก ที่ไปโกรธเศรษฐีผู้ไม่โกรธตอบ ทำร้ายคนที่ไม่ทำร้ายตอบ แล้วไปทำลายสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์แก่พระศาสนา แก่พระพุทธเจ้า บาปมันล้นแล้วในจิตใจของเรา เราจะต้องเลิกบาปกันเสียที ก็เลยออกมาจากหลังม่าน ไม่ได้เอามีดที่จะเตรียมแทงเศรษฐีออกมาด้วยหรอก แล้วก็เข้ามาถึงก็เข้ามากราบแทบเท้าเศรษฐี เศรษฐีว่าท่านเป็นใคร ทำไมจึงมากราบข้าพเจ้า นายคนนั้นบอกว่า ข้าพเจ้านั่นแหละคือคนที่เผาวิหารของท่าน แล้วข้าพเจ้ามาแอบอยู่หลังม่านวันนี้ ถ้าท่านเข้าไปหลังม่าน ข้าพเจ้าจะแทงท่านให้ตายด้วยมีดซึ่งเตรียมไว้หลังม่านแล้ว เศรษฐีว่าไปเอามีดมาให้ดูหน่อยว่ามันใหญ่ขนาดไหนที่จะฆ่าข้าพเจ้าเนี่ย นายคนนั้นก็เข้าไปเอามีดมาวางเฉพาะหน้า มันก็น่ากลัวอยู่เหมือนกันนะ คมกริบเลย ถ้าแทงเข้าไปแล้วเป็นตายละ เศรษฐีว่า อ้าว... แล้วทำไมถึงไม่ฆ่าละ มีดก็อยู่ ตัวท่านก็อยู่ ข้าพเจ้าก็นั่งอยู่ ไม่มีอาวุธป้องกันตัวเลย ทำไมถึงไม่ฆ่า นายคนนั้นก็บอกว่า เมื่อก่อนนะอยากจะฆ่า แต่เดียวนี้ไม่อยากจะฆ่าแล้ว ทำไมถึงเลยเลิกอยากจะฆ่าเสียหล่ะ นายคนนั้นก็บอกว่า เพราะว่าท่านนี่ไม่ได้เจ็บแค้นในตัวข้าพเจ้า ข้าพเจ้านี่เจ็บแค้นในตัวท่านมานานแล้ว เล่าเรื่องเก่าให้ฟังว่าโกรธมาตั้งหลายปี ก็คิดว่าเมื่อทำไม่ได้ก็ทำวัตถุของท่านเศรษฐี ทำลายของๆ ท่าน ทำลายของท่านแล้วท่านยังสร้างใหม่ได้ แล้วก็ยังไม่โกรธข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะโกรธท่านได้อย่างไร จะทำร้ายท่านได้อย่างไร เมื่อท่านมีคุณ ทำความดีถึงขนาดนี้ ข้าพเจ้าจะทำร้ายท่านไม่ได้ เศรษฐีก็ยกโทษให้ ไม่ถือโทษโกรธตอบอะไร แล้วก็บอกว่า แล้วท่านคิดอะไรต่อไป เขาก็บอกว่าต่อไปนี้ ข้าพเจ้าจะไม่เป็นคนชั่วต่อไป ก็อยากจะเข้ามาบวชในพระศาสนา จะได้เป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าที่ดีงามต่อไป แล้วก็ได้เปลี่ยนชีวิตเข้าหาคุณงามความดีต่อไป อันนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ท่านเศรษฐีนะ ท่านรู้ อยู่อย่างผู้รู้ รู้ตามแบบพุทธ ที่เรียกว่า เป็นผู้รู้ จึงไม่วิตกกังวลในเรื่องอะไรต่างๆ
อกุศลคือบาป มันไม่แทรกเข้ามาในใจ ถ้าเราไม่รู้ บาปมันแทรกได้ มันแทรกแล้วมันมาทำร้ายเรา คนเราที่ทะเลาะเบาะแว้งกัน โกรธกัน จะกินเลือดกินเนื้อกันนี่ เพราะว่าไม่รู้ ว่าในขณะนั้นเรากำลังคิดอะไร เรากำลังทำอะไร อะไรมันอยู่ในใจของเรา เราไม่รู้ โดยเฉพาะคนหนุ่มๆ นี่ ที่ไม่ได้เข้าวัด ไม่ได้ฟังธรรม คือไม่ได้มีอะไรเป็นเครื่องห้ามล้อจิตใจ เขาอาจจะคิดอะไรในทางที่ผิดก็ได้ ไม่มีอะไรเป็นเครื่องห้ามล้อจิตใจ เขาก็อาจจะหุนหันพลันแล่น ใจร้อนใจเร็ว ใครมาทำอะไรให้แก่ตนสักนิดสักหน่อยก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมา เช่นเพื่อนพูดถ้อยคำที่ไม่ ไม่หวานหู พอฟังแล้วมันเหยียดหยามกู ตัวกูมันมาก มีความยึดถือในตัวมากไป มันเหยียดหยามกู มันจึงพูดคำเช่นนี้ แล้วก็โกรธขึ้นมา พอโกรธมาก็กระโดดชกปากมันเลย หรือกระโดดเตะมันเลย อย่างนี้เขาเรียกว่าไม่รู้ ไม่รู้ว่าคำพูดของคนนั้น มาจากอะไร ถ้ารู้ว่าไอ้คำพูดอย่างนี้มันมาจากฐานทางจิตใจที่เป็นบาป เป็นอกุศล เป็นคำพูดชั่ว ของชั่วมันติดมาจากใจชั่ว เมื่อใจชั่วจึงพูดความชั่ว ทำความชั่ว แสดงออกมาในรูปชั่วต่างๆ ถ้าเราไปโกรธคนนั้น มันก็ไม่เหมาะ ไม่ดี ถ้าเป็นผู้รู้ก็คิดได้อย่างนั้น เราไม่ควรจะไปโกรธเขา แต่ควรจะสงสารเขาในการที่เขาขาดคุณธรรม ไม่มีเครื่องรักษาใจ ไม่มีพระเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ แม้จะมีพระห้อยคออยู่ แต่เขาห้อยคออย่างคนโง่คนเขลา ไม่ได้ห้อยคอพระอย่างผู้มีปัญญา คนฉลาด คนมีปัญญาห้อยคอพระไว้เพื่อเป็นเครื่องสะกิดใจ ไม่ให้กระทำ พูด คิดในทางชั่ว ทางกรรม พระนั่นเป็นเครื่องเตือนใจ แต่นี่ห้อยคอไว้ด้วยความเขลา ไม่รู้เท่าถึงกาล เพราะว่าผู้ที่ให้พระ ก็เขลาเหมือนกัน คือให้แล้วก็บอก เออ เอาไปไว้ป้องกันตัว เป็นของขลัง มันเป็นเครื่องลางไป ไอ้คนที่รับไปก็หลงว่าพระช่วยป้องกันได้ ไม่ป้องกันตัวเอง ไม่ช่วยตัวเอง ความจริงป้องกันตนนั้นมันต้องป้องกันตนเอง อันนี้การป้องกันตนเองนั้นต้องประพฤติธรรม เช่นเรามีการละอายบาป ก็ป้องกันตัวเองได้ กลัวบาปก็ป้องกันตนเองได้ มีสติรู้เท่ารู้ทันต่อสิ่งนั้น มีปัญญาเข้าไปกำกับอยู่ ก็เรียกว่ามีเกราะป้องกันตัว เกราะนั้นก็คือพระธรรมนี่เอง
พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านี่เป็นเกราะป้องกันภัย แต่เราต้องเอามาสวมไว้ที่ใจ เอาเกราะแขวนไว้ มันป้องกันไม่ได้ เหมือนกับเกราะนักรบโบราณนี่ก็ต้องเอามาสวมทับ สวมแล้วก็ฟันไม่เข้า เพราะว่าติดเกราะ แต่ว่าบางทีก็แทงสอด ลอดเกราะ รูมี ล้มกับม้า ตายเหมือนกัน มันแทงตรงช่องที่มีเกราะต่อกัน เสือกเข้าไป หอกแทงเข้าไป ตายได้เหมือนกัน ลอดเกราะเข้าไป อันนี่เรามันต้องมีเกราะธรรม ถ้าพระธรรมเป็นเกราะเพชร ๗ ชั้นป้องกันภัย การที่จะเป็นเกราะได้ก็เพราะว่า เราเข้าใจว่าธรรมะนี่จะช่วยคุ้มครองเรา แต่เราจะต้องคุ้มครองธรรมะ คุ้มครองธรรมะก็คือเอาธรรมะมาใส่ไว้ในใจ มีอะไรมากระทบก็เอามาใช้ทันท่วงที เช่นถูกเขาด่า เราก็นึกได้ทันทีว่าคนที่ด่าเราเป็นคนเลว จิตใจต่ำ จึงได้พูดคำเช่นนั้นออกมา ถ้าเราจะตอบโต้เขาด้วยความเลวมันก็ไม่ดี เราควรจะอดทนไว้ ทำใจเย็นไว้ ไม่ตีตอบ ไม่ด่าตอบคนนั้น หรือว่าเราหนีไปซะ เพื่อไม่ให้เกิดเรื่อง มันก็ได้ แต่ว่าคนเราไม่ได้คิดอย่างนั้น คิดว่ามันเสียเหลี่ยมนักเลง การหนีนี่เป็นการเสียเหลี่ยม เขาจะดูหมิ่นว่าเป็นลูกตัวเมีย เป็นคนตัวเมีย คนไม่สู้อะไรอย่างนั้น เราสู้กับคนนี่มันยังไม่ดีอะไร สู้สู้กับกิเลศไม่ได้ เอาชนะคนนี่มันชนะไม่ถาวร แต่ถ้าเราเอาชนะกิเลศได้ เป็นชัยชนะที่สูงกว่า เรารู้หลักการอย่างนี้ เมื่อรู้หลักการอย่างนี้ ใครจะมาทำอะไรกับเรา ก็ทำเราไม่ได้ แทงทะลุเกราะเขาไปไม่ได้ เพราะเรามั่นคงอยู่ในสิ่งนั้น เราหัดมาอย่างนั้น เราฝึกมาอย่างนั้น คนหนุ่มนี่ถ้าได้ฝึก ทั้ง ๒ แบบ เรียกว่าฝึกการสู้รบยุทธวิธี เราฝึกในทางยุทธวิธี ฝ่ายกาย ฝ่ายจิตนี่ก็ต้องฝึกไว้ด้วย การฝึกฝ่ายจิตก็คือ ฝึกเอาชนะความคิดต่ำๆ ที่มันเกิดขึ้นในใจของเรา เราไม่ยอมให้ความชั่วครอบงำจิตใจ เราต้องเป็นไทไว้ เราจะไม่เป็นทาสของอารมณ์และสิ่งแวดล้อม เพราะถ้าเราเป็นไทนี่เราชนะ แต่ถ้าเราเป็นทาสเราแพ้ ถ้าใครมาด่าเรา เราไปด่าตอบเราแพ้ ใครท้าตีท้าต่อย เราก็ลงไปตีไปต่อยเราแพ้ เราไม่ชนะ แต่ถ้าเขามาทำอย่างนั้น เราเฉยซะ เราไม่ไปโต้ตอบด้วยความเป็นพาล เราไม่เพิ่มคนพาล ไม่เพิ่มปริมาณความชั่วให้เกิดขึ้นในสังคม เรียกว่าเราชนะ เป็นความชนะที่ประเสริฐ เป็นความชนะที่เราควรจะสร้างให้เกิดขึ้นในจิตใจของเรา แต่ว่าค่านิยมมันผิด คือนิยมการตีต่อย การเอาชนะกันด้วยกำลัง การเอาชนะกันด้วยกำลังนั้น ไม่ใช่วิสัยของมนุษย์ แต่เป็นวิสัยของสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานมันใช้กำลังท่าเดียว เพราะสัตว์เดรัจฉานไม่มีปัญญา ไม่มีความคิดอ่านในการที่จะทำอะไรให้มันดีขึ้น มันมีกำลังเท่าใด ก็พุ่งเข้าใส่ ควายเจอกันก็เข้าไปขวิดกัน วัวเจอกันก็ไปชนกัน สุนัขเจอกันก็ไปกัดกัน มันเป็นอย่างนั้น เดรัจฉานมันเป็นอย่างนั้น เดรัจฉานคือความโง่ ถ้าเราทำอะไรแบบโง่ๆ เราก็เป็เนสัตว์เดรัจฉานไป แต่ถ้าเราทำอะไรอย่างฉลาด เราก็เป็นมนุษย์ เป็นผู้มีปัญญา
คนหนุ่มนี่ต้องหัดทำตนให้เป็นคนฉลาด หัดทำตนให้เป็นคนมีปัญญาไว้ อย่านิยมในทางโง่ ทางเขลา อย่านิยมในการใช้กำลังกัน เพราะการใช้กำลังนั้นไม่ใช่วิสัยของมนุษย์ แต่เป็นวิสัยสัตว์ป่า เราเจริญกว่าสัตว์ป่า เราเป็นมนุษย์แปลว่าผู้ประเสริฐ มีฐานะ มีความเป็นอยู่ มีความเจริญทางร่างกาย ทางจิตใจดีกว่าสัตว์เดรัจฉาน เพราะฉะนั้นเราจะไม่ลดระดับจิตใจของเราให้ลงไปสู่ความตกต่ำ เป็นสัตว์เดรัจฉานขึ้นมาเป็นอันขาด อันนี้จะช่วยให้เราเจริญก้าวหน้าในชีวิต ในการงานดีกว่า คนหนุ่มต้องคิดอย่างนั้น อย่าเอาชนะกันด้วยความชั่ว เช่นไปเล่นกีฬา ยกกองไปเล่นกีฬากัน มักปรากฎบ่อยๆ คือไม่เล่นกีฬาอย่างมนุษย์ แต่ไปเล่นกีฬาอย่างสัตว์เดรัจฉาน ใช้ศอกใช้เข่าใช้ทุกอย่างเท่าที่จะใช้ได้ เพื่อเอาเปรียบผู้เล่น อย่างนี่เขาเรียกว่า ไม่ได้เล่นกีฬาเพื่อเพาะจิตใจ กีฬาไม่เป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลศทำคนให้เป็นคน แต่กีฬากลายเป็นเครื่องมือของการฝึกหัดเป็นสัตว์เดรัจฉานในสนามกีฬา ซึ่งปรากฎบ่อยๆ อันนี้เพราะว่าการอบรมจิตใจน้อย เราสอนแต่เรื่องเล่นทางกาย แต่ไม่สอนการฝึกจิตด้วย นักกีฬาจึงไม่เป็นนักกีฬาที่สมบูรณ์ เป็นนักกีฬาที่เอาเปรียบคนอื่น การเอาเปรียบคนอื่นนั้น ก็คือการแสดงออกซึ่งนิสัยชั่วในใจของเรา คนดูเขารู้ เขาเห็น ว่าใครเล่นดี เล่นเรียบร้อย เล่นอย่างสุภาพบุรุษ ใครเล่นแบบอันธพาล เสียชื่อสำนัก เสียชื่อครูบาอาจารย์ และตัวผู้เล่นเองก็ไม่อยู่ในความนิยมของประชาชน คนใดแม้จะเล่นแพ้ แต่เล่นสุภาพ คนก็ชมว่า เออ เขาเล่นดี มันดีตรงที่มีจิตใจสูง มีคุณธรรม แต่ถ้าจิตใจต่ำ แม้จะชนะ คนเขาไม่ปรบมือให้ เพราะถือว่า ชนะโดยความไม่เป็นธรรม อันนี้คือความเสื่อม เราที่เป็นคนหนุ่ม อยู่ในการอบรม ในสำนักครูบาอาจารย์อะไรก็ตาม จึงต้องถือหลักประจำใจว่า เราเป็นมนุษย์ เราจะเล่นอย่างมนุษย์ เราจะไม่ถอดคราบมนุษย์ทิ้งในสนาม แล้วกระโดดเข้างับกัน อย่างนั้นก็เป็นการไม่ถูกต้อง ไม่สมควร เป็นการเสียหายแก่ตน เสียหายแก่สำนักครูบาอาจารย์ จึงต้องคิดเป็นเครื่องเตือนใจไว้ จะไปไหน ไปกับใคร ไปสู่สถานที่ใดก็เหมือนกัน
ต้องคิดเตือนใจไว้ว่าเราจะไปอย่างมนุษย์ เราไม่ไปอย่างอมนุษย์ หรือไม่ไปอย่างคนโง่ คนเขลา แต่ไปอย่างคนฉลาด ถ้าเราไปอย่างคนฉลาดนี่ เพื่อนชวนไปในสถานที่บางอย่างนี่ เราไม่ไป เช่นชวนไปดื่มสุราเมรัยของมึนเมาเราไม่ไป ชวนเราไปบ่อนการพนัน เราไม่ไป ชวนเราไปเที่ยวตามซ่อง หาโรคภัยใส่ตัว เราก็ไม่ไป หรือชวนไปสนุกสนานสิ้นเปลืองเงินทอง ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่พ่อแม่ เราก็ไม่ไป หรือชวนให้เราเป็นคนไถลหลบเลี่ยงงาน เป็นคนเกียจคร้าน กระโดดร่มทิ้งงาน เราก็ไม่ไป ถ้าเราไม่ไปอย่างนี้แข็งใจไว้อย่างนี้ ก็เรียกว่าเราอยู่อย่างผู้ชนะ เป็นความชนะที่ถูกต้อง ตามระเบียบในทางพระศาสนา แต่ถ้าเราไปชนะในทางอื่น ก็เรียกว่า ผิดทาง การชนะที่ผิดทางนั้น คือการลดระดับจิตใจเราให้ตกต่ำ แต่การชนะโดยถูกทางนั้น คือการยกระดับจิตใจเราให้สูงขึ้น เราเป็นคนหนุ่มคนฉกรรจ์ ต้องมีหลักประจำใจไว้ว่า เราจะอยู่เพื่อความเจริญ เราจะอยู่เพื่อความสูงส่งของจิตใจ เราจะไม่ลดสภาพจิตใจลงไปสู่ภาวะที่ตกต่ำเป็นอันขาด เออ ให้คนหนุ่มนึกไว้อย่างนี้ ถ้านึกไว้อย่างนี้ทุกวัน ทุกเวลาแล้ว ไม่เสียผู้เสียคน ชีวิตจะไม่ตกต่ำ แต่จะมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป ในการศึกษา ในการปฏิบัติงาน คนดีย่อมได้รับผลดีเสมอละ ตรงกันข้าม คนชั่วก็ย่อมได้รับผลชั่วเสมอ แต่ถ้าเราคิด เราพูด เราทำ แต่เรื่องดี เราก็ดีขึ้น แต่ถ้าเราคิดพูดทำเรื่องชั่ว เราก็ตกต่ำลงไป เหมือนเอาดินหม้อมาทาหน้า แล้วเดินไปในหมู่ประชาชนที่สุภาพได้อย่างไร ก็หน้ามันดำไม่เหมือใคร ความชั่วเป็นของดำ ความดีเป็นของขาว ของสะอาด เราจึงต้องทำตัวเราให้สะอาดขึ้น ให้หมดจดขึ้นตลอดเวลา อย่าทำให้ตัวดำ เลอะเทอะเปรอะเปื้อน ด้วยสิ่งชั่ว สิ่งร้าย ตัวเราสบายใจ พ่อแม่สบายใจ ครูบาอาจารย์ก็สบายใจในคุณงามความดีของเรา การศึกษาก็เจริญก้าวหน้า ย่อมไปไกล คนดีนี่ไปไกล ไปสูง แต่คนชั่วนั้น มีแต่จะจมดินลงไปทุกวัน ทุกเวลา อันนี้เป็นหลักที่ เราที่เป็นคนหนุ่มพึงใส่ใจไว้ จดเป็นหลักประจำใจ ท่องบ่นมนต์นี้ไว้ ว่าเราจะอยู่เพื่อความก้าวหน้า เราอยู่เพื่อความสะอาด เพื่อความสงบของจิตใจ เราจะไม่ทำตนให้เป็นคนตกต่ำในชีวิตประจำวัน อย่างนี่เอาตัวรอด
คนเถ้าคนแก่ก็หมั่นเตือนลูกหลาน หมั่นพูด หมั่นสอนบ่อยๆ เอามานั่งใกล้ๆ คอยพูดจาแนะนำตักเตือน อย่าใช้คำดุ คำว่า แต่ว่าพูดจาแนะนำให้รู้จักผิดชอบชั่วดีอยู่ตลอดเวลา ถ้าเขาไปทำอะไรมาไม่เหมาะไม่ควร ไม่ควรเรียกมาดุ แต่ควรเรียกมาชี้แจง แสดงเหตุผลให้เขาเข้าใจว่า อะไรมันเป็นอะไร ถ้าเราทำอย่างนี้ อนาคตจะเป็นอย่างไร ถ้าเรางดจากสิ่งนี้ อนาคตจะเป็นอย่างไร ความจริงคนเรานะมันอยากดีทั้งนั้นแหละ อยากเจริญ อยากจะก้าวหน้ากันทั้งนั้นแหละ แต่ไม่รู้ว่าจะก้าวไปอย่างไร ไม่รู้ว่าความดีอยู่ที่ไหน สมควรทำอย่างไร ที่เขาทำนะ เขานึกว่าเขาถูกทั้งนั้นแหละ นึกว่าดีทั้งนั้น คนที่เป็นโจรเป็นผู้ร้าย มันนึกว่ามันเก่ง มันดีมันเด่นในสังคม มันนึกไปอย่างนั้น คือค่านิยมมันผิด เพราะได้รับความอบรมอย่างนั้น หรือได้เห็นสภาพสังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นไปในรูปอย่างนั้น แล้วเขาก็พอใจในสิ่งนั้น มีจุดหมายอย่างนั้นขึ้นในชีวิต จนกลายเป็นเสือร้ายไปได้ ผลที่สุดก็ต้องไปอยู่บางขวางกัน นี่มันเพราะว่ามันเข้าใจผิด เข้าใจไม่ถูก พ่อแม่ไม่ได้บอกให้เขาเข้าใจถูก บางทีพ่อแม่ก็ช่วยด้วยเหมือนกัน ส่งเสริมสนับสนุน คือไม่สอนนะคือสนับสนุน ถ้าลูกทำผิด พ่อแม่ไม่สอนนี่คือสนับสนุนความผิดนั้น แต่ถ้าเขาทำผิดแล้วเราเรียกมาสอนมาเตือนก็แสดงว่าเราไม่ชอบ แล้วบอกให้เขารู้ว่าสิ่งนั้นไม่ดี ทำแล้วจะเกิดปัญหาอนาคตวันข้างหน้า คอยบอกคอยเตือนกัน ก็ค่อยดีขึ้นเป็นลำดับ อันนี่เป็นเรื่องที่น่าคิด เราเป็นพุทธบริษัท ต้องอยู่อย่างผู้รู้ ผู้ตื่น มีความเบิกบานแจ่มใสในทางจิตใจด้วยการประกอบกิจที่เป็นคุณงามความดีไว้ตลอดเวลา อย่ากระทำอะไรที่เป็นสิ่งชั่วร้าย อันจะเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมโทรมแก่ชีวิตจิตใจเป็นอันขาด ชีวิตเราก็จะปลอดภัย คนที่ปลอดภัยมาแล้วก็นับว่าบุญ แต่คนที่เริ่มมาสู่เวทีโลกนี่นะ ผู้ที่เดินก่อน ต้องคอยดูคนข้างหลัง คอยชี้ คอยบอก คอยเตือนไว้ ให้ได้เกิดความสำนึก รู้สึกผิดชอบชั่วดี ได้เดินในทางที่ถูกที่ชอบต่อไป การช่วยกันอย่างนี่แหละ เป็นการช่วยที่ประเสริฐ เพราะช่วยคนให้เป็นคนดี นี่เป็นการช่วยที่ประเสริฐที่สุด อย่าเมินเชยต่อกิจการเหล่านี้ ช่วยทางวัตถุเป็นการช่วยภายนอก แต่ช่วยยกระดับจิตใจนี่เป็นการช่วยภายใน เป็นการช่วยที่แท้จริง ขอให้ญาติโยมได้เข้าใจอย่างนี้ด้วย
ดังแสดงมา ก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไป ก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที
- ปาฐกถาธรรมวันอาทิตย์ที่ ๓๐ ตุลาคม ปีพ.ศ. ๒๕๒๖