แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันอาทิตย์แรกของการออกพรรษา ตรงกับวันที่ ๒๓ ตุลาคม เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของเมืองไทยเรา คือเป็นวันที่ถวายเครื่องสักการะพระบรมรูปทรงม้า อันเป็นรูปเปรียบแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้า ซึ่งเราเรียกกันว่า”สมเด็จพระปิยมหาราช” เพราะพระองค์ทรงเป็นที่รักที่เคารพของประชาชน ตอนเช้านี้ญาติโยมที่เป็นข้าราชการก็ไปทำพิธีสักการบูชากันที่พระบรมรูปทรงม้าหน้าพระที่นั่งอนันตบ้าง ตามจังหวัดต่าง ๆ ก็จัดสักการบูชาที่ศาลากลาง เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นข้าราชการ ครูบาอาจารย์ก็ไปประชุมกันอยู่ที่นั่น แล้วก็วันอาทิตย์นี้ เป็นอาทิตย์แรกที่ญาติโยมทำพิธีการทอดกฐินกัน ก็มีการไปทอดกฐินกันมาก เพราะฉะนั้นพุทธบริษัทที่มาฟังธรรมในวันนี้ จึงดูขาดไปบ้าง เพราะว่าไปทอดกฐินกันตามหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เราได้ปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณ
สำหรับพวกเราที่มาประชุมกันทุกวันอาทิตย์ตลอดพรรษาฝนฟ้าไม่รบกวน นับว่าสะดวกสบายตลอดมา วันอาทิตย์นี้ก็เรียบร้อย ไม่เป็นไร แล้วต่อไปนี่ก็คงไม่ลำบากเรื่องฝนต่อไป เพราะว่าฤดูฝนกำลังจะหมดแล้ว และฤดูหนาวกำลังจะมาเยี่ยมเยียนบ้างเมืองเราต่อไป มันเป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลง ปีหนึ่งก็มีร้อน มีฝน มีหนาว สลับสับเปลี่ยนกันไป แต่ว่าบางปีมันก็หนาวมาก บางปีหนาวน้อย บางปีก็ฝนตกมาก บางปีก็ตกน้อย บางปีก็ร้อนมาก บางปีก็ร้อนน้อย อันนี้มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่มันเป็นอยู่อย่างนั้น เราอย่าไปทุกข์ร้อนกับเรื่องเหล่านั้นมากเกินไป แต่ให้รู้ว่าธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น หรือว่าธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย มันก็เป็นไปในรูปอย่างนั้น
ออกพรรษาแล้ว เราก็ไม่ควรออกจากสิ่งดีสิ่งงามที่เราเคยประพฤติปฏิบัติมา เพราะว่าในฤดูกาลเข้าพรรษาสามเดือน ได้ตั้งจิตอธิษฐานในการที่จะทำคุณงามความดี เช่นจะมาวัดทุกวันอาทิตย์บ้าง จะถือศีลให้เคร่งครัดบ้าง จะสวดมนต์ไหว้พระบ้าง หรือจะทำอะไรที่เป็นบุญเป็นกุศลต่าง ๆ นานา ก็ได้ทำมาตลอดระยะสามเดือน ครั้นเมื่อครบสามเดือนแล้วเราจะหยุดทำเสีย อย่างนั้นจะดีหรือไม่ สมมุติว่าเรากินข้าวเพียงสามเดือน แล้วก็พอพ้นนั้นเราก็ไม่กิน อย่างนี้ชีวิตเราจะอยู่ได้หรือไม่ หรือเราอาบน้ำเพียงสามเดือน พ้นนั้นแล้วเราก็ไม่อาบน้ำ อย่างนี้ก็เป็นเรื่องที่เรียกว่าไม่ถูกต้อง (04.30)
ในพรรษามันสามเดือนเท่านั้น มันน้อย แต่ออกพรรษามันตั้งเก้าเดือน เพราะฉะนั้นเราควรจะทำดีเก้าเดือน ดีกว่าทำดีเพียงสามเดือน เพราะฉะนั้นแม้ออกพรรษาแล้ว เราก็อย่าได้ออกไปจากคุณงามความดี แต่เราควรจะได้กระทำความดีสืบต่อ ๆ ไป คือให้พิจารณาว่าในฤดูกาลเข้าพรรษานี่ เราได้กระทำความดีอะไรบ้าง แล้วให้คุณอย่างไรแก่ชีวิตของเรา ให้คุณอย่างไรแก่การเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน เรามองเห็นว่ามันเป็นคุณเป็นประโยชน์ แล้วเมื่อเห็นว่าเป็นคุณเป็นประโยชน์แล้ว เราจะมารื้อเสียทำไม เราก็ควรจะทำต่อไป
ความจริงการกระทำความดีนั้น เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องกระทำตลอดไป (05.26) ไม่ได้จำกัดเวลา ไม่ได้จำกัดเหตุการณ์ แต่ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องทำทุกวัน ทุกเวลา เหมือนกับลมหายใจ เราจะหยุดหายใจสักห้านาทีนี่จะได้หรือไม่ หรือว่าหยุดเสียสักสองสามนาทีจะได้หรือไม่ มันไม่ได้ เพราะสมองนี่ต้องการออกซิเจนสำหรับใช้หล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา ถ้าออกซิเจนไม่ขึ้นไปเลี้ยงสมอง คนนั้นจะเป็นอัมพาต จะเป็นเจ้าหญิงนิทราไป เหมือนกับเด็กหญิงคนหนึ่งที่เป็นลูกทางนี้ ก็สมองไม่ทำงาน นอนเฉยอยู่ตลอดเวลา ไม่ยิ้มกับใคร ไม่พูดกับใคร ตาก็ไม่กลอกไปกลอกมา แข้งขาก็ยกไม่ขึ้น นั่นเพราะเหตุว่าสมองไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยง เพียงสักแต่ว่าหายใจอยู่เท่านั้นเอง เครื่องมันขัดข้อง แล้วก็เลยเสียไปหมดทั้งเนื้อทั้งตัว อันนี้เป็นเรื่องที่ทำให้เสียหายทางร่างกาย
จิตใจเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่มีธรรมะไปเลี้ยงจิตใจของเราไว้ จิตใจเราก็จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ความตกต่ำทันที จึงต้องเลี้ยงไว้ด้วยความดีตลอดเวลา ต้องทำดีเรื่อยไปตราบใดที่เรายังมีชีวิตมีลมหายใจเข้าออก เราก็ต้องคิดในเรื่องดี พูดในเรื่องดี กระทำแต่ในเรื่องดีอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ความทุกข์ ความเดือนร้อนใจเกิดขึ้นแก่ชีวิตของเรา โดยอาศัยธรรมะเป็นเกราะป้องกัน เอาธรรมะมาเป็นหลักคุ้มครองรักษาไว้ เราก็จะอยู่ด้วยความสุข อยู่ด้วยความสงบตลอดไป
เราทุกคนต้องการความสุขความสงบในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องการความทุกข์ความเดือดร้อน เมื่อเราไม่ต้องการความทุกข์ความเดือดร้อน เราก็ต้องหาธรรมะมาไว้เป็นหลักครองใจ เราก็จะได้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป ประเทศไทยเรานั้นที่ได้อยู่รอดปลอดภัยมาได้ ก็โดยอาศัยผู้หลักผู้ใหญ่ที่ครองบ้านครองเมือง ท่านประพฤติธรรมกันมาทั้งนั้น ให้เราศึกษาประวัติดู
วันนี้เป็นวันที่เรามาระลึกถึงความงามความดีของในหลวงรัชกาลที่ห้า ที่เราเรียกว่า”พระปิยมหาราช” สมเด็จพระปิยมหาราช หรือพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับว่าเป็นกษัตริย์ที่สำคัญองค์หนึ่งของกรุงเทพมหานคร เพราะเป็นกษัตริย์ที่พาประเทศชาติรอดพ้นจากปากเหยี่ยวปากกาของพวกแสวงหาเมืองขึ้นมาได้เรียบร้อย แล้วก็ได้ทรงปฏิวัติการเป็นอยู่ การปฏิบัติงาน จัดตั้งระเบียบแบบแผนอะไรต่าง ๆ มากมายหลายเรื่องหลายประการ ซึ่งเป็นการปรับปรุงให้ทันสมัย เช่นทรงตั้งกระทรวงหลายกระทรวงขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ กระทรวงต่าง ๆ ที่เราเห็นมีอยู่ในเวลานี้ เกิดขึ้นในสมัยของพระองค์ทั้งนั้น ทรงเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองบ้านเมือง ให้มีระเบียบมากขึ้นหลายเรื่องหลายประการ ทำให้กิจการทั้งหลายก้าวหน้า เป็นไปด้วยดี ตามสมควรแก่กาลแก่สมัย
ในสมัยที่พระองค์ครองเมืองนั้น พลเมืองไทยยังไม่มากเท่าใด ก็มีประมาณเพียงหกล้านหรืออะไรขนาดนั้น แล้วก็การไปมาก็ยังไม่สะดวก พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จไปเยี่ยมเยียนประชาชนตามสถานที่ต่าง ๆ เหมือนยุคปัจจุบันนี้ ย่อมไปไม่ได้ เพราะไม่มีทาง แต่ว่าพระองค์ก็ยังอุตส่าห์เสด็จไป เยี่ยมประชาชนภาคเหนือ ไปภาคใต้ ไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ได้เสด็จไป ไปด้วยกระบวนช้างบ้าง ไปอะไรบ้าง เดินทางไปเยี่ยมเยียนประชาชน เช่นไปปักษ์ใต้นี่ บางแห่งก็ต้องทรงช้างไป เช่นทรงช้างไปจากทะเลสาบพัทลุง สงขลา เดินทางข้ามภูเขากั้นเขตแดนระหว่างพัทลุงกับตรัง แล้วก็ไปจังหวัดตรัง ไปเรื่อยไป มีที่ไหนก็สร้างที่ประทับไว้ ก็ได้ตั้งชื่อบ้านชื่อเมืองไว้เป็นที่ระลึก เช่นจังหวัดตรัง ในตัวเมืองเขาเรียกว่า “ทับเที่ยง” เพราะว่าในหลวงเสด็จไปถึงนั้น มันตอนเที่ยงพอดี แล้วก็สร้างพลับพลาเป็นที่ประทับ พลับพลานี่ถือว่าที่พักที่ทางภาษาใต้เขาเรียกว่า “ทับ” (10.36) ทับคือเรือนชั่วคราวที่สร้างขึ้นสำหรับเป็นที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่นว่าเราจะไปบวชนาคที่ในวัด โรงครัวมันไม่พอ เราไปสร้างโรงชั่วคราวขึ้นสำหรับทำครัวเลี้ยงแขกเลี้ยงเหรื่อ อันนี้เขาเรียกว่า”ทับ” เวลามีงานศพก็ต้องไปตั้ง”ทับ”ขึ้นในวัด สร้างเป็นโรงยาว มีที่หุงข้าวต้มแกง ที่เลี้ยงแขกเลี้ยงเหรื่อ เรียกว่า”ทับ” ในหลวงเสด็จไปไหน เขาก็ไปสร้าง”ทับ”รับรองไว้ แต่เรียกตามภาษาราชการเขาเรียกว่า”พลับพลา”
“พลับพลา” เป็นที่ประทับในที่นั้น ๆ สร้างเป็นแห่ง เป็นแห่งไป ที่ทางผ่านพัทลุงนี่ก็มีสร้างที่บ้านนาวงแห่งหนึ่ง ซึ่งใกล้จะขึ้นภูเขาข้ามไปจังหวัดตรัง แล้วก็เมื่อข้ามภูเขาไปแล้วก็ไปถึงตลาดที่เป็นตัวเมืองเดี๋ยวนี้ เขาเรียกว่า”ตลาดทับเที่ยง” เพราะในหลวงเสด็จไปถึงนั้นเวลาเที่ยง ประทับเสวยพระกระยาหาร จึงได้เรียกว่า”บ้านทับเที่ยง”มาจนกระทั่งทุกวันนี้ หรือว่าบางแห่งเขาเรียกว่า”ทับหลวง” “บ้านทับหลวง”ก็มี เป็นเรื่องเกี่ยวกับเสด็จประพาสไปที่นั่นที่นี่ทั้งนั้น พระองค์ได้เสด็จไปเยี่ยมเยียนประชาชนตามสถานที่ต่าง ๆ แล้วก็มีการเสด็จประพาสชนิดหนึ่งเรียกว่า”ประพาสต้น”
“เสด็จประพาสต้น”คือปลอมแปลงพระองค์ไป ไปกันไม่ให้ใครรู้ สมัยนั้นโทรทัศน์ไม่มี หนังสือพิมพ์ก็มีน้อย คนไม่ค่อยได้เห็นรูปพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ก็ปลอมพระองค์ไป ไปอย่างคนสามัญ นั่งเรือไป เรือแจว เรืออะไร เรือยนต์ก็ไปกัน ไปถึงบ้านใครก็พักหน้าบ้าน ขึ้นไปบนบ้านเขา ไปรับประทานอาหารที่เจ้าบ้านเขาทำต้อนรับ โดยไม่รู้ว่าแขกที่มาสู่บ้านนั้น เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ว่าเวลาเลี้ยงไป เลี้ยงไปนี่ ไอ้เด็กลูกชายนั่งมองไป มองไป แล้วก็บอก “แม่นแล้ว แม่นแล้ว” เลยไปเอารูปมาเปรียบเทียบ รูปที่ใส่กรอบไว้มาเปรียบเทียบดู โอ้ ตรงกัน เลยกลแตก รู้ว่าเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไป ชาวบ้านก็ดีอกดีใจที่ในหลวงท่านเสด็จขึ้นมาบนบ้าน แล้วยังได้มีโอกาสเลี้ยงด้วย ก็เลี้ยงกับข้าวธรรมดานะ แกงต้มโคล้ง ต้มยำ แกงผักบุ้ง น้ำพริก ผักกะเฉด ของธรรมดาที่เขารับประทานกัน ในหลวงท่านก็รับประทานได้ เอร็ดอร่อยเหมือนกัน ทำให้เจ้าบ้านเขาพออกพอใจในเรื่องต่าง ๆ เสด็จไปตามบ้าน ไปที่นั่นที่นี่ เขาเรียกว่า”เสด็จประพาสต้น” แล้วในวังดุสิตนี่ สร้างเรือนไว้หลังหนึ่ง เขาเรียกว่า”เรือนต้น”
มิตรสหายที่ได้ไปพบกันคราวเสด็จประพาสต้นนี่ ถ้ามาเฝ้าต้องไปเฝ้าที่เรือนต้น ไปเฝ้าเรือนนั้น พระองค์ก็เสด็จไปต้อนรับที่นั่น เป็นกันเอง ทำให้คนเหล่านั้นสบายอก สบายใจ มีครั้งหนึ่งเรียกว่าไปบ้านของคนชื่อ”ช้าง” “นายช้าง” ที่อยุธยา ก็ขึ้นไปรับประทานอาหารอะไรกัน กรมหลวงสรรพศาสตร์นี่เข้าไปในครัว เขากำลังแกงอยู่ เลยเอากระจ่าตักน้ำแกงมาชิม แหม คนที่ทำครัวบอก “ทำอย่างนั้นไม่ได้ เอากระจ่ามาชิมแกง ไม่เข้าเรื่อง” ดุเอาเสียด้วย ดุเอาเสด็จในกรม ท่านก็ยิ้ม ยิ้ม ไปตามเรื่อง ไม่โกรธไม่เคืองอะไร ก็เสวยพระกระยาหาร คุยกัน
เจ้าของบ้านบอกว่า “ลูกชายมาเรียนหนังสืออยู่ที่วัดเบญจมบพิตร เรียนบาลี” พระองค์ได้ทราบก็ดีพระทัยแล้ว เพราะเป็นวัดที่พระองค์สร้าง แล้วก็ถามว่า “ต้องการอะไรบ้าง” บอกว่า “อยากจะได้ปืนไว้สักกระบอกหนึ่ง เพื่อไว้ป้องกันทรัพย์สมบัติ” ในหลวงท่านกลับมาแล้วก็ซื้อปืนให้แก่เจ้าของบ้านนั้นหนึ่งกระบอก แล้วให้มารับที่กรุงเทพฯ ก็ไปรับที่เรือนต้น ไม่ได้ไปรับที่พระบรมมหาราชวังอะไร ต้อนรับกันที่นั่น แต่เขารู้แล้วว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่แสดงเรื่องว่าพระองค์เป็นกันเองกับประชาชน พยายามที่จะเข้าคลุกคลีกับราษฎรเหมือนในหลวงองค์ปัจจุบันของเรา ได้ทรงคลุกคลีกับประชาชนด้วยประการต่าง ๆ น้ำท่วมก็เสด็จไป มีอะไรเกิดขึ้นก็เสด็จไปเยี่ยมไปเยียน ให้เขาได้เห็นพระองค์แล้วเกิดความสบายอกสบายใจ (15.48) อันนี้เป็นเรื่องที่ทำกันมาตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ห้าของเรา
ในเรื่องเกี่ยวกับทำนุบำรุงอะไรต่าง ๆ นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้า ทรงบำรุงทุกด้านทุกอย่าง ให้ก้าวหน้าเป็นไปด้วยดี เช่นเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา สมัยก่อนคนที่จะได้รับการศึกษาก็เป็นลูกขุนน้ำขุนนาง แต่ว่าประชาชนราษฎรนั้นไม่ค่อยมีโอกาสได้เรียน พระองค์ก็ตั้งโรงเรียนขึ้น แล้วก็เขียนไว้ว่า จะเป็นลูกเจ้า ลูกไพร่ อะไรก็ตาม ต้องได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนให้มีความรู้เสมอเหมือนกัน อันนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงพระดำริในเรื่องอย่างนั้นแล้วก็ส่งคนไปเรียนเมืองนอก พระโอรสของพระองค์นี่ส่งไปเรียนต่างประเทศ
เวลาจะส่งไปต่างประเทศ พระองค์ได้แนะนำพระโอรสทั้งหลายว่า อย่าไปอย่างลูกเจ้า ให้ไปอยู่อย่างลูกคนสามัญ เวลาไปไหน อย่าไปแสดงตัวว่าเป็นลูกเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เพราะถ้าเป็นลูกเจ้าแผ่นดิน ซื้อของมันแพง เวลาเข้าไปในร้านไหน เขาว่า เจ้าชายเข้ามาแล้ว ไอ้ของห้าบาทมันจะขึ้นเป็นสิบบาทขึ้นมา เพราะมันขายเจ้าชาย มันต้องแพงหน่อย การเป็นการอยู่อะไรมันลำบาก เป็นเจ้าเป็นนาย ให้ไปอยู่อย่างคนธรรมดาสามัญ ประพฤติพระองค์เยี่ยงคนธรรมดา ระเบียบอะไรในโรงเรียน ในวิทยาลัย ที่เขาประพฤติปฏิบัติกันอย่างใด ไม่มีข้อยกเว้น ต้องทำทุกสิ่งทุกประการ
เพราะฉะนั้นจึงทราบว่า เจ้านายที่ไปเรียนนี่ สมมุติว่านักศึกษาจะต้องล้างห้องส้วม ทุกพระองค์ก็ต้องไปล้างเหมือนกัน ต้องกวาดขยะ ต้องล้างจาน ต้องทำอะไรทุกอย่าง การที่ให้ทรงกระทำเช่นนั้น ก็เพื่อให้รู้ว่าชีวิตคนเรามันมีหลายแบบ คนลำบากก็มี คนไม่ลำบากก็มี คนจนก็มี คนร่ำรวยก็มี มันต้องมองโลกให้มันเห็นทั่วถึง ไม่ใช่มองอยู่เฉพาะในกำแพงวัง หรือเฉพาะในเรื่องที่อยู่แคบๆ แต่ให้รู้เห็นอะไรอย่างกว้างขวาง เมืองไทยนั้นมันไม่สะดวกหรอกที่จะไปกระทำเช่นนั้น เพราะคนเขาให้เกียรติแก่พระราชวงศ์ อย่าว่าไปทำของต่ำๆ เลย
สมเด็จพระบิดาของในหลวงองค์ปัจจุบัน ทรงเรียนแพทย์ เพราะเห็นว่าการแพทย์เมืองไทยยังไม่ก้าวหน้าในสมัยนั้น เลยเอาพระองค์มาเป็นแพทย์เสียเองเลย ไม่เรียนวิชาการทหารหรือวิชาการปกครองหรือวิชาที่พระโอรสของพระเจ้าแผ่นดินจะพึงเรียน แต่ไปทรงเรียนแพทย์ จุดมุ่งหมายก็เพื่อจะมาเป็นแพทย์ รักษาประชาชน ส่งเสริมการแพทย์ให้เจริญขึ้นในเมืองไทย แล้วก็เจริญขึ้นได้สมพระราชประสงค์เหมือนกัน เวลาจบแล้วก็มาเป็นแพทย์ที่ศิริราช คนทั้งหลายก็ไม่ค่อยให้รักษา เพราะเป็นเจ้าฟ้าเขาก็ไม่อยากรักษา ไม่มีคนไข้ให้พระองค์รักษา ไม่มีคนไข้ให้พระองค์ตรวจสอบ ก็ทำให้อึดอัดพระทัย เพราะว่าคนเขาเกรงใจ เขากลัว อะไรอย่างนั้น ทีนี้ก็เลยทำไม่ได้ที่ศิริราช ต้องไปอยู่เชียงใหม่ ที่นั่นมีโรงพยาบาลแมคคอมิค เป็นของพวกมิชชันนารี ฝรั่งเขาอยู่กัน ท่านก็เลยไปเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลนั้น รักษาชาวเชียงใหม่ต่อไป แต่ว่าชีวิตของพระองค์ อนามัยไม่ค่อยจะดี เมื่อไปอยู่เชียงใหม่ก็เกิดพระประชวร แล้วเสด็จกลับกรุงเทพฯ มารักษา ผลที่สุดก็สิ้นพระชนม์ไป เมื่อพระชนมายุยังไม่มากเท่าใด ถ้าอยู่ไปก็จะเป็นประโยชน์แก่ชาติแก่บ้านเมืองไม่ใช่น้อย
พระองค์ส่งพระโอรสไปศึกษา เพื่อให้มาทำประโยชน์แก่ชาติแก่บ้านเมือง แล้วการส่งลูกไปศึกษา เขาเรียกว่าเป็นนโยบายทางการเมืองเหมือนกัน ส่งไปประเทศใหญ่ ๆ ทุกประเทศ เช่นส่งกรมหลวงพิษณุโลกฯ ไปเรียนการทหารที่ประเทศรัสเซีย ซึ่งสมัยนั้นรัสเซียมันยังไม่แดง ยังมีพระเจ้าแผ่นดินคือพระเจ้าซาร์เป็นผู้ครอบครองอยู่ในสมัยนั้น ก็ส่งไปให้อยู่ที่นั่น มอบหมายไปว่า ให้ดูแลเหมือนกับเป็นโอรสของพระองค์ด้วย เขาก็ดูแลการเล่าการเรียนเป็นอย่างดี แล้วก็ส่งองค์อื่นไปประเทศเยอรมันบ้าง ไปประเทศอังกฤษบ้าง (21.03) ไปประเทศต่าง ๆ สมัยนั้นกับอเมริกายังติดต่อกันน้อย ไปมาไม่สะดวก ก็เลยไปแต่ประเทศยุโรป
การส่งไปเรียนก็เพื่อผูกมิตรไมตรีกับประเทศเหล่านั้น เวลาส่งพระโอรสไปเรียน ไม่ให้ไปแต่ลำพังพระโอรส แต่ให้คนสามัญที่ไม่ใช่ราชวงศ์ไปด้วย ไปเรียนคู่กัน เพื่อจะได้เกิดการแข่งขันกัน ถ้าราษฎรที่ไปเรียน เก่ง พระโอรสก็จะนึกว่า แหม! เราเป็นโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นเจ้าฟ้า เรียนสู้ไอ้นี่ไม่ได้ ไม่ได้มันต้องขยันหน่อย ก็ต้องเกิดอารมณ์แข่งกันขึ้นกับคนที่ไปเรียนด้วย ไม่ใช่ให้ไปอย่างเจ้า แต่ให้ไปอย่างประชาชนธรรมดาสามัญ ให้ไปเรียนอย่างนั้น แล้วคนที่ไปคุมลูกพระเจ้าแผ่นดินก็ไม่ใช่พระราชวงศ์ แต่เป็นข้าราชการธรรมดา เช่นว่าเมื่อส่งพระโอรส 4 พระองค์ กรมหลวงจันทบุรี นครชัยศรี ราชบุรี ปราจิณกิติบดี สี่องค์นี่เป็นรุ่นแรก ส่งไป ก็ส่งเจ้าพระยายมราช สมัยนั้นยังไม่เป็นเจ้าพระยา เป็นหลวงวิจิตรวรศาสตร์ ให้ไปดูแลลูกของพระเจ้าแผ่นดิน ท่านทำอย่างนั้น ก็เพื่อจะให้ควบคุม ดูแล เอาใจใส่
แล้วคนในสมัยก่อนเขารักหน้าที่ เมื่อให้ดูแล เขาก็ตักเตือนพระโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ใช่ปล่อยไปตามเนื้อตามใจจะไปเที่ยวไหนสนุกอย่างไรก็ได้ ไม่เหมือนคนสมัยนี้ ถ้าให้ไปดูแลก็สุดแล้วเจ้านายจะทำอะไร ไม่เตือนไม่สั่งไม่สอน เจ้านายก็เสียหายไป แต่สมัยนั้นเขาสอน เขาเตือน เขาแนะนำ แล้วพระโอรสก็เชื่อฟังผู้แนะนำตักเตือน เพราะเสด็จพ่อสั่งไปแล้วว่าต้องฟังคำเตือนของผู้ที่เป็นพี่เลี้ยง ถ้าทำอะไรผิดก็จะเสียหาย เกิดขึ้นไม่ได้
แล้วเมื่อส่งไปแล้วต้องให้เขียนจดหมายมาถึงพ่อทุกเดือน เขียนเป็นสองภาษา เขียนภาษาอังกฤษด้วย เขียนภาษาไทยด้วย ทำไมต้องทำอย่างนั้น เพื่อตรวจสอบว่าไปอยู่เมืองนอก ภาษาไทยมันเป็นอย่างไร แล้วเรียนภาษาอังกฤษได้ขนาดไหน มีความรู้ใช้ภาษาถูกต้องหรือไม่ เราลองคิดดู พ่ออย่างนี้หายากเต็มที พ่อที่เอาใจใส่ต่อความเป็นอยู่ของลูก แม้ไปอยู่เมืองนอกแล้วก็ยังควบคุมไป
แล้วก็เรื่องเงินทองก็ยังสั่งเสียว่า การใช้เงินทองอย่าใช้สุรุ่ยสุร่าย เงินที่ให้ไม่ใช่เงินราชการ ไม่ใช่เงินของแผ่นดิน เป็นทรัพย์ส่วนตัวของพ่อ ถ้าเอาเงินของราชการ เงินของแผ่นดินไปให้ เดี๋ยวลูกเรียนไม่สำเร็จ เขาก็จะติจะว่าได้ว่า พระเจ้าแผ่นดินเอาเงินประชาชนไปใช้ แล้วก็เรียนไม่ได้ประโยชน์ ท่านไม่ทำอย่างนั้น ท่านเคารพต่อกติกา เคารพต่อผลประโยชน์ของผู้อื่น เลยไม่เอา เอาแต่ทรัพย์ส่วนพระองค์ พระเจ้าแผ่นดินท่านก็มีทรัพย์ส่วนพระองค์เหมือนกัน ไม่ใช่ไม่มี แล้วท่านก็ส่งเงินนั้นไปให้ลูกเรียนหนังสือ
ปรากฏว่าพระโอรสที่ไปเรียน เรียนเก่ง สำเร็จมาทั้งนั้น แล้วก็มาทำประโยชน์แก่ชาติ แก่บ้านเมือง เด่น ๆ ทุกคนในหน้าที่ของตน เช่นว่า คนหนึ่งไปเรียนทหารเรือ ก็มาปรับปรุงกองทัพเรือ กรมหลวงพิษณุโลกฯ ไปเรียนกองทัพบก ก็มาปรับปรุงกองทัพบก ช่วยกันทำงาน กรมพระกำแพงเพชรก็เรียนเรื่องเอนจิเนีย วิศวะ ก็มาปรับปรุงรถไฟ เป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์ ทำอะไรก้าวหน้า เป็นไปด้วยดี เจริญงอกงาม นี่คือพ่อที่เป็นตัวอย่างกับลูกในครอบครัว พระองค์ได้กระทำอย่างเรียบร้อย
ทีนี้ ในสมัยนั้นการปกครองบ้านเมือง ต้องส่งคนไปเป็นผู้ปกครอง คือเจ้าเมือง ไปดูแลประชาชนในจังหวัดนั้น ๆ (25.31) ก็ทรงเลือกคนที่เรียกว่า“ไว้วางใจ” เพราะสมัยนั้นการไปมาก็ไม่สะดวก ถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น กว่าจะรู้เรื่องมันก็นาน จึงคัดเลือกคนอย่างดี ให้ไปเป็นเทศาบ้าง ให้ไปเป็นเจ้าเมืองบ้าง ทำงานต่างพระเนตรพระกรรณของพระองค์ ทางเลือกเรียกว่า”ใช้คนเป็น” ใช้คนเหมาะแก่งาน งานการของประเทศก็เจริญก้าวหน้า เป็นไปด้วยดี อันนี้เป็นเรื่องที่พระองค์ได้ทรงกระทำแก่ชาติแก่บ้านเมืองของเรา
ในเรื่องการศึกษาก็ปรับปรุงตั้งแต่โรงเรียนเริ่มเรียนชั้นประถม เปิดโรงเรียนขึ้นในวังให้คนเข้าไปเรียนได้ แล้วก็เปิดโรงเรียนที่อื่น เช่นในกรุงเทพฯ นี่ โรงเรียนวัดมหรรพเรียกว่าเป็นโรงเรียนแรกของกรุงเทพฯ ก็ว่าได้ เวลานี้ โรงเรียนวัด มหรรพนี่ โรงเรียนชั้นประถม คนที่อายุแปดสิบ เก้าสิบ มักจะเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนนี้ เพราะเป็นโรงเรียนที่เปิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ห้า เพื่อให้คนได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนในวิชานั้น ๆ
หัวบ้านหัวเมือง เมื่อจะจัดการศึกษา พระองค์ก็เห็นว่าต้องขอความช่วยเหลือจากพระ เพราะว่าพระมีอยู่ทั่วไป เวลานั้นครูยังไม่มี และไม่มีโรงเรียนฝึกหัดครู จะเอาครูไปสอนก็ยังไม่สะดวก ก็เลยให้พระนี่แหละเป็นครูช่วยสอน การที่จะให้พระเป็นครูนี่ทรงทำอย่างไร พระองค์ก็ปรึกษาหัวหน้าพระคือพระสังฆราช พระสังฆราชในสมัยนั้นก็เป็นน้องของท่านเองคือ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส เรียกว่าเป็นน้องต่างพระมารดากัน มาบวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ เป็นพระสังฆราช เป็นพระมหาสมณเจ้า ก็ทรงปรึกษาว่า จะทำอย่างไรเกี่ยวกับการศึกษา พระจะช่วยได้หรือไม่ สมเด็จท่านก็ว่า พระช่วยได้ แล้วท่านก็เปิดอบรมพระขึ้น เพื่อให้ไปเป็นครู ไปดำเนินการศึกษาตามต่างจังหวัด แล้วเมื่ออบรมเสร็จแล้ว ก็ส่งพระเหล่านั้นไปดำเนินงาน ไปเปิดโรงเรียนขึ้นตามสถานที่ต่าง ๆ
โดยเฉพาะภาคใต้ในสมัยนั้น พระชื่อ”ท่านมหาม่วง” เปรียญสี่ประโยค มาอยู่วัดบวรฯ ก็ได้รับการอบรมส่งเสริม แล้วก็ส่งไปอยู่ที่นครศรีธรรมราช ท่านก็ไปเปิดโรงเรียนเบญจมราชูทิศขึ้นที่นครฯ แล้วไปเปิดโรงเรียนที่จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา ตามอำเภอต่าง ๆ เปิดไปทุกแห่งที่ให้เด็กได้ศึกษาเล่าเรียน แต่ว่าที่เด่นก็ที่เมืองนครฯ เป็นสำนักแรก คนก็ได้เล่าได้เรียน คนเมืองนครได้ดิบได้ดีมีความก้าวหน้า มาเป็นข้าราชการผู้หลักผู้ใหญ่ ก็อาศัยโรงเรียนนั้นเป็นสถานที่ให้การศึกษาเล่าเรียน เป็นโรงเรียนที่พระตั้งขึ้น แล้วก็ใช้พระเป็นผู้สอนมาก่อน ต่อมาเมื่อกิจการเจริญขึ้นก็ให้ครูคฤหัสถ์ช่วยสอน แล้วต่อมาพระก็วางมือไป เพราะว่าชาวบ้านเขามีมากขึ้น ให้เขาสอนกันไป ชั้นแรกก็ตั้งอยู่ในวัด แต่ต่อมาก็ย้ายออกไปหน้าวัดคือก่อนนี้มันเรียนกันในศาลา ศาลาการเปรียญ แล้วต่อมาพระท่านสร้างโรงเรียนให้ ก็อยู่ในบริเวณวัด
ต่อมาก็สมัยใหม่นี่เขาพยายามที่จะเอาโรงเรียนออกไปนอกวัดกัน ไม่รู้ว่าเรื่องอะไร แล้วคำว่า”วัด”นำหน้านี่เขาก็ตัดออกเวลานี้ เช่นโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์นี่ เขาเรียกโรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนวัดนั้นวัดนี้ เขาตัด”วัด”ออกไป ไม่รู้ว่ากระทรวงศึกษาเกิดอารมณ์เสียอะไรขึ้นมา ตัดคำว่า”วัด”ออก กลัวว่าเด็กจะน้อยใจว่าไปเรียนโรงเรียนวัดหรือว่าอย่างไรก็ไม่รู้ หรือเขามองวัดเป็นเรื่องอะไรไปก็ไม่รู้ ไอ้สมัยก่อนโรงเรียนโบสถ์สามเสน (30.00) ก็มีชื่อว่าไปเรียนโรงเรียนวัดโบสถ์ โรงเรียนวัดนั้น โรงเรียนวัดนี้ ก็ไม่เห็นเด็กมันเสียหาย แล้วคนที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในเมืองไทยสมัยก่อน ก็เรียนมาจากวัดนั่นละ ไม่ได้เรียนมาจากที่ไหน ถึงไม่ได้เรียนที่วัด ก็เรียนโรงเรียนในวัด โรงเรียนวัดมหาธาตุ โรงเรียนวัดบวร โรงเรียนวัดราษฎร์บพิตร โรงเรียนวัดนั้นวัดนี้ที่เขาตั้งขึ้น มีเกือบทุกวัด (30.27) ก็ได้เรียน ได้ศึกษา แล้วออกมา แต่ว่าคนที่เป็นใหญ่เป็นโตสมัยนี้ไปเรียนเมืองนอก แล้วก็ไปติดโรคฝรั่งมา แล้วก็มาเปลี่ยนอะไร ๆ หลายอย่างเพื่อให้มันทันสมัย
ความจริงในหลวงของเรานั้น ท่านก็ไปเมืองนอกมาเหมือนกัน เสด็จประพาสยุโรป การเสด็จประพาสยุโรปนี่ นับว่านำสิ่งเป็นประโยชน์มาให้แก่บ้านเมืองมากมาย เพราะได้ไปทรงเห็นความเจริญก้าวหน้าของประเทศตะวันตก แล้วก็ทรงเห็นว่าฐานแห่งความเจริญอยู่ที่การศึกษาเล่าเรียน ถ้าไม่มีการศึกษาเล่าเรียนแล้ว มันจะไปไม่รอด กลับมาถึงเมืองไทยก็ทรงปรับปรุงการศึกษาเล่าเรียน สร้างโรงเรียนขึ้นเป็นตัวอย่าง เช่นโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ ท่านสร้างเหมือนกับโรงเรียนในอังกฤษแห่งหนึ่ง อาตมาไปอังกฤษครั้งแรกหลวงวิจิตรวาทการพาไป ไปดูโรงเรียนนั้น ว่านี่แหละโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ เหมือนกันเปี๊ยบเลยทีเดียว ในหลวงท่านเอาแบบมาสร้าง เอาแบบอาคารมาด้วยนะ มาสร้าง แต่เดี๋ยวนี้เขารื้อไปเสียหลังหนึ่งแล้ว รื้อแล้วสร้างเป็นตึกหลายชั้น สูง เพราะคนมันมาก ยังเหลืออยู่อีกหลังหนึ่งที่ตั้งไว้ที่วัดเทพ ไปดูเถอะ เป็นโรงเรียนแบบฝรั่ง เหมือนกับโรงเรียนในประเทศอังกฤษ ท่านเอาตัวอย่างมา เอามาสร้าง มาทำขึ้น แล้วก็จัดการศึกษาให้เจริญก้าวหน้า เจริญจนถึงขั้นมหาวิทยาลัย แต่ว่ายังไม่ทันได้เปิดมหาวิทยาลัย เสด็จสวรรคตเสียก่อน ในหลวงรัชกาลที่หกก็รับสนองพระบรมราชโองการ ทำงานสืบต่อ สร้างมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ขึ้น ใช้ชื่อพระนามของพระองค์ เพราะว่าพระองค์ได้สร้างฐานไว้ แล้วรัชกาลที่หกก็มาเสริมต่อ จึงเอาชื่อพระองค์มาตั้งเป็นชื่อ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” คนได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนี้ ออกมาทำงานเป็นประโยชน์แก่ชาติแก่บ้านเมืองอย่างมากมาย นี่ก็เป็นน้ำพักน้ำแรงของพระองค์ ในหลวงรัชกาลที่ห้า
ทีนี้ ฝ่ายการศึกษาทางวัด ก็ทรงเห็นว่าพระควรจะมีการพัฒนาให้ก้าวหน้าเหมือนกัน พระองค์ก็ตั้งการศึกษาภายในวัดขึ้น เรียกว่าตั้งขึ้นสองแห่ง แห่งแรกเรียกว่า “มหามกุฎราชวิทยาลัย” ตั้งอยู่ที่วัดบวรนิเวศ “มหามกุฎราชวิทยาลัย” ตั้งตามชื่อของรัชกาลที่สี่ รัชกาลที่สี่ชื่อเดิมชื่อ “เจ้าฟ้ามหามงกุฎ” เลยเอาพระนามนั้นมาตั้งเป็นสำนักศึกษา “มหามงกุฎราชวิทยาลัย” วัดบวรนิเวศ แล้วอีกแห่งหนึ่งก็เรียกว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” อยู่ที่วัดมหาธาตุ ทรงตั้งขึ้นสองแห่ง
แห่งหนึ่งให้เป็นสถานศึกษาของคณะธรรมยุต อีกแห่งหนึ่งให้เป็นสถานการศึกษาของพระมหานิกาย แล้วก็ส่งเสริมการศึกษา ส่งเสริมการก้าวหน้าของพระ เช่นว่าพระเป็นเปรียญเก้าประโยค ทรงอุปถัมภ์ ทรงเป็นเจ้าภาพบวชถ้าได้เป็นสามเณร ก็ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ให้บวชสี่บวชห้า เป็นนาคหลวง เหมือนกับสมเด็จวัดเบญจที่สิ้นไปแล้ว ท่านได้เป็นเปรียญเก้าตั้งแต่เป็นสามเณร เวลาจะกลับวัดในหลวงทรงจูงมือขึ้นไปบนรถเอง นั่งรถพาไปวัดเบญจมบพิตร เมื่ออายุครบบวชท่านก็บวชให้เป็นนาคของท่าน ต่อมาท่านคิดจะลาสิกขาเหมือนกัน คิดจะลาสิกขาออกไปทำราชการงานเมือง แต่สมเด็จพระพันปีบอกว่า “คุณนี่ ในหลวงท่านอุปถัมภ์จะให้เป็นสมภารวัดเบญจมบพิตร จะสึกได้อย่างไร” เลยสึกไม่ลง เพราะว่าในหลวงต้องการอย่างนั้น ต้องการให้เป็นสมภารต่อไป
เวลานั้น สมเด็จพระวันรัตอุตรยมหาเถระหรืออะไรนี่ เป็นสมภารอยู่ ท่านว่า “ฉันก็แก่แล้ว ในหลวงท่านหวังว่ามหาปลดนี่แหละ จะได้เป็นสมภารต่อไป” ครั้นเมื่อจะสึกก็ไปกราบทูลลาสมเด็จพระพันปี สมเด็จว่า “คุณนี่สึกไม่ได้หรอก เพราะในหลวงท่านต้องการให้เป็นสมภารวัดนี้ต่อไป เมื่อในหลวงทรงพระประสงค์อย่างนั้น จะไปสึกได้อย่างไร”
สมัยก่อนนี้ ทำอะไรขัดพระทัยในหลวงไม่ได้ เขาเรียกว่าขัดบรมราชโองการ ทำให้เกิดความเสียหาย ถ้าในหลวงพูดว่า “มันไม่ได้เรื่อง” มันก็ไม่ได้เรื่องจนตาย คนคนนั้นน่ะ (35.50) คำของในหลวงนี่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่กล้าขัด เมื่อบอกให้อยู่ก็ต้องอยู่ต่อไป
อีกองค์หนึ่งที่วัดบวรนี่ก็เหมือนกัน เป็นมหาสมณเจ้า หม่อมราชวงศ์ ชื่น นพวงศ์ ก็เที่ยวไถลไปอยู่ปักษ์ใต้ โน่น ไปจำพรรษาอยู่เกาะยอ สงขลาโน่น หายไป ในหลวงท่านรับสั่งว่า “มหาชื่น ท่านชื่น ไปอยู่ที่ไหน ให้เอาตัวส่งมา” พอรู้ว่าไปอยู่ปักษ์ใต้ สมเด็จลพบุรีก็ต้องไปนิมนต์มา บอกว่า”ในหลวงรับสั่ง บอกว่าให้หาท่าน ให้กลับไป” ต้องมา ในหลวงสั่งให้กลับก็ต้องกลับ จะไปนั่งตากลมอยู่ที่เกาะยออีกไม่ได้ต่อไปละ ก็ต้องกลับมา กลับมาอยู่กรุงเทพฯ ท่านคิด อยากจะสึกเสียแล้ว เตรียมกางเกง เสื้อผ้าเรียบร้อยแล้ว ในหลวงรู้เข้า ท่านเสด็จมาวัดบวรนิเวศ มาถึงก็ยืนอยู่นอกรั้ว ไม่ได้เข้าไปในรั้วกุฏิ ยืนนอกรั้ว พระมหาสมณเจ้าองค์นี้ก็เสด็จมา เสด็จมายืน บอกว่า”คนอย่างท่านนี่ เป็นคฤหัสถ์ได้ง่าย แต่เป็นพระหายาก” หมายความว่า คนมีความรู้ มีปัญญาขนาดนี้ เป็นคฤหัสถ์เขามีถมไป แต่ว่าเป็นพระนี่หายาก พอพูดเช่นนั้น ก็แสดงเป็นนัยว่า ฉันไม่ต้องการให้คุณสึกหรอก เลยท่านก็ไม่กล้าสึกเหมือนกัน ต้องอยู่ต่อไป
เคยมีในรัชกาลที่สี่ สมเด็จพระสังฆราชสา เป็นเปรียญเก้าประโยค สึกออกไป สึกแล้วไม่บอกในหลวงว่าสึก เรียกว่าหนีสึก ในหลวงรับสั่งว่า “ใครเอาท่านสาไปไว้ที่ไหนจะมีความผิดถูกลงพระอาญา” อยู่ไม่ได้แล้ว เอาไปเลี้ยงไม่ได้แล้ว วังไหนจะเอาไปเลี้ยงไว้ไม่ได้แล้ว ผิดพระราชอาญา จะเกิดเรื่องเสียหาย ต้องเอาตัวมาส่ง ส่งแล้วก็บอกว่า “เธอจะบวช หรืออยากจะให้ถูกโบยสักร้อยที” ถามว่าอย่างนั้น ถามว่าจะบวชอีกหรือว่าจะให้โบยหลังร้อยที พระสังฆราชสาบอกว่า ขอบวชดีกว่า ดีกว่าถูกเฆี่ยนหลังร้อยที เลยก็ต้องบวช บวชจนเป็นพระสังฆราช อยู่วัดราชประดิษฐ์ เป็นสังฆราชสืบมาจนสิ้นพระชนมายุ
อันนี้เป็นเรื่องว่าสมัยก่อนนี้ไม่ได้ พระเจ้าแผ่นดินพูดอะไรเป็นอย่างนั้น เป็นกฎหมาย มีเรื่องขำว่าครูคนหนึ่งเป็นคุณหลวง สอนหนังสือดี ในหลวงเสด็จผ่านไปที่นั่นก็ไปเห็นกำลังสอนอยู่ แล้วก็พูดว่า”อือ เธอนี่สอนหนังสือดี ให้รับเงินเดือน เก้าสิบบาท ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป” ตาย ครูคนนั้น ไม่ได้ขึ้นเงินเดือนกับเขาเลย ได้เก้าสิบบาทจนตลอดชีวิต เรียกว่าเป็นข้าราชการก็เก้าสิบออกแล้วก็เก้าสิบ เก้าสิบจนตาย เก้าสิบบาท ไม่ได้ขึ้น ใครจะไปขึ้นให้ก็ไม่ได้ มันจะผิดพระราชโองการ เพราะในหลวงบอกให้รับเก้าสิบตลอดชีวิต จะไปขึ้นให้อย่างไร ก็เลยไม่ได้ขึ้น เป็นครูเก้าสิบบาทเรื่อยไป แต่ว่าออกแล้วก็เก้าสิบเหมือนกัน ไม่ได้ลดเลยจนตาย เก้าสิบสมัยก่อนมันดีกว่าเก้าพันสมัยนี้ เงินมันมีค่า ก็พออยู่พอกิน ไม่เดือดร้อนอะไร
นี่เป็นตัวอย่างเอามาเล่าให้ฟังว่าพระวาจาของพระเจ้าแผ่นดินนั้นศักดิ์สิทธิ์ เป็นกฎหมาย ก็ดูตัวอย่างวัดพระพุทธบาทที่สระบุรี พระเจ้าทรงธรรมออกพระราชกฤษฎีกาไว้ว่าตั้งแต่ทิศเหนือเท่านั้นโยชน์ ทิศตะวันตก ทิศตะวันออก ทิศใต้ เท่านั้น อยู่ในพระพงศาวดาร เวลานี้คนก็ไปรุกบริเวณนั้นตั้งนิคมพุทธบาท สมภารแกฟ้อง ชนะทุกรายการเลย ไม่มีแพ้สักรายการเดียว แกฟ้องแล้วแกอ้างพระราชโองการของพระเจ้าทรงธรรมที่ปรากฏในพงศาวดาร สู้ไปถึงศาลฎีกา ศาลฎีกาต้องตัดสินให้วัดชนะทั้งนั้น ใครจะไปตั้งโรงงานไปทำอะไร วัดฟ้องได้ทั้งนั้น ทีหลังก็ไม่กล้าสู้กับวัดแล้ว แพ้เข้าไปสามสี่รายเลิกสู้แล้ว บอกว่าผมขอเช่าก็แล้วกัน เลยต้องเช่า เพราะว่ากฎหมายนั้นยังไม่มีการยกเลิก ยังไม่ได้ออกกฎหมายทับกฎหมายลงไป ก็ยังเป็นกฎหมายอยู่ สมภารแกฟ้องใหญ่เลย ฟ้องจนชาวบ้านเดินขบวนขับสมภาร แต่ขับแกไม่ได้ แกก็ยังอยู่ต่อไป เรียกว่าพระเจ้าแผ่นดินท่านมีอำนาจ
แต่ว่าพระเจ้าแผ่นดินเมืองไทยเรานั้น แม้จะทรงมีพระอำนาจสักเท่าใด (41.00) ไม่ได้ใช้พระราชอำนาจนั้นเพื่อให้ใครเดือดร้อน ปกครองประชาชนเหมือนพ่อปกครองลูก ทำแต่สิ่งที่เป็นความสุขความเจริญให้แก่ประชาชนทั้งนั้น อันนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าได้ทรงกระทำอย่างไร
ในกิจการพระศาสนาก็ได้ทรงทำ แล้วก็ได้สร้างวัด ในหลวงรัชกาลที่ห้าได้สร้างวัดราชบพิตร วัดเทพศิรินทร์ วัดมกุฎกษัตริย์ แล้วก็วัดเบญจมบพิตร นี่ท่านทรงสร้าง แล้วก็ไปสถาปนาวัดบางปะอินให้เป็นวัดหลวง ทรงสร้างโบสถ์ สร้างอะไรต่ออะไร ถ้าเราไปเห็นนึกว่าวัดฝรั่ง วัดบางปะอินนี่นึกว่าวัดฝรั่ง แต่ว่าท่านจารึกไว้ในแผ่นหิน เหตุผลทำไมจึงสร้างอย่างนี้ ไม่ใช่จะนิยมชมชอบศิลปกรรมของฝรั่ง ไม่ใช่ แต่ว่าอยากจะสร้างไว้ให้มันแปลก ๆ ให้คนได้มาดูมาชมเท่านั้นเอง ให้เป็นจุดท่องเที่ยวให้คนได้ดูได้ชม จึงสร้างเหมือนโบสถ์ฝรั่ง กุฏิก็เป็นคล้ายแบบฝรั่งทั้งนั้น แต่กลัวคนเขาจะนินทาท่านก็เลยจารึกในศิลาไว้ว่า สร้างนี่ไม่ได้นิยมชมชอบศิลปกรรมของฝรั่ง แต่ต้องการทำให้เป็นของแปลก คนจะได้ดูได้ชมเท่านั้นเอง จุดหมายมีเท่านั้น จึงได้ทรงกระทำไปในรูปเช่นนั้น
พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถทุกแง่ทุกมุมไม่ว่าอะไร เสด็จไปไหนทรงสังเกตมาก ละเอียดลออที่สุดเลย เช่นเห็นคนแต่งตัวอย่างไร ท่านมาเขียนเป็นจดหมายเล่าให้คนกรุงเทพฯ ที่ท่านเขียนถึงฟังว่าเห็นเด็กคนนั้นมันแต่งตัวนุ่งผ้าอย่างนั้น ใส่เสื้ออย่างนั้น ใส่หมวกอย่างนั้น ละเอียด จำได้หมด นี่เราไปเห็นใครเราจะมาเขียนได้ไหม ท่านเขียนได้ละเอียดหมด เวลาไปเสวยพระกระยาหารร่วมโต๊ะ มาเขียนเล่าละเอียดว่าร่วมโต๊ะกี่คน กับข้าวมีอะไรบ้าง แล้วก็จัดโต๊ะอย่างไร อะไรตั้งไว้ตรงไหน ถ้าอ่านจดหมายนั้นแล้วก็เหมือนเราได้เรียนเรื่องการจัดโต๊ะแบบฝรั่งอย่างนั้น ท่านเขียนละเอียด
แล้วเอาเวลาไหนมาเขียนก็ไม่รู้ วันหนึ่งไม่รู้ตั้งกี่ฉบับ เขียนจดหมายถึงเจ้าฟ้ากรมขุนอู่ทองลูกสาวท่าน เขียนถึงพระพันปี เขียนถึงเสนาบดีกระทรวงศึกษา เขียนถึงพระมหาสมณเจ้า วันเดียวกัน วันเดียวกันเขียนจดหมายถึงคนตั้งสามสี่คน แล้วไม่ใช่จดหมายว่ามาถึงนั้นแล้ว คิดถึงเธอ ไม่ใช่อย่างนั้น เขียนยาว เขียนเล่าเรื่องละเอียดลออ เช่นไปในเรือ วันหนึ่ง ๆ มีอะไร ไปที่ไหน มีอะไร ทรงเห็นอะไร พบอะไร เขียนละเอียด น่าอ่าน เขาเรียกว่าพระราชนิพนธ์เรื่อง “ไกลบ้าน” ควรอ่านนะ พวกเราควรอ่าน ไปหอสมุดแล้วก็ยืมเขาอ่าน อ่านแล้วจะรู้สึกว่า โอ แหม ท่านเขียนละเอียดเหลือเกิน แล้วใช้ถ้อยคำสำนวนเป็นภาษาไทยแท้ ไม่มีสำนวนฝรั่งอะไรสมัยนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น เขียนแบบไทยอ่านง่าย เสด็จประพาสชวา สุมาตรา เสด็จประพาสยุโรป ยุโรปนี่ไปสองครั้ง ก็ได้ประโยชน์แก่ชาติแก่บ้านเมือง
โดยเฉพาะไปครั้งแรกนี่ก็เรื่องฝรั่งเศสมันรุกราน รุกรานยึดเมืองจันทบุรี ยึดเมืองแถวโน้นไว้ ไอ้เราจะไปรบกับพวกฝรั่งเศสนี่มันไม่ได้ มวยมันคนละชั้น ขืนขึ้นเวทียกเดียวมันก็ถูกน็อคเท่านั้นเอง อันนี้ทรงทำอย่างไร ก็ทรงประพาสยุโรปเพื่อไปคบมิตร ไปประเทศใหญ่ ๆ คบไว้เป็นเพื่อนก่อน แล้วค่อยไปเจรจากับฝรั่งเศส ก็ง่ายขึ้นในการพูดจา เพราะเรามีเพื่อนยืนอยู่เคียงข้าง ประเทศไทยไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว แต่ว่ามีเพื่อน เพื่อนก็เป็นคนสำคัญ เช่นจักรพรรดิแห่งออสเตรีย (หลวงพ่อพูดว่าออสเซีย คาดว่าจะเป็นออสเตรีย) จักรพรรดิแห่งรัสเซีย พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ พระเจ้าแผ่นดินประเทศนั้นประเทศนี้ พระองค์ได้ทรงไปคบหาสมาคมไว้ อันนี้พวกนั้นจะทำอะไรก็เกรงใจคนเหล่านั้นบ้าง (45.41) นักเลงมันก็เกรงใจนักเลงด้วยกันเหมือนกัน ทีนี้ถ้าเรารู้จักคบนักเลงไว้ มันก็นักเลงช่วยป้องกันบ้านของเราได้เหมือนกัน อันนี้เรียกว่าทรงฉลาดในอุบายที่จะรักษาบ้านเมืองให้อยู่รอดปลอดภัย
แม้ว่าเราจะเสียไปบ้าง เสียพระตะบอง เสียมราฐไปให้แก่ฝรั่งเศสไป แต่ว่าเหมือนกับเสียปลายนิ้วก้อย แต่ว่าแขนยังอยู่ ขายังอยู่ หัวยังอยู่ ยังไม่เสียหายเกินไป คนบางคนก็ติเหมือนกันบอกว่าเราเสียแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ห้า อันนี้เราต้องยอมเสียเพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้ ถ้าเราไม่เสียส่วนน้อย ส่วนใหญ่มันจะอยู่ได้อย่างไร พระพุทธเจ้าสอนว่า เราต้องยอมเสียทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ เราต้องยอมเสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต แต่ถ้าคิดถึงธรรมะ ต้องยอมเสียสละทรัพย์ อวัยวะ ชีวิต เพื่อให้ธรรมะคงอยู่ ท่านสอนอย่างนั้น
พระพุทธเจ้าสอนให้รู้จักเสียสละ เช่นเราเจ็บไข้ได้ป่วย มันต้องเสียทรัพย์ไปหาหมอ แม้จะแพงก็ต้องยอม ไม่อย่างนั้นมันจะตาย เราก็ต้องรักษา คราวนี้หมอตรวจแล้วบอกว่าขาของคุณมันเป็นโรค …… (47.08) ถึงเอาไว้ก็ใช้อะไรไม่ได้ แล้วมันจะลุกลามมาถึงส่วนอื่นของร่างกาย ต้องยอม ยอมให้ตัดมือตัดขาไปเพื่อรักษาชีวิตไว้ ถ้าเราไม่ตัดมันก็ตายไว โรคบางโรคเช่นไอ้โรคแคน.......นี่มันตาย ต้องให้ตัด ตัดส่วนเสียออกไปเพื่อเอาส่วนดีไว้ แล้วถ้าหากว่าถึงคราวที่เราจะรักษาหน้าที่เช่น เป็นทหารออกไปรบทัพ หรือว่าคำนึงถึงหน้าที่คือธรรมะ ธรรมะก็คือหน้าที่ เราก็ต้องยอมเสียสละทัพ ยอมเสียสละชีวิตร่างกาย เราเสียสละหมดทุกอย่างเพื่อให้ธรรมะคงอยู่ ให้ความถูกต้องคงอยู่ ในหลวงท่านใช้หลักการอย่างนั้น จึงเอาตัวรอดปลอดภัยมาได้ด้วยความเรียบร้อย
ทีนี้มีเรื่องที่น่าจะเอามาเป็นตัวอย่างอีกอันหนึ่งคือว่า เวลาท่านทุกข์ตรมตรอมใจ ท่านทำอย่างไร พระเจ้าแผ่นดินท่านเป็นทุกข์ ท่านทำอย่างไร ทุกข์ขนาดหนักที่สุดคือทุกข์เมื่อฝรั่งเศสเข้ามายึดจันทบุรี เมืองตราดไว้ นี่ทุกข์หนักที่สุด โทมนัสมาก ได้ปรารภกับกรมพระยาดำรง กรมพระเทวะวงศ์ ซึ่งเป็นน้อง ๆ ท่านทั้งนั้น ปรารภว่า
“บ้านเมืองไทยเรานี่ ทวดเรา ปู่เรา พ่อเรา ได้รักษามาจนถึงพวกเรา แล้วมันจะมาสูญเสียแผ่นดินไปในตอนที่เราปกครอง เราจะอยู่กันอย่างไร ประวัติศาสตร์จะจารึกไว้ว่าประเทศไทยได้สูญเสีย ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของชาติอื่นในยุคนั้น เราจะอยู่ได้อย่างไร ฉันจะยอมตายเสียดีกว่าที่จะให้เป็นอย่างนั้น”
แล้วก็ทรงโทมนัส ไม่อยากจะเสวยพระกระยาหารอะไรทั้งนั้น แต่ว่าน้อง ๆ ก็ปลอบโยนว่า “พระองค์เป็นกัปตันเรือ ถ้าไม่มีพระองค์แล้ว เรือจะไปได้อย่างไร ไม่มีกัปตันแล้วเรือมันจะไปได้อย่างไร เรือมันไปไม่ได้ กัปตันขึ้นจากเรือไม่ได้ ต้องอยู่ในเรือ แม้เรือจะล่ม กัปตันก็ต้องล่มไปกับเรือ ลูกเรือก็ต้องจมน้ำไปด้วยกันทั้งหมด เราต้องหาทางแก้ไข” ทีนี้เมื่อจะแก้จะทำอย่างไร ท่านก็นิมนต์พระมาแสดงธรรม
ผู้หลักผู้ใหญ่สมัยโบราณ เมื่อมีปัญหาคับอก เขาต้องหาพระ ต้องศึกษาธรรมะ เอาธรรมะมาใช้ ไม่เหมือนพวกเราในสมัยนี้ กลุ้มใจกินเหล้า กลุ้มใจไปเที่ยวบาร์ กลุ้มใจเอาไพ่มาจั่วกันดีกว่า นี่เราเรียกว่าทางฉิบหาย ไม่ได้เรื่องได้ราว กลุ้มใจแล้วจะหาเรื่องฉิบหาย จะเล่นไพ่ จะกินเหล้า จะไปเที่ยวสนุกตามบาร์ตามไนท์คลับ นี่มันไม่ถูกต้อง คนโบราณเขาไม่ทำอย่างนั้น เขากลุ้มใจก็ไปหาธรรมะ ในหลวงท่านมีความกลุ้มใจ ท่านก็นิมนต์พระมหาสมณเจ้ามาแสดงธรรม (50.28) การแสดงธรรมของพระมหาสมณเจ้านั้น ท่านเข้าใจพูด ยกเรื่องยกธรรมะมาปลอบโยนในหลวง จนในหลวงก็มีกำลังใจในอันที่จะต่อสู้กับอุปสรรคข้อขัดข้องต่อไป แล้วก็ต่อสู้จนได้ชัยชนะกลับมา อันนี้เป็นตัวอย่าง
พระสมัยก่อนกับพระเจ้าแผ่นดินหรือว่ากับราชการเข้าไปเกี่ยวข้องกันมาก เช่นสมัยกรุงศรีอยุธยาก็มีเรื่อง ครั้งพระนเรศวรออกไปชนช้างกับมหาอุปราชแห่งประเทศพม่า ฆ่ามหาอุปราชและมังจากะโรตายบนคอช้าง สองพี่น้องกำลังหนุ่มเลยเวลานั้น ถ้าพูดสมัยนี้วัยรุ่นนะ ยังไม่เป็นผู้ใหญ่เต็ม ยังอายุไม่ถึงยี่สิบ พระนเรศวรกับพระเอกาทศรถกำลังคะนองทีเดียว แกล้วกล้ามาก ช้างก็กำลังดี เมามันหน่อย ขับไสช้าง ทหารตามไม่ทัน ช้างมันเดินเร็ว ไปถึงเจอกองทัพพม่าพระอุปราชกับมังจากะโรประทับหลังช้างอยู่ใต้ร่มไม้ข่อยแถวเมืองสุพรรณบุรี ที่ตำบลศรีประจันต์ ไปถึงท่านก็ร้องเรียกว่า “เจ้าพี่” นี่แสดงว่าพม่าแก่กว่าท่าน แล้วเคยคุ้นกัน เพราะเคยไปอยู่กับพม่า เขาจับไปเป็นเชลย ก็ไปอยู่เคยคุ้นกัน ไปชนไก่กัน ตีไก่กัน คราวนี้ไก่ของพระนเรศวรแพ้ ท่านบอกว่า “ไก่แพ้ แต่ว่าคนยังไม่แพ้นะ” เรียกว่าท่านก็นักเลงพอสมควรเหมือนกัน
มาถึงเห็นท่านก็ว่า “มาเจ้าพี่ จะมานั่งร่มใต้ต้นไม้อยู่ทำไม ออกมาชนช้างกัน ให้มันมีชื่อกันสักหน่อยไม่ได้หรือ” ท้าเลย ท้าชนช้าง อุปราชก็ต้องออกมา เด็กอ่อนกว่าไปท้าชน ต้องออกมาชนช้าง ช้างของพระมหาอุปราชก็เก่งเหมือนกัน ทำเอาช้างพระนเรศวรเอียงไปเลย แต่ว่าพระเอกาทศรถเข้าไปช่วย ตั้งตัวได้ พระองค์ก็ไสช้างของพระองค์ ช้างของพระมหาอุปราชเสียหลัก เอาของ้างฟันสะพายแล่ง แหม! มันคมจริงเลยไอ้ของ้าวนั่น ฟันขาดกลางองค์เลย ฟันทีเดียวขาดกลางองค์ ตายบนคอช้าง พระเอกาทศรสก็เอามังจากะโรตายบนคอช้างเหมือนกัน เสร็จแล้วยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา ทหารทั้งหลายที่ตามไม่ทันถูกลงโทษประหารชีวิต แม่ทัพนายกองถูกประหารชีวิต
สมเด็จพระวันรัตวัดป่าแก้วรู้ข่าวเข้าก็มาถวายพระพรบอกว่า “การที่ทหารทั้งหลายตามพระองค์ไปไม่ทัน ไม่ใช่เป็นการล่าช้า ไม่ใช่ แต่ว่าเป็นการเพิ่มบารมีให้แก่พระองค์ เพราะว่าพระองค์ไปแต่เพียงลำพังสองพระองค์ ยังสามารถเอาชนะข้าศึกได้ คล้าย ๆ กับพระผู้มีพระภาคเจ้าในวันที่จะตรัสรู้ เทพยดามาเฝ้าแหน คอยดูการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ามากมาย แต่ว่าเมื่อพญามารมา ถลึงตาทีเดียวเทวดาวิ่งหนีกระเจิงหมดเลย ก็เหลือแต่พระองค์ผู้เดียว สามารถจะสู้กับพญามารอันมีกำลังมหาศาลได้ ได้ชัยชนะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า พระมหาบพิตรรพระราชสมภารนี่ก็เหมือนกัน ถ้าหากทหารไปช่วยรบด้วยบารมีมันก็น้อยไป ไม่เก่งเท่าใด แต่นี่เพราะไปเพียงสองคนสามารถเอาชนะข้าศึกได้ ก็นับว่าเป็นการแสดงความเก่งกล้า ปรากฏไปในประวัติศาสตร์ของชาติไทย พวกทหารเหล่านั้นไม่ควรจะผิดจนถึงประหารชีวิต ควรจะงดเว้นไว้ ไม่ลงโทษถึงขนาดนั้น ให้ไปทำการแก้ตัวใหม่” พระท่านไปเจริญพรขอบิณฑบาตชีวิต ท่านก็ให้ ให้อภัย ไม่ต้องถูกประหารชีวิต แต่เรียกมาแล้วก็สั่งว่า ให้ไปตีเมืองมะริด เมืองทวาย เมืองตะนาวศรี ให้ได้ พวกนั้นก็ยกทัพไปตี สำเร็จเหมือนกัน
อย่างนี้เรียกว่าพระเข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้าพระไม่ไปช่วยพวกนั้นตายเรียบ รับสั่งให้ประหารชีวิตหมดเลย แสดงให้เห็นว่าประมุขของชาติในสมัยก่อนนั้นท่านเข้าใกล้พระ มีปัญหาอะไรก็ไปถามพระ เข้าใกล้พระอยู่ตลอดเวลา แล้วพระท่านก็เข้าใกล้ประมุขเหมือนกัน มีเรื่องขึ้นต้องไปหา ไปถวายพระพร เท่ากับว่าไปเตือนนั่นเอง แต่ว่าเขาไม่เรียกว่าไปเตือน เรียกว่าไปถวายพระพรให้เกิดความรู้สึกคิดในทางที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้ พระท่านทำได้
ในหลวงเราก็ทรงอย่างนั้น เรียกว่าเข้าใกล้พระ รัชกาลที่ห้าท่านก็ใกล้พระ อยู่กับพระมากทีเดียว ไปไหนก็เอาพระเป็นผู้ที่ช่วยเหลือในกิจการต่าง ๆ แล้วก็เลยทรงตั้งเป็นพระราชาคณะอะไรขึ้นมา (56.03) แต่ว่าพระที่ช่วยเหลือราชการ ชาวบ้านที่ช่วยเหลือราชการก็มีเหรียญให้ มีสายสะพาย มีอะไรให้ พระทำความดีความชอบก็ไม่รู้จะให้อะไร เปลี่ยนชื่อให้เป็นเจ้าคุณเข้าไปหน่อย เป็นเจ้าคุณปัญญานันทมุนีบ้าง อะไรต่ออะไรเรื่อยมา ทำดีมากก็เลื่อนเป็นพระราชนันทมุนี ทำดีต่อไปก็อาจจะเป็นพระเทพปัญญานันทมุนีต่อไปก็ได้ ถ้าเขาให้นะ ถ้าเขาไม่ให้มันก็ไม่เป็นไร เราก็ว่าของเราไปตามเรื่อง ก็เรียกว่าให้รางวัลนั่นเอง เป็นเครื่องส่งเสริมกำลังใจให้คนได้กระทำความดียิ่ง ๆ ขึ้นไปเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องอะไร
เพราะอย่างนั้นเมื่อเรามาระลึกถึงพระคุณของพระองค์ท่าน ไม่เพียงแต่ไปสักการะด้วยพวงมาลัยดอกไม้ แต่เราต้องน้อมนำคุณงามความดีทั้งหลายที่เรามองเห็นจากพระองค์นั้น มาใช้ในชีวิตประจำวันของเรา ต้องศึกษาให้ละเอียดกว่านี้ นี่พูดย่อ ๆ สั้น ๆ เมื่อเห็นพระคุณอันใดที่ท่านมีอยู่ เราก็น้อมนำมาใส่จิตใจของเรา ทำจิตใจของเราให้เดินตามรอยพระยุคลบาทของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น เพื่อสร้างตัว สร้างครอบครัว สร้างชาติ สร้างประเทศ ให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป ตามสมควรแก่ฐานะ ดังที่ได้แสดงมาก็พอสมควรแก่เวลา ขอจบไว้แต่เพียงเท่านี้