แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลัก คำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงเครื่องขยายเสียงชัดเจนแจ่มแจ้ง แล้วหยุดพูดหยุดสนทนากัน ตั้งอกตั้งใจฟังให้ดีเพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ ฟังข่าวทางวิทยุ กรมอุตุนิยมประกาศว่ามีไต้ฝุ่นอะไรผ่าน ตั้งต้นขึ้นในทะเลจีน แล้วจะเข้าประเทศไทย ก็ทำเอาใจไม่ค่อยจะดี กลัวว่ามันจะตกในตอนเช้าวันอาทิตย์ แต่ว่าเป็นบุญของพวกเราเหมือนกับที่ได้รับประโยชน์มาทุกวันอาทิตย์ ฝนฟ้าไม่ตกแสงแดดแจ่มจ้า ทุกคนสบายใจเพราะธรรมชาติอำนวย การอยู่ร่วมกับสิ่งที่ไม่ชอบใจเป็นความทุกข์ ประสบกับสิ่งที่สร้างปัญหาก็เป็นความทุกข์เช่นเดียวกัน แต่ว่าเมื่อฝนฟ้าไม่ตกเราก็ไม่มีปัญหา ญาติโยมสามารถมาวัดได้สะดวกสบาย แล้วก็จะได้ฟังสิ่งเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเราต่อไป
อันเรื่องของการฟังธรรมะเป็นเรื่องที่ควรกระทำบ่อยๆ ทางราชการได้ประกาศให้ข้าราชการไปวัดในวันหยุดราชการ คือวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ก็ได้ แล้วก็มีการจัดไปเป็นกลุ่มเป็นก้อน ไปฟังธรรมกันในวัดที่กรุงเทพฯ ตามรายการก็มีมาหลายวัดแล้ว ทีนี้เกิดมีข้อโต้แย้งขึ้นในหมู่คนที่ไปฟัง บอกว่าทำไมจะต้องให้ไปฟังในวันหยุด วันหยุดนี่เป็นวันพักผ่อนเป็นวันที่ควรจะได้อยู่กับครอบครัวที่บ้าน หรือจะไปเที่ยวไหนก็ตามชอบใจ แต่นี่กลับเกณฑ์ให้ไปวัดไปฟังธรรม แล้วก็มันเป็นการไม่เหมาะ ทำไมไม่เอาพระมาพูดที่กระทรวงในวันราชการ วันสุดสัปดาห์เช่นวันศุกร์อะไรอย่างนั้น นี่เป็นข้อแย้งของพวกที่เขาให้ไปฟังธรรม แล้วก็ยังแย้งต่อไปว่า ไปฟังบางวัดนี่พระเทศน์ไม่ทันสมัย ก็ไม่ก้าวหน้าอะไร ไปนั่งพับเพียบฟังนี่มันเบื่อหน่าย ไม่มีสมาธิในการจะฟัง สมัยนี้ควรจะพูดให้มันทันการณ์ทันสมัย ทำไมจึงจัดทำในรูปอย่างนั้น แล้วก็เทศน์ตามแบบโบราณ ไม่มีอะไรใหม่ ทำให้คนฟังเบื่อหน่ายไม่อยากจะไปฟัง มีข้อขัดแย้งขึ้นในรูปอย่างนั้นหลายเรื่อง อีกหลายเรื่องหลายประการ มาอ่านหนังสือที่เขาแจกมาถึงเรื่องอย่างนี้ก็เลยคิดว่าความจริงนั้นควรให้ความสะดวกแก่คนฟัง เราจัดที่กระทรวง ห้องประชุมกระทรวงก็ได้ จัดสัปดาห์นี้เอากี่กรมมาฟังกัน สัปดาห์ต่อไปก็กี่กรมมาฟังกัน ฟังในเวลาราชการ เวลาที่ชั่วโมงสุดท้าย เช่น ๑๕-๑๖ นาฬิกา วันไหนฟังธรรมก็ได้อานิสงส์ ได้เลิกก่อนเวลาครึ่งชั่วโมง ปรกติก็เลย ๑๖.๓๐ น. (04.35) แต่ความจริงไม่มีใครใครเลิก ๑๖.๓๐ น. หรอก ๑๖ นาฬิกานี่ก็ออกกันเกือบหมดแล้ว บางทีออกไปตั้งแต่ ๑๕.๓๐ น. ด้วยซ้ำไป เพราะเคยนั่งรถผ่านสถานที่ราชการเห็นออกมายืนออเพื่อจะขึ้นรถ ล้วงนาฬิกาในย่ามออกมาดูมัน ๑๕.๓๐ น. เท่านั้นเอง ก็เตรียมเลิกแล้วอย่างนี้ เพราะอย่างนั้นวันไหนมีการแสดงธรรมก็อนุญาตให้กลับได้ก่อนเลิกครึ่งชั่วโมง เป็นอานิสงส์ของการฟังธรรมไปด้วยในตัว ก็จุดหมายที่จะให้ไปฟังก็เพื่อให้เข้าใกล้ธรรมะ เข้าใกล้พระจึงพาไปวัด การไปวัดนั้นเรียกว่าเข้าใกล้พระ แล้วก็ยังมีข้อติงอีกอย่างว่าวัดบางวัดไม่ค่อยสะอาด เข้าไปแล้วมันน่าเบื่อหน่าย นั่นมีเรื่องเยอะ ไอ้คนจะไม่ไปนี่มีเรื่องเยอะ แต่ว่าที่อื่นสกปรกกว่าที่วัดยังไปได้ บางแห่งบางที่มันสกปรกกว่าที่วัดก็ยังอุตส่าห์ไป มีอะไรไม่ดีก็ยังอุตส่าห์ไป แต่ว่าให้มาวัดมีข้อโต้แย้งเยอะแยะ ไอ้เรื่องที่จะไม่อยากฟังน่ะ คนที่ไม่ชอบฟังธรรมะนี่เป็นคนประเภทที่ถ้าคิดกันให้ละเอียดแล้วคือไม่ชอบความดีนั่นเอง
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ธมฺมเทสฺสี ปราภโว ผู้ชังธรรมนี่เป็นผู้เสื่อม คือชังในการที่จะศึกษา ในการที่จะปฏิบัติ เขาเรียกว่าจิตใจเสื่อมโทรมลงไปแล้ว ถ้าชอบธรรมะ จิตใจเจริญ มีความก้าวหน้าในสิ่งที่ถูกที่ชอบ ย่อมสนใจฟัง ฟังแล้วก็สบายใจ ก็เหมือนกับโยมๆ ทั้งหลายที่มาฟังกันอยู่นี่ บางคนก็มาฟังกันตั้งแต่นู่น ตั้งแต่เปิดวัดนู่น ตั้งแต่เปิดวัดแล้วก็แสดงปาฐกถาก็มาฟังกัน แล้วก็มาฟังอยู่มาเป็นประจำ ไม่ค่อยจะขาด นานๆ ขาด มีธุระก็ขาดไปบ้าง ก็มาอยู่ แสดงว่าไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักเบื่อในธรรมะ ไม่อิ่มไม่เบื่อในธรรมะนี่มันประเสริฐ อิ่มเบื่อสิ่งอื่นนั้นมีได้ แต่ว่าธรรมะนี่อย่าอิ่มอย่าเบื่อ ให้ฟังไว้เรื่อยๆ ไป เพราะว่าการไปฟังครั้งหนึ่งคราวหนึ่งนั้นก็ย่อมจะได้อะไรใหม่ๆ เป็นอาหารใจของเรา ใจเรานี่ต้องมีอาหารธรรมะหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่มีอาหารใจหล่อเลี้ยงก็จะเกิดโรคทางใจ โรคทางใจนี่มันร้ายกว่าโรคทางกาย เพราะโรคทางกายนั้นมันเสียหายเพียงร่างกาย แต่ถ้าโรคทางใจนั้นเสียหายทั้งกายทั้งใจ ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศชื่อเสียง อะไรๆ ก็พลอยเสื่อมพลอยหายไปด้วย เพราะมีโรคทางใจ โรคทางใจเกิดขึ้นก็เพราะว่าใจไม่มีกำลัง คือไม่มีเครื่องหล่อเลี้ยงใจเพียงพอ เรียกว่าขาดธรรมะอันเป็นอาหารของใจ ผู้ที่ได้รับฟังธรรมะไว้บ่อยๆ ก็ย่อมมีข้อเตือนจิตสะกิดใจ จะคิดอะไรจะพูดอะไรจะทำอะไร หรือจะไปคบหาสมาคมกับใคร ประกอบกิจกรรมชนิดใดก็ย่อมนึกถึงธรรมะอยู่ว่ามันถูกต้องไหม มันดีมันเหมาะแก่ธรรมะหรือไม่ ถ้าเห็นว่าไม่ถูกไม่ควรก็ไม่อยากจะทำสิ่งนั้น มีความละอายแก่ใจมีความกลัวผลอันจะเกิดขึ้นจากการกระทำ ความยับยั้งชั่งใจก็จะเกิดขึ้น ไอ้ความยับยั้งชั่งใจนี่เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนไม่ให้เราเผลอ ไม่ให้เรากระทำอะไรในเรื่องที่ไม่เหมาะไม่ควรลงไป คนเราพอขาดความยับยั้งแล้วมันก็ทำผิดได้ง่ายทันที แต่พอมีความยับยั้งมันก็หยุดไว้ก่อน ทำให้เกิดการคิดตรองในเรื่องนั้น สิ่งที่จะมาช่วยยับยั้งก็คือสตินั่นเอง สติเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งจิตใจไม่ให้กระทำอะไรที่เป็นเรื่องผิดเรื่องเสียหาย สติจะไม่สมบูรณ์ถ้าเราไม่ได้อบรมสติ การอบรมสติก็คือการได้ยินได้ฟังข้อเตือนใจบ่อยๆ ได้อ่านหนังสือธรรมะบ้าง ได้ฟังพระท่านเทศน์ท่านสอนบ้าง เราก็เกิดความยับยั้งชั่งใจ มีความละอายมีความกลัวต่อสิ่งที่เราจะทำลงไป อันนี้ก็เรียกว่าเป็นห้ามล้อไม่ให้เราเกิดความเสียหายในชีวิต ชีวิตคนเรามันต้องมีสิ่งสำหรับเป็นเครื่องห้ามจิตห้ามใจ ธรรมะหรือศาสนานี่เป็นเครื่องห้ามจิตใจ เราจึงต้องเข้าหาธรรมะบ่อยๆ ฟังธรรมะบ่อยๆ จึงจะเป็นเครื่องช่วยให้เกิดความคิด คือไม่เผลอเกินไป ไม่ประมาทเกินไป เพราะฉะนั้นท่านจึงบัญญัติไว้ว่าเดือนหนึ่งนี่ให้มีวันพระ ๔ วัน คือ ๗ วันก็เป็นวันพระครั้งหนึ่ง ตามจันทรคติก็ถือว่าวันขึ้น ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ แรม ๘ แล้วก็วันดับ อันนี้ถือตามหลักโคจรของดวงจันทร์ คนโบราณนี่ถือเอาดวงจันทร์เป็นหลักนับ เพราะว่าดวงจันทร์นี่มันเว้ามันแหว่งมันเต็ม เป็นเครื่องหมายการนับง่าย ดวงอาทิตย์นั้นมันดูยากเพราะมันเป็นอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา แจ้งก็แจ้งอยู่อย่างนั้นแหละมันไม่มีเว้ามีแหว่ง ไม่เหมือนดวงจันทร์ ดวงจันทร์นี่ขึ้นใหม่ๆ มันก็นิดหน่อย แล้วค่อยมากขึ้นๆๆ เต็มขึ้นแล้วก็ครึ่งดวง พอถึงวันเพ็ญก็เต็มดวง พระจันทร์เต็มดวงเราก็เรียกว่าวันเพ็ญ แล้วพอข้างแรมก็น้อยลงไปๆ จนกระทั่งดับไป วันดับนี่ไม่เห็นดวงจันทร์ในตอนกลางคืน มาเห็นเอาตอนกลางวัน สว่างแล้ว อันนี้เป็นเครื่องนับวันเดือนปีได้ง่าย คนโบราณจึงได้ถือเอาการโคจรของดวงจันทร์เป็นเครื่องหมายการนับวัน คืน เดือน ปี เขาจึงได้จัดวันพระไว้ตามแบบนั้น เรียกว่า แบบจันทรคติ อันนี้ในสมัยนี้เขานับวันแบบสุริยคติด้วย คือตั้งว่าวันที่ ๑,๒,๓,๔ เดือนหนึ่งมี ๓๐ วันบ้าง ๓๑ วันบ้าง ตามที่ตกลงกันไว้ว่านับกันอย่างนั้น ก็ต้องมีวันหยุดเหมือนกัน
พวกที่ถือจันทรคติก็หยุดตามหลักของดวงจันทร์ เดือนละ ๔ ครั้ง ถือสุริยคติก็นับอาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสฯ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เป็นลำดับไป วันเสาร์ก็หยุดงาน วันอาทิตย์ก็หยุดงาน สัปดาห์หนึ่งนี่ให้ทำงาน ๕ วัน แล้วให้หยุดเสีย ๒ วัน คือวันเสาร์กับวันอาทิตย์ เราจะถือว่าวันอาทิตย์เป็นวันพระของเราก็ได้ อันนี้ไม่สำคัญอะไรถือได้ เพราะว่าไม่ใช่ตัวศาสนา ตัวศาสนาคือพระธรรมอันเป็นหลักคำสอน นั่นเป็นตัวศาสนา ตัวศาสนานั้นเราจะไปแตะไม่ได้ จะไปเปลี่ยนไปยึดหรือว่าจะไปทำอะไรไม่ได้ทั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าสอนไว้อย่างใดก็คงจะถือไว้อย่างนั้น แม้เราจะปฏิบัติตามไม่ได้ในข้อใด เราจะไปตัดของท่านออกเสียก็ไม่ได้ ต้องไว้ให้ครบตามแบบที่ท่านได้ตั้งไว้ แต่ว่าประเพณีการถืออะไรต่างๆ เช่น ระบบการถือวันพระนี่ ความจริงนั้นเขาถือกันมาก่อนยุคพระพุทธเจ้าเกิด ถือวันขึ้น ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำอะไรนี่ถือมาก่อน พระองค์ก็เห็นว่าเขาถือกันอยู่อย่างนั้นแล้ว ก็เลยบัญญัติไปตามนั้นว่าเมื่อถึงวันขึ้น ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ แรม ๘ วันดับ ก็ถือว่าเป็นวันที่ควรถือศีล ควรฟังธรรม ควรจะนั่งลงสงบจิตสงบใจ สำรวจตรวจสอบตัวเองว่าในรอบ ๗ วันที่ผ่านมานี้เรามีความประพฤติอย่างไร มีความคิดอย่างไร มีอะไรเกิดขึ้นในวิถีชีวิตของเราบ้าง เป็นส่วนดีสักเท่าไร เป็นส่วนเสียหายสักเท่าไร จะได้เอามาขึ้นตาชั่ง ตาเต็งพิจารณาดูเพื่อให้รู้จักตัวเองชัดเจนขึ้น แล้วก็จะได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อทำให้ดีขึ้นต่อไป ควรจะเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าพอถึงวันหยุดแล้วไปยิงนกตกปลา หรือว่าขนเครื่องดื่มไปนั่งดื่มกันชายหาด อย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง เรียกว่าไม่เป็นเรื่องของธรรมะ แต่เป็นเรื่องของการตามใจตัวเอง ตามใจความอยากที่เกิดขึ้น ถ้าเราตามใจตัวเองมาก ตามใจความอยากที่เกิดขึ้นมาก จิตใจก็ต่ำลงไปเรื่อยๆ แล้วก็สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้แก่ตนด้วยประการต่างๆ
วันก่อนนี้มีสุภาพสตรีเดินมาในป่าไผ่ เดินหน้าตาเศร้าสร้อยหงอยเหงา อาตมากำลังจะขึ้นมาไหว้พระ อบรมพระใหม่ พอเห็นหน้าตาเศร้าสร้อยก็ลองเดินเข้าไปใกล้ แล้วก็ถามว่าเป็นยังไง หนูมีความทุกข์ร้อนเรื่องอะไรจึงดูหน้าตาไม่ค่อยจะสบาย อีกฝ่ายก็บอกว่าเป็นทุกข์เรื่องแฟน ถามว่าแฟนมันเป็นยังไง แฟนมันเมาไม่ได้หยุดได้หย่อน ได้เงินมาก็เอาไปซื้อเหล้ากินหมด ลูกจะไปโรงเรียนก็ไม่มีสตางค์จะใช้ นี่ลูกไม่ได้ไปโรงเรียนตั้งอาทิตย์แล้ว เพราะว่าไม่มีสตางค์จะให้ ไอ้หนูเองนี่ก็ต้องทำงานเหน็ดเหนื่อย ไปรับเสื้อโหลกางเกงโหลมานั่งเย็บเมื่อยแข้งเมื่อยขา ได้สามีของดิฉันนี่มันไม่ได้เรื่อง มันกินเหล้าเสียเรื่อยไป เงินเดือนเบิกมาก็ไม่ค่อยจะถึงบ้าน นี่มันเดือดร้อนแล้ว คนไม่ประพฤติธรรมมันก็ทำให้ครอบครัวเดือดร้อน เมียเดือดร้อน ลูกเดือดร้อน แล้วลูกก็จะเสียผู้เสียคนเพราะไม่ได้รับการศึกษา เห็นตัวอย่างที่ไม่ดีของพ่อ เลยก็มานึกว่าพ่อนี่เก่งนะ มันอาจจะถ่ายทอดไปก็ได้ รับมรดกความขี้เมาของพ่อต่อไป ก็เกิดเป็นปัญหา เลยก็บอกว่าก็ลองชวนมาวัดบ้างไม่ได้หรือ บอกว่าอุ้ยเรื่องมาวัดนี่ไม่ต้องพูดกันล่ะ อย่าว่าชวนมาวัดเลย เพียงแต่จะพูดกันดีๆ ก็ยังพูดกันไม่ค่อยได้เลย ต้องพูดภาษาขี้เมากันอยู่ตลอดเวลา นี่คือความทุกข์ในครอบครัวของแม่บ้าน แม่บ้านที่เป็นทุกข์เพราะเรื่องอย่างนี้ไม่ใช่มีครอบครัวเดียว แต่มีมากมายทั่วๆ ไป โดยเฉพาะในสังคมที่อยู่กันมากๆ มีคนอยู่กันมากๆ แล้วพวกพ่อบ้านทั้งหลายก็มักจะไปรวมกลุ่มกันเข้า รวมกลุ่มกันเล่นการพนัน รวมกลุ่มกันเพื่อดื่มของมึนเมาสนุกสนานเฮฮา ขาดความรับผิดชอบในครอบครัวด้วยประการทั้งปวง ใจไม่ได้คิดถึงภรรยา ไม่คิดถึงลูกเต้า ไม่ได้คิดถึงอนาคตของวงศ์ตระกูลและอะไรๆ ทั้งหมด คิดอย่างเดียวว่าเย็นนี้จะไปดื่มกันที่ไหน จะมีกับแกล้มชนิดใด แล้วจะชวนใครมาเพิ่มสมาชิกให้มากขึ้น เขาเรียกว่าคิดแต่เรื่องเสื่อมทั้งนั้น ไม่ได้คิดในเรื่องสร้างสรรค์ชีวิตให้เจริญงอกงามขึ้นเลยแม้แต่น้อย สังคมมันเป็นอย่างนี้ นี่ก็เป็นเพราะว่าไม่ได้รับการอบรมบ่มนิสัยมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ไม่ได้อยู่ในครอบครัวที่เป็นตัวอย่าง แล้วก็มาอยู่ในหมู่คณะที่ไม่ประพฤติธรรมด้วย ก็จูงกันไปในทางอย่างนั้น
คนบางคนอาจจะเรียบร้อยในเบื้องต้น แต่พอเข้าไปทำงานนี่ไปเข้าพวกเข้าหมู่กับคนประเภทเหลวไหล มีชีวิตอยู่ด้วยอบายมุขด้วยประการต่างๆ เล่นการพนัน ดื่มของมึนเมา เที่ยวกลางคืน สนุกสนาน เสียสิ้นเปลืองเงินทองในเรื่องที่ไม่เข้าเรื่องอะไรต่างๆ ชีวิตของเขาก็ไหลไปกับสิ่งนั้น เพราะว่าเขาไม่มีอะไรเป็นเครื่องบังคับเหนี่ยวรั้งจิตใจไว้ เขาก็ไหลไปได้ง่าย แต่ถ้าคนที่ได้รับการอบรมบ่มนิสัย ให้เป็นพื้นฐานมาดีอย่างมั่นคง แม้จะไปอยู่กับสิ่งชั่วร้าย เขาก็มีภูมิต้านทานเพียงพอที่จะไม่ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับสิ่งเหล่านั้นได้ เอาตัวรอดปลอดภัยไป มีอยู่เหมือนกันพวกที่เอาตัวรอดนี่ แล้วก็พยายามที่จะย้ายตัวเองไปอยู่ในที่อื่นซึ่งไม่มีสิ่งเหล่านั้น อย่างนี้เอาตัวรอดได้ ท่านศึกษาธิการอำเภอทางใต้เคยเล่าให้ฟังว่า มีครูคนหนึ่งเป็นครูใหญ่เสียด้วย เมาไม่เป็นซำเลย (19.55) เมาเช้าเมาเย็น เวลาไปสอนก็ยืนไม่ตรงทาง ยืนไม่ตรงล่ะสอนนักเรียนนี่ ครูศึกษาไปตรวจงานพบเข้า พอพบเข้าก็สั่งให้มาพบที่บ้าน ชวนพูดชวนคุย เมื่อชวนพูดชวนคุยก็รู้ว่าชีวิตมันอยู่ในอันตราย ที่แกต้องไปดื่มอย่างนั้นก็เพราะว่า ในสังคมหมู่บ้านนั้นเขาดื่มกันทั้งนั้น แล้วครูไปอยู่ที่นั่นคนเดียว เรียกว่าหัวเดียวกระเทียมลีบ กระเทียมที่ลีบเสียด้วย เพื่อนมันก็ดึงไปให้กินเหล้าเมายากันไปตามเรื่อง ศึกษาก็ถามว่าคุณอยากจะเลิกไหมล่ะ โอ้ย! ผมอยากจะเลิกวันละร้อยหนแต่มันเลิกไม่ได้ เวลานี้มันติดงอมแงมแล้ว แล้วก็เพื่อนมันลากไปตลอดเวลาไม่รู้จะทำอย่างไร ท่านศึกษาบอกว่าผมจะช่วยคุณให้เลิก คุณพอใจไหม บอกว่า แหม! ถ้าทำให้ผมเลิกได้ผมก็พอใจ แล้วท่านจะทำอย่างไร เอ้า! ผมจะย้ายคุณไปอยู่ที่อื่น ไปอยู่ในตำบลที่คนมันเรียบร้อยกว่านี้ แล้วก็ไม่ค่อยมั่วสุมในเรื่องเหล่านี้ คุณพอใจไหม แกก็บอก แหม! ถ้าย้ายผมไปจากนรกขุมนี้ได้ผมก็จะพอใจแล้ว จะขอบใจท่านศึกษามากเป็นพิเศษ เลยสั่งย้ายให้ไปอยู่ที่ตำบลห่างไกลจากตำบลนั้น แล้วเป็นตำบลที่คนเขาสงบเรียบร้อย ไม่ค่อยวุ่นวายในเรื่องขี้เหล้าขี้ยากัน ครูคนนั้นก็เลยกลับใจได้เพราะได้ไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มันดีขึ้น แล้วตัวเองก็มีความตั้งใจที่จะกลับด้วย มันสำคัญอยู่ที่ตัวเราว่าตั้งใจจะเปลี่ยนหรือไม่ ถ้าตั้งใจจะเปลี่ยนแล้วมันก็พอจะเปลี่ยนได้ถ้าไปอยู่ในที่ๆ สิ่งแวดล้อมดีขึ้น แต่ถ้าอยู่ในที่เดิมนี่เห็นจะยากเพราะมันคุ้นกับเพื่อนอย่างนั้นเสียนานแล้ว พอเพื่อนกวักมือหรือหรี่ตาก็รู้นัยกันแล้ว มันเลิกยาก เย็นก็ต้องไป เช้าก็ต้องไป เลยก็ไปกันในรูปอย่างนั้นเลิกไม่ได้ อันนี้มันลำบาก
ทางบ้านเมืองจะต้องช่วยด้วยวิธีการบางอย่างคือจำกัดการดื่มให้มันน้อยลงไป ไม่ให้ดื่มได้ทุกโอกาสทุกเวลา ออกกฎหมายควบคุมการดื่มสุราเมรัย ควบคุมให้ดื่มน้อย ๆ คือว่าให้ดื่มวันหนึ่งเพียงสักชั่วโมงหนึ่ง เช่นว่าเย็นๆ ให้เขาได้ดื่มนิดหน่อย ใช้เวลาเพียงสักชั่วโมงหนึ่ง ห้าโมงถึงหกโมง พ้นจากนั้นแล้วก็ไม่ขาย คนขายไม่ขาย คนดื่มก็ไม่รู้จะดื่มอย่างไร ถ้าไปพบคนเมานอกเวลาก็แสดงว่าขัดขืนกฎหมาย ต้องจับไปลงโทษกัน ปรับไหมลงโทษพอสมควรแก่โทษานุโทษ ครั้งแรกก็ปรับ ครั้งที่สองเลิกไม่ได้ก็ต้องขังกันเสียบ้างหรือถ้าไม่ขังก็เอาไปให้ทำงานหนักๆ อะไรกันเสียบ้างเพื่อแก้ไข อันนี้มันก็จะดีขึ้น คนไทยเรานี่มีนิสัยเรื่องการดื่มมาก แม้ไปอยู่ในประเทศที่เขาไม่ดื่ม เช่นประเทศอยู่แถวตะวันออกกลางเขาไม่ดื่มกัน ที่นั่นเขาไม่มีของเมาขาย ไม่มีการดื่ม คนเรามันเคยก็อุตส่าห์หาเครื่องไปทำขึ้นในค่ายที่ตัวพัก อันนี้เมื่อทำไปไอ้ของอย่างนี้มันส่งกลิ่นฉุยๆ ออกไปข้างนอก แล้วเวลาดื่มแล้วมันดื่มเงียบๆ ไม่ได้ มันต้องคุยกันดังๆ พอหนักเข้าๆ ก็ลุกขึ้นเต้นแร้งเต้นกา เอากะลากระป๋องมาเคาะเป็นจังหวะสนุกสนานกันใหญ่ เขาก็ได้ยินเสียงว่าทำไมในค่ายคนไทยนี่มันถึงเอะอะมะเทิ่งกันนักหนา เขาก็ไปบอกตำรวจมา ตำรวจก็ซิวพวกเราเหล่านั้นไปโรงพัก ก็เอาไปทรมานทรกรรมกันไปตามเรื่องนะ ลงโทษหนักนะ เขาลงโทษหนักพอสมควร ก็ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน อันนี้คือว่าไม่ช่วยตัวเองในเมื่อสถานการณ์อำนวยที่จะให้ช่วยตัวเองได้ ตั้งใจจะไปโกยเงินทองจากตะวันออกกลางส่งมาให้แก่ครอบครัว แต่กลับไปเปิดสิ่งเหลวไหล เช่นไปดื่มกัน ไปเปิดเล่นการพนันกันในค่ายจนตำรวจจับได้ไปติดคุกติดตาราง เอ้า! พอไปติดคุกติดตารางก็แหม โอดครวญมาเมืองไทย บอกว่าไปติดคุกที่โน่นมันเดือดร้อนอย่างนั้นอย่างนี้ จะขอให้รัฐบาลแลกเปลี่ยนนักโทษกัน อาตมาถ้าเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วไม่สนใจกับไอ้คนพวกนี้เลย เพราะมันอยากจะทำชั่วก็ต้องให้ไป ไปแลกมาทำไม ให้มันไปลงโทษอยู่ที่โน่นน่ะมันไม่เข็ดไม่หลาบ จะขอร้องให้แลกเปลี่ยนนักโทษกัน เอ้อ! ไม่ใช่เขาแกล้งจับเราไปใส่คุกนะ แต่เราไปเข้าหาคุกเองนะ แล้วจะกวนให้เขาไปแลกเปลี่ยนนักโทษให้มันวุ่นวายกับทางราชการต่อไป นี่มันเป็นปัญหาอย่างนี้ มันเกิดเป็นเรื่องเสียหาย มีคนหนึ่งเขาว่าอยู่แถวนี้ บางพูดอะไรเนี่ย ก็ไปครั้งแรกก็นำของเสพติดไป ขายได้ ไม่ถูกจับ ที่ดอนเมืองก็ไม่ถูกจับ ไปนู่นก็ขายได้ ได้เงินมาก เอามาแบ่งกันในหมู่พรรคพวกกันแล้วก็ไม่หยุดไม่ยั้ง เที่ยวที่สองขนไปอีก พอไปอีกทีนี้ถูกจับที่สนามบินเลย ถูกจับมาติดคุก พอติดคุกกลางวันนี่แดดร้อนๆ สายมากๆ เขาก็เอาออกมาจากคุกให้มานั่งที่ทรายร้อนๆ เอาน้ำมาให้หนึ่งกระป๋อง แล้วก็ให้ขนมปังไว้ชิ้นหนึ่งให้เคี้ยวกับน้ำเล่นอยู่กลางทราย แล้วก็พอนั่งไปได้สัก ๑๕ นาที มีคนเอาหวายมาเฆี่ยนหลัง เรียงเป็นแถว เฆี่ยนซะ แล้วก็ให้นั่งอยู่ตรงนั้นต่อไป แล้วก็พอนั่งนานๆ ก็ให้ลงไปอาบน้ำ อาบน้ำเสร็จแล้วขึ้นมาก็เฆี่ยนหลังสัก ๓ ที แล้วให้นั่งผึ่งแดดต่อไป เขาทำอย่างนั้น ทรมานทรกรรม ด้วยประการต่างๆ
พูดรวนมาอีกว่า แหม! ไปติดคุกเมืองแขกนี่แย่จริงๆ ลำบากเดือดร้อน แล้วเมื่อก่อนไม่ติดคุกทำไมไม่คิดเสียบ้างว่ามันผิดกฎหมาย แล้วกฎหมายเมืองนั้นเขาลงโทษไม่เหมือนเพื่อน เขาลงโทษแรงมาก บางทีถึงกับประหารกันเลย ตัดคอเลย ประหารชีวิตเขาไม่ใช่ประหารเหมือนเพื่อนนี่ เขาให้ปิดผ้าปิดตาเสีย เอาปืนยิงไอ้ตรงหัวใจ ไม่เห็นว่าเขายิงตรงไหน ยิงข้างหลัง ทำอย่างนั้น ไอ้โน่นเขาไม่ปิดหูปิดตา ให้มันเห็นชัดๆ แล้วก็นั่งฟุบลง เอาดาบทื่อๆ มาฟันคอเลย ฟันทีเดียวไม่ขาดก็ฟันสองทีสามทีจนคอขาดกระเด็นไป พอฟันคอกระเด็นแล้วคนที่มาดูก็เข้าไปกระทืบซ้ำคนละทีๆ ล้างซวยว่าอย่างนั้นเถอะ ไปกระทืบล้างซวย เออ! มันทรมานทรกรรม เขาไม่ต้องการให้คนทำชั่ว คนของเขาไม่ทำชั่วเพราะเขากลัวการถูกลงโทษในรูปอย่างนั้น เช่น ไปขโมยจับได้ก็ตัดมือทิ้ง ตัดแขนขวา ไอ้แขนนี้มันขโมยตัดมันทิ้งซะเลย โอ้แขนซ้ายยังมี ไปลักอีกตัดแขนซ้ายซะเลย ถ้ายังไปเอาอีกก็ตัดคอมันซะเลย หมดเรื่องกันไป เขาลงโทษอย่างนั้น ก็โอดครวญว่าแหม! ทารุณเหลือเกิน ไอ้เรารู้ว่าเขาทารุณกับคนผิด เราไปทำผิดทำไม มันเป็นอย่างนี้ มันลำบากจริงๆ คนเรานี่ ไม่กลัวบาปกลัวกรรมแล้วไปทำผิด พอทำผิดแล้วโอดครวญ จะให้คนนั้นช่วยเหลือให้คนนี้ช่วยเหลือ ขออุทรณ์อย่างนั้นอย่างนี้ด้วยประการต่างๆ ไอ้ครั้งแรกทำไมไม่คิดเสียมั่ง นี่มันเป็นอย่างนี้
คนเราจิตใจมันอ่อนแอปล่อยไปตามอำนาจของกิเลส เลยก็คิดไม่ค่อยจะได้ จึงได้เกิดเรื่องอะไรต่างๆ ขึ้นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจะต้องมีการควบคุมตัวเอง ทางภาษาธรรมะเขาเรียกว่าสังวรณ์ สังวรณ์นี่หมายความว่าระมัดระวัง ระมัดระวังทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันเป็นบ่อเกิดของความสุขความทุกข์ จะนรก สวรรค์อะไรมันอยู่ตรงนี้ มันอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ พระพุทธเจ้าท่านแสดงชี้ชัดลงไปว่า นรกก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สวรรค์ก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือหมายความว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่มันเป็นต้นทางที่จะนำคนไปสู่อะไรก็ได้ นำไปสู่นรกก็ได้ นำไปสู่สวรรค์ก็ได้ ถ้าหากว่าเราใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยไม่มีธรรมะกำกับ มันก็เบิกทางไปสู่นรกกัน เท่านั้นเอง แต่ถ้าหากเราใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราโดยมีธรรมะเข้ามากำกับก็เรียกว่าเบิกทางไปสู่สวรรค์ คือไปสู่ความสุขความเจริญแห่งชีวิต หลักการมันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจึงต้องระวังไว้ที่สิ่งเหล่านี้ให้มันเป็นไปในทางที่ถูกที่ชอบ เรียกว่าสำรวม ในที่แห่งหนึ่งพระพุทธเจ้าว่า มีตาดีให้ทำเหมือนตาบอดเสียบ้าง หูฟังได้ก็ทำเป็นคนหูหนวกเสียบ้าง ลิ้นพูดได้ก็ทำเป็นใบ้เสียบ้าง มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น เข้าห้องปิดประตูนอนคลุมโปงเสีย ทำไม่รู้ไม่ชี้เสียบ้าง ไอ้เรื่องไม่รู้ไม่ชี้นี่มันก็ดีเหมือนกัน ช่วยแก้ปัญหาได้ ถ้าเรารู้ไปทุกอย่างเอาใจใส่มันทุกอย่าง มันก็สะสมมากเกินไปกลุ้มใจไม่เป็นอันเป็นสุข คนบางคนมีชีวิตอย่างนั้น กลุ้มใจด้วยเรื่องนั้นด้วยเรื่องนี้ เรื่องร้อยแปดเรียกว่าแบกไว้ในตัวคนเดียวแหละ ความทุกข์ของคนทั้งบ้านอยู่ที่ฉันคนเดียว ความทุกข์ของใครๆ ก็อยู่ที่ฉัน นี่เขาเรียกว่าไปแบกเข้าไว้ ไปรับภาระมันมากเกินไปไม่รู้จักปลงไม่รู้จักวาง ไม่ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเสียบ้างว่าอะไรคือเป็นอะไร ถ้าเราได้ใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองเสียบ้าง วิเคราะห์แยกแยะสิ่งเหล่านั้นออกไปให้เห็นตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ ความเข้าไปยึดถืออะไรต่างๆ ก็เบาลงไป ความทุกข์มันก็ลดน้อยลงไป แต่นี่เราไม่ค่อยจะได้คิดในเรื่องอย่างนั้น ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็คิดอยู่แต่เรื่องนั้น มองอยู่แต่เรื่องนั้น แต่ไม่ได้มองด้วยปัญญา มองด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ เรียกว่าใช้อวิชชาสวมแว่น สวมแว่นอวิชชา สวมแว่นอวิชชาแล้วก็มองไป มองก็เห็นเป็นไม่ได้เรื่องได้ราว คล้ายกับเราสวมแว่นสีเขียว เห็นอะไรมันก็เขียวไปหมด ถ้าสวมแว่นสีแดงมันก็แดงไปหมด สวมแว่นสีเหลืองมันก็เหลืองไป ถ้าสวมแว่นสีขาวมองอะไรชัดเจนแจ่มแจ้ง
คนเราบางทีมองอะไรนี่เขาเรียกว่าสวมแว่นอวิชชา อวิชชาคือความไม่รู้ไม่เข้าใจที่ชัดเจนถูกต้องในเรื่องที่เรามอง เราก็มองผิด มองคนผิดก็มี มองเรื่องผิดไปก็มี มองอารมณ์ผิดไปก็มี ถ้ามองผิดมันก็เกิดทุกข์ ถ้ามองถูกมันก็เข้าใจถูกต้องในเรื่องนั้นตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ ทีนี้พระพุทธเจ้าของชาวเราทั้งหลายนั้นท่านสอนให้เรามองอะไรในรูปอย่างไร ท่านสอนให้มองในสิ่งต่างๆ ให้รู้ชัดตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ ว่าความจริงของสิ่งนั้นคืออะไร ต้องอาศัยปัญญาเป็นเครื่องแยกแยะ วิเคราะห์ พิเคราะห์ วิจารณ์ออกไปให้มันละเอียด ละเอียดออกไปจนกระทั้งเห็นว่ามันไม่มีอะไรที่น่าจะไปรัก ไม่มีอะไรที่น่าเกลียด ไม่มีอะไรที่น่ากลัว ไม่มีอะไรที่น่าจะยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นเราเป็นเขาขึ้นมา เรามองเห็นอย่างนั้น มองเห็นอย่างนี้ก็เรียกว่าเห็นชัดตามสภาพที่เป็นจริง เมื่อเห็นชัดตามสภาพที่เป็นจริงมันก็สบายใจ เราไม่ต้องนั่งกลุ้มใจ ให้ญาติโยมลองคิดดูจากประสบการณ์ในชีวิตของเราแต่ละคนว่า ให้เราคิดดูตามสภาพเป็นจริงในชีวิตของเราแต่ละคน เช่น เรานึกถึงว่าเวลาเราโกรธนี่ทำไมเราจึงได้เกิดความโกรธ เวลาเรากลุ้มใจนี่ทำไมจึงได้เกิดความกลุ้มใจ หรือว่าเวลาเรารักหลง ไม่ใช่รักปรกติ รักด้วยความหลง คิดถึงเหลือเกิน สภาพจิตใจเป็นอย่างไรในเวลานั้น มันคิดสิ่งเหล่านั้นในรูปใด ในรูปที่ใช้ปัญญาหรือไม่ได้ใช้ปัญญา ลองพิจารณา ถ้าพิจารณาแล้วก็จะเป็นว่าเรามองสิ่งนั้นโดยไม่ได้ใช้ปัญญาแต่เรามองด้วยความเขลา ด้วยความยึดถือ ด้วยความหลงผิดในเรื่องนั้นด้วยประการต่างๆ เราจึงเกิดมีความกลุ้มอกกลุ้มใจ มีความทุกข์ด้วยสิ่งนั้นสิ่งนี้ เช่นว่า น้ำท่วม คนที่อยู่ในที่น้ำท่วมนี่ ถ้าน้ำยังท่วมอยู่ก็ยังกลุ้มใจอยู่ ถ้ามันท่วมเดือนหนึ่งเรากลุ้มใจเดือนหนึ่ง ถ้าท่วมสองเดือนก็กลุ้มใจสองเดือน ถ้านั่งกลุ้มใจสองเดือนนี่มันแย่เต็มทีแล้ว ชีวิตมันแย่แล้วเพราะกลุ้มใจนานเหลือเกิน น้ำมันลดสักทีก็นั่งกลุ้มอยู่อย่างนั้นแหละ อย่างนี้มันก็ไม่ถูกต้อง แต่เราควรจะคิดว่า เอ! ทำไมมันจึงท่วม คำตอบอันแรกก็ว่าเพราะฝนตกมากน้ำมันจึงท่วม ฝนตกมากแล้วก็ทำไมน้ำมันจึงไม่ไปที่อื่น ก็บอกว่ามันไปไม่ได้เพราะว่าที่มันลุ่ม น้ำในกระทะมันจะไปไหนไม่ได้ถ้าว่าไม่ล้นกระทะ ถ้าล้นมันก็ล้นไหลออกมาข้างนอก แต่ถ้ามันอยู่ใต้ขอบมันก็ไปไม่ได้ อันนี้ไอ้ที่ๆ มันจมนี่แปลว่ามันลุ่ม น้ำจึงจม ใครเป็นคนผิด จะไปว่าฝนผิดก็ไม่ได้ ธรรมชาติมันอย่างนั้น มันก็ตกอยู่ตามธรรมชาติ บางปีก็ตกมากบางปีก็ตกน้อย จะไปเอาอะไรกับธรรมชาติมันไม่ได้หรอก เพราะเราบังคับไม่ได้ บังคับธรรมชาติไม่ได้ มันก็ตกไปตามเรื่องของเขา เมื่อตกลงมามากน้ำมันก็ขังอยู่ในบริเวณที่เราอยู่ เราก็ถูกน้ำท่วม แล้วลองคิดดูว่าไอ้ที่น้ำท่วมมันท่วมกันมาตั้งแต่ยุคไหนสมัยไหน มันเพิ่งท่วมกันในสมัยคุณปู่เทียมเป็นผู้ว่าฯ หรือว่ามันท่วมมาตั้งแต่โบรมโบราณ
คิดดูแล้วกันว่ามันท่วมมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยนะ ไม่ใช่ประเดี๋ยวประด๋าวเมื่อไร ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี กรุงเทพ อยุธยา เมืองสุพรรณ เมืองปทุมธานี แถวนี้มันท่วมทั้งนั้น ท่วมทั้งนั้น สมัยก่อนนี้อาตมารับการนิมนต์ไปทุ่งผักไห่ (อำเภอ) เสนา ให้ไปเทศน์ในพรรษา โอ้ย! สบายใจมาก ถ้านอกพรรษานี่เดินไกลเหลือเกินแห้งแล้ง ทุ่งแห้งขี้ฝุ่น ฮู้ย! ไปไม่ไหว แต่พอในพรรษานะนั่งเรือ รับไปง่ายๆ จากนั้นไปตำบลนั้น ลัดประเดี๋ยวเดียวถึงแล้ว ลัดไปในที่นาน่ะ ข้าวเต็มสีเขียวลอยเต็ม ยาว ฟางยาว ชาวนาชอบอกชอบใจ แหม! ปีนี้น้ำมาก ฟางยาวจะได้เก็บฟางไว้ให้ควายกินนานๆ หน่อย ก็สบายใจ สบายใจเพราะเขาได้ฟางมาก เขาก็ปลื้มอกปลื้มใจในการที่น้ำท่วม เขาไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไร เขาสนุกไปตามเรื่องของเขา ไปไหนก็ไปสะดวก ทำบุญสุนทานตามวัดวาต่างๆ ก็ไปกันสะดวกสบายเพราะน้ำท่วม นี่มันท่วมอยู่อย่างนี้ ทุ่งเมืองมีน หนองจอก พระโขนง มันก็ท่วมทั้งนั้นแหละเพราะว่ามันเป็นทุ่งรับน้ำที่มาจากภาคเหนือของประเทศไทย มันก็ไหลมาท่วมตามฤดูกาล ทีนี้ไอ้ที่ๆ น้ำท่วมน่ะเขามีไว้สำหรับทำนา คนประเทศไทยเรานี้ได้ส่งข้าวไปขายเพราะน้ำมันท่วมนี่แหละข้าวมันงาม แล้วก็ส่งไปขายต่างประเทศ ต่อมาพลเมืองมากขึ้นก็มีคนหัวแหลมประเภทหนึ่งเรียกว่านักจัดสรรที่ดิน สร้างบ้านให้คนเช่า ซื้อไปก็ออกไปสร้างในทุ่ง ออกไปในทุ่งบางกะปิ ในทุ่งคลองแสนแสบ ในทุ่งไหนๆ นั่งเรือบิน ขึ้นจากปักษ์ใต้มาพอเข้ากรุงเทพฯ ไอ้บ้านมันไปเป็นเกาะอยู่กลางทุ่ง เป็นเกาะเป็นหย่อมๆ บ้านจัดสรรท้ังนั้น ไปอยู่ในทุ่งเป็นหย่อมๆ แล้วพวกที่ไปอยู่ในทุ่งเป็นหย่อมๆ นี่ พอฝนตกหนักเข้ามันเป็นเกาะขึ้นมาเลย มันเป็นเกาะที่ไม่มีแผ่นดินโผล่ มีแต่หลังคาโผล่ บ้านช่องโผล่ออกมา ทีนี้คนไทยเราสมัยก่อนนี้เขาอยู่ในทุ่งที่มีน้ำท่วมนี่ เขาสร้างบ้านใต้ถุนสูง ถ้าหน้าแล้งใช้ใต้ถุนด้วย หน้าฝนขึ้นไปใช้อยู่ชั้นบน เขาไม่ทุกข์ไม่ร้อน เขาไม่บ่นว่าน้ำท่วมเพราะมันท่วมมาตั้งแต่ปู่แต่ย่าจะไปบ่นให้เป็นทุกข์กลุ้มใจทำไม เขาก็อยู่ตามสบาย ฤดูน้ำเขาสบายตามน้ำ หน้าแล้งก็สบายตามแล้ง เขาหมุนจิตใจไปได้ ไม่เดือดร้อน ที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี (40.28 สุพรรณ) น้ำมันท่วมมาตั้งแต่ไหนแต่ไร บ้านตลาดสองพี่น้องนี่เขาทำเป็นสองชั้น หน้าแล้งเขาขายชั้นล่าง พอว่าหน้าฝนก็ขึ้นไปขายชั้นบน ทีนี้ไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็นล่ะ ไม่รู้หนังสือพิมพ์คนใดคนหนึ่งก็ถ่ายภาพมาลงหนังสือพิมพ์ว่า น่าสงสารชาวสองพี่น้อง ต้องไปขายของอยู่บนเล่าเต๊งแล้วน้ำท่วมหมด แหม! เอะอะมะเทิ่ง กรมประชาสงเคราะห์หรือใครต่อใครตกอกตกใจว่าแหมน้ำท่วมอำเภอสองพี่น้อง ไปให้สวัสดิการช่วยเหลือกันใหญ่ ไอ้พวกบ้านสองพี่น้องก็หัวเราะกัน กูท่วมมาตั้งแต่กี่ชั่วคนแล้วไม่เห็นใครมา มันเพิ่งมา มาเพราะว่าหนังสือพิมพ์ไปถ่ายภาพมาลงนั่นเอง ความจริงมันเป็นอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วก็ไม่รู้ความจริงว่ามันเป็นอย่างนั้น
พอหน้าแล้งก็น้ำลดลงไปแห้งถึงพื้นดิน ดินแตกระแหง เขาก็ขนของลงไปขายกันอยู่ชั้นล่าง ชั้นบนเป็นที่อยู่ พอน้ำเร่ิม ไม่ได้ท่วมฮวบฮาบนี่ มันค่อยขึ้น ทีละน้อยๆ ก็ค่อยยกของขึ้นไปขายกันชั้นบนต่อไป แล้วก็ไปเรือกัน สนุก ตลาดน้ำนี่สนุกดี ดีกว่าตลาดบกเสียอีกด้วยซ้ำไป ไม่ต้องเดิน นั่งเรือไปซื้อไปหา คนไปเห็นเอามาลงเป็นข่าว ก็แหม! น่าสงสารชาวอำเภอสองพี่น้อง น้ำท่วมลอยคอแล้วต้องไปขายของบนเล่าเต๊งแล้ว เออ! มันเป็นอย่างนี้ ก็เป็นอยู่อย่างนั้นมานานแล้ว นั่นธรรมชาติ เขาอยู่กันอย่างนั้น แต่ว่าบ้านจัดสรรในกรุงเทพฯ นี่ไม่อย่างนั้น คือไปสร้างลงในที่ลุ่ม ถมดินไม่พอ ไม่สูงพอที่จะพ้นระดับน้ำท่วม แล้วก็ทำบ้านปูโมเสกไม้ ตอนนั้นน้ำท่วมก็หลุดลอยหายไป เพราะว่าทำมักง่าย ทำง่ายๆ บ้านช่องก็ไม่ได้แข็งแรง เรียกว่าบ้านโหล เวลาประกาศโฆษณาแล้ว วิเศษอย่างนั้น วิเศษอย่างนี้ ลูกหลานสบายใจในหมู่บ้านนั้น หมู่บ้านนี้ คนแก่คนเฒ่าก็สบายใจ พอน้ำท่วมก็ลอยคอป๋อมแป๋มไปตามๆ กัน สบายใจกัน เพราะว่าบ่นกันว่า แหม! น้ำท่วมกรุงเทพฯ มันก็ท่วมกันอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่ใช่ว่าเพิ่งท่วมเมื่อไร ถ้าเราไม่คิดมันก็ไม่เห็น แต่ถ้าคิดแล้วก็ปลงตกไปเสีย ทีนี้ใครที่อยู่หมู่บ้านจัดสรรต่อไปนี้ต้องซื้อเรือเอาไว้ด้วย ซื้อเรือไว้บ้านละลำ ๆ พอถึงหน้าฝนก็ไม่ต้องบ่นกับใครล่ะ พายเรือมาเลย มา มาขึ้นรถที่ถนนที่น้ำไม่ท่วม ขึ้นรถไปทำงาน สบายใจ ว่างๆ ก็จัดการแข่งเรือกัน เรือเข็มเรืออะไรเอามาแข่งกัน เรืออย่างนั้นนั่งไม่ระวังก็จมเลย ต้องระวัง นี่มันก็สนุกไปเท่านั้นเอง คิดให้สนุกมันก็สนุก คิดให้เป็นทุกข์มันก็เป็นทุกข์ จะไปนั่งคิดทำไม เมื่อเหตุการณ์มันเป็นเช่นนั้นแล้ว เราก็ควรจะหมุนเหตุการณ์นั้นให้เป็นเรื่องสบายใจ ทำใจเราให้สบาย ด้วยความพอใจเท่านั้นเอง คือถ้าพอใจแล้วมันก็สบาย ถ้าไม่พอใจแล้วก็ไม่สบาย อันนี้เป็นหลักสำคัญ ท่านจึงกล่าวว่า สันสุขี ปรมัง ธะนัง ความพอใจในสิ่งที่มีอยู่เฉพาะหน้าเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง ถ้าเราพอใจแล้วมันก็สบาย ถ้าเกิดไม่พอใจขึ้นมาก็กลุ้มใจแล้ว แต่ถ้าพอใจปุ๊ปมันก็สบายทันที อันนี้เรามันต้องหมุนจิตใจของเรา ต้องหมุนจิตใจให้เหมาะกับเรื่อง กับเหตุการณ์ มีอะไรเกิดขึ้นเรานึกว่า เออ! ดีเหมือนกัน ดีเหมือนกัน อย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน อย่างนั้นก็ดีเหมือนกัน อย่างนั้นมันก็สบายใจ
หาความสบายใจดีกว่าหาความกลุ้มใจ ถ้าเรากลุ้มใจนี่มันทอนชีวิต แต่ถ้าเราสบายใจนี่เป็นยาอายุวัฒนะ อายุมั่นขวัญยืน ใครๆ ก็อยากอายุยืนกันทั้งนั้น แล้วจะไปนั่งกลุ้มใจทำไม กลุ้มใจก็เหมือนกับกินยาพิษ แต่ถ้าสบายใจก็เหมือนกับว่าดื่มยาอายุวัฒนะ ทำให้อายุมั่นขวัญยืน หลักนี้มันก็อยู่ที่ว่าเราพอใจที่เราได้มีสิ่งนั้นเราได้มีสิ่งนี้ อะไรเกิดขึ้นก็นึกว่ามันดีกว่าสิ่งนั้น ดีกว่าสิ่งโน้น เช่นมีเพียงเท่านี้ เราก็นึกว่ามันดีกว่าไม่มี ถ้าไม่มีมันก็คงลำบากกว่านี้ แต่นี่มีสิ่งนี้ก็ดีกว่าไม่มี มีอาหารกินเพียงอย่างเดียว ก็นึกว่ามันดีกว่าไม่มีอะไรกินเสียเลย ถ้าคนหุงข้าวมาดิบ เราก็ต้องทานข้าวไป ก็ต้องนึกว่าก็ดีเหมือนกันต้องเคี้ยวนานๆ หน่อยเพราะว่ามันไม่ค่อยสุกทั่วถึง เคี้ยวให้มันแหลกละเอียดแล้วก็กลืนลงไป มันก็เป็นประโยชน์แก่ร่างกายได้เหมือนกัน ดีกว่าที่จะเรียกคนใช้มาพึมพำดุด่า แล้วก็เทข้าวราดหัวมันไปเลย นี่มันก็ไม่ได้เรื่องอะไร คนใช้มันก็โกรธเคืองขึ้นมา เดี๋ยวมันก็เล่นงานผู้เป็นนายเข้ามั่งเกิดปัญหา เราก็เคี้ยวไปตามเรื่อง กินไป รู้ว่ามันดิบก็กินน้อยๆ กินอย่างอื่นแทนเข้าไปเสียก็ได้ แล้วก็ค่อยพูดจากันทีหลัง เรียกมาสอนมาพูดด้วยอารมณ์เย็นๆ อย่าพูดกันด้วยอารมณ์ร้อน ไอ้เรื่องร้อนนี่มันไม่ดีทั้งนั้นแหละ ร้อนแดดก็ไม่ดี ร้อนไฟก็ไม่ดี ร้อนใจก็ไม่ดี มันไม่ดีทั้งนั้นแหละเรื่องร้อน เราหัดเย็นๆ สงบๆ ค่อยพูดค่อยจา ถ้าตัวเรายังร้อน อย่าพูดอะไรกับใคร อย่าไปพูดอะไรกับใคร ต้องทำเราให้มันสงบเสียก่อน ให้มันเย็นแล้วค่อยไปพูดกัน พูดด้วยอารมณ์เย็น อย่าพูดด้วยอารมณ์โกรธ อย่าพูดด้วยอารมณ์เกลียด อย่าพูดด้วยอารมณ์พยาบาท มันก่อให้เกิดปัญหาแก่ผู้ฟัง แล้วก็จะเกิดปัญหาแก่ผู้พูดด้วย มันไม่ได้เรื่องทั้งสองฝ่าย เพราะอย่างนั้นเราจะต้องเย็นๆ เสียก่อน ให้มันลืมไอ้เรื่องนั้นแล้วก็ค่อยมาสนทนากันด้วยอารมณ์สดชื่น คุยให้เป็นเรื่องตลกขบขันไป แล้วก็เตือนมัน เตือนเขาให้รู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร อย่างนี้จิตใจมันก็สบาย คนเรานี่ที่ทะเลาะเบาะแว้งกันถึงกับรบราฆ่าฟันกัน แทงกัน ยิงกัน ลองศึกษาสาเหตุดูเรื่องไม่ใหญ่ เรื่องเล็กน้อยแต่ว่าพูดด้วยอารมณ์ พูดด้วยอารมณ์ ไม่มีการควบคุมตัวเองเสียก่อน พูดออกไปด้วยอารมณ์โกรธ อารมณ์เกลียด อารมณ์นั้นอารมณ์นี้ แล้วเสียงที่เปล่งออกไปก็ไม่ไพเราะ ไม่หวานหู หน้าตาก็บึ้งตึง ทำอะไรมันก็กระทบกระเทือน ยั่วคนโน้น ไอ้คนเรามันมีเชื้อกันอยู่ทั้งนั้นแหละ อย่าไปยั่วกัน พอยั่วเข้ามันออกมามั่งนะ เพราะว่าต่างคนต่างมีออกมา ออกมามันก็เกิดประสานงากัน แทนท่ีจะประสานงานกลายเป็นประสานงา ทีนี้ก็เกิดปัญหาเกิดความทุกข์ เกิดความเดือดร้อนไม่สบายใจ เป็นความเสียหายแก่ชีวิตเพราะขาดการควบคุมตัวเอง ไม่รู้จักบังคับจิตใจให้สงบเสียก่อนจึงได้เกิดเป็นปัญหา คนโบราณที่เขาสอนว่านับสิบเสียก่อนมันก็ดีเหมือนกัน ไอ้ที่ว่าให้นับสิบเสียก่อนก็หมายความว่าให้คิดให้ตรองอย่างรอบคอบ อย่าทำอะไรด้วยอารมณ์หุนหันพลันแล่น ใจร้อนใจเลว ให้มาคิดตรองเสียก่อนแล้วก็ค่อยไปพูดจากัน เรื่องมันก็เรียบร้อย ไม่ค่อยจะมีปัญหา ถ้าก่อความทุกข์เดือดร้อนแก่กันทุกฝ่าย อันนี้ธรรมะช่วยไว้ ชีวิตเราก็ปลอดภัยไม่เกิดความทุกข์เพราะเรื่องขัดแย้งกันในเรื่องอะไรต่างๆ
ความขัดแย้งทั้งหลายทั้งปวงนี่มันเกิดขึ้นจากอะไรอีกตัวหนึ่ง สำคัญเหมือนกัน คือไม่ยอม ไม่ยอม ฉันไม่ยอม นี่ๆ ตัวนี้สำคัญนักหนา ไม่ได้ ไม่ได้ ฉันไม่ยอมเด็ดขาด หัวเด็ดตีนขาดฉันไม่ยอมเรื่องนี้ อันนี้คือตัวร้าย ไอ้ตัวไม่ยอมนี่ เรียกว่าเป็นตัวเสียหายอย่างร้ายแรง (54.54 ท่านผู้ว่าฯ ใหม่) เรื่องมันร้ายแรงตรงนี้ตรงไอ้ตรงที่เราไม่ยอมนี่เอง อะไรเกิดขึ้นนิดหน่อย ไม่ได้ มันทำให้ฉันเสียเหลี่ยม เสียหายอย่างนั้นอย่างนี้ด้วยประการต่างๆ เกิดไม่ยอมขึ้นมา พอไม่ยอมขึ้นมามันก็ยุ่ง ปัญหามันก็เกิดเพิ่มขึ้น แล้วก็เถียงกัน ต่างคนต่างไม่ยอม เถียงกันอยู่นั้นแหละ เรื่องไม่ยอมกันนี่ เหมือนกับเล่าเรื่องผัวกับเมีย เรื่องไม่ยอมกันนี่ (50.33 ตรงนี้มีเก้าอี้) อันนี้มันก็ไม่ยอมกัน ผัวก็ไม่ยอม เมียก็ไม่ยอม เรื่องมันก็ไปกันยาวไป ทีนี้ว่าถ้ายอมกันเสียมั่งมันก็จบเรื่องกันทันที ไอ้คำพังเพยที่ว่า แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร อันนี้สำคัญ ถ้าเราแพ้เราเป็นพระ เกิดพระขึ้นมาในใจทันที แต่ถ้าเราคิดจะเอาชนะเราก็เป็นมารขึ้นมาทันที ถ้าสร้างความทุกข์สร้างความเดือดร้อน สร้างปัญหาขึ้นในชีวิตด้วยประการต่างๆ เพราะเราคิดจะเอาชนะคะคานกัน ต่างคนต่างก็ไม่ยอมกัน มันก็ต้องว่ากันไปใหญ่โตทีเดียว เพราะไม่ยอมนี่เอง ถ้าเรายอมเสียบ้าง เสียเล็กเสียน้อยดีกว่าเสียมาก คนโบราณเขาก็พูดเตือนไว้ดีเหมือนกัน เสียเล็กเสียน้อยดีกว่าเสียมากๆ เสียเล็กเสียน้อยคือว่าเรายอมเสียเปรียบเขา ยอมแพ้เขาในเรื่องอะไรเล็กๆ น้อยๆ เพื่อประโยชน์อันยิ่งใหญ่ต่อไป ก็ถ้าเรารักกันชอบกันนี่ประโยชน์มันยาว แต่ถ้าเราเกลียดกันโกรธกันนี่ประโยชน์มันสั้นนิดเดียว แล้วก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา เพราะฉะนั้นเมื่อมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นก็ยอมแพ้กันเสียบ้าง ต่างคนต่างแพ้ เมื่อต่างคนต่างแพ้ก็จับมือกัน หันหน้าเข้าหากัน ขอโทษกัน รับผิดทั้งคู่ อย่าคิดเอาถูก ให้มันผิดกันเสียทั้งคู่ ไอ้ฝ่ายหนึ่งก็แหม! ผมผิดไป ขอโทษ อีกฝ่ายหนึ่ง ผมผิดไป ขอโทษ มันก็จบเรื่องกันเท่านั้นเอง บางทีเรื่องเล็กน้อย แหม! รถติดกันเต็มไปบนถนน ผ่านไปดูเรื่องมันก็นิดเดียว รถเฉียดกัน สีกระเทาะไปนิดหน่อย ต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมกัน ยืนเถียงกันอยู่ตรงนั้น ต้องไปหาตำรวจ กว่าตำรวจจะมาก็โอยรถก็ติดไปกันใหญ่โต นี่มันเรื่องเล็กน้อย ถ้าหากว่าพอลงมาถึงอีกคนหนึ่งก็มาขอโทษ แหม! ขอโทษครับ ผมมันผิดไปหน่อย แล้วก็อีกฝ่ายหนึ่งก็ว่ามันก็เรื่องธรรมดา คนเราอยู่กันมากๆ เดินก็เหยียบตีนกันมั่ง เข่าแทกกันบ้าง เบียดกันนิดๆ หน่อยๆ ขอกันกินมากกว่านั้น เรานึกได้อย่างนี้เราก็สบายใจ มันไม่มีเรื่องอะไร สามีภรรยานั่งเถียงกันอยู่ ไม่หลับไม่นอนเพราะว่าต่างคนต่างไม่ยอม ถ้าหากว่ายอมซะ สามีผิดก็ขอโทษมันก็จบกัน หรือภรรยาก็ว่าแหม! น้องผิดไปแล้วขอโทษที มันก็จบเท่านั้นเอง แต่คำว่าฉันผิดนี่มันพูดยากเหลือเกิน พูดยาก บางทีมันจะออกมาแล้วแต่มาติดอยู่ที่คอหอยนะ มันไม่ยอมออกมาสักทีว่าฉันผิด มันยากเหลือเกิน เพราะฉะนั้นต้องหัดเหมือนกันเรื่องนี้ หัดยอมรับผิดในเรื่องที่เราผิด เพื่อให้เรื่องมันสงบ ให้เรื่องมันไม่ยืดยาวต่อไป เพราะถ้าเรื่องยืดยาวนี่มันกวนประสาท ล่อแหลมต่อการที่จะเป็นโรคประสาทมากมายทีเดียว เราจึงควรจะได้ยอมรับผิดเสีย ในเรื่องอะไรต่ออะไร การยอมนั้นเป็นสุภาพชน การไม่ยอมนั้นเป็นอันธพาล คนที่เป็นอันธพาลนี่ไม่ยอมใคร แต่สุภาพชนนั้นเขายอมรับความผิด เป็นคนดีนี่เขายอมรับผิด เมื่อยอมรับผิดเรื่องมันก็จบลงเพียงเท่านั้น ไม่มีเรื่องอะไรที่จะเกิดความยุ่งยากลำบากใจต่อไป
เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ อยากจะขอฝากไว้ให้ญาติโยมทั้งหลายได้นำไปพิจารณา วันนี้ท่านผู้ว่าราชการเมืองนนคนใหม่มาเยี่ยมพวกเรา เดี๋ยวนั่งสงบใจห้านาทีแล้ว จะได้เชิญท่านขึ้นมากล่าวปราศัยกับพี่น้องสักเล็กน้อย ต่อไปนี้ก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจ ๕ นาที