แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาฟังปาฎากฐาธรรมะ อันเป็นคำสั่งสอนในพระพุธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านหยุดเดิน นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงชัดเจนแจ่มแจ้ง แล้วจงตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา วันนี้อากาศแจ่มใส เมื่อวานนี้ตกมาก เมื่อคืนนี้ได้บอกว่าตกซะให้พอ วันอาทิตย์เจ้าอย่าตก คนเขาจะมาทำบุญสุนทานกันอย่าไปเที่ยวขัดคอกัน อะไรก็เรียบร้อยตอนเช้า ตอนบ่ายไม่รับรอง เราจะได้นั่งฟังธรรมกันสบายๆ ก็เพราะถ้าฝนตกแล้วมันยุ่ง ลำบากด้วยประการต่างๆ แต่ถ้าจะตกก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน ก็เป็นเรื่องธรรมชาติ เรามันก็อยู่ใต้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เราหนีไปไม่ได้ แต่ว่าถ้าไม่ตกก็นับว่าสบาย ตอนนี้ก็สบายแล้ว ข้างหน้าไม่แน่ แต่ว่าสิ่งข้างหน้านี่ไม่มีใครรู้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ในปัจจุบันนี้เรารู้ว่าอะไรเกิดขึ้น อะไรเป็นไปอยู่ พระพุทธเจ้าสอนให้เราพิจารณาในสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เพื่อให้รู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร เพื่อจะได้ทำลายความเศร้าหมองในจิตให้หายไป เพราะความเศร้าหมองของจิตนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ เป็นเรื่องสร้างปัญหา สร้างความทุกข์ให้แก่ตัวเรา ที่เราพูดกันทั่วไปว่ากิเลสนั่นเอง กิเลสนี่เป็นคำบาลี คำภาษาไทยก็หมายถึงว่าสิ่งที่ทำให้เกิดความเศร้าหมอง สิ่งที่เกิดความเศร้าหมองนี่เรามุ่งถึงความเศร้าหมองทางใจ มากกว่าอะไรๆ ทั้งหมด สิ่งที่เป็นความเศร้าหมองทางวัตถุ เช่น ขี้ฝุ่น เหงื่อไคล อะไรอย่างนั้นไม่เรียกว่าเป็นกิเลส แต่เรียกว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เศร้าหมองในคำอื่น ส่วนคำว่ากิเลสนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับใจของเราโดยเฉพาะ คือมันทำใจของเราให้เศร้าหมองไป ผิดไปจากหน้าตาดั้งเดิมของมัน หน้าตาดั้งเดิมของจิตนั้น อยู่ในสภาพที่สะอาดและสงบอยู่ สว่างอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าเมื่อใดเราเผลอไป เราประมาทไป จิตเราก็เศร้าหมองด้วยอำนาจกิเลสที่เกิดขึ้นในใจของเรา ตัวกิเลสไม่ได้เป็นของมีอยู่ตั้งอยู่ถาวร แต่มันเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เกิดแล้วความจริงมันก็ดับไปหายไปนั่นแหล่ะ แต่ว่าเราไม่ยอมให้มันดับ ไม่ยอมให้ดับก็โดยการเพิ่มเชื้อเข้าไปในกองกิเลสนั้น คล้ายกับเราไม่ต้องการให้ไฟดับ พอไม้ขีดไฟหายาก เราก็หาไม้ฟืนมาเติม เอาไม้ต้นใหญ่ๆมาเผาไว้ เวลาต้องการก็ไปจุดเอามาได้ฉันใด เราก็มักจะเป็นผู้ที่ขาดปัญญา คอยเติมเชื้อกิเลสให้เกิดเจริญงอกงามในจิตใจของเราแล้วเราก็สำคัญผิดคิดว่า จิตใจเรานี้มีกิเลสตลอดเวลา หรือว่าในคำสอนบางคำสอนก็สอนว่าใจนี้เป็นบาป บาปมาตั้งแต่ดั้งเดิม
อันนี้ไม่ใช่หลักตามพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาไม่มีบาปดั้งเดิม ไม่เหมือนคำสอนในศาสนาอื่น ที่เขาสอนว่ามนุษย์มีบาปดั้งเดิม บาปดั้งเดิมนั้นก็คือขัดคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า ไปกินผลไม้เข้าแล้วก็เป็นบาปตลอดมา ในพระพุทธศาสนาไม่ยอมรับหลักการเช่นนั้น พระพุทธศาสนาสอนว่าบาป หรือความเศร้าหมองจิต หรือกิเลสนั้น ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ตลอดเวลา โดยปรกตินั้นเราสงบมากกว่าวุ่นวาย หากใจเรามีความสงบมากกว่าวุ่นวาย มีความเย็นมากกว่าความร้อน มีความสว่างอยู่มากกว่าความมืดบอด แปลว่าความเป็นอยู่ที่เป็นตัวธรรมดา เป็นหน้าตาดั้งเดิมของจิตของเรานั้นมันเปลี่ยนไปกับสิ่งที่มากระทบ สิ่งที่มากระทบเราเรียกว่าอารมณ์ เราเรียกว่าอารมณ์ คนเรามักจะพูดว่า วันนี้อารมณ์ไม่ดี อันนี้พูดไม่ถูกตามความหมายของเรื่อง อารมณ์มันไม่อยู่ในเรื่องของเรา อารมณ์นั้นมันไม่ดีไม่ชั่ว มันเป็นไปตามเรื่องของมัน แต่ว่าใจเราไปรับเข้าแล้วปรุงแต่งให้ดีขึ้นบ้าง ให้ชั่วขึ้นบ้าง แต่เรื่องมันอยู่ที่ใจเราต่างหาก คือถ้าใจเราไม่ดี อารมณ์ที่มากระทบก็ไม่ดี เหมือนกับว่าน้ำมันขุ่นอยู่โดยปกติ เมื่อเอาน้ำใสใส่ลงไปมันก็กลายเป็นน้ำขุ่นไป ดูในแม่น้ำที่มารวมกันสองสาย สายหนึ่งน้ำสีขาว สายหนึ่งน้ำสีแดงๆ เพราะมีดินสีแดง เมื่อปนกันเข้า ถ้าน้ำสีขาวมากสีแดงก็จางหายไป กลายเป็นน้ำสีขาวไปฉันใด ในสภาพจิตของคนเรานี้ก็เหมือนกัน จิตโดยปกติมันก็ไม่ได้ขุ่นข้นแต่ขุ่นข้นเพราะอารมณ์ เราจึงไม่ควรจะพูดว่าอารมณ์ไม่ดี แต่ควรจะพูดว่าใจไม่ดี ใจน่ะคือสิ่งที่อยู่ในตัวเรา อารมณ์คือสิ่งที่อยู่ภายนอกตัวเรา มันมากระทบตัวเรา รูปหรือที่เรียกว่า รูปารมณ์ มันมากระทบตา เสียงมากระทบหู กลิ่นมากระทบจมูก รสมากระทบลิ้น สิ่งที่ถูกต้องทางกายประสาท เรียกเป็นศัพท์เทคนิคว่า โพสัพพะ (07.25) โพสัพพะ มากระทบกายประสาทอย่างนี้เขาเรียกว่าอารมณ์ พูดให้ง่ายคือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ห้าอย่างนี้เรียกว่าเป็นอารมณ์มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็ไปกระทบกระเทือนไปถึงใจ ใจนั้นเป็นผู้รับรู้ ถ้าขีดเป็นเส้นก็มีวงกลมอยู่ตรงกลาง เรียกว่าใจ แล้วเส้นหนึ่งขีดออกไปเขาเรียกว่าตา แล้วอีกเส้น เรียกว่าหู อีกเส้นหนึ่งเค้าเรียกว่าจมูก อีกเส้นหนึ่งคือลิ้น อีกเส้นหนึ่งคือร่างกาย ทั้งห้าเส้นนั้นมันมารวมกันอยู่ที่ใจ ใจเป็นผู้รับในสิ่งที่มากระทบนั้นเรียกว่ารับอารมณ์ เมื่อใจไปรับอารมณ์ ถ้าไปรับด้วยปัญญา อารมณ์นั้นก็ไม่มีพิษสงแก่เรา แต่ถ้าไปรับด้วยอวิชชา อวิชชาคือความไม่รู้ ไม่เข้าใจในเรื่องนั้นถูกต้อง ใจเราก็เศร้าหมองขึ้นด้วยการรับนั้น
เช่นเรารับด้วยอวิชชาเกิดความโกรธบ้าง เกิดความรักบ้าง เกิดความขัดเคือง ลุ่มหลง มัวเมา ในอารมณ์นั้นๆ ด้วยประการต่างๆ ที่เรียกว่าวิ่งออกไปรับด้วยความมักง่าย ไม่ได้ตั้งตัวให้ดีเสียก่อนแล้วออกไปรับ มีความหุนหันพลันแล่นออกไปรับเข้าเลยเกิดเป็นเรื่องยุ่งขึ้นมา เหมือนกับใครจากเราไปนานแล้วก็กลับมา เราก็ดีใจ วิ่งออกไปรับเลยเท้าก้าวบันไดพลาด ล้มลงซี่โครงหักไปอย่างนี้เค้าเรียกว่าทำด้วยความผลุนผลัน ทำให้เกิดปัญหาขึ้นแก่ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ที่มากระทบนี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราวิ่งออกไปรับรุนแรง กระทบกระเทือนใจมาก บางทีก็ถึงกับเป็นอาการที่เขาเรียกว่า ช็อค ญาติโยมคงจะได้ยินบ่อยๆ ว่าคนนั้นช็อคไป ช็อคไปก็คือหยุดหายใจไปชั่วขณะ หัวใจหยุดทำงานไปเพราะรับอารมณ์แรง อารมณ์นั้นเป็นอารมณ์แห่งความตื่นเต้น แห่งความดีใจ อะไรนักก็ได้ ดีใจนักหัวใจก็หยุดเต้นได้เหมือนกัน ตกใจมาเกินไป ตื่นเต้นมากเกินไป หัวใจก็หยุดทำงานได้เหมือนกัน เรียกว่าแน่นนิ่งไปชั่วขณะหนึ่ง เช่นเวลามีการเผาศพ เวลาจะเอาศพเข้าเตาชอบเปิดให้ดูกันนัก ไม่รู้จะดูไปทำอะไร ความจริงไม่ควรจะดู เพราะว่ามันไม่ค่อยเรียบร้อย ศพไม่เรียบร้อยแล้วเราปิดอัดไว้ มันมีสิ่งที่อัดอยู่ในนั้นคือ อากาศที่เป็นพิษ พอเปิดขึ้นมันก็ระเหยขึ้นมา ถ้ามีเชื้อโรคมันก็ระเหยออกมา คนก็ไปยืนรับสิ่งที่ระเหยออกมานั้นหายใจเข้าไปในจมูก อาจจะเกิดโรคเกิดภัยให้แก่ผู้เข้าไปดูก็ได้ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องดูอย่างนั้น หรือบางคนก็มาเห็นกันแล้วก็วี้ดขึ้นมาแล้วสลบแน่นิ่งไป ต้องหามออกไปทำปฐมพยาบาล การที่อาการสลบแน่นิ่งไปอย่างนั้นก็เพราะว่าตกใจในภาพนั้นมากเกินไป เสียใจพอเห็นภาพก็เสียใจ ทำไมเป็นอย่างนั้น ไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้าว่าจะพบสิ่งเล่านั้น แล้วควรจะทำใจอย่างไร ไม่ได้คิดไว้ก่อน ไม่ได้เตรียมตัวต่อสู้กับข้าศึก คือ อารมณ์ที่มากระทบ เราก็เสียเปรียบ เสียเปรียบก็ไม่สบายใจ แต่ถ้าเราเตรียมตัวเตรียมใจไว้ ตั้งสติให้ดี ตั้งปัญญาให้ดี แล้วก็พิจารณาด้วยการมีสติมีปัญญา เราจะไม่ตื่นเต้นกับสิ่งที่มากระทบ จะไม่เสียใจกับสิ่งที่มากระทบนั้น เพราะเราได้เตรียมตัวไว้ก่อนแล้ว ที่จะต้อนรับมาสู่ตัวเรา แล้วเราจะไม่เป็นอะไร ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ กับสิ่งที่มากระทบนั้น นี้แหล่ะเป็นสิ่งที่ญาติโยมควรจะจำไว้ เพื่อเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะในชีวิตประจำวันของเรานั้นย่อมมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
บางเรื่องมันก็รุนแรงพอสมควร บางเรื่องก็อาจจะไม่รุนแรงเกินไป ที่นี้เมื่อเรากระทบอะไรเข้า ที่เรารู้สึกว่า แหม มันรุนแรงเหลือเกิน มันทารุณต่อฉันเหลือเกิน ทำไมฉันต้องเกิดมาพบกับสิ่งเหล่านี้ คิดไปในรูปอย่างนั้น ความไม่สบายใจก็เกิดขึ้น เพราะว่าเราไม่ได้คิดด้วยปัญญา ไม่ได้ใช้เหตุผลเพื่อพิจารณาสิ่งเหล่านั้น เราไม่เข้าใจธรรมะ ไม่ได้ใช้ธรรมะเป็รเครื่องประคับประคองจิตใจในขณะที่จะต่อสู้กับตัวปัญหา ปัญหานั้นก็จะโจมตีเราบอบช้ำไป ได้รับทุกข์ขนาดหนัก เพราะถ้าเราเตรียมตัวไว้ก่อนนั้นว่าสิ่งนั้นจะมากระทบตาของเรา มากระทบจมูก กระทบลิ้น กระทบกายของเรา เราจะทำอย่างไร เราจะต้องไม่ยินดีกับสิ่งนั้น เราจะไม่ยินร้ายกับสิ่งนั้น แต่เราจะควบคุมจิตใจของเราให้อยู่ในสภาพปกติ เราคิดได้อย่างนั้น เมื่อคิดไว้อย่างนั้น สิ่งนั้นมากระทบเราก็มีความเป็นปรกติ รักษาสภาพดั้งเดิมของเราไว้ได้ อันนี้แหล่ะที่ใช้คำว่าเป็นตัวเอง ที่คนชอบพูดกันบ่อยๆว่า ฉันมันต้องเป็นตัวเองบ้าง แต่ว่าเป็นตัวเองทีไรก็มักจะยุ่งทุกที เพราะไม่ใช่ตัวแท้ แต่เป็นตัวปลอมเข้ามาในใจของเรา ตัวปลอมนั้นมันก็คือตัวกิเลสประเภทต่างๆที่เกิดขึ้นในใจ ตัวแท้นั้นคือใจสงบ ใจสะอาดนั้นเป็นตัวแท้ แต่เรานั้นไม่ค่อยเอาตัวแท้ว่าเป็นตัวเอง แต่ไปเอาตัวปลอมว่าเป็นตัวเอง พอเป็นตัวเองในรูปอย่างนั้นก็แสดงอาการที่ไม่ใช่ตัวเอง แสดงอาการเปลี่ยนโฉมหน้าแบบหน้าดุ หน้าโกรธ หน้าเกลียด เข็ดเขี้ยวเคี้ยวฟัน เดี๋ยวก็หม่ำซะนี่ อะไรไปในรูปอย่างนั้น นั่นคือไม่ใช่ตัวแท้แล้ว จิตใจมันเศร้าหมองเพราะเราไม่ได้เตรียมรับเหตุการณ์อย่างนั้น จึงเกิดเป็นปัญหา สร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนให้แก่เราด้วยประการต่างๆ ซึ่งอย่างนี้มันต้องทำไว้บ่อยๆ ทำในใจไว้บ่อยๆ ทำในใจก็หมายความว่า คอยเตือนไว้ คอยนึกไว้ว่าเราจะไม่ยินดียินร้ายในเรื่องนั้นในเรื่องนี้ เวลาเราจะไปหาใคร เราจะไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ใด ก็ต้องตั้งสติไว้เสียก่อน ใช้คำว่าตั้งสติ คือให้มีความรู้สึกเฉพาะหน้า เอาสติมาไว้กับตัว อย่าให้มันไปเที่ยวอื่น แล้วเอาปัญญามาไว้กับตัวด้วย สติปัญญานี้คอยกำกับดูแล ใจของเราก็จะไม่ตื่นเต้น ตกใจ หรือยินดีในสิ่งที่มากระทบมากเกินไป จนมีสภาพจิตเป็นปรกติเป็นตัวเองอย่างแท้จริง อันนี้เป็นการถูกต้อง ขอญาติโยมได้เข้าใจว่าอย่างนี้แล้วเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ การศึกษาธรรมะของเราทั้งหลายนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะรู้อะไร การศึกษาธรรมะด้วยการฟังก็ตาม ด้วยการอ่านจากหนังสือ หรือด้วยการอะไรก็ตามใจ จุดหมายสำคัญของการศึกษานั้นก็เพื่อให้รู้จักตัวเองที่แท้ ให้รู้จักสิ่งที่มันเกิดขึ้นในตัว ให้รู้เหตุของมันแล้วให้รู้ว่าเราจะแก้ไขปรับปรุงสิ่งนั้นอย่างไร นั่นแหล่ะคือจุดหมายของการศึกษาทำความเข้าใจ ในเบื้องต้นนั้นต้องรู้จักตัวเองก่อน ตัวเราเองนั้นความจริงว่าเป็นเรื่องสมมติ ไม่ใช่ตัวแท้ตัวจริงอะไรหรอก แท้จริงมันไม่มี มันมีตัวสมมติ ตัวปรุงแต่งประกอบกันเข้า
พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่าเอาส่วนต่างๆประกอบกันเข้า รถก็เกิดขึ้นเรือนก็เกิดขึ้นฉันใด ครอบคลุมการเกิดของธาตุทั้งสี่คนจึงเกิดขึ้น ร่างกายจึงเกิดขึ้น เพราะการประกอบของส่วนเหล่านั้น เพราะฉะนั้นที่เรียกว่าเป็นคนเป็นสัตว์ เป็นต้นไม้ เป็นอะไรต่างๆนั้น มันเป็นเรื่องประกอบกันเข้าทั้งนั้น สิ่งที่มาประกอบกันเข้าแล้วเกิดขึ้นเนี่ย ภาษาธรรมนั้นเรียกว่าสังขาร สังขารก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งของวัตถุธาตุตามธรรมชาติบ้าง ของการปรุงแต่งของคนที่มีความต้องการสิ่งนั้นบ้าง เช่นเราปรุงแต่งโต๊ะสำหรับใช้ เก้าอี้สำหรับนั่ง ปรุงเสื้อผ้าสำหรับการนุ่งห่ม ปรุงถ้วยชามสำหรับใส่ข้าวใส่แกง ปรุงสิ่งนั้นสิ่งนี้ขึ้นมาเพื่อจะใช้ สิ่งเหล่านั้นเมื่อก่อนมันไม่มี แต่เมื่อเอาอะไรๆ มารวมกันเข้ามันก็เกิดมีขึ้น เรียกว่ามีแล้วก็ต้องสมมติชื่อให้สำหรับที่จะเรียกกันให้เกิดความเข้าใจ เราจึงสมมติว่าชื่อนั้นชื่อนี้ เช่นคนนี้ก็สมมติชื่อให้ ว่าชื่อนั้นชื่อนี้ ว่าเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ บางทีชื่อเดิมไม่ใช้แต่เอาชื่อสมมติทับลงไปอีกชื่อหนึ่ง กลับไปติดในชื่อสมมตินั้นหนักขึ้นไป เช่นว่าโอ้ยเป็นท่านขุน เป็นคุณหลวง คุณพระ พระยา เจ้าพระยา เราลืมตัวเราแล้ว ลืมว่าเรา ตัวเราชื่อเดิมชื่ออะไร แล้วเราก็ไปติดอยู่ในชื่อนั้น ไม่ได้ติดแต่เพียงชื่อ กิริยา อาการ ความคิดความเห็น ทิฐิมานะ เกิดขึ้นเพราะชื่อตัวใหม่ที่เขาปรุงแต่งให้ บางคนก็เป็นเอามาก เป็นเอาจนกระทั่งว่าเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะยึดติดในชื่อที่เขาตั้งให้ นี่คือเรื่องสมมติ แต่แท้แต่เราไม่ได้พิจารณาว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องสมมติ เมื่อก่อนตรงนี้มันไม่มีอาคาร ไม่มีอาคารหลังนี้มันเป็นที่ว่างเปล่าเฉยๆ แต่ว่ามันนิ่มด้วยเอาดินมาถมเข้าหน่อยถมให้เป็นพื้นสูงขึ้น เสร็จแล้วก็ปลูกอาคารหลังนี้ขึ้น เราก็เรียกชื่อว่าโรงเรียนพุทธธรรมคือเป็นสถานที่สำหรับศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า เราก็เรียกว่าอย่างนั้น แล้วเราก็มาใช้สถานที่นี้ สถานที่นี้ก็เป็นชื่อสมมติสำหรับเรียกกันนานๆไปข้างหน้า ไอ้วัตถุที่รวมตัวกันนี้มันอาจจะหมดคุณภาพ แล้วมันก็อาจจะสลายไป สิ่งทั้งหลายมีเกิดแล้วมันก็ต้องมีดับ เกิดแล้วไม่ดับมันไม่มีเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นคนเป็นสัตว์เป็นต้นไม้ เป็นอะไรก็ตามแต่ เมื่อมีเกิดแล้วก็ต้องมีดับ วันหนึ่งมันก็ต้องสลายไป แต่ว่าในอายุของพวกเราคงยังไม่สลายหรอกเพราะว่าทำแข็งแรง มีคอนกรีตเสริมเหล็กอย่างดี ไม่ได้คอรัปชั่นในการก่อสร้าง มันก็จะปรุงแต่งให้เราได้ใช้กันนานต่อไป แต่ว่ามันก็ต้องสลายไปสักวันหนึ่ง หนีไม่พ้น อันนี้เป็นกฎธรรมชาติ
โลกเรานี้ก็เหมือนกันนะ มันก็เกิดเจากการปรุงแต่งตามกฎของธรรมชาติ แล้วก็ปรากฎเป็นแผ่นดิน มีน้ำมีป่า มีต้นไม้ สิ่งนี้มันเกิดขึ้นแล้ววันหนึ่งมันคงจะหายไป แต่เราไม่ต้องกลัวว่ามันจะหายไปในอายุพวกเราหรอก มันยังอีกนานกว่ามันจะหายไป อยู่กันให้สบายเถอะอยู่ให้มีความสงบจิตสงบใจอย่าให้มีความเดือดร้อนในโลกอันขรุขระอันเหมือนผิวมะกรูดนี้เลย คิดอย่างนี้ ถ้าเรารู้อย่างนี้ คิดอย่างนี้ ใจก็สบาย ร่างกายของเราก็เป็นของปรุงแต่ง ปรุงแต่งขึ้นด้วยธาตุสี่ ท่านจึงบอกว่ามี ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ความจริงนั้นมีมากกว่านั้น พระพุทธเจ้าท่านไม่ต้องการให้เราเรียนรู้เรื่องธาตุแบบวิทยาศาสตร์แต่ให้รู้ว่ามันเป็นของผสม เป็นเรื่องสังขาร เป็นเรื่องปรุงแต่งขึ้นมาโดยธรรมชาติ อย่าไปยึดอย่าไปติดในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายว่าเป็นตัวเราว่าเป็นของเรา เพราะการเข้าไปยึดไปติดนั่นแหล่ะมันเป็นสารสำคัญ ที่จะทำให้เกิดความโลภ เกิดความโกรธ เกิดความหลง ริษยา พยาบาท มานะ ถือตัว แข่งดี ดูหมิ่นนั้นอะไรๆ ต่างๆ ตามกันมาเป็นแถว เพราะมันมีฐานที่ตั้ง ฐานที่ตั้งก็คือ ความยึดมั่นว่าฉันมี ฉันเป็น ไอ้ตัวฉันมีฉันเป็นนี้แหล่ะ มันเป็นฐานใหญ่ ที่จะทำให้เกิดอะไรขึ้นในจิตใจของเราซึ่งเราเรียกว่าตัวกิเลส มันก็เกิดผสมกันขึ้นตามที่กล่าว เกิดมีขึ้นในใจของเรา และเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วทำให้สภาพจิตใจเปลี่ยนแปลงไป จากสว่างกลายเป็นมืด จากสงบกลายเป็นวุ่นวาย จากสะอาดกลายเป็นสกปรกไป นั่นคือความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงนั้นเพราะเราไม่ได้รู้ไม่ได้เข้าใจในเรื่องอย่างนั้น มันก็เป็นไปอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านผู้ทรงไว้ซึ่งพระกรุณาธิคุณ พระองค์สงสารชาวโลกที่เวียนว่ายอยู่ในกองแห่งความทุกข์ ทุกข์แล้วทุกข์อีกไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก วันหนึ่งๆไม่รู้กี่ร้อยกี่พันหน แล้วก็มาซ้ำอยู่บ่อยๆ เมื่อรู้อย่างนั้น ทรงสงสารเอ็นดูว่าไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ควรจะหาทางช่วยเหลือเค้าให้พ้นไปจากตัวปัญหา คือความทุกข์ความเดือดร้อน พระองค์ทรงคิดอย่างนั้น แต่ว่าก่อนจะช่วยคนอื่น ก็ต้องช่วยตัวเองให้พ้นจากความทุกข์เสียก่อน
การช่วยพระองค์เองก็คือว่า ต้องศึกษาค้นคว้าเพื่อทำพระองค์ให้พ้นจากความทุกข์ เหมือนคนจะไปช่วยคนตกน้ำ ถ้าว่ายน้ำไม่เป็นแล้วลงไปช่วยแล้วมันอันตราย แทนที่จะตกน้ำตายคนเดียว มันจะกลายเป็นสองคนขึ้นมา เพราะคนนั้นว่ายน้ำไม่เป็นกระโดดลงไปช่วย มันก็จะจมน้ำกันใหญ่ จึงต้องฝึกหัดตัวเองให้ว่ายน้ำเป็นก่อน แล้วจึงไปช่วยคนอื่นให้พ้นจากการจมน้ำตาย ชีวิตของคนเราทั้งหลายนั้นในทางพระพุทธศาสนาถือว่า เวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ สังสารวัฏก็คือการเกิดแล้วเกิดอีกไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น ซ้ำซากกันอยู่ตลอดเวลา นี่คือการเวียนว่าย วนอยู่เหลือนกับวนอยู่ในปากขอบอ่าง เหมือนมดที่มันไต่อยู่ขอบอ่าง น้ำขึ้นมันอยู่ข้างล่าง มดก็ไต่อยู่นั่นแหล่ะ ไม่มีมดตัวใดกระโจนลงไปในอ่างน้ำขึ้นแต่มันได้กลิ่นแล้วมันก็ไต่วนกันเป็นแถว วนไปวนมากันอยู่อย่างนั้น ถ้าเราเห็นมดมันทำอย่างนั้น ก็คงจะว่าไอ้มดนั่นมันโง่จริงๆ ที่มันวนอยู่ได้ แต่ลืมไปว่าเรานี่มันแรงกว่ามดเสียด้วยซ้ำไป เพราะเราก็วนอยู่เหมือนกัน วนอยู่ในความโลภ วนอยู่ในความโกรธ วนอยู่ในความหลง วนอยู่ในความริษยา พยาบาท อาฆาต แข่งดี ถือตัว ดูหมิ่นท่าน อะไรๆ ต่างๆเนี่ย เรามันวนอยู่เหมือนกัน วนอยู่มากกว่ามดเสียอีกด้วยซ้ำไป วนเวียนอยู่อย่างนั้น ไม่หาทางออกเสียมั่งเลย พระผู้มีพระภาคสมัยยังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า ท่านเกิดปัญญาเกิดความคิดขึ้นในเรื่องนี้ เห็นว่าถ้าเราจะวนเหมือนกับคนอื่นทั้งหลาย ที่มันวนมาตั้งแต่โลก มีโลกมีมนุษย์นั่นแหล่ะ มันเป็นการไม่สมควร การเกิดของเราจะไม่มีความหมาย ก็เกิดมาแล้วก็วิ่งวนอยู่อย่างนั้นแล้วก็ตายไป มันจะมีความหมายอะไร เราควรจะทำอะไรสักอย่าง เพื่อช่วยแก้ปัญหาอย่างนี้ อันนี้แหล่ะเป็นเหตุให้พระองค์เสด็จออกบวชเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ แล้วก็แสวงหาอย่างจริงจังเป็นเวลานานถึงหกปี จึงได้พบความจริงช่วยพระองค์เองให้พ้นจากความทุกข์ทางใจ พระองค์ไม่มีทุกข์แล้ว หมดทุกข์ไม่วนเวียนต่อไป หักกงกรรมแห่งสังขารจักรออกทั้งหมดสิ้นแล้ว ตั้งแต่ที่ได้ตรัสรู้ที่ใต้ต้นโพธิ์ หากกงกรรมแห่งสังขารจักรเปรียบเหมือนกับวงล้อ วงล้อถ้ามันยังเป็นวงมันก็ยังหมุนเรื่อยไป ทำให้หมุนก็หมุนเรื่อยไป แต่พระองค์ได้ทุบล้อนั้นแตกกระจาย กงมันหัก กรรมมันหัก ล้อที่มันหัก หักหมด ไม่มีอะไรเหลือ มันก็หมุนไม่ได้ ไม่มีการหมุนต่อไป สภาพจิตของพระองค์ก็คงที่ถาวร อยู่ในสภาพเดียว คือสะอาดอยู่ สงบ สว่างเป็นนิรันดร ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอื่นต่อไปอีก เราก็รู้ว่าอ้อ เราพ้นแล้วความทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิด อยู่ในวงจรของกิเลสของกรรม ผลแห่งกรรมต่อไป พระองค์ก็คิดว่าควรจะช่วยคนอื่นให้พ้นจากความทุกข์อย่างนั้นบ้าง จึงได้เสด็จออกไปเที่ยวประกาศที่พระองค์ได้ค้นพบด้วยพระองค์เอง ให้คนอื่นได้รู้ได้เข้าใจ
คนมีหูมีใจก็เข้าใจรู้เรื่อง เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันก็ได้ประโยชน์ จากการพูดการสอนของพระองค์อย่างมากมาย คนประเภทไม่มีหูจะฟัง ไม่มีใจจะคิด พวกนั้นก็ไม่ไหว ช่วยไม่ได้ ก็ต้องปล่อยไว้ตามเรื่องของเขา หากพระองค์ได้ทำอย่างนั้น คือที่ให้เห็นว่าอะไรเป็นอะไรในตัวของเราเองทั้งนั้น ไม่ได้ชี้พ้นออกไปในป่าหิมพานต์อะไรที่ไหน เราเข้าใจให้มันชัดในเรื่องนี้ว่า มันอยู่ในตัวเราทั้งนั้น อะไรๆก็อยู่ในตัวเราทั้งนั้น และที่สำคัญในตัวเรามันจุดเดียวจุดใหญ่ที่สำคัญ คืออยู่ตรงที่จิตของเรานั่นเอง จิตก็คือความคิดมาปรุงแต่งเราขึ้น มีคำพูดบางคำพูดที่ว่า ฉันคิดฉันก็เป็น คือมันเป็นตามที่เราคิดนั่นแหล่ะ เราคิดอะไรเราก็เป็นอย่างนั้น เราคิดเรื่องโกรธเราก็เป็นคนโกรธ คิดเรื่องเกลียดเราก็เป็นคนเกลียด คิดเรื่องรักเราก็เป็นคนรัก คิดเรื่องริษยาเราก็เป็นคนริษยา คิดเรื่องพยาบาทเราก็เป็นคนพยาบาท ถ้าเราคิดให้สงบเราก็เป็นคนสงบ เราคิดให้มันสว่างเราก็เป็นคนสว่างขึ้นมา ในเมื่อคิดมันก็เป็นอย่างนั้น ดังนั้นความเป็นทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดจากความคิดของเรา เมื่อเรารู้ว่าอะไรๆมันเกิดมาจากความคิด กิเลสก็เกิดจากความคิด นิพพานก็เกิดจากความคิด ในตัวเรามันก็มีสองแง่ เค้าเรียกว่ากิเลสแง่หนึ่ง พุทธิแง่หนึ่ง กิเลสก็คือสิ่งเศร้างหมอง พุทธิก็คือตัวปัญญาที่จะรู้ชัดแจ้งในสิ่งนั้น ภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ เมื่อเรารู้ชัดตามที่เป็นอยู่จริง เราก็ไม่หลง ไม่มัวเมาในสิ่งนั้นต่อไป เพราะมารู้ชัดตามสภาพที่เป็นจริงแล้วว่ามันคืออะไร มันมีคุณประโยชน์อย่างไร มีโทษอย่างไร เราเข้าใจตลอดปลายของเรื่อง ตั้งแต่ต้นถึงปลาย เข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้ง ความหลงไหลยึดถือมัวเมาในสิ่งนั้นก็หายไปจากใจของเรา ใจเราก็อยู่ในสภาพสงบ ไม่ตกอยู่ในอำนาจของสิ่งนั้นต่อไป เราเป็นไทแท้ขึ้นมา เราเป็นมนุษย์สมบูรณ์ขึ้นมา เราเป็นพุทธ เราเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้มีความเบิกบานแจ่มใส ด้วยความรู้ความเข้าใจตามสภาพที่เป็นจริง เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องทำการศึกษาไว้ ให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ชัดเจนว่าตัวเรานั้นเป็นส่วนผสมปรุงแต่ง ความคิดก็เป็นส่วนผสมปรุงแต่ง ความคิดก็เป็นเรื่องปรุงแต่ง ความสุขก็เป็นเรื่องที่ปรุงแต่งขึ้นมาเหมือนกัน มนุษย์ปรุงแต่งทั้งนั้นล่ะ เราเรียกว่าอยู่ในวิสัยของการปรุงแต่ง
สิ่งที่ยังเป็นวิสัยของการปรุงแต่งเรียกว่า สังขาร สังขารนั้นมันไม่เที่ยง สังขารนั้นมันเป็นทุกข์ มันอยู่ในสภาพสองอย่าง คือไม่เที่ยงกับเป็นทุกข์ แล้วก็ถ้าเราคิดไป มองไป พิจารณาไป เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงขึ้นมาก็ไม่ถูกปรุงแต่ง คือจิตไม่ถูกปรุงแต่ง จิตที่ไม่ถูกปรุงแต่งคล้ายกับว่า วิสังขาร วิสังขาร พระพุทธสุภาษิตว่า วิสังขาระ รัตกะตังจิตตัง ตัณหานัง คะยะมัจจะทา (33.50) เมื่อจิตถึงวิสังขาร ตัณหาก็ดับสิ้นไป จิตมันไม่ถูกปรุงแต่ง ไม่ปรุงแต่งให้เกิดอะไร ความอยากมันก็ดับไป ตัณหาก็ไม่มี เมื่อตัณหาไม่มีความทุกข์ก็ไม่มี เราก็เป็นคนที่ไม่มีความทุกข์ จะเรียกว่าเป็นสุขก็ไม่ได้ ไม่มีชื่อจะเรียกว่าเป็นอะไร เรียกว่าอันโตสุขะสะ (34.28) นั่นคือที่สุดของความทุกข์ ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าโลกนี้มีความทุกข์ จึงมีพุทธสุภาษิตบทหนึ่งว่า ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นดับไป นอกจากทุกข์หามีอะไรไม่ ท่านว่าไว้อย่างนั้น อันนี้เราต้องไปนั่งคิดเอง ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นดับไป นอกนั้นหามีอะไรไม่ หรือพูดให้ง่ายว่า ทุกข์เท่านั้นมีอยู่ เกิดอยู่ เป็นอยู่ นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไร โลกนี้จึงมีแต่เรื่องของความทุกข์ ไอ้สิ่งที่เรียกว่าความสุขแท้จริงน่ะมันไม่มีในความทุกข์นั้นหรอก มันจะมีต่อเมื่อหมดทุกข์ คือสิ้นสุดทุกข์ พอถึงที่สุดทุกข์ มันก็หมดทุกข์ หมดทุกข์แล้วก็ไม่รู้จะเรียกอะไร เมื่อหมดแล้วก็ไม่ต้องไปเรียกมันก็ได้ ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีชื่อเรียกขานกันแล้ว มันเป็นสภาพจิตที่เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา คือมันสะอาดอยู่ สงบอยู่ แล้วก็สว่างอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องตั้งชื่อต่อไป แต่ว่าก็ต้องให้มีชื่อไว้หน่อย ไม่งั้นไม่รู้จะพูดกันว่าอย่างไร ท่านจึงเรียกสิ่งนั้นว่านิพพาน นิพพานคือความสงบเย็น วุ่นวายจากสิ่งที่เคยเร่าร้อน เคยเป็นอย่างที่เราเป็นๆ กันนี่แหล่ะ แล้วมันก็หมดความเป็นอย่างนั้น มันไม่เป็นอย่างที่เราเป็นกันต่อไป เรียกว่าไปถึงฝั่งโน่น คือไปนิพพาน เพราะนิพพานอยู่คนละฝั่งกับชีวิตเราธรรมดาๆ แต่เราที่อยู่ในโลกมันเป็นชีวิตฝั่งหนึ่ง นิพพานมันอีกฝั่งหนึ่ง เราจะไปสู่นิพพานจึงต้องว่ายข้ามไป ว่ายข้ามกระแสน้ำ น้ำก็คือกิเลสประเภทต่างๆ ที่มันวนอยู่ตลอดเวลา เป็นคลื่นร้าย มีปลาร้าย มีอะไรๆ มากมายก่ายกอง คนว่ายไปไม่ค่อยถึงฝั่ง ไปตายเสียริมตลิ่งมั่ง ออกไปได้สักหน่อย จมน้ำตายไป ไปถึงกลางแม่น้ำตายไป ไม่ได้ไปถึงฝั่งสักที พระพุทธองค์ถึงตรัสว่าที่ไปถึงฝั่งมีน้อย นอกนั้นก็เที่ยวิ่งเลาะอยู่ตามชายฝั่งนั่นเอง อัปปะกาเรนะ มนุษย์เฉ พุทธเยจะนะ ปะระคาเวโน (37.10) แล้วในมนุษย์เหล่านั้นที่ถึงฝั่งมีน้อย มักจะเป็นคนเที่ยวเรียกอยู่ริมๆ ฝั่งเท่านั้นเอง ไม่กระโดดลงไปตามเส้นทางที่พระพุทธเจ้าชี้ให้เรากระโดดลงไป เพื่อจะมันพัดพาไปถึงฝั่งโน้น เราไม่กล้ากระโจนลงไป ทำไมจึงไม่กล้า เรากลัว กลัวว่ามันจะหมดสนุกไป กลัวว่าจะหมดความเพลิดเพลินไป อะไรต่างๆ
เหมือนกับคนบางคนเพื่อนชวนให้มาวัดนี่กลัวไม่อยากมา เพราะว่าถ้ามาวัดแล้วเดี๋ยวจะไปดื่มเหล้าไม่ได้ เดี๋ยวจะไปเที่ยวกลางคืนไม่ได้ เดี๋ยวจะไปทำอะไรก็ไม่ได้ แหม ชีวิตมันจะจืดชืดเต็มที ไอ้นี่เค้าเรียกว่ากลัวไม่เข้าเรื่อง กลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว แล้วไปกล้าในสิ่งที่ไม่ควรจะกล้า มีจิตใจในสภาพที่เค้าเรียกว่า อสูรกาย พวกอสูรกายนี่ก็เป็นอบายตัวหนึ่งเหมือนกัน อบายก็คือ สัตว์เดรัจฉาน สัตว์นรก อสูรกาย พวกอสูรกายนี่พวกกลัวความดี กลัวความสงบ กลัวความสะอาด กลัวความสว่าง ชอบอยู่ในที่มืด ที่แฉะ ที่สกปรก ไปตรงไหนที่มันสกปรกนี่ก็ชอบเลย มันเป็นพวกอสูรกาย ไม่กล้ามาวัดมาวา ไม่กล้าอ่านหนังสือธรรมะ ไม่กล้าเข้าหาพระ เดี๋ยวพระจะเทศน์ให้กูหมดกิเลสเดี๋ยวกูจะไม่สนุก มันคิดไปในเรื่องอย่างนั้น ไอ้อย่างนี้ก็เรียกว่าจมน้ำตาย ไม่สามารถจะว่ายจนถึงฝั่งได้ จมน้ำตาย ปลาร้ายเอาเนื้อไปกิน ปลาร้ายก็ตัวความชั่วน่ะแหล่ะ ตัวอะไรมันเอาไปกินหมด ไม่สามารถไปถึงฝั่งได้ จึงไปได้น้อยเพราะคนไม่เข้าใจคือเรามาคิดแต่เรื่องความสุขจากวัตถุ ความสุขที่เห็นจากรูปที่เห็นได้ด้วยตา จากเสียงที่ฟังด้วยหู จากกลิ่นที่ดมด้วยจมูก จากรสที่ชิมได้ด้วยลิ้น จากสัมผัสถูกต้อง ก็เข้าใจอย่างนั้น เพราะตั้งแต่เกิดมาก็ได้รับการอบรมบ่มนิสัยกันมาอย่างนั้น ก็พูดกันมาอย่างนั้น ไม่มีใครพูดเรื่องความดับ ไม่มีใครพูดเรื่องความหน่าย เรื่องการคลายจากความอยาก ไม่มีใครพูด พูดแต่เรื่องให้อยากมากๆ ให้ได้มากๆ ให้มีมากๆ แล้วก็จะมีมากแล้วก็จะเป็นสุข มันแน่หรือ มันเป็นสุขเสมอไปหรือ มีเงินมากๆเป็นสุขเสมอไปหรือ มีอะไรมากๆแล้วจะทำให้เราสบายจริงหรือ ลองคิดดูให้ดี เรื่องเหล่านี้มันต้องคิด เรียนธรรมะเราต้องคิดด้วย ถ้าเราได้ฟังอะไรต้องเอาไปคิดไปตรองให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ภาษาธรรมะเค้าเรียกว่า โยนิโสมนสิการ คำบาลีเค้าว่า โยนิโสมนสิการ แปลว่าการกระทำในใจโดยแยบคาย การกระทำในใจโดยแยบคาย ก็คือการคิดอย่างรอบคอบ คิดอย่างละเอียด ตรองแล้วตรองอีก ตรองด้วยเครื่องหยาบ ตรองด้วยเครื่องละเอยด ตรองลงไป ตรองจนกระทั่งว่าละเอียดที่สุด จนกระทั่งว่าเราเห็นว่าไอ้เนื้อแท้มันมีเท่าใด ตรองแล้วเนื้อแท้มีเท่าใด เหมือนกับกรองน้ำกะทินะ เอาแต่หัวกะทิแท้ๆแต่ไม่ได้หัวหรอกน้ำกะทิ มันยังมีน้ำปนอยู่ แต่ถ้าจะได้หัวมันต้องเอามะพร้าวไปเข้าเครื่องโรงงานน่ะ ทำน้ำมันน่ะ พวกน้ำมันทิพย์น้ำมันเทิบอะไรน่ะ เอามาทำออกมาเป็นน้ำมันแท้ๆ บริสุทธิ์ ถ้าหากเจ้าของน้ำมันซื่อสัตย์นะก็ได้น้ำมันบริสุทธิ์ แต่ถ้าไม่ซื่อสัตย์ เติมน้ำหน่อยจะได้น้ำหนักเพิ่มขึ้น อะไรอย่างนั้น ก็เรียกว่าไม่บริสุทธิ์ ในเรื่องของเราก็เหมือนกันเราต้องกรองคิด คิดตามไป เช่นว่าสวดมนต์นี่เรามีหนังสืออยู่ที่บ้าน ว่างๆ ก็ยกมาดูหมายความว่าอย่างไร แล้วก็การคิดก็อย่าไปคิดภายนอก คิดในตัวเราน่ะแหล่ะ เอาในตัวเรานั่นแหล่ะ
บทเรียนอยู่ในตัวเรา อะไรๆ ก็อยู่ในตัวเรานี่มองเห็นแล้วว่ามันไม่เที่ยง มันไม่ดังเสมอไป มันอาจจะหยุดบ้างเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายที่มันเกิดขึ้นมันเป็บทเรียนทั้งนั้นละ เป็นเรื่องสอนใจเรา แต่เราไม่ค่อยเอาเป็นบทเรียนไม่เอามาสอนใจ แต่เอามาคิดให้เป็นทุกข์ ของแตกควรมาเป็นบทเรียนว่าธรรมดามันเป็นเช่นนั้น ของแตกได้ก็ต้องแตก ของตายได้ก็ต้องตาย ของเดินได้มันก็ต้องหายไปบ้างแหล่ะ คิดอย่างนั้นมันได้เป็นบทเรียน แต่ว่าเราไม่คิดเป็นบทเรียน พอแตกเปรี้ยงน่ะโกรธทันที คนใช้หาว่าทำของแตกแล้วเราโกรธมันอย่างนี้มันก็ไม่ได้ มีหลวงพ่อองค์หนึ่ง ท่านมีปั้นชาอย่างดี ใบเล็กๆแล้วชาก็จับข้างในหนาตึ้บเลย คอชาเค้าชอบอย่างนั้น พอเอาน้ำใส่แม้ไม่มีชาก็พอฉันได้ แต่ก็ชงเฉพาะที่ละแก้ว ทีละถ้วยนะ ก็นั่งฉันไปตามเรื่อง วันหนึ่งเด็กมันเอาไปขัด ความจริงท่านใช้ให้ขัดข้างนอก แล้วมันขัดข้างในด้วย ขัดข้างในยังไม่พอ ไม่รู้มันทำยังไงไม่รู้ เปรี้ยง เอาไปเลย แตกเลย พอแตกท่านเรียกมาถึงก็ไม้หวายอยู่ข้างขวา สมภารสมัยก่อนนั่งไม้หวายอยู่ข้างขวา กระชากไม้หวายมาจะลุกขึ้นเฆี่ยนนนะ พอจะลุกขึ้นเฆี่ยนเด็กคนนั้นมันฉลาด มันเข้าใจ บอกว่าเดี๋ยวก่อนหลวงพ่อ เดี๋ยวๆเฆี่ยนผมก็ไม่ว่าขอให้ผมให้เหตุผลสักหน่อย ท่านก็หยุดนะหยุดฟังมัน มันบอกว่าปั้นชามันดินเผา มันของต้องแตกได้ เอาไม้หวายเหน็บขวานั่งเงียบเลย ไม่ต้องเฆี่ยนเด็กนั่นเอาตัวรอดเพราะว่ามันมีปัญญา มันใช้เหตุการณ์ให้เกิดปัญญา มันคิดออกว่า อย่าว่าแต่ปั้นชาเลยครับหลวงพ่อ คนก็ต้องตายนะกับผมก็อาจจะตายสักวันหนึ่งเหมือนกันแหล่ะ วางหวายทันที นั่งเงียบ มันพูดเข้าทีไอ้เด็กคนนี้ นั่นแหล่ะมันฉลาดพูดพูดความจริงนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร อะไรต่างๆที่เกิดในวิถีชีวิตของเรานี้ก็เหมือนกัน เราไม่ได้มองในแง่ธรรมะ
พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เอาแว้งธรรมข่ม แว้งธรรมคือความรู้ในทางธรรมะที่เราได้เรียน ได้ศึกษา ได้ฟังบ่อยๆ เหมือนโยมมาวัดนี่มาบ่อยๆ ฟังบ่อยๆ ก็เท่ากับว่ารับแจกแว้งไปแล้ว เอาแว้งไปใช้ตรองดูต่างๆที่เกิดขึ้นในวิธีชีวิตของเรา มีอะไรเกิดขึ้นเอาแว้งธรรมออกมาก่อน มองในแง่ธรรมะ ถ้ามองในแง่ธรรมะเราจะไม่เสียใจ ไม่ต้องโกรธ ไม่ต้องแค้น ไม่ต้องพยาบาท ไม่ต้องมีอะไรเกิดขึ้น เพราะอะไร เพราะเรามารู้ชัดเห็นชัดตามสภาพที่เป็นจริงว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ไอ้คำนี้นั่นสำคัญนะ จำไว้ให้มั่นเชียว มันเป็นเช่นนั้นเอง คอยท่องไว้ นึกไว้ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง นั่งรถไปพอมันเสีย อย่าไปขุ่นเอากับคนขับรถ ให้นึก อ่อ มันเป็นเช่นนั้นเอง เป็นธรรมดารถมันก็ต้องเสียบ้าง ไอ้รถไม่เสียมันมีที่ไหน ยี่ห้อไหนที่มันไม่เสียไม่ว่ายี่ห้อแพงแค่ไหนมันก็ต้องเสียบ้าง ยางต้องแตกบ้าง แบตเตอรี่หมดบ้าง น้ำมันหมดบ้างเพราะว่าคนมันไม่ระมัดระวัง รถมันก็ต้องเสีย เมื่อมันเสียขึ้นอย่างนั้น เราก็ไปโกรธก็ใช่เหตุ เพิ่มความทุกข์ให้แก่ตนเองทำไม เราก็ควรคิดว่า เออ ก็เป็นเช่นนั้นเอง แล้วก็ศึกษาว่ามันเสียยังไง ควรจะแก้อะไรต่อไป เรื่องมันก็เรียบร้อย คนขับก็ไม่หัวเสีย แล้วก็ไม่ต่อยนายให้ได้รับความเจ็บปวด เดี๋ยวนี้ไม่ได้นะ กับคนใช้คนอะไรทำใจเราอย่าไปโมโหโทโสกับมัน คนมันร้อนแบบนี้ พอเราร้อนมันร้อนขึ้นมากนะ มันร้อนไม่เหมือนเรานะ ร้อนแล้วมันส่งหมัดเข้าหาเรา มันต่อยเรา มีปืนมันก็ยิงเรา โอ้ยมันทารุณจริงๆ คนเดี๋ยวนี้มันทารุณ คนมีกิเลสจะทารุณ คนไม่มีกิเลสก็เรียบร้อยไม่ค่อยมีเรื่องอะไร แต่ว่าเราอย่าไปยั่วให้คนเกิดกิเลส อันนี้เรารู้ธรรมชาติ รู้ว่าอารมณ์ทำให้เกิดกิเลสได้ เราพูดคำไม่ดีก็เรียกว่าส่งอารมณ์ไม่ดีไปเข้าหูเขา เขาอาจจะขุ่นเคืองขึ้นมา เพราะจิตใจเขาไม่เหมือนใจเรา เขาไม่มีธรรมะ เขาไม่ได้ฟังธรรม เขาไม่ได้อ่านหนังสือธรรมะ ไม่ได้คิดค้นในเรื่องธรรมะ แม้เราจะเป็นผู้มีธรรมะ แต่เราไปพูดถ้อยคำที่ปราศจากธรรมะ ไอ้คนไม่มีธรรมะมันก็จะเล่นงานเรา แล้วเราจะบ่นว่า แหม อุตส่าห์ทำบุญเกือบตาย มาวัดมาวาทุกวันอาทิตย์ทำไมมันเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุมันมี เหตุผลมันก็ต้องมีนะ เหตุก็คือว่าเรากระทำสิ่งไม่สมควรแก่เขา ไปดุเขา ไปด่าเขา ไปขึ้งตาเขา ทำไม่ดีกับเขาก็ไม่ได้ มีอะไรเกิดขึ้นก็ต้องกุมไว้ก่อน ข่มใจไว้ก่อน เย็นๆไว้ก่อนน่ะพูดกับตัวเอง ใจเย็นๆ อย่าร้อน ร้อนไม่ได้เดี๋ยวมันเผาเย็นไว้ดีกว่า ใจเย็นๆค่อยพูดค่อยจากัน ทำความเข้าใจกันแล้วมันก็ไม่มีอะไร เรียบร้อย คนในครอบครัวก็เหมือนกัน สามีภรรยาต้องรู้นิสัยกัน ดูหน้าหน้ากัน ดูตากันก็รู้ว่าขุ่น สงบอะไรก็รู้ ถ้าเห็นว่าฝ่ายหนึ่ขุ่นๆ อย่าไปแหย่ อย่าเอาไม่ไปแหย่เลือหลับกัน มันตื่นมันตะปบเลยที่เดียว เราก็ต้องเย็นเข้าสู้ ค่อยพูดค่อยจา ไม่มีอะไรก็นั่งเฉยๆอะไรต่อไปก่อน แล้วมันก็จะไม่มีปัญหา ความทุกข์ความเดือดร้อน ถ้าเราควบคุมจิตใจของเราได้น่ะ แล้วฝึกสติด้วยปัญญาตามหลักการพระพุทธศาสนา สิ่งเหล่านั้นก็จะไม่ทำให้เราเป็นทุกข์สะท้อนใจ แล้วรักษาเหลี่ยมนะ งานนี้รักษาเหลี่ยมหน่อย เหลี่ยมนี้เรียกว่าเหลี่ยมของพุทธบริษัทของการเป็นผู้มาวัดทุกวันอาทิตย์นี่ ต้องรักษาเหลี่ยม อย่าไปปล่อยอะไรง่ายๆ อย่าโกรธง่ายๆ อย่าเกลียดใครง่ายๆ อย่าอะไรง่ายๆ ขออภัยนะถ้าใช้คำธรรมดาเขาเรียกว่าอย่ามักง่าย ในเรื่องต่างๆ มักง่ายในเรื่องเกลียดในเรื่องโกรธ ในเรื่องริษยา ในเรื่องพยาบาท อาฆาตจองเวร เรียกว่ามักง่าย คือง่ายเกินไป ไม่มีการกลั่นกรองให้เรียบร้อย
สมัยนี้เค้ามีว่ามีข่าวกรอง เราก็ต้องใช้หลักข่าวกรอง แต่ข่าวกรองบางทีก็กรองไม่ได้เรื่อง กรองกันเละเทะเต็มทีได้ข่าวไม่ดี เพราะว่าคนส่งข่าวมันไม่เรียบร้อย แต่ว่าเราไม่ต้องข่าวกรองนั้นมันอยู่เฉพาะหน้า เหตุการณ์มันอยู่เฉพาะหน้า เราก็ควบคุมสติไว้หยิบปัญญามาใช้ เอาธรรมะที่เราได้ยินได้ฟังมาใช้ ให้ทันท่วงทีให้ได้ประโยชนืในการต่อสู้กับปัญหาในชีวิตประจำวัน ถ้าเราได้เรียนได้รู้ ได้ฟังแล้วเราไม่เอาไปใช้ มันจะได้อะไรขึ้นมา มันเสียเวลาเปล่าๆ มันเสียเวลาเรียน เสียเวลามาฟังเทศน์ทุกวันอาทิตย์ แต่ไม่เอาไปใช้ก็เรียกว่า ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์คุ้มค่า ต้องแสดงให้คนอื่นเห็นว่าฉันเป็นคนสงบ ฉันเป็นคนเยือกเย็นฉันเป็นคนหนักแน่น ฉันเป็นคนที่มีความอดทน ฉันเป็นคนควบคุมตัวเองได้ ไม่ทำอะไรด้วยความผลุนผลัน ด้วยอารมณ์ แปลว่าเป็นคนมีเหตุผล คนที่เราพูดกันว่าเป็นคนมีเหตุผลหมายความว่าไตร่ตรองรอบคอบ พิจารณาถึงเหตุผลของเรื่องนั้นๆว่าอะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล แล้วเราควรจะแก้ปัญหานั้นด้วยวิธีใด นี่ล่ะที่เขาเรียกว่าคนมีเหตุผล แต่ถ้าเป็นคนไม่มีเหตุผลเค้าเรียกว่าเป็นคนใช้อารมณ์ หรือถ้าพูดให้มันนั้นหน่อย เค้าเรียกว่าเป็นทาสของอารมณ์ พออารมณ์กระทบปั๊บทำตามมาเลย เขาเรียกว่าทาส อารมณ์มันกลืนไปมันทับไปตามปรารถนา ทำให้เราไหลไปตามอารมณ์นั้น เป็นคนที่ชักจูงง่าย อารมณ์นั้นมันจูงไปง่ายเหลือเกิน เราไม่มีหลักน่ะ ไม่มีหลักคุ้มครองจิตใจ เราไหลไปกับอารมณ์เหล่านั้นแล้วเราก็ไม่เป็นตัวเอง จืตใจเปลี่ยนสภาพ หงุดหงิด งุ่นง่านขึ้นมา มีอาการแปลกๆ พูดจาไม่น่าฟัง อันนี้คือความเสียหาย แก้ที่ใจของเรา ทำให้คนอื่นเขาหัวเราะได้ เขาหัวเราะว่าเราเป็นคนไม่สำรวม ไม่มีสติไม่มีปัญญา ไม่รู้จักควบคุมตัวเอง ไม่มีศีลนั้นเอง ศีลมันไม่อยู่กับตัว ถ้าศีลอยู่กับตัวมันก็จะปรกติ ไม่แสดงอาการขึ้นลง ขึ้นก็ไม่ดี ลงก็ไม่ดี ไปซ้ายก็ไม่ดี ไปขวาก็ไม่ดี มันต้องอยู่นิ่งเฉย สงบ เรียกว่าเป็นปกติ ปกติก็เรียกว่าคนมีศีล โดยเฉพาะคนหนุ่มๆอย่างพวกเรา โรงเรียนจ่าหัวหน้าเป็นคนสนใจธรรมะ สับเปลี่ยนกันพามาที่ละชุดๆ พามาบ่อยๆ ฟังแล้วพวกเราต้องเอาไปใช้ หนุ่มๆนี่อย่าร้อน อย่าใจร้อนต้องใช้สติปัญญาควบคุมจิตใจไว้ เพื่อนทำอะไรนิดๆหน่อยๆ อย่าโกรธ อย่าเคืองยิ้มมันสิ ยิ้ม เพื่อนตบหัวตบหลังนิดๆหน่อยๆ กันเอง หรือเพื่อนพูดอะไรเป็นที่ระคายหู เราก็ไม่แสดงอาการอะไร เราเฉยๆยิ้มๆไว้ อย่าไปใช้อารมณ์หุนหันพลันแล่น อย่าไปนึกว่ามันลบเหลี่ยม เหลี่ยมมากฏ็ไม่ดี ลบออกบ้างเหลี่ยม เหลี่ยมนั้นมันคืออะไร มันคือความถือตัวถือตน ก็มีเหลี่ยมล่ะ เขาเรียกว่ามีอัตตา มีตัวตน ถ้ามีตัวตนเยอะเหลี่ยมมันมาก แปดเหลี่ยม สิบเหลี่ยม ร้อยเหลี่ยม คบไม่ได้เหลี่ยมมากเหลือเกิน นั่นน่ะมันลบกันเลย พอเพื่อนพูด มับลบเหลี่ยมนี่หว่า เออเราก็หนึ่งในตองอูเหมือนกัน ประเดี๋ยวก็เกิดลบเหลี่ยมกันขึ้นมาแล้ว ลบเหลี่ยมเค้าละทีนี้ก็ยุ่งสิ ต่อยตีรันฟันแทงกัน การแสดงอาการเช่นนั้นไม่ใช่นิสัยของผู้มีปัญญา ไม่ใช่วิสัยของบัณฑิต บัณฑิตต้องมีเหตุผล มีความรอบคอบ เด็กไทยไปอยู่ประเทศอินเดีย ไปอยู่มหาวิทยาลัยเอริกา เด็กไทยมากที่นั่นเค้ารับง่าย ที่อื่นเค้าไม่ค่อยรับ ที่นั้นเค้ารับทั้งนั้น แล้วก็มีเรื่องกันมาก ไปท้าชกท้าต่อย ท้าต่อยพวกอินเดียบ้าง พวกอินเดียมันว่ายังไง บอกว่าการใช้กำลังมันไม่ใช่วิสัยของมนุษย์ เออ มันตอบดี ใช้หลักปัญญาตอบ การใช้กำลังไม่ใช่วิสัยของมนุษย์ ว่างั้น มนุษย์มันต้องใช้สมอง ไตร่ตรองรอบคอบ มีอะไรท้าตีท้าต่อย มันบอกไม่ใช่มนุษย์ เด็กไทยก็รู้จักฟังภาษาเหมือนกัน มันพูดอย่างนั้นก็ละอายใจ อย่าเนี่ยก็ไม่ท้ามันต่อไป ถ้าท้าก็ลด ลดความเป็นไทย ลดความเป็นมนุษย์ออกไปจากตัวแกแล้ว กลายเป็นเดินสี่ขาไป มันก็ไม่ไหวนะ ขายหน้าเปล่า ไอ้เดินสี่ขาเมืองไทยไม่มีใครรู้ นี่ไปเดินสี่ขาเมืองนอกขายหน้าเขา มานึกได้นะ เด็กนั่นมันตอบด้วยปัญญาว่าการใช้กำลังไม่ใช่วิสัยของมนุษย์ มนุษย์ใช้ปัญญา ใช้สมองไตร่ตรองให้รอบคอบจึงจะดี อันนี้ก็สำคัญ จึงขอฝากให้ญาติโยมทั้งหลายเอาไปเป็นหลักพิจารณาแก้ไขปัญหาชีวิต ประจำวัน อย่าให้คิด อย่าให้หลง อย่าให้ยินดียินร้าย ให้ทั้งสิ่งทั้งหลายปกติ แล้วเราก็จะสบาย ดังแสดงมาก็พอสมควรแก่เวลา ขอจบไว้แต่เพียงนี้