แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี อย่าเดินไปเดินมาให้วุ่นวาย นั่งลง แล้วก็ เอียงหูฟังเสียง จากเครื่องขยายเสียง ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้เกิดประโยชน์จากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา
วันอาทิตย์นี้ก็ไม่ต้องวิตก เพราะว่าอากาศปลอดโปร่งแจ่มใส พวกเรามาวัด ก็ฟังเทศน์กันได้สบายสบาย นั่งใต้ต้นไม้ก็ร่มเย็น นั่งตรงไหนที่ได้ยินเสียงธรรมะ ก็นั่งลง แล้วเราก็จะได้รับประโยชน์จากเสียง ที่พระท่านกำลังพูดให้เราฟัง เสียงที่พูดให้ฟังนี้เป็นเสียงธรรมะเป็นเสียงที่เป็นประโยชน์ เป็นข้อเตือนจิตสะกิดใจ ให้เราได้เกิดความคิดนึกในทางที่ถูกที่ชอบ เพื่อจะได้แก้ไขชีวิตให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น เพราะชีวิตของคนเรานั้นควรจะอยู่เพื่อความดีขึ้น ทุกแง่ทุกมุม ไม่ว่าในเรื่องอะไร เราจะต้องมีหลักประจำใจว่า ต้องดีขึ้นทุกวันเวลา อายุมากขึ้นชีวิตก็ต้องดีขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่ายิ่งอายุมาก ก็ยิ่งเลอะเทอะ ยิ่งเหลวไหล ถ้าเป็นอยู่ในรูปอย่างนั้น ชีวิตก็ไม่มีค่า ไม่มีราคาอะไร
คนเราเมื่อเกิดมาใหม่ๆ ก็เดินตามผู้ใหญ่ แล้วเราก็ค่อยเติบโตๆ ขึ้น ก็ทำหน้าที่เป็นผู้ใหญ่ เดินนำผู้น้อยต่อไป คือผลัดกันเป็น สมัยหนึ่งเราเป็นผู้น้อย ก็เดินตามผู้ใหญ่ พอต่อมาเราก็เป็นผู้ใหญ่ เดินนำผู้น้อยต่อไป เวลาเดินตามก็เดินตามให้เรียบร้อย เวลาเดินนำก็นำให้เรียบร้อย
ชีวิตก็จะมีความประเสริฐอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเราเดินไม่เรียบร้อย นำไม่ถูก แล้วก็ตามก็ไม่เป็น มันก็เกิดปัญหา ทำให้ชีวิตสับสนวุ่นวายกันด้วยประการต่างๆ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องรู้หน้าที่ของเรา ว่าเราอยู่ในฐานะอะไร อยู่ในฐานะเป็นผู้นำ เช่น เป็น พ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ หรือว่า เป็นหัวหน้าคน ก็ต้องเป็นผู้นำที่ดี คือ นำลูกน้องไปในทางที่ดีขึ้น ไม่นำลงไปทางต่ำทราม ถ้าเรานำไปในทางดี เขาเรียกว่า นำถูก ถ้านำไปในทางต่ำ เขาเรียกว่า นำผิด การนำคนไปในทางผิดนั้น เป็นบาป เป็นอกุศล เป็นสิ่งเสียหายแก่ชีวิตเหลือเกิน เราจึงไม่ควรจะนำไปในทางนั้น แต่ว่าควรจะนำไปในทางถูก ทางชอบ ทางที่จะเพาะเชื้อแห่งความดีให้เกิดขึ้นในจิตใจของเขา ให้เขาได้คิดในเรื่องถูกต้อง พูดในเรื่องถูกต้อง มีการกระทำในเรื่องที่ถูกต้อง อย่างนั้นเรียกว่าเรานำเป็น นำคนไปสู่ความสุข ความก้าวหน้าในชีวิต แต่ถ้าเรานำเขาไปในทางที่ผิด เช่น นำไปสู่อบายมุข นำไปบ่อนการพนัน นำไปร้านขายสุรายาเมา หรือว่า นำไปในทางที่เสื่อมเสียหาย ก็จะเป็นความทุกข์ เป็นความเดือดร้อน
เมื่อเช้านี้ เห็นนะ หนังสือพิมพ์จั่วหน้า ว่าจับบ่อนการพนันใหญ่ ที่ถนนพัฒนาการ แถวนั้นน้ำท่วม น้ำท่วม การพนันมันก็ท่วมอยู่นานแล้ว แต่ว่า ก็ไม่มีใครเข้าไปจับได้ วันก่อนนี้ ท่านอธิบดีตำรวจ ได้พูดเป็นเชิงแนะนำไว้ บอกว่า ยัง บ่อนใหญ่ ๆ ก็ให้ระวังตัวไว้เถอะ มันจะต้องจับกันสักวันหนึ่งอ่ะ อย่างนี้เรียกว่า เตือนไว้ก่อน คนบางคนก็บ่นว่า จะจับเขาแล้ว ทำไมต้องเตือนก่อน ก็เตือนให้รู้ตัวไว้ มันจะได้เลิกแล้วไม่ต้องออกแรงกัน แต่นี่ ถ้าไม่เลิกก็ต้องออกแรงกัน เลยต้องออกแรงไปจับกันได้ จับได้ อธิบดีต้องคุมเอง และก็คนก็ต้องใช้มากเข้าไปจับ เพราะว่า บ่อนใหญ่ มีการเข้า ออกอย่างชนิดลำบาก ภายในก็หรูหรา ฟู่ฟ่า ด้วยเรื่องทันสมัย เพราะเจ้าของบ่อนก็เป็นคนใหญ่คนโต มีชื่อมีเสียงในทางที่เป็นเจ้าของบ่อนการพนัน แต่ว่าเจ้าของบ่อนน่ะ ไม่ถูกจับหรอก เพราะว่า เขารู้กันดี มีคนรับว่า เช่าเขามา น่ะ เช่ากัน ก็เช่าแบบนั้น มันก็รู้เห็นเป็นใจกัน ให้เขาเช่าไป ทำบ่อนนั่นเอง
มีคนคนหนึ่งเขามีบ้านหลังใหญ่ และก็มีชั้นล่างกว้างขวาง คือ เรือนมันเป็นสามชั้นน่ะ อันนี้ก็พวกนักการพนันเขามาพบเข้า ก็ แหม บ้านนี้อยากจะขอเช่าอ่ะ ถามว่า ขอเช่าไปทำอะไร เป็นสำนักงานธุรกิจ หรือ ไม่ใช่ บอกว่า จะเอามาทำบ่อนการพนันหน่อย เพราะ ข้างล่างมันดี และก็ กว้างขวาง แต่ เจ้าของบ้านบอกว่า ผมนี่ ได้สายสะพายนะ เป็นข้าราชการ ได้สายสะพาย ได้เหรียญตรา ตั้งหลายอัน ถ้าหากว่าผมให้เช่าบ้านไปเล่นการพนัน ก็ มันไม่มีราคาเท่านั้นเอง น่ะ นี่เค้าเรียกว่าคนรักเกียรติ รักชื่อเสียง เพราะในฐานะที่เป็นอดีตข้าราชการบำนาญ เป็นคนที่ได้รับเหรียญตรา ได้รับสายสะพายจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วก็ไม่ได้ยากจน ข้นแค้น อะไร จะให้เขาเช่าบ้านไปเปิดบ่อนการพนันนั้น เมื่อถูกจับ เขาจะว่าเป็นบ้านของใคร ชื่อมันก็เสีย ดังไปในทางที่ไม่เป็นมงคลแก่ตัว แก่ครอบครัว วงศ์ตระกูล คนอย่างนี้ เขาเรียกว่า คนละอายบาป กลัวบาป เขาก็ไม่ยอมให้เช่า แม้ว่าจะได้เงิน
แต่ว่าคนที่มันหน้าด้าน ไม่รู้จักละอายบาป กลัวบาปนั้น เวลาจะสร้างบ้านเขาก็วางแผนไว้แล้ว ว่าจะสร้างให้เป็นบ่อนการพนันใหญ่ในย่านถนนสายนี้ หรือ ในกรุงเทพก็ว่าได้ แล้วก็จัดทุกอย่างให้เป็นเครื่องประกอบในทางการพนัน แต่ว่าใครเดินเข้ามาในบ้านนี่ โทรทัศน์วงจรปิดมันก็บอกแล้ว ว่ามีใครเข้ามา ข้างในก็จะได้เตรียม ซุกซ่อน วัตถุประกอบการเล่น แล้วถ้าเขาจับได้ บอกว่า มาประชุมกัน เพื่อจะไปทอดกฐินที่วัดโคกขี้แร้ง อะไรก็ว่ากันไปตามเรื่อง ซึ่งวัดนั้นมันไม่มี แล้วก็ไม่มีใจจะไปทอดกฐินอะไร แต่ก็บอกว่า จะประชุมกัน ทอดกฐินบ้าง ทอดผ้าป่าบ้าง นัดคนมาประชุมกันมากๆ ตำรวจก็เรียกว่า หน้าไม่ค่อยสบายไป เป็นเพราะมันไม่มีหลักฐานนิเล่นกับพวกไอ้คนฉลาดแกมโกงน่ะ มันเล่นยากอย่างนี้ แต่ว่า ผลที่สุด ก็เอาได้เหมือนกัน เพราะ คนทำบาป มันก็ต้องได้รับผลของบาป หนีจากผลบาปไปไม่พ้นหรอก วันนี้หนีได้ พรุ่งนี้ก็ถูกจับสักวันหนึ่ง จึงได้เกิดเป็นปัญหา เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน อะไรขึ้นมา
นี้ เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า คนเรานี้ ถ้าว่ามีความรู้ มีความฉลาด มีเงินมีทอง แล้วเอาไปลงทุนสร้างสิ่งเดือดร้อนให้แก่ประชาชน เรียกว่าเป็นการลงทุนที่ไม่ถูกหลักเกณฑ์ เป็นการลงทุนเพื่อความเสื่อม ไม่ได้ลงทุนเพื่อความเจริญ แล้ว
ในข่าวบอกว่า ผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย ที่ไปเล่นการพนันนี้ ผู้หญิงเรานี่เก่งเหมือนกัน มาวัดนี้ก็ผู้หญิงมากนะ ผู้ชายนั่นไม่เท่าหรอกมาวัดนี้ ไอ้ไปบ่อนก็ผู้หญิงมากเหมือนกัน แต่ว่าพวกมาวัดนี้ ได้เกียรติ์ แต่พวกไปบ่อนนั่น มันก็เสียเกียรติสักหน่อย เวลานี้ไปนั่งป้อล้ออยู่ที่โรงพักนี้ คราวนี้สามีก็ต้องไปรับประกัน ลูกชายก็ขายหน้า ลูกสาวก็ขายหน้า ถ้าลูกไปเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อนรู้เข้านะ เฮ้ย คุณแม่ลื้อถูกจับเหรอ นั่น จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหนอ่ะ คุณแม่ ถูกจับ ถูกจับเรื่องการพนันนี้ จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหนเนี่ย นี่คือคุณแม่ที่ไม่ได้คิดถึงลูกเต้า ไม่ได้คิดถึงสามี ไม่ได้คิดถึงอะไร อะไร ที่มันจะเป็นเรื่องเสียหาย จึงได้กล้ากระทำเช่นนั้น ที่ได้กระทำเช่นนั้น ก็เพราะว่า มันติดเสียแล้ว ขั้นแรกเราก็ไม่เท่าไหร่หรอก เพื่อนชวนไป เราก็ไปเล่นนิดนิดหน่อยหน่อย ต่อมา ก็เคย ผีการพนันก็เข้าสิง เลยต้องไปเล่น เพื่อแก้ตัวนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร เพราะว่า เมื่อชนะก็ฮึกเหิมใจ เมื่อแพ้ก็เสียดาย เลยต้องคิดแก้ตัว เมื่อไปเล่นแก้ตัวบ่อยๆ มันก็ติดเข้าไปเท่านั้นเอง
อันนี้เป็นเรื่องที่เป็นปัญหา พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนนักสอนหนาว่า อย่าไปคบกับคนที่ปัญญาอ่อน หรือ พวกคนพาล น่ะ คนพาลก็คือคนอ่อนทางปัญญา ไม่มีความคิดอ่านที่ถูกต้อง พอไปคบเข้า เขาก็จูงไปในทางต่ำ ๆ เพราะความคิดของเขามีแต่เรื่องต่ำทราม เขาก็จูงไปในทางต่ำ แล้วก็เลยไหลไป ไปมากเข้า ก็เลย ติดสิ่งนั้นงอมแงมไป เอาออกไม่ได้ เหมือนกับ ตัวทาก ตัวปลิงนี่ ที่มันเกาะที่เนื้อของเราแล้ว เอาออกยาก ดึงท้าย ติดหัว ดึงหัว ติดท้าย ดึงตรงกลาง ก็ไอ้สองข้างมันก็ยังติด ยืดขึ้นมา กว่าจะหลุดไปได้นี่ มันยาก แม้ดึงหลุดไปได้แล้ว เลือดยังไหลอยู่ เพราะ รอยแผลที่มันหนูด (12.03 เสียงไม่ชัดเจน) น่ะ แล้วก็ยังคัน ยังเจ็บอยู่ อีกหลายวันนะ ไม่ใช่เรื่องสบาย ความชั่วที่เกิดจากเรื่องอะไรก็ตามใจ มันก็ทำให้เจ็บอยู่ในใจตลอดเวลา แต่ว่าคนเรา เมื่อยังไม่เจ็บนี้ มันก็นึกไม่ได้ ไม่ได้คิดถึงความเจ็บปวดรวดร้าว อันจะเกิดขึ้นจากสิ่งนั้น
เขาเรียกว่า ขาดคุณธรรมไป คือ ไม่มี ''หิริ'' ความละอายแก่ใจ ไม่มี ''โอตตัปปะ '' ความกลัวต่อผลอันจะเกิดขึ้นแก่ตน '' หิริ โอตตัปปะ '' นี้ เรียกว่า เป็น '' โลกปาลธรรม '' หมายความว่า เป็นธรรมคุ้มครองโลก รักษาโลก คำว่าโลก ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงโลกกลมๆ ผิวขรุขระ เหมือนผลมะกรูด อะไรอย่างนั้นหรอก แต่หมายถึงว่าชีวิตของเราแต่ละคนนะ มันเป็นโลก โลกหนึ่ง
พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกว่า กายาวา หนาคืบ กว้างศอกหนึ่ง เป็นลูกลูกหนึ่ง เป็นลูกที่มีใจครอง มีความคิด มีความเข้าใจ ปรุงแต่งไปในรูปอะไรก็ได้ ลูกนี้แหละ ควรจะมีธรรมมะเป็นเครื่องคุ้มครอง เมื่อถ้าไม่มีธรรมะเป็นเครื่องคุ้มครองแล้ว โลกนี้จะวุ่นวาย เดือดร้อนกันด้วยประการต่างๆ เพราะคนเรานี่ถ้าไม่มีความละอายบาป ก็ทำบาปได้ทุกเมื่อ ไม่มีความกลัวต่อผลของบาปที่จะเกิดขึ้น ก็ทำบาปโดยไม่ต้องกลัวอะไร เพราะว่า ไม่กลัวแล้ว มันก็ทำได้ทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าเรามีความละอายบาป มีความกลัวบาป สองอย่างนี้ ก็เป็นห้ามล้อจิตใจของเราไว้ ไม่ให้คิด ไม่ให้พูด ไม่ให้กระทำ ในเรื่องที่เป็นบาป เป็นอกุศล จึงควรจะมีสิ่งนี้ไว้ประจำจิตใจ ละอายให้มาก กลัวไว้ให้มาก แล้วมันก็ปลอดภัย ไม่นำเราไปสู่ที่ชั่ว ที่ต่ำ แต่ว่าคนเรา ถ้าชินกับสิ่งใด ความละอายก็จะไม่มีในสิ่งนั้น เขาเรียกว่า มันด้านขึ้น ในการกระทำนั้น ขั้นแรก ทำด้วยความกระดาก ต่อมา ก็ชินเข้า ทำต่อหน้าคนก็ได้ คล้ายกับคนดื่มเหล้านี่ ครั้งแรกนี่ ดื่มมองขวา มองซ้าย กลัวคนจะเห็น แล้วก็ซื้อมาดื่ม กรึ๊บ กรึ๊บไปเลย ไม่ให้ใครเห็น นานนานเข้าก็ไม่มองขวา มองซ้ายแล้ว ดื่ม นานนานเข้า ก็นั่งลงในร้านเหล้า กินเหล้าไม่พอ กินกับด้วย แล้วก็นั่งกินกัน นานนาน ก็ชวนเพื่อนมาร่วมกินกันหลายคน แสดงว่า หน้าหนาขึ้นไปแล้ว มีความด้านต่อการกระทำในเรื่องอย่างนั้น ความละอายหมดไป ความกลัวถึงผลอันจะเกิดขึ้นจากการดื่มน้ำเมาก็หายไปหมด พูดแล้ว มันก็เอาตัวไม่รอด
ชีวิตตกต่ำน่าเสียดาย อันนี้ เป็นเรื่องที่เราเห็นๆกันอยู่ทั่วๆไป แต่ว่าคนเราไม่ค่อยได้คิดน่ะ ในทางที่จะสร้างความละอาย หรือ ความกลัวบาปให้เกิดขึ้น เพราะว่าเขาไม่ค่อยได้เข้าใกล้ผู้รู้ ผู้ฉลาด ไม่มีใครคอยเตือน คอยสอน ให้เกิดความคิด ในทางที่ถูก ที่ชอบ ให้เราสังเกตว่า คนทำชั่วนี้เป็นคนห่างวัด ห่างพระ ห่างศาสนา ไม่ค่อยเข้าใกล้ วัดวาอารามก็ไม่ค่อยมา ธรรมะก็ไม่ค่อยอ่าน พระเทศน์ที่ไหนก็ไม่สนใจฟัง ทำไมเขาจึงไม่ชอบธรรมะ ทำไมจึงไม่ฉลาดศึกษาในเรื่องนี้ คือมันศึกษาไม่ได้เสียแล้ว ละอาย ศึกษา (16.15) ละอายใจ ลำบากใจตนเอง คนทำชั่ว ถ้า ไปนั่งใกล้คนดีนี่ เขาตกนรก แล้วถ้าได้ฟังสิ่งที่เป็นความดี เขาก็ตกนรกเหมือนกัน
นรกนั้นคืออะไร คือ ความรำคาญ ร้อนอก ร้อนใจ เช่น เราเคยทำความชั่วอะไร ถ้าใครพูดถึงความชั่วนั้น เราก็ไม่สบายใจ เข้าใกล้คนที่ทำความดี เกิดเทียบเคียงกันขึ้น ระหว่างตัวเรา กับ คนที่ได้กระทำความดีแล้ว เราก็ไม่สบายใจ มีความอึดอัด ขัดใจ สู้ไปนั่งปนกับคนชั่วด้วยกันไม่ได้
สีมันเหมือนกัน อะไร อะไร มันก็เหมือนกัน ไม่มีความแตกต่างกัน เขาก็สบายใจ เพราะฉะนั้น นักการพนันนี่จะคุยกับนักการพนัน นักดื่มก็จะคุยกับพวกนักดื่ม นักเที่ยวกลางคืนก็คุยกับพวกนักเที่ยวกลางคืน คนสนุกสนานก็ไปคุยกับพวกชอบสนุกสนาน พวกเกียจคร้านก็นอนคุยกันในหมู่คนเกียจคร้าน ถ้าจะไปคุยกับคนขยันนี้ไม่ได้ ใจมันไม่สบาย มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ อันนี้ เป็นเรื่องที่ทำให้ คนที่ทำชั่วแล้วนี่ ไม่กล้าเข้าหาพระ ไม่กล้าที่จะไปฟังเสียงพระ เพราะ มันรู้สึกไม่สบายใจ มีความกลัวขึ้นมา แล้วก็เป็นทุกข์ เพื่อไม่ให้ตนเป็นทุกข์ เขาก็เลยไม่เข้าใกล้ การยิ่งไม่เข้าใกล้ก็ยิ่งมืดหนักเข้าไปทุกวันเวลา
เหมือนคนที่ไม่นั่งใกล้แสงสว่าง จะมองอะไรเห็น หันหลังให้แสงสว่าง เราก็ (18.12) เงาของเราน่ะมันบังตัว บังเสียเอง ไม่สามารถจะใช้แสงสว่างนั้นได้ เขาก็อยู่ในความมืดบอด ชีวิตตกต่ำลงไปเรื่อยๆ อย่างน่าเสียดาย อันนี้ เป็นเรื่องที่มีอยู่ทั่วไป เพราะฉะนั้น ถ้าเราพบคนประเภทอย่างนั้น เราก็ควรคิดว่า จะทำอย่างไร ให้คนนี้ได้เกิดความสำนึกในทางที่ถูก ที่ชอบ ได้เปลี่ยนชีวิตจิตใจ เข้าหาคุณงามความดี ตามหลักคำสอนในทางพระศาสนา ถ้าสมมุติว่า เราวางแผน แล้วเราก็ทำเพื่อดึงคนนั้นออกจากความมืด มาอยู่กับความสว่างเสียได้ เรานี้เป็นผู้ที่ทำบุญมหาศาล ไม่ใช่ทำบุญกับคนคนเดียว แต่ว่าทำบุญกับคนมากคน อย่างน้อยก็เท่าจำนวนคนในครอบครัวนั้น ที่เขาอยู่กันอย่างมีความทุกข์ มีปัญหาในครอบครัว เราก็ช่วยให้เขาพ้นจากความทุกข์ไป เช่น พ่อบ้านเป็นคนเสื่อมเสีย ทางจิตใจ เราดึงให้พ่อบ้านเป็นคนดีขึ้นมา แม่บ้านก็สบายใจ ลูกทุกคนในครอบครัวก็สบายใจ คนใช้ที่มีศีลธรรมก็พลอยสบายใจไปด้วยเหมือนกัน มันสุขขึ้นหลายคน
แล้วอีกอย่างหนึ่ง คือว่า คนคนนั้นจะไม่ทำอะไร ที่เป็นสิ่งสร้างเสริมความดุร้ายในสังคมต่อไป เขาจะสร้างแต่สิ่งที่เป็นคุณ เป็นค่า แก่ชีวิตของเพื่อนมนุษย์ ก็เท่ากับว่า เราได้กลับใจเขา ให้เป็นคนที่ดีที่งามขึ้น เหมือนกับโจรอังคุลีมาร น่ะ ได้พบพระพุทธเจ้านี่ เรียกว่า พบเพราะ พระพุทธเจ้าไปหา อังคุลีมารน่ะไม่เข้าหาพระแล้ว ไม่หาใครแล้ว มุ่งอยู่แต่เรื่อง คิดจะฆ่าคน เท่านั้นแหละ แต่ว่า พระพุทธเจ้าท่านเห็นนิสัยใจคอ ว่าพอจะฝึกได้ สอนได้ และก็เสด็จไปหา ใครห้ามก็ไม่ฟังเสียง คนเห็นเข้า บอก โอ้ พระองค์อย่าไปในป่านั้น โจรใจร้ายอยู่ ถ้าพระองค์ไปแล้ว มันจะฆ่าพระองค์ พระองค์ตอบว่า ไม่เป็นไร ฉันไปได้ ฉันกลับมาได้ คือ เชื่อมั่นในคุณธรรม ในบารมีแห่งความเมตตา ปราณี ที่มีอยู่ในพระองค์ พระองค์ก็เสด็จไปหาอังคุลีมาร อังคุลีมารพอเห็นพระองค์ ก็พุ่งเข้าใส่ทีเดียวแหละ ถือดาบพุ่งเข้ามา พุ่งเข้ามาเพื่อจะฟันคอ แล้วก็จะตัดนิ้วมา แต่ว่าพระองค์ก็แสดงอาการเหมือนกับวิ่งหนี ความจริงไม่ได้วิ่งอะไรหรอก แต่ว่า ใช้อำนาจจิต นี้
คือ จิตของพระผู้มีพระภาคนี่ เขาเรียกว่า สำเร็จ '' อิทธิวิธิ '' มีฤทธิ์ทางใจ สามารถจะทำอะไรให้คนอื่นเห็นเป็นภาพเช่นนั้นได้ พระองค์ก็ใช้อำนาจทางใจ ทำให้เขาเห็นเป็นเหมือนกับพระองค์วิ่ง เขาก็วิ่งตาม แต่วิ่งไม่ทัน วิ่งเท่าไหร่ เท่าไหร่ ก็ไม่ทัน วิ่งจนลิ้นห้อย ว่าอย่างนั้นเถอะ และก็ นึกในใจ ว่า เอ๊ะ เรานี่มันวิ่งเก่งนี่นา เราวิ่งจับม้าได้ จับช้างก็ยังได้ แต่ คนวิ่งนี่ ไม่ต้องอะไรหรอก จับง่ายๆ แต่สมณะผอมๆองค์นี้ เราวิ่งจับไม่ทัน จนเหนื่อยหอบแล้ว ก็เลยนึกว่า ไม่ต้องวิ่งอ่ะ บอกให้ท่านหยุดซะดีกว่า ก็เลยตะโกนออกไปว่า พระ หยุดก่อน พระหยุดก่อน เราตอบไปว่า เราหยุดแล้ว แต่ท่านไม่หยุดเอง
เอ้า เอาแล้ว บอกว่าหยุดแล้วแต่ท่านไม่หยุด อังคุลีมาร ก็นึกในใจว่า เอ๊ะ สมณะนี่เขาไม่พูดโกหกนี่นา แต่สมณะนี้พูดว่า หยุดแล้ว มันยังวิ่งอยู่นี่นา ทำไมถึงพูดโกหกอย่างนี้ ก็เลยพูดอีกทีว่า พระหยุดเถอะ เราจะไม่ทำร้ายท่าน เราจะทิ้งดาบแล้ว แล้วก็ทิ้งดาบ พอทิ้งดาบก็ยืนต่อหน้ากันอยู่ตรงนั้นเอง ยืนอยู่ใกล้ๆ ไม่ได้อะไรนักหนา ยืนใกล้ๆ ก็เลยสงสัยในคำพูดที่พระองค์ตรัสว่า เราหยุดแล้วแต่ว่าท่านเองไม่หยุดนี่ มันหมายความว่าอย่างไร เราก็บอกว่า เราหยุดจากการกระทำบาปนานแล้ว แต่ว่าท่านไม่หยุดจากการกระทำบาป เมื่อพระองค์พูดอย่างนั้น… เอ่อ…
อังคุลีมาร นี่ เป็นคนที่มีปัญญา เมื่อปรากฏว่า มาอยู่ในสำนักอาจารย์นี้ เรียนเก่งกว่าเพื่อน และก็เป็นศิษย์ดี ศิษย์เรียบร้อย แต่ว่า เพราะเพื่อนริษยา อยากจะทำลาย จึงไปยุแหย่อาจารย์ด้วยประการต่างๆ อาจารย์ก็ไปเชื่อลูกศิษย์ แต่ว่า จะทำลายลูกศิษย์ มันก็ไม่ได้ มันผิดจรรยาบรรณของอาจารย์ ก็เลยบอกว่า เธอนี่ ถ้าอยากจะเป็นคนเก่ง ละก็ ต้องไปหานิ้วมาให้ได้สักพันนิ้ว แล้วเราจะให้คาถา เหาะไปในฟ้าก็ได้ หนุมาน (24.00) อังคุลีมารเป็นผู้รักการเรียน รักวิชา ปรารถนาที่จะได้ ก็เลย ไปเที่ยวฆ่าคน ฆ่าคนมามากแล้ว ไม่ได้ตัดนิ้วไว้ ทีหลังก็ตัดนิ้วร้อยเป็นพวง เป็นพวง ห้อยคอไว้ ๙๙๙นิ้ว ยังอีกนิ้วเดียวจะครบพันหนึ่ง พระองค์ทรงทราบเข้า ก็เห็นว่า ไม่ไหวแล้ว โจรนี่มันโด่งดังไปทั้งทาสี (24.30 เสียงไม่ชัดเจน) แล้ว ต้องไปปราบสักที ถ้าไม่ปราบวันนี้ แล้วจะทำบาปหนัก คือ จะฆ่าแม่ เพราะ แม่จะมาหาลูกชายในวันนั้นแหละ อันนี้ก็ แม่มา อังคุลีมารตาลายแล้ว บ้าแล้ว ว่าอย่างนั้นเถอะ ว่าฆ่าคน เมื่อเห็นแม่ ก็ คงไม่ได้นึกอะไรอ่ะ พุ่งเข้าฆ่าแม่ ตัดนิ้ว ก็เป็นบาปหนัก ไม่สามารถจะช่วยได้ เพราะฉะนั้น ต้องไปดึงไว้เสียก่อน อย่าให้ต้องฆ่ามารดา เลย พระองค์ก็ไป และก็สำเร็จ ดึงกลับออกมาได้ อังคุลีมารก็ได้มาบวชในพระศาสนา
ความจริง ชื่อของท่าน ไม่ชื่อนี้ อังคุลีมาร หรอก ชื่อว่า อหิงสกะ อหิงสกะนี่ แปลว่า ไม่เบียดเบียนใคร ที่ได้ชื่อว่า อหิงสกะ เพราะวันที่เกิดนั้น ปรากฏนิมิต ออกดาบลุกเป็นเปลว ว่าอย่างนั้น อันนี้ เค้าก็
พ่อของอังคุลีมารเป็นโหรใหญ่ ในแคว้น ในสำนักของพระราชา ก็เห็นว่า ลูกชายเรานี้เกิดในฤกษ์ไม่ดี ฤกษ์โจร ว่าอย่างนั้น เราจะต้องตั้งชื่อให้มันตรงกันข้ามเสียหน่อย เลยตั้งชื่อว่า อหิงสกะกุมาร แปลว่า ผู้ไม่เบียดเบียนใคร พอนึกถึงชื่อแล้วก็จะได้ นึกว่า เรามันชื่อคนไม่เบียดเบียน จะไปเบียดเบียนเขาอย่างไรได้ แต่ว่า ผลที่สุด ก็ไปทำผิด เบียดเบียนคนอื่น เพราะความหลงผิด อยากได้ความรู้เท่านั้นเอง เสียหาย พื้นฐานทางจิตใจ ไม่ได้เป็นผู้ร้ายโดยกำเนิด ที่เขาเรียกว่า ไม่มีสันดานเป็นผู้ร้าย แต่มีสันดานเป็นสุภาพชน แต่เพราะความใคร่ในทางที่จะเจริญ ในทางผิด จึง ได้กลายเป็นผู้ร้ายไป พระองค์ก็ไปดึง กลับมาให้เข้ามาอยู่ในแนวทางที่ถูกที่ชอบ ตามหลักในทางพระพุทธศาสนา ก็กลายเป็นพระอรหันต์ พ้นจากบาป จากอกุศลไป
มีครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นี่ ท่านตั้งปัญหาถามพวกเทวพุทธ (26.50 เสียงไม่ชัดเจน) ถามว่า อังคุลีมารนี้เป็นโจรใจร้าย ฆ่าคนจำนวนมาก ทำไมจึงเป็นพระอรหันต์ได้ พวกก็ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร เหมือนกัน เที่ยวคิด เที่ยวหาปัญหากันมากมายก่ายกอง ท่านพุทธทาส ท่านตอบมา ตอบให้ฟัง ท่านตอบว่า เพราะฆ่าคนนั่นแหละ จึงได้เป็นพระอรหันต์ คือว่า ท่านตอบเป็นแง่ธรรมะ เป็นปัญญาชั้นสูงไป หมายความว่า ผู้ที่จะเป็นพระอรหันต์นั้น ต้องฆ่าคน ไม่ใช่ฆ่าคนด้วยดาบ ด้วยมีด หรือด้วย ยาพิษ หรือด้วยอะไรไม่ใช่อย่างนั้น แต่ฆ่าความเป็นคนออกไปเสียจากใจ ความเป็นคน นั่นคือ ความยึดถือนั่นเอง ความยึดมั่น ถือมั่นว่า ฉันเป็นนั่น ฉันเป็นนี่ ฉันเป็นอะไรต่ออะไร เรียกว่า ความยึดมั่น ถือมั่น ตราบใดที่เรายังมีความยึดมั่น ถือมั่น เราก็เป็นพระอรหันต์ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อจะเป็นพระอรหันต์ มันจะต้องฆ่าความเป็นคนในจิตใจออกไป คือ ฆ่าความยึดถือในเรื่องความเป็นต่างๆ ที่เราสมมุติกันขึ้น นั่นเอง สมมุติว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งนั้น เป็นสิ่งนี้
แล้วในหมู่คนก็ยังสมมุติทับสมมุติเข้าไปอีกมากมาย เช่น สมมุติ เป็น ยศฐาบรรดาศักดิ์ ตำแหน่ง หน้าที่ การงาน ในสมัยก่อนนี้ มียศเป็น ขุน หลวง พระพญา อะไรต่างๆ อย่างนี้เขาเรียกว่า สมมุติลงไปในสิ่งที่สมมุติอยู่แล้ว แล้วคนก็ไปติดอยู่ในสิ่งนั้น เมื่อติดอยู่ในสิ่งนั้น มันก็ไปไม่ได้ การที่จะไปได้ มันต้องทำลายสิ่งนั้น ทำลายสิ่งนั้นไม่ให้ใครเดือดร้อน ถ้าฆ่าคนเป็นวัตถุนี่ คือ เดือดร้อน เพราะว่า ไปฆ่าเขา ฆ่าวัตถุนี้มันวุ่นวาย แต่ฆ่าสิ่งซึ่งยึดมั่น ถือมั่น ไม่วุ่นวาย เพราะฉะนั้น ท่านจึงตอบว่า เพราะฆ่าคนนั่นแหละ จึงได้เป็นพระอรหันต์ คือฆ่าความเป็นคนออกไป ฆ่าสิ่งสมมุติที่ได้ยึดถือไว้ในใจนั้นให้หายไป สิ้นไป ใจมันก็ว่าง เมื่อใจว่างจากความยึดถือ ก็ สะอาด สว่าง สงบ ขึ้นมาทันที อันนี้ คือตัวปัญหา ที่ตอบว่า เพราะฆ่าคนน่ะ จึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พระอังคุลีมารนี้ ท่านก็ฆ่าความยึดถือว่า เราเป็นอะไร ออกหมด แล้วก็ได้บรรลุมรรคผล คือ พระนิพพาน อันนี้คือ พระอรหันต์ ปฏิบัติตนขั้นสูงสุดในหลักพระพุทธศาสนา ท่านเป็นได้
มีคนสงสัยว่าฆ่าคนมาก ทำไมจึงเป็นได้ คือว่าเมื่อลื่น (30.00 เสียงไม่ชัดเจน) ความยึดมั่น ถือมั่น มันก็เป็นได้ โจรก็เป็นพระอรหันต์ได้ ถ้าเมื่อได้ฟังธรรมมะที่สะกิดลึกเข้าไปในจิตใจ จนกระทั่งปล่อยวางสิ่งนั้นได้เด็ดขาด ก็ไม่มีอะไรเป็นเครื่องถ่วงตน ให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารต่อไป
พระพุทธเจ้า ท่านทรงมีพระปรีชาสามารถในการอบรมสั่งสอน ให้คนได้ความคิดนึกในทางที่ถูกที่ชอบ คำสอนที่ทำคนให้บรรลุ มรรคผลนั้น ถ้าเราตรวจดูแล้ว เป็นคำสอนง่ายๆ พอดวงอาทิตย์ส่องแสงเข้ามา รับทันที พูดอะไร ก็เข้าใจได้ทันท่วงที แล้วก็บรรลุจุดหมายปลายทางไปได้ อันนี้ เป็นตัวอย่าง
มีอีกองค์หนึ่ง ที่พระองค์ตรัสว่า อย่าคิดถึงเรื่องอนาคต อย่าคิดถึงเรื่องอดีต อย่าติดอยู่ในเรื่องปัจจุบัน สอนเท่านั้นนะ ไม่มากมายอะไร พูดเพียงสามประโยคเท่านั้น ว่าอย่าติดอยู่ในสิ่งที่ยังไม่มาถึง อย่าติดอยู่ในสิ่งที่ล่วงไปแล้ว อย่าติดอยู่ในสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ไม่ให้ติด ไม่ให้ยึดถือในสิ่งเหล่านี้ ผู้นั้นก็จะพ้นจาก ความเป็นผู้ยึดถือในเรื่องอะไรต่างๆ จิตก็จะว่างจากสิ่งนั้นสิ่งนี้ไป หรือว่า ที่ท่าน สนทนากับ พระโมฆราช ก็ใช้ถ้อยคำง่ายๆ บอกว่า
โมฆราช เธอจงเพ่งทุกอย่าง โดยความเป็นของว่าง ไม่ยึดถืออยู่ในเรื่องอะไร อะไร มัจจุราชก็จะไม่เห็นตัวท่านต่อไป ที่ได้ทรงตอบเช่นนี้ ก็เพราะว่า โมฆราชมาณพ นี่ เป็นมาณพในจำนวนสิบหกคน ที่อาจารย์แบ่งปัญหาให้คนละข้อ เพื่อไปทดสอบปัญญาของพระพุทธเจ้า สิบหกคนนี้ไปทูลถามคนละเรื่อง คนละเรื่อง แต่ว่าสิบหกคนนั้น ไม่ได้กลับไปสำนักอาจารย์เลย เมื่อได้ฟังคำตอบแล้ว ก็เลยบวชอยู่กับพระพุทธเจ้าหมด โมฆราชมาณพ นี่ ก็เป็นคนหนึ่ง
โมฆราช แกถามว่า จะทำอย่างไรจึงจะหนีพ้นจากความตายได้ หรือว่า ความตายจะหาเราไม่พบ นี่ จะทำอย่างไร พระองค์ ก็บอกว่า เธอจงเพ่งธาตุทุกอย่างโดยความเป็นของว่างเปล่า แล้ว มัจจุราชจะไม่เห็นท่าน คือ ไม่ตาย นั้นเอง เรียกว่า เป็นผู้ไม่ตาย คนเรามันตายก็เพราะว่า ยังติดอยู่ในสิ่งที่จะตาย สิ่งที่จะตายนั้น ก็คือ ร่างกาย ชีวิต และความเป็นอะไรของเรานี่เอง เราติดอยู่ในสิ่งนั้น พอสิ่งนั้นสูญหายไป เราก็เป็นทุกข์ไป เพราะเราติดอยู่ในสิ่งนั้น เราติดอยู่ในสิ่งที่ผูกพันจิตใจ สามีติดอยู่ในภรรยา และ ลูก แม่ก็ติดอยู่ในสามี และ ลูก ติดอยู่ในทรัพย์สมบัติ ในตำแหน่งหน้าที่การงาน
อันนี้ก็ พอถึงเวลาจะจากไปนี่ ก็เสียดายในสิ่งนั้น ข้าราชการทำงานมาครบอายุหกสิบปี วันที่ สามสิบกันยานี่ เขาก็จะต้องให้ออก เพราะอายุครบแล้ว บางคนก็ออกไปด้วยความเสียดาย เสียดายตำแหน่ง หน้าที่ การงาน ที่ตนเคยปฏิบัติมา พอออกไปอยู่บ้าน แล้วก็ ใจเหี่ยว ใจแห้ง มองตัวเองว่า เราน่ะเป็นคนที่หมดสมรรถภาพไปเสียแล้ว เป็นคนที่เขาไม่ใช้แล้ว แล้วก็เลยไม่สบายใจ อยู่ด้วยความหดหู่ ไม่ร่าเริง ไม่แจ่มใส คนอย่างนี้อายุสั้น จะตายเร็ว เพราะอะไร เพราะความยึดถือในตำแหน่งหน้าที่การงานมาก
และอีกประการหนึ่งเมื่อยังทำงานอยู่นั้น ก็มีหน้ามีตา ความจริง หน้าตามันก็ไม่ได้สูญหายไปไหนหรอก เวลาออกจากงาน มันก็ยังอยู่ นั่นแหละ แต่ว่า ค่านิยมมันเร็ว (34.36 เสียงไม่ชัดเจน) คนนั้นมาหา คนนั้นมาสู่ มาเยี่ยม มาเยียน ไม่ใช่มาเพื่ออะไรหรอก มาเพื่อจะใช้เรานั่นแหละ เห็นว่า เรายังมีตำแหน่ง หน้าที่ การงาน เขาก็มาหา เพื่อพึ่งพาอาศัยในกิจกรรมต่างๆ ที่เขากระทำกันอยู่ ไม่ได้ช่วยเหลือกัน เรื่องนั้น เรื่องนี้ เขาก็มา เราก็เลยเพลิดเพลินอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น
ครั้นเมื่อถึงวันออกจากราชการ เก็บของกลับบ้าน รู้สึกใจเหี่ยว ใจแห้ง รุ่งเช้าขึ้น เขาให้ออกแล้ว วันที่สามสิบไม่ต้องทำงานแล้ว เฮ้อ! วันที่๑ ตุลาคม ก็ยังแต่งตัวออกมาเตรียมจะไปทำงาน ลูกสาวถามว่า พ่อจะไปไหน อ้อ ลืมไป วันนี้เขาไม่ให้ไปแล้ว แล้วก็ไม่สบายใจ เพราะว่า มันเคยไปไง ก็ ลืมไป และก็ เตรียมว่าจะไปทำงานอีก อันนี้ ก็เป็นความทุกข์เหมือนกัน เป็นความทุกข์ เพราะว่า เราติดอยู่ในตำแหน่ง ในหน้าที่ ในสิ่งที่เราปฏิบัติ เราไม่ได้คิดไว้ล่วงหน้าว่า อายุหกสิบปี เขาก็จะให้ออก แล้วในปีที่จะออก ก็ควรคิดไว้ตั้งแต่ต้นปีว่า ปีนี้แหละ เป็นปีสุดท้ายที่ฉันจะได้รับใช้ประเทศชาติ ในฐานะเป็นข้าราชการ
เดือนกันยายน วันสิ้นเดือนนี่ก็ต้องเลิกกัน ไม่ได้ทำงานต่อไป เราก็ควรจะคิดให้สบายใจว่า ทำมานานแล้ว รับใช้ประเทศชาติมาตั้งแต่ในวัยหนุ่ม จนกระทั่งวัยชรา ก็ให้ออกไปรับบำนาญ การได้ไปรับมันบำนาญนั้น เป็นเรืองปลื้มใจ ปลื้มใจว่า เราปฏิบัติงานเรียบร้อยมาตั้งแต่เริ่มต้น แล้วก็ได้เลื่อนฐานะ เลื่อนตำแหน่ง โดยลำดับ จนกระทั่งได้เป็นอย่างนั้น ได้เป็นอย่างนี้ ตามงานในหน้าที่
ครั้นถึงเวลาออก เราก็ปิดฉากด้วย อารมณ์สดชื่น สบายใจ ไม่มีอะไรขุ่นข้อง หมองใจ มีใจสบาย แล้วก็ควรนึกว่า เออ... ดีเหมือนกัน ออกจากงานเสียที จะได้ไปฟังเทศน์วัดชลประทาน วันอาทิตย์ อย่างนี้มันก็สบายใจ ถ้าออกแล้ว เอ่อ ไม่รู้จะไปไหน นั่งกลุ้มใจอยู่ที่บ้าน มันก็ไม่ได้เรื่องอะไร เราที่ ออกจากบำนาญ (37.13) ออกจากราชการมาหลายปีแล้วเคยมาวัดนี้อยู่ เจอเพื่อนที่ออกใหม่ๆ ก็แนะนำว่า เออ วันอาทิตย์ไปวัดเสียมั่ง ไปฟังธรรมเสียบ้าง จิตใจจะได้สบาย ผมนี่ไปอยู่สม่ำเสมอล่ะ ได้เอาธรรมมะมาใช้ในชีวิตประจำวัน จิตใจก็เป็นสุข คือว่า คนเรานี่ มันต้องแบ่งชีวิตไว้เป็นขั้น เป็นตอน ครั้นเป็นเด็ก ทำหน้าที่อย่างหนึ่ง เป็นหนุ่ม เป็นผู้ใหญ่ ก็ทำหน้าที่อย่างหนึ่ง พอถึงขั้นชรา ตามโลกนิยม เขาว่าชราเมื่ออายุ๖0 เราก็รับรอง ความที่เขานิยมอย่างนั้นว่า หกสิบชรา เขาก็ให้ออกจากราชการ
เมื่ออกจากราชการแล้วเราก็พักผ่อน มันมีเวลาน้อยแล้ว เมื่อไหร่ หกสิบไปนี่มันน้อยแล้ว ไม่รู้จะอยู่ไปอีกสักกี่ปี อยู่ไปอย่างดี สักยี่สิบ ให้สักยี่สิบ เรียกว่า ร่างกายแข็งแรง มีอนามัยดี ให้สักยี่สิบ แต่ไม่แน่นะ บางทีก็ให้ไม่ถึงนะ เรานึกว่าจะอยู่สักยี่สิบ มันอยู่เพียงสิบห้าปี บางคนก็สิบปี บางคนก็อยู่ได้เพียง ๓ ปี ๕ ปี อ้าว ลาโลงไปได้ง่ายๆ ก็มันไม่ค่อยแน่นอนอะไร อันนี้ เรานี่เกิดมา ก็ ทำงานทำการ รับใช้ประเทศชาติบ้านเมืองมาพอสมควรแก่เวลาแล้ว ต่อไปนี้ก็เรียกว่า จะแสวงหาความสุขส่วนตัว เป็นความสุขแท้ๆ ที่เกิดจากความสงบทางจิตใจ หันหน้าเข้าหาศาสนา ธรรมะ อย่างจริงจัง ก่อนนี้ก็ได้ใช้อยู่หรอก แต่ว่ามันไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้มันจริงจังกันเสียที แล้วก็ อุทิศชีวิตว่าต่อไปนี้ ถ้าเราจะทำอะไร เค้าเรียกว่า ทำเพื่อให้ ไม่ได้ทำเพื่อจะเอาอะไรจากใครแล้ว มีอะไรพอจะให้ใครได้ เราก็ให้เขาไป โดยไม่หวังตอบแทนอะไร ลูกเต้าก็เติบโตเป็นฝั่งเป็นฝา พอจะช่วยตัวเองได้แล้ว เราไม่ต้องไปเลี้ยงเขาแล้ว ทำตนให้เป็นอิสระเสียบ้าง เป็นทาสเขามานานแล้ว
อันนี้ ว่า อายุหกสิบ เค้าว่า เอ้า ปล่อย เรียกว่า ปลดแอก เค้าปลดแอกอ่ะ ก่อนนี้เขาไถเราทุกวัน ทุกวัน จนหัว คอ ถลอกแล้ว เขาไถอ่ะ เมื่อเด็กๆนี่ เคยเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย เวลาฤดูไถนานี่ น่าสงสารวัว ควาย คอมันนี่ถลอกอ่ะ คือ แอกนี่มันไม้ มันไม้ แล้วเอาไปวางไว้บนคอมัน มีแอกผูก มีเชือกผูก แข็งแรงนะ ดิ้นไม่หลุดอ่ะ แล้วก็เอาคันไถไปผูกกับแอก มีหัวหมูสำหรับจ่อดิน แล้วก็ให้มันลากไป ก้มมันลงไป ให้มันลึกๆหน่อย แล้วก็ลากไป บางทีก็หลังภู่ (40.31 เสียงไม่ชัดเจน) ทั้งสองตัวเลย มันหนัก ถ้าว่าหนัก ไปไม่ไหว มันจะหยุด อ้าว! เอาไม้หวดเข้า หวดก้นมันเข้า หวด เฟี้ยว ไปอีก เดินไป คอยคอยหวดไว้ หวดเบาๆ ไม่แรงหรอก แต่ว่า มันคัน มันไม้เรียวอ่ะ เขาไม่เอาไม้ใหญ่หรอก ไม้เรียวเล็กๆ ไอ้ไม้เรียวนี่ ตีวัว ตีควาย เดินดีนัก มันก็เดินไป ไถกันตั้งสองเดือน สามเดือน คอถลอก ปอกเปลิก บางตัวหนังถลอกถึงเนื้อเลย ต้องเอายาไปรักษา เห็นแล้วก็สงสารมันเหลือเกิน
แต่ว่า สมัยเป็นเด็กๆ ก็อย่างนั้นแหละ สงสารก็อย่างนั้น ไม่ได้คิดอะไร แต่เมื่อโตแล้ว ก็นึกว่า อ๋อ ไม่เฉพาะแต่วัว ควาย ที่สวมแอกเข้าที่คอนะ คนเรานี่ก็มีแอกเหมือนกัน คือว่า หน้าที่นั่นแหละ คือแอกที่เราจะต้องแบก เช่น เราเป็นข้าราชการ ก็สวมแอก ป๊าป เข้าให้ ตั้งแต่อายุ ๒๕ สมมุติว่าอย่างนั้น สวมมาเรื่อย จนอายุ ๖๐ เขาก็ปลดแอก ปลดแอกแล้วก็ เอ้า ไป กินน้ำตามชอบใจ กินหญ้าตามชอบใจ นอนในหนองไหน ก็ตามชอบใจ เพราะว่า มันอิสระแล้ว สบายใจน่ะ สบายใจ อย่างนี้ เรียกว่า ปลดปล่อย เขาปล่อยเราให้เป็นอิสระ แต่ว่า บางคนก็ไม่ยอมเป็นอิสระเหมือนกัน แม้เขาปล่อยแล้ว ก็ยังไปหาแอกอื่นมาสวมคอต่อไป แก่แล้ว ยังไปเที่ยวหาแอกมาสวมคอ
บางคน ถามว่า เวลานี้อายุเท่าไหร่แล้วอ่ะ ๖๕ ลูกเต้าจบการศึกษาหมดแล้ว ยังอยู่อีกคนหนึ่ง ทำไมมันเพิ่งเกิดล่ะ ตอนนั้น ถามว่า ทำไมมันเพิ่งเกิดอีกล่ะ ก็เพิ่งมีแม่ใหม่ ว่าอย่างนั้น อย่างนี้เรียกว่าหาเรื่องทั้งนั้น แก่แล้วยังไปหาเรื่อง หาแม่มาเลี้ยงอีกคนหนึ่ง แล้วมันก็ออกลูกมา ไอ้ลูกตัวเล็กนั่นแหละ คือแอกอันใหญ่ทีสวมคอพ่อต่อไป ไปไหนไม่ได้ ต้องเลี้ยงเขาต่อไป ให้การศึกษาอะไรต่อไปตามเรื่อง อย่างนี้ก็เรียกว่า ไม่ยอมปลดปล่อยตัวเอง หลุดอันหนึ่ง ไปติดอันหนึ่ง หลุดอันหนึ่ง ไปติดอันหนึ่ง แหม หาแอกมาสวมคอ เสียเรื่อยไป ไม่รู้จบ ไม่รู้สิ้น อย่างนี้มันก็ไม่ไหว เราจึงควรจะเรียกว่า ปล่อย ปล่อย เสียบ้าง ลูกเต้าเติบโตแล้ว ก็ ปล่อยภาระไป
คนอินเดียสมัยโบราณ เขาพอแก่ตัวลง คือว่า มีลูกมีเต้า ลูกเต้าเล่าเรียน จบการศึกษา เขาหนีไปเลย เขาเรียกว่า เป็นสันยาสี พวกสันยาสี ก็ เป็นนักบวชประเภทไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เที่ยวไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นบ้านเล็ก ก็ พักมันสักคืนหนึ่ง ถ้าเป็นเมืองใหญ่ก็พักสักคืน สองคืน และไม่มีสมบัติอะไร มีแต่ผ้านุ่งกับหม้อน้ำใบหนึ่ง ไม้เท้า มีเท่านั้น อาหารก็คนเขาให้ เพราะว่า คนอินเดียนี่ เขาก็ส่งเสริมนักบวชเหมือนกันแหละ เขาให้อาหารแก่นักบวช ตามมีตามได้ ให้อย่างไรก็กินไปอย่างนั้น ไม่สนใจเรื่องความอร่อย ไม่อร่อย นอนตรงไหนก็ได้ นั่งตรงไหนก็ได้ อยู่อย่างไรก็ได้ เป็นอิสระเสรี อย่างนี้ เขาเรียกว่า ไปตามแบบ สันยาสี แต่ว่าไม่ใช่ไม่ทำหน้าที่ ทำเหมือนกัน คือหน้าที่ แจกของส่องตะเกียง ช่วยเหลือชาวบ้าน ชาวเมือง ให้รู้จักชีวิต ให้รู้จักปฏิบัติตน ว่าควรจะอยู่อย่างไร ควรจะหลีกจากความชั่วอย่างไร ควรสร้างความงาม ความดี ให้แก่ชีวิตอย่างไร เอ้า ไปทำหน้าที่อย่างนั้น เรียกว่า เป็น สันยาสีไป
มีเรื่องครอบครัวหนึ่ง คือว่า ลูกของครอบครัวนี้ เป็นคนสำคัญของอินเดีย เขาเรียกว่า สวามี วิเวกานันทะ สวามี วิเวกานันทะนี่ พ่อแกหนีไปตั้งแต่แกยังตัวเล็กๆ เหลืออยู่แต่แม่ พ่อออกบวชซะ ทิ้งลูกไปเลย ไป หายไป คราวนี้ มีในเรื่องเล่าว่า แม่นี้พาลูกชาย คือ ชื่อ นเรนทรนุถ (45.09 เสียงไม่ชัดเจน) แต่เมื่อบวชแล้ว ชื่อ วิ เว กานันทะ ชื่อ นเรนทรนุถนี่พาไปไหว้สถานที่สำคัญเมืองพาราณสี ไปถึงเมืองพาราณะสี ก็ ก่อนที่จะเข้าไปสู่วิหาร ที่คนไปไหว้ ได้เห็นสันยาสีคนหนึ่งนอนสลบอยู่กลางแจ้ง นอนไม่รู้สึกตัวอยู่กลางแจ้ง แม่ของนเรนทรนุถเห็นเช่นนั้น ก็เข้าไปช่วย ช่วยสันยาสี เอาน้ำไปชุบผ้าเช็ดหน้า ลูบหน้าลูบตาให้ คือ พลิกหน้าขึ้นมาลูบหน้า พอลูบหน้า ก็ร้อง '' นี่มันพ่อไอ้หนูนี่ '' เรียกว่า ไปเจอกันเข้าโดยบังเอิญ ต่างคนต่างไปไหว้พระ ก็ไปเจอกัน พอพลิกหน้าขึ้นมา จะเอาผ้าชุบน้ำเช็ดหน้า นี่ พ่อไอ้หนูนี่ ก็เลย ไปนวด ถูหน้า ถูตัว อะไรต่ออะไร แกก็ฟื้นขึ้น พอฟื้นขึ้น ลืมตา เห็นหน้าภรรยา พอเห็นหน้าภรรยา แกร้องออกมาว่า มายา มายา คำว่า มายา หมายความว่า สิ่งหลอกลวง ไม่ใช่ของจริงของแท้ พอลืมตาขึ้นเห็นหน้าเมีย ก็ร้องว่า มายา มายา ลุกขึ้นไปเลย ไม่พูดจาด้วยสักคำ กับเมียนี่ไม่พูด ว่าเธอมาเมื่อไหร่ หรืออะไรต่ออะไร ก็ไม่พูดไม่จา ลูกก็ยืนตาดำๆ อยู่ ก็ไม่พูดไม่จาด้วยสักคำเดียว ร้องว่า มายา มายา แล้วก็เดินไป หนีไปซะเลย อย่างนี้เขาเรียกว่า หนีให้พ้น ไม่เกี่ยวข้อง ไหนไหนก็ออกแล้ว ก็ไม่เกี่ยวข้องกัน หนีไปซะเลย แล้วก็ ต่อมาก็ ลูกชาย เมื่อโตเป็นหนุ่ม เรียนจบการศึกษาได้ปริญญาตรี ในเรื่องอักษรศาสตร์ ก็มีชีวิตคล้ายกัน แต่ว่า แกไปชอบไปคุยกับนักบวช เลิกเรียนหนังสือ เลิกงาน ก็ไปคุยกับนักบวช
สมัยนั้นมีนักบวชคนหนึ่ง ชื่อ รามกฤษณา แกก็อยู่ในวิหาร เฝ้าศาลเจ้าแม่ทุรคา อยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง เป็นคนเฝ้าโบสถ์ เป็นพระประจำโบสถ์อะไรอย่างนั้น แกก็ไปคุย คุยด้วยทุกวัน ทุกวัน ก็คุยกันเรื่องธรรมะ เรื่องเกี่ยวกับจิต วิญญาณ เรื่องจิตใจ อะไรอย่างนั้น แต่ ปรากฏว่า ท่านผู้นี้น่ะ ไม่ได้เป็นคนเฝ้าพระวิหารเฉยๆ แต่ เป็นนักปฏิบัติธรรมะเหมือนกัน และมีอำนาจจิตสูงพอสมควร วันหนึ่ง แกเรียก นเรนทรนุถ เข้าไปในห้องวิหาร พอเข้าไปถึง แกเอามือลูบหัวเนี่ย พอลูบบนหัว นเรนทรนุชก็หมดความรู้สึกไป หมดความรู้สึก พอหมดความรู้สึกแล้ว ก็รู้สึกว่า ใจมันล่องลอยไป ที่ไหน ที่ไหน ที่ไหน ต่อมาก็ฟื้นขึ้น ก็ถามอาจารย์ว่า เมื่อตะกี้นี้ ผมมันขาดใจ ใจมันล่องลอยไปได้พบได้เห็น สิ่งนั้น สิ่งนี้ อาจารย์ก็บอกว่า นั่นแหละ เป็นสิ่งที่อาจารย์ต้องการให้เกิด เจอความจริงของสิ่งทั้งหลาย แล้วก็ ตั้งแต่นั้นมาแกก็มาหาอาจารย์อีกบ่อยๆ ผลที่สุดก็เลยบวชเสีย เป็นพวกสวามี เค้าเรียกว่า สวามี ก็เป็นนักบวชในศาสนาฮินดู บวชแล้วก็ ตั้งใจปฏิบัติอะไรเคร่งครัด อาจารย์สิ้นบุญ พออาจารย์สิ้นบุญแกก็รู้สึกเสียใจในความตายของอาจารย์ เลยเดิน เป็นสันยาสี เดินไปทั่วอินเดีย สิบสองปี เดินอยู่ในอินเดียเลยสิบสองปี เดินไปจน ขึ้นไปถึงเหนือสุด ลงมาใต้สุด ไปที่แหลม เขาเรียกว่า แหลมโคโบริน นี่ อยู่ใต้สุด สี่เหลี่ยมของประเทศอินเดีย แกไปยืนดูทะเลเวิ้งว้างอยู่ที่นั่น แล้วแกก็มองเห็นว่า เอ๊ะ คนอินเดียยังต้องการอาหารทางท้องมาก อาหารทางวิญญาณนี่มันก็พอกินพอใช้แล้ว แต่ว่า อาหารทางท้องนี่มันแย่ ลำบากยากจน เราจะต้องหาทางช่วยคนเหล่านี้ เลยแกก็ไปหาเพื่อนที่เมืองมัทราส บอกว่า ซื้อตั๋วให้ฉันสักใบสิ ฉันจะไปอเมริกาแล้ว เขาก็ซื้อตั๋วให้แก กับให้เงินนิดนิดหน่อยหน่อย ไม่ได้มากมายอะไร แกก็ไปเรือ ไปขึ้นที่เมืองซานฟรานซิสโกในอเมริกา แล้วก็ ไปนอนตามใต้สะพานมั่ง ในสนามหญ้ามั่ง ข้างตึกมั่ง ตามเรื่องของแก แกมันสันยาสี แกอยู่ได้ทั้งนั้นแหละ อากาศแถวนั้นมันก็ไม่รุนแรงอะไร แล้วแกก็ไปสู่อีกด้านหนึ่งของประเทศ อากาศหนาว แกแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าบางๆ ก็โทรเลขบอกเพื่อนที่นอนที่เมืองอินเดีย บอกว่า ถ้าไม่ส่งเงินมาให้ซื้อเสื้อผ้าหนาๆใช้ ฉันจะต้องตายในฤดูหนาวนี้แน่ๆ เพื่อนก็จัดส่งเงินไปให้ แล้วแกก็ไปเที่ยวพูดอยู่ในอเมริกาตั้งสองสามปี มีชื่อมีเสียง แล้วก็เดินทางออกจากอเมริกา มายุโรป ก็ปาฐกถาเรื่อยไป จนกระทั่งถึงรางชา (50.54 ไม่ยืนยันตัวสะกด) ไปอินเดีย เดินเข้าไปจนถึงเชิงเขาหิมาลัย
แล้วก็ไปเปิดสำนักงาน ราม – กฤษณามิชชั่น (The Ramakrishna Mission องค์การรามกฤษณา) ส่งเสริมกิจการด้านกุศล สร้างโรงเรียนสำหรับเด็กยากจน สร้างโรงพยาบาลสำหรับคนอนาถา เอาพวกนักบวชนี่แหละทำงานในด้านสังคมสงเคราะห์ ก็เรียกว่าได้ทำการปฏิรูปสังคมของอินเดีย เวลานี้เขาปั้นรูปไว้ที่เมืองกัลกัตตา เป็นอนุสาวรีย์ของท่านผู้นี้เหมือนกัน
อันนี้ เป็นเครื่องชี้ว่าคนเรานี่ บางทีมันก็มีนิสัยโน้มเอียงไปในทางเสียสละ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่เพื่อนมนุษย์ ปลดแอก ปลดภาระ แล้วไปทำหน้าที่โดยไม่ต้องให้ใครมาบังคับ นอกจาก ความเมตตา ปราณี ที่เกิดขึ้นในใจ เป็นเครื่องกระตุ้นเตือน ว่าเราควรจะอยู่เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย มีความคิดอยู่ในใจอย่างนี้ แล้วก็ตั้งหน้า ตั้งตา ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นความสุขแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย
งานประเภทนี้ไม่ใช่เป็นงานหนัก เพราะเป็นงานที่ทำด้วยความเสียสละ งานหนัก นั้นคือ งานที่ต้องมีเงินเดือน ต้องมีการเลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่ง นี่ งานมันหนัก หนักใจ ถ้าว่าได้เลื่อนล่ะก็เบานิดหนึ่ง ถ้าไม่ได้เลื่อน ก็ แหม! มันเซ็งเต็มที เราเลยท้อแท้ เบื่อหน่าย ไม่อยากจะทำงานต่อไป คิดจะลาออก เพราะ ไม่ได้เลื่อนอะไรขึ้นมา นี่ มันหนัก หนักตรงไหน หนักตรงที่ว่ายังต้องการผลตอบแทนจากงานที่เราลงทุนไป ลงทุนแล้วอยากจะได้ผลนี่มันหนัก แต่ถ้าลงทุนโดยไม่เอาผล นี่ มันเบา งานประเภทเสียสละนี้ คืองานเบา มันเหมาะสำหรับคนแก่ คนอายุมาก เช่น ออกจากราชการแล้ว เราก็มาทำงานประเภทเบาๆ งานเสียสละ ช่วยเหลือองค์การกุศลสาธารณะ ช่วยเหลือวัดวาอาราม อะไรต่างๆ ที่เป็นด้านการกุศลที่เราจะช่วยได้ ช่วยอย่างอื่นไม่ได้ เพียงช่วยเป็นตัวอย่างในการประพฤติธรรม ให้คนอื่นได้เห็น เช่น เรามาวัดนี่ ก็เรียกว่า ช่วยอยู่แล้ว ช่วยให้คนอื่นได้เห็นว่า อ๋อ! ท่านผู้นั้นเป็นข้าราชการบำนาญ ท่านก็มาฟัง นายทหารคนนั้นก็มาฟัง ท่านผู้นั้นก็มาฟัง ก็เป็นตัวอย่างให้คนทั้งหลายที่มาเห็นเข้า ก็ได้เกิดศรัทธา เกิดเลื่อมใส เอาเราเป็นแบบ เป็นฉบับ ให้คนอื่นได้เห็น แล้วจะได้ทำตามเรา นั้นก็คือการช่วยอยู่แล้ว
นอกจากนั้น เรามีอะไรจะช่วยได้อีก เราก็ช่วยตามสามารถที่จะช่วยได้ รู้จักคนใดที่มีสตางค์เหลือกิน เหลือใช้ เราก็ไปช่วยบอกเขาว่า นี่ สตางค์มีมากๆตายแล้วเอาไปไม่ได้ เก็บไว้ทำอะไร เอาทิ้งไว้ ทีหลังมันก็สูญเปล่า เอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมเสียบ้าง ช่วยบริจาค บำรุง กิจการประเภทต่างๆ ที่เป็นกิจการที่เป็นบุญ เป็นกุศล อย่างนี้ ก็เรียกว่า เป็นการช่วยส่งเสริมสิ่งดี สิ่งงาม ในสังคมของมนุษย์
ถ้าเราทั้งหลายได้ช่วยกันส่งเสริมสิ่งดีงาม อย่างนี้ ชีวิตเราก็เบาสบาย และก็เป็นประโยชน์เมื่อตอนแก่ แก่แล้วยังเป็นประโยชน์ ดีกว่านั่งอยู่กับบ้านเฉยๆ มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่ว่า สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ได้ เราก็ควรช่วยกันจัด ช่วยกันทำ
บางคนมักจะพูดว่า เอ้ย! ไม่อยากยุ่ง อย่างนั้น เขาเรียกว่า จิตใจยังไม่สูงพอ ไอ้เรื่องไม่อยากยุ่งนี่ มันต้องยุ่งเพื่อแก้ปัญหาเราด้วย เพื่อฝึกจิตใจของเราให้รู้จักช่วยเหลือสังคม ช่วยอยู่กับหมู่กับคณะ ช่วยทำงานนั้นงานนี้ อย่าเป็นคนใจน้อย ถ้อยสั้น(นาทีที่ 55.37 เสียงไม่ชัดเจน) จะทำอะไร พอกระทบนิดหน่อย ลาออก ลาออก นี่เขาเรียกว่า คนใจน้อย ขาดน้ำอด น้ำทน เราจะต้องทนต้องใช้ปัญญาพิจารณา ว่าโลกมนุษย์นี้มันไม่เหมือนกัน คนเรามันไม่เหมือนกัน จิตใจแตกต่างกัน จะให้เหมือนกันไม่ได้ ถ้าเหมือนกันแล้ว เป็นต้อง …… เกิดตีกันทุกอาทิตย์ (55.59 เสียงไม่ชัดเจน) คนมันเหมือนกันมันเรียบร้อยแล้ว เป็นศาสนาพระศรีอารย์แล้ว ศาสนาพระศรีอารย์เป็นความฝัน มันมาไม่ถึงหรอก เรามาช่วยกันให้เป็นจริงในรูปอย่างนั้น แม้ไม่ร้อยเปอร์เซนต์ แต่ว่าให้เป็นขึ้นไปมากๆ แล้วเราก็จะได้อยู่ด้วยกันด้วยความสุข สงบ ไม่ต้องอยู่ด้วยความหวาดกลัว มีเสรีภาพในการเป็นอยู่อย่างแท้จริง นี่ เป็นเรื่องที่ช่วยกันทำได้ ทุกคนต้องช่วยกัน เพื่อให้ความงาม ความดี ตั้งมั่นอยู่ในรูป แล้วเราก็จะได้รับความสุข ความสงบ สมความปรารถนา
ดังที่ได้กล่าวมาทุกประการในวันนี้ ก็พอสมควรแก่เวลา ตอนบ่ายโมงครึ่งวันนี้ คุณสมัคร สุนทรเวช จะมาปาฐกถาที่นี่ ญาติโยมที่ไม่รีบไม่ร้อน ก็อยู่ฟังด้วยก็ดีเหมือนกัน เมื่อวานนี้ อาตมาไปโคราช แสดงปาฐกถาบ่ายโมงถึงบ่ายสองโมงสิบห้านาที แล้วก็ คุณสมัครแกไปพูดต่อ ญาติโยมก็มาฟังกันมากหลาย รอฟังคุณสมัคร นักพูดชั้นดีอยู่คนหนึ่งเหมือนกัน คราวนี้ เราก็ ถ้าว่างถ้าไม่รีบร้อน ลองฟังคารมของท่านผู้นี้ดูบ้าง ไปเชิญท่านก็เต็มใจมา ความจริงเป็นรัฐมนตรีงานเยอะไม่เหมือนเมื่อเป็นผู้แทน แต่ก็ยังปลีกเวลาไปเที่ยวคุยวัดโน้น คุยวัดนี้ ใครเชิญไปก็ไปเรื่อยไป ก็นับว่าดีเหมือนกัน ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ในการพูดอะไรให้คนฟัง
อ้าว ! ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยม นั่งสงบใจ เป็นเวลา ๕ นาที
- ปาฐกถาธรรมวันอาทิตย์ที่ ๑๑ กันยายน ปี พ.ศ.๒๕๒๖