แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้อากาศก็แจ่มใสดี ฝนฟ้าไม่ตก แต่ว่าในระยะนี้มีข่าวที่น่าสลดใจข่าวหนึ่ง คือ ข่าวเรือบินประเทศเกาหลีถูกรัสเซียยิงตกลงไป เรือบินนี้เป็นเรือบินโดยสาร ๗๔๗ ซึ่งคนโดยสารก็มีจำนวนตั้ง ๒๖๙ คน หลายชาติหลายภาษา คนไทยก็พลอยตายไปด้วย ๘ คน คนไทยที่ตายนั้นเป็นดอกเตอร์ถึง ๒ คน ไปเรียนหนังสือจบแล้วก็จะกลับบ้าน เพื่อมาทำงานเป็นประโยชน์แก่ชาติแก่ประเทศต่อไป แต่ว่ามาถูกไอ้พวกทารุณยิงด้วยปืนถูกเรือบิน จมน้ำตาย หายกันไปหมด
อันข่าวนี้เป็นเครื่องแสดงให้เราเห็นว่า ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์นั้นเป็นประเทศที่ไร้ศีลธรรม ไม่มีศาสนาเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ เขาจะฆ่าคนเมื่อใดก็ได้ เพราะว่า คนพวกนั้นเขาไม่มีบาป เขาไม่มีบุญ เขาไม่มีธรรมะ ไม่มีศาสนาเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ เมื่อเกิดอารมณ์อยากขึ้นมา เขาก็ทำได้ โดยไม่ได้คิดว่ามนุษย์จะตายเป็นจำนวนมาก แล้วคนที่ตายนั้นเป็นพวกไม่มีความผิดอะไร ไม่ได้ถืออาวุธ ไม่ได้คิดทำร้ายใคร นั่งโดยสารมาในเรือก็คิดถึงบ้านที่ตนเคยอยู่เคยอาศัย แต่ว่าไม่ถึงบ้าน เพราะ โดนคนใจร้ายของประเทศรัสเซียซึ่งถืออาวุธ ใส่เครื่องแบบเป็นทหารนักบินแต่ว่าขาดคุณธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจ จึงได้ทำการยิงเรือบินนั้นให้ตกลงไปถึงแก่ความตาย แต่ก็ยังปฏิเสธว่าไม่ได้ยิง เพียงแต่ว่ายิงสัญญาณ ไอ้สัญญาณนี่มันจะถูกเรือบินตกได้อย่างไร เขาเรียกว่าโจรใจแข็ง ปฏิเสธเอาไปดื้อๆ อย่างนั้นเอง จึงเป็นข่าวที่น่าสลดใจทั่วโลก
เมื่อชาวโลกทั้งหลายได้รับข่าวนี้แล้วก็มีความสลดใจและได้ประณามการกระทำของโซเวียตรัสเซียว่า เหี้ยมโหดดุร้ายที่สุดในโลกก็ว่าได้ เพราะ ไม่มีใครเขาทำกันเช่นนั้นในยามปกติ แม้ในยามสงครามเขาก็หลีกเลี่ยงไม่กระทำกับบุคคลที่ไม่มีอาวุธ กับเรือที่ไม่มีอาวุธ เช่น เรือโดยสาร เรืออะไรอย่างนี้เขาไม่ทำ เพราะว่าจะเป็นอันตรายแก่คนที่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็น เป็นข่าวน่าสลดใจ จึงขอแสดงความเสียใจในการเทศน์วันนี้ไว้กับทุกคน ทุกชาติ ทุกภาษาที่ต้องตายไปด้วยความเหี้ยมโหดทารุณของคนที่ไร้ศีลธรรม
อาตมาพูดให้โยมฟังก็เพื่อจะได้เป็นเครื่องสังวร ให้รู้ไว้ว่าระบอบการปกครองที่เรียกว่า คอมมิวนิสต์ นั้น เขาไม่มีศาสนา เขาไม่มีบาป เขาไม่มีบุญ เขาไม่มีอะไร อะไรที่เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งจิตใจคนให้หยุดกระทำในสิ่งที่ผิดที่เสียหาย นอกจากว่ากำลังเท่านั้นเอง การใช้กำลังนั้นมันไม่ใช่วิสัยของมนุษย์ เราจะได้รับรู้ในเรื่องอย่างนี้ไว้ แล้วก็จะได้ระมัดระวังไม่ให้สิ่งนี้มันเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา เพราะถ้ามีการปกครองโดยระบอบนี้เมื่อใด บ้านเมืองก็จะเต็มไปด้วยปัญหา สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ จึงขอให้รับทราบว่า ความไร้ศีลธรรมเกิดขึ้นจากคนไม่มีศาสนา
ระบบการปกครองที่เรียกว่า คอมมิวนิสต์ เป็นระบบที่ไม่ส่งเสริมศาสนา ไม่ส่งเสริมมนุษยธรรม เป็นระบบเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ เมื่อปรารถนาจะทำอะไรก็ไม่คำนึงถึงอะไรทั้งนั้น นี่เป็นบทเรียน เป็นเครื่องเตือนใจให้เราทั้งหลายได้รู้ ได้ระวังเนื้อระวังตัว แล้วจะไม่ตกเป็นเหยื่อของสิ่งเหล่านั้นต่อไป จึงประกาศให้ญาติโยมทั้งหลายได้รับทราบไว้ แล้วก็จะมาพูดธรรมะกันต่อไป
เพราะว่าเมืองไทยเรามันเป็นเมืองพระ เป็นเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนา แม้การนับถือจะไม่สมบูรณ์ตามแบบของพระพุทธศาสนาเท่าใดนัก แต่ก็ยังมีคุณธรรมเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ เราไม่ทำอะไรในทางที่มันจะเกิดความเสียหาย นอกจากคนที่ไร้การศึกษาไร้ปัญญา เช่น พวกโจร พวกผู้ร้าย พวกเหล่านี้มันเป็นพวกขาดการศึกษา ปัญญาต่ำ มีความคิดต่ำ แต่ว่าคนที่มีการศึกษามีปัญญาไม่อบรมคนตามหลักธรรมะในทางพระพุทธศาสนาก็ทำให้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ต่ำๆ เพราะ ศาสนาส่งเสริมการยกระดับจิตใจคนให้สูงขึ้น ไม่ได้ส่งเสริมการทำจิตใจให้ตกต่ำ
เราทั้งหลายที่มาวัดทุกวันอาทิตย์ก็มาเพื่อยกระดับจิตใจให้สูง ให้พ้นจากบาป จากอกุศล จะได้ดำรงชีวิตอยู่ในทางที่ถูกที่ชอบตามหลักศีลธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และตามหลักสัจธรรมที่จะนำตัวเราให้พ้นไปจากความทุกข์ ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน
เราทั้งหลายที่ได้มาอยู่ทุกวันอาทิตย์ก็ย่อมจะเห็นผลของธรรมะที่เราได้นำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ว่าธรรมะนี่เป็นสิ่งให้ประโยชน์อย่างแท้จริง สำหรับบทที่เราสวดว่า (08.05 คำบาลี) ...... ผู้ศึกษาผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง คือ เห็นได้รู้ได้ด้วยตัวเองว่า ถ้าเราปฏิบัติธรรมะแล้วได้รับประโยชน์อย่างไร สภาพจิตใจเปลี่ยนไปอย่างไร ความคิดความเห็นเปลี่ยนไปในสภาพอย่างไร เป็นเรื่องที่เรารู้เราเห็นด้วยตัวเราเอง เป็นสิ่งที่ประจักษ์แก่ใจ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูฮีติ อันวิญญูชนพึงเห็นได้ด้วยตนเอง พึงเห็นได้ด้วยการปฏิบัติ เพราะ เมื่อเราได้นำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเราแล้ว เรามีความสุขมีความสงบ ปราศจากข้อกังวลใจอันเป็นตัณหาให้มีความทุกข์ความเดือดร้อน อันนี้เรารู้ชัดด้วยตัวของเราเอง เห็นชัดด้วยตัวของเราเอง และเมื่อเรารู้เห็นว่าธรรมะเป็นประโยชน์ก็แสวงหามากขึ้น อยากจะได้ธรรมะเอามาปฏิบัติให้มากขึ้น หรือว่ามารับกำลังใจจากการมาฟังปาฐกถาในวันอาทิตย์ เรียกว่ามาเพิ่มกำลัง คล้ายกับหม้อแบตเตอรี่ที่มีแรงไฟอยู่แล้ว แต่ว่าใช้ไป ใช้ไป มันก็จะหมดจะสิ้นไป เราก็ต้องเอามาชาร์จแบตเตอรี่นั้นใหม่ เพื่อให้มีกำลังไฟมากขึ้น หรือว่าเติมน้ำกรดลงไปเพื่อให้เป็นส่วนประกอบที่จะเกิดกำลังงานสำหรับเอาไปใช้กับรถที่เราเดินต่อไปฉันใด เรามาวัดทุกวันอาทิตย์ก็เท่ากับว่ามาเพิ่มกำลังใจให้แก่ตัวเราเอง เพื่อให้เรามีกำลังใจมั่นคงในพระศาสนา มีความจงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้า ต่อพระธรรม พระสงฆ์ อันเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งทางใจของเรา เราจะคิดอะไร จะพูดอะไร จะทำอะไรก็จะได้เกิดสิ่งยับยั้งชั่งใจ ไม่คิดที่จะทำอะไรในทางที่เป็นไปตามอารมณ์และสิ่งแวดล้อม ชีวิตก็จะเป็นสุขสงบตามสมควรแก่ฐานะ อันนี้คือผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของเรา
การปฏิบัติธรรมะในทางพระพุทธศาสนานั้นมีจุดหมายเดียวที่การหลุดพ้นจากความทุกข์นั่นเอง ในภาษาธรรมะท่านเรียกว่า วิมุติ วิมุตินี้แปลว่า ความหลุดพ้น หลุดพ้นจากอะไร หลุดพ้นจากเครื่องผูกมัดจิตใจให้เราตกเป็นทาสของมัน คนเราโดยปกติทั่วไปนั้น จิตใจถูกผูกมัดอยู่ด้วยสิ่งต่างๆ คือ สิ่งที่เป็นวัตถุเป็นเครื่องผูกมัดจิตใจบ้าง สิ่งที่เป็นนามผูกมัดจิตใจบ้าง ทำให้จิตใจของเราตกอยู่ในอำนาจของมัน เมื่อจิตใจตกอยู่ในอำนาจของสิ่งเหล่านั้น เราก็ทำ พูด คิดตามอำนาจความติดพันสิ่งนั้น เราก็มีปัญหา มีความคิด มีความเดือดร้อนเกิดขึ้น ในทางหลักการปฏิบัติในทางพุทธศาสนาต้องการแนะแนวทางให้เราเดินไปเพื่อพ้นจากสิ่งเหล่านั้น เรียกว่า วิมุติ คือ หลุดพ้นอย่างเด็ดขาด ไม่ต้องกลับมาทำสิ่งนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีกให้เกิดปัญหา คือ ความทุกข์ความเดือดร้อนต่อไป นี่คือจุดหมายที่เราต้องการ คือ ความหลุดพ้นจากการผูกมัดจิตใจในสิ่งที่ทำให้เราต้องตกเป็นทาส และเรามีความทุกข์ความเดือดร้อนเพราะสิ่งเหล่านั้น เราก็ดิ้นรนต่อสู้ด้วยวิธีการต่างๆ
ไม่ว่าเราจะทำอะไร เช่นเราให้ทาน ก็มีต้องจุดหมายเดียวที่ความหลุดพ้น รักษาศีลก็เพื่อให้เกิดความหลุดพ้น เจริญภาวนาก็เพื่อให้เกิดความหลุดพ้น เรามาฟังธรรมก็เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ แล้วจะได้เอาไปช่วยเป็นหลักปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความหลุดพ้น เราไปสอนธรรมะให้แก่คนอื่นก็มีจุดหมายเพื่อให้เกิดความหลุดพ้น ไม่ได้สอนธรรมะเพราะเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ในลาภวัตถุอันจะเกิดขึ้นจากการแสดงธรรม จิตใจต้องหลุดพ้นจากพันธะเหล่านั้น ให้ธรรมที่บริสุทธิ์แก่ญาติโยม ด้วยน้ำใจที่บริสุทธิ์ คือ ไม่หวังอะไรเป็นเครื่องตอบแทน แม้ว่าเขาจะให้ ก็เรียกว่าเป็นเรื่องพลอยได้จากการกระทำ รับไปเพื่อใช้สิ่งนั้นให้เป็นประโยชน์เป็นคุณแก่พระศาสนาต่อไป ถ้าเราทำอย่างนี้ก็เรียกว่า ทำเพื่อความหลุดพ้น
แต่ในชีวิตประจำวัน เราจะคิดอะไร จะพูดอะไร จะทำอะไร จะต้องมีความมุ่งหมายเป็นหลักประจำใจไว้ว่า เราคิดเพื่อให้เกิดความหลุดพ้น เราพูดเพื่อให้เกิดความหลุดพ้น เราจะทำอะไรก็เพื่อจะให้เกิดความหลุดพ้น ไม่เป็นภัยแก่ตัว เป็นอิสระ เป็นเสรีภาพอย่างแท้จริง นี่แหละคือจุดหมายของการปฏิบัติตนในทางพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น เราจึงต้องหมั่นตรวจสอบตัวเราเอง ว่าเราจะหลุดพ้นไปจากเครื่องผูกมัดจิตใจอะไรบ้าง ให้สังเกตดูตัวเองว่า ใจเราน่ะ มันถูกผูกมัดอยู่ด้วยเรื่องอะไร มีอะไรหมักหมมอยู่ในจิตใจของเรา มีอะไรเป็นเหตุให้เราต้องเกิดความทุกข์เกิดความเดือดร้อนอยู่ในชีวิตประจำวัน เราก็ต้องพยายามที่จะทำตนให้หลุดพ้นจากสิ่งเหล่านั้นทีละน้อยทีละน้อย เหมือนกับตัวเขียดที่หลุดเข้าไปในปากงู มันก็พยายามดิ้นรนเพื่อให้หลุดออกไปจากงู เหมือนนกติดแร้วก็พยายามดิ้นรนให้หลุดออกไปจากแร้วที่มันติดไว้ แต่บางตัวก็หลุดไปได้ บางตัวก็หลุดไปไม่ได้ คนเรานี้ก็เหมือนกัน บางคนก็หลุดพ้นไป แต่บางคนก็ดิ้นไม่หลุด เพราะว่าไม่รู้จักวิธีการดิ้นรน ไม่มีศิลปะในการที่จะปลดปล่อยตนเองให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน ยิ่งดิ้นยิ่งติด ติดมากเข้าเหมือนกับปลาติดเบ็ดราว คือ เบ็ดเขาติดสายเชือกเป็นราว แขวนไว้ในน้ำ ปลาตัวใดว่ายมาติดเบ็ด แม้จะดิ้นรนสักเท่าใดก็ไม่หลุด ปลายิ่งดิ้น เบ็ดมันยิ่งมารวมตัวกันเข้า มัดปลาตัวนั้นให้ติดอยู่ ไม่สามารถจะหลุดไปได้ อย่างนี้เรียกว่า ดิ้นไม่หลุด แต่ถ้าหากว่า คนเรานี่ใช้ปัญญา เพื่อจะดิ้นให้หลุด มันก็หลุดได้เหมือนกัน
การที่จะดิ้นรนให้หลุดพ้นไปจากสิ่งเหล่านั้น เราก็ต้องรู้จักโทษของสิ่งเหล่านั้น รู้จักคุณของสิ่งเหล่านั้น รู้ทั้งสองอย่างว่ามันให้คุณอย่างไร ให้โทษอย่างไร มันอร่อยอย่างไร มันสร้างความคิดอย่างไรให้แก่ตัวเรา เราจะได้นำมาเปรียบเทียบเป็นเครื่องพิจารณาว่า คุณกับโทษนี่อันไหนมากกว่ากัน ความทุกข์ความสุขนี่อันไหนมากกว่ากัน จะได้เปรียบเทียบพิจารณาอย่างรอบคอบด้วยปัญญาแห่งตน เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบเช่นนั้น เราก็จะมองเห็นว่า โทษมันเป็นอย่างไร ประโยชน์มันเป็นอย่างไร ประโยชน์กับโทษเนี่ยเมื่อเอามาขึ้นตาชั่ง ตาเต็งดูแล้ว ก็เห็นว่าโทษมันหนักกว่าประโยชน์ เมื่อมันหนักกว่าประโยชน์อย่างนั้น เราจะเอาไว้ทำไม ขืนเอาไว้ก็เหมือนกับว่าเอาหินมาวางไว้บนหัวของเรา เราก็หนักอยู่จนกระทั่งหัวแตกไปตามๆ กัน เราไม่ควรจะทำอย่างนั้น
ผู้ฉลาดเมื่อเห็นว่าสิ่งใดมันเป็นโทษเป็นทุกข์ ก็ควรจะปลดปล่อยสิ่งนั้นออกไปจากตัวเสีย ไม่คิดในเรื่องนั้น ไม่พูดในเรื่องนั้น ไม่กระทำในเรื่องนั้นต่อไป ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าหลุดพ้นไปเปลาะหนึ่งจากสิ่งนั้น เหมือนนกหลุดออกไปจากแร้ว ปลาหลุดออกไปจากเบ็ดได้ มันก็เป็นอิสระเสรี สามารถจะมีชีวิตอยู่ในน้ำต่อไป เพื่อแหวกว่ายตามกระแสน้ำต่อไป ไม่ต้องติดเบ็ดต่อไป
ในชีวิตคนเราก็เป็นเช่นเดียวกัน ถ้าเรารู้ว่าอะไรเป็นพิษเป็นโทษ เราก็เลิกสิ่งนั้นละสิ่งนั้น ด้วยการพิจารณาให้เห็นว่าโทษมันหนักกว่าประโยชน์ คุณมันน้อย แต่ว่าโทษมันมาก เราก็เลิกละสิ่งนั้นด้วยจิตใจที่ประกอบด้วยปัญญา ความเป็นทาสก็จะหายไป ความเป็นไทก็จะเกิดขึ้นในจิตใจของเรา เพราะเหตุการณ์อย่างนี้ ฉะนั้นเราจึงต้องหมั่นพิจารณา ภาษาธรรมะเขาเรียกว่า โยนิสโส มนัสสิกา
โยนิสโส มนัสสิการ แปลว่า ทำในใจโดยแยบคาย ทำในใจโดยแยบคาย คือ คิดอย่างแยบคาย คิดอย่างรอบคอบในเรื่องที่เรา ...... (18.55) ให้ทุกข์ให้โทษแก่เรา เราคิดไปก็จะต้องเห็นสิ่งเหล่านั้นตามที่มันเป็นจริง ถ้าสิ่งเหล่านั้นมันเป็นโทษจริงๆ เป็นทุกข์จริงๆ แต่ว่าคนเราละไม่ค่อยได้ เพราะไม่ได้พิจารณาและไม่ตั้งใจจะเลิก ยังติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น คนติดสิ่งเสพติดเนี่ย ไม่ว่าจะติดบุหรี่ ติดเหล้า ติดกัญชา ติดเฮโรอีน ไม่ว่าติดอะไร เขาไม่ค่อยจะได้พิจารณาให้เห็นทุกข์ เห็นโทษ ความจริงพิษโทษมันก็อยู่ที่ตัวเขานั่นแหละ ไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ร่างกายของเขา อยู่ที่จิตใจของเขา แต่ว่าเขาไม่มองอย่างนั้น เขาชอบปล่อยใจไปตามอำนาจของความอยาก เมื่อเกิดความอยาก ก็ต้องไปหามาบำบัดความอยากนั้นให้หายไป การบำบัดอย่างนั้นไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อความหลุดพ้น แต่เป็นการกระทำเพื่อให้ติดแน่นเข้าไปทุกวันทุกเวลา แล้วผลที่สุดก็ดิ้นไม่หลุด เพราะไม่เต็มใจจะดิ้น ไม่คบหาคนที่มีความเข้มแข็งทางจิตใจ ไม่รับคำสอนคำเตือนจากผู้ที่มีความเข้มแข็งเหล่านั้น เขาพยายามหลีกหนีไม่เข้าใกล้ผู้ที่จะเตือน
ให้สังเกตว่าเด็กๆ ของเราบางคนที่ประพฤติเสียหาย เขาจะหลบหน้าพ่อแม่ จะไม่สบตากับพ่อแม่ เวลาเจอก็นั่งก้มหน้า ไม่ค่อยมองหน้าคุณแม่คุณพ่อ อาการเช่นนั้นเป็นเครื่องบอกอยู่ในตัวแล้วว่า มีอะไรซ่อนเร้นอยู่ในใจของเขา สิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจของเขานั้นต้องเป็นเรื่องลับ เป็นเรื่องไม่ดี เรื่องไม่มีประโยชน์จึงไม่อยากจะสบตาคุณแม่ ไม่อยากจะพบหน้าคุณพ่อ ไม่อยากจะพบหน้าครูอาจารย์ที่คอยแนะนำพร่ำเตือนสั่งสอนอบรม หากคนเคยบวชเคยเรียนในพระศาสนา แล้วไปประพฤติสิ่งต่ำทราม ไม่อยากจะพบอุปัชฌาย์อาจารย์ เพราะมีความกลัว กลัวว่าจะถูกท่านดุ ท่านว่า ไม่อดทนที่จะรับคำสอน คำเตือน ไม่อดทนที่จะเอาไปปฏิบัติเพื่อแก้ไขตนเอง เขาสมัครใจที่จะอยู่ในโคลนในตมต่อไป ไม่สมัครใจที่จะอาบน้ำขัดถูด้วยสบู่บริสุทธิ์ เพื่อให้ร่างกายสะอาด ปราศจากโทษเหล่านั้น คนอย่างนี้ เขาเรียกว่า ช่วยไม่ได้ ไม่ใช่พวกเวไนยสัตว์
เวไนย นี่หมายความว่า จูงไปได้ เวไนย เป็นพวกจูงไปได้ หรือว่าพวกอาชาไนย ก็หมายความว่าฝึกได้ หัดได้ ม้าอาชาไนย ช้างอาชาไนย โคอาชาไนย คนก็เป็นอาชาไนยเหมือนกัน ถ้าฝึกได้ แต่ถ้าฝึกไม่ได้ มันก็เป็นพวกที่ไม่ยินดีในการรับฝึก ไม่ยินดีในการละ ไม่ยินดีในการเจริญในสิ่งถูกต้อง ก็ไม่มีทางที่จะพ้นไปจากความตกต่ำทางจิตใจ เขาจะตกลงไปเรื่อยๆ ลงไป
เมื่อกี้นี้ก็นั่งรถมา คนที่เขามาฟังธรรมวันอาทิตย์เนี่ย วันอาทิตย์ต้นเดือนเขาก็ไปสถานีโทรทัศน์ แล้วก็ไปฟังที่โน่นด้วย แล้วเขาก็มาวัด อามาก็คอยนั่งกับเขามาด้วย มาในรถก็เล่าให้ฟังว่า คนทำงานของเขาคนหนึ่งชอบดื่มสุรา ดื่มมากเสียด้วย ดื่มจนตาบวมแล้ว หน้าตาบวมๆ แล้ว คนดื่มเหล้านี่ถ้าว่าตาบวม หน้าบวม แก้มบวมเนี่ย แสดงว่าเป็นโรคแล้ว เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ถ้าเป็นถึงขนาดอย่างนั้นแล้ว มีหวัง มีหวังว่าพระยายมจะเชิญตัวไป ให้ไปอยู่ในเมืองนรกต่อไป มันเป็นอย่างนั้น (23.32) ...... บางทีก็มาทำงานสาย งานที่สั่งไว้ก็ไม่ได้ทำ เพราะว่าไปเมากับเพื่อน แล้วมาบอกว่า แหม.. เพิ่งเลิกจากการดื่มมาเมื่อใกล้สว่างนี้เอง แล้วก็มาทำงานเลย แสดงว่าดื่มกันตลอดคืน ไปนั่งดื่ม นั่งสนุกกับเพื่อนจนตลอดคืน แล้วก็มาทำงาน จะทำงานได้อย่างไร เอาสมองที่ไหนมาทำงาน เอาจิตใจที่ไหนมาทำงาน ถ้าอยู่ในสภาพอย่างนั้น แต่เขาบอกว่ามันก็แปลกเหมือนกัน พอถึงฤดูเข้าพรรษา เขาหยุดได้ ไม่ดื่มเลยตลอด 3 เดือน แต่ว่าพอวันออกพรรษา นัดเพื่อนไปเลี้ยงกันเป็นการใหญ่ กลับไปสู่ภาวะเดิมต่อไป อย่างนี้เขาเรียกว่า ดัดไม่ซื่อ ไอ้ของดัดไม่ซื่อนี่มันก็คือ ขออภัยนะ หางสุนัข นั่นเอง
หางสุนัขนี่ใครจะดัดให้ซื่อเท่าใด มันดัดไม่ได้ ดึงออกไป มันพลิ้วกลับมา ดึงออกไป เดี๋ยวมันก็เข้ามา ก็เรียกว่า ดัดไม่ซื่อ จิตใจคนเราบางทีมันก็มีสภาพอย่างนั้น เป็นข้อเปรียบเทียบที่เห็นชัด เห็นง่าย ว่าดัดไม่ซื่อ ในฤดูกาลเข้าพรรษา ก็ดึงออกมาไว้หน่อย ด้วยความตั้งใจว่าจะไม่ดื่ม แต่พอออกพรรษาดื่มต่อ ดื่มหนักเสียด้วย แล้วก็ดื่มไป 9 เดือน พอถึงเข้าพรรษาก็หยุดกันต่อไป อันนี้ร่างกายก็ทรุดโทรมอ่อนเพลียลงไปทุกวัน ทุกเวลา คิดว่าจะต้องให้ออกจากงานไหม เพราะงานมันเสีย เอาไว้ไม่ไหว อย่างนี้คนเขาไม่คิดถึงตัวเองว่า เกิดมาเพื่ออะไร มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ เขานึกไม่ออก คิดไม่ได้ มีแต่ว่าปล่อยใจไปตามความอยากที่ตนเคยอยาก คนประเภทนี้เป็นคนใจอ่อน ใจง่าย ไม่มีความเข้มแข็ง และไม่มีโอกาสจะเข้มแข็ง เพราะเขาไม่เข้าหาผู้รู้ ไม่ฟังคำสอน ไม่เอาไปคิด ไม่เอาไปปฏิบัติ การที่จะรื้อฟื้นสุขภาพทางจิต ทางร่ายกายให้คงคืนเป็นปกตินั้นยากเต็มที เว้นไว้แต่ว่าเมื่อใดเขาได้เห็นพิษเห็นโทษของการกระทำเช่นนั้นแล้วก็สำนึกรู้สึกตัวขึ้นมา แล้วก็วิ่งมาหาพระ หาผู้รู้ แล้วบอกว่าให้ช่วยผมทีเถอะ ผมจะเลิกแล้ว อย่างนี้มีทางพอเป็นไปได้ พอจะเลิกได้ แต่ถ้าหากว่า ไม่ได้คิดอย่างนั้นแล้ว มันก็เลิกไม่ได้ ต่อไปก็ทำชั่วต่อไป จิตใจตกต่ำไม่เป็นผู้เป็นคน อันนี้คือความอ่อนแอในทางจิตใจ และไม่ได้พบผู้ที่เข้มแข็งกว่า มีอำนาจจิตสูงกว่า เพื่อให้เลิกให้ละ เขาก็ละเลิกไม่ได้ อยู่ในครอบครัว แม่บ้านก็เป็นทุกข์ ลูกทุกคนก็พลอยเป็นทุกข์อีก ผู้นั้นถ้าเป็นพ่อบ้านก็เรียกว่า ทำหน้าที่พ่อบ้านไม่สมบูรณ์ ไม่เรียบร้อย เพราะว่าไม่ได้เสียสละเพื่อครอบครัว แต่ว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ในทางต่ำ ๆ แสวงหาความสุขที่ไม่เจริญไม่ก้าวหน้าแก่ชีวิต เขาจะไปรอดไม่ได้ อันนี้คือความเสื่อมเสียหายในชีวิตของคน บางคนก็เป็นตั้งแต่เป็นเด็กรุ่น แล้วก็เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นผู้ใหญ่ ก็ยังเลิกยังละไม่ได้ แก่ชราแล้วก็ยังเลิกไม่ได้
คราวหนึ่งได้พบคนแก่เป็นข้าราชการบำนาญ ถามว่าอายุเท่าไร คนที่ไปด้วยก็บอกว่าอายุ ๗๕ แล้ว แต่ว่านั่งไปในรถน่ะ เมาสะเงาะสะเงะตลอดทางเลย ไปทำบุญ ไปในงานศพญาติ แต่ไปด้วยความเมา เอาผีไปด้วย ไปเผาผีแล้วก็พาผีไปด้วย เออ! พาไปเผามันก็ค่อยยังชั่ว แต่นี่ไม่ได้พาไปเผาอะไร ไปเพิ่มเข้าไปอีก ขากลับนั่งรถมาด้วยกัน หนักกว่าตอนเช้า บ่ายนี่หนักกว่าตอนเช้าเข้าไปอีก ก็นึกปลงอนิจจังอยู่ในใจว่า อนิจจัง อนิจจา เกิดมาอย่างนี้จนหัวหงอกฟันหลุดแล้ว มีลูกมีหลาน ...... (28.30) ด้วยซ้ำไป แต่ยังไม่ได้ลืมหูลืมตา ไม่ได้มองเห็นพระ เห็นธรรมะ ไม่ได้นึกว่าชีวิตมันจะแก่จะเฒ่าลงไป ทำไมมันเป็นอย่างนั้น
ถ้าศึกษาดูมูลฐานของชีวิตให้ดีแล้ว ก็จะพบว่าคนประเภทนี้เป็นคนประเภทที่ไม่มีความเชื่อในศาสนา ไม่มีความเชื่อในศาสนา และไม่มีความเชื่อในศาสนาความคิดที่จะทำอะไรดีๆ (29.00) ถูกๆ นั้น มันก็หายไป มันไม่เกิดขึ้นในจิตใจ ความคิดจะละก็ไม่มี ความคิดที่จะเจริญก็ไม่มี เพราะไม่เชื่อศาสนา ไม่ได้อยู่กับพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเป็นสรณะทางจิตใจ จิตใจก็ห่างออกไปเรื่อยๆ เพราะว่า ทิฐิมันวิปลาส ความคิดก็วิปลาสด้วยประการต่างๆ จึงมีความตกต่ำไปอย่างนั้น อันนี้เป็นเรื่องเสียหายไม่ใช่น้อย แล้วก็จะถ่ายทอดนิสัยเหล่านี้ไปถึงบุตรธิดาซึ่งเกิดมาเห็นภาพอย่างนั้น แล้วภาพนั้นก็จะฝังอยู่ในจิตส่วนลึกของเขา เมื่อเขาเติบโตขึ้น ไอ้ส่วนนั้นมันก็ออกมาอีก แล้วใครๆ ก็พูดว่า เฮ้อ.. มันเหมือนพ่อมันเชียว เอ้อ.. มันเหมือนแม่มันเชียว เรียกว่า พ่อแม่ทำชั่ว ลูกก็ทำชั่วเหมือนพ่อแม่ ถ้าเขาชมว่าเหมือนพ่อเหมือนแม่ในรูปนี้ มันไม่ได้เรื่องอะไร เป็นคำชมที่ไม่เกิดประโยชน์อะไร แต่จะทำให้ชีวิตเขาตกต่ำเรื่อยไป มีตัวอย่างอย่างนี้อยู่ถมไปในบ้านเมืองในสังคมโลกเราในปัจจุบัน ในอดีตมันก็มีอย่างนี้ คือตัวอย่าง อันนี้เป็นเรื่องที่น่าคิด เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว เราก็ควรจะได้คิดว่า เอ... เรานี่ควรจะทำอย่างไรกับส่วนเหลือของชีวิตของเรา ขณะนี้เราจะมีอายุเท่าไรก็ตาม บางคนก็อยู่ใน เรียกว่า ปฐมวัย อายุประมาณ 20 ไม่ถึง 30 30 ไปก็เรียกว่า มัชณิมวัย 60 ไปก็เรียกว่า ปัจฉิมวัย วัยสุดท้าย
คำว่าวัยนี่ก็แปลว่า เสื่อม ปฐมวัย ก็คือ เสื่อมในตอนต้น มัชฌิมวัย ก็คือ เสื่อมในท่ามกลาง ปัจฉิมวัย ก็คือ เสื่อมในที่สุด เป็นความเสื่อม วัยยะ วัยยะ เนี่ยเป็นภาษาบาลี แปลว่า ความเสื่อม เราอยู่ในความเสื่อมขนาดไหน อยู่ในความเสื่อมชั้นต้น อยู่ในความเสื่อมชั้นกลาง อยู่ในความเสื่อมชั้นสูง เมื่อเรารู้ว่าเรามีชีวิตมา ผ่านความเสื่อมมาโดยลำดับ จากปฐมวัยมาอยู่ในขั้นมัชฌิมวัย คนอยู่ในขั้นมัชฌิมวัยเนี่ยเป็นวัยของการปฏิบัติหน้าที่ สร้างเนื้อสร้างตัว ทำชีวิตให้เป็นคุณเป็นค่าแก่ตน แก่ครอบครัว ตลอดจนถึงประเทศชาติ อันนี้เรียกว่าเป็นหน้าที่โดยตรงที่เราจะต้องประพฤติปฏิบัติในวัยนั้น ถ้าเราไม่ได้ประพฤติปฏิบัติในวัยนั้น ก็เรียกว่าเราพลาดไปจากจุดหมายที่ธรรมชาติให้ไว้กับเรา ธรรมชาติสร้างชีวิตให้แก่เรา ก็เพื่อให้เราทำหน้าที่ในปฐมวัยแบบหนึ่ง ในมัชฌิมวัยก็แบบหนึ่ง แล้วในปัจฉิมวัยก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ถ้าดำรงชีวิตให้ถูกต้องตามหน้าที่ของวัย เช่น ปฐมวัยก็อยู่ในวัยการศึกษาเล่าเรียน ตั้งใจศึกษา ตั้งใจเรียนให้มีความรู้ ให้มีความสามารถ ให้มีหลักการปฏิบัติที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น สร้างฐานชีวิตให้มั่นคงด้วย ๓ สิ่งนี้ คือ ความรู้ ความสามารถ และความประพฤติดี เราก็ผ่านวัยนี้ไปอย่างสวยสดงดงาม
พอมาถึงวัยกลางคนก็เริ่มต่อสู้กับชีวิต ก็ต้องทำงานทำการตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายไว้ในชีวิตของเรา เราทุกคนมีหน้าที่ทั้งนั้น อย่าพูดว่าเป็นคนไม่มีหน้าที่ ต้องนึกในใจว่าฉันมีหน้าที่จะต้องกระทำ หน้าที่ก็คือธรรมะ ธรรมะก็คือหน้าที่ เพราะฉะนั้นผู้กระทำหน้าที่ ก็คือ ผู้ปฏิบัติธรรม ผู้ละเลยหน้าที่ก็คือผู้ไม่ปฏิบัติธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมก็เรียกว่า เดินอยู่ในทางถูก ผู้ไม่ปฏิบัติธรรมก็เรียกว่าเดินอยู่ในทางผิด อนาคตของชีวิตจะเป็นอย่างไร ไม่ต้องบอก เราทั้งหลายก็รู้ว่ามันอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเราเดินผิดอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเราเดินถูกอะไรจะเกิดขึ้นแก่ชีวิตของเรา เป็นสิ่งที่เราพอจะมองเห็นได้ด้วยตัวของเราเอง ไม่ต้องให้ใครบอก ไม่ต้องให้ใครเล่า มันเป็นเรื่องรู้ได้เฉพาะตนอยู่ในตนแล้ว
เมื่อเรารู้ว่าหน้าที่เราจะต้องกระทำก็ต้องทำหน้าที่นั้น หน้าที่ของคน เขาเรียกว่ามันเป็นสากล เริ่มต้นก็หน้าที่แห่งความเป็นมนุษย์ นี่เรียกว่าเป็นอันแรก เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องทำเป็นอันแรก คือ หน้าที่ของความเป็นมนุษย์ มนุษย์นั้นมีหน้าที่จะต้องทำอะไร หน้าที่ของมนุษย์ คือ ต้องยกระดับจิตใจของเราให้สูงพ้นจากกิเลสประเภทต่างๆ อย่างต่ำ อย่างกลาง อย่างสูง ค่อยยกขึ้นไป ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ เหมือนกับเราเอาลิฟท์เข้าไปยกรถ ค่อยๆ เลื่อนๆ เลื่อนๆ ขึ้นไป ให้มันได้ขนาดที่เราจะถอดล้อได้ ถ้าเราไม่มีเครื่องยก ให้ไปยกเอาเอง มันก็ไม่ได้ จิตใจคนเรานี่ก็ต้องใช้เครื่องมายก เครื่องมายกก็คือศีลธรรมในศาสนา
ผู้ที่จะยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นนั้น เริ่มต้นก็ต้องมีศรัทธา คือ มีความเชื่อ มั่นคงในศาสนาที่เรานับถือ เรานับถือพระพุทธศาสนา เราก็ต้องมีความเชื่อมั่นคงในองค์พระพุทธเจ้า ในองค์ธรรม ในองค์พระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า เราต้องมีความเชื่ออย่างมั่นคงในสิ่งทั้ง ๓ ประการนี้ ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน ถ้าเชื่อไม่มั่นคง เรียกว่า ขาดกำลัง ขาดฐาน เหมือนอาคารที่ฐานไม่ดี เมื่อฐานไม่ดี อาคารมันก็แตกร้าวชำรุดเสียหาย ผลที่สุดก็อยู่กันไม่ได้ อยู่ไม่ได้ก็เพราะว่ามันจะพังลงมาทับเราตาย ฐานมันไม่ดี
ในชีวิตมันก็เหมือนกัน ความเชื่อมั่นคงในพระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์นั้น มันเป็นฐานแรก เป็นหินก้อนแรกที่เราวางลงไป เพื่อเป็นฐานรองรับชีวิตของเรา แล้วก็เราเอาหินนั้นซ้อนลงไป ทับลงไป ให้แน่นหนามั่นคง ไม่โยกโคลง เรียกว่ามีศรัทธา ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในศาสดา ในธรรมะ ในสาวกของพระองค์ที่เราเคารพสักการะบูชา คนที่มีศรัทธามั่นคงเช่นนั้นย่อมไม่หวั่นไหว ไม่โยกโคลงไปด้วยสิ่งใดๆ สิ่งดีสิ่งงามก็จะเพิ่มพูนมากขึ้นในชีวิตของผู้นั้น แต่ถ้าเราขาดศรัทธาความเชื่อต่อสิ่งทั้ง 3 ประการนี้เสียแล้ว อื่นๆ จะเกิดขึ้นมาก็ย่อมยาก เพราะว่ารากฐานไม่มั่นคง อันอื่นจะเกิดขึ้นมาก็ไม่ได้ ได้ก็ไม่ดี ไม่ถูกไม่ชอบ ไม่ควร อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก
อยากขอย้ำให้ญาติโยมทั้งหลายได้เข้าใจไว้ว่า เราจะต้องมีศรัทธามั่นคงในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มีความเชื่อเพียง ๓ อย่างนี้เท่านั้น ไม่กวัดแกว่ง ไม่ไปเชื่อสิ่งอื่น นับถือสิ่งอื่น เพราะถ้าเราไปเชื่อสิ่งอื่น ไปนับถือสิ่งอื่น ก็แสดงว่าเราไม่มั่นคงในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เราไม่ไว้ใจในสิ่งทั้ง ๓ ประการนี้ แล้วไปเอาสิ่งอื่นมาช่วยเราอีก ช่วยเราอีก อย่างนี้ก็เรียกว่า ไม่มั่นคง แล้วความเชื่อที่ไปเอาของอื่นมาช่วยนั้น มันก็ไม่ใช่ของดีเด่อะไร เป็นความงมงาย หลงเข้าใจผิดในเรื่องอะไรต่างๆ ทำให้จิตใจของผู้นั้นโยกคลอน ไม่มั่นคงในสิ่งที่ถูกต้อง แล้วก็ไขว่เขว้ไปด้วยประการต่างๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญประการต้น เรียกว่าศรัทธาไว้ในเรื่องนี้
นอกจากมีความศรัทธามั่นในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ แล้ว เราจะต้องมีศรัทธาให้มั่นอีกอัน คือ ให้มั่นว่าชีวิตขึ้นอยู่กับการกระทำ ชีวิตขึ้นอยู่กับการกระทำ การกระทำนั้น ภาษาธรรมะ เรียกว่า กรรม กรรม คือการกระทำที่มีเจตนา มีความตั้งใจ เราทำอะไรด้วยความตั้งใจ เรียกว่า เป็นกรรม เมื่อเป็นกรรม ก็ต้องมีวิบาก คือ ผลแห่งกรรมนั้นเกิดขึ้น ผลกรรมนั้นมันเกิดขึ้นแก่คนผู้กระทำ ไม่ได้เกิดขึ้นแก่คนอื่น แต่ว่าเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้กระทำนั้นก่อน แล้วมันก็ส่งผลกระเทือนไปถึงบุคคลอื่นด้วย เช่น พ่อบ้านกระทำกรรมไม่ดี ผลกรรมไม่ดีนั้นเกิดขึ้นแก่พ่อบ้านก่อน แล้วก็ส่งผลไปถึงแม่บ้าน ส่งผลไปถึงบุตรหญิงชายซึ่งอยู่ภายในบ้าน ส่งผลไปถึงคนใช้ ส่งผลไปถึงคนบ้านใกล้เรือนเคียง ให้ได้รับความกระทบกระเทือนต่อกันต่อไป แต่เริ่มต้นมันเกิดขึ้นแก่ตัวบุคคลนั้นก่อน แล้วก็ส่งผลสะท้อนออกไป เป็นวงออกไป เท่าที่แรงกรรมนั้นจะส่งไปได้ กระเทือนไปอย่างนี้ เช่นกรรมที่ทหารรัสเซียยิงเรือบินเกาหลีตกเนี่ย มันกระเทือนไปทั้งโลก ชาวโลกทั้งหลายได้รับกระทบกระเทือนจากกิจกรรมส่วนนี้ แล้วก็มีความเศร้าสลดใจ มีความเสียใจในเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มันกระทบกระเทือนไปอย่างนี้
ผลกรรมนี้มันกว้างออกไปสุดแล้วแต่แรงกรรมที่ตนกระทำ ชีวิตของคนเรานี้ขึ้นอยู่กับการสร้างสมกรรมของเราเอง เราสะสมในส่วนใด เราก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเราสะสมในส่วนชั่ว เราก็เป็นคนชั่ว ถ้าเราสะสมในส่วนดีงาม เราก็เป็นคนดีคนงาม ความเจริญก้าวหน้าก็เกิดขึ้นแก่ตัวของเรา ให้เชื่อมั่นในหลักนี้ไว้ อย่าไปเชื่อดาวเชื่อดวง เชื่อโชคชะตาราศี อย่าไปเชื่อว่าสิ่งนั้นจะดลบันดาลให้ตนเป็นอย่างนั้น ให้ตนเป็นอย่างนี้ แล้วก็ไปเที่ยวกราบไหว้วิงวอนขอร้องบนบานศาลกล่าว ซึ่งไม่ใช่วิสัยของพุทธบริษัทที่จะพึงกระทำเช่นนั้น พุทธบริษัทต้องเป็นผู้รู้ถูกต้อง ต้องเป็นผู้ตื่นตัว ต้องเป็นผู้เบิกบานแจ่มใส อยู่ในคุณของพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม พระสงฆ์ ไม่ไปเที่ยวหาสิ่งอื่นมารองรับความเชื่อของเรา ไม่ไปไหว้สิ่งอื่น ไม่ไปขอสิ่งอื่น แต่เราจะพึ่งองค์พระพุทธเจ้า องค์ธรรม องค์สงฆ์ ๓ องค์นี้เท่านั้น แล้วการกระทำก็จะมั่นคงขึ้น จะทำอะไรก็ต้องคิดให้รอบคอบ จะพูดอะไรก็ต้องให้รอบคอบ จะทำอะไรก็ต้องให้รอบคอบ จะไปไหนจะเกี่ยวข้องกับใครก็ต้องให้รอบคอบในเรื่องนั้นๆ อย่าเป็นคนรับง่ายเกินไป อย่าเชื่อง่ายเกินไป อย่าทำอะไรแบบง่ายๆ แต่ต้องยับยั้งชั่งใจ ก่อนจะทำอะไรก็คิดเสียก่อนว่ามันถูกหรือผิด มันดีหรือชั่ว มันจะเสื่อมหรือจะเจริญ มันจะให้ความทุกข์หรือจะให้ความสุขแก่เรา ต้องคิดอย่างรอบคอบอย่างนั้น ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณาอย่างรอบคอบ เราก็จะไม่ตกหลุมพรางของสิ่งยั่วยุในประการต่างๆ ที่มีอยู่มากมายในโลกนี้ มันยุคนให้หลงไหลมัวเมาประมาท ลืมเนื้อลืมตัว แล้วก็กระทำอะไรลงไปด้วยความเข้าใจผิดอย่างนั้น มีบ่อยๆ ดังนั้นจึงต้องคิดต้องตรอง
ไอ้ความคิดนี่มันจะเกิดขึ้นจากหลักการที่ว่า เราเชื่อมั่นว่า ดีชั่ว สุขทุกข์ เสื่อมเจริญ เกิดจากการกระทำของเราเอง ไม่ได้เกิดขึ้นจากอำนาจอะไรๆ ทั้งหมด ให้เราเชื่อตามแบบชาวพุทธว่า ไม่มีอำนาจอะไรยิ่งใหญ่กว่าอำนาจของกรรม คือ การกระทำของเราเอง อะไรๆ มันจะเกิดก็เพราะตัวเรานั่นแหละ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ...... (43.20 เสียงไม่ชัดเจน) ความบริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ์เป็นเรื่องเฉพาะตน ผู้อื่นจะทำให้ใครบริสุทธิ์หรือเศร้าหมองไม่ได้ เขาใส่ความนี่มันทำให้เราดีก็ไม่ได้ เศร้าหมองก็ไม่ได้ ชั่วก็ไม่ได้ มันเป็นไปตามปัจจัยที่เขาว่าไปเท่านั้นเอง แต่เนื้อแท้เราไม่ได้เป็นตามนั้น แต่เราอาจจะถูกจับไปก็ได้ แต่ว่าจิตใจเรามันไม่ได้เศร้าหมอง ไม่ได้เสียหายเพราะสิ่งนั้น ถ้าเราเข้าใจถูกต้อง แต่ถ้าไม่เข้าใจถูกต้องก็ไปนั่งกลุ้มใจอยู่เหมือนกัน นั่นก็คือความผิดพลาดของเรา คิดผิดน่ะ พอเราคิดผิดมันก็เป็นทุกข์ คิดถูกมันก็เป็นสุขน่ะ คิดให้เจริญ เราก็เจริญ คิดให้ก้าวหน้า เราก็ต้องก้าวหน้า คิดอะไรมันก็เป็นไปอย่างนั้น มันเป็นไปตามอำนาจแห่งการคิด การพูด การกระทำ ซึ่งเรียกว่าเป็นกรรมของเรา
เรามักจะพูดว่า เออ ... กรรมแท้ๆ อันนี้พูดถูกต้อง เวลามีอะไรขึ้นก็พูดว่า เออ... กรรมแท้ๆ พูดถูกว่ากรรมแท้ๆ แต่ว่าไม่ได้เอาไปคิดให้ละเอียดว่ามันกรรมของใคร เกิดจากอะไร เวลาเกิดขึ้นแล้ว ไม่ยอมรับว่าตัวทำ กลับไปโทษว่าอันนั้น อันนี้ ทำให้เราเป็นอย่างนั้น ให้เราเป็นอย่างนี้ อย่างนี้มันก็เสียหาย
เคยพบคนบางคน บอกว่าทำไมคุณจึงทำอย่างนี้ ดวงชะตาผมมันเป็นอย่างนี้ หาว่าเกิดมาเป็นอย่างนี้ อันนี้คือความเข้าใจผิด ไม่ใช่ดวงชะตาบงการให้เป็นอย่างนั้น แต่เนื่องจากการคบหาสมาคม สิ่งแวดล้อม การได้รับอบรมบ่มนิสัยในรูปอย่างใด มันก็เป็นไปในรูปอย่างนั้น เด็กเกิดมาใหม่ก็ยังเรียบร้อยบริสุทธิ์สะอาด แต่เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างใด อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทราม มันก็ทรามไป อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เด็กนั้นก็ดีไป มันเป็นไปตามสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการกระทำด้วยอำนาจสิ่งยั่วยุต่างๆ เหล่านั้น พ่อแม่ครูบาอาจารย์คนข้างเคียงก็เรียกว่าเป็นสิ่งแวดล้อมของเด็กคนนั้น สิ่งแวดล้อมนั้นเป็นไปในทางเสื่อม ก็เสื่อม เป็นไปในทางเจริญ ก็เกิดความเจริญ มันเป็นไปตามกฎแห่งการกระทำทั้งนั้น ไม่ได้เป็นไปในรูปอย่างอื่น ถ้าเราเชื่อมั่นอยู่ในหลักอันนี้ เราก็จะเกิดการละอายบาป เกิดความกลัวบาป
ความละอายบาป ความกลัวบาปนี้พระพุทธเจ้า เรียกว่า ๔๖.๒๑ (คำภาษาบาลี) โลกปารธรรม แปลว่า ธรรมรักษาโลก ธรรมคุ้มครองโลก โลกในที่นี้ก็คือ คน นั่นแหละ ไม่ใช่โลกกลมๆ ป้อมๆ ไม่ใช่ แต่หมายถึง คนแต่ละคน นี่เป็นโลกหนึ่งลูกหนึ่ง ถ้าว่ามีธรรมะ 2 ประการนี้เป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจ ก็เรียกว่ามีโลกปารธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองรักษา
ก่อนยุคพระพุทธเจ้าเกิดนั้น ชาวอินเดียก็เชื่อในเทพเจ้าหลายองค์ ต่างต่างนานา ทำหน้าที่กันตามเรื่อง แล้วก็มีท้าวโลกบาล ๔ ตน รักษาโลก ท้าววิรุฬหก วิรุณปักษ์ ท้าวกุเลน ท้าวอะไรเนี่ย ๔ ท่าน รักษาโลกในทิศทั้ง ๔ ให้อยู่เย็นเป็นสุข คนก็ไปไหว้เทพเจ้าเหล่านั้นให้ช่วยคุ้มครองรักษา พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมะในโลกแล้ว พระองค์ก็บอกว่า มันไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่เทพเจ้า ๔ องค์รักษาคุ้มครองเรา แต่ว่าเราจะต้องคุ้มครองตัวเราเอง
การคุ้มครองตัวเราเองก็ต้องประพฤติธรรม สร้างธรรมะเป็นรั้วเป็นเกราะป้องกันตน ไม่ให้เกิดภัยอันตรายขึ้นแก่ตน แล้วก็ธรรมะที่จะคุ้มครองตนนั้นไม่มากไม่มายอะไร มีเพียง ๒ เรื่องเท่านั้น ถ้าเรามีไว้คุ้มครองแล้ว เราก็จะปลอดภัย แล้วพระองค์ก็บอกว่า ธรรม ๒ ประการนั้นคืออะไร คือ ๑. หิริ คือ ความละอายแก่ใจ ๒. โอตัปปะ ความกลัวต่อผลที่จะเกิดขึ้นแก่ตน เพราะ การกระทำนั้น เรียกว่า หิริโอตัปปะ ความละอายกับความกลัว นี่เป็นสิ่งคุ้มครองรักษาชีวิต ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศชื่อเสียง ให้ปลอดภัยด้วยประการต่างๆ เราจะต้องหันมาพึ่งธรรมะนี้ เรียกว่า พึ่งพระธรรม ก็คือ ธรรมะ 2 ข้อนี้เอามาพึ่ง หัดเป็นคนให้ละอายต่อการกระทำชั่ว ให้เป็นคนละอายต่อการกระทำความชั่ว เรียกว่า หิริ
หิรินั้น มันหมายถึงความละอาย ที่ไม่กล้ากระทำความชั่ว ทั้งในที่ลับ ทั้งในที่แจ้ง คนบางคนที่แจ้งไม่กล้าทำ แต่ว่าที่ลับทำ ถ้าทำในที่ลับ ก็เรียกว่า ไม่มีหิริ ที่แจ้งไม่กล้าทำ ก็ไม่เรียกว่ามีหิริ เขาเรียกว่าเป็นคนกระดาก กระดากอาย ไม่กล้ากระทำต่อหน้าคน แต่พอลับหลังคนแล้วทำสบายใจเถิบไปเลยทีเดียว อย่างนี้ไม่เรียกว่าหิริ คนมีหิรินั้น ต่อหน้าก็ทำไม่ได้ ลับหลังคนก็ทำไม่ได้ เพราะมีหลักประจำใจว่า ที่ลับไม่มีในโลก ที่ลับไม่มีในโลก ที่ลับไม่มีในโลกให้รู้ไว้อย่างนี้
เราจะทำอะไร อย่านึกว่าไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น เพราะเราเองรู้เห็นเป็นคนแรกอยู่แล้วล่ะ แล้วการที่จะเกิดความทุกข์หรือเกิดความสุขน่ะ ไม่เกี่ยวกับการรู้เห็นของคนอื่น แต่มันเกี่ยวกับการกระทำของเราเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นเมื่อมาคิดได้อย่างนี้ ก็เกิดความละอายในการที่จะทำอะไรลงไป ละอายที่จะไปทำชั่ว
คนไทยเราสมัยก่อนยังละอายกัน ละอายที่จะไปเล่นการพนัน ละอายที่จะไปดื่มเหล้า ละอายที่จะไปประพฤติสิ่งเหลวไหล ละอาย แต่เดี๋ยวนี้ ขออภัยเถิด เรียกว่า หน้ามันชา ไม่ค่อยละอายกันเท่าไรแล้ว สมัยก่อนคนดื่มเหล้าเนี่ย ต้องแอบดื่มนะ แอบดื่ม ละอาย กระดาก แอบดื่ม ซื้อปึ๊บ ดื่ม รีบไปเลย กลัวใครจะเห็น ยังละอาย เดี๋ยวนี้นั่งดื่ม สบายใจ ดื่มในร้าน สบายใจเลย ไม่ละอายแล้ว เรียกว่า ไม่มีหิริแล้ว เพราะว่า ดื่มได้ทุกเวลา เช้า สาย บ่าย เย็น ดื่มได้ ในรถไฟก็ดื่มได้ ในรถยนต์ก็ดื่มได้ ต่อหน้าพระสงฆ์องค์เจ้าก็ยังดื่มได้ ดื่มเฉยๆ ชาไปเสียหมดแล้ว เรียกว่า ไม่ละอายแล้ว นี่คือความเสื่อม เสื่อมทางจิตใจของคนเราในยุคปัจจุบันนี้ จนหมดความละอาย พูดตามภาษาชาวบ้านว่า หมดยางอาย ไอ้ยางที่ทำให้เกิดความละอายนั่นมันหายไปจากหน้าตา จากเนื้อ จากหนัง แล้วก็ทำอะไรได้ตามชอบใจ เนี่ย.. เป็นอย่างนี้
สมัยก่อนนั้นเขาละอายไม่กล้าจะทำอะไรในเรื่องที่เป็นความชั่ว ความเสี่ยง คนตกเบ็ดอยู่ พอเห็นพระเดินมา วางคันเบ็ด แล้วทำยืนเฉย อย่างนี้เขาเรียกว่า กระดาก เห็นพระมาก็กระดาก ไม่อยากตกเบ็ด พอพระไปแล้ว ตกต่อไป อย่างนั้นเรียกว่าไม่ละอาย ถ้าละอายก็ไม่ทำเรื่องนั้นต่อไป เพราะว่าละอายแก่ใจตนเอง มีความรู้สึกเกิดขึ้นในใจว่า สิ่งนี้ไม่เหมาะ สิ่งนี้ไม่ควรต่อเรา นึกถึงชาติ นึกถึงสกุล นึกถึงความรู้ นึกถึงศักดิ์ศรีก็ไม่กระทำ เช่นนึกว่า เราเป็นคนเกิดในสกุลที่เขาสมมุติว่าเป็นสกุลสูง เราจะไปทำอย่างนั้น มันไม่สมควรแก่เรา ก็เกิดความละอายใจ เราเป็นคนมีความรู้ เป็นบัณฑิตในวิชาใดวิชาหนึ่งก็ตาม เราละอาย เพราะว่าเราเป็นบัณฑิต ถ้าเราไปทำอย่างนั้น ความเป็นบัณฑิตมันก็หายไป เลยไม่กล้าทำ เราอยู่ในตำแหน่งสูง เช่นเป็นหัวหน้าคน หัวหน้าแผนก หัวหน้ากอง หัวหน้ากรม หัวหน้ากระทรวง นี่มันชั้นหัวหน้าทั้งนั้น ถ้าเป็นหัวหน้าจะไปทำอย่างนั้นไม่ได้ มันจะเป็นตัวอย่างแก่ลูกน้อง จะเสียการปกครอง จะเสียวินัย ที่เขาเรียกว่า Discipline อะไรนั่น มันเสียไป มันไม่เหมาะที่จะทำเช่นนั้น แล้วก็ละอายเลยไม่กระทำ
เมื่อเด็กๆ จำภาพได้ติดตา ผู้ว่าราชการจังหวัดท่านมีงานฉลองบ้าน ฉลองเมือง หรือย้ายเมือง เมื่อก่อนเมืองมันอยู่ที่นึง ย้ายมาตั้งที่นึง ก็มีงานฉลอง มีการเลี้ยง มีอะไรกัน ก็มีกำนันคนหนึ่ง ท่านผู้ว่าก็เรียกมา มาถึงก็ยื่นแก้วให้ แก้วเหล้า ให้กำนันคนนั้น กำนันคนนั้นแกยกมือไหว้ ยกมือไหว้แล้วก็บอกว่า ผมดื่มไม่ได้ครับ ฮึ... ทำไมดื่มไม่ได้ ใครๆ เขาดื่มได้ทั้งนั้นล่ะ ผมถือศีลครับ บอกอย่างนั้นนะ แกถือศีล ดื่มไม่ได้ ท่านผู้ว่าก็ เออ... ดี กำนันเป็นคนมีศีล บ้านเมืองจะได้สงบเรียบร้อย แต่ว่าท่านผู้ว่าก็ดื่มเหมือนกัน แต่ว่าดื่มในสังคม ความจริงท่านก็ไม่ได้เป็นคนขี้เมาอะไรหรอก เรียบร้อย การเป็นอยู่ในบ้านเมืองก็เรียบร้อย ดีงาม อยู่เมืองพัทลุงนานกว่าใครๆ บ้านเมืองสงบเรียบร้อยดี กำนันคนนั้นไม่ดื่ม เพราะเป็นคนมีศีล ละอายว่าเรามันเป็นคนมีศีล ถือศีล รับศีล แล้วจะไปดื่มของเมานั้นย่อมไม่สมควร อย่างนี้เรียกว่าละอายแก่ใจตัวเอง ไม่กล้ากระทำเช่นนั้น หรือว่านึกถึงว่าเราเป็นพุทธบริษัท ถ้าเราจะไปทำสิ่งที่เป็นความชั่ว ไปเล่นการพนัน ไปดื่มเหล้า ไปเที่ยวกลางคืน ไปเดินตามหลังคนชั่ว หากประพฤติตนในทางเสียหายไม่ว่าเรื่องใดละอาย ไม่กระทำสิ่งนั้นได้ ก็เรียกว่าเป็นคนมีหิริประจำจิตใจ หิรินี่จะคุ้มครองคนนั้นไม่ให้ตกต่ำในชีวิต ในการงาน ในการเป็นการอยู่ มันคุ้มครองไว้ได้
นอกจากหิริแล้วก็ยังกลัวต่อไป กลัวต่อผลที่จะเกิดขึ้นแก่ตน เพราะมีความเชื่อมั่นอยู่ในใจว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เราหนีจากผลที่เรากระทำไว้ไม่ได้เป็นอันขาด ใครทำอย่างใดต้องได้รับผลอย่างนั้น เลยกลัว กลัวบาปที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น เพราะว่าทำแล้ว มันไม่ไปไหน มันจะตกบนกบาลของเรา เลยไม่กล้ากระทำ เรียกว่า มีโอตตัปปะ ถ้ามีหิริ มีโอตตัปปะประจำจิตใจเนี่ย ปลอดภัย สิ่งนั้นคุ้มครองรักษาเรา ธรรมะรักษาเรา เพราะเรารักษาธรรมะ เมื่อเรารักษาธรรมะ ธรรมะก็รักษาเรา แต่ถ้าเราไม่รักษาธรรมะ อย่างหวังเลยว่าธรรมะจะมารักษาเรา
เวลานี้เราไม่ค่อยเอาธรรมะมารักษา แต่เราไปเอาอะไรๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประพฤติธรรม เอาอำนาจ เอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์มีเดชโดยความสมมุติว่าให้มาช่วยตนให้พ้นภัย แต่ไม่ช่วยตัวเอง ไม่หัดว่ายน้ำ คอยแต่จะให้คนอื่นช่วยเวลาตกน้ำ แล้วมันตกเวลาไม่มีคนช่วยแล้วจะเป็นอย่างไร มีหวังตายแล้ว (56.45 เสียงไม่ชัดเจน) เพราะเราไม่ได้ช่วยตัวเอง พระพุทธเจ้าสอนให้ช่วยตัวเอง ให้พึ่งตัวเอง และช่วยตัวเองพึ่งตัวเองด้วยการประพฤติธรรม ไม่ให้ไปเที่ยววิงวอนขอร้องบนบานศาลกล่าวไหว้เจ้าไหว้ผี หรือทำอะไรๆ เพื่อให้ช่วยตน อย่างนั้นผิดหลักการทางพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาสอนให้ช่วยตัวเองพึ่งตัวเองด้วยการประพฤติธรรม เมื่อเราประพฤติธรรม ธรรมะจะคุ้มครองเราทันที รักษาเราทันที ให้เราอยู่รอดปลอดภัยจากการตกต่ำทางจิตใจ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ขอฝากให้ญาติโยมทั้งหลายได้นำไปพิจารณา เพื่อจะได้ไม่หลงไหลกับคำเชิญชวนโฆษณาซึ่งมีมาก หน้าแล้งนี่ก็ต้องมีกันอีกแล้ว โฆษณาให้ไปหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นั่น ของวิเศษที่โน่น โอ้ย... ล้วนแต่เป็นเรื่องของคนหาสตางค์จากพวกปัญญาอ่อนทั้งนั้น ไอ้เรามันไม่ใช่คนปัญญาอ่อน อย่าไปเป็นเหยื่อของพวกคนเหล่านั้น จึงจะเรียกว่าเป็นพุทธบริษัทที่ถูกต้อง ดังได้แสดงมาก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
- ปาฐกถาธรรมวันอาทิตย์ที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๖