แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ต่อนี้ไปก็ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ พวกนักเรียนน้อย ๆ ที่มาร่วมในงานวันนี้ ให้หยุดนั่ง ณ ที่ใดที่หนึ่งให้สามารถได้ยินเสียงเครื่องขยายเสียงชัดเจนแจ่มแจ้ง แล้วจงตั้งอกตั้งใจฟังให้ดี เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการมาร่วมบำเพ็ญบุญในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ในวันนี้
วันนี้เป็นวันเพ็ญเดือนแปด เรียกตามภาษาวัดว่า “อาสาฬหบูชา” อาสาฬหเป็นชื่อของดวงดาวดวงหนึ่งเขาเรียกว่า “ดาวฤกษ์อาสาฬห” ดวงจันทร์เดินมาบรรจบผ่านดาวดวงนี้ เป็นวันเพ็ญพอดี จึงเรียกว่า “เพ็ญอาสาฬห”
“เพ็ญอาสาฬห” มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา ก็เป็น
วันที่เกี่ยวเนื่องกับวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้แสดงธรรมเทศนาครั้งแรกที่ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี การเทศน์ครั้งแรกของพระองค์นั้น เป็นการประกาศถึงสิ่งที่พระองค์ได้พยายามศึกษาค้นคว้าเอาชีวิตเข้าแลก เป็นเวลานานถึง ๖ ปี จึงได้ความรู้ความเข้าใจถูกต้อง และได้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน ตลอดไป พระองค์จึงได้นำสิ่งที่พระองค์ได้ค้นพบนี้ มาประกาศให้ชาวโลกได้เกิดความรู้ความเข้าใจต่อไป ได้ประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อวันเพ็ญเดือน ๘ ก่อน พ.ศ. ๔๕ ปี วันนั้นก่อนพ.ศ. คือ พ.ศ.นับตั้งแต่วันนิพพาน ก่อนพ.ศ. ๔๕ ปี ถ้าเราหลับตานึกถึงภาพที่พระองค์ทรงกระทำในวันนั้น ก็จะนึกถึงภาพป่า ป่าบริเวณนั้นก่อน เป็นป่าที่ร่มรื่น มีกวางอยู่มาก พระเจ้าพาราณสีห้ามคนทำร้ายกวางในบริเวณนั้น เพราะฉะนั้นกวางเล็กกวางน้อยอยู่กันเป็นฝูง ๆ ฤาษี ๕ ท่านที่หลีกจากพระองค์ในสมัยบำเพ็ญทุกกาลกริยา คือบำเพ็ญเพียรทรมานร่างกายอย่างแรงกล้า เห็นว่าไม่ได้ผล พระองค์ก็เลิก ท่านเหล่านั้นเป็นผู้มีความยึดมั่นในการบำเพ็ญเพียรแบบนั้น ท่านเห็นพระองค์เลิกจากการบำเพ็ญเพียรแบบนั้น ก็นึกว่าคงจะไม่ได้ผลอะไร จึงได้หนีออกไปเสีย ไปอยู่ที่เมืองพาราณสี เพราะเมืองพาราณสีนั้นเป็นเมืองใจกลางของศาสนาในสมัยนั้น และในสมัยนี้ ใคร ๆ ก็อยากจะไปเมืองพาราณสี เพราะถือว่าการไปเมืองพาราณสีนั้น จะเป็นช่องทางให้ได้ตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ จึงได้ไปอยู่ที่นั่น เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้วก็นึกถึงท่านทั้ง ๕ นั้น ว่าได้อุตส่าห์บำเพ็ญความเพียรทรมานตนสร้างรากฐานทางจิตใจมานาน
พอสมควรแล้ว ควรที่จะได้ไปคุยกับท่านเหล่านั้น เพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่พระองค์พบนั้นคืออะไร พระองค์ก็ตัดสินพระทัยออกเดินทางจากพุทธคยา อันเป็นสถานที่ที่ได้ตรัสรู้ บากหน้าขึ้นไปทางเหนือมุ่งไปสู่พาราณสี เมื่อเสด็จไปถึงเป็นเวลาตอนเช้า ก็เดินผ่านเข้าไปในบริเวณป่า ท่านทั้ง ๕ ได้มองเห็นแต่ไกล ว่าพระองค์เดินมาก็จำได้ เพราะเคยอยู่ร่วมกันมานาน เมื่อได้เห็นก็พูดซุบซิบกันว่า พระสมณโคดมละความเพียรแบบที่ทรมานร่างกาย มาเสวยอาหารอยู่อย่างสำราญ คงจะไม่ได้อะไร มาหาพวกเราอีกแล้ว เราก็ปูอาสนะไว้ก็แล้วกัน เผื่อท่านอยากนั่งก็นั่ง แต่เราจะไม่ปฏิบัติเหมือนที่เคยปฏิบัติมา สัญญากันไว้อย่างนั้น พระองค์ก็เดินเข้าไปด้วยท่าทางสง่าผ่าเผย สงบเรียบร้อย เดินเข้าไป เดินเข้าไป พอใกล้ท่านทั้ง ๕ นั้นลืมคำมั่นสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้กับเพื่อน ว่าจะไม่ลุกขึ้นรับ จะไม่ทำการปฏิสันถาร ต่างคนต่างก็ลุกขึ้นไปรับบาตร รับจีวร ตักน้ำล้างเท้า ไปปัดขี้ฝุ่นที่อาสนะให้เรียบร้อย แล้วก็นิมนต์พระองค์ให้ประทับนั่ง แต่ว่าใช้วาจาอย่างเพื่อน โดยใช้คำว่า “อาวุโส”
คำว่าอาวุโส นี้เป็นคำบาลี คู่กันกับคำว่า ภันเต ภันเตสำหรับเรียกผู้ที่มีฐานะสูงกว่าตน อาวุโสสำหรับเรียกผู้มีฐานะเท่าเทียมกัน ท่านทั้ง ๕ นั้นจึงเรียกพระองค์ว่า อาวุโสโคตม ว่าท่านโคตม ท่านมาหาพวกเราอีก ท่านคงจะไม่ได้อะไรมา พระองค์ก็บอกว่าอย่าใช้ถ้อยคำเช่นนั้นกับเรา เพราะเราได้บรรลุอมฤตธรรมแล้ว ได้บรรลุอมฤตธรรมแล้ว ท่านทั้ง ๕ ก็ไม่เชื่อ ไม่เชื่อในชั้นแรก แล้วโต้ตอบว่าท่านจะรู้ได้อย่างไร สมัยบำเพ็ญเพียรมาด้วยกันยังไม่รู้เลย แล้วก็เลิกความเพียรแบบนั้นท่านจะรู้ได้อย่างไร อันนี้เป็นเครื่องแสดงว่าท่านทั้ง ๕ นั้นเชื่อมั่นในการบำเพ็ญเพียรแบบนั้นมากเกินไป ไม่ถอนความเชื่อมั่น จิตมั่นในเรื่องนั้น เลยไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร พระองค์ก็บอกว่าคิดดูให้ดี เราอยู่กันมานาน เราเคยพูดถ้อยคำเช่นนี้กับท่านบ้างหรือเปล่า เราเคยพูดว่าเราได้บรรลุอมฤตธรรม เราเคยพูดบ้างไหม คิดดูให้ดี พราหมณ์ทั้ง ๕ นั้นก็มองตากัน กระซิบกระซาบกันด้วยสายตา เหมือนจะบอกว่า ท่าจะมีอะไรดีเสียแล้ว เราต้องฟังกันหน่อย ทั้ง ๕ ก็ยอมรับฟัง พระองค์ก็พาท่านเหล่านั้นเดินทางไปอีกหน่อยประมาณ ๑ กิโลเมตร ก็ไปถึงที่ร่มรื่น มีต้นไม้ใหญ่ ๆ พระองค์ก็ประทับนั่งใต้ต้นไม่ใหญ่นั้น ท่านทั้ง ๕ ก็นั่งแวดล้อมพระองค์ด้วยความเคารพ แล้วพระองค์ก็ตรัสเป็นคำบาลีขึ้นต้นในพระสูตรว่า
ทเวเม ภิกขะเว อันตา ปัพพะชิเตนะ นะเสวิตัพพา
ดูก่อนท่านภิกษุทั้งหลาย ทาง ๒ ประการ ที่หย่อนเกินไปและตึงเกินไป บรรพชิต ไม่ควรติด ไม่ควรปฏิบัติ เพราะปฏิบัติแล้วก็ไม่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อนิพพานพ้นจากกิเลส ทาาง ๒ ประการนั้น คือทางหนึ่ง หย่อน เป็นการหาความสุขทางเนื้อทางหนัง หาความสบายทางร่างกายมากเกินไป อีกทางหนึ่งนั้นมันตึงเกินไป เพราะทรมานร่างกายสังขารจนผ่ายผอม เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก จิตใจก็ไม่สงบเพราะร่างกายมันทรมานมากไป เป็นทางที่ตึงเกินไป ก็ไม่สำเร็จอะไรสมความปรารถนา เป็นการประกาศให้ท่านทั้ง ๕ ได้รู้ ว่าทาง ๒ ทางที่เคยปฏิบัติกันมาก่อนในสมัยนั้น พวกฤาษี ชีไพร ในประเทศอินเดีย ในยุคก่อนพระองค์อุบัติบังเกิดขึ้นนั้น ได้ปฏิบัติมาในรูปอย่างนั้น คือหย่อนเกินไป จนกระทั่งว่ามีครอบครัว มีลูก มีเต้า ฤาษีมีครอบครัวก็ไม่เป็นฤาษีต่อไปแล้ว ก็ชอบใจในทางอย่างนั้น ถือว่าความสุขทางกามก็เป็นทางพ้นทุกข์อย่างหนึ่ง ความเข้าใจเป็นไปในรูปอย่างนั้น เพราะติดหลงในเรื่องนั้น
อีกพวกหนึ่งนั้นไม่ทำอย่างนั้น แต่ว่าทรมานร่างกายอย่างแรง เช่น หน้าหนาวลงไปแช่น้ำ หน้าร้อนก็ไปผิงไฟ หรือว่ายืนไม่นั่ง นั่งไม่นอน อะไรต่าง ๆ มีกิริยาปฏิบัติแปลก ๆ หลายเรื่องหลายประการ ทำกันทั่ว ๆ ไป องค์พระพุทธเจ้าของชาวเราทั้งหลาย ก็ได้เคยกระทำเหมือนกัน ก็เห็นเขาทำกันมาก ๆ ก็อยากจะไปทดสอบดู ว่าการกระทำเช่นนั้นจะได้ผลอะไร ก็ได้กระทำในการบำเพ็ญความเพียรอย่างแรงกล้าอย่างเดียว แต่เมื่อทำไป ทำไปแล้ว ก็ทรงเห็นว่าไม่ได้ประโยชน์อะไร ร่างกายเหน็ดเหนื่อย จิตใจก็เหน็ดเหนื่อย ร่างกายผ่ายผอม จิตใจก็อ่อนเพลีย ไม่มีกำลังสมองที่จะคิดจะค้นอะไรได้ เสียเวลาไปเสียเปล่า ๆ แต่ก็ดีเหมือนกันที่ได้ทรงกระทำเช่นนั้น ถ้าไม่ได้ทรงกระทำเสียเลย ต่อไปจะไปพูดติเตียนเรื่องการบำเพ็ญความเพียรแบบนั้น ให้ใครฟัง เขาก็จะตอกกลับเอาได้ว่า ท่านกล่าวติเตียนเช่นนั้น ท่านเคยกระทำในเรื่องนั้นหรือเปล่า ถ้าไม่เคยกระทำก็พูดได้ยาก ทีนี้พระองค์ได้ทรงกระทำด้วยพระองค์เองเสียก่อน เวลาเขาถามก็บอกว่าฉันเคยทำมาแล้ว ทำหนักกว่าคนที่ทำอยู่ในเวลานี้ แต่เห็นว่ามันไม่เป็นประโยชน์อะไร ฉันจึงเลิกเสีย อันนี้เป็นการได้ประโยชน์ เกื้อกูลแก่การสอนธรรมะ ที่พระองค์ได้รู้ได้เข้าใจ การกระทำนั้นจึงเกิดประโยชน์เหมือนกัน
พระองค์ก็ชี้ให้เห็นว่ามันไม่ได้เรื่องอะไร เพราะเราทำกันมานานแล้ว ไม่ได้เรื่อง สิ่งที่ต้องการมันไม่สมหวัง เมื่อสมหวังขึ้นมาได้ก็เปลี่ยนวิถีทางการปฏิบัติ ฉันได้พบทางใหม่เป็นทางที่ดีกว่านั้น ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป เป็นทางสายกลาง ทางนั้นคืออะไร ทางนั้นก็คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาวาจา การพูดชอบ สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะ ความเพียรในทางที่ถูกที่ชอบ สัมมาสติ การระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ รวมเป็น ๘ ประการ ๘ ประการนี้เขาเรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่ทาง ๘ แพร่ง ๘ สาย ไม่ใช่ ๘ ตอน แต่ว่าเป็นทางสายเดียว ประกอบกันเข้าด้วยเครื่องประกอบ ๘ อย่าง คล้ายเชือกเส้นเดียวแต่มี ๓ เกลียว เราก็เรียกว่าเชือกมีองค์ ๓ มี ๕ เกลียวก็เรียกว่าเชือกมีองค์ ๕ มันเส้นเดียวแต่ประกอบด้วยเส้นเล็ก ๆ ๓ เส้นบ้าง ๕ เส้นบ้าง ๑๐๐ เส้นก็มี หรือเหมือนไฟฟ้า ที่เขาเอายางหุ้มไว้ข้างนอกเราดูเป็นเส้นเดียว แต่ถ้าเปิดดูข้างในแล้วมันมากมายเหลือเกิน เส้นเล็กเส้นน้อยมากมาย สายไฟก็เหมือนกัน สายโทรศัพท์ก็เหมือนกัน ที่เราเห็นเส้นเดียวอยู่บนเสา เส้นเท่าข้อมือ แต่ถ้าปอกดูแล้วมันมีเส้นเล็ก ๆ ๆ ๆ เขาห่อไว้ในนั้นมากมายก่ายกอง ทำหน้าที่ต่าง ๆ กัน ฉันใด อริยมรรคนี่ก็เหมือนกัน ไม่ใช่อริยมรรคมีทาง ๘ สาย หรือว่า ๘ ตอน ๘ แท่งอะไรอย่างนั้น แต่หมายความว่าเป็นทางเอก เป็นทางเดียว เป็นทางที่จะพาไปสู่ความพ้นทุกข์พ้นร้อนในชีวิตนี้ เป็นทางที่ประกอบขึ้นด้วยเรื่อง ๘ อย่าง เรียกว่ามันสามัคคีกัน ของ ๘ อย่างมารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นพลังงานแก่จิต ที่จะทำให้จิตหลุดพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน ในชีวิตประจำวัน อันนี้เรียกว่าเป็นทางสายกลาง ไม่ตึง และก็ไม่หย่อน เป็นทางที่พอเหมาะพอดี ที่พระองค์ได้ทรงค้นพบและได้ปฏิบัติด้วยพระองค์เอง ทำให้พระองค์ได้นามว่าเป็น พุทธ หรือได้นามว่า สัมมาสัมพุทธ ผู้ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง
พุทธ ก็แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้มีความเบิกบาน อันนี้เป็นผลของการได้ตรัสรู้ การตรัสรู้ของพระองค์นั้น รู้ได้ด้วยการคิดการค้น ไม่ใช่รู้เพราะมีอะไรมาดลบันดาลให้รู้ ในศาสนาอื่นนั้น เขามักจะอ้างอำนาจเบื้องบน เช่น อ้างพระพรหมบ้าง พระผู้เป็นเจ้าที่อยู่ในสรวงสวรรค์ อะไรต่าง ๆ ว่ามาดลบันดาลให้ได้รู้ ให้เข้าใจ หรือมาสั่งให้ไปสอนอย่างนั้นอย่างนี้ ศาสดาที่สอนอย่างนั้นก็เรียกว่าสอนเพราะความเชื่อของคนมันมีอยู่อย่างนั้นแล้ว มีฐานอยู่ในใจอย่างนั้น แล้วก็เอาฐานนั้นมาเป็นเรื่อง มาตั้งคำสอนเพื่อให้คนเหล่านั้นเชื่อ เพราะคนเชื่ออำนาจเบื้องบนอยู่แล้ว พูดอะไรเขาก็เชื่อ แต่ว่าพระพุทธเจ้าของชาวเราทั้งหลายนั้น ไม่เหมือนกับครู อาจารย์ทั้งหลาย ในสมัยก่อนพระองค์ หรือในสมัยหลังจากพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ไม่เหมือนใคร คือพระองค์บอกว่าที่ได้รู้ได้เข้าใจ ไม่ใช่เพราะอะไรมาบอก ไม่ได้เกี่ยวกับอำนาจเบื้องบน ไม่มีเรื่องดลบันดาลจิตใจอะไร แต่เรารู้ได้เพราะนั่งคิด นั่งค้น นั่งสอบสวน ทดสอบเป็นเวลานาน จึงได้เกิดปัญญาแสงสว่างเกิดขึ้นในใจของเรา ได้รู้ได้เข้าใจสิ่งนี้ แล้วนำมาปฏิบัติได้ผลเพราะคิดด้วยตนเอง แล้วนำมาสอนบอกแก่พวกเธอทั้งหลายต่อไป
การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นการยืนยันความสามารถของมนุษย์ ยืนยันว่ามนุษย์นี้มีสมองที่จะใช้ไห้เกิดประโยชน์ได้ ถ้าใช้ด้วยความเพียร ด้วยความอดทน ด้วยความตั้งใจจริงในเรื่องอะไร ก็จะสำเร็จสิ่งนั้นสมความปรารถนา ถ้าเปรียบเหมือนกับว่านักวิชาการสมัยใหม่ ที่เขาได้ค้นพบอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมา ที่ค้นพบขึ้นมาได้นั้น ก็เพราะว่าอาศัยการทดสอบ ทดลองในห้องทดลอง ที่เรียกว่าห้องแลป คือห้องทดลองวิทยาศาสตร์ ค้นไปค้นมา ทดลองไปทดลองมา ก็ได้อะไรใหม่ขึ้น หรือว่าทดสอบในเรื่องยา ก็ได้ยาสมัยใหม่สำหรับบำบัดโรคอะไร ๆ ต่าง ๆ ถ้าพูดตามหลักวิชาหมอ วิชายาในสมัยนี้ มันก็เกิดยาอะไรใหม่ ๆ แก้โรคใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น โรคร้ายแรงบางอย่างสมัยก่อนรักษาไม่ได้ แต่หมอก็พยายามทดสอบ ผลที่สุดก็ได้พบยาสำหรับแก้โรค เช่น วัณโรค เดี๋ยวนี้ไม่มีใครกลัวกันแล้ว เพราะมียาที่จะแก้ได้ หายได้ แต่ว่ายังกลัวอยู่โรคเดียวคือ มะเร็ง ยังไม่มียาอะไรจะแก้โรคมะเร็ง ที่หายาไม่พบก็เพราะเหตุว่า มะเร็งนี้มันเป็นโรคเฉพาะคน ไม่ติดต่อกับคนอื่น เมื่อตัดเนื้อส่วนนั้นออกจากร่างกาย เชื้อเหล่านั้นมันก็ตายหมด ไม่มีชีวิตให้เราได้ทดสอบต่อไป เป็นโรคที่เอามาเลี้ยงไม่ได้ ไม่เหมือนกับโรคอื่นเขาเลี้ยงไว้ในหลอดแก้ว เอายามาทดสอบได้จึงค้นพบยามารักษา แต่โรคมะเร็งนั้น เมื่อตัดออกมาจากเนื้อคนแล้ว มันก็ตายหมดไม่สามารถจะใช้เป็นเครื่องทดลองยาได้ จึงไม่สามารถจะค้นพบยามารักษา คนก็ยังเป็นโรคอย่างนี้กันอยู่ทั่ว ๆ ไป และเป็นโรคที่น่ากลัวเหลือเกิน ใครเป็นแล้วก็เหมือนจะถูกยื่นคำขาด จะเอากันละทีนี้และจะตายกันไปตาม ๆ กัน อันนี้ก็เกิดจากการทดสอบ
พระพุทธเจ้าของเรานั้น พระองค์ก็เป็นนักวิชาการที่ทำการทดสอบในเรื่องอะไร ต่าง ๆ เพราะพระองค์เป็นผู้ที่ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ ไม่เชื่อตามเขาว่า ไม่ได้เชื่อว่าเพราะสิ่งนี้เขามากันตั้งแต่โบราณ ไม่เชื่อว่าครู อาจารย์เขาสอนกันอย่างนี้ หรือว่าคนส่วนมากเขาเชื่อกันอย่างนี้ พระองค์ไม่ได้เชื่ออย่างนั้น แต่เชื่อในสิ่งที่ได้คิดค้น ทดสอบด้วยพระองค์เอง แล้วจึงเชื่อ เมื่อยังไม่เห็นประจักษ์แก่ใจก็ยังไม่เชื่อ พื้นฐานแห่งความไม่เชื่อง่ายนี่แหละ เป็นเหตุให้พระองค์ศึกษาค้นคว้าอย่างกว้างขวาง และผลที่สุดก็ได้พบความจริง เป็น สัมมาสัมพุทธขึ้นมา นำธรรมอันประเสริฐมาสั่งสอนพวกเราทั้งหลาย เราทั้งหลายที่เป็นพุทธบริษัท ก็ให้เข้าใจไว้อันหนึ่งว่า ในวงการพระพุทธศาสนาของเรานั้น ไม่มีอะไรที่จะดลบันดาลให้ใครเป็นอะไร เราจะเป็นอะไรก็ด้วยการกระทำของเราเอง เราจะยากจนก็เพราะเราทำเรื่องให้ยากจน เราจะมั่งมีก็เพราะเราทำเรื่องเหตุให้เกิดความมั่งมี เราจะมีความรู้ เพราะเราขยันเรียน แสวงหาความรู้ เราโง่เพราะเราไม่สนใจการศึกษาเล่าเรียน ไม่รักการเรียน ไม่ขยัน ไม่เอาใจใส่ ไม่คิดค้น เราก็โง่ดักดาน ไม่มีความรู้อะไร
สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา เป็นเรื่องเกิดจากการกระทำของเราเอง ถ้าเราเชื่อมั่นอย่างนี้ เราไม่ต้องไปหาหมอดู เราไม่ต้องไปรดน้ำมนต์ เราไม่ต้องไปเสดาะเคราะห์ เราไม่ต้องไปหาพวกบ้า ๆ บอ ๆ ทรงเจ้าเข้าผี ต้มมนุษย์โง่ ๆ กันอยู่ในกรุงเทพฯ ในที่ต่าง ๆ เราจะไม่ต้องไปหาสิ่งเหล่านี้ เพราะเราไม่เชื่อสิ่งเหล่านี้ เราเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายมันเกิดในใจของเราเอง เราคิดขึ้น เราสร้างขึ้น ความทุกข์เกิดเพราะเราคิดในเรื่องทุกข์ กลุ้มใจก็เพราะเราคิดในเรื่องให้กลุ้มใจ สบายใจก็เพราะเราคิดในเรื่องที่ให้เราสบายใจ แต่ว่าคนเราบางครั้งมันก็เผลอ ชอบคิดให้กลุ้มอยู่ตลอดเวลา นั่งกลุ้มใจก็เพราะเราไปคิดในเรื่องกลุ้ม เรื่องอื่นเยอะ แยะไม่คิด ไปนั่งคิดกลุ้มใจเล่น ทรมานตัวเองเปล่า ๆ มันเกิดจากความคิด เกิดจากการพูด เกิดจากการกระทำของเราเอง หลักการพุทธศาสนาเป็นอย่างนั้น เรามาเข้าใจกันเสียให้ถูกต้อง จะไม่ต้องไปทำอะไรแบบคนโง่ คนเขลา หรือพวกปัญญาอ่อนเขาทำกันอีกต่อไป เช่นความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ เรื่องหมอดู เรื่องทรงเจ้า เข้าผี เรื่องอะไร ๆ ต่าง ๆ นั้น มันนอกลู่นอกทางทั้งนั้น มันไม่ใช่เรื่องเหตุผลตามหลักพุทธศาสนา เราเป็นพุทธบริษัท เราตัดเรื่องนั้นออกนอกบัญชีของเราเลย เราไม่เกี่ยวข้อง ใครจะมาอวดวิเศษอะไร อย่างไรเราไม่สนใจในเรื่องนั้น เรื่องที่เราควรสนใจให้มากก็คือว่า เรากำลังเป็นอยู่อย่างไร เรานั่งทำอะไร เราคิดอะไร เราพูดอะไร จิตใจของเราเป็นอย่างไร แล้วเราก็มาแก้ไขที่ตัวเรา อย่าไปแก้ไขที่สิ่งอื่น อย่าไปแก้ไขที่ผู้อื่น
การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นหลักพยานให้เราได้รู้ได้เข้าใจว่า มนุษย์นี้มีสมอง มีสติปัญญาสามารถเพียงพอ ที่จะเรียน ที่จะรู้ ที่จะเข้าใจอะไรได้ ด้วยลำพังของมนุษย์ ไม่ต้องเอาอำนาจเทวดา ฟ้าดินมาช่วย เพราะเทวดา ฟ้าดินนั้นไม่รู้อยู่ที่ไหน มันเป็นความฝันแบบเพ้อฝัน เราจะไปวิงวอนขอร้องกับท่านได้อย่างไร ถ้าหากว่าสิ่งต่าง ๆ มีอำนาจ มีฤทธิ์ มีเดช ช่วยดลบันดาลมนุษย์ให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ ประเทศไทยนี้จะต้องเก่งที่หนึ่งในโลกเลย เพราะเมืองไทยเป็นเมืองที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากกว่าประเทศใด ๆ แล้วคนชอบไปไหว้ไปบูชากันมากกว่าที่ไหน ๆ แล้วสภาพคนไทยเป็นอย่างไร มีความก้าวหน้าไหม ในชีวิตในการงาน ในเศรษฐกิจความเป็นอยู่ ไม่ได้ก้าวหน้าอะไรเท่าไหร่ สิ่งศักดิ์เหล่านั้นช่วยไม่ได้ ช่วยให้เราเปลืองสตางค์ ที่ไปซื้่อธูป ซื้อเทียน ซื้อหัวหมู ซื้อของไปเซ่น ไปไหว้แบบคนปัญญาอ่อนเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรเพิ่มขึ้นนอกจากเพิ่มความอ่อนทางปัญญาให้มากขึ้นในจิตใจของเราเท่านั้น
เราผู้เป็นพุทธบริษัทจึงไม่ควรจะได้สนใจในเรื่องอย่างนั้น แต่เราควรจะสนใจว่า ตัวเรานั่นแหละสร้างอนาคตให้แก่ตัวเรา พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ตรง ๆ ว่า สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย ความบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์ เป็นเรื่องเฉพาะตัว คนหนึ่งคนใดจะทำให้เราบริสุทธิ์ก็ไม่ได้ ให้เราเศร้าหมองก็ไม่ได้ ใครจะมาป้ายสีให้เราเศร้าหมอง ก็เราไม่เศร้าหมองเพราะการป้ายสี ใครจะมาทำให้เราดี เราก็ไม่ดีเพราะการกระทำของคนนั้น มันอยู่ที่การกระทำของเราเองเป็นเรื่องใหญ่ พระพุทธศาสนาสอนหลักการกระทำเป็นเรื่องใหญ่ ให้เราเข้าใจไว้อย่างนี้ในวันสำคัญเช่นวันนี้ เพราะพระองค์ได้ค้นพบสิ่งประเสริฐด้วยปรีชาสามารถของมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่ มนุษย์ผู้มีความเสียสละ เห็นแก่ประโยชน์ความสุขส่วนรวม มีความเพียรมั่น มีความอดทน มีความตั้่งใจจริง มีการอธิษฐานใจอย่างมั่นคง ว่าถ้าเราไม่ได้รู้อะไรขึ้นมาในคืนนี้ เลือดเนื้อจะเหือดแห้งไปก็ช่างเถอะ เราจะไม่ลุกขึ้นจากที่นั่งนี้เป็นอันขาด นี่คือความตั้งใจจริง
ในวันที่ตรัสรู้ พระองค์ได้พูดกับพระองค์เองว่า เลือดเนื้อจะเหือดแห้งไปเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ช่างมันเถอะ สิ่งใดที่จะสำเร็จด้วยความเพียร ด้วยการทำจริงของคน ถ้าเราไม่สำเร็จสิ่งนั้น เราจะไม่ลุกขึ้นจากที่นั่งนี้เป็นอันขาด นี่คือการอธิษฐานใจที่ถูกต้อง มีสัมมาทิฏฐิเป็นพื้นฐาน แล้วผลที่สุดเป็นอย่างไร พระองค์ก็ได้ค้นพบความจริง นำความจริงนั้นมาประกาศแก่ชาวโลกทั้งหลาย เพราะฉะนั้นเมื่อเดินทางไปสู่พาราณสี ได้พบคนคนหนึ่งชื่อ อุปกาชีวก พอเห็นพระองค์ หน้าตาผ่องใส อิริยาบทเรียบร้อย ผิดกับนักบวชอื่น ๆ นักบวชในศาสนาพราหมณ์สกปรกเต็มที ออกมารุ่มร่าม รุงรัง ไว้ผมยาว หน้าก็ทาขี้เถ้าเต็มหน้า หน้าทาขี้เถ้า หน้าอกก็ทาขึ้เถ้า บนแขนทาเป็นศอก ๆ ถ้าโผล่ออกมาจากที่ซ่อนเราตกใจวิ่งหนี เลอะเทอะเต็มที แต่นักบวชแบบพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้านั้น เป็นนักบวชที่สะอาดเรียบร้อย โกนผมเรียบร้อย ตัดเล็บเรียบร้อย แต่งตัวด้วยผ้าที่สะอาดเรียบร้อย นุ่งห่มก็เรียบร้อย เดินเหินก็เรียบร้อย ไม่เดินแบบรุ่มร่ามรุงรังอะไรต่าง ๆ นั่นเป็นเรื่องของความสงบใจ หน้าตาก็เปล่งปลั่ง มีเลือดมีฝาด เพราะมีความสะอาตในภายใน คนเราถ้าจิตใจสะอาดหน้าตาผ่องใส จิตใจเศร้าหมอง หน้าตาก็เศร้าหมอง จิตใจเศร้าหมองตาก็เศร้าหมอง เห็นง่ายที่ดวงตา ถ้าจิตใจผ่องใสตาก็ผ่องใส หน้าตาก็ผ่องใสแก่ช้า คนที่จิตใจเศร้าหมองบ่อย ๆ มีเรื่องวิตกกังวลบ่อย ๆ ก็เป็นคนแก่เร็ว อายุสั้น มีโรคมาก เพราะมีแต่ความทุกข์สะสมอยู่ในใจมากมาย เป็นเหตุให้เกิดอาการเช่นนั้น เมื่อคนนั้นเห็นพระผู้มีพระภาค หน้าตาผ่องใส เดินเหินเรียบร้อย นุ่งห่มเรียบร้อย กิริยาภายนอกนี่ก็สำคัญ เขาเห็นแล้วก็เลยสงสัย เดินเข้าไปใกล้ก็ถามว่า ท่านเป็นลูกศิษย์ใคร ท่านชอบใจในธรรมของบุคคลผู้ใด พระองค์ตอบอย่างองอาจผ่าเผย บอกว่าเรานี่เป็น “สยัมภู”
“สยัมภู” แปลว่า ผู้รู้เองในโลก เราจะอ้างใคร ผู้ใดผู้หนึ่งว่าเป็นครู เป็นอาจารย์ไม่ได้เพราะสิ่งที่เราได้รู้ได้เข้าใจ เรารู้ด้วยความคิดของเรา ด้วยความเพียรของเรา ด้วยความตั้งใจมั่นของเราเอง เรากล้าพูดอย่างนั้น ซึ่งในสมัยนั้นไม่มีใครกล้าพูดเช่นนั้นหรอก เพราะมีความเชื่อผูกไว้กับเทพเจ้าบนสวรรค์ ถ้ารู้อะไรก็ โอ้ ... พระผู้เป็นเจ้ามอบให้ พระผู้เป็นเจ้าทั้งนั้น ยกไปให้พระผู้เป็นเจ้า ทุกข์ก็เพราะพระผู้เป็นเจ้าให้ทุกข์ สุขก็พระผู้เป็นเจ้าให้สุข เจ็บไข้ได้ป่วยก็พระผู้เป็นเจ้าให้เจ็บไข้ได้ป่วย พระผู้เป็นเจ้านี่โลเล เหลาะแหละเต็มที ให้สุขบ้าง ให้ทุกข์บ้าง ให้ดีบ้าง ให้ชั่วบ้าง ให้ความมั่งมีบ้าง ให้ความยากจนบ้าง ฝ่ายหนึ่งก็อ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้ายกทัพไปรุกรานประเทศอื่น ประเทศถูกรุกรานก็นั่งอ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้าให้ช่วย แต่ว่าผลที่สุดก็แหลกไปทั้ง ๒ ฝ่าย ฉิบหายกันทั้งคู่ มันเป็นอย่างนี้
นั่นมันไม่ใช่เรื่องเทพเจ้าที่ไหน แต่มันเรื่องคนทั้งนั้น เรื่องความคิดมิจฉาทิฏฐิที่มันเกิดขึ้นในใจคน จึงได้เป็นไปอย่างนั้นในสมัยนั้น อินเดียในสมัยนี้ก็ยังอย่างนั้นยังเชื่อแบบเก่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลง พระพุทธเจ้าของเรานี้่เรียกว่าเป็นผู้ที่ทันสมัย ทันเหตุการณ์ เธอ เปลี่ยนแปลงความคิดความเห็น ความเชื่อที่ไม่เข้าเรื่อง ที่งมงายให้เป็นความเชื่อที่ถูกต้อง และพระองค์กล้าพูดกล้าแสดงออกมาว่าเราเป็น สยัมภู ผู้รู้เองในโลก ในสมัยนั้นไม่มีใครกล้าพูดอย่างนั้นหรอก เขากลัวเทพเจ้าจะหักคอตาย แต่พระองค์ไม่กลัวเพราะพระองค์ไม่ได้เชื่อในสิ่งเหล่านั้น พระองค์ก็พูดว่าเราเป็น สยัมภู ผู้รู้เองในโลก จะอ้างใครว่าเป็นครูเป็นอาจารย์ได้เล่า เพราะสิ่งที่รู้นั้นรู้ด้วยการคิดการค้นของพระองค์ นี่เป็นตัวอย่าง เอามาเป็นหลักเป็นเครื่องเตือนใจ ว่าเราทุกคนนั้นจะต้องพึ่งตัวเอง ต้องช่วยตัวเอง อย่าเอาชีวิตไปฝากไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหลวไหล เราฝากไว้แต่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เท่านั้น ที่ฝากไว้กับพระพุทธเจ้าก็หมายความว่า เราเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาเป็นประทีปส่องทางเดิน และเราต้องเดิน ดวงประทีปมีแต่เราไม่เดิน ไปยืนอยู่เฉย ๆ มันก็ไม่ก้าวหน้าอะไร อาหารเต็มจานวางอยู่เฉพาะหน้า และเรานั่งหิวอยู่มันอิ่มไม่ได้ ถ้าเราไม่กินอาหารนั้น แม้คนอื่นจะหุงให้ แต่เราไม่กินมันจะเกิดประโยชน์อย่างไร มียาวิเศษใส่ขวดวางไว้ข้างเตียง เรานอนครางโอย โอยอยู่ ไม่กินยา แล้วมันจะหายป่วยได้อย่างไร เราจะต้องกินยาจึงจะหายป่วย
พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นของดีมีประโยชน์มีคุณค่าแก่ชีวิต เต่ถ้าเราไม่ศึกษาให้เข้าใจ ไม่นำมาปฏิบัติ พระธรรมนั้นก็จะเป็นหมัน ไม่มีราคาค่างวดอะไร พระธรรมจะเป็นประโยชน์ ต่อเมื่อเราศึกษาให้เข้าใจ แต่ถ้าเราไม่ศึกษาให้เข้าใจไม่นำมาปฏิบัติ พระธรรมนั้นก็จะเป็นหมัน ไม่มีราคาค่างวดอะไร พระธรรมจะเป็นประโยชน์ต่อเมื่อเราศึกษาให้เข้าใจ และเราเอามาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เอามาใช้ในชีวิตประจำวันของเรา ใช้เหมือนกับใช้ลมหายใจ ลมหายใจเราต้องใช้อยู่ตลอดเวลา หยุดหายใจมันก็ตายเท่านั้น ฉันใด ธรรมะก็ต้องใช้เพื่อความอยู่รอดของจิตใจ เพื่อความรอดพ้นจากความตกต่ำทางจิตใจ เราก็ต้องใช้ พระพุทธเจ้าสอนให้เรากระทำอย่างนั้น เมื่อพระองค์ได้บอกทางสายกลางให้ ปัญจวัคคีย์ ทั้ง ๕ ให้เกิดความรู้ความเข้าใจแล้ว ต่อจากนั้น พระองค์ก็ประกาศถึงสิ่งที่พระองค์ค้นพบด้วยพระองค์เอง สิ่งนั้นเรียกว่า อริยสัจ ๔ ประการ
อริยะ แปลว่า ประเสริฐ สัจ แปลว่า ความจริง อริยสัจ คือความจริงอันประเสริฐ หรือความจริงทำบุคคลผู้ศึกษาปฏิบัติ ให้พ้นไปจากข้าศึก คือกิเลส หรือความทุกข์ ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน อริยะ แปลว่า อริ คือข้าศึกนั่นเอง ข้าศึกศัตรูเขาเรียกว่า อริ ข้าศึกของเราก็คือกิเลสประเภทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในใจ ทำใจเราให้ขุ่นมัว เศร้าหมอง เร่าร้อน วุ่นวาย มืดบอด อันนี้เขาเรียกว่า เป็นข้าศึก เมื่อเราเอาธรรมะของพระผู้มีพระภาคมาใช้เป็นหลักปฏิบัติ เราก็เรียกว่าเดินห่างออกไปจากข้าศึก อริยะ แปลว่า ไปจากข้าศึก อริ แปลว่า ข้าศึก ยะ แปลว่า ไป อริยะ ก็คือไปจากข้าศึก อริยชน ก็คือคนที่เจริญ คนที่ห่างจากความชั่ว ห่างจากความร้าย ห่างจากความคิดต่ำ ๆ ที่จะทำตนให้เป็นปัญหาแก่สังคม เขาเรียกว่า อริยชน หรือ อารยชน คือ คนที่ห่างไกลจากความชั่วความร้าย พระองค์เรียกคนที่เจริญว่า อริยชน ก็เป็นคนที่ไกลจากความชั่ว
อริยสัจ คือความจริงอันประเสริฐ ที่จะทำคนผู้ปฏิบัติให้ไกลจากข้าศึกคือกิเลส จากความทุกข์ ความเดือดร้อน สิ่งนี้พระองค์ได้พบด้วยพระองค์เอง ใต้ต้นโพธิ์ ในวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนที่จะไปเทศน์ ๓ เดือน วิสาขบูชานั่นเอง เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็เรียกว่าเป็น อริยบุคคล บุคคลผู้ประเสริฐ เพราะจิตใจอยู่ห่างจากความชั่ว ความร้ายทั้งหลาย สิ่งที่พระองค์ได้ค้นพบนี้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ที่เราควรจะศึกษา ควรทำความเข้าใจ ใจความย่อในเรื่อง อริยสัจนั้น คืออะไร เรื่องความจริง ๔ ประการ คือความจริงเรื่องทุกข์ ความจริงเรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ ความจริงเรื่องการดับทุกข์ได้ ความจริงเรื่องข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงความดับทุกข์
ความจริงเรื่องทุกข์ เรียกว่า ทุกขสัจ
ความจริงเรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรียกว่า สมุทัยสัจ คือเหตุที่จะให้เกิดความทุกข์
ความจริงเรื่องความดับทุกข์ เรียกว่า นิโรธ นิโรธ แปลว่า ความดับทุกข์ นิโรธสัจ คือความจริงให้แก่ความดับทุกข์
และความจริงถึงข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ เรียกว่า นิโรธคา มินี ปฏิปทา ยาวหน่อย คำมันต้องยาว ภาษาเป็นอย่างนั้น เรียกว่า นิโรธคา มินี ปฏิปทา แปลเป็นไทยว่า ข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงความดับทุกข์ เรียกว่าทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ทุกข์ได้แก่อะไร เราก็แจกแจงไปว่า ความเกิดเป็นทุกข์ เหมือนที่เราสวด เราสวดมนต์แปลเมื่อสักครู่นี้ ชาติปิ ทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์ ชราปิ ทุกขา ความแก่เป็นทุกข์ มรณัมปิทุกขัง ความตายเป็นทุกข์ นี่ความนี้เป็นความทุกข์ เราต้องเอาไปคิด ไปคิดว่าเกิดเป็นทุกข์จริงหรือไม่ แก่เป็นทุกข์จริงหรือไม่ ตายเป็นทุกข์จริงหรือไม่ ความพลัดพรากจากของรัก ของชอบใจ เป็นทุกข์หรือไม่ คนใดที่สูญเสียสิ่งที่ตนรักก็เป็นทุกข์ เราก็รู้ว่า อ้อ อันนี้จริง พระพุทธเจ้าสอนว่าเป็นทุกข์จริง แต่ว่าเราจะต้องไม่ทุกข์ จะไม่ทุกข์เพราะอะไร พระองค์บอกโรคแล้ว บอกเหตุให้เกิดโรคแล้ว ไม่ได้บอกเพียงเท่านั้น แต่บอกว่าโรคนี้แก้ได้ แล้วแก้ด้วยได้อะไร พระองค์ก็บอกต่อไป เพราะฉะนั้นพระองค์บอกเหตุผลของชีวิตให้เราเข้าใจ พูดถึงเรื่องความทุกข์ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ต้องการอะไรไม่ได้สมหวัง อยู่ร่วมกับคนที่เราไม่รัก กับสภาพที่เราไม่ชอบใจ เช่น เวลานี้ถ้าฝนตกเราเป็นทุกข์ ไม่รู้จะนั่งกันตรงไหน แต่ถ้าตกขนาดนี้ก็ดีแล้วเราก็พอสบายใจ เราก็เบาใจ เวลาไหนเราต้องการอะไรแต่มันไม่เป็นเหมือนใจเรา เราก็มีความทุกข์ เรียกว่าอยู่ร่วมกับบุคคล กับเหตุการณ์ สถานที่ ที่ไม่ดีเราก็มีความทุกข์ ประสบกับสิ่งที่ไม่ดีก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่เรารักเราชอบใจก็เป็นทุกข์
รวมใจความย่อ ๆ ว่า ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง ๕ ว่า เป็นตัวเรา เป็นของเรา นั่นเป็นต้นเหตุของความทุกข์ ต้นเหตุมันอยู่ที่ความยึดถือว่า ฉันมี ฉันเป็น เมื่อฉันมี ฉันเป็นขึ้นมาแล้ว ของฉันมันก็ตามมา ทีนี้อะไร ๆ ก็เยอะแยะ เรือนของฉัน เงินของฉัน แหวนของฉัน ทรัพย์สมบัติของฉัน อะไรของฉันมันเยอะ เพราะว่าฉันมันมี แล้วก็ของฉันมันก็ตามมา ถ้ามีมากก็ทุกข์มาก มีน้อย ๆ ก็ทุกข์น้อย ๆ คนมีมากลองคิดดูทุกข์ไหม มีบ้านหลายหลัง ต้องไปดูทุกวัน วันนี้ดูหลังนี้ วันโน้นดูหลังโน้น วันต่อไปก็ไปดูหลังโน้น เดี๋ยวคนเช่าบอกว่าปลวกขึ้นบ้าน เอ้า ต้องไปดูแล้ว ต้องไปหาหมอมากำจัดปลวกแล้ว เอ้า หลังคารั่วบ้าง ฝาชำรุดทรุดโทรมบ้าง อะไรบ้าง เจ้าของบ้านก็ต้องไปเอาใจใส่ดูแล อยู่คนเดียวคิดน้อย ๒ คนเพิ่มขึ้นมา ๕ ทุกข์ ๓ คน ๑๐ ทุกข์ ๔ คน ๒๐ ทุกข์ มันทุกข์คนละ ๕ เรียกว่ามี ๕ ด้วยกันทั้งนั้น ทุกคนมี ๕ อยู่คนเดียว ๕ สองคน ๑๐ สามคน ๑๕ ถ้า ๑๐๐ คนก็ ๕๐๐ ทีนี้ทุกข์ ๕๐๐
ทุกข์ ๕๐๐ ก็ยุ่งกันใหญ่ มีภาระมาก คนเรายิ่งเป็นใหญ่เป็นโตก็ยิ่งทุกข์มาก เป็นนายกรัฐมนตรี ทุกข์ทั้งประเทศ แบกประเทศไว้ทั้งประเทศ เป็นทุกข์ทั้งประเทศ เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ก็ทุกข์เต็มกระทรวง ไม่ว่ากระทรวงไหน ทุกข์เต็มกระทรวงนั้นแหละ รับหน้าที่อะไรไว้ก็ทุกข์ เป็นสมภาร เจ้าวัดก็ทุกข์เต็มวัด เหมือนกับอาตมา ทุกข์เต็มวัด แต่อาตมาไม่ทุกข์กับวัด เพราะรู้จักแบ่ง รู้จักเบา นั่งยิ้มได้ มีอะไรเกิดขึ้นก็ยิ้ม ๆ มันไว้ ขี้เกียจเป็นทุกข์กับมันไม่ได้เรื่องอะไร ดู ๆ ไป เพลิดเพลินไป แก้ปัญหาไป อะไรเกิดมาก็แก้ไป ๆ เรื่อย ๆ เรามันไม่เป็นทุกข์เพราะเรื่องอย่างนั้น รู้จักปลง รู้จักวาง วางยังไม่หมดหรอก แต่วางไปเรื่อย ๆ ค่อย ๆ ปลงค่อยวางไป รู้วิธีการ อะไรหนักมากก็วางไว้ก่อน หนักน้อยก็แบกไว้บ้าง ถ้ารู้ว่ามันหนักก็วางพักเสียบ้าง นอนเสียบ้าง นอนหมายความว่าหยุดพักจากการแบก พอหยุดพักจากการแบก เราก็เบาใจ สบายใจ เผลอ ๆ ก็ยกขึ้นมาแบกอีก ก็กลุ้มใจต่อไป เป็นอย่างนั้น
ญาติโยมก็เหมือนกัน ถ้าวางมากก็เบาน้อย ทุกข์น้อย ถ้าแบกมากมันก็ทุกข์มาก อย่างนี้เราต้องหัดปลงหัดวาง วันอาทิตย์มาวัดนี่เขาเรียกว่า มาปลง มาวาง มานั่งอยู่ที่วัดนี้ สบายใจ ไม่เป็นทุกข์ คนเราเวลาไปเที่ยวที่ไหน ๆ มันสบายใจ เพราะฉะนั้นคนสมัยนี้ชอบเที่ยว ชอบไปนั่น ไปนี่ ไปแล้วสบายใจ ทำไมจึงสบายใจ เคล็ดลับมันอยู่ตรงไหน เคล็ดลับมันอยู่ตรงที่เราไม่แบก อยู่บ้านมันแบก บ้านฉัน ลูกฉัน หลานฉัน ไอ้นั่น ๆ ของฉัน ของฉันเต็มไปหมดทั้งบ้าน ทั้งบริเวณ แบกไปหมด พอไปเที่ยว แหม... สบาย เพราะว่าเราไปนอนโรงแรม ไม่ใช่โรงแรมของฉัน เตียงก็ไม่ใช่ของฉัน อะไร ๆ ก็ไม่ใช่ของฉันมันสบาย นั่งรถไปก็ไม่ใช่รถฉัน รถเสียก็ไม่เป็นไร ไม่ใช่รถของฉัน แต่ถ้าเรานั่งรถเรา พอเสียก็กลุ้มใจทำไมมันเสีย เห็นจะต้องส่งเข้าอู่ซ่อม อู่ก็ต้องคิดแพง มันชาร์จเอามาก ๆ เสียด้วย ฉะนั้นก็กลุ้มหลายเรื่อง รถคนอื่นเสียเราไม่กลุ้ม เพราะฉะนั้นการไปเที่ยวคือการแบ่งเบาภาระ ทำให้สบายใจ คนที่เขามีภาระหนัก เขาจึงมีการเที่ยว ทุนน้อยก็เที่ยวในเมืองไทย ไปไชยาบ้าง ไปเกาะสมุยบ้าง อะไรบ้างก็ไปตามเรื่อง ไปเชียงใหม่ ไปนั่น ไปนี่ เอ้า ทุนมากหน่อยไปประเทศอินเดีย ไปญี่ปุ่น ทุนมากไปรอบโลกเลย เที่ยวซะรอบโลก เที่ยวรอบโลกสัก ๒ – ๓ เดือน แหม มันเบาเหวง ใจสบาย และก็ทรัพย์ก็หมดไปเยอะ ต้องเสียค่าเดินทาง มันก็เบาไปเหมือนกัน เบาภาระไป นี่คือการพักผ่อน พักผ่อนด้วยการทำให้มันเบาลงไป
ทีนี้เราจะไปทำอย่างนั้นมันก็ไม่ได้เสมอไป เราจึงควรจะแบ่งอยู่ในบ้าน เบาอยู่ในบ้าน เหมือนคนเป่าปี่ มันเป่าเหมือนไม่หายใจ ไปถามคนเป่าปี่ เป่าแก้มตุ่ยอยู่ตลอดเวลา ไม่หายใจ เขาบอกมันหายใจอยู่ในปี่แล้ว เป่าไปเอาเข้ามามันมีจังหวะ ไม่ใช่ปี่ดังอยู่ตลอดเวลา มันก็หายใจได้ เราก็แบบนั้น อยู่บ้านก็หายใจอยู่ในปี่ รู้จักแบ่งเบาภาระ ทีนี้จะแบ่งอย่างไร ต้องมีวิธี พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนเพียงอย่างเดียว สอนให้เห็นว่าทุกข์คืออะไร แล้วทรงสอนต่อไปว่าทุกข์มันมีสาเหตุ สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ อันนี้เป็นหลักสำคัญ ในทางพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่เราจะต้องจำเป็นหลักไว้ในใจว่า “ สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ จะดับเพราะดับเหตุ ” อันนี้เป็นหลักใหญ่ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ให้เราเอาไปใช้ในสิ่งทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร มันต้องมีเหตุ ไม่มีเหตุ ผลจะเกิดขึ้นไม่ได้เป็นอันขาด ในพระพุทธศาสนาเรานั้น ไม่มีคำว่าบังเอิญ บังเอิญ แหม สิบล้อกับรถเก๋ง บังเอิญโครมเข้าพอดี พูดอย่างนี้ไม่ได้ พูดโดยไม่มีเหตุผล มันต้องมีเหตุ รถสิบล้อกับรถเก๋งมาเจอกันโดยบังเอิญไม่มี หรือว่าเราเดินไป แล้วเราหกล้มปากแตก หรือหัวแตก บังเอิญหกล้มปากแตก พูดอย่างนี้ไม่รับผิดชอบ เรียกว่าไม่รู้สาเหตุของเรื่อง มันต้องมีเหตุ เหตุให้ล้มมี เหตุให้ล้มคืออะไร ถ้าเราไม่นึกถึงตัวเราว่า บอกว่ากระดานมันลื่น ไปโทษกระดาน กระดานมันลื่น ทำไมมันลื่นละ เพราะมีคนเอานั้ำมาราดไว้บนกระดาน ทีนี้เราเดินไปลื่นล้ม แล้วทำไมคนอื่นไม่ลื่นละ ลื่นเพียงเราคนเดียว เหตุมันต้องอยู่ในตัวเรา เหตุในตัวเราคือว่า เซ่อ นั่นเอง พูดง่าย ๆ เดินเซ่อ ๆ เรามันเซ่อเอง แต่พูดให้ดีหน่อยเขาเรียกว่า ประมาท ความประมาท
ความประมาท ก็คือ ความไม่มีสติ ไม่รู้จักระมัดระวัง ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็ว่า เซ่อ นั่นแหละ แต่เราพูดอย่างนั้นเขาไม่ชอบ ต้องพูดให้มันนุ่มนวลหน่อยว่า เพราะความประมาทจึงได้ลื่นหกล้มลงไปในรูปอย่างนั้น มันอยู่ที่ตัวเรา เหตุมันอยู่ที่เรา แต่ว่าคนเรานี่นะโยมนะ ไม่ยอมรับว่าตัวผิด ไม่ยอมรับว่าตัวผิด สามี ภรรยา ต่างคนต่างหาเรื่องกันว่า เธอแหละผิด พี่นั่นแหละผิด นั่งว่ากันอยู่ได้ ๒ – ๓ ชั่วโมง เธอผิด พี่ผิด เธอผิด พี่ผิด เถียงกันอยู่นั่นแหละ ไม่มีใครยอมรับว่าผิด นั่งเถียงกันอยู่นั่นแหละ ไม่จบสักที แต่ถ้าหากคนใดคนหนึ่งว่า เออ น้องรู้สึกตัวว่าน้องได้ทำผิดไปแล้ว ขอโทษเถอะ จบทันที มีคนผิด แล้วมันก็หมดเรื่องกันเท่านั้นแหละ แต่ถ้าสามีเห็นว่าเถียงกันไปมันไม่จบ กูง่วงนอนแล้ว รับผิดเสียดีกว่า เลยบอกว่า สิ่งทั้งหลายที่มันเกิดขึ้นเพราะความเผลอประมาทของพี่เอง ต่อไปนี้จะระมัดระวังไม่กระทำความผิดเช่นนั้นอีก หมดเรื่อง เข้านอนสบายหลับได้ แต่ถ้าไม่จบลง ต่างคนต่างง่วงไปนอน นอนไม่หลับ แหม ไม่รับผิดสักที ทำแล้วไม่รับยังดื้อยังดัน พลิกไปพลิกมาไม่หลับอยู่อย่างนั้น บางทีหลับแล้วละเมอ พี่นั่นแหละผิด ไอ้พี่ก็ละเมอ น้องนั่นแหละผิด ว่ากันไปมันก็ว่ากันเองจะไปถูกได้ยังไง มันต้องค้นสาเหตุในตัวเรา ว่าเหตุอันแท้จริงนั้นอยู่ในตัวเรา
พระพุทธศาสนาสอนจำกัดที่สุด ไม่กว้างขวางใหญ่โตมโหฬารในจักรวาลอะไรหรอก สอนอยู่ในตัวเรานี้เอง พระองค์ได้ให้คำจำกัดไว้ว่า ในกายที่ยาววาหนึ่ง หนาคืบ กว้างศอกหนึ่งนี้แหละ มีทุกอย่าง มีความทุกข์ มีความให้เกิดทุกข์ มีความดับทุกข์ มีข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ มันก็อยู่ในตัวเรานี่แหละ เพราะฉะนั้นมีอะไรอย่าไปมองให้มันไกล พระพุทธศาสนาสอนให้มองในนี้ มองในตัวของเราทุกคน มันแคบมันมองง่าย แล้วในตัวมันก็มีจุดหนึ่งที่ควรมอง คือมองที่ใจของเรานั่นเอง ใจเราคิดอะไรจึงเกิดอย่างนี้ขึ้น อะไรเกิดขึ้นก็นึกว่าเราคิดอะไร เราพูดอะไร เราทำอะไร แต่ว่าพูดกับทำนั้นมันมาทีหลัง ใจคิดก่อน ใจเป็นหัวหน้า เป็นต้นเรื่อง เป็นตัวการใหญ่ ใจเราคิด พอใจคิดแล้วปากพูด พูดไม่ดีแล้วเกิดเรื่อง แล้วก็ทำไม่ดี เสริมเรื่องให้มันยาวออกไป มันอยู่ที่ใจ การมองหาสาเหตุของเรื่องอะไรทุกอย่าง จึงอย่าไปมองหาที่ดวงดาวในท้องฟ้า ที่เราไปหาหมอ หมอบอกว่า โอ้ ดาวพระศุกร์ให้โทษ ดาวพระเสาร์ให้โทษ หมอนี่พูดไม่มีสัจจะ ไม่มีความจริงอะไรเลยสักอย่างเดียว ถ้าดาวด่าได้คงด่าวันยังค่ำ ด่าหมอดูทั้งหลาย มันเรื่องอะไรมาใส่ความแก่ข้า ข้าก็โคจรไปตามวิถีโคจรของข้า แล้วก็มาหาเรื่องว่าข้าทำให้มนุษย์เดือดร้อน มันคงด่าหมอดูเช้าค่ำ ถ้าด่าได้ แต่ว่าดาวก็ไม่ได้ยินเหมือนกัน มนุษย์โง่เง่าว่าไปเองไม่เข้าเรื่อง มันไม่ใช่เรื่องของดาว ไม่ใช่เรื่องของสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่เรื่องในตัวเราเอง จึงต้องจำกัดลงมาค้นคว้าที่ตัวเรา มีเรื่องอะไรผิดพลาดอย่าโทษใคร นี่เป็นหลักใหญ่อย่าโทษใคร แต่ให้นึกว่าเราคงจะทำผิดอะไรไว้ จึงได้เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น เราคงจะทำผิดอะไรไว้จึงได้เกิดเรื่องเช่นนี้ เช่นนักเรียนสอบตกอย่าไปโทษครู อย่าไปโทษคนนั้นคนนี้ แต่นึกว่า เอ ... เราสอบตกเพราะอะไร เรารักการเรียนหรือเปล่า เราขยันไหม เราเอาใจใส่ไหม เราคิดค้นในเรื่องที่เราเรียนเขียนอ่านสม่ำเสมอไหม ไม่มี ไม่รัก ไม่ขยัน ไม่เอาใจใส่ ไม่คิด ไม่ค้น เรียนไปตามเรื่องตามราว เพราะกลัวคุณแม่จะเฆี่ยน ไปโรงเรียนไปนั่งหลับเสียบ้าง ไปคุยกับเพื่อนเสียบ้าง เลิกเรียนแล้วก็ไม่เอามาคิดมาตรอง จึงสอบไม่ได้ แล้วเมื่อสอบไม่ได้จะไปโทษใครไม่ได้ ต้องโทษตัวเอง ไม่ใช่โทษคนอื่น
มโนราห์ปักษ์ใต้ มันรำร้องเพลง ก็ถูกหลักธรรมะเหมือนกัน มันร้องว่า “ โทษพ่อโทษแม่ก็ไม่ได้ พ่อแม่ทำให้เราเมื่อไหร่ ” เขาว่าเป็นเพลงมโนราห์ โทษพ่อโทษแม่ก็ไม่ได้ พ่อแม่ทำให้เราเมื่อไหร่ อะไร ๆ เราทำเอาเองทั้งนั้นแหละ ไม่มีใครทำให้ เมื่อรู้ว่ามันเป็นเรื่องเกิดที่ตัวเอง เราก็แก้ที่ตัวเรา หลักพุทธศาสนาสอนให้แก้ที่ตัวเรา แก้ความผิดนั้นเสีย แก้เหตุ สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ เมื่อจะดับผลต้องดับที่เหตุ ดับที่เหตุก็คือแก้ที่เหตุ ให้รู้ว่าอะไรมันเป็นเหตุเราก็แก้สิ่งนั้น แก้ที่ตัวเหตุ พอแก้เหตุผลมันก็ดับไปเท่านั้นเอง ผลมันจะไม่เกิดต่อไป เพราะเราใช้ปัญญาแก้ที่ตัวเหตุ หลักสำคัญอยู่ที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นหลักความจริง ๔ ประการ ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนั้น ถ้ารวบรัดตัดให้สั้นก็มีเพียงประการเดียว พระองค์ได้ตรัสบ่อย ๆ กับภิกษุ ทั้งหลายว่า
ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ในกาลก่อนก็ดี ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลต่อไปข้างหน้าก็ดี เราสอนเรื่องเดียวที่สำคัญ คือเรื่องความทุกข์ และการดับทุกข์ได้ นี่เรื่องใหญ่ที่พระพุทธศาสนาสอน ให้ญาติโยมจำหลักนี้ไว้ให้มั่น ว่าเรื่องที่พระพุทธเจ้าสอนสำคัญ ย้ำแล้วย้ำอีกแก่พุทธบริษัท ก็คือเรื่องความทุกข์ และการดับทุกข์ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่สำหรับชีวิต เรื่องอื่น ๆ อย่าไปยุ่ง อย่าไปสนใจถามให้มันยาวความ เช่น เราไปถามว่าคนตายแล้วไปไหน มันไม่เกื้อกูลแก่ความดับทุกข์ นรก สวรรค์มีจริงหรือไม่ มีไม่มีเราก็ไม่ต้องถาม สำคัญว่าอยู่ในโลกนี้ให้ดีเถอะ ให้เรียบร้อยเถอะ อย่าสร้างตัวให้ลำบากก็แล้วกัน แล้วถ้ามีเราก็ได้ไป ได้ไปสวรรค์ นรกมีก็ได้ไป ถ้าเราทำชั่ว สะสมชั่ว เราก็ได้ไป ไม่ต้องสนใจ เรามาแก้ชีวิตในปัจจุบันให้มาก ค้นคว้าหาเรื่องอย่างนี้ บางครั้งบางคราวคนไปถามปัญหาที่ไม่เข้าเรื่อง พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า นั่นไม่ใช่ปัญหาที่ตถาคตจะพึงตอบ เพราะตอบแล้วมันก็ไม่ได้เรื่องอะไร ไม่ได้เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ดับร้อน ปัญหาสำคัญที่ตถาคตอยากจะพูดกับเธอทั้งหลาย ก็คือเรื่องความทุกข์และการดับทุกข์ได้เท่านั้น อันนี้ญาติโยมจำไว้ให้ดี แล้วเรื่องความทุกข์มันก็อยู่ในตัวเรา เหตุมันก็อยู่ในตัวเรา จึงต้องหัดมองข้างใน มองดูตัวเองไว้
วันนี้เป็นวันสำคัญในทางพระศาสนา เราทั้งหลายก็ควรจะได้เอาหลักธรรมนี้ไปใช้เป็นแนวปฏิบัติ พิจารณาตัวเอง ตักเตือนตัวเอง แก้ไขตัวเอง และก็พรุ่งนี้เป็นวันเข้าพรรษา พระสงฆ์องค์เจ้าท่านก็เข้าพรรษากัน อธิษฐานว่าจะอยู่ ๓ เดือน ในอาวาสนี้ไม่ไปไหน เว้นไว้แต่กิจจำเป็น เช่น กิจนิมนต์อะไรอย่างนั้นไปได้ แต่ถ้าจะไปทัศนาจรไปไม่ได้ มันไม่ใช่เรื่องกิจนิมนต์ พ่อแม่เจ็บไข้ได้ป่วยไปรักษาก็ได้ เพื่อนป่วยหนักไปรักษาก็ได้เหมือนกัน ถ้าอยู่วัดนี้ชาวบ้านแถวนี้ถูกไฟไหม้หมด ไม่มีที่บินฑบาต ไม่เป็นไรออกพรรษาไปอยู่วัดอื่นได้ ขืนอยู่ต่อไปก็ไม่รู้จะกินอะไร ท่านยกเว้นให้ถ้าเรื่องอย่างนั้น ทีนี้เราชาวบ้านควรอธิษฐานใจ ในพรรษานี้อธิษฐานใจ อธิษฐานใจว่า ไม่เล่นการพนันตลอด ๓ เดือน ไม่ดื่มของมึนเมาตลอด ๓ เดือน ไม่สุรุ่ยสุร่ายจับจ่ายเงินทองตลอด ๓ เดือน ไม่โกรธใครสัก ๓ เดือน ไม่โลภสัก ๓ เดือน ไม่พยาบาทอาฆาตจองเวรใคร ๆ ที่เคยโกรธ เคยเกลียดกัน ก็รักกันเสีย รักกันสัก ๓ เดือน ต่อไปมันก็รักกันได้ ต่อไปมันก็เข้ากันได้ ให้ตั้งใจอย่างนั้น หรือตั้งใจว่า ๓ เดือนในพรรษาจะมาวัดชลประทานฯ ทุกวันอาทิตย์ ไม่ขาด หรือว่าตั้งใจว่าทุกวันพระอุโบสถ จะถือศีลอุโบสถ วันธรรมดาก็ถือศีล ๕ ให้เคร่งครัด เข้มเป็นพิเศษ ให้ตั้งจิตอธิษฐานไว้อย่างนั้นทั่วหน้ากัน สุดแล้วแต่ใครจะอธิษฐานอะไร หรืออธิษฐานว่า จะไหว้พระสวดมนต์ จะนั่งกรรมฐานก่อนหลับนอนทุกคืนก็ได้ ให้คิดอย่างนั้นก็จะเป็นเรื่องดีมีประโยชน์
เถระสมาคมเขาประชุมกันเมื่อเร็ว ๆ นี้ เรียกอาตมาไปประชุม สั่งให้ไปปฏิบัติงาน ให้ไปประชุมเจ้าอาวาส แล้วให้บอกเจ้าอาวาสไปสอนชาวบ้าน ด้วยเรื่อง โอวาท ๔ คุณธรรม ๕ คุณธรรม ๕ นี้ของสำนักนายกฯ โอวาท ๔ ของในหลวง ความจริงก็เทศน์กันอยู่บ่อย ๆ เรื่องนั้น แต่ว่าให้ไปเทศน์ให้ฟังแล้วชวนชาวบ้าน ให้ตั้งใจ อธิษฐานใจ ใครจะรักษาศีล ๕ เท่าไหร่ ศีลอุโบสถเท่าไหร่ งดเว้นสุรา งดเว้นการพนัน งดเว้นอะไรเท่าไหร่ ให้จดชื่อไปด้วย ให้ส่งเพื่อเป็นสถิติ วัดชลประทานฯ คงจะจดไม่ไหวคนมันมากเต็มที เขาเรียกว่าจดยกเมฆ ส่งไปบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ มหาเถระท่านให้ทำอย่างนั้นเราก็ต้องทำ จดไป จดชื่อโยมทั้งหลายที่มาวัดบ่อย ๆ จดส่งไปว่าเป็นคนถือศีล ๕ เคร่งครัดตลอดมานานแล้ว ไม่ใช่เฉพาะในพรรษา ให้จดชื่อไป รายงานมีบัญชีด้วยนะ ให้เจ้าอาวาสทำไป แหม เรื่องนี้หนักอยู่เหมือนกัน ที่จะต้องจดชื่อโยมทั้งหลาย วันหลังค่อยสำรวจกันสักที ต้องแจกบัตร เอ้า ใครอธิษฐานอะไรเขียนลงไป ใส่เครื่องหมายไว้ รวบรวมส่งไปให้ได้เรื่องได้ราวหน่อย คือท่านอยากจะได้สถิติว่าคนมาวัดเท่าไหร่เท่านั้นเอง แต่ว่าวัดของท่านมหาเถระบางองค์ก็ไม่มีคนไปวัดเลยก็มีเหมือนกัน
เอาละวันนี้พูดมาก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้