แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกคนหยุด นั่ง ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงนี้ได้ และจงตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้ ญาติโยมสังเกตจะเห็นว่า ลำโพงที่ติดอยู่ข้างเสานั้นมันหายไป แต่ว่าไม่ใช่ขโมยลักแต่เพราะเปลี่ยนระบบใหม่ ถ้าลำโพงติดไว้ตรงนี้ดังก็จะได้ยิน ลองสังเกตว่าได้ยินชัดเจนหรือไม่ และข้างนอกก็มีตัวเล็กนั่นติดอยู่ตัวหนึ่ง นี่ก็มีตัวหนึ่ง ด้านหลังโน่นก็มีตัวหนึ่ง ในนี้ก็มีเพื่อให้ดังดีขึ้น เพราะว่าผู้ชำนาญในเรื่องเสียงนั้นเขามาดู แล้วบอกว่า ยังไม่ดี เทศน์มาหลายปีแล้วเพิ่งไม่ดีขึ้นในตอนนี้ เขาก็เลยมาเปลี่ยนให้ ก็ดีเหมือนกันจะได้ปรับปรุงให้มันดีขึ้น การฟังก็จะได้สะดวก ญาติโยมก็จะได้ฟังชัดเจน แจ่มแจ้ง และจะได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันกันต่อไป
วันนี้ เมื่อวานนี้ฝนตก กลางคืนก็ฝนตก แต่ว่าวันนี้ก็ขอร้องกันไว้ตามเคย บอกว่าอย่าตกเป็นอันขาดวันอาทิตย์ตอนเช้านี้ เพราะว่าถ้าฝนตกแล้วจะยุ่งญาติโยมไม่รู้จะนั่งตรงไหน ก็เลยไม่เป็นอะไร อากาศแจ่มใสพอดูได้ ญาติโยมก็สบายใจ ฝนจะตก ฟ้าจะร้อง เราอย่าไปกลัว มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ถึงเวลาที่จะทำอะไรก็ต้องมาทำกัน ในพรรษานี้เราตั้งใจจะมาฟังธรรมก็ต้องมาตามที่เคยมากันตามปกติ อย่าได้เบื่อหน่าย อย่าได้อิดหนาระอาใจ เราก็จะก้าวหน้าไปในทางธรรมเรื่อยๆไป
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เมื่อยังไม่ถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ ก็อย่าได้หยุดเสียเป็นอันขาด คือหยุดแล้วมันไม่ถึง เพราะฉะนั้น ต้องเดินต่อไป เดินต่อไป เดินไปจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง จุดหมายนั้นอยู่ที่ตรงไหน? ก็อยู่ตรงที่เราพ้นจากความทุกข์ในชีวิตประจำวัน เราอยู่ในโลกโดยไม่ต้องเป็นทุกข์ ทำงานทำการโดยไม่ต้องเป็นทุกข์ แม้จะมีอะไรเกิดขึ้นเราก็วางเฉยได้ จิตใจสงบเป็นปกติ ไม่เกิดอะไรขึ้นในใจของเรา อย่างนี้ก็เรียกว่า ถึงจุดหมายที่เราต้องการ
การอยู่ในโลกต้องอยู่ด้วยความไม่เป็นทุกข์เป็นจุดสำคัญในทางพุทธศาสนา ถ้าเรายังเป็นทุกข์เดือดร้อนด้วยเรื่องนั้น ด้วยเรื่องนี้ มีปัญหาร้อยแปดพันประการเกิดขึ้น ก็แสดงว่า เรายังไม่ได้เดินหรือยังไม่ถึงจุดที่เราต้องการ เราก็ต้องเดินต่อไป คิดต่อไป ปรับปรุงชีวิต ทิฏฐิ ความเห็น การกระทำต่างๆให้ดีขึ้นเกือบทุกเวลานาที จึงจะเรียกว่าเราก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมะ เราเป็นพุทธบริษัทต้องก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม ถ้าไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมะ ความเป็นพุทธก็จะไม่สมบูรณ์ และจะไม่ได้ประโยชน์จากความเป็นอย่างแท้จริง
อันนี้เราจะวัดได้อย่างไร? ก็วัดจากตัวเรานั่นแหละ วัดว่าตัวเรานี้เบาบางลงไปขนาดไหนในเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ ความเดือดร้อนใจในปัญหาต่างๆที่มันเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เราก็มองดูตัวเราว่า เราทุกข์น้อยหรือว่าเราทุกข์มาก หรือว่าเราไม่มีความทุกข์เลยไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อันนี้ เป็นเครื่องวัด เป็นหลักที่จะมองดูตัวเองเพื่อตัดสินว่าเราได้อะไรบ้าง? เราก้าวไปขนาดไหนในการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวัน? แล้วให้นึกว่า เมื่อก่อนกับเดี๋ยวนี้เรามีสภาพจิตใจแตกต่างกันอย่างไร? สภาพจิตใจเมื่อก่อนเป็นอย่างไร? เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร? เราก็จะพอมองเห็นว่ามันมีเรื่องแตกต่างกัน เราก็จะได้รู้ว่าเราก้าวหน้า หรือว่าเราอยู่กับที่ หรือว่าเราถอยหลังลงไป มันต้องพิจารณาอย่างนั้น
ถ้ารู้สึกตัวว่าถอยหลัง-ไม่ดี อยู่กับที่ก็-ไม่ดี เราจะต้องให้ก้าวหน้าต่อไปตามเส้นทางที่พระผู้มีพระภาคได้บัญญัติแต่งตั้งไว้ การก้าวหน้า ก็คือ ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบใน ศีล สมาธิ ปัญญา หรือเรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า อันเป็นทางเดินที่จะให้เราพ้นไปจากความทุกข์ความเดือดร้อน เป็นหลักที่จะต้องก้าวเดินไปตามแนวทางนั้น โดยไม่ย่นย่อท้อถอย เดินเรื่อยไปตามจุดที่เราได้ตั้งไว้
ญาติโยมก็ได้เดินมาโดยลำดับ คือ ตั้งแต่เราเริ่มเข้าวัด เริ่มศึกษาธรรมะ เริ่มเอาธรรมะไปเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรา เราก็ได้ความรู้ความเข้าใจในเรื่อของตัวเราดีขึ้น เราเอาชนะความทุกข์ได้มากขึ้น มีปัญญารู้เท่ารู้ทันต่อสิ่งทั้งหลายในชีวิตของเรามากขึ้น อันนี้ก็เรียกว่า พอใช้ได้แล้ว ก้าวหน้าไปพอสมควร แต่ว่าอย่าไปหยุดเสียเพียงเท่านั้น เรายังจะต้องก้าวต่อไป ก้าวเรื่อยไป จนกระทั่งไปถึงจุดว่า เรามีชีวิตอยู่ในโลกและก็เป็นทุกข์กับใครไม่เป็น ไม่ว่าเหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้นเราไม่ต้องเป็นทุกข์กับสิ่งเหล่านั้น เราจะรู้สึกเฉยๆต่อสิ่งที่มากระทบ ก็เรียกว่าถึงจุดหมายที่เราต้องการ ตามหลักในทางพุทธศาสนา เรียกว่า เราเย็นได้ เราสงบได้ เราสว่างอยู่ได้ด้วยปัญญา ในเมื่ออะไรเกิดขึ้นก็ไม่หวั่นไหว โยกโคลง นั่น เป็นจุดที่เราต้องการ
ในเบื้องต้นนี้ เราอาจจะยังไม่ถึงจุดนั้น แต่เราจะต้องก้าวเดินต่อไปเพื่อให้ถึงจุดหมาย ด้วยเรื่องการศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัย ให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เรียนธรรมะนี้ก็เรียนเพื่อให้รู้ เรียนเพื่อให้เข้าใจ เรียนเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
ใช้ในชีวิตประจำวัน อันนี้สำคัญหน่อย ขอให้ญาติโยมจำไว้ให้ดีว่า ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ทุกเวลาในชีวิตของเรา ไม่ได้ใช้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว เช่น ใช้เฉพาะวันพระ วันศีล หรือใช้เฉพาะวันที่เรามีงานมีการอะไรอย่างนั้น ก็เรียกว่าไม่ได้ใช้ทุกวัน เราจะต้องพยายามใช้ทุกวัน เพื่อต่อสู้กับสิ่งต่างๆที่มากระทบไม่ให้เราตกเป็นทาสของมัน ไม่ให้สิ่งนั้นมีอิทธิพลเหนือจิตใจของเรา ไม่อนุญาตให้สิ่งนั้นมันทำเราให้ขึ้น ให้ลง ให้มีความทุกข์ระทมตรมตรอมใจ อย่างนี้เรียกว่า เราใช้ธรรมะในชีวิตของเรา เราก็จะดีขึ้น ก้าวหน้าขึ้น
ในการศึกษาธรรมะนั้น เราก็ควรจะเข้าใจอีกเหมือนกันว่า เราศึกษาเรื่องอะไรก่อน? เรื่องอะไรที่เราจะต้องศึกษาก่อน? ก็ต้องศึกษาเรื่องของตัวเราก่อน ให้รู้จักตัวเรา เพราะว่าธรรมะนี้เป็นเครื่องมือที่จะให้เรามองเห็นตัวเราชัดเจนแจ่มแจ้ง เรียกว่า รู้จักตัวเอง นี่เป็นจุดเริ่มต้น ต้องรู้จักตัวเองก่อน รู้จักตัวเองแล้วก็ต้องรู้จักสิ่งที่มาเกิดขึ้นในตัวเรา สิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเรานั้น ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า ความทุกข์ นั่นเอง มันเกิดขึ้นในตัวของเรา เราต้องรู้จักความทุกข์เวลาที่มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ในตัวเรา แล้วก็ต้องรู้ว่า เหตุ มันอยู่ที่อะไร? อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น? ต้องรู้เหตุด้วย และต้องรู้ต่อไปว่า เราควรจะแก้ไขสิ่งนี้อย่างไร? ถ้าเราไม่รู้วิธีแก้ไขเราก็ต้องเป็นทุกข์เรื่อยไป ชีวิตตกต่ำเรื่อยไป แต่ถ้าเราศึกษาให้เข้าใจว่า เป็นเรื่องที่เราจะต้องแก้ไข และการแก้ไขนั้นช้าไม่ได้ เราจะต้องทำอย่างรีบด่วน ทำอย่างทันท่วงที ทำไมจึงต้องรีบด่วนทำทันท่วงที? เพราะถ้าเราขืนช้าไว้ ก็เหมือนกับไฟที่มันไหม้สิ่งของภายในบ้านของเรา ถ้ามันเกิดไฟไหม้ขึ้นแล้ว เรานั่งดูไปก่อนว่ามันจะไหม้ไปถึงไหน? ผลที่สุด ไฟมันก็ลามไปจนกระทั่งหมดตัวบ้าน เราก็ไม่มีบ้านอยู่อาศัยต่อไป
ความชั่วความร้ายทั้งหลายที่เกิดขึ้นในใจของเรา เราก็ต้องรู้ว่ามันเกิดขึ้นแล้ว และรู้ว่ามันจะลุกลามต่อไป ถ้าเราไม่ดับเสียตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่หัวที มันก็จะลุกลามไปใหญ่โตจนกระทั่งเสียผู้เสียคนกันไป คนเราที่ได้เสียผู้เสียคนไปเป็นส่วนมากนั้น ก็เพราะว่าไม่ศึกษาในเรื่องนี้ให้เข้าใจ ไม่รู้เรื่องของตัว ไม่รู้เรื่องสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่รู้เหตุของสิ่งนั้น แล้วก็ไม่คิดแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น เราจึงต้องเป็นคนที่เป็นทุกข์ร่ำไป เป็นทุกข์เรื่อยไปไม่รู้จักจบ ไม่รู้จักสิ้น อันนี้เป็นเรื่องที่ควรจะได้ทำความเข้าใจ จำไว้ในใจของเราทุกคนว่า เราต้องเรียนรู้
ทางพระพุทธศาสนาของเรานั้น สอนให้เรารู้จักตัวเอง รู้จักตัวเองในแง่ขั้นต้นก็มี ขั้นสูงขึ้นไปก็มี ในแง่ขั้นต้น นั้นเรียกว่า รู้จักตัวเองในแง่ศีลธรรม ในแง่ศีลธรรมเพื่อจะได้อยู่ในสังคมโลกด้วยความสบายใจ ไม่อยู่อย่างเป็นทุกข์ ไม่อยู่อย่างเดือดร้อนใจอันนี้เป็นเรื่องของศีลธรรมขั้นต้น คือ อยู่กับคนอื่นได้ เข้ากับคนอื่นได้ บางคนมันเข้ากับใครไม่ได้ อยู่กับคนไม่ได้ อยู่คนเดียวได้ แต่พอไปอยู่กับคนอื่นก็ไม่รู้จักปรับตัวเองเพื่อให้เหมาะแก่คนอื่น แล้วก็อยู่ด้วยความกลุ้มใจ มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนเกิดขึ้นในใจตลอดเวลา อันนี้คือความบกพร่องที่ไม่รู้จักปรับตัวเองเพื่อให้เหมาะแก่สิ่งที่เราอยู่ด้วย เช่น อยู่กับเพื่อนก็ไม่ถูกกับเพื่อน อยู่กับใครก็ไม่ถูกกับใคร ไปที่ไหนก็ไปสร้างปัญหา ทำให้บ่อนแตกอยู่ตลอดเวลา ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าคนนั้นไม่รู้จักตัวเองว่าอยู่ในฐานะอะไร? เช่น ไม่รู้ว่าเราเป็นผู้น้อยหรือว่าเราเป็นผู้ใหญ่ เราเป็นผู้นำหรือว่าเราเป็นผู้ตาม แล้วควรจะวางตัวอย่างไร? ถ้าเราเป็นผู้น้อยควรจะประพฤติตนอย่างไร? ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ควรจะประพฤติตนอย่างไร? ถ้าเรานำเขาเราจะนำเขาอย่างไร? ถ้าเราเดินตามเขาเราก็ต้องเดินตามให้มันถูกต้อง ไม่แซงขึ้นหน้า บางคนเป็นผู้ตามแต่ว่าอุตส่าห์แซงขึ้นไปข้างหน้า เดินล้ำหน้าไป ทำอะไรก็ล้ำหน้าไป อย่างนี้มันก็ยุ่ง ทำให้ผู้ที่เป็นผู้นำมองว่า ไอ้นี่มันไม่รู้จักฐานะ ไม่รู้จักตัวเองว่าควรจะอยู่ในฐานะอย่างไร มันก็เป็นปัญหา และไปอยู่ที่ไหนก็ไปอยู่กับใครไม่ได้ อยู่กับใครไม่ได้ก็ไม่โทษตัวเองแต่ไปโทษคนโน้นว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ มัวแต่ไปโทษเขาแต่ไม่ดูโทษของเรา เลยก็ไม่สามารถจะเข้ากับใครได้
พระผู้มีพระภาคสอนให้เรามองที่ตัวเรา อย่าไปมองที่คนอื่น ให้หาความบกพร่องในตัว อย่าไปหาความบกพร่องที่คนอื่น เพราะว่าเรื่องของคนอื่นนั้นเราไปแก้เขาไม่ได้ เราจะไปจับเขาก็ไม่ได้ แต่เรื่องของเรานั้นเราจับได้ เราปรับปรุงได้ แก้ไขได้ถ้าเราตั้งใจจะมอง ตั้งใจจะแก้ไขเราก็สามารถจะแก้ไข ปรับปรุงตัวเราได้ แต่โดยปกติคนเรานั้นมักจะไม่มองดูตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองผิดอะไร แต่ไปโทษว่าคนนั้นผิดอย่างนั้น คนนั้นผิดอย่างนี้ อย่างนี้เป็นตัวอย่าง เหมือนกับว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ไม่มีใครสักคนหนึ่งที่จะยอมรับว่าตัวผิด แต่ว่าไปโทษอะไรต่ออะไรหลายเรื่องหลายประการ อย่างนี้ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม
ผู้ปฏิบัติธรรมะในพระพุทธศาสนา เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก็ต้องมองที่ตัวก่อน ว่าเราบกพร่องอะไร? เรามีความผิดอะไร? แล้วจึงคิดแก้ไขสิ่งนั้น แก้ที่ตัวเรา อย่าไปคิดแก้คนอื่น สามี-ภรรยาที่อยู่ด้วยกันแล้วไม่ค่อยจะเรียบร้อย มักจะทะเลาะกันบ่อยๆ มีเรื่องระหองระแหงกันบ่อยๆ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรม ไม่ได้ปฏิบัติธรรมในข้อที่ว่า ไม่รู้จักดูตัวเอง ไม่รู้จักมองตัวเองเพื่อให้รู้ว่าตัวเองนั้นได้ทำความผิดอะไร? ได้มีความบกพร่องในเรื่องใดเกิดขึ้น? อันนี้ จะทำให้เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา และไม่ยอม ไม่มียอมรับว่าผิด สามีก็ไม่ยอม ภรรยาก็ไม่ยอม ต่างคนต่างแข็งข้อเข้าหากัน ก็มีแต่เรื่องทะเลาะกัน มีแต่เรื่องบาดหมางใจกันตลอดเวลา
ความบกพร่องมันอยู่ที่ว่า ต่างคนต่างนึกว่า ตัวถูก เสมอไป เมื่อใดที่เรานึกว่า เราถูก นั่นแหละคือ เรากำลังผิดแล้ว แต่ถ้าเมื่อใดเราคิดว่า ฉันผิด-เมื่อนั้นเริ่มจะดีแล้ว ถ้าเรารู้สึกตัวว่าเราผิดแล้วก็-เราจะดีขึ้นแล้ว แต่ถ้าสำคัญว่า ฉันถูก ฉันถูก ฉันทำถูก เขาไม่ยุติธรรมต่อฉัน เขามองฉันในแง่ร้ายก็ยิ่งไปกันใหญ่ เรื่องมันจะไม่จบ ไม่สามารถจะปรับตัวเองได้ แต่ถ้าเมื่อใดเราสำนึกได้ว่า ฉันเป็นผู้ผิด และก็คิดแก้ไขปรับปรุงตัวเราให้ดีขึ้น สิ่งทั้งหลายมันก็เรียบร้อยขึ้นมาเท่านั้นเอง
อันนี้ เป็นหลักสำคัญอันหนึ่งในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรา คือ เราจะต้องรู้จักตัวเราว่าอยู่ในฐานะอะไร? ถ้าเราเป็นผู้น้อย-ก็อยู่อย่างผู้น้อยสิ ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่-ก็อยู่อย่างผู้ใหญ่ อย่าเที่ยวทะลึ่งไปเป็นให้มันผิดที่ผิดทาง การใช้คำว่า ทะลึ่ง มันค่อนข้างจะหยาบคายไปก็ได้ แต่ก็ไม่รู้จะใช้คำว่าอะไรดี มันก็ต้องว่าอย่างนั้นแหละ เรียกว่า ทะลึ่งออกไป เที่ยวออกไปนอกลู่นอกทางอะไรต่างๆ เป็นเรื่องที่ใช้ไม่ได้ทั้งนั้น เรื่องมันก็จะไม่เรียบร้อย นี่ เรียกว่าให้รู้จักตัวเราว่าเราเป็นอะไร? เราเป็นเพศอะไร? เราเป็นผู้หญิง เราเป็นผู้ชาย ผู้หญิงควรจะทำตนอย่างไร? ผู้ชายควรจะทำตนอย่างไร? ก็ต้องทำตนให้มันเหมาะกับฐานะของเพศที่เราเป็น หรือว่าเราเป็นเด็ก เป็นอะไรก็ทำให้มันถูกเรื่องตามฐานะ ตามตำแหน่ง เรื่องมันก็จะไม่วุ่นวายสับสนอะไร หรือว่าคนเป็นครู ก็ต้องทำตนให้สมกับตำแหน่งของความเป็นครู เป็นศิษย์ก็ทำตนให้สมกับตำแหน่งของความเป็นศิษย์ อย่างนี้เรียกว่า เรารู้จักตัวเรา ปรับปรุงตัวเราให้มันเหมาะมันสมแก่ตำแหน่งนั้นๆ ก็เรียกว่า เป็นผู้รู้จักตัวเองในแง่สังคม ในแง่ศีลธรรมที่เราควรจะอยู่ด้วยกัน
เป็นพระเป็นสงฆ์ก็ต้องรู้เหมือนกันว่าเราเป็นพระ เราควรจะประพฤติอย่างไร? ควรจะปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะเป็นการเรียบร้อยถูกต้อง? ไม่อย่างนั้นแล้วมันก็ไม่ไหว เมื่อวันที่ ๑๙ ไปที่จังหวัดลพบุรีไปงานทำบุญอายุโยมคนหนึ่ง นิมนต์พระมาตั้ง ๙๐ รูป แล้วโยมนั้นก็ถวายบุหรี่ใส่จานวางไว้ วางไว้ พอมาถึง ๙๐ รูปนี้สูบบุหรี่กันทุกรูปเลย ควันโขมงไปหมดเลย อาตมาไปนั่งอยู่ในท่ามกลางของควันบุหรี่จะไออกมาให้ได้ มันจะสำลักออกมาให้ได้ จะพูดบอกก็ดูใช่ทีเพราะว่าไม่คุ้นกันหนึ่ง แล้วก็ผู้ใหญ่ คือ ชั้นเจ้าคณะอำเภอ ท่านก็สูบด้วยเหมือนกัน แล้วลูกน้องก็สูบตามท่านกันไป ซึ่งความจริงมันไม่เหมาะในเวลาเช่นนั้น อยากจะบอกว่าไม่ควรจะสูบในที่สาธารณะ ถ้าหากว่าจะสูบก็ควรสูบในห้อง ในกุฏิของตัว แต่ถ้าไม่สูบเลยนั้นมันวิเศษเลย
แต่นี้เราชาวบ้านก็เหมือนกัน ทำไมชอบเอาบุหรี่ไปถวายพระ? ทำไมชอบเอาหมากไปถวายพระ? อยากจะบอกให้โยมรู้ไว้ว่า อย่าถวายสิ่งเป็นพิษแก่พระสงฆ์ หมากก็เป็นพิษนะ โยมติดอยู่แล้วก็อมไปเถิดฉันไม่ว่าอะไร แต่ว่าอย่าให้คนอื่นติดกับมันอีกเลย บุหรี่ก็เหมือนกันนะเราไม่ควรเอาไปถวายพระ เวลามีงานมีการเราไม่ถวาย เราถวายแต่น้ำเย็นหรือน้ำร้อนให้ท่านฉัน ไม่ถวายบุหรี่ ถ้าพระท่านบอกว่า โยมไม่เห็นเอาบุหรี่มาถวาย บอกตรงๆว่าท่านปัญญาแกสอนไม่ให้ถวาย ให้พระด่าอาตมาเอง-ไม่เป็นไร เขาจะด่าอาตมา อาตมาไม่เจ็บหรอกเรื่องถูกด่านี่ ไม่เป็นไร แต่ว่าเราช่วยกันแก้ปัญหาในเรื่องอย่างนี้ให้เป็นการเรียบร้อยขึ้น ก็จะการช่วยให้สิ่งทั้งหลายในวงการพระศาสนาเรานี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ดีงามขึ้น
อันนี้ ได้พูดกับพระบ่อยเหมือนกันนะ ถ้ามีการประชุม ประชุมพระ ประชุมอบรมอุปัชฌาย์อะไร ถ้าได้พูดก็พูดทุกที แต่ว่าพูดแล้วก็อย่างนั้น ไม่มีใครเขาเอา-ลำบาก เพราะว่าเขาฟังแล้ว เขาเฉยๆ-ไม่เอา ไม่รับสิ่งที่ควรรับ ไม่แก้สิ่งที่ควรแก้ แล้วมันจะดีขึ้นได้อย่างไร? นี่ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้น เราจะต้องศึกษาเรื่องของตัวเราให้เข้าใจ นี่แง่หนึ่ง
ทีนี้ เรามาศึกษาเรื่องของตัวเราสูงขึ้นไปกว่านั้น คือ ในแง่ของสัจจะธรรม ให้รู้จักตัวเราในแง่สัจจะธรรม ถ้าพูดในแง่สัจจะธรรมแล้ว ก็พูดว่า ตัวเรานั้นไม่มีหรอก ที่ว่ามีนั้นเป็นการพูดโดยแง่ศีลธรรม โดยแง่สมมติ สมมติว่าเป็นอย่างนั้น สมมติว่าเป็นอย่างนี้ สมมติว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นต้นไม้ เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นหญิง เป็นชาย เป็นอะไรอะไรต่างๆ นี่เรียกว่า พูดในแง่สมมติ สมมตินี้ก็เป็นเรื่องของความจริงอันหนึ่งเหมือนกัน แต่ว่าจริงโดยสมมตินะ ไม่ได้จริงโดยความจริงแท้ ในภาษาพระก็เรียกว่า สมมติสัจจะ / ปรมัตถ์สัจจะ
สมมติสัจจะ คือ จริงตามโลกสมมติ โลกสมมติว่าเป็นหญิง-ก็หญิงจริง เป็นชาย-ก็เป็นชายจริง สมมติว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นนั่น เป็นนี่ นั่นก็เป็นโดยสมมติกัน ว่าในรูปอย่างนั้น
แต่ว่าถ้าพูดในแง่ ปรมัตถ์ ในอรรถส่วนลึกเป็นสัจจะกันแล้ว เรื่องสมมตินั้นมันไม่มีตัวจริงอะไร เขาตั้งกันขึ้น เช่น ชื่อคนนี่ เราก็ตั้งชื่อให้ว่า นายแก้ว นายจัน นายมั่น นายดี นี่ ชื่อสมมติ ทำไมจะต้องสมมติขึ้นด้วยเล่า? มันจะได้เรียกกันถูก เช่นว่า มั่นเอ๊ย คนชื่อมั่นก็ยอมรับว่าเขานี่แหละชื่อมั่น เขาก็ขานรับ แก้วเอ๊ย ดีเอ๊ย เขาก็ขานรับกัน ถ้าไม่มีชื่อแล้วจะพูดกันอย่างไร? เราจะเอ่ยถึงใครก็ต้องว่า คนนั้น คนโน้น คนนี้ คนนั้น มันไม่พอ นั่น นี้ โน่น มี ๓ คำเท่านั้นเองแล้วก็ถ้าเหลือนั้นเราจะว่าอย่างไร? เราจะเอาอะไรมาใช้? มันไม่สะดวก ดังนั้น จะต้องตั้งชื่อนะสำหรับเรียกขานกัน ตั้งชื่อแล้วในชื่อนี้มันก็ยังไม่พอ เรายังสมมติว่าเป็นคนภาษานั้น ภาษานี้ เช่น เป็นฝรั่ง เป็นชาวเอเชีย เป็นอินเดีย เป็นลังกา เป็นพม่า เป็นไทย เป็นญวน เป็นเขมร ก็เป็นเรื่องสมมติ เรียกกันตามภาษาของคนเหล่านั้น คนพูดภาษาไทยก็เรียกว่าคนไทย พูดภาษาอินเดียก็เรียกว่าคนอินเดีย พูดภาษาอะไรเราก็เรียกตามภาษานั้น อันนี้มันเป็นเรื่องสมมติเท่านั้นเอง
พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างไรในเรื่องนี้? ท่านบอกว่า ให้รู้ว่าอะไรเป็นเรื่องสมมติ อะไรเป็นเรื่องแท้จริง สิ่งใดที่เป็นเรื่องสมมติ อย่าไปติดกับมันมากเกินไป อย่าไปหลงใหล ยึดถือในเรื่องที่สมมติ ถ้าจะหลงใหล ยึดถือในเรื่องที่สมมติมันก็เป็นทุกข์อีก เป็นทุกข์ในเรื่องสิ่งเหล่านั้น เช่น เราชื่ออย่างนั้น ถ้าเขาด่าว่า “ไอ้มั่น มึงน่ะใช้ไม่ได้” เราไปติดคำว่า ชื่อมั่น แล้วเราคิดว่า มันด่ากูนี่ แล้วเราก็โกรธขึ้นมาทันที แต่ถ้าเราไม่ติดอย่างนั้น ไอ้ชื่อนี้มันของสมมติ เขาด่านี้ก็เป็นคำสมมติขึ้นเหมือนกัน เราไม่เจ็บ เราไม่ทุกข์ ไม่ร้อนกับคำเหล่านั้น มันเป็นสักแต่ว่าความเคลื่อนไหวของปาก แล้วลมมันออกมา แล้วมันมีเสียงปรากฏ แล้วมันก็หายไป-ไม่มีอะไร มีแต่เรื่องเกิดขึ้น ตั้งอยู่นิดหน่อยแล้วก็ดับไป เราไม่ไปยึดถือ ใครจะด่าเราก็เฉยๆ ได้ยินนะแต่ว่าเราเฉยๆ เราไม่โกรธ ไม่เคืองต่อคนด่า คนว่า เพราะไอ้คนด่ามันก็คนสมมติ ไอ้ผู้ถูกด่ามันก็ตัวสมมติเหมือนกัน ไม่ใช่ตัวแท้ตัวจริงอะไร
คำด่าคำว่าก็พูดสมมติกันขึ้น เราสมมติคำพูดอย่างนั้นว่าสุภาพ อย่างนั้นว่าเป็นคำหยาบ แต่เนื้อแท้มันคืออะไร? มันคือ เสียงที่เปล่งออกมาในรูปที่เป็นภาษาเท่านั้น แต่ว่าเราไปตั้งให้ว่ามันเป็นเสียงดี เสียงไม่ดี เสียงเพราะ เสียงไม่เพราะ เสียงหยาบ เสียงหวาน พอเสียงหวานหน่อยเขาก็ว่าไปเท่านั้นเอง ถ้าพูดเพราะก็ต้องหวานหู พูดหยาบก็ว่า แหม มันสากหูเหลือเกิน ฟังแล้วมันไม่ชื่นอกชื่นใจ อันนี้เป็นเรื่องสมมติที่เราตั้งขึ้น แล้วเราก็ไปติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น มันก็ทำให้เกิดเป็นเรื่องเป็นราว
เรื่องสมมติแล้วก็ไปยึดถือนี้เป็นเหตุให้ทำสงครามกันก็ได้ รบราฆ่าฟันกัน สงครามที่เกิดขึ้นในโลกนี้ก็เพราะเรื่องติดสมมตินั่นเอง ชาตินั้น ชาตินี้ พวกนั้น พวกนี้ แล้วก็ยกพวกตีกัน ยกพวกไปฆ่าไปฟันกัน ที่ยกพวกไปฆ่ากันไปทำสงครามกันนี้ มันแตกต่างอะไรจากสัตว์เดียรัจฉานกัดกันบ้าง? ลองคิดดู
พูดไปแล้วเหมือนกับว่าหยาบคาย แต่ถ้าคิดดูนะ สุนัขมันยกพวกมากัดกัน หน้าฝนอึ่งอ่างมันมากัดกัน คางคก คางคกมันมาเป็น ๒ พวกเลย ยกพวกมากัดกัน กัดกันเป็นร้อยๆ ไม่เคยพบเคยเห็นเมื่อครั้งเด็กๆ คางคกพวกข้างละร้อยกว่าตัว มากัดกันเต็มไปหมด นั่นมันสัตว์เดียรัจฉานกัดกัน แล้วคนเราที่ยกกองทัพไปกัดกันนี้ มันจะแตกต่างอะไรจากคางคกที่ยกพวกมากัดกัน หรือว่าแตกต่างอะไรกับสุนัขที่มันมาพบกันในวัด แล้วมันก็เห็นว่าเป็นพวกแปลกหน้า แล้วมันก็เข้ามากัดกัน
สภาวะทางจิตของคนตกต่ำลงไป จนเหมือนกับสัตว์เดียรัจฉาน ทำให้เกิดการรบราฆ่าฟันกัน แต่ว่าโลกมันก็สมมติไปอีกอย่างหนึ่ง สมมติว่าเป็นเรื่องมีเกียรติไป ไปฆ่ากันนี้-มีเกียรติ แล้วถ้าใครฆ่าใครได้มากได้รับชัยชนะ เขาต้องสร้างอนุสาวรีย์ไว้เป็นอนุสรณ์ว่าคนนี้ฆ่าคนเก่ง มันไม่ใช่คนดีเด่นอะไรหรอก แค่ว่าเป็นคนฆ่าคนเก่ง มีสมอง มีปัญญาวางแผนฆ่าคนได้แนบเนียน แล้วก็ได้ชัยชนะ มันก็เท่านั้น ถ้าเรานึกดูให้ดีแล้วมันก็เหมือนกับยกพวกตีกัน นักเรียนโรงเรียนอาชีวะยกพวกตีกัน มันก็เหมือนกับว่า อะไร อะไรยกพวกไปกัดกันนั่นแหละ มันไม่ได้แปลกอะไรหรอก
ถ้าเราคิดไปถึงอย่างนั้น เราจะไม่ยกพวกตีกันอีกต่อไป เราจะนึกว่า เรามันลดตัวลงไป มันต่ำลงไปเหลือเกิน เด็กหนุ่มๆนี้ก็คิดไว้ให้ดีนะ พวกเราพวกหนุ่มๆเตรียมจ่าอากาศ ยังไม่เคยยกพวกไปตีกับใครเพราะมันอยู่ห่างเพื่อนพวกนี้ ที่เรียนมันห่างกันนัก ยกไปตีกันไม่ไหว แต่ถ้าอยู่ใกล้ๆกันแล้วมันไม่ค่อยได้ มันตีกัน บางแห่งยกพวกไปกัน เหมือนกับโรงเรียนเทคนิคสงขลา ตั้งอยู่ที่คอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ โรงเรียนเกษตร ตั้งอยู่อำเภอรัตภูมิ มันยังยกพวกจะมาตีกันได้ แต่ว่าอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเทคนิครู้ทัน ไปดักห้ามทัพ ไปดักก่อนที่จะมาถึงตัวตลาด ไปดักแล้วก็ให้หยุด แล้วก็พูดจาทำความเข้าใจกัน ครูใหญ่นั้นแกพูดเก่ง แกพูดจนเด็กนักเรียนเกษตรนั้นถอนทัพกลับไปสู่ที่มั่นเดิม แล้วก็ไม่ยกทัพมารบกับพวกเทคนิคต่อไป ไม่อย่างนั้น ถ้ามันมาเจอกันน่าจะสนุกกันใหญ่ เรียกว่า ต่างฝ่ายต่างกล้า ต่างแข็ง ต่างแรง ต่างจะเอากันตีกันแหลกวินาศสันตะโรไป เพราะเขาคิดไม่ได้
ในขณะที่เกิดโมหะครอบงำจิตนั้นมันคิดไม่ได้ ว่าเรากำลังทำอะไร เราทำถูกหรือว่าเราทำผิด? เราทำดีหรือว่าเราทำชั่ว? เราคิดไม่ได้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสไว้ในที่แห่งหนึ่งว่า ในหมู่คนที่กำลังจะทำให้ตนวินาศนั้น ถ้ามีความคิดขึ้นเพียงสักคนเดียวว่า เรากำลังจะแย่ ความคิดนั้นจะทำให้เกิดความสงบขึ้น ถ้าคิดขึ้นสักคนหนึ่งว่า เรากำลังจะแย่ คนนั้นจะหยุด ไม่ไปทำอะไรต่อไปเพราะคิดได้ แล้วถ้าคิดได้กันหลายๆคนมันก็หยุดนั่นแหละ แต่ว่ามันหยุดไม่ได้เพราะอะไร? เพราะว่ามีการเจ็บใจกัน ปลุกใจ ปลุกระดมกันให้คนไปทำความเสียหาย ให้ผิดศีลผิดธรรมกัน ยกพวกไปตีกันก็ปลุกระดมว่าเราต้องไปรบ เพื่อเป็นเกียรติแก่พวกเราอะไรต่างๆ นาๆ คนมันก็คิดไปในทางอย่างนั้น แล้วก็ไม่ได้คิดในทางสงบเลย คิดแต่จะต้องฆ่าต้องฟันกัน
ในหนังสือของพวกอินเดียเขามีอยู่เรื่องหนึ่ง เรียกว่า ภควัทคีตา เป็นข้อความตอนหนึ่งในเรื่องภารตะยุทธ ภารตะยุทธนี้คือเรื่องรบ เรื่องสงครามระหว่างพี่กับน้อง ลูกพี่-ลูกน้องกัน เมื่อมันเกิดขัดอกขัดใจกัน แย่งราชสมบัติกัน แล้วก็ออกไปรบกันที่ทุ่งกุรุเกษตร คือทุ่งนานั่นแหละ แปลเป็นไทยก็คือทุ่งนาใหญ่ ยกกองไปรบกันที่นั่น แต่ว่าการรบในสมัยก่อนนั้นเขายังดีอยู่หน่อย รบเฉพาะกลางวัน พอย่ำ พอตะวันตกดินก็ถอยทัพกลับ ไม่มีการแอบไปซุ่มโจมตีกัน ไม่มีการขว้างระเบิดกัน ไม่มี อาร์ พี เจ ที่จะยิงเข้าไปในค่ายเหมือนกับในสมัยนี้ แม่ทัพทั้ง ๒ ฝ่ายนอนสบาย ไม่ต้องกลัวว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะมาตี เป็นการรบที่มีกติกา มีระเบียบ ไม่ฝืนระเบียบ-ค่อยยังชั่วหน่อย เหมือนกับมวยปล้ำของอังกฤษที่มีกติกาหน่อย แต่ถ้ามวยปล้ำอเมริกันแล้วพอเพื่อนล้มลงไปแล้วก็กระทืบเลยทีเดียว ไม่ค่อยมีกติกามวยปล้ำของอเมริกันนี่ ไปดูมวยปล้ำสมัยก่อนที่เขาเอามาออกนะ ไม่ให้ฝืนกติกา-ไม่ได้
สมัยนั้นเขารบมีกติกา ในวันออกรบนี้ อรชุนซึ่งออกไปสู่สนามรบจะไปรบกับอีกพวกหนึ่ง พวกญาติกัน ไปยืนในสนามรบแล้วก็มองไป มองแล้วสลดใจ สลดใจว่าเรานี้กำลังจะฆ่าญาติกัน นั่นมันญาติเราทั้งนั้นและเรากำลังจะฆ่าญาติของเรา ให้เลือดนองท่วมทุ่งกุรุเกษตร มันเป็นการถูกต้องหรือในการกระทำเช่นนี้? แล้วก็นั่งลงวางลูกศรวางคันศรว่าไม่อยากจะรบแล้ว แล้วก็มีกฤษณา/พระกฤษณานี้เขาถือว่าเป็นอวตาลของพระวิษณุมาเกิดเชียวแหละ เป็นผู้ขับรถให้อรชุน กฤษณะนี้เขาก็เทศน์นะ พระกฤษณานี้แกก็เทศน์สอนอรชุน บอกว่าเธออย่าท้อแท้ อย่าอ่อนแอ เธอนั้นเป็นกษัตริย์ กษัตริย์ต้องรบ รบเพื่อหน้าที่ เพราะฉะนั้น อย่าอ่อนแอ อย่านึกว่าเราฆ่าใคร เราทำร้ายใคร เราทำกันไปตามหน้าที่ เป็นการสอนให้รบนั่นแหละ แต่ว่าให้นึกถึงหน้าที่ว่าเราจะต้องทำ แทนที่จะบอกว่าไม่ต้องรบกันเพราะเป็นญาติกัน-ไม่สนุก พูดอย่างนั้นเรื่องมันไม่สนุก แล้วเรื่องมันก็จะจบไปต้องให้มันรบกันหน่อยจะได้สนุกกันใหญ่ เลยพูดให้รบกัน เลยรบกันจนวินาศสันตะโรไป อย่างนี้เขาเรียกว่าปลุกระดมให้คนรบกัน
ในเวลาที่ชาติ ๒ ชาติจะรบกันนี้ก็ต้องมีการปลุกระดมให้รบ ถ้าใครไปพูดเรื่องสงบคนนั้นก็ต้องเข้าคุกทันที เขาจับเข้าคุกหาว่าเป็นพวกนิยมสันติ นิยมความสงบ การนิยมความสงบนั้นมันถูก แต่ว่ามันผิดเวลา ผิดสถานที่ ผิดเหตุการณ์ไปพูดเช่นนั้นไม่ได้ เขาต้องจับให้ไปสงบอารมณ์ในคุก แกไม่อยากรบก็ไปนอนในคุกก่อน ให้เขารบกันให้เสร็จค่อยปล่อยออกมา ก็ถูกจับเข้าคุกไปเท่านั้นเอง อันนี้เป็นเรื่องที่เรียกว่ามันติดอยู่ในเรื่องสมมติมากไปหน่อย จึงได้เกิดการประหัตประหารกัน สร้างความทุกข์ความเดือดร้อน เราจึงควรจะได้รู้จักแยกว่าอะไรเป็นเรื่องจริง อะไรเป็นเรื่องสมมติ สิ่งใดที่เป็นเรื่องสมมติ เราก็อย่าไปติดพันมันให้มากเกินไป ให้รู้ว่ามันเป็นเรื่องสมมตินะไม่ใช่เรื่องจริงจังอะไร มันจริงตามแบบสมมติเท่านั้น ไม่ใช่จริงจังตามแบบสัจจะอันแท้จริง เราก็ไม่ควรจะไปหลงใหล มัวเมาในสิ่งเหล่านั้น รู้จักปล่อย รู้จักวางเสียบ้างใจก็สบาย จะไม่สร้างปัญหา การรู้ในเรื่องนี้มันก็ช่วยให้เกิดความสงบใจได้
ทีนี้ ถ้าพูดในแง่สัจจะ-ความจริงแท้ ความจริงแท้นี้มันไม่มี พระพุทธศาสนาสอนเรื่องไม่มี ส่วนลึกคือเรื่องไม่มี คือไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีอะไรทั้งนั้น นี่มันเป็นเรื่องลึกซึ้งที่จะต้องคิดกันอย่างละเอียด แต่ถ้าคิดง่ายๆว่าไม่มีอะไรหรอก ทุบหัวมันเลย นี่ก็ไม่ได้เหมือนกัน อย่างนั้นมันเรียกว่า ทำผิดกติกาอีกเหมือนกัน เขามีกติกาในสังคมนี้ว่า จะต้องอยู่อย่างนั้น จะต้องอยู่อย่างนี้ อย่าเอามาปนกัน เรื่องคิดลึกซึ้งเป็นเรื่องเฉพาะคน เป็นเรื่องพ้นทุกข์เฉพาะตัว แต่เราอยู่ในสังคม อยู่ในหมู่ในคณะเราก็ต้องรับกติกา ยอมรับความจริงตามแบบสมมติไว้ จะไปทำอะไรโดยให้คนอื่นเดือดร้อนไม่ได้ แล้วจะอ้างว่า อ้าว มันก็ไม่มีตัวตนอะไรนี่-อย่างนั้นมันก็ไม่ได้
เหมือนนักธรรมะ ๒ คนนั่งคุยกัน คนหนึ่งว่า สิ่งทั้งหลายนั้นเป็นอนัตตา มันไม่มีตัวมีตนอะไรหรอก อีกคนหนึ่งว่า อ้อ มันเป็นอนัตตานะ มันไม่มีตัวไม่มีตนนะ ถ้าจะตีแกก็ตีได้ไหม? จะมาทำอย่างนั้นมันก็ไม่ได้สิ ไอ้ตัวที่มันไม่มีนี่มันจะลุกขึ้นเตะเอามั่งแกเตะข้า ข้าก็เตะแกมั่ง เพราะว่ามันยังเป็นตัวนั่งอยู่ตรงนี้ นี่ มันเป็นอย่างนั้น เราจะเอาไปใช้ในรูปนั้นไม่ได้ แต่เราจะต้องใช้เฉพาะตัวว่า มันไม่มีอะไรที่ควรจะเข้าไปสร้างขึ้นเป็นเนื้อ เป็นตัว เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขาขึ้นมา มีอะไรเกิดขึ้นก็นึกแต่เพียงว่า มันเป็นเพียงสักแต่ว่าธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น มันเป็นเพียงสักแต่ว่าธาตุตามธรรมชาติที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อย่าไปสมมติเรียกว่าอะไร อะไรขึ้นมา ให้เรียกว่า ธรรมชาติ ธรรมชาติที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีอะไรที่ยิ่งไปกว่านั้น รู้จักแบ่งสมมติ-รู้จักแบ่งตัวความจริงให้มันไม่ปนกันเข้า แล้วก็รู้จักใช้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องสัจจะ คือ ความจริง กับ เรื่องสมมติให้มันพออยู่กันได้ เข้าใจใช้ก็เรียกว่าเป็น ผู้มีปัญญา อยู่ในสังคมโดยไม่ต้องเป็นทุกข์ ไม่ต้องมีความเดือดร้อนมากยิ่งขึ้นไป
ให้รู้จักตัวเราในรูปอย่างนี้ เรียกว่า รู้จักในแง่ปรมัตถ์ คือ ความไม่มีอะไร มันเป็นเพียงสักแต่ว่ารวมกลุ่มกันเข้า แล้วก็ไหลไปตามอำนาจของการปรุงแต่ง เช่น ร่างกายของเรานี้มันเป็นการรวมกลุ่มของวัตถุธาตุในประการต่างๆ แต่อาศัยต้นตอคือพ่อ/แม่เป็นผู้ให้กำเนิด แล้วเราก็เกิดออกมาเป็นตัวเป็นตนดังที่เราเห็นกันอยู่นี้ แล้วมันก็เจริญขึ้นเพราะการกินอาหาร การดื่มน้ำ การสูดลมหายใจ นั้นเป็นเรื่องของธรรมชาติ ที่เป็นไปในรูปอย่างนั้น แล้วพอมันถึงที่สุดมันก็แตกดับไป เมื่อเจริญถึงที่สุดมันก็ต้องแตกดับไป สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิด-สิ่งนั้นต้องมีความดับ
อันนี้ก็เป็นสัจจะ-เป็นความจริงที่พระพุทธเจ้าวางหลักไว้ให้เราพิจารณา หลักอันนี้ก็เอามาจากสิ่งที่ได้เห็นอยู่ทุกวันเวลา ว่าสิ่งใดมีความเกิด-สิ่งนั้นก็ต้องมีความดับ เมื่อเกิดแล้วมันก็ต้องดับ ไม่เกิดมันจึงจะไม่ดับ แต่ถ้าเกิดแล้วมันก็ดับอยู่นั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นรูปหรือเป็นนาม รูป ก็คือ ร่างกายของเราทั้งหมด ตั้งแต่ปลายผมถึงปลายเท้า ความกว้างยาวก็ยาววาหนึ่ง หนาคืบหนึ่ง กว้างศอกหนึ่ง อันนี้เรียกว่าเป็นเรื่องร่างกาย เรื่องร่างกายมันเป็นเรื่องของวัตถุ เป็นเรื่องวัตถุจึงเรียกว่า ธาตุ / ธาตุ ก็คือ วัตถุที่มารวมตัวกันเข้าตามกฎของธรรมชาติ จึงเกิดมาเป็นตัว เป็นรูป เป็นร่าง ก็เรียกโดยสมมติว่า เป็นคนขึ้นมา เป็นสัตว์ขึ้นมา ตั้งชื่อให้เพื่อจะให้เห็นว่ามันแตกต่างกัน แต่เนื้อแท้มันก็เหมือนกัน เหมือนกันตรงที่ว่ามีเกิด มีแก่ มีเจ็บ แล้วก็มีตาย อันนี้เหมือนกันไม่แตกต่างอะไรกัน ไม่ว่าคน ว่าสัตว์ ว่าต้นไม้ มันก็อยู่ในสภาพอย่างนั้น นี่คือ ฝ่ายรูปธรรม เราจะต้องพิจารณาให้เห็นให้เข้าใจในเรื่องอย่างนี้
การพิจารณาในรูปอย่างนี้จะช่วยอะไรได้บ้าง? คือ ช่วยให้เราเข้าใจในสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริง เพราะไม่เข้าใจถูกต้อง-เราจึงมีความทุกข์ มีความเศร้าโศก ร่ำไร รำพันในเมื่อสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไป เช่น ร่างกายของเรานี้มันก็แก่ไปตามเรื่องของมัน แต่ว่าพอเราเห็นผมหงอกสักเส้น-เราไม่สบายใจ ความปวดสักที่-เราก็ไม่สบายใจ ผิวหนังเหี่ยวแห้งไปสักหน่อย-เราก็ไม่สบายใจ ต้องคิดแก้ไขปรับปรุงเป็นการฝืนธรรมชาติ ฝืนไม่ได้ ฝืนไม่ให้ผมหงอกไม่ได้ ฝืนไม่ให้ฟันหลุดนั้นก็ไม่ได้ ฝืนไม่ให้หนังเหี่ยวก็ไม่ได้ มันต้องเหี่ยวไปตามวัย ตามอายุ ตามเครื่องปรุงแต่ง ถ้าเครื่องปรุงแต่งน้อยมันก็เหี่ยวเร็ว ถ้าปรุงแต่งดีมันก็เหี่ยวช้า ขึ้นอยู่กับอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ว่ามีคุณค่าในการสร้างสรรค์ร่างกายขนาดไหน มันขึ้นอยู่กับเรื่องอย่างนั้น ถ้าเครื่องประกอบมันไม่พร้อม มันก็แก่ไป เหี่ยวแห้งไป ตามเรื่องของสังขารร่างกาย เป็นกฎธรรมชาติที่ไม่มีใครจะหนีพ้นไปได้
อันนี้เป็นเรื่องที่เรารู้แล้ว-เราสบายใจ เมื่อเห็นว่ามันเปลี่ยนแปลงเราก็พูดได้ว่า มันก็เป็นเช่นนี้เพราะธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ เราบอกกับตัวเองได้ทันทีว่า ก็ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้นนี่นาเราจะไปทุกข์อะไร จะไปร้อนอกร้อนใจอะไรในเรื่องอย่างนั้น หรือว่ามีความตายเกิดขึ้นในครอบครัวของเรา ถ้าเราเศร้าโศกเราเสียใจ มันไม่ได้อะไรนอกจากทำให้เราเป็นทุกข์หนักขึ้นไป ไม่เป็นอันทำมาหากินเพราะมัวแต่เศร้าโศก เสียอกเสียใจ และไม่มีอะไรเกิดขึ้นมา แต่ถ้าเราปลงลงไปได้ว่า ก็เรื่องธรรมดานี่นา คนเรามันก็ต้องตายด้วยกันทั้งนั้นแหละ ตายในท้องก็มี ออกมาถึงตายก็มี มันก็เป็นอย่างนี้ ไม่มีใครอยู่ยืนค้ำฟ้าหรอก แม้จะอยู่ไปได้เกินร้อยปีมันก็ต้องตาย ไม่มีใครที่จะไม่ตาย คิดได้ก็พอปลงพอวาง จิตใจก็สว่างขึ้นด้วยปัญญา คลายจากความทุกข์ความเดือดร้อน
ทรัพย์สมบัติที่เรามีก็เหมือนกัน เมื่อเราได้มา-มันก็ต้องหายไป ได้กับไม่ได้-มันก็คู่กัน มีกับไม่มี-มันก็คู่กัน สุขกับทุกข์-มันก็คู่กัน เราต้องรู้ว่าสิ่งทั้งหลายมันเป็นคู่ เมื่อเกิดสิ่งหนึ่งขึ้น ก็อาจจะมีสิ่งหนึ่งเกิดตามมา เช่น เกิดมี มันก็คงจะเกิดไม่มีด้วย ในความจริงนั้นมันไม่มีก่อน เริ่มต้นนั้นมันไม่มีแล้วมันก็ค่อยมีขึ้น มีแล้วมันก็กลับไปสู่ความไม่มีอีก มันก็อย่างนั้น ลองสังเกตดูเราได้อะไรมา เมื่อก่อนนี้เราไม่มีสิ่งนั้นแล้วเราได้มา พอได้มาจิตก็ไปยึดอยู่กับสิ่งที่เราได้มา ยึดว่า ของฉัน ของฉัน อยู่ตลอดเวลา แล้วต่อมามันเปลี่ยนแปลงไป แตกไป หักไป หรือว่าขโมยมาฉกเอาไปเสีย เราก็เสียอกเสียใจ กินไม่ได้ นอนไม่หลับเอาทีเดียวเพราะนึกถึงของนั้น อันนี้ ไม่ได้ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา ไม่รู้จักเรื่องของตัวถูกต้องจึงเป็นทุกข์ แต่ถ้าเรานึกได้ว่า เอ เมื่อก่อนเรามีหรือเปล่า? เราไม่มี แล้วเรามามีขึ้นในสมัยหนึ่ง แล้วมันก็กลับเป็นไม่มี ก็เท่ากับว่าไปสู่ภาวะเดิมของมันนั่นเอง เพราะเดิมนี้เราไม่มี แล้วเรามามีขึ้น แล้วกลับมาไม่มี ก็หมุนกลับไปสู่ภาวะเดิม มันเป็นวงเวียน เป็นกงจักรที่หมุนอยู่อย่างนั้น ฉะนั้น เราจะไปติดมันทำไม มันก็อย่างนี้แหละ คนในโลกมันเหมือนกันทุกคนนะ มีแล้วก็ไม่มี ได้แล้วมันก็ไม่ได้ อะไรต่ออะไรมันก็เป็นอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่มีอะไรที่เรียกว่าคงทนถาวร เป็นอยู่ในรูปอย่างนั้นตลอดเวลา ไม่ต้องพูดนานหรอก วินาทีเดียวก็ไม่ได้ ที่จะอยู่ในสภาพเดิมนะวินาทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะมันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา-อย่าถือยึด ร่างกาย-จิตใจเราเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรหยุดนิ่ง นี่คือความจริงที่เราจะต้องศึกษาให้รู้ ให้เข้าใจไว้
พระพุทธศาสนาสอนให้เรารู้ความจริงของสรรพสิ่งทั้งหลาย ตามสภาพที่เป็นจริง ก็เพื่อให้เราไม่ต้องเป็นทุกข์ในเมื่อสิ่งนั้นมันเปลี่ยนแปลงไป เพราะสิ่งทั้งหลายต้องเปลี่ยนแปลง ที่จะหยุดนิ่ง-ไม่ได้ ถ้าหยุดนิ่งมันตาย แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นหมายความว่าเป็นอยู่ ต้นมีชีวิตอยู่ก็เพราะว่ามันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คนมีชีวิตก็เพราะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าหยุดเปลี่ยนแปลงเมื่อใดมันก็ต้องแตกดับเมื่อนั้น การหยุดเปลี่ยนมันก็เป็นเรื่องธรรมดา การเปลี่ยนมันก็เป็นเรื่องธรรมดา เราจึงต้องรู้ว่า ธรรมดามันเป็นอย่างนี้ เราหนีจากความเป็นอย่างนี้ไปไม่ได้ ให้เข้าใจอย่างนั้น
ความรู้ในเรื่องธรรมชาติเกี่ยวกับตัวเราเป็นเรื่องที่สำคัญ อันจะเป็นเรื่องที่จะช่วยปลอบโยนจิตใจในเมื่อเราเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนขึ้นมา แก้ได้ด้วยความเข้าใจอย่างนี้ แต่คนไม่สนใจที่จะศึกษาหาความรู้อย่างนี้ไว้ พอมีอะไรเกิดขึ้นก็นั่งคอตกเลยทีเดียว จะตายขึ้นมาแล้ว เสียอกเสียใจ ไม่เป็นอันกิน ไม่เป็นอันนอนแล้วเพราะเรื่องนี้มันเกิดขึ้น ราวกับว่าเรื่องเช่นนั้นมันเกิดแก่ตัวคนเดียวอย่างนั้นแหละ แต่ความจริงมันไม่ได้เกิดแก่เราคนเดียว เกิดแก่คนทุกคนในบริเวณนั้น หรือว่าเกิดแก่คนที่มีมาก่อน แก่คุณปู่-คุณย่า คุณตา-คุณยาย คุณชวด-คุณทวดอะไรต่ออะไร มันเกิดมาแล้วทั้งนั้นแหละ กว่าจะมาถึงเรานั้นมันผ่านกี่สถานีมาแล้วก็ไม่รู้ กว่าจะมาถึงเรานะ แต่เราไม่ค่อยได้คิดพิจารณาในเรื่องอย่างนั้น โมหะมันครอบงำจิตใจจึงทำให้คิดอะไรไม่ออก แล้วก็ก้มแต่จะเป็นทุกข์ ใครจะมาพูดจาปลอบโยนเท่าไหร่ก็ไม่รู้เรื่องหรอก มันไม่ได้ผลหรอกไปพูดปลอบตอนนั้นมันไม่ได้ผลอะไร ต้องปลอบมาก่อน ต้องคิดล่วงหน้าไว้ก่อน ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องอย่างนี้
อันนี้ก็คือ การเรียนรู้ให้รู้จักสภาพของร่างกาย ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงไป ทุกครั้งที่เราไปยืนหน้ากระจกเงา ให้ไปยืนศึกษาธรรมะจากดวงหน้า ศึกษาธรรมะจากเส้นผม ไม่ต้องดูว่าผมปลายแตกหรือไม่แตกนั่นไม่ได้อะไรหรอก แต่ดูว่าผมมันเปลี่ยนแปลงไปกี่เส้นแล้ว? มันหงอกกี่เส้นแล้ว? และมันก็จะหงอกต่อไป หงอกไปเถิด ข้าไม่ว่าอะไรแกหรอก ก็เรื่องของแกมันต้องหงอกอย่างนั้น หนังก็ต้องเหี่ยว ก็เหี่ยวไปสิจะเป็นอะไรไป ฉันไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะหนังเหี่ยวหรอก ฉันไม่เป็นทุกข์เพราะฟันโยกคลอนหรอก บอกมันหลุดก็หลุดไป มีสตางค์ก็ใส่ฟันใหม่ ไม่มีสตางค์ก็เคี้ยวมันไปตามเรื่อง กล้อมๆแกล้มๆกลืนลงไป ก็เรื่องมันเป็นอย่างนั้นนี่ มันเป็นธรรมชาติ เรานึกไว้ล่วงหน้าอย่างนั้น อย่าดูเพื่อให้เกิดความหลงใหล ความมัวเมาในร่างกาย แต่ดูให้รู้ว่าธรรมชาติมันต้องเป็นอย่างนั้น เรียนธรรมชาติจากดวงหน้าดวงตา จากผม จากเครื่องแต่งเนื้อแต่งตัว จากทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบๆตัวเรา เราเรียนรู้จากสิ่งเหล่านั้นก็สบายใจ
คอแห้งนี่ก็เป็นธรรมชาติเหมือนกัน ต้องดื่มน้ำกลั้วคอเสียหน่อย แก้ปัญหา แก้ปัญหานะ คนเรามันก็ต้องแก้ ยืนนานมันเมื่อยก็ต้องนั่งเสีย นั่งนานแล้วก็นอนเสีย นอนนานก็ลุกขึ้น ไปวิ่งเสียบ้าง เดินเสียบ้างให้มันพอเหมาะพอดี ร่างกายมันก็เป็นไปได้ แต่ว่ามันไม่ได้เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดหรอก มันต้องเจ็บไข้ได้ป่วย เจ็บไข้ได้ป่วยก็อย่าไปเป็นทุกข์ แต่ว่าเอาความเจ็บความป่วยนั้นมาเป็นเครื่องมือศึกษาธรรมะ ให้เรารู้เราเข้าใจความจริงก็จะช่วยให้เราสบายใจ นี่อย่างหนึ่ง
อีกอย่างหนึ่ง เอาจิตใจทีนี้ มีร่างกายแล้วก็มีใจ คนเรามีใจ เรื่องของใจนั้นก็คือเรื่องความคิดนั่นเอง อย่าไปพูดให้มันยุ่งมากในเชิงศัพท์เชิงแสงนะ ให้เรารู้แต่เพียงว่า จิตนี่ก็คือเรื่องความคิดนึกในชีวิตประจำวัน มันคิดได้ นึกได้ มันจำได้ มันอะไร อะไรได้ มันเป็นเรื่องของจิตทั้งนั้น พุทธศาสนาสอนเราให้เข้าใจว่า จิตนี้นั้นมันไม่มีหรอก มันเป็นเรื่องของการปรุงแต่งเหมือนกัน เรื่องของจิต ก็คือ เรื่องการปรุงแต่ง เรื่องของร่างกายก็เรื่องการปรุงแต่ง ตัวแท้นั้น-ไม่มี มีแต่ตัวประสมรวมกันขึ้น แล้วก็เป็นไปในรูปต่างๆ
เราลองคิดดูว่า ความคิดของเรา เรื่องโกรธ - เรามีความโกรธอยู่ในใจเราหรือไม่โดยปกติ? เราก็ไม่ได้มี ไม่ได้มีความโกรธ แต่มันเกิดขึ้นเพราะอะไร? เพราะการปรุงแต่ง สิ่งภายนอกมากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วเราก็ปรุงแต่งมันด้วยความเขลา ด้วยอำนาจอวิชชา คือ ความไม่รู้ตามสภาพที่มันเป็นจริง เราปรุงแต่งขึ้นมาเป็นเรื่องไม่ชอบใจ ไม่ชอบใจแล้วเราก็โกรธ ไม่ชอบใจเราก็เกลียด ไม่ชอบใจเราก็เบื่อหน่ายในสิ่งเหล่านั้น นี่ มันเกิดขึ้นเพราะว่าเราปรุงมันขึ้น แต่ว่าใช้รากฐาน คือ อวิชชา
อวิชชา นี้เป็นศัพท์ภาษาบาลี ถ้าพูดเป็นภาษาไทยก็คือความไม่รู้ ไม่เข้าใจในเรื่องนั้นทันท่วงทีนะ เราไม่รู้ทันท่วงทีมันก็เกิดขึ้น โกรธขึ้นมา เราเคยโกรธใครต่อใครไหม? เคย เคยมีกันทั้งนั้นแหละ แล้วที่เกิดมาเพราะอะไร? เพราะเขาทำให้เราขัดใจ เราต้องการอย่างนี้ เขาทำอย่างโน้น ต้องการเวลานี้ เขาไม่กระทำให้ทันเวลา ไม่ได้ดังใจ เราไม่อยากให้ฝนตกแล้วฝนตก เราก็โกรธฝน โกรธฟ้า โกรธธรรมชาติว่ามาตกในเวลาไม่สมควร เราก็โกรธ โกรธคนนั้น โกรธคนนี้ โกรธเหตุการณ์นั้น โกรธเหตุการณ์นี้ ก่อนนั้นมันไม่มี ก่อนนั้นมันอยู่เฉยๆ แต่ทีหลังมันเกิดโกรธขึ้นมาก็เพราะว่ามีสิ่งมากระทบ และสิ่งนั้นเราไม่ชอบใจ
ไอ้ความชอบ/ไม่ชอบนี้มันอยู่ที่ไหน? มันอยู่ที่ใจปรุงแต่งเรื่องนั้น ปรุงแต่งให้ไม่ชอบ-เราก็ไม่ชอบ ถ้าปรุงแต่งให้ชอบ-เราก็ชอบ บางครั้งเราเห็นแล้วเรารัก ได้ยินแล้วชอบใจ ได้กินแล้วชอบใจ ได้สมาคมกับใครเราชอบใจ ชอบใจเพราะอะไร? เพราะมันถูกกับสิ่งที่เราต้องการ ไม่ชอบเพราะว่ามันขัดกับสิ่งที่เราต้องการ เราต้องการดำมันได้แดง ต้องการแดงมันได้ขาว อันนี้มันไม่ถูกกับสิ่งที่เราต้องการ เรียกว่า ขัดใจ พอขัดใจก็เกิดความคิดขึ้นมา แล้วทำไมเราจึงไปขัดใจเล่า? ทำไมเราจึงไปชอบใจเล่า? นั่นก็เป็นเรื่องความไม่รู้ ความไม่เข้าใจในเรื่องนั้นๆตามสภาพที่เป็นจริง
ความจริง สิ่งที่มากระทบมันก็เหมือนกันทั้งนั้นแหละ รูป-ก็เหมือนกัน เสียง-ก็เหมือนกัน กลิ่น รส สัมผัสถูกต้องนั้นก็เป็นเรื่องของธรรมชาติที่ปรุงแต่งทั้งนั้น แต่เราไม่ได้ศึกษาในเรื่องนั้นอย่างละเอียด เราไม่ได้คิดไว้บ่อยๆ ไม่ได้พูดกับตัวเองไว้บ่อยๆในเรื่องอย่างนั้น มันโจมตีโดยไม่ทันได้รู้เนื้อรู้ตัวเราก็ตกใจ เหมือนเรานั่งอยู่ไม่รู้ตัว ใครมาจี้สีข้างเราก็ตกใจกระโดดขึ้นมาทันที นี่เพราะเราไม่ได้เตรียมตัวไว้ อารมณ์มากระทบตัวเรา เราไม่ได้เตรียมตัวรับอารมณ์นั้นๆ ก็เกิดการตกอกตกใจขึ้นมา เป็นโกรธ เป็นเกลียด เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้
สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เกิดแล้วไม่ใช่มันอยู่นานนะ มันก็ดับหายไป เกิดปุ๊บ-ดับไป เกิดขึ้น-ดับไป เกิดขึ้น-ดับไปทั้งนั้นแหละไม่ว่าอะไรหรอก ความรักมันก็หายไป ความเกลียดก็หายไป ความโกรธก็หายไป ยินดีก็หายไป ยินร้ายก็หายไป-หายไปแล้ว แต่เราไม่ยอมให้มันดับไป ไม่ยอมให้มันหายไป เรารักษาสิ่งนั้นไว้ รักษาความโกรธไว้ รักษาความเกลียดไว้ รักษาความรักไว้ในใจ
การรักษา ก็คือ คิดถึงสิ่งนั้นซ้ำแล้ว ซ้ำอีก อันไหนเราโกรธเราก็คิดแต่ว่าโกรธ เข่นเขี้ยวเคี้ยวฟันกรอดๆ นั่งโกรธอยู่คนเดียว ไม่มีใครมาเกี่ยวข้องก็นั่งกรอดๆ โกรธเพราะเราคิดถึงสิ่งนั้น นึกถึงอดีตที่ผ่านไปแล้ว แล้วก็โกรธขึ้นมา นึกถึงอดีตที่ผ่านไปแล้วเราก็นึกรัก นึกชอบใจขึ้นมา แต่ว่ามันไม่ได้เหมือนใจก็เศร้าใจ เสียใจ น้ำตาไหลนองหน้า ดูแล้วเหมือนกับคนเรียกว่า คนประเภทอะไร? เขาเรียกว่าคุ้มดี คุ้มร้าย คนคุ้มดีคุ้มร้าย ประเดี๋ยวดีใจ ประเดี๋ยวเสียใจ ประเดี๋ยวร้องไห้ ประเดี๋ยวหัวเราะอีกแล้ว เขาเรียกว่า พวกคุ้มดีคุ้มร้าย มันเป็นกันทุกคนแหละ ไม่ได้ว่าอยู่คนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เรียกว่า คุ้มดี คุ้มร้าย ประเดี๋ยวดี ประเดี๋ยวร้าย ประเดี๋ยวขึ้น ประเดี๋ยวลง ประเดี๋ยวนั่งหัวเราะ ประเดี๋ยวนั่งร้องไห้
มันเป็นอย่างนี้เพราะการปรุงแต่งในแง่ต่างๆของจิตใจเรา ความคิดมันเกิดขึ้น ถ้าเกิดจากตัวอวิชชามันก็เป็นไปในทางยุ่งยาก ถ้าเกิดจากวิชชา ใช้ปัญญา ใช้สติ รู้เท่ารู้ทัน มันก็ไม่มีอะไร เรารู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น มีอะไรตั้งอยู่ มีอะไรมันหายไป มันเป็นสักแต่ว่าธรรมชาติเท่านั้น ไม่มีอะไรน่ารัก ไม่มีอะไรน่าเกลียด ไม่มีอะไรน่าโกรธ ไม่มีอะไรน่ายินดี เพราะมันเป็นแต่เพียงธรรมชาติอย่างหนึ่ง เกิดขึ้น ผ่านไปเท่านั้น มันผ่านไปแล้ว-ช่างหัวมัน อย่าไปอาลัยอาวรณ์มัน-อย่าไปดึงกลับมา โดยมากไม่อย่างนั้น-วิ่งตามไป มันไปแล้ว-วิ่งตามไป ไปเก็บเอามานั่งกลุ้มใจเล่นๆ เรื่องเก่าเก็บมาแล้ว ๓ เดือนแล้ว ๓ ปีแล้ว ก็เอามานั่งคิดให้กลุ้มใจเล่น เหมือนไม่มีงานทำ-เป็นคนว่างงานเลยหาเรื่องมากลุ้มใจเล่น เรื่องอะไรเล่า ลองคิดดูนะถ้าไม่ใช่คนคุ้มดี-คุ้มร้ายแล้วมันเรื่องอะไรไปหาเรื่องให้กลุ้มใจ เหมือนคำไทยเขาพูดว่า แกว่งเท้าหาเสี้ยน ฟื้นฝอยหาตะเข็บแบบนั้น ของมันพ้นไปแล้วไปหามา ไปหยิบมา ตะเข็บไม่กัดเราก็ไปฟื้นฝอย เอามีดเที่ยวไปแยงๆ เจอตะเข็บตะขาบกัดเข้าให้ ก็เที่ยวยกมือร้องครวญครางไปตามเรื่องตามราว เป็นทุกข์ไปต่อไป
นี่ คนเราเป็นอย่างนั้นเอง ชอบฟื้นฝอยหาตะเข็บ ชอบแกว่งเท้าหาเสี้ยนให้เกิดปัญหาขึ้นในชีวิตด้วยประการต่างๆ นี่คือ สภาพที่มันเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เราจึงต้องคิดแก้ไข ปรับปรุงสิ่งเหล่านี้เพื่อให้มันดีขึ้น ดังที่กล่าวมาก็สมควรแก่เวลาแล้ว ยังไม่จบ เรื่องนี้ยังไม่จบ แต่วันนี้พูดว่าธรรมชาติของชีวิตมันเป็นอย่างไร? และวันต่อไปก็จะได้พูดต่ออีก วันนี้ก็หมดเวลาพอดี จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้