แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่งซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงได้ชัดเจน แล้วจงตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันอาทิตย์นี้ท้องฟ้าแจ่มใส ไม่เหมือนวันอาทิตย์ที่แล้ว ฝนตก ทำให้ญาติโยมลำบาก วันอาทิตย์ฝนตก วันจันทร์อาตมานึกว่ามันคงจะตกติดต่อกัน เลยเทน้ำในถังหมด กวาดบนหลังคา กวาดรางน้ำ ทำความสะอาด พอทำความสะอาดเสร็จจนบัดนี้ก็ไม่ตกเลย เลยน้ำหมดไม่มีจะใช้ แต่ก็ต้องรอน้ำฝนต่อไป นี่คือความไม่เที่ยงของธรรมชาติ ดินฟ้าอากาศ มันเปลี่ยนอยู่อย่างนั้นแหละ ประเดี๋ยวมีฝนมา ประเดี๋ยวก็ไม่มีเป็นเรื่องธรรมดา เราอย่าไปดีใจ เสียใจกับเรื่องอย่างนั้น ทำใจให้เป็นกลาง ให้รู้เท่าต่อสิ่งทั้งหลายที่มันเกิดขึ้น จะได้มีความสบายใจ ไม่ยุ่งยากทางด้านจิตใจ
อากาศโปร่งวันนี้มันก็ดี ญาติโยมจะไม่ลำบากในเรื่องทำบุญตักบาตร วันก่อนฝนตกนี่มันไม่ดีอย่าง ไปนั่งในศาลาคนแน่นมาก แล้วก็เมื่อพระฉันอาหารเสร็จแล้วก็ลุกขึ้นกลับกัน ญาติโยมก็นั่งรับทานอาหาร มีนักเลงดีเข้ามานั่งกลายๆ รูดซิปกระเป๋าฉกเอาของข้างในไป เอาไปเสีย เงินหายไป รองเท้าใหม่เอี่ยมตราอูฐราคา ๒๐๐ เจ้าของก็ไม่วางบันได เอาไปวางใต้ตู้ มันลับหน่อย แต่ว่าตาพวกนั้นมันแวว มันไว มันมองเห็นรองเท้าคู่ใหม่ เลยมันขอยืมเอาไปเสียด้วย ให้เจ้าของซื้อใหม่กันต่อไป เจ้าของรองเท้าก็ไม่ต้องเสียใจ นึกแต่เพียงว่า ดีเหมือนกัน จะได้ซื้อใหม่อีกคู่หนึ่ง เจ้าของเงินก็ไม่ต้องเสียใจ นึกว่ามันเอาไปแล้ว ช่างหัวมัน เราไม่ถึงกับลำบากยากจนอะไร
เวลานี้มันต้องระมัดระวังให้มากๆ เวลาเข้าอยู่กับคนมากๆนี่ กระเป๋า ข้าวของ ต้องระมัดระวัง เผลอไม่ค่อยได้ เพราะว่าคนเมืองไทยนี่ไม่ชอบคนเผลอ ชอบสอน ชอบเตือน มันเตือนทีไรเจ็บใจทุกที มันเตือนอย่างนั้นมันลำบาก เพราะฉะนั้นเราจะต้องระมัดระวังไว้ เพราะว่าคนที่มาที่คนมากๆ นี่ มาด้วยใจสุจริตต้องการธรรมะก็มี มาด้วยใจทุจริตต้องการวัตถุสิ่งของก็มี มันมีหลายประเภท โลกนี้มันเป็นอย่างนั้น คือมีดี มีชั่ว มีสุข มีทุกข์ มีเสื่อม มีเจริญ มีอะไรต่ออะไร เป็นกันไปอย่างนั้น เราก็ไม่ต้องเสียใจ แต่ก็มันเป็นบทเรียนสำหรับชีวิตที่เราจะต้องระมัดระวังสิ่งของที่เรามีเราใช้
ความจริงนั้นเวลามาวัดหรือไปไหนๆนี่ ไม่ควรจะพกของติดตัวไปมากๆ บางคนเดินทางขึ้นรถยนต์ไปไหนมาไหน เอาเงินติดตัวไปตั้งหมื่นสองหมื่น อย่างนี้มันชักจะมากไป เวลาใครมันขโมยเอาไปเราก็เสียดาย เสียใจ สมัยนี้เขามีธนาคารออมสิน ธนาคารพาณิชย์ประเภทต่างๆ ให้เราถือเป็นดราฟท์เป็นเช็ค เป็นตั๋วแลกเงินไป สบาย ไม่ลำบาก แม้ขโมยเอาไป ก็มันเอาไปใช้ไม่ได้ เพราะจะไปขึ้นเงินที่ไหนก็ไม่ได้ มันปลอดภัยดีกว่า ไม่ควรจะพกเงินสดไปไหนมากๆ อันตราย
เครื่องแต่งเนื้อแต่งตัวนี่ก็เหมือนกัน อย่าแต่งภายนอกให้มันมาก ล่อตาไอ้พวกขโมย แต่งข้างในดีกว่า แต่งข้างในคือแต่งใจด้วยธรรมะ ให้ใจงามด้วยพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า มันไม่ยั่วตาขโมย แล้วขโมยมันก็ลักไม่ได้แต่ของดีๆ อย่างนั้นมันลักไม่ได้ มันลักได้แต่ของข้างนอก ของข้างในขโมยเอาไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราแต่งด้วยธรรมะคือ แต่งใจ ทำใจให้งามด้วยศีลด้วยธรรม ไม่สูญไม่หายไปไหน จิตใจก็สบาย แต่ถ้ามีวัตถุตกแต่งมันลำบาก ของแพงๆ นี่ก็อย่าใช้ หายไปมันไม่ต้องเสียใจ เช่นนาฬิกา ใช้ของถูกๆ ถ้ามันหายไปก็ซื้อใหม่ก็ได้ ถ้าใช้ราคาแพง หายไปก็เสียใจมาก เพราะมันแพง ไอ้ความจริง นาฬิกาแพงกับนาฬิกาถูกนี่มันก็เดินเท่ากัน ๖๐ นาที เป็น ๑ ชั่วโมง เท่ากัน ๑๒ ชั่วโมง วันหนึ่ง ๑๒ ชั่วโมง คืนหนึ่ง มันก็เดินอย่างนั้น ตรงตามเวลาเหมือนกัน
ทำไมจะต้องหาของแพงๆ มาใช้ เวลาขโมยเอาไปเสียก็เสียใจมาก แต่ถ้าของถูกมันเอาไปก็ช่างหัวมัน ซื้อใหม่ก็ได้ มันสบายใจตรงนี้ เราจึงไม่ต้องเสียอกเสียใจ เพราะเวลานี้มันไม่ค่อยจะปลอดภัย อยู่ที่ไหนก็ไม่ปลอดภัย อยู่ในบ้าน อยู่ในรถไฟ ในรถยนต์ ไม่มีความปลอดภัยทั้งนั้น แม้ในเรือบินบางประเทศก็ไม่ปลอดภัย มันยังมีการจี้เรือบิน แสดงว่าอันตรายนี่มันเกิดมากขึ้นในสังคมมนุษย์
ทำไมอันตรายต่างๆ จึงเกิดมากขึ้น ก็เพราะว่าจิตใจคนห่างเหินจากธรรมะ ไม่เอาศาสนามาใช้เป็นหลักคุ้มครองจิตใจ ไม่มีธรรมะเป็นเครื่องประดับใจ จิตใจจึงตกไปอยู่กับกิเลสประเภทต่างๆ เขาจึงได้ทำชั่ว คนทำชั่วเพราะไม่มีธรรมะ คนทำดีก็เพราะมีธรรมะ เราเห็นคนทำชั่วนี่ ควรจะนึกสงสารคนเหล่านั้น แล้วก็ควรจะช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนชั่วได้กลายเป็นคนดี มีศีลธรรมประจำใจ เราก็ต้องหาวิถีทางทุกประการที่จะช่วยให้คนทั้งหลายได้เข้าถึงธรรมะ ได้มีธรรมะเป็นอาหารใจ เป็นเครื่องประดับใจ เป็นยาแก้โรคทางใจ แล้วอะไรๆ มันก็ดีขึ้น
อันนี้มันก็ขึ้นอยู่กับคำสอนที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ปรินิพพาน คือพระองค์ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! สังขารธรรมทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด เธอทั้งหลายจงทำประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่นให้พร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด
อันนี้สำคัญ ที่พระองค์ย้ำให้เราคิด ก่อนที่จะให้คิดถึงเรื่องนี้ ก็ให้คิดถึงความไม่เที่ยงไว้เสียก่อน คือความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งทั้งหลาย จะเป็นรูปธรรม นามธรรม ของนอกกาย ของในกาย อะไรก็ตาม มันหนีกฎเกณฑ์อันนี้ไปไม่ได้ มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรคงทนถาวรสักอย่างเดียว
อันนี้เป็นหลัก เป็นฐานทางใจ เป็นหลักที่จะให้เราคิดเพื่อจะได้เป็นเครื่องปลอบโยนจิตใจ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นก็จะเอาหลักนี้ล่ะมาเป็นเครื่องพิจารณา ไม่ต้องดีใจมากเกินไป ไม่ต้องเสียอกเสียใจมากเกินไป เพราะเรามารู้ตามความเป็นจริงว่า มันจะต้องเป็นอย่างนั้น มันหนีจากความเป็นอย่างนั้นไปไม่ได้ คือมันต้องเปลี่ยนแปลงไป มันต้องหายไป ต้องจากไป เป็นเรื่องธรรมดา จะเกิดจะมีขึ้นแก่ใครเมื่อใดก็ได้ ไม่แน่ว่าจะเกิดเมื่อใด เพราะมันอยู่ในประเภทไม่แน่นอนเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อมีอะไรเกิดขึ้น ถ้าเรานึกไว้บ่อยๆ ถึงหลักอย่างนี้ ก็พอจะช่วยประคับประคองจิตใจให้ผ่อนคลายไปจากความทุกข์ ความเดือดร้อนได้
เมื่อวานนี้ไปจังหวัดนครสวรรค์ มีคนมานั่งคุยเล่าให้ฟังว่า ลูกชายไปช่วยทำงานคนงาน ความจริงเรื่องนั้นมันเป็นหน้าที่คนงาน แต่ว่าเขาเป็นคนรักงาน ไม่เอาเปรียบลูกน้อง คนงานเข้าไปเช็ดรถ แกก็บอกว่า “เอ้า กูเช็ดด้วยคน” แล้วก็ไปเช็ด ไปอะไร แล้วก็เข้าไปในรถ เปิดประตู ยื่นแขนขาออกมา ประมาทนิดหน่อย รถมันมาชนขา อย่างแรง แล้วก็คอไปกระทบอะไรอย่างแรงเข้า คอหักถึงแก่ความตาย พ่อไปเห็นลูกชายตายด้วยอาการอย่างนั้น ก็มีความเสียอกเสียใจ พูดไม่ออก แม้จะไปวัดก็นั่งน้ำตาไหลตลอดเวลา พูดอะไรไม่ได้ ตื้นตันใจพูดไม่ออก จนกระทั่งเผาลูกชายเรียบร้อย สามวัน พ่อก็ตายตามไปอีกคนหนึ่ง ตายตามลูกชายไป
อาตมาฟังแล้วก็สลดใจ สงสารพ่อ ไม่ใช่สงสารลูก พอลูกตายไปแล้ว แล้วพ่อก็ตายตามไปด้วย ที่ได้ตายตามไปอย่างนั้น เพราะความเสียใจ เสียใจมากเหลือเกิน จนกระทั่งว่าช็อคไป ถึงแก่ความตายไป อันนี้ก็เลยพูดให้คนเหล่านั้นฟังว่า นี่แหละ โทษที่เกิดขึ้นจากการไม่ศึกษาธรรมะ ไม่นำธรรมะมาใช้เป็นหลัก เป็นเครื่องมือพิจารณาอะไรต่างๆ ให้รู้ตามสภาพที่เป็นจริง มีอะไรเกิดขึ้นก็มีความรู้สึกรุนแรง ดีใจแรงเมื่อได้ เสียใจแรงเมื่อเสีย ถ้ารู้ว่าถูกล็อตเตอรี่นี่กระโดดขึ้นไปซะ ดีใจ กระโดดโลดเต้น แต่พอมีอะไรสูญหายไปก็ใจเหี่ยวใจแห้ง เหมือนต้นไม้ถูกน้ำร้อนลวกอย่างนั้น นี่ก็เพราะว่าเราไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้เตรียมใจไว้ล่วงหน้าในเหตุการณ์นั้นๆ ก็มีความระทมตรมตรอมใจเพราะเหตุการณ์นั้นๆ
เพราะฉะนั้นถ้าเราคิดถึงหลักความไม่เที่ยงไว้บ้าง ก็พอจะช่วยบรรเทาความทุกข์ความเดือดร้อนทางใจ เช่นเราอยู่กันในครอบครัว สามี ภรรยา บุตร ธิดา อยู่กันพร้อมเพรียงกัน แล้วก็มีคนหนึ่งมาจากเราไป ถ้าเราไม่มีธรรมะเป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจ เราก็จะเศร้าโศกมาก เสียใจมาก แล้วอาจจะบ่นพิรี้พิไรว่าไม่ควรเลยที่เธอจะจากฉันไป ไม่ควรเลยที่เธอจะต้องตาย เรามักจะพูดกันอย่างนั้น หรือพูดว่า ฮื้อ ไม่นึกเลยว่าจะตาย ไม่ได้นึกเลย เป็นการประกาศความไม่สนใจธรรมะให้ปรากฏแก่คนอื่น ที่เราพูดว่าไม่นึกเลยว่าเขาจะตาย ไม่ถูกต้อง และก็เป็นการประกาศว่าเรานี่ไม่ปฏิบัติธรรม ไม่เอาธรรมะมาใช้เป็นหลักในชีวิตประจำวัน จึงได้พบกับเหตุการณ์แล้วพูดออกมาเช่นนั้น
ถ้าเป็นคนประพฤติธรรม เอาธรรมะมาใช้อยู่ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นก็พูดได้ว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง พูดออกไปได้ทันทีว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง เพราะธรรมชาติมันเป็นเช่นนั้น มันจะต้องแก่ จะต้องเจ็บ แล้วก็จะต้องตาย ต้องแตก ต้องสูญ ต้องหาย ธรรมชาติ ธรรมชาติมันเป็นเช่นนั้น ถ้าเรานึกคิดอยู่สม่ำเสมอในใจ พออะไรเกิดขึ้น เราก็เปล่งออกมาได้ว่า มันเป็นเช่นนั้น ลูกตายก็พูดออกมาได้ว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง สามีตายก็พูดได้ว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง ภรรยาตายก็พูดได้ว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง ของตกแตกเปรี้ยง เราก็พูดได้ มันเป็นเช่นนั้นเอง
อันนี้แสดงว่าธรรมะอยู่ในใจตลอดเวลา แล้วออกมาก็เป็นรูปธรรมะ ออกมาเป็นรูปความจริง ให้คนอื่นได้รู้ได้เข้าใจ ว่าเราคิดอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา เราจึงพูดออกมาเช่นนั้นได้ เป็นเครื่องปลอบโยนจิตใจ ให้คลายจากความทุกข์ ความเดือดร้อน พอเราเป็นพุทธบริษัทนี่ ต้องเป็นคนตื่นตัว ตื่นตัวหมายความว่า เตรียมพร้อมอยู่ที่จะผจญกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของเรา เรามีสตางค์ใช้ มีข้าวของใช้ ก็เตรียมผจญกับความไม่มีไว้ เราไม่มีลูก เตรียมผจญกับความมีลูกไว้ เราไม่เจ็บ ก็เตรียมผจญความเจ็บไว้ เรายังไม่ตาย ก็เตรียมตัวเพื่อจะตายไว้ เตรียมไว้ตลอดเวลา
เมื่อมีอะไรมากระทบจิตใจเรา จิตใจเราในรูปที่เป็นความจริง เป็นธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย เราก็ไม่ต้องเสียใจเกินไป แล้วก็ไม่ต้องดีใจเกินไปเพราะได้ ไม่ดีใจเมื่อได้ ไม่เสียใจเมื่อเสีย สภาพจิตคงที่ ไม่สูงไม่ต่ำ ไม่หวั่นไหวโยกโคลงกับอารมณ์ต่างๆที่มากระทบ นั่นแหละเป็นความสุขของเรา ความสุขนั้นเรียกว่าเป็นความสงบ ความสงบคือมันอยู่อย่างนั้น มันไม่ขึ้นและก็ไม่ลง ถ้าเปรียบน้ำ ก็เรียกว่าเป็นน้ำนิ่ง เหมือนกับน้ำในแก้วนี่ ลมไม่ทำให้กระเพื่อม ไม่ฟูขึ้นมาเพราะความร้อน ไม่เหมือนกับน้ำในเตาที่อยู่บนกองไฟ หรืออยู่ที่เตาแก๊ส มันก็เดือดพล่านขึ้นมา ไอน้ำออกมาทางพวยกา แสดงอาการร้อนออกมาให้ปรากฏ เพราะไฟมันเผา
จิตใจคนเราไม่ร้อน ไม่มีไอออกมาจากภายในตัว เป็นคำพูด เป็นกิริยาท่าทาง เพราะเราไม่ได้ร้อนไปตามอารมณ์นั้นๆ ไม่ขึ้นไม่ลงไปกับกามารมณ์นั้นๆ แต่เรารักษาระบบจิตใจของเราให้คงที่ นั่นแหละเรียกว่าเป็นผู้เตรียมพร้อม ต่อสู้เหตุการณ์ อะไรจะเกิดขึ้นเราก็ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์นั้นๆ สบายใจมาก สบายใจมากถ้าอยู่ในรูปอย่างนั้น ไม่เสียใจ ไม่ดีใจนี่สบาย เป็นความสุขในชีวิต การที่จะเป็นเช่นนั้นได้มันต้องเตรียมไว้ล่วงหน้า นึกไว้ล่วงหน้า คิดไว้ล่วงหน้า วางแผนไว้
สมัยนี้ทำอะไรมันต้องวางแผน ถ้าไม่วางแผน เกิดการฉุกเฉิน ทำไม่ทัน ก็เพราะเราไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า กองทหารต้องวางแผนตลอดเวลา ฝ่ายเสนาธิการต้องวางแผน ศึกมาจากตะวันออกจะทำอย่างไร ศึกมาทางเหนือจะทำอย่างไร ศึกมาทางทิศตะวันตก ทิศใต้ จะทำอย่างไร เราจะไปสู้ที่ตรงไหน เราจะสู้ด้วยอะไร คนของเราพร้อมหรือเปล่า ที่จะไปต่อสู้กับข้าศึกนั้น ต้องวางแผน ต้องเตรียมแล้ว เตรียมคน เตรียมอาวุธ เตรียมอาหาร เตรียมกำลังใจ ให้พร้อมเพรียงทุกประการ พอข้าศึกมาเราก็พุ่งออกไปตามแผนนั้น ไปตั้งรับ ไปต่อสู้กับข้าศึก ข้าศึกก็ไม่โจมตีเราให้แตกพ่าย เพราะเราไม่ประมาท เราเตรียมพร้อมไว้ตลอดเวลา ฉันใด
ในชีวิตเรานี่ก็เหมือนกัน เรามีข้าศึกโจมตี ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความสูญเสียสิ่งที่เรารัก อะไรต่างๆ มันเข้ามาหาเราเมื่อใดก็ได้ เราก็ต้องเตรียมแผนสู้กับมันไว้ ถ้าเราเจ็บไข้ เราจะทำอย่างไร เมื่อร่างกายของเราเปลี่ยนแปลง ความชราปรากฏ จะทำอย่างไร เมื่อเราใกล้จะตาย เราควรจะทำใจอย่างไร เมื่อเราต้องสูญเสียอะไรไปนั้น เราทำใจอย่างไร ต้องคิด ต้องเตรียมจิตเตรียมใจไว้ให้พร้อม แล้วจะได้ทำได้ทันท่วงที เพราะมีการเตรียม ถ้าไม่มีการพร้อม พอมีอะไรเกิดขึ้นก็เรียกว่าตื่นตกใจ เหมือนคนตื่นไฟ จับอะไรไม่ถูก เสียหาย
คราวหนึ่งไฟไหม้กุฏิพระที่วัดพระธาตุไชยา พระองค์หนึ่งนั้นท่านอายุก็ไม่มากเท่าใดหรอก แต่ว่าท่านตกใจมาก ได้หิ้วถังใบหนึ่งไปตักน้ำมาดับไฟ ไปตักวิ่งมาสาดน้ำ ตักมา วิ่งมา สาดน้ำ อยู่ ตลอดเวลา พอไฟดับหมดแล้ว พระก็ถามว่า ใต้เท้า ตักน้ำด้วยอะไร นี่สิ ถังนี่ พระบอกว่าถังนี้ก้นมันไม่มี แหม ตักเสียเกือบตาย ก้นไม่มี ไอ้ถังที่แกหิ้วไปตักน้ำน่ะ ก้นมันไม่มี แต่แกก็ตักน้ำมาสาด ตักน้ำมาสาดอยู่นั่นแหละ น้ำไม่ได้มา มาแต่ถังกับอากาศ แกก็สาดเรื่อยไป พอไฟดับหมดแล้ว พระก็เข้าไปถาม ท่านก็บอกว่า เรอะ ท่านก็หายไปเลย ท่านนี้ก็หัวเราะเจื่อนๆเหมือนกัน กูตักน้ำเกือบตาย เอาถังไม่มีก้นไปตัก นี่ มันเป็นอย่างนี้
ก็เพราะว่าไม่รู้ตัว ไม่ได้เตรียมพร้อมว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นเราจะทำอย่างไร เวลาตกใจบางทีเราไม่ออกทางประตู แต่ว่าออกไปทางหน้าต่าง กระโดดลงไปขาหัก ตกใจ ไม่รู้ว่าประตูอยู่ทางไหน เวลานอนมันจึงควรจะทำไว้ในใจ เรานอนหันศีรษะไปทิศไหน เท้าไปทางไหน ประตูอยู่ทางไหน ถ้าลุกขึ้นแล้ว ด้านซ้ายเป็นประตู หรือด้านขวาเป็นประตู เราจะเดินอย่างไร ต้องเตรียมไว้ วางแผนไว้ พอตื่นขึ้นปุ๊บ ก็ไปได้ ชนประตูไม่เป็นไร มันได้นั่งลงตรงนั้น เปิดประตูได้ เราก็ออกไป นี่เขาเรียกว่าเตรียมพร้อม การเตรียมพร้อมน่ะทำให้ปลอดภัย
ราชการบ้านเมืองก็เหมือนกัน ผู้บริหารบ้านเมืองต้องเตรียมพร้อม ต้องวางแผนล่วงหน้า แผนเศรษฐกิจ แผนรบ แผนอะไรก็วางกันอยู่ตรงนั้นแหละ แล้วก็ทำตามแผนนั้น สิ่งทั้งหลายมันก็ไม่ยุ่ง แต่ว่ามันก็ขึ้นอยู่กับวางแผนอีกล่ะ ถูกหรือผิดนี่ ถ้าวางแผนผิดก็ล่ม ถ้าวางถูกก็ไปรอด มันขึ้นอยู่กับการวางแผน รอบคอบ รอบรู้ขนาดไหน จึงต้องวางให้เป็นการเรียบร้อย
พระพุทธเจ้าท่านจึงเตือนเราให้พิจารณา บทสวดมนต์เขาเรียกว่า “ปัจจเวกขณ์” ปัจเวกขณ์ หมายถึงว่าการพิจารณา มีคำมาข้างหน้าว่า “อภิณหปัจจเวกขณ์” อภิณหะ แปลว่า บ่อยๆ ปัจจเวกขณ์ คือการพิจารณาบ่อยๆ เป็นบทเตือนใจให้เราได้คิดในสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ คิดเตือนใจไว้ เช่นคิดเตือนใจว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา เราหนีความแก่ไปไม่พ้น เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา อาจจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ เรามีความตายเป็นธรรมดา เราหนีความตายไปไม่พ้น เราจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เรามี เราได้ไว้ เราหนีจากสิ่งนี้ไปไม่พ้น เราทำอะไรเราได้อย่างนั้น ทำดีได้ความดีเพิ่มขึ้น ทำชั่วได้เพิ่มขึ้น ทำชั่วได้ความชั่วเพิ่มขึ้น สะสมความดีก็เป็นความสุข สะสมความชั่วก็เป็นความทุกข์ เป็นความเดือดร้อนใจ
อันนี้ท่านสอนให้เราคิดบ่อยๆ ก็เพื่อจะได้ไม่ตกใจ ไม่หวาดกลัวในเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น เพราะเราเตรียมพร้อม เราดูร่างกายของเรา อย่าดูว่ามันยังหนุ่มแน่น ยังแข็งแรง แต่ดูแล้วบอกตัวเองว่าเปลี่ยนไปเยอะ เปลี่ยนมาเท่าไหร่แล้ว อายุ ๒๐ ปีก็เรียกว่าเปลี่ยนมา ๒๐ ปี ๓๐ ปีก็เปลี่ยนมา ๓๐ ปี เปลี่ยนมา ๗๐ ปี เปลี่ยนมา ๘๐ ปี มันเปลี่ยนมาเรื่อยๆ ความเปลี่ยนแปลงมันมีมาเรื่อยๆ ตั้ง ๘๐ แล้ว ๙๐ แล้วก็จะถึงแก่ความแตกดับออกไป อันนี้เป็นเรื่องที่เราต้องมอง ร่างกายของเราเปลี่ยนตั้งแต่ผมจนถึงปลายเท้า เช่น ผมหงอก ฟันก็เริ่มโยกคลอน หูเริ่มชักจะตึง คนอายุมากนี่หูตึงเกือบทุกราย เช่น อายุตั้ง ๙๐ นี่หูตึง
เมื่อวานไปก็ถามถึงท่านเจ้าคุณองค์หนึ่งที่นครสวรรค์ก็คุ้นกันมานาน เขาบอกว่าท่านทำบุญวันเกิดเมื่อวานนี้เอง แหม ไม่รู้ ถ้ารู้ก็จะได้มาด้วย ท่านทำบุญวันเกิดครบรอบ ๙๐ ปี ยังแข็งแรง บิณฑบาตทุกวัน แต่ว่าไม่ได้อุ้มเองนะ ให้คนอุ้มตามหลังไว้ พอไปถึงขันข้าว ก็รับบาตรมารับข้าวมา แล้วก็ให้ลูกศิษย์อุ้มต่อไป ท่านเดินนะ เดินไปข้างหน้า เดินเป็นแถว แต่ว่าหูตึง เดี๋ยวนี้ใครพูดค่อยๆ ท่านไม่ได้ยินนะ ไอ้จะไปพูดดังๆกับท่านก็เกรงใจ เป็นพระผู้ใหญ่ เราจะไปพูดตะคอกดังๆ ก็กระไรอยู่ แต่ว่าท่านบอกว่าไม่ได้ยิน พูดดังๆ เป็นอย่างนี้ คนแก่นี่หูมักจะตึง
ความแก่ปรากฏที่ผม คือหงอก ปรากฏที่หู หูตึง ปรากฏที่ผิวหนังคือเหี่ยว ปรากฏที่ฟัน คือโยกคลอน แล้วก็หลุดไปเรื่อยๆ แต่สมัยนี้ฟันหลุดก็ใส่ฟันปลอมให้ ฟันปลอมมันก็บอกอยู่ในตัวว่าของปลอม ไม่ใช่ของแท้ ให้รู้ว่าไอ้ของแท้หมดไปแล้ว ไอ้ที่มีนี่มันชุดที่สามแล้ว ชุดหนึ่งฟันน้ำนม ชุดที่สองคือฟันแท้ ชุดที่สามคือฟันปลอม อาตมานี่มันชุดที่สามแล้วเวลานี้ แต่ว่าดีนะ เคี้ยวได้ประโยชน์ พูดได้คล่องเหมือนเดิม เพราะหมอฟันเขาเก่ง เขาใส่ให้เรียบร้อย ไม่ก๊อกแก๊ก ไม่เหมือนบางคน พอพูดที แย๊บที พูดที แย็บที ทำท่าเหมือนจะกินเลือดคนฟัง เรียกว่าหมอฟันไม่ได้เรื่อง ทำไม่เรียบร้อย ก็ลำบาก นี่เขาเรียบร้อย ไม่โยกไม่โคลงเลยหมอนี่ หมอนี่ ชื่อหมอปิยะ เหล่าสุนทร โฆษณาให้หน่อย เพราะว่าเขาทำดี มีคนคนหนึ่งแกไปใส่ฟัน ไม่ได้เรื่องสักรายเดียว เลยบอกว่าตรงไปที่หมอปิยะ วันหลังไปพบเห็นฟันเรียบร้อย เป็นไงไปใส่แล้วหรอ ดีไหม เรียบร้อยมาก เขาทำเรียบร้อย ใส่เรียบร้อย ไม่มีกุ๊กกั๊ก แต่เราใส่ฟันเราก็รู้ว่ามันของปลอม
ใส่แว่น ก็รู้ว่าตาแก่แล้ว มองอะไรไม่เห็น มองไกลเก่ง ใกล้ไม่ได้เรื่อง แสดงว่าตาแก่ แก่หมดล่ะ เรียกว่าแก่มันตั้งแต่ผม แล้วก็หูตึง ตามัว ฟันหลุด อะไรต่ออะไรเป็นไปตามนั้น ปวดเมื่อย ปวดเอว ปวดหลัง ปวดแข้ง ปวดขา เรียกความแก่ ความชราปรากฏแก่ตัวเราทุกคน ทำอะไรก็ไม่ได้เท่าไหร่แล้ว มันเปลี่ยนสภาพไป
ความจริงก็ไม่ทารุณเกินไปหรอก ธรรมชาตินี่ไม่ได้ทารุณกับเราเกินไป มีการบอกล่วงหน้า บอกให้รู้ ไม่ใช่ฮวบฮาบ เป็นขึ้นมาทันที เช่น ผมนี่หงอกทีละเส้นสองเส้น ค่อยมากขึ้นๆ จนขาวโพลนไปทั้งหัว คนแก่ผมขาวทั้งหัวนี่น่าดูนะ เธอน่าดู รู้ว่า อ้อ ท่านแก่แล้ว ท่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ แต่ว่าคนแก่บางคนก็ไม่ยอมแก่ อุตส่าห์ไปซื้อยาย้อมผมมาย้อม หลอกตัวเอง หลอกเด็กๆ ให้รู้ว่าฉันยังไม่แก่นะ อย่างนี้มันก็รู้อยู่แก่ใจ เรารู้ว่าของเรามันแก่ อะไรๆ ก็แก่แล้ว
ทีนี้เครื่องภายในก็แก่เหมือนกัน หัวใจ หัวใจนี่ทำงานไม่ค่อยปกติ พออายุมากกว่านี้ มันเหนื่อย หอบ เดินนิดเดินหน่อยก็เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เหนื่อยใจ ขึ้นที่สูงก็ไม่ได้ สร้างบ้านไว้สองชั้น ขั้นแรกก็ขึ้นไปนอนชั้นบน ต่อมาก็นอนอยู่ตรงบันไดตรงนั้นล่ะ บางทีนอนใต้บันไดด้วยซ้ำไป ก็ขึ้นไม่ไหวแล้ว แต่ท่านเจ้าคุณที่นครสวรรค์นี่ท่านยังเก่ง ถามว่าใต้เท้าจำวัดที่ไหน ชั้นสาม โอ้ ยังขึ้นไปนอนชั้นสาม ขึ้นได้หรือ พอรับแขกรับเหรื่อสามทุ่ม ขึ้นบันไดสามชั้น ขึ้นไปนอนชั้นสาม เช้าลงมา แล้วก็ตื่นตั้งแต่ตีสี่ ตีระฆังเอาพระเข้าสวดมนต์ สวดมานานแล้ว สวดมาตั้งแต่หนุ่ม จนบัดนี้ไม่เลิกไม่ละ ทำสม่ำเสมอ ตลอดเลย ยังแข็งแรง เดินเหินได้ แต่ว่าส่วนอื่นก็ไม่ไหวนะ
กระเพาะ คนแก่นี่กระเพาะไม่ค่อยดี รับทานอาหารแล้วไม่ค่อยย่อย แล้วก็ไม่ค่อยอยากอาหาร มันตื้อ ตื้อนี่เพราะอะไร น้ำย่อยมันไม่ดีแล้ว ใส่ลงไปแล้วมันไม่ย่อย มันแน่น เหมือนเราใส่อะไรลงไปแล้วมันไม่เปลี่ยน มันก็อยู่อย่างนั้น มันก็อุดตัน เลยอืดท้อง รับทานอาหารไม่ค่อยได้ มันเป็นอย่างนี้ แสดงว่ากระเพาะไม่ดี ตับก็ไม่ดี ไตก็ไม่ดี
มีไตไม่ดีนี่มีมาก เค้าเรียกว่า ไตล้มเหลว ไม่ทำงานตามปกติ ปัสสาวะก็ขุ่นข้น โรงกรองมันเสีย ไตนี่คือโรงงานกรองของเสียออกจากร่างกาย เป็นโรงงานที่ปราณีตมาก เรียบร้อย น้ำเสียทั้งหลายต้องมาที่ไต ไตก็กลั่นกรองถ่ายไปเข้าที่เก็บคือกระเพาะปัสสาวะ แล้วก็ถ่ายออก ไตมันเสียก็กรองไม่ได้ เมื่อกรองไม่ได้ น้ำเกิดมากในร่างกาย เกิดบวมพองฉุพุ บางทีถึงกับหนังแตก น้ำออกมา เค้าเรียกว่าน้ำท่วมร่างกาย ก็ไตไม่ทำงาน บวมนอนน้ำซึมไปทั้งตัว เคยเห็น คนๆหนึ่งนอนน้ำออกมาทั้งตัว อ้วนพอง โรคไต แต่ว่าคนบ้านนอกเขาไม่รู้ เขาว่าไม่รู้ทำอย่างไร ไม่ทำเป็นอย่างนี้ ไตมันพิการ แก่ ไตแก่ เลยไม่ทำงาน
ทุกส่วนเป็นอย่างนี้ เราค่อยแก่ขึ้นโดยลำดับ ตั้งแต่เริ่มจากปฏิสนธิในครรภ์มารดา เราก็แก่ขึ้นมาเรื่อยๆ สิบเดือนอยู่ไม่ได้แล้ว อึดอัด เพราะอยู่ไม่ได้ ต้องออก ออกมาดูโลก ไอ้วันที่ออกมาดูโลกนะ ก็ไม่ใช่ว่าจะชื่นมื่นอะไรหรอก พออกมาถึงก็ประกาศยี่ห้อทุกข์ทันที ออกมาถึงร้องทั้งนั้น ไม่มีเด็กคนไหนออกมาหัวเราะก๊ากๆ ร้อง ร้องดังใช้ได้เลย เด็กคนไหนร้องดังพ่อแม่ชอบใจ ไปเที่ยวคุยให้ใครฟัง นี่ ร้องก้องเลย นึกว่าดี ความจริงเด็กมันเป็นทุกข์นะ ที่มันร้องดังๆ แต่พ่อแม่ชอบใจว่ามันร้องดัง คนไหนออกมาไม่ร้องนี่ มันไม่ค่อยสมบูรณ์ ไม่ค่อยเรียบร้อย
การร้องไห้น่ะคือการแสดงออกว่าเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะได้สัมผัสสิ่งที่ไม่คุ้นเคย อยู่ในท้องมันอย่างหนึ่ง พอออกมาก็กระทบอากาศที่ไม่คุ้น ก็ร้องจ้าออกมา ประเดี๋ยวเดียวก็หยุดร้อง เพราะมันชินกับธรรมชาติ นี่คือออกมาแล้ว แล้วก็ค่อยเปลี่ยนแปลงไป เป็นเด็กรู้จักหมอบ รู้จักคลาน เดินเตาะแตะ ไปโรงเรียนอนุบาลได้ ไปโรงเรียนประถม มัธยม พ่อแม่ชักจะรำคาญขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่ามันชักจะเกะกะขึ้น รบกวนมากขึ้น ว่าไม่นอนสอนไม่ฟังมากขึ้น ก็รำคาญ กระทั่งเป็นหนุ่มเต็มที่ และก็ทำงานได้ ก็ออกไปทำงานทำการมีครอบครัว สืบลูกสืบหลานต่อไป และร่างกายก็เปลี่ยนไป พอขึ้นถึงที่สุดลง ลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งตกเหว คือ หีบศพ เอาไปป่าช้า ไปเผา ไปฝังกันตามธรรมเนียมต่อไป
นี่คือความเป็นอยู่ของสรรพสิ่งที่เรียกว่าชีวิต มันเป็นอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นราชา มหากษัตริย์ ยาจกเข็ญใจ ไพร่ผู้ดีมีจน เหมือนกันหมดทุกคน ไม่มีข้อยกเว้น เราเห็นคนอื่นแก่ เอามาเตือนตนเสียบ้าง บอกกับตนเองว่า ฉันก็จะต้องเป็นอย่างนั้น เห็นคนอื่นเป็นอย่างไร ฉันก็จะต้องเป็นอย่างนั้น ฉันกับเขาเหมือนกัน เขากับฉันก็เหมือนกัน มีสภาพเช่นเดียวกัน แต่ว่าเวลานี้มันไม่เป็นอย่างนั้น แต่วันหนึ่งมันอาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ บอกๆไว้ในเรื่องความแก่ชรา
ต้นหมากรากไม้มันก็แก่ โตขึ้นๆ มันก็แก่ แก่แล้วลูกก็ไม่ค่อยดก เช่นว่าต้นมะพร้าวแก่นี่ลูกไม่ดก เขาจึงพูดว่า แก่มะพร้าวเฒ่ามะละกอ มะละกอแก่นี่ต้นมันแก่ลูกมันเล็ก ไม่ได้เรื่อง ยิ่งแก่ยิ่งไม่ได้เรื่องมะละกอ มะพร้าวแก่ก็ไม่ได้เรื่อง ต้นเพรียว แล้วก็ลูกเล็กลงไป ไม่ค่อยมีเยื่อ ไม่ค่อยมีน้ำ เราจึงพูดว่าคนบางคนว่า มันแก่มะพร้าวเฒ่ามะละกอ มันไม่ได้เรื่อง แก่ไม่ได้เรื่อง แก่ไม่มีศีลธรรม แก่ไม่มีความดีความงามประจำจิตใจ เป็นประเภทที่แก่ไม่ได้เรื่อง แก่ตามธรรมชาติ แต่ว่าจิตใจไม่ได้สูงขึ้นด้วยธรรมะ ก็เป็นคนใช้ไม่ได้ ร่างกายเป็นอย่างนี้ เหมือนกันทุกคน
เราอยู่ในวัยหนุ่มวัยฉกรรจ์ เห็นคนแก่ก็นึกว่า แหม แก่นี่ลำบาก แต่ไม่บอกว่าฉันก็จะต้องเป็นอย่างนั้น มันขาดตรงนี้ เห็นแล้วไม่บอกตัวเองว่าฉันจะต้องเป็นอย่างนั้น ทีนี้หัดบอกตัวเอง หัดเตือนตัวเอง เมื่อเห็นคนแก่แก่ก็บอกตัวเองว่า ระวังไว้เถอะ แกก็จะเป็นอย่างนี้บ้างเหมือนกันในวันหนึ่งข้างหน้า มันอยู่ที่สถานีหน้า เรากำลังจะไปถึง กำลังจะไปถึงสถานีนั้น ทุกคนจะต้องผ่านสถานีนั้น เรียกว่าสถานีความแก่
แล้วต่อไปก็จะถึงสถานีความเจ็บไข้ได้ป่วย ไอ้ความเจ็บไข้ได้ป่วยนี่ความจริงมันก็เป็นเรื่องธรรมชาติ ที่มีอยู่แก่เราทุกคน ที่เราพูดว่าคนบางคนไม่มีโรค มันไม่หนักเท่านั้นเอง โรคมันไม่หนัก มันมีแล้วมันหายไปโดยธรรมชาติ ร่างกายมันเยียวยาของมันเอง เพราะร่างกายนี้มันก็ต้องเยียวยาอยู่โดยปกติ มีอะไรเกิดขึ้นมันก็ต้องเยียวยา มีดบาดทำไมเลือดไหล ก็เพราะว่าเลือดมันมาช่วยกันรักษาแผล พอมามาก มันก็แห้ง แห้งก็เป็นเกราะหุ้มแผลไว้ แต่ว่าเราไม่ยอมให้เลือดหุ้มเพียงอย่างเดียวหรอก เราผ้ามาหุ้ม สำลีมาปะช่วยมันหน่อย
สมัยเด็กๆนี่ถ้าทำมีดบาดมือ คุณยายเอาหยากไย่ที่ติดตามหลังคารุงรังนั่น เอามาใส่ทุกที รอดมาได้นับว่าบุญนักหนา หยากไย่มันสกปรก แต่ว่าคุณยายบอกว่า นี่ล่ะยาปะแผล นึกออกไหม แต่ไม่เป็นไร พอมีดบาด ก็ทุกคนก็เอาหยากไย่มาพันๆ ปะไว้ มันหายเหมือนกัน มันคงจะมียาอะไรอยู่ในนั้น คล้ายๆ พวกปฏิชีวนะ มันสะสมอยู่ในใยแมงมุม สกปรกนะ เอามาปะแผลได้ หาย ไม่เป็นไร มันก็เป็นยา คนโบราณเขาจึงใช้ สำหรับรักษาแผลสดๆ ถ้าดีขึ้นกว่านั้น ก็เอาใบไม้ เอามาเคี่ยวกับปูนแดง ปูนขาว แล้วก็มาปะ แสบหน่อย แล้วก็ให้หายเป็นปกติ
ร่างกายเรามันก็เยียวยาอยู่ในตัวของมันเอง มีโรคอะไรเข้าไป มันก็มาช่วยกันฆ่าเหมือนกัน แต่ว่าถ้าข้าศึกมันมีกำลังมาก เจ้าของบ้านมีกำลังน้อยก็แพ้ สู้มันไม่ได้ เราก็แพ้มัน ความเจ็บนั้นเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งเข้ามาในร่างกาย เมื่อร่างกายอ่อนแอ มันก็ได้ช่อง เกาะจับอยู่นาน เราก็ลำบาก ใครๆ ก็ไม่อยากเจ็บไข้ แต่ว่าหนีไม่พ้นหรอก มันต้องมี แต่ว่าให้มันไข้น้อยหน่อย ไข้ช้าหน่อย ก็ต้องรู้จักระวังเนื้อระวังตัว
อาหารนี่สำคัญมาก เราต้องรับประทานอาหารให้มันถูกส่วน เขาว่ากินอาหารตามหลักโภชนาการน่ะ หลักโภชนาการนี่เขาตั้งสูตรไว้ ว่าควรจะกินแป้งสักเท่าไหร่ กินผักสักเท่าไหร่ กินไขมันสักเท่าไหร่ เขาเรียกว่าโปรตีนบ้าง วิตามินบ้าง พวกอย่างนี้กินสักเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย ไม่ใช่กินกันมากๆ จนท้องกาง ไม่ใช่อย่างนั้น
คนไทยเราชอบรับทานข้าวมากๆ แกงน้อยๆ ตั้งแต่เด็กๆมาเขาก็สอนอย่างนั้น อย่ากินปลามากๆ เดี๋ยวเป็นเดือน เป็นไส้เดือน พุงจะป่องเป็นโรคไส้เดือน เลยไม่ได้กินปลามาก กินนิดหน่อย อัดแต่ข้าวเข้าไว้ อัดเข้าไปจนท้องกางเลย บางอย่างก็ไม่ให้กินเสียอีก กลัวจะเป็นอย่างนั้น กลัวจะเป็นอย่างนี้ ยิ่งเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยล่ะ แหม เกือบกินอะไรไม่ได้ นอกจากข้าวกับเกลือเท่านั้นเอง มันไม่มีรสชาดอะไร แต่ก็ให้กินอยู่อย่างนั้น มีบาดแผลอะไรก็ให้กินข้าวกับปลา ปลาเค็ม ปลาทะเลเขาเรียกว่าปลากรวด เอามาปิ้งให้กิน ถูกๆ ก็กินกันไปนะ ก็กินได้ กินไม่ถูกหลักโภชนาการ
เราเป็นผู้ใหญ่มีครอบครัว กินให้มันถูกนี่มันไม่แพง ของบางอย่างแพง แต่ว่าไม่ค่อยเกิดประโยชน์แก่ร่างกาย ของบางอย่างอร่อย ทานแล้วน้ำมูกน้ำตาไหล อร่อย เหมือนกับก๋วยเตี๋ยวเรือเขาว่าอร่อย เพราะมันใส่พริกมากๆ ใส่น้ำส้มมากๆ ถ้าใครได้กินเข้าไปก็เหงื่อไหล เหงื่อไหล น้ำมูก น้ำตาไหล อร่อย มันอร่อยตรงนั้น ตรงที่น้ำมูกน้ำตาไหล ก๋วยเตี๋ยวเรือรังสิต สมัยก่อนรังสิตมันไกล ใครไปกินก๋วยเตี๋ยวที่นั่นก็เรียกว่า ความหิวเป็นน้ำซอสอย่างดี พอไปถึงก็สั่งมา เขาก็ใส่มา แหม น้ำเหงื่อไหล อร่อย ติดอกติดใจ ความจริงไม่ได้เรื่องอะไร เพราะมันทำให้สบายที่ลิ้นเท่านั้น แต่ไม่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย
ถ้าเรากินของเป็นประโยชน์ ก็ไม่ต้องมากมายอย่างนั้น ไม่ต้องเอร็ดอร่อย กินผัก กินปลา กินเนื้อพอสมควร ให้มันสมดุลกัน เดี๋ยวนี้คนมักจะเป็นโรคท้องผูกกันบ่อยๆ ที่ท้องผูกก็เพราะว่ามันไม่ค่อยมีอาหารประเภทที่เขาเรียกว่าไฟเบอร์ ไฟเบอร์นี่มันพวกใย เหมือนใยแก้วที่เขาเอามาทำเก้าอี้ ทำอะไร แต่นั่นเรากินไม่ได้นะ แต่ว่าพวกไฟเบอร์นี่มันมีอยู่ในพืชในผัก เรากินเข้าไปแล้ว นี่มันจะช่วยให้อาหารออกไปด้วยความเรียบร้อย เช่น คนกินส้มนี่ปอกทิ้งหมด เยื่อที่ติดกับกลีบส้มนี่ปอกทิ้งหมด ไอ้นั่นของเป็นประโยชน์ กินเข้าไปแล้วมันช่วยชำระชะล้างในลำไส้ ไม่กิน มากินเอาแต่เนื้อส้ม แล้วก็ไปถึงเคี้ยวๆแล้วคายอีก เอาแต่น้ำส้ม แล้วก็เป็นโรคท้องไม่ค่อยดี เพราะไม่กล้ากินของที่มันจะเป็นประโยชน์แก่ท้อง ทำให้เสียหาย
เขาเล่าว่า ด๊อกเตอร์ซุนยัดเซ็นนี่เป็นผู้ก่อการเปลี่ยนการปกครองประเทศจีน คนนับถือมาก ด๊อกเตอร์ซุนยัดเซ็น แกเป็นโรคกระเพาะ รักษาในเมืองจีนไม่หาย เลยต้องไปรักษาที่ประเทศญี่ปุ่น ไปถึงหมอญี่ปุ่นก็หุงข้าวให้รับทาน ข้าวกล้อง แล้วกินกับผักกาดเค็มเสียด้วย ด๊อกเตอร์ซุนพอมองเห็นก็ โอ๊ย ไม่ได้ๆ กินไม่ได้ ข้าวอย่างนี้กินไม่ได้ กินปวดท้องตาย ผักกาดเค็มอย่างนี้กินไม่ได้ หมอบอกว่าต้องกินให้ได้ กินเท่าไหร่ก็ตามใจ แต่ต้องกินให้ได้ วันนี้กินได้สักนิดหนึ่ง พรุ่งนี้เพิ่มขึ้นอีก มะรืนนี้เพิ่มขึ้นอีก ต้องหัดกิน กินให้ได้ หมอญี่ปุ่นแกบังคับด๊อกเตอร์ซุนให้กิน แกก็ต้องกินตามหมอสั่ง กินเข้าไป วันนี้กินได้นิด พรุ่งนี้เพิ่มอีกหน่อย วันต่อไปเพิ่มอีกหน่อยหนึ่ง จนกระทั่งกินได้ พอกินได้มันก็หายปวดท้อง ก็ใช่ มันก็เป็นปรกติ เพราะว่าเราทำให้ท้องของเราน่ะอ่อนละมุนมากเกินไป กินแต่ของอ่อนๆ อะไรอย่างนั้น ไม่ได้ออกมาย่อยเลย กากไม่มี กินแต่ของอ่อนๆ เหมือนกับคนเป็นไข้อยู่ตลอดเวลา เลยเป็นโรคเกี่ยวกับกระเพาะ เพราะฉะนั้นต้องให้กินทุกอย่างเท่าที่จะกินได้ พอกินๆ ไปมันก็ชิน แล้วก็สบาย
พวกผลไม้บางประเภท ผักบางประเภท ควรจะรับทานบ่อยๆ ให้มันเข้าไปช่วยเป็นกาก กระชากเอาอาหารเก่าในท้องออกมา อันนี้สมัยใหม่เขาเรียกว่าไฟเบอร์ อาตมาไปอยู่ที่วัดป่าจิตตวิเวก ท้องมันไม่ค่อยดี เพราะว่าไปกินอาหารแบบอาหารเมืองนอกเข้า แล้วก็ดื่มน้ำ น้ำมันเย็นเกินไป ท้องผูก บอกพระว่าแหมมาอยู่นี่ ระบบการขับถ่ายไม่ดี พระเอายามาให้ขวด แกเขียนว่าไฟเบอร์ อะไรไฟเบอร์ ไฟเบอร์ครับ เอามาให้กิน ก็อันนี้แหละ ยาระบายท้อง ให้กิน ก่อนนอนกินช้อนหนึ่ง ตื่นนอนกินช้อนหนึ่ง ละลายน้ำ กินเข้าไป มันคล้ายกับใยผัก แต่เขาเอาไปทำให้ละเอียด มันเป็นใยเล็กๆ ไอ้ไยเล็กๆที่เรากินเข้าไป มันไปช่วยชำระชะล้างอาหารที่เรากินเข้าไปแล้วอย่างเรียบร้อย พอกินยานั้นเข้าไปแล้วสบาย ไปนั่งไม่ต้องสวดมนต์ยาวแล้ว พอไปนั่ง พ่นพรวดออกมาเลย มันพ่นใย ไม่ใช่อะไร
ไอ้ใยอย่างนี้เราไม่ต้องสั่งจากเมืองนอก บ้านเราเยอะ บ้านเรา ผักบุ้ง ผักกระเฉด หรือว่าผักประเภทต่างๆ มันมีใยไฟเบอร์ทั้งนั้น รับทานเข้าไปมากๆ พวกผักมากๆ ผักสดแต่ว่าต้องสะอาด ต้องล้างให้สะอาด รับทานเข้าไป ไม่ควรต้มนานๆ จนกระทั่งยุ่ย แต่ว่าควรจะนิ่ม ให้มันสุกด้วยความนิ่ม คุณภาพไม่เสีย คนทางภาคเหนือกินผักนึ่งมา เขานึ่ง ฟักทองนึ่ง ฟักแก้วนึ่ง ผักอะไรต่ออะไรเขานึ่งทั้งนั้น แล้วก็จิ้มน้ำพริกแดง เขาใช้ผักนึ่ง แล้วก็กินผักมาก ถ้ากินผักน้อย ข้าวเหนียวจะไม่ออกจากท้อง คนเขารู้ คนเขารู้ ก็กินข้าวเหนียวอันนี้มันแข็งไง มันย่อยยาก ต้องกินผักมาก ผักนี่จะช่วยย่อย เพราะมีไฟเบอร์อยู่ในผักเยอะ ช่วยย่อยอาหารให้ออกมาด้วยความเรียบร้อย ถ้ารู้ ในท้องมันก็เบาไป ไม่เป็นโรคท้องผูก
ดื่มน้ำมากๆ พอดื่มน้ำนี่โยมสังเกตนะ พอดื่มน้ำเข้าไปหนึ่งแก้วนี่สดชื่น สดชื่นขึ้นทันที โรคบางอย่างถ้าดื่มน้ำมากจะหาย เช่น โรคปวดท้อง ท้องไม่ดี จะหาย โรคปวดหัวนี่ก็จะหาย ถ้าดื่มน้ำบ่อยๆ เพราะน้ำนี่มันเข้าไปชำระชะล้าง เอาสิ่งไม่ดีออกจากร่างกาย แล้วน้ำนั้นจะเจือเข้าไปในโลหิต ไปฟอกโลหิตด้วย เอาของเสียมาแล้วก็ส่งออกไป ตามท่อที่ส่งออก มันช่วยเหมือนกัน เราจึงต้องดื่มน้ำสะอาดมากๆ วันหนึ่งนี่ต้องดื่มหลายแก้ว ดื่มบ่อยๆ ร่างกายจะแข็งแรง มีอนามัยดี ทำอย่างนี้ก็ไม่เจ็บไม่ไข้
หลับนอนต้องเป็นเวลา ถึงเวลานอนต้องนอน เพราะว่าตื่นนี่มันมันตื่นตามเวลา สมมติว่าเราเคยตื่นตี ๕ นอนตี ๒ มันก็ตื่นตี ๕ นอนเที่ยงคืนมันก็ตื่นตี ๕ นอนสามทุ่มมันก็ไปตื่นตี ๕ ถ้าเรานอนสามทุ่มเต็มตื่น ตี ๕ ตื่นกระปรี้กระเปร่า ร่างกายแข็งแรง แต่ถ้าไปนอนตี ๑ ตี ๕ ตื่น รู้สึกมึนศีรษะ อ่อนเพลีย ไม่ค่อยแข็งแรง ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่ามันพักผ่อนไม่ได้เต็มที่ ร่างกายมันต้องตื่นตามเวลา เพราะเคยตื่นอย่างนั้น ร่างกายนี่ซื่อตรงนะ ถ้าทำอะไรเป็นเวลาแล้ว เขาจะตรงต่อเวลา ทำอะไรเป็นเวลาแล้วมันจะซื่อตรง อันนี้เมื่อถึงเวลาตื่นมันก็ตื่น แต่ว่าเรานอนดึก มันก็ไม่พอ การพักผ่อน เลยเกิดการมึนหัว มัวตา อ่อนเพลีย ซึมเซา เพราะนอนไม่เต็มตื่น
ก็เวลาจะนอนก็ต้องนอน เวลานอนนี่อย่าคิดมาก วางไป อะไรต่ออะไรวาง เรื่องการเรื่องงานอย่าเอามาคิด ปิดงานแล้วก็ปิด ปิดหมดนั่นแหละ ไม่ใช่ว่าปิดตู้แล้ว สมองยังไม่ได้ปิด มานั่งคิด นั่งฝัน นอนแล้ว ก็เปิดไว้ ให้มันหนักหัวหน่อย แล้วก็คิดวางแผนจนไม่เป็นอันหลับอันนอน นี่แหละ เรียกว่าเป็นบันไดขั้นต้นแห่งการเป็นโรคประสาท เพราะฝืนมากเกินไป เราจึงต้องหัด เมื่อเลิก ต้องเลิกไป เลิกงานแล้วก็ต้องเลิก อย่าไปยุ่ง เวลาจะนอนก็นอนให้สบาย ก่อนจะนอนนี่ควรจะทำความสงบใจ ไหว้พระสวดมนต์เสียหน่อย ไหว้เหมือนกับที่เราสวดตอนเช้านั่นก็ได้ สวดเรื่อยไป สวดให้จบ สวดเบาๆ ดังๆ ก็ตามใจ สวดเสร็จแล้วนั่งสมาธิ ทำใจให้สงบ ให้สบาย เรียบร้อย แล้วก็นอน ล้มลงบนเตียงก็บอกว่าฉันจะนอน ฉันจะหยุดคิด หยุดนึกอะไรทั้งหมด ปิดหมดทุกประตู ฉันจะนอนแล้ว แล้วก็นอน หายใจยาวๆ ช้าๆ ให้เต็มปอด สัก ๕ ถึง ๑๐ ครั้ง แล้วก็ค่อยหายใจเป็นปกติ แล้วก็นึกว่า หลับ หลับ หลับ อย่าไปนึกว่า ไอ้นั่นก็ยังไม่ได้ทำ โอ้ไอ้นั่นยังไม่ได้ตอบเลย โอ้ไอ้นั่นก็ยังไม่ได้ทำ อันนี้มัน สะดุ้งน่ะแหละ หลับ หมดภาระ หมดกังวล ฉันจะพักผ่อน แล้วก็นอนให้สบาย ให้เต็มตื่น
นอนในที่ที่สงบหน่อย แหมหมู่นี้อากาศร้อน ญาติโยมคงจะร้อน มันร้อน ปีนี้มันร้อนจริงๆ เหงื่อไหลไคลย้อย ไม่มีลมพัดมันก็ลำบาก บ้านญาติโยมนี่จะเปิดรับลมก็ไม่ได้ ไอ้ลมก้อนมันจะเข้ามา ลมสองขามันจะเข้ามา ลำบากเหมือนกัน ความจริงควรจะมีลมพัดกรู ใช้พัดลม มันก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ไม่เป็นธรรมชาติ ถ้าใช้แอร์มันก็ค่อยยังชั่วหน่อย เปิดแอร์ไว้ ค่อยเย็นสบาย นอนหลับหน่อย แต่ว่ามันเพิ่มเงินนะ ก็เพิ่มแอร์ เพิ่มไฟฟ้าอะไรขึ้นไปตามเรื่อง สู้หัดให้หลับโดยไม่ต้องมีอะไรช่วยไม่ได้ ให้มันช่วยตัวเอง มันพึ่งตัวเอง หลับสนิท
แล้วก็ตื่นแต่เช้า มันตื่นเองล่ะ พอได้เวลาก็ตื่น ตื่นขึ้นถึงก็นั่งสงบใจบนที่นอน นั่งแล้วพูดว่าวันนี้ฉันจะอยู่อย่างคนสงบ ฉันจะอยู่อย่างคนมีสติปัญญา ฉันจะอยู่อย่างคนรู้เท่าทันต่อสรรพสิ่งทั้งหลาย ฉันจะไม่เป็นทุกข์ในเรื่องที่ไม่จำเป็น พูดกับตัวเอง สอนตัวเองเช้าๆ เข้าห้องน้ำ ทำกิจตามหน้าที่ เสร็จแล้วก็มานั่ง สบายๆ ทำจิตใจให้สดชื่น อย่าดุใครเช้าๆ คนใช้ก็อย่าไปดุมัน เช้าๆ นี่ต้องสงบ ต้องยิ้มแย้มแจ่มใส ทำใจเบิกบาน
ถ้าจะมีอะไรพูด เดี๋ยวก่อนค่อยพูด ให้มันสายหน่อย ค่อยพูดค่อยจากัน แล้วก็พูดด้วยอารมณ์เย็น อย่าร้อน อย่าเผาตัวเองแล้วส่งควันให้คนอื่น คนบางคนเผาตัวเองก่อน แล้วก็ส่งควันดำให้คนอื่น ควันดำนี่ ตาดุ ปากแรง คำพูดหยาบคาย นี่ควันดำออกมาจากข้างในที่มันถูกเผาไว้ ออกมาดำเลย เหมือนควันดำท้ายรถยนต์อย่างนั้น ไอ้นี่ไม่ได้เรื่องอะไร เป็นพิษ เป็นพิษแก่ตัวเราเอง
ทุกครั้งที่ใจไม่สงบนี่มันเป็นพิษ ใจโกรธ ใจเกลียด ใจริษยา ใจพยาบาทอาฆาตจองเวร ถ้าเกิดขึ้นแล้ว มันเป็นพิษแก่เรา เมื่อเป็นพิษแก่เรา มันก็ส่งพิษไปยังคนใกล้เคียง ใครอยู่ใกล้เราก็ถูกเผาไปด้วย สำลักเข้าไปตามๆ กัน เพราะควันพิษของเรา อย่าสร้างอารมณ์ที่เป็นพิษในจิตใจขึ้นในตอนเช้า ให้ตื่นด้วยอารมณ์สดชื่น มองในบ้าน มองธรรมชาติด้วยความสดชื่น แล้วจะสบายตลอดวัน ถ้าเราอยู่อย่างนี้แล้วจะสบาย แต่ถ้าตื่นขึ้นด้วยอารมณ์ขุ่นแล้วมันจะค้างไปเรื่อย เป็นอารมณ์ค้าง คือมันตกเหลือเป็นตะกอนอยู่ในใจ ใครมากวนก็มันขุ่นขึ้นมาทันที แล้วก็แหวขึ้นมาทันที นี่มันเสียหาย ไม่ได้อะไรที่เป็นสาระเป็นแก่นเป็นสาร จึงควรหัดทำจิตทำใจ พิจารณาสิ่งทั้งหลาย ให้รู้ตามสภาพที่เป็นจริง เราก็จะได้สบายใจ วันนี้พูดมาก็สมควรแก่เวลา ขอจบไว้แต่เพียงเท่านี้