แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาแล้ว ขอทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้ฝนตกตอนเช้าตี ๕ และว่ามันเย็นสบาย ต้นไม้ก็สดชื่น คนก็สดชื่นเหมือนกัน แต่ว่ามันลำบากตรงที่นั่งฟังธรรมนี่อีก เพราะว่านั่งใต้ต้นไม้ไม่ได้ ฝนมันโปรยอยู่ตลอดเวลา ก็ต้องมานั่งกันในหอประชุมก็จนแน่น เพราะนั่งตรงอื่นไม่สะดวก ก็ดีเหมือนกัน ได้นั่งรวมกันมากๆ แล้วก็สบาย ฝนนี่บางทีเหมือนกับว่าแกล้งนะ เมื่อวันก่อนไปประเทศอังกฤษไปทอดผ้าป่าที่วัดจิตตเวก วัดป่าจิตตเวก วันก่อนจะทอดผ้าป่านั้นแดดดี สว่างไสว ก็นึกดีใจไว้ล่วงหน้าว่า พรุ่งนี้ขอให้มีแดดอย่างนี้เถอะ ที่ไหนได้พอรุ่งเช้าฝนตกครึ้มตั้งแต่เช้าเลย แล้วก็พอคนมามากก็เทจักๆลงมาเลย เหมือนกับมาต้อนคนให้ไปรวมอยู่ในเต้นท์เดียวกัน เขามีเต้นท์อยู่ ๒ เต้นท์ คนก็ต้องไปนั่งรวมกันอยู่ในนั้น แออัดยัดเยียด แต่ว่าเมืองนอกมันดีอย่าง แม้จะนั่งแออัดมันก็ไม่ร้อน เพราะว่าอากาศมันหนาว ผิดกับบ้านเรา บ้านเรานี้ถ้านั่งเล่นนะมันก็ค่อนข้างจะร้อน เพราะว่าทุกคนระบายความร้อนออกจากตัว ต่างคนต่างระบายออกก็เลยอบอุ่นไปตามๆกันแทนที่จะเย็นกลายเป็นอุ่นไป
ฝนตกนี่มันก็ดีเหมือนกัน เพราะว่าเราเรียกร้องมานานแล้ว บ่นกันทุกคน มันร้อนเหลือเกินๆ แต่พอฝนตกลงมาก็ชักจะบ่น ไหงตกไม่เป็นเวล่ำเวลา วันอาทิตย์ว่าจะไปฟังธรรมไม่น่าจะตก ตกตอนบ่ายก็ดี ความจริงตามสถิตินี่ ตั้งแต่เทศน์วันอาทิตย์มานี่ฝนตกน้อยเหลือเกินวันอาทิตย์นี่ ตกก็มักจะตกตอนกลางคืนก่อนถึงวันอาทิตย์ ตกซะตอนดึกอะไรงั้น เวลากำลังเทศน์นี่ฝนไม่ค่อยตกหรอก นานๆสักทีปีหนึ่งก็มีสักวัน สองวันเท่านั้นเอง ที่จะต้องลำบากในเรื่องวันอาทิตย์ ธรรมชาติก็ไม่ทารุณเกินไปยังอำนวยความสะดวกแก่พวกเราทั้งหลายดี เพราะว่าตกน้อย วันไหนฝนตกก็อย่าไปบ่นเดี๋ยวธรรมชาติได้ยินเข้ามันจะโกรธเอา หาว่าแหมไม่ตกตั้งเยอะแยะมันยังบ่น ตกจักๆซะเลย ทีนี้ก็เดือดร้อนกันใหญ่ถ้าตกมากอย่างนั้น จิตใจเรานี่มันต้องรู้จักหมุนให้เหมาะกับธรรมชาติ แดดออกก็อย่าไปดีใจเสียใจ ฝนตกก็อย่าไปยินดียินร้าย ทำใจให้เป็นกลางๆไว้ อะไรมันเป็นไปอย่างไรก็นึกว่าธรรมชาติมันก็ต้องเป็นอย่างนี้ล่ะ เพราะเรื่องของธรรมชาตินั้นไม่อยู่ในอำนาจของใคร เราจะไปบังคับก็ไม่ได้ ขอร้องก็ไม่ได้ เวลาฝนไม่ตกก็แห่นางแมวกัน ให้พระไปสวดกลางแจ้งสวดคาถาพญาปลาช่อน เขาเรียกกันอย่างนั้น พระก็นั่งสวดเหงื่อไหลซิกๆๆๆเลย ร่มหัวไม่มีเขาไม่ให้กาง สวดให้เทวดาเห็นว่าพระร้อนแล้วฝนจะได้ตกลงมา แต่ว่าธรรมชาติก็เป็น อยากจะสวดกลางแจ้งก็สวดไปสิ ฉันไม่ตกก็แล้วกันนะ พระก็เลยจีวรโชกกลับวัดนั่นเรื่อยๆ
แต่จำได้ว่าเมื่อสมัยเป็นเด็กนี่มีอยู่คราวหนึ่ง เขาทำอย่างนั้นนะ ทำรูปปลาช่อนนอนอยู่กลางแห้ง ดินเหนียวเอามาปั้นเป็นปลาช่อน ทำเป็นหนองให้นอนอยู่ในแห้ง แล้วนิมนต์พระมาฉันอาหาร ฉันอาหารอิ่มหนำสำราญแล้วก็บอกนิมนต์สวดมนต์ ไอ้เวลาฉันอาหารให้นั่งในร่มทำหลังคากันไว้ดีเรียบร้อย พอจะสวดมนต์นิมนต์ไปสวดกลางแจ้ง แดดกำลังเที่ยง ไอ้เนื้อตัวก็ร้อนขนาดไหน พระก็นั่งหัวแดงอย่างนั้น ร้อนเปรี้ยงๆ ก็สวดกัน แหมศักดิ์สิทธิ์วันนั้น สวดยังไม่ทันจบเลย เทจักๆๆตกลงมาเลย น้ำท่วมไปหมดทั้งทุ่ง รุ่งเช้าก็ได้ยินเสียงไถนากันก้องพื้นไปหมด มีอยู่คราวเดียวนั้นจำได้ว่าสวดขลังอยู่คราวเดียว นอกนั้นสวดจนแมวตายก็ฝนไม่ตก แห่นางแมวจนแมวตายก็ไม่ได้เรื่องอะไร ก็แมวกะฝนมันถูกกันที่ไหน ไปแห่ทำไมนางแมว ควรจะเอาเนื้ออื่นไปแห่ที่มันชอบๆน้ำนะ แห่ควายดีกว่า เพราะว่าควายมันชอบน้ำ อันนี้แห่ควายแสดงว่า แหมธรรมชาติแห้งแล้งมากควายเดือดร้อนแล้ว ไปเอาควายมาแห่ก็ขอฝนสักหน่อยอย่างนั้นดีกว่า แห่นางแมวมันก็ไม่ชอบน้ำอยู่แล้วฝนไม่ตกแมวก็ดีใจ ฝนตกแมววิ่งหนี มีพิธีการมันก็ทำไปอย่างนั้นล่ะ ตามเรื่องตามราวเขาเรียกว่าลัทธิไสยาศาสตร์ คนก็ชอบทำกันไป ธรรมชาติไม่ได้อยู่ในบังคับของใครเราจะไปขอร้องก็ไม่ได้ ไปทำอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น มันไปตามเรื่องของธรรมชาติ เราอย่าไปเสียอกเสียใจ อย่าไปดีใจทำใจให้เฉยๆ มองในแง่ที่มันเป็นอย่างนั้น ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้นจิตใจก็สบาย อันนี้ขอทำความเข้าใจซะหน่อยก่อนเรื่องฟ้าเรื่องฝนแล้วก็จะพูดเรื่องอะไรกันต่อไป
วันนี้มีครูมาฟังด้วยมากเพราะว่าครู เขาเรียกว่าภูมิปัญญาไทย มีโรงเรียนหลายโรงเรียนในเขตนั้น เขามาประชุมกันตั้งแต่เมื่อวาน วันนี้ก็ประชุมกันต่อ แต่ว่าในตอนเช้าได้นั่งร่วมกับญาติโยมทั้งหลาย ทำให้คณะครูได้มาเห็นว่าวัดชลประทานนี่เขาทำกันอย่างนี้ เรียกกันมาอย่างนี้ มาสวดมนต์กันอย่างนี้นานมาแล้ว ครูบางคนอาจจะไม่เคยมาเพราะว่าอยู่ไกล ได้มาเห็นก็จะได้เอาไปพูดไปคุยกับใครๆ ที่เขาสนใจอยากจะได้ฟังธรรมะ อยากจะได้รู้เรื่องคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็บอกเขาว่าโน่นนะ ไปวัดชลประทานในวันอาทิตย์นะ เก้าโมงครึ่งหลวงพ่อปัญญาท่านก็เทศน์ให้ฟัง คนเหล่านั้นก็จะได้มา มาฟังแล้วจะได้ความรู้ความเข้าใจ จะได้นำไปเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันต่อไป จะได้ไม่เกิดความทุกข์อะไรมากเกินไป เพราะธรรมะนี่เป็นยาแก้ทุกข์ เป็นสิ่งช่วยแก้ไขปัญหาในชีวิตของเรา คนเราถ้าไม่เอาธรรมะไปใช้ ปัญหาวุ่นวายสับสนมันก็เกิดมาก แต่ถ้าเราเอาธรรมะไปใช้ชีวิตเราจะดีขึ้น จะมีความสุขอยู่ในด้านสงบมากขึ้น ไอ้สุขอย่างอื่นนะมันไม่ถาวร สู้ความสุขที่เกิดขึ้นจากความสงบใจไม่ได้ อันนี้เราไม่มีความสุขเพราะใจมันวุ่นวายสับสนด้วยประการต่างๆ ต้องเอาธรรมะเข้าไปช่วย เป็นเครื่องประเล้าประโลมใจ ทำให้ใจเรารู้จักพอดี พองาม ในเรื่องอะไรต่างๆ ก็จะได้เกิดความสุขทางใจขึ้น เป็นเรื่องควรแนะนำชักชวนเพื่อนฝูงมิตรสหาย ให้ได้รู้แหล่งที่ควรจะศึกษาธรรมะ จะได้ช่วยกันมีธรรมะมากๆขึ้น
เพราะสังคมมนุษย์ในยุคปัจจุบันมันขาดธรรมะ ไม่มีธรรมะเป็นพี่เลี้ยงประคับประคองจิตใจ ใจก็ไหลไปตามอารมณ์ ไหลไปตามความอยากในสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าโดยไม่รู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร จึงสร้างความทุกข์ความเดือดร้อนด้วยประการละต่างๆ ถ้าได้หันหน้าเข้าหาธรรมะ โลกนี้ก็จะดีกว่าที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เราจะได้มีความไว้วางใจต่อกัน อยู่กันฉันพี่น้องเพราะมีน้ำใจเดียวกัน ใจเดียวกันก็คือใจที่มีธรรมะ ถ้าใจไม่มีธรรมะมันก็หลายใจ ใจโลภ ใจโกรธ ใจหลง ใจริษยา ใจพยาบาทอาฆาตจองเวร ใจที่มีความถือมั่นในตัวตน สำคัญตนว่าอย่างนั้น สำคัญตนว่าอย่างนี้ แล้วก็ไปเที่ยวแข่งชั่วกันคนโน้นคนนี้ ที่เราเรียกกันว่าแข่งดีนะ ความจริงไม่ได้เอาดีไปแข่งกันหรอก แต่เอาชั่วไปแข่งกัน อวดกิเลสกันว่าใครมีอะไรมากกว่าใคร อวดกันไม่พอก็เลยต้องหมัดต้องมวยกัน ชกต่อยตีรันฟันแทงกัน ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนกันไปตามๆกัน นี่คือผลที่เราไม่ได้หันหน้าเข้าหาธรรมะจึงได้เกิดปัญหา เกิดความสับสนวุ่นวายกันด้วยประการละต่างๆเราจึงต้องช่วยกันหันเข้าหาสิ่งนี้ ถ้าเราทุกคนได้บ่ายโฉมหน้าเข้ามาหาธรรมะ หรือมาหาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เราจะรู้สึกว่ามีอะไรแปลกขึ้นในชีวิตของเรา มีความสุขมากขึ้น มีความสงบมากขึ้น การเงินการทองก็จะไม่ฝืดเคือง ไม่ต้องเป็นหนี้เป็นสินใคร ถ้าเรารู้จักใช้ธรรมะในการดำรงชีวิต แต่ถ้าเราไม่ใช้ธรรมะ เงินเดือนไม่พอใช้ เกิดเป็นปัญหายุ่งยากลำบากกันด้วยประการละต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องมีหนี้มีสิน
เมื่อวานนี้มีคนหนึ่งมาหามาถึงก็บอกว่า พวกนั่งทางในนะ เขาบอกว่าดิฉันมีเคราะห์ร้าย อาตมาก็เลยถามว่าไอ้พวกไหนที่มันนั่งทางในเห็นว่าเคราะห์ร้าย มันรู้ได้อย่างไร นั่งลืมตามันยังไม่เห็นเลย นั่งหลับตามันจะเห็นอะไรเป็นคนที่ไหน บอกว่าเด็กๆมันนั่งทางใน เด็กน้อยนั่งทางในแล้วไปเที่ยวเห็นแปลกๆไปเชื่ออะไรได้ ผู้ใหญ่นั่งยังไม่เห็นแล้วเด็กน้อยมันจะไปเห็นได้อย่างไร บอกว่าเขาไม่ได้เห็นเวลานั่ง แต่เขามายืนหน้าร้านแล้วก็บอกว่า น้านี่เคราะห์ไม่ดีนะให้ไปสร้างพระพุทธรูปเสีย มันคงจะมาจากโรงหล่อพระก็ได้ เป็นสายสนกลในของพวกหล่อพระ ขายพระไม่ค่อยออกแล้วเลยไปบอกให้คนเคราะห์ร้ายไปช่วยสร้างพระอีกสักองค์หนึ่ง และบอกว่าไปทำสังฆทานเสียบ้าง จะได้สะเดาะเคราะห์ให้หายไป ดิฉันรับคำแล้วไม่สบายใจ ทำไมถึงไม่สบายใจ ก็เพราะไปยึดถือเอาคำของเด็กคนนั้นเข้าว่าเคราะห์ร้าย เราไม่มองดูตัวเองว่าเรานี่เป็นคนอะไร มีความคิดอย่างไร มีความทุกข์อย่างไรไม่ได้มอง ไปเชื่อตามเขาว่า ไปเชื่อตามเขาบอกแล้วก็เลยไม่สบายใจ ก็ดีหน่อยนะไม่สบายใจแล้วก็มาวัดชลประทานรังสฤษดิ์จะได้คลายจากความทุกข์ไป จะได้เกิดความเข้าใจถูกต้องขึ้น เมื่อมาก็เลยบอกว่าอย่าไปเชื่ออย่างนั้น อย่าไปเชื่อตามเขาว่า ให้เราพิจารณาตัวเองว่าเรามีความทุกข์เรื่องอะไร เรามีความร้อนใจในเรื่องอะไร
แล้วก็ถามว่าแล้วเวลานี้มีความทุกข์เรื่องอะไรอยู่บ้าง บอกว่าทุกข์เรื่องหนี้สิน หนี้สินมันไม่ใช่เรื่องเคราะห์ร้าย ไม่ใช่เรื่องอะไร แต่มันเกิดจากเราดำเนินงานผิดพลาดจึงได้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน ก็เลยถามว่า ทำมาหากินในเรื่องอะไร แกก็บอกว่าเป็นเอเย่นต์ขายเหล้า เรียกว่าประมูลเหล้าในเขตนั้น เขตใหญ่ไหม ไม่ใหญ่เท่าใดอำเภอเดียวนะ อำเภอหนองแคจังหวัดสระบุรี แต่นี่คนมันจะขายหลายคนมันก็ไปแย่งกันประมูลให้คนที่ต้มกลั่นสุราได้กำไรซะเปล่าๆแล้วทำไมเราไม่เอาคนเหล่านั้นมากินข้าวให้เรียวกันแล้วก็นั่งคุยกันว่าเรามาร่วมกันเถอะ แล้วเราแบ่งกันขายกำไรก็จะได้แบ่งกันไม่ต้องเสียเปรียบคนต้มกลั่นสุรามากเกินไป บอกว่าเวลาพบกันก็คุยกันดี แต่เวลายื่นประมูลมันแย่งกันทุกที ต่างคนต่างจะเอากัน เลยต่างคนก็ไปขึ้นราคาให้กับผู้ที่ต้มกลั่นให้เงินเขามากๆแล้วก็ต้องมีเงินไปประกันไว้กับบริษัทที่ต้มกลั่นสุรา ถ้าหากว่าขายได้กำไร ส่งเงินไปก็ไม่ต้องถูกหักแต่ถ้าขาดทุนเงินส่งไม่พอก็หักเงินประกัน หักไปเรื่อยๆ หักไปเรื่อยๆจนกระทั่งหมดขาดทุนบ่อยๆมันก็หมดเงินเหล่านั้น แล้วเวลาประมูลใหม่ต้องไปกู้เงินเขามาทำให้เกิดเป็นปัญหา เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน อาตมาก็เลยบอกว่าเลิกๆเสียไม่ดีหรือ ถ้าขายสุรามันจะฉิบหาย แล้วก็เลิกขายเสียไม่ดีกว่าหรือไปขายของอื่นเสียก็ได้นิ ไอ้ของที่จะขายได้มีเยอะแยะ นี่ไปขายของเมามันผิดกฎ เอ่อศีลธรรมที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้
พระพุทธเจ้าไม่ให้ขายสุรา ไม่ให้ขายยาพิษ ไม่ให้ขายเครื่องประหัดประหารเช่นปืน นี่เมืองไทยเรามีร้านขายปืนมากมันจึงยิงกันบ่อยเพราะอะไร มันควรจะออกกฏหมายไม่ให้คนไทยมีปืน ให้มีแต่ตำรวจกับทหาร ถ้าจะยิงก็ตำรวจยิงทั้งนั้น ทหารทั้งนั้น เพราะว่าคนอื่นไม่มี แล้วใครยิงปืนก็จับลงโทษอย่างแรง เหมือนประเทศข้างเคียงเขาทำ ปืนมันก็น้อยลงไปหน่อยเราไม่มีขายในตลาด แต่เดี๋ยวนี้ยังมีขาย ผิดหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ยาพิษนี่เช่นว่าของเป็นพิษนี่มันก็ไม่ควรจะขาย แต่กระทรวงสาธารณสุขเขาควบคุมอยู่พออสมควร แต่คนมันก็หันไปซื้อมากินจนได้น่ะ ไม่เชื่อคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข จึงเกิดความทุกข์ความเดือดร้อน และไม่ให้ขายสัตว์ที่จะเอาไปฆ่าเป็นอาหารด้วยนะ และประการสุดท้ายไม่ให้ขายคนด้วย พระพุทธเจ้าห้ามไม่ให้ขายคน ไม่ให้ขายสัตว์ที่จะเอาไปฆ่าเป็นอาหาร ไม่ให้ขายยาพิษ ไม่ให้ขายศัตราวุธ ไม่ให้ขายของเมา เราลองคิดดูว่าพระพุทธเจ้าท่านบัญญัติสิ่งเหล่านี้ไว้เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่สังคม เราไปขายก็ลำบากแหมบอกว่าเราถลำเข้าไปแล้วเอาตัวออกไม่ได้มันมีความทุกข์เดือดร้อน
เลยบอกว่าเนี่ย ที่ปากเกร็ดเขามีอยู่คนหนึ่งขายเหล้ามาหลายปี เป็นเอเย่นต์เมืองนนท์ เมืองสมุทปราการ เมืองปทุมธานี แล้วแกบ่นบ่อยๆ ผมมันไม่สบายใจเลยไอ้ขายเหล้าเนี่ย คนกินแล้วมันเมามายมันทะเลาะเบาะแว้งกัน นั่นแต่ผู้ขายไม่เคยดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ด้วยซ้ำไปแล้วก็นึกเบื่อแล้วก็เลิกไปเสียเลย เลิกเสร็จแล้วไปเคลียบัญชีกับโรงงานสุราบางยี่ขัน เดี๋ยวนี้สบายใจไม่ต้องไปยุ่งกะไอ้ของเมาต่อไป บอกปลอดภัยไป เล่าให้ฟังแกบอกยังถอนไม่ได้ เพราะเหยียบเข้าไปลึกแล้ว เรียกว่าจมลงไปถึงเอวแล้วมันก็ถอนไม่ขึ้น ต้องเอาช้างมาช่วยฉุดเลยทีนี้จะขึ้นได้ นี้เป็นความทุกข์ ความทุกข์เพราะดำเนินงานผิดพลาดไม่ใช่เรื่องอะไรไม่ใช่เคราะห์ร้ายจะไปรดน้ำมนต์มันก็ไม่หาย หรือว่าจะไปสะเดาะเคราะห์ไปลอดใต้ท้องช้างมันก็ไม่หายอะไรทั้งนั้นล่ะ มันจะหายก็ต่อเมื่อเราหาเงินมาเปลื้องหนี้ซะ แกบอกว่านี่กำลังคิดจะขายที่อยู่แห่งหนึ่ง บอกว่าถ้าขายที่แล้วมันพอเปลื้องไหม ยังไม่พอเหมือนกันว่ะ เอาหนักเข้าไปอีกที่ หมดคราวนี้เอาอะไรเปลื้อง อย่าไปขายดีกว่าก็อธิบายให้แกฟังไปตามเรื่องตามราว ปลอบโยนจิตใจให้คลายจากความทุกข์ ความเดือดร้อน แล้วก็ให้มองที่ตัวเองให้แก้ไขที่ตัวเองอย่าไปแก้ด้วยวิธีภายนอก คนเราเวลามีความทุกข์ก็มองที่ตัว ค้นหาสาเหตุที่ตัวเรา ให้ยึดหลักพระพุทธเจ้าว่าอะไรๆมันเกิดขึ้นในตัวเราก็เพราะการคิดของเรา การพูดของเรา การกระทำของเราเอง ไม่มีสิ่งใดจะมาดลบันดาลให้ใครเป็นสุข ไม่มีสิ่งใดจะมาดลบันดาลให้ใจเป็นทุกข์ เราเป็นสุขเพราะเราทำ เราเป็นทุกข์ก็เพราะเราทำ จึงต้องมองที่ตัว แก้ไขที่ตัว
ถ้าเราเชื่อมั่นในหลักการของพระพุทธเจ้า ชาวพุทธเราจะไม่ต้องไปหาพวกทรงเจ้าเข้าผี สำนักเจ้าพ่อเจ้าแม่เจ้าอะไรทั้งหลายนิ เราอย่าไป เพราะเป็นของหลอกลวงไม่จริงไม่แท้ แล้วก็ไม่ต้องเที่ยวไหว้บนบานศาลกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีฤทธิ์มีเดชที่เรานึกว่ามีนะ แต่ความจริงก็ไม่มีอะไรละ เพราะว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหมือนกับเสานิ บางแห่งปลวกกินเกือบหมด เสากลวงในแล้วแต่คนยังไปไหว้อยู่เหลืออยู่นิดเดียวไม่กี่ เซ็นต์แล้วปลวกกินข้างใน แต่คนไม่รู้ว่าปลวกกินนะ ถ้าเสามันเก่งปลวกก็ไม่กิน ไอ้นี่ไม่เก่งแล้วเป็นพวกไม้เนื้ออ่อนด้วย เสาหลักเมืองอะไรนิไม้เนื้ออ่อนทั้งนั้น เขาไม่ได้เอาไม้เนื้อแข็ง ความจริงควรจะเอาเหล็กมาหล่อเป็นเสาเลยปลวกมันจะได้ไม่กินแล้วก็จะได้ไหว้กันไปนานๆตราบเท่าที่เหล็กมันยังไม่ผุพังทลายลงไป แต่ไม่มีใครคิดทำกับเหล็กคือยังไม่พัฒนา ไอ้ของที่เป็นไสยาศาสตร์นี่เป็นความงมงายไม่ค่อยพัฒนาทำอย่างใดก็ทำกันอยู่อย่างนั้นนะ ไม่ค่อยจะมีการเปลี่ยนแปลง เราอย่าไปเที่ยวหลงไหว้สิ่งเหล่านั้น อย่าไปขอให้สิ่งนั้นมาช่วยเรา แต่เราต้องช่วยตัวเอง
ช่วยตัวเองก็หมายความว่ารู้จักว่าเรามันคิดอ่านอย่างไร เราพูดอย่างไร เราทำอย่างไร แล้วเราก็แก้ไขที่ตัวเรานะ เช่นเรามีความทุกข์ก็ต้องรู้ว่าทุกข์เรื่องอะไรค้นไปเถอะเดี๋ยวมันก็เจอละ เพราะมันอยู่กับตัวเราทั้งนั้น เมื่อเราเจอความทุกข์แล้ว เราก็ค้นไปว่าเหตุมันอยู่ที่อะไร เราไปติดต่อกับใคร เราประพฤติอย่างไร เราทำอะไรจึงได้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนนี้ขึ้น แล้วก็ต้องแก้ที่ตัวเหตุ เมื่อแก้เหตุเสร็จมันก็ดับไป พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสไว้ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นก็เพราะมีเหตุ ถ้าไม่มีเหตุ ผลจะเกิดขึ้นไม่ได้ และเหตุนั้นไม่ได้อยู่ที่ภายนอก มันอยู่ที่คนเรา ยกตัวอย่างง่ายๆ ฝนตกอย่างเนี่ยถนนลื่น รถบางคันก็ไหลลงไปนอนแช่น้ำอยู่ข้างคูถนน แล้วเราจะไปบอกว่าไอ้ที่มันลงไปในคูเพราะถนนลื่น นั่นไม่ใช่ตัวเหตุที่แท้จริง เพราะถ้าหากว่าเพราะถนนลื่นมันก็ลงทุกคันนะ แต่ว่าทำไมมันลงคันสองคัน อีกเก้าสิบแปดคันทำไมมันพ้นไปได้ มันไม่ใช่เรื่องถนนลื่น ถนนลื่นไม่ใช่ปัจจัยตัวใหญ่ ปัจจัยตัวใหญ่นั้นอยู่ที่ความคะนอง อยู่ที่ความประมาท ไม่ระมัดระวังในการขับรถ รถมันจึงลื่นลงไป เราจะไปโทษถนนไม่ได้ แต่เราควรจะโทษตัวเราเองว่า เพราะเราเผลอ เพราะเราประมาท สิ่งนั้นจึงได้เกิดขึ้น แต่ว่าคนเรามันก็บกพร่อง บกพร่องในข้อที่ว่าไม่ยอมรับว่าตัวผิดนี่อันนี้สำคัญนักหนา ไม่ยอมรับว่าตัวผิด ครูผู้สอนเด็กนี่ต้องพยายามให้เด็กรับผิดให้ได้ ให้เขารับผิดด้วยหน้าชื่นตาบาน ถ้าเด็กรับผิดแล้วอย่าไปลงโทษ ให้เขาสบายใจว่า ออ เรารับผิดนี่ไม่ต้องถูกลงโทษ ทีหลังทำผิดเขาก็จะได้รับผิด แต่ถ้าผิดหลายทีก็จะต้องเอามั่งต้องลงโทษมั่งสัญยงสัญญากันไว้เสียก่อนว่าคราวนี้ไม่ลงโทษเพราะว่าเป็นความผิดครั้งแรก แต่ว่าถ้าต่อไปทำผิดอีกนี่จะต้องถูกทำโทษ แล้วก็ลงโทษตามที่ได้ตกลงกันไว้ ช่วยกันแก้นิสัยคนที่ไม่ค่อยยอมรับผิด ให้เป็นคนยอมรับผิดกันเสียบ้างก็จะดีขึ้น
ในทางพระพุทธศาสนาของเรานั้น พระพุทธเจ้าท่านให้ยอมรับผิดเช่นว่า พระเราถ้าหากว่าทำผิดล่วงเกินพระวินัยบทใดบทหนึ่งก็ตาม ท่านมีวิธีการว่าให้ปลงอาบัติ ปลงอาบัติก็คือการยอมรับว่าตัวผิดนั้นเอง เช่นว่าเราไปทำอะไรเป็นอาบัติใด เราก็ต้องไปบอกกับพระอีกองค์หนึ่ง บอกในรูปภาษาไทยก็ได้ ไม่ต้องว่าภาษาบาลีล่ะ ว่าภาษาบาลีบางทีไม่รู้เรื่อง เราก็พูดไปว่าเมื่อเช้านี้ผมทำผิดไปในข้อนั้นรู้สึกตัวว่าเป็นผิด ขอปลงอาบัติกับท่านแล้วจะสำรวมระวังไม่กระทำความผิดนั้นต่อไป อันนี้เป็นการแก้ไขปัญหาให้รู้จักยอมรับในเรื่องว่าตัวได้กระทำความผิดลงไป แต่ว่าเราทั้งหลายไม่ค่อยได้ทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงเกิดเรื่องแล้วต้องสอบสวนกัน สิ้นเปลืองเงินทองในการสอบสวนมากมาย สอบไปสอบมาก็เลยไม่ได้เรื่องคนผิดมันก็นึกว่าไม่เป็นไร ทำชั่วก็ไม่ได้ชั่วหรอก ทำดีก็ไม่ได้ดีอะไร เพราะเราทำชั่วก็ยังอยู่ได้ไม่เห็นมันเป็นอะไร ความจริงนั้นใจเขาชั่วอยู่ คนเราเวลาทำชั่วใจมันชั่วอยู่ หลังจากทำชั่วแล้วใจก็ยังคิดเรื่องชั่ว ยังร้อนใจ ยังมีความวิตกกังวล ในปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่สบายใจ คนที่ทำดีนั้นทำแล้วสบายใจ เมื่อทำเสร็จไปแล้วไปนึกถึงทีไรก็ยังสบายใจ มันเป็นความสุขถ้าเราทำดี แต่ถ้าเราทำชั่วมันก็เป็นความทุกข์ เป็นความเดือดร้อนใจแต่คนมองไม่เห็น ไอ้เรื่องข้างในนี่มองไม่ค่อยเห็นมองแต่ตรงข้างนอก มองแต่วัตถุซึ่งตนมีตนได้ ที่เกิดขึ้นในระหว่างชีวิตเขามองอย่างนั้น แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นข้างในเขามองไม่เห็น
ไอ้ความจริงนั้นสิ่งที่เกิดข้างในนั้นหล่ะมันสำคัญกว่าสิ่งที่เกิดข้างนอก เพราะสิ่งข้างในนั้นมันสร้างรอยประทับไว้ในจิตใจของบุคคลผู้นั้น ถ้าเราทำดีมันก็ประทับความดีไว้ ถ้าเราทำชั่วมันก็ประทับความชั่วไว้ในจิตใจของเรา เราสะสมสิ่งใด สิ่งนั้นมันก็มากขึ้นในใจของเรา เช่นเราสะสมบาป บาปมันก็เพิ่มในใจของเรา เราสะสมบุญ บุญมันก็เพิ่มมากขึ้นในจิตใจของเรา ทุกฺโข ปาปสฺส อุจจโย พระพุทธเจ้าตรัสว่าสะสมบาปเป็นทุกข์ สุขโข ปาปสฺส อุจจโย การสะสมบุญนั้นเป็นความสุข อันนี้เราจะเอาอย่างไหน เอานั่งทุกข์หรือ เอานั่งสบายใจ เอาใจเย็น ใจสงบ หรือว่าเอาใจร้อน ใจวุ่นวาย ทุกคนคงไม่ต้องการใจร้อน ไม่ต้องการความทุกข์ แต่ต้องการความสุขความสบายใจ
เมื่อเราต้องการความสุขความสบายใจ เราจะไปสะสมสิ่งชั่วร้ายทำไม เราควรจะมาสะสมแต่สิ่งที่เป็นความงามความดี ให้เกิดขึ้นในใจเราไม่ดีกว่าหรือ อันนี้เป็นหลักที่เราควรจะได้คิดไว้ในจิตใจว่า สิ่งที่เราได้ภายนอกนั้นมันไม่สำคัญ แต่สิ่งที่เราได้เพิ่มขึ้นในใจของเรามันสำคัญกว่า เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นในใจนั้นมันส่งผลยาว ไอ้สิ่งที่เกิดขึ้นข้างนอกมันไม่เท่าใด เช่นฝนตกนี่เสื้อผ้าเปียก ไม่เท่าใดมันก็แห้ง เอาไปบ้านไปนั่งรีดซะมันก็แห้งเท่านั้นล่ะ ไม่เดือดร้อนอะไรล่ะ แต่ถ้าใจเปียกด้วยกิเลสล่ะ ใจเปียกชุ่มไปด้วยความโลภ ด้วยความโกรธ ด้วยความหลง ด้วยความริษยา ด้วยความพยาบาทอาฆาตจองเวร แหมมันสะสมอยู่ในใจนานเหลือเกิน จนแก่จนเฒ่ายังไม่คลายเลย
ให้เราสังเกตคนบางคน โกรธใครเกลียดใครนะ เกิดอยู่จนแก่นะ ถ้าเราเอ่ยชื่อคนนั้นล่ะวืดขึ้นมาทันทีเลย โกรธขึ้นมาทันทีนะไม่อยากเข้าใกล้นะ มีคนคนหนึ่งแต่ลูกสาวนะ ลูกสาวไปรักผู้ชาย ผู้ชายก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นเพื่อนของพี่ชายแล้วก็ไปรักไปชอบกันแต่ว่าพ่อไม่ชอบ พ่อไม่ชอบก็เลยหนีไปจดทะเบียนอยู่ด้วยกัน พ่อก็สั่งลูกชายว่าแกไปเอามา ไปเอาน้องสาวมา กูไม่อยากให้ไปอยู่กับคนนั้น ไอ้ลูกชายก็ไป ไปถึงก็เจอเพื่อนเข้าแล้วเห็นเขาอยู่กันสบายเขายิ้มแย้มแจ่มใส แล้วจะไปพรากเขาอย่างไร เขาอยู่กันเป็นสุขแล้ว พ่อนี่ไม่เข้าเรื่องแล้วเลยกลับมาบอกพ่อว่า ผมทำไม่ได้นะ เขาอยู่กันเป็นสุขสบายดีจะไปทำเขาอย่างไร แกบอกว่า แกอย่าเข้าบ้านฉันต่อไป ฉันไม่อยากเห็นหน้าแก อ้าวแล้วเขาก็อยู่กันเป็นสุขนะ ไม่เดือดร้อนนะอยู่ต่อมาก็มีลูกกันมีลูกเป็นชาย น่าเอ็นดูรูปร่างตุ้ย ก็หน้าเอ็นดู ไอ้คนเลี้ยงก็เอามาที่บ้านของคุณตานะ เอามาคุณตาเห็น เออ ลูกใครน่ารักน่าเอ็นดู เอามือไปลูบไปคลำนะ คลำ เอ็นดู ทีนี้พอคนใช้บอกลูกของแม่ปลื้ม ปุ๊บ แหมหดมือทันทีเลย พอบอกว่าลูกของลูกสาว (28.10 เสียงไม่ชัดเจน) บอกทันทีเอาออกไปๆ ข้าไม่อยากเห็นหน้ามัน แนะดูสิๆ มันของเก่ากี่สิบปีแล้ว ตั้งหลายปีแล้วมันก็ยังอยู่ในใจ ฝังอยู่ในใจตลอดเวลา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง นี่ล่ะมันร้ายอย่างนี้ ไอ้ของที่เกิดข้างในนะมันร้าย ของข้างนอกไม่ร้าย เนื้อหนังเปื้อนโคลนล้างได้ เสื้อผ้าเปื้อนสิ่งสกปรกฟอกได้ แต่ว่าใจเปื้อนนี่มันฟอกไม่ได้ มันติดเกรอะกรังฝังเนื้อใน เอาออกลำบาก
เพราะฉะนั้นเราควรกลัวความแปดเปื้อนข้างใน อย่าไปกลัวความแปดเปื้อนข้างนอก ควรกลัวสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ อย่าไปกลัวสิ่งที่เกิดขึ้นข้างนอก เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นข้างนอกนั้น มันเปลี่ยนไปตามธรรมชาติ แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในใจนั้นมันไม่ค่อยเปลี่ยน เขาเรียกว่าเป็นอารมณ์ค้างนะ เป็นอารมณ์ค้างติดอยู่ในใจตลอดเวลา ไม่รู้จักสูญหายกลายเป็นเรื่องพยาบาท อาฆาต จองเวรกัน มันเลยสร้างปัญหา สร้างความคิดความเดือดร้อน ให้แก่ตนแก่ท่านด้วยประการละต่างๆ อันนี้เป็นเรื่องน่ากลัว เราจึงไม่ควรกลัวสิ่งภายนอก แต่กลัวสิ่งที่มันเกิดขึ้นภายใน ในจิตใจของเรา อันนี้ขอให้ญาติโยมจำไว้ประการหนึ่ง ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้น มันเกิดจากการคิด เกิดจากการพูด เกิดจากการกระทำ เกิดจากการคบหาสมาคม ล้วนมาจากใจของเราทั้งนั้น แล้วมันก็เกิดเป็นอะไรๆ ต่อขึ้นมาโดยลำดับ สร้างปัญหาคือความทุกข์ความเดือดร้อนด้วยประการละต่างๆ เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้วเราควรจะทำอย่างไรต่อไป เราก็จะต้องระมัดระวังในการเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา การระมัดระวังนั้นจะต้องมีหลักเกณฑ์ มีเครื่อง (30.25 เทปซ้ำ) ประกอบว่าให้เกิดความระมัดระวังตัว คนต่ำกว่าที่เป็นผู้รู้ เขาเรียกว่าอาจารย์ทั้งหลายพุทธะ
พุทธะคือพระพุทธเจ้า เขาเรียกว่าพุทธะ พุทธะคือผู้รู้ทั้งหลาย ท่านคิดอย่างไร ท่านเห็นว่าเพื่อให้คนดีขึ้น เพื่อให้คนมีหลักมีระเบียบในชีวิตประจำวัน ท่านก็บัญญัติหลักเกณฑ์ให้เราปฏิบัติในชีวิตประจำวัน หลักเกณฑ์ต่างๆที่ผู้ตั้งศาสนาบัญญัติขึ้นไว้นั้นเพื่ออะไร เพื่อเป็นสิ่งแวดล้อมให้เราอยู่ในกรอบในวง ให้เราอยู่ในกรอบในวง คนที่เลี้ยงสัตว์ เช่นเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ถ้าไม่ทำคอกจะเป็นอย่างไร ไม่ทำคอก วัวควายก็จะหลุดออกไป มันจะไปไหนตามชอบใจแล้วสัตว์ร้ายก็จะเอาไปกินเสีย ผู้ร้ายก็จะลักขโมยไปเสีย อย่างนั้นก็ทำคอกไว้ พอถึงเวลากลางคืนต้อนเข้าคอก ปิดประตูแข็งแรง มันก็นอนกันอยู่ในคอกไม่ไปไหน กลางวันแดดจ้าสว่างแล้วก็ปล่อยออกจากคอกไปหากินที่ไหนก็ได้ แต่กลางคืนต้องต้อนเข้าคอก นี่ก็เพื่อว่าให้สัตว์ปลอดภัย ไม่ให้ถูกคนร้าย ไม่ให้ถูกสัตว์ร้ายเอาไป เพราะว่ามันอาจจะเที่ยวไปตามชอบใจมันก็ได้ ในชีวิตของคนเรานี้ก็เหมือนกัน ต้องมีอะไรบางอย่าง เป็นสิ่งที่ป้องกันเราไม่ให้ออกไปนอกลู่นอกทาง เรียกว่าเป็นรั้วเป็นคอกไว้ รั้วคอกที่จะกั้นคนไว้ให้อยู่ในกรอบก็คือหลักศีลธรรม
หลักศีลธรรมนี่เป็นข้อแรกที่จะต้องมีสำหรับคนทั่วไป หลักศีลธรรมนี่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตของเราทุกคน เรื่องศีลธรรมนี่หมายถึงอะไรกัน หมายถึงสิ่งที่จะช่วยให้เราทั้งหลายได้อยู่กันอย่างมีระเบียบมีแบบ แล้วจะได้เกิดความสุขความสงบขึ้นในสังคม ถ้าไม่มีหลักศีลธรรมเป็นข้อปฏิบัติ ลองหลับตานึกดูว่าจะเป็นอย่างไร คนเราจะทำอะไรตามใจตัว ทำอะไรตามใจอยากและไม่มีการบังคับไม่มีการควบคุมตัวเอง และโดยปรกติคนเรามันก็เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว มันชอบตามใจตัว ชอบทำอะไรตามใจอยาก เพราะไม่ได้มีกฏเกณฑ์ แต่ถ้าเรารับ รับเอากฏเกณฑ์มาเป็นเครื่องบังคับตัวเราที่เราเรียกในภาษาว่าสมาทาน
สมาทานศีล สมาทานศีลก็คือการรับเอาศีลนั้นมาเป็นข้อปฏิบัติ เมื่อเรารับเอาศีลมาเป็นข้อปฏิบัติ เราก็อยู่ในระบบของศีล เราเอาธรรมะมาเป็นข้อปฏิบัติ เราก็อยู่ในระบบของธรรมะ ศีลกับธรรม เอามารวมกันเข้า มันก็เป็นปัจจัยที่จะสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นแก่ตัวบุคคลนั้น และจะสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นแก่สังคม ให้เกิดในครอบครัว ให้เกิดในหมู่บ้านในตำบลในชาติในประเทศ ถ้าทุกคนมีข้อปฏิบัติอยู่ในกรอบในระเบียบของศีลธรรม แต่ถ้าไม่มีการปฏิบัติอยู่ในกรอบในวงของศีลของธรรม มันก็เกิดปัญหา เกิดความวุ่นวาย สามีภรรยาที่อยู่กันด้วยความสุข ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่มีเรื่องขุ่นข้องหมองใจกันเพราะอะไร ก็เพราะว่าต่างคนต่างอยู่ในกรอบ สามีก็อยู่ในกรอบ ภรรยาก็อยู่ในกรอบ ก็มีระเบียบเป็นหลักเป็นข้อปฏิบัติ แต่ถ้าไม่มีกรอบต่างคนต่างไป ภรรยาก็จะชอบไปดื่มเหล้า ชอบไปเที่ยวกลางคืน สามีก็จะชอบไปดื่มเหล้า ไปเที่ยวกลางคืน ไปสนุกสนาน หัวหกก้นขวิดกับเพื่อนฝูงมิตรสหาย แม่บ้านก็เดือดเนื้อร้อนใจไม่เป็นอันหลับอันนอน เป็นห่วงเป็นใยกลัวจะเกิดปัญหา ก็นั่งไปแล้วก็นั่งตกนรก นั่งตกนรกอยู่ในบ้านนะ นรกนะมันเป็นความร้อนอกร้อนใจ สามีไม่กลับบ้านตามเวลาก็นั่งร้อนอกร้อนใจเป็นทุกข์เหมือนกับตกนรกอยู่แล้วเป็นปัญหา
ผู้ที่ไม่อยู่ในศีลธรรมอย่างนี้สร้างปัญหาให้แก่ตัว สร้างปัญหาให้แก่ครอบครัว สร้างปัญหาให้แก่สังคม สร้างปัญหาให้ในงานที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้อง แล้วโลกมันก็เต็มไปด้วยปัญหา เพราะคนไม่อยู่ในกรอบ ไม่มีศีลธรรมเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ ก็เกิดเป็นความทุกข์เป็นความเดือดร้อนกันด้วยประการละต่างๆ แต่ถ้าหากว่าคนเราได้มาคิดได้ว่า ออ การอยู่กันด้วยความสุขนั้น มันต้องอยู่ในระเบียบในวินัย หรือว่าอยู่ในศีลในธรรม แล้วก็เอาศีลธรรมในศาสนาที่ตนนับถือ เรานับถือพระพุทธศาสนา เราก็เอาหลักศีลธรรมของพระพุทธเจ้า มาเป็นกรอบ เป็นเกราะล้อมตัวเราไว้ให้อยู่ในกรอบนั้นในแนวนั้น จะคิดอะไร จะพูดอะไร จะทำอะไร จะคบหาสมาคมกับใคร จะประกอบอาชีพชนิดใด เมื่ออยู่ในกรอบในวงของศีลธรรม ไม่สร้างสิ่งที่เป็นความชั่วไม่ส่งเสริมสิ่งที่เป็นความชั่วความร้ายให้เกิดขึ้นในสังคมด้วยประการละต่างๆ ญาติโยมลองหลับตานึกดูเถอะว่าสังคมนั้นจะเป็นอย่างไร สังคมนั้นจะมีแต่ความสงบ มีแต่ความร่มรื่นหน้าชื่นตาบาน คนที่มาเห็นกันก็ยิ้มเข้าหากัน ไม่เคร่งเครียดเกลียดชังกัน ไม่มีความระแวงไม่มีความสงสัยกันในเรื่องอะไรต่างๆ เพราะเชื่อว่าทุกคนมีระเบียบ ทุกคนมีข้อบังคับจิตใจ มีศีลธรรมเป็นรั้วเป็นเครื่องล้อมตัวไว้เขาก็ไม่ไปไหน อันนี้มันเป็นความสุขเป็นความสบายในสังคมของมนุษย์ ผู้รู้ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น จึงได้บัญญัติกฏเกณฑ์นี้ไว้
การปฏิบัติตนตามหลักศีลธรรมนั้น หมายถึงว่าการจำกัดตัวเอง การปฏิบัติตนตามหลักศีลธรรมคือการจำกัดตัวเอง ให้มีขอบเขตที่จะยึด ที่จะพูด ที่จะทำ ให้เป็นไปในขอบเขตอันนั้น ไม่ล้น ไม่โอเว่อร์ เขาเรียกว่าไม่ล้นขึ้นไป ไม่ล้นไปในเรื่องอะไรต่างๆ คนเรามันชอบล้นนะมันถึงยุ่ง เพราะอะไร ล้นขอบเขตเขาออก ดันออกไปนอกเขตนอกรั้ว มันก็เกิดสร้างปัญหาขึ้นด้วยประการละต่างๆ ถ้าเราลดยอม เรียกว่ายอมลดสมัครอยู่ในกรอบนี้ ตั้งจิตอธิฐานว่าฉันจะอยู่ในกรอบนี้ ฉันจะอยู่ในกรอบของศีล ๕ ฉันจะไม่ฆ่าใครเบียดเบียนใคร ฉันจะไม่เอาของใครๆมากินมาใช้ ฉันจะไม่ประพฤติล่วงเกินของรักของชอบใจใครๆ ฉันจะไม่พูดคำโกหกคำเหลวไหลคำเพ้อเจ้อตลอดจนถึงการเขียนด้วยน่ะ ไม่เขียนเรื่องที่ทำให้คนเดือดร้อนวุ่นวายสับสนด้วยปัญหาอะไรๆต่างๆ ซึ่งสร้างปัญหาขึ้นในสังคมไม่ใช่น้อย เดี๋ยวนี้คนเขียนเรื่องที่มันกระทบกระเทือนคนมีเยอะแยะ อ่านดูในหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ ก็คล้ายๆกันว่าคนนั้นว่าคนนี้ ล้อเลียนก็ด้วยถ้อยคำที่ไม่สมควร ล่อแหลมที่จะต้องไปขึ้นศาลแขวงอยู่บ่อยๆ อันนี้เขาเรียกว่าคนไม่มีศีล ปากกาไม่อยู่ในศีล เพราะจิตใจคนเขียนขาดศีลขาดธรรมข้อที่ ๓ เลยเขียนฟุ้งไปตามเรื่องตามราว
ศีลข้อที่ ๔ ต้องการรักษาสุขภาพอนามัยให้สมบูรณ์ให้เรียบร้อยก็ไม่ให้ดื่มกินของมึนเมา สิ่งเสพติดด้วยประการละต่างๆ ถ้าทุกคนอยู่ในกรอบวงนี้สบายแล้ว เอาสิ่งนี้เป็นฐาน เป็นรองรับจิตใจ เป็นเครื่องคุ้มครองชีวิต คิด พูด ทำ ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในกรอบนี้ ก็ไม่มีการเบียดเบียนกันในทางร่างกาย ไม่มีการเบียดเบียนกันในทางทรัพย์ ไม่เบียดเบียนกันในทางคู่ครอง ไม่เบียดเบียนกันด้วยการพูดการเขียนการโฆษณา ไม่เบียดเบียนเรื่องการเสพของมึนเมา อันทำลายสติให้หมดไปสิ้นไป อย่างนี้มันก็สบายทุกคนอยู่กันด้วยความสุข ไม่มีความหวาดระแวง นอนเป็นสุข นั่งเป็นสุข มีทรัพย์สมบัติก็สบายใจ
เดี๋ยวนี้เรามีทรัพย์สมบัติก็เป็นทุกข์ ไอ้คนไม่มีมันทุกข์แบบไม่มี คนมีเป็นทุกข์แบบคนมี ก็กลัวเพื่อนจะมาแย่ง กลัวจะมาจี้มาปล้น เดินทางไปไหนก็แหมกลัวภัยอันตราย ไม่มีความสุขใจเลยแม้แต่น้อย เคยเดินทางในปักษ์ใต้ เดินทางจากอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปพัทลุง ไปกลางคืน เดินกลางคืน ขับรถไปกลางคืนไม่มีรถสวนสักคันเดียว คือไฟรถสวนไม่มี คือเขาไม่กล้าไปกลางคืนนะ เขากลัวโจรผู้ร้าย มานะมันเสี่ยงนะ นึกว่าไม่มีใครมาปล้นพระหรอก แต่ไม่ได้นะมันปล้นเหมือนกัน แต่มาก็นั่งแล้วแข็งใจไปทำใจกล้าไปงั้นแหละ แต่ว่าในใจนะชักจะกลัวๆหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะไปถึงตำบลหนึ่ง ซึ่งตำบลนั้นนะปล้นบ่อยๆ ปล้นบ่อยๆ คนขับพอไปถึงเขตนั้น มันเหยียบใหญ่เลย เหยียบขับไปตั้ง ๘๐ ถามว่าทำไมเธอขับเร็วอย่างนั้น ออ ไม่ได้ครับท่าน หลวงพ่อแถวนี้ไม่ได้ ต้องไปไวๆหน่อย ไอ้เราก็ใจไม่ดีเหมือนกัน เดี๋ยวมันโผล่ขึ้นมา เอาหินมากองขวางทางเข้า ก็ขับเร็วๆไปชนหินก็เกิดเรื่องเท่านั้น หรือเอาท่อนไม้มาขวางไว้มันก็ยุ่งน่ะ ก็นั่งไม่สบายใจ พอพ้นเขตนั้นโล่งไปเลย นี่แสดงให้เห็นว่ามันเป็นทุกข์นะ คนเราอยู่ในเขตอันตรายนี้เป็นทุกข์ อยู่ในหมู่คนที่มีการเบียดเบียนกัน มีการจี้การปล้นเราเป็นทุกข์ เมื่อเรานั่งรถเบนซ์ก็เป็นทุกข์ นั่งรถคาดิเล็คก็เป็นทุกข์ นั่งรถอะไรมันก็เป็นทุกข์ทั้งนั้นนะ เพราะกลัวมันจะมาจี้มาปล้นเรา อยู่บ้านก็เป็นทุกข์ นั่นเพราะคนมันขาดศีลขาดธรรมจึงให้เกิดเป็นปัญหา
ถ้าเราจะต้องการความสุข เราต้องการอยู่กันอย่างสบายๆ เราก็ต้องช่วยกันสร้างฐานะทางศีลทางธรรมให้เกิดขึ้น ช่วยกันสร้างรั้วป้องกันจิตใจของเรา ไม่ให้ไหลออกไปนอกขอบเขต คิดอะไรมีขอบเขต พูดอะไรมีขอบเขต ทำอะไรก็ทำในขอบเขต ที่จะไม่กระทบกระเทือนใครให้เกิดปัญหา เรียกว่าเราอยู่ในศีลธรรม ศีลธรรมเป็นปัจจัยให้เกิดความสงบสุขในสังคม เป็นเครื่องมือที่จะสร้างความเจริญอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้นในสังคมของมนุษย์ เราก็ต้องมีเหล่านี้ เพื่อเรียกว่าเป็นเกราะชั้นหนึ่งอยู่ในชั้นศีลธรรม ชั้นศีลธรรมนี้เป็นเกราะขั้นต้นๆ เป็นเครื่องช่วยชั้นแรก แต่ยังไม่พอ ยังไม่พอ ก็ต้องเพิ่มขึ้นไปอีกสักขั้น คือว่าปัญหาของคนเรานี่มันอยู่ที่ไหน ก็ดังที่พูดมาเมื่อตะกี้นี้แล้วว่า ปัญหาชีวิตของคนเรานี่มันอยู่ที่ใจของเรา อยู่ที่ใจของเรา ปัญหาอยู่ที่ใจ ปัญหาอยู่ที่ก้อนแห้งก็ตรงนั้นล่ะ ปัญหามันอยู่ที่ใจของเรา ใจเรานะมันเป็นก้อนเนื้อ เป็นตัวการที่จะสร้างอะไรๆๆขึ้นในชีวิตของเรา เราจึงต้องควบคุมไปอีกขั้นหนึ่ง เอาระเบียบศีลธรรมเหมือนกัน เรียกว่าขั้นศีลธรรมเหมือนกัน แต่เอาไปควบคุมถึงขั้นจิตใจ ควบคุมขั้นจิตใจนี้มันสูงขึ้นไปกว่านี้ ขึ้นไปอีกหน่อย ให้มันสูงขึ้นไปกว่านั้นหน่อย ควบคุมจิตใจไม่ให้คิดในเรื่องที่ไม่ดีไม่งาม อันนี้การที่จะไม่ให้คิดในเรื่องไม่ดีไม่งามนั้น ต้องฝึกจิต
การฝึกจิตนี้ภาษาเราเรียกว่าทำสมาธิ หรือเรียกว่าเจริญภาวนา ให้ใช้คำให้มันถูกสักหน่อย อย่าไปถามใครว่าคุณไปเรียนวิปัสนาหรือเปล่า มันๆพ้นไป มันไม่ถึงขั้นนั้น เราควรจะพูดว่า คุณไปเจริญไปเรียนเรื่องภาวนาหรือเปล่า ภาษาที่อื่นเขาเรียกว่าภาวนา ภาวนานั้นคือการฝึกจิต ให้เกิดความสงบ แล้วก็การคิดค้นให้เกิดปัญญา มันมีสองแบบ ภาวนามีสองอย่าง เขาเรียกว่าสมถะภาวนา วิปัสนาภาวนา สมถะภาวนานั้นมุ่งในเรื่องความสงบอย่างเดียว ฝึกจิตเพื่อให้เกิดความสงบ เพื่อให้เกิดการตั้งมั่นอยู่ในเรื่องเดียว เพื่อให้อ่อนโยนเหมาะที่จะใช้งาน อันนี้เป็นเรื่องของสมถะภาวนา ต้องการเพียงเท่านั้น เป็นเรื่องที่จะต้องทำก่อน คล้ายๆกับว่าเราจะปลูกตึกใหญ่ เราจะต้องเตรียมพื้นที่ ถมที่ แล้วก็ปราบที่ให้สม่ำเสมอให้เรียบให้ร้อยแล้วจึงจะตอกเข็ม วางคานชั้นล่างแล้วก็หล่อเสาเทคานไปโดยลำดับให้มันสูงขึ้นไปจนเป็นตึกเก้าชั้น สิบชั้น อะไรกันไปตามเรื่อง ในการฝึกภาวนานี่ก็เหมือนกัน เริ่มต้นมันจะต้องทำจิตให้สงบให้ตั้งมั่น ให้อ่อนโยนเหมาะที่จะใช้งาน จิตเรามันไม่สงบ ให้ลองสังเกตุดูให้ดูใจของเราเองว่ามันสงบหรือเปล่า มันคิดวุ่นอยู่ตลอดเวลา คิดเรื่องนั้น คิดเรื่องนี้ คิดไปปากเกร็ด คิดไปบางรัก คิดไปสาธร คิดไปบางลำพู คิดไปสนามหลวง คิดไปถึงสนามมวย บางคนคิดไปสนามม้าตอนบ่าย นามันไปอย่างนั้นนี่เขาเรียกมันว่าไม่สงบ มันฟุ้งซ่านไม่อยู่ในเรื่องเดียวไม่สงบ เราก็ต้องให้มันสงบ วิธีที่จะให้สงบก็หมายความว่า เอา เอาอะไรให้มันคิด เพราะจิตชอบทำงาน จิตไม่อยู่นิ่ง จิตรักงาน แต่ว่าทำไมเราไม่หางานที่ถูกให้จิตทำ จิตก็เลยหางานเอาเอง ทำเอาเอตามชอบใจ มันก็ยุ่ง เราเองต้องหางานป้อนจิต หางานให้จิตทำก็คือการฝึกภาวนา
เมื่อตะกี้นี้ท่านเฉลิมมาพูดให้ครูทั้งหลายฟัง เรื่องการเจริญภาวนา ควรพูดให้ถูกว่าเรียนเรื่องการภาวนา หรือการฝึกจิต เรียกประสาง่ายๆว่าการฝึกจิต การอบรมจิต เพื่อให้จิตของเรามันดีขึ้น สงบขึ้น ตั้งมั่นอ่อนโยนเหมาะที่จะใช้งานก็คือป้อนงานให้จิตทำแล้วก็ให้ทำเรื่องนี้เรื่องเดียวอย่าให้ทำหลายเรื่องเอาแต่เรื่องนี้ สมมุติว่าเราจะทำอะไร เจริญอานาปานสติ คือกำหนดลมหายใจเข้าออก วิธีการกำหนดลมหายใจเข้าออกก็คือให้รู้ลักษณะของลมที่เข้าที่ออก แล้วมันกระทบตรงไหนก็คอย เอาความรู้สึก สติ สติก็หมายความรู้สึก ให้มันรู้สึกอยู่ตรงนั้น มารู้สึกอยู่ที่ลมกระทบนั้นล่ะอย่าให้มันไปไหนแต่มันต้องไปเพราะมันเคยไปมันก็ต้อง วิ่งไปโน้นต้อนกลับมาๆๆ มันลักษณะเหมือนจับปูใส่กระด้ง แค่เราทำใหม่ๆนี่แบบจับปูใส่กระด้งแล้วเราจะรู้ว่า ออ แหมมันวุ่นวายจริงๆมันไม่หยุดนิ่งเสียเลย เดี่ยวไปนั้นเดี๋ยวไปนี้ นั้นล่ะลักษณะของจิตล่ะ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ ทฺรกฺขํ ทฺนฺนิวารยํ จิตนี้ดิ้นรนกลับกลอกมีปรกติรักษายาก ห้ามยาก แต่ผู้ฉลาดย่อมทำกับมันได้ บัณฑิตคือผู้ฉลาดย่อมทำจิตที่ดิ้นรนกลับกลอกรักษายาก ห้ามยากให้เรียบได้ ให้อยู่กับที่ได้ ไม่ให้วิ่งไปไหนต่อไป ให้อยู่ในอารมณ์เดียว ถ้าจิตอยู่กับอารมณ์เดียว ก็เรียกว่ามันตั้งมั่น เมื่อมันตั้งมั่นแล้วมันก็สงบ ไม่ไปไหนแล้วสงบอยู่ที่เดียวตั้งมั่นอยู่ และเมื่อตั้งมั่นนานๆก็เรียกว่ามันเชื่อง อ่อนโยน หมายความว่าเชื่อง แม้กะสัตว์ป่าเรามาฝึก ชั้นแรกมันก็ดื้อดันไปตามเรื่อง ไม่ค่อยเรียบร้อย ฝึกไปฝึกมามันก็เชื่อง เราใช้ให้ทำอะไรก็ได้ ช้างตัวใหญ่ๆคนเอามาฝึกได้ ฝึกให้ทำอะไรก็ได้ แตะฟุตบอลก็ได้ แสดงอะไรก็ได้ต่างๆนานา คนนั้นก็นับเป็นคนเก่งนะ ฝึกช้างได้ ฝึกลิงเล่นละครก็ได้ ฝึกม้าก็ได้ ฝึกสิงโตซึ่งเป็นสัตว์ดุร้าย ฝึกเสือก็ยังได้ แต่ว่าฝึกอะไรๆได้มันก็ยังไม่เก่ง เพราะยังฝึกตัวเองไม่ได้ มันก็แย่อยู่ตรงนี้นะ ไอ้คนที่ฝึกสัตว์ พอเลิกแสดงละครก็เฟี้ยว กินเหล้าแล้ว นี่เรียกว่ายังฝึกตัวเองไม่ได้ จิตใจยังตกต่ำ เพราะว่ารู้แต่วิธีฝึกสัตว์ให้เชื่อง แต่ไม่เรียนเรื่องการฝึกตนให้เชื่อง ก่อนนั้นก็ยังเอาตัวไม่รอด เล่นละครสัตว์ก็เพื่อเหล้าเท่านั้นเอง มันไปไหนไม่ได้ ผู้ฉลาดจึงต้องมาฝึกจิตของตน ให้สงบ ให้ตั้งมั่น ให้อ่อนโยน เหมาะที่จะใช้งาน
คนเรานะให้สังเกตตัวเอง บางทีก็หงุดหงิด บางทีก็ใจร้อนขึ้นมา อะไรกระทบนิดกระทบหน่อยก็ปึงปังคล้ายลูกระเบิดไวไฟมันอย่างนั้นนะ มันระเบิดบ่อยๆ ไอ้ระเบิดบ่อยๆนี่เป็นสุขไหม เรานึกถึงตัวเราเองว่าวันไหนเราระเบิดบ่อยๆมันเป็นสุขไหม ไม่มีความสุขใจ ร่างกายจิตผิดปรกติ ระบบการย่อยอาหารผิดปรกติ ทางเดิน ระบบการเดินโลหิตผิดปรกติ นั้นล่ะเขาเรียกว่าเป็นบันไดขั้นต้นแห่งการเป็นโรคประสาท ต่อไปถ้าแบบนั้นบ่อยๆก็จะเป็นโรคประสาท แล้วก็ลำบาก ชีวิตมันจะลำบากเราไม่ควรจะปล่อยตัวอย่างนั้น ให้พยายามที่จะควบคุมจิตใจไว้ ไม่ให้หวั่นไหวกับอารมณ์อะไรๆที่มากระทบ การที่จะไม่ให้มันหวั่นไหวนั้น มันต้องก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง คือขั้นแรกนี่เรียกว่าทำสมถะภาวนา เพื่อให้จิตของเราสงบ ตั้งมั่นอ่อนโยน เหมาะที่จะใช้งาน แล้วต่อไปก็ต้องใช้ เราฝึกวัวได้แล้วก็ต้องใช้ไถนา ฝึกช้างได้แล้วก็ต้องเอาไปแสดงตามที่เราฝึกได้ ฝึกลิงได้แล้วก็ต้องเอาไปเล่นละครเก็บสตางค์นะ จิตเรานี้ก็เหมือนกันล่ะ เมื่อเราฝึกมันเชื่องแล้วต้องใช้ ใช้ทำอะไร ใช้ให้ไปคิดพิจารณาในเรื่องอะไรๆต่างๆ เพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริง การพิจารณาเพื่อให้เกิดความรู้แจ้ง เห็นจริงในสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริงนั่นล่ะเขาเรียกว่าเจริญวิปัสสนา วิปัสสนาแปลตามตัวว่าเห็นแจ้ง เห็นแจ้งๆ เห็นชัดๆ ไม่ใช่เห็นคลุมเครือ ไม่ใช่รู้อะไรแบบเช้ามืด มองเห็นตอไม้เป็นคน เห็นคนเป็นตอไม้ เห็นงูเป็นเชือก เห็นเชือกเป็นงู มันยังใช้ไม่ได้ มันไม่ชัดเห็นแบบนั้นมันไม่ชัดมันใช้ไม่ได้ ต้องมองสิ่งอะไรต่างๆ ให้เห็นชัดตามสภาพที่เป็นจริง
ไอ้สิ่งที่เรียกว่าความจริงของสรรพสิ่งทั้งหลายนั้นหมายถึงอะไร ความจริงของสรรพสิ่งทั้งหลายนั้นมันมีอยู่ ๓ ประการ เขาเรียกว่าไตรลักษณ์ หรือว่าสามัญลักษณะ สามัญลักษณะแปลว่าลักษณะทั่วไปของสรรพสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม คือสิ่งที่เห็นได้ด้วยตา สัมผัสด้วยประสาท ๕ ได้ ตาเห็นได้ หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องได้ อันนั้นเขาเรียกว่ารูป สิ่งที่เป็นรูป รูปคือสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยประสาท ๕ ประสาท ๕ ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย อะไรที่กระทบได้ด้วยสิ่ง ๕ อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นรูป สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจนั้นเรียกว่าเป็นนาม ของในโลกนี้มันมีเพียง ๒ อย่าให้มันยุ่ง มีเพียง ๒ อย่างหนึ่งเรียกว่ารูป อีกอย่างเรียกว่านาม เหล่าพระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้ในเรื่องรูป เรื่องนาม ให้รู้ชัดตามสภาพที่มันเป็นจริง ความเป็นจริงของสิ่งที่เรียกว่ารูปนามนี้คืออะไร
เราสวดเมื่อตอนเช้า ไอ้สวดมนต์แปลนิยมเอาไปสวดบ่อยๆ สวดแล้วก็นั่งคิดพิจารณา รูปังอนิจจัง รูปไม่เที่ยง เวทนาอนิจจา เวทนาไม่เที่ยง สัญญาอนิจจา สัญญาไม่เที่ยง สังขาราอนิจจา สังขารไม่เที่ยง วิญญาณังอนิจจัง วิญญาณก็ไม่เที่ยง แล้วก็ต่อไปก็ว่ารูปเป็นทุกข์ เวทนาเป็นทุกข์ สัญญาเป็นทุกข์ สังขารเป็นทุกข์ รูปเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา สังขารเป็นอนัตตา สัพเพธรรมาอนัตตา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา นี่ลึกซึ้ง ลึกซึ้งเป็นสิ่งที่เราจะต้องคิดพิจารณาบ่อยๆ เพื่อจะได้เข้าใจในสิ่งทั้ง ๓ ประการนี้ ให้เห็นว่ามันไม่เที่ยงอย่างไร มันเป็นทุกข์อย่างไร มันไม่มีของที่เป็นเนื้อแท้เป็นตัวเป็นตนที่แท้จริงอย่างไร เราต้องหมั่นพิจารณาศึกษา มีอะไรเกิดขึ้นก็จะได้เอาหลักนี้เข้าไปตีปัญหา เช่นมีอะไรมากระทบเรา เช่นคนมาด่าเรา เราเอาหลักไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาไปพิจารณา เอาไม่เที่ยงตัวเดียวก็พอแล้ว พอมันด่ามา มันหายไป ไอ้คำด่าออกจากปากหายไป เป็นอากาศธาตุไป เป็นของว่างเป็นของเปล่าไม่มีเนื้อไม่มีตัวเลย ถ้ามันเอาก้อนหินขว้างนี่น่ากลัวนะ มันเป็นก้อน โป้งนะหัวแตกเลยไอ้นี่น่ากลัวนะ มันด่าว่าไอ้ชาติชั่วหายไปแล้ว ไม่ทราบมันหายไปแล้ว มันไม่มีตัวตนอะไรนะ แล้วทำไมที่เราไปเก็บมาไปเก็บเอาของไม่มีตัวมาใส่ไว้ในใจแล้วเราเจ็บใจนะ มันด่ากูได้ มันดูหมิ่นกูได้ กูไม่ยอม เอาล่ะทีนี้ กูไม่ยอมก็แป๊บออกไปเลยนะ ไปฟาดกันฝุ่นคลุ้งอยู่กลางสนามหญ้าเลย
นี่มันเรื่องอะไร ธรรมะหายไปแล้ว จิตสงบหายไปแล้ว ศีลธรรมไม่มีในจิตใจแล้ว มีแต่ความโกรธ มีแต่ความเกลียด ความพยาบาทเกิดขึ้นในใจ นี่ล่ะคือตัวปัญหา ที่เป็นความทุกข์ความเดือดร้อน ไอ้บางคนมันโกรธ แต่มันโกรธเงียบๆโกรธขังไว้ข้างในเก็บไว้ไม่บอกใคร แต่ว่าพอได้ท่าแล้วเอางานเลย ไอ้นี่มันได้เหมือนกัน นี่มันไม่ดีทั้งนั้นไอ้ของเหล่านี้ เพราะเราไม่ได้พิจารณา แต่ถ้าเราได้พิจารณาไว้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับหายไป ไม่มีอะไรคงทนถาวร ไม่มีอะไรที่จะยึดจะจับเป็นก้อนมาถือได้ ไม่มีอะไรที่ใจเราควรจะเข้าไปเป็นเจ้าของสิ่งนั้น มันเป็นแต่เพียงเกิดขึ้นหายไป เกิดขึ้นหายไป เหมือนกับฟองน้ำเวลาฝนตก น้ำมันหยดมาจากชายคาเกิดเป็นฟอง เป็นฟองแล้วหายไปๆๆ ลองสังเกตุดูนะ ถ้าเราไปดูที่น้ำไหลแรง เช่นน้ำตกนะ น้ำพุ่งซ่าลงมา เกิดเป็นฟองหายไปๆ เอามาคิด ออไอ้นี่มันเกิดดับๆ สิ่งทั้งหลายมันก็เกิดดับๆ แล้วมันมีตอนไหนที่เราควรจะเข้าไปแบกไว้ ไปยึดไว้ เอามาโกรธ เอามาเกลียด เอามาพยาบาท เอามารักมาชอบ มันไม่ใช่เรื่องอะไรเลย มันเป็นเรื่องที่ผ่านมาผ่านไป ผู้ฉลาดย่อมไม่ไปเกาะจับสิ่งนั้นไว้ให้เป็นปัญหาแก่ชีวิต คิดอย่างนี้เรียกว่าคิดด้วยปัญญา ในเรื่องอะไรต่างๆคิดด้วยปัญญา แล้วมันไม่ยุ่ง เราต้องเอาปัญญาของพระพุทธเจ้าในเรื่องความไม่เที่ยง เรื่องความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา ไปใช้เป็นหลักพิจารณาในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เห็นสิ่งทั้งปวงตามสภาพที่เป็นจริง แล้วเราก็จะรู้ว่าไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีอะไรที่น่าเป็น ไม่มีอะไรที่น่าจะยึดจะถือว่าเป็นตัวตนเป็นเราเป็นเขา เราเป็นแต่เพียงหน้าที่ เรามีแต่เพียงหน้าที่ที่จะต้องจับต้องทำเท่านั้น เช่นเราเป็นครู เรามีหน้าที่สอนเด็ก สอนให้ดีให้เด็กเข้าใจในความรู้นั้น แล้วก็ให้ประพฤติดีประพฤติชอบมีเท่านั้นเอง ส่วนเงินดาวน์เงินเดือนที่เราจะได้นั้นไม่ใช่เรื่องที่จะต้องคิดถึง คิดแล้วมันยุ่งใจ สิ้นปีเขาไม่ขึ้นแหมนั่งกลุ้มใจ ครูใหญ่นี้แย่มาก ไอ้เราควรจะขึ้นไม่ขึ้นไปขึ้นให้คนนั้น แนะไปโทษแล้ว กิเลสมันเกิดแล้วมันยุ่งใจ ช่างเขาเถิดเขาได้ขึ้นดี เขาไม่ขึ้นเราดี เขาไม่ขึ้นเราก็ยังไม่ขึ้นก็ไม่เป็นไรแรงมันยังไม่พอต้องทำต่อไป ก็ทำไปตามเรื่องทำให้ดี ทำให้เรียบร้อย อย่าไปคิดว่าจะได้อะไร จะมีอะไรจากสิ่งที่เราทำ ให้คิดแต่เพียงว่านี่หน้าที่ของฉัน ฉันทำตามหน้าที่ อะไรจะเกิดแก่ฉันนั้น ฉันไม่ต้องคิด ฉันคิดแต่เพียงอย่างเดียวว่า ฉันมีหน้าที่จะต้องทำ ฉันจะทำให้เรียบร้อย เรียบร้อยแล้วหมดเรื่องใจสบายไม่มีปัญหากลับบ้านนอนเป็นสุข ไม่ต้องนั่งทุกข์ว่าใครจะว่าอะไรสิ้นปีนี้จะขึ้นหรือไม่ขึ้นอย่าไปถาม ควรจะคิดว่าปีนี้มีงานทำ ปีหน้าจะมีงานอะไรเพิ่มให้ฉันทำมากไปกว่านี้สักหน่อย เพราะว่าฉันจะได้ใช้ชีวิตได้เป็นประโยชน์มากกว่านี้ จะทำเรื่อยไป คิดเท่านี้ใจสบาย ไม่มีเรื่องอะไรเป็นทุกข์เดือดร้อน ฝนมันตกบ้างหยุดบ้างเป็นไปตามเรื่องของธรรมชาติ
พูดมาก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้