แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้สามเณรน้อยๆ มาจากต่างจังหวัดจำนวนตั้งร้อยกว่า ได้มาร่วมรับฟังในสถานที่นี้ด้วย สามเณรน้อยนี่เป็นสามเณรหน้าร้อน ตามจังหวัดต่างๆ เขาก็มีการบวชกันหลายแห่ง บวชแล้วก็เลยพามาทัศนาจรเพื่อการศึกษา ให้มาดูกิจกรรมที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ว่าเขามีการกระทำอะไรกันบ้าง เป็นการเปิดหูเปิดตาสามเณรน้อยๆ ให้ได้รู้ ได้เห็น ในเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิต จึงได้มากันในวันนี้ วันนี้เป็นวันที่ ๒๔ เดือนเมษายน อีกไม่กี่วันก็จะสิ้นเดือน พวกเราก็มาฟังเทศน์กันตามปกติ
ในสมัยนี้อากาศมันร้อน จิตใจก็พลอยร้อนไปกับอากาศด้วย อย่าร้อนไปกับอากาศ ทำใจให้เย็นๆ ให้สบายๆ เดือนเมษาก็ไม่กี่วันก็จะหมดเดือนไป แล้วก็ขึ้นเดือนพฤษภาคม ฝนก็เริ่มจะมากันบ้าง ความเป็นอยู่ตามธรรมชาติมันก็เป็นอย่างนั้นน่ะ เปลี่ยนไปตามวาระ ถึงหน้าร้อน...พ้นร้อนก็หน้าฝน...พ้นหน้าฝนก็หน้าหนาว...พ้นหน้าหนาวก็หน้าร้อน มันว่ากันไปเรื่อยไป ตั้งแต่สร้างโลกมามันก็เป็นกันอยู่อย่างนี้ มนุษย์ก็อยู่กันมาได้ ไม่ลำบากเดือดร้อนอะไรมากเกินไป
ความสุข-ความทุกข์...มันอยู่ที่ใจของเรา
เราคิดเอา แล้วเราก็เป็นไปตามความคิดของเรา
ถ้าเราคิดให้ถูก มันก็เป็นไปในทางถูก
ถ้าคิดผิดก็เป็นไปในทางผิด
คิดให้เป็นทุกข์ก็นั่งเป็นทุกข์
คิดให้เป็นสุขก็นั่งสบายใจ
สิ่งทั้งหลายเกิดจากความคิดของเราทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นการศึกษาเรื่องพระศาสนา หรือว่าการปฏิบัติกิจในทางพระศาสนา ก็มีจุดหมายสำคัญอยู่ที่ว่าควบคุมจิตใจของเราให้อยู่ในสภาพที่มีความคิดถูกต้อง นี่เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าจิตของคนเรานี่ถ้าตั้งไว้ผิดแล้ว มันทำร้ายเราแรงกว่าโจรทำร้าย หรือศัตรูทำร้ายแก่เรา แต่ถ้าเราตั้งไว้ถูกแล้ว จะเกิดเป็นคุณเป็นค่าแก่ชีวิตของเรามาก
เพราะฉะนั้นเราจึงต้องศึกษาว่า เราจะทำอย่างไรจึงจะตั้งใจไว้ให้ถูก? ทำอย่างไรเรียกว่าตั้งใจไว้ผิด? ให้รู้ว่าถูก (กับ) ผิดมันแตกต่างกันอย่างไร สุขกับทุกข์แตกต่างกันอย่างไร ดีกับชั่วแตกต่างกันอย่างไร ให้เห็นชัด อย่าเอาไปปนกัน อย่าเอาสุขเป็นทุกข์ เอาทุกข์เป็นสุข เอาดีเป็นชั่ว เอาชั่วเป็นดี เอาความเสื่อมมาเป็นความเจริญ เอาความเจริญไปเป็นความเสื่อม อย่างนี้เรียกว่ามันปนกันให้ยุ่งไปหมด เพราะเราไม่รู้ชัดเห็นชัดในเรื่องนั้น
การที่จะรู้ชัดเห็นชัดก็ต้องศึกษาหลักเกณฑ์ หลักเกณฑ์นั้นมีอยู่ในคำสอนทางพระศาสนา โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาของเรานั้น ได้วางหลักเกณฑ์อันถูกต้องไว้ ให้เราเอาไปเป็นเครื่องมือวินิจฉัยว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร คำสอนที่พระผู้มีพระภาคสอนไว้นั้น เป็นกลาง เป็นความจริง เป็นสิ่งที่ใครจะมาลบก็ไม่ได้ ทำให้เป็นอื่นไปก็ไม่ได้ อันใดพระองค์ว่าไว้ก็เป็นอย่างนั้น เป็นสัจจะ เป็นความจริง เพราะว่าผู้รู้คือพระผู้มีพระภาค รู้ด้วยจิตใจที่ลึกซึ้ง คิดค้นเป็นเวลานาน จึงเข้าใจสิ่งนั้นแจ่มแจ้ง แล้วก็พูดออกมาให้คนได้รู้ได้เข้าใจ พูดจากจิตใจที่บริสุทธิ์ ไม่เข้าใครออกใคร แต่ถ้าจะเข้าก็เรียกว่าเข้าข้างธรรมะอันเป็นสิ่งถูกต้อง
พระองค์จึงได้ตรัสวางหลักเกณฑ์ไว้ หลักเกณฑ์แต่ละเรื่อง ล้วนแต่เป็นสิ่งมีประโยชน์ เป็นแนวทางชีวิตที่เราควรจะนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเราทั้งนั้น และเป็นความจำเป็นที่เราจะต้องนำมาปฏิบัติ เพราะถ้าเราไม่ปฏิบัติ เราก็จะเป็นทุกข์ เราจะเกิดปัญหาในชีวิตประจำวัน ไม่สมกับว่าเราเป็นพุทธบริษัท พุทธบริษัทนี่ต้องเป็นผู้รู้ ต้องเป็นผู้ตื่น ต้องเป็นผู้ที่มีความเบิกบานแจ่มใส เพราะความคิดถูกต้อง การพูดถูกต้อง การกระทำถูกต้อง มีความเห็นถูกต้องอยู่ตลอดเวลา จิตใจก็ย่อมเบิกบานแจ่มใส ไม่มีความขุ่นมัวเกิดขึ้นในใจของเรา
เพราะเราเห็นชัดในเรื่องอย่างนั้น พวกเราจึงได้มาศึกษากันในรูปอย่างนี้ พอถึงวันอาทิตย์ ก็ถือว่าเป็นกิจ ประจำชีวิต (ในทุก) ๗ วันก็คิดถึงว่า วันอาทิตย์เราควรจะไปวัด ไปฟังธรรม ไปเพิ่มเติมความรู้ความเข้าใจ ถ้าเปรียบเหมือนหม้อแบตเตอรี่ ก็เรียกว่าเอามาชาร์จให้มีกำลังไฟเพิ่มขึ้น จะได้มีแสงสว่าง เวลาใดจะใช้มันก็ใช้ได้ทันท่วงที สภาพจิตของเราก็เป็นเช่นนั้น
เรามาวัดนี่ก็เท่ากับว่ามาเพิ่มกำลังภายใน ให้จิตใจเรามั่นคงเข้มแข็ง มีความเห็นถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วก็ไปทำงานในโลกในชีวิตประจำวัน ๗ วัน ครบ ๗ วันก็มาชำระสะสาง มาเพิ่มกำลังให้แก่ตัวเราอีกครั้งหนึ่ง ถ้าเป็นอยู่อย่างนี้ ชีวิตจะไม่เสื่อมไม่เสียหาย แม้เราจะเผลอไปบ้าง ประมาทไปบ้าง มันก็ไม่เกิน ๗ วัน เพราะพอถึงวันที่ ๗ เราก็มาวัด มาวัดเราก็ได้รับคำเตือน คำบอก จากพระสงฆ์ที่มีหน้าที่ชี้บอกให้เราเข้าใจ เราก็จะได้รู้ได้เข้าใจสิ่งนั้นขึ้น ได้เปลี่ยนชีวิตจิตใจเข้าหาความถูกต้องต่อไป ก็จะเป็นความก้าวหน้าที่ถูกต้องในชีวิตประจำวัน จึงได้กระทำกันสม่ำเสมอ ญาติโยมที่มาฟังธรรมนี่ก็มาอยู่เป็นประจำ มาอยู่ตั้งนานแล้วไม่เบื่อไม่หน่าย
ไอ้สิ่งที่เป็นของโลกๆ นี่มันมีวันเบื่อ ดูหนังเรื่องเดียวนี่มันเบื่อแล้ว ถ้าไปทีไรมันก็ฉายเรื่องนั้นน่ะ...ฉายเรื่องนั้นน่ะ เราก็จะเบื่อไม่อยากจะไปดูแล้ว หรือว่าทำอะไรมันซ้ำซาก เราก็เบื่อหน่าย แต่ว่ามาวัด มาฟังธรรมนี่ มันไม่เกิดความเบื่อหน่าย หนังสือธรรมะนี่ก็เหมือนกัน เราอ่านแล้วก็ไม่เบื่อหน่าย...อ่านได้ อ่านแล้วอ่านอีก เรื่องบางเรื่องอ่านตั้งหลายสิบครั้ง ก็ยังไม่รู้จักเบื่อหน่าย อ่านได้ตลอดเวลา เพราะมันเป็นเรื่องที่อ่านแล้วสบายใจ อ่านแล้วเกิดความคิดความเห็นที่ถูกต้องขึ้นมา มันเป็นความสุขในภายใน เราจึงไม่เบื่อหน่ายที่จะอ่าน ไม่เบื่อหน่ายในการที่จะไปรับฟังในสิ่งเหล่านั้น ซึ่งไม่เหมือนกับเรื่องอื่น วัตถุนี่เราเบื่อได้ อาหารเบื่อได้ หรือว่ารูป เสียง กลิ่น รส ก็ยังมีการเบื่อ แต่ว่าธรรมะนี่มันไม่ได้เบื่อ ยิ่งมา ยิ่งสบายใจ แล้วก็มากันเป็นประจำกันอยู่
ผู้ที่มาอยู่บ่อยๆ นั้น ไม่ค่อยมีความยุ่ง เพราะว่าเราได้มีแสงสว่างประจำใจ แต่คนที่ไม่ค่อยได้เข้าวัด ไม่ได้ฟังธรรม มันก็เกิดปัญหาขึ้นในชีวิตด้วยประการต่างๆ เมื่อเกิดปัญหาก็ไม่รู้จักปัญหา ไม่รู้เหตุของปัญหา ไม่รู้วิธีแก้ปัญหา ปัญหามันก็เพิ่มในใจของเรามากขึ้น จึงเต็มไปด้วยความทุกข์ความเดือดร้อน เพราะฉะนั้นเราจึงไม่อยากพบกับสิ่งนั้น เราจึงได้ทำกันในรูปอย่างนี้ ความจริงนั้นการพูดธรรมะให้คนฟังนี่ ต้องทำบ่อยๆ ทำมากที่ มากแห่ง คนจะได้รู้ได้เข้าใจอะไรมากขึ้น ให้เรานึกถึงสังคมในปัจจุบันว่า มีความเป็นอยู่กันอย่างไร เป็นอยู่กันด้วยความไม่มีหลักเกณฑ์ในจิตใจ แล้วก็ทำอะไรยุ่งๆ เบียดเบียนกัน ข่มเหงกัน เอารัดเอาเปรียบกันด้วยประการต่างๆ
แม้คนที่มีการศึกษา เป็นปัญญาชน แต่ว่าเป็นปัญญาประเภทที่เขาเรียกว่า โลกีย์ “โลกียปัญญา” ปัญญาที่ไปคลุกคลีอยู่กับโลกตลอดเวลา ก็ยังสร้างปัญหา สร้างความทุกข์ความเดือดร้อน ไม่มีปัญญาที่จะข้ามโลก ไม่มีปัญญาที่จะรู้เท่าทันเรื่องของโลกอย่างแท้จริง จิตใจก็ยังตกต่ำ ยังมีความประพฤติ คิดไม่ถูกไม่ต้องกันอยู่ตลอดเวลา เพราะขาดปัญญาอีกประเภทหนึ่ง
คล้ายๆ กับว่าคนมีตาข้างเดียว ตาข้างหนึ่งมันบอด มองอะไรไม่เห็น ข้างหนึ่งมันก็เห็น แต่มันเห็นอยู่ข้างเดียว เห็นแต่ในด้านวัตถุ เห็นในด้านโลกีย์ แต่ไม่เห็นในด้านที่จะข้ามโลกไป ซึ่งเรียกว่า “โลกุตตระ” แล้วก็ไม่เข้าใจว่ามันจะให้ความสุขอย่างไร เพราะเขาเคยกับความสุขในทางวัตถุ เคยกับความสุขเพราะมี เพราะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่เคยกับความสุขในเรื่องที่ว่า ไม่ต้องมีก็เป็นสุข ไม่ต้องได้ก็เป็นสุข มันเป็นสุขที่ใจ ใจเราสงบ ไม่วุ่นวาย ไม่เศร้าหมอง ความสุขแบบนั้นเรามองไม่ค่อยเห็น เพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่เคยประสบ
แต่ถ้าได้พบด้วยใจตนเองสักครั้งหนึ่ง เมื่อเราเป็นสุขในรูปอย่างนั้น เราก็พูดกับตัวเราเองได้ว่า มันดีกว่าความสุขเมื่อก่อน เป็นความสุขที่ไม่ต้องทุกข์ในภายหลัง ความสุขจากการมี การได้ มันเป็นความสุขที่ต้องทุกข์ในภายหลัง เพราะความสุขจากวัตถุนั้นมันต้องมีทุกข์ตามมา
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อามิสสุข” คือความสุขที่เจือด้วยเครื่องล่อเครื่องจูงใจ มีปริมาณเท่าใด ความทุกข์ก็มีปริมาณเท่านั้น เราสุขเพราะเรื่องอะไรเท่าใด เราก็ต้องทุกข์เพราะเรื่องนั้นเท่านั้น ทำไมจึงต้องเป็นทุกข์? ก็เพราะว่าสิ่งทั้งหลายมันไม่คงที่ มันมีการเปลี่ยนแปลงไป มันอาจจะแตกจะหายไปเมื่อใดก็ได้ เราก็ต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น คนใดพอใจมากมันก็ทุกข์มาก เช่น เราพอใจในวัตถุใดมาก เมื่อวัตถุนั้นแตกเราก็เป็นทุกข์ พอใจในคนใดมาก เมื่อคนนั้นตายจากเราไป เราก็มีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อนใจ มันเป็นอย่างนั้น
“ได้” กับ “เสีย” มันสร้างปัญหาเท่ากัน
เมื่อ “ได้” มันก็ย่อมต้องมีเสีย
เมื่อเสีย...ก็เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนขึ้นในจิตใจ
แต่ถ้าใจเรารู้สึกว่าไม่มีอะไรได้ ไม่มีอะไรเสีย ใจเราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ เพราะเราไม่ได้มีอะไร ไม่ได้ได้อะไร เราก็ไม่สูญเสียอะไร ให้ถือว่าถ้าเมื่อ ได้ มันก็ต้องมีเรื่อง เสีย เมื่อ มี มันก็ต้องมีเรื่อง ไม่มี มันคู่กันไปตลอดเวลา แต่ถ้าเมื่อใดใจเราเข้าถึงสภาพว่า ไม่มีอะไรที่จะได้ ไม่มีอะไรที่จะเสีย เราเป็นคน ไม่ได้-ไม่เสีย
เหมือนกับนักการพนัน เมื่อ ชนะ มันก็ต้องมี แพ้ เมื่อแพ้ก็ต้องเป็นทุกข์ แล้วก็คิดแก้ตัว มันก็ไปกันใหญ่ ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น เรื่องวัตถุที่เรามีเราได้ มันก็เป็นสภาพเช่นนั้น เพราะฉะนั้นเราจึงควรจะได้ทำใจให้รู้เท่ารู้ทันต่อสิ่งนั้น เมื่อมีอะไรก็เหมือนกับไม่มี ได้อะไรก็เหมือนกับไม่ได้ ถ้าเราไม่มี เราไม่ได้ เราก็ไม่เสีย เมื่อเราไม่เสีย เราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์อะไร มันดีไหมถ้าเราคิดอย่างนั้น
ญาติโยมก็มองเห็นว่ามันดี แต่ว่าเรายังทำไม่ได้ เพราะว่าเรายังไม่ได้เริ่มฝึกหัด ไม่ได้เริ่มปฏิบัติในอย่างนั้น ไม่ได้เคยคิดในรูปอย่างนั้น จึงต้องมาเริ่มฝึกหัดปฏิบัติ หัดคิดหัดนึกในรูปอย่างนั้นเสียบ้าง คอยสอนตัวเราเองเมื่อมีอะไรเกิดขึ้น ก็ให้รู้ว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร แล้วมันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มันจะดับไปอย่างไร เรารู้ไว้ล่วงหน้า เวลามันเปลี่ยนแปลงไป เราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ไม่ต้องร้อนอกร้อนใจเพราะสิ่งเหล่านั้น
อันนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องฝึกกระทำ ฝึกการคิด ฝึกการมอง ฝึกการพิจารณา เพื่อให้เข้าใจในเรื่องนั้นๆ ถูกต้องตามสภาพที่เราควรจะรู้ ควรจะเข้าใจ จิตใจเราก็จะไม่หวั่นไหวโยกโคลงไปตามอารมณ์นั้นๆ บางคนอาจจะนึกเขวไป คือนึกว่าเป็นเรื่องทำไม่ได้ นึกว่าเป็นเรื่องทำไม่ได้นี้ไม่ได้ประโยชน์อะไร มันทำให้เราเกิดความท้อแท้ เหนื่อยหน่าย ไม่มีกำลังใจที่จะทำ เพราะเรานึกว่าทำไปก็ไม่ได้ อันนี้คิดผิด
ให้เรานึกเสียใหม่ว่า สิ่งใดที่พระผู้มีพระภาคตรัสสอนให้ชาวโลกได้รู้ได้เข้าใจนั้นเป็นเรื่องทำได้ เป็นเรื่องทำได้ เพราะพระองค์ได้ทรงกระทำเป็นตัวอย่างก่อนแล้ว ได้เดินตามทางนั้นแล้ว แล้วก็พบความสุขที่มันไม่เหมือนกับที่เคยพบมาก่อน พระองค์ทำได้ สาวกของพระองค์คือพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลายในครั้งสมัยโน้นเขาก็ทำได้ แม้อุบาสก อุบาสิกาก็ทำได้เหมือนกัน
ในวงการพระศาสนาในครั้งโน้น มีอุบาสกอุบาสิกาหลายคน ที่เป็นผู้บรรลุคุณธรรมชั้นสูงถึงชั้นอนาคามี คือว่าคุณธรรมนั้นมี ๔ ชั้น คือ ชั้นโสดาบัน ชั้นสกทาคามี ชั้นอนาคามี ชั้นพระอรหันต์ ผู้ครองเรือนนี่ก้าวไปถึงชั้นอนาคามี จิตใจเข้าไปได้ถึงขั้นนั้นแล้วเขาก็มีความสุขความสบาย แต่เขายังอยู่ครองบ้านครองเรือน ยังดำเนินธุรกิจการค้าการขาย หรือว่าทำอะไรทุกอย่างก็ทำไปตามหน้าที่ แต่ว่าสภาพจิตมันแตกต่างกับคนอื่น
คนอื่นทำด้วยความเป็นทุกข์ แต่ผู้ที่มีจิตใจสูงนั้นทำด้วยความไม่เป็นทุกข์ มีอะไรก็ไม่เป็นทุกข์ ได้อะไรก็ไม่เป็นทุกข์ สูญเสียอะไรไป เขาก็ไม่เป็นทุกข์ มันแตกต่างตรงนี้ จิตใจมันผิดกัน ก็ทำกันได้ มีชีวิตสบายในครอบครัว และลูกเต้าก็เรียบร้อย คนที่อยู่ร่วมในการงานก็เรียบร้อย เพราะว่ารัศมีทางธรรมะเข้าไปปกคลุมหุ้มห่อคนเหล่านั้น ให้มีความคิดตามผู้เป็นหัวหน้า หัวหน้าเดินไปทางไหน ลูกน้องก็เดินตามไปทางนั้น หัวหน้าใจเย็น ใจสงบ ลูกน้องก็เอาแบบมั่ง หัวหน้าเป็นคนที่มีความสุขยิ้มแย้มแจ่มใส เพราะมองเห็นอะไรชัดเจนแจ่มแจ้ง คนเหล่านั้นก็เอาความสุขนั้นไปใช้บ้าง มันติดต่อกัน เพราะการประพฤติปฏิบัติอย่างนั้นมีตัวอย่างอยู่ถมไป
แม้เป็นองค์พระราชามหากษัตริย์ก็ยังปฏิบัติธรรม ก็ได้บรรลุมรรคผลชั้นต้นๆ เช่น บรรลุมรรคผลชั้นโสดา(บัน) เหมือนกับพระเจ้าพิมพิสาร ท่านต้องไปอยู่ในคุกเพราะลูกชายทรยศ แต่ท่านไม่ได้เป็นทุกข์อะไร ท่านอยู่โดยไม่เป็นทุกข์ แม้ถูกทรมาน ท่านก็ไม่ได้มีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ เพราะจิตใจท่านเข้าถึงธรรมะก็มีความสุขในทางใจ ธรรมะมันตามไปคุ้มครอง ตามไปรักษาคนที่กำลังตกระกำลำบาก ให้มีความสุขในสภาพที่น่าจะเป็นทุกข์นั้น อยู่ในสถานที่เป็นทุกข์แต่ไม่เป็นทุกข์ อยู่ในสภาพที่ใครมองเห็นแล้วว่า “แหม แย่เต็มที” แต่เขาไม่รู้สึกว่าแย่อะไร เพราะจิตใจเขามีปัญญา รู้เท่ารู้ทันต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างถูกต้อง เขาจึงไม่มีปัญหาเกิดขึ้น
แต่คนที่ไม่ได้เข้าถึงธรรมะ ไม่ได้ศึกษาเรื่องชีวิตให้ถูกต้อง พอมีการสูญเสียอะไรขึ้นแม้นิดหน่อย ความทุกข์มันใหญ่โตเท่าภูเขา แล้วก็บอกว่า ฉันทุกข์ที่สุดในชีวิต ฉันลำบากที่สุดในชีวิต ไปพูดเสียอย่างนั้น เพราะไม่รู้จักปลง ไม่รู้จักวาง ไม่รู้จักใช้ธรรมะเป็นเครื่องแก้ปัญหา เขาจึงมีสภาพจิตใจอย่างนั้น แต่คนที่ได้เรียนได้รู้แล้ว สภาพจิตใจมันแตกต่างกัน อยู่ในที่ไหนก็มีคุณภาพความเป็นสุขทั้งนั้น
พระอรหันต์เจ้า อยู่ในป่า กับ อยู่ในเมือง เหมือนกัน อยู่ในป่าอย่างใด อยู่ในเมืองก็เป็นอย่างนั้น ท่านไม่ได้มีการตื่นเต้นกับสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ไม่เหมือนเราชาวบ้าน ถ้าอยู่ในเมืองใจอย่างหนึ่ง ไปอยู่ในป่าใจอย่างหนึ่ง พอมีอะไรเกิดขึ้นใจมันก็เป็นไปอย่างหนึ่ง เมื่อยังไม่มีอะไรมันก็เป็นไปอย่างหนึ่ง มันเปลี่ยนแปลงไป เป็นจิ้งจกไป ตัวจิ้งจกนี่มันเปลี่ยน(สี)ไปตามสภาพสิ่งแวดล้อม ถ้าอยู่ในกำแพงขาวๆ มันก็มีสีขาวเหมือนกำแพง ถ้าไปอยู่ในที่ดำ มันก็มีสีดำคล้ายกับสิ่งนั้น กลมกลืนกันกับสิ่งนั้น เพื่อเอาตัวรอดนั่นเอง...ไม่ใช่เรื่องอะไร แต่มันไม่ได้มีจิตใจจะเปลี่ยนหรอก มันเปลี่ยนไปเองตามธรรมชาติของมันเป็นเช่นนั้น ไม่เหมือนคนเราที่ชอบปรุงชอบแต่งจิตใจให้เป็นไปในทางสร้างปัญหา สร้างความทุกข์ความเดือดร้อน อันนี้มีตัวอย่างอยู่ในชีวิตประจำวัน
คนเรานี่...บางครั้งบางคราวมันควรจะเข้ากันได้กับบุคคลอื่น ควรจะทำอะไรร่วมกันได้ แต่ว่าเข้ากันไม่ได้ ร่วมกันไม่ได้ ไม่ต้องมากคนหรอก (แค่ ๑-๒) คนบางทีก็เข้ากันไม่ได้ ร่วมกันอะไรกันไม่ได้ เอาข้างเข้าถูกันอยู่ตลอดเวลา ไม่หันหน้าเข้ามายิ้มกัน ประนีประนอมกัน นั่นมันเพราะอะไร? อะไรมันเป็นเหตุ เป็นตัวการ ให้เกิดอาการเช่นนั้นขึ้นมาในใจของบุคคลนั้น เช่น สามีภรรยาบางคู่ก็อยู่กันมามีลูกมีเต้า ๒-๓ คน แล้วต่อมาก็เกิดระหองระแหงกันขึ้น ไม่พูดจา...อยู่ในบ้านเดียวกันก็ไม่พูดจากัน ไม่หันหน้าเข้าหากัน มองกันด้วยสายตาที่โกรธ สายตาที่เกลียดอยู่ตลอดเวลา แล้วเราลองนึกสภาพครอบครัวนั้นจะเป็นอย่างไร เมื่อพ่อแม่นั้นตั้งข้อเข้าหากัน ลูกจะเข้าฝ่ายไหน? ลูกจะหันหน้าไปหาใคร? หันไปทางแม่...ตาเขียว หันไปทางพ่อ...พ่อก็ตาเขียว แล้วลูกจะทำอย่างไร ลูกก็อยู่บ้านไม่ได้ เมื่ออยู่บ้านไม่ได้ ก็ต้องออกไปเที่ยววิ่งตามหน้าโรงหนัง ไปในซอย ไปคบเพื่อนคบฝูงที่พอยิ้มกันได้ ผลที่สุดเด็กเหล่านั้นก็กลายเป็นอันธพาล เป็นเด็กเกเรประจำซอยประจำตรอกไป
นี่เป็นความผิดของใคร เป็นความผิดของพ่อแม่ที่ไม่หันหน้าเข้าหากันเพื่อแก้ปัญหา ต่างคนต่างก็นึกว่า “กูถูก” ถูกทั้งคู่น่ะคือผิดทั้งคู่ ให้จำไว้เป็นหลักว่า ถ้าถูกทั้งคู่แล้วมันผิดทั้งคู่ แต่ถ้าผิดทั้งคู่มันจะกลายเป็นถูกขึ้นมา คือเมื่อใดคนทั้งสองรู้สึกตัวว่า “กูผิด” เมื่อนั้นมันจะถูกแล้ว แต่ถ้านึกว่า “กูถูก” ไม่ยอมก้มหัวให้ใคร อย่างนี้แล้วมันจะผิดไปนาน เพราะยังสำคัญว่า “ตัวกูถูก” อยู่ตลอดเวลา มันก็ไม่ได้...เป็นเช่นนั้นไม่ได้
ใหญ่ขึ้นไปกว่านั้น ในสังคมที่มีคนมากๆ เช่น คนทำงานร่วมกันมากๆ เรามักจะได้ข่าวว่าไม่ถูกกัน ผู้จัดการกับผู้ชำนาญการอาจจะไม่ถูกกัน เช่น ในงานหนึ่งมีผู้จัดการ แล้วก็มีผู้ชำนาญการที่เขาเรียก Technician บางทีก็ไม่ถูกกัน เมื่อไม่ถูกกันมันก็เกิดปัญหา ผู้จัดการจะทำอย่างนี้ พวก (ผู้) ชำนาญการบอกว่า “ไม่เห็นด้วย” ไม่ยอมพิจารณา งานมันก็ช้า ไปไม่รอด บริษัทนั้นจะล่มจะจมเพราะการไม่ร่วมมือกัน
ในวงงานของราชการเรานี้ก็เหมือนกัน บางทีก็ไม่ลงร่องลงรอยกัน ท่านอธิบดีกรมนี้ไม่ถูกกับกรมนั้น หรืออธิบดีไม่ถูกกับปลัดกระทรวง ไม่ถูกกันกับรัฐมนตรี แล้วก็อยากที่จะทำให้มันฉิบหาย แต่ว่าใครฉิบหาย? ประเทศชาติสิฉิบหาย ประเทศชาติเดือดร้อน คนนั้นมันเดือดร้อนนิดหน่อย แต่ชาติเสียหายมากเดือดร้อนมากกว่า จิตใจไม่ได้คิดถึงส่วนรวมเสียแล้ว แต่มาคิดถึงเรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราไม่ชอบ เราไม่พอใจในบุคคลนั้น เราจะไม่ช่วยเหลือ จะไม่ทำในสิ่งนั้น เขาลืมไปเสียว่างานนั้นมันไม่ใช่งานของคนนั้น แต่ว่าเป็นงานของส่วนรวม เป็นงานของประเทศชาติ เราจะทำอย่างนั้นไม่ได้ แต่เขาไม่ได้คิดอย่างนั้น เพราะว่ามันมีอะไรหนุนอยู่ในใจของเขาให้คิดผิดอยู่ตลอดเวลา จึงได้ตั้งข้อเข้าหากัน
ในระหว่างประเทศก็เหมือนกัน ระหว่างประเทศที่เกิดยุ่งก็ไม่ใช่คนทั้งประเทศมันยุ่ง ไม่ใช่คนทั้งประเทศมันเกิดโกรธกันเกลียดกัน แล้วก็ถืออาวุธจะไปฆ่ากัน มันโกรธกัน ๒ คนเท่านั้นเอง ๒ คนนั้นก็คือคนที่เป็นหัวหน้าในชาติ เช่นว่าเป็นประธานาธิบดี หรือว่าเป็นนายกรัฐมนตรี มันเกลียดคนประเทศนั้น นายกคนนั้นอยากจะทำลายนายกคนนั้น แล้วก็ยกทัพเข้าไปย่ำยีบีฑา หรือว่าอยากจะส่งเสริมคนนี้ อยากจะเตะคนนั้นให้มันจมไปในธรณี มันก็ทำสิ่งชั่วร้ายขึ้น กระทบกระเทือนกันไปทั้งหมด ก็ไม่กี่คน แต่คนที่ทำน่ะมันไม่กี่คนหรอก แล้วก็มีอำนาจ มีอิทธิพล ที่จะบังคับคนอื่นให้ทำตามตนไปด้วย เลยเฮกันไปในทางผิด เฮไปในทางเสียหาย
เพราะฉะนั้นเรื่องของชาติบ้านเมือง เวลาใดผู้นำชาติเป็นคนสัมมาทิฏฐิ มีศีลธรรมประจำใจ มีน้ำใจ ประกอบด้วยความรัก ความปรารถนาดีต่อคนทั่วไป คนในประเทศนั้นก็เป็นสุข เพราะได้ผู้นำที่มีศีลธรรม บ้านเมืองก็เป็นสุข แต่ในขณะใดได้ผู้นำใจเหี้ยม ใจโหด ไม่คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม เอาส่วนตัวเป็นใหญ่ แล้วถ้าใครขัดคอก็จับมาลงโทษกัน ทำร้ายกัน เบียดเบียนกัน สังคมก็จะมีปัญหา มีความวุ่นวายขึ้นด้วยประการต่างๆ นี่คือตัวปัญหาที่ทำให้เกิดอะไรขึ้นเพราะความไม่ยอมกัน
“ความไม่ยอมกัน” นี่มันมาจากอะไร? มันมีอะไรหนุนหลังอยู่ ที่เรียกว่าไม่ยอมนี่ สิ่งที่หนุนหลังความไม่ยอม ไม่พร้อมที่จะเข้าหากันนั้น เขาเรียกว่า “มานะ” มานะเป็นภาษาบาลี พูดเป็นภาษาไทยก็หมายความว่า ถือตัว-ถือตน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า สำคัญตนผิด คือสำคัญตนว่า ฉันเก่งกว่าใครๆ ฉันรู้มากกว่าใครๆ ใครๆ สู้ฉันไม่ได้ ฉันต้องเป็นหนึ่งในตองอู อะไรอย่างนี้ มันคิดแต่เรื่องตัวทั้งนั้น มานะนี่มันคิดแต่เรื่องตัว แล้วก็ข่มขู่คนอื่น หาว่าคนอื่นไม่มีความรู้ ไม่มีความสามารถ ไม่มีความฉลาดเท่าเทียมกับตน ตนเป็นคนเก่งแต่เพียงผู้เดียว แล้วมันจะเข้ากับใคร (ได้)
คนเราถ้ามันเก่งแล้วมันไม่ยอมก้มหัวให้ใคร มันแข็งเหมือนกับเสาคอนกรีตก้มไม่ลง เสาคอนกรีตก้มไม่ลง มันไม่เหมือนยอดไม้ที่โอนเอนอ่อนไปตามกระแสลมได้ เราดูยอดไม้เล็กๆ ลมพัดมันก็โอนอ่อนไป พัดไปทางไหนมันก็อ่อนไปทางนั้น ไม่ค่อยมีอะไร แต่ว่าต้นไม้ใหญ่นี่มันไม่อย่างนั้น มันแข็งไว้
เมื่อสมัยเด็กๆ อ่านหนังสือแบบเรียนเร็วเล่มหนึ่ง มันก็มีเรื่องสอนใจเหมือนกัน เฟื่องกับแฟง ๒ คนพี่น้อง บ้านอยู่ใกล้ป่า วันหนึ่ง ๒ พี่น้องชวนกันไปเที่ยวป่า เมื่อไปเที่ยวได้สักพักหนึ่งก็เกิดลมฝนหนักตกลงมา เฟื่องพี่ชายก็จูงน้องชายเข้าไปแอบอยู่ที่หน้าผา ซึ่งมีหินชะโงกออกมา แล้วฝนก็ไม่เปียก แล้วก็มั่นคงดี น้องก็กลัวตัวสั่น เพราะเห็นลมแรงพายุแรงก็มีความกลัว ไม่เคยเห็นมันก็มีความกลัว เหมือนกับแผ่นดินไหว...คนกลัว กลัวว่าตึกมันจะพังลงมาทับ แผ่นดินมันจะแยก แล้วก็เกิดความกลัววิ่งหนีกันให้จ้าละหวั่นไปตามๆ กัน เกิดความกลัวอย่างนั้น
พี่ชายก็ปลอบโยนน้องว่า “น้องไม่ต้องกลัว อันนี้มันเป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ธรรมชาติมันมีอย่างนี้ มีลม มีฝน มีพายุ มีอะไรต่างๆ มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ และถ้าฝนตกแรงลมแรงอย่างนี้ ไม่เท่าใดมันก็หยุด เมื่อหยุดแล้วเราก็กลับบ้านได้ ไม่ต้องเดือดร้อนอะไร” นั่งพักอยู่ในที่นั้นต่อไป ไม่เท่าใดฝนก็สร่างซา พอฝนซาแล้วก็เดินกลับบ้าน
เวลาเดินกลับบ้าน เจ้าพี่เห็นว่าควรจะสอนน้องได้ ก็เลยสอนน้องว่า “น้องดูสิ ต้นไม้ใหญ่ เช่น ไม้ยาง ไม้กร่าง ไม้มะค่า ไม้ประดู่ ไม้ตะเคียน ไม้เต็ง ไม้รัง พวกไม้เนื้อแข็งนี้ (พอ) ลมพัด...มันแข็งมันยืนสู้ลม พอยืนสู้ลม ลมมันแรงมากสู้ไม่ไหว ล้มเอารากขึ้นเลย เรียกว่าล้มกันเป็นแถวไปเลยทีเดียว แต่ว่าพวกพงอ้อ กอแขม หญ้าที่เขาเอามาทำไม้กวาดพวกนั้นนะ พอลมมา...มันอ่อนลู่ไปตามสายลม พอลมสงบแล้ว มันก็ตั้งตัวตรงต่อไป ยืนต่อไป แต่ไม้ยูง ไม้ยาง ไม้กร่าง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้ประดู่ ทั้งหลายล้มแล้วลุกไม่ขึ้น ก็รากถอนไปแล้ว ลุกไม่ขึ้น”
อันนี้เป็นบทเรียนสอนน้องว่า ไอ้ของที่แข็งนี่มันไม่ดี กระด้างนี่มันไม่ดี ดื้อก็ไม่ดี ดันไปคนเดียวมันก็ไม่ดี ดีนั้นมันอยู่ที่รู้จักอ่อน รู้จักอ่อนน้อม รู้จักถ่อมตัว เวลาใดควรอ่อนก็อ่อน อย่าไปแข็งไว้ โอนอ่อนผ่อนตาม เราพูดในภาษาไทยว่า โอน อ่อน ผ่อน ตาม
“โอน” คือย้ายตัวจากชั่วไปดีได้ โอนย้ายไป เราเคยชั่ว...โอนไปหาความดีเสียได้ ไม่ต้องทำชั่วต่อไป นี่เรียกว่าโอน โอนไปแล้วเราก็ต้อง “อ่อน” ตามสิ่งแวดล้อม อย่าไปยืนแข็งอยู่ อย่าไปวางโตอยู่ อย่านึกว่ากูเก่งอยู่ตลอดเวลา ยอมให้คนอื่นเก่งบ้าง เราอยู่ในโลกนี้อย่าเก่งคนเดียว ให้คนอื่นเก่งบ้าง ผลัดกันเก่ง มันก็จะค่อยๆ ดีขึ้นไปสักหน่อย ให้คิดอย่างนั้น
แล้วมีเรื่องอะไรบางคราวมันก็ต้องผ่อนไปบ้าง อย่าไปแข็งขึงตึงตังอยู่ตลอดเวลา “ผ่อนตาม” ไป โรยเชือกไป ให้มันไปก่อนจนสุดเชือก แล้วค่อยๆ ดึงกลับมาจะดีกว่า อย่างนั้นจะดีกว่า เขาเรียกว่า โอน อ่อน ผ่อน ตามไป ตามสิ่งที่ควรจะตามไป เรื่องมันก็จะไม่เสียหาย
อันนี้ก็เป็นบทเรียนสอนใจว่า คนเรามันต้องรู้จักผ่อนผันสั้นยาวแล้วมันดี แต่ไม่รู้จักผ่อน ไม่รู้จักสั้น ไม่รู้จักยาว ใช้อันเดียวตลอดเวลามันก็ไม่ได้ มีลูกไม้ลูกเดียวคือว่าแข็งตลอดเวลา...มันก็ไม่ได้ มันต้องผ่อน ดูกาลเทศะ ดูบุคคล ดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า อะไรเกิดขึ้นก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปได้ตามยุคตามสมัย คนใดที่ถือแข็งไม่ยอมเปลี่ยนแปลงนั้นก็ไม่ได้ มันเข้ากับคนอื่นไม่ได้
ในสมัยที่ประเทศไทยเปลี่ยนการปกครองใหม่ๆ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย มีคนบางคนบอกว่า “ผมมันคนใจเดียว” บอกว่าเป็นคนใจเดียว มีความจงรักภักดีต่ออะไรก็จะรักต่อไป บางคนพูดว่า “ผมมีพระองค์เดียว จะไหว้แต่องค์นั้นตลอดเวลา” แล้วก็มันไม่ยอมให้ใคร ไม่ร่วมกับใคร คนนั้นก็อยู่ในสังคมไม่ได้ เพราะไม่รู้จักผ่อนผันการเป็นการอยู่
ในหลักธรรมของสัปปุริสชน สัปปุริสชน หรือว่าสัตบุรุษ หมายความว่า เป็นคนดี มีเหตุผล มีปัญญา เขาวางหลักไว้ ๗ อย่าง เรียกว่า รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้เวลา รู้บุคคล รู้ประชุมชน ให้รู้ในสิ่ง ๗ ประการนี้
มีข้อที่ว่า “รู้บุคคล” หมายความว่า เราเข้าไปหาใคร ก็ต้องเรียนรู้ว่าคนนั้นเป็นคนประเภทใด มีนิสัยใจคอเป็นอย่างไร เราจะไปเข้ากับคนนั้น เราจะเข้าโดยวิธีใด ให้รู้ว่าเขาชอบอะไร เขาเป็นคนอย่างไร
เหมือนกับเขาเล่าว่า (มี) คนๆ หนึ่งอยากจะไปของานกับผู้จัดการบริษัทแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะไปนี่เขาศึกษาก่อนว่าผู้จัดการบริษัทนั้นเป็นคนนิสัยอย่างไร ก็ได้ทราบว่าเป็นคนมีนิสัยละเอียด ประณีต แม้ของเล็กของน้อยก็ไม่ยอมละเลย เขาก็นึกว่าเราจะต้องทำตัวเราให้เข้ากับคนนั้น เมื่อเดินเข้าไปพอใกล้จะถึงผู้จัดการ เขาก้มลงไปที่พื้นหยิบเข็มขึ้นมาเล่มหนึ่ง แล้วเอาไปวางที่โต๊ะผู้จัดการ บอกว่าเข็มมันตกอยู่ ความจริงเข็มมันไม่ได้ตกหรอก แต่ว่าเขาถือไป เตรียมไป เข็มเล่มนั้นเขาเตรียมไป เรียกว่ามีลูกไม้หน่อย เตรียมเข็มไปแล้ว แต่ว่าพอไปถึงก็ทำท่าก้มลงหยิบ ผู้จัดการก็มองดูว่ามันก้มลงไปทำอะไร พอเข้าไปถึง (ก็บอกว่า) “เข็มตกอยู่เล่มหนึ่งครับ” ผู้จัดการก็ประทับใจนายคนนั้นทันที “เอ้อ! นายคนนี้มันละเอียดลออ แม้เข็มเล่มหนึ่งบนพื้นมันยังมองเห็นเลย ควรรับเข้าไปทำงานได้” ก็เลยได้งานเท่านั้นเอง
เขาเรียกว่ารู้จักบุคคลที่เราจะเข้าไปหา แล้วไปพูดจาให้มันเข้ากันได้ คนบางคนไปหาใคร พอไปถึงก็พูดขัดคอกันเสียแล้ว ไม่ต้องพูดกันต่อไป มาถึงก็ปั้นหน้ายักษ์เข้าใส่เสียแล้ว พูดไม่เป็น ไม่รู้จักใช้ถ้อยคำ ไม่รู้จักหว่านล้อม เอาแต่ความแข็ง เอาแต่นึกว่าฉันเก่ง ฉันรู้เรื่องนั้น ฉันรู้เรื่องนี้ เลยก็พูดออกไปด้วยถ้อยคำที่ยั่วยุกิเลสเขา
คนเรามันมีอะไรอยู่ในใจทั้งนั้น อย่าไปกวน เหมือนกับตะกอนมีอยู่ในน้ำ อย่าไปกวน เราจะตักน้ำดื่ม ค่อยๆ ตักเอาข้างบน อย่าเอากระบวยแหย่ลงไปแล้วก็กวน มันไม่ใช่จะกินน้ำตาลทราย...ไปกวนทำไม ถ้าของที่เราคนใส่น้ำตาล...กวนหน่อย ให้น้ำตาลละลาย อันนี้มันมีแต่ตะกอนอยู่ จะไปกวนให้มันละลายทำไม
คนบางคนน่ะไปหาใครก็ไปกวนน้ำให้ขุ่น ไปพูดยั่วให้เขาโกรธ ยั่วให้เขาเกิดโมโหโทโส แล้วก็พูดกันไม่รู้เรื่อง อย่างนี้เขาเรียกว่าไม่เหมาะที่จะไปเป็นทูต คนที่จะไปเป็นทูตนั้นต้องเป็นคนอารมณ์เยือกเย็น มีเหตุผล รู้จักใช้ปัญญาในการที่จะพูดจาเพื่อเอาชนะเขา ให้ดีให้ได้ ก็ต้องใช้อย่างนั้น เพราะฉะนั้นการรู้จักคนที่เราจะไปหาเป็นเรื่องดี
“รู้จักประชุมชน” บริษัทที่เราจะเข้าไปเป็นคนประเภทไหน เราต้องทำตนให้พอเหมาะพอควรกับบริษัทนั้น เพราะถ้าทำไม่เหมาะ เขาเขม่นนะ เดี๋ยวก็รุมกันกระทืบเราก็เท่านั้นเอง เราทำ (ไม่ถูก) ไม่ควร (36.30 เสียงไม่ชัดเจน) มันก็ลำบาก เพราะฉะนั้นจะต้องรู้ว่า เราจะทำอย่างไรจึงจะเข้ากับคนเหล่านั้นได้ ต้องประพฤติตนอย่างไรเพื่อเอาตัวรอดไปก่อน อย่างนี้เป็นเรื่องสำคัญ แต่นี้คนที่จะทำอย่างนั้นได้ มันต้องลดทิฏฐิมานะซึ่งมีอยู่ในตัวมากๆ คนเราโดยปกตินั้น ไม่ชอบลดทิฏฐิมานะ แต่ว่าชอบเพิ่ม ไปไหนก็เรียกว่าเป็นช้างชูงวงเข้าไป ช้างชูงวงมันเดินชูงวงไปตลอดเวลา พระพุทธเจ้าสอนพระโมคคัลลานะว่า “โมคคัลลานะ เธอจะเข้าไปในหมู่บ้านใดนิคมไหน อย่าไปแบบช้างชูงวง”
แบบ “ช้างชูงวง” คือไปด้วยอาการเย่อหยิ่งจองหอง ประกาศยี่ห้อว่ากูเก่ง นี่แหละเขาเรียกว่าช้างชูงวง คนที่เข้าไปในรูปเช่นนั้น เพียงแต่เขามองท่าเดิน เขาก็รำคาญตาแล้ว เพราะคนอย่างนั้นเดินท่าทางยกหูชูหาง ความจริงหูของคนมันยกไม่ได้ หางมันก็ยกไม่ได้ แต่เขาเอาไปเปรียบกับหมาเข้าไปเลยทีเดียว หมามันเดินยกหูชูหางเข้าไป หมามันจะไปกัดกับใคร เราดูที่หางมันโด่ หางชี้เลย หูมันชี้ขึ้นไป หาง …… (37.53 เสียงไม่ชัดเจน) แหม เตรียมตัวอ้ายนี่ มันไม่รู้จักหดหาง
ความจริงในบางครั้งหมามันก็เป็นบทเรียนสอนคนได้เหมือนกัน เช่น มันเข้าไปในหมู่หมาอื่น หมาอื่นเห็นก็รุมเข้ามาจะทำร้ายมัน มันรู้ว่ากูแย่(แล้ว)ตอนนี้ มันต้องลดทิฏฐิมานะแล้ว ต้องไม่ยกหูชูหางแล้ว มันทำอย่างไร นอนหงายเลยนอนหงาย “เอ้า พี่จะกัดตรงไหน ก็เชิญกัดตามสบายเถอะ ตามใจเถอะ” หมาตัวอื่นมันก็เข้ามาเลียหัว เลียหาง เลียท้อง มันก็นอนเฉยไม่ว่าอะไร แล้วอ้ายตัวที่เลียๆ มันนึกว่ากูเก่งแล้ว “อ้ายนั่นมันยอมแพ้กูแล้ว” มันก็ชวนกันเดินไป อ้าย (ที่นอนหงายอยู่) นั่น ลุกขึ้นวิ่งหางเด่ไปเลยปลอดภัย นี่เรียกว่าหมามันฉลาด มันรู้จักเอาตัวรอดในคราวที่จำเป็น คราวจำเป็นมันก็ต้องทำอย่างนั้น มันเป็นบทเรียนได้เหมือนกัน สุนัขมันก็ให้บทเรียนแก่เรา ที่มันทำอย่างนั้นเพราะมันรู้ว่าถ้าขืนสู้กูตาย มันรุมกันกัดหูกัดหัวกัดกูตาย มันหลายตัว สู้ทำไม สู้ไม่ได้ เราอย่าไปสู้เลย ยอมดีกว่า
คนที่ใช้หลักการนี้ทำให้สังคมอยู่รอด ประเทศชาติอยู่รอด ตัวอย่างในทางประวัติศาสตร์ชาติไทย ในหลวงรัชกาลที่ ๕ พวกฝรั่งเศสเหยียบจมูกว่างั้นเถอะ พูดภาษาชาวบ้านว่าเหยียบจมูก เอาเรือรบเข้ามา วิ่งเข้ามาโดยไม่ได้บอก เรียกว่ากูมันใหญ่ อ้ายฝรั่งเศสนี่มันอวดดี มันใหญ่โอหัง เดินยกหัวชูหางเข้าไปเลย ป้อมพระจุลฯ ที่ปากน้ำเรามีปืนนี่ ขืนเดินเข้ามาอย่างนั้น (ไทย) ก็ชักธงให้หยุดนะ ฝรั่งเศส (ก็คิดว่า) “กูใหญ่ กูจะเข้าไป” เข้ามาถึงป้อมก็โดนตู้มๆ เข้าให้ ก็เรือลำมันตั้งใหญ่ยิงง่ายจะตายไป ก็ยิ่งเอาเรือเสียหายไปเลย มันหาเรื่อง มันไม่ใช่เรื่องอะไร มันเรื่องหมาจิ้งจอกหาเรื่องจะกินลูกแกะนั่นเอง “ทำไมแกทำน้ำให้ขุ่น” ลูกแกะบอกว่า “พิโธ่! ผมอยู่ใต้น้ำจะไปทำน้ำให้ขุ่นได้อย่างไร” “เอ้า! ถึงไม่ใช่คุณคราวนี้ ก็เมื่อปีก่อนคุณทำน้ำให้ขุ่น” ถ้าบอกว่า “ปีก่อนผมยังไม่ได้เกิด” “ชาติก่อนเอ็งก็ทำน้ำให้ขุ่น” มันหาเรื่องจะกิน แล้วมันต้องกินจนได้นั่นแหละ
ฝรั่งเศสเองก็ทำอย่างนั้น เอาเรือบุกเข้ามา ทีนี้เมื่อเราทำกับเขา เขาก็หาว่าเราทำอันตรายเขา แล้วมันไม่ว่าเปล่า มันเดินทัพเข้ามาเลย ยึดเอาเมืองตราดไว้ ยึดจันทบุรีไว้ ตั้งป้อมตั้งค่ายอย่างแข็งแรง จะไม่ถอย เออ! ทำอย่างไรทีนี้ พวกนักเลงโตนี่พูดกับมันยากนะ นิสัยมหาโจรนี่ มันนึกจะยกทัพเข้าบ้านใครเมืองใคร มันก็เข้าไปเท่านั้นเอง มันไม่ฟังเสียงใครทั้งนั้นนะ เดี๋ยวนี้ก็ยังมีตัวอย่าง เช่น โซเวียตรุกเข้าไปในอัฟกานิสถาน ญวนบุกเข้ามาในเขมร อันนี้มันก็เป็นตัวอย่างทั่วไปแบบมหาโจรทั้งนั้น ไม่ต้องพูดไม่ต้องอะไรกัน มันเป็นอย่างนั้น
ทีนี้เราจะทำอย่างไร เมื่อเราถูกบีบคั้นอย่างนั้น เราจะทำอย่างไร? ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ท่านก็กลุ้มพระทัยเหมือนกัน ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แต่นี้คนไทยเรานี่ถ้ากลุ้มใจต้องหาพระ กลุ้มใจต้องไปหาพระ ไปดูหมอบ้าง ไปรดน้ำมนต์บ้าง ไปสะเดาะเคราะห์บ้าง ตามเรื่องตามความเข้าใจพื้นฐาน แต่ในหลวงท่านไม่ได้ทำอย่างนั้นหรอก ท่านนิมนต์พระมาแสดงธรรม พระที่มาแสดงธรรมก็เรียกว่าพระผู้ทรงความรู้ คือพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็เป็นน้องนั่นเอง เป็นน้องของในหลวง เป็นน้องร่วมพ่อแต่ต่างแม่กัน เข้ามาก็เทศน์ ชักเรื่องธรรมะเรื่องชาดกอะไรมาพูดให้ฟัง น้ำพระทัยก็ค่อยสงบค่อยเยือกเย็น มองเห็นปัญหา มองเห็นทางแก้ว่าควรจะแก้อย่างไร
ชั้นต้นท่านทรงโทมนัสมาก โทมนัสว่า “เออ! บ้านเมืองของเรานี่ ปู่ ตา ย่า ยาย เขาต่อสู้มาก็รักษามาด้วยดี จะมาเสียบ้านเสียเมืองในตอนเรานี้ มันก็จะถูกประวัติศาสตร์จารึกไว้ จะเป็นเรื่องเสียหาย” ไม่เป็นอันเสวย ไม่เป็นอันบรรทม มีความทุกข์มาก ทีนี้พวกน้องๆ กรมพระยาดำรงฯ กรมพระยาเทววงศ์ฯ อะไรต่างๆ เข้าไปปลอบโยน บอกว่า “พระองค์นี่เป็นกัปตันเรือ กำลังพาเรือไทย (แล่นไป) ต้องพบคลื่นพบลมบ้างเป็นธรรมดา แล้วก็เมื่อเรือถูกพายุ พระองค์จะกระโดดลงไปในทะเลเสีย แล้วใครจะเป็นกัปตันต่อไป กัปตันที่มีความรู้มีความสามารถเช่นพระองค์นี้จะหาที่ไหน เพราะฉะนั้นจะต้องถือเรือต่อไป เรามาช่วยกันคิด ช่วยกันหาวิถีทางกันต่อไป” นั่นใจค่อยชื้นขึ้น เพราะมีผู้มาปลอบโยนจิตใจ เจ้านายของเรานั้นท่านรักกัน ท่านสามัคคีกัน ท่านร่วมแรงร่วมใจกัน ท่านไม่เกี่ยงไม่งอนกัน ท่านถือหลักใหญ่คือพระเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวนี่เป็นหลักของชีวิตของท่าน ก็เลยสงบไป แล้วก็คิดว่า “ต้องหาอุบาย” “เอ้า! แล้วทำอย่างไร” “ปล่อยให้มันยึดไปก่อน ไม่เป็นไร แผ่นดินมันไม่หายไปไหน ค่อยพูดค่อยจากัน” ก็เลยเสด็จไปต่างประเทศ
การเสด็จไปต่างประเทศนั้นไม่ใช่ไปเที่ยว แต่ไปเพื่อหามิตร ไปประเทศใหญ่ๆ เช่น ประเทศอังกฤษ ประเทศเยอรมัน เขาเรียกว่าปรัสเซีย (Prussia) ในสมัยนั้น ออสเตรีย ปรัสเซีย สมัยนั้นมีพระเจ้าแผ่นดินทั้งนั้นใหญ่ๆ โตๆ (ท่านเสด็จเยือนเกือบ)ทุกประเทศ ฝรั่งเศสไม่ไป เดินผ่านหน้าบ้านมันเฉยๆ “กูไม่แวะบ้านนักเลงโต” อันนี้เราไปบ้านโน้น บ้านนี้ บ้านนักเลงโตไม่แวะ นักเลงมันก็นึกเหมือนกันว่า “เอ๊ะ! ไปเที่ยวคบนักเลงอื่นตั้งหลายคน บ้านเราไม่แวะนี่มันไม่ได้นะ เดี๋ยวอ้ายพวกนั้นมันจะเล่นงานเราได้เหมือนกันนะ” ก็เลยเชิญให้เข้าไป เมื่อเชิญไปก็ไปพูดจาวิสาสะเกิดความคุ้นเคยกันก็เรียบร้อย เรียบร้อยไป เพราะว่าพวกนี้มันพวกลูกแถวพวกลูกหาบทั้งนั้นแหละที่มาสู้รบอยู่ที่นี่ นายอยู่ที่โน่น อยู่ที่ปารีสโน่น พูดกับนายมันดีกว่า เราไปคบวัว จะไปพูดกับวัวนี่มันไม่ได้นะ ต้องไปพูดกับคนเลี้ยงวัว มันจึงจะรู้เรื่องกัน ถ้าเราไปขืนพูดอยู่กับวัว เราก็เป็นคนไม่เต็มบาทเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นต้องไปพูดกับคนเลี้ยงวัวที่มันพอพูดกันรู้เรื่อง
ท่านก็ไปพูดที่ปารีส ผลที่สุดก็ตกลงกัน ฝรั่งเศส (ยอม) ถอยทัพ แต่มันไม่ถอยเปล่า อ้ายพวกโจรเข้าบ้านแล้วมันไม่ถอยเปล่าหรอก มะม่วงมะนาวมะกรูดที่เป็นอยู่ มันก็เก็บไปบ้างตามเรื่องตามราว นั่นก็เหมือนกัน ถอยก็ต้องเรียกค่าเสียหายนิดๆ หน่อยๆ แต่มันไม่น้อยหรอกสำหรับประเทศไทยในสมัยนั้น เพราะประเทศไทยสมัยนั้นเงินมันไม่มาก งบประมาณของประเทศก็มีประมาณ ๘๐ ล้านเท่านั้นเอง สตางค์มันน้อย เราก็ต้องเสียให้เขา ไม่เสียก็ไม่ได้เพราะว่าจำเป็น
คนเราเมื่อคราวเสีย...ต้องเสีย เมื่อไม่ถึงคราวจะเสีย...ก็อย่าไปเสีย เช่น มีเงินมีทองนั้นไม่จำเป็นอย่าไปใช้ แต่ถ้าถึงคราวที่จะต้องใช้ก็ใช้ เช่น เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย แหม! เสียดายสตางค์จะไปหาหมอ เสียดายสตางค์จะไปซื้อหยูกซื้อยา แล้วมันจะมีโอกาสใช้เงินนั้นได้อย่างไร เขาก็ต้องเชิญไปป่าช้าเท่านั้นเอง นี่เขาเรียกว่าไม่เข้าเรื่อง ถึงคราวที่จะต้องเสียก็ต้องเสีย เงินมี เอ้า! ซื้อยามารักษาเยียวยาความเจ็บไข้ได้ป่วย บ้านมันรั่วเสียดายเงิน ไม่ต้องซ่อม ปล่อยให้มันรั่วอยู่นั่นแหละ ไม่เท่าใดพื้นพังเลย แล้วก็ต้องสร้างใหม่ เงินมันก็แพง ซ่อมดีกว่า นี่เรียกว่ารู้จักจ่าย เมื่อคราวจำเป็นจะต้องจ่าย แต่เมื่อยังไม่จำเป็น เออ! เอาไว้ก่อน คนมันต้องฉลาดอย่างนั้น
ประเทศไทยเราสมัยนั้นในหลวงท่านฉลาด พาบ้านพาเมืองได้ ด้วยอาศัยรู้จักว่าควรจะทำอย่างไรกับเรื่องนั้นๆ มีเหตุ มีผล รู้จักเวลา รู้จักบุคคล รู้จักเหตุการณ์ ใช้หลักสัปปุริสธรรมจึงเอาตัวรอด เรานี้ก็เหมือนกันแหละ คนเรามันต้องรู้จักว่าอะไรเป็นอะไร ต้องรู้จักรักษาตัวรอด เหมือนกับว่าเวลานี้เขาจะตั้งรัฐบาลกัน มันมีพรรคใหญ่ๆ ๒-๓ พรรค ถ้าสมมติว่าพรรคเหล่านั้นก็แข็งข้อ “ฉันนี้ใหญ่ ต้องให้ฉันเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคฉันต้องเป็นแกนนำ” อีกพรรคหนึ่งก็ว่า “ไม่ได้ ฉันต้องนำ” ต่างคนต่างนำ เก้าอี้ตัวเดียวนี้คนนั่ง ๓ คน แล้วทีนี้ต่างคนต่างจะนั่งบนเก้าอี้นั้น เก้าอี้นั้นมันจะเป็นอย่างไร มันก็พังลงเท่านั้นเอง ไม่มีใครได้นั่ง แย่งกันนั่ง ๓ คนแย่งกันนั่ง เก้าอี้มันก็พังเท่านั้นเอง
ถ้าจะไม่ให้พังก็ต้องตกลงกันว่า เอ้า! ใครจะนั่งก่อน คุณจะนั่งก่อน หรือจะให้ผมนั่งก่อน ดูเหตุดูผลกัน ดูพรรคดูพวกให้เป็นการเรียบร้อย อย่าไปเกี่ยงกัน น้ำหนักไม่ต้องเกี่ยงกันแล้วเวลานี้ เกี่ยงไม่ได้...ประเทศชาติมันจะยิ่งไปกันใหญ่ มีแต่รัฐบาลรักษาการทำอะไรไม่ได้เวลานี้ อะไรมันก็ทำไม่ได้ เพียงแต่ว่ารักษาการ จะสั่งอะไรก็ไม่ได้ สั่งไปตามเรื่อง แต่ว่านโยบายใหม่มันจะไม่เกิด เพราะไม่มีรัฐบาล ยิ่งช้าเท่าใดยิ่งขาดทุนมากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นจะต้องตั้งไวๆ
การที่จะตั้งรัฐบาลไวๆ นั้นจะทำอย่างไร ทุกคนต้องลดทิฏฐิมานะ ลดความเห็นแก่ตัว ลดว่ากูใหญ่ กูแก่กว่า กูมีพวกมากกว่า ลดลงไป แล้วก็ต้องมาจับมือกันเป็นไม้ขาหยั่ง ๓ อัน เอามาอิงกันเข้า มันอยู่ได้นะ ๒ อันอิงกันมันไม่ได้มันไม่อยู่ ต้อง ๓ พอ ๓ อิงกันแล้วมันก็แข็งแรง แล้วอ้ายพวกเล็กพวกน้อยก็อย่าไปลืมเขา เอาเข้ามาร่วมกันบ้าง มาปรึกษาหารือกัน อย่านึกว่า “เอ๊ย! แกมันเป็นเด็กไปนั่งข้างนอก อย่าเข้ามายุ่ง” เด็กมันรวมหัวขึ้นมาทำเอาคนใหญ่ปวดหัวเหมือนกันนะ ถ้ามันหลายคนนะ...ไม่ได้ ต้องเอามาปรึกษากัน ร่วมแรงร่วมใจกัน อย่าไปดูหมิ่นใครว่าความรู้น้อยด้อยการศึกษาไม่ได้ คนเรามันมีความเห็นได้ เพราะฉะนั้นต้องเอามารวมกันเข้า มาปรึกษาหารือกัน การที่จะกระทำอย่างนี้ได้ก็เรียกว่าต้องลดทิฏฐิมานะ อย่าแข็งข้อเข้าหากัน
เมื่อสมัยพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน และถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว แต่ว่าปัญหาอยู่ที่พระบรมธาตุ อัฐิของพระพุทธเจ้า เมื่อถวายพระเพลิงเสร็จแล้วก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เพราะว่าประเทศต่างๆ ก็ส่งทูตมาจะขอแบ่งพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า เพื่อเอาไปไว้สักการบูชา ใครจะมาแบ่งไปก่อนก็ไม่ได้ เพราะว่ายังมาไม่พร้อมกัน แล้วก็เดี๋ยวมันจะยุ่ง จะเกิดปัญหา
มัลลกษัตริย์นี่เป็นพวกที่เรียกว่าพวกน้อย กำลังคนก็น้อย ประเทศก็น้อย ว่าอะไรมันน้อยทั้งนั้นแหละ เลยก็บอกว่า “ไม่ได้ ต้องเก็บไว้ก่อน พวกนี้มาก็ตั้งทัพล้อมรอบเมืองอยู่ มันไม่ตีกันแน่ มันต้องคอยเอาพระธาตุ มันตีกันไม่ได้ อย่าให้ใครก่อน ให้มากันครบหมดก่อน” เมื่อทุกประเทศมาพร้อมกันหมดแล้วก็จะทำอย่างไร? ประเทศนั้นก็ “กูจะเอา กูจะเอา” แย่งกันนะเหมือนหนุ่มแย่งสาวว่าอย่างนั้น ทีนี้จะทำกันอย่างไร ก็โทณพราหมณ์เป็นผู้เฒ่าผู้แก่มีความรู้มีความสามารถ ขึ้นไปยืนประกาศบนเชิงเทิน ไม่ได้ใช้เครื่องขยายเสียงในสมัยนั้น คงจะตะโกนบอกไปให้มาประชุมกัน เอาแต่หัวหน้า หัวหน้าก็มาประชุมกัน แล้วก็บอกว่า “พวกเราทั้งหลายนับถือพระผู้มีพระภาคเจ้า นับถือหลักธรรมคำสอนของพระองค์ และ (นับถือ) อริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ก็พระพุทธเจ้าของชาวเราทั้งหลายนั้นทรงสรรเสริญความรัก สรรเสริญความสามัคคี ไม่สรรเสริญความแตกแยกแตกร้าว ไม่ส่งเสริมการทะเลาะเบาะแว้ง การทำสงคราม แต่ส่งเสริมสันติภาพ เมื่อเราทั้งหลายมีความจงรักภักดีในพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ปรินิพพานไปแล้ว เราอยากจะได้พระบรมธาตุอันเป็นเครื่องเตือนใจ นำไปไว้เพื่อเป็นเครื่องสักการบูชา ก็เท่ากับว่าเรารักพระพุทธเจ้า เมื่อเราทั้งหลายรักพระพุทธเจ้า เราก็มาแบ่งกันดีกว่า ตกลงแบ่งกันเถอะว่าใครควรจะได้ไปสักเท่าไร”
พวกนั้นก็เลยเห็นดี นี่...มันมีคนพูดให้เข้าใจแล้วมันก็ดีขึ้นเท่านั้นคนเรานี่ เพราะว่าคนที่กำลังเข่นเขี้ยวเคี้ยวฟันเข้าหากันนั้นพูดไม่ได้ ไม่มีความคิดจะพูด ไม่มีความคิดจะกล่าวแล้ว แต่ถ้ามีใครสักคนหนึ่งมาสะกิดบอกว่า “ฟังทางนี้หน่อย แล้วท่านก็จะเกิดความคิดที่ถูกต้อง” โทณพราหมณ์นั้นเป็นคนเข้าไปในตรงกลาง แล้วก็ไปพูดจาทำความเข้าใจ พวกนั้นก็มองหน้ายิ้มกันละ “เออ! เข้าทีๆ มอบให้พราหมณ์นี้ก็แล้วกันเป็นผู้จัดการแบ่ง” พราหมณ์ก็เอาทะนานทองมา เครื่องตวงน่ะ ตวงด้วยถ้วยทอง...ทะนานทอง มาตักตวงแจกไปคนละทะนานๆ คนละส่วนๆ แจกไปหมดแล้ว แล้วก็ทุกคนก็ได้ไปด้วยความดีอกดีใจ ไม่ต้องทำสงคราม ไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ เพราะรักพระพุทธเจ้า เรารักพระพุทธเจ้า (แล้ว) ไปต่อยกันจนปากแตกนี่มันได้เรื่องอะไร
เหมือนกับว่าหลวงพ่อวัดหนึ่งตายลงไป โอ๊ย! คนแย่งกัน แย่งจะเอาศพหลวงพ่อไปเผา มันไม่ใช่เรื่องศพหลวงพ่อไปเผา เพราะว่าหลวงพ่อมีคนนับถือมาก ในงานศพคนจะมามาก ไอ้พวกกรรมการครึ่งหนึ่งวัดครึ่งหนึ่งนั่นเองมันแย่งกัน มันจะเอาไปจัดการเอง แล้วมันจะได้หาเงิน แล้วมันจะได้สนุกกัน ไม่ใช่กระดูก ไม่ใช่ศพหลวงพ่อละ (53.05 เสียงไม่ชัดเจน) ถ้าหลวงพ่อนั้นไม่มีชื่อมีเสียง ไม่มีใครมองนะศพหลวงพ่อ ใครจะเผาก็เผา กูไม่ยุ่งด้วยแล้ว แต่ถ้าหลวงพ่อมีชื่อเสียง มันก็จะเอาไปเป็นเครื่องมือสำหรับหากิน ก็แย่งกันให้วุ่นวายกันไปหมด นี่มันไม่ถูก ถ้าเรารักหลวงพ่อจะไปแย่งกันทำไม เราควรจะหันมาประนีประนอมกันว่า เราควรจะทำศพท่านอย่างไร ควรจะแสดงความเคารพบูชาท่านอย่างไรจึงจะเป็นการถูกต้อง...นั่นมันดีกว่า แต่มันคิดไม่ได้เพราะความเห็นแก่ตัวนั่นเอง
ความเห็นแก่ตัวนี่แหละ มันสร้างทิฏฐิมานะ ทำให้สำคัญตนว่าเก่งกว่าใครๆ ฉลาดกว่าใครๆ อะไรเก่งกว่าเพื่อน เหนือเพื่อนทั้งนั้น แล้วมันก็ยุ่ง คนเดินบนหัวคนนี่มันยุ่ง ถ้าเพื่อนหลีกหัวเสียหน่อย มันก็เหยียบพลาด มันก็ล้มลงคอหักตายเท่านั้นเอง มันไม่ได้ มันต้องเดินบนดิน เดินอย่างอ่อนน้อมถ่อมตัว เข้าไปที่ไหนอย่าแบบช้างชูงวงเข้าไป พระพุทธเจ้ายังสอนอีกตอนหนึ่งว่า “แมลงภู่ที่ไปเอาเกสรจากดอกบัวนั้น ไม่ได้ทำดอกบัวให้ช้ำ” เราดูแมลงภู่แมลงผึ้งนะ มันไปเอาเกสรจากดอกไม้ เอาน้ำหวานจากดอกไม้ประเภทต่างๆ มันไม่ทำให้ดอกไม้ช้ำเลย แต่ว่ามันทำประโยชน์แก่ดอกไม้ด้วยการผสมเกสรให้มีลูกมีผลขึ้นมา ตัวแมลงเล็กๆ นี่เราอย่าไปดูหมิ่นมันนะ มันช่วยผสมเกสรตัวผู้ตัวเมียให้มะม่วงออกเป็นผลมะม่วง ลำไยออกเป็นลูกลำไย ลิ้นจี่ออกเป็นลูกลิ้นจี่ออกมา ถ้าไม่มีตัวแมลงเหล่านั้น มันจะทำอย่างไร ไม่มีใครผสมนะ
นายพันธุ์เลิศ (บูรณศิลปิน) สวนส้มที่เชียงใหม่ แกบอกว่า “แมลงมันน้อย คนเผาป่ามาก ผมต้องเลี้ยงผึ้งแล้วเวลานี้” เอ้า! เลี้ยงผึ้งก็เป็นการใหญ่ เลี้ยงผึ้งเพื่อให้ตัวผึ้งไปเป็นสื่อ เป็นแม่ชัก เอาเกสรตัวผู้กับตัวเมียมาแต่งงานกัน แล้วมันก็ออกเป็นส้ม เอาไปขายกันต่อไป นี่เขาคิดอย่างนั้น มันต้องมีสื่อเป็นชัก แต่ว่าตัวแมลงเหล่านั้นไม่ได้ทำให้ดอกไม้ช้ำ ไม่ทำให้ดอกบัวช้ำ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า “เราเป็นสมณะ เป็นพระสงฆ์ เข้าไปที่ใดอย่าให้โยมช้ำ อย่าให้เดือดร้อน เอาแต่เกสร เอาแต่น้ำหวาน แต่อย่าให้โยมต้องเดือดร้อน”
คนเราอยู่ในสังคมก็เหมือนกัน อย่าทำให้สังคมต้องเดือดร้อน แต่ว่าประพฤติตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม เหมือนตัวแมลงผึ้ง แมลงภู่ ที่ทำตัวให้เกสรตัวผู้ตัวเมียได้เจอกัน แล้วผสมพันธุ์ออกมาเป็นมะม่วงอกร่อง มะม่วงทะวาย เขาเอามาถวายให้ฉันอยู่บ่อยๆ ฉันทีไรก็นึกถึงแมลงภู่ทุกที “เออ! ถ้ามันไม่มีแมลงพวกนั้น โยมจะเก็บมาถวายได้อย่างไร” นั่นมันเป็นอย่างนี้ คนเรามันต้องนึกถึงอะไรต่ออะไร แล้วก็สร้างสิ่งสัมพันธ์กันในทางที่ถูกที่ชอบ มนุษย์เรานี่ก็เหมือนกันนะ อย่าเอาหน้ายักษ์เข้าใส่กัน ที่คนโบราณพูดว่าปั้นหน้ายักษ์เข้าใส่กัน ปั้นหน้ายักษ์เข้าใส่กันมันก็เป็นยักษ์ทั้งคู่ ไม่เท่าใดก็ต่อยกันเวทีแตกไปนั้นเอง ต้องใส่หน้าพระเข้าไป เอาหน้าพระสวมเข้าไป ยิ้มเข้าหากัน จับมือขอโทษกัน “วันนั้นผมด่าคุณมากไปหน่อย ขอโทษนะ มันเรื่องนโยบายเวลานั้น แล้วมันก็ไม่มีอะไร พูดกันไป ด่ากันไป ก็ตามนโยบาย” เสร็จแล้วก็เลิกกัน หันหน้ามาร่วมมือกัน มากินข้าวโต๊ะเดียวกันต่อไป ไม่ถือสา แล้วก็แล้วไป
เรื่องอดีตมันผ่านพ้นไปแล้ว เรามาตั้งต้นชีวิตใหม่เพื่อชาติ เพื่อประเทศ เพื่อสร้างสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าเป็นปึกแผ่น ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม อย่างนี้มันก็ดีกว่า ที่จะทำอย่างนี้ได้...ทุกคนต้องลดทิฏฐิมานะ ลดตัวให้มันน้อยลงไป อย่าเดินคับประตู เข้าไปในที่ใดที่หนึ่ง รู้จักทำตัวลีบๆ เข้าไปหน่อย เข้าไปด้วยการก้มๆ กราบกราน ยกมือไหว้คนทุกคนที่ได้พบปะ มันก็สบาย คนอ่อนนั้นมันสบายนะ คนแข็งนี้ไม่สบาย เดินไปไหนตัวแข็ง (เป็นท่อนไม้) จะสบายอย่างไร เดินสบายๆ พบใครก็ไหว้ “สวัสดีครับ” เมื่อใดก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ใจมันสบาย ต้องไปในรูปอย่างนั้นชีวิตจึงจะเป็นสุข ดังที่ได้แสดงมาสมควรแก่เวลา คอแห้งแล้ว ก็หยุดแต่เพียงเท่านี้