แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ถ้าญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมมะแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบนั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่งซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงชัดเจนแล้วจงอยู่ในอาการสงบ หยุดพูด หยุดคุยกัน แล้วก็อย่าเดินไปเดินมาให้วุ่นวาย รถก็เหมือนกันเวลาถึงเวลาปาฐกถาแล้วอย่าเที่ยวขับไปขับมาให้รำคาญคนอื่น จอดไว้กับที่ แล้วก็นั่งลงฟังให้ดีเพื่อให้ได้ประโยชน์จากการมาวัดตามสมควรแก่เวลา
หน้านี้อากาศชักจะร้อนหน่อย ญาติโยมพบหน้ากันแล้วก็บ่นว่าร้อนทุกคน ไอ้ความจริงไอ้เรื่องความร้อนมันก็เป็นเรื่องธรรมดา ปีหนึ่งๆ ก็มีร้อน มีหนาว มีฝนสลับสับเปลี่ยนกันไป ถึงฤดูหนาวพวกเราก็บ่นว่าหนาว ถึงฤดูฝนตกมากๆ ก็บ่นแหมตกอะไรไม่หยุดไม่หย่อนผ้าผ่อนชื้นหมดแล้ว พอถึงหน้าร้อนก็บ่นว่าร้อนอีก คนเรามันก็อย่างนั้นแหล่ะ ไม่มีอะไรเป็นที่พอใจสักอย่างเดียว มีแต่เรื่องบ่นกันทั้งนั้น บ่นก็ไม่ใช่ว่ามันจะหายร้อนหายหนาวหรือหายอะไรก็หามิได้ แต่ว่าก็เป็นธรรมดาเมื่อมีอะไรพอจะบ่นได้ก็บ่นกันไปตามเรื่องตามราว ทำให้เกิดความสบายใจ ที่บ่นน่ะสบายใจเหมือนกันคือได้ระบายออกไป พบใครก็ได้ระบายอะไรออกไปเสียหน่อย แล้วจิตใจก็จะได้สบาย เป็นเรื่องของคนเราทั่วๆ ไปมันเป็นอย่างนั้น บ่นอะไรก็บ่นกันไปตามเรื่อง แต่ว่าอย่าบ่นให้มีความทุกข์ความเดือดร้อนใจให้อยู่ด้วยความสบาย สงบทางจิตใจ เมื่ออะไรเกิดขึ้นก็ให้นึกแต่เพียงว่า ธรรมดามันเป็นเช่นนั้น เราจะไม่ต้องเป็นทุกข์อะไรมากเกินไปในเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ถึงวันอาทิตย์เราก็มาวัดกัน เพื่อฟังปาฐกถาธรรมมะเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป ที่วัดชลประทานฯ เรานี้ถ้าถึงวันอาทิตย์ญาติโยมก็มากัน แล้วเริ่มต้นก็ทำการสวดมนต์ ที่ว่าสวดมนต์นั้นก็คือท่องคำสอนนั่นเอง มนต์ในที่นี้หมายถึงคำสอนอันเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เรื่องของขลัง ไม่ใช่เรื่องอะไรที่จะทำให้เราเป็นไปโดยความขลัง ไม่ใช่ แต่ว่าเป็นเรื่องที่เราท่องบ่นเพื่อให้จำได้ เพื่อจะได้เอาไปคิด ไปนึก จะได้เกิดปัญญาในเรื่องนั้นๆ ต่อไป เวลาสวดนี่ก็ควรจะสวดให้มีจังหวะจะโคนอย่าให้เร็วเกินไป สวดให้มีวรรคมีตอนฝึกหยุดกันเสียบ้าง แล้วก็ขึ้นว่าต่อไป คนแก่ๆ นี่ถ้าว่าเร่งนักก็เป็นหืดหอบพักๆ ก็เท่านั้นเอง ที่นี้ถึงเวลาหยุดก็หยุดเสีย อย่าไปรีบร้อนให้มันพอดีๆ จะได้เกิดความสบายใจในขณะที่สวด เวลาสวดนี่คงจะคิดไม่ทันในเรื่องความหมายของถ้อยคำที่เราสวด แต่ว่าเราสวดเพื่อให้จำได้ จำได้แล้วเอาไปนั่งพิจารณาในตอนหลัง
เช่นเรามีหนังสือสำหรับสวดมนต์อยู่ที่บ้าน ว่างๆ เราก็เอามาเปิดอ่านบทใดบทหนึ่งแล้วก็พิจารณา เพื่อทำความเข้าใจในข้อความที่เราสวดนั้น ถ้าเพียงแต่สวดเฉยๆ จำได้แต่ว่าเราไม่เข้าใจเนื้อความในเรื่องที่เราสวด ผลที่จะเกิดขึ้นก็ยังไม่สมบูรณ์ แต่ถ้าเราเข้าใจความหมายของเรื่องนั้นถูกต้อง แล้วเรานำเรื่องนั้นไปเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน นั่นแหล่ะจะช่วยให้เราได้ประโยชน์จากการสวดมากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงใคร่ขอแนะนำว่าเวลาเราอยู่บ้านว่างๆ ไม่มีอะไรจะทำ ถ้าไปคิดอะไรมันก็กลุ้มใจหาเรื่องเป็นทุกข์ให้แก่ตนเอง เราก็เอาหนังสือสวดมนต์นั้นมานั่งพิจารณา ตั้งแต่บทที่เราสวดเป็นต้นไปเช่นว่าในสวดมนต์เราสวดเริ่มต้นก็ อะระหังสัมมาสัมพุทโธภะคะวา พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระอรหันต์ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง อย่างนี้คำแปลก็มีอยู่ในตัวแล้ว เราก็เอามานั่งพิจารณาว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทำไมจึงเรียกอย่างนั้น ที่เรียกว่าพระผู้มีพระภาคนี่เรียกด้วยความเคารพ เราใช้คำว่าภะคะวานี้เป็นคำแทนชื่อของพระองค์ เป็นการเรียกด้วยความเคารพ เวลาคนไปเฝ้าพระองค์นี่ เค้าก็มักจะร้องเรียกว่าภะคะวา หรือภัคคะวันอะไรอย่างนั้น เขาไม่เอ่ยชื่อพระองค์ เวลาคนเราไปเจอกันพบกันควรจะใช้ภาษาให้ถูกต้อง โดยใช้สรรพนามเป็นเครื่องแทนชื่อ เช่นว่าคนชื่อว่านายจัน(ทร์) หรือว่านายแก้ว ถ้าเราไปถึงพูดว่า คุณจันทร์สบายดีหรือ แล้วพูดว่าคุณแก้วสบายดีหรือ หรือว่าคุณจันทร์เป็นอย่างไร คุณแก้วเป็นอย่างไร พูดเช่นนั้นมันไม่ถูกตามลักษณะของภาษา เขาไม่นิยมพูดกันแต่ว่าก็ใช้กันอยู่มากในสมัยนี้ วันหนึ่งเด็กหนุ่มคนหนึ่งมาที่กุฏิ มาถึงก็ว่าท่านปัญญาสบายดีหรือ อาตมาก็บอกว่าเธอพูดไม่ถูก อย่าพูดอย่างนั้นเหมือนกับว่าท่านปัญญามันอยู่ที่อื่นไม่ได้นั่งอยู่ตรงนี้ ควรจะพูดว่าท่านเจ้าคุณสบายดีรึ ท่านอาจารย์สบายดีรึ หรือว่าหลวงพ่อสบายดีรึ หรือว่าใต้เท้าสบายดีรึ อย่างนั้นเป็นการถูกต้อง ไม่ไปเอ่ยชื่อคนเฉพาะหน้าเวลาเรานั่งอยู่ด้วย การเอ่ยชื่อนั้นเป็นการไม่สุภาพ ไม่เป็นการถูกต้องตามภาษาเราจึงต้องใช้สรรพนามเป็นเครื่องหมาย ภาษาไทยเรานั้นมีคำพูดเยอะแยะ คนใดที่เราควรจะเรียกว่า คุณน้า คุณอา คุณลุง คุณป้า คุณย่า คุณยาย เราก็พูดไปตามฐานะ อายุของท่าน อย่าไปเอ่ยชื่อของท่าน ว่าส่วนออกชื่อนั้นมันไม่สุภาพ ไม่เป็นการเรียบร้อย คนหนุ่มคนนั้นเขาบอก เขาพูดกันอย่างนี้ เลยบอกไอ้ที่พูดกันอย่างนี้คือพูดไม่ถูก แล้วมันไม่ถูกกันมากขึ้นทุกวันเวลา ภาษาเราก็เสียไปไม่ถูกต้อง เพราะงั้นต่อไปนี้พูดใหม่
เช่นมาวัดนี่พบพระ สมมติเราจะถามว่า พระคุณเจ้าสบายดีหรือครับ ก็ได้ หรือว่าจะถามถึงพระองค์ใดองค์หนึ่ง เราก็ถามว่าท่านองค์นั้น อย่าไปเอ่ยชื่อของผู้ที่ยืนอยู่เฉพาะหน้าจึงจะเป็นการถูกต้อง เรียกว่าเรียบร้อย ชาวบ้านก็เหมือนกันนะ สมมติว่าเราไปหาใครที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ แล้วเราไปเอ่ยชื่อท่านในขณะที่ท่านนั่งอยู่เฉพาะหน้าก็แสดงว่าเราขาดการศึกษา ขาดการอบรมในเรื่องการใช้ภาษา เป็นการไม่ถูกต้อง ในสมัยโบราณนั้นก็ได้ใช้กันมาแล้ว เช่น คนไปเฝ้าพระองค์พระผู้มีพระภาค เขาไม่ไปเรียกพระองค์ว่าพระพุทธเจ้าหรืออะไรอย่างนั้น แต่เขาใช้คำว่าภัคคะวัน ภะคะวา อะไรอย่างนั้น ซึ่งแปลว่าข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า หรือบางทีก็ใช้ชื่อสกุล เช่น พระองค์นามสกุลว่า โคตมะ เขาไปพูดเขาว่าข้าแต่พระโคตมะ ถ้าเป็น(...) ข้าแต่พระโคดม สัมมาสัมพุทธะอะไรอย่างนั้น ฉะนั้นเราจึงแปลพระนามของพระองค์ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เราใส่เจ้าเข้าไปด้วยก็เมืองไทยนั้นเรานับถือเจ้านาย จึงเอาคำว่าเจ้าไปใส่ให้แก่พระองค์ด้วย เช่นเราพูดว่าพระพุทธะเฉยๆ เขาว่าไม่เหมาะเลยใส่คำว่าพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้า พระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า เราพูดกันไปอย่างนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มความเคารพให้เกิดขึ้นในพระองค์
คำว่าพระผู้มีพระภาคหรือภะคะวา เป็นพระคุณบทหนึ่งในพระคุณสามประการที่เราสวดร้องท่องมนต์กันอยู่เสมอๆ มีความหมายเป็นเครื่องเตือนจิตสกิดใจ มีความหมายในเชิงปฏิบัติ ถ้าเราเข้าใจความหมายเราก็เอามาปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ คำว่าภะคะวานั้นแปลว่าผู้มีความกรุณา ผู้มีความกรุณา กรุณานี่ก็เป็นคำภาษาบาลีอยู่เหมือนกัน เราจะเห็นว่าธรรมมะหมวดหนึ่งที่เขาเรียกว่า พรหมวิหารธรรม หมายว่าธรรมมะของผู้ที่เป็นใหญ่ คนที่เป็นใหญ่เป็นหัวหน้าคน เช่นเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นครู เป็นอาจารย์ เป็นหัวหน้างานอะไรต่างๆ ก็มีธรรมมะ ๔ ประการเป็นหลักครองใจเรียกว่า พรหมวิหารธรรม แปลว่าธรรมเป็นเครื่องอยู่ของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ต้องอยู่ด้วยธรรมมะ ๔ ข้อนี้ ถ้าไม่มีคุณธรรม ๔ ประการนี้ในดวงใจก็เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่สมบูรณ์ ผู้ใหญ่ที่มีธรรม ๔ ประการนั้นสมบูรณ์ ธรรม ๔ ประการนั้นก็คือเมตตา ปรารถนาความสุขความเจริญแก่ผู้อื่น กรุณาสงสารเข้าไปช่วยให้เขาพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน มุทิตา ความพลอยยินดีเบิกบานใจในเมื่อคนนั้นพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนไป หรือว่ามีความเจริญมีความก้าวหน้าในชีวิตในการงาน เราก็คอยมีมุทิตาแสดงความยินดีแก่เขาด้วย อุเบกขาหมายความว่าวางเฉยเพราะว่าทำอะไรไม่ได้จะแสดงเมตตา กรุณา มุทิตาอะไรก็ไม่ได้ก็เลยอยู่ในลักษณะวางเฉย การวางเฉยนั้นไม่ใช่เฉยเพราะไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่เฉยเพราะใช้ปัญญาพิจารณาแล้ว เห็นว่าเหลือวิสัยที่เราจะเข้าไปช่วยเขาได้ เมื่อช่วยเขาไม่ได้ก็เลยอุเบกขาวางเฉยไป เหมือนกับว่าเราเห็นตำรวจจับผู้ร้ายไป แต่เราจะไปทำอะไรก็ไม่ได้ เราก็เมตตา กรุณา มุทิตามันก็ไม่ไหวแต่ก็เลยปลงตกว่ากรรมของสัตว์ เขาได้ทำกรรมไว้ก็ต้องเป็นไปตามกรรมของเขา นั่นก็เรียกว่า แล้วก็วางเฉย อย่างนี้เรียกว่าใช้ธรรมมะเป็นหลักด้วยการทำใจให้วางเฉยได้ เพราะนึกถึงว่าเป็นกรรมของสัตว์ กรุณานั้นก็อยู่ในธรรมข้อนั้นใน ๔ ข้อนั้น พระผู้มีพระภาคแปลว่าผู้มีความกรุณาอันยิ่งใหญ่
เราใช้กับบางแห่งว่า มหากรุณิโกนาโถ พระองค์ผู้มีความกรุณาเป็นนาถะของโลก เป็นที่พึ่งของชาวโลก พระองค์เป็นที่พึ่งของชาวโลกอย่างแท้จริง เป็นที่พึ่งทางด้านจิตใจ เป็นที่พึ่งที่จะเอาคำสอนของพระองค์มาใช้เป็นหลักปฏิบัติเพื่อทำเราให้พ้นไปจากความทุกข์ความเดือดร้อน เขาจึงเรียกว่าผู้มีความกรุณาอันยิ่งใหญ่ อยู่ในบทว่าภะคะวานั่นเอง บทนี้จึงมีความหมายเป็นเครื่องเตือนใจที่เราสามารถจะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้ เราจะเอามาใช้ในชีวิตด้วยวิธีใดก็ด้วยวิธีที่เราทำใจให้มีคุณธรรมข้อนั้นเกิดขึ้น คือให้มีความกรุณาประจำจิตใจ ความกรุณาก็หมายความว่ารักคนอื่น สงสารคนอื่น เมื่อเห็นเขามีความทุกข์มีความเดือดร้อนเราอดรนทนอยู่ไม่ได้ เราก็เข้าไปดำเนินการช่วยเหลือในบุคคลนั้นด้วยวาจาคือคำปลอบใจ ด้วยปัจจัยที่จะช่วยเขาพ้นจากทุกข์ภัยที่เขากำลังเดือดร้อน หรือด้วยการกระทำการวิ่งเต้นช่วยเหลือด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งอย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้มีน้ำใจประกอบด้วยความกรุณา คือมีความรักผู้อื่น มีความสงสารผู้อื่น โลกเรานี้ควรจะอยู่ด้วยความรัก ด้วยความสงสารต่อกัน ไม่ควรจะอยู่กันด้วยความเกลียดชังกัน ด้วยความโกรธกันหรือด้วยความพยาบาทอาฆาตจองเวรกัน หรือด้วยความริษยากันในเมื่อเห็นคนได้ดิบได้ดีมั่งมีศรีสุข เราก็ทนอยู่ไม่ได้เฝ้าแสดงอาการริษยาออกมาให้ปรากฏ อย่างนั้นเขาเรียกว่าขาดธรรมมะหรือพูดว่าไม่มีพระอยู่ในใจ เมื่อใดเราไม่มีพระเราก็มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ แต่ถ้าเรามีพระประจำจิตใจ เราก็มีความสงบใจ หน้าตาเบิกบานยิ้มแย้มแจ่มใส เพราะเราเป็นผู้มีพระประจำใจ ฉะนั้นจึงควรจะได้สร้างพระคือว่าความกรุณาขึ้นไว้ในใจของเรา ทำใจของเราให้รักผู้อื่น สงสารผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งตื่นขึ้นแต่เช้าเราก็ตั้งจิตอธิษฐานว่าวันนี้เราจะอยู่ด้วยความรัก ความสงสารคนอื่น ถ้าเรามีอะไรที่จะช่วยเหลือใครๆ ให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนได้ เราก็จะเข้าไปช่วยเหลือบุคคลนั้นทันท่วงที อย่างนี้เรียกว่าเรามีใจประกอบด้วยความกรุณาตามหลักของพระผู้มีพระภาคเจ้าในข้อว่ามีความกรุณา หัดสงสารเอ็นดูกัน คนเรานี่มันต้องรักคนรอบทิศ เช่นเราอยู่ที่บ้าน ช่วยรถเพื่อนบ้านของเรา เพื่อนบ้านด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ใครจะอยู่ใกล้เราๆ ก็รักคนเหล่านั้น แล้วบ้านนั้นก็รักคนบ้านอื่นต่อไป รักกันทั้งหมู่บ้าน รักกันทั้งตำบล รักกันทั้งประเทศ ทั้งชาติ ทั้งโลกๆ นี้ก็จะอยู่กันด้วยความสุขความสงบ แต่นี้โลกเรามันขาดความรักกัน ไม่เอาความรักมาใช้แต่เอาความโกรธมาใช้ เอาความเกลียดมาใช้ เอาความพยาบาทอาฆาตมาใช้ เอาความริษยามาใช้กัน จึงได้เกิดรบราฆ่าฟันกัน
แม้คนในชาติเดียวกันนะก็ยังเบียดเบียนกัน พี่กับน้องก็ยังเบียดเบียนกัน จิตสำนึกเดียวกันก็เบียดเบียนข่มเหงกัน อันนี้แสดงว่าคนเหล่านั้นขาดคุณธรรมเป็นผู้ไม่มีพระประจำอยู่ในใจ จึงกระทำอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควรด้วยประการต่างๆ เป็นเรื่องของความเสียหาย เป็นการสร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนให้แก่บุคคลอื่นๆ ด้วยประการต่างๆ และเมื่อเราทำอะไรให้แก่ใครสิ่งนั้นมันก็สะท้อนกลับมาหาเรานั้นเอง อย่านึกว่าเราทำให้เขาแล้วเราจะไม่ได้ อันนี้มันมีหลักตายตัวเป็นความจริงอยู่ว่าเราทำอย่างใดเราจะได้อย่างนั้น เราทำอย่างใดเราจะได้อย่างนั้น เราหนีจากผลที่เรากระทำไว้ไม่ได้เป็นอันขาด ถ้าเรารักคนอื่น คนอื่นก็จะรักเรา ถ้าเราเกลียดคนอื่น คนอื่นก็จะเกลียดเรา เราโกรธเขา เขาก็จะโกรธเรา เราริษยาเขา เขาก็ริษยาเราบ้าง เราพยาบาทเขา เขาก็พยาบาทเราบ้าง ทำอย่างใดกับใครสิ่งนั้นมันก็กระดอนกลับมาหาเราๆ หนีไม่พ้น เพราะฉะนั้นเมื่อเราไม่อยากจะให้ใครทำอะไรกับเราในทางที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง เป็นการสร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว เราก็ไม่ควรจะกระทำสิ่งนั้นกับใครๆ เพราะเมื่อเราทำกับเขาอย่างใดสิ่งนั้นก็จะกลับมาหาเราในรูปอย่างนั้น เราเอาโคลนสาดเขา เขาเอาโคลนสาดเรา เอาน้ำสาดเขาๆ ก็สาดเราบ้าง ที่เขาว่าสาดน้ำใส่กันก็เปียกโชกไปทั้งสองฝ่าย อันนี้คือผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำในเรื่องอะไรต่างๆ เราจึงควรจะได้คิดว่าเราจะไม่ทำอะไรให้มันย้อนกลับมาหาเราในทางที่เสียหาย แต่เราจะทำอะไรทุกอย่างในทางที่มันจะกระดอนกลับมาหาเราในเรื่องให้เราเป็นสุขทางใจ ควรคิดอย่างนั้น แล้วเราก็ทำอะไรก็ด้วยน้ำใจอันดีอันงาม มีเมตตาปราณีต่อกันและกัน ปรารถนาแต่ความสุขความเจริญแก่กันและกัน มีอะไรพอจะช่วยเหลือกันได้ เราก็ช่วยเหลือกันตามสมควรแก่ฐานะ อันนี้จะช่วยให้เราเป็นสุข เราไม่เกิดปัญหาในชีวิตประจำวัน จึงควรจะได้คิดในรูปอย่างนั้นประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่งที่ว่าเราทำอะไร เราได้อย่างนั้น ซึ่งเราเกิดความโกรธขึ้นในใจ เราก็ได้ความโกรธทันที คือได้ความโกรธขึ้นในใจเราทันที ถ้าเราเกลียดใครสักคนหนึ่ง เราก็มีความเกลียดอยู่ในใจของเราๆ ได้ความเกลียดนั้น ถ้าเราพยาบาทใคร เราก็ได้ความพยาบาทอยู่ในใจของเราในขณะนั้น เราริษยาใคร ความริษยามันก็อยู่กับเราในขณะนั้น ถ้าเราริษยา ๑๐ นาทีมันก็อยู่กับเรา ๑๐ นาที เราโกรธใคร ๑๐ นาทีความโกรธก็อยู่กับเรา ๑๐ นาที เราเกลียดใคร ๑๐ นาทีการเกลียดนั้นก็อยู่กับผู้นั้น ๑๐ นาทีเหมือนกัน อันนี้คือสิ่งที่เราได้ตลอดเวลา แต่คนไม่ได้คิดให้ละเอียดในเรื่องการได้ เราคิดไปในทางเป็นรูปร่างเป็นวัตถุว่าถ้าเราทำอะไร เราจะได้เป็นวัตถุ เราจะสูญเสียสิ่งที่เป็นวัตถุอันนั้นมันมาทีหลัง แต่ว่าเรื่องแท้ที่เราได้รับก็คือสิ่งนั้นมันเกิดขึ้นในใจของเรา เช่นเราใจร้อน เราก็มีความร้อนอยู่ในใจ เราโกรธใครเราก็มีความโกรธอยู่ในใจ เราเกลียดใครเราก็มีความเกลียดอยู่ในใจ เราริษยาใครเราก็มีความริษยาอยู่ในใจ เรามีความโลภอยากได้อะไร ความโลภนั้นก็อยู่ในใจของเรา ทุกครั้งที่เราทำอะไรสิ่งนั้นมันก็อยู่กับเรา นั่นแหล่ะคือเราได้ ได้ทันทีไม่ต้องรออะไร อย่างคิดปุ๊ปมันก็ได้ปั๊ปขึ้นมาทันทีๆ เดียว เหมือนจับไฟมันก็ร้อนทันที จับน้ำแข็งมันก็เย็นทันที ถ้าเราไปยืนกลางแจ้งลมพัด ลมมันก็ถูกเราทันที แสงแดดส่องมามันก็ถูกเราทันที มันได้ทันทีแล้ว ไม่ใช่ต้องรอเวลาเมื่อนั้น เมื่อนี้ ที่บางคนพูดว่าผมทำดีไม่เห็นได้ดี คนนั้นทำชั่วไม่เห็นมันได้ชั่ว นี่คือความไม่เข้าใจในเรื่องความจริงที่มีที่ได้ เราไปมองแต่ข้างนอกแต่ไม่มองเข้าไปถึงในใจของบุคคลนั้น ว่าในขณะที่เขาคิดอะไรนั้น เขาเป็นอย่างนั้น คิดอย่างใดมันก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเราคิดโกรธเราก็มีความโกรธอยู่ในใจ คิดเกลียดมันก็มีความเกลียดอยู่ในใจ คิดริษยามันก็มีความริษยาอยู่ในใจ คิดอย่างใดมันก็ได้อย่างนั้น คิดให้เป็นอะไรมันก็เป็นอย่างนั้น คิดให้เป็นยักษ์มันก็เป็นยักษ์ คิดให้เป็นมนุษย์มันก็เป็นมนุษย์ล่ะ ก็แล้วแต่ความคิดของเราที่มันเกิดขึ้นในจิตใจของเราๆ ก็เป็นดังที่เราคิดอยู่ตลอดเวลา และถ้าเราคิดในเรื่องอะไรบ่อยๆ คิดบ่อยๆ นานๆ เข้า ความคิดนั้นมันก็พลอยจับอยู่ในใจของเรามากๆ เขาเรียกว่าเป็นนิสัยประจำจิตใจของบุคคลนั้น มันมีนิสัยอย่างนั้น โกรธบ่อยๆ ก็มีนิสัยมักโกรธ พยาบาทบ่อยๆ ก็มีนิสัยมักพยาบาท ริษยาบ่อยๆ ก็มีนิสัยเป็นคนที่ริษยา ตระหนี่บ่อยๆ ก็มีนิสัยทางตระหนี่ ถ้าเราหัดให้ทานบ่อยๆ ก็มีนิสัยที่ชอบในทางให้ ถ้าเรามีน้ำใจรักผู้อื่นก็มีความรักเป็นนิสัย เห็นใครก็สงสารเขา เอ็นดูเขา อยากจะช่วยเขาให้พ้นจากปัญหา คือความคิดความเดือนร้อนใจ สิ่งเรานี้มันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในชีวิตจิตใจของเราก็แล้วแต่เราจะสร้างมันขึ้นในรูปใด แล้วผลมันก็ปรากฏแก่ตัวบุคคลนั้นทันท่วงที ให้เข้าใจอันนี้ไว้
เพราะฉะนั้น เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว เราควรจะอยู่ด้วยความคิดอย่างใด เราก็ควรจะตอบตัวเองว่าควรจะอยู่ด้วยความคิดที่จะรักผู้อื่น สงสารผู้อื่น เอ็นดูผู้อื่น เพราะถ้าเราคิดอย่างนั้นมันก็เป็นสุขใจ มีความสงบใจขึ้นในชีวิตของเรา เราจึงหัดเป็นคนอย่างนั้น เห็นใครมาเราก็นึกแผ่น้ำใจไปยังบุคคลนั้น ขอให้คนนั้นมีความสุขมีความเจริญมีความก้าวหน้าในชีวิตในการงาน ปราศจากทุกข์โศกโรคภัยอะไรต่างๆ หัดนึกบ่อยๆ หัดคิดบ่อยๆ จิตใจเราก็จะอยู่กับเรื่องนั้น เมื่อจิตใจเราเป็นอย่างนั้นหน้าตาเราก็ผ่องใส ใจเบิกบาน ไม่มีอารมณ์ขุ่นมัวเศร้าหมอง สภาพร่างกายปกติ สภาพจิตก็เป็นปกติ คนนั้นจะอายุมั่นขวัญยืน คนอายุยืนนี่ก็เพราะว่าใจสงบ ใจดี ใจเย็นนั่นเอง แต่ถ้าใจสับสนวุ่นวายอยู่ด้วยปัญหาต่างๆ นานา คนนั้นก็มีแต่เรื่องยุ่ง ใจยุ่งบ่อยๆ หน้ายุ่งบ่อยๆ มันก็มีความทุกข์ตามใจ คนเราถ้าเป็นทุกข์มาก กินก็ไม่ค่อยจะได้ นอนก็ไม่ค่อยจะหลับ มองอะไรมันก็เป็นเรื่องทุกข์ไปทั้งนั้นก็เลยไม่สบายใจ ร่างกายก็พลอยไม่สบายไปด้วย อายุมันก็สั้นลงไปเพราะเราทอนอายุของเราเองด้วยความคิดที่เป็นพิษเป็นภัยอย่างนั้น แล้วทางธรรมมะท่านจึงสอนเราให้อยู่ด้วยความคิดในทางให้คนอื่นเป็นสุข อยู่ด้วยความคิดที่จะช่วยคนนั้น คนนี้ให้อยู่กันเป็นสุขสบายใจ คนไทยเราที่นับถือพระพุทธศาสนา ตื่นเช้าก็มักจะทำบุญตักบาตรเป็นการถวายอาหารแก่พระ เป็นการบำรุงพระศาสนาเพื่อให้พระมีชีวิตอยู่ได้ ขณะที่ตักบาตรนั้นจิตใจสบาย ตักบาตรหมดขัน ใจก็สบายแล้วก็จะคิดเรื่องที่จะตักบาตรในวันพรุ่งนี้ต่อไป คิดอยู่อย่างนั้นตลอดเวลาโดยพบคนแก่บางคนท่านไม่ทำอะไร ท่านทำแต่เรื่องตักบาตร ตื่นเช้าท่านก็มานั่งตักบาตร ขันใบใหญ่ตักเรื่อยไปตั้งแต่ ๗ โมง ๘ โมง ๘ โมงครึ่งยังไม่ลุกขึ้นจากที่นั่ง ยังนั่งตักอยู่ตลอดเวลา โดยวันหนึ่งไปพบไปสนทนาด้วยถามว่าคุณโยมนี่สบายใจดีหรือ บอกว่าไม่มีอะไรมีความทุกข์ จิตใจสบาย เพราะคิดแต่เรื่องทำบุญสุนทานอยู่ตลอดเวลา แต่เรื่องอื่นไม่ค่อยจะได้คิด เงินทองก็ไม่ขัดข้อง ลูกเขาให้ใช้ก็ใช้ไปในทางที่บริจาคเป็นบุญเป็นกุศลเรื่อยไป ก็อยู่ด้วยอาการอย่างนั้น มีความสุขอย่างนั้น ถ้าไปอยู่ในที่ๆ ไม่มีโอกาสจะได้ตักบาตร อ่าวก็ไม่สบายใจอีกเพราะว่าเป็นจิตเพลินธรรมหรือว่าคนบางคนเคยไปวัดในวันพระ เมื่อไม่ได้ไปวัดก็ไม่สบายใจหรือว่าเราเคยมาวัดวันอาทิตย์มาบ่อยๆ ก็ติดเป็นนิสัย
พอทุกวันเสาร์ก็นึกว่าพรุ่งนี้วันอาทิตย์ เราจะต้องไปวัดเพื่อไปฟังธรรม แล้วก็มาๆ แล้วก็สบายใจ วันไหนไม่ได้มาก็รู้สึกว่าวันนี้มันขาดอะไรไปบ้าง เลยไม่สบายใจ ทำทุกวันก็มีความสบายใจ คนทำเรื่องดีก็สบายใจไปในทางดี แล้วคนทำเรื่องชั่วมันก็เพลิดเพลินไปกับความชั่วเหมือนกัน แต่ว่าผลที่ตามมาคือความทุกข์ความเดือดร้อน เราไม่ต้องการความทุกข์ ไม่ต้องการความเดือดร้อน เราก็ไม่ควรจะคิด พูด ทำ สิ่งใดอันจะเป็นไปเพื่อความทุกข์ความเดือดร้อนใจ แต่เราควรจะคิด พูด ทำในสิ่งที่ทำให้เราสบายใจ มีความเย็นใจ สงบใจจึงจะช่วยตัวเอง ช่วยคนในครอบครัว เช่นเราเป็นพ่อบ้านแม่เรือน ถ้าเราเป็นคนที่อยู่ด้วยความกรุณาปราณี คนในบ้านเรือนนั้นมีสุขทุกคน ตื่นเช้าเห็นหน้าคุณนายก็มื่นชื่นบาน เห็นหน้าคุณผู้ชายก็ยิ้มแย้มแจ่มใสใจชื่นบาน ไม่ได้โกรธใคร ไม่ได้เกลียดใครเขาก็มีความสุข แต่พอตื่นขึ้นเช้าเห็นคุณผู้ชายหน้ายุ่ง เห็นคุณผู้หญิงก็หน้ายุ่ง ยุ่งทั้งสองหน้ามองไปด้านนู้นก็ยุ่ง มองไปด้านนี้ก็ยุ่งจิตใจของคนเหล่านั้นก็เกิดความยุ่งใจ เพราะไม่รู้ว่าจะถูก (....) ด้วยเรื่องอะไร จะถูกติด้วยเรื่องอะไรใจก็ไม่สบาย อารมณ์มันก็เสีย แต่ถ้าพอตื่นเช้าเห็นทุกคนหน้ายิ้มเบิกบาน ทุกคนก็สบายใจ บ้านนั้นเป็นบ้านพระ เพราะมีแต่พระประจำบ้านไม่มีผีประจำบ้านทุกคนก็มีความสุข เราเดินไปไหนเราเห็นใครเดินสวนทางมาเราก็ส่งกระแสจิตของเราไปยังบุคคลนั้นด้วยการคิดว่าขอให้เป็นสุข เป็นสุข ขอให้มีความเจริญ มีความก้าวหน้าในชีวิตในการงาน ขอให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งกายทั้งใจ ไอ้สิ่งที่เรานึกนั้นมันก็เป็นคลื่นกระทบบุคคลนั้น ทำให้บุคคลนั้นมองเราด้วยสายตาที่มีความรักเกิดขึ้น เนื้อความปราณีเกิดขึ้น เพราะเราส่งไปก่อนเขาก็ส่งกลับมาหาเรา แต่ถ้าเราเห็นใครเราก็แช่งมันทุกทีที่เห็น ขอให้มันฉิบหาย ขอให้มันตายโหง ขอให้รถสิบล้อทับไปอะไรอย่างนี้ ไอ้คนนั้นมันก็รู้สึกสะเทือนใจเหมือนกัน คลื่นที่ส่งไปมันเป็นคลื่นร้าย มันก็กลับมาหาเราในทางร้าย นัยถ์ตาเรามันก็ขุ่นๆ นะเวลาเราทำอย่างนั้น คนนั้นก็มองเราด้วยสายตาขุ่นข้น ปากก็คงจะพูดอะไรออกมาในทางที่ไม่ดีแล้วก็นึกหวาดระแวงว่าคนนี้น่าจะเป็นศัตรูของเรา ถ้าถือมีดก็ขยับมีด ถือพร้าก็ขยับพร้า ถ้าถือปืนก็กำปืนแล้ว ไม่มีอะไรก็ขยับเสื้อกางเกงทำท่าจะเตะจะต่อยกัน อันนี้มันบอกล่วงหน้าไปในรูปอย่างนั้น เพราะขาดน้ำใจปราณีต่อกัน เราจึงควรจะหันหน้าเข้าหากันในรูปยิ้มแย้มแจ่มใสใจเบิกบาน มองกันด้วยสายตาที่เป็นมิตร อย่ามองกันด้วยสายตาที่เป็นศัตรูคู่มุ่งร้าย
สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราทั้งหลายสบายใจ โลกนี้กำลังขาดแคลนๆ ความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน จึงได้รบราข้าฟันกันที่นั่นที่นี่ด้วยประการต่างๆ ทำให้เกิดเป็นปัญหาขึ้นในสังคมของมนุษย์ คนเหล่านั้นหูตึงหมดแล้ว ตาบอดหมดแล้ว ใจก็มืดหมดแล้ว ไม่ได้ฟังเสียงใครแล้ว มันคิดแต่จะรบกันท่าเดียว ใครจะบอกให้หยุดก็หยุดไม่ได้ จะรบ ทำไมมันจึงคิดอย่างนั้น คนเรานี่เขาเรียกว่ามีทิฏฐิมานะ มีความเห็นผิดแล้วก็มีมานะถือเนื้อถือตัว ความคิดว่ากูไม่ยอม กูไม่ยอม อันนี้แหล่ะคือตัวการสำคัญที่ทำให้ตั้งข้อกล่าวหากัน ไม่มองกันด้วยสายตาที่เป็นมิตรเพราะคิดว่ากูไม่ยอมท่าเดียว สามีภรรยาที่อยู่ด้วยกันแต่ถ้าตั้งข้อขึ้นมาว่าฉันไม่ยอม ฉันไม่ยอม ก็เขม่นกันทุกวันมีแต่เรื่องจะทะเลาะกันทุกวัน เพราะต่างคนต่างไม่ยอมแต่ถ้าหากว่าเปลี่ยนใจมาส่งกระแสจิตที่เป็นมิตรให้แก่กัน สามีก็มองภรรยาด้วยความปรารถนาดี ภรรยาก็มองสามีด้วยความปรารถนาดี ไอ้เรื่องร้ายมันก็คลายไปแล้วก็จะยิ้มเข้าหากัน อยู่กันด้วยความสุขต่อไป นี่มันเป็นอย่างนี้ โลกมันจึงยุ่งนักหนาเพราะเราขาดสิ่งเหล่านี้ ได้รบราฆ่าฟันกัน ไม่รู้รบกันไปทำไม จะเอาอะไรกันหนักหนาแล้วก็ผลที่สุดมันก็ยุ่งกันไปทุกฝ่าย รบกันนี่มันเสียหายมาก จ่ายเงินก็มาก จ่ายคนก็มาก ทุกสิ่งทุกอย่างสิ้นเปลือง สิ้นเปลืองในทางที่ไม่ได้เรื่อง ไม่ได้ประโยชน์อะไร สิ่งทั้งหลายแตกสลายผุพังไป ถนนเสียหาย สะพานเสียหาย อาคารบ้านเรือนเสียหาย ลูกระเบิดตกลงมาสักลูกหนึ่งมันเสียหายกันไปเยอะแยะ แล้วก็ต้องซ่อมช่างกันต่อไป สูญกันเสียเปล่าๆ เหมือนกับในครอบครัวสามีภรรยาโกรธกันต่างคนต่างทุบจาน สามีทุบใบ ภรรยาทุบใบ ทุบแตกหมดตระกร้าเลย นั้นพอหายโกรธแล้วไม่มีอะไรจะใส่กินข้าวจะต้องไปซื้อใหม่อีกอ่ะ แล้วใครจะซื้อให้ ตัวก็ต้องไปซื้อเองอ่ะ แล้วเงินใครก็เงินของตัวเอง มันเรื่องอะไรที่จะต้องทำเช่นนั้น เพราะมันเผาไม่มีพระเข้าไปอยู่ในใจ มีแต่ทิฏฐิมานะ ถ้าไม่ยอมใครถ้าจะเอาชนะกันให้ได้ การชนะกันด้วยอำนาจกิเลสไม่ใช่เป็นความชนะที่เป็นประโยชน์ แต่เป็นความชนะที่เป็นไปเพื่อความเสื่อมโทรมของชีวิตการงาน เราควรจะเอาชนะกันด้วยความดี การชนะด้วยความดีนั้นก็คือว่าทุกคนต้องชนะตนเองนั่นล่ะ ถ้าเราชนะธรรมชาติฝ่ายต่ำที่เกิดขึ้นรบกวนจิตใจเราๆ ก็เป็นผู้ชนะ เมื่อเราชนะตนเองได้เราชนะผู้อื่นได้ แต่ถ้าเราเอาชนะตัวเองไม่ได้ เราจะไปชนะคนอื่นได้อย่างไร
เพราะฉะนั้นในการที่จะเอาชนะคนอื่น เราต้องเอาชนะตัวเองเสียก่อน การชนะตัวเองก็คือการคิดว่าเรากำลังแพ้อะไรเวลานี้ เราเป็นทาสอะไร จิตใจเราตกอยู่ในอำนาจของอะไร พิจารณาให้มันรอบครอบ ละเอียดหน่อยเราก็จะพบว่าเราตกอยู่ในอำนาจทิฏฐิ มานะ ตกอยู่ในความถือตัวถือตนที่ผิดทาง ตกอยู่ในอำนาจความโกรธ ตกอยู่ในอำนาจความเกลียด ตกอยู่ในอำนาจของความพยาบาท ที่จะทำการแก้แค้นเขา ถ้าใจเราตกอยู่ในบาปอย่างนี้เราก็เป็นผู้แพ้ เมื่อเราแพ้ตัวเองเราก็แพ้คนอื่นต่อไป เราจะเป็นผู้อยู่อย่างผู้ชนะได้อย่างไรเมื่อสภาพจิตเราเป็นอย่างนี้ เราก็ควรจะต้องเอาชนะมันให้ได้ด้วยการพิจารณาว่าเมื่อสภาพจิตเป็นอยู่อย่างนี้อะไรมันจะเกิดขึ้นต่อไป อะไรมันจะเสียหายแก่ชีวิตแก่การงาน เกียรติยศ ชื่อเสียงของเรา เราก็พิจารณาให้ละเอียดรอบครอบ เราก็จะรู้ความจริงว่าอะไรมันเป็นอะไร แล้วมาเห็นทุกข์เห็นโทษของสิ่งเหล่านั้น หรือว่าอะไรมันเป็นอะไรถูกต้องแล้ว เราจะขืนดันไปทำไมในทางเสื่อมทางต่ำคล้ายกับว่าคนเดินหลงทางไม่รู้ชันก็เดินเรื่อยไป แต่พอรู้ตัวว่าเราเดินผิดทางเราก็ควรกลับมาสู่ทางใหม่ เข้าสู่เส้นทางที่ถูกที่ชอบต่อไป เราก็ไปถึงจุดหมายที่เราต้องการได้ฉันใด ในชีวิตของคนเราในสภาพจิตใจของคนเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าเรารู้สึกตัวว่าเรากำลังเก็บสิ่งชั่ว สิ่งร้ายไว้ในใจ กำลังทำเรื่องไม่ดีไม่งามอยู่ในใจ เราก็คิดเอาชนะสิ่งนั้นยึดสิ่งนั้นบังคับสิ่งนั้นไม่ให้มันมาอยู่ในจิตใจของเราต่อไป ด้วยการใช้ปัญญาพิจารณาอย่างรอบครอบ เราก็สามารถเอาชนะตัวเองได้ เมื่อเราชนะตัวเองได้ เรายอมได้ คนเราที่ยอมไม่ได้เพราะเอาชนะตัวเองยังไม่ได้ ยอมไม่เป็น คิดจะเอาชนะเขาเรื่อย การคิดจะเอาชนะเขาคือเราแพ้เขาอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเราคิดว่าเราจะชนะตัวเอง เราก็จะชนะคนอื่นด้วย การชนะน้ำใจตนเองนั้นแหล่ะคือความชนะที่แท้ การต่อสู้นั้นไม่มีการจบเพราะคนหนึ่งว่าอะไร อีกคนหนึ่งก็ว่าต่อไป เหมือนกับว่าการต่อสู้ในเวลานี้ การเลือกผู้แทนราษฎร หากผู้สมัครทุกๆ ฝ่ายของพรรคนั้นพรรคนี้ต่างก็หาวิธีการที่จะโจมตีอีกฝ่ายหนึ่งให้คนเห็นว่าฝ่ายนั้นไม่ดี ด้วยประการใดประการหนึ่ง แล้วก็โจมตีลงไป หารู้ไม่ว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการเพาะนิสัยชั่วให้เกิดขึ้นในสังคมในทางการเมืองที่เป็นคนผู้หลักผู้ใหญ่มีอายุอยู่ในปูนชราแล้ว ไปพูดถ้อยคำที่ไม่สมควร ไปด่าไปว่าคนที่เราไม่ควรจะด่าจะว่าก็เป็นการไม่ถูกต้อง มันไม่ถูกหลักเกณฑ์ทางการหาเสียงแต่ว่ามันเป็นการอวดกิเลสแก่กันและกัน ว่าใครจะมีกิเลสมากกว่าใคร ใครจะด่าได้หยาบคายกว่าใคร ด่าได้มากกว่าใคร มันก็เป็นการเพาะระบบที่ไม่ดีขึ้นในสังคมของคนไทยเรา นี่อันนี้เขาไม่ค่อยจะได้คิดกันก็คนประเทศนั้นไม่ค่อยจะได้เข้าวัดเข้าวา ไม่ค่อยจะศึกษาเรื่องธรรมมะให้ลึกซึ้ง คิดแต่ว่าขอให้เราได้แล้วก็ให้ผู้ที่แข่งขันกับเรานั้นย่อยยับอับจนลงไป ไม่สามรถจะโงหัวขึ้นมาได้ต่อไป ก็เลยด่ากันสาดเสียเทเสียในเรื่องอะไรต่างๆ ด่าคนเดียวไม่พอต้องไปหาพวกมาช่วยกันด่าต่อไป รุมด่าคนนั้นคนที่ตัวไม่ชอบ หารู้ไม่ว่าคนใดถูกด่ามากคนนั้นจะเกิดความนิยมขึ้นในประชาชน
ทำไมคนจึงเกิดความนิยมคนที่ถูกด่ามาก เพราะเขาคิดว่าคนๆ นั้นถูกคนด่าหลายคนมันต้องมีอะไรดี คนจึงรุมกันด่าอย่างนั้นกันว่าอย่างนั้น เพราะเขาจะริษยาคนนั้น กลัวคนนั้นจะเก่งกว่าตัว เลยต้องช่วยกันด่าๆ กันหลายๆ คน จิตใจคนก็เลยมองเห็นว่าไอ้คนนั้นมันต้องมีดีจึงได้มีคนว่าอย่างนั้น แล้วก็ต้องจมีอะไรที่เป็นพิเศษในตัวคนนั้น คนจึงได้รุมกันว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้คนมองคนนั้นด้วย (.....) แล้วคนที่ถูกด่านั่นแหล่ะจะได้ความนิยมจากประชาชนต่อไป ไอ้คนด่าก็จะแย่ลงไปเพราะมัวแต่ไปด่าเขาไม่ได้คิดว่าจะทำอะไรให้มันดีขึ้น คนถูกด่ากลับดีกว่าขึ้นมา นี่เขาเรียกว่าไม่รู้จักสภาพทางจิตใจคนเลยทำกันในรูปอย่างนั้น ถ้ากิเลสมันเกิดขึ้นมากกว่า กิเลสไอ้ตัวที่อยากจะมี อยากจะได้ อยากจะเป็นในเรื่องอะไรนั่นเอง แล้วก็เลยใช้กิเลสไปทับถมกันต่อกันเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะไม่ควรแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะว่าเขาเป็นกันอยู่ในรูปอย่างนั้น ความจริงเราไม่ต้องไปด่าใคร เราไปสมัครให้เขาเอาไปเป็นคนรับใช้ เพื่อให้เขาเลือกเป็นคนรับใช้ เมื่อเขาไม่เลือกเราจะว่าอย่างไร จะไปพูดว่าไอ้นั่นอย่าไปเอามัน ไอ้นี่อย่าไปเอามัน เอาผมดีกว่า ในที่มีปัญญานั้นเขาจะไม่เอาคนนั้นเพราะคนนั้นมีแต่การเพ่งโทษคนอื่น เขาก็จะไม่เลือกคนอย่างนั้น แต่เขาจะเลือกคนที่ไม่พูดอย่างนั้นเห็นว่าจิตใจสุภาพนิ่มนวลกว่า เขาจะเอาคนอย่างนั้นไว้เป็นคนใช้ต่อไป นั่นมันเป็นอย่างนี้มันก็ควรคิดในรูปกันอย่างนั้น แล้วเรื่องมันก็ไม่ยุ่ง ความจริงนั้นควรจะพูดถึงหลักการนโยบายว่าเมื่อเราเข้าไปเป็นแล้ว เราจะทำอะไร เรื่องปากเรื่องท้องของประชาชน จะแก้ไขอะไรบ้าง ทำอะไรให้มันดีขึ้นบ้าง ควรจะพูดนโยบายอย่างนั้น แต่ว่าบางคนก็พูดนโยบายไม่เข้าท่าเหมือนกัน
มีคนๆ หนึ่ง หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า ไปพูดกับพวกคนเลี้ยงม้า พวกนักแข่งม้าทั้งหลายและพูดว่าถ้าฉันได้เป็นผู้แทนนี่ ฉันจะไปเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย แล้วฉันอนุญาตให้แข่งม้าได้มากๆ ต่อไป นี่พูดเขาว่าเอาใจนักการพนันขี่ม้า พูดอย่างนั้นคนมีปัญญาเขาก็มองเห็นแล้วว่าไม่เข้าเรื่อง ไม่สมกับเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ มีความรู้ มีความสามารถ เพราะไปพูดประจบคนขี่ม้าพวกจ๊อกกี้เท่านั้นเอง แล้วมันจะดีอะไรถ้าพูดอย่างนั้น อาตมาอ่านข่าวแล้วก็รู้สึกว่าสงสาร แล้วก็สงสารคนที่ไปหาเสียงนะ ว่าไปหาเสียงกับจ๊อกกี้เท่านั้นเองซึ่งมันไม่ได้คะแนนอะไร พูอย่างนั้นผู้มีปัญญาก็จะหัวเราะเสียด้วยซ้ำไปว่า อ้อ...คนนี้เป็นคนชอบการพนัน ชอบส่งเสริมความชั่วร้ายในสังคมของมนุษย์ ถ้าได้เป็นผู้แทนคราวหน้าจะไปเป็นตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยแล้วก็จะเปิดให้แข่งม้าได้มากๆ ไอ้นักขี่ม้ามันก็ชอบใจแต่มันมีกี่คนไอ้คนขี่ม้านั้น มันมีไม่กี่คนไง คนที่มีปัญญา มีความรู้ มีความสามารถ เขามีมากกว่า เขาก็มองเห็นว่า อ่อคนนี้หาเสียงไม่เข้าท่า เขาก็อาจจะไม่เลือกคนประเภทนั้นเข้าไปก็ได้ ที่เขาเรียกว่าใช้ไม่เป็น พูดเอาใจคนไม่ถูกต้อง เป็นนโยบายที่เป็นไปเพื่อความเสื่อม ไม่ได้เป็นไปเพื่อความเจริญก้าวหน้า เรื่องมันก็ไม่ถูก ถ้าเราแถลงควรจะแถลงไปในทางว่าจะแก้ได้เรื่องนั้นเรื่องนี้ที่เป็นเรื่องถูกต้องให้ดีขึ้นก็เรียกว่าพูดถูกตามหลักเกณฑ์ ให้คนฟังส่วนมากได้รับรู้ได้เข้าใจ อะไรๆ มันก็ดีขึ้นที่ได้เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่าไอ้ความอยากจะเป็นนั่นเองอยู่ในจิตใจ เลยพูดเพื่อให้ได้เป็น เลยผลที่สุดก็ไม่ได้เป็นเพราะพูดไม่เป็น เรื่องมันก็ไปกันใหญ่ นี่มันเป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้นคนเรานี่ต้องใช้หลักธรรมมะเป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจเอาไว้ให้มาก มีความกรุณาประจำจิตใจไว้ สบาย เกิดที่ไหนก็สบาย หัดคนให้มีความคิดอย่างนั้น เช่นคนใช้ในบ้านของเราๆ ก็ต้องแผ่น้ำใจให้แก่เขา เพื่อให้เขาเห็นอกเห็นใจ แล้วเขาก็จะนับถือเรา เคารพในเรา เขาเคารพในคุณธรรมของเรา คนมีคุณธรรมนั้นย่อมเป็นที่รักของคนทั่วไป แม้โจรมันก็รักคนมีคุณธรรม ถ้าว่ามีคุณธรรมสูงส่งในจิตใจพวกนั้นก็ยกย่องบูชาว่าเป็นคนดีแท้ จึงควรจะได้สร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นในใจ นี่แหล่ะบทสวดทั้งหลายที่เราเอาไปสวดไปว่ากันอยู่ทุกวันๆ เราต้องเอาไปพิจารณาในเวลาว่าง แล้วก็เอาสิ่งดีสิ่งงามนั้นมาใส่ไว้ในใจของเราหรืออีกอย่างหนึ่งคือเอาสิ่งนั้นมาเป็นกระจก เป็นกระจกส่องดูจิตใจของเรา ส่องดูความคิด ความเห็น การกระทำในชีวิตประจำวันของเรา ว่ามันถูกมันตรงต่อหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสานาหรือไม่ เราก็เอามาส่องดู ใช้ธรรมมะเป็นกระจก เรามาฟังธรรมนี่ก็คือมารับกระจกเงาไป มารับเอาไปใช้เรื่อยๆ ไป แล้วเอามาส่องดูว่าเราคิดอะไร เราพูดอะไร เราทำอะไร เราคบหาสมาคมกับใคร แล้วสิ่งที่เราคิดเราพูดเราทำอยู่นี้ มันเข้ากันกับหลักเกณฑ์ที่พระผู้มีพระภาคบัญญัติแต่งตั้งไว้หรือเปล่า ถ้าเห็นว่ามันขัดกับหลักเกณฑ์เหล่านั้น เราก็จะต้องเป็นทุกข์ เราจะต้องลำบากในกาลต่อไปข้างหน้า เราก็ไม่เอาสิ่งนั้นแต่เราจะหันมาเอาในสิ่งที่ถูกต้องตามกฏเกณฑ์ในทางพระพุทธศาสนาต่อไป ในสังคมโลกในปัจจุบันนี้มีความจำเป็นมากที่เราจะต้องช่วยกันหันหน้าเข้าหาธรรมมะให้มากกว่าปกติ เพราะว่าชีวิตของคนเรามันตกต่ำลงไปทุกวันทุกเวลา ถ้าเราไม่ช่วยกันเข้าหาธรรมมะ อะไรจะช่วยเราได้ เราไม่ทำแล้วเราจะเป็นอะไรต่อไป นี่เป็นเรื่องที่ต้องนึกคิดพิจารณาไตร่ตรองกันอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สิ่งทั้งหลายได้ก้าวหน้าไปในทางที่ถูกที่ชอบที่เหมาะที่ควร เหตุการณ์อะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก เราก็ควรจะเอามาพิจารณาว่าเหตุการณ์นี้มันเกิดเพราะอะไร เกิดเพราะขาดอะไร เกิดเพราะไม่มีอะไร
เราก็จะเห็นว่าเกิดเพราะขาดธรรมมะ ไม่มีธรรมมะเป็นหลักคุ้มครองจิตใจจึงได้เกิดปัญหาสับสนวุ่นวาย เราไม่อยากให้เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น เราก็มาตั้งต้นกันทุกคน ทุกคนตั้งต้นกัน อย่าไปเกี่ยงไปงอนกันอยู่ อย่าไปคิดว่าให้คนนั้นทำก่อนแล้วเราจะทำต่อไป ให้คนนั้นทำเถิดเราอย่าเราทำต่อไปอะไรอย่างนี้ไม่ได้ แต่ว่าเราทุกคนต้องถือว่าเป็นหน้าที่ๆ เราจะต้องทำด้วยตัวของเราเอง ทำทันทีเมื่อนึกได้ ละทันทีเมื่อนึกได้ เจริญสิ่งดีสิ่งงามทันทีเมื่อนึกได้ไม่ต้องไปรอคนนั้นคนนี้ เพราะว่าทางเดินนั้นเป็นของเฉพาะคน ใครเดินใครก็ได้ ไม่ต้องไปรอให้คนนั้นเดินคนนี้เดิน เราเห็นว่าอะไรถูกอะไรชอบ อะไรเป็นประโยชน์เราก็รีบเดินไปตามเส้นทางนั้นจนสุดความสามารถ แต่ว่าถ้าเรามีโอกาสพบเพื่อนฝูงมิตรสหาย เราจะชวนเขาบ้างก็ดีเหมือนกันชวนว่ามาเดินกันทางนี้เถอะ มาใช้ชีวิตกันแนวนี้เถอะ เราจะอยู่กันด้วยความสุขต่อไป อันนี้ก็ควรถือว่าเป็นหน้าที่เหมือนกันที่เราจะต้องช่วยกันชักจูง ป่าวร้อง เพื่อนฝูงมิตรสหายให้ช่วยกันเดินในทางที่ถูกที่ชอบ ชวนคนไกลไม่ได้ชวนคนใกล้ๆ ที่ชวนคนในครอบครัวเช่นว่า แม่บ้านมาวัดเราก็ไปเล่าให้พ่อบ้านฟัง คุยให้ฟังเวลากินข้าวก็ได้ เวลาว่างๆ ก็คุยให้ฟัง คุยกันไปเรื่อยๆ จูงชักจูงไปเรื่อยๆ จิตใจเขาก็โน้มเอียงมาเองแหล่ะ พ่อบ้านมาก็คุยให้แม่บ้านฟังบ้าง พอฟังนานๆ เข้า แม่บ้านก็อยากจะมาขึ้นมาบ้างเหมือนกัน แล้วเราก็คุยให้ลูกฟัง สั่งสอนอบรมตักเตือนลูกของเรา แนะนำให้อ่านหนังสือธรรมมะ ให้มาวัด ให้หันเข้าหาธรรมมะทีละเล็กทีละน้อย เด็กก็ค่อยๆ โน้มน้อมไปในทางอย่างนั้น เด็กของเราเหมือนกับผ้าขาวที่สะอาดถ้าเราจะย้อมอะไรก็ได้ ถ้าไม่ย้อมอะไรทิ้งไว้เฉยๆ ขี้ฝุ่นจับดำเขรอะไปหมดใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องย้อมให้เขา ต้องเอาสีดีย้อมจิตใจเขา เอาธรรมมะมาย้อมจิตย้อมใจชักจูงเขาไว้ในทางที่ถูกที่ชอบ แล้วเราที่เป็นพ่อแม่จะไม่ต้องนั่งเป็นทุกข์ในภายหลัง มีพ่อแม่ไม่ใช่น้อยที่นั่งเป็นทุกข์เพราะลูกไม่ดีแล้วก็นึกว่าทำไมมันเป็นอย่างนั้น ทำไมมันเป็นอย่างนี้ ที่มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็เพราะว่าเราทำไม่ถูก เราไม่สั่งสอนไม่อบรม ไม่พูดจาให้เด็กเข้าใจ เราปล่อยมันไปตามเรื่องตามราว ตามสภาพสิ่งแวดล้อมเลย มันก็ถูกย้อมด้วยขี้โคลนขี้ฝุ่นจนเสียผู้เสียคนไป เราจึงต้องเอาสีดีๆ ย้อมไว้ก่อน ให้มันทนทานต่อสิ่งยั่วยุ เมื่อมีสิ่งยั่วยุมากระทบมันก็ทนได้ จิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหวต่อสิ่งเหล่านั้นลูกหลานเราก็จะปลอดภัย คนอยู่กับเราทุกคนก็จะปลอดภัย ถ้าเราหมั่นชักจูงเขาเข้าหาความงามความดี และเราเองก็ทำตนให้เป็นตัวอย่างแก่คนเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา สิ่งทั้งหลายก็จะก้าวหน้าไปในทางที่ถูกที่ชอบด้วยการประพฤติธรรมอย่างนี้ ดังที่ได้แสดงมาเพื่อเป็นเครื่องชี้แนะแนวทางเตือนกิจสะกิดใจแก่ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายที่ได้มาประชุมกันในวันนี้ก็พอสมควรแก่กาลเวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้