แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านที่อยู่ในบริเวณวัด หยุดพัก ยืน นั่ง ณ ที่ใดที่หนึ่ง อย่าเที่ยวเดินไปเดินมาให้วุ่นวาย ทำให้เสียสมาธิของคนที่ตั้งใจฟัง นั่ง ณ บริเวณใดบริเวณหนึ่ง แล้วอธิฐานใจว่า ข้าพเจ้าจะนั่งตรงนี้จนกว่าการปาฐกถาจะจบลง แล้วจึงจะลุกขึ้น อย่าลุกขึ้นในขณะที่กำลังแสดงธรรม ตั้งใจ คือทำอะไรต้องทำด้วยความตั้งใจ การตั้งใจให้มั่นเขาเรียกว่า อธิฐานบารมี
อธิฐานบารมีคือการตั้งใจให้มั่นในเรื่องที่เราจะทำ และเรื่องนั้นเป็นเรื่องดีด้วย มีประโยชน์ด้วย ถ้าไปอธิฐานใจในเรื่องที่ไม่ดีก็ทำลายตัวเอง ไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นเวลาจะทำอะไรควรจะผูกใจไว้กับเรื่องนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องเล็ก เราตั้งใจให้มั่นไว้ในเรื่องนั้น แล้วก็ทำจนกว่าจะจบ ถ้ายังไม่จบก็ไม่เปลี่ยนความคิด ไม่เปลี่ยนความตั้งใจ เรียกว่าอธิฐานบารมี เป็นบารมีอันหนึ่งในบารมี ๑๐ประการที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงใช้เป็นหลักมาตั้งแต่เริ่มต้น จนได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราทั้งหลายก็ควรนำมาใช้เป็นหลักปฏิบัติด้วยเช่นเดียวกัน
วันอาทิตย์นี้ เป็นวันอาทิตย์แรกของเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนหน้าร้อน เดือนเมษายนนี่มีอะไรๆ หลายอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับชีวิตของพวกเราทั้งหลาย เช่นเมื่อวานนี้เป็นวันที่ ๒ เป็นวันคล้ายวันประสูติเจ้าฟ้าหญิงพระเทพรัตนราชสุดา ซึ่งเป็นเจ้าฟ้าหญิงที่มีคุณธรรม มีความงาม ความดี เป็นที่รัก เป็นที่พอใจ ของประชาชนทั่วไป พอเอ่ยชื่อสมเด็จพระเทพล่ะก็ ทุกคนสาธุ แสดงความดีอกดีใจ เพราะพระองค์มีเสน่ห์ น่ารัก น่าเคารพ เสน่ห์ก็คือการประพฤติธรรม มีความงาม ความดี รู้จักวางพระองค์ พอเหมาะพอควร การแต่งเนื้อแต่งพระองค์ก็ไม่มากไม่น้อย พอดีพองาม สมกับเป็นกุลสตรีผู้เกิดในตระกูลสูง และได้ทรงทำประโยชน์แก่ส่วนรวม เช่น ตั้งมูลนิธิสายใจไทยเพื่อหาทุนช่วยเหลือทหารที่ไปรบทัพจับศึก แล้วก็ได้รับอันตราย คนอยู่ข้างหลังก็ลำบาก ท่านก็ตั้งมูลนิธินี้ขึ้นช่วยเหลือ ได้ทรงกระทำอะไรหลายอย่างที่ดีที่งาม ช่วยเหลือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถ ชาวไทยก็พลอยปลื้มอกปลื้มใจ ในการที่มีเจ้าฟ้าหญิงผู้มีพระทัยอันงดงามอย่างนั้น เมื่อวานนี้ก็มีการถวายพระพรชัยมงคล เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์
วันนี้เป็นวันอาทิตย์แรก เราก็มาประชุมกัน เพื่อการฟังธรรมตามปกติ แล้วอีกสองสามวันก็จะถึงวันที่ ๖ เมษายน ซึ่งเรียกว่าเป็นวันจักรี วันจักรีก็เป็นวันที่เริ่มก่อตั้งพระราชวงศ์จักรีแห่งกรุงเทพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ขึ้นครองราชสมบัติ เลยเรียกว่าเป็นวันจักรี ก็เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาติไทย เพราะเป็นวันที่คนไทยเริ่มตั้งฐานชีวิตใหม่ ภายหลังที่ระส่ำระสายต้องต่อสู้ปราบปรามข้าศึกกันมาเป็นเวลาหลายปี แล้วก็มาตั้งเมืองใหม่ ตั้งกรุงใหม่ เจริญสืบต่อมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้
พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีได้ทรงกระทำประโยชน์แก่ชาติ แก่บ้านเมืองมาโดยลำดับตามยุคตามสมัย พัฒนาประเทศชาติให้เจริญมาโดยลำดับ รักษาแผ่นดินทองให้เป็นของไทยไว้ตลอดไป รักษาความเป็นอิสระของชาติไว้ และส่งเสริมกิจการทางพระพุทธศาสนาให้เจริญให้ก้าวหน้าตามสมควรแก่ฐานะ อันนี้นับว่าเป็นเรื่องที่เราชื่นใจ เราจึงควรจะระลึกถึงพระองค์ท่านในวันที่ ๖ เมษายน ควรจะได้ทำบุญทำกุศล เช่นว่า ทำบุญตักบาตรบ้าง ไปรักษาศีล ไปฟังธรรม หรือว่านั่งสงบจิตสงบใจเจริญภาวนา เพื่อให้จิตใจสะอาดปราศจากสิ่งชั่วร้าย ให้สงบปราศจากความวุ่นวาย ให้สว่างปราศจากความมืดบอดในชีวิต อันนี้เป็นสิ่งที่เราควรทำ
ในทางพระพุทธศาสนาสอนไว้ว่า เมื่อใดเราระลึกถึงอุปการะคุณของใครที่ได้ทำคุณแก่เรา เมื่อนั้นเราก็ควรจะได้ทำความดี การทำความดีนั้น ก็ทำตามแบบบุญกริยาในทางพระพุทธศาสนา เช่น ทำความดีด้วยการให้ทาน ทำความดีด้วยการรักษาศีล ทำความดีด้วยการเจริญภาวนา ทำความดีด้วยการฟังธรรม ทำความดีด้วยการแสดงธรรมให้คนอื่นฟัง ทำความดีด้วยการแผ่ส่วนความดีให้แก่คนอื่น ทำความดีด้วยการอนุโมทนาชื่นอกชื่นใจในความดีที่คนอื่นได้กระทำแล้ว ทำความดีด้วยการขนขวาย ช่วยเหลือกิจการงานของเพื่อนบ้านให้ได้รับความสะดวกสบายตามสมควรแก่ฐานะ ทำความดีด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อคนที่ควรอ่อนน้อมถ่อมตน ทำความดีด้วยการปรับความคิดความเห็นให้มันถูกตรงตามธรรมนองครองธรรม ให้เข้ากับหลักเกณฑ์ทางพระพุทธศาสนา อันนี้เรียกว่าเป็นบุญกริยา คือการกระทำที่เป็นบุญ เป็นเหตุให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางจิตใจของเราทั้งหลายทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นวันใดที่เป็นวันสำคัญ เป็นวันที่เราควรจะระลึกถึงบุญคุณของผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งได้ทำคุณแก่พวกเราทั้งหลาย เราก็ได้พร้อมใจกระทำสิ่งอันเป็นบุญเป็นกุศลนั้น จะช่วยให้สิ่งทั้งหลายก้าวหน้าเป็นไปในทางดีประการหนึ่ง อีกวันหนึ่งในเดือนเมษายนนี้ ก็คือวันตรุษสงกรานต์ อันเป็นวันที่เราทั้งหลายได้ทำกันตามประเพณี หรือว่าเป็นวันปีใหม่เหมือนกัน ปีใหม่เปลี่ยนจุลศักราช ที่เขาใช้กันมาในตอนหลังเรียกว่าจุลศักราช เปลี่ยนกันในวันสงกรานต์ วันสงกรานต์ก็เป็นวันที่เราควรจะได้ระลึกถึง ผู้เฒ่าผู้แก่ พ่อแม่ ปู่ตา ย่ายาย ปีนี้เขาเรียกว่าเป็นปีแห่งคนสูงอายุ ก็เพื่อจะเป็นเครื่องเตือนใจให้คนทุกคน ได้ระลึกถึงผู้เฒ่าผู้แก่ พ่อแม่ ปู่ตา ย่าทวด ทั้งหลาย ที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ในโลก เราก็ควรจะได้เข้าใกล้ ทำความเคารพ สนทนาพาทีกับท่าน ให้ท่านสบายอกสบายใจ
คนแก่นั้นต้องการคนเข้าไปคุยด้วย ต้องการให้คนเข้าไปพูดจาปราศัย ทำนั่นทำนี่ เรียกว่าอยู่ไม่ว้าเหว่ ถ้าเราปล่อยให้ท่านนั่งเหงาอยู่คนเดียวท่านก็ไม่สบายใจ เราควรจะเข้าไปหาในตอนเช้า เข้าไปหาท่านในตอนกลางวัน เข้าไปหาท่านในตอนเย็น ไปถามสารทุกข์สุขดิบ ถามว่าวันนี้จะให้ลูกช่วยเหลืออะไรคุณแม่บ้าง คุณพ่อ คุณปู่ คุณย่า อะไรก็ว่าไปตามเรื่อง เพียงแต่เราเข้าไปทำเช่นนั้นเท่านั้นแหล่ะ ท่านก็ปลื้มอกปลื้มใจ ดีใจ นั่นแหล่ะคือการให้พรแก่ท่าน ให้ท่านมีอายุยืน ให้ท่านมีวรรณะผ่องใส ให้ท่านมีกำลัง ให้ท่านมีความสุขทางใจ เราไปทำอย่างนั้น เท่ากับให้ความสุขแก่ท่าน เมื่อเราให้ความสุขแก่ท่านเราก็พลอยได้ความสุขด้วยเหมือนกัน
แต่ถ้าเราไม่ให้ความสุขแก่ใคร ความสุขที่ไหนจะมาเกิดแก่เรา เราจึงควรจะได้เข้าไปใกล้ดังที่กล่าวแล้ว ถ้าว่าเป็นวันสำคัญ เช่น วันตรุษ วันสงกรานต์ เราหาผ้าให้ท่านสักผืนหนึ่ง ผ้านุ่งเสื้อใส่พานไป กราบลง เอามาให้คุณย่า หรือคุณปู่ คุณตาก็ว่าไปตามเรื่อง ความจริงท่านไม่ได้ต้องการอะไรหรอก คนแก่นั้นท่านไม่ได้แต่งเนื้อแต่งตัวอะไรแล้ว แต่ว่าท่านก็ดีใจ ไม่ใช่ดีใจว่าได้ผ้าได้ผ่อนจากเรา แต่ดีใจว่าอ้อลูกหลานมันยังนึกถึงอยู่ ยังไม่ลืมเรา อันนี้สำคัญที่สุด สำคัญที่เราทำให้ท่านปลื้มใจว่า เรายังนึกถึงท่าน เราไม่ละทิ้งท่าน เพราะคนแก่ทั้งหลายนั้นมีอารมณ์น้อยอกน้อยใจ น้อยใจว่าไม่มีใครเหลียวแล ฉันมันแก่แล้ว ไม่มีใครเอาใจใส่แล้ว เขาปล่อยฉันให้อยู่คนเดียว นี่เป็นอารมณ์คนแก่ที่จะเกิดขึ้นแก่คนแก่ทั่วๆ ไป
เพราะฉะนั้นเราจะช่วยแก้ปัญหาคนสูงอายุก็โดยการเข้าใกล้ ชวนท่านสนทนาในเรื่องอะไรต่างๆ วันไหนว่างๆ ก็เรามีรถใช้พาท่านนั่งรถไปชมบ้าน ชมเมือง ขึ้นถนนทางด่วนไปขึ้นสะพานสาทร ไปดูนั่นดูนี่ ให้ท่านเห็นว่าบ้านเมืองนี่มันเจริญไปเยอะ พาไปเที่ยวสวนจตุจักร พาไปมาวัดชลประธานรังสฤษดิ์วันอาทิตย์อะไรต่างๆ ท่านก็สบายใจ คนแก่บางคนก็บ่นอยู่เหมือนกัน บอกว่าแหมอยากจะไปวัดในวันอาทิตย์ แต่ว่าลูกๆ เขาไม่ว่าง เขาจะไปตีกอล์ฟ ไอ้ลูกก็เหลือเข็ญ ถือว่าเรื่องกอล์ฟเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องแม่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ความจริงจะไปตีกอล์ฟก็เอาคุณแม่มาทิ้งไว้ที่วัดเสียก่อน แล้วเราก็ไปตีกอล์ฟ เสร็จจากตีกอล์ฟก็มารับคุณแม่กลับบ้าน เอาใจท่านบ้าง
ตอนเมื่อสมัยเราเป็นเด็กเรากวนแต่ให้ท่านเอาใจเรา เราขู่เข็ญท่านด้วยประการต่างๆ จะเอานั่นละ จะเอานี่นะ จะเอาอะไรก็ต้องให้ได้ดังใจ จะผลัดเพี้ยนสักนาทีก็ไม่ได้ ประเดี๋ยวปึงปัง โผงผาง นอนกลิ้งเกลือก เกลือกกายหัวชนฝา ดิ้นรน คุณแม่ก็สงสารต้องให้ นี่เรามัวแต่ เด็กเป็นอย่างนั้น จำไม่ได้แล้ว แต่ว่าดูเด็กๆ มันทำก็รู้ ว่าเมื่อเด็กเราก็คงทำอย่างนี้กับคุณพ่อคุณแม่ของเรา ท่านว่าเราเติบโตแล้วต้องให้นึกถึงว่าคุณพ่อคุณแม่ท่านได้เลี้ยงเรามาอย่างไร เอาใจใส่ต่อเราอย่างไร เราก็ตอบแทนท่านในวันที่ควรจะตอบแทน ไม่ใช่ทำปีละครั้ง แต่ว่าทำสม่ำเสมอตลอดไป
หรือว่าเรามาวัดมาฟังธรรม กลับไปถึงก็ไปกราบท่าน แล้วก็บอกว่าไปฟังธรรมมา ท่านเทศน์ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านก็สบายใจ ท่านได้ฟังแล้วก็สบายใจ มีคนที่เชียงใหม่คนแก่ แก่มากท่านอายุตั้ง ๘๐ คุณแม่ยังอยู่ นอนอยู่บนเตียง ไปไหนไม่ได้ วันไหนไปฟังเทศน์ที่พุทธสถานกลับมาต้องไปเล่าให้คุณแม่ฟัง คุณแม่จะต้องถามว่าเทศน์ว่าอย่างไรวันนี้เทศน์ว่าอย่างไร จะต้องมานั่งเล่าให้ท่านฟัง แล้วท่านก็สบายใจ ลูกก็สบายใจ แม่ก็สบายใจ เราต้องนึกอย่างนั้น คือให้เห็นอกเห็นใจคนเฒ่าคนแก่ สงสารท่านอย่าให้ท่านว้าเหว่ มีอะไรควรจะทำให้ท่านสบายใจได้ เราก็ควรจะทำ นี่ก็เป็นสิ่งสำคัญ
ผู้ใดกระทำต่อมารดาบิดาปู่ตาย่ายายในรูปใด ผู้นั้นจะได้รับผลตอบแทนในรูปนั้น อันนี้สำคัญ เป็นความจริงทีเดียว ถ้าเราทำดีต่อท่าน เราก็จะได้รับความดีจากลูกของเรา ถ้าเราทำไม่ดีกับท่านเราก็จะได้รับสิ่งไม่ดีจากลูกของเรา ผลอันนี้มันตอบแทนรวดเร็วทันอกทันใจจริงๆ เพราะฉะนั้นจึงควรจะได้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ธรรมเนียมประเพณีของชาวเอเชียเรานั้น เขาสอนให้นับถือผู้เฒ่าผู้แก่ ให้เอาใจใส่ดูแลคนเฒ่าคนแก่ จะเป็นวัฒนธรรมของอินเดีย ของจีน ของญี่ปุ่น ของไทย ที่ไหนเหมือนกันหมด เรื่องเดียวกัน คือให้นับถือคนแก่ ให้เอาใจใส่ต่อคนเฒ่าคนแก่ ก็เป็นเรื่องที่อยากจะฝากไว้ ว่าในวันตรุษ วันสงกรานต์ เราควรจะทำอย่างไรกับคนเหล่านั้น ที่วัดเราก็เคยมีสรงน้ำคนแก่ ใครมีอายุมากก็จับมาสรงน้ำเสียหน่อย เป็นการแสดงความเคารพคาราวะต่อผู้ที่สูงอายุ มาฟังเทศน์ในวัดของเรา ปีนี้ก็คงจะทำเช่นเดียวกัน เพื่อจะได้เป็นการแสดงความเคารพบูชาต่อท่านเหล่านั้นที่สูงอายุ การนับถือคนสูงอายุนั้นเป็นเรื่องดี เป็นสิ่งที่สร้างรากฐานชีวิต ให้อยู่ในคุณธรรมประการหนึ่งเหมือนกัน จึงเป็นเรื่องที่ ขอฝากกับญาติโยมทั้งหลายไว้คิดไว้ประการหนึ่ง
อันนี้ ฤดูนี้เป็นฤดูร้อนอากาศมันร้อนหน่อย แต่ว่าเราอย่าไปร้อนตามอากาศ เพราะอากาศมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ มันก็ร้อนบ้าง เย็นบ้าง ฝนตกบ้าง แดดออกบ้าง มืดบ้าง สว่างบ้าง สิ่งนี้มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ที่มีอยู่เป็นอยู่ตั้งแต่นู้นแล้ว ตั้งแต่เริ่มมีโลกขึ้น มันก็เป็นกันอยู่อย่างนี้ เรามองให้เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ที่มันเป็นอยู่ในรูปอย่างนั้น อย่าเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นเครื่องมือทำให้เราเป็นทุกข์ อย่าเป็นทุกข์กับเรื่องความร้อน อย่าเป็นทุกข์กับเรื่องความหนาว อย่าเป็นทุกข์กับเรื่องฝนฟ้าอากาศต่างๆ ที่มันเปลี่ยนแปลงไป แต่เราจะต้องปรับตัวเราให้เข้ากับสิ่งเหล่านั้น คือปรับให้เข้ากับธรรมชาติ ให้รู้จักธรรมชาติ แล้วก็หมุนจิตใจให้เหมาะแก่ธรรมชาติ การหมุนจิตใจของเราให้เหมาะแก่ธรรมชาติ จะทำให้เราไม่มีความทุกข์ ไม่มีความเดือดร้อนใจ
เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญอยู่เหมือนกัน เพราะว่าคนเรานี่ เราจะไปอยู่ที่ไหน ทำงานร่วมกับใคร ถ้าเรารู้จักหมุนจิตใจของเราให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ให้เข้ากับความเป็นอยู่ของคนเหล่านั้นได้ เราจะไม่มีปัญหาเป็นความทุกข์มากเกินไป ในสัปปุริสธรรม ๗ ประการ ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ มีว่าให้ รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้เวลา รู้บุคคล รู้ประชุมตน มี ๗ อย่างด้วยกัน ในเรื่องทั้ง ๗ อย่างนี้เป็นเครื่องประกอบในการดำรงชีวิตให้เราคิดนึกในทางที่จะไม่สร้างปัญหา คือความทุกข์ความเดือดร้อนให้แก่ตัวเอง เช่นว่า รู้เหตุ รู้ผล ของเรื่องอะไรต่างๆ มีอะไรเกิดขึ้นเราก็ต้องรู้ว่า มันมีเหตุมาจากอะไร อะไรเป็นเหตุให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วนั้น มันจะอยู่ไปได้สักเท่าใด
เพราะหลักคำสอนมีอยู่ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็ต้องแตกดับเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรที่จะอยู่ยั่งยืนค้ำฟ้า ความทุกข์เกิดขึ้นมันก็ดับไปได้ ความสุขเกิดขึ้นมันก็ดับไปได้ อะไรๆ เกิดขึ้นมันก็ดับไปเท่านั้น แต่ถ้าเราไม่รู้เหตุ มันดับยาก เพราะไม่รู้ว่ามันมาจากไหน มาจากเรื่องอะไร เราไม่เข้าใจต้นเหตุของสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นจะต้องใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาว่าเหตุมันอยู่ที่อะไร แล้วมันจึงจะเกิดผลนี้ขึ้น เรื่องของเหตุนั้นเราก็ต้องมองไปในทางด้านใน มองด้านในก็หมายความว่ามองที่ตัวของเราเอง อันนี้เป็นเรื่องสำคัญในการปฏิบัติธรรม
พระพุทธเจ้าสอนให้เราทั้งหลายมองข้างใน คือมองย้อนเข้าไปข้างใน มองที่ตัวเรา มองที่ความคิดของเรา มองที่ความเห็นของเรา มองที่ความเชื่ออันเป็นพื้นฐานชีวิตของเรา เราจะต้องศึกษา ต้องทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ อย่ามองไปข้างนอก อย่าไปโทษคนอื่น อย่าไปโทษธรรมชาติดินฟ้าอากาศ หรืออย่าไปโทษอะไรๆ อันเป็นเรื่องภายนอก เพราะเรื่องภายนอกนั้นมันไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรนักหนา ถ้าไม่มีภายในเข้าไปเกี่ยวข้อง เรื่องคนข้างในเข้าไปเกี่ยวข้อง มันจึงเกิดอะไรขึ้นแก่ตัวเรา เช่น ของสิ่งหนึ่งมันวางอยู่เฉยๆ ถ้าเราไม่เอาจิตเข้าไปยึดในสิ่งนั้น สิ่งนั้นก็ไม่มีอิทธิพลเหนือจิตใจของเรา แต่ถ้าเมื่อใดเราเอาจิตเข้าไปยึดสิ่งนั้นไว้ในรูปใดก็ตาม เช่น ยึดสิ่งนั้นด้วยความรัก หรือว่าด้วยความเกลียด ด้วยความโกรธ ด้วยความพยาบาทอาฆาตจองเวร ไม่ว่าในแง่ใด สิ่งนั้นมันก็อยู่อย่างนั้น มันไม่ได้อะไรนักหนา แต่ว่าใจของเรา เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นในรูปใด มันก็สร้างปัญหาขึ้นในจิตใจของเรา
เรื่องคนก็เหมือนกัน คนๆ หนึ่งเขานั่งอยู่ที่ตรงนั้น แล้วเราก็เห็นเขา เมื่อเห็นเขาแล้วจิตใจของเราเป็นอย่างไร เราเห็นเขาแล้ว เราเกลียดเขาบ้าง เรารักเขาบ้าง หรือว่าเราโกรธเขา เราเขม่นเขา เราคิดอย่างนั้นอย่างนี้ จากรูปที่เราได้เห็นนั้น รูปนั้นไม่ใช่ตัวการใหญ่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ความสำคัญมันอยู่ที่ว่า จิตของเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับรูปคนนั้น กับเสียงของคนนั้น กับกริยาท่าทางของคนนั้น ด้วยอำนาจอวิชชา คือความไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องนั้นๆ ถูกต้องตามเรื่องที่เป็นจริง แล้วเราก็มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนทางจิตใจขึ้นมา สิ่งเหล่านี้เขาเรียกว่าธรรม รวมเรียกว่า อารมณ์
อารมณ์ คือ เรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องสัมผัสที่ถูกต้องได้ เรียกว่าอารมณ์ทั้งนั้น อารมณ์คือสิ่งที่เข้ามากระทบตัวเรา กระทบอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำคัญก็ที่ใจนั่นแหล่ะ มันมากระทบใจของเรา ใจเราก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับอารมณ์นั้น เข้าไปเกี่ยวของในรูปใดเล่า ถ้าไปเกี่ยวข้องด้วยปัญญามันก็ไม่เกิดปัญหาอะไร แต่ถ้าเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยความโง่เขลามันก็สร้างปัญหาขึ้นทันที เช่น เสียงของคนที่เปล่งออกมา เราได้ยิน ถ้าเสียงนั้นเป็นเสียงด่าว่า เราก็ไปรับเข้าทันทีว่ามันด่ากูนี่หว่า แล้วเราเกิดอะไรขึ้นมา เราก็เกิดความโกรธ เกิดความเกลียดบุคคลคนนั้น แต่ถ้าเราไปนึกว่าแหมมันชมเรานี่ เราก็สบายใจ เพราะความคิดว่าเขาชมเรา
ตัวการสำคัญมันก็อยู่ที่ความคิดของเรานั่นแหล่ะ ความคิดที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ไปนึกว่าเขาชมฉัน ไปนึกว่าเขาเกลียดฉัน ไปนึกว่าเขาดูฉันด้วยสายตาที่ดูหมิ่น เขาดูฉันด้วยสายตาที่อ่อนโยน สุดแล้วแต่เราจะคิด จะปรุงแต่งจิตใจของเราไปในรูปอย่างใด เมื่อเราปรุงแต่งไปในรูปอย่างใด ใจเราก็เป็นไปในรูปอย่างนั้น ถ้าเราปรุงแต่งให้เกิดความทุกข์เราก็มีความทุกข์ ถ้าเราปรุงแต่งให้เกิดความสุขเราก็มีความสุข เราปรุงแต่งให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความพยาบาท ไอ้สิ่งนั้นมันก็เกิดขึ้นในใจของเรา ใครเป็นผู้สร้างสิ่งนั้นขึ้น ก็ตอบได้ว่า ตัวบุคคลนั้นเอง เป็นผู้สร้างสิ่งนั้นให้แก่ตัวเอง ไอ้สิ่งที่อยู่ข้างนอกนั้นเป็นแต่ตัวประกอบ ไม่ใช่ตัวการสำคัญอะไร เป็นตัวประกอบเท่านั้น
เราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยความเขลา ด้วยความหลงผิด เราจึงมีความทุกข์มีความเดือดร้อนขึ้นในใจของเรา อันนี้เป็นความผิดของเราเอง เพราะฉะนั้นหลักการในการปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าสอนให้เรากระทำ ก็คือว่าให้รู้ว่าอะไรมันเกิดขึ้นในใจของเรา แล้วเราก็หาว่า เหตุมันอยู่ที่อะไร แล้วปรับปรุงแก้ไขสิ่งนั้น ให้เป็นไปในทางที่ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้นต่อไป นั่นแหล่ะคือการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ในชีวิตประจำวันเราต้องคิดอย่างนั้น ต้องปฏิบัติในรูปอย่างนั้น เพื่อทำให้จิตใจของเราไม่ต้องขุ่นมัว เศร้าหมอง เพราะเรื่องต่างๆ ที่เรามากระทบ
ในเมื่อทุกอย่างมันเป็นเช่นนี้ เพราะฉะนั้นเราเข้าใกล้บุคคลใด กับเหตุการณ์ใด เราก็ต้องปรับตัวเรา เพื่อให้ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น ไม่ต้องเดือดร้อนเพราะสิ่งนั้น การที่จะปรับตัวเองนั้นก็ต้องมีสติทันท่วงที มีปัญญาทันท่วงทีในเรื่องนั้นๆ ที่เราจะเข้าไปเกี่ยวข้อง เราจะต้องเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า เมื่อเราจะไปไหน จะไปเกี่ยวข้องกับใคร กับเหตุการณ์ใดๆ เราก็ต้องเตรียมตัว การเตรียมตัวก็คือบอกให้เรารู้ว่า เราจะไปพูดกับคนนั้น เราจะไปพบกับเหตุการณ์นั้น สิ่งนั้น และบุคคลนั้น สิ่งนั้น มันอาจจะทำให้เราเกิดอะไรขึ้นในจิตใจของเราได้ เราก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้ เพื่อต่อสู้กับสิ่งเหล่านั้น
เช่น เราไปพูดกับคนบางคน เขาชอบยั่วให้เราโกรธ เรารู้ว่าคนนั้นเขาชอบยั่วเราให้โกรธ ให้เกลียด เพื่อทำลายกำลังใจของเรา ในการต่อสู้กันด้วยการพูดนั้น ถ้าคนหนึ่งใจร้อน ใจเร็ว หุนหันพลันแล่น ก็ย่อมเสียสติไป เสียปัญญาไป ความคิดความอ่านมันก็ไม่เรียบร้อย เขาก็ย่อมได้เปรียบ ถ้าเราถูกเขาทำให้เราโกรธได้ เราก็ย่อมเสียเปรียบเขา เราแพ้เขา ในเชิงการพูดเสียแล้ว เราก็จะแพ้เขาอีกในเรื่องอื่นต่อไป ดังนั้นเราจะต้องบอกตัวเราไว้ล่วงหน้าว่าเตรียมใจให้ดี ที่จะไปพูดกับคนนั้น ที่จะไปพบกับเหตุการณ์นั้นๆ ต้องใจเย็นๆ อย่าใจร้อน อย่าเอาคำพูดของเขามาเป็นอารมณ์ให้มันรุนแรงเกินไป ต้องเตรียมตัวเตรียมใจด้วยความสงบเยือกเย็นไว้ แล้วเราก็เข้าไปหาบุคคลนั้น
ในขณะที่เราเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ บุคคลนั้นๆ เราก็ต้องทำสติไว้ตลอดเวลา ว่าเราจะไม่โกรธ เราจะไม่ขุ่นในคำพูด ในกริยาท่าทาง ในสิ่งต่างๆ ที่เขาสร้างขึ้นเพื่อยั่วกิเลสของเรา เราจะไม่ให้มันลุกปุ๊บปั๊บขึ้นมาเป็นอันขาด เราจะคอยคลุมไว้ ด้วยคอยกำหนดตัวเองไว้ มีสติอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราสำรวมใจอย่างนี้ เตรียมตัวไว้อย่างนี้ เมื่อเราเข้าไปประสบเหตุการณ์นั้นเข้า เราก็จะไม่ขึ้น ไม่ลง ตามคำพูดของเขา ตามสิ่งที่เขาปรุงแต่งยั่วเรา แต่เราจะมีจิตใจสงบ มีจิตใจคงที่อยู่ในสภาพเช่นนั้น เหมือนกับน้ำในอ่างที่ไม่ถูกลมพัด มันก็สงบนิ่ง ไม่มีอะไรเคลื่อนไหวฉันใด จิตใจเราก็ต้องมีสภาพเช่นนั้น อันนี้แหล่ะเราจะสู้เขาได้ ในเมื่อเราต้องไปสู้กับคนอย่างนั้น
คนเราเวลาไปพบเหตุการณ์อะไร ไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า ไม่ได้เตรียมใจไว้ให้พร้อมที่จะต่อสู้กับสิ่งนั้น พอไปถึงปรับตัวไม่ทัน เขาโจมตีเอาเสียก่อนแล้ว เขาพูดให้เราโกรธเสียก่อน พูดให้เราน้อยใจเสียก่อน แล้วเราก็โกรธตามเขาต้องการ เราน้อยใจตามเขาต้องการ อย่างนี้ก็เรียกว่าเราเป็นทาสเขาแล้ว ให้เขาจูงจมูกเราไปได้ตามความปรารถนา เราไม่เป็นไทแก่ตัว เราไม่เป็นคนที่เป็นตัวเอง แต่เราตกอยู่ในอำนาจของคนเหล่านั้น นี่คือการเสียเปรียบในเรื่องที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านั้น
ถ้าหากว่าเราเตรียมตัวไว้ก่อน เตรียมใจไว้ก่อน พูดง่ายๆ ว่า ทำสมาธิเสียก่อน ที่จะไปพบกับบุคคลนั้น หรือเราได้ไหว้พระสวดมนต์ทำจิตใจให้สงบเสียก่อน จึงจะไปพบกับบุคคลเหล่านั้น คนโบราณเขาก็มีวิธีการ แต่ว่ามันค่อนข้างจะเป็นไปในทางไสยศาสตร์ไปเสียสักหน่อย เช่นว่า เขาจะไปผจญกับอะไรนี่ เขาก็ต้องทำการปลุกตัวเอง ปลุกตัวเองก็เป็นคำพูดนั่นแหล่ะไม่ใช่เรื่องอะไร แต่ว่าเป็นคำพูดในเชิง เป็นภาษาอาคม เอามาพูด พูดแล้วจิตใจมันโน้มไปตามคำพูดนั้นๆ แล้วก็เกิดความเข้มแข็ง เกิดตัวสั่นขึ้นมา แต่ว่าพร้อมที่จะต่อสู้ได้ทันท่วงทีแล้ว เขาเตรียมอย่างนั้น ปลุกใจ ปลอบใจ
เมื่อเด็กๆ เคยสนทนากับคนที่เคยเป็นโจร เป็นผู้ร้าย ไปเที่ยวปล้น เที่ยวเอาทรัพย์สมบัติของคนอื่นในที่ต่างๆ แต่แล้วก็เลยมาคุย เราเป็นเด็กก็ชวนแกคุย ถามว่าลุงนี่สมัยก่อนเขาว่าเคยเป็นไอ้เสือไปเที่ยวปล้นที่นั่นที่นี่ไม่ใช่หรือ แกก็บอกเออลุงนี่มันปล้นมาหลายครั้งหลายหนแล้ว รู้สึกว่าแกพูดด้วยความภูมิใจในการเป็นไอ้เสือของแก ก็เลยถามว่าเวลาจะไปปล้นนี่ทำอย่างไร แกก็บอกว่า ต้องรวมพวกก่อน รวมพวกแล้วก็ไปในที่เงียบๆ นะ โจรจะปล้นก็ยังต้องไปที่เงียบ ไปทำสมาธิกันสักหน่อย สมาธิแบบโจร ไม่ใช่สมาธิแบบพระอะไร ไปถึงก็ไปนั่งล้อมเป็นวงนะ ล้อมเป็นวง แล้วก็มีอาจารย์ อาจารย์ของโจร โจรมันก็มีอาจารย์เหมือนกัน อาจารย์ที่จะปลุกจะเสก จะให้เกิดกำลังภายในให้มีความเข้มแข็ง อาจารย์ก็เอาด้ายสายสิญจน์นี่ เอามาผูกที่มือบ้าง ผูกคอบ้าง หรือว่าสวมหัวบ้าง เสร็จแล้วก็ประพรมน้ำมนต์ เอาน้ำเรียกว่า น้ำพระพุทธมนต์ แต่มันไปพรมเพื่อปล้นเขา ไม่ถูกต้อง
เสร็จแล้วก็ทุกคนก็นั่งในวงสายสิญจน์ อาจารย์ก็นั่งตรงกลาง แล้วก็ร่ายคาถาอาคมปลุกเสก แล้วให้กินหมากคนละคำๆ เสร็จแล้วก็บอกว่าได้ฤกษ์แล้ว ไอ้เสือเคลื่อนพลได้แล้ว แล้วก็ไป ไปปล้นเขา ไม่ใช่เรื่องอะไร นั่นก็คือการสร้างกำลังใจให้มีความเข้มแข็ง ไม่ให้หวาดกลัวต่อภัยอันตราย เข้าไปถึงบ้านไหนก็ต้องเอาเท้าถีบประตูเลย แล้วก็ร้องว่า ไอ้เสือ เอาหว่า เอาเลย ก็ต้องบุกเข้าไป อันนี้ก็ปล้นได้ตามที่ต้องการ โดยมากเจ้าของบ้านไม่ได้เตรียมตัวต่อสู้ พอได้ยินเสียว่าไอ้เสือก็ขวัญหนีดีฟ่อไปหมดแล้ว จิตใจตกต่ำ ไม่มีกำลังที่จะต่อสู้ มีอะไรก็เอาไปเถอะพ่อเจ้าประคุณ เอาไปเถอะๆ ให้เขาหมดเลยน่ะ มันเป็นอย่างนั้น
นั่นคือการเตรียมกำลังใจเหมือนกัน เพื่อไปทำการต่อสู้ในการไปปล้นเขา แต่เป็นกำลังใจที่ผิด เรียกว่าเป็นมิจฉาสมาธิ มิจฉาสังกัปปะ คิดในทางผิด ดำริในทางผิด ตั้งใจไว้ผิด มีสมาธิในทางผิด ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไร ไม่ได้เป็นไปเพื่อการสร้างสรรค์ชีวิตจิตใจ แต่เป็นไปเพื่อการทำลาย เอามาเล่าให้ฟังเพื่อเป็นเครื่องแสดงว่า แม้คนจะไปทำอะไรอย่างนั้นในทางเสีย มันก็ต้องสร้างกำลังใจไว้ เพื่อให้เกิดกำลังภายในมีความเข้มแข็งจะได้ต่อสู้ได้
ทีนี้เรากลับกันเสียใหม่ เราเอามาสร้างกำลังใจในทางที่ถูกที่ชอบ ในทางสร้างสรรค์ชีวิตจิตใจให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในชีวิตในการงาน ก็ต้องสร้างกำลังใจในทางที่จะให้เกิดความเข้มแข็ง ทางปักษ์ใต้เขามีการแข่งมโนราห์กันบ่อยๆ สมัยก่อนวัดอยากจะได้เงินได้ทองไปสร้างวัด เขามักก่อพระเจดีย์ทราย โดยมากทำหน้าแล้ง ดินฟ้าอากาศอำนวย ก่อพระเจดีย์ทราย การก่อพระเจดีย์ทรายก็อุบายเพื่อเอาทรายมาถมวัดนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร คนก็เอามาก่อ บ้านนั้นกองหนึ่งๆ เอามากองใหญ่เชียว แล้วก็ตกแต่งให้เป็นรูปเจดีย์ เอาน้ำพรมให้ทรายเปียก แล้วเอาไม้มาทุบบาดให้เป็นลวดเป็นลายหน่อย เอามาหมุนรอบ เป็นรูปเจดีย์ แล้วเอาปูนขาวโรย แล้วเอาไม้ไผ่ปักไว้ที่ยอด แล้วเอาดอกไม้ปักไว้เป็นยอดเจดีย์
ในวันที่ฉลองก็เอาเงินมาใส่ยอดเจดีย์ไว้ ร้อยบาทสองร้อยบาท ตามเรื่องตามราว เรียกว่าก่อเจดีย์ทราย เป็นอุบายเพื่อเอาทรายมาถมวัด แต่จะบอกว่าขนทรายเข้าวัด คนมันไม่ขน มันไม่สนุกอะไร ต้องมีเครื่องล่อ บอกว่าฉลองพระเจดีย์ทราย คราวนี้มีมโนราห์แข่งกันสองโรง ขนกันใหญ่เลย เพราะอยากดูมโนราห์แข่ง นี่เขาไปรับมโนราห์มา มโนราห์มาก็เอาบ้านเหนือเอาไปโรงหนึ่ง เลี้ยงดูปูเสื่อเสร็จ บ้านใต้เอาไปโรงหนึ่ง แล้วพวกบ้านเหนือบ้านใต้นี่เขาถือหางกันน่ากลัวทีเดียว ต้องคอยต้อนคนมาให้ดูของตัวมากๆ ตอนใกล้จะตีกลองต้องต้อนคนมามากๆ ตัดสินแพ้ชนะกันตรงไหน ว่าคนข้างไหนมาก ต้องหาอุบายหลอกกัน วิธีอะไรต่ออะไร บางโรงก็บอกว่าจะเสกกระต่ายขูดมะพร้าวให้ชนกัน เอากระต่ายสองตัวมาวาง เอาผ้าคลุมไว้ ไม่ได้เสกสักที ไม่ได้ชนกันสักที คนก็มามุงดูนี่มันจะเสกกระต่ายขูดมะพร้าวให้ชนกันแล้ว รอกันพวกนั้นก็ล้อมไว้ไม่ให้ไปไหน พอเสียงตีกลองตุ้มๆ โรงนี้ชนะ ชนะด้วยหลอกว่าจะกระต่ายชนกันนั่นเอง
แต่ว่าก่อนที่จะมาเข้าลงแข่ง เขามีพิธีเหมือนกัน เคยเห็น เขาเรียกว่าเชิญครูให้มาประทับในจิตใจของทุกคนที่จะเป็นตัวรำตัวแสดงโรงนั้น ทุกคนก็มานั่งพร้อมก้นแล้วก็มีสายสิญจน์วงรอบกันโรงนู้นไม่ให้ …... (35.45 เสียงไม่ชัดเจน) เรียกว่าทำมาก็เข้าไม่ได้สายสิญจน์กั้นไว้ ความจริงถ้ามาขึ้นบนสายสิญจน์ก็ได้ ไปใต้ก็ได้ แต่ว่าความเชื่อของคน อย่างนั้น นึกว่าสายสิญจน์เล็กเท่านิ้วก้อยมันกั้นอะไรได้หมด กั้นไว้รอบ แล้วก็เอาเทรอดมาแขวนตรงกลาง แขวนไว้ แล้วก็หมุน เวลาก่อนทำก็ทำพิธี โหมโรง อะไรต่ออะไร แล้วทุกโรงมีหมอประจำ เป็นครูเฒ่าประจำโรง ก็ต้องนั่งทำพิธีปลุกเสก แล้วก็ให้กินน้ำมันบ้าง น้ำมนต์บ้าง ทาแป้งบนกระหม่อม ลงเสกยันต์ เสกบนหัว ทำทุกอย่าง ให้กำลังใจกันทั้งนั้น
เสร็จแล้วก็พอถึงตอนสุดท้ายก็เอาเทรอดหมุน หมุนไป ถ้าว่าเวลามันหยุดเทรอดมันหันหน้าไปโรงนู้น ที่อยู่บ้านโน้น เรียกว่าชนะนะพวกเรา เรียกว่าครูเข้าด้วยแล้ว ครูหันหน้าไปนู้นแล้ว ครูสู้แล้ว ว่างั้น ไอ้ด้านนู้นก็ทำแบบเดียวกัน แล้วก็หมุนอย่างเดียวกัน ถ้าหากว่าเทรอดมันหันหลังให้โรงนู้นก็เรียกว่าดีแล้ว เพื่อนเห็นหลังแล้ว แพ้แล้ว มันเป็นอย่างนั้น นี่ก็คือเรื่องสร้างกำลังใจให้เกิดความเข้มแข็ง เพื่อจะได้ออกไปต่อสู้กับเหตุการณ์ต่างๆ แล้วรุ่งขึ้นก็ไปแข่งกัน รำกัน น่าดู คนก็ไปดูกัน สมัยเป็นเด็กๆ ก็ต้องไปดู อาตมานี่มันแปลกชอบไปดูโรงที่แพ้ ดูโรงชนะคนมันมากแทรกไม่ไหว โรงไหนแพ้ไปดูโรงนั้นเลย เข้าไปดูโรงแพ้ ดูสบาย ชอบอย่างนั้น นี่เป็นเรื่องที่เขาทำกันอย่างนั้น
ในแง่ธรรมะนี่ก็เหมือนกัน เราจะต้องคอยปลุกปลอบจิตใจของเราไว้ ให้เกิดความเข้มแข็ง เกิดการควบคุมตัวเอง เกิดความอดทน มีสติ ปัญญา กำกับอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะไปไหน จะทำอะไร ต้องทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้นตามธรรมเนียมที่เขาสร้างไว้ เช่น เราจะไปไหน ต้องเข้าห้องพระไปนั่งสวดมนต์ไหว้พระ ระลึกถึงพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ระลึกถึงพ่อแม่ครูบาอาจารย์ อันนี้เพื่ออะไร เพื่อกำลังใจ เพื่อให้เกิดกำลังใจเข้มแข็ง เรานึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า เวลานั่งสวดพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ จิตมันสงบ เป็นสมาธิ มีความเข้มแข็งเกิดขึ้นในใจ เสร็จแล้วก็ออกไป
เวลาจะไปนี่เขายังบอกอุบายให้ ว่าให้ควบคุมจิตใจด้วยการภาวนา เช่น ภาวนาว่าพุทโธทุกย่างก้าว ภาวนาว่าอะระหังทุกย่างก้าว จนกว่าจะไปเจอคนนั้น หรือจะไปเจอเหตุการณ์นั้นๆ นี่ไม่ใช่เรื่องอะไร เรื่องสร้างกำลังใจทั้งนั้น ให้ใจสงบไม่ตื่นเต้นไม่กลัวต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ให้มันสงบคงที่ไว้ มีสติ มีปัญญากำกับอยู่ พอไปถึงนั้นก็ใจดี ใจเรียบร้อย จะพูดจะจาสนทนาพาทีกับคนเหล่านั้น ก็ไม่เป็นไปในทางที่จะเสียเปรียบใครๆ นี้จำเป็น โดยเฉพาะในสังคมในยุคปัจจุบันนี่ คนเรามันชิงไหวชิงพริบกันอยู่ตลอดเวลา ในการแข่งขัน ในการต่อสู้กัน
ตัวอย่างเช่น ขณะนี้เราจะเห็นว่า มีการต่อสู้กันอย่างถึงพริกถึงขิง คือต่อสู้เพื่อจะเข้าไปนั่งในสภา ให้คนเลือก ทุกคนที่สมัครผู้แทนนั้นจะต้องหาวิธีการมาพูดทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องต่างๆ เรียกว่าใช้ทั้งหลอกทั้งล่อ หลอกบ้าง ล่อบ้าง ชมบ้าง ทุกอย่าง พูดทุกอย่าง นักการเมืองนั้นจะต้องมีความพลิกแพลงพอสมควร ไม่ใช่ว่าจะทื่อตลอดเวลามันก็ไม่ได้ มันต้องรู้จักพลิกแพลง พูดจา ดูจิตฝูงชนว่าเขามีความสนใจเรื่องอะไร ชอบอะไร ต้องพูดให้เหมาะแก่คนเหล่านั้น ตรึงคนฟังไว้ได้หลายๆ ชั่วโมง คนก็เก่งเหมือนกันน่ะ คนที่พูดคนฟังเป็นจำนวนไม่ใช่น้อย นั่งกันเต็มไปทั้งบริเวณนี่ แล้วก็ตรึงคนฟังไว้ได้ ให้สงบนิ่ง ให้ฟังเหตุผลของเขา ก็นับว่าเป็นพระเอกพอสมควร
ฝ่ายหนึ่งก็โจมตีอีกฝ่ายหนึ่งหาว่าเป็นคนอย่างนั้น เป็นคนอย่างนี้ ไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ ชวนกันลุมตี ลุมกระทืบต่างๆ นานา แต่ว่าผลที่สุดคนถูกกระทืบกลับชนะไปก็มีเหมือนกัน ทำไมเป็นอย่างนั้นขึ้นมาได้ คือ คนเราไม่เข้าใจเรื่อง คนใดถูกเพื่อนรังแกมากนี่ คนมันสงสาร มันสงสารคนๆ นั้นขึ้นมา บอกแหมมันลุมว่าไอ้คนนี้คนเดียว คนนี้มันต้องเก่ง มันต้องดีแน่ เพราะถ้าไม่ดีแล้วคนไม่ลุมกันด่าแน่ๆ เลยเขาเลือกคนนั้น ไอ้คนที่เขาด่ามาก หนังสือพิมพ์ทุกฉบับก็ด่าคนๆ นั้น ทุกพรรคการเมืองก็ด่าคนนั้น ผลที่สุดคนถูกด่ามากกลายเป็นผู้ชนะไป ไอ้พวกด่าแพ้ไปตามๆ กันทีเดียว เพราะอะไร เพราะไปสร้างคะแนนสงสารให้เกิดขึ้นแก่คนนั้น เราลุมกันพูดมากๆ คนมันสงสาร บอกว่า ประโถ่มันด่าแต่คนๆ นี้ น่าสงสาร เลยเลือกคนที่ถูกด่า เพราะว่าเลือกด้วยสงสาร เลือกคนนั้นเข้าไป
แต่ความจริงคนถูกด่ามันก็มีดีเหมือนกันนะ ถ้าไม่ดีเพื่อนมันจะด่าทำไม ไม่ดีคนมันจะริษยาทำไม คนเรานี่เขาเรียกว่า เขาริษยาดีกว่าเขาสงสาร คนใดถูกริษยา หมายความว่าคนนั้นมีดี มีคุณงามความดี เพื่อนจึงริษยา คนมีทรัพย์เพื่อนริษยาเพราะมันมีทรัพย์ คนจนไม่มีใครริษยา คนโง่ไม่ถูกใครริษยาเพราะมันโง่ ไม่รู้ว่าจะไปริษยาทำไม แต่ถ้าคนไหนฉลาด คนริษยา คนไหนเด่นก็มีคนริษยา คนไหนเก่งก็มีคนริษยาคนๆ นั้น หากในที่สุดคนก็ตัดสินว่า อ้อคนนี้ถูกคนลุมด่าลุมว่ามากมันต้องมีดี ถ้าไม่มีดีคนจะไปด่าไปว่าทำไม เพราะฉะนั้นก็เลยตัดสินใจว่าคนนี้แหล่ะดีที่สุดในหมู่คนที่สมัครผู้แทนราษฎร แล้วเขาเลือกคนที่ถูกด่านั้นเอง
คนที่ช่วยกันด่าคนๆ นั้น ก็เรียกว่า ไปช่วยให้เขาได้คะแนนนิยมนั่นเอง โดยไม่รู้ตัว เพราะไม่ศึกษาจิตวิทยาให้ละเอียด ไม่รู้เรื่องจิตของคน ว่ามันเป็นอย่างไร เลยไปช่วยให้คนที่เราไม่อยากให้เข้าไปในสภา ได้เข้าไปในสภา อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน ตัวอย่างมีเช่น กรุงเทพมีตัวอย่าง คนที่ถูกด่ามากกลับชนะ ลอยลำไปเลย ทั้งพวกหมด ชนะหมด ก็เพราะว่ามันลุมกันด่ามากเกินไป จนคนสงสาร แล้วคนมองเห็น คนนี้มันต้องมีดีแน่ เพราะคนมันด่าทุกคน แล้วคำด่านั้นไม่ใช่เรื่องจริงอะไร คนก็พิจารณา มันด่ามากๆ มันจริงหรือเปล่า เพราะมองแล้วไม่เห็นมันจริงตามที่เขาด่า เลยเขาก็เทคะแนนให้เลย พวกที่ด่าเพื่อนก็เลยแพ้ บาปกรรมนั้นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร บาปกรรมที่ไปด่าเขามากเกินไป เลยแพ้พลิกท้องไปเลย มันเป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้นคนเราจึงต้องเตรียมจิตเตรียมใจในการที่จะต่อสู้กับอะไร ลักษณะอันหนึ่งมักจะเกิดขึ้นแก่คนเราทั่วๆ ไป เขาเรียกว่าความประหม่า ประหม่าก็คือว่า ไม่ไว้ใจตนเอง ไม่มีความเชื่อในตัวเองว่าจะทำได้ในเรื่องนั้นเรื่องนี้ พอจะให้ทำอะไรก็ประหม่า จะให้ลุกขึ้นพูดในที่ประชุม พอขึ้นไปถึงยืนตัวสั่น ปากคอสั่น ท่านทั้งหลายๆ พูดไม่ออกไปเลยทีเดียว อย่างนี้เขาเรียกว่าประหม่า ความประหม่านี้ทำลายบุคลิกภาพ ทำลายสติปัญญา ทำลายความคิดความอ่าน พูดไม่ออกเพราะความประหม่าอย่างนั้น อันนี้ ทำไมจึงประหม่า เพราะไม่ไว้ใจตัวว่าจะพูดได้ จะพูดถูกต้อง และไปเห็นคนฟัง โอ้ยคนนั้นก็มา คนนั้นก็เป็นนักปราชญ์ คนนั้นก็มีความรู้เก่งกว่าเรา เราจะไปพูดอะไรให้คนนั้นฟังหนอ แย่แล้ว แย่แล้ววันนี้ แล้วพอขึ้นบนเวที เหมือนกับเอาขึ้นเขียง เรียกว่าไปไม่รอดเลยทีเดียว นี่คือความประหม่า
ความประหม่าเกิดขึ้นเพราะว่าความอ่อนแอทางจิตใจ ไม่มีความเข้มแข็งทางจิตใจเพียงพอ พูดว่าไม่เชื่อตัวเอง ไม่มีศรัทธาในตัวเองว่าตัวมีความรู้ ตัวมีความสามารถ หรือตัวมีความเข้าใจในเรื่องนั้นที่จะพูดให้เขาฟัง ขลาดหมดเลย เลยพูดไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ก็กลายเป็นคนประหม่า คนประหม่านี้ออกศึกไม่ได้ เพราะพอออกไปเขาเห็นหน้า ไอ้นี่หน้าซีดเหมือนไก่ต้ม แล้วจะไปสู้อะไรกับข้าศึก คนออกศึกหน้ามันต้องยิ้มแย้มแจ่มใส ใจเบิกบาน ออกไปสู้กับเพื่อนได้ ไม่กลัวใคร คนนั้นก็สู้กับสิ่งเหล่านั้นได้
อารมณ์ทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นแก่ตัวเรานี้ก็เหมือนกัน เรามันต้องรู้ไว้ว่า อะไรมันจะเกิดขึ้น มีเหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้น ในการที่เราจะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนี้ จะพบคนนั้น จะพบเหตุการณ์เช่นนี้ เราต้องเตรียมไว้ คิดไว้ล่วงหน้า คิดล่วงหน้าวางแผนไว้ ถ้าสิ่งนั้นเกิดเราจะสู้อย่างไร ถ้าสิ่งนั้นเกิดขึ้นเราจะทำอย่างไร จะแก้อย่างไร มันต้องพร้อม กำลังใจต้องเข้มแข็ง ต้องมีความอดทนอย่างเพียงพอ แล้วเราก็สามารถจะสู้เขาได้ อันนี้สู้ได้ด้วยการปฏิบัติธรรม เช่นเราฝึกสมาธิไว้บ่อยๆ เท่ากับสร้างกำลังใจให้มีความเข้มแข็ง ให้มีความอดทน ในการที่จะต่อสู้ เพราะเรามีกำลังสมาธิ พอเราขึ้นพูด สมาธิมันอยู่ในตัว ไม่หวาดกลัวอะไรทั้งนั้น กำลังสมาธิมากั้นไว้ ไม่ให้เกิดความกลัว ไม่ให้เกิดความประหม่าในการที่จะทำอะไร เราก็ทำได้
เมื่อใดเราเป็นตัวเอง จิตใจสงบ การพูดการจามันก็คล่องแคล่ว พูดได้ดี มีสมาธิมั่นอยู่ในการพูด มันก็พูดคล่องไปตามเรื่องตามราว แต่พอไปกลัวอะไรขึ้นมา ตกใจอะไรขึ้นมา มีเหตุการณ์อะไรแทรกเข้ามา คนนั้นจะเสียสมาธิทันที แล้วมันจะกุกกักขึ้นมา จับต้นชนปลายไม่ถูก เพราะว่าจิตมันขาดตอน มันไปตกใจ มันขาดระยะไป มันไม่เชื่อม เหมือนไฟไม่เชื่อมกัน ไม่สืบต่อกัน มันก็ดับ ความคิดมันก็ดับไปในขณะนั้น ต้องสร้างใหม่ ก็มึนงงไปชั่วขณะหนึ่ง ก็ไม่รู้จะสร้างความคิดอย่างไร เป็นความเสียหายแก่ชีวิตกิจการของบุคคลผู้นั้น ดังนั้นต้องเตรียมตัว โดยเฉพาะคนหนุ่มต้องหันหน้าเข้าหาพระธรรมไว้ เอาพระพุทธเจ้าเป็นหลักใจไว้ เอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลักครองใจ เอาพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้ามาเป็นตัวอย่างในชีวิตประจำวัน ต้องศึกษา ต้องทำความเข้าใจ
ดังนั้นหน้าร้อน ญาติโยมจึงมักจะเอาลูกมาบวชในวัด แต่วันนี้ ที่บริเวณลานหินเต็มไปหมด พรึบไปเลย สามเณรน้อยๆ พระใหม่ๆ ที่เข้ามาบวชกันมากมายก่ายกอง นั่งเต็มไป ให้ญาติโยมได้ชื่นใจ คนเหล่านี้ก็เข้ามาเพื่ออบรมบ่มนิสัย เพื่อสร้างชีวิตไว้ต่อสู้กับปัญหาต่างๆ อันจะเกิดขึ้นในวิถีทางของชีวิตต่อไป ต้องเป็นนักรบของพระพุทธเจ้า จึงจะต่อสู้กับสิ่งทั้งหลายได้ ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้านี่เป็นนักรบ เป็นนักต่อสู้ไม่ถอย พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เราหนี ให้เราสู้กับเหตุการณ์ ให้สู้กับปัญหานะ ไม่ว่าเรื่องอะไรจะเกิดขึ้น สู้กับมัน พุ่งเข้าไปหาสิ่งนั้น ด้วยปัญญา ด้วยสติ เป็นคมหอก พุ่งเข้าไปสู่ปัญหานั้นทันที แล้วพิจารณาว่ามันคืออะไร มันมาจากอะไร มันจะให้อะไรแก่เรา เราจะป้องกันสิ่งนั้นอย่างไร นี่ คือตัวการต่อสู้
พระพุทธเจ้าสอนให้สานุศิษย์ของพระองค์เข้มแข็ง อดทน หนักแน่น พุ่งเข้าไปสู่ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ยอมกลัว ไม่ยอมท้อถอย ไม่ยอมหนีจากอะไรๆ ทั้งหมด ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้ามีลักษณะเช่นนั้น ไม่อ่อนแอ ท้อแท้ ไม่ถึงกับคิดฆ่าตัวตาย คนอ่อนแอก็คิดฆ่าตัวตาย ทำลายตัวเอง แสดงว่าสู้ไม่ไหว อย่างนี้ก็เพราะว่าขาดหลักทางใจ ไม่มีที่ซึ่งอันเป็นเครื่องปลอบโยนจิตใจ จิตใจจึงตกต่ำไปสู้ภาวะเช่นนั้น ย่อมพ่ายแพ้แก่สิ่งทั้งหลายได้ แต่ถ้าเราเตรียมกายเตรียมใจของเราให้พร้อมอยู่ตลอดเวลา ฝึกสมาธิไว้ ศึกษาสิ่งต่างๆ ในวิถีทางชีวิตของเราไว้ เรียนเรื่องคน เรียนเรื่องงาน เรียนเรื่องเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อเอามาเป็นบทเรียน เป็นเครื่องเตือนสะกิดจิตใจให้เราได้มองเห็นสิ่งนั้นทะลุปรุโปร่ง เราก็สามารถจะต่อสู้ปัญหาเหล่านั้นได้
มีคนที่มีปัญหามากบ่อยๆ มาถาม บางทีก็โทรศัพท์มาถาม บอกว่าจะต่อสู้อย่างไร เมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น นี่เรียกว่าไม่ได้เตรียมตัวไว้ก่อน ประมาท ไม่ได้เข้าวัด ไม่ได้ศึกษาธรรมะไว้ พอมีอะไรเกิดขึ้นก็ห่อไปเลย ใจเหี่ยวไปเลยทีเดียว สู้เขาไม่ได้ ก็เราไม่หัดเตรียมสู้ไว้ เหมือนนักรบไม่ได้เตรียมยุทธวิธีการรบไว้ให้พร้อมจะออกไปรบได้อย่างไร นักมวยขึ้นเวทีไม่ได้ฝึกเลยจะไปขึ้นได้อย่างไร เขาเรียกว่ามวยวัดนะ เด็กวัดต่อยกันไม่ได้ฝึก ต่อยกันเพราะความโกรธ มันก็ไปไม่รอด เราอยู่ในเวทีโลก ให้รู้ไว้ว่าเราจะต้องต่อสู้กับปัญหานานาประการ เราจึงต้องมีกลวิธีในการต่อสู้
การศึกษาธรรมะนี่คือกลวิธีอันหนึ่ง การเอาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มาเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ เป็นวิธีการอันหนึ่ง แล้วก็ได้ใช้ปัญญาในพระพุทธศาสนาเป็นสมอง เป็นเสนาธิการ ในการที่จะวิเคราะห์วิจัยปัญหาประเภทต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของเรา เราก็จะได้แยกแยะออกไปว่า อะไรเป็นอะไร อย่างละเอียดรอบคอบ แล้วเราก็ไม่หวาดหวั่นต่อสิ่งนั้น เห็นสิ่งนั้นว่าเป็นเรื่องขี้ผง เป็นเรื่องธรรมดา เราสู้มามากกว่านี้ เราทนมามากกว่านี้ สิ่งนี้จะไปกลัวอะไร ใจมันก็เข้มแข็ง เกิดปัญญา เกิดสติ เกิดความตั้งมั่นในจิตใจ เราก็เข้าไปต่อสู้กับปัญหาเหล่านั้นได้โดยเรียบร้อย
พ่อแม่ผู้ปกครองของลูกหนุ่มสาวทั้งหลาย ควรจะให้ลูกได้รู้สิ่งเหล่านี้ไว้ ให้เขาได้เข้าวัดไว้ ได้อ่านหนังสือธรรม ได้ฟังอะไรไว้ ต้องยัดเหยียดให้เขาหน่อย แม้เขาไม่อยากจะฟังเพราะเขายังไม่รู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร ยังไม่รู้ว่าคุณค่าของธรรมะคืออะไร เป็นประโยชน์อย่างไร เขายังไม่รู้ เขามองแต่เรื่องวัตถุ มองแต่เรื่องความสนุกสนานเพลิดเพลินทางเนื้อทางหนัง เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นมันมาก มันคอยเป่าหูอยู่ตลอดเวลา ป้อนใส่ตา ใส่หู ใส่จมูก ใส่ปาก ใส่เนื้อใส่หนัง อยู่ตลอดเวลา จิตใจมันก็โน้มเอียงไปในทางอย่างนั้น นั่นเป็นเครื่องช่วยให้แพ้ทั้งนั้น ไม่ได้เป็นเครื่องช่วยให้เกิดความชนะ ไม่ได้เป็นเครื่องช่วยสร้างกำลังจิตใจ
แต่ถ้าเราชวนเขาเข้าวัดเข้าวา ได้ฟังสิ่งถูกต้อง ได้รู้ได้เข้าใจกลวิธีในการต่อสู้กับปัญหาชีวิต เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นเขาก็พอจะเอาตัวรอด ปลอดภัยจากอันตรายทั้งหลายทั้งปวงได้ การกระทำอย่างนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกต้องของพ่อแม่ ที่จะต้องช่วยกัน โดยเฉพาะหน้านี้เป็นหน้าร้อน โรงเรียนปิดภาค เด็กมักจะอยู่ว่างชอบเที่ยวชอบเตร่ หาความสนุก เสียคนไปเยอะนะ เสียคนตอนปิดภาค พ่อแม่จึงต้องพยายามที่จะคอยสอน คอยเตือน ชี้แนะแนวทางให้เขาเข้าใจ เขาจะได้เดินไปอย่างองอาจกล้าหาญ อย่างผู้มีชัยชนะในชีวิตในวิถี เวทีของลูกต่อไป เป็นเรื่องที่ต้องกระทำ จึงฝากเรื่องนี้ไว้กับญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายที่ได้มาร่วมชุมนุมฟังกันในวันนี้
แสดงมาก็สมควรแก่เวลา ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที