แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่งซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงนี้ได้ และจงตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันอาทิตย์เป็นวันที่เราว่างจากจากงานฝ่ายกายมาหางานฝ่ายจิตทำกัน งานที่เราทำอยู่ในชีวิตประจำวันนั้นมันก็มี ๒ อย่าง เรียกว่างานฝ่ายร่างกายอย่างหนึ่ง งานฝ่ายจิตอย่างหนึ่ง งานฝ่ายร่างกายเป็นงานออกกำลัง ต้องยก ต้องรื้อ ขีดเขียน หรือทำอะไรต่าง ๆ อันเป็นอาชีพซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกคนจะต้องทำ เพราะชีวิตกับงานเป็นของคู่กัน เราจะอยู่โดยไม่ได้ทำอะไรเลยนั้น ย่อมไม่ได้ อยู่เฉยๆ นี่ ไม่ได้ คนอยู่เฉยมักจะมีเรื่อง ก่อเหตุสร้างปัญหา เพราะไม่มีอะไรจะทำ แต่ถ้าได้มีอะไรทำเป็นประจำอยู่แล้ว จิตใจก็ไปอยู่กับงานในหน้าที่ มันไม่ยุ่ง จะไม่เกิดปัญหาขึ้นในชีวิต นั่นเป็นเรื่องหนึ่ง
ทีนี้ว่าเราทำงานฝ่ายกายทุกวัน ๆ ก็มีความเหน็ดเหนื่อยทางร่างกาย เหนื่อยกายนั้นคือการปวดเมื่อย การอิดหนาระอาใจนั่นเป็นเรื่องเหนื่อยใจ มันเหนื่อยทั้ง ๒ แบบ กายก็เหนื่อย ใจก็เหนื่อย แต่การเหนื่อยกายนั้นแก้ไม่ยาก นั่งพัก นอนพักเสียก็หายเหนื่อย แต่ว่าเหนื่อยใจนั้นมันต้องแก้ด้วยธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระศาสนา
ธรรมะนี่ถ้าพูดไปแล้วก็เป็นยาด้วยเหมือนกัน แต่เป็นยาช่วยโรคทางใจและโรคทางวิญญาณ โรคทางกายนั้นใช้ยาเป็นวัตถุ แต่โรคทางใจนั้นใช้ยาที่เป็นธรรมะ เอายาธรรมะมาแก้ มาระงับ ทำให้ความเจ็บปวดทางใจหายไป แต่ว่าไม่ใช่โรคหัวใจ ที่ว่าเป็นโรคหัวใจน่ะมันก็เป็นโรคทางกายเหมือนกัน คือว่าหัวใจทำงานไม่ปกติ มันเหน็ดเหนื่อยแล้วก็กลายเป็นโรคหัวใจวายไปซึ่งมีกันบ่อยๆ เมื่อวานนี้ก็มีข่าวท่านผู้บัญชาการทหารอากาศหัวใจวายที่ปีนังก็ถึงแก่กรรมไป นั่นก็เป็นโรคทางร่างกาย ไม่ใช่โรคทางจิตทางวิญญาณ
โรคทางจิตทางวิญญาณนั้นคือเป็นโรคของกิเลส เช่นว่าเกิดความโลภจัด โกรธจัด เกิดความอยากรุนแรงในเรื่องต่าง ๆ พวกกิเลสทั้งหมดเขาเรียกว่าเป็นโรคทางใจ โรคทางใจนั้นแก้ด้วยวัตถุไม่ได้ ถ้าเอาวัตถุเข้ามาแก้ เหมือนกับไปกินของแสลง จะเป็นโรคมากขึ้น เช่น คนมีความโลภแล้วก็หาวัตถุมาแก้ ความโลภมันก็เพิ่มขึ้น คนมีความโกรธ เอาวัตถุมาแก้ ก็จะเกิดความโกรธมากขึ้น คนมีความเกลียด เอาวัตถุแก้ มันก็เกลียดมากขึ้น แก้ไม่ได้โดยทางวัตถุ แต่แก้ได้โดยเอาธรรมะมาระงับความเร่าร้อนอันเกิดจากกิเลสนั้น ๆ
พวกกิเลสนี่ทำความร้อนทั้งนั้น ความโลภก็ร้อน ความโกรธก็ร้อน ความหลงก็ร้อน ความริษยาพยาบาทที่เกิดขึ้นในใจของเราแต่ละเรื่อง แต่ละประการ มันทำให้ร้อน ความร้อนทางกายนั้นไม่รุนแรง เช่น หน้านี้เริ่มเข้าหน้าร้อน แดดร้อน แต่ถ้าเรามีลมช่วย ความร้อนทางแดดที่แผดเผาก็จะหายไป หรือว่าเราเข้าไปอยู่ในห้องปรับอากาศ หรือไปอยู่ตามใต้ต้นไม้ที่มีอากาศเย็น เราก็จะหายร้อน แต่ว่าความร้อนในทางจิตนั้น มันไม่อย่างนั้น และอยู่ในห้องปรับอากาศก็ยังร้อน ลงไปอยู่ในที่เย็นแล้วก็ยังร้อนอยู่นั่นเอง เพราะมันร้อนข้างใน มันแผดเผาอยู่ในจิตใจ ไม่ใช่แผดเผาที่ผิวร่างกาย
แผดเผากายนั้นแก้ง่าย แผดเผาใจนี่แก้ยาก สิ่งแผดเผาใจนั้นก็เป็นโรคทางใจ คือกิเลสประเภทต่าง ๆ เกิดขึ้นในใจแล้ว มันทำให้ความรู้สึกรุนแรง คนที่มีความรู้สึกรุนแรงนั้น อาจจะใช้มือใช้ไม้ไปลงโทษใครเขาเมื่อใดก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงเกิดการฆ่ากัน ทำร้ายกัน เพราะอาศัยความร้อนที่เกิดขึ้นในจิตใจ อาศัยโรคทางใจทำให้คนต้องทำลายกันเบียดเบียนด้วยประการต่าง ๆ การเบียดเบียนกันระหว่างบุคคลก็เนื่องจากความร้อนทางใจ การเบียดเบียนกันระหว่างหมู่คน ยกพวกมาตีกัน ก็เป็นเรื่องร้อนทางใจ การเบียดเบียนกันในระหว่างชาติประเทศ เช่น ยกทหารเข้าไปยึดครองประเทศใดประเทศหนึ่งแล้วก็ตั้งรัฐบาลหุ่นขึ้นมา สำหรับให้ปกครองคนในประเทศนั้น นั่นก็เป็นเรื่องของโรคทางใจ โรคอยากได้ คือความโลภ โรคโกรธคนนั้นคนนี้ ชาตินั้นชาตินี้ ที่มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วก็โรคความหลงไม่รู้เรื่องอะไร จึงสร้างปัญหา สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นแก่คนในชาตินั้นประเทศนั้น คนใดที่อยู่ไม่ได้ก็อพยพหนีเข้ามาในประเทศที่มันไม่ร้อนเกินไป เช่น คนเขมรเดือดร้อน คนลาวเดือดร้อน ก็หนีเข้ามาฝั่งไทย เพราะฝั่งไทยนี่ไม่ร้อนเท่าใด เราอยู่กันด้วยความเย็นพอสมควร โรคทางใจมีเหมือนกันแต่มันไม่รุนแรง ไม่รุนแรงถึงขนาดยกกองทัพไปรุกรานใคร ๆ เรามีทหาร เรามีกองทัพ แต่เราไม่ได้มีไว้เพื่อรุกรานใคร เรามีไว้เพียงเพื่อป้องกันบ้านของเรา ไม่ให้คนอื่นเข้ามาย่ำยีบีฑา เรามีเพียงเท่านั้น มีไว้มิใช่เพื่อรุกราน แต่มีไว้เพียงเพื่อป้องกันตน การมีไว้ในรูปอย่างนั้นไม่เสียหาย แต่ถ้าเรามีไว้เพื่อไปรุกรานใครๆ ไปข่มเหงประเทศใดประเทศหนึ่ง การกระทำเช่นนั้นย่อมเป็นการไม่เหมาะ เป็นการไร้ศีลไร้ธรรม เป็นการสร้างปัญหาความยุ่งยากให้เกิดขึ้นในระหว่างประเทศ
ประเทศที่นับถือศาสนาย่อมเคารพศีลธรรม มีธรรมะเป็นหลักใหญ่ โรคร้ายทางใจก็ไม่รุนแรง แต่ว่าประเทศใดที่ไม่มีศาสนา ประกาศตนใช้ลัทธิไม่มีศาสนาสำหรับเอามาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ หลงใหลมัวเมาแต่ในเรื่องด้านวัตถุเพียงประการเดียว ก็จะเกิดปัญหายุ่งยากขึ้นในประเทศนั้น แล้วความกระทบกระเทือนก็ส่งผลไปยังประเทศอื่นด้วย อันนี้คือไฟไหม้ลูกที่เขากล่าวไว้ในอรรถกถา ไม่ใช่ในคัมภีร์แท้ของพระพุทธศาสนา เช่น กล่าวว่าต่อไปข้างหน้านี่จะเกิดไฟบรรลัยกัลป์ไหม้โลก วันนั้นมีหนูคนหนึ่งเข้ามาบอกว่า หลวงพ่อคะ หนูเห็นไฟบรรลัยกัลป์ อาตมาจึงบอกว่าดีแล้ว เห็นไฟบรรลัยกัลป์นี่ดีแล้ว อย่าให้มันไหม้หนูก็แล้วกัน แล้วแกก็เดินจากไป คือแกเห็นไฟบรรลัยกัลป์ไม่รู้ในแง่ไหนที่แกเห็น แต่ว่าอาตมาก็ตอบว่าดีแล้วที่หนูเห็นไฟบรรลัยกัลป์น่ะ อย่าให้มันไหม้หนูก็แล้วกัน หนูจะเข้าใจหรือเปล่าก็ไม่รู้ที่อาตมาบอกอย่างนั้น แล้วแกก็ยกมือไหว้เดินไป
ไฟบรรลัยกัลป์นั้นไม่ใช่ไฟอะไรหรอก คือไฟกิเลสนั่นเอง ไฟ ๓ กอง เขาเรียกว่าไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ ดังปรากฏอยู่ในเรื่องที่เรียกว่าอาทิตตปริยายสูตรสูตรที่กล่าวด้วยของร้อน คือกล่าวสอนชฎิล ๓ พี่น้อง ชฎิล ๓ พี่น้องนี่เป็นนักบวชประเภทหนึ่งในอินเดียซึ่งมีมาก่อนพระพุทธเจ้าเกิด พวกชฎิลนี่ไม่โกนผมแต่ว่าเกล้าผมเป็นก้อนอยู่บนศีรษะ ไว้ยาว ๆ ไม่ตัด มัดไว้บนหัว เดินไปก็เห็นเหมือนกับสวมเชือกหรือสวมชฎาอย่างนั้น แล้วมีปกติบูชาไฟ เขาต้องจุดไฟไว้ในอาศรมแห่งหนึ่งเรียกว่าโรงไฟ จุดไฟไว้ไม่ให้ดับไฟนั้น เอาไม้ฟืนมาใส่ไว้เรื่อย ๆ แล้วก็ไปนั่งล้อมกองไฟ แล้วก็สวดมนต์รอบกองไฟนั้น ท่องคาถาว่าโอม อัคนิ อะไรต่าง ๆ เรียกว่าบูชาไฟ เป็นสิ่งที่เขาทำกันอยู่ก่อนในสมัยนั้น
ชฎิล ๓ พี่น้องนี่มีชื่อมีเสียงมาก คนในแคว้นมคธนับถือมาก ถือว่าเป็นอาจารย์ใหญ่ มีคนนับถือกว้างขวาง พระพุทธเจ้าจะไปสอนธรรมะในเมืองราชคฤห์หรือในแคว้นมคธ ถ้าไม่ไปปราบหัวโจก ๓ คนนี้เสียก่อน การสอนก็จะไม่ราบรื่น ไม่เรียบร้อย ก็ยังมีคนเก่งอยู่ ต้องไปทำคนเก่งให้ไม่เก่งเสียก่อน แล้วก็เอาคนเหล่านั้นเป็นพยานไปสอนในเมืองใหญ่ต่อไป พระองค์ก็วางแผนว่าจะต้องไปสอน ๓ คนนี้ให้รู้จักพระพุทธศาสนา เลยเสด็จไปที่นั่น
เมื่อไปถึงเขาก็ออกมาต้อนรับ แต่ไม่รู้ว่าเป็นพระพุทธเจ้า นึกแต่ว่าเป็นนักบวชตนใดตนหนึ่งที่มีรูปร่างดี ท่าทางน่าดู มีบุคลิกลักษณะเรียบร้อย ท่านก็บอกว่า ถ้าไม่รังเกียจเราอยากจะขอพักในโรงนั้น ทีนี้ในโรงนั้นน่ะ มีงูอยู่ เขาเลี้ยงงูไว้ งูใหญ่ งูเหลือม งูอะไรอย่างนั้น เขาก็บอกว่าอนุญาตให้ท่านพักในโรงนั้นไม่ได้ เพราะงูนั้นเป็นสัตว์มีพิษ เมื่อท่านเข้าไปพักมันก็จะกัดท่าน มันจะรัดตัวท่านให้เล็ก แล้วมันก็จะกลืนกินเป็นอาหาร เหมือนกับงูรัดสัตว์ใหญ่ ๆ เช่น รัดกวาง มันกินกวางได้นะ งูใหญ่ ๆ นี่กินกวางได้ กวางตัวเล็ก ๆ นะ กวางตัวใหญ่มันกินไม่ไหว มันรัดจนละเอียด รัดจนกระดูกหัก แล้วมันก็กลืนเขมือบลงไปเรื่อย ๆ กินกันไปตัวหนึ่ง นอนกัน ๕ เดือนเลย กว่ากวางจะย่อยหมด มันกินอย่างนั้น มันกินทีเดียว ทุ่นไปได้นาน ไม่เสียเศรษฐกิจเท่าใด ก็กินทีเดียวทนได้นาน
ทีนี้ชฎิล ๓ พี่น้องก็บอกว่าไม่ได้ ท่านอย่าไปเสี่ยงชีวิตในโรงนั้นเลย ท่านจะตายเสียเปล่า ๆ พระองค์บอกว่าไม่เป็นไร เราไม่กลัวงู เราเป็นมิตรกับงูทั้งหลาย พวกชฎิลก็นึกว่าสมน้ำหน้า เอ้า พักก็พัก ก็นึกในใจว่าพรุ่งนี้คงจะได้เห็นฤทธิ์กันแน่ ๆ แต่ว่าพอรุ่งเช้าขึ้น ปรากฏว่าไม่มีอะไร พระองค์เสด็จออกมา ประทับเบิกบานแจ่มใส พวกนั้นก็คิดว่า เอ๊ะ คนนี้พอใช้ได้ ไปนอนมากับงู งูยังไม่ทำอะไรเลย แล้วมิหนำพระองค์เอางูใส่บาตรมาเสียด้วยซ้ำไป เอางูย่อส่วนให้มันเล็กลงไปใส่บาตรมาให้ดูเสียด้วยซ้ำไป ความจริงน่ะไม่ได้จับงูใส่บาตรหรอก แต่ว่าอำนาจจิตที่พระองค์มีสูงมาก เนรมิตรเหมือนกับงูมานอนอยู่ในบาตร เปิดฝาบาตรให้ดู พวกนั้นก็เห็นงูตัวนั้นนอนอยู่ในบาตร ก็เลยชักจะเลื่อมใส แต่ว่ายังไม่เลื่อมใสสนิท เพียงแต่พูดว่า โอ้ พระรูปนี้สำคัญแต่ว่ายังไม่เก่งเหมือนเรา ยังมีทิฏฐิ อันนี้เขาเรียกว่า ทิฏฐิมานะ ความถือตัวถือตน จะยังมีอยู่ ยังมีอยู่ว่าฉันเก่งกว่าใคร ๆ ทั้งหมดในแคว้นมคธนี้ แม้สมณะผู้นี้จะเก่งแต่ก็สู้ฉันไม่ได้ ก็เลยไม่เคารพกราบไหว้เหมือนลูกศิษย์
อยู่กันต่อไปก็คราวหนึ่งเกิดน้ำท่วมใหญ่ เพราะมันอยู่ริมฝั่งน้ำเนรัญชรา เราคงเห็นภาพในโทรทัศน์ว่าน้ำท่วมอินเดียนี่พิษสงขนาดไหน ท่วมแล้วมันก็ท่วมไปหมดเลยบริเวณนั้น บ้านช่องพังพินาศ ทำไมจะไม่พัง บ้านเมืองอินเดียมันทำกับดิน ฝนตกชั่วโมงเดียว ดินละลายแล้ว บ้านมันทำด้วยดินเหนียวนี่ เหมือนกับเอาควายปั้นดินเหนียวแช่น้ำมันก็ละลายน้ำเท่านั้นเอง บ้านก็ละลายกลายไปเป็นกอง วันนั้นก็ท่วมใหญ่ พอน้ำท่วมใหญ่พวกชฎิลก็เที่ยวพายเรือแสวงพระผู้มีภาคว่า เออ สมณะรูปนั้นไปอยู่ไหนก็ไม่รู้ เที่ยวหาดู เผื่อไปเกาะต้นไม้อยู่ที่ไหน ลอยคอไปที่ไหน ไปเที่ยวหา ไปหาก็ไม่พบ เมื่อไม่พบกลับมาก็เห็นพระองค์เดินจงกรมอยู่ระหว่างน้ำ แหวกน้ำเดินจงกรมอยู่สบาย ๆ พวกนั้นก็ว่า เอ้า เที่ยวหาเกือบตาย มาเดินเหยียบอยู่ในระหว่างน้ำนี่เอง ก็เลยรับขึ้นเรือ พอรับขึ้นเรือแล้ว ก็เลยนึกว่า โอ้ สมณะรูปนี้นี่สำคัญ น้ำท่วมยังเดินอยู่ในน้ำได้ แหวกน้ำเป็นช่องเดินอยู่ได้ นับว่าเก่ง นี่เรียกว่าปาฏิหาริย์ด้วยอำนาจจิต แต่ว่าพระองค์ไม่สรรเสริญอะไรหรอก เอาไว้ใช้เวลาที่มันผจญปัญหาหนัก ๆ แบบนี้ก็ใช้ได้ แต่ปกติไม่ค่อยใช้ พวกนั้นก็เลยเลื่อมใสว่าเป็นคนสำคัญ ก็เลยสมัครตนเป็นศิษย์
พี่ชายใหญ่สมัครเป็นศิษย์ก่อน อยู่เหนือน้ำ เมื่อเป็นศิษย์ก็ลอยเครื่องบูชาไฟไปตามกระแสน้ำ น้องชายกลางเห็นเครื่องบริขารพี่ชายลอยมาก็ตกใจ นึกว่าใครมาทำร้ายพี่ชาย ก็ยกบริวารมาดู เห็นพี่ชายโกนหัว นั่งอยู่แทบเท้าพระพุทธเจ้าก็เลยเข้าไปถาม พี่ชายบอกว่า สมณะองค์นี้มีความสามารถหลายอย่างดีกว่าพวกเรา เราต้องยอมเป็นศิษย์ น้องชายก็เลยยอมเป็นศิษย์อีก ลอยบริขารไปตามกระแสน้ำ น้องชายน้อยเห็นเข้า ก็เลยมีความตกใจในรูปเดียวกัน มาแล้วก็เลื่อมใส ได้เป็นลูกศิษย์หมดทั้ง ๓ คน ชื่อ นทีกัสสปะ คยากัสสปะ อุรุเวลกัสสปะ พี่ชายนั้นชื่อ อุรุเวลกัสสปะ คนกลางชื่อนทีกัสสปะ น้องน้อยชื่อคยากัสสปะ คนพี่มีบริวาร ๕๐๐ คน น้องคนกลางมีบริวาร ๓๐๐ คน น้องสุดท้องมี ๒๐๐ คน รวมเป็นพันหนึ่ง ยอมบวชเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าทั้งหมด นี่คือการไปแก้ปัญหา ไปดับไฟของพวกนั้นเสียได้ ไม่ต้องนั่งบูชากันต่อไป
ครั้นเมื่อยอมตนเป็นลูกศิษย์แล้ว พระองค์ก็พานักบวชทั้งพันไปที่เนินหิน เขาเรียกว่าเป็นเนินหินใต้เมืองคยา ภาษาเขาเรียก คยาศีรษะ คล้ายกับว่าเป็นหัวของเมืองพญา เดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่นะ เนินนั้น ไม่มีใครทำลายหรอก บริเวณกว้างร่มรื่น พระพุทธเจ้าพาชฎิลตั้งพันไปนั่งที่นั่น นั่งแล้วพระองค์ก็แสดงเรื่องเกี่ยวกับความร้อนให้ฟัง พระองค์ก็ขึ้นต้นว่า จักขุง ภิกขะหะ (18.47) เขาเรียกว่า อาทิตตปริยยสูตร เริ่มต้นด้วยเรื่องความร้อน บอกว่าตาเป็นของร้อน รูปเป็นของร้อน ความรู้ทางตาเรียกว่าวิญญาณก็เป็นของร้อน สัมผัสที่เกิดขึ้นก็เป็นของร้อน หูเป็นของร้อน เสียงเป็นของร้อน ว่าไปโดยลำดับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่าเป็นของร้อนทั้งหมด ร้อนเพราะอะไร พระองค์ตั้งปัญหาและก็ตอบเองว่า ร้อนเพราะไฟ ๓ กอง ราคคฺคิ ไฟคือราคะ โทสคฺคิไฟคือโทสะ โมหคฺคิ (19.30) ไฟคือโมหะ ๓ กองนี่แหละมาเผาให้ร้อน ร้อนเพราะความอยากได้ ราคะคือความอยากได้ อยากมี อยากเป็นในเรื่องต่าง ๆ นี่มันเผาให้ร้อน นี่ตอนนี้ไฟใกล้จะเผาคนหลายคนต่อไป เพราะว่าเมื่อคืนนี้เขายุบสภาแล้ว พอยุบสภาแล้วพวกที่อยากจะเป็นผู้แทนก็ร้อนเลย เวลานี้ร้อน ร้อนว่ากูจะดำเนินงานอย่างไรจึงจะได้เป็นผู้แทนต่อไป นอนไม่หลับแล้วพวกเมื่อคืนนี้ พวกสมาชิกที่ถูกยุบนอนไม่หลับต้องไปตามกรรมกัน (20.14) เมื่อนอนไม่หลับก็ไฟนะ ไฟราคะเผา เพราะว่าอยากจะเป็นผู้แทนต่อไป แล้วก็แหม รัฐบาลก็ยุบแบบว่าไม่รู้เนื้อรู้ตัว ไอ้อย่างนี้ยิ่งร้อนใหญ่ ไฟมันเผาจิตเผาใจ นี่เรียกว่า ไฟอยาก
ราคะกับตัณหานี่มันก็พวกเดียวกันนั่นแหละ เรียกว่าอยากจะมี อยากจะเป็น อยากจะได้อะไรต่ออะไรต่าง ๆ มันก็เป็นราคะ เป็นตัณหา เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ร้อน เราลองสังเกตุ ที่ว่าเรียนธรรมะนี่ต้องเรียนจากตัวเราด้วย รู้จากหนังสือ จากการฟังธรรมแล้ว ก็ต้องเรียนจากตัวเราอีก เช่นว่า เรารู้ว่าความกำหนัดหรือราคะนี้เป็นของร้อน ตัณหานี่เป็นของร้อน เราเคยร้อนบ้างไหม เราเคยร้อนเพราะอะไรบ้างไหม ร้อนเพราะว่าอยากได้ สมมติว่าอยากได้เสื้อผ้าใหม่ ๆ ที่เราเห็นในหนังสือรูปแฟชั่น ที่เราออกมานั่งดู ๆ แล้ว แหม อยากจะไปตัดสักชุดหนึ่ง แต่คลำดูกระเป๋า สตางค์ไม่มี เลยตัดไม่ได้ ก็มีความร้อน เสียอกเสียใจว่า แหม สตางค์ไม่มี ทำอย่างไรจึงจะมี ทำอย่างไรจึงจะได้ มันร้อนแล้ว นั่งคิดอยู่ด้วยความร้อน แล้วพอเห็นใครแต่งตัวชุดนั้น บอก แหม ฉันอยากจะแต่งชุดนั้นเหมือนกัน แต่ว่ามันยังไม่มี อะไรเสีย ร้อนอีกเหมือนกัน ร้อนด้วยความน้อยใจ ว่า แหม เรานี่มันเกิดมาอาภัพ แต่งตัวไม่เหมือนคนอื่นเขา ไอ้ความจริงนี่สิ่งเหมือนมันมี แต่เราไม่คิด ไอ้ที่เหมือนคืออะไร จมูกเหมือน คือ ๒ รูเท่ากัน ตาก็ ๒ ข้างเท่ากัน หูก็ ๒ ข้างเท่ากัน มือข้างละ ๕ นิ้ว อาจจะขาดนิดหน่อยบางคน อ้าว ก็เหมือนคน สูงต่ำเท่ากัน ทำไมอันนี้มันเท่ากันอยู่แล้ว ไม่มีอะไร ไอ้ส่วนเสื้อผ้าน่ะเป็นเปลือกเท่านั้นเองที่เอามาหุ้มร่างกาย อาจจะหุ้มสีนั้น อาจจะหุ้มผ้ารูปอย่างนั้น มันเป็นแค่เพียงเปลือก ไม่ใช่เนื้อแท้ เราจะไปน้อยอกน้อยใจเขาทำไม เราควรจะเฉย ๆ ในสิ่งเหล่านั้น และระงับไฟในอกไว้ไม่ให้ร้อนเกินไป เราก็ไม่ถูกเผา
อีกข้อหนึ่งที่สำคัญกว่าคือเสื้อผ้า คือว่าความอยากได้ในเพศตรงกันข้าม ผู้ชายรักผู้หญิง ผู้หญิงก็รักผู้ชาย แหม พอเกิดรักขึ้นมาแล้ว มันร้อน ไม่ได้แล้ว พอไม่เห็นหน้าแล้วกินข้าวไม่ลงทีเดียว เหมือนคนโบราณพูดว่า ไม่เห็นหน้าเจ้า กินข้าวไม่ลง พอเห็นหน้าเจ้า กินข้าวหมดเข้าไป ๓ หม้อ ๓ หม้อเล็ก ๆ นะ ไม่ใช่หม้อใหญ่ ถ้ากิน ๓ หม้อใหญ่ มันก็แย่เท่านั้นเอง นี่คือความอยากที่เกิดขึ้นในใจ อยากจะได้อยู่ใกล้ชิด อยากจะได้ฟังเสียง อยากอย่างนั้นอย่างนี้ นี่คือความร้อน มันเกิดขึ้นในใจ เราเคยเกิดมาทั้งนั้น เราถูกเผามาทั้งนั้น ความร้อนอย่างนี้ คนแก่ก็เคยร้อน เมื่อสมัยวัยหนุ่ม พอมันแก่ลง มันก็ค่อย ๆ ซาไป ตามวัยนี่ ไฟมันค่อยมอดไป ๆ มอดไปตามวัย ไม่ใช่มอดเพราะได้ใช้ปัญญา แต่มันมอดไปตามวัย เช่น คนอายุ ๖๐-๗๐ นี่ ไฟตัณหามันก็ค่อย ๆ มอดไป แต่บางคนมันไม่มอด เขาเรียกว่าตัณหามันกลับมา เพราะฉะนั้นจึงเกิดเรื่อง คนแก่ทำเรื่องบ่อย ๆ อันนี้พวกตัณหากลับ กลับมาโจมตีไม่รู้ตัว ทำเอาเชียร์หายไปเลยทีเดียว (24.01) มันร้อน ไฟอย่างนี้มันมาเผาให้เร่าร้อนวุ่นวาย ไปด้วยประการต่าง ๆ
เด็กเรียนหนังสืออยากให้สอบไล่ได้ แต่ว่าสอบไม่ได้ พอสอบไม่ได้ ก็เสียอกเสียใจ ฉันไม่อยากจะอยู่ในโลกนี้แล้ว เพราะอยู่ก็น้อยหน้าคนอื่นเขา แล้วก็อยากฆ่าตัวตาย ไอ้นี่ก็ร้อนเหมือนกัน ร้อนอยากตาย ร้อนเพื่ออยากตาย ไอ้อยากตายนี่ก็เป็นตัณหาเหมือนกัน เขาเรียกว่า วิภวตัณหา คือไม่อยากจะอยู่ ไม่อยากจะดูหน้าคนนั้น ไม่อยากจะเป็นอยู่ต่อไป อยากจะตายก็เป็นตัณหา ไม่ใช่ความดับทุกข์ ดับร้อน แต่มันตายเพราะความร้อน ตัณหาเผาให้ตาย แล้วก็ฆ่าตัวตายไปด้วยประการต่าง ๆ ผู้แทนที่อดข้าวเพื่อให้ตายนั้นก็ร้อนเหมือนกัน หน้าเหี่ยวหน้าแห้ง ไปดูใกล้ ๆ แล้ว หน้าเหี่ยว ไฟมันเผา เผาให้ร้อน เพราะว่าไม่ได้ดังใจ ไม่เหมือนที่ตัวต้องการ คนอื่นเขามีเสียงมากกว่า ตัวก็ร้อนไป แต่ว่าพอธรรมนูญไม่ผ่าน ความร้อนมันเบาลงไปหน่อย แต่ก็ต้องก็ไปนอนโรงพยาบาล หยอดข้าว หยอดน้ำกันอยู่เวลานี้ ยังไม่ได้ออกจากโรงพยาบาล นี่ก็เพราะเรื่องความร้อนแผดเผาจิตใจให้วุ่นวายด้วยประการต่าง ๆ
ถ้าอยู่วัดอยู่ไม่ได้ จีวรมันร้อน กุฏิก็ร้อน ต้องมีเดินอยู่นอกกุฏิ เดินไปเดินมา ใจก็ครุ่นคิดอะไรตลอดเวลา จีวรร้อน ห่มผ้าไม่ได้ ต้องอยากจะใส่กางเกงยีนส์ อยากจะสวมเสื้อ อยากจะสวมรองเท้า สวมหมวก นี่ก็ร้อน เรียกว่าเครื่องพระนี่มันร้อน ไอ้ความจริงจีวรนี่ไม่ร้อน แต่มันร้อนข้างใน ใจเรามันร้อน พอใจร้อนก็ไม่อยากห่มผ้าผืนนี้ วิ่งวุ่นไปทั้งหมด ผลที่สุดก็ต้องกระโดดออกไปอยู่กับชาวบ้านต่อไป ไปด้วยความร้อน ไม่ใช่เรื่องอะไร พวกที่สึกไปนี้ สึกด้วยความร้อนทั้งนั้น ไม่ร้อนแบบใดก็ร้อนแบบหนึ่ง นี่ก็ความร้อน เลยก็ต้องเป็นไปอย่างนั้น ความร้อนมีอย่างนี้
เราจึงต้องระวังไม่ได้ความร้อนมันเกิดขึ้นในใจ ระวังไม่ให้ใจกำหนัด ไม่ให้ขัดเคือง ไม่ให้ลุ่มหลง ไม่ให้มัวเมาในเรื่องอะไร ๆ ต่าง ๆ แล้วฟังด้วยความมีสติ ตัวสตินี่ต้องใช้เป็นเครื่องมือสำหรับควบคุมจิตใจ คุมอย่าให้มันเกิดความร้อนขึ้นเผาใจ ร้อนใจแล้วมันลำบาก คนร้อนนั่นคือคนที่เรียกว่าตกนรกนั่นเอง นรกนั่นคือความร้อนอกร้อนใจ ใครเป็นผู้สร้างนรกให้แก่เรา เราสร้างของเราเอง เราสร้างกะทะขึ้นเผาตัว ต้มตัวเอง สร้างไฟขึ้นเผาตัวเอง สร้างอะไรต่ออะไรขึ้นในจิตใจของเรา สร้างแล้วมันก็เผาให้เร่าร้อน นอนไม่หลับ ทำอะไรไม่ได้ วุ่นวายเหมือนกับชะมดติดจั่น นี่คือความร้อนทั้งนั้น
ไฟร้อนคือราคะ พระพุทธเจ้าตรัสว่าราคคฺคิ ไฟคือราคะ โทสคฺคิไฟคือโทสะ โทสะก็คือความโกรธนั่นแหละ ความโกรธเพราะไม่ได้ดังใจ ต้องการอะไรไม่ได้ดังใจก็เกิดอารมณ์ร้อนวูบวาบขึ้นมา แล้วก็อาจจะทำร้ายใครก็ได้ อาจจะทุบตีเขา อาจจะทำอะไรที่เป็นเรื่องเสียหายแก่คนอื่น บางทีไม่มีใครจะทุบจะตี ก็ตีตัวเอง เพราะฉะนั้นเราเห็นคนบางคนเวลาโกรธ ชกอกตัวเอง มือ ๒ ข้างชกตีหน้าอกตัวเอง บางคนก็วิ่งไปชนเสา หัวชนเสา อันนี้พอชนแล้วมันเจ็บ มันก็ต้องนั่งนิ่งไปชั่วครู่หนึ่ง พอรู้สึก ก็รู้ว่ามันเจ็บเว้ย อีตานี้ไม่ค่อยจะดี หากมีแก้วมีถ้วยอยู่ใกล้ ๆ ก็ทุบให้มันแตกเสีย ทุบถ้วย ทุบจาน ทุบตู้ ทุบวิทยุโทรทัศน์อะไรต่าง ๆ บางคนนั่งดูโทรทัศน์ มันไม่พอใจ ลืมไปว่าโทรทัศน์มันไม่ใช่คนจริง คว้าไม้ ทุบเปรี้ยงเข้าให้ ทุบจอแก้วแตกกระจายไป อ้าว พรุ่งนี้ต้องไปซื้อใหม่ เพราะทุบแตกเสียแล้ว นี่มันโทสะ บางคนนั่งรถไปสตาร์ทไม่ติด เอาไม้ฆ้อนทุบมันเสียเลย คือโกรธขึ้นมา พอถามว่าทำไมทุ่ม ก็บอกว่าสตาร์ทไม่ติด บางคนไปโทรศัพท์ที่สาธารณะ โทรไม่เข้าเสียทีหนึ่ง ก็ทุบโทรศัพท์เสียเลย เจ้าหน้าที่บอกว่าโทรศัพท์ถูกทุบบ่อย ถามว่าทำไมถูกทุบ ตอบว่ามันโทรไม่ติด โทรไปหาแฟน หาคู่รักอะไรต่ออะไรนะ ใจมันร้อนหมดแล้ว โทรไม่เข้า เลยทุบโทรศัพท์เสียเลย เรียกว่าพวกแผดเผา ร้อนแผดเผา ร้อนทำลาย
พวกร้อนแล้วทำลายนี่เป็นพวกโทสะจริต เกิดขึ้นในใจแล้วทำให้หงุดหงิดงุ่นง่าน หน้าตาเหี้ยมเกรียม พูดคำหยาบ เดินก็หยาบ ทำอะไรก็หยาบ แสดงออกซึ่งความหยาบคายทางจิตใจ นี่ก็เพราะโทสะมันเผาให้เร่าร้อน อยู่ตลอดเวลา คนที่ถูกโทสะเผาบ่อย ๆ นี่ คือคนขาดสติ ขาดการควบคุมตัวเอง ขาดการบังคับตัวเอง ขาดความอดทน ไม่มีการบังคับตัวเอง ไม่มีการควบคุมตัวเอง ไม่มีความอดทน ทีนี้มันก็เกิดอารมณ์ร้าย ร้อนออกมา สามีภรรยาบางทีร้อนกันทั้งคู่ สามีร้อน ภรรยากลัวจะเสียเปรียบ เอาร้อนบ้าง ทั้งสองคนเลยทุบกันหัวร้างข้างแตก ไปให้หมอเย็บแผลกันไปตามเรื่องตามราว นี่คือความร้อนโทสะ
ทีนี้ร้อนโมหะ มันคล้ายกับเหมือนว่าควันไฟเต็มไปหมด มองอะไรไม่เห็น แต่ว่าคล้ายกับหมอกลงจัด ในหน้าหนาว ขับรถมองไม่เห็น ก็รถชนกันหนาว บ้านเรากันชนกันน้อย ๆ เมืองนอกมันชนกัน ๓๐๐ คัน หน้าหนาวนี่ จำได้ชนกัน ๒ คัน แล้วเพิ่มทั้งสองข้าง เพิ่มเข้า ๆ กลายเป็นสามร้อย เพราะไม่เห็น (30.35) มันลักษณะของโมหะ คือไม่เห็น ตามืด หูหนวก บอดไม่หมด มองอะไรไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ฟังใครก็ไม่ได้ยินแล้ว ใครจะมาพูด มาเตือนก็ไม่รู้เรื่องแล้ว มันมืดไปหมดแล้ว อย่างนี้พวกโมหะ เพราะมีโมหะคือความมืดอยู่ในจิตใจ จิตใจนั้นจึงถูกราคะครอบงำได้ โทสะครอบงำได้ ริษยาพยาบาทครอบงำได้ แข่งดี มานะถือตัว กิเลสเล็ก ๆ น้อย ประเภทต่าง ๆ เกิดกลุ้มรุมจิตใจได้ ก็เพราะว่าใจของเขามันมืดด้วยโมหะ มันมืดอย่างนี้
คนที่มืดด้วยโมหะนี่มันร้อน เรียกว่าไฟมันกรุ่น ๆ อยู่ตลอดเวลา เคยเห็นไฟไหม้แกลบไหม ญาติโยมอาจจะไม่เห็น อยู่ในเมืองไม่มีแกลบจะเผา แต่ว่าไฟไหม้แกลบนี้คือควันมันกรุ่นอยู่ตลอดเวลา เมื่อใดลมโหมแรง ก็ลุกพรึบ ๆ ขึ้นมาทีหนึ่ง ถ้าไม่มีลมโหม มันก็ไหม้กรุ่นต่อไป จิตใจเรานี่ที่มีโมหะ คล้ายกับไฟไหม้แกลบ ไม่มีอารมณ์อื่นมากระทบมันก็กรุ่นอยู่ข้างใน มีรูปมากระทบตา รูปนั้นไม่เป็นที่พอใจ ก็เกิดความร้อนทางตา หรือเสียงมากระทบหู เสียงนั้นไม่เป็นที่พอใจ ฐานมันมีอยู่บ้างแล้ว เกิดความร้อนทางหูขึ้นมา จมูกได้กลิ่น เกิดความร้อนทางจมูก ลิ้นได้รสไม่เป็นที่พอใจพึงใจ เอามือกวาดกับข้าวบนโต๊ะกระจายเต็มห้องไปเลย นี่ก็เรียกว่าไฟไหม้แกลบ อารมณ์ที่มากระทบเหมือนกับลมที่มากระทบ ลมพัดมาวูบ ไฟก็ลุกฮือขึ้นมา รูปพัดสู่ตา เสียงมากระทบหู กลิ่นมากระทบจมูก รสมากระทบลิ้น อะไรมากระทบกายประสาท ก็เกิดอารมณ์ขึ้น วู่วามขึ้นมา ลุกเป็นเปลว เผาไหม้คนนั้น เผาไหม้คนใกล้เคียง บางทีขนาดเผาวัตถุสิ่งของทำลายอะไรต่าง ๆ นี่คือความร้อน นี่เป็นพวกโมหะ แล้วก็เกิดโทสะ เกิดราคะ เกิดอะไรตามมามากมายก่ายกอง เป็นความร้อนที่เป็นพิษเป็นภัย เป็นเรื่องที่น่ากลัวมากเหลือเกิน
เราเคยร้อนบ้างไหม เคยเป็นคนมักโกรธไหม ถ้าเป็นคนมักโกรธ เขาเรียกว่าร้อนด้วยโทสะ เป็นคนมักเกลียด ก็ร้อนด้วยโทสะ มักริษยา ก็เรียกว่าร้อนด้วยอำนาจโมหะ ถ้าร้อนด้วยความอยากได้ ก็เรียกว่าถูกไฟราคะแผดเผา อยากได้รูป อยากได้เสียง อยากได้กลิ่น อยากได้รส อยากได้นั่นได้นี่ อยากไปเที่ยวนี่ก็คืออยากได้รูปนั่นเอง อยากจะไปดูชายทะเล อยากจะไปดูไอ้นั่นไอ้นี่ อยากจะไปฟังเสียงนั้น อยากจะไปดมกลิ่นที่นั้น อยากจะไปกินอาหารชายทะเลที่โน่น มันอยากขึ้นมาอย่างนั้น เพราะว่าความคิดมันเปลี่ยนแปลงไปในทางอย่างนั้น เลยเกิดอารมณ์ร้อน อารมณ์แรงขึ้นมา ใครทำให้ไม่ถูกใจ ก็วู่วาม ใจร้อน
ร้อนทุกครั้งแผดเผาตัวเองทุกครั้ง เพราะฉะนั้นคนที่ร้อนบ่อย ๆ หน้าตาเหี่ยวแห้ง ร่างกายซูบ ทรุดโทรม สภาพจิตก็เสื่อม ความจำก็เสื่อม อารมณ์ไม่ดี พื้นฐานไม่ดี อะไรมากระทบ ก็กลายเป็นเรื่องไม่ดีไปหมด เพราะฉะนั้นคนนั้นจึงมี …… (34.27) โรคทางใจ เป็นโรคประจำถาวร เช่นโรคขี้โกรธ …… (34.32) ใจร้อน ใจเร็ว หุนหันพลันแล่น มันก็เกิดขึ้นมารบกวนจิตใจ ทำให้สภาพจิตไม่ปกติ สุขภาพจิตไม่ดี สุขภาพทางกายก็ไม่ดีไปด้วย
มันไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ญาติโยมลองคิดดู ไอ้เรื่องร้อน ๆ มันแผดเผา เหมือนเราร้อนแดดนี่ ผิวหนังเกรียม ร้อนไฟ ก็ผิวหนังไหม้พองไป ไอ้เรื่องร้อนนี่มันให้โทษทั้งนั้น ร้อนใจก็เหมือนกัน ทำให้ใจเหี่ยวใจแห้ง สภาพที่เรียกว่าปัญญามันหายไป มีแต่สภาพที่เป็นความมืดความบอด จิตใจไม่ปกติ และเวลาแก่ลงมักจะเป็นโรคประสาท บางคนนั่งหัวสั่น มือไม้สั่น ยกแก้วน้ำ ก็มือสั่นริก ๆ กว่าจะใส่เข้าปากได้ คนมือสั่นนี่ไม่ได้กินแล้วน้ำแกง มันหกหมดก่อนถึงปาก กินลำบาก ซดน้ำแกงยาก ต้องกินข้าวกับปลาเค็มเป็นชิ้นเป็นอันเรื่อยไป ไม่มีให้ชื่นใจกับเขาเลย เพราะว่าไฟมันแรง มันเผาแห้งไปหมดเลย มันร้อนอย่างนี้ มันมาไม่ค่อยดี เราจึงต้องระวังไม่ให้เกิดความร้อน
พระพุทธเจ้าจึงเทศน์เรื่องร้อนให้ชฎิล ๓ พี่น้องกับบริวารฟัง ทำไมจึงเทศน์เรื่องร้อน เพราะพวกนั้นบูชาของร้อน บูชาไฟ ไฟมันเป็นของร้อน เราเทศน์เรื่องร้อนให้ฟัง แต่ว่าไม่ใช่พูดไฟข้างนอก พูดไฟข้างใน พูดไฟข้างในว่าตาเป็นของร้อน รูปเป็นของร้อน ความรู้ทางตาเป็นของร้อน ความสัมผัสคือว่าตา-รูป ความรู้ทางตา รวมกันก็เป็นผัสสะ ผัสสะเป็นของร้อน เวทนาเป็นของร้อน และก็หูก็เป็นของร้อน เหมือนกันหมด มันร้อน ผลที่สุดก็ท่านเหล่านั้นได้ฟัง ฟังแล้วพระองค์ก็ตั้งปัญหาไต่ถามคนเหล่านั้น ให้ตอบเพื่อทราบความเข้าใจของคนเหล่านั้น แล้วท่านเหล่านั้นก็ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลชั้นอรหันต์หมด เพราะฟังเทศน์ร้อนนี่เอง บรรลุเป็นพระอรหันต์หมดในที่นั้น ก็หมายความว่าพระองค์ได้กำลังใหญ่ซึ่งเป็นคนพื้นบ้านเมืองราชคฤหค์จริง ๆ เป็นกำลังจะช่วยเผยแผ่ธรรมะต่อไป จึงได้เคลื่อนขบวนกองทัพธรรม เดินทางจากคยาไปเมืองราชคฤห์
ถ้าใครเคยไปประเทศอินเดีย ไปพักที่วัดไทยที่พุทธคยาซึ่งอยู่ใกล้ที่ตรัสรู้ แล้วก็รุ่งเช้าก็ขึ้นรถยนต์เดินทางผ่านเมืองผ่านคยา ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่สกปรกที่สุดในโลกก็ว่าได้ สกปรกจริง ๆ เมืองนี้ แต่มันเก่าแก่ เป็นเมืองสำคัญของศาสนา ฮินดูก็ต้องมา พุทธก็ต้องมา มากราบมาไหว้ สิ่งสำคัญอยู่ที่นั่นทั้งนั้น และก็ข้ามแม่น้ำเนรัญชลาด้วยสะพาน ซึ่งรถไปได้คันเดียว ถ้ามีรถสวนมาเราต้องรอไปก่อน รอให้คันนี้ผ่าน วิ่งไปตามถนน ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมงครึ่ง ก็จะเข้าเขตเมืองราชคฤห์แต่สมัยพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ไปตามถนนที่เรานั่งรถไปหรอก เพราะมันโค้งไปอย่างนั้น พระองค์เดินตัดเลาะออกไป ทางของพระพุทธเจ้า เขาดำริจะตัดถนนใหม่เหมือนกัน จากคยาไปราชคฤห์ ตัดตามเส้นทางที่พระพุทธเจ้าเดินไปเมืองราชคฤห์ มันใกล้กว่า มันตรง อันนี้อ้อมไปไกลกว่าจะเข้าได้ แล้วก็เข้าไปในเมืองราชคฤหค์ด้วยพระตั้งพันหนึ่ง
เราลองคิดดูว่าพระ ๑,๐๐๐ องค์เดินไป เดินไปเรียงหนึ่งนะ ไม่ใช่เรียงสอง เรียงสาม ไม่ใช่อย่างนั้น เรียงแถวหนึ่งยาวเหยียด จะเป็นภาพที่น่าดูขนาดไหน ถ้าเราเห็นพระเดินไปมาก ๆ เป็นแถวยาวเหยียด เดินสงบเรียบร้อย มีตาทอดลงต่ำ กริยาก็สำรวม ใครได้เห็นก็เรียกว่า สมณานญฺจ ทสฺสนํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ คือได้เห็นสมณะนี่เป็นมงคลสำหรับตา ได้ฟังเสียงก็ฟังมงคลสำหรับหู เป็นมงคลสำหรับใจ เพราะได้เห็นสิ่งเหล่านั้น เดินไปด้วยอาการสงบ พอไปถึง ก็ …… (39.11) สวนตาล ตรงนั้นมีต้นตาลมาก พระองค์ก็บอก เราพักกันที่นี่ และก็นั่งพัก เป็นบริเวณกว้าง นั่งพักตามสบาย ๆ พระเหล่านั้นนั่งก็ไม่พูดไม่คุยอะไรกัน นั่งเงียบ ๆ สำรวมจิตเพ่งพิจารณาอะไรไปตามเรื่อง
คนก็มาเห็น มากนัก คนก็มากันใหญ่ มาดู มาแต่ไหนมากมายก่ายกอง ไม่เคยเห็นนักบวชมากมายอย่างนี้ แล้วก็นักบวชเหล่านี้ เดินสงบ นั่งสงบ กริยาอาการสงบเรียบร้อย ไม่เหมือนกับนักบวชอื่น ๆ ซึ่งเราเห็นมาก่อน เขาก็ประหลาดใจ และได้เห็นพระผู้มีพระภาคซึ่งเป็นหัวหน้า มีรูปร่างลักษณะไม่เหมือนใครทั้งหลาย วรรณะดี
พระพุทธเจ้าไม่ได้ดำเหมือนแขกอินเดียทั่วไปนะ เพราะพระองค์เกิดในที่ใกล้ภูเขาหิมาลัย อากาศหนาว ผิวขาว สูงใหญ่ รูปร่างสง่าผ่าเผย เป็นที่เลื่อมใสของประชาชนได้ว่างั้นเถิด เขาเห็นก็แปลกใจ ก็ไปบอกกัน ไปคุยกันเสียงดัง ก็ดังไปถึงพวกอำมาตย์ข้าราชการ ก็นำความไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสารว่ามีนักบวชหมู่ใหญ่มาพักที่อยู่ที่สวนตาลน้อยนอกเมือง ไม่ทราบว่าเป็นนักบวชมาจากไหน พระเจ้าพิมพิสารก็เสด็จพร้อมด้วยบริวารจำนวนมากมาย ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ความจริงนั้น พระเจ้าพิมพิสารนี้รู้จักพระผู้มีพระภาคมาก่อนแล้ว คือรู้จักตั้งแต่พระองค์ออกบวชใหม่ ๆ เมื่อพระองค์ออกบวชใหม่ ๆ ก็ออกจากเมืองกบิลพัตร์นี้ล่องมาทางใต้ กบิลพัตร์อยู่ทางเหนือ ล่องลงมาใต้เข้าเมืองราชคฤหค์ แล้วไปบิณบาตรอาหารในเมืองราชคฤคห์ คนก็แตกตื่นกัน เพราะเห็นนักบวชรูปหล่อ ค่อยงาม เดินเหิรเรียบร้อย กริยานุ่มนวลน่าดู ท่านเป็นกษัตริย์นี่ มารยาทก็ดี พวกนั้นก็ตื่นเต้นกัน ไปห้อมล้อมตามกันเป็นแถว เหมือนกับว่าคนเราเห็นอะไรแปลกก็เดินตามอย่างนั้น
พวกตำรวจก็เห็นคนเดินตามมาก ๆ ก็เอะอะโวยวายไปกราบทูลพระราชา พระราชาก็ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร ก็ให้คนสอดแนมตามไป รู้ว่าไปพักอยู่นอกเมือง ริมห้วยซึ่งมีน้ำไหล จะได้นั่งฉันอาหาร ทรงรู้ก็เสด็จไปหา ไปสนทนากัน ได้ทราบว่าเป็นศากยกษัตริย์ หนีออกมาบวช เพื่อเป็นผู้แสวงหาธรรม
พระเจ้าพิมพิสารบอกว่า มือไม้ยังหนุ่มแน่น ร่างกายยังแข็งแรง ควรจะจับบังเหียนรบม้าสำหรับรบมากกว่าไปอุ้มบาตรเพื่อขออาหาร ท่านขัดข้องอะไรในเมืองกบิลพัตร์ จะมาอยู่กับเราก็ได้ เราจะแบ่งสมบัติให้ครอบครอง พระองค์ตอบว่าเชือกที่มันหลุดจากปากงูแล้ว ไม่มีตัวใดที่จะหลบเข้าไปในปากงูอีก นกหลุดจากแร้วแล้ว ไม่มีนกตัวใดจะเข้ามาให้ติดแร้วอีกต่อไป พระองค์หลุดออกมาจากความวุ่นวายในชีวิตชาวบ้านแล้ว จะให้กลับไปสู่ความวุ่นวายอีกนั้น เป็นไปไม่ได้ มีจิตมุ่งแต่จะแสวงหาสัจธรรม เพื่อนำมาสั่งสอนชาวโลกให้เกิดความรู้ความเข้าใจกันต่อไป
พระเจ้าพิมพิสารลองไปขยับดู เรียกว่าจะหวั่นไหวหรือไม่ เห็นว่ามั่นคงไม่หวั่นไหว ก็เลยบอกว่า ก็ดีแล้ว ขอให้สำเร็จในสิ่งที่ต้องการ เมื่อใดสำเร็จแล้ว ให้มาโปรดพระองค์ก่อน พระพุทธเจ้าและพระเจ้าพิมพิสารได้สัญญากันไว้นะว่าเมื่อสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระพุทธเจ้าต้องมาโปรดพระเจ้าพิมพิสารก่อน เพราะฉะนั้นพระองค์จึงเสด็จมาเมืองราชคฤห์ แต่ว่าชั้นแรกไปสอนปัญจวัคคีย์ เป็นการทดสอบ ทดสอบว่าคนฟังจะรู้เรื่องหรือไม่ เข้าใจหรือไม่ ท่านได้สาวก ๖๐ องค์แล้ว พระองค์ก็เลยมุ่งมาราชคฤหค์ตามสัญญา แต่ก่อนเข้ากรุงราชคฤหค์ต้องเอาอาจารย์ใหญ่ของชาวราชคฤหค์ไปด้วย และพอได้ผล
พอพระเจ้าพิมพิสารกับบริวารมาถึง เอะอะมะเท่งกัน คนไม่เคยไปอินเดีย ไม่รู้ว่าแขกมันเอะอะขนาดไหน เอะอะจริง ๆ พรหมลิขิตเคยเขียนไว้ (44.12) จะไปเรือ จากย่างกุ้งไปขึ้นท่ากัลกัตตา แกบอกว่ามีแต่คนพูดทั้งนั้น ไม่มีคนฟังสักคนเดียว ยกไม้ยกมือ พูดกันเอะอะไปหมดทั้งบริเวณนั้น ไม่มีคนฟังสักคนเดียว มันเป็นอย่างนั้นแหละ และถ้ามีอะไรเกิดขึ้นแปลก ๆ คนจะตื่นเต้นกันมาก สภาพแขกเป็นอย่างนั้น ปกติเขาเป็นอย่างนั้น อย่าไปถือเขาเลย เขามาแล้ว (44.38)
ทีนี้พระพุทธเจ้านั่งประทับอยู่ พระเจ้าพิมพิสารเข้าไป บริวารของพระเจ้าพิมพิสารบางคนก็นั่ง บางคนก็ยืน บางคนก็เอ่ยชื่อทูตของตัว (44.50) บางคนก็พูดอย่างนั้นอย่างนี้ มันเอะอะ ไม่สงบ ไม่เหมาะที่จะแสดงธรรม เพราะคนยังวุ่นวาย และพระองค์ก็จะใช้ชฎิลนี่แหละเป็นเครื่องมือ เห็นคนเหล่านั้นเอะอะ เอะอะเพราะสงสัยนั่นเอง สงสัยว่าใครเป็นลูกศิษย์ใคร พระสมณโคดมกับชฎิลนี่ใครเป็นลูกศิษย์ใคร พระองค์เป็นศิษย์ของชฎิล หรือว่าชฎิลเป็นศิษย์ของพระสมณโคดม คนชักจะสงสัย พระองค์รู้ว่าคนพวกนั้นสงสัย ก็เลยตรัสว่า กัสสปะ ชฎิล ๓ พี่น้อง คนพี่ชื่อ อุรุเวลกัสสปะ กัสสปะ ทำไมเธอจึงได้ทิ้งไฟที่เคยบูชามาเสีย พระกัสสปะก็ลุกขึ้นพนมมือ บอกว่าไฟที่เคยบูชานั้นเป็นไปเพื่อความเกิดอีก เป็นไปเพื่อความทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์พระเจ้าค่ะ
เมื่อเธอทิ้งไฟที่เคยบูชาเสียแล้ว เธอชอบใจในธรรมะของใคร กัสสปะก็ก้มลงกราบแทบเท้าของพระพุทธเจ้าและบอกว่าข้าพระองค์ชอบใจในพระธรรมของพระองค์ ข้าพเจ้าถือเอาพระองค์ว่าเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งทางใจ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ใครได้ฟังหนังองคุลีมาลก็จะได้ยินเสียงอย่างนี้
ทีนี้พวกบริวารของพระเจ้าพิมพิสาร ก็ว่าตายแล้ว อาจารย์เราไปเป็นลูกศิษย์พระสมณโคดมแล้ว พอว่าต้นไม้ใหญ่ล้ม หญ้าแพรกก็แหลกละเอียดไปเลยทีเดียว พวกนั้นก็นั่งเรียบร้อย นั่งหมดเลย นั่งเรียบร้อย ก็สงสัยแล้ว คนชั้นอาจารย์ยังมาเป็นลูกศิษย์ได้ พระองค์นี้ต้องเก่ง ว่าอย่างนั้น อาจารย์เราจึงมาเป็นลูกศิษย์ได้ ก็เลยนั่งเรียบร้อย เพื่อจะได้ฟังธรรมต่อไป
และพระองค์ก็แสดงธรรม เขาเรียกว่า ธรรมะตามขั้น แสดงเรื่องทาน การให้ แสดงเรื่องศีล การอยู่ในระเบียบวินัยในสังคม แสดงเรื่องสวรรค์อันเป็นผลเกิดขึ้นจากทานจากศีล ว่าเมื่อมีทาน มีศีล คนจะเป็นสุขอย่างไร จะสงบอย่างไร และแสดงทูตของสวรรค์ (47.32) และก็แสดง …… (47.33) ธรรมะออกจากกาม พวกอัธยาศัยคนเหล่านั้น (47.35) พระเจ้าพิมพิสารได้บรรลุพระอริยบุคคลขั้นต้น เขาเรียกว่าเป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันก็คือบุคคลที่มีศรัทธามั่นคงในองค์พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มีศีลบริสุทธิ์ ไม่ถือมงคลตื่นคาว พระโสดาบันนี่ไม่ถือรูปถือยาม ไม่ถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก แต่ถือว่าธรรมะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ธรรมะเป็นสิ่งที่จะอำนวยความสุข ความสงบทางจิตใจให้แก่ผู้ปฏิบัติ ตัดสิ่งเหลวไหลออกไปจากจิตใจหมด เรียกว่าเป็นพระโสดาบัน แล้วก็ประกาศตนเป็นพุทธสาวก อุปัฏฐากบำรุงพระพุทธเจ้า ก็คิดว่าพระมาก ๆ นี่จะให้อยู่ที่ไหน ก็เลยถวายวัดเวฬุวันเป็นอารามแห่งแรกในวงการพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าก็ไปพักอยู่ที่สวนเวฬุวัน อันเป็นสวนไม้ไผ่ เดี๋ยวนี้เขาก็รักษาสวนนั้นไว้ มีสระน้ำใหญ่ แล้วก็มีป่าไผ่ ซึ่งเอามาปลูกทีหลังให้มันสมชื่อสวน มีกระแตตัวเล็ก ๆ เยอะแยะ เพราะว่าสวนนี้เป็นที่ให้เหยื่อกระแตของพระเจ้าพิมพิสาร คือพระเจ้าพิมพิสารนี่ท่านไปนอนบรรทมอยู่ที่นั่น แล้วก็มีงูมันเลื้อยมา พวกกระแตนี่มันร้องดังขึ้น เห็นงูมันร้อง ตามสัญชาตญาณของสัตว์ ร้องดังขึ้นจนพระเจ้าพิมพิสารตื่นแล้วก็ปลอดภัย พระองค์เห็นว่ากระแตนี่ช่วยชีวิตกับพระองค์ไว้ กระแตตัวน้อย ๆ ช่วยชีวิตพระองค์ไว้ เลยพระราชทานอภัยไม่ให้ใครฆ่ากระแต อินเดียนี่ ที่สวนไหนมีกระแต สวย ๆ หนังมันลาย ๆ ลายขาวหมดเลย เป็นฝูง ไม่มีใครทำร้าย ไม่มีเด็กซุกซนเหมือนเด็กบ้านเรา
วันนั้นกำลังฟังฉันเพลอยู่ ไอ้สามหนุ่ม มันถือ …… (49.50) มาก็ลุกขึ้นจากฉัน เดินไปช้า ๆ คือต้องการจะไปสอนมัน พอเดินไปไอ้สองคนกำลัง …... (49.59) มันไม่เห็น แต่คนข้างหลังเห็น พอเห็นตะโกนบอกว่า หลวงพ่อ หลวงพ่อ ไอ้พวกนั้นตกใจวิ่งหนีไปขึ้นรถจักรยาน แหม ไม่ได้สอน โปรดไม่ถึง พวกนี้มันโปรดไม่ถึง (50.09) เรียกว่ามันยังลึกลับ เราจะไปโปรดก็โปรดไม่ได้ จะไปสอนให้มันรู้ว่ายิงมันทำไม นกตัวเล็ก ๆ ยิงแล้วก็บินไม่ได้ เก็บไปต้มไปแกงก็ไม่ได้ นอกจากความคะนอง ให้มันรู้ว่าถ้าใครเขามายิงเรา เราชอบใจไหม ถ้าเขาทุบหัวเรา เราชอบใจไหม เขาเตะต่อยเรา เราชอบใจไหม ต้องการสอน แต่ก็นั่นแหละเขาเรียกว่า โปรดไม่ถึง เขาหนีไปเสียก่อน นี่และเขาเรียกว่าคนที่ …… (50.39) ไม่ได้ คือมันปิดหูเสียบ้าง ปิดตาเสียบ้าง โปรดไม่ได้
เขาเล่าเป็นนิทานว่า พระโมคลานะท่านมีฤทธิ์ อันนี้คุณยายคนหนึ่งแกไปจับปลาอยู่ ท่านไปยืนทิศตะวันออกเพื่อให้เห็น ยายแกหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเสีย แต่ว่าท่านก็เนรมิตรไปยืนทิศตะวันตกอีก แกหันหน้าไปทิศเหนือแล้ว แต่นี้ก็ ยายเห็นทิศละ หันหน้าไปทิศใต้ พระก็ไปยืนอยู่ทิศใต้อีก ยายก็เลยแหงนหน้าไปบนฟ้า พระโมคลานะหมดปัญญา ไม่รู้จะทำอย่างไร โปรดไม่ได้ เขาเรียกว่า คนที่ไม่น่าจะโปรด มันเป็นพวกดอกบัวใต้น้ำ พระท่านเปรียบว่าเป็นดอกบัวใต้น้ำ โปรดไม่ถึง ไอ้เราจะพูดให้มันเข้าใจ มันไม่ฟัง มันวิ่งไปเสียก่อน ในอินเดียไม่มี เด็กทุกคนอย่างนั้นไม่มี เพราะฉะนั้นกระแต กระรอก นกประเภทต่าง ๆ เที่ยวเดินฉุยฉายสบายใจ กวาง พวกกวางลาย ๆ นะ เป็นฝูงในอินเดีย เที่ยววิ่งอยู่ตามสบาย บ้านเราก็เอาหนังมาติดฝาหมดแล้ว เที่ยววิ่งอยู่อย่างนั้น เอาเนื้อไปต้มกินกับเหล้า ไปแกงป่าไปหมดแล้ว เขาไม่มี เขามันถือหลักอหิงสา คือการไม่เบียดเบียนกันเป็นธรรมสูงสูด สัตว์ทั้งหลายจึงอยู่สบาย อันนี้เป็นเรื่องที่มีอยู่
พระองค์ก็ไปประทับในสวนเวฬุวัน สั่งสอนพระศาสนาต่อไป นี่เรื่องไฟมันน่ากลัว ไฟไหม้บ้านไหม้เรือนนี่ก็น่ากลัว แต่ไม่เป็นไร ไฟไหม้บ้านสร้างใหม่ได้ ดินยังอยู่สร้างใหม่ได้ ไม่เสียหาย แต่ไฟโมหะเผาไหม้ดิน หมดน้ำ หมดสวน หมดอย่างไร ผลาญจนหมดไง พวกนั้นที่ผลาญทรัพย์สมบัติพ่อแม่ ปู่ตาย่ายายที่หาไว้ให้จนหมดจนเกลี้ยงนั้น ก็เป็นพวกไฟคือโมหะนั่นเอง มันไม่รู้ ไม่ได้คิดว่าคนสมัยก่อนเขาหามาได้อย่างไร หามาได้ด้วยความลำบากสะสมไว้เป็นกอบเป็นกำให้เราได้กินได้ใช้ มันถลุงเสีย พักเดียวจนหมด นี่คือไฟโมหะแผดเผา และมีโมหะก็เกิดไฟราคะ เพลิดเพลินสนุกสนานในเรื่องสุรา เรื่องนารี เรื่องพาชี กีฬาบัตร ความฉิบหายหลายอย่างเกิดขึ้นในคนนั้น สิ่งเหล่านั้นก็หมดไปสิ้นไป จึงเป็นสิ่งที่ต้องระวัง ควรจะกลัวไว้
เรารู้ว่าไฟมันร้อน เราก็อย่าให้ไฟมันเกิดขึ้นในใจของเรา ต้องใช้สติใช้ปัญญา สติขอให้กำหนดไว้ กำหนดใจของเรา ให้รู้ว่าเราคิดอะไร เรานึกถึงเรื่องอะไร เรื่องนั้นมันคืออะไร มันจะให้โทษให้ประโยชน์แก่เราอย่างไร โกรธก็ให้รู้ว่าโกรธอะไร ลองถามตัวเอง โกรธอะไร เกลียดอะไร ริษยาอะไร แล้วเราเป็นอย่างนั้นเราได้อะไร เราได้ความร้อน หรือว่าเราได้ความเย็น เราได้ความทุกข์หรือว่าเราได้ความสุข มันต้องคิดต้องตรองให้รอบคอบ แล้วก็เรียกว่าใช้ปัญญา ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณาบ่อย ๆ เราก็จะไม่โกรธเคืองใคร ไม่เผาร้อนจิตใจของเราให้เร่าร้อน เราจะได้อยู่อย่างสงบ ๆ สบาย ๆ โดยเฉพาะหน้าร้อนนี่แดดมันก็ร้อนอยู่พอแล้ว อย่าไปเพิ่มความร้อนภายใน ทำใจเย็น ๆ ไว้ แดดนี่ดี ร้อนแดดนี่ดี มาเดินกลางแดดบ่อย ๆ ว่าง ๆ ก็ลองมาเดินกลางแดด คนเขาถามว่าทำไมเดินกลางแดด อาบแดดเสียมั้งสิ อยู่แต่ในกุฏิมันก็ไม่ดี เดินอาบแดด วันหนึ่งเดินสักรอบสองรอบ เดินไปหลังวัด ออกมา เดินไปที่เขาก่อสร้างโรงเรียน แล้วก็เดินกลับกุฏิเหงื่อโทรม ไปนั่งพักต่อไป อ่านหนังสือบ้าง ทำอะไรบ้าง สักครู่สักยามก็ลงไปเดินอีก ออกกำลังกาย ช่วยให้ร่างกายเป็นปกติ ไม่เมื่อยไม่ขบ เพราะอาศัยการเดิน เดินไว้ ร่างกายมันก็ไม่เป็นไร ไฟจะลามมันไหม้ช้าหน่อย แต่ถ้าหากว่าเราไม่บริหารร่างกาย ไฟแก่ไฟเจ็บไฟตายมันเข้ามาได้ทุกวันทุกเวลา ทำให้ชีวิตตกต่ำลงไป
อันนี้เป็นเรื่องที่นำมาฝากให้ญาติโยมได้พิจารณาในวันนี้ ก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้