แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เอาล่ะญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ. บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดีเพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้อากาศชักจะดี คือว่ามันเย็น ร้อนมาหลายวันแล้ว แล้วฝนก็ตกลงมาในตอนกลางคืน ทำให้เกิดความชุ่มความเย็น ต้นหญ้าต้นไม้ก็สดชื่นเพราะอาศัยน้ำฝนที่ตกลงมา ฝนตกลงมาจากฟากฟ้าทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายชุ่มเย็นฉันใด ธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาก็เป็นสิ่งที่ให้เกิดความชุ่มความเย็นเหมือนกัน แต่ว่าฝนนั้นให้ความชุ่มเย็นในทางร่างกาย ธรรมะให้ความชุ่มเย็นทางจิตใจ กายกับใจนั้นมันมีความเป็นอยู่ที่สัมพันธ์กัน ถ้าใจดีร่างกายก็สบาย ถ้าใจร้ายร่างกายก็มีความเดือดเนื้อร้อนใจไปด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจะต้องแสวงหาสิ่งที่จะทำให้ใจเย็นมากกว่าสิ่งที่จะทำให้กายเย็น เพราะสิ่งที่จะทำให้กายเย็นนั้นหาไม่ยาก ไปนั่งที่ลมพัดโกรกก็เกิดความเย็นกาย ถ้าหากว่ามีสตางค์หน่อยก็ปรับห้องให้มีอากาศที่เป็นไปตามวิทยาศาสตร์ ห้องแอร์เขาเรียกกันอย่างนั้น มันก็เกิดความเย็นทางร่างกายแต่ว่าคนบางคนแม้จะนั่งอยู่ในห้องเย็นแล้วก็ยังไม่เย็นทางใจ ใจยังร้อน ยังกระวนกระวาย ยังมีความวิตกกังวล ยังมีปัญหากลุ้มรุมอยู่ในจิตใจด้วยประการต่างๆ อันนั้นเรียกว่ากายเย็นแต่ว่าใจไม่เย็น แต่ถ้าใจเย็นเพราะอาศัยธรรมะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจแล้วร่างกายก็พลอยเย็นไปด้วย เพราะฉะนั้นผู้ที่ใจเย็นนี่จะอยู่ในที่ใดมันก็อยู่ได้ทั้งนั้น พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายท่านมีน้ำใจสงบเย็นแล้วท่านอยู่ในป่าก็ตาม อยู่ในเรือนร้างเรือนว่างก็ตาม อยู่ในที่มีอากาศร้อน อยู่ในที่มีอากาศเย็น สภาพใจของท่านปกติเหมือนกันไม่เกี่ยวข้องกับสถานที่ ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ไม่ว่าอะไรๆ จะเกิดขึ้นในวิถีชีวิต ท่านก็คงเย็นอยู่อย่างนั้น นั่นคือความสงบเย็นที่เกิดจากธรรมะ
คนที่ยังไม่เคยประสบความเย็นในแบบนี้ก็ยังมองไม่เห็น เหมือนกับว่าอาหารบางอย่างเราไม่เคยรับประทานแล้วมีคนมาเล่าให้ฟังว่ารสชาติมันเป็นอย่างนั้น อร่อยอย่างนั้นเราก็ยังงงอยู่นั่นเองเพราะยังไม่ได้รับประทานอาหารประเภทนั้น แต่เมื่อใดเราได้มีโอกาสรับประทานอาหารนั้น เราก็รู้ได้ทันทีว่าอ้อมันอร่อยอย่างนี้ มันมีรสชาติอย่างนี้ ฉันใด ในเรื่องเกี่ยวกับสภาพใจของคนเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้ามีใครมาบอกว่าธรรมะทำให้เกิดความสงบใจ ทำให้เกิดความเย็นใจ ทำให้มีความสุขพิเศษในใจของเรา เราก็คงจะนึกงงๆ อยู่เหมือนกัน เพราะเราไม่คุ้นเคยกับความสุขในรูปนั้น เราคุ้นเคยกับความสุขในทางเห็นรูปด้วยตา ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก รสด้วยลิ้น สิ่งถูกต้องกายประสาทแล้วเราก็มีความสุข ความสุขเกิดขึ้น ความสุขนั้นมันเป็นเรื่องของความเพลิดเพลินพอใจในสิ่งนั้นๆ ที่เรามีเราได้ แล้วถ้าหากว่าสิ่งนั้นไม่มี ไม่ได้ แล้วมันเปลี่ยนแปลงไป ไม่สมใจ ไม่เหมือนใจ ไม่ได้ดังที่เราต้องการ เรารู้สึกอย่างไร เราก็รู้สึกเป็นทุกข์มีความเดือดเนื้อร้อนใจ บางทีก็นั่งบ่นกับตัวเองว่า “อะไรๆ มันไม่เหมือนใจ ไม่ได้ดังใจ ฉันนี่มันเป็นคนเกิดมาอาภัพไม่เหมือนกับคนอื่นเขา” ความจริงคนอื่นเขาก็เหมือนกับคนผู้นั้นเหมือนกันนั่น เขาก็มีความกลุ้มใจเหมือนกัน มีความทุกข์เหมือนกัน แต่ว่าเราไม่รู้ว่าเขามีสภาพอย่างนั้นเพราะเขาไม่ได้บอกให้เราทราบ หรือไม่ได้มาปรารภเรื่องนั้นให้เราฟัง เราก็ทึกทักเอาว่าเขาคงจะอย่างนั้น เขาคงจะอย่างนี้ คงจะมีความสบายใจ อันนี้เป็นเรื่องที่เรียกว่าคาดคะเนเอา ไม่ใช่เป็นเรื่องแท้เรื่องจริงอะไร เราอย่านึกว่ามันเป็นเช่นนั้น ความจริงสิ่งทั้งหลายที่เข้ามาในวิถีประสาทของเรา ทำให้เรามีความพอใจ อิ่มใจไปชั่วขณะหนึ่งๆ มันไม่ใช่สิ่งถาวรอะไรแต่เรานึกว่ามันจะเป็นอยู่อย่างถาวร ความเข้าใจผิดก็เกิดขึ้น แล้วก็ไปยึดติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น เมื่อใดเราไม่มี ไม่ได้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราก็บ่นกับตัวเองว่ามีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ ต้องการอะไรก็ไม่ได้สมใจสักอย่างหนึ่ง แล้วก็เกิดเบื่อหน่ายชีวิตขึ้นมา อันนี้คือความเข้าใจผิดไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในทางพระศาสนา
หลักเกณฑ์ในทางพระศาสนานั้นสอนให้เราเข้าใจธรรมดาของชีวิต เข้าใจสรรพสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเราว่ามันมีสภาพอย่างไร มันเปลี่ยนแปลงอย่างไร มันมีอาการอย่างไร มีรสชาติให้เกิดความสุขใจอย่างไร มีสิ่งให้เกิดความทุกข์ใจอย่างไร มีโทษอย่างไร เราต้องรู้ในสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริง แต่เราไม่ค่อยจะได้คิดถึงปัญหาอย่างนั้นเพราะเรามัวเพลิดเพลินกับสิ่งที่เรามีเราได้ เพลิดเพลินในลาภ เพลิดเพลินในยศ เพลิดเพลินอยู่ในสรรเสริญที่เขามาพูดยกยอปอปั้น เพลิดเพลินอยู่ในสุขนั้นๆ เราก็มองไม่เห็นสิ่งอันซึ่งดีไปกว่านั้น ประเสริฐไปกว่านั้น ความว่าในโลกเรานี้มันมีอีกมุมหนึ่ง มุมที่มันไม่เหมือนกับมุมที่เราอยู่ เป็นมุมที่มีความสว่าง เป็นมุมที่มีความสงบ เป็นมุมที่เมื่อผู้ใดเข้าไปสัมผัสแล้วผู้นั้นจะเป็นทุกข์กับเขาไม่เป็น แต่จะมีจิตใจสงบสดชื่นอยู่ตลอดเวลา มันมีมุมนั้นอยู่เหมือนกัน แต่ว่าเราไม่ค่อยจะได้เข้าไปสู่มุมนั้นเพราะเราอยู่ในมุมที่มันมีความตื่นเต้น สนุกสนาน เพลิดเพลินด้วยสิ่งยั่วยุมีประการต่างๆ
ชาวโลกก็นิยมกันไปในรูปอย่างนั้น ไม่ได้คิดว่ามันมีอีกมุมหนึ่งซึ่งไม่เหมือนกับส่วนนี้ และมันประเสริฐกว่า ดีกว่า มีรสชาติที่มั่นคงกว่า เราไม่ได้คิดอย่างนั้น แล้วก็ไม่ได้แสวงหาความสุขอย่างนั้น แต่ถ้าเมื่อใดมันมีอะไรมาเป็นเหตุเป็นปัจจัยอะไรก็ตามที่เถิด ทำให้เราได้เข้าใกล้ผู้รู้ ผู้ฉลาดในธรรมะ แล้วเขาก็พูดเป็นเชิงเตือนจิตสะกิดใจให้เราได้เกิดความคิดขึ้นว่า ไอ้สิ่งที่เราผ่านมาทั้งหมดนั้นมันยังไม่ถาวรอะไร มันเป็นเรื่องที่ไม่ให้ความสุขใจอย่างแท้จริงแต่มันทำให้เราหลงใหลเพลิดเพลินไปชั่วครั้ง ชั่วขณะ เมื่อมีความหลงใหลเพลิดเพลินเท่าใด ความทุกข์ก็เกิดมากเท่านั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า "อามิสสุข” มีความสุขเท่าใด ความทุกข์ก็มีเท่านั้น คล้ายกับว่าเราขึ้นต้นไม้ ถ้าเราขึ้นสูงไปสิบเมตร เราก็ต้องลงสิบเมตร ขึ้นสูงยี่สิบเมตร ก็ต้องลงยี่สิบเมตร ขึ้นกับลงมันเท่ากัน ความสุขความเพลิดเพลินที่เกิดขึ้นจากวัตถุ เครื่องล่อ เครื่องจูงใจมีปริมาณเท่าใด ความทุกข์ก็เกิดขึ้นแก่เรามีปริมาณเท่านั้น สิ่งใดที่ทำให้เรามีความสุขความเพลิดเพลินมากสิ่งนั้นก็จะทำให้เราทุกข์มาก ตัวอย่างในชีวิตในครอบครัว เรามีลูก ลูกคนไหนที่เรารักมาก เวลาลูกคนนั้นเจ็บไข้ได้ป่วยนี่เราทุกข์ขนาดไหน หรือถ้าหากว่าลูกคนนั้นจากเราไปด้วยความตายอันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เราก็จะรู้สึกว่ามีความทุกข์มากในการจากไปของลูกคนนั้น ลูกคนอื่นที่ยังอยู่นั้นเราไม่ได้นึกถึง เรานึกแต่ลูกคนนั้น เวลาทานข้าวก็นึกถึง เวลานอนก็นึกถึง เวลาจะไปไหน เคยนั่งไปด้วยกันก็มีความคิดถึงแล้วก็มีความเศร้าใจ มีความเสียใจเกิดขึ้นในเรื่องนั้น
นี่เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าถ้าเรามีความพอใจมากเท่าใด เมื่อสิ่งนั้นมันเปลี่ยนแปลงไปไอ้ความไม่พอใจมันก็เกิดขึ้นแก่เรามีปริมาณเท่ากัน ผู้มีปัญญาจึงไม่สร้างความพอใจในสิ่งใดๆ แต่ว่าอยู่ด้วยปัญญา อยู่ด้วยความรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร สภาพของมันเป็นอย่างไร มีเกิดมีดับอย่างไร เรามองเห็นความจริงอยู่ในสิ่งนั้น ฉะนั้นเมื่อเราเห็นความจริงอย่างนั้นเราก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่เหี่ยวแห้งในสิ่งนั้น คือไม่เพลิดเพลินเมื่อได้ ไม่เสียใจเมื่อไม่ได้ ความพลัดพรากจากสิ่งนั้นก็ไม่มีความหมาย มันเป็นแต่เพียงทำให้เราได้รู้ความจริงขึ้นมาอีกอันหนึ่งว่าความจริงมันมีตัวเลือกนี้อยู่บ้างเหมือนกัน คือความพลัดพรากมันต้องมี การจากไปก็ต้องมี เหมือนที่เขาพูดว่า “เมื่อมีแล้วมันก็ไม่มี” พูดสำนวนว่า "มีแล้วหาไม่ ได้แล้วหายไป" เมื่อมี (11.50) ก็มีจากกัน มีรักก็มีทุกข์อะไรอย่างนี้ เราได้พบความจริงว่ามันเป็นเช่นนั้น แต่ว่าเวลาความจริงเกิดขึ้น เราไม่ได้เอาความจริงนั้นมาเป็นบทเรียน มาเป็นเครื่องสอนใจก็ไม่ได้อะไรจากสิ่งนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้เราเรียนรู้จากสิ่งต่างๆ ที่มี เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องได้ เรื่องเสีย เรื่องมี ไม่มี เรื่องสุขเรื่องทุกข์อะไรต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นในวิถีชีวิตของเรานั้น ท่านสอนให้เราพิจารณาสิ่งนั้นๆ เพื่อให้เห็นชัดแจ้งตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ เมื่อใดเรารู้ชัดในสิ่งนั้นเราก็ใช้บทเรียนเป็นเครื่องสอนใจ เป็นเครื่องเตือนใจ เวลาสิ่งอื่นเกิดขึ้นเราก็นึกว่ามันเหมือนกับเรื่องนั้น เห็นจากฉากหนึ่งพอเห็นฉากอื่นเราก็ตีความได้ว่าสภาพมันเป็นเช่นเดียวกัน เราจิตใจก็สงบ ไม่มีความวุ่นวายด้วยปัญหาอย่างนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่น่าคิดประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่งหลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนาของเรานั้น บางคนก็เอาไปใช้ในทางไม่ถูกเหมือนกัน เอาไปใช้ผิดไป แล้วเมื่อใช้ผิดมันก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นแก่ชีวิต เช่นว่ายกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เรื่องความเปลี่ยนแปลงของสิ่งสรรพสิ่งทั้งหลายที่ท่านกล่าวไว้ในหลักธรรมว่า “สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายเป็นทุกข์ สิ่งทั้งหลายไม่มีอะไรที่เป็นสาระแก่นสารอย่างแท้จริง” คนก็มาศึกษาในเรื่องนี้ พอศึกษาในเรื่องนี้แล้วก็มองรูปในแง่ที่ไม่น่าพอใจไม่พึงใจ แล้วก็เบื่อหน่าย ไม่อยากจะทำอะไร ไม่อยากจะเป็นอย่างที่ชาวโลกเขาเป็นๆ กันอยู่ เช่นว่าเด็กหนุ่มกำลังอยู่ในวัยต้องการศึกษาเล่าเรียน บางทีก็เรียนไปใกล้จะจบแล้ว แต่ว่าไปคิดถึงธรรมะเข้า คิดถึงธรรมะว่าเรียนไปทำไม เรียนไปเพื่อประโยชน์อะไร แล้วก็เลยเบื่อหน่ายไม่อยากจะเรียนหนังสือ ออกจากมหาวิทยาลัยเสีย หรือออกจากงานไปเสีย บอกว่าทำไปทำไม ทำไปถ้ามันไม่เป็นสาระแก่นสารอะไร ชีวิตมันไม่ได้มีความหมายอะไรกับสิ่งเหล่านี้ เลยเบื่อหน่ายไม่อยากจะทำงาน ไม่อยากจะศึกษา อ้าวเข้าป่าเข้าดงไปเลย ไปอยู่คนเดียวเงียบๆ ไม่ได้คิดในเรื่องที่ถูกต้อง อย่างนี้มีอยู่บ้างเหมือนกันจึงอยากจะขอฝากเป็นคติไว้ว่า ต้องใช้ธรรมะให้เป็น เอามาคิดให้มันถูกแก่เรื่อง แก่เวลา แก่บุคคล แก่เหตุการณ์ ถ้าเราใช้ธรรมะไม่เป็นมันก็เป็นปัญหา เช่นว่าสิ่งที่เป็นสาระมีอยู่ สิ่งที่ไม่เป็นสาระมีอยู่ แล้วก็มองเห็นว่าโลกียะทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่สิ่งที่เป็นสาระเลยเบื่อหน่ายต่อสิ่งนั้น ไม่ทำงานทำการอะไรแล้ว อันนี้ไม่ถูกต้องตามจุดหมายของพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าสอนเราให้เข้าใจในสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริงเพื่อจะอยู่ในโลกด้วยจิตใจที่สงบ ด้วยจิตใจที่มีปัญญา รู้เท่ารู้ทันต่อสิ่งนั้น พูดง่ายๆ ว่าพระพุทธศาสนานี้ไม่ได้สอนให้เราเป็นคนหนีโลกแต่ให้เราต่อสู้กับโลกในชีวิตประจำวัน ถ้าเราหนีไม่ได้ เราจะไปอยู่ในป่าก็ไม่ได้ เพราะในป่ามันก็มีปัญหาอีกเหมือนกันแล้วเราจะไปอยู่ไหน เลยกลายเป็นคนที่ต้องเร่ร่อน จรจัดเรื่อยไป อยู่วัดนั้นก็ไม่ได้ อยู่วัดโน้นก็ไม่ได้ มีมากเหมือนกันนักบวช บวชเข้าแล้วไปอยู่วัดนั้นก็ไม่ถูกใจ อยู่วัดโน้นก็ไม่ถูกใจ ไม่ถูกใจมันทุกวัดอยู่เรื่อยไป แล้วมาที่วัดนี้บอกว่าจะมาขออยู่วัดนี้ บอกว่าไม่รับเพราะว่าอยู่ที่ไหนมันไม่ถูกใจทั้งนั้น ไม่รู้จักจัดตัวเองให้มันเหมาะแก่เวลา แก่บุคคล แก่เหตุการณ์ ไปอยู่ที่ไหนมันก็กลุ้มใจอยู่อย่างนั้นแหล่ะ แล้วก็เล่านิทานเปรียบเทียบให้ฟังว่าสุนัขตัวหนึ่งมันเป็นแผลที่คอ เป็นแผลเต็มคอมีตัวหนอนอยู่ด้วยซ้ำไป มันไปนอนตรงไหนมันก็ไม่เป็นสุข นอนสนามหญ้าก็ไม่เป็นสุข นอนที่ปูนซีเมนต์ก็ไม่เป็นสุข ไปนอนที่ปูพรมไว้ให้นอนมันก็ไม่เป็นสุข มันต้องเที่ยววิ่งด๊อกๆๆๆ อยู่ตลอดเวลาเพราะว่ามันมีแผลอยู่ที่คอ แล้วมันก็ต้องวิ่งอยู่อย่างนั้น ที่ไหนก็ไม่สบาย แต่ความจริงสถานที่นั่นมันไม่ได้เกี่ยวข้องหรอก แต่ว่าแผลที่คอของตนที่เป็นเรื่องใหญ่จึงนอนไม่เป็นสุข คนเรานี่บางทีก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่สบายใจ อยู่วัดไหนก็ไม่สบาย อยู่กับใครก็ไม่สบายไม่ถูกอารมณ์ไปเสียทั้งนั้น อะไรเหตุการณ์อะไรก็ไม่ถูกอกไม่ถูกใจ ต้องไปกันเรื่อยไปไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น การทำเช่นนั้นมันไม่เป็นการถูกต้อง เราควรจะต่อสู้กับปัญหาไม่ใช่เราหนีปัญหา ถ้าหนีไปไหนปัญหามันก็ไปกับเรา เพราะตัวปัญหามันอยู่ในใจของเรา อยู่ที่ความคิดของเราแล้วเราไปไหนมันก็ไปด้วย เราอยู่บ้านมีความทุกข์ด้วยเรื่องอะไรไปที่อื่นมันก็เป็นทุกข์อีกเพราะว่าปัญหานั้นไม่ถูกสะสาง ไม่ได้แก้ปัญหาตามหลักเหตุผลในทางพระพุทธศาสนา แล้วเราก็เที่ยววิ่งไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น มันไม่เป็นการถูกต้อง เราจึงต้องเพ่งปัญหานั้นให้รู้ชัดเห็นจริง แล้วเราก็มาปรับตัวเราให้เข้ากับปัญหานั้น อันนี้จึงอยากจะขอฝากไว้เป็นหลักเกณฑ์อันหนึ่งว่า ธรรมะหรือการปฏิบัติในพระพุทธศาสนานั้นไม่ได้สอนให้เราหลีกหนีจากสิ่งทั้งหลาย แต่สอนให้เราใช้ปัญญาต่อสู้กับสิ่งเหล่านั้น แก้ปัญหาด้วยปัญญาไม่ใช่เป็นพวกหนีปัญหา เพราะการหนีปัญหานั้นมันไม่พ้นตัวปัญหา แล้วเราก็จะไม่พ้นจากความทุกข์ แต่เราจะต้องต่อสู้กับปัญหานั้นๆ เพื่อเอาชนะสิ่งนั้นให้ได้
พระพุทธเจ้าสอนนี่มุ่งไปในรูปอย่างนั้นแต่ว่าคนที่ศึกษาเล็กๆ น้อยๆ ไม่เข้าใจเลยเลิกหมด ผมไม่ทำอะไรแล้วทำไปก็ไม่ได้สาระอะไร ชีวิตมันไม่ได้เกิดมาเพื่ออย่างนี้แล้วจะทำอะไร ก็อยู่มันเฉยๆ อ้าวอยู่มันเฉยๆ แล้วมันจะได้เรื่องอะไร ชีวิตมันจะมีค่าที่ตรงไหน เราเกิดมามีหน้าที่จะต้องกระทำ เช่นเด็กมีหน้าที่ต้องศึกษาเล่าเรียน เรียนชั้นประถม มัธยมโดยลำกับ จนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัย ก็ต้องเรียนไปตามหน้าที่ อย่าไปเบื่อหน่ายการเล่าเรียน เราเพราะการแสวงหาความรู้นั้นเป็นเรื่องให้เกิดปัญญา แล้วเราจะได้นำปัญญานั้นไปใช้ในการดำรงชีวิตของเราต่อไป เราก็ต้องเรียนไปตามหน้าที่ ไม่ถอยหนีจากการเรียน ไม่เบื่อหน่ายจากการเรียนแม้ว่าการเรียนนั้นมันจะเป็นเรื่องยากเรื่องลำบาก เราก็ต้องต่อสู้ คนเรามันต้องหัดเป็นคนมีน้ำอดน้ำทนในการที่จะต่อสู้กับปัญหาชีวิต เพราะถ้าเราเป็นคนอ่อนแอจะอยู่ในโลกได้อย่างไร สิ่งที่ดีที่งามทั้งหลายในโลกนี้ไม่ได้เป็นสมบัติของคนอ่อนแอ แต่เป็นสมบัติของคนที่เข้มแข็งอดทนหนักแน่นเอาตัวรอดได้ เราก็ต้องต่อสู้กับสิ่งนั้น คิดแก้ปัญหา ถ้าเรารู้สึกว่าจิตใจเรามันอ่อนแอลงไป เราก็ต้องเข้าใกล้ผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็ง มีลักษณะอดทน มีลักษณะที่ไม่หนีสิ่งเหล่านี้เพื่อศึกษาแนวทางชีวิตเพื่อนำหลักการของท่านผู้นั้นมาใช้ในการแก้ไขปัญหาชีวิตของเราต่อไปแล้วเราก็สู้ต่อไป
สมมติว่าพระพุทธเจ้าของชาวเราท่านเบื่อโลกแล้วท่านออกไปอยู่ในป่าแล้วท่านไม่ต่อสู้กับปัญหา จะเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้อย่างไร การที่พระองค์ได้สำเร็จเป็นพุทธะ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนั้นเพราะพระองค์ไม่หนีปัญหานั่นเอง วิ่งเข้าใส่ปัญหาเลย สู้กับมัน สู้อย่างชนิดที่เรียกว่าเข้มแข็ง อดทน หนักแน่น พยายามศึกษาค้นคว้า ลำบากตรากตรำอย่างไรก็ไม่ยอมท้อถอย เช่นว่าไปบำเพ็ญความเพียรอย่างแรงกล้าที่เราเรียกกันว่าบำเพ็ญทุกขกริยา เป็นการกระทำที่ยาก ที่หนักยิ่ง ทางอินเดียเขาประพฤติปฏิบัติกันอยู่ในสมัยนั้น พระองค์ก็ไปทดสอบว่าทำแล้วมันจะได้อะไร ถ้าไม่ทำมันก็ไม่รู้แล้วจะไปติเขาว่าไม่เข้าท่า มันก็ไม่ได้ เพราะตัวไม่เคยปฏิบัติในเรื่องนั้น เพราะฉะนั้นพระองค์ก็ไปทดสอบทำเอาอย่างหนักเกินกว่าคนที่ทำมาก่อนเสียด้วยซ้ำไป ทำให้คนที่ทำมาก่อนทั้งหลายนั้นต้องชิดซ้ายไปเลยทีเดียว พระองค์ทำอย่างนั้นแต่ว่าทำไปแล้วทรงเห็นว่าไม่ได้เรื่อง ไม่เป็นทางแห่งการตรัสรู้ ไม่เป็นทางแห่งความสงบทางใจ เพราะทรมานกายให้เหน็ดเหนื่อยใจก็ไม่สงบ เลยเลิกไม่กระทำอย่างนั้น ค้นหาวิธีอื่นต่อไป เมื่อยังไม่ถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ก็ต้องค้นต่อไป บำเพ็ญความเพียรพยายามอย่างหนักแน่น อดลำบาก ต่อสู้กับความยากลำบากจนกระทั่งได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า การสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่การหนีโลก แต่เป็นการออกไปต่อสู้กับโลกอย่างแท้จริง พระองค์อยู่ในวังยังไม่ได้มีการต่อสู้อะไรเพราะมีคนคอยช่วยอยู่ทุกอย่าง ช่วยปฏิบัติ ช่วยบำรุงให้เกิดความสะดวกสบายไปหมด ยังไม่ได้ต่อสู้ พระองค์ออกจากวังไม่ใช่หนีแต่ว่าออกไปเพื่อฝึกหัดการต่อสู้ ออกไปผจญภัยเพื่อจะได้รู้จักชีวิตมากขึ้น รู้จักความทุกข์มากขึ้น รู้จักโลกมากขึ้น จึงออกไปต่อสู้ ไม่ใช่ออกไปเพื่อหลีกหนี แล้วก็สู้จนกระทั่งสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนที่จะตรัสรู้นั้นพระองค์ได้ต่อสู้อย่างหนักทีเดียว เพราะมารมาผจญ มารนั้นไม่ใช่ว่าเป็นตัวบุคคล ขี่ช้างถือหอกถือดาบมาจะไล่แทงพระองค์ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นความคิดที่เกิดขึ้นในใจของพระองค์อย่างรุนแรง ในระยะเข้าได้เข้าเข็มนี่มีความคิดอะไรเกิดขึ้นดึงพระองค์มากมาย แต่พระองค์ก็ได้อธิษฐานใจว่าเราจะต้องต่อสู้เพื่อเอาชนะให้ได้ แล้วก็ตรัสเป็นคำบาลีว่า (23.56 “สังฆามี เมมะตัง เสยโย ญัญเจ ชีวี ปราชิโต”) เราตายเสียในการต่อสู้ดีกว่าอยู่อย่างผู้แพ้
"ตายเสียในการต่อสู้ดีกว่าอยู่อย่างผู้แพ้” และการต่อสู้ในที่นี้ไม่ใช่ต่อสู้กับข้าศึก ศัตรูภายนอกแต่ต่อสู้กับกิเลสที่เกิดขึ้นรบกวนจิตใจ ถ้าสู้มันไม่ได้ สู้มันจนตาย ตายยังดีกว่าที่จะเป็นอยู่อย่างผู้แพ้กิเลส อยู่อย่างเป็นทาส ไม่ได้อยู่อย่างเป็นไทเป็นอิสระแก่ตนเอง พระองค์ได้คิดอย่างนั้นแล้วก็ต่อสู้จนกระทั่งว่าได้ชัยชนะ เราจึงเรียกพระองค์ว่า ชินะมารู แปลว่าผู้ชนะมาร หรือว่า ชินะพุทโธ แปลว่าผู้รู้แล้วก็ชนะสิ่งนั้นอย่างเด็ดขาดไม่กลับพ่ายแพ้ต่อไป นี่คือการต่อสู้ของพระองค์ ใช้ชีวิตในการต่อสู้อยู่ตลอดเวลา ทำงานตลอดเวลา ตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะอยู่นิ่งอยู่เฉย พระองค์ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่เผยแผ่ธรรมะไปที่ทางบรรเทาทุกข์ ที่ทางสุขเกษมศานต์ให้ชาวโลกได้เกิดความรู้ความเข้าใจ การไปการมาไม่ใช่สะดวกสบายเหมือนกับสมัยนี้ เดินไป เดินไป พระองค์ก็ไป เมื่อมีใครจะสอนแม้สักคนหนึ่งพระองค์ก็อุตสาห์เดินไปหาคนนั้นเพื่อแจกธรรมะให้แก่เขา นี่คือการต่อสู้กับสิ่งชั่วร้ายในสังคม ต้องการเอาชนะด้วยธรรมนั้นเอง เพราะฉะนั้นเราซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าอย่าทำตนเป็นคนขี้แพ้ต่อปัญหาต่างๆ อย่าอ่อนแอแต่ต้องเป็นคนเข้มแข็งเอาหลักธรรมะมาใช้ให้เป็น คือใช้ในทางที่ให้เข้มแข็งทางจิตใจให้มีกำลังใจสำหรับที่จะเอาชนะปัญหาชีวิตด้วยประการต่างๆ ถ้าเราเป็นคนแพ้ เราเลิกจากสิ่งนั้น เราไม่ทำสิ่งนั้นต่อไปเช่นคนเรียนไม่เรียน คนทำงานไม่ทำงาน มีครอบครัวแล้วก็ทิ้งครอบครัวไป ไปคนเดียวเพราะว่าสู้โลกไม่ไหว อย่างนั้นก็เป็นความอ่อนแอ ไม่ได้เรื่อง เราจะต้องอยู่ต่อสู้ต่อไป สิ่งใดเราสร้างขึ้นมาแล้วเราก็ต้องช่วยกันรักษาบำรุงสิ่งนั้นให้วัฒนาถาวรต่อไป ในการต่อสู้นั้นเราต่อสู้เพื่อให้ชนะ คือให้ชนะความทุกข์ความเดือดร้อนใจ อยู่ในโลกโดยไม่ต้องเป็นทุกข์กับใครๆ อยู่ในโลกโดยไม่วุ่นวายไม่สับสนในทางจิตใจ เราทำอะไรทุกอย่างได้ ทำมาค้าขายก็ทำได้ ทำราชการก็ได้ ทำกิจส่วนตัวในประเทศใดๆ ก็ได้ แต่ว่าเราทำด้วยปัญญา ทำด้วยความรู้เท่ารู้ทัน ทำสิ่งนั้นไม่เป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น มีอะไรเราก็มีได้เช่นมีเงินมีทอง มียศถาบรรดาศักดิ์ มีพวกมีบริวาร เราก็มีได้แต่เรามีสิ่งนั้นด้วยปัญญา ไม่ใช่มีแล้วนั่งกลุ้มเป็นทุกข์ด้วยความมั่งมีนั้น มีเงินเราไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะเงินนั้น มีลาภไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะลาภ มียศไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะยศ มีเกียรติมีชื่อเสียงก็ไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ มีบริวารคนมากๆ มาอยู่ด้วยกัน เราก็ไม่ทำให้เกิดความทุกข์เพราะมีสิ่งนั้น เพราะเรามีปัญญาตามหลักเกณฑ์ในทางพระพุทธศาสนา
ปัญญาในพระพุทธศาสนาในเรื่องนี้หมายถึงอะไร ก็หมายถึงว่าอะไรๆ นั้นมันไม่เที่ยง มันมีความทุกข์อยู่โดยสภาพ มันไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นเนื้อแท้ เราก็มีมันอย่างนั้น มีด้วยปัญญา เมื่อสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไปเราก็ยิ้มได้ เราไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น อะไรสูญหายไปเราก็ไม่เป็นทุกข์ เงินทองเรามีมันหายไปบ้าง ขโมยมาจี้เอาไปเสียบ้างเราก็ไม่ต้องทุกข์ไม่ต้องเดือดร้อนใจเพราะในสิ่งเหล่านั้น เพราะเรามีปัญญารู้ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ไม่มีอะไรที่เป็นของเราถาวรแต่ว่าเมื่อเรามีเราก็ต้องใช้มันให้ถูก เราต้องมีอย่างคนมีปัญญามี อย่างนี้ก็ช่วยให้เราปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ไม่ให้เราเกิดปัญหา เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนต่อไป พระผู้มีพระภาคเจ้าสอนเศรษฐีให้รู้จักเป็นเศรษฐี สอนพระราชาให้รู้จักเป็นพระราชา สอนข้าราชการให้รู้จักเป็นข้าราชการ โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ แต่ให้ทุ่มเทชีวิตความสามารถเพื่อการปฏิบัติงานให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อันนี้มันเป็นศิลปะในการดำรงชีวิตตามหลักธรรมะในทางพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นเราจะต้องเอาธรรมะมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเรา เพื่อการคิดในทางที่ถูกที่ชอบ เดี๋ยวนี้มีคนไม่ใช่น้อย พอเริ่มเข้าวัดเข้าวานิดหน่อย เบื่อเสียหมดแล้ว เบื่อ ไอ้นั่นมันไม่ใช่เบื่อในตามแบบธรรมะเขาเรียกว่า (29.45) อัตถิยะนา ภาษาบาลีเรียกว่า อัตถิยะนา หมายความว่าอึดอัดขัดใจในอะไรๆ ต่างๆ มันไม่ใช่คำว่า นิพพิทา คำบาลีมีคำว่านิพพิทา หมายความว่าเบื่อหน่ายด้วยปัญญา เบื่อหน่ายด้วยปัญญาไม่ใช่ว่าเราทิ้งสิ่งนั้นแต่ว่าเรามีสิ่งนั้นเรามีด้วยปัญญา ส่วนคนที่อึดอัดนี่ไม่อยากจะเห็น ไม่อยากจะได้ยิน ไม่อยากจะเข้าใกล้สิ่งนั้นสิ่งนี้ วิ่งหนีเตลิดเปิดเปิงไปเลย อย่างนั้นเขาเรียกว่าพวกอึดอัดขัดใจ มันเป็นตัวทุกข์นะ ไอ้ความอึดอัดมันเป็นตัวทุกข์ เราลองคิดดูว่าบางครั้งบางคราวเราอึดอัดขัดใจคนใช้บ้าง ขัดใจกับคนที่เป็นอยู่ร่วมกันบ้างแล้วเราก็หนีไป หนีไปแล้วกลับมาอีกแล้วเราก็เกิดขัดใจกันอีกเลยต้องหนีบ่อยๆ อย่างนี้มันก็ลำบาก ชีวิตมันก็สับสนวุ่นวายเพราะเราไม่คิดต่อสู้กับปัญหา ไม่ปรับตัวเราให้เข้ากับเหตุการณ์แล้วก็ไม่ช่วยกันปรับกันทั้งสองฝ่าย ไม่ผ่อนปรนหันหน้าเข้าหากัน เราก็มีแต่เรื่องอึดอัดขัดใจอยู่ตลอดเวลา ต้องใช้เงินมากเพื่อหนีความอึดอัดขัดใจ หนีงานหนีการ เช่นคนทำงานกับคนมากๆ นี่ไม่รู้ความจริงว่า คนมากนี่นิสัยมันไม่เหมือนกัน
ที่เข้าพูดว่า “นานาจิตตัง” จิตใจคนเรามันแตกต่างกันนิสัยแตกต่างกัน สติปัญญาก็ไม่เท่าเทียมกัน การอบรมบ่มนิสัยมามันก็ไม่เหมือนกันแล้วเราจะไปทำคนทุกคนให้เหมือนใจเรามันจะได้ที่ไหน มันทำไม่ได้ เราจะให้ทุกคนเหมือนเรานี่มันไม่ได้ แต่ว่าเราต้องพยายามทำใจของเราให้พอเข้าได้กับสิ่งเหล่านั้น ให้รู้เท่าทันต่อสิ่งนั้นตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ อย่างไร ที่เราจะไม่ต้องเป็นทุกข์ ที่เราจะนั่งหัวเราะได้ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้น หัวเราะด้วยปัญญาไม่ใช่หัวเราะแบบที่คนไปดูลิเก ลิเกมันแสดงหัวเราะจนกระทั่งตายไปเลยนี่เคยมีนะ ชีวิตบางลำพูสมัยหนึ่งนะ คุณยายไปดูลิเกนะ ลิเกแสดงถูกอกถูกใจก็หัวเราะตายไปเลย เขาเรียกว่าหัวเราะจนตาย ไอ้นั่นเขาเรียกว่าหัวเราะด้วยความเขลา ไม่ใช่เรื่องอะไร ที่นี้เราหัวเราะอยู่ในใจ หัวเราะอยู่ในใจว่าเรื่องนี้มันก็อย่างนั้นแหล่ะ อะไรๆ มันก็อย่างนั้นแหล่ะ เรานึกได้อย่างนั้นเราก็สบายใจ ไม่ต้องอึดอัดไม่ต้องขัดใจอะไรกันต่อไปในเรื่องระหว่างบุคคล ระหว่างเหตุการณ์อะไรต่างๆ คนอยู่กับคนมากมักจะมีปัญหาอย่างนั้น คือไม่รู้ว่าความจริงมันเป็นอย่างไร คนหลายคนมันก็หลายใจ หลายคำพูดหลายวิธีการ หลายความคิดความอ่าน ให้รู้แต่ว่าธรรมดามันเป็นอย่างนั้นเอง เอาหลักเอาคำนี้ไปเป็นเครื่องปลอบโยนก็ได้ว่าธรรมดามันเป็นเช่นนั้นเอง เราจะทำให้มันเหมือนกันไม่ได้ มันลำบาก เขาเล่าเป็นเรื่องไว้ว่าเทวดาอยู่ที่ศาลาแล้วคนมันนอนนี่ คนหนึ่งหัวขึ้นไป คนหนึ่งลดลงมา มันไม่เท่ากัน เทวดาก็ลงมาจับคนให้นอนให้เสมอกันแล้วขึ้นไปนั่งดู ประเดี๋ยวก็ไอ้คนนั้นลงมา ไอ้คนนั้นพลิกอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ต้องลงมาจัดอีกแล้วทั้งคืนเทวดาไม่ได้นอนเพราะมัวแต่ไปจัดคนให้มันเทียมกันอย่างนั้นเลยไม่ได้หลับนอนเลย อันนี้มันก็อย่างนั้นแหละ คนเรามันก็ต้องใช้อย่างนั้นเป็นข้อเปรียบเทียบว่าคนเรานี่ต้องจัดสิ่งที่จัดไม่ได้มันก็ลำบาก ไอ้สิ่งที่พอจัดได้มันก็พอจัดได้ แต่ถ้าสิ่งที่ยังจัดไม่ได้ เราก็ต้องทนต่อสู้ไปก่อน ค่อยพูดค่อยจากัน ค่อยทำความเข้าใจกัน ปรับจิตใจของคนเราในเรื่องอะไรต่างๆ แล้ววันหนึ่งเราก็จะอยู่ได้ด้วยความสุขเพราะคนเหล่านั้นเขารู้อะไรถูกต้องขึ้น แต่นี่เราไม่เข้าใจวิธีจัด เราอยากให้คนทุกคนเหมือนใจเรา ให้ทุกอย่างเหมือนใจเรามันไม่ได้ ไอ้สิ่งทั้งหลายจะให้มันเหมือนใจเสมอไปมันไม่ได้
เราก็ต้องรู้กฎธรรมชาติไว้ด้วยว่ามันเป็นอย่างนั้น เช่นธรรมชาติดินฟ้าอากาศนี่ อยู่ดีๆ ฝนเทจักๆ ลงมา เกิดเรื่องกับรถเท่าใดนี่รถชนกันกี่คันวันนี้ รถคว่ำลงไปในคูกี่คันวันนี้ มันมีนะ เมื่อเช้านั่งไปสถานีโทรทัศน์ก็เห็นรถชนกันหลายรายแล้วก็ลงไปนอนคูก็หลายคันเหมือนกัน นี่มันเรื่องอย่างนี้ คนมันไม่เสมอกัน ไม่มีปัญญา ไม่รู้ว่าฝนตกผิดเวลาถนนมันลื่น เมื่อถนนลื่นต้องขับรถด้วยความระมัดระวังไม่ให้เร็วเกินไป แล้วก็ต้องระวังดูให้ดี สติต้องใช้ ปัญญาก็ต้องใช้ มันก็ไม่ค่อยมีเรื่องอะไร แต่นี่มันเมามันเพลินไปกับสิ่งทั้งหลาย นึกว่ามันเหมือนเดิมแล้วก็ขับรวดเร็ว ไม่ดูตาม้าตาเรือ แล้วก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาทำให้เกิดความเดือดร้อน ทีนี้ถ้าเรารู้ว่าธรรมชาติมันเปลี่ยนแปลง เราก็ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเราให้เหมาะกับธรรมชาติ อะไรที่ควรจะใช้สติ อะไรควรจะใช้ปัญญา แล้วพูดว่าใช้ความระมัดระวังไม่ให้เรื่องร้ายเกิดขึ้นในการดำรงชีวิตประจำวันได้ เราก็พยายามใช้สิ่งนั้น ถ้าเราทำได้ในสภาพอย่างนี้เราจะมีความเบาใจ มีความโปร่งใจเหมือนกับพ่อแม่มีลูกหลายคนนี่ ลูกหลายคนมันเหมือนกันไหม เราลองคิดดูว่าญาติโยมที่มีลูกนั่น สมมติว่ามีลูก 5 คนมันเหมือนกันทุกคนไหม ไม่เหมือนกันหรอก นานๆ จะมีสักครอบครัวหนึ่งที่เรียกว่าเรียบร้อยทุกคนในครอบครัวนั้น อันนี้มีบ้างแต่มันน้อย แต่ว่าไอ้ชนิดที่เรียกว่ามีคนเกะกะ มีคนหัวดื้อ ว่าไม่นอนสอนไม่ฟังก็มีขึ้นในครอบครัวเราเหมือนกัน แล้วเราจะไปเป็นทุกข์เกินไปมันก็ไม่ได้ ต้องใช้ปัญญาพิจารณาว่าจะทำอย่างให้ให้ลูกคนนั้นมีความฉลาดขึ้นกว่านี้ มีความเข้าใจเรื่องชีวิตมากขึ้นกว่านี้ มีความประพฤติถูกต้องมากขึ้นไปกว่านี้ เราต้องใช้ปัญญา จะเป็นที่เป็นหลักในการที่จะอบรมบ่มนิสัย อย่าเอาโมโห โทโส เข้าไปใช้ อย่าไปโกรธ อย่าไปตี อย่าไปดุไปด่าเขา จิตใจคนมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ถ้าเราไปดุไปด่าหนักเข้ามันก็ไม่รู้เรื่องอะไรมันมองไปในแง่ว่าเรานี่มันไม่เหมือนคนอื่น คุณพ่อไม่รัก คุณแม่ไม่รักจึงต้องดุต้องด่า เด็กมันก็เกิดปมด้อยมากขึ้น เกิดน้อยอกน้อยใจมากขึ้น เลยก็ทำให้เราเดือดเนื้อร้อนใจมากขึ้น เราจึงต้องเอาใจเย็นเข้าสู้ ค่อยแก้ไขไปตามโอกาสที่จะแก้ไขได้
สมัยเป็นเด็กเรียนหนังสือแบบเรียนเร็วเล่มหนึ่ง มีเรื่องขำอยู่เรื่องหนึ่งเหมือนกันว่าคุณตากับยายแกเป็นชาวนา แล้วก็ไปซื้อวัวมาตัวหนึ่ง วัวเมื่อได้มาใหม่มันต้องฝึก ไม่ใช่เอาวัวไถนา ไม่ใช่ว่าเอาแอกเทียมแล้วมันจะไถได้นะ ไม่ได้หรอกโยมไถไม่ได้ เราต้องฝึก ต้องแบกเกวียนเข้า ให้ลากไถมีคนจูงไปคนหนึ่งและคนถือหางคนหนึ่งคอยค่อยๆ พูดกับวัว ค่อยๆ เดินไปช้าๆ เมื่อวัวมันไม่เคยเราให้เดินไปนี่มันเดินไปทางโน้น มันเดินไปทางนี้ บางทีมันกระโดดเอา คันไถหลุดหักไปเลย ทีนี้คนที่ฝึกวัวหรือพ่อบ้านคือคุณตานั่นใจร้อน พอวัวทำอะไรผิดก็หวดเข้า หวดก้นนะ พอหวดเข้าวัวมันเจ็บก้น พอมันเจ็บก้นก็กระโดด กระโดดคันไถหักไป กลับบ้านก็มาบ่นกับยายว่าไม่ไหวเลย วัวตัวนี้ มันดื้อ พูดกันไม่รู้เรื่อง ฉันจะเอาไปขายไปให้เขาชำแหละเนื้อไปต้มกินซะแล้ว ยาบอกว่า ตาต้องใจเย็นๆ อย่าไปร้อน วัวมันไม่มีหูเหมือนคนและมันไม่เคยฟังภาษาคน เราจะใจร้อนไม่ได้ ต้องค่อยสอนค่อยฝึกไป ใจเย็นๆ คนจะฝึกคนอื่นมันต้องฝึกตัวด้วยนะตานะ ถ้าไม่ฝึกตัวด้วยมันก็ลำบาก ตาว่าฝึกตัวยังไง อ้าวก็ต้องใจเย็นๆ อย่าโกรธวัวเพราะวัวมันเป็นสัตว์เดรัจฉาน มันไม่ใช่คนนี่ คนไปโกรธวัวนี่มันไม่ถูกนะเพราะว่าวัวมันไม่ใช่คน ยายก็พูดให้ตาฟัง คุณยายนั่นคงจะไปวัดอยู่บ้าง เขาไม่ได้บอกไว้ในเรื่อง เลยก็สอนคุณตา บอกว่าต้องใจเย็นๆ ค่อยฝึกค่อยสอนไป ตาก็นึกได้แล้วก็ค่อยๆ สอน ค่อยๆ ฝึก ไม่กี่วันวัวก็เรียบร้อย เชื่อง ใช้งานใช้การได้ดี แล้วก็มาขอบใจคุณยายว่า แหมฉันถ้าไม่ได้ยายตักเตือนนี่ ฉันคงจะขายเจ้านี่ให้เขาต้มเสียแล้วนะ แต่นี่อาศัยยายช่วยตักช่วยเตือนมันก็ค่อยดีหน่อย ยายกับตาอยู่บ้านด้วยกันมันต้องตักเตือนกัน บางทียายผลุนผลันตาก็ต้องเตือน บางทีตาร้อนขึ้นมายายก็ต้องเตือน ถ้าเป็นไปทั้งคู่บ้านถูกไฟไหม้หมดเลย อยู่ไม่ได้ อันนี้คนหนึ่งร้อนอีกคนหนึ่งต้องเย็น เมื่ออีกคนหนึ่งร้อนอีกคนหนึ่งต้องเย็น อย่าให้มันร้อนพร้อมกัน ถ้าร้อนพร้อมกันแล้วก็เกิดเป็นปัญหา แต่ถ้าข้างหนึ่งร้อนข้างหนึ่งเย็นมันก็ไม่มีอะไร ร้อนอยู่คนเดียวมันก็หยุดไปเท่านั้นเอง
เขาเรียกว่าใช้ปัญญาเป็นหลักในการพิจารณา ทำอะไรทุกอย่างอย่าใจร้อน เวลานี้คนประเภทใจร้อนมันก็มีบางพวก มีเหมือนกัน สมมติว่าไปทำงานทำการแล้วก็ไม่ถูกอกถูกใจกับเพื่อนฝูงบ้าง กับเจ้านายบ้าง ไม่ถูกใจกัน ร้อนขึ้นมาลาออกมันเสียเลย ไม่อยากจะทำกับมันต่อไปแล้ว อย่างนี้มันก็ร้อนเกินไป ใจร้อนไป ลาออกไปเราก็ต้องไปหางานใหม่ หางานใหม่ก็ไปตั้งต้นใหม่ คนที่เราไปพบใหม่ เราก็ต้องไปตั้งต้นใหม่ต่อไป แต่นี่อยู่กันมาแล้วก็ควรจะอดทนต่อไปสักหน่อย ทำร่วมกันไปต่อไป ค่อยปรับปรุงกัน ค่อยหันหน้าเข้าหากัน ยอมเสียสละบ้าง เล็กๆ น้อยๆ ในเรื่องอะไรต่างๆ คิดเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่ ไม่เอาตัวเราเป็นใหญ่ เราก็ทนทำต่อไป ปรับปรุงไป หาอุบาย หาวิธีว่าจะชนะคนนี้อย่างไร ถ้าเราหนีนี่เรียกว่าเราแพ้นะ เราหนีเขาเราแพ้เขา เราสู้เขาไม่ได้ เรายอมแพ้ แล้วไอ้คนที่ชนะเราเขาก็ดีใจว่า เออ มันหมดก้างขวางคอไปเสียที กูจะได้ทำอะไรสะดวกสบาย เพราะฉะนั้นเราอยู่ไปก่อน อยู่ต่อสู้กับคนนั้นด้วยวิธีการที่แยบคาย ไม่ใช้วิธีการต่อสู้ด้วยเอากิเลสเข้าสู้ แต่เอาความดีเข้าสู้ ต่อสู้เพื่อหัดเขาให้เป็นคนดีด้วย หัดเราให้เป็นคนดีด้วย หัดเราก็ต้องใจเย็นๆ ต้องไม่แสดงอาการโกรธเคืองออกมาให้ปรากฏ เขาทำอะไรเราทำเป็นโง่เสียบ้าง ทำไม่รู้ไม่ชี้เสียบ้าง ท่านผู้หนึ่งจึงกล่าวไว้เป็นคติว่า “ผู้ใหญ่นี่ โง่ไม่เป็น เป็นผู้ใหญ่ไม่ได้” ท่านว่าไว้อย่างนั้น น่าคิดนะคือว่าเป็นผู้ใหญ่นี่ โง่ไม่เป็นมันก็ไม่ได้ ฉลาดไปทุกเรื่องมันก็ลำบากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นบางคราวต้องโง่เสียบ้าง ต้องทำหูทวนลมเสียบ้าง ทำเป็นตาบอดเสียบ้าง ทำเป็นลิ้นพูดไม่ได้เสียบ้างเป็นครั้งเป็นคราว ไม่ใช่ว่าทำเช่นนั้นแล้ว แล้วก็จะเสียหาย ทำเช่นนั้นเพื่อหาวิธีต่อไปในการแก้ไขปัญหาต่อไป เพราะเรื่องบางเรื่องพูดทันทีก็ไม่ได้ จัดทำทีก็ไม่ได้ มันต้องดูเวลา ดูจังหวะ ดูเหตุการณ์ ดูสิ่งแวดล้อมว่าเราจะทำอย่างนั้นอย่างไร อย่าทำผลีผลาม อย่าทำด้วยความร้อนรน แต่ต้องดูว่าจะทำอย่างไรต้องใจเย็นๆ เข้าไว้ก่อน
คนไทยเราสมัยโบราณนี่กินหมาก ถ้ามีเรื่องมีอะไรก็เรียกว่าเคี้ยวหมากมันช้าๆ หยับหยับเรื่อยไป ในขณะเคี้ยวหมากต้องทำใจเย็นๆ แล้วก็ต้องคิดวางแผนว่าจะต่อสู้อย่างไรต่อไป แล้วท่านก็ต่อสู้ได้ เอาชนะสิ่งอะไรๆ ได้ด้วยจิตใจเย็น คนใจร้อนนี่ไม่ได้หรอก เวลาร้อนขึ้นมาแล้วมันมืด ร้อนแล้วมันมืดเหมือนไฟกำลังลุกนี่ ขั้นแรกก็มีควัน ควันโขมงมองอะไรไม่เห็น พอควันหมดไฟก็ลุกพรูร้อน เผาไหม้อะไรแหลกเป็นจุณไปหมดเลย ความร้อนใจมันก็อย่างนั้น ความกระวนกระวายใจเกิดขึ้นก็มีสภาพเช่นเดียวกัน ทำให้เรากลุ้มมองอะไรไม่เห็น ที่เราเรียกว่ามืดแปดด้าน มองไปทิศไหนมันก็มืดทั้งนั้น เราคิดอะไรไม่ออก ถ้าหากว่าเราทำตามอารมณ์ในขณะนั้นก็คงเป็นเรื่องร้อน เรื่องไม่ดี จะพูดก็เป็นคำร้อน อาการแสดงออกก็เป็นไม่สุภาพไม่นิ่มนวล ทำให้คนมองดูแล้วก็เกิดความทุกข์เกิดปัญหาต่อไป มันได้อะไรบ้างจากการเป็นในรูปเช่นนั้น ไม่ได้เรื่อง ทำให้เกิดความทุกข์เกิดปัญหาต่อไปจึงควรจะบังคับควบคุมตนเองไว้ให้ใจเย็นๆ ค่อยวางแผน ค่อยคิดต่อสู้ต่อไปว่าเราจะต่อสู้อย่างไร ในการต่อสู้มันต้องใช้ทั้งสองอย่าง ใช้วิธีประเภทสู้ด้วยปัญญานี่อย่างหนึ่ง แล้วก็ต้องหาอุบายว่าเราจะใช้อะไรอย่างไร ใจเย็นไว้ ค่อยพูดค่อยจาค่อยต่อสู้ไป ผลที่สุดเราก็ชนะ อย่างนี้ดีกว่าที่จะเป็นคนใจร้อนใจเร็ว ทำอะไรผลุนผลันพลันแล่น เหมือนกับผู้แทนราษฏรที่คิดว่ารัฐมนูญผ่านแล้วก็ช่วยเอาผมใส่โลงไปฝังไว้ด้วย มันไม่ได้ อย่านั้นมันร้อน พูดด้วยความรู้สึกร้อน แล้วก็มันยุ่งนะมันเดือดร้อนใจ มีความทุกข์ มีปัญหา ถ้านึกว่าเย็นๆ ไว้ก่อน ดูไปก่อนเหตุการณ์มันจะเป็นอย่างไร ถ้ามันผ่านไปก็ไม่เป็นอะไร ไม่ได้เสียหายอะไร ถ้าไม่ผ่านก็ไม่เป็นไรอะไรเกินไป ดูไปก่อน ดูเหตุการณ์ ผู้มีปัญญานั้นต้องพิจารณาอะไรด้วยใจเย็นๆ ดูอะไรอย่างแยบคาย คิดอะไรมันก็ต้องลึกซึ้งละเอียดแล้วจึงจะวางแผนต่อสู้ต่อไป ถ้าเราตายไปแล้วจะไปสู้กับอะไร ไม่มีอะไรจะสู้กันอีกต่อไป ถ้าทุกคนทำอย่างนั้น คนมันก็หมดไปเรื่อยๆ ตายหมดไปเรื่อยๆ แล้วมันจะได้อะไรขึ้นมา อย่างนี้มันก็ลำบากกับการต่อสู้
คนไทยเรานั้นได้ใช้ความละเอียดรอบคอบ รักษาบ้านเมืองมาตั้งแต่โบราณไม่หุนหันพลันแล่น ไม่ใจร้อนไม่ใจเร็ว ดูตัวอย่างในหลวงรัชกาลที่ 5 ในสมัยที่ฝรั่งเศสเข้ามายึดเมืองจันทบุรี เมืองตราด แล้วก็ยังเอาเรือรบวิ่งเข้ามาปากอ่าว แม่น้ำเจ้าพระยาป้อมผีเสื้อสมุทรที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำก็ยิงเข้าให้ ทหารมันรักษาอยู่ก็ยิงเข้าให้ มีเรื่องมีราวกัน พระเจ้าอยู่หัวท่านทำอย่างไรที่จะต่อสู้กับเหตุการณ์นี้ ทรงทราบพระทัยดีว่ากำลังของเรานั้นน้อย ฝรั่งเศสมันใหญ่กว่า น้ำหนักหมัดมันก็หนักกว่า สูงกว่า อะไรดีกว่าทั้งนั้น ถ้าเราจะใจร้อนกระโดดขึ้นไปชกมัน มันล้มนะแต่มันลุกขึ้นชกเราใหม่แล้วเราจะทำอย่างใด ประเทศชาติจะไปรอดได้อย่างไร นับว่าเป็นเรื่องหนัก มีความทุกข์มากทีเดียว ทุกข์จนกระทั่งว่าจะเสวยอาหารไม่ได้ จะนอนไม่หลับเอาทีเดียวแหละ ทุกข์หนักถึงขนาดอย่างนั้น แต่ว่าผู้ที่อยู่ใกล้ชิด พระราชวงศ์ผู้ใหญ่เรียกว่าเป็นน้องๆ ก็เข้าไปพูดจาปลอบโยนให้คลายพระทัย แล้วก็นิมนต์พระเข้าไปแสดงธรรม ท่านได้ฟังธรรมะซึ่งเป็นข้อเปรียบเทียบอย่างดีทีเดียว แสดงให้เข้าให้ฟังอย่างดีก็ค่อยคลายปัญหาลง เมื่อคลายปัญหาแล้วก็คิดว่าต้องใจเย็นๆ ไปก่อน เรายอมเสียอะไรเล็กน้อยไว้ก่อนค่อยแก้กันทีหลังแล้วก็หาวิธีแก้ ด้วยการเสด็จประพาสยุโรป ไม่ได้ไปเที่ยวสนุกสนานอะไร ไปเพื่อผูกมิตร ไปเพื่อหามิตรา ไปประเทศใหญ่ๆ เช่นไปประเทศเยอรมัน ประเทศออสเตรีย ประเทศรัสเซีย ประเทศใหญ่ๆ อังกฤษ แต่ฝรั่งเศสไม่แวะแล้วเขาก็ต้องเชิญให้แวะ แวะเข้ามาแล้วก็ค่อยพูดจากันรู้เรื่อง เพราะว่าผู้หลักผู้ใหญ่ก็เลยเข้าใจกัน เหตุการณ์ทั้งหลายค่อยเรียบร้อยแล้วก็ต้องเสียสละไปบ้างนิดๆ หน่อยๆ เสียนิ้วก้อยดีกว่าเสียทั้งฝ่ามือ เสียแขนดีกว่าเสียคอ มันเป็นอย่างนั้น ยอมเสียสละเพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้ก็ด้วยอาศัยความเยือกเย็น ความสงบใจ ถ้าไม่มีธรรมะเป็นเครื่องช่วย วู่วามใจร้อนใจเร็วก็ไม่ได้ คิดว่าไอ้นี่มันดูหมิ่นศักดิ์ศรีลูกผู้ชายแล้วเราจะต้องต่อสู้ล่ะ แย่
ประเทศพม่านี้ใจร้อน คนพม่านี่ใจร้อนนะโยมนะ ใจร้อน อาตมาไปพม่าหลายครั้ง พระสงฆ์องค์เจ้าก็ใจร้อน หุนหันพลันแล่น วันหนึ่งไปพักอยู่ที่วัดๆ หนึ่ง คนมาขึ้นต้นมะขามเพื่อเอายอดมะขามไปต้มเปรี้ยว พม่ากินแกงฮังเลนี่ไขมันมันมาก เพราะฉะนั้นต้องมีของเปรี้ยวๆ ไว้ตามนี้ ไอ้ใบมะเขือเขาแพะนี่นา เอามาต้มเปรี้ยวนะ พอทานตามแล้วก็ซดเปรี้ยวสักที ล้างไขมันแล้วก็คล่องคอต่อไป ยอดมะขามนี่ก็เปรี้ยวดีพอคนมาถึงปีนขึ้นไปเลย พระท่านลงมาถึงพูดจาเสียงดัง ไอ้คนที่ปีนนั้นก็ลงมา เสียงพระดังก็ลง ท่านก็ยืนอยู่ตรงนั้น พอลงมาถึงปลดปุ้บ ตั้บเอาใหญ่เลย ไอ้คนนั้นยกมือไหว้ปะหลกๆ ปึงๆๆเข้ามา เรียกว่าใช้อวัยวะทั้งสี่กันทีเดียว อาตมานั่งดูๆ ไม่ได้อะไรเลย ทำไมใจร้อนอย่างนั้น พระนี่ใจร้อนไปตุ้บตั้บเขา ใช้อวัยวะทั้งสี่อย่างนั้นมันไม่ถูกเลย ถ้าเอาเพียงสักหนึ่งมันค่อยอย่างชั่วหน่อย ก็นึกในใจว่าอ้อนี่ พม่านี่ใจร้อน ทีนี้คราวหนึ่งโดยสารเรือจากมะละแหม่งมาระนอง นอนปากเรือนี่ เราเรียกว่า (49.55) นิคพัสเซนเยอร์ นอนปากเรือ อาตมาก็นอนมาด้วย พระพม่าก็นอนใกล้กัน แขกอินเดียคนหนึ่งเดินมาสะดุดเท้า ก็ลุกขึ้นเอารองเท้านั่น รองเท้าข้างหนึ่งเปรี้ยงเข้าหน้าเลยแขกคนนั้น แขกนั่นเซไปเลย ก็ยกมือไหว้ ยกมือไหว้ แกก็ทำท่าเข้าไปอีก แล้วก็มีคนมาจับมือไว้ไม่เช่นนั้นก็อีก ปัดโธ่ เขาเหยียบเท้าถ้านึกว่าเออมันเหยียบเท้าดีกว่าคอกูแล้วก็นอนเฉยๆ มันก็ไม่มีเรื่องอะไร แต่ว่านี่ (50.30) …... เราก็นึกในใจว่าทำไมนี่มันเป็นพระเป็นสงฆ์ทำไมเดือดร้อนใจอย่างนั้น แล้วทำให้นึกไปถึงว่าอ้อคนพม่านี่เป็นคนใจร้อน ไม่ค่อยสงบเยือกเย็น เพราะฉะนั้นจึงเกิดปัญหาแก่บ้านเมือง ทำให้เสียเอกราชไปตั้งเก้าสิบกว่าปีเพราะความใจร้อน
อังกฤษเข้ามาเขาจะมาค้ามาขายก็ไม่ได้ ไอ้นี่มันรุกรานเลยไปสู้กับเขา ไม่ยอมให้เขาค้าขาย เราคนไทย ฝรั่งเขาจะมาค้า ในหลวงนี่เขาจะมาค้าขายก็ยอมให้เขาค้าขายไปตามเรื่อง อย่าไปยุ่งกับเขา เก็บภาษีอะไรเราไปมันก็ไม่ยุ่งอะไร ไอ้นั่นมันไม่ยอม รบ เอ้าฝรั่งก็ยึดเอาเมืองชายทะเล เมือท่าอะไรไป ยังยุ่งต่อไปอีก หาเรื่องทะเลาะวิวาทกับฝรั่ง ผลที่สุดฝรั่งยึดหมดเลย พระเจ้าแผ่นดินอยู่ก็เชิญลงเรือ ออกแม่น้ำพาไปอินเดีย ไปนอนแอ้งแม้งอยู่ประเทศอินเดียจนกระทั่งตาย ไม่ได้กลับบ้านเพราะความร้อน แล้วก็นับถือพระพุทธศาสนาเหมือนกันแต่ว่าพระพุทธศาสนาร้อนในพม่า ไม่เหมือนเรา เรานี่มันเย็นนะ ถือพุทธศาสนาใจเย็น ไม่ค่อยวู่วามเท่าใดคนไทย แต่เดี๋ยวนี้ก็ชักจะร้อนๆ ขึ้นบ้างเหมือนกัน มันไม่ค่อยดี ร้อนนักก็จะเป็นพม่านะ ระวังไว้ เดี๋ยวเดือดร้อนนะ เพราะฉะนั้นทำใจเย็นๆ ไว้ หาเหตุหาผลอย่าวู่วามทำอะไรก็ต้องใจเย็น แล้วมันก็จะเรียบร้อย นี่เป็นหลักที่เราควรเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ธรรมะให้ถูกปฏิบัติให้มันได้ประโยชน์แก่จิตใจของเรา แล้วจะไปติดต่อคบหาสมาคมกับใครก็เรียกว่าเอาดวงประทีปธรรมะส่องไปก่อน เอาให้เห็นว่าอะไรเป็นอะไร แล้วควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไร แก้ไขปัญหานั้นโดยวิธีใด อะไรก็จะเรียบร้อยไม่มียุ่งไม่ยาก นี่เป็นข้อเตือนใจสำหรับญาติโยมทั้งหลายในวันนี้ ก็เห็นจะพอสมควรแก่เวลา คอแห้งแล้วดื่มน้ำเสียงหน่อย