แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระ พุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านหยุด อยู่ในอาการสงบ อย่าเดินไปเดินมา นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงชัดเจนจากเครื่องขยายเสียง แล้วจงตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
เมื่อวานนี้เป็นวันเพ็ญกลางเดือนสาม ความจริงมันเดือนสี่ เป็นวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา ญาติโยมก็ได้มาประชุมกันเพื่อฟังธรรมะ เหมือนกับวันอาทิตย์ ทำบุญตักบาตรอะไรกันตามปกติ เหมือนวันอาทิตย์ทุกประการ บางท่านก็อยู่พักที่วัดคืนหนึ่ง และวันนี้ก็มาฟังธรรมกันต่อไป เป็นการปฏิบัติบูชาต่อพระรัตนตรัย อันเป็นสิ่งที่เคารพสักการะของพวกเราทั้งหลาย
วัดนี้เวียนเทียนกลางวัน เวลา ๕ โมงเย็น ก็การทำกลางคืนนั้นมันวุ่นวาย มืด ญาติโยมกลับบ้านอะไรก็ไม่สะดวก ก็เลยทำเสียตอนกลางวัน ทำมา ๒-๓ ปีแล้ว แต่ว่ามีคนที่ยังไม่รู้อีกบ้างเหมือนกัน กลางคืนก็มาอีกแล้วก็มาเวียนกันอีก ในตอนกลางคืนก็มีพระคอยจัดให้ความสะดวก ในตอนกลางคืนอีกครั้งหนึ่ง แต่ว่าโยมที่มาในตอนกลางวันนั้นมีจำนวนมากกว่า ยังให้ถือว่าการเวียนเทียนที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ในวันสำคัญทางศาสนานั้น เราเวียนเทียนกันตอนบ่าย ๕ โมงเย็นก็ได้มาตามเวลานั้น ในคราวต่อๆไป จะได้เป็นความสะดวก ได้กลับบ้าน ไม่มืด ไม่ค่ำ ไม่เสียเวลาด้วย
วันนี้ เรามาฟังธรรมกันตามปกติในวันอาทิตย์ก็เป็นวันหยุดงานหยุดการ การหยุดงานเป็นการพักผ่อนทางร่างกาย เรามาวัดก็เป็นการพักผ่อนทางจิตใจ การพักผ่อนทางใจนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำกันอยู่ให้เป็นประจำ เพราะว่าใจมันต้องคิดมาก นึกมากในเรื่องอะไรต่างๆ ทำงานอยู่ตลอดเวลา คืองานคิดนี่ จิตของคนนี่ไม่อยู่นิ่ง มันคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ คิดเรื่องที่ให้เป็นทุกข์บ้าง คิดเรื่องที่ให้เป็นสุขบ้าง คิดแล้วบางทีก็เศร้าใจ คิดแล้วบางเรื่องก็ดีใจ นั่นเป็นเรื่องงานของใจ ใจนี้ชอบทำงาน ไม่หยุด ไม่อยู่นิ่ง แล้วก็ชอบทำเรื่องนั้น ทำเรื่องนี้ เพราะว่าใจนั้นยังไม่ได้รับการฝึกฝน ไม่ได้อบรมให้มีระเบียบในการคิด ไม่ได้อบรมให้มีการรู้จักพักผ่อน ซึ่งเรียกว่าให้มันว่างเสียบ้าง ไม่ได้คิดอะไรๆวุ่นวายมากเกินไป จะได้มีความสุขที่เกิดจากความสงบ
ความสุขที่เกิดขึ้นจากความสงบนั้น เป็นความสุขที่ประเสริฐ เป็นความสุขประเภทถาวร เป็นสิ่งที่เราควรอยากทำให้เกิดขึ้น พระผู้มีพระภาค(เจ้า) (04.33 “พระผู้มีพระภาคเจ้า”) จึงตรัสว่า “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ” แปลว่า สุขอื่นยิ่งไปกว่าความสงบไม่มี เพราะว่าความสุขอย่างอื่นนั้น มันเป็นความสุขประเภทชั่วแล่น ชั่วครั้งชั่วคราว แล้วมันก็ดับไปหายไป เป็นความสุขที่ต้องวิ่งหา ต้องไปเที่ยวหามาเพื่อให้เกิดความสุข เพราะความสุขประเภทนั้น เป็นความสุขที่ต้องอาศัยวัตถุ อาศัยเครื่องล่อ เครื่องจูงใจ ในภาษาธรรมะท่านเรียกว่า อามิสสุข
อามิสสุข คือ ความสุขที่เจือด้วยเครื่องล่อ เครื่องจูงใจ เอารูปมาล่อ เอาเสียงมาล่อ เอากลิ่น เอารส เอาสัมผัส มาล่อใจ ให้ใจเพลิดเพลิน หลงใหลมัวเมาอยู่ในสิ่งนั้น แล้วก็เรียกว่าเป็นความสุข มันไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง เขาเรียกว่าเป็นนันทิราคะ นันทิราคะ แปลว่า กำหนัด ยินดี เพลิดเพลินในสิ่งนั้นๆ เราเพลิดเพลินอยู่ในสิ่งนั้นๆ เพลิดเพลินอยู่ในรูปที่เห็นด้วยตา เพลิดเพลินอยู่ในเสียงที่ได้ยินด้วยหู เพลิดเพลินด้วยกลิ่นที่มากระทบจมูก เพลิดเพลินด้วยรสที่ผ่านลิ้น เพลิดเพลินด้วยสิ่งกระทบร่างกาย เรียกว่า กายประสาท มันก็เพลิดเพลินอยู่ในสิ่งนั้น
ตราบใดที่เรามีสิ่งนั้นเราก็สบายใจ ยังเพลิดเพลินใจอยู่ พอสิ่งนั้นหายไป เราก็รู้สึกว่าใจหาย ที่เราพูดกันว่าใจหาย ความจริงใจมันไม่ได้หายไปไหนหรอก มันยังอยู่ที่เรานั่นแหละ แต่ที่เราเรียกว่าใจหาย หมายความว่าใจที่เพลิดเพลินน่ะมันหายไป ใจที่หลงใหลมัวเมาในสิ่งนั้นมันหายไป เมื่อหายไปเราก็เสียใจ เสียดาย เพราะในสิ่งนั้นทำให้เราเพลิดเพลินใจ คนเราชอบอะไร พอใจในอะไร เมื่อสิ่งที่เราชอบ เราพอใจนั้นมันหายไป เราก็เรียกว่าใจหาย ความจริงควรจะพูดว่า สิ่งประเล้าประโลมใจมันหายไป เมื่อสิ่งประเล้าประโลมใจมันหายไป เราก็รู้สึกไม่สบายใจ เราเสียดายสิ่งนั้น เราก็นั่งเป็นทุกข์ นอนเป็นทุกข์ เดินก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะเสียดายสิ่งนั้น เช่น ทรัพย์ที่เราเคยมีหายไป เราก็เสียดาย คนที่เคยอยู่ร่วมกันมานานตายจากไป เราก็เสียใจ เสียดาย เรียกว่าใจหาย คือ สิ่งประเล้าประโลมใจในรูปนั้นมันหายไป เราก็เสียใจ เสียดาย อันนี้มันเป็นความสุขเพราะมีเครื่องล่อ เครื่องจูงใจ ความสุขที่เกิดจากสิ่งล่อใจ เราจะต้องไปหามันเรื่อยๆ ต้องแสวงหาสิ่งมาล่อใจ จูงใจเรื่อยไป ไม่จบไม่สิ้น
เพราะฉะนั้น คนเรานี่จึงอยู่ด้วยการวิ่งเต้น แสวงหาสิ่งต่างๆ เพื่อให้เกิดความสบายใจ ได้สิ่งนี้แล้วไม่พอ ต้องหาสิ่งนู้นต่อไป แล้วสิ่งที่จะปรนเปรอความอยากของเรานั้น มันมีมาก มีมาก แล้วก็หลายแบบหลายรูป เช่น เสื้อผ้าที่เราใช้ เขาต้องออกแบบใหม่ๆ แปลกๆ รูปมันแปลกออกไป ความจริงนั้นเสื้อมันก็มีลำตัว มีแขน เท่านั้นเอง มันก็มีเท่านั้น แต่ว่าเอาไอ้นั่นมาปะ ไอ้นี่มาปะให้มันรุงรังหน่อย ให้สีสันมันแปลกๆออกไป รูปแปลก รูปมันก็ไม่แปลกนัก มันก็มีแขน มีลำตัวนั่นแหละ แต่ว่าเอาอะไรมาเพิ่มเข้าให้มันรุงรัง ถ้าเป็นสมัยก่อนก็เรือดชอบ เพราะว่ามีกิเลสมากเรือดได้เข้าไปอาศัย จะได้กัดคนที่ใช้ แต่สมัยนี้น่ะ บ้านเมืองมันเจริญ เจริญด้วยดีดีที เรือดไม่ค่อยมีแล้ว สมัยก่อนเรือดมีทั่วไป ยิ่งเสื่อกระจูดที่เขาทอเอามาใช้ เรือดชอบ เสื่อจันทรบูรก็เรือดชอบ มันเที่ยวเกาะอยู่ตามกลีบ พอนอนแล้วมันก็มากัด พอเราลุกขึ้นมันหนีหายไป ซ่อนเข้าอุโมงค์ของมันต่อไป
เสื้อผ้าคนก็อย่างนั้นแหละ ทำให้เรือดชอบ แต่งตรงนั้นนิด แต่งตรงนี้หน่อย แบบแปลกๆ แล้วก็ตัดตรงนั้นออกเสียหน่อย เติมตรงนี้เข้าไปหน่อย มันเป็นรูป ถ้าไปซื้อหนังสือก็เรียกว่าแฟชั่น แบบเสื้อมันมีแบบต่างๆ พอเอามานั่งพิจารณาดูว่าอะไรมันสำคัญ ก็ตัวแขนกับลำตัวน่ะเรื่องสำคัญ มันมีเท่านั้นน่ะ แต่ว่าเติมนู่นนิด เติมนี่หน่อย แล้วก็สีด้วย สีของผ้า ถ้าขาวล้วนก็ไม่สวย ต้องสลับสีแดง สีเหลือง สีนั้น สีนี้ ทอให้มันแพราวพราวไปหน่อย เอามาใส่แล้วมันลานตา คนชอบดู สีขาวนี่คนไม่ชอบดูเท่าใด มันจืด ต้องเป็นสีชมพู สีแสด สีแดง สีเม็ดมะปราง สีอะไรต่ออะไร ให้มันหลายสิ่ง อันนี้ถ้าสีเดียวมันก็ไม่ดีต้องเอาผสมกันเข้า ตัดให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เติมสีลงไปให้มันแปลกๆ คือ ให้สะดุดตาเท่านั้นเอง ทำเพื่อให้สะดุดตาแล้วก็จะได้ยั่วให้เกิดความปรารถนา พอใจในสีสันวรรณะนั้นๆ
นี่คือเครื่องล่อใจ จูงใจคนเราให้เพลิดเพลิน ให้หลงใหลในสิ่งเหล่านั้น ไม่หยุด ไม่พอ ความต้องการนั้นไม่มีพอ ยังต้องการเรื่อยไป มีเท่าไรก็ยังต้องการอีก ไม่จบไม่สิ้น เงินทองก็ไม่พอ เพชรนิลจินดาก็ไม่พอ เสื้อผ้าก็ไม่พอ บ้านอยู่อาศัยก็ไม่พอ อาหารการกินก็ไม่พอ เครื่องดื่มก็ไม่พอ มันมีอะไรพอบ้าง ในชีวิตของคนเรา ลองคิดดูเถิด ความพอมันไม่มี เราไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักอิ่ม เพราะไม่อิ่ม ไม่พอนั่นแหละ มันถึงยุ่งกันนักหนา ต้องวิ่งเต้นแสวงหาอะไรๆกันเรื่อยไป
อันนี้ถ้าแสวงหาในทางที่ถูกที่ชอบ มันก็ไม่ยุ่ง แต่นี่เกิดการแข่งขันกัน ชิงดีแข่งเด่นกัน เลยต้องแสวงหาในทางผิด แล้วก็ทำลายกัน ผลประโยชน์ขัดกัน ต้องใช้ลูกปืนกัน เวลานี้ฆ่ากัน ทำลายกัน ทำให้คนถึงแก่ความตาย ก็แย่งเหยื่อกันนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร แย่งเหยื่อที่ตนจะมีจะได้ คนเราไม่รู้จักแบ่งกันกิน ไม่รู้จักคิดว่ากูจะกินอะไรนักหนา จะนุ่งห่มอะไรนักหนา จะมีอะไรๆมากมายไปทำไมนักหนา มันก็เท่านั้นแหละ เช่น อาหารจะมีมากมันก็รับ(ประ)ทาน (13.40 “รับประทาน”) ไม่ได้หมด รับ(ประ)ทานเท่าที่ท้อง (13.42 “รับประทาน”) จะอำนวยให้ เครื่องแต่งตัวก็เท่าที่ร่างกายจะอำนวยให้ ที่อยู่อาศัยก็เท่านั้น ปลูกไว้ใหญ่โต แต่อยู่จริงๆมันก็ห้องเดียว เคยไปที่บ้านท่านผู้หนึ่งใหญ่โตมาก ถามว่าอยู่กันกี่คนในบ้านนี้ ก็อยู่กันสองคนแล้วก็มีคนใช้อีกสามคน ห้าคนๆนี่บ้านมันใหญ่โตเหลือเกิน เรียกว่าไอ้คนสามคนที่กวาดบ้านนี่ก็ไม่ไหวละ มันใหญ่ มันโต มีไว้ แต่ว่าในเวลาสร้างน่ะ ไม่ได้คิดถึงการรักษา ไม่ได้คิดถึงความสิ้นเปลืองในเรื่องอะไรต่างๆ
พอสร้างเสร็จแล้วก็เบื่อเหมือนกัน อยากจะไปอยู่บ้านเล็กๆ เพราะว่ามันใหญ่เกินไป แต่ก็ไม่รู้จะเอาบ้านใหญ่ไปไหนเพราะว่ามันสร้างแล้ว ก็ต้องอยู่มันไปอย่างนั้น ก็อยู่เพียงห้องเดียว สองคนก็นอนอยู่ห้อง แล้วก็มีห้องรับแขกนิดหน่อย ใช้ไม่มาก ความจริงความต้องการของคนเรา ถ้าพูดกันเนื้อแท้แล้วก็ไม่ได้มากมายอะไร แต่เราเพิ่มความต้องการให้มันมากขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดปัญหา คือ ความทุกข์ ความเดือดร้อนกันด้วยประการต่างๆ เพราะความไม่รู้จักความพอดีนั่นเอง
พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่า "มัตตัญญุตา สทา สาธุ" การรู้จักพอดีในสิ่งต่างๆนั่นแหละเป็นความดี เป็นความดีของชีวิต คือให้คิดว่า"พอ"เสียบ้าง มันสบายใจ มันยุ่งน้อย มีปัญหาน้อย แต่ถ้าเรายังไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ ปัญหามันก็มาก เราก็ต้องขวนขวายแสวงหาอะไรๆกันต่อไป ไม่จบไม่สิ้น ไม่มีเวลาพักผ่อนเท่าที่ควรจะพักผ่อน ก็ยังจะต้องแสวงหาสิ่งนั้นสิ่งนี้อีกมากมายก่ายกอง
คนเรามันน่าจะแบ่งชีวิตออกเป็นระยะ เป็นขั้นเป็นตอน เวลานั้นเท่านั้นปี ทำอย่างนั้น ขั้นต่อไปทำอย่างนั้น พอถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เรียกว่าขั้นชรา ปัจฉิมวัย ควรจะเป็นเวลาของการพักผ่อน เอากำไรชีวิตเสียบ้าง ไม่ใช่จะต้องวิ่งวุ่นกันอยู่ตลอดเวลา ควรจะเป็นเวลาพักผ่อน แต่เรามีลูกมีเต้า เขาก็เจริญเติบโตแล้ว มีงานการทำกันเป็นหลักเป็นฐานแล้ว เราก็ เอ้า หยุดพักกันที อยู่บ้าน ทำงานบ้างเล็กๆน้อยๆ งานสบายๆ เช่น ออกกำลังกายด้วยการขุดดิน ปลูกต้นไม้เล่น ทำเล่นไม่ใช่ทำจริงแล้ว ตอนอายุมากนี่เราทำเล่น ปลูกผักเล่นๆ ปลูกดอกไม้เล่นๆ เพื่อความเบิกบานใจ แต่ว่าจิตใจเป็นอิสระเสรี เราจะไปไหนก็ไปได้ตามสบาย เช่น วันอาทิตย์เราจะมาวัดก็ไม่ต้องกังวลกับเรื่องอะไรๆ หรือว่าวันพระเราจะไปวัดก็ไม่ต้องกังวล
เราสร้างตัวสร้างฐานะไว้เมื่อหนุ่ม ไว้ใช้เมื่อแก่ชรา คิดไว้ว่าเมื่อยังหนุ่มยังแน่นนี่เราทำงานทำการ หาเงินเก็บไว้ๆ แล้วสมมติว่า อายุ ๖๐ ออกจากราชการ เราจะอยู่ไปอีกสักเท่าไร เอาสัก ๒๐ ปี แต่ว่าอยู่สัก ๒๐ ปีก็ ๘๐ นะ แต่ ๘๐ นี่มันถึงน้อยหรอก สมัยนี้ อย่างดีก็ ๗๕ , ๗๖ อะไรอย่างนั้นแหละ ถ้ารักษาเนื้อรักษาตัวดี อนามัยดีก็อาจจะอยู่ไปได้ถึง ๘๐ ในชั่วอายุแก่นี่เราจะกินสักเท่าไร เราจะใช้อะไรสักเท่าไร มันก็ไม่มากมายแล้ว ถ้าเรามีเงินไว้กะไว้ว่าใช้จ่ายเดือนละเท่านั้น จากดอกผลที่ฝากไว้ในธนาคาร เรามีดอกผลที่จะกินจะใช้สักเท่านั้น ใช้เท่าที่จำเป็น เสื้อผ้าคนแก่นี่ก็จะนุ่งอะไรนักหนา นุ่งก็ไม่เท่าใดแล้ว ไม่มากชุดแล้ว แต่งตัวเรียบๆ ง่ายๆ อาหารคนแก่นี่ก็ไม่กินมาก เพราะมันกินไม่ได้ เอร็ดอร่อยก็กินไม่ได้ ก็กินไปตามเรื่อง ไม่กินมากแล้ว ไปเที่ยวเตร่มันก็ไม่รู้จะไปเที่ยวไหน จะไปสนุกตามชายหาด ก็มันไม่ใช่เรื่องแล้ว ไปเดินอยู่ ผีมันหัวเราะเอาเปล่าๆ ว่าไอ้แก่นั้นอุตส่าห์มาเดินกับเขาด้วยเหรอ มันก็ไม่เข้าเรื่องแล้ว จะไปที่นั้นก็ไม่ควร มีบ้างก็ไปวัด ไปนั่งตามวัดวา คุยธรรมะธัมโม หาความสงบใจ ใช้จ่ายมันก็น้อยแล้ว ไม่มากแล้ว
สมมติว่าคนได้บำนาญนี่ก็พอสบาย ได้บำนาญนี่บางคนก็ได้เกือบเท่าเงินเดือน ไม่ใช่น้อย เช่น เงินเดือนที่ได้รับอยู่หมื่น (19.51 เสียงไม่ชัดเจน) ได้บำนาญก็ขาดไปไม่เท่าไร เกือบจะได้ราวสัก ๘-๙ พัน มันขาดไม่เท่าไร แล้วก็เมื่อก่อนนี้เรามันต้องทำงาน ต้องเข้าสังคม ใช้เงินมาก แก่ลงก็สังคมน้อย นานๆก็ไปพบเพื่อนฝูงรุ่นเดียวกันในวันเบิกเบี้ยบำนาญ ก็ไปทานอาหารร่วมกันเสียหน่อย แล้วก็กลับบ้าน ก็นับว่าสบายทีเดียว ไม่น่าจะไปเที่ยวดิ้นรน สร้างหนี้สร้างสิน หรือไปหาเรื่องให้เดือดร้อนวุ่นวาย ก็มีอยู่บ้างเหมือนกัน เรียกว่าออกจากราชการแล้วก็ยังไปหาเรื่อง จนต้องขายบำนาญให้คนอื่นไป ไอ้สิทธิที่ตัวจะมีจะได้เอาไปขาย เพื่อเอาเงินมาชำระหนี้ อันนี้ปัญหา เรียกว่าไม่รู้จักปรับตัว ไม่คิดถึงอนาคตของชีวิต ไม่ได้สร้างรากฐานอันมั่นคงสำหรับชีวิตไว้ จึงได้เกิดเป็นปัญหาสับสนวุ่นวายกันอย่างนั้น ก็หมายความว่าขาดธรรมะเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ จึงได้เกิดเป็นปัญหา
แม่บ้านนี่ก็เป็นผู้ช่วยพ่อบ้านที่สำคัญ คือว่าช่วยกันประหยัด อดออมไว้ เผื่อเมื่อแก่ชราจะไม่ต้องลำบาก แต่เรื่องการเป็นการอยู่ยังต้องช่วยกันประหยัด อดออม ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่ายในเรื่องที่ไม่จำเป็น แม้จะทำอะไรก็เรียกว่า รู้จักประมาณในการกระทำ อย่าไปเที่ยวแข่งกับใครๆ ไอ้เรื่องแข่งนี่ไม่ดีทั้งนั้น แข่งดีก็ไม่ดี แข่งชั่วมันก็ไม่ดี ทำบุญแข่งก็ไม่ดี มันเกิดกิเลส คนนั้นทำมากไม่ได้ เราจะเสียหน้า ต้องทำให้เหนือกว่านั้นไว้สักหน่อย เขาทำ ๑๐๐ กูทำ ๑๐๒ บาทเหนือไว้ ๒ บาทเอาหน้า ไอ้ ๒ บาทนั่นไม่เป็นบุญ เป็นกิเลส เป็นตัวตนที่เข้าไปแข่งขัน แข่งขันเรื่องอื่นกันอีก เรื่องเข้าสังคม เรื่องอะไรต่ออะไร มันเรื่องสับสนวุ่นวาย ชีวิตมันไม่เหมาะที่จะเป็นเช่นนั้นเมื่อตอนชรา ควรจะพักผ่อนตามสมควร ไปช่วยอะไรก็ช่วยได้ แต่ว่าไม่มีข้อผูกมัดให้เกิดความลำบากใจ เรียกว่าทำอย่างอิสระเสรี ทำโดยรู้สึกตัวว่าควรทำ แต่ถ้าทำไม่ได้เราก็หยุด ไม่มีข้อผูกมัด เช่น เหมือนคนที่เคยเป็นครู เคยสอนเด็ก ออกจากครูแล้ว มันไม่สบายใจ ไม่ได้สอนคน ก็ไปหาเด็กมาสอน ไม่คิดมูลค่าอะไร ไม่เอาเงินเอาทอง สอนเวลาว่าง เวลาไหนเด็กมาก็สอนให้ไป สอนให้ไป อันนี้เขาเรียกว่า ทำงานเป็นสุข ทำงานด้วยความสุขใจ ไม่มีข้อผูกมัดทางจิตใจ
ท่านรพินทรนาถ ฐากูร นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย เวลาท่านแก่ชราลง ท่านก็คิดว่าควรจะไปอยู่ที่สงบๆ เพราะอยู่ในเมืองใหญ่ คือ เมืองกัลกัตตา นี่มันวุ่นวายพอใช้ หนวกหู เสียงมันมาก ท่านก็เลยไป ออกไปนอกเมืองไกลไปตั้ง ๑๐๐ ไมล์ ก็ไม่ใช่น้อย ไปหาที่วิเวก แล้วก็ไปอยู่เงียบๆ ไปปลูกบ้านเล็กๆ อยู่ตามประสาคนแก่ แล้วก็มีเพื่อนไปอยู่ด้วยหลายคนที่มีความคิดแนวเดียวกัน ก็มาคิดกันว่าเรานี่มีความรู้กันคนละไม่ใช่น้อย มาอยู่อย่างนี้มันไม่ได้ประโยชน์ อยู่เฉยๆ ความรู้มันจะไม่เกิดประโยชน์แก่ใคร เราควรจะเอาเด็กมาสอน ก็ไปเอาเด็กชาวบ้านมา ลูกชาวบ้านแถวนั้นมาสอนหนังสือให้ แบบฤาษีสอนศิษย์ ไม่ได้กล่าวว่า ต้องเรียนเวลานั้น ต้องเลิกเวลานั้น ไม่ได้กล่าวอย่างนั้น
ศิษย์มาเวลาไหนก็สอน ไม่มาก็ไม่สอน สุดแล้วแต่ศิษย์มา มาเช้าสอนเช้า มาสายก็สอนตอนสาย นั่งสอนกันตามใต้ต้นไม้ สบายๆ อาจารย์ก็นั่งลงบนดินน่ะ ศิษย์ก็นั่งล้อมรอบแล้วก็สอนกันไป สอนกันไปเรื่อยๆ คนมันมาให้สอนมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น จนกลายเป็นสถาบันการสอนที่ใหญ่โต เรียกว่า ศานตินิเคตัน คือ เป็นมหาวิทยาลัย เดี๋ยวนี้เป็นมหาวิทยาลัย แต่ว่าสอนแบบใต้ต้นไม้ ไม่มีอาคารเรียน ไม่มีโรงเรียนใหญ่โตหรอก นั่งสอนกันตามใต้ต้นไม้ ตื่นตั้งแต่ตีห้า หกโมงก็เข้าเรียนกันแล้ว เรียนกันจนกระทั่งว่าสิบเอ็ดโมงครึ่ง เลิกเรียนแดดร้อน แล้วก็ปล่อยนักเรียนไป
ต่อเมื่อมากลายเป็นมหาวิทยาลัย ก็พอเที่ยงไปแล้วก็ไปเรียนเอาตามห้องสมุด ไปอ่านหนังสือนั้นหนังสือนี้ สงสัยก็มาปรึกษาครูบาอาจารย์ ไปถึงบ้านก็ได้ ปรึกษากันในตอนเช้าก็ได้ เรียกว่าทำงานให้เป็นประโยชน์โดยไม่มีข้อผูกมัด เป็นการรับใช้สังคม ด้วยความไม่ต้องการอะไรตอบแทน อย่างนี้ทำด้วยความสบายใจ ชีวิตมันก็มีประโยชน์เหมือนกัน มีคุณ มีค่า เราทำได้ตามความรู้ความสามารถของเรา
คนอยู่ในปูนชรามันก็ต้องเป็นอย่างนั้น อยู่อย่างสงบ ไม่มีปัญหายุ่งยาก ไม่สร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนแก่ใครๆ แล้วก็ประพฤติให้เป็นตัวอย่างแก่ลูกหลาน แก่หลาน ลูกน่ะมันโตแล้ว แก่หลาน ด้วยการแนะนำสั่งสอนหลานน้อยๆให้เป็นคนดี ให้รู้จักรับใช้สังคมและประเทศชาติในกาลต่อไป อันนี้ก็เป็นความสุขใจที่เราได้กระทำ ได้ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ มันจึงต้องตั้งฐานไว้ตั้งแต่เริ่มต้น เดี๋ยวนี้ที่เป็นอยู่เราไม่ได้ตั้งฐานไว้ถูก แล้วก็เลยมันยุ่ง ฐานไม่มั่นคง เลยโยกเยกโย้เย้กันไปตามๆกัน เราจึงต้องมีการสร้างฐานชีวิตในแง่ธรรมะ แล้วก็ทำอะไรต่อไปบนฐานอันมั่นคงนั้น ชีวิตก็จะดีขึ้น นี่ก็เป็นเรื่องขำขันที่ควรจะได้เอาไปคิด ไปใช้ในชีวิตประจำวันของเรา
อีกประการหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนเรานั้น ย่อมมีเรื่องขุ่นข้องหมองใจ มีเรื่องที่ทำให้เกิดความกลุ้มอกกลุ้มใจ มีความทุกข์ทางใจมากมายหลายเรื่องหลายประการ ทำไมจึงต้องเป็นทุกข์ น่าจะคิดบ้าง ทำไมจึงต้องเป็นทุกข์ ทำไมจึงต้องเสียใจในเรื่องอะไรต่างๆ ที่เราสูญเสียไป ทำไมจะต้องเสียใจ ความเสียใจหรือความเป็นทุกข์นั้นมันมาจากอะไร ก็มาจากความเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น ภาษาพระท่านเรียกว่า อุปาทาน อุปาทานนี่เป็นคำภาษาบาลี แปลว่าเข้าไปยึดไว้ ยึดไว้ว่าเป็นของฉัน เป็นตัวฉันบ้าง เป็นของฉันบ้าง ยึดไว้ว่าเป็นตัวเป็นตนน่ะ เป็นตัวฉันแล้วก็เป็นของๆฉัน ขั้นแรกมันมีตัวก่อน เมื่อมีตัวแล้วก็มีของตัวขึ้นมา เป็นของฉันขึ้นมา แล้วเมื่อสิ่งนั้นมันหายไป เราก็เสียดาย เราเสียดาย เสียใจ เป็นทุกข์
ความทุกข์มันเกิดจากความยึดถือว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา ความยึดถือนั้นเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ขึ้นในชีวิต จะแก้เรื่องนี้อย่างไร แต่แก้ความยึดถือนี้จะแก้อย่างไร ก็ต้องแก้ด้วยปัญญา คือต้องใช้ปัญญามาเป็นเครื่องวิเคราะห์ วิจัยในเรื่องนั้น ปัญญาที่พระพุทธเจ้าสอนให้เราใช้สำหรับแก้ปัญหาต่างๆนั้น เราสวดทุกวัน ตอนเช้ามาสวดทุกวัน สวดว่ารูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตัวตน วิญญาณไม่ใช่ตัวตน สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารและวิญญาณก็ไม่ใช่ตัวตนนี่ นี่แหละเป็นเครื่องมือ เป็นเครื่องมือแก้ทุกข์ เป็นเครื่องมือที่จะปลอบใจเรา ให้คลายจากความทุกข์ ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน คือ เรื่องไม่เที่ยง เรื่องความเป็นทุกข์ เรื่องความเป็นอนัตตา ถ้าเห็นสักอย่างมันก็เห็นหมด รู้สักอย่างมันก็รู้หมด เช่น รู้ว่ามันไม่เที่ยง มันก็รู้ทุกข์ด้วย รู้อนัตตาด้วย เห็นทุกข์มันก็เห็นหมด ทั้งสามอย่าง ถ้าไม่รู้ไม่เห็นมันก็ยังวางไม่ได้ ยังปล่อยไม่ได้ ยังยึดถืออยู่ตลอดเวลาก็เป็นทุกข์เรื่อยไป เป็นทุกข์เพราะยึดถือในสิ่งนั้น คิดถึงสิ่งนั้นแล้วก็เป็นทุกข์ เพราะคิดว่าสิ่งนั้นมีอยู่ เป็นอยู่ แต่ไม่ได้คิดด้วยปัญญาว่าสิ่งนั้นไม่มี สิ่งนั้นไม่เป็น มันมีอยู่ เป็นอยู่ ชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ได้ถาวรอะไร มันเข้าหลักที่ว่า สามขณะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อะไรๆมันก็เท่านั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยปรุงให้เกิด ตั้งอยู่ได้ก็เพราะมีปัจจัยประกอบ หมดปัจจัยเครื่องปรุงแต่งมันก็ดับไป
อะไรบ้างที่ฝืนสิ่งนี้ได้ อะไรบ้างที่มันฝืนสิ่งนี้ได้ เราลองคิด มันไม่มี สิ่งใดก็ตามว่ามีเกิด แล้วมีตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป หรือพูดสั้นๆว่ามีเกิดมันก็ต้องมีดับ มีเกิดแล้วมันไม่ดับนี่หาได้ที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นรูป เป็นนาม รูปคือร่างกาย สรรพวัตถุทั้งหลายที่สัมผัสด้วยประสาท ๕ รูป สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจเรียกว่าเป็นนาม นามก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป รูปก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันเป็นอย่างนั้นทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่เรียกว่าคงทนถาวรสักอย่างเดียว ไม่มีอะไรคงทนสักอย่างเดียว แต่ที่เราเห็นว่ามันอยู่ แปลว่า เครื่องสืบต่อมันยังมี เหมือนตะเกียงยังมีน้ำมันอยู่ มันก็จุดไฟติด หมดน้ำมันแล้วก็จุดไม่ติด พัดลมหมุนได้ก็เพราะมีไฟฟ้าเป็นแรงงาน ไฟมันยังเดินมาอยู่ แต่ถ้าไฟไม่มีพัดลม มันก็หยุดทันที มันไม่ส่ายต่อไป เพราะไม่มีปัจจัยเครื่องปรุงแต่ง สิ่งนั้นมันก็หายไป
ต้นหมากรากไม้ที่มันเขียวชอุ่มอยู่ได้ ก็เพราะมีเครื่องประกอบให้เป็นอย่างนั้น มีอาหาร มีน้ำ มันก็สดชื่นอยู่ได้ ขาดน้ำ มันก็เริ่มเหี่ยว ไม่มีอาหารมันก็กินไม่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ มันแสดงอาการเหี่ยว แสดงว่าขาดปัจจัยบางอย่าง ขาดเครื่องประกอบ แล้วมันก็ตาย ต้นไม้ตาย ดอกไม้เหี่ยว แล้วก็ร่วงไป ครั้นว่าสิ่งทั้งหลายเป็นเช่นนั้น เราลองดูสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในอดีต แล้วมันก็ดับไปแล้ว แตกไปแล้ว เสื่อมไปแล้ว
กรุงสุโขทัยเจริญเป็นนครหลวง ตกต่ำไป ศรีอยุธยาอยู่ ๔๐๐ ปี เวลานี้เหลือแต่ซาก อิฐ กาก ปูน กองระเกะระกะ สำหรับให้คนไปดู คนไปดูก็ดูอย่างนั้นล่ะ ดูว่าอยุธยาเมืองเก่ามันเป็นอย่างไรเท่านั้นล่ะ แต่หาได้ดูเพื่อเอาสิ่งนั้นมาสอนใจไม่ ดูเฉยๆดูผ่านไป ไม่ได้ดูด้วยปัญญา ไม่ได้ดูในสายตาของผู้ศึกษาธรรมะ เขาเรียกว่าไม่ได้ปัญญา ไม่ได้เป็นเครื่องประเล้าประโลมใจในแง่ธรรมะ ได้ดูเท่านั้น ได้ไปชมเท่านั้น มันก็เท่านั้น ทีนี้ถ้าคนดูเป็นเขาได้ปัญญา ได้รู้ว่า อ้อ นี่คือความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง มีอำนาจ ตกจากอำนาจ เป็นใหญ่ตกจากความเป็นใหญ่ มียศ เสื่อมยศ มีลาภ เสื่อมลาภ สมัยหนึ่งคนสรรเสริญเยินยอ ต่อมามันด่าวันยังค่ำ นี่คือความเปลี่ยนแปลง ชีวิตมันเปลี่ยนแปลง เหตุการณ์ทั้งหลายก็เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนไปทั้งนั้น ไม่มีอะไร
ร่างกายของคนเรานี้ ที่เรียกว่ามีชีวิตนี่มันอยู่ได้ด้วยอะไร อยู่ได้ด้วยอาหาร ด้วยน้ำ ด้วยอากาศ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงร่างกาย เมื่ออาหารยังหล่อเลี้ยงได้ มันก็เป็นไปได้ ร่างกายเป็นไปได้ แต่ว่าร่างกายนี้มันเป็นของปรุงแต่ง เขาเรียกว่าสังขาร ภาษาพระท่านเรียกว่า สังขาร สังขารก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นจากเครื่องปรุงเครื่องแต่ง เอาอะไรมารวมๆกันเข้าแล้วมันก็เป็นสิ่งนั้นขึ้นมา เราทำกับข้าว เห็นได้ง่าย ใส่อะไรบ้างกับข้าว เครื่องมันเยอะ พริกบ้าง ข่าบ้าง ตะไคร้บ้าง ไอ้นั่นบ้าง ไอ้นี่บ้าง เอามาผสมลงไปในครก โขลก โครมๆๆๆ แหลกละเอียด เอาไปใส่ลงในน้ำแกง แล้วก็น้ำเดือด ต่อของสุกเรามากิน ปรุงดีก็เรียกว่ารสชาติอร่อย ปรุงไม่ดีก็เผ็ดไปบ้าง เค็มไปบ้าง เปรี้ยวไปบ้าง จืดไปบ้าง กินไม่อร่อย นั่นมันเกิดจากการปรุงแต่ง เกิดจากผสม ของผสม น้ำพริกก็ของผสม แกงก็ของผสม ข้าวก็เป็นของผสม เอาของผสมนั้นใส่เข้าไปในร่างกาย มันก็หล่อเลี้ยงร่างกายให้เป็นไปได้ แต่ว่าเป็นไปเท่าที่มันจะเป็นไปได้ เมื่อถึงเวลามันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมแตกดับ
เพราะร่างกายคนเรานี้มันมีเชื้อโรค เข้าไปในร่างกายทุกวันน่ะ เราหายใจเข้าไปทุกวัน นอนอยู่ดีๆ ตื่นขึ้นจามฟิดๆ เอ้า เป็นหวัดแล้ว นอนอยู่ดีๆ ตื่นขึ้นมาเข้าห้องส้วมแล้ว ส้วมอีก ท้องเสีย เดี๋ยวเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวเป็นอย่างนี้ ต้องไปหาหมอ หาหมอก็เยียวยารักษากันไปตามเรื่อง ถ้ารูปนั้นยังรักษาได้ ก็ยังใช้ได้ ยังใช้ได้ แต่ถ้ารูปนั้นมันเป็นรูปชนิดที่เรารักษาไม่ไหวก็ต้องยอมมัน มันก็ต้องแตกต้องดับไปตามเรื่องของมัน เราสู้มันไม่ได้
นอกจากมีเชื้อโรคเข้าไปทำแล้ว เครื่องมันเสียข้างใน ปอดเสียก็เพราะมีรูปเข้าไปเป็นเจ้าเข้าครอง วัณโรคเข้าไปจับที่ปอด จับมาก ตัดปอด ตัดออกไปเสียข้างหนึ่ง เหลืออยู่ข้างหนึ่ง ก็ใช้ไปได้ แต่ว่าเมื่ออายุมากเข้ามันก็ไม่ไหว เหมือนกับ (39.59 เสียงไม่ชัดเจน) มหาบุญเลี้ยงของเรานั้น มีปอดข้างเดียว ขยันๆจริงๆ กวาดขยะวันยังค่ำ ใครไปใครมาก็จะเห็นว่าพระผอมๆองค์หนึ่ง ถือไม้กวาด กวาดเลื้อย (40.13 ไม่ยืนยันตัวสะกด) บอกว่าหยุดกวาดเสียบ้างเถอะ ขี้ฝุ่นมันมากหน้าร้อน เดี๋ยวมันเข้าไปในจมูกแล้วจะไม่สบาย ไม่หยุด เกิดหายใจไม่ออก เสมหะมันมาก ต้องพาไปโรงพยาบาลรักษา เบาหน่อย กลับวัด ขี้ฝุ่นเข้าจมูกหายใจไม่ออกอีก ไปอีก ไปอยู่ อยู่โรงพยาบาล
ท่านมหาบุญเลี้ยงไปอยู่โรงพยาบาลเก้าอี้เหล็กตรงนี้ มันกองอยู่ตรงนี้ มันไม่ได้ออกมาแล้ว คนนั่งเลย คือไม่มีใครจับ ถ้ามหาบุญเลี้ยงไม่อยู่แล้วไม่มีใครจับ องค์อื่นไม่มี พระในวัดมีเยอะ แต่ว่าที่จะมองดูว่ามีอะไร ควรจะทำได้บ้าง มีอะไรควรจะช่วยได้บ้าง ไม่มี ต้องไปตอกลงไป เป็นประเภทสิ่วทั้งนั้น สิ่วจ่อไม้ ถ้าไม่เอาไม้ค้อนทุบลงไปแล้ว สิ่วมันไม่กินเนื้อไม้ ต้องเอาค้อนทุบ ตู้ๆ มันทุบแรงๆกินลึก เจาะเป็นรูได้ เดี๋ยวนี้เขาไม่ใช้สิ่ว เราก็ใช้เครื่อง เครื่องไฟฟ้าเจาะ สะดวก ก่อนนี้ต้องทุบตุ้งๆๆ ทุบหัวสิ่ว
คนเราประเภทนั้นมาก ประเภทสิ่วนี่มาก ไม่ได้มองว่าเราควรจะรับใช้อะไรบ้าง ควรจะทำอะไรบ้างในวันเสาร์ ควรจะทำอะไรบ้างในวันอาทิตย์ ไม่มี เดินมันไปเฉยๆ ขยะมีก็เดินข้ามมันไป ที่จะกวาดเสียก็ไม่มี จะเก็บไปทิ้งก็ไม่มี เดินไปอย่างนั้น ประเภทหัวสิ่ว ประเภทคนสิ่ว ต้องเอาไม้ค้อนทุบหัวถึงจะกินเนื้อไม้ มีเยอะ ถ้าอย่างนั้น แต่คนที่นึกได้ เห็นอะไรแล้วทนไม่ได้ ต้องจัดต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ช่วยกันทำ อย่างนี้หายาก ก็มีบ้างเหมือนกัน ในวัดนี่ก็มี แต่ที่เฉยๆมันก็มาก ต้องใช้ ต้องให้ใช้ ก็พูดอยู่เสมอว่า คนที่ให้ผู้อื่นใช้นี่มันไม่เก่งหรอก สู้คนที่ใช้ตัวเองไม่ได้
ใครใช้ตัวเองให้ทำอะไรได้น่ะ คนเก่ง เป็นคนรู้จักหน้าที่ รู้จักรับผิดชอบ แต่ถ้าให้คนอื่นใช้อยู่ตลอดเวลา มันก็เป็นเด็กอมมืออยู่ตลอดเวลา ไม่เติบโต ไม่เป็นผู้ใหญ่ พูดให้ฟังเท่าใดๆมันก็ไม่เข้าหูสักที อยู่อย่างนั้นน่ะ เป็นเด็กอมมืออยู่ตลอดเวลา มันเป็นอย่างนั้น นึกไม่ได้ที่จะทำอะไรต่ออะไร ไม่รู้ไม่ชี้ เขาทำอะไรอยู่ก็ไม่รู้ มาทำก็ทำไม่ถูกไม่ต้อง เพราะไม่รู้ ไม่ได้สนใจ ไม่ได้มาดูว่าเขามีอะไรกันบ้าง วันนั้นเขามีอะไร เขาทำอะไร เขาทำอย่างไร พอผู้ที่ทำอยู่ไม่ทำ ก็มาทำก็ไม่เรียบร้อย เขาไม่สนใจ มีตาไม่ดู มีหูไม่ฟัง เขาเรียกว่ามีตาก็เหมือนกับตาไม้ไผ่ มีหูก็เหมือนกับหูกระทะ มันไม่ได้เรื่อง มีใจมันก็ไม่ใช้ มันก็แย่ มันเป็นอย่างนี้มันก็แย่ คนเรามันลำบากเอง คือ ไม่ได้สนใจในเรื่องอะไร เป็นเสียอย่างนี้
ร่างกายคนเรานี่มันลำบาก พูดเรื่องร่างกายคนเรามันก็ไหลไปเรื่องอื่น ไปเดินชนเข้าก็เลยว่าเสียหน่อย คือ มันเป็นอย่างนั้น อันนี้ เมื่อมันเกิดขัดข้องมันต้องรักษา รักษาได้ก็รักษา แต่ถ้ารักษาไม่ได้มันก็ต้องยอมให้มัจจุราชเอาตัวไป โรคบางอย่างมันแรง เช่น มะเร็งนี่ ใครมาบอกอาตมาว่าเป็นโรคมะเร็ง อาตมาว่าดีแล้ว (44.38 มันไม่เจ็บหนัก แต่มันเจ็บหนักหน่อย) แล้วก็ไม่ต้องคิดรักษาให้วุ่นวาย อย่าไปเที่ยวกินยาผีบอก มันไม่หาย ไอ้โรคมะเร็งนี่ เดี๋ยวนี้มีจดหมายบ้าๆบอๆอยู่ฉบับหนึ่ง เขียนมา ส่งมาบ่อย อาตมานี่ได้รับบ่อยที่สุด เขารู้จัก เขาส่งมา แช่งมาด้วยนะ บอกว่าถ้าได้รับจดหมายนี้ไม่เขียนส่งไป ๑๐ ฉบับแล้วจะตายเหมือนพลสิริโยธิน เหมือนคนนั้นเหมือนคนนี้ จะตาย
อาตมาได้รับแล้วก็ฉีกลงตะกร้าทุกที ก็ไม่เห็นมันตายสักที มันไม่ได้เรื่องอะไร เขียนมา บอกให้ไปกินอะไรไม่รู้ล่ะ กระทรวงสาธารณสุขเขาวินิจฉัยแล้วว่า ไอ้ยาชื่อนั้นมันแก้อะไรไม่ได้ ก็แก้อักเสบนิดๆ หน่อยๆ ไม่มีอะไร ถ้าโยมได้รับจดหมายนั้นแล้วอย่าอ่าน ฉีกลงตะกร้าไปเลย ไม่เป็นอะไรหรอก อย่าไปเชื่ออย่างนั้น แล้วใส่ชื่อพระครู พระครู ที่ไม่มีใครตั้ง เขียนมา ไม่ได้เรื่องอะไร มาบ่อย ว่างๆก็มา พอเปิดมา ไอ้บ้านี่มาอีกแล้ว ฉีกใส่ตะกร้าไปเลย มันยุ่งไอ้พวกนี้ คือไม่ได้เรื่องอะไร ยาผีบอก รักษาโรคมะเร็ง เที่ยวไปวัดนั้นไปวัดนี้ หลวงพ่อวัดนั้นเก่ง หลวงพ่อวัดนี้เก่ง ไม่ได้เรื่อง ต้องไปสถาบันโรคมะเร็ง เขารักษา เขาก็รักษาไปตามเรื่อง เคยถามหมอที่คุ้นๆกัน มีทางหายไหมคุณหมอ “มันไม่หายหรอกครับ” แต่ว่าคนมีสตางค์ก็รักษาไปตามเรื่อง รักษากว่ามันจะตาย ลูก (46.26 ไม่ยืนยันตัวสะกด) อย่างนั้นมันเป็นคำขาด เรียกว่ายื่นคำขาด พญามัจจุราชยื่นคำขาดแล้ว
เรายอมหรือยัง เอ๊า ตายก็ตาย ยอมตาย ยอมแล้วมันไม่เป็นทุกข์ ถ้าไม่ยอมแล้วมันทุกข์ มันสู้ มันทุกข์ ยอมมันเถอะ ตายเมื่อไรก็ตาย แล้วก็ถ้ามีเงินมีทองไม่ต้องไปรักษาให้มันเปลืองเงินเปลืองทอง บางทีรักษาเข้าไปตั้งแสนสองแสน ตาย เงินมันก็สูญไปเรื่อย ไม่ใช่เรื่องอะไร ไหนๆมันก็จะตายแล้ว บอก เอ้า ตายก็ตาย กูไม่ต้องรักษามันแล้ว มีเงินก็เอาไปให้สภากาชาด ไปให้มูลนิธิสายใจไทยไป เอามาสร้างโรงเรียนวัดชลประทานก็ได้ ตั้งเป็นมูลนิธิเสียก็ได้ เพราะรักษาไปมันก็ไม่หาย แล้วจะไปรักษามันทำไม ไม่ได้เรื่องอะไรแล้ว
เดี๋ยวนี้หมอเขารักษารูปไม่ได้รักษาคน รักษารูปนี่ก็มีไม่ใช่น้อย เขาเรียกว่ารักษารูป เลี้ยงรูปไว้เรื่อยๆไป แล้วมาดูคนไข้บางรายนี่ รู้ว่ามันสังเวช สายจมูกบ้าง สายนั้นสายนี้ ระโยงระยางไป ไม่เป็นตัวแล้ว มีแต่สายเท่านั้นใส่เข้าไป แล้วมันรอดสักกี่ราย ที่ใส่สายรุงรังอย่างนั้น มีแต่ตายกับตายทั้งนั้น ใส่ไปใส่มา ตายแล้ว มันทรมานเกิน คนโบราณเขาไม่หยุด (48.07 ความหมายอาจเป็น คนโบราณเขาหยุด) เขาไม่เที่ยวรักษาให้วุ่น เขารู้ เขาปลงตก ปลงเสียว่า อ้อ มันจะตายแล้ว ไม่ต้องรักษา นอนมันเฉยๆ ไม่กินข้าว หยุดกินข้าว มันจะได้ตายไวๆ หยุดกินข้าว กินแต่น้ำ ต่อมาก็บอกว่าน้ำก็หยุดได้แล้ว หยุดกินน้ำแล้วมันหยุดหายใจของมัน ...... (48.31 เสียงไม่ชัดเจน) หยุดกินข้าว หยุดกินน้ำ มันก็หยุดหายใจ แล้วก็ตายอย่างสงบๆ ไม่วุ่นวาย เขาปลง ตายด้วยการปลงศพ ปลงไปว่าชีวิตมันก็เท่านี้แหละ เกิดมาวิ่งเต้นต่อสู้กันไป ผลที่สุดมันก็เท่านี้แหละ ยอมมันเสีย พอยอมแล้วมันก็หมดเรื่อง คราวนี้เราไม่ยอมตายนี่มันก็ลำบาก มันก็ตายนะ แต่เราไม่ยอม มันก็เป็นทุกข์
ทีนี้เมื่อคนหนึ่งตายไป เอ้า คนที่อยู่อีกล่ะ คนที่อยู่ก็เป็นทุกข์ไป กลุ้มใจ เสียใจอะไรไปตามเรื่อง เขาเรียกว่าคนหนึ่งตายไปแล้ว แต่อีกคนหนึ่งยังไม่ตาย มันควรจะอยุ่ด้วยความเบาใจ ไอ้จะนั่งหัวเราะก็มันไม่ใช่ (49.29 เสียงไม่ชัดเจน) ร่าเริงมันก็ไม่ใช่ แต่ว่าเรามันเบาอยู่ในใจ สบายใจอยู่ข้างใน เบาใจ สบายใจเพราะปลงตกว่า มันเป็นเช่นนั้นเองๆ อะไรๆ มันเป็นเช่นนั้นเอง มันไม่เที่ยงอย่างนั้น มันเป็นทุกข์อย่างนั้น มันเป็นอนัตตาอย่างนั้น มันเจ็บมันป่วยอย่างนั้น มันหมดลมหายใจอย่างนั้น เป็นเช่นนั้นเอง
พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า ตถตา แปลว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง ท่านพุทธทาสแปลง่าย แปลว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง อะไรๆ มันเป็นเช่นนั้นเอง แก้วน้ำใบนี้หล่นแตก เปรี้ยงไป ถ้าเราปลงตกว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง มันไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องดุคนใช้ ถ้าจะดุก็ไม่ใช่ดุด้วยความเป็นทุกข์ ดุเพื่อสั่งสอน จับอะไรมันต้องระมัดระวัง อย่าให้มันแตก แตกแล้วมันต้องซื้อใหม่ แต่ว่าใจเราไม่ได้เป็นทุกข์เพราะแก้วใบนั้นแตก เพราะเรารู้ว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง ของต้องแตกมันก็ต้องแตก แต่คนจะตายมันก็ต้องตาย มันเป็นเรื่องธรรมดา ทีนี้เวลาจะเจ็บจะป่วย มันก็ป่วยธรรมดา อาตมาเทศน์แจ้วๆอยู่เสียงมันแห้งไปมันก็ธรรมดา ไม่ได้นั่งเป็นทุกข์ว่า แหม กูเสียงแห้งๆ ไม่ได้เป็นทุกข์อย่างนั้น ก็อยู่มันไปตามเรื่อง รอให้มันดีก่อน มันก็ค่อยดีขึ้นๆ พักไปบ้างอะไรไปบ้าง เสียงมันก็คงเดิม มันหาย อะไรมันเป็นแล้วมันก็หายได้ มันเปลี่ยนได้ เปลี่ยนมาในทางดีก็ได้ เปลี่ยนไปในทางไม่ดีก็ได้ สุดแล้วแต่ปัจจัยเครื่องปรุงแต่ง
แต่เมื่อคืนมีคนไม่ค่อยเต็มบาทมาคนหนึ่ง เขาเรียกว่า หมอนักบุญ แต่งตัวรุ่มร่าม แล้วมาเรียกกลางดึก ออกไปถึงตกใจ รูปร่างมันพิกลพิการ บอกว่า เราเป็นหมอ นี่แต่งตัวให้มันเรียบร้อยหน่อย "ผมไม่ถือว่าเรื่องภายนอกสำคัญ" ไอ้ข้างนอกมันไม่สำคัญ ไม่ได้ มันก็สำคัญเหมือนกัน เข้ามาคนเขาเห็นนี่เขาไม่ค่อยเลื่อมใสแล้ว แต่งตัวอย่างนั้น ไม่ต้องหวีผม ใส่ครีม ไม่ได้ตัดให้มันสั้นๆ แต่งตัวให้เรียบร้อย เขาบอกว่า "ท่านว่าผมก็ดีเหมือนกัน ผมชอบคนติ" ติแล้วเอาไปใช้บ้าง
ต่อไปเขาถามว่า บ้านเมืองไทยจะเป็นอย่างไรต่อไปข้างหน้า มันสุดแล้วแต่ปัจจัยเครื่องปรุงเครื่องแต่งของบ้านเมือง ถ้าปัจจัยดีบ้านเมืองก็ดี ปัจจัยไม่ดีบ้านเมืองก็ไม่ดี ฉันจะไปบอกว่าจะดีก็ไม่ได้ จะไม่ดีก็ไม่ได้ มันสุดแล้วแต่เครื่องปรุงแต่งของบ้านเมือง ก็เลยถามอะไรอีกก็ตอบอย่างนั้นน่ะ ตอบว่าสุดแล้วแต่เหตุปัจจัยเครื่องปรุงแต่ง เลยมันหยุดถาม ไม่ต้องถามมากต่อไป ทีนี้ถ้าเราไปพูดเรื่องว่า ไอ้นู้นไอ้นี้มันยาว พูดให้มันสั้นเสียดี โยมจำไปพูดบ้างก็ได้ ใครจะถามว่าอะไร โอ๊ย มันสุดแล้วแต่เหตุปัจจัย เครื่องปรุงแต่ง ถ้าเครื่องปรุงแต่งดีมันก็ดี ถ้าเครื่องปรุงแต่งไม่ดีมันก็เสื่อม มันก็ตอบง่ายดี แล้วก็ไม่ต้องเถียงกับพวกนั้นต่อไป
ถ้าเราพูดว่ารัฐบาลดี รัฐบาลไม่ดี เรื่องมันยาว แล้วมันพาดพิงไปถึงคน ยุ่งนะ แต่พูดเป็นกลางไปเสียว่า มันสุดแล้วแต่เครื่องปรุงแต่ง ถ้าเครื่องปรุงแต่งดีมันก็ดี เหมือนเราสร้างเรือน ถ้าได้ไม้ดีมันก็อยู่นาน ถ้าเอาไม้ผุมาสร้างมันก็อยู่ไม่กี่วันปลวกกินหมดเท่านั้นเอง มันเครื่องปรุงแต่ง คนนี่ก็เหมือนกัน บ้านเมืองก็เหมือนกัน อะไรๆที่มันเกิดขึ้นในสังคม มันอยู่ที่ปัจจัย ถ้าปัจจัยเครื่องปรุงแต่งดีมันก็ดี ถ้าปัจจัยเครื่องปรุงแต่งเลวมันก็เลว เป็นไปตามเหตุปัจจัยปรุงแต่ง
อันนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นแบบ เราเอามาใช้ได้ เอาคำของพระพุทธเจ้าไปตอบเหตุการณ์ได้ ใครจะถามอะไร บอก “โอ๊ย มันสุดแล้วแต่ปัจจัยเครื่องปรุงแต่ง ถ้าปัจจัยเครื่องปรุงแต่งเป็นไปในทางไหน มันก็เป็นไปในทางนั้นแหละ” พูดอย่างนี้แล้วมันหยุด มันไม่รู้จะถามอย่างไรต่อไป หมดเรื่อง มันจบเรื่อง มันไม่ยุ่ง สิ่งทั้งหลายมันอยู่ที่เครื่องปรุงแต่ง หมดเครื่องปรุงเครื่องแต่งมันก็ดับไป เมื่อดับไปแล้วเราต้องยอมรับ ยอมรับว่า ธรรมดา มันเป็นเช่นนั้นเอง เช่น ความตายนี่มันเป็นเรื่องธรรมดา ความเจ็บไข้ได้ป่วยมันก็เป็นเรื่องธรรมดา การพลัดพรากจากของรัก ของชอบใจ มันก็เรื่องธรรมดา มันธรรมดาทั้งนั้น เป็นเรื่องธรรมดา พระท่านจึงสอนให้คิดถึงเรื่องธรรมดาไว้ เป็นเครื่องปลอบโยนจิตใจ มีอะไรเกิดขึ้นก็คิดว่า อ้อ ธรรมดา มันเป็นเช่นนั้น
ทีนี้เราไปฝืนธรรมดาเข้า ไปฝืนจะให้สิ่งนั้นมีอยู่ จะให้สิ่งนั้นเป็นอยู่ มันฝืนธรรมดา แล้วเราก็เป็นทุกข์ ถ้าเราปล่อยไปตามธรรมดา เราก็ไม่ทุกข์ เช่นว่า มีอะไรเกิดขึ้น เรานึก ธรรมดามันเป็นอย่างนั้น รักษากันไปตามเรื่อง ถ้ารักษาถูกมันก็หาย รักษาไม่ถูกมันก็ไม่หาย เหมือนรถยนต์เสีย คนในรถกี่คนก็เป็นช่างหมด มายืนกลุ้มอยู่ที่หน้าหม้อนั่น ทำตรงนั้น ทำตรงนี้ อะไรไปตามเรื่องแหละ แล้วสตาร์ทไม่ติดสักที เพราะไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุที่เสีย ไม่รู้ว่ามันเสียตรงไหนแล้วจะไปแต่งได้อย่างไร
มันต้องรู้เหตุว่าเสียอะไร ลูกสูบ อะไรมันเสีย หัวเทียนเสีย แบตเตอรี่เสีย ไฟไม่พอหรือว่าน้ำมันไม่พอ หรือว่ามันอุดตัน ต้องรู้เรื่อง รู้เหตุ แก้เหตุ แก้ได้ อันนี้ถ้า …...ปิดแล้ว (56.00 เสียงไม่ชัดเจน) แปลว่าเหตุนั้นมันแก้ไม่ได้ ต้องยืนเฝ้ารถต่อไป อย่าเป็นทุกข์เลย ถ้ายืนเป็นทุกข์มันก็ไม่ได้เรื่องอะไร ทรมานตนเอง แต่ยืนแล้วปลงไปว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง สิ่งมันไม่เที่ยง เราไม่รู้ว่ามันจะเสียลงตรงไหน แต่บังเอิญมาเสียตรงที่ไม่มีอะไรจะซื้อเสียด้วย มันก็ต้องทนสู้มันไป เพราะมันเป็นเช่นนั้นแล้วนี่จะทำอย่างไร แล้วจะไปยืนหน้าเง้าหน้างอกันอยู่ทำไม เป็นทุกข์เปล่าๆ
คนเรามันต้องรู้จักปรับปรุงจิตใจ ให้รู้อะไรเป็นอะไร แล้วก็แก้ไขสภาพจิตใจให้มันเหมาะแก่เหตุการณ์ ที่เขาพูดว่า ยิ้มได้เมื่อภัยมา แม้มีภัยก็ยังยิ้มได้ เพราะเรารู้สภาพที่เป็นจริง เราก็ยิ้มได้ รู้เหตุ รู้ผล รู้ต้น รู้ปลายของเรื่อง เราก็ยิ้มได้ใจเราก็สบาย ไม่มีปัญหา หลักคิดมันเป็นอย่างนี้ ญาติโยมลองเอาไปคิดดู ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง พูดมาก็สมควรแก่เวลาแล้ว มันเป็นเช่นนั้นเอง จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที