แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในรอบปีของพวกเราชาวพุทธ เพราะว่าเป็นวันที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่เราเรียกชื่อกันว่า”วันมาฆบูชา” ในปีหนึ่ง ๆ เราก็มีวันสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อยู่สามวัน คือเริ่มต้นปีตั้งแต่มกรามาถึงเดือนกุมภาก็มีวันเพ็ญมาฆะ เรียกว่าเป็นวันเกี่ยวกันกับพระอรหันต์ เรียกว่าเป็นวันพระสงฆ์ก็ได้ หรือเป็นวันพระอรหันต์ก็ได้ เพราะในวันนั้นเป็นวันที่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ เป็นผู้ที่ได้บวชกับพระพุทธเจ้าทั้งหมดเรียกว่า”เอหิภิกขุอุปสมบท” และได้มาประชุมพร้อมกันโดยไม่ได้มีการนัดหมาย ในเวลาบ่ายของวันเพ็ญมาฆะ ที่วัดเวฬุวันในเมืองราชคฤห์ นับว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ที่พระสงฆ์เหล่านั้นที่ได้จาริกไปเที่ยวสอนธรรมะในที่ต่าง ๆ ตามคำสั่งของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วก็ได้เดินทางมาพร้อมกันในวันเพ็ญเดือนสามเป็นจำนวนถึง ๑,๒๕๐ องค์
พระผู้มีพระภาคก็เสด็จมาสู่สถานที่นั้น แล้วก็ประทานโอวาทเรียกว่า”โอวาทปาติโมกข์”ในท่ามกลางสงฆ์ จึงถือว่าเป็นวันที่เป็นประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับพระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราทั้งหลายผู้เกิดมาในชั้นหลัง เมื่อระลึกถึงวันเช่นนั้น จึงได้พร้อมใจกันมาทำการสักการบูชาเรียกว่ามาฆะบูชา คือการเคารพกราบไหว้ระลึกถึงพระอรหันต์ทั้งหลายในวันเพ็ญมาฆะ
คำว่า”มาฆะ”นั้น เป็นชื่อของดวงดาวดวงหนึ่ง วันเพ็ญมาฆะก็พระจันทร์ได้เดินโคจรมาถึงดาวดวงนั้น เป็นวันเพ็ญพอดี จึงเรียกว่าเพ็ญมาฆะ เป็นชื่อของเดือนสาม นี่เป็นวันหนึ่งที่เป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนา
แล้วเราก็จะไปถึงวันเพ็ญเดือนหก อีกสามเดือนนับตั้งแต่วันนี้ไปถึงวันเพ็ญเดือนหกเรียกว่า”วิสาข บูชา” “วิสาขะ”ก็เป็นชื่อเดือนหก แล้วเราทำการบูชากันในวันนั้น เพราะเป็นวันคล้ายกับวันประสูติ วันได้ตรัสรู้สัจธรรม และวันปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้า ถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง
ต่อจากนั้นไปอีกสามเดือนก็ถึงวันเพ็ญเดือนแปด เรียกว่าเป็นวันเพ็ญอาสาฬหะ “อาสาฬหบูชา” คือวันบูชาในวันเพ็ญเดือนแปด วันเพ็ญเดือนแปดนี้เป็นวันของพระธรรม เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประกาศธรรมครั้งแรก (03.36) ประกาศสิ่งที่พระองค์ได้รู้ได้เห็น แล้วนำมาเปิดเผยให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้งห้าได้รับฟัง แล้วก็ได้ผล คือรูปหนึ่งได้รู้ ได้เข้าใจ เรียกว่าเข้าถึงกระแสธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราจึงถือวันนั้นว่าเป็นวันสำคัญ
ในปีหนึ่งเป็นวันสำคัญทางพระศาสนาสามวัน เมื่อถึงวันสำคัญในทางศาสนา เราผู้นับถือพระพุทธศาสนานี่ควรจะกระทำอะไรเป็นพิเศษ ถ้าทำให้เป็นพิเศษ ไม่เหมือนวันธรรมดา ๆ วันพระธรรมดาเราก็มาวัด หรือวันอาทิตย์เราก็มาวัดกันอยู่แล้ว แต่ว่าพอถึงวันเพ็ญเดือนสาม เดือนหก เดือนแปด เราถือว่าเป็นวันพิเศษ เราควรจะได้ปฏิบัติตนพิเศษในวันนั้น เพื่อเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยการปฏิบัติบูชา
การปฏิบัติบูชาเป็นการบูชาชั้นยอด เป็นการบูชาที่ทำให้พระศาสนาดำรงมั่นอยู่ตลอดไป ในวันที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ซึ่งนั่งอยู่ใกล้ ๆ พระองค์ว่า “ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาใด ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมะอยู่ ผู้นั้นได้ชื่อว่าสักการะ เคารพนับถือบูชาตถาคตด้วยการบูชาอันสูงสุด”
การบูชาด้วยดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องสักการะ เป็นการบูชาไม่สูงสุด เป็นการบูชาธรรมดา ๆ แต่ถ้าเราบูชาด้วยการปฏิบัติกาย วาจา ใจ ของเรา ด้วยทำให้กายเป็นธรรม วาจาเป็นธรรม ใจของเราเป็นธรรม อย่างนั้นเรียกว่าเป็นการบูชาแท้ เป็นการบูชาต่อพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง
การบูชาด้วยการปฏิบัติ เป็นการสืบอายุพระศาสนา และเป็นการสร้างพระไว้ในใจของเรา เราสร้างพระพุทธเจ้าไว้ในใจ สร้างพระธรรมไว้ในใจ สร้างพระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าไว้ในใจของเราด้วยการปฏิบัติบูชา เพราะเมื่อเราทำกาย ทำวาจา ทำใจของเราให้เป็นธรรม เขาเรียกว่าเราถึงธรรม เรามีธรรม อันคนที่มีธรรมะย่อมเอาตัวรอด ปลอดจากภัยอันตราย ไม่มีปัญหาคือความทุกข์ความเดือนร้อนเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เพราะเรามีธรรมะเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติจึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำ
ตามปกติเราได้ปฏิบัติกันอยู่แล้วบ้างพอสมควร แต่ว่าเมื่อถึงวันสำคัญเช่นวันนี้ เราควรจะได้ปฏิบัติให้เป็นพิเศษ ให้ยิ่งขึ้นไป การปฏิบัติให้เป็นพิเศษให้ยิ่งขึ้นไปนั้น เราจะทำอย่างไร เราจะต้องประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ พรหมจรรย์นี่คือตัวพระพุทธศาสนา เวลาพระผู้มีพระภาคส่งสาวกให้ไปประกาศธรรมะของพระองค์ พระองค์ไม่ได้สั่งว่า”ขอให้เธอไปประกาศศาสนา” ไม่ว่าอย่างนั้น ในคำบาลีท่านใช้ว่า พรหมจริยํ ประกาเถถะ เธอทั้งหลายจงไปประกาศพรหมจรรย์ ตัวพรหมจรรย์คือตัวพระพุทธศาสนา (07.34) ตัวคำสอนของพระพุทธเจ้า ตัวปฏิบัติที่แท้จริง เรียกว่า”พรหมจรรย์”
“พรหมจรรย์”นั้น คือการประพฤติกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ก็มีชีวิตอยู่อย่างสงบ อยู่อย่างสะอาด อยู่ด้วยปัญญา ควรจะเก็บตัวจากเรื่องวุ่นวายสับสนในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นผู้ประพฤติพรหมจรรย์นี่จะต้องปลีกตัวออกจากบ้านจากเรือนมาอยู่ในที่สงบ ๆ คือเรามาอยู่วัดนี่ มาหาที่สงบ มาปล่อยภาระกังวลต่าง ๆ ที่เราเคยทำในชีวิตประจำวันเสียบ้าง หยุดมันเสียบ้าง เพราะทำกันทุกวัน ๆ วันก็อย่างนั้นแหละ ได้ก็อย่างนั้น มีก็เท่านั้น อันนี้เรานึกว่าหาความพักผ่อน หาความสงบใจเสียบ้าง
ใจคนเรานี่มันต้องมีการพักผ่อน ต้องมีการทำให้สงบเสียบ้าง ถ้าไม่มีความสงบใจเลย วุ่นวายกันอยู่ตลอดเวลา เราก็จะเป็นโรคเกิดขึ้นในทางใจ แล้วก็จะเกิดโรคทางร่างกายด้วย โรคทางกายนั้นเกิดเนื่องจากโรคทางใจ ถ้าเราไม่มีโรคทางใจ โรคทางกายก็บรรเทาเบาบาง แม้จะเกิดขึ้นทางกาย ใจเราไม่มีโรค เราก็จะสามารถสบายใจได้ การจะประพฤติพรหมจรรย์ก็คือการพักผ่อน ทำให้จิตใจของเราได้รับความสงบเป็นครั้งคราว
คนเรานี้ทำงานทำการต้องมีการพัก เพราะฉะนั้นระบบทำงานเขาจึงมีวันหยุดไว้ให้ เช่นสมัยก่อนเราก็ถือวันพระว่าเป็นวันหยุด นับเดือนตามแบบจันทรคติ คือนับตามการเดินของดวงจันทร์ วันแปดค่ำเราหยุด วันสิบห้าค่ำหยุด แรมแปด วันดับ เราหยุดงาน ชาวนาชาวไร่ คนค้าคนขาย ราชการงานเมืองก็หยุด หยุดแล้วก็ไปวัดกัน ไปรักษาศีล ไปฟังธรรม ไปทำตนให้ใกล้ศาสนา หรือเรียกว่าไปชำระสะสางสิ่งที่มันยุ่งมาตลอดเวลาห้าหกวันนั้น ให้มันบรรเทาเบาบางลงไป
แต่มาในสมัยนี้เราได้เปลี่ยนเป็นแบบสากล ไม่ใช่เป็นแบบของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เพราะการหยุดวันอาทิตย์นี่มันเป็นสากลทั่วไป พอเขาหยุดกันในวันอาทิตย์ เราก็เลยหยุดงานในวันอาทิตย์ด้วย หยุดวันอาทิตย์แล้วก็มาวัดได้ ไม่ใช่มาไม่ได้ ไม่ได้จำกัดว่าต้องมาเฉพาะวันพระ วันอาทิตย์เราก็มาได้ เรามาฟังธรรมได้ เรามารักษาศีลก็ได้ เรามาเจริญภาวนาก็ได้
ตามวัดต่าง ๆ ควรจะเปิดการแสดงธรรมขึ้นในวันอาทิตย์ เพื่อให้คนที่สนใจได้มารับฟัง ไม่ใช่แสดงแต่วันพระ วันอาทิตย์ก็ต้องแสดงด้วย แสดงให้มันหลายวัน วันหนึ่งหลายหนก็ยิ่งดี คนมันจะได้ฟังกันมาก ๆ จะได้ความรู้ความเข้าใจ พอถึงวันอาทิตย์เราก็มากัน เหมือนกับญาติโยมมาอยู่เป็นประจำที่วัดนี้ในวันอาทิตย์ มากันตั้งแต่เปิดวันปีสองพันห้าร้อยสาม มีหลายคนที่มาตั้งแต่นั้นจนกระทั่งบัดนี้ก็ยังมากันอยู่ เช่นบางคนที่ตายจากไป หรือว่าย้ายบ้านย้ายเรือนไปอยู่ที่อื่นเสียก็ไม่ได้มา แต่ถ้ายังอยู่เขาก็มากัน วันอาทิตย์ก็มาฟังกันเป็นประจำ ถ้าจะให้รางวัลกับคนที่มาฟังเทศน์วันอาทิตย์ตั้งแต่เริ่มต้นมาจนบัดนี้ ก็ต้องทำรางวัลหลายอันที่เดียวเพราะมีหลายคนที่ควรจะได้รับรางวัล
แต่ว่ารางวัลทางวัตถุนี่มันเรื่องเล็ก รางวัลที่เราได้รับอยู่แล้วทางใจมันใหญ่กว่า (11.48) ประเสริฐกว่า คือเมื่อเรามา เราก็ได้รับรางวัลทางใจ คือเราได้ปัญญามากขึ้น ได้แสงสว่างทางใจมากขึ้น ได้ความสงบใจมากขึ้น นั่นคือรางวัลที่เราได้รับจากการที่ได้มาฟังธรรมอยู่ในวันอาทิตย์เป็นประจำ เขาจัดไว้ในรูปอย่างนั้นก็เพื่อให้คนได้พักผ่อน ถ้าไม่พักผ่อนเสียเลยมันก็จะมีอาการเหนื่อย
ความเหนื่อยนั้นมันมีสองแบบ เหนื่อยทางร่างกายอย่างหนึ่ง เหนื่อยทางจิตใจอย่างหนึ่ง เหนื่อยทางร่างกายนี่ไม่รุนแรงอะไรหรอก เรานอนพักเสียสักครู่สักยามก็หายเหนื่อยแล้ว เช่นว่านอนเสียสักตื่น มันก็หายเหนื่อยไป แต่ว่าเหนื่อยใจนี่มันสำคัญกว่าเหนื่อยกาย มันทำให้รู้สึกว่าอ่อนเพลียในทางจิตใจ ไม่อยากจะทำอะไร เบื่อสิ่งนั้น เบื่อสิ่งนี้ อย่างนี้เรียกว่าเหนื่อยทางใจ
เหนื่อยทางใจนี่มันต้องพักใจ พักใจก็คือการไปประพฤติพรหมจรรย์ ไปทำใจให้สงบ คนที่ไม่เคยทำความสงบใจนี่ ยังไม่เห็นประโยชน์ของการทำเช่นนั้น แต่ถ้าเราได้ไปทำเสียบ้าง เราก็จะรู้ว่า อ้อ มันดี มันมีประโยชน์
แล้วการไปทำความสงบใจหรือไปประพฤติพรหมจรรย์นั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนแก่ที่เลิกงานเลิกการแล้ว มันจำเป็นสำหรับคนทั่วไป ยิ่งคนที่กำลังอยู่ในธุรกิจการงานยิ่งจำเป็น เพราะว่าการอยู่ในธุรกิจการงาน เราจะต้องใช้กำลังใจในการต่อสู้กับปัญหาชีวิตมากมายหลายประการ
บางคนอาจจะมีเรื่องปวดหัว เรื่องยุ่งใจ เรื่องทำให้เกิดอาการไม่ได้ในทางประสาทอยู่บ่อย ๆ นั่นแสดงให้เห็นว่า เราต้องต่อสู้อย่างหนัก เราขาดเครื่องมือสำหรับเอาไปต่อสู้กับปัญหาชีวิต เราจึงเหน็ดเหนื่อยทางจิตใจ จิตใจไม่สบาย แล้วพูดอะไรออกไปในทางที่ไม่เหมาะไม่ควร เช่นว่าพูดอะไรเผลอไป มัดตัวเองให้เกิดปัญหาคือความทุกข์ความเดือดร้อน เพราะไม่ได้ยั้งคิดยั้งตรอง หรือว่าสั่งอะไรไปโดยขาดความยั้งคิด เป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย จิตใจไม่สงบ จิตใจไม่เยือกเย็น ไม่สามารถจะต่อสู้กับปัญหา ต่าง ๆ ได้ นั่นเพราะขาดการฝึกกำลังใจไว้
เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในวัยที่จะต้องปฏิบัติงานในชีวิตประจำวัน ถ้าเราปลีกตัวมาอบรมจิตใจของเราเสียบ้าง มาประพฤติพรหมจรรย์เสียบ้าง เราจะได้ประโยชน์ในการประกอบการงานมากขึ้น จิตใจเราจะสงบสบาย แม้จะมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นเราก็พอรู้เท่ารู้ทันต่อเรื่องนั้น (15.00) เราไม่แสดงอาการเสียใจรุนแรงหรือว่าไม่ดีใจรุนแรงมากเกินไป แต่เราจะรักษาระดับจิตใจของเราไว้ให้อยู่ในสภาพที่สงบเหมือนน้ำที่มันนิ่งอยู่ ไม่หวั่นไหวด้วยลมที่พัดมา อันนั้นมันก็จะช่วยให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตแก่การงาน
เวลานี้คนเขามีการพักผ่อนเหมือนกัน แต่ว่าไม่ได้พักผ่อนในรูปสงบใจ แต่ว่าเปลี่ยนอารมณ์ การเปลี่ยนอารมณ์ก็คือว่าไปเที่ยว เช่นทำงานหนักก็ไปเที่ยว วันศุกร์ตอนเย็นก็ไปพัทยา ไปบางแสน หรือไปที่ไหน เรียกว่าปลีกตัวไปพักเหมือนกัน แต่ว่าบางทีไปแล้วก็ไม่ได้พักทางใจ ยังไปหาเรื่องเปลี่ยนอารมณ์อะไรมากขึ้น ทำให้เกิดความวุ่นวายสับสน เกิดเป็นปัญหาอะไรขึ้นทางครอบครัวก็ได้ ถ้าหากเราจะลงทุนไม่ให้มันมากเกินไป เราหาความสงบใจ เช่นเรามาตามวัด มานั่งพักตามร่มไม้ หรือเข้าไปในโบสถ์ในศาลาที่ เงียบๆ
วัดวาอารามนี่ก็ควรจัดสถานที่เงียบ ๆ ไว้ สำหรับคนได้มาพักผ่อนทางใจ คล้าย ๆ กับว่ามีตึกพยาบาลไว้ในวัดสักหลังหนึ่ง ตึกพยาบาลนั้นอาจจะเป็นร่มไม้ก็ได้ ไม่ต้องเป็นตัวอาคาร แต่ว่าให้เป็นสถานที่สะอาด ร่มรื่น มองเข้าไปแล้วมันสบายใจ ไม่รำคาญตา ไม่รำคาญหู เมื่อเราไปนั่งในที่นั้นแล้วรู้สึกว่าใจมันว่าง มันโปร่ง มันสงบ หรือว่าเราจะมีอาคาร ความจริงก็มีเช่นโบสถ์ เป็นต้น เขาทำไว้ให้เป็นที่สงบเงียบเหมือนกัน
เมื่อเราเข้ามาในวัด เราไปที่โบสถ์ แล้วก็นั่งสงบใจ ตาเพ่งมองไปที่พระพุทธรูป อันเป็นรูปเปรียบแทนพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราก็นั่งนึกไป คิดไปในเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ทำอย่างนั้น ก็จะรู้สึกว่าเราอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่ง จากโลกที่มีความวุ่นวาย มีความสับสนด้วยปัญหาต่าง ๆ เราอยู่ในโลกแห่งความสงบใจ เราจะรู้สึกว่ามันเป็นสุขทางใจขึ้นมาทันที ทำอยู่อย่างนั้น แล้วก็ทำบ่อย ๆ เมื่อบ่อย ๆ ใจมันก็ชินกับความสงบ ชินกับสติปัญญา เมื่อมีอะไรมากระทบจิตใจของเรา เรามีเครื่องมือคือมีสติมาทัน มีปัญญามาทัน ได้สิ่งที่มากระทบนั้นก็จะไม่เป็นพิษแก่เรา ไม่เป็นภัยแก่เรา เพราะเรามีสิ่งช่วยไว้
คนเราถ้าหากว่าได้ฝึกฝน ได้อบรมจิตใจในด้านอย่างนี้ไปตั้งแต่เริ่มต้น คือตั้งแต่เริ่มชีวิตเป็นหนุ่ม คนนั้นจะไปไกลมาก ชีวิตจะเรียบร้อย จะก้าวหน้าไปไกล ถ้าเป็นนักธุรกิจ ก็จะเป็นนักธุรกิจที่ก้าวไปไกล เพราะทำอะไรก็ทำด้วยปัญญา (18.28) ทำด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดี แม้ว่าจะทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง เขาก็จะไม่เสียอกเสียใจจนถึงกับคิดฆ่าตัวตาย
คนเราที่มันคิดฆ่าตัวตายก็เพราะว่าไม่มีปัญญานั่นเอง ทำอะไรก็นึกว่าตายเสียดีกว่าถ้าไม่สำเร็จในเรื่องที่เราต้องการ มันก็ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้ฟังธรรมะเท่าใด ไม่มีปัญญา ไม่มีสติ เป็นเครื่องควบคุม พูดอะไรออกไปง่าย ๆ พอพูดออกไปแล้วบอก “แหม แย่แล้วกู พูดออกไปแล้วคนได้ยินมาก ๆ “ มันต้องทำตามคำพูด ถ้าไม่ทำตามคำพูด เขาจะหาว่าไม่มีสัจจะ
ความจริงการพูดในเรื่องที่มันไม่ถูกนั้น ไม่ควรจะเอามาเป็นสัจจะ ไม่ควรจะเอามาเป็นคำอธิษฐาน อธิษฐานใจหรือสัจจะนั้น ต้องเป็นไปในทางถูกต้อง ในทางดี มีคุณค่า เป็นประโยชน์ พระบาลีมีอยู่ว่า สัจเจ อัตเถ จะ ธัมเม จะ อาหุสันโต ปะติฏฐิตา สัตบุรุษหมายถึงว่าคนดีมีปัญญา ย่อมตั้งอยู่ในสัจจะที่ดีด้วย เป็นประโยชน์ด้วย อัตถะ หมายความว่าเป็นประโยชน์ ธรรมะหมายความว่า ถูกต้อง
สัจจะที่เราจะตั้งนั้นมันต้องเป็นไปในทางถูกต้อง ดีด้วย เป็นประโยชน์ด้วย จึงจะเรียกว่าควรรักษาสัจจะนั้นไว้ ถ้าเราตั้งสัจจะในทางผิด เช่นว่ามีจิตใจพยาบาท อาฆาตใคร ๆ แล้วตั้งสัจจะไว้ในเพื่อนฝูงว่า ”กูต้องแก้แค้นให้ได้ ถ้าแก้แค้นไม่ได้อย่านับถือว่ากูเป็นคนต่อไป” นี่คือตั้งไว้ผิด คิดผิดไปแล้ว เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไป แล้วเมื่อพูดไว้แล้ว กลัวเพื่อนจะไม่นับถือในคำพูด ก็เลยต้องไปทำ ทำบาป เพราะสัจจะที่ตั้งไว้ผิด
สัจจะที่ตั้งไว้ผิดนั้น ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเอามาเป็นอารมณ์ แต่เราควรจะบอกกับตัวเองว่า “แหม เราเผลอไป พูดไปอย่างนั้น” แล้วเราก็เปลี่ยนใจเสียได้ ไม่เป็นอะไร แต่ว่าบางทียังนึกถึงค่านิยมของคน “คนเขาจะว่า” ไอ้เรื่องคนว่านี่ อย่าไปนึกให้มันมากเกินไป เพราะคนบางคนว่าผิดก็มี บางคนว่าถูกก็มี เช่นคนติเรา เขาอาจจะติในทางถูกก็ได้ ติในทางผิดก็ได้ เขาอาจจะติด้วยความมุ่งร้าย สร้างเรื่องขึ้นมาเพื่อติเตียนก็ได้ ถ้าเราไปวิตกกังวลกับเสียงติของคนเหล่านั้น ไม่เป็นอันสงบใจ ไม่เป็นอันทำอะไร แล้วถ้าคนนั้นเขารู้ว่าเรานี่มีอาการเสียใจเพราะคำที่เขาพูด เขายิ่งพูดใหญ่ เพราะเขารู้ว่าเราเสียใจ เราเจ็บใจ เราไม่สบายใจ เขายิ่งพูดใหญ่ เราก็ยิ่งเสียผู้เสียคนหนักลงไปอีก แต่ถ้าเรานึกว่า “ไม่เห็นจะเป็นสาระอะไร เราไม่ได้ดีขึ้นเพราะเขาพูดว่าดี เราไม่ได้ชั่วเพราะเขาพูดว่าชั่ว” แต่มันดีมันชั่วตรงที่เราทำ เราก็มองดูตัวเราว่าเราได้ทำอะไร เราได้ประพฤติอย่างไร ถ้าเขาว่าเราชั่ว แต่เราไม่ได้ทำชั่ว เราจะไปร้อนอกร้อนใจอะไร หรือว่าเขาว่าเราดี แต่เราไม่มีอะไรดี เราจะไปดีใจได้อย่างไร เราควรจะรีบทำความดีขึ้นให้สมกับเขาชมว่าดี (22.15) ถ้าเขาว่าชั่ว เราไม่มีความชั่ว เราก็ไม่ต้องตกใจ แต่ถ้าเรามีความชั่ว เราก็ควรจะรีบชะล้างเอาความชั่วออกไปเสียจากจิตใจ ใช้สิ่งที่เขาพูดเขาว่านั้นให้เป็นประโยชน์ อย่าใช้ให้เป็นทุกข์เป็นโทษ
พระพุทธเจ้าเราให้รับอะไรด้วยปัญญา รับด้วยปัญญาแล้วมันเป็นคุณ แต่รับด้วยอวิชชาคือความโง่ความเขลา มันก็เกิดทุกข์เกิดโทษในจิตใจ นี่มันก็เป็นเรื่องสำคัญอยู่
ในชีวิตของเราทั่ว ๆ ไป ซึ่งเราควรจะต้องมีการแก้ไข ปรับปรุงให้มันดีขึ้น ทีนี้การปรับปรุงอะไรนั้นมันต้องปรับฐาน ปรับฐานของสิ่งนั้นก่อน คล้ายกับเราจะสร้างบ้านนี่ เราจะต้องปรับพื้น ที่มันลุ่มก็ต้องถมเสียก่อน ถมให้ที่มันสม่ำเสมอ เสร็จแล้วก็ตอกเข็ม เรียกว่าสร้างรากฐาน ตอกเข็มมันต้องให้มั่นคงหน่อย อย่าเอาไม้ผุ ๆ มาทำเข็ม เดี๋ยวนี้เห็นเอาไม้ผุมาทำเข็มเยอะแยะ เช่นไม้ยางพาราที่เขาตัดเพราะต้องการปลูกใหม่นี่คนซื้อมาทำเสาเข็ม ดูแล้วมันไม่แข็งแรงอะไรหรอก มันอาจจะเปื่อยเสียเมื่อใดก็ได้ แต่ถ้ามันอยู่ในดินมันก็เปื่อยช้าแต่มันไม่มั่นคง ต้องใช้เข็มที่มั่นคง เพื่อให้เป็นฐานมั่นคง แล้วจึงจะทำเสาทำคานสร้างบ้านสร้างเรือนต่อไปฉันใด ในชีวิตเรานี่ก็เหมือนกัน เราจะต้องสร้างรากฐานชีวิตให้มั่นคง
รากฐานชีวิตนั้นอยู่ที่คุณธรรมความงามความดีตามหลักพระศาสนา คนที่จะมีฐานชีวิตมั่นคงจึงต้องมีศาสนาเป็นหลักครองใจ ถ้าเรามีศาสนา เราก็ต้องปฏิบัติตามศาสนา โดยเฉพาะในคำสอนของพระพุทธศาสนาเรานั้น ท่านสอนให้เราปฏิบัติใจเป็นเรื่องสำคัญ จะเห็นได้ในพระโอวาทที่พระผู้มีพระภาคประธานแก่พระในวันประชุมนั้น มีอยู่บทหนึ่งว่า สพฺพปาสส อกรณํ. การไม่กระทำบาปทั้งปวง กุสลสสูปสมฺปทา การกระทำกุศลคือความดีให้ถึงพร้อม สจิตตฺปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้ขาวสะอาด เอตํ พุทธาน สาสนํ นี่แหละเป็นคำสอนของผู้รู้ทั้งหลาย
คือผู้รู้เรียกว่าเป็นพุทธะ พุทธะนี่ไม่ใช่มีองค์เดียว ไม่ใช่เป็นสิ่งผูกขาด พระผู้มีพระภาคไม่ได้ผูกขาดตำแหน่งนี้ แต่พระองค์ว่าเคยมีพุทธะมาก่อน แล้วอาจจะมีพุทธะในการต่อไปข้างหน้า แต่ว่าพุทธะที่มีมาก่อนก็ดี ในปัจจุบันนี้ก็ดี หรือต่อไปข้างหน้าก็ดี ต้องสอนอย่างนี้ ต้องสอนตามแนวนี้ คือสอนให้มีการปฏิบัติละชั่ว ให้กระทำความดี แล้วก็ให้ทำใจให้สะอาด นี่เป็นเรื่องพื้นฐานเรียกว่าขั้นต้นที่จะทำก่อน ขั้นต้นของการกระทำนั้นสำคัญอยู่ที่สร้างจิตใจ เพราะจิตใจนี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิต ความคิดอยู่ที่ใจ การทำอะไรมันมาจากใจทั้งนั้น
เราจะพูด ต้องใจคิดก่อน เราจะทำ ต้องใจคิดก่อน เราจะมาวัดตื่นเช้า ใจก็คิดก่อน “เออ วันนี้วันมาฆะ ไปวัดหน่อย ไปวัดไหนดี เอ้า ไปวัดชลประทานรังสฤษดิ์” แล้วเราก็มา แต่ถ้าคิดว่าวันนี้วันเสาร์ เขามีการแข่งม้า เราควรจะไปเล่นม้า มันก็ไปหาม้า (26.19) ใจมันผิด ใจตั้งไว้ผิด ก็ไปสนามม้า สนามมวย หรือว่าไปเที่ยวไปเตร่ ไปหาความสนุกสนาน มันเกิดจากใจ ใจนั้นเป็นใจถูก หรือว่าใจนั้นเป็นใจผิด ใจนั้นอยู่กับมาร หรือว่าใจนั้นอยู่กับพระ ถ้าใจอยู่กับมารก็ถูกมารดึงไป ถ้าใจอยู่กับพระก็พระดึงมา ถ้าเราถูกมารดึงไป เรามีความทุกข์มีความเดือดร้อนชีวิตตกต่ำ แต่ถ้าเรามีใจอยู่กับพระ พระก็คอยดึงเราออกไปในทางที่ถูกที่ชอบ ทำให้เราเจริญก้าวหน้าในชีวิต มันมาจากใจ
สุขก็อยู่ที่ใจ ทุกข์ก็อยู่ที่ใจ นรกก็อยู่ที่ใจ สวรรค์ก็อยู่ที่ใจ นิพพานก็อยู่ที่ใจนั่นแหละ ใจนี่จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นในแง่ของการปฏิบัติที่สอนว่าให้ละความชั่ว ให้ประพฤติความดี นี่เรียกว่าเป็นขั้นปูพื้นฐาน แล้วก็ไปตอนสุดท้ายว่าทำใจให้สะอาดปราศจากสิ่งเศร้าหมองใจ
ละความชั่วก็ด้วยการรักษาศีล ทำความดีก็ด้วยการเจริญสมาธิ ก็เรื่องฝึกใจนั่นแหละ ละความชั่วก็ละความชั่วมันอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ใจนั่นเอง แต่ว่าในชั้นแรกเราต้องมีกติกา มีข้อสัญญา ผูกมัดตัวเอง ผูกมัดตัวเองไว้ให้อยู่ในระบอบในระเบียบอันนั้น เช่นเราสมาทานศีล ก็เท่ากับว่าเรารับระเบียบไปเป็นข้อปฏิบัติ ว่าเราจะอยู่ในระเบียบอันนี้ ในข้อปฏิบัติอันนี้ เหมือนเรารับศีลห้าข้อ เราก็สัญญากับตัวเองว่าเราจะอยู่ในระเบียบห้าข้อนี้ อยู่ในศีลห้าข้อนี้ เราจะไม่ประพฤติออกไปนอกทางของศีลห้าข้อนี้ เราก็รับว่าเราจะไม่ฆ่าใคร ไม่เบียดเบียนใคร เราจะไม่ถือเอาสิ่งของของใคร ๆ เราจะไม่ประพฤติล่วงเกินของรักของชอบใจใคร ๆ เราจะไม่พูดคำโกหก คำหยาบ คำเหลวไหล คำที่เป็นประโยชน์ เพ้อเจ้อ ไม่ได้เรื่อง เราจะไม่เสพของเสพติดมึนเมาทุกประเภท นี่เป็นระเบียบ เรียกว่าเป็นศีล
ศีลก็คือระเบียบ ระเบียบที่จะทำให้ชีวิตเป็นปกติ ไม่เป็นสิ่งที่เรียกว่าผิดปกติ “ผิดปกติ” ก็คือใช้ในทางผิด มีมือใช้ผิดปกติก็ไปต่อยคนอื่น ไปแทง ไปชกเขา มีเท้าไปเตะเขา มีปากไปด่าเขา มีตาก็ไปค้อนเขา ไปมองอะไรขุ่น ๆ ข้น ๆ ทำอย่างนั้นเขาเรียกว่ามันผิดปกติ ไม่ได้ใช้อวัยวะที่มีอยู่ให้เป็นปกติ ไม่พูดอย่างคนปกติ แต่พูดอย่างคนใจร้อน คำที่ออกมาก็ร้อน พูดอย่างคนใจมีอะไรมันก็ออกมาอย่างนั้น ร้อนบ้างหยาบบ้าง กระทบกระแทกแดกดันคนนี้เข้าไปบ้างด้วยคำพูด คำพูดนั้นมากจากใจไม่ดี ไม่มีระเบียบไว้สำหรับปฏิบัติ เราจึงพูดออกไปในรูปอย่างนั้น หรือว่าเราไม่มีระเบียบปฏิบัติ เราก็ไปถูกเตะ กินของที่เป็นพิษแก่ร่างกาย ทำลายสุขภาพทั้งกายทั้งใจ ให้มันสูญเสียไป ให้มันตกต่ำลงไป ล้วนแต่เป็นเรื่องไม่ดีทั้งนั้น เพราะขาดระเบียบเป็นเครื่องคุ้มครอง คล้าย ๆ กับสัตว์ป่าเราจับมาได้ เราจะต้องเอาไปใส่กรงขังไว้ ทำคอกล้อมมิดชิด
เมื่อคืนดูภาพโทรทัศน์เขาไปจับหมูมา หมูป่า หมูป่านี่ไม่ใช่เรื่องเล่นนะ (30.19) ถ้าคนไปจับมามันก็เที่ยววิ่งหนี มันหนีล่อคน มันหนีล่อคน ไอ้ตัวหนึ่งหนีล่อไปทาง แล้วอีกตัวหนึ่งคอยดัก พอคนเข้าไปใกล้มันพุ่งเข้าใส่เลย มันจะขวิดตรงระหว่างขาเลย คนผู้ชายมันขวิดตรงขาเลย แล้วเขี้ยวมันงอกออกมางอนหน่อย มันขวิดตรงขาเลย ไอ้สิ่งที่เป็นประโยชน์ในชีวิต มันจะหายไปเลย มันขวิดปังไปเลยทีเดียว มันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นพวกที่จะไปจับหมูนี่ต้องระวังที่สุด เดินก็ต้องระวังเพราะว่าจะถูกมันทำร้าย แต่ว่าถ้าจับได้ก็ต้องรีบมัด มัดเสร็จแล้วเอาไปใส่กรงทันที เพื่อจะเอาไปปล่อยที่อื่น ไม่ให้คนไปจับมาต้มมาแกงกันต่อไป สงวนพันธุ์หมูป่าไว้ ไม่ใช่เรื่องอะไร ก็ต้องทำด้วยความระมัดระวัง จึงจะปลอดภัย
ชีวิตของคนเรานี่ก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีอะไรเป็นเครื่องแวดล้อม เป็นเครื่องป้องกัน ไม่มีรั้ว เหมือนบ้านไม่มีรั้ว บ้านไม่มีฝา เราจะนอนปลอดภัยได้อย่างไร บ้านนอกพอไปได้ กรุงเทพฯ ไม่ได้แล้ว ถ้าบ้านไม่มีฝา มีอะไรมันยกเอาไปหมด แต่ข้างนอกมักจะยังพออยู่กันได้กันอยู่ คนเขายังมีระเบียบอะไรกันอยู่บ้าง นี่ เราจึงต้องมีอะไรมาล้อมไว้ เราจึงมารับศีลนี่เท่ากับมารับข้อปฏิบัติ ที่เราเรียกว่าสมาทานศีล
สมาทานศีลก็หมายความว่ามารับข้อปฏิบัติไปจากพระ เรารับไปห้าข้อ รับไปปฏิบัติอยู่กับเนื้อกับตัวเรา การปฏิบัติก็คือระวังที่ใจนั่นละ การรักษาศีลมันรักษาที่ใจ แต่ว่าผลมันปรากฏที่กายที่วาจา คนที่มีใจเป็นศีล ก็จะเห็นว่าคำพูดดี กายก็ดี ทำอะไรก็ดี มันปรากฏ ปรากฏคนอื่นเห็นก็พูดได้ว่า”คนนั้นเขาเป็นคนมีศีล” มีศีลก็หมายความว่าอยู่ในสภาพปกติ ไม่ใช้สิ่งที่ตนมีให้เป็นความทุกข์ความเดือนร้อนแก่ใคร ๆ เรียกว่าเป็นผู้มีศีล
พ่อบ้านเป็นคนมีศีล แม่บ้านมีความสุข แม่บ้านเป็นคนมีศีล พ่อบ้านมีความสุข พ่อบ้านแม่บ้านเป็นคนมีศีล ลูกทุกคนหญิงชายทุกคนในครอบครัวก็มีความสุข คนใช้ก็มีความสุข คนบ้านใกล้เรือนเคียงก็มีความสุข ถ้าสมมุติว่าหมู่บ้านนั้นมีสิบครอบครัว ทุกครอบครัวเป็นคนมีศีล สบายแล้ว อยู่กันอย่างปกติ ไม่มีการเบียดเบียนกันในเรื่องร่างกาย เรื่องชีวิต เรื่องทรัพย์สมบัติ เรื่องความรักความใคร่ แล้วก็ไม่มีการเอะอะมะเทิ่งเพราะดื่มกินของมึนเมาเข้าไป มันสุขหรือไม่ ญาติโยมทั้งหลายลองพิจารณา ถ้าพิจารณาแล้วเราจะเห็นว่ามันสงบ มันเป็นสุข สุขด้วยศีล เพราะฉะนั้นเวลาพระให้ศีลเสร็จ ท่านก็บอกว่า
สีเลนะ สุคะติง ยันติ จะได้ความ จะไปสุคติ คือว่ามันจะเป็นสุขก็เพราะศีล
สีเลนะ โภคะสัมปะทา (33.44) เศรษฐกิจ การเงิน การทอง เจริญก็เพราะศีล
สีเลนะ นิพพุติง ยันติ จะดับทุกข์ ดับร้อนได้ก็เพราะศีล อานิสงส์ มันเกิดความสุข เกิดโภคทรัพย์ เกิดการดับทุกข์ดับร้อนได้ เพราะเรื่องศีล
ตัสมา สีลัง วิโสธะเย เพราะฉะนั้น ญาติโยมทั้งหลาย จงรักษาศีล ให้มันบริสุทธิ์เถอะ
(34.10) พระท่านเตือนในตอนท้ายว่าให้มีศีลอย่างนั้น ที่เรามีศีลก็เรียกว่ามาละความชั่ว
ความชั่วนี่ความจริงมันไม่ได้มีอยู่กับตัวเราหรอก มันไม่ต้องละล่ะ แต่ว่าเพราะเราไปรับมันไว้ก่อนแล้ว พอเกิดมานี่เรารับความชั่วไว้ ไม่ใช่บาปดั้งเดิมนะ พระพุทธศาสนาเราไม่ได้สอนว่ามีบาปดั้งเดิม คนไม่ได้มีบาปมาแต่ดั้งเดิม ดูเด็กตัวน้อย ๆ มันพูดอะไรตรงไปตรงมา ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมหรอก มันพูดอย่างตรงไปตรงมา บางทีเรานึกขำว่า แหม มันช่างพูดจริง ๆ ไอ้เด็กคนนี้ มันพูดตามความรู้สึก ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม ไม่มีการปรุงแต่ง ของเด็กน่ะ มันบริสุทธิ์ ใจมันบริสุทธิ์ มันไม่ชอบก็ว่าไม่ชอบ ถ้าชอบมันบอกว่าชอบ อะไรอยู่ในนั้นก็อย่างนั้น คนที่อยู่กับเด็กมาก ๆ นี่ลองสังเกตเด็กเถอะว่ามันบริสุทธิ์ มันพูดอะไรออกมาไม่ค่อยมีอะไร
แต่ว่าเมื่อมันเจริญขึ้น เติบโตขึ้น ได้รับ รับจากสิ่งแวดล้อม รับจากครอบครัว จากเพื่อนฝูงมิตรสหาย จากสิ่งต่าง ๆ ค่อยเอามาใส่ไว้ทีละน้อย ทีละน้อย รับเข้ามาไว้ แล้วมันก็เพิ่มสิ่งเหล่านั้นขึ้น เพราะฉะนั้นจึงได้มีสิ่งนั้นมากอดจับอยู่ในใจ เหมือนกับขี้ฝุ่นมาเกาะตามร่างกาย มาเกาะตามเสื้อผ้า มาเกาะตามบ้านช่องอะไรต่าง ๆ เดิมมันไม่มี แต่มันค่อยมีขึ้นเรื่อย ๆ คราวนี้เมื่อมันมีขึ้น เราก็ต้องละ
“ละ”ก็คือชำระชะล้าง เอาสิ่งที่ไม่ดีออกไปเสีย ตามจริงสอนว่าต้องละ เพราะเราไปรับไว้ก่อน รับความเชื่อผิด รับความเห็นผิด ถ้ารับสิ่งที่ไม่ถูกต้องไว้ในใจ ต้องละ เช่นความเชื่อผิด ๆ นี่เรารับไว้เยอะ เกิดมาถึงให้ใครเขาทำอะไร ก็ทำตามเขาไป โดยไม่รู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร นี่เรารับไว้ผิด เรียกว่ามีความเห็นผิด มีความเชื่อผิด เรารับมาโดยไม่รู้ ไม่เข้าใจ ทำตามเขา
ใครไหว้ก้อนหิน เราก็ไหว้ตามเขาไป ใครไหว้ต้นไม้ ก็ไหว้เข้าไป เห็นเขายกมือไหว้ โดยไม่ได้นึกว่าไหว้ทำไม ไหว้เพื่ออะไร หินก้อนนี้มันจะลอยมาทุบหัวเราได้ไหม หรือมาชนรถยนต์เก๋งคันงามของเราได้ไหม เราไม่ได้คิดอย่างนั้น เรียกว่ารับไว้ด้วยความงมงาย เชื่อไปตามเรื่องตามราว อันนี้มันก็เรียกว่ามีความเห็นผิดมาไว้ในใจ พระพุทธเจ้าก็สอนให้ละเหมือนกัน ละสิ่งนั้นออกไป เพื่อไปสู่ภาวะเดิมของเรา
ภาวะเดิมของเรานั้นคือความบริสุทธิ์ มันสะอาดอยู่ก่อน ความสกปรกมาทีหลัง แล้วเราก็เลยหลงผิด หลงผิดว่าไอ้ตัวสกปรกนี่เป็นตัวเรา เหมือนกับเราโกรธใคร เคืองใคร แล้วเราพูดคำไม่ดีออกไปบ้าง ทุบเปรี้ยงเข้าให้ แล้วเราพูดว่า “มึงไม่รู้จักกูเหรอ นั่นกู นั่นกู” (37.25) เขาเรียกว่าตู “ตูเอาสิ่งที่ไม่ใช่ตัวกู มาเป็นตัวกู กูเอาสิ่งสกปรกมาเป็นสิ่งสะอาด” อย่างนี้คือความหลงผิด ติดอยู่ในใจของเรา เราก็ต้องขูดมันออก ล้างมันออก ล้างด้วยศีล ล้างด้วยศีลก่อน เอาศีลเข้ามาชำระชะล้าง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเอาศีลมาบังคับตัวเราไว้ มาควบคุมบังคับตัวเราไว้ ไม่ให้ไหลไปตามสิ่งที่เคยไหลไป ไม่ให้ทำสิ่งที่เคยทำ ให้รู้จักหยุด รู้จักยั้ง รู้จักหยุด รู้จักยั้ง
มีบ้าน ๆ หนึ่งอยู่จังหวัดอุตรดิตถ์ชื่อบ้านทุ่งยั้ง ชื่อดีเหลือเกินทุ่งยั้ง คราวหนึ่งอาตมาจะไปที่บ้านทุ่งยั้ง แต่ว่าเลยไปหน่อย เลยบ้านทุ่งยั้ง โยมคนหนึ่งที่เป็นพ่อค้าบอกว่า “โธ่ จะเอาท่านไปเทศน์ที่บ้านนั้นกลางค่ำกลางคืนมันไม่ได้ รถยนต์วิ่งไป มันนึกสนุกขึ้นมา มันขว้างเปรี้ยงเข้ามาที่รถ เดี๋ยวลูกหินมาถูกเอาหัวร้างข้างแตก” ไอ้ขว้างนั่นยังดี บางทีมันนึกสนุก พอรถบึ่งมา มันยิงรถเลย ไอ้พวกขี้เมา บ้านทุ่งยั้งนะ ไม่รู้จักยั้งเลย เรียกว่ามันทำอย่างนั้น อย่าเอามาเทศน์กลางคืน ต้องเอามาเทศน์กลางวัน เลยไม่ไปกลางคืน เพราะมีคนหวังดีทักท้วงไว้ ก็เลยไปกลางวัน แหม! พอไปถึงมันพอดีเหตุการณ์ พอจะขึ้นเทศน์ควายสองตัวมันวิ่งมาจากไหนก็ไม่รู้ มันมาขวิดกัน ควายขวิดกัน ควายขวิดกัน คนก็มองดูควายขวิดกัน เข้ามาก็บอกว่า นั่น ดูสิ ดูสิ ไอ้พวกควาย ควายน่ะ มันไม่มีปัญญา มันไม่มีสติ มันไม่มีธรรมะประจำจิตใจ มันไม่รู้ว่าไอ้ตัวนั้นก็ควาย ไอ้กูก็ควายเหมือนกัน พอเจอกันเข้ามันก็ขวิดกัน เลือดไหลไคลย้อย ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน คนเราพอเห็นหน้ากันก็พุ่งเข้าชกกันต่อยกัน ยิงกัน ฆ่ากัน มันก็ควายเราดี ๆ นี่เอง พวกนั้นพอได้ยินก็นั่งลง นั่งเรียบร้อย แล้วก็ฟังธรรมกันต่อไป
แล้วก็พูดว่าเรามาอยู่บ้านทุ่งยั้ง ยั้งเสียบ้าง หยุดเสียบ้าง อะไรที่มันไม่ดีไม่งามก็ยั้ง ๆ หยุด ๆ เสีย พระท่านยั้งได้แล้ว หยุดได้แล้ว เราก็ควรจะหยุดตามพระ ยั้งไว้ตามพระเสียบ้าง มันจะดีขึ้น เครื่องรั้ง ศีลนี่เป็นเครื่องยับยั้งชั่งใจ ถ้าจะพูดเหมือนรถยนต์ก็เรียกว่าศีลนี่เหมือนกับห้ามล้อ ห้ามไม่ให้มันไปชนรถคันอื่น อย่าไปชนเสาไฟฟ้า อย่าให้มันลงไปข้างคูถนน ต้องห้ามไว้ด้วยห้ามล้อด้วยเบรก แล้วมันก็หยุดได้ ศีลนี่ก็ห้ามไว้ เช่นเราจะทำอะไร เอ๊ะ ไม่ได้ เรารับศีลไว้แล้ว เรามันเป็นคนมีศีล เราจะไปฆ่าเขาไม่ได้ เราจะไปตีเขาก็ไม่ได้ เราจะไปทำร้ายเขาก็ไม่ได้ เราจะไปฉ้อไปโกงเขาก็ไม่ดี เราจะเอารัดเอาเปรียบใครก็ไม่ได้ มันไม่เหมาะเพราะมันเป็นการผิดกติกาสัญญาของเรา
ถ้าคนมีใจเป็นธรรมต้องเคารพกติกา เคารพข้อสัญญาที่เราได้ตั้งใจไว้ คนเราน่ะ ถ้าไม่มีการเคารพตัวเองแล้ว จะไปเคารพอะไรได้ เริ่มต้นมันต้องเคารพตัวเองก่อน เคารพตัวเองก็คือเคารพสิ่งที่ตนได้ตั้งใจไว้ ได้รักษาไว้ด้วยความ ด้วยการบังคับตัวเอง ด้วยความเสียสละในเรื่องอย่างนั้น อย่างนี้เรียกว่าเราเอาศีลมาช่วย (41.10) ห้ามล้อจิตใจไม่ให้คิดในเรื่องชั่ว ไม่ให้ทำอะไรในเรื่องชั่วเรื่องเสียหาย ชีวิตจะได้ปลอดภัย แล้วถ้าคนทุกคนมีห้ามล้ออย่างนี้ด้วยกันทั้งหมดแล้ว โลกจะเป็นอย่างไร สังคมจะเป็นอย่างไร ญาติโยมลองหลับตานึกดูว่าเมื่อคนทุกคนมีการห้ามล้อจิตใจได้ มีศีลมีธรรมประจำใจแล้ว มันปลอดภัย เราจะขับรถไหนก็ปลอดภัย กลางคืนนอนก็ปลอดภัย เหมือนในคัมภีร์บอกว่าในสมัยที่พระเจ้าจักรพรรดิองค์นั้นครองประเทศ บ้านเมืองมีแต่ความสงบ พ่อให้ลูกซ้อนอยู่บนตัก หมายความว่าให้ลูกซ้อนอยู่บนตักได้ ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องห่วงใย ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะเรื่องอะไร บ้านช่องไม่ต้องมีประตู ไม่ต้องใส่กลอน ไม่ต้องรักษา เปิดประตูทิ้งไว้ก็ได้ เพราะคนทุกคนไม่ผิดศีล ไม่ล่วงละเมิดศีล สังคมมันเป็นสุข เดินสบาย นั่งสบาย นอนสบาย จะไปทำอะไรที่ไหนก็แสนสะดวกสบาย อย่างนี้มันเป็นสุขในชีวิตประจำวัน
แต่เวลานี้เราไม่ได้อยู่ในสภาพอย่างนั้น บ้านเมืองไม่ได้อยู่ในสภาพอย่างนั้น คนที่ไม่เคารพศีลมีมากขึ้นทุกวันทุกเวลา ไม่ถือธรรมะมีมากขึ้นทุกวันทุกเวลา เราจึงได้รับแต่ความทุกข์ความเดือดร้อน แม้คนดีก็ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน
ในสมัยโบราณเขาบอกว่า เพื่อช่วยให้สมณะชีพราหมณ์จะได้ประพฤติธรรมด้วยความสะดวกสบาย ราชาครองเมืองต้องการครองเมืองให้สมณะชีพราหมณ์ได้ประพฤติธรรมสะดวกสบาย ให้คนทำมาหากิน ได้ทำมาหากินสะดวกสบาย ไม่ต้องเป็นทุกข์ ไม่ต้องเดือดร้อน อันนี้คือจุดหมายของการเป็นอยู่ในสมัยนั้นๆ เขาก็อยู่กันด้วยความสุข แต่มาเดี๋ยวนี้มันไม่อย่างนั้น จึงจำเป็นที่เราจะต้องช่วยกันดูเพื่อนฝูงมิตรสหาย อบรมลูกเต้าเหล่าหลาน ให้มีความสำนึกในเรื่องอย่างนี้ ให้ละอายต่อการที่เป็นคนไม่มีศีล ละอายต่อการที่ไม่มีธรรมะเป็นเครื่องประดับกาย วาจา ใจ แม้เราจะมีเครื่องประดับอันโอ่อ่าราคาแพงสักเท่าใด ไม่ได้เรื่องอะไรเท่าใดหรอก แต่ถ้าเราประดับไว้ด้วยศีลด้วยธรรมนั่นแหละ มันเป็นเครื่องประดับที่มีค่า เพราะฉะนั้น ให้เรามีความละอาย สอนลูกสอนหลานให้มีความรู้สึกละอาย คือพูดบ่อย ๆ ย้ำบ่อย ๆ ให้เด็กของเราได้มีความคิดความนึกละอายในการที่จะทำชั่ว ละอายในการที่จะเป็นผู้ไร้ศีลไร้ธรรม ละอายอย่างนั้น ชักชวนส่งเสริมกันอย่างนั้น
แต่ว่าคนเรานี่จะชักชวนคนอื่นด้วยเรื่องอะไร ต้องทำเรื่องนั้นให้เกิดขึ้นในตัวเสียก่อน คือทำตัวเราให้มีเรื่องนั้น เช่นครูจะสอนศิษย์ว่าอย่าสูบบุหรี่ ครูก็ต้องไม่สูบให้เด็กเห็น เลิกได้ ครูเลิกได้ เด็กมันก็จะเห็นตัวอย่างครู ถ้าครูดื่มเหล้า แล้วบอกว่าเหล้าไม่ดี เด็กมันก็ฟังยิ้ม ๆ บางคนมันอาจจะถามว่า แล้วคุณครูดื่มทำไม ครูก็ต้องหาโอกาสแก้ตัวไป เพื่ออย่างนั้น เพื่ออย่างนี้ เข้าข้างตัว ความจริงเด็กถามศอกกลับมาอย่างนั้น เราควรจะถือเอาโอกาสบอกกับตัวเองว่าเรามันทำไม่ถูก เด็กจึงศอกกลับเอาได้ ต่อไปนี้ เลิกเด็ดขาด ไม่ให้เด็กมองเราในทางเสีย เลิกเด็ดขาด (45.16) พ่อแม่ก็เหมือนกัน เราจะอบรมลูกด้วยเรื่องใด ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง การทำให้ดูนั่นแหละคือการสอนทุกวินาที เราทำให้ดู เราแสดงอาการให้เขาดู เด็กมันก็ดูไป มันนึกตามไป เห็น ก็ถ่ายทอดเข้ามาไว้ในจิตใจ พ่อแม่อยู่ในศีลในธรรม ประพฤติดี ประพฤติชอบ ลูกก็ไปไม่ไกลเท่าใดหรอก ไปไม่ให้ต้นเท่าใด แม้จะห่างไปบ้าง ก็จะวกกลับมาในวันหนึ่ง นิสัยดั้งเดิมมันจะเกิดขึ้นในเด็กคนนั้น แล้วจะประพฤติดี ประพฤติชอบต่อไป อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราควรจะได้ช่วยกัน
วันนี้เป็นวันที่เราทั้งหลายควรจะได้น้อมจิตระลึกถึงพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย ที่มีจำนวนถึงพันสองร้อยห้าสิบองค์ ถ้าเรานึกภาพว่าในป่าไผ่ในสมัยนั้น พระคงจะนั่งเต็มไปหมด เงียบ พระท่านนั่งเงียบนะ ท่านนั่งร้อยองค์ก็เหมือนกับนั่งองค์เดียว พันองค์ก็เหมือนกับนั่งองค์เดียว คือท่านไม่พูดอะไรกัน ไม่ซุบซิบอะไรกัน ท่านนั่งนิ่ง เรียบ เพราะพระพุทธเจ้าสอนว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายมาพบกัน กิจที่เธอจะต้องทำมีสองอย่าง คือหนึ่ง นิ่งอย่างพระอริยเจ้า นิ่งน่ะ เรียกว่าทำตามแบบพระอริยเจ้า สอง ถ้าจะพูดต้องพูดธรรมะ”
พูดธรรมะเรื่องมันไม่ยาว มันสั้น ไม่ยาวหรอกพูดธรรมะ อย่างพูดเรื่องอื่น ถ้าไปพูดเรื่องคุณฉลาดจะตาย ไม่ตายนี่มันยาว วาระสองของรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน ยาว มันไม่จบสักที มันยาว มันไม่จบสักที พูดไม่จบ แล้วประเดี๋ยวเถียงกัน แต่ถ้าเราพูดเรื่องธรรมะ เดี๋ยวก็จบ ไม่ยาวอะไร พระท่านถือหลักของพระพุทธเจ้า เมื่อพบกันนิ่งอย่างพระอริยเจ้า สอง ถ้าพูดก็ต้องพูดธรรมะ ไม่มีธรรมะจะพูดก็นั่งเฉย ๆ การนั่งเฉย ๆ ก็คือการประพฤติธรรม แสดงว่าเราควบคุมตัวเองได้ เราบังคับตัวเองได้ คนเข้มแข็งคือคนที่บังคับตัวเองได้ ไม่ให้ทำอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควรลงไป อย่างนี้เป็นการถูกต้อง
เราก็มานึกถึงพระอรหันต์นั่งอยู่ในป่า ตอนบ่าย แดดร่มลมโชย ฤดูนั้นเป็นฤดูเดือนสาม อากาศก็คงไม่ร้อนในกรุงราชคฤห์ ถ้าเลยไปถึงเดือนเจ็ด มันร้อนทารุณ นี่ไม่ร้อนพระท่านก็นั่งสงบนิ่ง แล้วเราก็นึกถึงภาพว่าพระพุทธเจ้าก็เสด็จเดินมาช้า ๆ พระอานนท์เดินตามหลังมาจนถึงที่ประชุมนั้น พอมาถึงที่ประชุมพระทั้งหลายก็ลุกขึ้นยืนต้อนรับ พระพุทธองค์ก็ทรงประทับนั่ง พระทั้ง ๑,๒๕๐ องค์ก็กราบไหว้บูชาพระพุทธเจ้า เมื่อกราบแล้วทุกองค์นั่งนิ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมานี่ ถ้าพระองค์ไม่พูด ไม่มีใครพูด นั่งนิ่งหมด เตรียมพร้อมที่จะฟังพระโอวาท นั่งนิ่งเพื่อเอียงหูฟังว่าพระองค์จะพูดอะไรในวันนี้ จะสอนเราด้วยเรื่องอะไร (48.54) แล้วก็นั่งฟัง เสียงก็จะดังออกมาว่า
“ขันตี ปรมัง ตโป ตีติกขา” ความอดกลั้น ทนทาน เป็นตบะอย่างยิ่ง
“นิพพานัง ปรมัง วทันติ พุทธา” ผู้รู้ทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่าเป็นบรมธรรม
“น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี น สมโณ โหติ ปร วิเห ยนฺโต” ผู้ที่เรียกตนเองว่าเป็นสมณะ เป็นบรรพชิต ถ้ายังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ เป็นบรรพชิต
“สพพปปสส อกรณํ” การไม่ทำบาปทั้งปวง
“กุสลสฺสสูปสมฺปทา“ การทำกุศลให้ถึงพร้อม
“สจิตฺตปริโยทปน" การทำจิตของตนให้ขาวรอบ
“เอตัง พุทฺธานสาสนํ” นั่นคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
“อนูปวา โท” การไม่กล่าวร้ายแก่ใครๆ
“อนูปฆาโต” การไม่เข้าไปล้างผลาญแก่ใครๆ
“ปาฎิโมกฺเข จสวโร” สำรวมตนอยู่ในระเบียบในวินัย ในวัฒนธรรมประเพณีอันดีอันงาม เรียกว่ามีระเบียบ
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสมี มีความรู้จักประมาณในการเป็นการอยู่ ในชีวิตประจำวัน
ปนฺตญจ สยนาสนํ ไปหาที่สงบ นั่งพิจารณาตัวเองเสียบ้าง
อธิจิตฺเต จ อาโยโค หมั่นยกระดับจิตของเราให้สูงขึ้น ให้ประณีตขึ้น ให้สงบขึ้น
นี่คือคำที่พระองค์ตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายในวันนั้น เสียงนั้นยังก้องอยู่ในโลกยังไม่ได้หายไป ยังก้องอยู่ในบรรยากาศของโลก แล้วเขาก็บันทึกไว้เป็นอักษร เราสวดมนต์แปลมีอยู่ในนั้นแล้ว เอาไปสวดเสีย สวดแล้วเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน เอาแต่ละข้อมาปฏิบัติทุกวัน ๆ เราก็จะได้ชื่อว่ามีส่วนอยู่ใกล้พระพุทธเจ้า อยู่ใกล้พระธรรม อยู่ใกล้พระสงฆ์ ด้วยการปฏิบัติดังที่กล่าวมา
สำหรับตอนเช้านี่ก็ขออธิบายให้ญาติโยมฟังไว้เพียงเท่านี้ ตอนบ่ายก็มีการนั่งภาวนากันหน่อยตามธรรมเนียม แล้วก็มีมีการจะนิมนต์พระให้พูดเรื่องเหล่านี้ให้ญาติโยมฟังเรื่อย ๆ ไป จนกระทั่งสี่โมงก็ประชุมพร้อมกัน ฟังธรรมอีก แล้วก็ห้าโมงก็เวียนเทียน เสร็จแล้วคนที่อยากกลับบ้านก็กลับไป ไม่อยากกลับบ้านจะพักที่วัดก็ได้ มีที่ให้พักตามสะดวกสบาย พักง่ายๆ นอนง่ายๆ กินง่ายๆ วันนี้เราอยู่อย่างพระ อยู่อย่างอุบาสก อุบาสิกาผู้อยู่ใกล้พระ เพื่อบูชาพระอรหันต์ทั้งหลาย แสดงมาก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้