แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ สงบนี่หมายความว่าไม่พูด ไม่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ซุบซิบกับเพื่อนที่นั่งข้างๆ เอาแต่หูฟังอย่างเดียว เอาไว้พูดกันทีหลัง หูกับปากนี่ใช้พร้อมกันไม่ได้ ถ้าใช้ปากแล้วหูมันก็ไม่ค่อยได้เรื่อง อันนี้เมื่อใดใช้หู ก็ต้องหยุดใช้ปาก แล้วก็จะได้เรียบร้อย
คนเรานี่บางทีไม่ค่อยชอบฟังคนอื่นพูด แต่ว่าชอบพูดให้คนอื่นฟัง แต่นี่คนอื่นเขาจะฟัง เราไปนั่งพูดข้างๆ เขาก็รำคาญ ไม่รู้จะทำอย่างไร จะทุบปากก็ใช่ที่ เลยทำให้เกิดเสียสมาธิ เพราะฉะนั้นขณะใดที่มีคนพูดให้เราฟัง เราก็ต้องฟัง คนที่จะเป็นนักพูดต้องเป็นนักฟังก่อน ถ้าฟังเป็นแล้วก็จะพูดเป็น แต่นี้ถ้าหากว่าไม่ฟังแล้วก็จะไปพูดอะไรก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงขอให้อยู่สงบคือไม่พูด แล้วก็ไม่ควรจะเดินไปเดินมาให้วุ่นวาย รถก็เหมือนกัน ขณะที่แสดงธรรม มาก็อย่าไปเข้ามาทางถนนสายหน้าโรงเรียนพุทธธรรม เพราะจะทำให้คนอื่นรำคาญด้วยเสียงรถ จอดไว้ข้างนอกแล้วก็เดินเข้ามา นั่งให้เรียบร้อย ตั้งอกตั้งใจฟังกันด้วยดีจึงจะได้ประโยชน์
เมื่อวันอาทิตย์ก่อนนี้ไม่ได้อยู่ที่วัด เพราะว่าต้องเดินทางไปจังหวัดระนอง ที่ระนองนี่ความจริงก็ไม่อยากจะไปหรอก แต่ว่าวัดบ่อน้ำร้อนนี่เป็นวัดที่ได้ช่วยกันมาตั้งแต่เริ่มต้น ๒๗ ปี จึงได้สร้างโบสถ์ ผูกพัทธสีมาเรียบร้อย แล้วสมภารเจ้าวัดนี่เป็นผู้ใคร่ต่อธรรมะ สอนนักเรียนสอนอะไรไม่ได้หยุดหรอก ขยันสอนจริงๆ ขยันทำงานจริงๆ เวลามีงานมีการอะไรก็มุ่งเผยแผ่ธรรมะเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อมีการผูกพัทธสีมานี่ พ่อบอกว่าให้ผูกพัทธสีมาไม่มีเรื่องสนุก ก็ไม่มี ไม่มีดนตรี ไม่มีหนังฉาย ไม่มีหนังตะลุงของปักษ์ใต้ มีแต่ว่าเผยแผ่ธรรมะ พวกเราก็ระดมกันไปช่วย วางเป็นจุด จุด ๑ จุด ๒ จุด ๓ เพราะบริเวณป่านี่ในวัดนอกวัด วางเป็นหย่อมๆ แล้วก็พูดธรรมะกันเรื่อยไป ตอนเช้า ตอนบ่าย ตอนกลางคืน ไม่มีมหรสพใดๆ ทั้งหมด
คืออยากจะทำให้เป็นตัวอย่างในเรื่องงานผูกพัทธสีมาหรือฝังลูกนิมิต เพราะว่างานฝังลูกนิมิตนี่เขาเคยมานิมนต์อาตมาไปเทศน์หลายแห่ง ไม่ยอมรับ ไม่ยอมไป เคยไปมันสู้ไม่ไหว สู้ไอ้หนวกหูไม่ไหว แล้วก็ผู้จัดงานมุ่งหาเงินเป็นหลัก ไม่ได้เผยแผ่ธรรมะเป็นหลัก ก็เลยไม่รับนิมนต์ไม่ว่าใครนิมนต์ไปที่ไหน แต่ที่วัดบ่อน้ำร้อนนี่เหมือนกับว่าเป็นกันเอง ก็จัดถูกต้องตามนโยบาย ก็เลยเดินทางไปเมื่อวันที่ ๑๑ ไปตอนเช้า ๙ โมงออกจากวัด ไปถึงโน่น ๑ ทุ่ม ๑๕ นาที แล้ววันที่ ๑๓ ก็เริ่มงาน ก็ทำกันไปอย่างนั้น คนก็มาซื้อทองไปปิดอะไรกันไปตามเรื่อง เมื่อวันสุดท้ายของงานนี่คือคืนวันที่ ๑๕ ความจริงอาตมาจะกลับวันที่ ๑๕ เช้า สมภารแกหน้าตาไม่เสบย ไปเที่ยวบ่นกับพระองค์นั้นองค์นี้ว่า “หลวงพ่อกลับไปเสียก็แย่ คนเขาหวังจะฟังหลวงพ่อตอนสุดท้ายเวลาใกล้จะลงหลุม กลับไปเสียมันก็ ผมแย่” เลยรู้ว่าอย่างนั้นก็เลยต้องหยุดดู
ทีนี้เวลาจะฝังนี่ฝังเวลาเที่ยงคืน ไอ้ที่รั้งไว้เที่ยงคืนนี่ก็เพราะว่าคนมันยังมาอยู่ ยังซื้อทองไปปิดนิมิตอยู่ ยังมีรายได้อยู่ ไอ้จะปิดร้านเสียก็ดูกระไรอยู่ เลยก็เปิดต่อไป พอถึงเวลา ๒๓ นาฬิกา หรือตี ๑๑ กลางคืน อาตมาก็ไปยืนพูดที่หน้าโบสถ์ ต้องการจะทำความเข้าใจกับญาติโยม ในเรื่องเหลวไหลหลายเรื่องในงานผูกพัทธสีมา เพราะว่าที่ระนองเคยผูกที่วัดด่าน เป็นวัดที่อาตมาไปบวชเป็นสามเณร แต่ว่าเขาไม่ได้นิมนต์ให้ไปในงานนั้น ได้ทราบว่าพอลูกนิมิตลงหลุมเท่านั้นแหละ คนก็เฮเข้าไปทางประตูบ้าง เข้าหน้าตาโบสถ์บ้าง พระต้องหนี ชาวบ้านมันรุมเข้าไป ทำไมจึงรุมเข้าไป ไปเพื่อจะแย่งเอาหวายที่ผูกหินพัทธสีมา ทำเป็นสาแหรก เอาลูกหินวางไว้ เมื่อตัดแล้วก็เข้าไปแย่งกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้นเป็นผู้ตัดลูกนิมิต เลยตัดหวายแจกประชาชน คนมันมาก รุกเข้าไปๆ หวายไม่พอตัดเลยตัดนิ้วเข้าให้ เลือดไหลมาเลยทีเดียว
มันเป็นอย่างนี้ เขาบอกว่า “แหม มันวุ่นวายเต็มที ให้หลวงพ่อช่วยดัดสันดานให้เสียหน่อย” ก็เลยต้องไปพูดให้ฟังจนเสียงแหบเสียงแห้ง อธิบายให้เข้าใจว่าในงานผูกพัทธสีมานี่ไอ้หวายนี่มันไม่มีอะไรหรอก เขาเอามาทำเป็นสาแหรกวางลูกนิมิต แล้วเราจะไปเอาหวายนั้นไปทำอะไร เพราะได้ไปนิดเดียวนี่ แค่ ๒ ข้อนิ้วเท่านั้นเอง เอาไปทำอะไรได้ ตีแมวก็ยังไม่ได้เลยไปใช้อะไรอย่างอื่นเหรอ แล้วไอ้ที่เขาบอกว่าหวายนั้นมันศักดิ์สิทธิ์อย่างนั้นอย่างนี้ เขาหลอกกันมานานแล้ว ญาติโยมนี่โง่กันมาหลายสิบหลายร้อยปีแล้ว วันนี้มาลืมหูลืมตากันเสียทีเถอะ อย่าโง่กันต่อไปเลย อย่าเอาหวายเลยมันไม่ได้เรื่องอะไร เชือกสายสิญจน์นี่ก็เหมือนกันเอาไปทำอะไร เอาไปผูกข้อมือก็มันไม่ได้เรื่อง ทำอะไรมันไม่ได้เรื่องทั้งนั้นแหละ เพราะหวายช่วยเราไม่ได้ แขวนเชือกได้ก็ช่วยเราไม่ได้ อะไรๆ ก็ช่วยเราไม่ได้
แต่ว่าคนมันอยากได้ เพราะการโฆษณาจะเอาสตางค์นั่นเอง เพราะหวายนี่มันมากนี่ เอามาตัดเป็นเส้นสั้นๆ แค่นี้ ได้ตั้งหมื่น ๒ หมื่นท่อน ท่อนละบาทนี่มันก็พอได้ใช้แล้ว เลยบอกว่า “อาตมานี่ไม่อยากได้เงินที่เกิดจากความหลงผิด จากความโง่ของญาติโยม อยากจะได้เงินของคนฉลาด ไม่อยากจะได้เงินของคนโง่ พี่น้องชาวระนองนี่ไม่ใช่คนโง่ แต่เป็นคนฉลาด เพราะฉะนั้นเลิกโง่กันเสียทีตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อย่าแย่งหวายกันต่อไปอีก” บอกให้เข้าใจอย่างนั้น
แล้วก็เล่าให้ฟังว่า คราวหนึ่งนี่ไปในงานผูกพัทธสีมาที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เขาเรียกว่าวัดวังขรี คืนนั้นเข้าไปในโบสถ์ ไปเห็นใบตาลโตนดมัดเท่านี้ มัดใหญ่ โตกว่าคนเสียอีก แต่ถ้าคนอ้วนๆ โตกว่า
ทีนี้ถามว่า “ใครเอาของมาทิ้งไว้หน้าพระรกรุงรัง”
พระท่านบอกว่า “มันเป็นของที่จะต้องแจกวันพรุ่งนี้ พรุ่งนี้หลวงพ่อคอยดูเถอะ คนแย่งกันจนเสื้อขาดกันไปตามๆ กันละ”
“เอ้ย มันแย่งใบตาลกันนี่มันเรื่องอะไร”
“เขาบอกว่ามันไม่ใช่ใบตาลเฉยๆ เขาเรียกว่าตะบองเพชร เจ้าคุณอ่านหนังสือเขาเขียนเป็นตัวขอม เขียนไว้ในใบตาลนะ”
อาตมาก็เอามาอ่านว่า “สัพเพ ปิสาจา สัพเพ ยักขาจา อิทัง ปัตตังทิสวา ปะยาปะรายันติ” (09.11 ภาษาบาลี) บอกว่าปิศาจก็ตาม ยักษ์ก็ตาม มาเห็นใบตาลนี้แล้วก็จงหนีไป
ถามว่า “เอาใบตาลไปทำอะไร”
“เอาไปห้อยไว้ที่บ้าน ยักษ์มันกลัว”
บอกว่า “ยักษ์ปัญญาอ่อนนี่มันกลัวใบตาลนิดเดียวเท่านี้ มันทำอะไรยักษ์ได้ใบตาลใบเท่านี้ พวกยักษ์ปัญญาอ่อนทั้งนั้นนี่กลัวใบตาล ถ้าหากว่าเอาใบตาลไปผูกไว้แล้วมันกันขโมยได้ไหมล่ะ กันไม่ได้ เพราะขโมยมันไม่กลัวใบตาล มันไปลักควายเมื่อใดก็ได้ จะเอาไปทำอะไร”
“นี่ครับ เขาแจกกันมาทุกงาน”
บอกว่า “เอาละ ผมจะจัดการเรื่องนี้”
เลยไปหาผู้เป็นประธาน ท่านเจ้าคุณผู้ใหญ่ ไปบอกว่า “ใต้เท้าครับ ไอ้ใบตาลนี่ทำให้คนโง่กันมานานแล้ว เลิกเสียไม่ได้เหรอ”
ท่านเจ้าคุณท่านพูดเบาๆ ว่า “เขาทำกันมานานแล้ว” ว่าอย่างนั้นนะ “เขาทำกันมานานแล้ว ไอ้เราจะไปเลิกมันก็ลำบาก”
“เอาละ ใต้เท้าไม่ต้องเปลี่ยน ผมจัดการเรื่องนี้เอง” ก็เลยชวนคนๆ หนึ่งให้ไปยกมัดใบตาลนั้นไปทิ้งไว้ในป่าเลย ทิ้งมันเสียเลย
แล้วคืนนั้นก็ปาฐกถาพูดให้ญาติโยมฟัง เรื่องความไม่เข้าใจ ความงมงาย แล้วรุ่งเช้าขึ้น เวลาบ่ายโมงเขาจะเอาลูกนิมิตลงหลุม ก็จัดให้คนนั่งเรียบร้อยหมดเลย แล้วก็พูดให้ฟังให้ทำอะไรบ้าง วันนั้นเรียบร้อยที่สุดเลย คนนั่งเรียบร้อย ไม่เอะอะไม่โวยวาย พอลูกนิมิตลงไปในหลุมก็ไม่กรูเข้าไปเพื่อจะเอาทรายกลบหลุมลูกนิมิต บอกว่า “ไม่ต้องกลบ เขากลบกันทีหลัง” อธิบายให้เข้าใจ ญาติโยมเลยนั่งสงบเรียบร้อย จนกระทั่งพระทำพิธีอะไรเสร็จ ยะถาสัพพี เสร็จแล้วโยมกลับบ้านได้ ต่างคนก็กลับไปบ้าน เสื้อผ้าเรียบร้อย ไม่ขาดกระรุ่งกระริ่งเพราะแย่งใบตาลกัน เลยไปแก้ แก้อย่างนั้น
ทีนี้พระที่นั่งอยู่คุยกันเรื่องนี้ พระบอก “โอ้ย พูดมันไม่รู้เรื่องนะไอ้คนนี่”
บอกว่า “เอ้า คนไทยหรือคนชาติไหนที่พูดกันไม่รู้เรื่อง ก็มันหูไทยนี่มันเข้ากับปากไทยได้ ทั้งนั้นแหละ เดี๋ยวฉันจะทำให้ดูหน่อยคืนนี้แหละ” ก็เลยทำให้ดูด้วยการพูดอธิบายให้เข้าใจว่านัยยะการปฏิบัตินั้นควรทำอย่างไร ชั้นแรกก็คนยืนกันเกะกะ เลยบอก “พี่น้องนั่งลงๆ นั่งให้เรียบร้อย อย่าเอะอะ ชาวระนองเป็นคนสุภาพอ่อนโยน ฟังเสียงพระนั่งให้เรียบร้อย” นั่งหมด พอนั่งเรียบร้อยแล้วก็เทศน์ให้ฟัง แล้วบอกว่ากิจกรรมที่จะต้องกระทำนั้นคืออะไร “พอลูกนิมิตลงหลุมนี่ญาติโยม “สาธุ” เท่านั้น อย่าลุกขึ้น อย่าเข้าไปในเขตรั้วไก่” ที่เขาทำรั้วเขาเรียกว่ารั้วไก่ “อย่าเข้าไป นั่งอยู่ข้างนอก นั่งให้เรียบร้อย ไม่ต้องไปปิดลูกนิมิต ไม่ต้องเอาทรายใส่ ไม่ต้องทำอะไร ให้นั่งเฉยๆ ยกมือสาธุ แล้วก็นั่งเฉยๆ โยมเข้าใจไหม” ทุกคนก็เข้าใจ
เสร็จแล้วพระท่านจะออกมาคัดลูกนิมิตสัก ๕ ลูกออกมา คัดตั้งแต่ด้านทิศตะวันออกแล้วก็เรื่อยไปจนรอบทิศ เสร็จแล้วท่านจะเข้าไปในโบสถ์ เมื่อเข้าไปในโบสถ์ พระก็จะทำพิธีสมมติสีมา ญาติโยมก็ต้องนั่งอยู่อย่างนั้นให้เรียบร้อย ไม่ลุกขึ้น ไม่ไปไหน ไม่ทำอะไร พระสวดเสร็จแล้ว ท่านก็จะอนุโมทนา ยะถาสัพพี ญาติโยมก็ยกมือสาธุ แล้วก็กลับบ้านได้ แต่ว่าวันนั้นขลุกขลักนิดหนึ่ง คือว่าพอฝังลูกนิมิตแล้ว พระท่านสวดอะไรขึ้นมา โยมนึกว่าจบแล้ว ก็เลยเข้ามาในรั้ว เอาน้ำหอมมารด เอาถุงเล็กๆ มาใส่ทราย แล้วเขาไม่รู้ภาษาบาลี เลยเสียงเจี้ยวจ้าวนิดหน่อย อาตมาก็โผล่หน้าต่างออกไป แล้วก็บอกว่า “เงียบๆ ออกไปก่อนๆ” เขาก็ออกไปนั่งกันเรียบร้อย ไม่มีปัญหาอะไร ทุกอย่างเรียบร้อยดีจนผูกพัทธสีมาเสร็จ
เสร็จเอาเวลาตี ๑ แล้วท่านพระครูสมภารบอกว่า “หลวงพ่อช่วยบวชนาคให้ด้วย” ก็เลยต้องนั่งเป็นอุปัชฌาย์ บวชพระ ๖ นาค บวชเณร ๔ นาค อันนี้ก็ขอบรรพชาอุปสมบท แล้วก็รับศีล รับศีลไม่ถูก จำไม่ได้ เลยบอกว่าดึกแล้วงดไว้ก่อน คืนนี้นุ่งผ้านี้ได้ แล้วก็นอน เช้าก็ค่อยบวชกันใหม่ ก็เลยบวชต่อตอนเช้า รอให้ไปท่องศีลให้จำได้ สั่งพระพี่เลี้ยงว่าเอาไปกวด คืนนี้ไม่ต้องนอน ถ้าจำไม่ได้ไม่ให้นอน ศีล ๑๐ ข้อต้องว่าให้ได้ แล้วก็ตอนเช้าอาตมาไม่ได้บวชหรอก เพราะว่ารถมันออก ๘ โมง จะมารถกลางวัน มันค่อยดีกว่ารถกลางคืนหน่อย เลยบอกสมภารว่าบวชเอาเองก็แล้วกันนะ เมื่อคืนนี้บวชไม่เสร็จ แล้วก็กลับมา
ทีนี้ทำงานแบบอย่างนี้จะได้ปัจจัยคุ้มค่าไหม ปรากฏว่าวันสุดท้ายได้เงิน ๕๗๕,๕๘๖ บาท ไม่ต้องจ่ายอะไร ไม่ต้องกรรมการครึ่งหนึ่ง วัดครึ่งหนึ่งเลย เพราะว่าไม่มีอะไร ไม่ต้องเสียอะไร ถ้าจะเสียบ้างก็ค่าไฟฟ้า ที่เราใช้กันในงานให้มันสว่างไสว เรื่องดูหนัง ละครมอญรำทั้งหลายไม่ต้องจ่าย เงินนั้นก็จะได้ทำประโยชน์แก่พระศาสนาต่อไป มันดี ทำอย่างนี้มันดีกว่า วัดที่เขามีงาน ๑๐ วัน ๑๐ คืน ได้เงินมากเหมือนกัน แต่ว่าคณะสนุกเอาไปเสียมาก ดนตรีคืนหนึ่ง ๒๐,๐๐๐ – ๒๕,๐๐๐ บาท แล้วยังต้องเลี้ยงมันอีกเพราะกับข้าวในงานเยอะแยะ แล้วก็มีหนังจอยักษ์ มีอะไร โอ้ย มีร้อยแปดสุดแล้วแต่ชาวบ้านเขาจะชอบอะไร สมภารก็ตามใจชาวบ้านทุกอย่าง เลยมาเบิกเงินที่วัดทั้งนั้น เงินมันก็หมดไปกับเรื่องอย่างนั้น ไม่คิดจะแก้ไข
ทีนี้ที่ไม่คิดแก้ไขนี่เพราะอะไร ก็เพราะพระท่านนึกว่าชาวบ้านเขาไม่ยอม เรียกว่าพระนี่แพ้ชาวบ้าน ไม่เป็นผู้นำเสียแล้ว กลายเป็นผู้ตามไป ตามญาติตามโยม โยมจะเอาอย่างนี้ สมภารก็ตามโยมไป พระเรามันเลยไม่ได้เป็นผู้นำญาติโยมชาวบ้าน ชาวบ้านก็เลยสนตะพายพระตามชอบใจ มีนั่นมีนี่ นั่งรถไปจากกรุงเทพฯ นี่จะเห็นป้ายแผ่นสูงๆ ยาวเท่าห้องนี้เลย สูงขนาดอย่างนี้ มีอะไรบ้าง บอกรายการว่าผูกพัทธสีมา แล้วก็มีดนตรีสายันต์ สัญญา สุรพล สมบัติเจริญ อะไรไม่รู้นะ ไม่มีสักป้ายหนึ่งที่จะบอกว่ามีการแสดงธรรม หรือมีการเผยแผ่ธรรมะ มุ่งเอาปัจจัยจากความสนุก
ความจริงนะญาติโยมรู้ไว้ด้วย คนมาสนุกนี่เขาไม่ทำบุญ คนมาทำบุญนั่นไม่สนุกหรอก คนมาทำบุญนี่เขาไม่ชอบสนุกอะไร แต่พวกสนุกนั้นมันไม่ได้ทำบุญ แต่ว่ามันเอาเงินไปเสียค่าผ่านประตูให้มหรสพ บางทีค่าผ่านประตูไม่พอ ต้องมาชักเงินจากการกุศลไปให้ คราวหนึ่งไปเมืองสุพรรณบุรี มีดนตรี
รุ่งเช้าก็ถามว่า “เมื่อคืนเก็บเงินค่าผ่านประตูได้เท่าใด”
“ได้ ๖,๐๐๐ บาท”
“แล้วค่าดนตรีเท่าใด”
“๑๒,๐๐๐ บาท”
“เอ้า มันขาดตั้งเท่าตัวแล้ว เอาเงินที่ไหนให้”
เขาบอกว่า “เงินที่ญาติโยมมาทำบุญทอดผ้าป่านี่ต้องชักให้ดนตรีบ้าง”
บอกว่า “อย่างนี้มันก็ผิดแบบแหละ ผิดที่ใช้เงินผิดประเภทนะ ถ้าเป็นราชการก็ติดคุกติดตารางกันแล้ว เขาไม่ได้เอาเงินมาทำบุญเพื่อให้เราไปให้ลิเกหรือให้ดนตรี แต่เราดึงไปให้อย่างนั้นมันถูกต้องเมื่อไร”
บอกว่า “ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เอาเงินมาแล้วนี่”
“แล้วทำมากี่ปีแล้วงานประเภทนี้”
“ทำมาบ่อยๆ ทุกปี”
“แล้วทำไมไม่เรียนไม่รู้มันเสียบ้าง ไม่เอาเป็นบทเรียนสอนใจเสียบ้าง”
“ชาวบ้านเขาชอบ”
ว่าไปอย่างนี้ ไอ้อย่างนี้แหละจะทำให้ศาสนาเราเสื่อม เพราะทำอะไรตามใจชาวบ้านตลอดเวลา ไม่หัดสอนคนให้เกิดความรู้ความเข้าใจ อาตมานี่อยากจะแก้ปัญหาอย่างนี้ เลยบอกว่า “เอ้า วัดไหนจะทำแบบพัฒนา แบบเปลี่ยนแปลง มา จะไปช่วย แล้วลองดูว่ามันจะได้เงินสักเท่าไร” มันได้เงินมากเหมือนกันได้ตั้งครึ่งล้านนี่ ก็นับว่าพอใช้ได้แล้ว แล้วจังหวัดระนองนี่มันเล็กนี่ พลเมืองเพียงสามหมื่นเศษเท่านั้นเองนะ แต่ได้เงินขนาดนั้นก็นับว่าได้ถมไป แล้วได้แล้วเราก็ไม่จ่ายอะไร จะไม่ดีกว่าเหรอ
อันนี้วัดอื่นๆ เขาไม่ชอบ เคยมาหามาสู่ มานิมนต์ บอกว่า “ทำแบบไม่มีมหรสพเสียบ้าง”
“โอ้ย คนมันไม่มาหรอกถ้าไม่มีมหรสพ”
“แล้วไอ้ที่มาดูมหรสพนี่มันทำบุญเมื่อไรพวกนั้นนะ”
บอกว่า “มันมาดูมหรสพ มันไม่ได้ทำบุญ” แต่สมภารแกก็ไม่เข้าใจ เพราะไปติดอยู่ในแบบเก่าๆ ที่เคยกระทำกันมาอย่างนั้น ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง แล้วก็ไม่คิดเปลี่ยนแปลง มันก็ยุ่งกันอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา
ครั้งหนึ่งมีงานศพที่นครศรีธรรมราช พระที่สิ้นบุญนี่เป็นพระที่คนนับถือทั้งเมืองทีเดียว ท่านเป็นที่เคารพของประชาชนมาก ใจดี ไม่สะสมอะไร เวลาท่านถึงมรณภาพนี่ไม่มีปัจจัยเหลืออยู่แม้แต่บาทเดียว ในห้องที่ท่านนอนไม่มีอะไร สบงจีวรจะเหลือเป็นพิเศษสักผืนก็ไม่มี มีเฉพาะที่ท่านนุ่งท่านห่มเท่านั้นเอง นอกนั้นไม่มีอะไร ท่านตั้งสำนักเล่าเรียนบาลี เสียสละเพื่อการศึกษาตลอดเวลา อาตมาก็เคยไปเรียนอยู่ที่วัดนั้น ครั้นเมื่อจะทำงานศพ อาตมาก็ไป ไปก่อนงาน ๓ วัน ไปถึงก็เรียกประชุมพระที่เป็นผู้จัดงาน บอกว่า “ในงานของเรานี้ เราจะเชิดชูเกียรติท่านอาจารย์ อย่าเอาอะไรมาล่อคนให้มา ให้คนมาด้วยความเชื่อ ความเลื่อมใสในคุณงามความดีของท่านอาจารย์อย่างแท้จริงเท่านั้น”
เขาก็บอกว่า “อ้าว ตกลงเยอะแล้ว โรงหนังก็มี โรงลิเก โรงมโนราห์มีแล้ว”
“แล้วไปรับมาแล้วยังล่ะ”
บอกว่า “ยังไม่ได้ไปรับ จะไปรับทีหลัง”
บอกว่า “ไม่ต้อง ไม่ต้องมีอะไรทั้งนั้น ปลูกโรงไว้แต่ถ้าใครอยากจะมาแสดงก็แสดง แต่เราไม่จ่ายสตางค์ กับข้าวปูปลาก็ไปกินที่โรงครัว ให้มันไปกินเองไม่ต้องยกไปให้บำรุง” ตามปกติหนังตะลุงนี่เขาต้องยกข้าวไปให้ มโนราห์ก็ต้องยกไปให้ บอก “ให้มันไปกินถ้วยตัวเอง แล้วมันแสดงตามเรื่องของมัน เราไม่เกี่ยว” ตกลงอย่างนั้น บอกว่าไม่ต้องไปรับ ไม่ต้องเสียเงิน
ทีนี้เรื่องหนวกหูอีกเรื่องหนึ่ง คนขายของ วัดนั้นมันกว้างพอสมควร คนขายของก็มาเปิดร้าน เอาลำโพงมาทั้งนั้น ติดเครื่องขายของ เลยบอกว่าไปเรียกพวกขายของในวัดมาประชุม เรียกมา อาตมาบอกว่า “พวกคุณจะขายของได้ แต่ว่าคุณจะใช้เครื่องขยายเสียงในงานนี้ไม่ได้”
พวกนั้นก็บอกว่า “โอ้ ไม่ได้ครับ ขายของมันต้องติดเครื่อง”
“ทำไมจะต้องติดเครื่อง”
“ไม่ติดเครื่องพูดกันไม่ได้ยิน”
“เอ้ย ไอ้คนซื้อกับคนขายมันยืนจมูกจะชนกันอยู่แล้ว ทำไมจะพูดกันไม่ได้ยิน ไอ้ที่พูดไม่ได้ยินก็เพราะว่ามันใช้เครื่องหนวกหู ต่างคนต่างไม่ใช้ แล้วมันก็พูดกันได้สบายๆ มันไม่หนวกหู”
พวกนั้นก็หน้านิ่วคิ้วขมวด บอกว่าไม่ได้อย่างนั้นอย่างนี้ อาตมาเลยยื่นคำขาดเลยบอกว่า “คุณจะขายของหรือว่าจะเปิดเครื่อง ถ้าคุณจะขายของห้ามเปิดเครื่อง ถ้าเปิดเครื่องคุณไม่ต้องขายของ ยกของออกไปจากวัดเดี๋ยวนี้” มันจะไปอย่างไรมันขนของมาเยอะแยะแล้วนี่ แล้วก็ตกลงนะ พระเรามันแข็งเข้ามันก็ต้องเอาอยู่เหมือนกันนะ …… (22.51 เสียงไม่ชัดเจน) วัดก็เงียบ แล้วเครื่องขยายเสียงที่ใช้ในงานนี่อาตมาสั่งเด็ดขาดว่าห้ามเปิดเพลงประเภทใดๆ ทั้งหมดเลย เปิดได้เมื่อต้องการเรียกคนมาตักน้ำผ่าฟืน มาขนของไปเลี้ยงพระหรืออะไรอย่างนั้น นอกนั้นห้ามเปิดอะไรทั้งหมด นอกจากเปิดธรรมะให้เขาฟัง แต่นี่เราจัดอย่างไร งานมัน ๕ วัน ๕ คืน พอถึงหัวค่ำนี่นิมนต์พระมาเทศน์กัน ก็เทศน์ตามธรรมเนียมแหละ พระผู้เฒ่าผู้แก่ ว่ากันไปตามเรื่อง
เสร็จแล้วปาฐกถา อาตมาปาฐกถาเอง ๕ คืนนี่พูดเองคนเดียว พูดคนเดียว ยืนบนเมรุพูดให้คนฟัง ชั่วโมงครึ่งยืนตอบปัญหา คืนแรกไม่มีคนถาม ต้องสร้างปัญหาขึ้นเองแล้วอธิบายเอง พอคืนที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ อู้ ปัญหามาเยอะแยะ ยืนโรงตอบ ตั้งแต่ ๒ ทุ่มถึงเที่ยงคืน ๕ คืน โดยเฉพาะคืนสุดท้ายนี่คืนเผาศพ เขาเผาเที่ยงคืน ปาฐกถาจนกระทั่งถึง ๒๓ นาฬิกา แล้วก็บอกว่าจบกันทีญาติโยมกลับบ้านได้ ไม่มีใครกลับ นั่งกันเรียบร้อย บริเวณวัดไม่เอะอะ ไม่ชกไม่ต่อย ไม่วุ่นวาย ทั้งหมดนั่งกันสงบเรียบร้อยทั้ง ๕ คืนนะ
แล้วเขาก็ถามว่า “ทำไมไม่กลับ”
“ดูไฟ ดูไฟที่เขาเผา” เขาก็จุดเผาบนเมรุนั่นแหละ เผาศพเรียบร้อย คนก็นั่งดูอยู่จนสว่าง พอสว่างคนนั้นก็ลุกขึ้นมาเขี่ยเอากระดูกไปชิ้น คนนั้นมาเขี่ยเอาไปชิ้น
บอกว่า “เฮ้ย เอาไปทำอะไรกระดูกนั่น”
“เอาไปไว้บูชา” ว่าอย่างนั้น เอากระดูกไปไว้บูชา
บอกว่า “เอากระดูกไปทำไม เอาความดีไปดีกว่า ความดีก็เอากระดูกก็ต้องเอาเหรอ” แล้วมันขึ้นมาใหญ่เลย โอ้ ทำท่าจะแย่งกระดูกกัน มันก็แย่งกันทำ
บอกว่า “ไม่ได้ หยุด” เอาเจ้าหน้าที่มากั้นบันใด “หยุด ไม่ให้ขึ้น” ถ้าให้คนนั้นเขี่ยคนนี้เขี่ยก็วุ่นวาย คนเป็นพันเป็นอะไรมันยุ่ง บอกให้หยุดหมด ไม่เอา เสร็จแล้วญาติโยมก็กลับบ้าน
ปรากฏว่าผลที่ได้ในงานนั้น เงินสมัยนั้นนะ ๕ วัน ๕ คืนนี่ได้เงิน ๒๕๐,๐๐๐ บาท เงินสมัยนั้นนะโยม สมัยเมื่อ ๓๐ ปีมาแล้วนะ ได้ ๒๕๐,๐๐๐ บาทนี่มันไม่ใช่เล็กน้อยนะ แล้วข้าวสารที่เอามาช่วยในงานนะมันเต็มอยู่อย่างนั้น ไม่ได้ลดลงไปเลยทั้งที่คนกินมากมาย ข้าวสารเต็มอยู่อย่างนั้น เพราะคนเอามาให้ๆ มันเต็มอยู่อย่างนั้น ผักก็กองเป็นภูเขาเลากาอยู่อย่างนั้น ไม่ลดไม่ราเลย สมบูรณ์ทุกประการ กับข้าวปูปลากินกันอย่างสมบูรณ์เรียบร้อย คนก็มาก ไม่มีมหรสพเลย
แต่ว่าอีกวัดหนึ่งอยู่ตรงกันข้าม ถือโอกาสในการที่คนมาเที่ยวงาน เปิดรำวง กวักมือเปิดรำวง เปิดสนุกสนาน อาตมาก็เลยด่าไปตามไมโครโฟนว่า “เอ่อ ไอ้วัดที่มันอยู่ตรงกันข้ามนี่มันแย่มาก วัดนี้ตายวัดนู้นดีใจ รำวงกันสนุกสนาน” ว่าอย่างนั้นนะ “ให้พี่น้องคิดดูเถอะว่ามันเต็มบาทหรือไม่เต็มบาทไอ้พวกเหล่านั้นนะ” ว่าเสียหน่อย แล้วทีหลังบอกว่า “ท่านปัญญานี่น่าจะเตะอยู่บ้างเหมือนกัน” บอกว่า “อยากเตะก็มาเตะสิ” คือมันไม่ได้เรื่องนี่ มันไม่เอาเรื่องเอาราว
อย่างนี้เป็นตัวอย่างที่ว่าแก้ได้ ถ้าเราตั้งใจจะแก้ แต่ว่าไม่มีใครคิดแก้ แล้วก็แก้ให้ดูแล้วก็ยังไม่เอา ไม่สามารถจะทำให้ดีขึ้น คือที่ไม่สามารถจะทำนี่ เพราะว่าพระเหล่านั้นไม่ได้คิดในเรื่องจะเปลี่ยนแปลง ไม่ได้เตรียมตัวเพื่อการพัฒนาประชาชน ความรู้ความสามารถมีไม่พอ เลยไม่สามารถจะทำอะไรได้ เรามันต้องมีแผนไว้นานๆ ปีว่าเราจะทำอะไร ก็ต้องเปลี่ยนให้มันดีขึ้น ให้สิ่งทั้งหลายถูกต้องขึ้น เมื่อไปอยู่เชียงใหม่นี่ก็ได้เปลี่ยนได้ ก็เขาทำไปอย่างนั้นไม่มีใครคิดเปลี่ยน ใส่บาตรกลางดึก ตี ๑ ลุกขึ้นใส่บาตรกัน พระก็มาบิณฑบาตกันกลางดึก ทำไมเขาทำอย่างนั้น เขาบอกว่าวันเพ็ญพุธนี่วันพระอุปคุตขึ้นจากสะดือทะเล พระอุปคุตนี่ไม่ตาย ยังอยู่ อยู่ใต้ทะเล ไม่รู้จะฉันสาหร่ายหรือฉันอะไร อยู่ได้ แล้วพอถึงวันเพ็ญพุธนี่ก็ขึ้นมาบิณฑบาต
อันนี้มันมาจากพม่า พม่านี่เขานับถืออย่างนั้น พอถึงวันเพ็ญพุธเขานิมนต์พระไปฉันข้าวที่นึ่งกัน เคยไปฉันกับเขาคราวหนึ่ง คือไปพักย่างกุ้ง นอนหลับแล้ว สมภารมาดึงจีวรให้ลุกขึ้น แล้วบอกว่าไปๆๆๆ “ตัวๆๆ” ว่าอย่างนั้นนะ เลยต้องไป เอ้ ไปไหนกลางคืนดึกดื่นอย่างนี้ ไปถึงบ้านใหญ่โต บ้านเศรษฐีนะ พระนั่งฉันกันอยู่เป็นร้อย แล้วสมภารบอกว่า “ซึ่มซ่าๆ” (28.20) ซึ่มซ่าหมายความว่าฉันข้าว ไอ้เราจะไม่ฉันก็เดี๋ยวพม่าจะเขม่นเอา จะเตะเอาก็ได้นะ พระพม่านี่ใจร้อนไม่ได้หรอก ก็เลยต้องนั่งลงฉันพอเป็นกิริยาหน่อย ตักข้าวมาใส่แล้วก็ฉันไป นึกในใจว่าไม่ได้เรื่องเลยอย่างนี้ แล้วก็มาเชียงใหม่พบเรื่องนี้เข้า
ทีนี้พอขึ้นไปถึงเชียงใหม่ก็เจอเรื่องนี้ คิดว่าต้องแก้ จะให้คนหลงอยู่ไม่ได้ งมงายอยู่ไม่ได้ เลยคิดแก้ ก็ดูปฏิทินว่าเมื่อไรจะวันเพ็ญพุธ พอใกล้จะถึงวันเพ็ญพุธจึงเขียนลงหนังสือพิมพ์ พูดให้เห็นว่ามันผิดถูกอย่างไร แล้วก็ไปเทศน์วัดไหนก็พูดเรื่องนี้ พูดให้คนเข้าใจ เสร็จแล้วชาวบ้านนะพร้อมแล้ว เข้าใจแล้ว ยังเหลือแต่พระ เจ้าคณะจังหวัด ต้องไปหาท่าน แล้วก็บอกว่า “ไอ้ตักบาตรวันเพ็ญพุธนี่มันไม่ไหวหรอก ผิดวินัย”
“โอ้ย เป็นประเพณีเก่าเขาทำมาเมินแล้ว” ว่าอย่างนั้น “จะไปแก้ไขเขาก็หาว่าทำลายประเพณี”
บอกว่า “ประเพณีนี่ถ้ามันถูกก็รักษาไว้ได้ แต่ถ้ามันผิดเราควรจะไม่รักษาไว้”
ท่านบอกว่า “แล้วจะทำอย่างไร”
“เอ้า ผมจัดการเอง แต่เช้าเอามาแล้ว พิมพ์มาเรียบร้อยแล้ว” ส่งเข้าไปให้เซ็นแล้วส่งตามวัด เอารถจี๊ปคันหนึ่งวิ่งแจกทุกวัด แจกว่าไม่ให้ออกบิณฑบาต โยมเขาก็ไม่ออกมาใส่ พระก็ไม่ต้องออกไปบิณฑบาต แจกไว้
พอถึงคืนวันเพ็ญพุธ ได้ผล ไม่มีชาวบ้านตื่นใส่บาตรที่สี่แยกอุปคุตต่อไป แล้วก็ไม่มีพระออก มีออกมา ๒ องค์ จากวัดเมืองกาย อยู่นอกเมืองไปหน่อย หลวงศรีประกาศ ถีบรถจักรยานไปแถวนั้น เจอตุ๊เจ้า ๒ องค์
เลยถามว่า “อ้าว ตุ๊เจ้าจะไปไหน”
“ไปบิณฑบาตพระอุปคุตที่สี่แยกหน่อย”
“โอ้ บ่มีแล้ว เขาเลิกแล้ว กลับวัดเต๊อะ” พระก็กลับวัดไป เลยหมดกัน เดี๋ยวนี้เขาก็ไม่มีใส่บาตรพระอุปคุตแล้ว เพราะไปแก้ให้เขา ไปแก้ อะไรที่มันผิดเราต้องแก้ อะไรที่ถูกต้องรักษาไว้
ทีนี้มีสิ่งที่จะต้องแก้เยอะแยะในเรื่องวงการของพุทธบริษัทเรานี่ แต่ว่าไม่มีการแก้ไขปรับปรุงให้มันดีขึ้น เพราะกลัว ๑) กลัวจะเสียลาภเสียผลไป เพราะว่าอะไรต่ออะไรมันได้ปัจจัยอยู่บ้าง อาตมาไม่ชอบปัจจัยประเภทนั้น เลยคิดว่าต้องแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ตอนนั้นไปไหนก็มักจะพูดในทางแก้ไข เช่น งานศพ อะไรไม่ดีก็บอกว่าควรแก้ บวชนาคไม่ดีก็ควรแก้ อะไรที่มันไม่ถูกก็บอกให้แก้ บอกไปเรื่อยๆ ชาวบ้านที่มองเห็นไปด้วยเขาก็เลิกกันไป ไม่อยากจะทำอะไรให้มันเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะว่าญาติโยมชาวบ้านนี่ต้องการความถูกต้อง ต้องการความดีทั้งนั้นแหละ แต่ไม่รู้ว่าอะไรถูกต้อง ไม่รู้ว่าอะไรดี แต่นึกว่าที่ทำกันมานั้นมันถูกมันดี เพราะทำกันมานานแล้ว พระก็ไม่บอกให้ชาวบ้านรู้ ครั้นเมื่อเราไปบอกเข้า เขาก็รู้ขึ้นว่า “อ้อ อันนี้ไม่ถูก” แล้วเขาก็เปลี่ยนแปลงได้ เขาเปลี่ยนแปลงได้ ญาติโยมทั่วไปนั้นพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ถ้าเราพูดให้เขาเข้าใจ เขาก็ยอมเปลี่ยนแปลง
แต่สำคัญว่าผู้นำนี่ คือพระเรานี่ไม่พยายามที่จะปรับปรุงญาติโยม โยมเลอะเทอะเปรอะเปื้อนก็ปล่อยไว้อย่างนั้น ไม่จับโยมอาบน้ำเสียบ้าง ถูสบู่เสียบ้าง เพื่อให้สิ่งทั้งหลายถูกต้องขึ้น แล้วศาสนาจะไปรอดได้อย่างไร มันเป็นการทับถมพระพุทธศาสนาเสียเปล่าๆ เพราะฉะนั้นจึงต้องแก้ อาตมานี่มีอุดมการณ์อยู่ในข้อนี้ ไปไหนก็ต้องคิดแก้อยู่ตลอดเวลา
เมื่อวานนี้อุตส่าห์เดินทางไปจังหวัดสิงห์บุรี ไปที่วัดพิกุลทอง วัดพิกุลทองนี่เป็นวัดหลวงพ่อแพ มีชื่อ เรียกว่ามีงานปลุกเสกที่ไหนก็ติดบัญชีองค์หนึ่งเหมือนกัน มีชื่อมีเสียง แล้วท่านก็สร้างพระพุทธรูปใหญ่ หน้าตักกว้าง ๑๑ วา ๙ นิ้ว สูง ๒๑ วา ใหญ่โตมหึมา เห็นแต่ไกล ติดโมเสคสีทองสวยงามมาก ท่านมีงานทุกปี แต่ว่ามีมหรสพเต็มวัด มาปีนี้ท่านคิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้ ท่านจัดงานปีนี้ไม่มีมหรสพเลย แล้วก็ติดต่อมาทางผชป. (มูลนิธิเผยแพร่ชีวิตประเสริฐ) บอกว่าให้ไปช่วยเผยแผ่ธรรมะในงาน พวกผชป. ก็ยกกองกันไปเลย ท่านพยอมไป คุณถวิลไป คุณวิโรจน์ก็ไป ไปแสดงนิทรรศการบ้าง ไปพูดบ้าง อะไรต่ออะไรบ้าง
อาตมาได้ข่าวก็นึกว่า “อ้อ หลวงพ่อแพนี่เปลี่ยนเข็มทิศแล้ว ต้องไปช่วยหน่อย” ก็เลยไป ไม่บอกให้ใครรู้หรอก พารถไป ออกจากวัดกันไป ๒ ชั่วโมง ๑๕ นาทีก็ถึง เมื่อไปถึงก็ไม่ไปพบหลวงพ่อแพก่อน ขึ้นเวทีเลย พูดปาฐกถาให้ญาติโยมฟัง เพราะคนนั่งฟังอยู่ เจ้าคุณธรรม มาจากอินเดีย ท่านพูดอยู่ก่อน พอเห็นอาตมาเดินไปก็บอก “แหม เป็นบุญของญาติโยมแล้ว เจ้าคุณปัญญานันทะกำลังมา” โยมก็มองกันเป็นแถว อาตมาก็เดินไป แล้วท่านก็จบ อาตมาก็ขึ้นพูดอะไรให้ฟัง
เสร็จแล้วจึงไปเดินดูบริเวณที่ท่านสร้างไว้ ก็เรียกว่าใช้ได้ คือสร้างอย่างมีระเบียบ วางแผนดีสวยงาม บริเวณกว้างขวางถึง ๓๐ กว่าไร่ ปลูกต้นไม้ร่มรื่น แล้วไปขนหินก้อนใหญ่ๆ มาเที่ยววางไว้มากมายก่ายกอง วัดชลประทานแพ้เลย หินของเรามียังไม่มากเท่าใด ของท่านมีมาก ไอ้ลูกศิษย์ที่นำเที่ยวก็บอกว่า “วัดประเทศไทยนี่ไม่มีวัดไหนมีหินเท่าวัดนี้” ว่าอย่างนั้นนะ ไปคุยเรื่องหินมาก ไอ้เรื่องอื่นไม่คุย เขาว่ามีหินมาก บอกว่า “ที่วัดก็มีเหมือนกันแต่แพ้วัดนี้” ว่าอย่างนั้น “ต่อไปเห็นจะต้องหาแข่งกับวัดนั้นให้มันมากขึ้นหน่อยแล้ว” เอาวางไว้เรียบร้อย ต้นไม้ร่มรื่น ให้คนได้ไปนั่งพักผ่อน แล้วท่านซื้อที่ดินออกไปอีกเป็นเนื้อที่ ๑๐๐ ไร่ เพื่อกันไม่ให้คนมาสร้างบ้านใกล้บริเวณนั้น ให้เป็นทุ่งนา ให้คนทำนา ผลที่ได้ ๒ ส่วนให้ผู้ทำ ๑ ส่วนให้วัด จะได้เอามาเลี้ยงพระเลี้ยงเณร เพราะพระเณรมีอยู่ ๕๐ กว่ารูป มีสำนักเรียนภาษาบาลีด้วย
ได้ไปดูแล้วก็รู้สึกว่า “เอ่อ ดี ท่านเบนเข็มเข้าสู่ธรรมะแล้ว เราต้องไปช่วยท่านหน่อย” แล้วก็เลยไปพูดให้คนฟังได้เกิดความรู้ความเข้าใจ วันนี้เขาก็ยังอยู่ ยังพูดต่อวันนี้ เขาทำ ๒ วัน ไม่มีอะไร นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างหนึ่ง เพราะงานนมัสการพระนี่เป็นงานที่มุ่งไปในทางหาเงินแล้วก็มีมหรสพเต็มวัด ท่านบอกว่าไอ้พวกหนังพวกละครทั้งหลายมาหาเยอะ ท่านไม่รับ เพราะปีก่อนนี่บอกว่าไม่เอาอะไรจากหลวงพ่อ ฉายให้ฟรี บอกว่าถึงฟรีก็ไม่เอาปีนี้ เพราะว่าตั้งใจจะไม่เอาแล้ว พวกนั้นก็เลยเดินทางกลับไปเป็นแถวไป ผิดหวัง ไม่ได้ไปแสดงให้คนดู อย่างนี้ก็ใช้ได้ เรียกว่าหันหน้าเข้าหาธรรมะเพื่อประกาศธรรมะแก่ประชาชนต่อไป เอาพระองค์ใหญ่เป็นเครื่องล่อให้คนมา แล้วก็พูดธรรมะให้เขาฟัง ยังไม่ได้เรียนท่านว่า ควรจะเอาเทปไปไว้ พอคนมาก็เปิดเทปเรื่อยไปๆ ให้มันดังๆ ไว้คนจะได้ยิน เพราะคนนักเที่ยวนักทัศนาจรก็มักจะแวะมาไหว้พระองค์ใหญ่ ถนนหนทางไปมาสะดวก คนก็ไป แล้วก็ทำให้มันดีขึ้น
งานวัดพระบาทนี่เก่ง ทำปีหนึ่ง ๒ ครั้ง พระบาทนี่คนมากจริงๆ ฝุ่นเต็มหมด เครื่องขยายเสียงนี่ก้องไปหมดจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อาตมาเคยไป คืออยากจะไปดูหรอก ไปดูว่าเขาทำอย่างไร ก็มีแต่เรื่องปิดทองพระบาท ขายธูปขายเทียน แล้วก็มีการออกร้านขายของเต็มไปหมดในบริเวณ คนก็มาก คนเป็นหมื่น กลางวันก็มาก กลางคืนก็มาก แต่ว่าไม่มีเสียงธรรมะดังออกไปจากบริเวณนั้น มีแต่เสียงตะโกนขายของ มีแต่เสียงดนตรี พูดแล้วก็เรียกว่ามีแต่เสียงมาร ไม่มีเสียงพระ …… (37.58 เสียงไม่ชัดเจน) คนไม่มาหาพระ แต่แทนที่จะพบพระกลายเป็นพบมารไป
อาตมาจึงบอกญาติโยมว่า ถ้าจะไปไหว้พระบาทนี่อย่าไปเวลาเขามีงาน เพราะถ้าไปเวลามีงานแล้วท่านจะได้แต่ขี้ฝุ่นกลับมา คือฝุ่นมันมาก คนเดินไปฝุ่นฟุ้ง เราก็หายใจเข้าไปได้เชื้อโรคกลับบ้าน ไม่ได้บุญได้กุศลอะไร ถ้าจะไปไหว้พระบาท ไอ้เวลาเขาไม่มีงาน เราไปดูว่าพระบาทนี่เขาทำอย่างไร ไม่ใช่รอยพระพุทธเจ้าหรอก เขาสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าทรงธรรมท่านสร้างขึ้นไว้ เพราะว่าพระเจ้าทรงธรรมนี่ท่านเป็นพระ แต่ว่าลูกชายนี่ไปทำรัฐประหาร ลูกบุญธรรมไม่ใช่ลูกแท้ ไปทำรัฐประหาร อันนี้เมื่อทำแล้วไอ้ตัวเองจะไปเป็นใหญ่ คนมันไม่นิยม ก็เลยหาคนที่ให้คนนิยม ก็ไปสึกหลวงพ่อมา ให้มาเป็นพระเจ้าแผ่นดินชื่อ พระเจ้าทรงธรรม
คนมันก็ซุบซิบนินทากันว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ฆ่าพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อน แล้วมาแย่งราชสมบัติ นั่นเสียงมันไม่ค่อยดี เสียงซุบซิบไม่ค่อยจะดี ท่านก็คิดว่าต้องแก้ปัญหาให้มีสิ่งที่เป็นบุญเกิดขึ้น ก็ส่งคนไปทำรอยพระบาทไว้ที่นั่น แล้วก็ให้นายพรานบุญไปพบ เป็นเรื่องมหัศจรรย์ แล้วท่านก็เสด็จไปสร้างมณฑปพระพุทธบาท เสด็จไปเป็นพิธีมาจนกระทั่งทุกวันนี้ นี่เรื่องพระเจ้าทรงธรรม พระพุทธเจ้าไม่เคยเสด็จมาเมืองไทยหรอก พระบาทนี้เขาทำขึ้นในสมัยที่ไม่มีพระพุทธรูป ให้คนได้กราบไว้ ได้ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า
พระบาทที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้นมี ๓ รอย รอยศีล รอยสมาธิ รอยปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเป็นรอยพระบาทแท้ที่เราควรจะเดินตาม ถ้าเรารักษาศีลเราก็เดินตามพระบาทคือศีล เจริญสมาธิก็เดินตามรอยพระบาทคือสมาธิ เจริญปัญญาก็เรียกว่าไหว้พระบาทคือปัญญา ไม่ต้องไปไหว้พระบาทอย่างนั้น แต่ว่าจะไปดูได้ ดูภูมิประเทศ แต่ว่าการจัดยังไม่ดี วัดพระบาทนี่วางแผนไม่ดี มันควรจะเป็นสวนร่มรื่นบริเวณนั้น สมัยที่ไปตั้งนิคมพระพุทธบาทนี่ไม่ได้วางแผนไว้ให้วัดพระบาทเป็นป่าธรรมชาติ เลยกลายเป็นพระบาทวัดสามปลื้มไป วัดสามปลื้มก็มีพระบาทเหมือนกัน แต่ว่าผิดกันที่วัดสามปลื้มมีจระเข้เท่านั้นเอง ที่โน่นไม่มี นี่เรียกว่าไม่สงวนธรรมชาติให้เป็นป่าร่มรื่นไว้ ไปทำลายเสียหมด ไม่ได้สงวนไว้ นี่เป็นความผิดของรัฐบาลที่ไม่มีหัวในเรื่องรักษาธรรมชาติ
ท่านพุทธทาสท่านเคยไป สมัยไปยาก แล้วเขียนนิราศไว้เรียกว่า นิราศลพบุรี น่าฟังนิราศนี้ ไม่เหมือนนิราศธรรมดา ไอ้นิราศธรรมดานี้เขาว่าจากคนนั้นคนนี้ ท่านขึ้นว่า “นิราศเราไม่รักไม่พักฝืน จะไปไหนไปง่ายเหมือนลูกปืน หากแต่กลางวันกลางคืนเหมือนกันไม่ผันแปร” เรียกว่าไม่นิราศโหยหวน จากบ้านจากเมืองแล้วคิดถึงแฟน อะไรนั่นไม่มีอย่างนั้น แต่ท่านบอกว่านิราศเราไม่รักไม่พักฝืน คือไปไหนไปง่ายเหมือนลูกปืน ยิงปุ้งแล้วก็ไปเท่านั้นเอง แล้วท่านมีธรรมะในนิราศทั้งนั้น น่าอ่าน เป็นเรื่องน่าอ่าน ไปเห็นลิงเผือก บอกว่าลิงมันเผือก มันสู้คนเผือกไม่ได้ ไม่ใช่เผือกที่ผิว มันเผือกที่ใจอะไรอย่างนั้น เป็นธรรมะทั้งหมดเลย ท่านนั่งเขียนไปเรื่อยๆ ตลอดทางที่ไปพระพุทธบาทอย่างนั้น
ท่านไปเห็นเข้าแล้วบอกว่า มันควรจะรักษาธรรมชาติรอบพระบาทไว้ไม่ให้เตียนโล่งไปหมด แล้วไม่ควรให้ตลาดเข้าไปใกล้พระบาท ให้เป็นป่าที่เยอะแยะ ที่วัดพระบาทมีมากมาย คนที่ไปทำไร่ปลูกข้าวโพดนั้นมันที่พระบาททั้งนั้นนะ สมภารแกฟ้องชนะทุกรายนะ ชนะเพราะอะไร อ้างพระราชกฤษฎีกาของพระเจ้าทรงธรรมที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดาร ว่าพระพุทธบาทอยู่กลางนี่ไปทิศเหนือกี่กิโล ทิศใต้เท่าไร ทิศตะวันตกทิศตะวันออกเท่าไร ที่ดินที่อยู่ในเขตพระราชกฤษฎีกานั้นเป็นของวัดทั้งนั้น บางคนก็แหม สู้นะ สู้กับวัดนะ แพ้ทุกๆ ศาลนะ แพ้เรื่อยถึงศาลฎีกา สู้ไปสัก ๔ – ๕ คน แล้วเหลือทีหลังบอกว่าไม่สู้แล้วขอเช่าดีกว่า สู้ก็ไม่ได้ เลยต้องเช่าจากวัดทั้งนั้นที่บริเวณนั้น แต่นี้สมัยก่อนนี่ไม่ได้จัดไว้ให้เป็นวนอุทยานรอบวัด คนไปแล้วจะได้ร่มรื่น จะได้นั่งพักผ่อนสบายๆ จิตใจจะได้สงบ เดี๋ยวนี้มันโล่งไปหมด ร้อนก็ร้อนเพราะต้นไม้ไม่ค่อยจะมี นี่คือว่าเราไม่รักษาธรรมชาติ จึงไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร
ญาติโยมไปไหว้พระบาทไปไหว้พระฉาย ไปไหว้ที่ไหนก็ไปเถอะแต่ว่าให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไปไหว้ให้มันถูกเรื่อง ไม่ใช่ไปไหว้ด้วยความงมงาย บางคนบอกว่าไปไหว้พระบาท ๗ ครั้งแล้วไม่ตกนรก คือว่าไปไม่ถึง ๗ ครั้งแต่ถ้าไปถูกมันไม่ตกนรกหรอก คือถ้าเราไปแล้วเราไปนึกถึงพระพุทธเจ้า เห็นรอยแล้วเรานึกถึงรอยแท้รอยจริงของพระพุทธเจ้า นึกถึงศีล สมาธิ ปัญญา แล้วเอาศีล สมาธิ ปัญญามาปฏิบัติ ไม่ตกนรก เพราะมีธรรมะเป็นหลักครองใจ แต่ถ้าไปไหว้แล้วอย่างนั้นๆ มันก็ไม่ได้เรื่องอะไร ไหว้สักพันครั้งมันก็เท่าเดิมแหละไม่ได้อะไรคุ้มค่าเท่าใด
เมื่อไปพักอยู่ที่วัดอุโมงค์ เชียงใหม่ มีโยมชาวบ้านลำปาง บ่อแฮ้ว เรียกว่าบ่อแฮ้ว ...... (44.37 เสียงไม่ชัดเจน) เล็กๆ ก็พาลูกพาเมียขึ้นดอยสุเทพ เดินขึ้นไป ขาลงก็เดินลงมา มาเจอคนเข้า เขาบอก “เอ้า ไปไหนมา”
“ไปไหว้ธาตุสุเทพ”
“อือ ที่วัดตรงโน้นมีพระมาอยู่ใหม่ ลองไปเยี่ยมท่านบ้างสิ”
แกก็มา มาถึงก็บอกว่า “โอ้ย มาไหว้พระธาตุ ขาขึ้นก็เหนื่อยจ้าดนัก ขาลงก็เหนื่อยจ้าดนัก จะได้อะหยังก็บ่ฮู้” ว่าอย่างนั้นนะ แกบอกว่าจะได้อะไรก็ไม่รู้
แล้วถามว่า “ไปไหว้อย่างใด”
“ก็จุดธูปจุดเทียนไหว้ไปตามเรื่อง”
“แล้วรู้สึกว่าอะไรมันดีขึ้นบ้างในใจ ได้อะไรบ้างล่ะ”
บอกว่า “นี่แหละเป็นปัญหา ไม่รู้ว่าได้อะไร”
เลยอธิบายให้ฟัง อธิบายให้เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร พออธิบายให้เข้าใจแล้วบอกว่า “อ้อ รู้อย่างนี้ไม่ต้องมา นั่งไหว้อยู่ที่บ้านก็ได้” ว่าอย่างนั้นนะ ไม่ต้องเหนื่อยกระดูกต่อไป แล้ววันหลังแกก็นิมนต์ไปที่บ่อแฮ้ว ที่บ้านแกนะ บอกว่านิมนต์แล้วพาชาวบ้านมาฟัง บอกว่า “ท่านเจ้าองค์นี้พูดได้เข้าใจได้เรื่องได้สาระให้มาฟังกัน โยมคนนั้นแกได้ของดีแล้วไปบอกเพื่อนให้มารับของดีต่อไป ให้ได้ฟังสิ่งถูกต้องต่อไป มันเป็นอย่างนี้
แต่นี่เวลาขึ้นไปไหว้พระธาตุนี่ พระที่อยู่บนพระธาตุไม่ใช่นักเผยแผ่ธรรมะสักองค์เดียว คิดแต่เรื่องจะเอาสตางค์จากโยมทั้งนั้น ขายธูปขายเทียนขายทอง ติดเท่าใดๆ มันก็ไม่ได้เรื่องหรอก ทับกันลงไปๆ จะปิดทำไมนักหนา ที่จะปิดทองที่ใจญาติโยมไม่มี มีแต่ให้โยมปิดทองเจดีย์ แล้วก็มีพระเครื่องอะไรต่ออะไรแจกขายกันไปตามเรื่อง โยมที่ไปก็เลยไม่ได้อะไรกลับมา เพราะว่าวัดพระธาตุนี่ความจริงดีมาก ดึงดูดคนให้มา มาทั่วสารทิศ มาไหว้ แต่ว่าพระที่อยู่นั้นไม่มีการเผยแผ่ธรรมะ ไม่สอนคน ไม่พูดให้คนรู้คนเข้าใจ เอาแต่ล้วงกระเป๋าเขาท่าเดียว อย่างนี้มันก็ไปไม่รอด ต่อไปนี่มันก็จะแย่ลงไปทุกวันทุกเวลา นี่คือไม่ถูกต้อง
เคยไปบอกท่านสมภาร ท่านก็คุ้นกัน บอกว่า “ใต้เท้าครับ ใต้เท้ามาเป็นสมภารวัดพระธาตุนี่ควรทำอะไรให้มันเกิดประโยชน์บ้างนะ”
ถามว่า “ทำอะไร”
“ก็เผยแผ่ธรรมะกับคนที่มาเสียบ้างสิ อย่ามัวแต่ไปล้วงกระเป๋าเขาตลอดเวลา”
ท่านก็บ่นกระปอดกระแปดว่า “มันยาก ไม่มีคนจะทำ ไอ้คนขายทองนั้นมันหาง่าย ไอ้คนขายธรรมะนี้มันหายาก” เลยก็ไม่คิดทำกัน มันก็อยู่อย่างนั้น คนมันก็ไม่ดีขึ้น นานๆ ก็จะเสื่อมเพราะเราไม่คิดเผยแผ่ธรรมะ นี่คือความจริง แล้วก็มีทั่วไปตามปูชนียสถานต่างๆ ไม่มีใครคิดเผยแผ่ธรรมะกับคนที่มา ให้มาอย่างหลับหูหลับตา กลับไปอย่างหลับหูหลับตาไม่ได้อะไร ไปอย่างนั้นมาอย่างนั้น ไม่ได้อะไร ไหว้อย่างใดก็ไหว้อยู่อย่างนั้น ทำอย่างใดก็ทำอยู่อย่างนั้นไม่พัฒนา อันนี้ไม่ถูก
พระพุทธเจ้าของเรานั้นเป็นนักปฏิรูป อะไรที่มันไม่ดีทรงเปลี่ยนแปลง ทรงแก้ไขให้มันดีมันงามขึ้น ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอินเดียที่มันรุ่มร่ามรุงรัง ไม่เป็นประโยชน์ พระองค์ก็จัดแก้ไขปรับปรุงทำให้ดีขึ้นหลายอย่างหลายประการ เราพึ่งรอยแห่งพระบิดา แต่ว่าไม่เดินตามรอยเท้าพระองค์ แต่ไปเดินนอกทาง เดินเพื่อลาภเพื่อสักการะ ไม่ได้เดินทางที่ถูกที่ชอบที่พระพุทธเจ้าสอนให้เดิน อ่าว มันยุ่งอย่างนี้ อันนี้น่าคิด อาตมาไปที่ไหนๆ ก็คิดว่ามันไม่ควรจะอยู่อย่างนี้ ควรจะแก้ไขควรจะปรับปรุง อย่าให้คนมันหลงกันอยู่ เช่นว่าไปไหว้ด้วยการจุดประทัดนี่ จุดกันทุกวัน หนวกหูจะตาย แล้วทำไมไม่แก้ ไม่บอกเขาเสียใหม่ว่ามันไม่ถูกต้อง คนเขาก็จะได้เปลี่ยนความคิดไป เขาก็คงมานะถ้าเราให้ของดีแก่เขา ของดีแท้ๆ นะ ไอ้นี้เราให้ของดีจอมปลอม ไม่ให้ของแท้ ของปลอมนี่มันจะได้ไปได้กี่น้ำ มันไปไม่ได้เท่าใด เป็นเรื่องน่าคิด …… (49.18 เสียงไม่ชัดเจน) อย่างดี
พิธีกรรมต่างๆ ในทางศาสนานั้น ถ้าเราทำให้เกิดประโยชน์ ก็จะเป็นคุณเป็นค่าแก่พระศาสนา แต่ถ้าเราไม่คิดแก้ไขทำให้เกิดประโยชน์ในทางธรรมะ มันก็ไม่เกิดอะไร นอกจากเกิดความงมงาย เกิดความหลงผิด เกิดความเข้าใจผิดกันอยู่ด้วยประการต่างๆ เหมือนคนแย่งหวายกันในงานนั้น แย่งกันไปแย่งกันมาไม่รู้จักจบหรอก ที่วัดนี้คราวผูกพัทธสีมานี่เก็บหวายไว้ ญาติโยมนั่งกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ไม่กลับบ้าน อาตมาเที่ยวเดินถาม “อ้าว โยมทำไมไม่กลับบ้าน”
“อยากได้หวาย”
ถามตรงไหนก็อยากได้หวาย เลยติดเครื่องเรียกประชุม “อ้าว ใครอยากได้หวายเชิญมานี่” นั่นมากันพร้อม เลยถามว่า “โยมอยากได้หวายเหรอ”
“จ้ะ”
“เอาไปทำอะไร”
“เขาว่าดี”
“ดีอย่างไร”
“ไม่ทราบ”
“อ้าว นี่ไม่รู้ว่าดีอย่างไรแล้วจะเอา” ถามโยมต่อ “โยมต้องการหวายไหม”
“ต้องการ”
“เอาไปทำอะไร”
“เขาว่าเอาไปผูกไว้ที่บ้านขายของดี”
“โยมเอาหวายผูกแล้วโยมนั่งหน้าบอกบุญไม่รับ ขายดีไหม”
“มันไม่ดีหรอก ต้องยิ้มกับเขาบ้าง” ว่าอย่างนั้นนะ แล้วก็ถามคนโน้นคนนี้ต่อไป หลายคนนะ ถามเสร็จแล้วเลยเทศน์ให้ฟัง พออธิบายสักชั่วโมงเทศน์ให้ฟังนี่ พอจบแล้วโยม “สาธุ หายโง่กันเสียที” ว่าอย่างนั้น โง่กันมาหลายสิบปีแล้ว วัดไหนผูกพัทธสีมาต้องการไปเอาหวาย ได้มาตั้งหลายอันแล้ว เอามาเก็บๆ ไว้เท่านั้นแหละ เหมือนกับเด็กเก็บลูกหินไว้เล่นอย่างนั้น เก็บไว้เป็นท่อนๆ เลยบอกว่า “แหม สาธุ หายโง่เสียที” ว่าอย่างนั้นนะ มันก็ดีขึ้นเราอธิบายให้ฟัง คนก็ไม่ต้องการอย่างนั้นต่อไป
แต่ว่าที่ไม่แก้นี่เพราะหลักตัวเดียว ต้องการปัจจัยเงินทอง ค่าหวายนี่มันแพงนะ ในวัดๆ หนึ่งผูกพัทธสีมาแล้วคนก็แย่งโน้นแย่งนี้ พระองค์หนึ่งอุตริจับไมโครโฟน เขาบอกว่า “ไม้รั้วไก่นั้นดีเหมือนกัน เอาไปปักไว้ที่บ้านป้องกันเสนียดจัญไร” เรียบ ไม่มีเหลือสักอันเดียว คนแย่งกันถอนไปหมด ทั้งไม้ก็ไม่เหลือเลย เอ้อ นี่แหละคนมันตื่นเต้นไม่เข้าเรื่อง เขาเรียกว่าตื่นไม่เข้าเรื่อง หลับตาตื่น ไม่ลืมตาตื่น พอเขาพูดอะไรก็เอาทั้งนั้น แย่งเอาไม้รั้วไก่ไปหมดไม่เหลือสักอันเดียว เป็นอย่างนี้
อันนี้เราชอบส่งเสริมสิ่งเหลวไหลให้คน ชอบส่งเสริมความไม่มีปัญญา ไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจ มันจะดีขึ้นได้อย่างไร พุทธบริษัทจะเป็นผู้รู้ได้อย่างไร เป็นผู้ตื่นได้อย่างไร เป็นผู้เบิกบานได้อย่างไร เมื่อเราไม่สอนให้เขารู้ ไม่สอนให้เขาตื่น ไม่สอนให้เขาเบิกบานในทางที่ถูกที่ชอบ มันก็งมงายกันอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป มันเกิดความเสียหาย ได้ทราบว่าท่านพยอมนี่ไปเทศน์ที่โรงเรียนคณะแห่งหนึ่ง พอเทศน์จบแล้วผู้อำนวยการบอกว่า “ทีหลังท่านมาผมไม่รับรองความปลอดภัย” ว่าอย่างนั้น แสดงว่าอาจารย์นั้นไม่ชอบท่านพยอม เพราะว่าไปเทศน์เรื่องติเรื่องเครื่องรางของขลัง เรื่องเหลวไหล แกมันยังเชื่อสิ่งเหลวไหลอยู่ เลยบอกว่า “ถ้าท่านมาทีหลัง มีอะไรเจ็บเนื้อเจ็บตัว ผมไม่รับรองนะ” เหมือนกับรู้นะ แทนที่จะพูดว่า “แหม ท่านมาช่วยเปิดหูเปิดตาพวกผม ดีเหลือเกิน” ไม่ว่าอย่างนั้น แปลว่าไม่มีหูจะฟัง ไม่มีใจจะคิด ไม่มีตาจะดู มีแต่ความปิดตา ปิดหู ปิดใจ หลับหูหลับตาเชื่อสิ่งเหลวไหลอยู่ตลอดเวลา พอพระไปพูดเข้า บอกว่าจะไม่รับรองความปลอดภัยเสียแล้ว ว่าอย่างนั้น มันเป็นเสียอย่างนี้
อันนี้มันก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าเราในสมัยนี้เป็นอยู่อย่างนี้ แล้วก็ช่วยกันส่งเสริมแต่เรื่องความเขลาความงมงายของประชาชนในรูปแบบต่างๆ ไม่คิดแก้ไขทำให้ดีขึ้น พระพุทธเจ้าของเราเกิดขึ้นเพื่อทำลายสิ่งเหล่านี้ ทำลายไสยศาสตร์ ทำลายความเชื่องมงายทำลายอะไรหลายอย่างไม่ให้มีอยู่ในจิตใจ แล้วมันก็สบาย คนเรานี่ถ้าไม่มีความเชื่อเหลวไหลนะใจมันสบาย ทำอะไรก็สบาย ไม่ต้องวิตกกังวลอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าไปเที่ยวเชื่ออะไรแล้ว “โอ้ ไม่ได้ทำอย่างนั้นไม่ได้ทำอย่างนี้” มันก็เป็นทุกข์ ไม่สบายใจด้วยประการต่างๆ เพราะอย่างนั้นต้องเที่ยวถามเขาว่า “ควรอย่างนั้นควรอย่างนี้ไหม”
โยมบางคนเอาพระพุทธรูปไปบ้าน มาถามว่า “จะเอาพระพุทธรูปหันหน้าไปทางไหนดี”
บอกว่า “มันทิศไหนก็ได้สุดแล้วแต่สะดวกสิ ดูบ้านเราสิจะหันไปทิศไหน”
“เขาว่าต้องวางหันหน้าไปทิศตะวันออก”
“แล้วถ้าสมมติว่าด้านทิศตะวันออกมันเป็นฝา ไม่เอาพระพุทธรูปหันเข้าฝาหรืออย่างไร มันต้องหันหน้าออกมา อย่างนี้ถึงจะเป็นการถูกต้อง” วัดนี้พระพุทธรูปหันหน้าไปทิศตะวันตก ในโบสถ์นั่น โยมเข้าไปดูสิ พระพุทธรูปในโบสถ์หันหน้าไปทิศตะวันตก ไม่ได้หันหน้าไปทิศตะวันออก พระพุทธเจ้าท่านนั่งหันหน้าทุกทิศแหละ ทิศนั้นบ้างทิศนี้บ้าง พระองค์ไม่ได้ถือทิศอะไรหรอก ไม่ได้ว่าต้องนั่งทิศนั้นนั่งทิศนี้ มันเป็นความงมงาย เรามีพระพุทธรูปวางไปด้านไหนก็ได้ สุดแล้วแต่ความสวยงาม ความเหมาะสมของบ้าน ไม่ต้องถือว่าต้องทิศนั้นต้องทิศนี้อะไรหรอก
แล้วเรามีพระไว้ในบ้านนี่เพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อให้พระช่วยเรานะ แต่เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้เราได้เห็นพระ แล้วเราจะได้นึกถึงพระธรรมคำสอนของพระ แล้วจะได้เอาธรรมะนั่นแหละมาเป็นเครื่องชุบย้อมจิตใจของเราให้ดีให้งามขึ้น ให้เราประพฤติถูกต้องตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างนี้จึงจะมีพระเป็นประโยชน์ ไม่ใช่มีไว้แล้วจะขลังจะศักดิ์สิทธิ์ บางคนอยากได้พระเชียงแสน บางคนอยากได้สุโขทัย บางคนอยากได้อยุธยา อะไรอย่างนั้น บ้านไหนมีพระ ๓ องค์ อู่ทอง เชียงแสน สุโขทัย เขาว่าบ้านนั้นดี แต่ถ้าบ้านนั้นเป็นเจ้าของบ่อนการพนัน สุโขทัย เชียงแสน อู่ทองมันจะดีได้อย่างไร เมื่อเอาบ่อนผีเข้าไปไว้ในบ้าน มันก็ไม่ดีอะไร มันดีตรงที่เราทำดี ไม่ใช่ดีตรงที่พระนั้นพระนี้
เรามีพระอะไรก็ได้ถ้าทำเป็นรูปพระ สมมติว่าเป็นพระ แล้วเราก็มองท่านด้วยปัญญา มองแล้วเอาคำสอนมาเป็นหลักปฏิบัติคุ้มครองจิตใจ เราจะไปไหนเราไปกับพระ ไปกับพระก็ไปด้วยความรักเพื่อนมนุษย์นะ ไปด้วยความปัญญา ไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ เราไม่ไปด้วยความเกลียดชังใคร ถ้าเราแบกปืนจะไปฆ่าคน ใครมีพระห้อยคอร้อยองค์มันก็ไม่ได้ไปกับพระ มันไปกับผี มันจะไปฆ่าเขา จะไปปล้นเขา จะไปทำร้ายเขา คนไม่มีพระ อย่างนั้นคนไม่มีพระ แต่ถ้าเราลงจากบ้าน ไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เพื่อนมนุษย์ เรียกว่าเรามีพระ เราไปด้วยปัญญา เราไม่ไปบ่อนการพนัน เราไม่ไปโรงสุราเมรัย บาร์ไนท์คลับ แต่เราไปสถานที่ที่ดีงามถูกต้อง ประพฤติตนเรียบร้อย นี่เราไปกับพระ เราเป็นคนมีพระ คนมีพระก็เจริญ คนไปกับผีมันก็เสื่อม เกิดความทรุดเกิดความเดือดร้อน เรามีพระมีเพื่ออย่างนี้ พระองค์เล็กเอามาห้อยคอก็เพื่อเตือนใจไม่ให้เราลืมคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้เราได้ปฏิบัติถูกต้องตามคำสอน หลักมันเป็นอย่างนั้น ขอให้ญาติโยมได้เข้าใจไว้อย่างนี้
พูดมาก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที