แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[00:00] โยม พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา ก่อนที่จะได้มีการแสดงปาฐกถา เราได้พร้อมใจกันสวดมนต์ หรือเรียกว่าทำวัตร ทำวัตรก็คือ ทำจิตนั่นเอง วัตรในที่นี้ก็หมายถึงจิตอันเราควรจะทำ เป็นประโยชน์แก่ชีวิต ประโยชน์แก่ตนแก่ท่าน เรียกว่าเป็นกิจวัตร การสวดมนต์นี่เป็นกิจวัตรอย่างหนึ่ง การนั่งภาวนาก็เป็นกิจวัตร การมาวัดในวันอาทิตย์ หรือมาในวันพระก็เรียกว่าเป็นกิจวัตรอย่างหนึ่ง อันการสวดมนต์นั้น เรามาท่องคำสอนเพื่อให้จำได้ขึ้นใจ จะได้เอาไปคิดนึกในชีวิตและจะได้หยิบเอามาใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันต่อไป
ทีนี้ในการสวดนี่ ก็ต้องสวดอย่าเร่งเกินไปเพราะว่าคนที่ยังไม่แก่นี่สวดไว คนแก่ก็วิ่งตามไม่ไหว อ่า...ชักจะหอบไปตามๆ กัน ฉะนั้นสวดช้าๆ จบลงไปวรรคหนึ่งก็หายใจกันซักทีหนึ่ง คือหายใจเข้า เสร็จแล้วหายใจออกก็สวดต่อไป จังหวะมันก็จะเท่าเทียมกัน อันนี้นะจบลงไปตอนหนึ่ง เราก็หยุดพักนิดหนึ่งเพื่อจะได้ขึ้นหน้าใหม่ต่อไป หรือว่าขึ้นหน้าใหม่นี่ คนที่มาใหม่ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน หัวหน้าก็ต้องคอยบอกให้รู้ บอกว่าเปิดหน้าที่เท่านั้น ก็ต้องรอซักนาทีหนึ่งเพื่อให้ผู้ที่มาใหม่จะได้เปิดหน้าหนังสือทัน แล้วก็ว่าตามกันต่อๆ ไป อันนี้จะเป็นประโยชน์ในการสวดมนต์ในชีวิตประจำวัน การสวดมนต์บ่อยๆ ก็เท่ากับนึกถึงบ่อยๆ ในคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็จะได้นำไปใช้ในชีวิตต่อไป ซึ่งเวลาใดเรากลุ้มอกกลุ้มใจขึ้นมา เราก็มานั่งสวดมนต์เสีย ใจก็มานึกถึงเรื่องที่สวด ไม่นึกถึงเรื่องที่กลุ้ม ความกลุ้มนั้นก็จะเหือดหายไป
อ่า...เป็นเรื่องที่ให้ประโยชน์แก่ชีวิต หรือว่าเราจะยกบทที่เราสวดนั้นบทใดบทหนึ่งขึ้นมานั่งพิจารณาเช่นเวลาสวดว่า “รูปังอนิจจัง” รูปไม่เที่ยง “เวทนาอนิจจา” เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยงนี่ เราจำได้ไหมเล่าว่าได้ แต่ว่าเราอาจจะยังไม่เข้าใจว่ามันไม่เที่ยงอย่างไร อันนี้เราต้องยกมานั่งพิจารณา เช่น เรื่องของรูปนี่ เราก็ต้องรู้ว่ารูปคืออะไร เวทนาคืออะไร สัญญาคืออะไร สังขารคืออะไร วิญญาณคืออะไร 5 อย่างนี้ในภาษาธรรมะท่านเรียกว่า ขันธ์ 5 ขันธ์นั้นแปลว่ากอง 5 ก็คือจำนวนห้า ขันธ์ 5 ก็แบบคือ กอง 5 กอง ไอ้ห้ากองนี้ก็อยู่ในตัวเรานี้เอง เพราะว่าตัวเรานี้ประกอบขึ้นด้วยสิ่ง 2 ประการก่อน เขาเรียกว่า รูปกับนาม รูปเป็นร่างกายทั้งหมดตั้งแต่ปลายผมถึงปลายเท้า ยาววาหนาคืบกว้างศอก นี้เป็นเรื่องของรูป เป็นวัตถุ เกิดขึ้นจากวัตถุ มีประการต่างๆที่เราเรียกว่า ดิน น้ำ ไฟ ลม ผสมปรุงแต่ง แล้วก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา รูปร่างกายนี้มีแต่คนทุกคน หรือว่าในรูปนี้มันมีนาม นามคือเกี่ยวกับใจ นามก็คือใจ มีหน้าที่นึกคิดกำหนดจดจำในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ ชีวิตของคนเราจึงเรียกว่า “นามรูป” หรือ รูปนาม แต่ในภาษาบาลีท่านใช้คำว่า
“นามรูป” ที่เอานามขึ้นหน้าก็เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ คือ เรื่องใจนี้มันสำคัญกว่าร่างกาย ความเจ็บความคิดอะไรต่างๆ มันเกิดที่ใจ ไม่ได้เกิดที่ร่างกาย
[05:33] ใจเป็นที่คิด เป็นผู้ปรุงแต่งเรื่องนั้นๆ ขึ้นมาจนเผลอว่าใจเป็นผู้นำในชีวิต เป็นเรื่องสำคัญของชีวิต จึงเอาคำว่านามขึ้นหน้าแล้วก็รูปตามมา แต่ความจริงรูปกับนาม หรือนามกับรูปนี้ก็ต้องอาศัยกันเป็นไป เหมือนคนกับเรืออาศัยกันเพื่อข้ามฟาก ไม่มีเรือก็ต้องว่ายน้ำป๋อมแป๋มไปก็ลำบาก ร่างกายนี้เป็นเหมือนกับเรือ ใจเหมือนกับนายเรือที่จะสั่งกายให้เป็นไปในรูปต่างๆ การเดินการนั่ง การเคลื่อนไหวอิริยาบถ เป็นคำสั่งของใจทั้งนั้น คำสั่งนี้เกิดจากส่วนสมอง สมองมีหน้าที่ประกอบกันขึ้นเป็นใจ เป็นความคิด แล้วก็สั่งงานไปให้ร่างกายกระทำ เราจะเคลื่อนไหวอะไรมันก็เกิดความคิดขึ้นก่อน แล้วสมองก็สั่งงานให้ทำอย่างนั้น ให้ทำอย่างนี้ ถ้าสมองส่วนที่สั่งงานเสียไป หรือว่าพิกลพิการไป ร่างกายก็เคลื่อนไหวไม่ได้ เช่นคนเป็นอัมพาตเคลื่อนไหวไม่ได้ คนน่ะ บางคนเป็นข้างขวา บางคนเป็นข้างซ้าย ผู้หญิงมักจะเป็นข้างซ้าย ผู้ชายมักจะเป็นข้างขวา เขาจะสังเกตกันมาอย่างนั้น สถิติมันเป็นอย่างนั้น แต่ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น มันเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาละเอียด
เรารู้แต่เพียงว่า ถ้าสมองส่วนสั่งงาน สั่งงานไม่ได้ สมองส่วนนั้นก็พิการ ร่างกายก็พลอยพิการไปด้วย สมองบางส่วนมีหน้าที่จดจำ ถ้าส่วนนั้นพิการไป ความจำก็ไม่ดี เพี้ยนไปหมด แม้สิ่งที่เคยจำเคยคล่อง มันก็ว่าไม่ออก นึกไม่ออก ก็เป็นคนที่พิกลพิการไปทางร่างกาย ก็เนื่องจากสมองพิการ แล้วใจก็ไม่ทำงาน เมื่อนามไม่ทำงาน รูปก็ทำงานไม่ได้ ฉะนั้นนามกับรูปนี่มันอาศัยกันเป็นไป อยู่ด้วยกันตลอดเวลา แยกออกจากกันเมื่อใดก็เรียกว่า ชีวิตแตกดับเมื่อนั้น เช่นคนตาย นี่ก็เพราะไม่มีนามในร่างกาย มันมีแต่รูป รูปก็เหมือนกับท่อนไม้ท่อนฟืน นี่พระท่านกล่าวว่า “กลีกะลังวิ ……” (37.06) แปลว่า สะดุดท่อนไม้ท่อนฟืน อีกทั้งหาประโยชน์ไม่ได้ ร่างกายคนเราพอหมดความรู้สึก ไม่มีวิญญาณนี้ก็หมดความรู้สึก ไม่มีไออุ่น เราไม่มีธาตุไฟในร่างกาย มีแต่ความเย็นชืด ร่างกายนั้นก็เป็นดุจท่อนไม้ท่อนฟืน ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ขายก็ไม่มีใครซื้อ ให้เปล่าก็ไม่มีใครจะเอา ก็มีหน้าที่แต่เพียงว่าเอาไปเผา หรือเอาไปฝังกันตามธรรมเนียม ที่เราตกลงกันไว้ในหมู่บางกลุ่มเขาก็ฝังกันไป บางกลุ่มก็เผากันไปเพื่อให้มันหายปฏิกูล ไม่มีกลิ่นเหม็นแก่ประชาชนทั้งหลาย
ร่างกายมันก็เป็นอย่างนั้น ก็ขาดนาม แต่ถ้ายังมีนามกับรูปอยู่ด้วยกัน ก็เรียกว่า ยังมีชีวิต ยังพูดได้คิดได้ ทำอะไรได้ต่างๆ นี่เรื่องของชีวิตเรามันเป็นอย่างนั้น เรื่องนามรูปนี่เป็นเรื่องที่น่าศึกษา คือเป็นการศึกษาเรื่องตัวเราโดยเฉพาะ เป็นการศึกษาสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตของเรา เป็นเรื่องที่เราควรรู้ควรเข้าใจ การรู้การเข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้ง จะได้ทำลายความหลงผิดความเข้าใจผิด ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนี้มากเกินไปจนเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์เพราะเรื่องนามรูป ถ้าเราไปยึดถือมากไป ยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นเราเป็นเขาขึ้นมา ความยึดถือนั้นเขาเรียกว่า อุปาทาน ศัพท์ในศาสนาเรียกว่า “อุปาทาน” อุปาทานในเรื่องใดก็เป็นทุกข์ในเรื่องนั้น คนเราเกิดความทุกข์เพราะความยึดถือในร่างกายว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นเขาเป็นเรา เมื่อใดร่างกายมันวิปริตผันแปรไปก็เกิดความไม่สบายใจ เช่นอยู่ตรงหน้าเรานี่ เราตกใจอยู่ตลอดเวลา เกิดเป็นแผลขึ้นซักนิดหนึ่งไม่สบายใจแล้ว ส่องกระจกดูทีไรแล้วก็ไม่สบายใจ ไม่สบายใจว่าหน้าเราไม่เหมือนใคร ไม่เหมือนคนอื่น เราด้อยกว่าคนอื่น เรามีส่วนเสียอยู่ที่ดวงหน้า นั่นคิดมากไป คือคิดในเรื่องรูปมากไป ความจริงมันไม่ได้เสียหายอะไร คนเขาก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ว่าเรานึกเอาเองเราว่าเอาเอง
ความคิดที่เกิดขึ้นในใจคนนั้น มันเป็นเรื่องที่นึกเอาเองว่าเอาเองทั้งนั้นแหล่ะ เราคิดว่าอย่างนั้นคิดว่าอย่างนี้ คนอื่นเขาอาจจะยังไม่คิดก็ได้ เขาอาจจะยังไม่ว่าอะไรเราก็ได้ แต่ว่าเราไปนั่งกลุ้มใจด้วยตัวเอง คิดเอาด้วยตัวเอง อันนี้เขาเรียกว่าสร้างความคิดในทางที่เป็นทุกข์ขึ้นในใจ ที่ได้สร้างความคิดในทางเป็นทุกข์ขึ้นในใจอย่างนั้น ก็เพราะความยึดถือในรูปร่างกายมากเกินไป เกิดความน้อยใจในตัวเองว่าไม่เหมือนคนอื่น เช่นดำไปบ้าง หรือว่าผอมไปบ้าง หรือว่าอ้วนเกินพอดีไป เราไปคิดทั้งนั้น เอามาคิดมันก็นั่งกลุ้มใจ เพราะความยึดถือในร่างกายเป็นเหตุ เราผู้ศึกษาธรรมะจึงไม่ควรจะเป็นทุกข์เพราะเรื่องอย่างนั้น แต่ควรจะรู้ว่าไอ้สิ่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องที่หนีธรรมชาติไปไม่ได้ หนีกฎธรรมชาติไปไม่ได้ มันต้องมีการเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่ ไม่อยู่ในสภาพอย่างนั้นตลอดไป ว่ามีอะไรเกิดขึ้น เราก็ควรจะนึกว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ธรรมดามันเป็นเช่นนั้นเอง มันอาจจะเกิดขึ้นแก่ใครก็ได้ ถ้านึกได้อย่างนี้แล้ว ใจมันค่อยสบายโดยไม่นึกว่าเราเป็นคนเดียว แต่นึกว่าคนอื่นเขาก็เป็นกันเหมือนกัน รูปธรรมนามธรรม เราจะทำเอาตามชอบใจมันก็ไม่ได้ มันเป็นไปตามกฎธรรมชาติธรรมดา เราก็คิดว่า ธรรมดามันเป็นเช่นนั้นเอง ถ้าคิดอย่างนี้ใจก็สบายคลายจากปัญหาคือความทุกข์ความเดือดร้อนไป อ่า ... จึงควรจะมองอย่างนั้น ควรคิดแต่รูป เรื่องอย่างนั้น เรื่องของรูปให้คิดอย่างนี้แล้วค่อยสบายใจขึ้นมาหน่อย
[14:09] เรื่องของนามธรรมเกี่ยวกับเรื่องความคิดทั้งนั้น รูปนี่มันมีเพียงอย่างเดียว แต่ว่านามนั้นมีถึง 4 อย่าง เขาเรียกว่าเวทนาอย่างหนึ่ง สัญญาอย่างหนึ่ง สังขารอย่างหนึ่ง วิญญาณอย่างหนึ่ง ที่เราสวดทุกวันๆ นะ ... รูปัง อนิจจัง ... นะ รูปไม่เที่ยง แล้วเราสวดต่อไปว่า เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยงนี่ เรื่องไม่เที่ยงทั้งนั้น เรามาสวด เรื่องรูปมีเพียงเรื่องเดียว แต่พอถึงเรื่องนามนี่มีแบ่งเป็นสี่ เป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
นามธรรมนั้นแบ่งเป็น 4 คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เรียกว่าเป็น 4 เรื่อง รวมกับรูปก็เป็นเรื่อง 5 เรื่อง พระพุทธเจ้าเทศน์เรื่องนี้ขึ้นเป็นการอบรมปัญญาของท่านปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ท่าน ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 นี้เคยอยู่ร่วมกับพระองค์มานาน เคยทรมานร่างกายอดแห้งอดแล้งกันมานาน แต่เมื่อพระองค์เปลี่ยนวิธีการ ก็เห็นว่าอดแห้งอดแล้งทรมานร่างกาย ร่างกายอ่อนเพลีย ถ้าร่างกายอ่อนเพลีย กำลังใจมันก็ไม่มี สมองจะคิดนึกอะไร ก็ไม่คล่อง เป็นการไม่ถูกต้องที่ทรมานร่างกายมากเกินไป แล้วก็หันมาฉันอาหารตามปกติ บำรุงร่างกายให้แข็งแรง แล้วจะได้ทำการศึกษาค้นคว้าต่อไป แต่ว่าท่านปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 นั้นเป็นพวกยึดมั่นน่ะ ยึดมั่นนี่เขาเรียกว่า …… ปาธาน (18.43) คือการยึดถือในความเห็นในความคิดของตนรุนแรง ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง พระองค์พระพุทธเจ้านั้นไม่ยึดมั่นรุนแรงในเรื่องอะไรต่างๆ มีเหตุมีผล ทรงคิดอย่างรอบคอบว่า ทรงเห็นว่า ปฏิบัติมาแล้วแต่ว่าจิตใจไม่ดีขึ้น แล้วก็ยังเป็นโทษทำให้ผ่ายผอม เกือบเอาตัวไม่รอด พระองค์จึงได้เปลี่ยนเสียใหม่ว่า บำรุงร่างกายให้แข็งแรง ให้สมองดีขึ้น จิตใจจะได้ดีขึ้นด้วย ก็เลยฉันอาหาร
ท่านเหล่านั้นไม่ยอมเปลี่ยนแปลงความคิด โดยยึดมั่นอยู่ว่า ทางนี้ทางเดียวที่จะเป็นทางพ้นทุกข์ได้ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง เมื่อไม่ยอมเปลี่ยนแปลงก็อยู่ไม่ได้ เพราะเห็นว่าพระองค์เปลี่ยนแปลงไปในทางอย่างนั้น แล้วก็หาว่าพระองค์นั้นเป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาสู่ความมักมากเสียแล้ว จะอยู่ร่วมกันไปก็ไม่เห็นจะได้ประโยชน์อะไร ไปอาบน้ำเมืองพาราณสีดีกว่า ท่านก็เลยออกเดินทางหนีไป ไปอยู่เมืองพาราณสีเนอะ เราก็เหลือแต่เพียงผู้เดียว เมื่อร่างกายแข็งแรงดีแล้ว ก็ทรงค้นคว้าทางปฏิบัติใหม่ต่อไป ในที่สุดก็ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็นึกถึงท่านทั้ง 5 นั้น ว่าเวลานี้คงจะไปอยู่แถวเมืองพาราณสี เพราะว่าเมืองพาราณสีนั้นเป็นชุมนุมของนักรู้นักเรียนทั้งหลาย เป็นชุมนุมของเจ้าลัทธิต่างๆ ที่จะมาอาบน้ำแม่น้ำคงคากัน พระองค์ก็นึกว่าท่านเหล่านั้นคงจะอยู่ที่นั่น ก็เลยเสด็จไปหา แต่เทศน์ให้ฟังยกหนึ่งแล้ว ได้ความรู้ความเข้าใจเพียงองค์เดียว เหลืออีก 4 ก็เทศน์อบรมบ่มนิสัยต่อไปอีก 4 วัน
เมื่อมีสถานะทางจิตใจเท่าเทียมกัน มีพื้นฐานพอที่จะรองรับปัญญาชั้นสูงต่อไปได้ พระองค์ก็ประชุมท่านทั้ง 5 แล้วก็พูดเรื่องนี้ให้ฟัง เรื่องรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พูดแยกแยะให้ฟัง เพราะว่าก่อนที่พระพุทธเจ้าของเราจะเกิดขึ้น จะได้ตรัสรู้สัจธรรมนั้น คนในประเทศอินเดีย ในสมัยนั้นมีความยึดถือในตัวตนรุนแรง เขาเรียกว่า อัตตา “อัตวาตุปาธาน” (อัต-ตะ-วา-ตุ-ปา-ธาน) คือการยึดมั่นในตัวตน ถือว่าตัวนี้มี ตนนี้มีอยู่ แล้วก็มีอย่างถาวร ไม่รู้จักตาย ไม่รู้จักหายไปไหน ร่างกายนี้ตายได้ แต่ว่าสิ่งนั้นไม่ตาย สิ่งนั้นเขาเรียกว่า อาตมัน หรืออัตตาเป็นตัวเป็นตน ออกจากร่างกายนี้ไปเกิดในร่างใหม่ ไปเกิดตามอำนาจกรรมที่ตนได้กระทำไว้ แล้วก็วนเวียนเรื่อยไป จนกระทั่งว่าบริสุทธิ์ เมื่อบริสุทธิ์แล้วก็ไปอยู่รวมกับพระผู้เป็นเจ้าในสรวงสวรรค์ เขาเรียกว่า บรมอัตตา คือตัวใหญ่ ด้วยความเชื่อของคนในอินเดียในสมัยนั้น ศาสนาพราหมณ์เขาสอนอย่างนั้น แล้วศาสนาฮินดูที่ปฏิรูปมาก็สอนในรูปอย่างนั้น
แต่ว่าพระพุทธเจ้าท่านเห็นว่า การเชื่อว่ามีตัวตนอย่างนั้นเป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ไม่สามารถจะปล่อยวางได้ จิตไม่สงบ ไม่หลุดพ้นจากความคิด ถ้ายังยึดมั่นในตัวตนอยู่ พระองค์ก็อธิบายให้เข้าใจเสียใหม่ ด้วยการแยกออกไปให้เห็นว่าตัวแท้ไม่มี มันมีแต่ส่วนที่รวมกันเข้า พระองค์กล่าวเปรียบเทียบให้ฟังว่า...รถนี่ ที่เรียกว่ารถน่ะ เพราะว่ามีส่วนต่างๆ มาประกอบกันเข้า จึงเรียกว่าเป็นรถขึ้นมา เรือนก็เหมือนกัน ถ้ามีอะไรหลายอย่างมาประกอบกันเข้าเป็นเรือน ชีวิตร่างกายนี้ก็อาศัยสิ่งต่างๆ มารวมกันเข้า อาศัยมารดาบิดาเป็นผู้ให้กำเนิดเกิดเป็นตัวขึ้นมา แล้วจึงเรียกว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคล
ความจริงนั้น ตัวแท้ตัวจริงหามีไม่ เรามีแต่ส่วนประกอบเท่านั้น
[24:27] สมมติว่าเรารื้อรถออกเสีย รื้อล้อ ตัวถัง หลังคา เครื่องยนต์ ถอดให้หมด คำว่ารถมันก็หายไป คำว่ารถไม่มีน่ะ รื้อออกหมดแล้วรถก็ไม่มี เรือนนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเรารื้อออกหมดแล้ว คำว่าเรือนมันก็หายไป ซึ่งสถานที่ตรงนี้ เมื่อก่อนนี้ไม่มีอาคารหลังนี้ มันก็เป็นที่ว่างๆ ธรรมดา ต้นหญ้า ต้นไม้ ดินรัง แล้วเราก็มาสร้างอาคารนี้ขึ้น อาคารนี้ประกอบด้วยอะไรบ้าง ประกอบด้วยหินปูนทรายเหล็ก ผสมด้วยน้ำเอามาหล่อมาเทรวมกันเข้าให้ได้รูปอย่างนั้น ทิ้งไว้จนแห้งมันก็แข็งกลายเป็นคอนกรีตมั่นคง เราเรียกว่าเป็นโรงเรือน หรือเป็นเรือน เป็นกระต๊อบ เป็นบ้าน เป็นอะไรก็ตามใจ มารวมกันก็เป็นรูปอย่างนั้น แต่ถ้าเราถอดสิ่งเหล่านี้ออกเสีย คำว่าเรือนนั้นก็จะหายไป ไม่มีเรือน ไม่มีรถ ไม่มีอะไรอีก นาฬิกาข้อมือที่เราใช้กันอยู่เกือบทุกคน ถ้าเรายกนาฬิกานั้นขึ้นมาดู ถามใครๆ ว่า “นี้อะไร” ทุกคนก็ต้องตอบว่า “นาฬิกา” แต่ถ้าเราถอดเครื่องมันออกไปเสีย ถามทีละชิ้น ก็ตอบไม่ถูกว่าเป็นอะไร เห็นว่ามันเป็นจักรๆ อันเล็กอันน้อย ถอดออกไปแล้ว คำว่านาฬิกาก็หายไป ไม่ปรากฏแก่ตาของเราอีก แต่ถ้าเอามารวมกันเข้าได้รูปสมมติอย่างนั้น เราก็เรียกว่า นาฬิกา
รูป...นั้นเป็นเรื่องสมมติที่คนตั้งขึ้น เพื่อใช้พูดกันให้เข้าใจ เรียกว่ารถ เรียกว่าเรือน เรียกว่าเรือ เรียกว่าคน เรียกจักร เรียกนู้น เรียกนี้ ก็เพื่อจะได้พูดกันรู้เรื่อง เข้าใจความหมายสิ่งเหล่านี้ถ้าพูดโดยแง่ธรรมะ ก็เรียกว่าเป็นสิ่งสมมติสำหรับใช้เรียกกันเพื่อให้รู้กันว่าอะไรเป็นอะไร เนื้อแท้มันหามีไม่ แต่คนเราไม่เข้าใจในเรื่องนี้ เราไปยึดว่าสิ่งนั้นมี สิ่งนี้มี แล้วก็เอามาเป็นของตัว นาฬิกาของฉัน บ้านของฉัน รถของฉัน สายสร้อยของฉัน ผ้านุ่งของฉัน เงินของฉัน ทองของฉัน อะไรของฉัน ของฉันนู้นมากมายก่ายกอง ยิ่งของฉันมากมันก็ยิ่งทุกข์มาก ลองคิดดู ยิ่งมีมากก็ยิ่งยุ่งมาก ถ้ามีน้อยมันก็ทุกข์น้อย ถ้าในใจเราไม่มีอะไร มันก็ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นเพราะสิ่งเหล่านั้น แต่ว่าเราจะไม่มีมันก็ไม่ได้ เพราะร่างกายนี้ยังต้องกินต้องใช้ ร่างกายนี้ยังต้องกินอาหาร ร่างกายนี้ต้องการที่อยู่อาศัย ร่างกายนี้ต้องการเสื้อผ้าสำหรับนุ่งห่ม แล้วก็ยังมีของเล็กของน้อยมาประดับอวดกันอีกนี่ เรียกว่าของที่ต้องใช้และมียาสำหรับแก้ไข้เมื่อคราวเจ็บไข้ได้ป่วย ไปไหนก็เดินกันให้รู้ทันการณ์ (28.23) ต้องซื้อรถมาไว้ใช้ซักคันหนึ่งเพื่อจะได้ไปไหนมาไหนสะดวก
การมีสิ่งเหล่านั้นไม่ผิดกฎศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้าม ไม่ได้ห้ามไม่ให้มี เรามีอะไรก็ได้ ถ้าสิ่งนั้นได้มาโดยสุจริต เราทำมาหากินโดยทางสุจริตไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ทำผิดกฎหมาย ไม่ทำผิดศีลธรรม เราก็มีสิทธิจะมีอะไรๆ ก็ได้ ตามที่เราสามารถจะมีได้ คือตามสติปัญญาความรู้ความสามารถที่เราจะหาอะไรมากินมาใช้ได้ แต่ว่าเราไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปยึดถือว่า เป็นตัวฉัน เป็นของฉัน อันจะเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนใจ คืออย่าให้มันเป็นทุกข์น่ะ มีอะไรนี่มีอย่าให้เป็นทุกข์ จะมีอย่างไร อันนี้แหล่ะสำคัญ สำคัญที่จะทำให้เราสบายใจ มีโดยไม่ต้องเป็นทุกข์ สมมติว่าเรามีอะไรอยู่อย่างหนึ่งแล้วมันหายไป แล้วเราไม่เป็นทุกข์...อ่ะ ใช้ได้ แม้เป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้นคือมันหายไป มันแตกไป หรือว่าตายจากเราไป เราก็เริ่มเป็นทุกข์ เขาเรียกว่าใช้ได้แล้ว จิตใจ...ใช้ได้ ที่จะไม่เป็นทุกข์นั้นมันจะต้องมีอะไรเข้าประกอบ ไม่ใช่ว่าไม่เป็นทุกข์เพราะว่าเกิดขึ้นเฉยๆ ไม่ใช่อย่างนั้น มันต้องมีตัวปัญญาเข้ามาประกอบ ปัญญาที่รู้แจ้งในเรื่องนั้นตามสภาพที่เป็นจริง
เช่น สมมติว่าสมาชิกในครอบครัวเราตายไปคนหนึ่ง ถ้าเราเป็นทุกข์ก็แสดงว่าเรามีความยึดมั่นถือมั่นในบุคคลนั้นว่ามีเป็นอะไรกะเรา เป็นของเรา เราก็มีความทุกข์ แต่ถ้าเราไม่เป็นทุกข์เพราะเรารู้ว่ามันเป็นเช่นนั้น ธรรมดามันเป็นเช่นนั้น สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้น สิ่งนั้นก็ต้องแตกดับเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรที่จะอยู่ยั่งยืนถาวรตลอดไป มันต้องถึงวันแตกซักวันหนึ่ง สลายไปซักวันหนึ่ง โลกที่เราอยู่นี้มันอาจสลายไปซักวัน เราไม่ต้องเป็นทุกข์ มันยังไม่สลายในยุคพวกเราอยู่นี้ แล้วถ้ามันสลาย ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์อะไร ก็มันเท่ากันทุกคน เราไม่มีโลกเรา มันก็ป๋อมแป๋มไปตามเรื่อง กว่าจะหมดลมหายใจมันก็เท่ากันแหล่ะไม่มีใครได้เปรียบใครไม่ได้เปรียบใคร ไม่มีใครพิเศษกว่าใคร มันธรรมดาเท่ากัน เราไม่ต้องเป็นทุกข์ก็ได้ หรือว่าเราสูญเสียอะไรไป เราสิ้นใจ ความกลุ้มใจนั้นมันเกิดจากอะไร เกิดจากความยึดถือว่าของฉัน นั้นของฉันแตกซะแล้ว ของฉันหายไปแล้ว ของฉันตายเสียแล้ว ดูซิว่าความเข้าไปยึดถือ ทำให้เกิดความทุกข์
พระพุทธเจ้าท่านสอนไม่ให้ไปยึดถือ แต่ให้มีได้ ให้มีด้วยปัญญา
[32:02] มีอะไรก็มีด้วยปัญญา ถ้าเราจะมีนาฬิกาซักเรือนหนึ่ง เรามีไว้ดูเวลา แล้วก็ทำอะไรตามเวลา รักษาเวลา นัดหมายกับใครก็ไปตามเวลา ทำงานตามเวลา ไม่ใช่ผูกนาฬิกาไว้อวดว่ายี่ห้ออะไร ราคาแพงๆ คนไทยเราซื้อนาฬิกาผูกข้อมือไปอินเดีย แขกอินเดียถามว่านาฬิกาเรือนนี้ราคาเท่าไหร่ พอบอกว่าสามร้อย แขกถามว่าสามร้อยอะไร สามร้อยบาทหรือสามร้อยอะไร สามร้อยเหรียญดอลลาร์อเมริกา แขกตกใจเลย แขกตกใจตาลุกวาวเลย มันบอกว่าอะไร นาฬิกาเรือนหนึ่งตั้งสามร้อยเหรียญดอลลาร์ สามร้อยดอลลาร์นี้มันเท่าไหร่ มันตั้งหกพันเข้าไปแล้ว มันไม่ใช่เล็กน้อย เขาตกใจ แล้วเขาบอกว่าไอ้ของเขานี่เดินตรงตามเวลาใช้ได้ แต่ราคามันก็เพียงห้าสิบรูปีเท่านั้นเอง ก็ห้าสิบรูปีคิดเป็นเงินไทยก็ราวซักสองร้อยบาท แต่ว่าคนไทยเรานี้แขวนราคาหกพัน นาฬิกานี่ นี้นาฬิกาเรือนละหกพันนี่ ถ้าสมมติว่ามันหายไปแล้ว คนจะเสียใจหกพันเหมือนกัน เพราะราคามันมาก ความเสียใจมันก็มาก ความยึดถือมันก็มาก เรายึดถือมากก็เป็นทุกข์มาก แต่ถ้ายึดถือน้อยมันก็เป็นทุกข์น้อย
ถ้าเราใช้ของถูก เวลาของนั้นเสียไป เราก็ว่าไม่เป็นไร นิดหน่อย นิดหน่อยก็นึกว่ามันเป็นของถูกนั่นเอง แต่ถ้าเกิดเป็นของแพงขึ้นมา เราก็ต้องเป็นทุกข์ อย่างนี้ยังไม่ใช่ปัญญา แต่ถ้าปัญญานั้นต้องนึกว่าจะถูกจะแพงจะมีค่าน้อยจะมีค่ามากมันก็เท่ากัน มันเป็นวัตถุที่สมมติขึ้นเท่านั้นเอง เราไม่ควรจะไปยึดถือว่าเป็นของเราขึ้นมาให้เหนื่อยแร้นเปล่าๆ เรามีไว้ใช้ ถ้ามันอยู่กับเราๆ ก็ใช้มันไป แต่ถ้าเกิดใครเอาไปเสีย เราก็ไม่ต้องเสียใจ ไม่เสียดาย เพราะเราไม่ได้เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในเรือนนาฬิกาเรือนนั้น จนเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ อันนี้เป็นตัวอย่าง เรียกว่า “มีไม่ต้องเป็นทุกข์” ก็หมายความว่า มีด้วยปัญญา “ได้ไม่ต้องเป็นทุกข์” ก็หมายความว่า ได้มันมาด้วยปัญญา ใช้สอยสิ่งนั้นด้วยปัญญา ด้วยความคิดที่รู้เท่ารู้ทันต่อสิ่งนั้น ด้วยความคิดที่เกิดบอกตัวเองอยู่เสมอว่า อย่าไปยึดถือมันเข้า อย่าไปนึกว่าเป็นตัวของเราเข้า อย่านึกว่ามันจะอยู่กับเรา เดี๋ยวจะกลุ้มใจเปล่าๆ ให้นึกแต่เพียงว่า เป็นของยืมใช้ชั่วครั้งชั่วคราว แล้วเราก็จะต้องจากมันไป หรือมันจะต้องจากเราไป ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่ใช่ก็ล่วงหน้า (34.25) อย่างนั้น
จิตใจก็ไม่ต้องเป็นทุกข์เมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้น พอมีอะไรเกิดขึ้นเราก็พูดได้ว่า กูว่าแล้วว่ามันจะเป็นอย่างนั้นน่ะ พูดได้ทันทีว่า กูว่าแล้วว่ามันจะต้องแตกซักวันหนึ่ง กูว่าแล้วว่ามันจะต้องหายซักวัน กูว่าแล้วว่ามันจะต้องตายซักวันหนึ่ง แต่ว่าเรื่องนี้อย่าไปพูดให้มันดังๆ ออกไป คนเขาจะว่าเอา ได้แต่ก็นึกในใจก็พอแล้ว นึกในใจว่า โอ้...ถึงเวลาแล้วที่จะต้องไป เพราะร่างกายชราเต็มทีแล้ว ส่วนคนแก่ๆ อายุ เก้าสิบ เก้าสิบสองน่ะ เอาไปพูดงานศพ อาตมามักถามว่า อายุเท่าไหร่ คนที่ตาย ...เก้าสิบเอ็ดครับ พอเก้าสิบเอ็ดอาตมาก็ยิ้ม.... ยิ้มแล้วก็บอกว่า สมควรแล้ว ขืนอยู่ต่อไปก็ทรมานเปล่าๆ ท่านจากเราไปก็ดีแล้วน่ะ ไม่ต้องทรมานต่อไป ไม่ต้องดูโลกที่มันวุ่นวายต่อไป คนแก่อายุมากๆ นี่เป็นทุกข์เพราะเห็นโลกมันเปลี่ยนแปลง เห็นลูกหลานเปลี่ยนแปลง เห็นสังคมเปลี่ยนแปลง ไม่เหมือนกับเมื่อสมัยท่านเป็นหนุ่ม กิริยามารยาทก็ ...