แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา วันนี้ รถเมล์ก็ขึ้นราคา แล้วก็มีการประท้วงกัน อดข้าวอดน้ำกันไปตามๆกัน เพื่อวิงวอนท่านผู้หลักผู้ใหญ่ไม่ให้ขึ้นราคา อาตมานี่ก็ถูกประท้วงเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ใครประท้วงหรอก ร่างกายมันประท้วง ประท้วงบอกว่า เดินทางไปไกลๆ ที่มันลำบากๆ นั้นไม่ได้แล้ว เพราะว่าอายุมากแล้ว คือว่าสัปดาห์ที่แล้ว วันที่ ๑๖ เอ้ย ๑๗ เดินทางไปโคราชด้วยรถยนต์ ที่เขามารับ รถประเภทพวกไฮปุสอะไร แล้วก็ไปถึงปาฐกถาแล้วก็กลับ ใช้เวลาวิ่งไปวิ่งมาประมาณ ๖ ชั่วโมงกว่า แล้วก็เมื่อวันที่ ๑๙ นี่ไปอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ออกรถจากวัดเวลา ๓ โมงเย็น ไปถึงโน่นที่อำเภอท่ายาง เลยเข้าไปแก่งกระจาน ใกล้แก่งกระจาน ถึงเวลาหกโมงครึ่ง แล้วก็ปาฐกถาเวลา ๒๐ นาฬิกา เมื่อปาฐกถาเสร็จแล้วก็เดินทางกลับอีก ๔ ชั่วโมงกว่า นั่งมาในรถนี่คิดอยู่อยากเดียวว่าให้มันถึงไวๆ เพราะว่ามันปวด สันหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดบั้นเอว ปวดไปหมดทั้งเนื้อทั้งตัว คิดอย่างเดียวว่าให้รถไปเร็วๆ แต่มันไปไม่ได้อ๊ะ รถมันวิ่งตั้ง ๑๐๐ แล้ว แต่ใจก็อยากจะให้ถึงซะเร็วๆ จะได้นอนสบายๆ แล้วก็มาถึงวัดเอาเที่ยงคืนครึ่ง เป็นวันใหม่แล้ว ครึ่งนี่เขาเรียกวันใหม่ แล้วก็มาถึงแล้วก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว นอนเลย นอนพัก เมื่อวานทั้งวันนี่ไม่ไปไหน เขานิมนต์ไว้ให้ไปเทศน์งานศพวัดพระศรีมหาธาตุ ก็ให้พระไปแทน เพราะว่ารู้สึกว่ามันขัดๆข้องๆ ร่างกายมันประท้วง ก็ต้องยอมเค้าหน่อย วันนี้ค่อยยังชั่วแล้ว มาพูดกับญาติโยมได้ แต่ว่าสุ่มเสียงนี่ยังไม่เกลี้ยงเกลาเท่าใด ยังไม่ค่อยจะเรียบร้อย คอมันชักจะแห้งๆ แต่ว่าพอพูดกันได้ ก็มาพูดกับญาติโยมตามเวลาที่เคยปฏิบัติมา เพราะว่าเราที่เป็นผู้สนใจธรรมะ วันอาทิตย์ก็ต้องมาตามหน้าที่ ถ้ามาก็ต้องพูดไปตามหน้าที่ ต่างคนต่างรักษาหน้าที่ ทำหน้าที่ให้เรียบร้อย การปฏิบัติหน้าที่ให้เรียบร้อยนี่คือการปฏิบัติธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้หมายถึงหน้าที่ด้วย หน้าที่ที่เราทุกคนจะต้องปฏิบัติต่ออะไรๆที่เรามีส่วนเกี่ยวข้อง
คนเราอยู่คนเดียวไม่ได้ต้องมีความเกี่ยวข้องกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ในฐานะอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นฐานะมารดา บิดากับบุตร, ศิษย์กับครู, เพื่อนกับเพื่อน, ญาติกับญาติ, ผู้ใหญ่กับผู้น้อย, นายกับบ่าวอะไรต่างๆ อันนี้นี่ก็คือมีหน้าที่สัมพันธ์ต่อกัน มีความเกี่ยวข้องกันโดยหน้าที่ โดยกำเนิด เมื่อเรามีหน้าที่อันใดก็ทำหน้าที่นั้นให้สมบูรณ์ให้เรียบร้อย เช่นในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัท เราก็ทำหน้าที่แบบพุทธบริษัท หน้าที่ของพุทธบริษัทก็คือตั้งใจศึกษาหลักธรรมให้เกิดความรู้ความเข้าใจชัดเจนถูกต้อง แล้วมีหน้าที่ปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลจากธรรมะที่เราได้ศึกษานั้น เมื่อเราปฏิบัติผลมันก็เกิดขึ้นแก่เรา การศึกษาเป็นจุดเริ่มต้น การปฏิบัติเป็นจุดต่อไป แล้วผลก็จะเกิดแก่เราผู้ปฏิบัติ ถ้าไม่ศึกษาก็ไม่รู้ทางปฏิบัติ การปฏิบัติก็จะเป็นไปไม่ถูกต้อง แล้วผลมันก็ไม่สมบูรณ์ไม่เรียบร้อย จึงเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำการศึกษาให้รู้ให้เข้าใจ ให้สมกับความเป็นพุทธะ ซึ่งแปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้มีความเบิกบานแจ่มใส เราจึงต้องทำตนให้เป็นผู้รู้ ทำตนให้เป็นผู้ตื่น ทำตนให้เป็นผู้มีความเบิกบานแจ่มใสในการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวัน เพื่อความสมบูรณ์ของความเป็นพุทธบริษัทนั่นเอง ท่านทั้งหลายจึงได้มาศึกษาธรรมะกันอยู่เป็นประจำ การศึกษาธรรมะด้วยการฟัง ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ด้วยการอ่านก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง สุดแล้วแต่โอกาสที่เราจะใช้ บางเวลาเราศึกษาด้วยการฟัง บางเวลาเราก็ศึกษาด้วยการอ่านจากหนังสือตำรับตำรา ฟังแล้ว อ่านแล้วก็ต้องเอาไปคิด พิจารณาเพื่อให้เกิดความเข้าใจชัดเจนในข้อธรรมะเหล่านั้น เมื่อได้พิจารณาเข้าใจแล้ว เราก็ลงมือปฏิบัติ การปฏิบัตินั่นแหละเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องทำให้มากเป็นพิเศษ เพราะว่าการปฏิบัตินี้เป็นการทำให้ตัวเราดีขึ้น เมื่อจิตใจเราสะอาดขึ้น สงบขึ้น สว่างขึ้นด้วยปัญญา ถ้าปราศจากการปฏิบัติแล้ว อะไรๆจะดีขึ้นไม่ได้เป็นอันขาด เพราะฉะนั้นจึงต้องพยายามปฏิบัติ การปฏิบัตินี้เราจะทำอย่างไร อันนี้อาจจะเป็นปัญหา แต่เราทั้งหลายที่เป็นผู้ก็สนใจในการฟัง การปฏิบัติก็คือเราจะต้องรู้ว่า ตัวเราเองบกพร่องอะไร มีความไม่ดีไม่งามอยู่ที่ไหนบ้าง การที่เราจะรู้ว่าเราไม่ดี มีความบกพร่องนั้น ก็ต้องเอาพระธรรมนั่นแหละมาเป็นกระจก ส่องดูที่กาย ที่วาจา ที่น้ำใจของเรา เพื่อจะได้ดูว่ามันผิดหรือถูก ดีหรือชั่ว การปฏิบัติอยู่ในรูปอย่างนั้น เป็นเหตุให้เกิดความเสื่อม หรือเป็นเหตุให้เกิดความเจริญในชีวิต ต้องเอาธรรมะมาเป็นกระจกส่องดู เพราะว่าธรรมะนี่เป็นเหมือนกับกระจกเงา
พระผู้มีพระภาคเคยตรัสกับพระราหุลว่า สมัยยังไม่ได้บวชเป็นพระ บอกว่าธรรมะเป็นเหมือนกับกระจก แต่จะต้องเอาไปส่องดูตัวเองบ่อยๆ เพื่อให้รู้ว่าตัวเองนั้นมีความบกพร่องอะไร มีความไม่สมบูรณ์ไม่เรียบร้อยอยู่ที่ตรงไหนบ้าง แล้วจะได้มีการปรับปรุงแก้ไข เพื่อทำให้ดีขึ้น เราในปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน ต้องพยายามนำธรรมะมาเป็นกระจกส่องดูตัวเราบ่อยๆ กระจกที่เป็นวัตถุนั้น เรามีใช้กันทุกคน ใช้กันทุกบ้านทุกเรือน ส่องดูกันบ่อยๆ แต่ว่าส่องดูแต่เพียงภายนอกร่างกาย ส่องแล้วก็ต้องตบแต่งเหมือนกัน แต่งให้สะอาดให้เรียบร้อย ไม่ให้เป็นที่ดูหมิ่นของใครๆในสังคม นั่นเป็นเรื่องการแต่งภายนอก แต่งผิวกาย มันไม่สำคัญเท่าใด แต่ก็ต้องทำเพราะเราอยู่ในสังคม ต้องอยู่อย่างมีระเบียบมีความเรียบร้อย พอไปวัดไปมาได้ก็ว่าอย่างนั้น หรือเหมือนกับใครๆในสังคมนั้นๆ เป็นการตบแต่งตามธรรมเนียมประเพณี ความนิยมในสังคมทั่วๆไป การตบแต่งที่สำคัญนั้น คือตบแต่งวาจา ตบแต่งใจของเรา ตบแต่งวาจาก็คือการพูดเพราะว่าคนเรานี่มีปากไว้สำหรับพูด เราพูดเพื่อให้คนอื่นฟัง พูดเพื่อให้คนอื่นได้รู้ในคำพูดของเรา คำที่เราพูดออกไปนั้นมีความหมาย จะทำให้เขารักเราก็ได้ ทำให้เขาชังเราก็ได้ ทำให้คนทะเลาะกันก็ได้ ทำให้คนรักใคร่มีไมตรีจิตกันก็ได้ เพราะแม้แต่การพูดของบุคคลนั้น ล้วนแต่เป็นเรื่องสำคัญมาก มันนิดเดียวแต่สำคัญ ทำให้โลกปั่นป่วนไปด้วยการรบกันก็ได้ ให้โลกสงบก็ได้ เพื่ออำนาจนั้นของคนเราคือการพูดนี่เอง ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสอนว่า พึงเปล่งวาจางาม วาจางามคือวาจาที่ไพเราะเสนาะหู (11.20 เสียงไม่ชัดเจน) วาจาที่อ่อนหวาน วาจาที่สมานสามัคคี วาจาที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง และแก่ผู้พูดด้วย ต้องพูดวาจาเช่นนี้ คำใดเป็นคำหยาบ คำด่าเสียดสีด่าว่า หรือว่ากระทบกระเทือนคนอื่น เขาเรียกว่าเป็นวาจาทุภาษิต (11.47 เสียงไม่ชัดเจน) เป็นวาจาชั่ว วาจาไม่ดี ถ้าใครเปล่งวาจาเช่นนั้นออกไป แล้วบาดหูคนอื่น บาดใจคนอื่น ทำให้ผู้ฟังเกิดความรำคาญ มีความทุกข์ มีความเดือดร้อน ปกติของคนเรานั้นไม่ชอบคำหยาบ ไม่ชอบคำโกหก ไม่ชอบคำประเภทเหลวไหลเพ้อเจ้อ แต่ว่าชอบคำจริง คำอ่อนหวาน คำสมานสามัคคี คำที่มีประโยชน์ แต่ว่าการพูดนี่มันเริ่มจากใจ จากอารมณ์จากสิ่งแวดล้อม ถ้าอารมณ์และสิ่งแวดล้อมทำให้เราสบายใจ เราก็มักจะเปล่งวาจางาม แต่ถ้าอารมณ์และสิ่งแวดล้อมทำให้เราไม่สบายใจเราก็เปล่งวาจาทรามออกไป แล้วก็เป็นปัญหาให้เกิดการไม่เข้าใจกัน สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้แก่กัน ด้วยประการต่างๆ จึงต้องระมัดระวังและการที่จะพูดอะไรออกไป เพราะว่าคิดไว้ก่อนแล้วจึงพูด พูดแต่คำที่มันจำเป็น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ประหยัดหน่อย ประหยัดถ้อยคำ เหมือนเราประหยัดสตางค์เงินทอง เงินทองเรามีแต่ว่าใช้ไม่ประหยัดมันก็หมดได้ง่าย เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนเพราะไม่มีทรัพย์จะจับจ่ายใช้สอย ก็เป็นหนี้เป็นสินเขา ก็ต้องการอะไรก็ไม่ได้สมใจ ถ้าเราไม่ประหยัดในการจับจ่ายใช้สอยจึงเกิดความทุกข์ความเดือดร้อน
ในเรื่องคำพูดนี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราใช้โดยไม่ประหยัดมันก็เสียหาย สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้แก่บุคคลอื่น บางทีก็ต้องเป็นถ้อยร้อยความกัน ไปขึ้นโรงขึ้นศาล ถูกจับ ถูกปรับไหม ถูกลงโทษ ก็เป็นผู้ที่ไม่ประหยัดในถ้อยคำนี้เอง จึงควรจะฝึกฝนเหมือนกันในเรื่องนี้ ฝึกฝนว่าเราจะพูดแต่คำที่จำเป็น พูดแล้วให้เป็นประโยชน์ ดีกว่าพูดมากแต่ไม่เป็นประโยชน์อะไร และคำใดที่เราจะเปล่งออกไปนั้นต้องเป็นคำที่คิดแล้วกรองแล้วจึงพูดออกไป จึงควรพูดช้าแต่มีน้ำหนัก ดีกว่าพูดเรื่อยๆด้วยสีสัน (14.37 เสียงไม่ชัดเจน) แต่ทำความเสียหายให้แก่ผู้พูด เค้าเรียกว่าเป็นคนปากร้าย หรือว่าเป็นคนปากกลิ่นไม่ดี ก็เพราะว่าพูดไม่ดีนั่นเอง การพูดไม่ดีก็เพราะไม่ระมัดระวังในการที่จะพูดอะไรออกไป เขาเรียกว่าปากไม่มีหูรูด คือไม่ได้ยับยั้งนั่นเอง พูดไปตามอารมณ์ อะไรมากระทบก็พังเข้าใส่เลยทีเดียว โดยไม่ได้คิดว่าอะไรเป็นอะไร เราควรจะพูดอะไรกับเขา นี่เขาเรียกว่า ไม่มีการคิดก่อนจึงพูด จึงเกิดความเสียหาย ถ้าการเกิดดีว่าดีแล้ว คนเราที่ได้ฆ่าได้แกงกันนี้เพราะเรื่องคำพูดนี้ไม่ใช่น้อย เหตุมันอยู่ที่การพูด ถึงได้ยิงกัน ฆ่ากันด้วยประการต่างๆ เพราะเรื่องการพูดกันนี่ พูดให้ไม่เป็นที่ถูกใจ และให้เขาโกรธเคือง แล้วก็เป็นเหตุให้ฆ่าฟันกัน แต่ถ้าเป็นคนพูดดีมีประโยชน์ คนโกรธก็เลยไม่โกรธ เพราะว่าได้ฟังคำพูดที่มันสบายใจ ไม่ก่อปัญหา ไม่ก่อความวุ่นวายใจให้เกิดขึ้น ไม่พูดยั่วให้เขาโกรธ ไม่พูดยั่วให้เขาเกลียด หรือไม่พูดในเชิงท้าทาย ว่าแกดีก็เข้ามาสิวะ นั่นอย่างนั้นเขาเรียกว่าพูดในเชิงท้าทาย ทีนี้ไอ้คนรับคำท้ามันก็ลองเหมือนกัน เปรี้ยงเข้าให้ แล้วไอ้คนถูกท้าก็เลยจุกปากพูดไม่ได้ต่อไป .อันนี้แหละเกิดความเสียหาย ความแตกร้าวจากมิตรก็เนื่องจากการพูดที่เราไม่ได้ระมัดระวัง จึงได้แตกร้าวกัน ฉะนั้นในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัท จึงควรจะได้สำรวจในการพูดจาของเราไว้ แล้วก็คอยหมั่นเตือนตัวเองบ่อยๆ เวลาจะไปหาใคร ไปทำการติดต่ออะไร ต้องเตรียมเนื้อเตรียมตัวไม่ใช่ไปเฉยๆ เตรียมเนื้อเตรียมตัวไปในการที่จะพูดว่าอย่างไร
สมมติว่าเราจะไปติดต่อกับใครด้วยเรื่องอะไร ก็ต้องวางแผนว่าเราจะพูดขึ้นต้นอย่างไร ตอนกลางอย่างไร จบลงด้วยอะไร เราต้องเตรียมไว้ เตรียมพูดไปเพื่อจะพูดให้มันเป็นแถวเป็นแนว เป็นระเบียบเรียบร้อย แล้วก็ควรคิดอะไรก่อนอะไรหลัง พูดคำที่เขาสบายใจ ไม่ไปยั่วอารมณ์ทำให้เขาโกรธเขาเกลียด การพูดเช่นนี้เป็นการถูกต้อง จะไม่เกิดให้ก่อปัญหาคือความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ใครๆ เพราะว่าเป็นผู้ควบคุมปากของตนได้ การควบคุมปากนี่เป็นเรื่องสำคัญ จะทำให้ปลอดภัย แต่ถ้าควบคุมไม่ได้ก็เกิดอันตรายจากการพูดนั้นก็ได้ อยู่ในโลกมันต้องพูด แต่ต้องพูดให้เป็นเวลา พูดด้วยเรื่องที่เหมาะแก่บุคคล เหมาะแก่เหตุการณ์ เหมาะแก่เรื่องที่เราจะพูด แล้วก็พูดมีเวลาจบ ไม่ได้พูดพล่ามเรื่อยไป ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น เรามีความรู้อะไร ถ้าเขาไม่ถาม เราอย่าไปพูด พูดเมื่อเขาถาม เขาอยากจะรู้อะไรจากเราก็ตาม เราจึงจะพูดคำนั้นออกไป ถ้าเขาไม่ถาม เราพูด คนโบราณเขาเรียกว่ากลองมันดังเอง
กลองแขวนไว้บนหอกลอง เมื่อมันเกิดดังตึงๆ ขึ้นมา เราบอกว่ามันเป็นจัญไร เป็นอุปัสสวะ อุปัสสวะคือไม่ดี กลองดังเองนี้ไม่ดี มันต้องมีคนตีถึงจะดัง แต่ว่าอยู่ๆ มันดังขึ้นมาเฉยๆ ไอ้กลองนั้นเอาไว้ไม่ได้แล้ว ถ้ามันไปดังเวลาเราจะนอนแล้วจะทำยังไง มันต้องลุกขึ้นไปเตรียมเนื้อเตรียมตัวเพราะมีอันตราย ทำให้เสียหาย ต้องเอาไปผ่าเผาไฟเสียดีกว่า เพราะไม่ดีแล้ว คนเรานี้ก็เหมือนกัน เรามีปากมีสิทธิ์ที่จะพูดได้ แต่ว่าต้องพูดภายในขอบเขต ถ้าพูดเกินขอบเขต หรือพูด เขาเรียกพูดพล่าม คนพูดพล่ามก็คือพูดไม่หยุด หรือไม่งั้นก็พูดเรื่อยไป ไปไหนก็พูดเรื่อยไป ไม่พูดไม่ได้ อย่างนั้นเขาเรียกคนไม่มีการบังคับตัวเอง พ่อแม่ไม่พูดถึง การพูดถึงมันอยู่ที่บังคับตัวเองได้ บังคับให้มันนิ่งๆก็ได้ ให้พูดก็ได้ และพูดมีเวลา พูดหยุดได้ แล้วอะไรที่เขาไม่ถามเราก็ไม่พูด เรานั่งเฉยๆ ไม่พูดเรื่องนั้นออกไป อย่างนั้นเขาเรียกว่าพูดเป็น ไม่ใช่ว่าพูดมากแล้วพูดเป็นไม่ใช่ คนพูดเป็นคือพูดถูกเรื่อง ถูกบุคคล ถูกเหตุการณ์ ถูกกับเวลา ที่เขาพูดอย่างนี้เรียกว่าคนพูดเป็น แล้วก็พูดมีเวลาหยุดไม่ใช่พูดตลอดเวลา สามารถพูดคนเดียว ต้องให้เพื่อนเขาพูดมั่ง คนบางคนพูดเสียคนเดียว อะไรๆ ก็จะพูดไปเรื่อย ไม่ยอมให้เพื่อนพูดมั่งเลย ให้เขาฟังซะท่าเดียว อย่างนี้ก็ไม่ไหว เอาเปรียบกันมากไป ควรมีเวลาหยุดให้คนอื่นพูดบ้าง แล้วเมื่อเขาพูดเราก็ต้องฟัง นักฟังหรือนักพูดที่ดีนั้น ต้องพูดเมื่อคนอื่นฟัง ต้องฟังเมื่อคนอื่นพูด นี่หล่ะใช้ได้หล่ะ ทีนี้คนอื่นพูดเราก็จะพูด เลยพูดสองคน พูดสองคนแล้วใครจะฟัง ต่างคนต่างพูดเลยไม่มีใครฟัง กลายเป็นทะเลาะไป วิวาทกันไป วิวาทคือพูดกันสองคน (21.44 เสียงไม่ชัดเจน) ทะเลาะกันหน่ะคือตีกัน วิวาทคือ เถียงกันคือวาทะ ต่างคนต่างพูดก็เลยเถียงกัน ไม่ได้เรื่องอะไร เมื่อคนอื่นพูดเราก็หยุดเสียบ้าง
ครั้นเมื่อเขาหยุดเราก็พูดบ้าง คนเราเวลาพูดนี่ต้องมันมีการหยุดให้คนอื่นแสดงบ้าง อย่าแย่งพูดคนเดียว อย่าพูดเรื่องเดียวอยู่ตลอดเวลา ให้คนอื่นได้พูดมั่ง เราฟังเขาบ้าง ไม่ใช่เราพูดคนเดียวให้เขาฟัง อย่างนั้นไม่ดี จึงต้องมีการแก้ไข เพราะพุทธเจ้าท่านสอนภิกษุอยู่เรื่องหนึ่ง บอกว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอมาพบกัน ให้กระทำ ๑๒ อย่าง คือหนึ่งนั้น อย่างพระอริยเจ้า พระอริยเจ้าทั้งหลายนั้นท่านชอบนิ่ง ท่านพูดเมื่อมีคนถาม พูดเมื่อมีเรื่องที่จะต้องให้พูด ท่านไม่พูดพล่าม ไม่พูดเพ้อเจ้อเรื่อยไป จึงเรียกว่านิ่งอย่างพระอริยเจ้า ทีนี้ถ้าจะพูดกันก็จะต้องพูดธรรมะ สนทนาธรรมกัน พูดเรื่องศีล เรื่องทาน เรื่องภาวนา เรื่องฟังธรรม เรื่องการแสดงธรรม เรื่องอะไรๆ ต่างๆ เรียกว่าเรื่องที่ควรพูด พูดแล้วทำให้คนฉลาด พูดแล้วทำให้คนดีขึ้น ให้มีปัญญา ให้รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตนรู้จักประมาณ รู้จักเวลา รู้จักบุคคล รู้จักจะดึงคนที่เข้าไปเกี่ยวข้อง อย่างนี้เรียกว่าพูดดี มีคุณค่า คือให้เป็นประโยชน์ การพูดนี้มีความหมาย การพูดนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก จึงต้องมีการกล่อมเกลาการพูดให้มันน้อยลงไปบ้าง ให้มันถูกเวลาบ้าง แล้วก็หยุดพูดเสียบ้าง สบายดี การหยุดพูดนั้นไม่เป็นภัย แต่ขืนพูดมากไปก็เกิดปัญหา เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน ในสมัยหนึ่งก็มีคำว่า โอษฐภัย โอษฐภัยคือว่า ภัยที่เกิดจากปาก เกิดจากการพูดไม่เข้าเรื่อง สมัยนั้นการเมืองเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ใครๆ ก็จะระวังการพูด เพราะว่าถ้าพูดไม่ดีก็เป็นโอษฐภัย ติดคุกติดตารางได้ หลายปีเลยทีเดียว มีหลายคนที่เผลอพูดออกไปโดยขาดความยั้งคิด เขาก็เอาไปลงโทษเนื่องจากการพูดอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราจึงต้องระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา การระมัดระวังก็คือการมีสติคอยควบคุมตัวเอง ถ้าจะไปพบกับใคร ไปเกี่ยวข้องกับบุคคลใด เหตุการณ์ใด ก็ให้บอกตัวเองว่า ระวัง พูดให้เอาแต่จำเป็น พูดแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์ อย่าพูดพล่าม อย่าพูดยั่วกิเลส แล้วก็ตั้งใจสงบไว้ ใจเย็นๆไว้ อย่าร้อน ถ้าร้อนแล้วถอยออกมาก็ร้อน คือถ้าข้างในมันร้อน ออกมาข้างนอกมันก็ร้อน คนใจร้อน พูดร้อน การปฏิบัติก็เป็นไปทางร้อน เพราะใจมันร้อน เพราะฉะนั้นต้องทำใจเย็นๆ อย่าใจร้อนใจเร็ว อย่าหุนหันพลันแล่น อย่าทำอะไรที่มันไม่เหมาะไม่ควร เนี่ย เรียกว่าเตือนไว้ก่อน ถ้าเราได้เตือนตัวเองไว้ก่อนอย่างนี้ ปลอดภัย เราเข้าไปสู่สถานที่ใด เกี่ยวข้องกับใคร จะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น นี่ก็เรียกว่าปฏิบัติธรรมะในทางวาจา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่งนั้นเรียกว่า ส่วนลึกของชีวิต ส่วนลึกของชีวิตก็อยู่ที่ใจของเรา เราทุกคนนี้มีกาย มีใจ กายกับใจนี้อาศัยกัน เหมือนคนอาศัยเรือเดินทางข้ามแม่น้ำ แล้วก็เป็นสิ่งจำเป็น ถ้าไม่มีเรือมันก็ข้ามไม่ได้ หรือถ้าไม่มีเรือก็ต้องมีแพ แพก็เป็นพาหนะสำหรับข้ามฝั่งเหมือนกัน ร่างกายนี้เหมือนเรือ เหมือนแพ ใจนั้นเป็นเจ้าของเรือ เจ้าของแพ เรือ แพจะเป็นอย่างไรก็เนื่องจากใจของบุคคลผู้นี้ ร่างกาย การแสดงออก ทุกสิ่งทุกอย่างของแต่ละบุคคล ล้วนขึ้นอยู่กับจิตใจของผู้นั้น ถ้าใจดี ใจงาม เรื่องอะไรๆ ก็เรียบร้อยเป็นไปในทางดี แต่ถ้าใจต่ำใจทราม การแสดงออกก็เป็นไปในทางชั่ว ในทางพระพุทธศาสนาจึงมีหลักไว้ว่า ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นหัวหน้า เป็นต้นเรื่องของสรรพสิ่งทั้งหลาย ที่ว่าเป็นหัวหน้าเป็นต้นเรื่อง ก็คือมันอยู่ที่ความคิดของเรานั่นเอง อะไรๆมันเกิดจากการคิดก่อน เราจะพูดเราก็คิดก่อน เราจะทำอะไรทางร่างกาย จะเคลื่อนไหวมือไม้ เท้า อะไรต่างๆ มันอยู่ที่ความคิด ถ้าใจไม่คิด กายมันก็ไม่เคลื่อนไหว ปากก็ไม่พูด เพราะใจไม่สั่ง คำสั่งออกจากใจ กายกับวาจานั้นเป็นผู้ทำตามสั่ง ท่านจึงกล่าวว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ทีนี้ถ้าได้นายดี บ่าวมันก็เรียบร้อย แต่ถ้าได้นายไม่ดี บ่าวก็แย่ ไม่ค่อยจะเรียบร้อย ประพฤติตนไม่เหมาะไม่สมด้วยประการต่างๆ เพราะว่านายไม่ดี ความสำคัญจึงอยู่ที่นาย ไม่ได้อยู่ที่บ่าว ก็เนื่องในโอวาทสามอย่างของพระพุทธเจ้าที่กล่าวว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่ทำบาปทั้งปวง กุสะลัสสูปะสัมปะทา การกระทำกุศลให้ถึงพร้อม สะจิตตะปะริโยทะปะนัง การกระทำจิตให้ขาวรอบ เอตัง พุทธานะสาสะนัง นี่แหละเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ในคำตรัสนี้มีอยู่ สามอย่าง หนึ่งละความชั่ว สองกระทำความดี สามทำใจให้สะอาด ละความชั่วแล้วก็ต้องทำดีด้วย ทำดีแล้ว ดีแต่เพียงกาย เพียงวาจา หรือดีเพียงขั้นศีล ศีลนี่ควบคุมกาย ควบคุมวาจา เช่นเราถือศีลห้าก็ควบคุมกายวาจาได้ แต่ว่ายังไม่ถึง ยังไม่ถึงขั้นยอด ยังไม่ถึงใจกลางของเรื่อง ใจกลางของเรื่องก็อยู่ที่ใจ ฉะนั้นอันสุดท้ายจึงว่า สะจิตตะปะริโยทะปะนัง จงทำจิตให้ขาวรอบ ให้ขาวสะอาด ให้หมดจนสิ้นเทอญ
(29.55 เสียงไม่ชัดเจน) การรักษาจิตนั้นเป็นขั้นสุดท้าย เป็นเรื่องที่จะต้องทำเป็นขั้นสุดท้าย ทำจิตให้สะอาดไว้ ทำไม จิตมีสกปรกหรือ จึงต้องทำให้สะอาด ว่าโดยธรรมชาติของจิตแท้ มันไม่ได้สกปรกอะไร ไม่ได้เศร้าหมองอะไร แต่ว่าอาศัยที่เรารับสิ่งภายนอกเข้ามา ด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจในสิ่งนั้นๆถูกต้อง ก็ไม่รู้ไม่เข้าใจจึงรับมาไว้ด้วยความหลงผิด เข้าใจผิดในสิ่งนั้นๆ แล้วเราก็เกิดความเศร้าหมองขึ้นในใจ ซึ่งมีความสุข มีความโลภ มีความหลง มีความริษยาพยาบาท ถือเนื้อ ถือตัวข่มดี อะไรต่างๆ อย่างนี้มันมาทีหลังทั้งนั้น มิใช่ของดั้งเดิมที่มีอยู่ในใจของเรา จนอาจทำจิตตะ เขาเรียกว่าเป็นแขกแปลกหน้าเข้ามาสู่เรือนใจของเรา เรารับหน้าด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ ที่ภาษาพระเขาเรียกว่า อวิชชา อวิชชาคือความไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องนั้นถูกต้อง แล้วก็รับมันไว้ รับไว้ด้วยความรัก รับไว้ด้วยความหลง รับไว้ด้วยความเกลียด เกลียดก็รับเหมือนกัน เช่นเราเกลียดคนนั้นเกลียดคนนี้เราก็รับไว้ด้วยความเกลียด แต่เรารักก็รับได้ด้วยความรัก ถ้าเราหลงก็รับได้ด้วยความหลง อย่างนี่รับไว้ เอามาสะสมไว้ในใจ จนเต็มไปหมด แล้วมันก็ไหลออกมาทางกาย ทางวาจา ไหลมาตามอำนาจที่เราได้สะสมไว้ในภายใน สะสมในทางไม่ดีแล้วมันก็ไหลออกมาในทางไม่ดี พูดก็ไม่ดี ทำก็ไม่ดี อาการแสดงออกทุกอย่างเป็นเรื่องไม่ดี อันนี้มันของใหม่ทั้งนั้น ไม่ใช่ของดั้งเดิม ไม่ใช่ของเก่า คือร่างกายกับจิตนั้นมันมีสภาพแตกต่างกัน แค่จำไว้ให้ดี โดยธรรมชาติของร่างกายนั้น สกปรกอยู่โดยธรรมชาติ ธรรมชาติจิตนั้นสะอาดอยู่โดยธรรมชาติ มันต่างกันตรงนี้ คือร่างกายมันสกปรกอยู่โดยธรรมชาติ ร่างกายเราทั้งเนื้อทั้งตัว ตั้งแต่ปลายผมถึงปลายเท้านี่มันสกปรกโดยธรรมชาติ เราจึงต้องอาบน้ำ ทาแป้ง แต่งตัว ใส่น้ำอบ ใส่น้ำหอมด้วยประการต่างๆ ที่ต้องทำอย่างนั้นก็เพื่ออะไร เพื่อดับกลิ่นที่ไม่สะอาดอันมีอยู่ในตัวเรานั่นเอง ลองเราปล่อยตามธรรมชาติสิ สามวันนี้เพื่อนนั่งใกล้ไม่ได้ ลองไม่อาบน้ำสักสามวัน วันเดียวก็พอ ไม่อาบน้ำวันหนึ่งเพื่อนไม่นั่งใกล้ ไม่แปรงฟัน ตื่นเช้าไม่แปรงฟัน พูดกับใครก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นทั้งเนื้อทั้งตัวนั้นเรื่องไม่สะอาดทั้งนั้น แล้วให้คิดดูว่าอะไรที่ไหนออกมาจากตัวคนนี่ มีอะไรสะอาดบ้าง ที่ (33.40 เสียงไม่ชัดเจน) ไหลออกมันมีมาก ไหลออกมาทางหู ไหลออกมาทางตา ออกมาทางจมูก ทางปาก ทางขุมขน ทางทวารเบาเป็นปัสสาวะ ทางทวารหนักเป็นอุจจาระ ลองพิจารณา มีอะไรที่สะอาดบ้าง มีอะไรน่ารักบ้าง มีอะไรน่าชมบ้าง เราลองพิจารณาด้วยปัญญา ก็จะเห็นว่า มันไม่มีอะไร ที่น่ารักน่าชม ไอ้ที่เรารักเราชมเราชอบกันอยู่นั้น เราทำไปด้วยความหลง หลับหูหลับตา มัวเมาไปตามเรื่อง ไม่ได้พิจารณาอะไร ถ้าพิจารณาแล้วก็จะเบื่อหน่ายในสิ่งเหล่านั้น
อันนั้นคือธรรมชาติของร่างกาย พูดไปแล้วโยมอย่าไปเบื่อร่างกายเข้า เดี๋ยวก็ไม่ไหวทั้งที สกปรกนี่ก็ไม่เอาไว้แล้ว กระโดดลงน้ำไปเลย อย่างนั้นก็ไม่ถูก เหมือนพระพุทธเจ้าเทศน์เรื่องความปฏิกูลของร่างกายให้พระฟัง พระไปกระโดดน้ำบ้าง โดดเหวบ้าง เนี่ยด้วยความเข้าใจผิด เราอยู่กับสิ่งสกปรก เราใช้สิ่งสกปรกให้เป็นประโยชน์ แม้ว่าของเน่าเนี่ยมันใช้ประโยชน์ได้ ทำปุ๋ยได้ ในเมื่อเน่าหญ้าเน่า อะไรเน่าๆเนี่ย เอาไปทำปุ๋ยได้ ต้นไม้ยังต้องการ แล้วก็เจริญ ออกใบออกดอกออกผลให้เรากินเราใช้ต่อไป ร่างกายเรานี้ก็เหมือนกัน มันเป็นของเปื่อยเน่า ถ้าเราใช้ร่างกายนี้เป็นเรื่องมือสำหรับไปสู่ฝั่ง คือความดับทุกข์ เขาเล่าเป็นเรื่องเปรียบเทียบว่า ชายคนหนึ่ง วิ่งหนีข้าศึก สี่คน ถือดาบมาทั้งสี่คนจะไล่ฆ่า แล้วก็วิ่งสุดฝีเท้า ไม่ให้ข้าศึกฆ่าได้ ก็มาถึงแม่น้ำกว้างใหญ่ กระแสน้ำเชี่ยว ไม่รู้ว่าจะไปอย่างไร ก็เห็นศพลอยอยู่ศพหนึ่ง เหม็นตึบๆ เขาก็กระโดดลงไปเกาะศพนั้น ทั้งๆที่เหม็นเต็มที แต่ว่าความกลัวไอ้เขาจะฆ่านี่มันแรงกว่า กลัวตายแรงกว่า เลยเอาศพนั้นแหละเป็นเรือแพ ก้มหน้าแล้วก็พาย อย่างรวดเร็ว สุดฝีมือเลย ออกจากฝั่งไปกลางน้ำ ไอ้ข้าศึกสี่คนก็ยืนมองตาเขียวอยู่นั่นเอง ไม่สามารถจะทำร้ายคนนั้นได้ คนนั้นก็ ความจริงก็เหม็น เกลียด มีหนอนด้วย ก็เลยรีบจ้ำใหญ่เพื่อจะได้ขึ้นฝั่งไวๆ พอถึงฝั่งก็ถีบศพลงน้ำ กระโดดขึ้นฝั่งเลย แล้วมองไปฝั่งโน่นหน่ะ โน่นยังขยับท่าอยู่ ตั้งท่าจะฟันไอ้ฝั่งนี้ ฟันลม ฟันคนไม่ได้แล้ว มันปลอดภัยฉันใด คนเรานี่ก็เหมือนกัน ร่างกายนี้เหมือนกับซากศพที่เราจะต้องใช้เพื่อเป็นแพสำหรับว่ายข้ามกระแสแห่งความทุกข์ ไอ้ความทุกข์นี้เหมือนกับทะเลใหญ่ ภาษาธรรมะเขาเรียก โอฆะ โอฆะแปลว่าห้วงน้ำใหญ่ โอฆสงสาร คือห้วงน้ำแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เราจึงตกอยู่ในห้วงน้ำใหญ่ ไม่ถึงฝั่งสักที เราว่ายก็งั้นๆ ไม่ไปฝั่งโน้นสักที ฝั่งโน้นคือฝั่งที่ไม่เหมือนฝั่งนี้ ฝั่งนี้มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย ฝั่งโน้นไม่มี ไม่มีอย่างนั้น ฝั่งนี้มีทุกข์แต่ฝั่งโน้นไม่มีทุกข์ แต่ก็ไปถึงฝั่งโน่น ทีนี้จะไปฝั่งโน่น มันจะต้องอาศัยร่างกายอันเปื่อยเน่าของเรานี่เองเพื่อข้ามไปสู่ฝั่งโน้น ให้ไปถึงฝั่งที่เราต้องการ ใช้ร่างกายเป็นแพ เป็นเครื่องมือเพื่อจะข้ามฝั่ง
ทุกครั้งที่เราเกี่ยวกับร่างกาย ก็ต้องเกี่ยวด้วยสติปัญญา แม้เราจะแต่งก็แต่งด้วยสติปัญญา ถ้าเราจะใช้ด้วยสติปัญญา ไม่หลง ไม่มัวเมาในสิ่งนั้น ไม่เพลิดเพลินจนเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ในสิ่งนั้น เช่นเราเห็นหนังเหี่ยว ซึ่งมันบอกความแก่ อย่าไปตกใจ บางคนพอเห็นเหี่ยว แหมตกใจกูแก่แล้ว จะทำยังไง ไปหาพวกหมอ เพื่อทำการผ่าตัดแต่งใบหน้าให้ตึง ตึงเพราะผูกไว้ข้างหลังหน่ะ นั่นเขาเรียกว่า ศัลยกรรมตกแต่ง ดึงให้ข้างหน้ามันเต่งต่อไปหน่อย อย่างนี้มันไม่จำเป็นอะไร เหล่านี้แล้วว่า มันเป็นอย่างนั้น ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น คือแก่ก็ต้องให้มันแก่ไป เราไม่ต้องไปเที่ยวดึง ดึงๆ แล้วเกิดโรคอะไรขึ้นมาก็จะลำบากไปกว่านั้น ทำให้เสียหายแก่ชีวิตไปเปล่าๆ พวกศัลยกรรมตกแต่งนี้เขาเรียกว่าเพื่อลวงคน หลอกคน อย่าไปทำ แล้วคนก็ไปทำ ทำก็แพงซะด้วย ไม่ได้ถูกๆ แล้วเราก็ไปทำ เนี่ยเรียกว่าไปทำด้วยความหลงใหลเข้าใจผิด ทำเพื่อเกิดกิเลสเปล่าๆ เราเห็นมันแก่ก็ว่า เอ้อ มันธรรมชาติ มันเป็นอย่างนั้น แต่มันก็ต้องแก่บ้าง ความจริงแก่มันตั้งแต่วันที่เกิดแล้ว คือแก่ได้หนึ่งชั่วโมง แก่ไป๒๔ ชั่วโมง แก่วันหนึ่ง แก่หนึ่งสัปดาห์ เดือนนึง ปีนึง (40.27 เสียงไม่ชัดเจน) ถ้าห้าสิบก็แก่ห้าสิบ อาตมานี่แก่ ๗๒ ยังไม่เต็มดี แก่ ๗๒ แล้ว แก่ไปเรื่อยๆ บางคนก็แก่ ๘๐ หน่ะ แก่ ๘๐ปี แก่ ๑๐๐ ปีมันก็เป็นไปตามเรื่อง ร่างกายมันเป็นอย่างนั้น อย่าไปยุ่งกับมันแต่ว่าใช้มันไปตามเรื่อง ใช้เพื่อประพฤติธรรม มองความแก่ให้เกิดปัญญา มองความเจ็บไข้ได้ป่วยให้เกิดปัญญา มองความเปลี่ยนแปลงของสังขารร่างกายให้เกิดปัญญา ถึงเรียกว่าเรามองเป็น มองแล้วเกิดปัญญานี้มองเป็น ถ้ามองแล้วเกิดกลุ้มใจ น้อยใจตัวเองว่าเรานี้ร่างกายไม่เหมือนเขาอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่สวยบ้าง ดำไปบ้าง ตาไม่ดีบ้าง อะไรไม่ดีบ้างก็ธรรมชาตินั่นแหละ รูปธรรม นามธรรม ทำเอาได้เมื่อใด มันเป็นเวรกรรมธรรมชาติ เราใช้มันให้เป็นประโยชน์ก็แล้วกัน เพราะการกระทำความดี การปฏิบัติตนเพื่อความพ้นทุกข์นี้ ไม่ได้มีการจำกัดจำเขี่ยไว้ ว่าเฉพาะคนนั้นเฉพาะคนนี้ ถามได้ (41.58 เสียงไม่ชัดเจน) ไม่ได้จำกัดว่าคนผิวขาวจึงจะพ้นทุกข์ได้ ผิวดำพ้นทุกข์ไม่ได้ หรือผิวดำพ้นทุกข์ได้ผิวขาวพ้นทุกข์ไม่ได้ ไม่ว่าอย่างนั้น
เมื่อมีใจที่จะรับรู้ในเรื่องความทุกข์ ในเรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ความดับทุกข์ได้ และแนวทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ได้ ผู้นั้นก็พ้นทุกข์ได้ สำคัญอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่ผิวกาย ไม่ได้อยู่ที่ผิวหนัง อันเป็นเรื่องภายนอก เราจึงควรคิดให้เกิดประโยชน์ อย่าไปคิดเอาแต่ผิวเผินข้างนอก คิดให้ซึ้งลงไปถึงเรื่องข้างในจิตใจ ธรรมชาติของร่างกายนั้นไม่สะอาด เราก็ต้องตกแต่ง อาบน้ำ ทาแป้ง แต่งตัวไปตามเรื่อง พอสมน้ำสมเนื้อ พอสมควร ไม่แต่งมากเกินไป แต่บางทีมันชักจะมากเกินไป คือบางคนเนี่ยดูแล้วตกใจ ไม่รู้ว่าจะทาไปทำไมมากมายขนาดนั้น เอ้อ เลอะเทอะทั้งหน้าเลย ไอ้ที่ตาเนี่ยไปทาทำไม ตาก็ตาเขี้ยวก็ทา มันเรื่องอะไร ที่ตา ตามันก็ดีอยู่แล้ว จะให้ตามันเขียวทำไม มีหนูคนหนึ่งมาที่กุฏิ ถามว่า หนูเป็นยังไง แกล้งยั่ว ถามว่าหนูเป็นยังไง ก็ไม่เป็นอะไร หึ ทำไมตาขอบช้ำเขียว มันหัวเราะคิก คิก คิกกัน หาว่าหลวงพ่อนี่เซ่อไม่รู้จักอะไร ว่าทำไมพูดอย่างนี้ ว่าทำไมถึงถามอย่างนั้น ก็ทามีไว้หยอดไว้ให้มันสวย แต่ว่าดูแล้วมันไม่สวยอะไร นึกในใจว่าทำไมไปทาอย่างนั้น มันไม่จำเป็นอะไร เพิ่มภาระให้แก่ผิวหนังเปล่าๆ ทาไปทามาเดี๋ยวผิวหนังอักเสบ เกิดปัญหา เกิดความทุกข์ขึ้นมาอีก มันใกล้กับลูกตาอยู่ตรงนี้ แล้วของนั้นถ้าเป็นพิษขึ้นมาก็ ซึมเข้าไปในตา ผิวหนังนี่มันซึมได้นะ มันมีรูเล็กๆอยู่ ทาที่ตานี่มันซึมลงไปถึงตาได้ ตาอาจจะเสียก็ได้นะ เราไม่รู้ว่าของมันมีพิษหรือป่าว ก็เที่ยวทาไปส่ง มันไม่จำเป็นอะไรที่จะต้องทาอย่างนั้น อันตรายเปล่าๆ เราแต่งพอสมควร เค้าเรียกพองาม ไปวัดไปวาก็แต่งพอสมควร ไปสมาคมอะไรก็แต่งพอสมควร ไม่เกินไปก็ใช้ได้ เราก็ใช้ร่างกายนี้ให้เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมในเรื่องอย่างนี้ ร่างกายมันเป็นอย่างนี้
ทีนี้เรื่องของใจนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เหมือนกาย คือธรรมชาติของจิตนั้นเป็นธรรมชาติที่สะอาด ผ่องใสอยู่ตลอดเวลา ประภัสสร พระพุทธเจ้าตรัสว่า (45.15) ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ, ตัญฺจโข อาคนฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ อุปกิลิฏฺฐํ นั่นคำบาลีว่าอย่างนั้น บอกว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้เป็นธรรมชาติผุดผ่อง ประภัสสร ปะภัสสะระ แปลว่า ผุดผ่อง คือผ่องใส เหมือนกับเพชรน้ำหนึ่งอยู่ตลอดเวลา แต่จะเศร้าหมองเพราะสิ่งที่ตอนเข้ามา ไอ้สิ่งที่ตอนเข้ามานั้นมาจากไหน มันมาทางตา รูปวิ่งเข้ามาทางตา เสียงเข้ามาทางหู กลิ่นเข้ามาทางจมูกและรสเข้ามาทางลิ้น สิ่งถูกต้องทางกายผัสสะ เขาเรียกโผฏทัพพะกระทบร่างกาย ผ่านปลายประสาทเข้ามา ใจก็ไปรับรู้สิ่งนั้น ใจไปรับรู้ที่ตา ไปรับรู้ที่หู ไปรับรู้ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย เนี่ย ไปรับรู้ เพราะว่าธรรมชาติของชีวิตนี้มันเป็นเครื่องยนต์ที่พิสดาร ประกอบเครื่องได้ดีมาก เรียบร้อย ตาเห็นนี้ปั๊ป รู้ได้ทันทีว่าเป็นอะไร แปลได้ทันที ส่งคลื่นถึงกันหมด ไอ้เครื่องมือมันอยู่ในสมองส่งถึงกันหมด แต่ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งของสมองเกิดไม่คล่อง มันเสียหาย เวลานี้พันเอกเสรี ผู้นำสวดมนต์ขัดข้องอะไรบางอย่าง นิดๆหน่อยๆ พอนั่งขึ้นแผ่เมตตาว่าไม่จบ อาตมานึกว่าแกง่วง เห็นแกนั่งก้มๆอยู่ เลยว่าโยมง่วงนี่ว่าวันนี้สวดไม่จบไม่ (47.10 เสียงไม่ชัดเจน) ไม่ใช่เรื่องง่วง เรื่องมันเป็นอัมพฤต เค้าเรียกว่าอัมพฤตนี้คือเส้นโลหิตฝอยที่ไปเลี้ยงสมองนี้มันไม่ค่อยเรียบร้อย ไปเลี้ยงไม่คล่อง เลยนึกไม่ออก เลยว่าไม่ค่อยถูก หมอดำรงค์เลยเข้ามาดูเลย อ้าว เสรีท่านไม่สบาย ไปโรงพยาบาล เลยไปโรงพยาบาลเลย หมอเลยกักตัวไว้ตรวจสอบต่อไป
นี่ ความไม่เที่ยงของร่างกายมันก็เห็นอย่างนี้ มันเป็นไปได้ เครื่องมันเสียได้ สมองส่วนใดส่วนหนึ่งเสียแล้วมันบังคับไม่ได้ เคลื่อนไหวไม่ได้ มือยังเคลื่อนไหวได้แต่ปลายมือปลายเท้ามันชา จับอะไรไม่รู้สึกนี่เขาเรียกว่าเป็นอัมพฤต เรียกว่าเป็นกองหน้าของอัมพาต อัมพฤตมาก่อนถ้ารักษาไม่ทันก็อัมพาตโจมตี อัมพาตโจมตีก็มือซีกหนึ่งใช้ไม่ได้ ร่างกายซีกหนึ่งใช้ไม่ได้ นอนอยู่ นอนนิ่ง แต่ว่ายังพูดได้ แต่ก็พูดอย่างนั้นไม่ค่อยได้เรื่องอะไร ทำอะไรก็ได้ไม่ นี่ ร่างกายมันเป็นอย่างนี้ โรคมันมีทั่วกัน เป็นเรื่องธรรมดา เราอย่าไปทุกข์ไปร้อนแต่ว่าป้องกันไว้บ้าง เรียนรู้เรื่องสุขภาพอนามัย ออกกำลังไว้บ้าง อะไรก็กัน กินอาหารพอสมควร อย่าใช้ให้มันเกิดพอดีไป มันเกิดปัญหา อาตมานี้ก็ใช้มันมากไปหน่อย ต่อไปนี้ก็จะไม่เอาหล่ะ ให้มันครบ๗๒ ก็แล้วกัน นี่ยังไม่ครบ ยังอีกหลายเดือน พอครบ๗๒ แล้วปิดรายการทีเดียว เอาแต่ที่วัดพอแล้ว ถ้าจะพูดก็วนอยู่ในพื้นที่นี้หล่ะ วนอยู่แถวนี้ กองทหาร โรงเรียน มหาวิทยาลัย วนอยู่แถวนี้เท่านี้พอแล้ว ถ้าข้างนอกก็บอกฟังวิทยุก็แล้วกัน ถ้าไม่ฟังวิทยุก็เอาเทปไปฟังก็แล้วกัน สมัยนี้สบายมีเทป ถ้าพระพุทธเจ้ามาเกิดในสมัยนี้ ไม่ต้องจาริกแล้ว นั่งเฝ้าสถานีวิทยุ พูดเรื่อยไป สบาย ไม่ต้องจาริกไปสอนคนแล้ว พูดกับที่เลย สบาย สะดวกแล้ว เดี๋ยวนี้นะ แก่แล้วก็ โยมอยากจะฟัง เอาเทปไปฟังที่บ้าน อัดเทปให้เยอะๆ เอาไปฟังกัน ปฏิบัติกันไปตามเรื่อง ก็สบาย ไม่เกิดปัญหายุ่งยาก ไม่ต้องเดินทาง เพราะว่าเดินทางบางทีมันก็สมบุกสมบันพอสมควร ทำให้ร่างกายมันประท้วง แก่แล้ว มันก็ปวดเอว ปวดหลังมั่ง สมัยก่อนไม่เคยเป็นไอ้โรคแบบนี้ ไปไหนก็ไปกัน นั่งรถจิ๊บขยุกขเยกไปในทุ่งในนา ไม่เหนื่อยหล่ะ แข็งแรง ต้านทานดี ไอ้นี่มันเครื่องเก่า เขาเรียกว่ารถเก่า จะเอาไปวิ่งทางที่มีหลุมมีบ่อ มันก็จอดกันเท่านั้นเอง มันไปไม่ไหว ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น เราก็ต้องประคับประครองไว้ เพื่อจะใช้นานๆให้เป็นประโยชน์แก่สาธุชนผู้สนใจธรรมะต่อไปเรื่องร่างกาย เรื่องจิตนี้มันผ่องใสดังที่ว่า แต่เศร้าหมองเพราะสิ่งที่เข้ามา
ทีนี้ในการปฏิบัติธรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราก็ต้องมีการฝึกจิต ฝึกจิตนี้ก็คือฝึกสติปัญญา ฝึกสติ ตัวสติสำคัญที่สุด ที่เราเรียกว่าสติ คำนี้เป็นคำสำคัญมาก สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตของคนเราทุกคน เป็นสิ่งที่เราขาดไม่ได้ ขาดเมื่อใดยุ่งเมื่อนั้น แม่ครัวนั้นหั่นผัก ปุ๊ปเลือดไหลละ ทำไมมีดชึ้บเข้ามา นั่นเพราะขาดสติ ขาดสตินี่ก็หั่นนิ้วชี้เข้าให้ ทำอะไรที่เจ็บเนื้อเจ็บตัวก็เพราะขาดสติ เดินถลำร่อง เต๊ะกระโถน อะไรๆมันขาดสติทั้งนั้น ถ้าเกิดปัญหาขึ้นในชีวิตเมื่อใด แสดงว่าสติบกพร่อง คือไม่สมบูรณ์ เมื่อสติไม่สมบูรณ์ก็เกิดปัญหา การกระทำมันสะดุด เกิดปัญหาขึ้นมาทันที คือต้องฝึกสติกับสัมปชัญญะสองตัวนี้ไว้ คือให้คอยสำเหนียกการกระทำของตน ตาเห็นรูปก็ให้รู้สึกตัวว่าได้เห็น หูได้ยินก็ให้รู้สึกตัวว่าได้ยิน ดมกลิ่นก็ให้รู้ว่าได้กลิ่นอะไร ลิ้มรสก็ให้รู้ว่ารสอะไร สัมผัสถูกต้องอะไรก็ให้รู้ว่าถูกต้องอะไร เอาเพียงเท่านั้น อย่าให้มากไปกว่านั้น ให้รู้ไว้ดักไว้ อย่าให้เกิดการปรุงแต่ง เพราะกรรมวิธีในชีวิตของคนเรานั้น มันไม่หยุดเพียงนั้น ถ้าเราไม่ไปกักมันไว้ มันไปกันใหญ่ ตาเห็นรูป เกิดความรู้ทางตา รูป ตา ความรู้ทางตามันรวมเข้าเป็นผัสสะ พอเป็นผัสสะแล้วเกิดยินดียินร้าย เขาเรียกว่าเวทนา ต่อจากเวทนาก็เกิดตัณหา ความอยาก อุปปาทานความยึดถือ แล้วก็เกิดความทุกข์ นี่แหละ สายมันมี ทางมันมี เหมือนเรารู้ว่าสัตว์มันเดินทางไหน จะไปดักไปทำบ่วงไว้ตรงนั้น ทำบ่วงแล้วสัตว์เดินมาทางนั้นก็ติดบ่วงสิ ติดบ่วงเราก็จับสัตว์เอาไปทุบแกงก็เท่านั้นเอง ฉันใด อารมณ์ต่างๆมันเข้ามาทางตา ทางหู จมูก ทางลิ้น ทางกาย เราก็คอยกำหนดรู้ไว้ ว่างๆนั่งคอยกำหนดรู้อาการของใจ เมื่อมีรูปกระทบตา เมื่อมีเสียงกระทบหู เมื่อมีกลิ่น เราคอยกำหนดใจ ดูว่ามันคิดอะไร มันนึกอะไร ให้รู้ไว้อย่างนั้น รู้ไว้ก่อน รู้ว่ามันคิดอะไร นึกอะไร ให้รู้ ถ้ารู้อยู่หล่ะก็ มันหยุดละ มันไม่ต่อ เพราะเรารู้ เพราะอะไรจึงหยุด เพราะว่าจิตเรามันคิดได้ทีละเรื่อง ไม่ได้คิดสองเรื่องพร้อมกัน ทีนี้พอเรารู้ ปุ๊ป มันหยุดปึ๊ป มันหยุดเราก็หมดเรื่อง ถ้ามันเกิดอยู่ตรงนี้อีก ก็หยุดอีก คอยสะกัดไว้อย่างนั้น ใจก็สงบไม่วุ่นวาย
การมีชีวิตอยู่ในโลก ควรจะอยู่ด้วยความสงบใจ ไม่ควรจะอยู่ด้วยความร้อน ไม่ควรจะอยู่ด้วยความทุกข์ ไม่ควรจะอยู่ด้วยความคิดชนิดสร้างปัญหาให้แก่คนอื่น แต่ควรจะอยู่ด้วยจิตใจที่สงบไม่วุ่นวาย ทีนี้มันไม่สงบหรอก ถ้าเราไม่ควบคุมหน่ะ ต้องมีสติคอยจ้องมันไว้ รู้ว่าอะไรมันจะเกิดขึ้นทางไหน เราก็จ้องทางนั้น คอยปิดไว้ทางนั้น ไม่ให้เข้ามา ก็ให้ใช้สติเนี่ยเป็นเครื่องกั้นไว้ ปิดไว้ อารมณ์เหล่านี้ก็ไม่เข้ามากอดจับอยู่ที่ใจ ใจเราก็ว่างจากอารมณ์ สงบ มันเป็นไปตามธรรมชาติ เพื่อให้เรากลับไปสู่ภาวะเดิม ภาวะเดิมของจิตก็คือความสงบ สะอาด สว่าง แต่นี่มันไม่สงบ เมื่อเรารับอารมณ์เข้ามา ที่เราโกรธ เราโกรธอะไร โกรธคนนั้น โกรธเหตุการณ์นั้น โกรธเรื่องนั้น หน่ะมีเรื่อง เราไม่ได้พิจารณาว่าโกรธทำไม โกรธเพราะเรื่องอะไร มีอะไรนักหรือที่ทำให้เราโกรธเคือง ถ้าคิดแยกแยะออกไปแล้วมันจะเบาลงไปเลย ไอ้อย่างนี้มันเป็นเรื่องปัญญา แต่ขั้นแรกต้องมีสติคุมไว้ก่อน เมื่อสติคุมได้แล้ว เราถึงได้ก้าวไปถึงขั้นปัญญาต่อไป พิจารณา แยกแยะในสิ่งเหล่านั้นให้เห็นว่ามันไม่มีอะไร ที่น่ารักน่าชัง ไม่มีอะไรที่น่าจะเอาจะเป็น แต่ว่าเราต้องเกี่ยวข้องเราก็เกี่ยวข้องตามหน้าที่ที่เราจะต้องทำตามหน้าที่ อย่างนี้มันก็ค่อยสบายใจขึ้น อาศัยธรรมะเป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจ ครอบครัวก็เป็นสุข ลูกเต้าก็เรียบร้อย ปัญหาต่างๆที่เคยเกิดก็ไม่เกิด เพราะเราควบคุมความรู้สึกนึกคิดของเราได้ สภาพทั้งหลายก็เปลี่ยนแปลงไปสู่ความดีขึ้นตามสมควรแก่ฐานะ อันนี้เป็นเรื่องที่น่าคิด น่านำไปใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
จึงขอนำมากล่าวให้ญาติโยมทั้งหลายฟังในวันนี้ ก็สมควรแก่เวลา ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งด้วยสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที