แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ใต้ร่มไม้ให้สบาย อย่าเดินไปเดินมาให้พลุกพล่าน รถก็อย่าเข้ามาในขณะนี้ เพราะเป็นเวลากำลังแสดงธรรม แล้วจงตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคม เป็นวันที่ ๓๑ พรุ่งนี้ก็เป็นวันขึ้นเดือนใหม่ต่อไป วันเวลาผ่านมาโดยลำดับ นับได้วันหนึ่ง เจ็ดวัน หนึ่งเดือน หนึ่งปี วันเวลาที่ผ่านไปนั้น ไม่ได้ผ่านไปแต่เวลาเฉยๆ แต่ทำชีวิตของเราให้ไปกับเวลาด้วย พระผู้มีพระภาคจึงตรัสไว้ว่า “เวลาย่อมเคี้ยวกินตัวมันเอง และสรรพสัตว์ทั้งหลาย”
สรรพสิ่งทั้งหลายขึ้นอยู่กับเวลา เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งนั้นก็ผ่านไป เรื่อยไปๆ คือ เปลี่ยนไปโดยลำดับ จากความเป็นน้อยๆ แล้วก็ค่อยเติบโตขึ้นๆ จนกระทั่งเต็มที่ แล้วต่อแต่นั้นก็ไม่เจริญเติบโต มีแต่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อม โดยเฉพาะชีวิตของคนเรานั้นมีการขึ้นแล้วก็มีการแตกดับไปในที่สุด เหมือนกันทุกคนไม่มีข้อยกเว้น
แม้สิ้นเดือนหนึ่งเราก็ควรจะได้คำนึงว่า ชีวิตของเราได้ผ่านไปอีกเดือนหนึ่งแล้ว เดือนนี้เราได้กระทำอะไรบ้าง ที่เป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ตน แก่ท่าน แก่ชาติ แก่พระศาสนา อันเป็นส่วนรวม เป็นเรื่องที่ควรพิจารณาไตร่ตรอง มองดูตัวเอง ให้รู้จักตัวเอง ให้รู้จักสิ่งที่มันเกิดมีขึ้นในตัว ให้รู้สาเหตุของสิ่งนั้น แล้วให้รู้ว่าเราจะแก้ไขสิ่งนั้นโดยวิธีใด
ชีวิตของคนเรานั้นจะต้องอยู่ด้วยการปรับปรุงแก้ไข ถ้าไม่มีการปรับปรุงแก้ไขแล้ว ชีวิตก็จะไม่สมบูรณ์ พระผู้มีพระภาคจึงสอนเราให้พิจารณาตัวเอง ตักเตือนตัวเอง แก้ไขตัวเอง ในเวลาสิ้นวันหนึ่งก็ต้องมีการมองดูตัวเอง สิ้นสัปดาห์หนึ่งก็ต้องมองดูตัวเอง สิ้นเดือนหนึ่งก็ต้องมองดูตัวเอง สิ้นปีก็ต้องมองกันเป็นการใหญ่ เพื่อสำรวจผลงานการประพฤติปฏิบัติ กำไรของชีวิตทั้งที่เป็นวัตถุ ทั้งที่เป็นจิตใจ ในรอบหนึ่งปีนั้น เพื่อให้รู้ว่าเราได้กำไร หรือเราว่าขาดทุนป่นปี้ ชีวิตใดเป็น ชีวิตที่มีกำไรก็ควรชื่นอกชื่นใจ ชีวิตใดเป็นชีวิตขาดทุนก็ควรจะได้เตือนตัวเองว่า
“ฉันเกิดมาทำไม” “ฉันมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร” สิ่งที่ดีที่สุด ที่ฉันควรจะประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันคืออะไร ฉันได้กระทำสิ่งนั้นอย่างสมบูรณ์เรียบร้อยแล้วหรือไม่
เช่น เราเกิดมาเป็นคนไทย เราก็ควรจะได้พิจารณาตัวเองว่า เรามีความเป็นไทยขนาดไหน ความเป็นไทยนั้นไม่ใช่เป็นโดยเชื้อชาติ ไม่ใช่เป็นโดยสัญชาติ แต่เป็นโดยจิตใจ คือจิตใจมีความเป็นไทยหรือไม่ ความเป็นทางจิตใจนั้นก็อยู่ที่ว่า จิตใจเราเป็นอิสระไม่ตกเป็นทาสของอะไรๆ เช่น ไม่เป็นทาสของการพนัน ไม่เป็นทาสสิ่งเสพติดทุกประเภท ไม่เป็นทาสของการคบคนผิด ไม่เป็นทาสของความสนุกสนานในยามราตรี ไม่เป็นทาสของความมัวเมา สนุกสนานประเภทสิ้นเปลืองเงินทอง ไม่ได้เรื่องได้แต่หน้าแต่ว่ากระเป๋ามันแฟบลงไป ไม่เป็นทาสของความเกียจคร้าน อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นไทยในแง่หนึ่งแล้ว
แล้วเราก็ไม่เป็นทาสของ “กิเลส” ประเภท อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด,อย่างหยาบ ก็คือ โลภะ ความอยากได้ในทรัพย์สมบัติของผู้อื่น โทสะ จิตคิดประทุษร้าย เบียดเบียนผู้อื่น โมหะ คือ ความหลงใหล มัวเมา ไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องอะไรๆ ถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริง นี่เป็นตัวกิเลส ที่เป็นเหตุให้ใจเศร้าหมอง คนมีความโลภย่อมฆ่าคนได้ มีความโกรธฆ่าคนได้ มีความหลงก็ฆ่าคนได้ คนมีความโลภลักของเขาก็ได้ มีความโกรธเกลียด จะทำลายมัน ไปลักเผาของเขาก็ได้ มีความหลงก็ไปทำความผิดอย่างใดก็ได้ อันนี้เป็นความเสียหายแก่ชีวิตการงานด้วยประการต่างๆ
เราจึงไม่ควรจะได้ประพฤติปฏิบัติ ในสิ่งอันเป็นความผิดความเสียหายเหล่านั้น เราต้องอยู่อย่างไทย เราไม่เป็นทาสสิ่งใดๆ และโดยจากสิ่งเฉพาะหน้า คือ เราไม่เป็นทาสอารมณ์ ที่มากระทบรูป กระทบตา เสียงกระทบหู กลิ่นกระทบจมูก รสกระทบลิ้น โผฏฐัพพะกระทบกายประสาท ใจก็ไม่ตกเป็นทาสของสิ่งนั้น
ความไม่เป็น ทาส ก็คือ ไม่ยินดีในสิ่งนั้น ไม่ยินร้ายในสิ่งนั้น, ความยินดีก็เป็นเหตุให้เป็นทาส ความยินร้ายก็เป็นเหตุให้เป็นทาส, ความไม่เป็นทาส ก็คือ ความไม่ยินดียินร้าย, ความไม่ยินดียินร้ายก็เพราะว่า มีสติ มีปัญญา เป็นเครื่องกำกับจิตใจ เราไม่ปล่อยตัว ปล่อยใจ ไปตามอารมณ์ที่มากระทบ เรียกว่าเป็น ตัวเอง อยู่ตลอดเวลา
ความเป็น ตัวเอง นั้นเป็นวาจาสมมติ เป็นคำพูดที่เราพูดเปรียบเทียบว่า เป็นตัวเอง เป็น ตัวเอง ของชาวบ้านมักจะก่อปัญหา เป็นตัวเองทีไรเกิดเรื่องทุกที เพราะเป็นตัวเองในรูปเป็นทาสกิเลส ไม่เป็นตัวเองในรูปของความเป็นไทย เช่น คนบางคนมีความโกรธขึ้นมา แล้วก็พูดคำหยาบ แล้วก็พูดว่า “มึงไม่รู้จักกูเรอะ นั่นกู นั่นกู”, ไอ้ “กู” ตัวนั้นไม่ใช่ “กู” ตัวแท้ ไม่ใช่ตัวเอง “ตัวเอง” นั้นคือ ความสะอาด คือ ความสงบ สว่าง ทางจิตใจ
สภาพ จิตเดิมแท้ มันสะอาด ไม่เศร้าหมอง ไม่มืดมัว ไม่เร้าร้อน ถ้าเราเป็นตัวเองก็อยู่ในสภาพสงบ ไม่ขึ้นไม่ลง กับอารมณ์ที่มากระทบ อย่างนั้นเรียกว่าเป็น “ตัวเอง” เป็นไทยแท้ คนเป็นตัวเองต้องประพฤติธรรม ไม่ประพฤติธรรมก็เป็นตัวเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราสำนึกว่าเราเป็น “ไทย” เราก็ต้องคิดว่า เราจะต้องเป็นตัวเอง, ตัวเองโดยสมมติ ตัวแท้ ตัวจริง มันหามีไม่ มันมีแต่สิ่งทั้งหลายปรุงแต่งกันเข้า ไหลไปตามอำนาจสิ่ง (08.02 เสียงไม่ชัดเจน) เข้ามาปรุงมาแต่ง ไม่มีอะไรที่เป็นเนื้อแท้ ร่างกายเรานี่ก็ไม่ใช่ของแท้ มันเป็นของประสมทั้งนั้น, ของประสมจากดิน จากน้ำ จากไฟ จากลม ประสมกันเข้า
ถ้าเราแยกส่วนร่างกายออกไป อาการ ๓๒ แยกเป็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ตับ ปอด ไต ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า มันสมองในกะโหลกศีรษะ นี่คือการแยกออก แยกออกแล้ว เราก็ไม่มีตัวอะไร แต่ว่าคนเรามันไปติดสิ่งที่ เราสมมติว่าเป็นตัวเป็นตน เมื่อติดตัวนั้นก็เรียกว่าเกิด “อัตตา” “อัตตวาทุปาทาน” การยึดมั่นในตัวตน พอมีตัวตนก็ยึดมั่นใน “กาม” ยึดมั่นใน “ทิฐิ” ยึดมั่นใน “สีลัพพตปรามาส” อะไรในรูป (09.00 เสียงไม่ชัดเจน) ต่างๆ อันจะเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตด้วยประการต่างๆ ล้วนแต่ว่าไม่เป็นตัวเองทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราจึงควรได้สำนึก และควรจะได้ปฏิบัติตน ให้เป็นตัวของตัวเองไว้ตลอดเวลา อย่าให้เป็นอะไรอื่นไป จึงเรียกว่า เป็นไทยสมชื่อ, เป็นไทยสมนาม
เราเป็น “มนุษย์” มนุษย์ต้องมีใจสูง มนุษย์ กับ คน ไม่ตรงกัน ไม่เหมือนกัน, คน นั้นเพียงแต่ว่าเกิดออกมา ร้องเหมือนเสียงคน ก็เรียกว่า “คน” ได้แล้ว ถ้าร้องเหมือนเสียง สุนัข ก็เรียกว่าเป็น สุนัข ไป, ร้องเหมือนเสียง แมว ก็เป็น แมวไป แต่ถ้าร้องเป็นแบบคน ก็เรียกว่า คน คนเกิดมาแล้วจะต้องปรับปรุง ชีวิต จิตใจ เพื่อความเป็น มนุษย์, มนุษย์ แปลว่า ผู้มีใจสูง, สูงด้วยอะไร? สูงด้วย “คุณธรรม” เป็นเครื่องค้ำจุนจิตใจ เอา “ศีล” มาค้ำจุนจิตใจ เอา “ธรรม” มาค้ำจุนจิตใจ เอากฎหมายมาค้ำจุนจิตใจ เอาวัฒนธรรมอันดีอันงามมาค้ำจุนจิตใจ
จิต ของบุคคลใดมีความละอายบาป มีความกลัวบาป มีความอดทน มีความสงบเสงี่ยม ผู้นั้นชื่อว่า ยกฐานะทางจิตใจ ขึ้นสู่ความเป็น มนุษย์, มนุษย์ต้องมีคุณธรรมหลายประการ คือ มนุษย์นั้นไม่ฆ่าใคร มีน้ำใจเมตตาปรานีต่อมนุษย์ทั้งหลาย ต่อสัตว์ทั้งหลาย มนุษย์ไม่ลักของ ของใครๆ แต่เป็นผู้พอใจในสิ่งที่ตนทำมาหาได้ ไม่เห็นของคนอื่น ว่าดีกว่าของตัว ไม่เอาของใครมาเป็นปัจจัยเครื่องยังชีพ
มนุษย์ เป็นผู้ไม่ประพฤติผิดในความรัก ความใคร่ ไม่มัวเมาในกาม ไม่ไปเที่ยวแสวงหาความสุขนอกบ้าน พอใจในคู่ครองของตน มีหนึ่งก็พอใจในหนึ่ง ไม่ใช่มีหนึ่งแล้วไปเที่ยวหาที่อื่น ให้มันเป็นสอง เป็นสาม ได้พบครอบครัวที่มีปัญหาอย่างนี้มีมาบ่อยๆ
แม่บ้านมาบอกให้ทราบว่ามีความทุกข์ แต่ถามไปถามมา ก็ทุกข์เพราะว่าพ่อเจ้าประคุณพ่อบ้านนั้น ไปมีเมียอีกคนหนึ่งแล้ว แล้วก็ไปหลงใหลมัวเมา ในคนที่ได้ใหม่ เป็นเหตุให้ไม่กลับบ้าน ไม่สนใจในเรื่องความเป็นอยู่ของลูก มัวเมาในกามที่แม่คนนั้นมาบำเรอให้ ด้วยความยั่วยวนชวนใจ อันผู้หญิงที่เป็นเมียน้อยเขานั้น มักจะทำตนเป็นคนเก่งกว่าเมียหลวง เพราะเขารู้ว่ามีเจ้าของ จะต้องทำทุกประการเพื่อให้ติดอกติดใจ ยั่วยวนชวนชมด้วยประการต่างๆ ผู้ชายก็เลยหลงใหล มัวเมา ไปในสิ่งนั้น ลืมบ้านเดิม คนเดิมก็มีความทุกข์ มีความเดือดร้อน เพราะผู้หญิงนั้นเขามีคติในใจว่า “เสียทองเท่าหัว ไม่ยอมเสียผัวให้ใคร” ก็เลยมี ความทุกข์
ทุกข์ เกิดจากอะไร ทุกข์เกิดจากความยึดถือว่า “ผัวกู ผัวกู” นี่เอง อันนี้เราก็เป็นทุกข์ คนอื่นเอาไปเราก็เสียดาย เราก็มีความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ แต่ถ้าเราทำเฉยๆ เสียบ้าง ช่างหัวมัน ใครอยากจะได้ก็เอาไป แล้วอย่าไปโกรธ อย่าไปเครียด อย่าไปดุไปว่า เขากลับมาก็ต้อนรับด้วยความเย็นใจ พูดจากันดีๆ แสดงอาการทำไม่รู้ไม่ชี้ เอาชนะกันด้วยความดี ดีกว่าชนะกันด้วยลมเพชรหึง อันจะพัดให้ตัวพัง บ้านพัง ครอบครัวพังทลายไป
ลมเพชรหึง นี่มันร้ายนัก อย่าให้มันพัดขึ้นในใจของเราอันขาด เมื่อเขาไปมีแล้วก็ต้องปล่อยไปก่อน วันหนึ่งเขาก็จะเบื่อ แล้วกลับมาหาเราเอง แต่ถ้าเราวู่วาม พูดจนเมียน้อยเขาก็ได้ใจ เขาดีใจ ดีใจว่ายั่วเมียหลวงให้โกรธได้ ให้เคืองได้ ให้ใจไหม้ ผิดปกติได้ เขาก็ยิ้มสบายๆ เพราะเขาได้พระเอกไปกกไปกอด เราก็นอนทอดถอนใจอยู่คนเดียว อันนี้เป็นความทุกข์
ถ้าจะแก้ทุกข์เรื่องนี้ เราก็ต้องทำใจเย็นๆ ทำไม่รู้ไม่ชี้ เวลาคุณกลับมาบ้านก็ออกไปต้อนรับ เอาอกเอาใจ ปฏิบัติวัตรทุกสิ่งทุกประการให้ชื่นอกชื่นใจ ของมันเก่าเคยอยู่กันมาก่อน เมื่อทำดีอย่างนี้ก็เกิดความเห็นอกเห็นใจกัน ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ อะไรอย่างนี้ จึงจะเอาชนะกันได้ ได้เคยแนะเคยสอนไปในรูปอย่างนั้น เพื่อให้ไม่เกิดปัญหา
แต่ว่าผู้ชายเรานี่ก็เหมือนกัน อย่าสร้างปัญหา ให้ถือศีลข้อที่ ๓ ให้เคร่งครัด อย่าไปเที่ยวล่วงล้ำกล้ำเกินอะไรๆ อย่าไปเที่ยวบาร์ อย่าไปเที่ยวไนต์คลับ สถานที่ท่องเที่ยวยามกลางคืน อย่ามองผู้หญิงอื่นว่าสวยกว่าเมียตน แต่ให้มองเห็นว่าก็เป็นธรรมดาเท่านั้น หรือว่าให้พิจารณากรรมฐาน ๕ ประการ เสียบ้าง ที่เวลาบวชพระอุปัชฌาย์ท่านสอนให้พิจารณาว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นสิ่งปฏิกูลน่าเกลียด ไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจ เพราะมันสกปรก ผมบนหัวก็สกปรก จึงต้องสระ ต้องสาง ต้องใส่น้ำมัน ต้องใส่อะไรหลายอย่าง เขาโฆษณาขายเรื่องบนหัวนี่เยอะแยะ หากินจากหัวคนนี่ได้สบายๆ
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดเป็นปัญหา สร้างความทุกข์ ความเดือดร้อน เราก็ควรพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้เห็นว่าเป็นของไม่สะอาด น่าเกลียด ไม่น่ารัก ไม่น่าชม มองไปแนวแง่ว่าน่าเกลียด ไม่น่ารักไม่น่าชม ความจริงมันก็สกปรกจริงๆ ผมบนหัวทำไมต้องสระบ่อยๆ ทำไมต้องใส่น้ำหอม, น้ำหอม ก็คือ ยาดับกลิ่นนั่นเอง เรามาใส่ไว้เพื่อไม่ให้กลิ่นเหม็นปรากฏ, ฟันในปาก ตื่นแต่เช้ายังไม่เคี้ยวกินอะไรสักหน่อย แต่ว่ามันก็สกปรก อ้าปากคุยกับใครก็ต้องเอามือป้องปาก เพราะมีกลิ่นไม่สะอาด อันนี้ปรากฏอยู่ในปากของเรา ทำให้เราเกิดปัญหา มองเห็นว่ามันสกปรก ผมก็สกปรก ปากก็สกปรก เล็บก็สกปรก ผิวหนังก็สกปรก ต้องอาบน้ำบ่อยๆ เหงื่อออกเมื่อไหนก็ต้องไปอาบน้ำ
แล้วให้นึกดูว่าของในร่างกายมนุษย์เรานี้ ถ้าไหลออกมาจากรูใดก็ตาม มีอะไรสะอาดบ้าง ออกมาทางตาเป็น ขี้ตา น่ารักไหม? ออกมาทางหู เป็น ขี้หู น่ารักไหม? ออกมาทางจมูก เป็น น้ำมูก น่ารักไหม? ออกมาทางปาก เป็น น้ำลาย น่ารักไหม? เป็น เสมหะ น่ารักไหม? ออกมาทางขุมขน เป็น เหงื่อ เหงื่อทั้งตัวนี่น่ากอด น่าจูบ น่าลูบ น่าคลำไหม? ออกมาทางทวารเบา เป็น ปัสสาวะ เหม็นหึ่ง ออกมาทางทวารหนัก ก็เป็น อุจจาระ ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ ให้นึกถึง “กลิ่น” ถึง “รูป” ของสิ่งเหล่านี้ อารมณ์ทางกามก็จะบรรเทาเบาบางลงไป แล้วก็เกิดความสบายใจ อันนี้แหละเครื่องมือปราบ “กามคุณ” ที่มันเกิดขึ้นในใจ เราจะอยู่โดยไม่ต้องไปประพฤติผิดในทางกาม
เช่น คนหนุ่มยังมิได้แต่งงาน อยากจะได้ผู้สาวที่บริสุทธิ์ แต่ตัวนั้นสกปรกเต็มที เอาไปแยงที่ไหนๆ มากี่รูแล้วก็ไม่รู้ แต่ว่าอยากได้ผู้หญิงที่บริสุทธิ์ เมื่อเราอยากได้คนบริสุทธิ์ เราก็ต้องบริสุทธิ์ มันจึงจะคู่ควรกัน นี่ของเราสกปรกก็เอาไปแยงในของเขาที่บริสุทธิ์ มันก็ไม่ยุติธรรม ถ้าให้ยุติธรรมเราต้องรักนวลสงวนตัวไว้ อย่าเที่ยว อย่าเตร่ แล้วการไปเที่ยวเตร่อย่างนั้น ก็เรียกว่า ผิดในกาม เพราะไปส่งเสริมสิ่งชั่วร้ายในสังคม คนหนุ่มไปเที่ยวบาร์ เที่ยวไนต์คลับ เที่ยวตามสถานท่องเที่ยวยามราตรีนั้น คือ ทำชั่ว ทำร้าย เพราะเราไปส่งเสริมสิ่งชั่วร้าย
เราเป็น ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ต้องเกลียดความชั่ว เกลียดคนชั่ว เกลียดสถานที่ชั่วๆ เราจะส่งเสริมความดี ส่งเสริมคนดี ส่งเสริมสถานที่ดี ที่งาม เราจะไม่ส่งเสริมสิ่งชั่วสิ่งทรามเป็นอันขาด เพราะมันจะเป็นเหตุให้เกิดปัญหา คือ ความทุกข์ ความเดือดร้อน ขึ้นในชีวิตด้วยประการต่างๆ อันนี้เป็นเรื่องที่ควรจะได้คิด ได้พิจารณาไว้ เพื่อเป็น “อาวุธ” ประหัสประหาร ความรู้สึกนึกคิดในทางกามารมณ์ เราก็จะเป็น มนุษย์ สมบูรณ์
มนุษย์สมบูรณ์ นั้นแม้จะมีครอบครัว เขาซ่องเสพกับภรรยาก็เพียงเพื่อมีพืช มีพันธุ์ไว้ สำหรับสืบสกุลเท่านั้น ถ้ามีพอสมควรแล้ว เราก็พูดกันว่า เราต่อไปนี้อยู่กันอย่างเพื่อน ไม่อยู่กันอย่าง สามีภรรยา แต่อยู่กันอย่าง เพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์กัน เราอยู่เพื่อลูกของเรา เราจะไม่ซ่องเสพกามารมณ์กันอีกต่อไป เรามาประพฤติพรหมจรรย์ และอยู่ด้วยกันตามฐานะของเพื่อนผู้สนิทสนมกัน ช่วยเหลือกัน อันนี้ชีวิตครอบครัวก็จะเรียบร้อย ไม่สร้างปัญหา ไม่สร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นในครอบครัว เพราะเราอยู่โดยธรรม
เหมือนกับ ท่านมหาตมา คานธี ผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศอินเดีย เมื่อท่านตัดสินใจว่าจะประพฤติพรหมจรรย์, พรหมจรรย์ ก็คือ การครองชีวิตที่บริสุทธิ์ ไม่แตะต้องสตรีเพศ ไม่มัวเมาในกามารมณ์ ท่านก็ไปบอกภรรยาว่าเรามีลูกพอแล้ว เราต่อไปนี้อยู่กันอย่างพี่อย่างน้อง จะไม่แตะเนื้อต้องหนังกันอีกต่อไป เราจะไม่อยู่อย่างสามีภรรยา ภรรยาก็ตกลงปลงใจในการเป็นอยู่อย่างนั้น แล้วท่านครองชีวิตอย่างสะอาด มีจิตใจมั่นคง อยู่ในศีลในธรรม มีความซื่อสัตย์ มีการบังคับตัวเอง มีความอดทน มีน้ำใจเสียสละ สิ่งใดที่ไม่ดีไม่งามแล้ว ท่านไม่แตะต้องเป็นอันขาด
แม้ว่าสิ่งนั้นจะมีมูลค่ามหาศาล ถ้าใครเอามาให้ท่าน ท่านมองเป็นกรวดเป็นทราย ไม่ปรารถนาอยากได้ นั่นแหละคือ นักการเมืองตัวอย่างในโลกนี้ เป็นนักการเมืองที่ไม่เอา มีแต่เรื่องที่จะให้ท่าเดียว ใครจะมาชวนทำอะไรในทางเหลวไหล ท่านไม่เอาด้วยเป็นอันขาด เพราะท่านถือธรรมะ ถือสัจจะ
“ถือธรรมะ ถือสัจจะ ชีวิตก็เจริญก้าวหน้า”
เมืองไทยเรานี้ถ้าคนอย่าง มหาตมา คานธี (20.25 ขื่อเต็ม) มาเกิด บ้านเมืองจะสงบ จะเจริญ จะก้าวหน้ามากกว่านี้ เราจึงควรจะได้เอาตัวอย่างคนเหล่านั้น มาส่งเสริมจิตใจของเราไว้ อย่าให้จิตใจของเราตกสู่ความชั่ว ความร้าย เราอยู่ด้วย ความรัก เราอยู่ด้วยความขยันปฏิบัติงาน เราอยู่ด้วยความมักน้อยในทางกาม พอใจในคู่ครองของตนเท่านั้น ไม่ส่งเสริมสิ่งยั่วยุกามารมณ์
เดี๋ยวนี้มีคดีอุกฉกรรจ์ มหันตโทษประเภทหนึ่งคือ การข่มขืนชำเราหญิง แล้วก็ฆ่ากันเลยทีเดียว อันนี้มันเกิดจากอะไร? ก็เกิดจากสิ่งยั่วยุประเภทต่างๆ ทางจอโทรทัศน์ ทางหน้าหนังสือพิมพ์ หนังสืออ่านเล่น แม้ภาพขายของ ก็ทำภาพประเภทโป๊ให้คนดู แต่เจ้าหน้าที่ไม่ต่อว่าต่อขาน ไม่ปรับปรุงแก้ไข แล้วคนก็เกิดอารมณ์ร้อนขึ้นมา เจอใครในที่เปลี่ยวมันก็ใจต่ำยิ่งกว่าสุนัขไปเสียด้วยซ้ำไป สุนัขมันเจอตัวเมีย มันก็ไม่ทำอะไรอย่างนั้น มันต้องเข้าไปดม ไปเลีย ถ้าตกลงปลงใจด้วย จึงจะลงมือกัน ถ้าตัวเมียทำท่าไม่ปลงใจมันก็ไม่ยุ่งเหมือนกัน สัตว์เดรัจฉานมันยังไม่ข่มขืนกันอย่างนั้น แต่คนเราที่เกิดเป็น คน ขาดคุณธรรมแห่งความเป็น มนุษย์ จึงมีจิตใจต่ำกว่าสัตว์เดรัจฉาน อันนี้เป็นเรื่องที่น่าคิดในสังคมในยุคปัจจุบัน เราจึงควรมาเป็น มนุษย์ ด้วยการรักษาจิตใจในแง่นี้ไว้
มนุษย์มีปกติพูดจาอย่างไร คนเรามีปาก ปากมีไว้พูด พูดเรื่องที่เป็นสาระเป็นแก่นเป็นสาร เราจะไม่พูดสิ่งเหลวไหล เราจะพูดแต่เรื่องที่ดีที่งาม พูดอย่างไรเรียกว่าพูดดี คือ พูดเป็นสุภาษิต, สุภาษิต คือ พูดดี, พูดดี ก็คือ พูดเรื่องจริง เรื่องแท้ พูดคำอ่อนหวาน พูดคำสมานสามัคคี พูดคำที่มีประโยชน์แก่ผู้พูด ผู้ฟัง อย่างนี้เรียกว่า “พูดดี มีคุณค่า” ถ้าเราพูดคำโกหก พูดคำที่ไม่เป็นสาระ เพ้อเจ้อ เหลวไหล พูดคำหยาบ ไม่สบายหู ก็เป็นคำพูดที่ไม่น่าฟัง เป็นคำพูดที่ไม่สัมมาวาจา ไม่เป็นสุภาษิต
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียน พระองค์ได้ทรงตักเตือนใครทั้งหลายว่า “พึงเปล่งวาจางาม” คือ ให้พูดวาจาที่ไพเราะ นิ่มนวล ชวนฟัง แล้วก็เป็นประโยชน์ ถ้าวาจาใดไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นคุณเป็นค่า ไม่ควรจะพูดวาจาเช่นนั้น ควรจะนั่งสงบๆ เสียดีกว่า ปากเราถ้าจะเปิด เปิดให้เป็นคำจริง คำอ่อนหวาน คำสมานสามัคคี คำที่มีประโยชน์
เพราะลิ้นคนนี้ใช้ประโยชน์ได้ ทำลายก็ได้, ลิ้นทำลายคนก็ได้ ใช้ประโยชน์ก็ได้ ถ้าว่าจะทำลาย คือ พูดจาถากถาง ให้เป็นไปในทางทำลาย เหมือน สุนทรภู่ เขียนไว้ในเรื่อง พระอภัยมณี ว่า “จำจะพลิ้วชิวหาเป็นอาวุธ สังหารบุตรเจ้าลังกาให้อาสัญ” นางวาลี นี้เป็นยักษ์เมืองลงกา เมื่อเป็นยักษ์ เป็นคนที่ว่าป่าๆ เถื่อนๆ สักหน่อย แต่ได้เข้ามาอยู่ในบ้านในเมือง แล้วต่อมาเขาจับ อุศเรน มาได้ มาขังไว้ นางก็คิดว่าจะไปฆ่าด้วยอาวุธ คือ ลิ้น, คือไปพูดถากถาง ให้เจ็บอกเจ็บใจ รำคาญ แล้วก็อัดอั้นตันใจ แล้วก็ตายไปเอง นี่เขาเรียกว่า ฆ่าด้วยลิ้น
คนเรานี่ฆ่ากันด้วยลิ้นนี้บ่อยๆ คือ ใช้ลิ้นฆ่ากัน ยุให้คนแตกกัน ให้ไม่รักกัน ไม่สามัคคีกัน ก็ใช้ลิ้นกันทั้งนั้น พวกทูตนี่บางทีใช้ลิ้นให้สองประเทศแตกกัน เพื่อจะได้รบกัน แล้วตัวก็จะได้ประโยชน์ เรียกว่า ทูตไม่มีสัมมาวาจา ก็มีเหมือนกัน โลกนี้มันเต็มไปด้วยความสับปลับ โกหก หลอกลวงกัน หน้าไว้หลังหลอกกัน ทีแรกก็ทำกันในรูปเช่นนั้น อันเป็นการสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในสังคม ด้วยประการต่างๆ
เราผู้เป็น พุทธบริษัท จึงควรจะทำตนให้เป็น มนุษย์ด้วยวาจา หัดพูดคำจริง คำอ่อนหวาน คำสมานสามัคคี คำที่มีประโยชน์ เวลาเราพบใคร เราควรจะแนะนำพร่ำเตือนคนเหล่านั้น ให้มีความสำนึกในความเป็น ไทย ให้มีความสำนึกในความเป็น มนุษย์ ให้มีความสำนึกในหน้าที่การงาน อันตนจะควรประพฤติปฏิบัติ ในชีวิตประจำวัน ก็จะเกิดคุณค่าแก่บุคคลผู้นั้น ไปไหนไปเพื่อพูดให้คนได้ประโยชน์ เรียกว่าเป็นคน “ปากหอม” ถ้าเราพูดสิ่งไม่ดีเราก็เป็นคน “ปากเหม็น” ไป คนปากเหม็นนี่ เหม็นไปไกลเป็นร้อยๆ กิโลเมตรก็มี เพราะชื่อมันดังไปในทางชั่ว ไม่ดี อันนี้ก็เรียกว่าเป็น มนุษย์ด้วยวาจา
เป็น มนุษย์ด้วยใจ ก็คือว่า ต้องเป็นคนมีสติ มีปัญญา คอยควบคุมจิตใจไว้ ไม่ให้ถูกความโลภครอบงำ ไม่ให้ความโกรธครอบงำ ไม่ให้ความหลงครอบงำ ไม่ให้ความพยาบาท อาฆาต จองเวร ครอบงำ ไม่ให้ความริษยาครอบงำจิตใจ พยายามรักษาจิตใจของตนไว้ไม่ให้ถูกครอบงำ ด้วยอำนาจกิเลสประเภทใดๆ เป็นอันขาด ก็ชื่อว่าเป็น มนุษย์สมบูรณ์
มนุษย์สมบูรณ์ นั้นต้องมี “ธรรมะ” ธรรมะเท่านั้น ทำ คน ให้เป็น มนุษย์, ธรรมะเท่านั้น ทำ คน ให้วิเศษกว่า สัตว์เดรัจฉาน ถ้าเราไม่มี ธรรมะ เราก็มีภาวะเหมือนสัตว์เดรัจฉาน เพราะเรากินอาหาร เราเสพเมถุน เราหลับนอน เรากลัวภัย เหมือนกันกับสัตว์เดรัจฉาน, สัตว์เดรัจฉานมันก็กินอาหารตามประเภทของมัน มันเสพเมถุนสืบพืช สืบพันธุ์ กันในบางฤดู ไม่เหมือนมนุษย์ เสพกันตลอดเวลา แล้วมันก็หลับนอนพักผ่อน มันกลัวภัย ทีอย่างนี้ใน คน กับใน สัตว์ มีสภาพเหมือนกัน
แต่ว่าคนเรานั้นวิเศษกว่าสัตว์เดรัจฉานตรงไหน? ตรงที่มี “คุณธรรม” เป็นเครื่องค้ำจุนจิตใจ มี “ธรรมะ” เป็นเครื่องค้ำจุนจิตใจ จึงเรียกว่าเป็น “มนุษย์” มนุษย์สมบูรณ์ มันเป็นกันอยู่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นเราควรจะพิจารณาว่า ในรอบเดือนที่ผ่านมานี้ เรามนุษย์เท่าใด เป็นอะไรอื่นบ้างไหม ถ้าพลาดจากมนุษย์ มันก็เป็น สัตว์เดรัจฉาน ก็ได้, เป็น สัตว์นรก ก็ได้, เป็น เปรต ก็ได้, เป็น อสุรกาย ก็ได้, เป็น ผี ก็ได้ เป็นไปได้ทั้งนั้น
ความเป็น ทั้งหลายนั้น มันเป็นอยู่ที่ไหน? ก็เป็นอยู่ “ใจ” ของเรานั่นแหละ ใจเรามันเปลี่ยนสภาพไปได้ ถ้าเปลี่ยนไปใน ทางต่ำ ก็เรียกว่าตก “อบาย”, อบาย ก็คือ สัตว์เดรัจฉาน สัตว์นรก เปรต อสุรกาย ผี อย่างนี้เขาเรียก อบาย คือ สภาพที่ไม่สบายเกิดขึ้นในจิตใจ คนเราเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็เป็นตรงที่ “โง่” นั่นเอง โง่ แล้วมันเป็นสัตว์เดรัจฉาน ท่านลองเอาไปพิจารณาดูสิว่า ท่านเป็นไหม
เช่น เราไปเล่นการพนันนี่ เราโง่, เราไปดื่มสุราเมรัยนี่ เราโง่, เราไปเที่ยวตามบาร์ ตามไนต์คลับ ยามค่ำคืนนี่ เราโง่, เราไปเดินตามหลังคนชั่ว ส่งเสริมความชั่วร้ายในสังคม เช่น เป็นเจ้าหน้าที่เลี้ยงคนชั่วไว้ ส่งเสริมความชั่ว มันโง่กันทั้งนั้น หรือว่าเราสนุกสนานแบบสิ้นเปลืองเงินทอง จนหมดเนื้อหมดตัว มันก็อยู่ในประเภทโง่, คนเกียจคร้านการงานนี่ก็โง่ ปล่อยให้กิเลสครอบงำจิตใจ จนไม่เป็นผู้เป็นคน นี่มันก็โง่
“ความโง่” นั่นแหละ คือ สัตว์เดรัจฉาน ที่เขาเรียกว่า ตายอย่าเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานนะ ไม่ต้องตายแล้วไปเกิดหรอก, ตายแล้วไปเกิดมองไม่เห็น ไม่รู้ว่าหมาตัวไหนมันเคยเป็นใครมาบ้าง เราไม่รู้ หรือแมวตัวไหนเคยเป็นใครมาบ้าง หรือม้าตัวใดเคยเป็นทหารม้ามาก่อนแล้วไม่รู้ เรามองไม่เห็น แต่ว่าเรารู้ว่า จิตใจคนนั้นเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะคิดโง่ๆ พูดโง่ๆ ทำโง่ๆ ชอบไปสู่สถานที่โง่ๆ ชอบคบกับคนที่มันไม่ดีไม่งาม ก็เรียกว่ามันเป็น สัตว์เดรัจฉาน ในสภาพของร่างกายคน จิตใจมันต่ำ ในสภาวะการเป็นสัตว์เดรัจฉานอย่างนี้ คือ ความโง่ นั่นเอง
แล้วเมื่อเราโง่ เราก็ทำผิด เมื่อทำผิดเราก็ร้อนอกร้อนใจ, ความร้อนอกร้อนใจ นั้นแหละคือ ความเป็น สัตว์นรก, นรก นั้นคือ ความร้อน ภาพนรก ก็คือ แผ่นเหล็กลุกเป็นเปลวอยู่ข้างล่าง อยู่ข้างบน อยู่ข้างขวา อยู่ข้างซ้าย อยู่ข้างหน้า อยู่ข้างหลัง หกทิศ นี่มันลุกเป็นเปลวไปทั้งหมด สัตว์นรก ยืนอยู่ในกองไฟนั้น ก็ยืนอยู่ใน ความร้อน นั่นแหละ ความร้อน นั่นคือ ร้อนในใจ คนเราทำผิดมันร้อนใจ เป็นหนี้เขามันร้อนใจ ฆ่าสัตว์แล้วก็ร้อนใจ ไปทำผิดอะไรผิดแล้วก็ร้อนใจ เหมือนกับผู้ชายบางคน ไปมีเมียน้อย แล้วเมียน้อยทำเรื่องให้เดือดร้อนใจ นั่นแหละ ตกนรก นอนตกนรก นั่งตกนรก เป็นทุกข์ กลัวนายจะรู้ กลัวจะถูกลงโทษตามกฎหมาย กลัวจะเสียชื่อเสียเสียง นี่มันร้อนใจ
ร้อนใจอย่างนี้ ก็เรียกว่า อยู่ในนรก นั่งในนรก นอนในนรก เดินอยู่ในนรก คือ ความร้อนอกร้อนใจ นรกนี้สิน่ากลัว นรกที่จะไปตกเมื่อตายแล้ว มันก็ไม่น่ากลัวเท่าใด เพราะว่าเราไม่เห็น แต่ที่เราเห็นนี่มันน่ากลัว พระพุทธศาสนา สอนสิ่งที่มองเห็นด้วยตนเอง “สันทิฐิโก” พระธรรม นี่เป็น สันทิฐิโก คือ ผู้ศึกษา ผู้ปฏิบัติ สามารถรู้ชัดด้วยตนเอง นรกในใจ ใครก็รู้ คนไทยเราจึงพูดว่า
“สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ” “นิพพานอยู่ที่ไหน ก็ที่ใจนั้นแหละ”
นี่เขาคนฉลาด บรรพบุรุษเราไม่โง่ รู้จักธรรมะถูกต้อง แต่ว่าคนบางคนอธิบายเขวไป โน่นนรกอยู่ใต้ดิน แบ่งเป็นขุมๆ บ่ออะไรที่ (31.28 เสียงไม่ชัดเจน) นั่นมันเป็นนรกที่ไม่เข้าท่า นรกที่น่ากลัว ก็คือ นรกนี้ นรกร้อนอกร้อนใจ ใครลองไปทำชั่ว แล้วมันก็ร้อนใจ คนอื่นอาจจะมองว่ามันยังกินดีอยู่ดีอยู่ มันเป็นเหมือน เวมานิกเปรต, เวมานิกเปรต นั้นเสวยความสุขในตอนกลางคืน กลางวันเดือดร้อน คนเราก็เป็นอย่างนั้น ตื่นอยู่ก็เดือดร้อน หลับไปเมื่อใดค่อยสบายใจ นี่แหละมันร้อนอยู่อย่างนี้ เรียกว่า นรก เป็น สัตว์นรก
เป็น “เปรต” หมายถึงอะไร จิตใจที่ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ ในสิ่งที่ตนต้องการ ก็สิ่งที่มนุษย์ต้องการนั้นมันก็มี ๕ เรื่อง คือ เรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องสัมผัส ๕ ประการนี้ ใครๆ ก็อยากมี อยากได้ ไม่รู้จักจบ ไม่รู้จักสิ้น ความอยากที่ไม่รู้จักจบสิ้นนั่นแหละ เขาเรียกว่าเป็น “เปรต” ภาพเปรตนั้นก็เขียน ร่างกายผอมเห็นโครงกระดูก แล้วก็ท้องโตเหมือนโอ่งสามคู้ ปากเล็กเท่ารูเข็ม ต้องกิน ๒๔ ชั่วโมง คือกินกันไม่หยุด อันนั้นคือ ภาพของความไม่รู้จักอิ่มนั่นเอง ไม่รู้จักพอนั่นเอง
ความไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ คือ ตัวเปรต อันนี้เราลองคิดดูว่า เราเป็นเปรตบ้างไหม? เรามีความอยากไม่รู้จักหยุดบ้างไหม? กระวนกระวายเพราะความอยากบ้างไหม? นั่นแหละ! ลักษณะ เปรต อยู่ในใจของเรา
“อสุรกาย” หมายถึงอะไร หมายถึง จิตใจที่ขี้ขลาด ไม่อยากเข้าใกล้ ผู้รู้ ไม่อยากเข้าใกล้ ผู้มีปัญญา กลัวเขาจะสอน กลัวเขาจะเตือน กลัวเขาจะชี้แนะแนวทางที่ถูกที่ชอบ อันตนจะได้ประพฤติปฏิบัติ แล้วจะได้พ้นไปจากความชั่ว ไม่อยากออกจากความชั่ว อยากอยู่ในที่แฉะๆ สกปรกรกรุงรัง สภาพ อสุรกาย ชอบเดินในตรอกซอกสกปรก ในที่ชื้นแฉะ จิตใจคนมันก็อย่างนั้นแหละ คนที่มีใจเป็น อสุรกาย ก็ชอบแต่ “ความชั่ว” ชอบแต่ความบาป ไม่ชอบความเจริญ คนไหนเจริญไม่อยากเข้าใกล้ คนไหนชั่วสนิทสนม ชอบความชั่ว ชอบคนชั่ว ชอบสถานที่ชั่วๆ ขี้ขลาดในการกระทำความดี ไม่ชอบไปวัด ไม่ชอบฟังธรรม ไม่ชอบอ่านหนังสือศาสนา กลัวตัวจะดีขึ้น กลัวจะไม่สนุกกับความชั่ว อย่างนั้นเขาเรียกว่าเป็นพวก อสุรกาย
ท่านลองคิดถึงตัวท่านเองว่าเป็น อสุรกาย บ้างไหม? ท่านกล้าที่จะไปฟังธรรมไหม? กล้าที่จะไปสนทนาธรรมะไหม? กล้าที่จะปฏิบัติ กาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อยดีงามไหม? ถ้ายังไม่กล้า ก็เรียกว่ายังอยู่ใน “อสุรกายภพ” เกิดเป็น อสุรกาย อยู่
พวก “ผี” นั้นหมายถึงใคร ผี ก็คือ ความคิดที่จะหลอก จะต้ม มนุษย์ทั้งหลาย เวลานี้ ผี ตั้งสำนักงานหลอกคนไปซาอุดีอาระเบีย ไปลิเบีย ไปคูเวต ไปประเทศตะวันออกกลาง แล้วไปถึงไม่มีงานทำ พาสปอร์ตก็ปลอมเสียด้วย คนเหล่านั้นถูกต้ม ถูกยำ สุกไปตามๆ กัน เปื่อยเหลือแต่กระดูกไปตามกัน เพราะ ผี มันตั้งสำนักงานหลอกคน อันนี้เขาเรียกว่า ผี , หรือว่า หนุ่มเมืองกรุงเทพฯ ไปหลอกสาวดอกคำใต้ เอามาขายกรุงเทพฯ (34.59 เสียงไม่ชัดเจน) ไปหาดใหญ่ (35.01 เสียงไม่ชัดเจน) ไปโกลก ส่งไปเมืองมาเลเชีย นี่มันพวก ผี ทั้งนั้น เที่ยวหลอก เราถ้าเราไปสำนักงานราชการก็พบ ผี ข้างสำนักงานเขาเรียกว่า ตีนโรงตีนศาล เที่ยวหลอก เที่ยวต้มเราด้วยประการต่างๆ นี่คือ “ผี” ทั้งนั้น ผี นี้แหละน่ากลัวโยม
ผี ที่อยู่ในป่าช้าไม่น่ากลัวอะไร เราไปนอนไปป่าช้า ก็ไม่มี ผี มาประท้วง “ทำไมมานอนที่ข้า” ไม่มีอย่างนั้น แต่ว่า ผี ที่อยู่ในร่างของคน ที่เที่ยวหลอก เที่ยวต้ม มันน่ากลัว ผีหลอกจนกระทั่ง พระสงฆ์องค์เจ้า (35.36 ไมยืนยันตัวสะกด) ยกยักกันไปตามๆ กัน นี่เรียกว่า ผี ที่มันหลอกเรา
เขาหลอกเราบ้าง เราหลอกตัวเองบ้าง, หลอกตัวเอง ก็คือ หลงในสิ่งที่เป็นมายา ไม่ใช่ของแท้ เป็นของเทียม เราก็ไปหลง, หลงเงาตัวเอง หลงความเป็นใหญ่ หลงความมีอำนาจวาสนา จนลืมตัวลืมตนไป แล้วคนที่อยู่ใกล้ๆ มองเห็นรัศมีออกจากกาย มีแสง (36.05 เสียงไม่ชัดเจน) ออกมาแล้ว มันก็เป็นกันไปใหญ่ ทำให้คนหลงใหลมัวเมา ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง อันนี้คือลักษณะจิตใจ คนที่เปลี่ยนไป ถ้าไม่เป็นมนุษย์ มันตกไปเป็นอย่างนั้น ไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นผี เป็นอะไรที่ต่ำๆ แต่ถ้าเรายกระดับจิตใจให้สูงขึ้น เราเป็น มนุษย์ สูงไปจากมนุษย์ เป็น เทวดา
เทวดา อยู่ที่ไหน ก็อยู่ในใจของเรานี่เหมือนกัน เราไม่ไปไหว้เทวดาไหน พุทธบริษัทนี่ไม่ไหว้เทวดาไหนทั้งนั้น ไม่ว่าเทวดาชั้นไหนเราไม่ไหว้ แต่เราต้องเป็น “เทวดา” เสียเอง, พุทธบริษัท ต้องเป็น เทวดา เสียเอง
เป็น เทวดา จะเป็นอย่างไร เป็นโดยการมี “ธรรมะประจำจิตใจ” เขาเรียกว่า “เทวธรรม”, เทวธรรม นั้นก็คือ ความเป็นคนละอายบาป กลัวบาป ตั้งมั่นอยู่ใน “กุศลกรรมบถ ๑๐” มี “สัปปุริสธรรม ๗ ประการ” นี่เขาเรียกว่า “เทวดา”, เราเป็น เทวดา เสียเอง อย่าไปเที่ยวไหว้เทวดาตามต้นไม้ เทวดาตามศาลเบ็ดเตล็ด เล็กๆ น้อยๆ เป็นเทวดาที่คนโง่สมมติตั้งขึ้น คนฉลาดต้องทำใจให้เป็น เทวดา เป็นมันเสียเองดีกว่า จะไปเที่ยวไหว้ทำไม เราทำใจให้เป็น เทพเจ้า เป็นผู้ (37.34 เสียงไม่ชัดเจน) ดีขึ้น ด้วยมีความละอายบาป กลัวบาป พ้นภัยแล้ว
คนละอายบาป กลัวบาป นี่มันก็พ้นภัยแล้ว มีจิตใจดีขึ้นแล้ว อยู่ในกุศลกรรมบถ ๑๐ คือ ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ประพฤติผิดในกาม พูดแต่ความจริง อ่อนหวาน สมานสามัคคี มีประโยชน์ ใจไม่โลภ ใจไม่โกรธ ใจไม่หลง เป็น เทวดา โดยมีกุศลกรรมบถ ๑๐, มี สัปปุริสธรรม ๗ ประจำจิตใจ คือ เป็นผู้ปกติ รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้เวลา รู้บุคคล รู้ประชุมชนที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง อย่างนี้เราก็เป็น เทวดา แล้ว เป็นเทวดาไม่ยาก อยู่วิมานมุงใบจากก็ได้ อยู่ทาวน์เฮาส์ก็ยังได้ อยู่บ้านจัดสรรก็ยังได้ เป็นเทวดาได้ ไม่ต้องอยู่วิมานสูง ๕๐ โยชน์ เทวดาจะเข่าหลุดเสียก่อนเพราะเดินขึ้นเดินลง มันลำบากเดือดร้อน นั่นมันเทพเจ้าในนิยาย ไม่ใช่ของจริง ของแท้ ตามหลักพระพุทธศาสนา
เทวดา ในพุทธศาสนา ก็คือ คนเรานี่เอง แต่ว่ามี คุณธรรม ของความเป็นเทวดา ให้สูงขึ้นไปกว่านั้น เราเป็น อริยบุคคล, เป็นอริยบุคคลชั้น โสดาบรรณ สกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ เป็นได้ทั้งนั้น พระพุทธเจ้าท่านเปิดทางกว้างเหลือเกิน ไม่สงวนสิทธิ ไม่มีทางส่วนตัว แต่เป็นทางสาธารณะ เป็นซุปเปอร์ไฮเวย์ ในด้านจิตใจ ใครจะไปเดินก็ได้ หญิงก็เดินได้ ชายก็เดินได้ ฝรั่งก็เดินได้ จีนก็เดินได้ แขกก็เดินได้ ไม่ได้จำกัด ไม่ว่าคนนั้นจะนับถือศาสนาอะไร ถ้าปฏิบัติตาม “อริยมรรค มีองค์ ๘” ของ พระพุทธเจ้า แล้ว ผู้นั้นจะเป็น อริยบุคคล ขึ้นมา จิตใจจะสูงส่ง
อริยะ ก็คือ ผู้ห่างไกลจากข้าศึก นั่นเอง, อริ ก็คือ ข้าศึก, ยะ แปลว่า ไป, อริยะ ก็แปลว่า ไปจากข้าศึก, ข้าศึก คือ กิเลส อันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน เราพ้นไปจากข้าศึกเหล่านั้น เป็น อริยะ, บุคคลเป็นอริยะ ก็ใจเป็นอริยะ
พระพุทธศาสนา ไม่เหมือนศาสนาใด อะไรๆ มันอยู่ในคนทั้งนั้น พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าอะไรๆ มันอยู่ในคนทั้งนั้น ในกายยาววา หนาคืบ กว้างศอกหนึ่งนี้ เราบัญญัติว่ามี ความทุกข์ มีเหตุให้เกิดทุกข์ มีความดับทุกข์ได้ มีข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ มันอยู่ในตัวเราทั้งนั้น ไม่ได้อยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้า ไม่อยู่ใต้ดิน ไม่อยู่ที่ไหน แต่อยู่ในคน คนเรามันมี กายยาววา หนาคืบ กว้างศอก พอจะมองเห็นได้ง่าย พิจารณาได้ง่าย แต่ถ้ามองไปตามแบบชาวโลก สากลจักรวาลมันกว้างใหญ่ไพศาลเหลือเกิน จะมองได้อย่างไร มองกันจนตายก็ไม่ได้เรื่อง แต่ถ้าเรามองไปที่ตัวเราแล้ว เราจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร สุขอยู่ที่ใจ ทุกข์อยู่ที่ใจ นรกอยู่ที่ใจ สวรรค์อยู่ที่ใจ พระอริยบุคคล นิพพาน ก็อยู่ที่ใจ
ปฏิบัติง่ายไม่ใช่หรือ ท่านทั้งหลายลองพิจารณาดูเถิดในเรื่องอย่างนี้ นี่คือเป็นได้ เราเป็นอะไรได้อย่างนี้ เราก็เป็นมนุษย์ได้ เป็นเทวดาได้ ใครอยากจะเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้ ถ้าท่านไม่รักเกียรติ ไม่รักศักดิ์ศรี ก็ไปเป็นเถิด อาตมาไม่ว่าอะไร ใครอยากจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน มันก็แย่ คนเราถ้าอยากอย่างนั้น เราไม่ควรจะมีความปรารถนาอย่างนั้น แต่ควรจะยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้นโดยลำดับ ให้นึกว่าเราเกิดมาเพื่อความสูงส่ง ไม่ได้เกิดมาเพื่อความตกต่ำของชีวิต แต่เกิดมาเพื่อความสูงส่ง เพื่อความดี เพื่อความงาม เพื่อความเจริญก้าวหน้าในชีวิตในการงาน ด้วยประการต่างๆ การเป็นอยู่จึงจะเป็นการถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์ของพระพุทธศาสนา นี้ประการหนึ่ง เรียกว่า ความเป็น มันเป็นกันอยู่อย่างนี้ เราจะเลือกเป็นเอาตามชอบใจ อย่าเลือกทางต่ำ เลือกทางสูงๆ ไว้ก็แล้วกัน
อีกประการหนึ่ง เราถามตัวเอง เราเป็นพุทธบริษัท เป็นสมชื่อหรือเปล่า, พุทธบริษัท ก็แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้มีความเบิกบานแจ่มใส “พุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้มีความเบิกบานแจ่มใส”
ท่านรู้หรือเปล่า? ท่านตื่นหรือเปล่า? ท่านมีความเบิกบานแจ่มใสด้วยคุณธรรมในจิตใจของท่านหรือเปล่า? อันนี้เป็นเรื่องที่ควรพิจารณา ให้มันเห็นชัดด้วยตัวของท่านเอง เรียกว่าเป็น “ผู้รู้” รู้อะไร, ก็รู้จักตัวเอง รู้จักสิ่งที่มันเกิดขึ้นในตัวท่าน รู้เหตุของสิ่งนั้น รู้ว่าสิ่งนั้นมันให้ทุกข์ ให้โทษอย่างไร แล้วก็จะออกไปจากสิ่งนั้น แล้วก็รู้ต่อไปว่าจะออกอย่างไร, จะออกไปจากสิ่งนั้นจะออกอย่างไร เราก็ต้องพิจารณาเพื่อให้รู้ ในเรื่องดังกล่าวนี้ เรียกว่าเป็น ผู้รู้, รู้สรรพสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง
รู้ในแง่ไหน? รู้ว่ามันไม่เที่ยง รู้ว่ามันเป็นทุกข์อยู่ รู้ว่ามันไม่มีอะไรที่เป็นเนื้อแท้ ที่เราควรจะเข้าไปยึดไปถือว่า สัตว์ บุคคล เป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา อันจะสร้างปัญหาให้แก่ชีวิตด้วยประการต่างๆ เหล่านี้เราเข้าใจ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเกิดขึ้น อะไรตั้งอยู่ กิเลสประเภทใดเกิดขึ้นในใจ ใจโลภรู้ว่าโลภ ใจโกรธรู้ว่าโกรธ ใจหลงก็รู้ว่าหลง ใจสงบก็รู้ว่าสงบ สภาพจิตเป็นอย่างไร เราคอยกำหนดรู้ รู้อยู่ตลอดเวลา ผู้ที่รู้อยู่ก็อยู่อย่างสงบ
มีท่านอุบาสกคนหนึ่ง อายุ ๑๐๒ ปี แล้วเวลานี้ ท่านอยู่ด้วยความรู้ตลอดเวลา ท่านรู้เท่านั้น จิตใจสงบไม่วุ่นวาย ไม่ต้องการอะไร เขาจะให้กินเมื่อใดก็ได้ ไม่ให้กินก็ได้ จะพาไปไหนก็ได้ ไม่พาไปไหนก็ได้ อยู่ไม่สร้างปัญหาให้แก่ใครๆ อยู่คนเดียวนั่งนิ่งๆ เฉยๆ ถามว่าเป็นอย่างไร...ก็ไม่เป็นอะไรหรอก สบายดี จิตใจเป็นปกติ ไม่มีอะไรที่จะเป็นทุกข์ เป็นร้อน มีแต่ตัวรู้ รู้ๆ อยู่ตลอดเวลา รู้อยู่ด้วยสตินั่นเอง สติกำหนดรู้ กำหนดจิตของตนอยู่ตลอดเวลา
จิตมีราคะ ก็รู้ว่ามีราคะ, มีโทสะ ก็รู้ว่ามีโทสะ, มีโมหะ ก็รู้ว่ามีโมหะ, จิตมีนิวรณ์ ก็รู้ว่ามีนิวรณ์ตัวใดเกิดขึ้น คอยกำหนดรู้...รู้ปั๊บ มันหายหน้าไป ถ้าไม่รู้มันต้องก่อสร้างบ้านเรือนขึ้นในจิตใจของเรา เพราะเราไม่รู้ แต่พอเรารู้ มันหนีหายไปเลย มันไม่ปรากฏแก่ใจเราต่อไป ท่านจึงเรียกว่าเป็น “ผู้รู้”, พุทโธ ผู้รู้ เพราะรู้อย่างนี้ แล้วจะทำอะไรก็ทำด้วยความรู้ คิดด้วยความรู้ พูดด้วยความรู้ ไปไหนก็ไปอย่างผู้รู้ ไม่ผิดไม่พลาด ไม่เกิดความเสียหาย
เป็น “ผู้ตื่นตัว” หมายถึงว่า มีสติประจำจิตใจ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พร้อมที่จะต่อสู้กับอารมณ์ พร้อมที่จะรับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่มีกระทบจักขุประสาท คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พร้อมที่จะรับสิ่งนั้น รับด้วย “ปัญญา” รับด้วย “สติ” ไม่ได้รับด้วยความโง่ ความหลงใหล เพลิดเพลิน มัวเมา เรารับมันด้วย ปัญญา ด้วยความคิดว่า “อันนี้เกิดขึ้น อันนี้ตั้งอยู่ อันนี้ดับไป”
ไม่มีอะไรนอกจากการการเกิด การตั้งอยู่ นอกการดับไป มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ มันเป็นเช่นนั้นเอง เอาหลักของพระพุทธเจ้า คือคำว่า “ตถาตา”, ตถาตา นี้หมายความว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง อะไรเกิดขึ้น อะไรตั้งอยู่ อะไรดับไป มันก็เป็นเช่นอยู่เช่นนั้นเอง ไม่มีอะไรน่ารัก ไม่มีอะไรน่าเอา ไม่มีอะไรที่น่าจะยึดถือ แต่มองสิ่งนั้นอยู่ด้วยปัญญา
มองด้วยปัญญามันก็เห็นชัด มองด้วยความโลภมันก็เห็นมัวๆ มองด้วยความโกรธก็เห็นมืดมัว มองด้วยความหลงก็มืดมัว แต่ถ้ามองด้วยปัญญา แจ๋วเหมือนกับมีแสงสว่างร้อยแรงเทียน เรามองอะไรเห็นหมดทุกสิ่งทุกประการ นี่เรียกว่าตื่นตัวอยู่อย่างนี้ ไม่หลับ “สติ โลกสฺมิ ชาคโร” สติ เป็นธรรมเครื่องตื่นในโลก
เราตื่นอยู่ด้วยสติ พุทธบริษัทเป็นผู้มีสติ เป็นผู้เตรียมพร้อม เป็นผู้ไม่ประมาท ประมาทก็คือขาดสติ มัวเมาก็ขาดสติ มันไม่พร้อม เมื่อไม่พร้อมมันก็เกิดเป็นปัญหา สร้างความสับสนวุ่นวายขึ้นในชีวิตจิตใจ ด้วยประการต่างๆ จึงเป็นทุกข์เดือดเนื้อร้อนใจ “ผู้ใดไม่ประมาท ผู้นั้นย่อมรู้, ผู้ใดประมาท ผู้นั้นไม่รู้” “ผู้ประมาท ก็คือ ผู้ตาย, ผู้ไม่ประมาท ก็คือ ผู้ไม่ตาย อยู่อย่างผู้ไม่ตาย”
พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย เป็นผู้ไม่ตาย พอพูดว่า พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ไม่ตาย คนโง่ก็มาพูดว่าก็ท่านนิพพาน ท่านเผาแล้วที่เมืองกุสินารายณ์ ไหนว่าไม่ตาย? นั่นมันเป็นเรื่อง “วัตถุ” ไม่ใช่เรื่อง “เนื้อแท้” ร่างกายของพระพุทธเจ้าตาย แต่ว่า ธรรมะไม่ตาย, ความรู้ คือ ธรรมะ เป็นสิ่งไม่ตาย เป็นสิ่งแทนพระองค์ พระองค์ตั้ง พระธรรม ไว้ให้เป็น ศาสดา แทนพระองค์ต่อไป เรียกว่า เป็นผู้ไม่ตาย, ธรรมะไม่ตาย, จิตไม่ตาย คือ จิตไม่เกิดไม่ดับ ในเรื่องอะไร แต่ว่ามีสภาพตื่นพร้อมอยู่ ก็เรียกว่า ผู้ไม่ตายในนามธรรม อันนี้เรียกว่าเป็น “พุทธะ” ผู้รู้ ผู้ตื่น
คนที่นับถือพระพุทธศาสนา มีจิตใจเบิกบาน, เบิกบานเพราะมองเห็นอะไรชัดเจน ตามสภาพที่เป็นจริง คนที่มีกิเลส มันไม่เบิกบาน จิตมันยุ่งด้วยความโลภ มันยุ่งด้วยความโกรธ มันยุ่งด้วยความหลง ยุ่งด้วยความริษยา วุ่นวายอยู่ด้วยความวิตกกังวล เป็น กามวิตก บ้าง คิดในเรื่องกาม หญิงสาววิตกคิดในเรื่องเบียดเบียนบ้าง พยาบาทวิตก คิดในเรื่องพยาบาทเขาบ้าง จิตมันวุ่นอยู่ตลอดเวลา
แต่ พระอรหันตเจ้าทั้งหลาย ท่านไม่คิดอย่างนั้น ท่านเป็นผู้เบิกบานอยู่ เหมือนดอกบัวบานยามเช้า รับแสงอาทิตย์ จิตของพระอรหันต์ก็บานอยู่ รับความจริง รับสัจธรรม เห็นอะไรก็เห็นเป็นธรรมไปหมด, เห็นเป็นธรรม ก็เห็นว่า...มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา ไม่เห็นเป็นตัวเป็นตน ไม่เห็นเป็นสัตว์ ไม่เห็นเป็นบุคคล ไม่เห็นเป็นเราเป็นเขา แต่เห็นว่ามันเป็นเพียง กระแสธรรมชาติ ที่ไหลไปตามอำนาจของการปรุงแต่ง หมดอำนาจการปรุงแต่ง มันก็แตกดับไปตามเรื่องธรรมชาติ ธรรมดามันเป็นเช่นนั้น ไม่มีอะไรที่จะฝืนกฎธรรมดา ธรรมชาติ นี้ได้
เราจะไปยึดเอาสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลง ว่าเป็นตัวเป็นตนได้อย่างไร ยึดเอาสิ่งที่เป็นความทุกข์ ว่าเป็นความสุขอย่างไร ยึดว่าสิ่งที่ไม่มีตัวตน ว่าเป็นตัวตนได้อย่างไร นั่นคือ ความโง่, ไม่ฉลาดในเรื่องปัญหาชีวิต เราจึงติดตัง คือ ความทุกข์ ความเดือดร้อน เหมือนลิงติดข้าวเหนียว, ข้าวเหนียวติดมือลิง ติดมือขวา เอามือซ้ายจับ ติดมือซ้าย เอาเท้าขวาจับ ติดเท้าขวา เอาเท้าซ้ายจับ ติดเท้าซ้าย เช็ดหน้าติดหน้า เช็ดตัวติดตัว, มันติดทั้งตัว เขาเรียกว่า “ลิงติดตัง” อย่างนี้มันก็ลำบากเดือดร้อน
“ลิงติดตัง” ไม่น่าแปลก “คนติดตัง” สิมันน่าแปลก เพราะคนนี่มันฉลาดกว่าลิง แต่ว่าไป ติดตัง นี่มันก็เรียกว่า เพราะความโง่ ความเขลา, ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ ในเรื่องนั้นตามสภาพที่เป็นจริง จึงได้ไปติดอยู่ในรูปอย่างนั้น
พี่น้องพุทธบริษัททั้งหลาย ท่านเป็นผู้รู้แล้วหรือยัง? ท่านเป็นผู้ตื่นแล้วหรือยัง? ท่านเป็นผู้เบิกบานแจ่มใส เพราะมองเห็นสิ่งทั้งหลาย ตามสภาพที่มันเป็นจริงแล้วหรือยัง? ถ้ายัง...ก็ต้องรีบเสีย รีบให้เป็น “พุทธบริษัท” ให้เป็น “ผู้รู้” ให้เป็น “ผู้ตื่น” ให้เป็น “ผู้เบิกบานแจ่มใส”
อย่าทำตนเป็นคนไม่รู้ อย่าทำตนเป็นคนหลับ อย่าทำตนเป็นคนที่ไม่เบิกบานในทางปัญญา อยู่อย่างคนโง่ คนเขลา อย่างคนที่ไม่รู้ไม่เข้าใจอะไร มันจะสร้างปัญหา คือ ความทุกข์ ความเดือดร้อน แก่ตัวของท่านเอง ไม่ได้ประโยชน์อะไร เรามาพบ พระพุทธศาสนา พบ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ แล้ว อย่าทำตนเป็น ไก่แจ้ ที่เขี่ยอาหารอยู่ในลานบ้าน ไปเจอพลอยเข้าเม็ดหนึ่ง มันไม่รู้คุณค่าอะไร มันนึกว่าสู้ข้าวสารหนึ่งเม็ดก็ไม่ได้...กินได้ พลอยนี่มันกินไม่ได้ แล้วมันก็เขี่ยไปในแปลงอื่นต่อไป ไก่แจ้ นี่มันเป็นสัตว์เดรัจฉาน มันไม่รู้จักอะไร
แต่ว่าคนเราบางทีก็ทำตนเหมือน ไก่แจ้ ไม่รู้จักเพชรพลอยที่มีค่า ไม่รู้จักรัตนะ คือ พระพุทธเจ้า, ไม่รู้จักรัตนะ คือ พระธรรม, ไม่รู้จักรัตนะ คือ พระสงฆ์, ไม่เอารัตนะสามประการนี้ มาประดับที่ใจ มาประดับที่กาย มาประดับวาจา เอาแต่เพชรนิลจินดา อัญมณีมาประดับ จนถูกจี้ถูกปล้น ได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน กันไปตามๆ กัน แต่ท่านประดับกายวาจาใจของท่านด้วย “พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ” แล้ว ท่านจะไม่มีใครมาจี้ ท่านจะไม่มีใครมาปล้นท่าน ท่านจะไปเดินอยู่ในหมู่โจร ท่านก็ไม่ถูกโจรจี้ปล้น ท่านจะไม่ถูกเขาทำร้าย
เพราะท่านมี พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ เป็นเกราะเพชรเจ็ดชั้น กั้นภัยอยู่แล้ว อันตรายภายในก็จะไม่มี อันตรายภายนอกก็จะไม่มี ท่านมีเครื่องรางวิเศษ ดีกว่าเครื่องรางที่เขาปลุกเสกขายกันในกรุงเทพฯ ตามวัดนั้นวัดนี้ ซึ่งเป็นเครื่องราง โง่ๆ เขลาๆ เรามีเครื่องรางแท้ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในใจของเรา เราก็จะได้รับสิ่งเป็นความสุข สมความปรารถนา
ดังที่ได้กล่าวมา ก็พอสมควรแก่กาลเวลา ขอยุติการกล่าว ธรรมกถา ไว้แต่เพียงเท่านี้ ในที่สุดนี้ก็ขออวยพรให้กำลังใจแก่ ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย ขอให้ท่านทั้งหลายได้เป็นไทย ได้เป็นมนุษย์ ได้เป็นพุทธบริษัท ที่ถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์ของพระพุทธศาสนา จงทั่วกันทุกท่านทุกคนเทอญ