แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยม ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายที่นั่งอยู่ในห้องประชุมนี้ และที่เดินไปเดินมา นั่งอยู่ตามถนนหนทาง ขอให้หยุดเดิน นั่ง ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงได้ชัดเจน และตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๑๐ เดือนตุลาคม เดือนตุลาคมเริ่มต้นมาได้ ๑๐ วัน เข้าวันนี้ และวันนี้เราถือว่าเป็นวันสำคัญของวัดนี้ ก็เป็นวันที่ญาติโยมทั้งหลายได้พร้อมใจกันมากระทำกิจตามประเพณีของผู้นับถือพระพุทธศาสนา คือทำบุญ ทอดกฐิน อันประเพณีที่คนไทยเราทำกันทั่วๆ ไป ในฤดูนี้ ถ้าเป็นวันเสาร์ วันอาทิตย์ ขับรถไปไหนๆ ตามถนนสายใหญ่ๆ จะเห็นว่ามีรถใหญ่บ้าง รถเล็กบ้าง ออกจากกรุงเทพ ประดับธงชาติ ธงศาสนา มากมายก่ายกอง เมื่อวานนี้อาตมาก็ไปจังหวัดสิงห์บุรี ขากลับมาตอนบ่าย ประมาณ ๓ โมงออกจากโน่น ก็สวนทางกับรถที่ออกจากกรุงเทพ ล้วนแต่เป็นรถกฐินทั้งนั้น ไปเมืองนั้น ไปเมืองนี้ ฤดูนี้เป็นฤดูที่ชาวกรุงเทพออกไปสงเคราะห์ชาวชนบทด้วยการนำปัจจัยไปทำบุญตามวัดต่างๆ มีจำนวนมากมาย แล้วในกรุงเทพเองก็มีการทำบุญทั่วไป วันเสาร์ วันอาทิตย์ สี่ครั้งในเดือนนี้ ทุกคนก็มุ่งแต่จะทำบุญประเภทเดียวกัน คือ ทอดกฐิน ที่วัดชลประทานเรานี้ก็มีการทอดเช่นเดียวกัน แต่ว่ากฐินที่วัดนี้ทอดเพื่อเอาปัจจัยมาสร้างสถานการศึกษาแก่เด็กๆ เรียกว่าโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์
พอตั้งขึ้นแล้วจะได้เอาเด็กมาสอนธรรมะให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา เป็นประโยชน์ เป็นความสุขแก่ส่วนรวม คือแก่พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และท่านผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับเด็กว่าเด็กเติบโตขึ้นจะเป็นคนดีของชาติ ของบ้านเมือง ก็ย่อมจะทำคนที่ได้ประสบพบเห็นมีความสุขทั่วกัน จึงเป็นกิจที่ควรจะได้ช่วยกันทำให้แพร่หลาย แต่ว่าการทำโรงเรียนวันอาทิตย์นั้น นอกจากมีสถานที่แล้ว ต้องมีคนที่สอน ก็ถ้าพระสอนยังหาได้ยากอยู่ตามวัดต่างๆ ยังไม่มีพระที่จะสอนได้ แต่วัดใดมีพระพอจะสอนได้ เราก็จัดการเปิดขึ้น เพื่อให้ช่วยกันอบรมเด็กในวันอาทิตย์เพราะเป็นวัดหยุดงาน หยุดการ เป็นหน้าที่ของเราทุกคน ที่จะช่วยกันทำกันทำกิจการประเภทนี้ให้เกิดขึ้นแล้วก็บำรุงรักษาให้เจริญงอกงามต่อไป คล้ายๆ กับเราปลูกต้นไม้ ปลูกลงไปแล้วก็ต้องรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ดูแลไม่ให้ตัวหนอนมากัดกินใบ เจาะไชรากและลำต้น ต้นไม้นั้นก็จะเจริญเติบโต ให้ร่ม ให้เงา ให้ผล ให้ดอก แก่เราทั้งหลายฉันใด กิจการด้านพระศาสนานี้ก็เหมือนกัน เมื่อเราได้เริ่มทำลงไปแล้ว ก็ต้องช่วยกันบำรุงรักษา ให้เจริญก้าวหน้าต่อไป เริ่มต้นนั้นอาจจะลำบากนิดหน่อย เช่น เราสร้างสถานที่ ต้องลงทุนมาก หลายล้าน แต่ถ้าความร่วมแรงร่วมใจกันทำก็คงไม่หนักอกหนักใจ ดังที่ญาติโยมได้ทำมาตั้งแต่เริ่มต้นก็ไม่เป็นการหนักใจ วันนี้เราก็มาเพิ่มทุน เพื่อสร้างอาคารเรียนให้สำเร็จ แล้วจะได้ใช้อาคารนั้นให้เป็นประโยชน์ ในการศึกษาธรรมะของเด็ก ของผู้ใหญ่ ของใครต่อใครอีกมากหลาย มีโครงการอยู่ในใจ ยังไม่บอกให้ใครรู้ใครทราบ ว่าสร้างอาคารเสร็จแล้ว ก็จะทำตามโครงการที่ตั้งไว้ จะเป็นประโยชน์ เป็นความสุขแก่คนส่วนมากต่อไป
ความจริงคนเราทุกคนที่เกิดมามีชีวิตอยู่ในโลก เราก็ได้รับสิ่งเป็นประโยชน์จากสิ่งต่างๆ เพื่อการดำรงชีวิต ต้นไม้ก็ให้ประโยชน์แก่เรา ดวงอาทิตย์ในท้องฟ้าก็ให้ความอบอุ่น ให้ความร้อน ความร้อนทำให้สิ่งที่มีชีวิตอยู่ได้ ถ้าไม่มีความร้อนต้นไม้ก็ตาย คนก็ตาย น้ำก็จะไม่กลายเป็นไอ แล้วก็จะไม่มีฝนตก ความชุ่มชื่นในโลกก็จะหายไป อะไรๆ ก็จะไม่มีชีวิตเหมือนในโลกพระจันทร์ ไม่มีสิ่งที่มีชีวิต ในโลกที่เราอยู่อาศัยนี้ ยังมีความร้อนจากดวงอาทิตย์พอเหมาะพอควร คือไม่ร้อนเกินไป เราก็อยู่ได้ ชีวิตสมบูรณ์ นั่นคือสิ่งที่เราๆ ได้รับจากสิ่งนั้น อะไรๆ ที่อยู่รอบตัวเรานั้น ถ้าเราคิดดูให้ดีแล้ว เราจะมองเห็นว่ามันให้อะไรแก่เรา ต้นไม้ที่เรามองเขียวๆ นั้น เรารู้สึกอย่างไร ขณะที่เรามองต้นไม้สีเขียว เราก็จะรู้สึกชุ่มชื่น สบายใจ ที่ใดที่ไม่มีต้นไม้ มองไปแล้วเห็นแต่ดินทรายแห้งผาก มองแล้วรู้สึกอย่างไร เราก็ไม่สบายใจ เพราะไม่มีอะไรให้ชื่นตา ต้นไม้ทำให้เราชื่นตาชื่นใจ ก็เท่ากับว่าต้นไม้นั้นให้อะไรแก่เราอยู่ในตัว เราได้รับประโยชน์จากสิ่งนั้น คนที่อยู่ร่วมกันก็ให้กันอยู่ตลอดเวลา คุณแม่ให้ชีวิตแก่เรา กับคุณพ่อร่วมกัน ว่าเราเกิดมาแล้วเราดูดน้ำนมจากนมของแม่ แม่ให้ชีวิต ให้อาหาร ให้ความอบอุ่นทางร่างกาย ให้ความรู้ ให้ความสามารถ ให้การศึกษาเล่าเรียน จนกระทั่งเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ นั่นก็คือท่านให้แก่เรา และเราอยู่ในสังคม คนทั้งหลายก็ให้ความสุขแก่เรา ความสุขที่เราได้รับจากคนอื่นก็คือความเมตตาปรานี ที่เขามองเราเป็นเพื่อน เป็นญาติ เป็นมิตร เขาไม่มองเราเป็นศัตรูผู้มุ่งร้าย แต่เห็นว่าเป็นเพื่อนกัน ร่วมเกิด ร่วมแก่ ร่วมเจ็บ ร่วมตายด้วยกัน เราก็มีความสบายใจ ที่สบายใจนั้น เพราะคนเหล่านั้นให้ความเอ็นดูแก่เรา ทำไมคนเหล่านั้นจึงให้ความเอ็นดูแก่เรา ก็เพราะเขามีธรรมะเป็นหลักครองใจ มีคุณธรรมคือความเมตตาปรานีประจำจิตใจ เขาก็ให้ความเอ็นดูแก่เรา ความรักแก่เรา เมื่อเราเกิดทุกข์ยาก ลำบากในเรื่องอะไรๆ เขาก็ให้ความช่วยเหลือ เช่น น้ำท่วมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คนที่อยู่ในสภาพที่ไม่ลำบาก ได้รับความสุข ความสบาย ก็เฉลี่ยความสุขนั้นไปให้แก่คนเหล่านั้น ส่งข้าวสาร เสื้อผ้า หยูกยาไปช่วยเหลือ คนเหล่านั้นก็มีความสบายใจว่าพวกเราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว ไม่ใช่คนที่เป็นส่วนเกินของสังคม มีคนช่วยเหลือเจือจุนแก่เรา เขาก็ได้รับความสุขทางใจ เมื่อเขาได้รับความสุขทางใจจากการกระทำอย่างนั้น เขาก็จะกระทำสิ่งนั้นต่อไป เพราะเขารู้ว่าทำอย่างนั้นได้สุข เขาก็จะทำสิ่งนั้นแก่คนอื่นต่อไปอีก มันส่งทอดกันไปโดยลำดับ เราก็ได้รับความสุขในสังคม ความสุขที่เราได้รับนั้นเกิดจากบุคคลผู้ประพฤติธรรม
ถ้าคนไม่ประพฤติธรรมก็จะทำแต่ความทุกข์ ความเดือดร้อนให้แก่บุคคลอื่น แต่ถ้าเขาประพฤติธรรม มีธรรมะเป็นหลักครองใจตามหลักศาสนาที่ตนเคารพนับถือ จิตใจก็โอนอ่อน เห็นคนอื่นเหมือนกับตัวเอง มองอะไรของคนอื่นเหมือนกับมองที่ตัวเอง รู้จักเปรียบเทียบระหว่างตนกับบุคคลอื่น แล้วรู้สึกว่าเราต้องการอะไร คนอื่นเขาก็ต้องการอย่างนั้น เช่นเราต้องการความสุข คนอื่นเขาก็ต้องการความสุข เราไม่ต้องการความทุกข์ คนอื่นเขาก็ไม่ต้องการความทุกข์ เมื่อเราต้องการความสุขก็ต้องช่วยให้คนอื่นเป็นสุข การช่วยให้คนอื่นเป็นสุข คือการช่วยตัวเอง คือช่วยให้เราเป็นสุขด้วย ในขณะใดที่เราทำอะไรที่เป็นประโยชน์ เป็นความสุขแก่ผู้อื่น เรารู้สึกปลื้มใจ เบาใจ โปร่งใจ มีความสบายเหลือเกิน บางทีก็สบายไปหลายวัน นึกถึงทีไรแล้วก็ปลื้มอกปลื้มใจ ว่าเราได้ทำอะไรๆ ที่เป็นประโยชน์ เป็นความสุขแก่ผู้อื่น การทำอะไรให้คนอื่นเป็นสุขนั้น เรียกว่าเป็นหน้าที่ หน้าที่ของมนุษย์ก็คือการทำให้คนอื่นเป็นสุขนั่นเอง การทำให้คนอื่นมีความทุกข์ แม้สักนิดหนึ่ง นอกเหนือหน้าที่ ปฏิบัตินอกลู่นอกทาง ไม่ใช่สิ่งที่สังคมต้องการ หน้าที่ของเรานั้นมีอย่างเดียวว่า ทำอย่างไรที่จะให้เพื่อนมนุษย์ได้รับความสุข ความสบาย ปราศจากทุกข์โศกโรคภัย ให้อยู่กันฉันท์พี่น้อง นั่นคือหน้าที่ ถ้าคนเราทุกชาติ ทุกภาษา ทุก ... (11.49 เสียงไม่ชัดเจน) มีความคิดตรงกันในแนวนี้ว่า เราเกิดมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ และหน้าที่ที่สำคัญก็คือว่า ทำอะไรๆ ให้เพื่อนมนุษย์มีความสุขใจ อันนี้ควรจะเป็นหลักการประจำจิตใจของเราทุกคน ถ้าเรามีหลักการประจำใจในรูปอย่างนี้ เราเบียดเบียนกันไม่ได้ เราจะฆ่าใครไม่ได้ จะไปลักของใครก็ไม่ได้ จะไปประพฤติผิดในทางกามก็ไม่ได้ จะพูดโกหกหลอกลวงใครก็ไม่ได้ จะดื่มกินสุราเมรัยจนเมามาย หาความทุกข์ให้แก่ครอบครัวก็ไม่ได้ เพราะเรามีความสำนึกว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะกระทำเช่นนั้น
หน้าที่ของเรานั้นอำนวยแต่ความสุขความสบายให้แก่คนทุกคนที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง พ่อบ้านมีหน้าที่อำนวยความสุขให้แก่ครอบครัว แม่บ้านก็มีหน้าที่อำนวยความสุขให้แก่ครอบครัว ลูกก็มีหน้าที่ที่จะประพฤติปฏิบัติให้คุณพ่อ คุณแม่สบายใจ ครูมีหน้าที่ที่จะทำให้ศิษย์เจริญงอกงามด้วยความรู้ ความฉลาด ด้วยความประพฤติดี ให้ศิษย์มีความภูมิใจในทางที่ถูกที่ชอบ ศิษย์ก็มีความสำนึกว่าเราเป็นผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับคุณครู ก็จะต้องทำอะไรทุกอย่างให้ครูสบายใจ เช่น ตั้งใจเล่าเรียน มีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อครูอาจารย์ ประพฤติสิ่งที่ถูกที่ชอบ ครูก็สบายใจ มีความสุขใจ เราคิดในเรื่องนี้แล้วมันสบายทั่วหน้า ไม่ว่าเราจะอยู่ ณ ที่ใด เกี่ยวข้องกับใคร เราก็คิดไว้ในใจว่า หน้าที่สำคัญของเรานั้นคือการทำคนอื่นให้มีความสุข ความสบาย การทำอะไรให้คนอื่นมีความสุขนั่นแหละ คือการปฏิบัติชอบ ในฐานะที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แต่ว่าคนเรายังไม่ค่อยได้คิดถึงแง่นี้ ไม่เอาปัญญาส่วนนี้มาใส่ไว้ในใจ มีความคิดว่าตัวได้ คนอื่นช่างเขา ตัวสบายแล้ว คนอื่นช่างเขา ถ้าคิดอย่างนี้ก็เรียกว่าไม่มีน้ำใจคิดถึงเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน เราอยู่คนเดียวไม่ได้ เราจะสุขคนเดียวไม่ได้ เราจะมั่งมีคนเดียวก็ไม่ได้ อะไรๆ เป็นของคนเดียวไม่ได้ เพราะมนุษย์นี้เป็นสัตว์สังคม เขาว่าอย่างนั้น ว่ามนุษย์นี้เป็นสัตว์สังคม สัตว์สังคมหมายความว่าต้องอยู่รวมกัน แยกกันอยู่ไม่ได้ การอยู่รวมกันนั้นตั้งแต่เป็นครอบครัว เป็นหมู่บ้าน เป็นตำบล เป็นจังหวัด เป็นประเทศ เป็นชาติ นี่คือการสังคม อันคนที่อยู่ในสังคมนั้น จะต้องมีความคิดไม่เหมือนกันบ้าง เราอยู่เพื่อผู้อื่น ไม่ได้อยู่เพื่อตัวเราเอง ถ้าเราคิดว่าเราอยู่เพื่อผู้อื่น เราจะเป็นสุข แต่ถ้าเราคิดว่ากูอยู่เพื่อกู มันก็เดือดร้อน วุ่นวาย เพราะมีความเห็นแก่ตัว ไม่เสียสละเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ผู้อื่น ใครมาอยู่ด้วยกับคนที่มีความเห็นว่า กูสำคัญ คนอื่นไม่สำคัญ ก็จะมีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อน เพราะเราไปอยู่กับคนที่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ประโยชน์และความสุขของผู้อื่น ปัญหาก็คือความยุ่งยากเกิดขึ้นในครอบครัวนั้น ในหมู่บ้านนั้น ในตำบลนั้น ในชาตินั้น ในประเทศนั้น เพราะความคิดว่าตัวสำคัญ คนอื่นไม่ใช่
ในแง่ธรรมะ ในแง่จริยศาสตร์นั้น เราควรจะถือว่าคนอื่นก่อน เราทีหลัง ทำให้คนอื่นเป็นสุขก่อน แล้วเราจะพลอยสุขกับคนนั้น ทำให้คนอื่นสะดวกสบาย แล้วเราจะพลอยได้ความสุขความสบายจากคนนั้น แต่ถ้าเราเอาความสุขเสียก่อน เราจะไม่มีความสุข เพราะว่าการกระทำเช่นนั้นมันกระทบกระเทือนต่อคนอื่น การกระทำอะไรกระทบกระเทือนต่อความสงบสุขของคนอื่น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบไม่ควร เป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำ แปลว่าถ้าเราจะทำอะไร เราก็ต้องคิดว่ากิจที่เราจะกระทำนี้ จะกระทบกระเทือนใครบ้าง จะเกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนแก่ใครบ้าง เรียกว่าเอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจเราไปวางในใจของเขา ไม่คิดเห็นแก่ความสุขส่วนตัว แต่คิดว่าเมื่อเราจะได้อะไรก็ขอให้คนอื่นได้กันด้วย ได้สุขก็ให้สุขหลายๆ คน ได้ความมั่งมีก็ให้กระจายความมั่งมีออกไป ปัญหาสังคมมันก็จะไม่สับสนวุ่นวาย แต่ว่าจะอยู่ด้วยกันฉันท์พี่น้อง มีแต่ความสงบสุข สมมติว่าเราเป็นคนที่มีเงินมีทอง แล้วเราก็ไปลงทุนทำงาน เราก็เฉลี่ยเจือจานผลที่ได้รับนั้นให้แก่คนทำงานทั่วถึง ให้ความสุขแก่เขาในเรื่องการเป็นการอยู่ เขาเรียกสมัยนี้ว่าสวัสดิการ ทางอาหาร เสื้อผ้า หยูกยาเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย หรือว่าเวลาเกิดปัญหาขึ้นในครอบครัว เราก็ช่วยเขาในเรื่องอย่างนั้น การทำเช่นนั้นจะทำให้ทุกคนรักกัน เห็นอกเห็นใจกัน เมื่อคนเรารักกันแล้ว งานมันก็ดีขึ้น เพราะต่างคนต่างคิดว่าเราทำเพื่อผู้อื่น ไม่ได้ทำเพื่อตัวเราเอง นั่นแหละคือหลักการสำคัญในทางศาสนา ไม่ว่าศาสนาใด เราจะศึกษาธรรมะในศาสนาต่างๆ ศาสดาทั้งหลายนั้นเป็นบุคคลตัวอย่างในทางเสียสละประโยชน์ความสุขส่วนตัว ไปสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นความสุขแก่ผู้อื่น ให้เราพิจารณาเช่นว่าพระพุทธเจ้าที่เราเคารพสักการะในฐานะเป็นบรมครูของเราทั้งหลายนั้น ชีวิตของพระองค์เริ่มต้นด้วยอะไร เริ่มต้นด้วยความเสียสละประโยชน์สุขส่วนพระองค์ เพื่อไปแสวงหาสิ่งอันจะเป็นประโยชน์ เป็นความสุขแก่ผู้อื่น คือการเสด็จออกไปบวชนั่นเอง
การออกไปบวชของกษัตริย์นี้มันไม่ใช่เรื่องธรรมดา พระองค์แม้จะยังไม่ได้เสวยราชย์ แต่ก็อยู่ในฐานะมกุฎราชกุมาร มีความหวังว่าจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเมื่อเสด็จพ่อสวรรคต แต่ว่าพระองค์ไม่ต้องการสิ่งนั้น เพราะเห็นว่าการเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้น จะทำประโยชน์ได้ก็ในวงจำกัด ไม่กว้างขวางทั่วไป แล้วก็จะไปทำในเขตอื่นก็ไม่ได้ พระองค์เห็นว่ามันคับแคบเต็มที สู้ออกไปเป็นนักบวช เป็นครู เป็นอาจารย์ เป็นผู้ที่ไม่มีขอบเขตในที่อยู่อาศัย ทำอะไรได้ทั่วไปทุกรัฐ ทุกแคว้น ทุกประเทศ ไม่มีใครรังเกียจ เพราะนักบวชนั้นไม่เป็นเสนียดจัญไรของโลก นักบวชเป็นผู้มีสภาพจิตใจสงบ สะอาด สว่าง อยู่ด้วยปัญญา อยู่ด้วยเหตุผล เป็นผู้เสียสละประโยชน์สุขส่วนตน เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ผู้อื่น เราคิดในแง่อย่างนั้น จึงได้หนีออกไปบวชอยู่ในป่า ดำรงชีวิตอย่างง่ายๆ ผ้านุ่งผ้าห่มก็มีไม่กี่ชิ้น มีเพียงสองสามชิ้น มีบาตรใบนึง ที่หลับที่นอนไม่ประจำ นอนใต้ต้นไม้ นอนตามถ้ำ ตามภูเขา หรือว่าเรือนร้าง หรือลอมฟาง หรือบางทีก็อาศัยโคนไม้เป็นที่พักอาศัย มี ... (20.51 เสียงไม่ชัดเจน) ก็ทรงคิดค้นในทางธรรมะว่าจะทำอย่างไรจึงจะดับทุกข์ได้ คิดค้นไปนานก็ได้พบความจริงของสิ่งนั้น ประจักษ์แจ้งแก่ใจของพระองค์ และเมื่อประจักษ์แจ้งแก่ใจแล้ว บรรลุความเป็นพุทธะ ซึ่งหมายความว่าเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้มีความเบิกบานแจ่มใสแล้ว พระองค์ยังเผื่อแผ่สิ่งที่พระองค์ได้พบนั้นไปแก่ชาวโลก ออกไปช่วยชาวโลก ถ้าพูดตามภาษาในสมัยนี้ก็เรียกว่า รับใช้มหาชน ... (21.33 เสียงไม่ชัดเจน) เขาพูดกันอย่างนั้น อย่างนี้ว่ารับใช้มหาชน พระพุทธเจ้า เราไม่เรียกว่าไปรับใช้ แต่ไปช่วยเหลือมหาชนให้พ้นจากความมืดบอด ความหลงผิด ความเข้าใจผิดในการดำเนินชีวิต ชี้ทางถูก ทางชอบให้เขาเดิน และเขาได้เดินตาม ก็เป็นความสุขสำหรับบุคคลผู้นั้น และเป็นความสุขสำหรับคนที่เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้นั้น พระองค์เสด็จไปชี้ทางให้แก่พระราชาว่าควรจะปกครองประชาชนอย่างไร ควรจัดให้คนอยู่เย็นเป็นสุขได้อย่างไร ไปเปิด ไปชี้ทางให้แก่ท่านเศรษฐีมั่งมีทรัพย์สมบัติ ซึ่งปกติมักจะเหนียวหน่อย พระองค์ก็ไปสอนให้เสียสละ ให้เห็นความสุขของเพื่อนมนุษย์ เหมือนกับความสุขของตนเอง แล้วก็ช่วยเผื่อแผ่สิ่งที่ตนมีตนได้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่บุคคลอื่น สอนประชาชนทั่วไปว่าอย่าอยู่เพื่อตัวเอง แต่ให้อยู่เพื่อผู้อื่น
ตัวเราเองนั้นอาศัยผลประโยชน์จากการทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นนั่นแหละ มันก็มีผลพลอยได้เกิดขึ้นแก่ตัวบุคคลผู้นั้นด้วย คือการให้ คือการได้รับ การไม่ให้ คือการไม่ได้อะไร คนเรานั้นถ้าให้เราจะได้ ถ้าไม่ให้แล้วจะได้อะไร เมื่อไม่ลงทุน แล้วมันจะเก็บเกี่ยวผลได้อย่างไร เราไม่หว่านพืช แล้วเราจะไปเก็บผลได้อย่างไร มันไม่มีทางจะหาได้ แต่ถ้าเราหว่านพืช พืชมันก็งอกงาม เราก็จะได้รับผลจากพืชที่เราหว่าน แต่ถ้าเราไม่หว่านแล้วเราจะได้พืชมาจากอะไรที่ไหนเล่า อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องคิดให้มาก เพราะชีวิตของคนเรานั้นไม่ได้อยู่คนเดียว เราอยู่ในสังคม ก็ควรจะประพฤติตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม ถ้าในกลุ่มชนใดมีบุคคลประเภทที่เสียสละประโยชน์ตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นแล้ว สังคมนั้นจะมีความสุข มีความสงบ พระองค์พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงกระทำอย่างนั้น เมื่อสอนสาวกให้ปฏิบัติงาน รู้แนวทางการสอน และปฏิบัติตนพ้นจากความทุกข์ได้แล้ว พระองค์ก็บอกว่าเธอพ้นแล้วจากบ่วงอันเป็นพิษ จากบ่วงอันเป็นของมนุษย์ เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มหาชน จงประสาทแนวทางชีวิตที่ถูกที่ชอบแก่คนเหล่านั้น คนที่มีปัญญาน้อยๆ หรือมีไฝฝ้าบังดวงตาน้อยๆ มีอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะไม่ได้ยินได้ฟังจึงไม่เกิดความรู้ความเข้าใจ เธอจงไปสอนคนเหล่านั้นให้เกิดความรู้ความเข้าใจ อย่าไปทางเดียวสองรูปเพราะคนน้อย ไปรูปเดียวทางเดียว แล้วช่วยกันประกาศแนวทางที่ถูกที่ชอบแก่คนเหล่านั้น และพระองค์ตรัสว่าเราเองก็จะไปเหมือนกัน พระองค์ก็ทำงาน สาวกก็ไปทำงาน ทำงานอะไร ทำงานชี้ทางเดินให้ถูกแก่คนทั้งหลาย เหมือนบทสวดมนต์ที่สวดสมัยเด็กๆ ว่า ชี้ทางบรรเทาทุกข์ ชี้สุขเกษมศานต์ ชี้ทางพระนฤพาน อันพ้นโศกวิโยคภัย นี่พระองค์ไปชี้ทางให้เขาเดิน ให้คนทั้งหลายได้เดินในทางที่ถูกที่ชอบ นี่คือชีวิตตัวอย่าง
นี่ถ้าเราศึกษาชีวิตของพระองค์แล้วก็จะมองเห็นว่าคงปฏิบัติพระองค์เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ผู้อื่นตลอดเวลา บางครั้งพระองค์ก็ทรงช่วยเหลือสาวก เช่นมีอยู่คราวหนึ่ง พระองค์หนึ่งป่วยมาก น้ำเหลืองเต็มไปทั้งร่างกาย นอนเจ็บอยู่ในกุฏิ ไม่มีใครเหลียวแลเอาใจใส่ พระองค์เมื่อตื่นแต่เช้าตามปกติ ก็มักจะแผ่พระญาณมองไป คิดไปว่าวันนี้ควรจะไปช่วยใคร ใครเกิดความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อนบ้าง อันนี้ก็สำคัญ ที่เราควรจะเอามาใช้ในชีวิตของเรา ตื่นแต่เช้าเราควรจะคิดว่าวันนี้ เราจะใช้ชีวิตเราให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้โดยวิธีใดบ้าง มีอะไรที่เราจะรับใช้เพื่อนมนุษย์ ที่จะทำให้เพื่อนมนุษย์มีความสุข ความสบาย ในฐานะที่เราพอจะช่วยได้ มีบ้างไหม มองในครอบครัว มองออกไปบ้านใกล้เรือนเคียง มองออกไปในสังคมที่เราปฏิบัติงาน มองไปให้รอบๆ ว่ามันมีอะไรที่เราจะช่วยให้คนอื่นได้มีความสุข ความสบายขึ้นกว่าปกติบ้าง และเมื่อเห็นสิ่งนั้นแล้ว เราก็ไม่อยู่นิ่งอยู่เฉย เราต้องไปช่วยคนเหล่านั้นให้พ้นจากความมีปัญหา ไปคลายปัญหาคือความทุกข์ทางใจให้แก่คนเหล่านั้น อันนี้ก็เรียกว่าเดินตามรอยพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะพระพุทธเจ้านั้นทรงตื่นบรรทมประมาณตีสี่ แล้วก็ทรงแผ่พระญาณที่เป็นความรู้ทางจิตพิเศษออกไปว่าใครเป็นทุกข์บ้าง ใครเดือดร้อนบ้าง เราจะได้ไปสอนเขาให้คลายจากความทุกข์ความเดือดร้อน ที่เรียกว่าไปโปรด คือไปโปรดก็หมายความว่า ไปชี้แนวทางชีวิตให้คนเหล่านั้นเข้าใจตามหน้าที่ของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงกระทำอย่างนั้นตลอดมาเป็นเวลา ๔๕ ปี เราจึงควรจะได้ถ่ายทอดวิธีการนี้มาไว้ในชีวิตของเรา และเราคิดว่าวันนี้เราจะทำประโยชน์อะไรแก่ใครได้บ้าง อย่าคิดว่าวันนี้เราจะเอารัดเอาเปรียบใครได้บ้าง หรือว่าจะไปเอาอะไรจากใครบ้าง อย่าคิดในเรื่องจะเอาอะไรจากใคร แต่คิดว่าเราจะให้อะไรแก่ใครได้บ้างในวันนี้ แต่อย่าคิดในเรื่องเอาอะไร คิดในเรื่องให้ เช่นเราคิดถึงชาติบ้านเมือง เราก็ต้องคิดว่าเราจะให้อะไรแก่ประเทศเราได้บ้างในวันนี้ จะให้อะไรแก่เพื่อนร่วมชาติของเราได้บ้างในวันนี้ จะให้อะไรแก่พระศาสนาที่เราเคารพบูชาได้บ้างในวันนี้ ในทุกอย่างนั้น ทุกคนจะคิดอย่างนี้แล้ว สังคมจะมีแต่ความสุข มีแต่ความสงบทั้งนั้น ไม่มีปัญหาเลย เพราะต่างคนต่างคิดแต่ว่าจะให้ จะช่วยให้คนอื่นเป็นสุข จะช่วยให้คนอื่นพ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน แล้วความทุกข์มันจะมีที่ไหน ญาติโยมลองคิดดูนะ มันไม่มี
แต่ถ้าตื่นเช้าคิดว่าวันนี้กูจะเอาเปรียบใครได้บ้าง จะไปโกงภาษีของรัฐสักเท่าใด จะเบียดบังอะไรสักเท่าใด คิดแต่เรื่องจะเอาทั้งนั้น เรียกว่าจะเอาทั้งนั้น จะไปไหน จะทำอะไร ก็ต้องคิดว่าจะได้อะไรสักเท่าใด มันก็ยุ่ง เพราะเราคิดแต่จะเอา มันไม่ถูกต้อง ในชีวิตเป็นเช่นนั้น มันไม่ถูกต้อง เราควรจะสร้างแนวคิดใหม่ว่า เราจะใช้ชีวิตเราให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้อย่างไรในวันนี้ ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่ชาติอย่างไร ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่ชาติอย่างไร แก่ศาสนาอย่างไร แก่สังคมอย่างไร ให้เราคิดในรูปอย่างนั้น คือคิดแต่จะให้ ไม่คิดจะเอา อย่าตกใจว่าให้แล้วมันจะไม่ได้ เพราะให้นั่นแหละมันจึงได้ แต่ถ้าไม่ให้แล้วจะได้อะไร คนไม่ให้แล้วไม่ได้อะไรหรอก ถ้ายิ่งให้มันก็ยิ่งได้ แต่สังเกตดูแล้ว ถ้าเราให้อะไรไปแล้ว ไม่เท่าใดเราก็ได้มา ได้มาเรื่อยๆ ได้ไม่ขาดสาย เพราะว่าเราให้อยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเราได้มาแล้ว เราเก็บ เราไม่ให้ใคร ไม่มีทางได้ เพราะไม่ลงทุนแล้วมันจะเกิดผลได้ที่ตรงไหน อันนี้น่าคิด เป็นเรื่องสำคัญ พระพุทธเจ้าท่านอยู่ด้วยการให้ ไม่ใช่อยู่ด้วยการรับ การรับนั้นเป็นผลที่พระองค์ให้เพียงเล็กน้อย ไม่ได้ต้องการมากมายอะไรในชีวิตของพระองค์ แต่ว่าทรงให้มาก ตลอดเวลา นี่เรียกว่าให้ ไปให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชินีนาถของเรานั้น ก็ได้ปฏิบัติในเรื่องนี้ คือทรงให้อยู่ตลอดเวลา พอพระองค์สบาย ร่างกายเป็นปกติ พระองค์ก็ไม่พักอยู่กรุงเทพ เพราะต้องไปเชียงใหม่ ไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไปภาคใต้ ไปหัวหิน ไปให้ ไปให้ความสุขแก่ชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น เพียงแต่เขาเห็นก็เป็นสุข ได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินนี่ก็เป็นสุขแล้ว ได้เห็นพระบรมราชินีนาถ พระราชธิดาที่เสด็จตามพระองค์ไป เขาก็มีความสุขแล้ว สุขด้วยการได้เห็น เห็นบุคคลที่เป็นประโยชน์แก่สังคม เห็นบุคคลที่มีคุณธรรม คนก็มีความสุขทางใจ นี่เรียกว่าให้ อย่างน้อยให้เขาเห็นก็สบายใจ แต่ว่าพระองค์ไม่ได้ให้เพียงเท่านั้น แต่ว่าไปพิจารณาว่าในหมู่บ้านนี้ ในตำบลนี้มีเรื่องอะไรเดือดร้อน ขัดข้องอะไร ไม่สะดวกในเรื่องอะไรในการเป็น การอยู่ การทำมาหากิน ก็ทรงพิจารณา ศึกษาว่าควรจะปรับปรุงอะไรบ้าง เลยเกิดโครงการในพระราชดำริขึ้น เรียกว่าโครงที่เป็นพระราชดำริ คือพระองค์คิดโครงการเหล่านั้นมอบให้รัฐบาล รัฐบาลก็ต้องไปจัด ไปทำ แล้วโครงการใดที่เป็นของในหลวงนี่ทำเร็ว ข้าราชการก็ทำอย่างรวดเร็วด้วยความตั้งอกตั้งใจ เพราะอะไร เพราะว่าเขารักพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อรักแล้วมันก็ต้องมีความเพียร ความเอาใจใส่ การใช้สติปัญญาค้นคว้ามันก็เกิดขึ้น งานนั้นก็เจริญก้าวหน้า อีกประการหนึ่งพระองค์ให้ทำอะไรแล้ว เสด็จไปตรวจด้วย พอปีนี้สั่งไว้ ถึงรอบปีหน้าก็เสด็จไปตรวจแล้ว ไปถึงไหน พวกนั้นก็ทำงานกันตัวเป็นเกลียว ในหลวงจะมาตรวจ เอางานเอาการ นี่ตัวอย่าง คือพระองค์เสด็จไปให้ ก็มีแต่ความสุข ความสบาย
ที่จังหวัดเชียงใหม่ในสมัยก่อนนี้มีครูบา แต่ว่าเขาเรียกคูบา ตัว ร มันไม่มี เขาเรียกครูบาศรีวิชัย ท่านเคยไปเที่ยวเชียงใหม่ นั่งรถขึ้นดอยสุเทพ สบาย นั่นฝีมือของครูบาศรีวิชัย ทำงาน ๑ เดือนกับ ๑๕ วัน ตัดถนนขึ้นยอดภูเขาให้รถวิ่งได้ ถ้าใช้งบประมาณของรัฐบาล ๓ ปีก็ไม่เสร็จ แล้วก็ต้องใช้เงินกันหลายสิบล้าน แต่อาศัยบารมี ความเมตตาของครูบาศรีวิชัย คนมาทำถนนเรียกว่าแบ่งกันทำ ชั้นแรกแบ่งคนละวา เมื่อมากขึ้นแบ่งคนละศอกเท่านั้นเอง เรียกว่าแบ่งคนละศอก ช่วยกันขุดถึงยอดพระเจดีย์ บันไดพระเจดีย์ขึ้นพระธาตุ ๑ เดือน กับ ๑๕ วัน เหมือนกับเนรมิต ถนนเสร็จเรียบร้อย แต่ว่าไม่ได้ลาดยาง เพราะว่าการลาดยางนั้น ประชาชนทำไม่ได้ ไม่มีเทคนิคในเรื่องนี้ ก็ต้องทิ้งไว้ให้รัฐบาล ก็พอดีกับในหลวงทรงเลือกที่ตั้งวังที่ภูพิงค์ ต้องผ่านถนนสายนั้น เลยกลายเป็นถนนเรียบร้อย ก่อนขึ้นบนดอยสุเทพ เราจะเห็นรูปพระยืนตระหง่านอยู่ตรงนั้น นั่นแหละเจ้าของถนน ผู้ทำให้เราเกิดความสบายใจ ปกติของครูบาศรีวิชัยนั้นมีปฏิปทา ข้อปฏิบัติอย่างไร ท่านไม่เอา ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้ไม่เอา มีแต่ให้ มีแต่ให้ ท่านไปทำอะไร ที่ไหน ท่านไปมือเปล่า ไปนั่งที่นั่น เมืองเหนือเขาเรียกว่าไปนั่งหนัก นั่งหนักคือว่านั่งหนักใจ เพราะว่าไปสร้างอะไรมันก็ต้องหนักหน่อย แล้วก็นั่งอย่างหนักแน่น อย่างอดทน ถ้าไม่สำเร็จก็จะไม่ไปจากที่นี่ เมื่อท่านไปนั่งอยู่ที่ใด คนก็ไป ไปไหว้ ไปนมัสการ ไปถึงเห็นทำอะไร เขาก็ซื้อปูน ซื้อหิน ซื้อทราย ซื้อเหล็ก ซื้อแล้วไม่ได้เอามาทิ้ง ทำด้วย ซื้อเหล็กมาก็เอามาช่วยกันดัด ช่วยกันสาน ทำให้เป็นโครงขึ้น ซื้อปูนก็เอาไปเทลงในรางปูน ซื้อทรายก็ไปเทลงไป ซื้อหินก็ไปเทลงไป ช่วยกันกวน กวนเสร็จแล้วเอาไปเทลงในแบบ ช่างแบบเขามี อาสาสมัครทั้งนั้น คนทำงานวันหนึ่งๆ มากมาย วิหารวัดสวนดอกใหญ่ยาวเหลือเกิน คนทำกันเพียงเวลา ๒ เดือนก็สำเร็จเรียบร้อย เพราะอาศัยแรงงานที่คนไปเสียสละ ไปทำกันเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ผู้อื่น ครูบาศรีวิชัยนั้นเป็นแม่เหล็กที่ดึงประชาชนให้มาทำงาน แม้ว่าทำงานตรงนั้นเสร็จแล้ว ท่านลุกขึ้นไปเฉยๆ ไม่หยิบอะไรไปสักชิ้นหนึ่ง จากสถานที่นั้น ท่านไปแต่สบง จีวร กับบาตรของท่านเท่านั้น แล้วก็ไปนั่งที่อื่นต่อไป คนเขาก็แห่กันไปทำอีก ไม่ว่าไปนั่งที่ไหนคนก็ต้องไปกันทั้งนั้น อาตมาไปอยู่เชียงใหม่ก็ศึกษาว่าครูบานี่ท่านเก่งอย่างไร แกเก่งตรงไม่เอาน่ะสิ ไม่ใช่เก่งเรื่องอะไร เก่งตรงไม่เอา ไอ้คนเราถ้าไม่เอา คนมันยิ่งให้ ยิ่งเอา คนยิ่งไม่ให้ ให้ๆ ไปแล้วหาย ให้ไปแล้วหาย คนมันก็ไม่ให้ แต่นี่ให้ไปแล้ว มันเกิดอะไรขึ้นมา คนก็ชอบให้ เพราะว่าให้แล้วเป็นประโยชน์ เรียกว่าไม่เอา คือไม่เอาส่วนตัว ไม่เอาใส่กระเป๋า ใส่ย่าม แต่เอามาแล้วทำให้เกิดประโยชน์ คนก็ชอบให้ ครูบาท่านเป็นผู้อย่างนั้น แล้วมีสัจจะประจำใจ ว่าจะทำอะไรท่านก็ทำ ว่าจะไปไหนท่านก็ไป แล้วทำกิจเป็นเวลา ถึงเวลา ท่านจะสวดมนต์ ให้เจ้าครองเมืองเชียงใหม่มานั่งอยู่ ท่านก็ต้องสวด ถึงเวลาท่านก็ไปสวด ใครจะมาตรงท่านสวดมนต์ ท่านไม่สวดมนต์ไม่จบ ท่านไม่ลุกขึ้นไปต้อนรับ ท่านนั่งเฉยๆ เป็นเวลาของท่าน ท่านทำอย่างนั้นสม่ำเสมอ
ตลอดเวลาในชีวิตของท่าน คนได้เห็นแล้วก็เลื่อมใสศรัทธา ช่วยกันทำบุญ เขาว่าทำบุญกับผู้ไม่เอานั้น มันได้บุญมาก ได้อานิสงส์มาก อานิสงส์มันอยู่ตรงไหน ตรงที่สิ่งนั้นไปเกิดเป็นสิ่งอื่นต่อไป บุคคลอย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นคน พระโสดาบัน พระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน คือเป็นบุคคลไม่เอาแล้ว ให้อะไรก็ไม่เอาแล้ว ไม่เอาเป็นส่วนตัวแล้ว เอามาเพื่อทำประโยชน์ เพื่อทำสิ่งที่เป็นคุณเป็นค่าแก่สังคมต่อไป ยิ่งทำ คนก็ยิ่งให้ ยิ่งให้มากขึ้นๆ ก็เห็นว่าทำจริง ทำเป็นประโยชน์ หลักการมันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเราจะดึงคนมาหาเรา เราต้องไปหาเขา อยากให้เขาให้อะไรแก่เรา เราก็ต้องให้เขา อยากให้เขายิ้มกับเรา เราก็ยิ้มกับเขา แต่ถ้าเราหน้าบึ้งแล้วอยากให้คนนั้นยิ้มกับเรา คนที่ไหนมันจะมายิ้มกับคนหน้าบึ้ง เราต้องยิ้มก่อน เมื่อยิ้มไปเขาก็ยิ้มมา เขาทนไม่ได้ เพราะว่าไอ้นี่มันยิ้มกับกู กูต้องยิ้มให้มันหน่อย แล้วก็ยิ้มกันไปยิ้มกันมา รักกัน ชอบกัน มันเป็นอย่างนี้ สิ่งทั้งหลายมันเป็นอย่างนี้ อันนี้เรามองดูศาสดาอื่นบ้าง ว่าเป็นผู้ให้ขนาดไหน พระเยซูคริสต์ท่านก็เป็นผู้ให้ตลอดเวลา ท่านไม่มีทรัพย์สมบัติอะไร ท่านเที่ยวเดินไปสอนคนที่นั่น สอนคนที่นี่ ท่านไม่มีอะไร ท่านช่วยเหลือคนให้พ้นจากทุกข์ยาก คนเจ็บไข้ได้ป่วย ช่วยรักษาด้วยอำนาจจิตให้หายโรค หายภัย ไม่ต้องการอะไรจากคนเหล่านั้น อันนี้ก็คือการทำงาน เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย เรียกว่าเป็นผู้ให้อยู่ตลอดเวลา เหมือนกัน เราศึกษาชีวิตของบรมครูทั้งหลาย ศาสดาทั้งหลายนี้ มีชีวิตอยู่ด้วยการให้ ไม่หวังอะไรตอบแทน นอกจากว่าให้คนอื่นสบายใจ เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญที่ปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวัน เป็นไปในรูปอย่างนั้น อันนี้เป็นหลักการที่เราควรจะเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน ให้นึกทุกวันๆ ว่าวันนี้เราจะทำประโยชน์อะไร แก่ใครได้บ้าง แล้วก็ทำ
การคิดจะทำประโยชน์อะไรแก่ผู้อื่นนั้นทำได้ทุกเวลานาที เราขับรถไปบนถนน เราคิดว่าเราจะขับรถอย่างไร จึงจะเป็นความสบายแก่คนอื่น เราก็ต้องเคารพระเบียบ เคารพกฎจราจร ไม่แซงในที่ที่ไม่ควรจะแซง ระเบียบอันใดเราก็ปฏิบัติ คนอื่นก็ไม่เดือดร้อน แต่ขับไม่ถือระเบียบ ก็สร้างความทุกข์ให้แก่คนทั้งหลาย เช่น เราไปขับตัดหน้าเขา เขาชนโป้งเข้าให้ ไอ้ตัวเองก็ถูกชน ไอ้คนชนก็เดือดร้อน ตำรวจต้องเชิญตัวไปโรงพัก บางทีก็ต้องถูกจับ ถูกลงโทษไป คือทำให้คนอื่นเดือดร้อนแล้ว หรือเราทำสิ่งสกปรกบนถนนหนทาง ทิ้งขยะไม่เลือกที่ ทิ้งมูลฝอยสกปรกไว้ในที่ที่ไม่ควรจะทิ้ง คนผ่านไปผ่านมาได้กลิ่นสิ่งเหล่านั้น มันเกิดเชื้อโรค โรคไปติดคน คนก็ไม่สบายทางร่างกาย ทางจิตใจ อย่างนี้ก็เรียกว่าเราไม่ช่วยให้คนอื่นสบาย ทำให้คนอื่นเป็นทุกข์แล้ว แต่ถ้าเราคิดว่าเราจะช่วยให้คนอื่นสบาย เราไม่ทิ้งอะไรเพ่นพ่าน เราเอาไปวางไว้เป็นระเบียบ ความจริงสมัยนี้น่าจะใช้ถุงพลาสติกใบโตๆ ใส่ขยะในครอบครัว ใส่ลงไปในถุง ใส่ไปแล้วมัดปากเอาไปวางไว้ รถขยะมาถึงแล้วยกไปเลย ไม่ต้องไปโกย แมลงวันก็ไม่ตอม กลิ่นมันก็ไม่เหม็น เพราะมันอยู่ในถุงพลาสติก เดี๋ยวนี้ถุงพลาสติกมีจำหน่าย หาง่าย แต่ว่าทางราชการไม่โฆษณาให้ประชาชนใช้ ไปเที่ยวต่างประเทศทุกบ้านทุกเมืองไม่เห็นขยะมูลฝอยกองเพ่นพ่าน ไม่เน่า ไม่เหม็น ก็สังเกตว่าเขาทำอย่างไร อ้อ เขาใส่ถุงพลาสติกสีดำ เอามาวางไว้หน้าบ้าน วางไว้ มัดเรียบร้อย วางไว้ พอเต็มถุงมัดปาก เอามาวางไว้ รถขยะมาถึงก็ยกไปทั้งถุงเลย เอาไปเททิ้งต่อไป เป็นระเบียบ คนไทยเรานี่ไปดูงานเมืองนอก ไปกันบ่อย เสียเงินภาษีอากรทุกปีกัน ไปดูงาน ดูแล้วก็อย่างนั้น ไม่ค่อยเอาอะไรมาใช้ ดูแล้วก็ดูไปเท่านั้นเอง คือไปเที่ยว ไม่ได้ไปดูงาน ดังนั้นก็ไม่ค่อยมีอะไรดีขึ้น ถ้าเราไปดูแล้วเอาเขามาใช้มั่ง มันก็ได้ประโยชน์ เช่น ขยะมูลฝอยใส่ถุงนี่มันวิเศษ ไม่เพ่นพ่าน ไม่เกิดความเสียหาย มันก็สะดวกสบาย เราไม่อยากให้คนอื่นเป็นทุกข์ เราก็ไม่ทิ้งขยะมูลฝอยเพ่นพ่าน หรือเราจะทำอะไรที่มันจะก่อปัญหาแก่คนอื่น ยกตัวอย่างเช่นว่า เราสนุก เราก็เปิดเครื่องขยายเสียงดังก้องไปหมด มีงานอะไร จะเป็นงานบวชนาค งานศพ งานแต่งงาน เปิดเครื่องขยายเสียงหนวกหูชาวบ้านตลอดคืน
อันนี้มันสร้างความทุกข์ให้แก่คนอื่น ถ้าคนคิดได้ว่า เออ เราไม่ควรทำอะไรให้เป็นทุกข์แก่คนอื่น แล้วจะนั่งเปิดอยู่ทำไม มันจะได้อะไรนักหนาไอ้เพลงเหล่านั้น เราก็ไม่เปิด เราใช้เครื่องสำหรับเรียกคน ประกาศโฆษณาอะไรที่จำเป็น มันก็ไม่หนวกหูชาวบ้าน ไม่ก่อความรำคาญให้แก่ใครๆ คิดอย่างนี้แล้วมันจะเป็นเครื่องช่วยให้ตัวเราดีขึ้น ให้ครอบครัวดีขึ้น ให้สังคมที่เราอยู่อาศัยดีขึ้น ถ้าเราคิดว่าเราจะอยู่เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย เราไม่ได้อยู่เพื่อตัวเราเอง เราจะไปไหน เราก็ตั้งปัญหาว่าไปทำไม ไปแล้วมันจะทำให้คนอื่นดีขึ้นไหม ทำให้คนอื่นมีความสุขทางใจหรือไม่ ถ้าเราไปแล้วทำให้คนอื่นมีความสุข มีความสบายใจ เราก็ไป ถ้าไปแล้วคนมันสบายขึ้น แต่ถ้าไปแล้ว หนักใจแก่คนอื่น สร้างปัญหาให้แก่คนอื่น อย่าไปดีกว่า ทำอะไรก็เหมือนกัน พูดอะไรก็เหมือนกัน หรือจะเขียนหนังสือสักเล่ม แต่เขียนแล้วมันไปทำคนให้จิตใจตกต่ำ ทำให้คนมีกิเลสเพิ่มขึ้น เช่นว่า เพิ่มราคะ โทสะ โมหะ ขึ้นในจิตใจ หนังสือนั้นไม่มีราคา ไม่มีความหมาย เป็นยาพิษทำลายจิตใจคน ซึ่งสมัยนี้มีมาก คนเขียนหนังสือประเภททำลายจิตใจคนมีมาก เขาไม่คิดถึงคนอื่น คิดถึงแต่กระเป๋าของตัวว่าหนังสือประเภทนี้ขายดี คนชอบ แต่หารู้ไม่ว่ามันมีพิษสงขนาดไหน มันทำคนให้มีความตกต่ำทางจิตใจ เป็นการเพิ่มกิเลสประเภทต่างๆ ขึ้นในใจของคนเหล่านั้น อันนี้เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ถ้าคนคิดว่าเราจะเขียนหนังสือเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่คนอื่น ก็เขียนแต่เรื่องที่สร้างนิสัย เพาะความดีความงามให้เกิดขึ้นในจิตใจของคน มันก็ดีขึ้นเท่านั้นเอง โลกจะดีขึ้นกว่านี้ ถ้านักเขียนทั้งหลายมีความคิดอย่างนั้น หรือว่านักหนังสือพิมพ์ เขียนแต่เรื่องที่มันจะเป็นประโยชน์ ไม่ใช่เอามันเต็มหน้ากระดาษ แล้วก็ขายไปๆ คนซื้อไปแล้วมันก็ไม่คุ้ม อ่านแล้วก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา มันก็ไม่ได้เรื่อง เดี๋ยวนี้ควรจะคิดว่า เราจะเขียนอะไรเพื่อสอนคน เพื่อเตือนจิตสะกิดใจให้คนเกิดความรู้สึกนึกคิดในทางที่ถูกที่ชอบ คิดอย่างนี้ โลกทั้งหลายมันก็ดีขึ้น เป็นประโยชน์ขึ้น นักแต่งเพลง มีคนแต่งเพลง บรรเลงกันทั่วไป อาตมานั่งฟังฟังเพลงทั้งหลายที่เขาเปิดอยู่นี้ ฟังๆ แล้ว มันไม่ค่อยได้เรื่องอะไร มันมีแต่เรื่องรักๆ ใคร่ๆ ชอบเธออย่างนั้น เธออย่างนี้ อะไรอย่างนั้นนะ เธอไม่รักฉัน ฉันจะตายแล้ว มันได้อะไรขึ้นมา เด็กฟังแล้วมันได้อะไรขึ้นมาในจิตใจ คนฟังแล้วก็ไม่ได้อะไรนอกจากว่า มีความคิดทางเพ้อฝัน ไม่ได้เรื่องที่เป็นสาระ
เราน่าจะช่วยกันแต่งเพลงที่คนฟังแล้วมันเกิดความคิดถูกต้อง การกระทำที่ถูกต้อง เร่งเร้าอารมณ์ในการสร้างสรรค์ ในทางศีลทางธรรม การเพาะเชื้อคุณงามความดีให้เกิดขึ้นในจิตใจ อันนี้มันจะได้ประโยชน์มากกว่า ความจริงบทเพลงดนตรีทั้งหลาย มันเป็นเรื่องศาสนา แรกเริ่มเดิมทีมันเป็นเรื่องศาสนา คือในโบสถ์ ในสถานที่ทางศาสนา เขามีดนตรีประกอบ มีบทเพลงสำหรับสวดสรรเสริญเทพเจ้าที่เขาเคารพบูชา ไปอินเดีย เราไปดูตามโบสถ์ของพวกฮินดู เวลาเขาสวดมนต์ เขามีเครื่องดนตรีด้วย แต่ไม่กี่ชิ้น เครื่องประกอบที่เอามาใช้ไม่กี่ชิ้น แต่ว่าพวกนี้ท่าทางมันสนุกสนาน แต่ว่าบทเพลงนั้นเร้าใจให้เกิดความสงบ ไม่ได้เร้าใจให้เกิดโทสะ โมหะ หรือเกิดความดิ้นรุนแรงในทางต่ำ แต่เร้าใจให้เกิดศรัทธา เกิดความเลื่อมใสในทางศาสนา เขาร้องกันอย่างนั้น เวลาคนประชุมกันมากๆ เป็นจำนวนหลายๆ พัน มีคนขึ้นเสียงทางลำโพงดังขึ้นเพียงคนเดียว คนที่อยู่ในนั้นทั้งหมดร้องทั่วกันเป็นเสียงต่อๆ กันไป ฟังแล้วขนลุกขนพอง ว่า โอ มันพร้อมกันอย่างนี้ ร้องเพลงสวดพร้อมกันหมด ดังสนั่นหวั่นไหว แล้วก็ร้องด้วยเสียงอันเต็ม เรียกว่าคอเป็นเอ็นขึ้นมาเลยทีเดียว ร้องเบ่งกันออกมา ด้วยอารมณ์อย่างนั้น เพลงเหล่านั้นปลุกใจคนให้คิดถึงพระ ให้คิดถึงธรรมะ ให้คิดถึงเรื่องการกระทำคุณงามความดี ก็เหมือนพระอภัยเป่าปี่ สุนทรภู่แกยังเขียนให้พระอภัยเป่าปี่กล่อมใจคนให้เลิกรบได้ พอเป่าปี่แล้วทหารมันคิดถึงบ้านถึงช่องขึ้นมา ไอ้เรามารบกันมันบ้าบอ ไม่เข้าเรื่อง รบกันไปทำไม เรากลับไปบ้านหาลูกหาเมียดีกว่า แล้วมันเลิกรบ ทหารมันเลิกรบเพราะว่าฟังปี่พระอภัยมณีเข้า หรือว่าพอเป่าปี่แล้วทหารมันง่วง หลับไปทั้งกองทัพเลย นั่นเขาเรียกว่าปี่อย่างนั้นมันเข้าที ปี่พระอภัย เป่าแล้วมันเกิดอย่างนั้น แปลว่าสุนทรภู่แกก็มีอุดมการณ์เหมือนกัน อุดมการณ์ว่า แม้ดนตรีก็ต้องทำให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์ ไม่ใช่ดนตรีประเภททำลาย ไม่ใช่ดนตรีที่ทำให้คนเกิดกิเลส แต่ว่าเป็นเครื่องขูดเกลากิเลส เพราะดนตรีนั้นเป็นเรื่องในโบสถ์ ในศาสนสถานของศาสนา
แต่ว่าต่อมามันก็ค่อยเปลี่ยนแปลงไป พัฒนาไป จนกระทั่งกลายเป็นเพลงประเภทเร้าอารมณ์ พอเพลงนั้นดังขึ้นมาแล้ว เท้าสั่นยิกๆๆๆ ขึ้นมาทีเดียว ต้องลุกขึ้นเต้นแร้งเต้นกาเข้าไปตามเรื่อง ยักเอว ยักไหล่อะไรไปตามเรื่องตามราว เพลงประเภทนั้นมันไม่ได้สาระอะไร คนเขียนไม่ได้คิดถึงเรื่องทางจิตใจ ไม่คิดถึงเรื่องความเสื่อมโทรมของศีลธรรม ของศาสนา จึงได้ผลิตเพลงเหล่านั้นออกมา แล้วก็เป็นที่นิยมชมชอบของคนทั้งหลายทั่วๆ ไป ว่าเป็นเพลงชั้นคลาสสิค ไม่รู้คลาสสิคในด้านไหน คลาสสิคในด้านต่ำ หรือว่าคลาสสิคในด้านสูงก็ไม่รู้ เขาว่ากันอย่างนั้น มันไม่ได้เรื่องอะไร มันควรจะเป็นบทเพลงที่ฟังแล้วกล่อมใจให้เกิดอารมณ์ เกิดความคิดความอ่านในทางสร้างสรรค์ชีวิต ในการคิดที่จะทำอะไรๆ ที่เป็นประโยชน์ เป็นความสุขแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย อันนั้นจะเป็นการดีกว่า แต่ว่าคนคิดอย่างนั้นมันไม่ค่อยมี เพราะไม่มีคนปลุกใจให้เกิดความคิดอย่างนั้น ไม่ได้สังคมกับผู้รู้ ผู้มีปัญญาในแนวทางด้านธรรมะ แต่สังคมกันอยู่ในพวกมีปัญญาในทางเทแก้ว เทขวดกันทั้งนั้น ก็ดื่มกันไป สนุกกันไป เพลิดเพลินกันไป เขาว่ามันเป็นสวรรค์ สวรรค์ในนรก มันไม่ใช่สวรรค์แท้ ไอ้อย่างนั้นมันก็ไปไม่ไหว มันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเรามาช่วยกันสร้างสรรค์มูลฐานของสังคมให้เป็นไปในทางที่ถูกต้องดีงามตามหลักธรรมะในทางศาสนา ไม่ว่าเราจะเป็นผู้นับถือศาสนาใด แต่ความจริงแล้วศาสนานั้นชื่อมันหลายชื่อ แตกต่างกันไป แต่เนื้อแท้มันก็คือตัวธรรมะที่เป็นข้อปฏิบัติเพื่อทำให้ชีวิตสงบ ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นตามสมควรแก่ฐานะ จุดหมายมันก็อยู่ที่ตรงนั้น เอามานี่ไม่ได้มีความคิดเห็นว่ามันแตกแยกอะไรกันหรอกในเรื่องศาสนา เห็นว่าทุกคนเป็นผู้ปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่ตนพอใจจากหนังสือคัมภีร์ที่ตนได้อ่านจนเข้าใจ
แล้วถ้าเรามาดูแล้วผู้ปฏิบัติธรรมนั้น มีจิตใจอย่างไร มีจิตใจสงบเยือกเย็น มีปัญญา มีเหตุมีผล ใช้ชีวิตตนให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ จุดหมายมันอยู่ที่ตรงนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมมุ่งไปทางนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเราเจอใครที่ปฏิบัติธรรม เราก็ไม่รู้สึกว่าแตกต่างกัน แต่ว่ารู้สึกว่า โอ เขาเป็นผู้ประพฤติธรรรม ก็พอใจ ว่าในสมาคมเราวันนี้ก็มีโยมชีคาทอลิคมานั่งอยู่คนหนึ่ง ก็เหมือนกันกับพวกเราทั้งหลาย คือเป็นผู้ประพฤติธรรม เดินในทางถูกทางชอบ เดินไปสู่ความบริสุทธิ์ของจิตใจ เดินไปสู่ความสงบ เดินไปสู่ความสว่างด้านปัญญา เพื่อช่วยแก้ปัญหาสังคม เราเห็นแล้วเราก็ควรจะยิ้มกัน ชวนสนทนาปราศรัยกัน เป็นเหมือนพี่เหมือนน้องกัน เพราะเดินทางสายเดียวกัน แต่ว่าอาจจะชื่อแตกต่างกัน ชื่อมันอย่างนั้น ของบางอย่างชื่อไม่เหมือนกัน ฝรั่งเรียกอย่างหนึ่ง ซิกข์เรียกอย่างหนึ่ง ไทยเรียกอย่างหนึ่ง แต่มันก็ของนั้น ของที่มันเป็นประโยชน์ เช่น น้ำ ฝรั่งเรียกอย่างหนึ่ง ซิกข์เรียกอย่างหนึ่ง ไทยเรียกอย่างหนึ่ง แขกมาเลเซียเรียกอย่างหนึ่ง เอามาดูแล้วมันก็น้ำนั่นแหละ ของเหลว ดื่มเข้าไปแล้วแก้กระหายได้ อาบแล้วมันแก้ร้อนได้ ชะล้างสิ่งโสโครกได้ มันก็น้ำเท่ากัน จะเรียก water จะเรียก … (54.32 เสียงไม่ชัดเจน) จะเรียกอะไรก็ว่าน้ำนั่นแหละ มันไม่มีอะไรหรอก แต่ว่าคนเราบางทีมันทะเลาะกันที่ชื่อ มันไม่ได้เรื่องอะไรหรอก ไปทะเลาะกันเรื่องชื่อนี้ไม่ได้เรื่องอะไร เราควรจะหันหน้าเข้าหากัน ประนีประนอมกัน แล้วมาช่วยกันสร้างสรรค์โลกนี้ให้อยู่ในสภาพสงบ สังคมมนุษย์เวลานี้ ผู้ประพฤติธรรมต้องร่วมแรงร่วมใจ สร้างสรรค์โลกให้สงบ ไอ้ผู้ไม่ประพฤติธรรมมันก็รวมกันอยู่เหมือนกัน เช่น โจรมันรวมกันบ่อยๆ รวมกันเพื่อไปปล้น ไม่ใช่เรื่องอะไรหรอก รวมกันไปในทางฉิบหาย ไม่ได้เรื่องอะไร เพราะฉะนั้นเราที่เป็นบัณฑิต เป็นผู้มีความรู้ในด้านธรรมะ เราก็มารวมกันเพื่อต่อต้านสิ่งชั่วร้าย เราไม่ทำลายใคร แต่เราทำลายสิ่งชั่วร้ายที่อยู่ในจิตใจของคน ให้คนนั้นมีจิตใจผ่องใส ปราศจากสิ่งโสโครก เหมือนกับเราเอาน้ำเข้าเครื่องกรอง กรองแล้วน้ำสะอาด ดื่มได้ คนเราก็เหมือนกัน ถ้าใครมันไม่ดี เราก็จับเข้าเครื่องกรองเสีย แล้วก็ให้เป็นคนบริสุทธิ์สะอาดเรียบร้อย อันนี้ก็ควรจะถือว่าเป็นหน้าที่ เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะชักจูงเพื่อนฝูงมิตรสหายให้ได้เข้าหาธรรมะ ให้ได้เดินในทางที่ถูกที่ชอบ แต่อย่าไปจูงเพื่อนเข้าไปสู่ทางแห่งอบาย ให้เดินไปในทางธรรมะ ช่วยกันทำอย่างนี้ สังคมจะดีขึ้น จะเจริญขึ้น
วันนี้ญาติโยมทั้งหลายก็ได้มาประชุมกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีสิ่งงาม อันจะเป็นประโยชน์แก่เยาวชนของชาติ ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้แทนของเราต่อไป เราทั้งหลายกำลังเดินลง เด็กมันกำลังเดินขึ้น ทีนี้เราช่วยให้เด็กเดินขึ้น โชว์เส้นทางถูกต้องเรียบร้อย แล้วเราเดินไปเขาก็จะเดินในเส้นทางของเราต่อไป ชีวิตมนุษย์มันไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งถึงที่สุดของความเปลี่ยนแปลงก็แตกดับไป อย่าตกใจ อย่าไปคิดกังวลด้วยเรื่องอย่างนั้น เรามากังวลด้วยเรื่องว่าวันนี้เราควรจะทำอะไรอันจะเป็นประโยชน์เป็นความสุขแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย เห็นว่าอะไรทำได้ เราก็ทำสิ่งนั้น นั่นแหละคือใช้ชีวิตให้มีค่าตามสมควรแก่ฐานะ ดังแสดงมาก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที นั่งสงบใจ นั่งตัวตรง หลับตา ไม่ยุ่ง หายใจเข้ากำหนดรู้ หายใจออกกำหนดรู้ อย่าให้ไปนึกเรื่องอื่น คิดเรื่องอื่น ต้อนมันมาอยู่ที่รู้ อยู่ที่ลมเข้าลมออกเป็นเวลา ๕ นาที