แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมอันเป็นหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา แล้วขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ นั่งพัก นั่งร่มไม้ตรงใดตรงหนึ่งซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงนี้ได้ แล้วก็สงบปากสงบคำ ใช้แต่หูเพื่อฟังเสียงที่ดังมาจากเครื่องขยายเสียง มีอะไรจะพูดจะคุยกันก็คุยกันทีหลังเมื่อเทศน์จบแล้ว คนฟังใกล้เคียงจะได้สบายใจ จะไม่สับสนวุ่นวาย มีเด็กมาด้วยก็เอามาไว้ใกล้ๆตัว อย่าให้เที่ยววิ่งไปวิ่งมาให้เกิดปัญหายุ่งยาก คนที่ขี่รถมอเตอร์ไซค์อย่าเอาเข้ามาในขณะที่แสดงธรรม จอดไว้ข้างนอก เพราะขับเข้ามาแล้วมันหนวกหูคนอื่น รถยนต์ก็เหมือนกัน พอถึงเวลาเก้าโมงครึ่งก็ต้องหยุดอยู่กับที่ตรงใดตรงหนึ่ง ใส่กุญแจเสียให้เรียบร้อย อย่าเผลอ คนไทยนี่ไม่ค่อยชอบคนเผลอ ถ้าใครเผลอนี่เขาให้บทเรียน ลำบากเดือดร้อนในภายหลัง แล้วก็ตั้งใจฟังให้ดี เพื่อเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป
วันนี้เป็นวันอาทิตย์แรกของเดือนตุลาคม ตรงกับวันที่ ๓ เป็นวันอาทิตย์แรกของวันออกพรรษา เมื่อวานนี้เป็นวันพระ ตรงกับวันเสาร์พอดี ญาติโยมก็มีโอกาสได้มาวัด ได้บำเพ็ญกิจทางพระศาสนา ถือศีลฟังธรรมเจริญภาวนากันไปตามฐานะ เมื่อเช้านี้ก็มีคนตักบาตร ก็เรียกว่าตักบาตรเทโว คำว่าเทโวนั้นเป็นคำตัดเอาข้างหน้า คำเต็มว่า “ เทโวโรหณะ” เทโวโรหณะแปลว่าการเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะว่าในตำนานคัมภีร์พระอภิธรรม คือคัมภีร์อภิธรรมนี่เมื่อเกิดขึ้นในภายหลังก็ต้องเขียนตำนานให้มันสละสลวยหน่อย ว่าอภิธรรมนี่เป็นธรรมะลึกซึ้งพูดกับคนนี่ไม่รู้เรื่องต้องไปพูดกับเทวดา แล้วก็มีพระพุทธมารดาอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิตได้เสด็จมาฟังด้วย เทศน์ติดต่อกันไปตลอด ๓ เดือนไม่หยุดเลย พระพุทธเจ้าเทศน์ไม่หยุด ไม่ฉันอาหาร ไม่ได้พักผ่อน แต่ท่านบอกว่าพระองค์ก็แบ่งภาคลงมาบิณฑบาตเหมือนกัน แต่ไม่ได้บิณฑบาตในเมืองมนุษย์ ไปบิณฑบาตทวีปอุดร
คนโบราณแบ่งทวีปออกเป็น ๔ เอาภูเขาหิมาลัยเป็นหลักเพราะมันสูงค้ำฟ้ามองไม่เห็นยอด ก็เลยว่าอยู่รอบๆเขานั้นเป็นทวีป ทวีปด้านบูรพา ด้านตะวันตก ด้านตะวันออก ด้านเหนือ ด้านใต้ แบ่งเป็น ๔ คนก็อยู่กันตามท้องถิ่นนั้นๆ พระองค์ก็ไปบิณฑบาต แต่ว่าแบ่งภาคไป ภาคหนึ่งเทศน์ไป ภาคหนึ่งไปบิณฑบาต แสดงอิทธิปาฏิหารย์ เล่าไว้พิศดารอย่างนั้น
ครั้นอยู่ครบ ๓ เดือนแล้ว ก็เสด็จมาเมืองมนุษย์ที่จังหวัดสังกัดนคร ลงจากบันได บันไดมี ๓ เงิน ทอง แก้ว พระองค์เดินลงตามบันไดแก้ว เพราะเงินทองเป็นของไม่เหมาะสมกับสมณะ เลยเดินลงตามบันไดแก้ว ชาวบ้านได้ทราบก็ดีใจ มาต้อนรับขับสู้ กันเป็นอย่างมาก อันนี้ก็เป็นเรื่องว่าพระพุทธเจ้าในพรรษานั้นคงเสด็จหลีกเร้นไปอยู่จำพรรษาเชิงภูเขาหิมาลัยซึ่งอยู่ไกลไปจากเมืองสาวัตถีที่เคยประทับ ถ้าเราไปยืนอยู่ที่เมืองสาวัตถีจะมองเห็นภูเขาหิมาลัยระยิบระยับด้วยแสงแดด ที่ระยิบระยับก็เพราะว่าเป็นน้ำแข็งไปทั้งภูเขา แดดส่องก็ดูระยิบระยับไป
หิมาลัยแปลว่าที่อยู่แห่งหิมะ คือน้ำแข็งนั่นเอง เพราะฉะนั้นดูไปแล้วก็เป็นน้ำแข็งขาวโพลนไป ต้องแสงแดดก็มีแสงเป็นประกาย เชิงภูเขานั้นเป็นที่ร่มรื่นสบายใจ พระผู้มีพระภาคเจ้าคงจะหลีกไปจำพรรษาอยู่ในที่อย่างนั้นสัก ๓ เดือน แล้วก็เสด็จกลับออกมาให้ชาวโลกได้พบปะ ได้ฟังธรรมกันต่อไป
เหตุการณ์อันนี้ผู้เขียนคัมภีร์ในตอนหลังจึงได้เขียนว่าพระองค์เสด็จไปอยู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้วก็แสดงธรรมโปรดพุทธมารดา ธรรมะที่เทศน์โปรดนั้นคือคัมภีร์อภิธรรม ก็เพราะว่าคัมภีร์อภิธรรมเพิ่งเกิดภายหลังพุทธปรินิพพาน เมื่อเกิดแล้วก็ไม่รู้ว่าจะอ้างกับอะไร ก็ในพระสูตรในพระวินัยมีเรื่องขึ้นต้น ปรารภบุคคล แล้วก็แสดงธรรม เช่นว่าขึ้นต้นก็ว่าครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถีแล้วมีคนนั้นมาเฝ้า ก็ได้แสดงธรรมชื่อนั้นให้คนนั้นฟัง มีอย่างนี้ทั้งนั้น พระวินัยก็มีเรื่องว่าพระองค์เสด็จอยู่ที่เมืองนั้น พระภิกษุกระทำความผิดชาวบ้านติเตียน พระองค์จึงได้บัญญัติพระวินัยข้อนั้นขึ้นไว้ให้เป็นข้อปฏิบัติสำหรับหมู่คณะต่อไป
ทีนี้เมื่อมีอภิธรรมเกิดขึ้นในตอนหลัง ขึ้นถึงก็ไม่มีกรรมนำต้น ขึ้นถึงก็ว่า (07.00 คำบาลี) เป็นหัวข้อแล้วก็อธิบายเรื่อยไป เขียนเสร็จแล้วก็เกิดปัญหาว่าจะให้พระพุทธเจ้าตรัสที่ไหนดี ตรัสกับใครดี ก็เลยเห็นว่าตรัสกับมนุษย์มากแล้วควรจะให้ไปตรัสกับเทวดาเสียบ้าง ก็เลยดันขึ้นไปชั้นดาวดึงส์ แล้วก็ไปพูดกับพระพุทธมารดาให้ฟังคาถาอภิธรรม เพราะฉะนั้นเวลามีงานศพนี่เขาจึงนิมนต์พระไปสวดอภิธรรม ให้สมกับว่าเป็นของสูงเป็นเรื่องที่เทวดาเขาฟังกัน แต่ว่าสวดแล้วมนุษย์ฟังไม่รู้เรื่อง สวดจบเดียวยังฟังไม่รู้ ดันสวดอยู่ตั้ง ๔ จบ ไม่รู้ว่าเรื่องอะไร อย่างนี้เขาเรียกว่าทำไปตามกัน ไม่มีความคิดก้าวหน้า ไม่รู้จักปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพื่อให้อะไรมันถูกต้องดีขึ้น ก็เลยทำอยู่อย่างนั้น ต้นเรื่องมันเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นวันออกพรรษานี้ความจริงก็เพียงครั้งเดียวที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกมาจากเชิงป่าที่ภูเขาหิมาลัย แล้วก็ไปพบชาวบ้านที่เมืองสังกับ เมืองสังกับก็อยู่ใกล้กับเมืองสาวัตถี อยู่ไปทางเชิงภูเขาหิมาลัยเหมือนกัน พระองค์คงเสด็จมาที่ตรงนั้นแล้วก็พบประชาชนที่นั่น แต่ว่าคนเขียนหนังสือสมัยก่อนนั้นอดไม่ได้ที่จะให้มีฤทธิเดชปาฏิหารย์ของแปลกๆ เพราะว่าคนสมัยก่อนนั้นเชื่ออย่างนั้น มีความคิดไปในเชิงฤทธิเชิงเดชเรื่องขลังเรื่องศักดิ์สิทธิ ถ้าไม่ศักดิ์สิทธิก็ดูมันอ่อนไป จึงต้องเขียนในรูปอย่างนั้น แต่มาในสมัยอีกสมัยหนึ่งคนเจริญขึ้น มีเหตุมีผลมากขึ้น ความจริงคนยุคพระพุทธเจ้านี่เขาก็เจริญทางด้านความคิด เจริญทางด้านจิตใจมากเหมือนกัน แต่ว่าเมื่อพระพุทธองค์นิพพานไปแล้ว เหตุการณ์มันก็ค่อยเปลี่ยนไป คนไม่ค่อยจะฉลาดเหมือนกับคนยุคนั้น จึงต้องเอาฤทธิเดชเข้ามาช่วยชักจูงให้คนเลื่อมใสศรัทธา จะได้ประพฤติดี ประพฤติชอบกันต่อไป แม้ในสมัยนี้ก็ยังมีเรื่องขลังเรื่องศักดิ์สิทธิที่เราไปกราบไปไหว้ ไปนมัสการกัน ทำอะไรก็ต้องมีเรื่องขลังๆเข้าไปสักหน่อย ถ้าไม่มีเรื่องเกี่ยวกับขลังดูมันจะไม่ค่อยจะเข้าท่า ก็เลยว่ากันไปอย่างนั้น
เราถือเอาใจความแต่เพียงว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จหลีกเร้นไปประทับอยู่ในป่าเงียบๆเป็นเวลา ๓ เดือน ครบแล้วพระองค์ก็เสด็จออกมาสู่ประชาชนต่อไป ประชาชนก็ให้การต้อนรับกับทำบุญตักบาตรกันตามประเพณี เรียกว่าตักบาตรเทโว ถ้าเป็นวัดสระเกศก็นิมนต์พระตั้งแต่ตีห้า ให้เดินขึ้นไป ท่านสมภารคงจะอึดอัดมาก เพราะว่าร่างกายท่านสมบูรณ์มาก ขึ้นภูเขาทองเช้าๆนี่คงจะหลายหอบ แล้วเดินลงก็คงจะเหนื่อยพอใช้ แต่ก็ดีเหมือนกัน ช่วยลดความอ้วนให้ท่านลงไปเสียบ้าง พระก็เดินลงเป็นแถว สวยดี มาถึงบนถนนก็บิณฑบาต เรียกว่าตักบาตเทโว
ที่วัดนี้ก็เคยทำเหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้หยุดแล้ว ให้คนมาตักธรรมดาๆ ไม่ต้องลงจากหน้าโบสถ์ ให้ไปตักอย่างนั้น มาตักถวายพระ เมื่อเช้านี้ก็มากันมากตามธรรมเนียมที่เราได้เคยกระทำกันทั่วๆ ไป วันไหนที่เป็นวันธรรมเนียมนี่ อาหารมักจะเหลือเฟือ ฉันกันไม่หวาดไหวเพราะต่างคนต่างจะมาเอาบุญกันในวันนั้น ความจริงการกระทำความดีนั้นไม่จำกัดเวลาไม่จำกัดอะไรทั้งนั้น เราจะทำเมื่อใดก็ได้ แต่ว่าคนเรายังติดประเพณีกันอยู่ เช่น วันตรุษ วันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา วันสารท อะไรอย่างนี้คนก็ทำบุญมาก ทำบุญจนกระทั่งฉันกันไม่ไหว เอาไปให้ใครต่อใครแล้วก็ยังไม่หมด มันมากเกินไป น่าจะยับยั้งไว้บ้างแล้วแล้วเราไปทำเฉลี่ยกันในวันอื่น คือให้นึกว่าถ้าออกพรรษาแล้วเราก็ควรจะได้ทำบุญตักบาตรในวันใดวันหนึ่งที่เหมาะกับเรา
อยากจะเสนอแนะว่าทำในวันเกิดดีกว่า ไม่ใช่วันเกิดครบรอบปี วันเกิดครบ ๗ วัน สมมติเราเกิดวันพฤหัสบดี..พอวันพฤหัสบดีก็ตักบาตร เกิดวันพุธ..ก็ตักวันพุธ เกิดวันศุกร์..ก็ตักวันศุกร์ เกิดวันจันทร์..ตักวันจันทร์ ทยอยกันไป พระก็พอได้ฉันสบายๆ ไม่มากเกินไป..ทยอยกัน ไม่ทำลายเศรษฐกิจของสังคมให้มันเสียหาย แต่นี่พอวันใหญ่แล้วไปตักกัน เหมือนที่สนามหลวง นัดคนให้ไปตักบาตรสนามหลวงมันไม่เข้าท่า.. มันมากเกินไป ตักมาก พระก็บิณฑบาตแล้วเอาไปเท เอาเสื่อหรือเอากระบุงวางไว้ที่ต้นมะขาม เทใส่แล้วไปรับอีก เอาไปวัดก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร มันมากมายเกินไป คือเรานัดคนให้ไปทำอย่างนั้น
น่าจะเพียงแต่ว่าวันปีใหม่ เดือนใหม่เราชวนกันกระทำความดีกัน งดเว้นจากความชั่ว งดเว้นจากการพนัน การดื่มเหล้า การเหลวไหลอะไรๆต่างๆตั้งแต่ต้นปี จนกระทั่งตลอดปี ไม่ใช่ไปรุมกันทำเฉพาะในวันนั้นๆ ซึ่งมันมากเกินไป มันเหลือเฟือแล้วก็สูญไปเสียเปล่าๆ อันนี้เป็นเรื่องน่าคิดแต่ว่าไม่มีใครค่อยคิดกันถึงขนาดนั้นหรอก ทำกันตามธรรมเนียม อาตมาเห็นแล้วมันก็เสียดายอาหาร กับข้าวที่มันมาก แล้วก็ฉันไม่ไหว ถ้ามากเกินไปนี่ตอนเย็นมักจะหิวทุกทีคือมันฉันไม่ลง มองแล้วมันอื้อไปหมด ท้องมันอืดไปหมด ฉันไม่ไหว ของก็เหลือ ท้องก็เหี่ยวแห้ง มันก็ไปหิวเอาตอนเย็น ไอ้วันไหนไม่มีอะไรก็ฉันได้มาก เช่น กับข้าวอย่างเดียวก็ฉันข้าวมาก ก็พอดีสบาย บ้านช่องเราก็เหมือนกัน วันไหนมันมาก กินไม่ไหว แต่วันไหนน้อยๆก็กินสบาย ควรเป็นอยู่อย่างประหยัด ทำบุญก็ทำอย่างประหยัดอดออม
หรือว่าเราไม่ทำบุญด้วยการตักบาตร เราจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นก็ได้ สมมติว่าเราจะตักบาตร เราจะใช้งบประมาณสักเท่าไหร่ งบประมาณในการตักบาตรสมมติว่า ๑๐๐ บาท แทนที่เราจะไปทำบุญ ๑๐๐ บาทด้วยข้าวด้วยปลาเหล่านั้น เราเอาปัจจัยนั้นไปถวายไว้ที่วัด เป็นกองกลางของวัดเพื่อใช้จ่ายในกิจการพระศาสนา เรื่องไฟฟ้า น้ำประปา หรือเรื่องกิจการอื่นๆ ภายในวัดมันก็ต้องจ่ายทั้งนั้นแหละ เช่น วัดสะอาดนี่มันก็ต้องตัดหญ้า ตัดหญ้านี่ก็ต้องจ้างคนตัด แต่งต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ พระก็ทำเหมือนกัน แต่ว่าบางอย่างพระทำไม่สะดวกก็ต้องจ้างเขาบ้าง ต้องใช้จ่าย เหมือนปัจจัยที่โยมหยอดลงไปในตู้ทุกวันๆ ที่ตั้งตู้ไว้ ไม่ได้ใช้เรื่องอื่นหรอก ปัจจัยนั้น ใช้เรื่องทำความสะอาดวัด ปลูกต้นไม้ ตัดหญ้า พัฒนาให้มันสวยๆงามๆ อะไรที่โยมเห็นมันเงินโยมทั้งนั้น ไม่ใช่เงินของใครเอามาตบแต่ง มาปลูกมาสร้าง ให้ดูสะอาดตา สวยงามเรียบร้อย ญาติโยมมาก็สบายใจเพราะได้เห็นวัดวาอารามสะอาด เราก็จ่ายเงินเหล่านั้นไป
หรือว่าเราจะเอามาทำบุญประเภทอื่น เช่น บุญเป็นค่าภัตตาหาร หรือทำบุญสร้างโรงเรียน อะไรก็ว่าไปตามเรื่องที่เราจะทำได้ ไม่ต้องใส่บาตรก็ได้เพราะมีคนใส่มากอยู่แล้ว อันนี้ก็จะช่วยให้เกิดการประหยัด แต่ว่าเป็นประโยชน์มากขึ้น อันนี้เป็นข้อคิดนำมาพูดไว้ให้ญาติโยมเอาไปคิด อย่าเชื่อตามอาตมาว่าก่อน แต่เอาไปคิดว่า เออ เข้าทีดีหรือไม่ ถ้าเราทำในรูปอย่างนั้น ถ้าเราเห็นว่าเข้าที เราก็ทำต่อไป ถ้ายังเห็นไม่เข้าที ก็ทำตามเดิมต่อไป สุดแล้วแต่ใจสมัครในเรื่องใด เอามาพูดให้แนวคิดให้โยมทั้งหลายเอาไปคิดประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่งเมื่อออกพรรษาแล้ว มีงานอีกประเภทหนึ่งที่เราทำกันทั่วๆไป เขาเรียกว่างานกฐิน กฐินในเมืองไทยเป็นเรื่องใหญ่โตมาก คือทำกันตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินจนถึงประชาชนธรรมดาทั่วไป จุดหมายของกฐินนั้นอยู่ที่เรื่องอะไร เรื่องต้องการถวายผ้าแก่พระ เพราะว่าปีหนึ่งก็ถวายผ้ากันเสียทีหนึ่งเพื่อให้ท่านได้ใช้สะดวกสบาย สมัยก่อนนั้นพระท่านอยู่ป่า ไม่ได้อยู่วัดอย่างเราอยู่กันในสมัยนี้ แม้ในพรรษาก็อยู่กับที่ เป็นกระต๊อบเล็กๆที่ญาติโยมเขาสร้างให้พักเฉพาะฤดูฝน ๓ เดือน ๔ เดือน พ้นนั้นแล้วท่านก็เดินทางต่อไป แล้วกระต๊อบกระท่อมที่สร้างถวายนั้น สร้างด้วยปัจจัยน้อยๆมุงด้วยใบไม้ ฝาก็กั้นด้วยใบไม้ พอกันแดดได้กันฝนได้ พระก็อยู่ในที่นั้น ทำหน้าที่อยู่ในสถานที่นั้นเป็นประจำตลอด ๓ เดือน ออกพรรษาแล้วยังอยู่อีกเดือนหนึ่ง ครั้นพ้นจากนั้นท่านก็เดินทางไป จาริกไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อนำธรรมะไปแจกจ่ายแก่ประชาชน ให้คนเข้าถึงธรรมะ ธรรมะได้เข้าถึงคน การเดินทางไปนั้นท่านก็พักตามใต้ต้นไม้ ตามถ้ำ ตามเรือนร้างหรือตามลอนฟางอะไรก็ได้ ไม่ได้แบกกลดเหมือนกับพระธุดงค์เดี๋ยวนี้หรอก ท่านไม่ได้มีกลดใช้ให้มันหนัก..แบกไป ไปแต่ตัวกับบาตร..เบาสบาย ไปพักที่ไหนก็นอนง่ายๆอยู่ง่ายๆ ตามใต้ต้นไม้ ประชาชนรู้ว่าพระมาอยู่ที่ใด เขาก็มาหามาสู่ มาถามปัญหาชีวิต มาปรึกษาเรื่องการดำรงชีวิตว่าควรจะอยู่อย่างไร ควรจะคิดอย่างไร ควรจะทำอะไร พระท่านก็แนะแนวให้ คนเหล่านั้นก็เอาไปเป็นหลักปฏิบัติ มีชีวิตสะดวกสบายตามสมควรแก่ฐานะ หน้าที่ท่านทำอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว ก่อนที่จะเดินทางท่านก็เตรียมเครื่องนุ่งห่มให้เรียบร้อย เพราะว่าที่นุ่งเก่าห่มเก่าอยู่นั้นเป็นผ้าฝ้ายหนาๆหนักๆ ถูกฝนแล้วมันตากไม่ค่อยแห้ง แล้วหน้าฝนในประเทศอินเดียนั้นฝนชุกมาก เราได้ยินข่าวน้ำท่วมอินเดียบ่อยๆ ท่วมไม่ใช่น้อย ท่วมมากกว่าท่วมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ที่เราได้เห็นมา ท่วมไปบ้านช่องจมดิน จมโคลนไปตามๆกัน พระที่อยู่ในที่นั้นก็เรียกว่า ผ้าเปียกแฉะขึ้นเห็ดขึ้นรา เก่า พ้นหน้าฝนแล้วก็ต้องปะ ชุน ซ่อมกันไป หรือถ้าได้ผ้าใหม่ก็เอามาเติมลงไปในผ้าเก่า เพราะว่ารูปจีวรมันเป็นชิ้นๆ เอาหลายชิ้นมาต่อกัน เรียกว่าสะดวกแก่การต่อการตัด เหมือนเราเทคอนกรีต เขาทำเป็นช่องๆไว้ เช่นบนถนนทำเป็นช่องเพื่อสะดวกเวลามันทรุดจะได้ขุดง่าย แล้วก็ได้เติมง่าย จีวรพระนี่ก็เหมือนกัน มีกระดูกคั่นแล้วก็เป็นช่องเรียกว่าเป็นกระดูกหรือเป็นขันธ์ สมมติว่าตอนนี้ผุ ก็เลาะออกแต่ตอนนี้ ตอนอื่นไม่ผุก็เอาไว้ก่อน เอาส่วนที่ดีมาฝากไว้ มาเย็บซ่อมเข้าไป มันก็ใช้ได้ต่อไป ท่านทำกันอย่างนั้นเป็นประจำทุกปีมา
ญาติโยมชาวบ้านเมื่อรู้ว่าเป็นฤดูกาลที่พระท่านทำจีวร เขาก็เอาผ้ามาถวาย แต่จะเอาไปถวายกับมือก็ไม่ได้พระท่านไม่รับ ต้องเอาไปพาดไว้ตามต้นไม้ ไปทิ้งไว้ตามป่าช้า ทิ้งไว้ตามกองขยะ พระเช้าๆเดินไปพบเข้าก็เก็บเอาไป เรียกว่าผ้าบังสุกุล ผ้าบังสุกุลก็คือผ้าเปื้อนขี้ฝุ่นนั่นเอง ถ้าพูดภาษาบ้านเราก็ผ้าเปื้อนขี้ฝุ่น ท่านเก็บไปก็ไปพับไปพอก แล้วก็ไปตัดเย็บย้อม ทำเป็นจีวรใช้ต่อไป ญาติโยมก็เลยเอาผ้าไปถวายเรียกว่าไปทอดกฐิน ทอดกฐินก็คือเอาผ้าไปทอด ไปทานนั่นเอง ถวายพระ พระก็ทำผ้าใช้กันต่อไป นี่เป็นกิจที่ทำกันอยู่นอกฤดูกาลเข้าพรรษา ระยะที่ทำก็เพียงเดือนเดียวไม่ยืดยาวอะไร เพราะว่าพ้นจากเดือนนั้น พระท่านก็ไม่อยู่กับที่แล้ว ท่านจาริกออกไปสอนคน จึงรีบไปถวายกันตั้งแต่วันแรมค่ำ ๑ เดือน ๑๑ จนถึงกลางเดือน ๑๒
มาในสมัยนี้ ถ้าพูดเรื่องผ้า พระท่านก็ไม่ค่อยจะขัดข้องเท่าไหร่หรอกเพราะมีคนถวายบ่อยๆให้ท่านได้ใช้ แต่บางทีก็ถวายใช้ไม่ได้ก็มีเหมือนกัน โดยเฉพาะผ้าไตรที่บังสุกุลตามงานศพ ญาติโยมไม่ค่อยจะรู้ โดยมากซื้อส่งเดชจากป่านั่นแหละ จากป่าช้าป่าช้าวัดโสมเขาก็มีไว้ สำหรับให้ซื้อไปบังสุกุล ทุกป่าช้าก็มีไว้ทั้งนั้น ถ้าพระวัดนั้นบังสุกุล เขาก็เอาไปคืนแก่ป่าช้า ถวายปัจจัยตอบแทนไป
แต่ถ้าพระวัดอื่นไปบังสุกุลได้มาก็เป็นปัญหา เพราะมันขาด ใช้ไม่ค่อยได้ มันเล็กบ้าง มันบางเกินไปบ้าง โดยมากเขาไม่ได้ใช้กัน เขาเรียกว่าไตรโยน คือได้มาแล้วก็โยนไว้มุมห้อง โยนไว้ ถ้ารู้ว่าใครจะบวชลูกบวชหลาน พระท่านก็ใจดีท่านบอกว่า “อาตมาให้ไตรหนึ่ง” ไอ้ไตรที่ใช้ไม่ได้ ก็ให้เขาไปเสีย แล้วเขาก็เอาไปบวช ก็ใช้ไม่ได้อีก ที่นี่เจอบ่อยเวลามาบวช บอกว่า “ ผมไม่ต้องซื้อผ้าไตร พระให้แล้ว ” บอกว่า “ แหม พระให้ นี่ถ้ามันจะแย่ ” แล้วมันก็แย่จริงนั่นแหละ ลองมานุ่งแล้วมันก็ไม่ไหว สบงมันก็ตื้นเกินไป จีวรก็เล็ก ก็ต้องจัดการหาให้ใหม่ อุปฌาย์ก็ต้องยอมขาดทุนไปชุดหนึ่ง หาให้เขาต่อไป
ทีหลังไม่เอาแล้ว ใครจะมาบวช บอกว่าซื้อเองไม่ได้ ต้องให้วัดจัดหาให้ สั่งมาไว้เสร็จ แล้วก็คิดปัจจัยเอาไปให้เขาตามหน้าที่คนกลางไป ก็ได้ผ้าเรียบร้อย ใช้นุ่งใช้ห่มสะดวกสบาย ไม่เสียสตางค์สูญเปล่า
ทีนี้เราจะบังสุกุลศพนี่อยากจะแนะนำว่า ถ้าเรามีสตางค์น้อย ไม่สามารถจะบังสุกุลทั้งไตรได้ ผืนเดียวก็ได้ สบงสักผืนหนึ่งแต่ให้ใช้ได้ จีวรสักตัวหนึ่งก็ให้ใช้ได้ ไม่ใช่ ๙ ไตร ๑๐ ไตร แต่ไม่ดีสักไตร อาตมาพบมาบ่อยๆ ก็ไปเทศน์งานศพบ่อยๆ ถ้าเห็นเขาถวายผ้าไตรก็นึกล่วงหน้าแล้วว่าไม่ได้ความอีกแล้ว แต่ว่ามันบอกไม่ทัน ไปถึงเทศน์เสียแล้ว ถ้าบอกทันก็จะบอก ปีนี้ทีหลังนี่บอก บอกว่า “โยมเวลานิมนต์อาตมาไปเทศน์ ไม่ต้องจัดบริขารอื่นให้มันรุงรังถือหนักเปล่าๆ ถวายปัจจัยมากๆ อาตมาจะเอามาสร้างโรงเรียน ไม่เอาไปทำเรื่อง ” เขารู้แล้ว ทีหลังเขาก็ไม่จัด บางทีไปเขาก็ถวายหมอนบ้าง อะไรต่ออะไรบ้าง ไม่ใช่เราเป็นคนขี้นอนเมื่อไหร่จะต้องมีหมอนมากๆ โยมก็ถวายหมอนขวานใบใหญ่ ได้มาแล้วมันก็รกกุฏิไม่รู้จะวางไว้ตรงไหน ก็มีวิธีระบาย พระบ้านนอกมาก็ “ เอ้า เอาหมอนนี้ไปด้วย ” คือไม่ใช่ว่าอะไร ให้มันพ้นๆไป ไม่ให้มากองอยู่รกกุฏิเท่านั้นเอง อันนี้มันไม่ได้ประโยชน์อะไร
เราควรจะให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่ทางวัดนั้นต้องการ เช่นว่านิมนต์อาตมาไปเทศน์ ได้ของนี่ไม่มีดีใจเลย แต่ถ้าได้ปัจจัยแล้วค่อยชื่นใจ ได้เอามาเข้าบัญชีสร้างโรงเรียนต่อไป มันเป็นอย่างนั้น จีวรก็ไม่ขัดข้องละ โยมถวายอยู่แล้ว แล้วถ้าโยมที่มาฟังเทศน์ถวาย เขาก็ไปซื้อพอเหมาะพอดี รู้ แต่ถ้าโยมที่ไม่รู้นี่ก็ไปซื้อส่งเดชมาเหมือนกัน ก็เก็บๆไว้ ไว้ถวายพระอื่นที่มาจากบ้านนอกรูปร่างเล็กๆน้อยๆก็ถวายกันไป นี่มันก็เป็นเรื่องที่เราทำกันตามธรรมเนียม
อยากจะแนะนำว่าไม่จำเป็นจะต้องบังสุกุลเป็นไตร แต่ว่าให้ใช้ได้ สบงสักผืนหนึ่งให้ใช้ได้ จีวรสักผืนหนึ่งก็ให้ใช้ได้ ให้ทั้งไตรนี่เขาเรียกเอาหน้ากัน มีศพนี่แหม ๑๐ ไตร ทอดกันแล้ว ทอดกันอีก คนนั่งเผาก็นั่งรอว่าเมื่อไหร่จะเผาสักที พอทอดไตรสุดท้ายแล้วก็เฮขึ้นไปบนเมรุ เหมือนกับจะไปแย่งอะไรกัน ไม่มีระเบียบเพราะว่าเวลามันจำกัด อันนี้เลยแนะนำว่าอย่าทอดให้มันหลายไตรเลยโยม เอาสักไตรหนึ่งก็พอแล้ว ผู้มีเกียรติคนเดียวก็พอแล้ว นี่มันหลายงาน บางงานผู้มีเกียรติมันมาก ใหญ่ทั้งนั้น เลยต้องเชิญคนนั้น ต้องเชิญคนนี้ ไม่ให้น้อยหน้ากัน ไอ้นี่มันลำบาก ทีนี้ถ้าไม่ให้ยุ่ง ตัดปัญหา คฤหัสถ์มีเกียรติมันหลายคน ตัดปัญหา นิมนต์พระซะดีกว่า พระที่ไปนั่งอยู่นั่นน่ะ องค์ไหนมีเกียรติ เรียกว่าใหญ่กว่าเพื่อน องค์นั้นเอาเลย นิมนต์ใต้เท้าทอดผ้า แล้วก็จุดไฟให้เลย หมดเรื่อง คฤหัสถ์ก็ไม่ต้องนั่งเกี่ยงกันว่าจะเอาใครก่อน คือเจ้าภาพน่ะเกี่ยงกัน พวกแขกเขาไม่เกี่ยง แต่เจ้าภาพจะเอาใครก่อน ลูกหลายคน คนหนึ่งอยู่กระทรวงศึกษา..อธิบดีมาคนหนึ่ง คนหนึ่งมหาดไทย ท่านปลัดกระทรวงมา อีกคนหนึ่งอยู่คมนาคม อธิบดีมา แหมใหญ่หลายคนจริง ไม่รู้จะเอาใครก่อน บางทีก็ตัดปัญหา นิมนต์หลวงพ่อใหญ่กว่าเพื่อน ขึ้นไปทอดไตรเดียวแล้วก็เสร็จเรื่อง จุดไฟเลย ก็จุดเป็นพิธี เรียกว่าสักการะศพ ไม่เรียกว่าเผาหลอก คำว่าเผาหลอกฟังแล้วมันไม่รื่นหู ควรจะเรียกว่าประชาชนที่มาในงานร่วมกันสักการะศพ แล้วเวลาเผาก็เข้าเตาเผา ผู้เผาจริงๆก็คือสัปเหร่อ แต่คนจุดไฟคนแรกก็มีจุดวางไป ความจริงถึงไม่จุด เขาก็จุดของเขา ก็เข้าเตาแล้วเป็นหน้าที่เขา เขาก็เผาไป แต่มันเรื่องเกียรติ ในอินเดียนี่เขามีดี เขาตั้งไว้เป็นประเพณีตายตัว ลูกชายคนหัวปีต้องจุด แม้ตรงนั้นประธานาธิบดีมานั่งอยู่เขาก็ไม่เชิญ เขาเอาลูกชายคนหัวปี บัณฑิตเนรูห์ตาย แกไม่มีลูกชายมีแต่ลูกสาวที่เป็นนายกอยู่เดี๋ยวนี้ มีหลานชาย ๒ คน ก็เลยให้หลานชายคนที่มอายุแก่เป็นผู้จุด หมดเรื่องไม่ต้องเอาผู้มีเกียรติไหน เขาวางมาตั้งแต่สี่พันปีแล้ว เป็นธรรมเนียมไป มันก็ดีเหมือนกัน ของเราก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามกาละเทศะ มันก็เกิดปัญหาพอใช้ พูดเรื่องออกพรรษาแล้วไปออกเรื่องเผาศพไปด้วย เรียกว่ามันพาดพิงไปเรื่องการทำบุญที่เป็นประโยชน์ พาดพิงไปถึงอย่างนั้น
ทีนี้เรามาพูดกันต่อไปว่าออกพรรษาแล้วควรจะออกหรือควรจะทำอะไร คนที่เข้าพรรษาแล้วตั้งใจอดเหล้าไม่ดื่ม ๓ เดือน วันนี้นี่ดื่มใหญ่ นัดเพื่อนฝูงมาฉลองการออกพรรษา กลับไปอยู่ภาวะเดิมต่อไป ขึ้นมาอยู่ในที่สะอาดเรียบร้อย ๓ เดือน พอวันออกก็กลับไปสู่ภาวะเดิม อาตมานึกๆดูแล้วมันคล้ายกับว่าเราเลี้ยงสุนัข สุนัขที่เราเลี้ยงไว้จับมันอาบน้ำ อาบสะอาดถูสบู่อะไรเรียบร้อย เช็ดตัวเรียบร้อย พอปล่อยเท่านั้น ไปคลุกขี้ฝุ่นทันที มันคันมัน ไม่ใช่เรื่องอะไร ไปคลุกขี้ฝุ่นต่อไป พอปล่อยปุ๊บก็ไปคลุกขี้ฝุ่นให้สกปรกต่อไป ก็เหมือนคนขี้เมาทั้งหลายที่ว่าพอเข้าพรรษาก็หยุด ๓ เดือน แต่พอออกพรรษาก็ไปคลุกกับขวดต่อไป อย่างนั้นมันก็ไม่ไหว เขาเรียกว่าไม่ชนะ ชนะแล้วไม่รักษาความชนะไว้
พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าพึงรักษาความชนะที่ชนะแล้วไว้อย่าให้กลับแพ้ (30.38 คำบาลี) คำบาลีว่าอย่างนั้น หมายความว่าพึงรักษาความชนะไว้อย่าให้กลับแพ้เป็นอันขาด เราเลิกเหล้าได้ ๓ เดือนก็เป็นบุญแล้ว ก็หยุดต่อไปอีก ๙ เดือนให้ครบปี เรียกว่าเป็นปีแห่งชัยชนะ เดี๋ยวนี้เขาไม่ได้บัญญัติปีอย่างนั้นไว้ มีแต่ว่าปีเด็กสากล ปีคุณแม่ ปีคนสูงอายุ ปีนี้เขาเรียกว่าปีคนสูงอายุ ก็ปีของคนแก่ ไม่ใช่เรื่องอะไร น่าจะบัญญัติสักครั้งหนึ่งว่าปีแห่งชัยชนะ ชนะกิเลสนะ ไม่ใช่ชนะอะไร ชนะความชั่ว ชนะเหล้า ชนะการพนัน ชนะการเที่ยวเตร่ยามค่ำคืน ชนะความสนุกสนานไม่เข้าเรื่อง ชนะความเกียจคร้าน ชนะความอ่อนแอ น่าจะชักชวนกันอย่างนั้นบ้างโดยเฉพาะประเทศไทย โลกไหนเขาไม่ทำก็ช่างเขา เรามาริของเราบ้างก็ได้ ไม่ต้องทำตาม United Nation หรือสหประชาชาติเสมอไปหรอก ทำของเราบ้างก็ได้ เรามันออกเหลี่ยม ออก มีมุขของเราบ้างก็ได้ เราก็มีหัวเหมือนกัน เราประกาศว่าปี พ.ศ.๒๕๒๖ ปีนี้ให้เขาไปก่อน เรียกว่าปีคนแก่ ทีนี้ปี พ.ศ.๒๕๒๖ เราประกาศว่าเป็นปีแห่งชัยชนะต่อความชั่วร้ายทั้งหลาย ก็ช่วยกันเอาชนะกัน ชนะน้ำเมา ชนะการพนัน อะไรที่ไม่ดีไม่งาม ก็ ไม่ต้องไปยุ่งหรอก เช่นว่าทุกคนเอาชนะการพนันก็ไม่ไปสนามม้า ไม่ยุ่ง พวกสนามม้าจะเดินขบวนก็ไม่รู้จะเดินกับใคร ไม่รู้จะไปขอร้องกับใคร เพราะคนทั้งหลายเขาไม่เอาด้วยแล้ว สนามก็รกเองแล้วม้าก็ตายเอง ไม่มีใครไปเล่นแล้ว เลิกกันไป ร้านเหล้าก็คนไม่เข้า เขาจะเปิดไปทำไม เปิดก็ไม่มีคนดื่ม เขาก็เลิกค้าเหล้า ไปค้าของอื่นต่อไป อะไรๆที่เป็นของชั่วของร้ายเราควรจะเลิกกันให้หมด เราออกจากสิ่งเหล่านั้นให้หมด คนก็ไม่ทำชั่ว ความชั่วจะอยู่ได้อย่างไร สถานที่ชั่วมันจะอยู่ได้อย่างไร มันอยู่ไม่ได้เพราะใครๆชวนกันเลิกกันละหมดแล้ว แต่นี่เราไม่ชวนกันเลิก แต่เราชวนกันสนับสนุนกันนี่ พอออกพรรษาแล้วก็ออกจากความดี ออกจากธรรมะ ไปอยูกับความชั่วความร้ายกันต่อไป เป็นการออกที่ไม่ถูกต้อง มันต้องออกในรูปถูกต้อง ออกในรูปใหม่
ออกในรูปใหม่นั้นคือจะออกอย่างไร เราจะต้องพิจารณาตัวเราเองว่าเรามีอะไรบกพร่องไม่ดีไม่งามอยู่ในตัวบ้าง แล้วเราคิดว่าต้องออกจากสิ่งนี้ ออกจากสิ่งไม่ดีไม่งามเหล่านี้ไป เพราะถ้าเราขืนอยู่กับสิ่งเหล่านี้ต่อไป เราก็พิจารณาดูว่าฐานะเป็นอย่างไร การเงินเป็นอย่างไร การสมาคม มีคนประเภทใดมาคบหาสมาคมกับเรา อะไรๆมันดีขึ้นหรือเปล่า ลองพิจารณาให้รอบคอบพิจารณาด้วยปัญญา ก็จะมองเห็นว่ามันไม่มีอะไรดีขึ้น มีแต่เรื่องเสื่อมเรื่องเสียหายขาดทุนตลอดเวลา เราอยู่อย่างเป็นทุกข์ไม่มีความสุขทางกายทางใจ ครอบครัวก็ไม่เป็นสุข ทุกคนเดือดร้อนวุ่นวายแล้วเราจะอยู่กับสิ่งนั้นทำไม เราควรจะออกจากสิ่งนั้นเสียดีกว่า ตั้งใจอย่างนี้แล้วเราก็ตั้งใจตัดมันเลยไม่ยุ่งกับสิ่งเหล่านั้นต่อไป อย่างนี้เรียกว่าออกจากสิ่งนั้น เช่น ออกจากความโลภ ออกจากความโกรธ ออกจากความหลง ออกจากความริษยาพยาบาทอาฆาตจองเวรอะไรต่างๆที่มันเคยมี เคยเกิดขึ้นในใจของเรา แล้วเราเก็บมันไว้ เราก็ควรจะหนีออกจากสิ่งนั้น อย่างนี้เขาเรียกว่าบำเพ็ญบารมี ที่เรียกว่าเนกขัมบารมี
เนกขัมก็คือการออกจากสิ่งไม่ดีไม่งามด้วยประการต่างๆ เช่น เจ้าชายสิทธถะท่านออกจากสิ่งเหล่านั้น ท่านอยู่ในวังมีความสุขความสบายตามแบบคนในวัง แต่ว่าท่านเห็นว่ามันไม่ได้เรื่องอะไรชีวิตไม่มีประโยชน์แก่คนส่วนมาก มีแก่คนส่วนน้อย แล้วก็อยู่ไปอย่างนี้ ตายไปไม่มีอะไรที่เป็นสาระเป็นแก่นเป็นสาร ท่านพิจารณาไปในรูปอย่างนั้น ในที่สุดก็ออกไป ออกไปจากวัง เขาเรียกว่า มหาภิเนษกรมณ์
มหาภิเนษกรมณ์คือการออกอย่างยิ่งใหญ่ ไม่มีใครเคยออกอย่างนั้น แม้คนอื่นเขาเคยออกแต่ว่าไม่ถึงอย่างนั้นฐานะความเป็นอยู่ ความเป็นใหญ่มันไม่มี เช่นว่าคนออกไปบวชก็มีเหมือนกัน แต่ว่าไม่ใช่เป็นกษัตริย์ ไม่ใช่เป็นเจ้าฟ้าชาย ท่านเป็นเจ้าฟ้า เป็นมกุฎราชกุมาร ตำแหน่งที่อยู่ข้างหน้านั้นเป็นตำแหน่งที่ใครๆอยากได้ถึงกับต้องรบแย่งกันเพื่อความเป็นใหญ่ในเรื่องอย่างนั้น แต่ว่าเจ้าชายสิทธถะท่านออกไปเสียเลย ท่านไม่ต้องการสิ่งนั้น ออกไปเพื่อแสวงหาสัจธรรม แสวงหาสิ่งถูกต้อง ที่จะช่วยให้ผู้รู้และเข้าใจแล้วพ้นไปจากความทุกข์ความเดือดร้อน จะได้ออกจากความทุกข์ต่อไป เรียกว่าท่านออกไปอย่างนั้น ออกไปแสวงหาธรรมะ
คนในสมัยพระพุทธเจ้านั้นมีการออกอย่างนี้บ่อยๆ แล้วไปเจอพระพุทธเจ้าก็ได้ดำเนินชีวิตตามแบบที่พระองค์บอกให้ เช่นท่านมหากัสสปะกับนางภัททกาปิลานี สองคนสามีภรรยา ท่านก็เป็นลูกเศรษฐีมั่งมีทรัพย์สมบัติเหมือนกัน ต่อมาก็พ่อแม่ตาย เมื่อพ่อแม่ตายท่านก็รับมรดกที่จะต้องบริหารต่อไป ท่านก็บริหารงานไปได้ด้วยดี ไม่ได้เสียหาย ท่านประพฤติดีประพฤติชอบ แต่ว่าทำไปทำไปมันเกิดความเบื่อหน่ายในสิ่งที่ท่านทำอยู่นั้นแล้วก็มารับบาปคนอื่น คนมันมากทำงานร่วมกัน บางคนก็ดี บางคนก็ร้าย บางคนก็อ่อนน้อมว่านอนสอนง่าย แต่บางคนก็ดื้อด้านว่าไม่นอนสอนไม่ฟัง เรียกมาเตือนมาบอกมันก็ไม่เอาอย่าง มันทำตามอารมณ์ ตามชอบใจตัว มากเข้าๆท่านก็นึกว่า “ เอ๊ะ มันเรื่องอะไรที่เรามานั่งรับบาปของคนทั้งหลายทั้งปวงอยู่อย่างนี้ เราควรจะออกไปอยู่ป่าหาความสงบใจเสียดีกว่า ”
คนสมัยนั้นมีจิตใจโน้มเอียงไปในทางที่จะออกป่าอยู่ไม่ใช่น้อยเหมือนกัน แล้วก็เลยท่านทั้งสองคนก็ออกเป็นนักบวช ไปอยู่ ทั้งสองคนอยู่ในป่าอย่างนักบวช แม้เคยเป็นสามีภรรยากันก็เรียกว่าไม่อยู่อย่างสามีภรรยาต่อไป แต่อยู่อย่างนักบวช แล้วก็ท่องเที่ยวไป สั่งสอนประชาชนไปบ้าง จนกระทั่งมาพบพระพุทธเจ้าเข้า แล้วก็ได้ฟังธรรม ได้รู้ ได้ซึ้งในธรรมะที่พระพุทธเจ้านำมาสอน ท่านก็เลยมาบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา บำเพ็ญเพียรจนถึงที่สุดคือได้บรรลุเป็นพระอรหันต์สำเร็จตามความต้องการ ท่านเป็นพระผู้ใหญ่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้ายกย่องมาก ยกย่องว่าเป็นผู้เคร่งครัดในธุดงค์ คือท่านอยู่ป่าถือผ้าเพียง ๓ ผืน บิณฑบาตเป็นวัตร ไม่มีอะไรอื่น แล้วก็ประพฤติเป็นตัวอย่างแก่ผู้น้อยทุกแง่ทุกมุม เวลาพระพุทธเจ้านิพพาน ก็พระมหากัสสปะเป็นหัวหน้าในการจัดงานเกี่ยวกับพระศพ เป็นประธานสงฆ์ แล้วก็เป็นประธานในการทำสังคยนาครั้งแรกเมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานไปแล้ว ๓ เดือน อันนี้ท่านก็เป็นผู้ออกไปเหมือนกัน ออกเพราะเบื่อ
เรื่องเบื่อหน่ายนี่มันเบื่อ ๒ แบบ บางคนเบื่อด้วยความเขลา บางคนเบื่อด้วยปัญญา ถ้าเบื่อด้วยปัญญา ภาษาบาลีเขาเรียกว่า นิพพิทา นิพพิทาแปลว่ามองเห็นสิ่งทั้งหลายมันไม่เป็นสาระ เป็นแก่นเป็นสาร เบื่อด้วยปัญญา อีกประเภทหนึ่งเรียกว่าอึดอัดขัดใจ บางคนอยู่บ้านขัดใจกับแม่บ้าน เลยบอกว่า “ผมจะบวชแล้ว” “ทำไมบวชล่ะ” “ขัดใจกับคนที่บ้าน” ขัดใจกับแม่บ้านไม่อยากจะอยู่กันต่อไปก็เลยไปบวชเสีย หรือว่าโกรธลูกชายคนหัวปี ว่าไม่นอนสอนไม่ฟัง ขี้เกียจจะเห็นหน้ามันแล้ว ผมจะไปบวชเสียเลย บวชอย่างนั้นก็มี อย่างนี้เขาเรียกว่าอึดอัด มันอึดอัด ไม่ใช่ปัญญา พออยู่วัดก็โปร่งๆ สึกอีกแล้วไปอยู่กับแม่บ้านคนนั้นต่อไป มันหายอึดอัดแล้วก็ไปอยู่กันต่อไป อย่างนี้เขาเรียกว่าพวกอึดอัดขัดใจ ไม่ใช่พวกปัญญา
การออกบวชของเจ้าชายสิทธถะ ของพระมหากัสสปะ หรือว่าอีกหลายองค์ในครั้งนั้น เรียกว่าออกบวชด้วยปัญญาทั้งนั้น หรือว่าพวกศากยกษัตริย์เป็นลูกเรียงพี่เรียงน้องกับพระพุทธเจ้า พระอานนท์ พระอนุรุท พระภัทริยะ พระกิมพิละ หลายรูปด้วยกัน ก็ออกบวชด้วยปัญญาเหมือนกันเพราะเห็นว่าควรจะบวช คนอื่นเขาบวชกันมากแล้วสกุลเราครอบครัวเราต้องไปบวชบ้าง แล้วก็เลยไปบวช เมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจศึกษาตั้งใจปฏิบัติ สำเร็จจุดหมายปลายทางตามหลักพระพุทธศาสนา แล้วก็ได้ช่วยงานพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลายไม่ใช่ผู้เกียจคร้าน ไม่ใช่ผู้อยู่นิ่ง แต่มีชีวิตอย่างว่องไว ตื่นตัว ก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา ตื่นตัว ว่องไว ก้าวหน้าในการทำประโยชน์แก่สังคม ไม่ได้อยู่นิ่งอยู่เฉย
เราอย่านึกว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านคงจะเดินนิ่งๆอยู่ในป่าเงียบๆ ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านทำกิจของท่านสำเร็จแล้ว แล้วท่านก็ไปทำกิจเพื่อผู้อื่นต่อไป ท่านสงสารคน มีน้ำใจเอ็นดูกรุณาต่อประชาชนทั้งหลายที่เวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์กองร้อน ท่านก็ไปดึงเขาออกจากความทุกข์ความเดือดร้อน ไปสอนให้เขารู้ชีวิตถูกต้อง คือให้เขารู้ว่าเกิดมาทำไม มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร สิ่งที่ดีที่สุดที่ชีวิตควรกระทำคืออะไร จุดหมายปลายทางของชีวิตอยู่ที่ตรงไหนสอนให้เขาเข้าใจ เขาจะได้รู้ชีวิตความหมายถูกต้องของชีวิตของการเกิดมาแล้วได้ประพฤติดีประพฤติชอบตามแนวทางนั้นๆ ท่านออกไปช่วยเขาอย่างนี้ เรียกว่าเป็นการออกที่ถูกต้อง ไม่ใช่ออกจากความดีไปอยู่กับความชั่วออกจากความมั่งมีไปอยู่กับความยากจน ออกจากความขยันไปอยู่กับความเกียจคร้าน คิดว่าเกียจคร้านดีไม่ต้องทำอะไร อย่างนี้มันออกไม่ถูก เขาเรียกว่าออกไปสู่ความเสียหาย ไม่เป็นการถูกต้อง
เพราะฉะนั้นในการออกพรรษาเราทั้งหลายก็อย่าออกจากสิ่งที่เคยกระทำเคยปฏิบัติ เคยมาวัดอย่างไรก็มาอย่างนั้น เคยฟังธรรม เคยรักษาศีล เคยสวดมนต์ เคยทำอะไรก็ทำตลอดไป อย่าทำเพียงชั่วระยะหนึ่งในรอบปี ถ้าเราทำเพียง ๓ เดือน มันน้อยไป เพราะว่าปีหนึ่ง ๑๒ เดือน เราทำ ๓ เดือน ไม่ทำตั้ง ๙ เดือน เรามีเสื้อผ้าอยู่ชุดหนึ่ง ซักเพียง ๓ ครั้ง แล้วก็ปล่อยมันตามเรื่องไม่ได้ซักเลย เสื้อผ้านั้นจะเป็นอย่างไร ก็คงมีกลิ่นพิกล คนเข้าใกล้กันไม่ได้ทีเดียวแหละ
ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ถ้าเราขูดเกลาเพียง ๓ เดือน ในฤดูกาลเข้าพรรษา พอออกพรรษาแล้วก็พูดว่า “ ออกพรรษาแล้ว ” แล้วก็สนุกกันต่อไป ทำอะไรเหลวไหลกันต่อไป ประพฤติสิ่งไม่ถูกต้องกันต่อไป มันก็ไม่ถูก ไม่เข้าท่าในเรื่องอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงควรจะถือว่าได้เดินมาในทางที่ถูกที่ชอบแล้ว เป็นบุญ ๓ เดือน ละเลิกอะไรที่เป็นเรื่องอบายมุขมาได้แล้ว ๓ เดือน ก็เรียกว่าชนะ ชนะมาถึง ๓ แล้ว อีก ๙ ก็ต้องขยับต่อไป ทีละเดือน ทีละเดือน จนครบ ๙ เดือน ครบ ๑ ปี ก็เรียกว่าเราอยู่ในปีแห่งชัยชนะ ในปีแห่งความก้าวหน้า ในปีแห่งการแสวงหาปัญญา นั่นเป็นการชอบการควร
ในฤดูออกพรรษานี้ลูกหลานของญาติโยมก็จะสึกไป ที่มาบวชก็เตรียมสึกกันแล้ว พวกที่บวชนี่ จะสึกวันพรุ่งนี้ก็จะมีแล้ว แล้วก็สึกกันไปเรื่อยๆเหมือนที่มาบวชวัดนี้จะสึกไปเรื่อยๆ แต่ว่ามีชุดหนึ่งประมาณ ๕๙ รูปจะไปไชยา ไปพักอยู่ ๔- ๕ วัน เพื่อไปศึกษาอะไรที่นั่น ไปเยี่ยมเยียนท่านเจ้าคุณพุทธทาส เพราะว่าอยู่นี่ได้ฟังเรื่องท่านบ่อยๆ ได้อ่านหนังสือท่านบ้าง ก็อยากจะไปพบปะ (45.30 เสียงไม่ชัดเจน) ศึกษาอะไรจากท่านบ้าง ได้ติดต่อกันเรียบร้อยแล้ว ก็จะไปกันในวันนี้เหมือนกัน เรียกว่าออกไปเพื่อศึกษา ออกไปเพื่อความก้าวหน้าแห่งปัญญาจากสวนโมกขพลาราม กลับมาก็จะสึกไป ก็เรียกว่าออกไปเหมือนกัน คือออกจากเพศของพระ ไปอยู่อย่างเพศคฤหัสถ์ ไปอยู่อย่างเพศคฤหัสถ์ก็ไม่ใช่ออกจากความเป็นคนดีทั้งหลาย
เรามาอยู่เป็นพระนี่เรียกว่าดีอยู่ ๔ ,๓ เดือน หรืออาจจะเกินนั้นไปบ้าง ก็เรียกว่ามาสร้างคุณไว้ในจิตใจ สร้างคุณงามความดีเป็นพื้นฐานในจิตใจ คล้ายกับสร้างอาคารนี่มันต้องตอกเข็มให้มั่นคงก่อน เมื่อตอกเข็มมั่นคงแล้วก็หล่อตอม่อ เสาตอม่อ แล้วก็หล่อเสา หล่อคาน ทำพื้น ทำฝา ทำเพดาน เรียบร้อย ใช้ได้ อยู่สบาย ฉันใด ชีวิตเราที่เข้ามาบวชอยู่ในวัด ๓ เดือนนี้ ก็เรียกว่ามาลงรากตอกเข็ม สร้างฐานของชีวิตให้มั่นคง เพราะว่าคนมาบวชนี่เป็นคนหนุ่มจบการศึกษาวิชาการสำหรับที่จะเป็นอาชีพทำมาหากินแล้ว แล้วก็มาบวชเพื่อสร้างฐานทางจิตใจ ให้มีคุณธรรมประจำใจ ให้มีศาสนาเป็นหลักครองใจ ออกไปก็ต้องเอาไปด้วย เอาธรรมะ เอาศาสนากลับไปบ้าน เอาไปอวดคุณโยม มารดาบิดา อวดพี่อวดน้องอวดเพื่อนอวดฝูง ว่าฉันไปชุบตัวมาแล้วด้วยคุณงามความดีตามหลักพระศาสนา ก็ต้องเอาความดีนั้นไปใช้ให้คนอื่นเห็น อย่าเอาความชั่วไปให้คนอื่นเห็น ให้ใครเห็นก็ชมว่า “ เจ้านี่ ไปบวชมา ๓ เดือน มันดีขึ้นเยอะ เรียบร้อยขึ้นมาก ” อย่างนี้ก็ใช้ได้
เมื่อวานซืนนี้พบคนแก่คนหนึ่งมางานศพคุณ (47.48 ชื่อคน) แล้วก็เสร็จ ก็ลงมานั่งกราบ รายงานตัวแทนลูกชาย ว่า “ ลูกชายผมมาบวชที่นี่แหละ ”
“ แล้วเป็นอย่างไร บวชแล้วมันเป็นอย่างไร ”
“ มันเรียบร้อย เดี๋ยวนี้บ้านผม มันคล้ายกับวัดไปเสียแล้ว มีการสวดมนต์ทุกเย็น ลูกชายเขานำพี่ๆน้องๆ สวดมนต์ ไอ้ผมเป็นพ่อก็เลยไปสวดกับมันด้วย แล้วมันพาเพื่อนพาฝูงมาสนทนาธรรมะธัมโมกัน สภาพบ้านก็กลายเป็นวัดไป”
“ แล้วเป็นไงล่ะ บ้านกลายเป็นวัดมันดีไหม ”
“ มันสบาย หมู่นี้สบายใจ เพราะว่าลูกได้มาบวช แล้วก็ทำงานทำการเรียบร้อย มันไม่ค่อยว่าง ไม่ได้มาเยี่ยมหลวงพ่อ ”
“ ไม่ต้องมาเยี่ยมหรอก อยู่อย่างนั้น มันใกล้หลวงพ่อแล้ว ” แต่ถ้ามาเยี่ยม กลิ่นบางยี่ขันคลุ้ง มันอยู่ห่างจากหลวงพ่อ
ไอ้บางคนมาเยี่ยมเหมือนกัน แต่ว่ากลิ่นฉุยมาระยะ ๕ เมตร มากลิ่นฉุยเลย นั่นมันอยู่ห่างหลวงพ่อ มาจับแข้งจับขานวดอยู่ นั่นมันอยู่ไกลหลวงพ่อ มันไม่ได้เรื่องอะไร แต่ว่าอยู่บ้าน อยู่ที่ไหน อยู่เมืองไทย ประพฤติดี ประพฤติชอบ มันก็อยู่ใกล้หลวงพ่อ ใกล้พระพุทธเจ้า ใกล้พระธรรม พระสงฆ์อยู่แล้ว เป็นคนดีใช้ได้ไม่มีความเสียหายอะไร ไปบอกเขาด้วยนะว่า ขอให้ดำเนินชีวิตต่อไป อย่างนี้เป็นตัวอย่างที่ว่าออกไปแล้วก็เอาไปด้วย เอาศีลเอาธรรม เอาพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ใส่ใจเข้าไปบ้าง เพื่อนฝูงมิตรสหายเห็นแล้วก็ชอบใจว่า “ เออ ไอ้นี่บวชไม่เสียผ้าเหลือง ไม่เปลืองข้าวสุกชาวบ้าน ใช้ได้ ”
แต่ถ้าบางคนออกไปแล้ว เหลวไหล เมาเช้าเมาเย็น ประพฤติตนไม่ดีไม่งาม ใครๆเขาก็ว่า “ ไอ้นี่ ไม่ได้เรื่องอะไร ไปบวชแล้วเหมือนกับไม่ได้บวช ” เพราะไม่ตั้งใจบวช บวชเพราะพ่อแม่บังคับมา ไม่ตั้งใจศึกษา ไม่ตั้งใจอบรม เลยเป็นคนใช้ไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่าออกเหมือนกัน แต่ว่าออกจากคุณธรรมไปอยู่กับสิ่งที่เป็นอธรรมไป ไปอยู่กับความชั่วความร้าย เป็นการออกที่ไม่ถูกต้อง จึงควรจะถือเอาคำว่าออกนี้ให้เป็นประโยชน์ด้วยการพิจารณาตัวเองให้รู้ว่าเราควรจะออกจากอะไร เช่น เราเป็นคนมักโกรธ ใจร้อนใจเร็ว ก็หัดเป็นคนใจเย็นเสีย ออกจากความโกรธ ใจร้อนใจเร็ว ให้มีสติคอยควบคุมตัวเอง คอยบ่นกับตัวเองว่า “ ฉันไม่โกรธใคร ฉันใจเย็น ฉันไม่โกรธใคร ฉันใจเย็น ” ใครจะมาหามาสู่ก็พูดกับตัวเองไว้บ่อยๆ เรียกว่าเตือนตัวเอง ท่องคาถา “ ไม่โกรธ ใจเย็น ไม่โกรธ ใจเย็น ” ไว้บ่อยๆ ความคิดมันก็ค่อยเย็นขึ้น ความโกรธก็ค่อยหายไป แล้วก็กลายเป็นคนที่ใจเย็นใจสงบ แล้วสบาย
คนใจเย็นนี่สบาย ใจสงบนี่ก็สบาย แต่ว่าคนใจร้อนเดี๋ยววูบขึ้นเดี๋ยววูบขึ้น มันเป็นอย่างไร เหมือนไฟลุกบ่อยๆ พอลมพัดกระโชกก็วูบขึ้นไป อย่างนี้มันก็เป็นทุกข์ ประสาทมันทำงานไม่สม่ำเสมอ หัวใจเต้นผิดปกติ นานๆก็จะเป็นลมไปเพราะอาการอย่างนั้น คนเรานี่เป็นลมง่ายนะ เสียใจก็เป็นลม ดีใจก็เป็นลมได้เหมือนกัน เห็นอะไรดีใจก็เป็นลม หัวใจเต้นไม่ทันเพราะความดีใจมันมาก เสียใจมากก็เป็น มันต้องรักษาระดับจิตใจอยู่ในสภาพคงที่ ไม่ตื่นเต้น ไม่หวาดเสียว ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ให้อยู่ในสภาพปกติคงที่ ภาษาธรรมะเขาเรียกว่า (52.16 คำบาลี) แปลว่าคงที่ ไม่โยกโคลงหวั่นไหวไปด้วยอะไรๆ คนอย่างนั้นจะมีอายุมั่นขวัญยืน จะมีจิตใจสงบอยู่ตลอดเวลา ความสงบอันนี้ เราต้องหมั่นพิจารณาโทษของความโกรธ พิจารณาโทษของความใจร้อน พิจารณาโทษของความเกลียดความหงุดหงิดงุ่นง่านในจิตใจ หมั่นพิจารณาให้เห็นว่ามันไม่ดี ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา แต่ให้เห็นว่ามันน่าเกลียด ที่เราโกรธบ่อยเพราะไม่เห็นว่าความโกรธน่าเกลียด มันยังน่ารักอยู่ ยังน่ากำอยู่ แล้วก็เผลอกำไปบ่อยๆ
แต่ถ้าเราคิดบ่อยว่ามันน่าเกลียด คนอย่างเราแสดงอาการอย่างนั้น มันคล้ายกับเด็กตัวน้อยๆไป เด็กน้อยมันจะโกรธเมื่อไหร่ก็ได้ มันจะร้องเมื่อไหร่ก็ได้ มันจะหัวเราะเมื่อไหร่ก็ได้ เคยสังเกตเด็กตัวน้อยๆที่มากุฎิทุกวันๆ บางทีมันก็ฮือขึ้นมาเฉยๆ มันร้องขึ้นมา ไม่มีเหตุผลอะไร เดี๋ยวหัวเราะขึ้นมา เด็กมันสภาพอย่างนั้น ทีนี้ผู้ใหญ่เราทำอย่างนั้น เหมือนกับเด็ก เหมือนกับเด็ก ๔ ขวบอะไรอย่างนั้น แล้วมันจะดีอย่างไร คนอื่นเขาเห็นเขาก็หัวเราะ เขาแอบหัวเราะกันลับหลังบ้าง หันหน้าเข้าฝาหัวเราะ เราเห็นเขาหัวเราะก็ชักจะโกรธหนักขึ้นไป “ แกหัวเราะอะไร หัวเราะข้าหรือ ” ก็เพิ่มความโกรธขึ้นอีก ความจริงควรจะเห็นว่าเขาหัวเราะเรา เพราะเห็นว่าเราเป็นคนใจง่าย โกรธง่าย ไม่มีการบังคับตัวเอง ไม่มีการควบคุมตัวเอง เขาจึงไปแอบหัวเราะเยาะเราอย่างนั้น มันไม่เป็นการสมควรที่เราจะให้เด็กน้อยๆมันหัวเราะเยาะเรา เราจะต้องเข้มแข็ง จะต้องควบคุมตัวเอง ต้องหัดมีสติไว้ คอยรู้สึกตัวอยู่ในเมื่อกระทบกับอะไร จะไปหาใคร จะพูดกับใครต้องเตรียมกายเตรียมใจ เตรียมใจให้พร้อม เตรียมความเย็นไว้ เตรียมสติ เตรียมปัญญา เตรียมความรู้เท่ารู้ทันไว้ ไม่ให้อารมณ์นั้นๆโจมตีเราได้ เหมือนกับบ้านเมืองรู้ว่าข้าศึกจะมาโจมตีก็ต้องส่งทหารไปลาดตระเวนชายแดนไว้ ในบ้านก็ต้องอยู่อย่างความสงบสามัคคีกัน ทำหน้าที่ของตนให้เรียบร้อย ข้าศึกเขาจ้องมองดูอยู่ ว่าคนในเมืองนี้มีสภาพอย่างไร พร้อมเพรียงกันดีไหม แตกแยกกันหรือเปล่า กี่พรรคกี่พวก เราดูรู้ ถ้าเห็นว่ามันแตกแยกกันหลายพรรคหลายพวก ก็ต้องไปหยิกหางพรรคนี้นิด หยิกหางพรรคนี้หน่อย ให้คนมันแตกกันต่อไป ผลที่สุดก็เดินทัพฉุยฉายเข้ามาได้ถึงเมืองหลวง ไม่ต้องใช้กำลังอะไร
อันนี้เรียกว่าเราแพ้ แพ้ข้างในก่อน แพ้จิตใจ แพ้กิเลส ถ้าเราแพ้กิเลสก็แพ้หมด อะไรๆก็แพ้ไปหมด เพราะฉะนั้นต้องเย็นๆทำใจเย็นๆไว้ อย่าให้ร้อน อย่าให้โกรธ อย่าให้เคืองอะไร ถ้ามันเกิดขึ้นแล้วก็รีบตัดออก รีบตัดออกด้วยพระขรรค์คือปัญญา เขาเรียกว่าปัญญานี่เป็นพระขรรค์เพชรตัดสิ่งชั่วสิ่งร้ายให้มันขาดสะบั้นไปเลย ไม่ให้เกิดต่อ ให้มันหยุดเพียงนั้น โกรธนิดหนึ่ง เกลียดนิดหนึ่งแล้วก็หยุด หยุดแล้วพิจารณาว่าโกรธอะไร เกลียดอะไร ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ รีบแก้ไขปรับปรุงจิตใจให้ดีขึ้น อย่างนี้ก็เรียกว่าเราออกจากสิ่งไม่ดีไม่งาม ไปอยู่กับสิ่งดีสิ่งงามต่อไป
เพราะฉะนั้นในฤดูกาลออกพรรษานี้ขอให้ญาติโยมทั้งหลายอย่าได้ออกจากพระ ให้อยู่กับพระต่อไป มาวัดตามปกติ ฟังธรรมไปตามปกติ ทุกวันๆ ให้ถือว่าเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิตของเรา มากันอย่างนี้ทุกวัน ชวนเพื่อนมาวัดฟังธรรมกัน เพราะการแสดงธรรมก็แสดงกันตลอดปี อาตมาก็ไม่ออก เรียกว่าแสดงกันเรื่อยไปไม่ไปไหน ในปีนี้ก็ไม่ไปไหน ไม่ไปไกลๆ ไปบ้านไปเชียงใหม่บ้างไปนั่นบ้างแต่วันอาทิตย์ก็กลับมาพบปะกับญาติโยมเพื่อจะได้สนทนาธรรมกันต่อไป ญาติโยมก็ให้นึกไว้ในใจว่าทุกวันอาทิตย์ก็ให้นัดพบกันที่วัดชลประทาน แล้วก็มาพบกันที่นี่ตามปกติ ก็ถือว่าไม่ได้ออกจากแนวทางหรือเส้นทางของพระพุทธเจ้าที่ชี้ไว้ให้เดิน เดินตามทางของพระพุทธเจ้าปลอดภัย ถ้าเราเดินออกไปนอกทาง มันก็ไม่ปลอดภัย มันสร้างปัญหา ขอให้ญาติโยมทั้งหลายได้คิดได้นึกในรูปอย่างนี้ ดังแสดงมาในวันนี้ก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที สงบใจคือนั่งตัวตรง หลับตาเสียหน่อย ไม่ยุ่ง แล้วกำหนดลมหายใจเข้า หายใจเข้ากำหนดรู้ หายใจออกกำหนดรู้ กำหนดตามลมไป เวลาหายใจเข้าก็กำหนดรู้ตามไป หายใจออกก็กำหนดรู้ตาม อย่าให้ไปคิดเรื่องอื่น นึกเรื่องอื่น เป็นเวลา ๕ นาที เชิญได้