แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านหยุดอยู่ในอาการสงบ นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสะดวกแก่การฟัง อย่าเดินไปเดินมาให้วุ่นวายเป็นการไม่เคารพต่อธรรมะ เพราะเวลาแสดงธรรมนี่ต้องหยุดนิ่ง ตั้งอกตั้งใจฟัง เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการมาวัด เรามัวเดินไปเดินมาอยู่ก็ไม่ได้ตั้งใจฟัง ไม่เป็นการเคารพต่อพระธรรม ต่อพระพุทธ พระสงฆ์ด้วย จึงควรจะอยู่ในการอาการสงบ นั่งให้เรียบร้อยแล้วก็ฟังจนจบจึงลุงขึ้นจากที่นั่ง คือทำอะไรนี่ต้องมีการตั้งใจให้มันมั่นคงหน่อย ความตั้งใจให้มั่นนี่เขาเรียกว่า อธิฐาน
อธิฐานบารมี เป็นบารมีอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา ที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้ตลอดเวลา ตั้งแต่เป็นพระโพธิ์สัตย์ยังไม่ได้ตรัสรู้ แม้ตรัสรู้แล้วก็ได้ใช้เรื่องอธิฐานใจอยู่ตลอดเวลา
อธิฐานใจ ก็หมายความว่า ตั้งใจให้มั่นในเรื่องที่เราจะทำ เมื่อจะทำอะไรก็ต้องตั้งใจลงไปให้มันมั่น ว่าเราจะทำสิ่งนั้น จะทำสิ่งนี้ ถ้ายังไม่เสร็จเราจะไม่เลิก ไม่ละ หรือไม่ไปที่อื่นจากเรื่องนั้น ไม่คิดเรื่องอื่นนอกไปจากเรื่องนั้น เช่นว่าเราฟังธรรมนี่ พอถึงเวลาฟังธรรมเราก็นั่งลงฟัง อธิฐานใจว่าเราจะนั่งฟังจนกระทั่งจบการแสดงธรรม เมื่อยังไม่จบการแสดงก็จะไม่ลุกขึ้นไปไหน ไม่ทำอะไรนอกออกไปจากการฟัง หรือว่าเราจะอ่านหนังสือเราก็จับหนังสือมาแล้วก็อ่าน ก่อนอ่านนี่ควรจะอธิฐานใจว่าจะอ่านสักเท่าไหร่ อ่านหนึ่งบท สองบท หรืออ่านสักเท่าไหร่หน้าก็ว่าไป แล้วก็อ่านให้มันได้ตามที่เราได้ตั้งใจไว้ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการอธิฐานใจ หรือเราจะนั่งภาวนา ๆ สัก ๑๐ นาที ถ้ายังไม่ครบสิบหน้าที่ก็จะไม่เคลื่อนไหวร่างกาย จะไม่ลุกขึ้น จะไม่ไปทำเรื่องอื่นนอกจากเรื่องที่เราได้ตั้งใจไว้ อย่างนี้เป็นการฝึกให้เกิดความมั่นใจ มีความอดทน มีความตั้งใจจริงในการปฏิบัติงานในหน้าที่ แม้งานชาวบ้านก็เหมือนกัน เราจะทำอะไรก็ต้องตั้งใจลงไปว่าจะทำสิ่งนั้นจะทำสิ่งนี้ เมื่อทำแล้วก็ไม่เลิกไม่ละ ใครจะมาหามาสู่เราถ้าเราไม่เสร็จธุระก็ต้องรอไปก่อนไม่ลุกขึ้นไปต้อนรับ ให้คนใช้ไปบอกว่ายังไม่เสร็จธุระ ขอโทษเถอะ! ให้นั่งรอไปก่อน อันนี้ก็จะเป็นการเรียบร้อยไม่เกิดความวุ่นวาย
พระสงฆ์ องค์เณร ก็ให้รีบเดินไปนั่งซะให้เรียบร้อย อย่าไปยืนคุยกันอยู่ เพราะว่าเวลานี้ไม่ใช่เวลาคุยกัน โยมก็ไปนั่งพระก็ไปนั่งก็จะเรียบร้อยด้วยกันทุกฝ่าย ก็จะได้เกิดความสงบไม่ยุ่ง ปากนี่ก็เหมือกันถ้าว่าเวลาฟังแล้วก็อย่าพูด พูดไม่ได้ แต่ว่าหู ใช้หู อวัยวะนี่ต้องใช้ให้มันเป็นกิจจะลักษณะ เวลาใดใช้หูก็ใช้หู เวลาใช้ปากก็ใช้ปาก อย่าใช้ให้ยุ่ง เมื่อคนอื่นพูดเราใช้หู เมื่อคนอื่นใช้หูเราก็ใช้ปากได้ ถ้าใช้ขัดกัน ใช้ปากทั้งคู่ก็เรียกว่าทะเลาะกัน นั่นไม่เป็นผู้เป็นคนแล้วเพราะพูดกันด้วยกิเลส ด้วยทิฐิมานะ ถือตัวถือตน ฉันไม่ยอมใครอย่างนี้มันก็เป็นกิเลสไปไม่เป็นธรรมะ อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องตั้งใจอธิฐาน
การอธิฐานใจนี่เป็น “บารมี” บารมีน่ะ หมายความว่า คุณธรรม ที่จะช่วยให้เราไปถึงฝั่ง ฝั่งนั้น หมายถึง ความสงบใจ ความสะอาดใจ ความสว่างทางจิตใจ เรียกว่าเป็นบารมี ธรรมะอันใดช่วยให้เราได้กำลังใจเพื่อไปถึงจุดหมาย ธรรมนั้นเขาเรียกว่า บารมี เช่น ทานก็เป็นบารมี ศีลเป็นบารมี ความอดทนก็เป็นบารมี อธิฐานใจก็เป็นบารมี ความเพียรว่าจะทำอะไรทำจริง ก็เป็นบารมีทั้งนั้น
บารมีธรรมทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ให้เราปฏิบัติ เมื่อเราได้ปฏิบัติตามหลักบารมีเหล่านั้น เราก็จะก้าวไปสู่ความสงบ สะอาด สว่าง ทางจิตใจได้ อันนี้เป็นเรื่องที่ขอทำความเข้าใจกับญาติโยมทั้งหลายไว้ เพื่อจะได้ปฏิบัติถูกต้องในขณะที่เราทำกิจทางศาสนา จะได้ดูได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วใครเขาเดินผ่านมาก็จะได้เห็นว่า
“โอ้! ที่วัดนี้เขามีระเบียบฟังธรรม” เวลาพระแสดงธรรมนี่ทุกคนนั่งนิ่งสงบจิตสงบใจ ไม่คุยกัน ไม่เดินพลุกพล่าน ไม่ทำอะไรให้เป็นการวุ่นวาย เป็นการกระทำที่ดีขึ้น ถ้าเห็นใครทำอะไรไม่เหมาะไม่ควรเราควรเข้าไปยกมือไหว้
ขอโทษเถอะ! แล้วก็บอกว่า “เวลานี้เป็นเวลาสงบไม่ควรพูดไม่ควรคุยกัน”
เพราะมีบางคนไม่ค่อยชอบฟัง แต่ว่าชอบพูด ๆ ตลอดเวลา เมื่อตะกี้นี้ก็เดินดูเวลาท่านเจ้าคุณพุทธทาสกำลังเทศน์ทางวิทยุ เทศน์เรื่องน่าฟังเป็นประโยชน์เหลือเกิน แต่ว่ามีคนพูดแข่งกับท่านอยู่สองสามหย่อมไปคุยเรื่องอื่น ไม่รู้จักหาประโยชน์ในเวลาที่ควรจะได้ประโยชน์ เราเวลานั้นควรจะหาประโยชน์จากการฟัง เพราะว่าท่านพุทธทาสอยู่ไกลจากเราเหลือเกิน อยู่ถึงไชยาถ้าเดินทางมันก็ไกลแต่ว่าเสียงท่านดังมาทางวิทยุ แล้วเป็นเสียงที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิต แทนที่จะฟังกับนั่งคุยกัน ด้วยเรื่องอะไรก็ไม่รู้ พอเจอหน้ากันแล้วก็คุยกันอย่างนั้นน่ะ เรียกว่าถ้าคุยกันอย่างนั้นคุยกันเรื่อยไปติดเป็นสันดาน คือสันดานชอบคุยนั่นเองไม่ใช่เรื่องอะไร ไม่ชอบฟังคนอื่น อย่างนี้มันก็ไม่ค่อยจะได้อะไร ถ้าเราไม่รับมันจะได้อะไร เราจึงควรจะรับในเมื่อมีใครให้ ถ้ามีใครให้อะไรเราควรจะรับอย่าปฏิเสธ โดยเฉพาะการให้ธรรมะนี่ต้องรับ รีบรับเอาไป ถ้าเราไม่รับไปแล้วก็เรียกว่าเราปฏิเสธสิ่งดีสิ่งงาม พูดตามภาษาชาวบ้านว่าไม่ต้อนรับสิ่งที่เป็นมงคลแก่ชีวิต เราก็จะเป็นมงคลได้อย่างไร
จึงใคร่ขอฝากเตือนไว้ว่าเมื่อใดได้ยินเสียงธรรมะ เราต้องสงบใจ สงบปาก สงบคำ แล้วก็ตั้งใจฟังธรรมะ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ฟังให้เป็นสมาธิ คือในขณะฟังนั้นเราไม่พูด ไม่สนทนา จิตใจไม่ฟุ้งซ่านไปในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของธรรมะ อย่างนี้ก็จะเป็นเรื่องเรียบร้อยเป็นประโยชน์แก่เราผู้สดับตรับฟังได้เป็นอย่างดี
ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ แล้วก็มีคนนั่งฟังมีอาการต่าง ๆ กัน บางคนก็นั่งหลับ คือ สัปหงกหน่อย บางคนก็นั่งดูท้องฟ้าไม่ดูไปที่พระองค์ บางคนก็นั่งขีดดินเล่น บางคนก็มือไม้ไม่เป็นสุข ซุกซนด้วยประการต่าง ๆ
พระอานนท์นั่งจ้องดูอยู่เหมือนกันแล้วก็เมื่อพระองค์เทศน์จบก็เลยกราบทูลว่า “พระธรรมของพระองค์ไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด เป็นเรื่องน่ารู้ น่าศึกษา น่าสนใจ แต่ข้าพระองค์สังเกตว่า มีคนหลายคนที่นั่งฟังอยู่เมื่อตะกี้นี้ บางคนนั่งง่วงงีบหลับอยู่ บางคนนั่งแหงนดูท้องฟ้าเหม่อไป บางคนก็นั่งขีดดินเล่น บางคนก็นั่งซุกซนด้วยประการต่าง ๆ”
พระองค์ก็บอกว่า “คนพวกนี้น่ะ มันมีสันดานมาอย่างนั้น เพราะว่าเคยทำมาอย่างนั้นนานแล้ว”
แล้วพระอานนท์ก็ถามว่า “เป็นอย่างไร”
ทรงบอกว่า “คนที่นั่งง่วงน่ะ ชาติก่อนน่ะ เกิดเป็นงูมาหลายชาติ งูนี่มันหลับตลอดเวลา เราเจองูที่ใดมักจะงูหลับ งูเลื้อยนี่มันน้อย ขดจนกลมแล้วก็หลับเรื่อยไป งูนี่จะชอบหลับ พระองค์บอกว่าคนที่ง่วงคือ คนที่เคยเกิดเป็นงูมาหลายร้อยชาติ แล้วก็นิสัยงูมันติดมาเลยง่วงอยู่อย่างนั้น”
“คนที่นั่งขีดดินนั่น พระองค์บอกว่าเคยเป็นไส้เดือนมา หลายร้อยชาติแล้วอยู่กับดินมานานเลยทิ้งดินไม่ค่อยได้ ไปนั่งตรงไหนก็ขีดดินอยู่ตลอดเวลา”
“ไอ้คนที่นั่งแหงนดูท้องฟ้าน่ะ เพราะว่าเป็นโหรมาหลายร้อยชาติ ชอบดูดาว ดูเดือน ทำให้คนหลงใหลมัวเมา เลยนั่งที่ไหนก็แหงนดูท้องฟ้าอยู่เลื่อยไป”
“คนบางคนก็นั่งซุกซน พระองค์บอกว่านั่นเขาเกิดเป็นลิงมาหลายร้อยชาติแล้ว ยังไม่หมดวาสนาว่างั้น”
วาสนา คือสิ่งสืบต่อกันมาโดยลำดับ ๆ จึงนั่งซุกซนอย่างนั้น
ที่นี้คนบางคนก็นั่งฟังด้วยความตั้งใจ พระองค์บอกว่า “นั่นเขาเป็นคนสนใจธรรมะมานานจึงได้สนใจในเรื่องธรรมะ”
คนเราชอบอะไรใจมันก็เอียงไปทางนั่นน่ะ ถ้าชอบดนตรีพอได้เสียงดนตรีนี่ตื่นเต้นขึ้นทันที คล้าย ๆ กับว่าจะลุกขึ้นเต้นไปกับเสียงดนตรีล่ะ ถ้าชอบเรื่องอะไรมันก็ไปอย่างนั้น คนชอบธรรมะก็สนใจในเรื่องธรรมะ ชอบพูดธรรมะ ฟังธรรมะ แต่ว่าบางทีก็ไม่ได้ประพฤติธรรมะ เพียงแต่ชอบคือชอบระบายออก บางคนชอบธรรมะก็ชอบพูดตลอดเวลา พูดคนเดียวไม่ให้เพื่อนพูดมั่ง เขาเรียกว่ายังคลั่งธรรมะ เพิ่งเข้ามาสู่ธรรมมะใหม่ ๆ ก็พูดอย่างนั้นน่ะ
เคยมีคน ๆ หนึ่งไปอยู่สวนโมกข์แก่ไปอยู่แล้วก็เห็นใครมาแก่ก็ต้องพุ่งเข้าไปหาแล้วแกก็ต้องพูดธรรมะ พูดอยู่คนเดียวคนอื่นไม่ต้องพูด แกพูด ๆ ๆ ๆ จนเหนื่อยแล้วแกก็หยุดไปเอง ไม่เปิดโอกาสให้ใครพูดเลย เขาก็ปรารภเรื่องกับท่านเจ้าคุณว่า “แหม! คน ๆ นั้นน่ะ มันพูดแต่ธรรมะตลอดเวลา” ท่านบอกว่า “มันกำลังคลั่ง กำลังคลั่งธรรมะอยู่ อีกไม่กี่ปีก็หยุดคลั่งเองล่ะ” และต่อมาก็เป็นคนพูดน้อย พูดธรรมะน้อย ๆ แล้วต่อมาก็พบใคร่ก็นั่งเฉย ไม่พูดไม่จาอะไร รู้จักฟังคนอื่นพูดบ้างไม่ใช่พูดอยู่คนเดียว เรียกว่าจิตใจค่อยสงบขึ้น ค่อยเข้าถึงธรรมะมากขึ้น ไอ้เข้าถึงธรรมะน้อย ๆ นี่ชอบพูดมาก ชอบแสดงออก คือยังอวดอยู่คล้ายเด็กหัดขี่รถจักรยานเป็นใหม่ ๆ เห็นรถไม่ได้ต้องขึ้นขับขี่ล่ะ มันชอบ แต่ว่าพอเป็นแล้วก็ชักจะเบื่อ ไม่ค่อยชอบเท่าใด
คนที่เข้าหาธรรมะนี่ก็เหมือนกัน ถ้าเข้าหาใหม่ ๆ แล้ว พูดไม่หยุด พูดเรื่อยจ้อตลอดเวลา แต่พอธรรมะซึมทราบอาบจิตดีแล้วกลับเฉย ๆ สงบนิ่ง ไม่ค่อยพูดค่อยจาอะไรมากเกินไป แม้จะเข้าใกล้ใครก็ไม่พยามที่จะพูด แต่พยามที่จะสงบใจ ที่จะฟังคนอื่นว่าเขาพูดอะไร มีพูดเหมาะแก่เวลา เหมาะแก่เรื่อง เหมาะแก่เหตุการณ์ แสดงว่าธรรมะซึมทราบในจิตใจแล้ว ๆ ก็รู้จักหักห้ามใจไม่คอยแต่จะระบายออกอยู่ตลอดเวลา สภาพมันเป็นเช่นนั้น มีอยู่ทั่ว ๆ ไป
คนเรานี่ถ้ารู้น้อยละก็มักจะอวดรู้ แต่ถ้ารู้มากแล้วก็มักไม่ค่อยอวด คือเมื่อใจมันอิ่ม ๆ จนพูดไม่ออก ๆ นี่ก็เก่งแล้ว แต่ถ้าว่ามันกระพร่องกระแพร่งแล้วก็ชอบแสดงออก คล้ายกับน้ำไม่เต็มหม้อ เวลาเราถือไปเสียงมันดัง คล้องเคล้ง ๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะมันไม่เต็ม แต่น้ำเต็มหม้อไม่กระเพื่อม ไม่มีเสียง คนเราก็เหมือนกันเมื่อจิตใจมันซึมด้วยธรรมะก็พูดน้อย พูดเท่าที่จำเป็น ไม่พูดอะไรมากเกินไป การสงบนิ่งนั้นเป็นเรื่องของพระอริยะเจ้า
พระอริยะเจ้าท่านอยู่สงบ ท่านไม่พูดอะไรในเมื่อไม่จำเป็น ท่านพูดแต่เรื่องจำเป็น เรื่องจำเป็นก็คือเรื่องธรรมะที่จะช่วยคนให้พ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน พูดออกไปแต่ละคำก็เรียกว่ามีน้ำหนัก น่าฟัง เป็นสาระ เป็นแก่นเป็นสาร ที่คนนั้นจะนำไปประพฤติในชีวิตประจำวันได้ อันนี้เป็นเรื่องของคนที่เข้าถึงธรรมะ จิตใจย่อมเป็นอย่างนั้น คนที่ยังไม่ถึงแท้ก็เรียกว่า ยังมีใจอยากจะอวดอยู่ ว่าฉันได้อย่างนั้นฉันได้อย่างนี้ การปฏิบัติก็เหมือนกันนะ ถ้าไปนั่งปฏิบัติน้อย ๆ ล่ะก็ชอบอวด ว่าได้ไปนั่งที่นั่น นั่งที่นี่ ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ แต่พอทำไปนาน ๆ ใจมันสงบไม่มีอะไรจะพูดก็ไม่ค่อยพูดกับใคร ชอบนั่งเฉย ๆ ชอบฟังคนอื่นพูดในเรื่องนั้นเรื่องนี้ นั่นจิตใจเขาเข้าถึงธรรมะมากขึ้น ลักษณะมันเป็นอย่างนี้
จึงขอทำความเข้าใจไว้ ให้ญาติโยมได้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ที่นี้ในชีวิตประจำวันของเรานั้น ดังที่เคยพูดให้ฟังอยู่เสมอ ๆ ว่า มันมีเรื่องที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา ชีวิตของเรานั้นควรจะอยู่ด้วยการปรับปรุงตลอดเวลา ถ้าไม่ปรับปรุงแล้วมันก็จะถอยกลับ ไปสู่ภาวะที่ไม่หน้าดู คล้ายกับบ้านช่องของเรานี่ต้องกวาดตลอดเวลา ต้องเช็ด ต้องถู ตลอดเวลา เสื้อผ้าก็ต้องซักตลอดเวลา ถ้าไม่ซักมันก็สกปรก เอาไปห่มซักวันหนึ่ง สองวันก็ต้องซักต้องฟอกแล้ว คือถ้าเห็นว่ามันเปื้อนเหงื่อมากก็ต้องเอาไปซัก บ้านเรือนตื่นเช้าต้องกวาด ๆ ยิ่งบ้านใหญ่ ๆ แล้วก็ต้องจ้างคนไว้กวาด ถู เช็ด อยู่ตลอดเวลา ลองไม่เช็ด ไม่ถู ซักวันสองวัน สภาพบ้านจะเป็นอย่างไร ก็จะมีขี้ฝุ่นเกรอะกรังตามพื้นบ้าน ตามมุมห้อง มียักไย่มาเกาะตามเพดาน ตามมุมฝา อะไรต่าง ๆ ก็เพราะว่าเราไม่ได้เช็ด ไม่ได้ถูให้มันสะอาด มันก็มีสภาพสกปรก
ชีวิตเรานี้ก็เหมือนกัน เราจะต้องอยู่ด้วยการชำระสะสางอยู่ตลอดเวลา ต้องทำให้มันสะอาดหมดจดอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ทำเป็นครั้งคราวเฉพาะวัน เช่นว่า วันพระก็ทำความสะอาดกันทีหนึ่ง มันตั้งเจ็ดวันถึงจะได้มาทำกันสักทีหนึ่ง มันก็หมักหมมไม่ใช่น้อยอยู่เหมือนกัน จึงต้องปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ใจของเรานั้นไม่มีสิ่งเศร้าหมองเกาะจับจิตใจ เพราะถ้าเราไม่คอยขัด ไม่คอยแต่ง ไอ้สิ่งชั่วร้ายมันก็เกาะกับจิตใจ เมื่อเกาะมากเข้า ๆ หนาขึ้น ๆ มันก็เพิ่มมากขึ้น
เคยอ่านหนังสือเมื่อสมัยเด็ก ๆ ปู่กับหลานน่ะ เออ.. ปู่ก็พาหลานไปที่กำแพงแล้วก็ชี้ให้ดูตะใคร่น้ำที่มันจับอยู่ที่กำแพง ๆ ขาว ๆ กำแพงที่โบกปูน มักจะมีของเขียว ๆ ถ้าไปเกาะจับอยู่ที่กำแพง ชั้นแรกมันก็จับขึ้นน้อย ๆ ไม่มากมายอะไร แล้วต่อมาก็เพิ่มขึ้น ๆ จนกระทั่งเต็มไป
ปู่อยากจะสอนหลานให้รู้จักคุณค่าของสิ่งที่มันเกิดขึ้นในใจ ก็พาหลานไปบอกว่า “นี่มาดูตรงนี้ เมื่อก่อนกำแพงตรงนี้มันไม่มีสิ่งนี้ แต่ว่าความชื้นมันเกิดขึ้นเพราะว่าอาจจะมีน้ำซึมอยู่ในกำแพงก็ได้ อาจมีความชื้นข้างนอกไปเกาะจับก็ได้ แล้วมันก็เกิดจุดขึ้นจุดหนึ่ง จุดนั้นมันก็ขยายออกไป ๆ จนปรากฏแก่ตาของเรา ถ้าเราไม่กะเทาะออกมันก็ขยายออกไปมาก กำแพงนั้นก็จะผุออกไปเรื่อยๆ ค่อยกระเทาะออกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งใช้ไม่ได้”
แล้วก็พูดว่า “จิตใจคนเรานี้ก็เหมือนกันมันมีสิ่งไม่ดีเข้ามาเกาะจับในใจของเรา สิ่งไม่ดีนั้นเรียกว่ากิเลส มีประเภทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในใจ แต่ที่เรื่องใหญ่ก็เรียกว่า โลภะ โทสะ โมหะ สามเรื่องนี่เรียกว่าเป็นเรื่องใหญ่”
“โลภะ” ก็คือความอยากได้
“โทสะ” ก็คือ ความคิดที่จะประทุษร้ายคนอื่น
“โมหะ” ก็คือ ความไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องอะไร ๆ ต่าง ๆ ตามสภาพที่เป็นจริง ๓ อย่างนี้เรียกว่าเป็นตัวการใหญ่ในภาษาธรรมะ ท่านเรียกว่า เป็นรากเหง้าของความชั่ว รากเหง้าของ “อกุศล”
“อกุศล” ก็คือ เรื่องชั่ว เรื่องอกุศล หมายถึง เรื่องชั่ว เรื่องร้าย เรื่องไม่ดี
“กุศล” นั้นเป็นเรื่องดี มีคุณค่า เป็นประโยชน์แก่ชีวิต
ถ้ากุศลเกิดขึ้นในใจมันไม่เป็นไร แต่อกุศลเกิดขึ้นแล้วมันก็เกิดความยุ่งยาก มีปัญหาด้วยประการต่าง ๆ รากเหง้าของอกุศลก็คือตัว “โลภะ” “โทสะ” “โมหะ” ๓ ตัวนี้ เป็นรากเหง้าที่จะให้เกิดความคิดที่เป็นอกุศลเกิดขึ้นในใจ
ลักษณะของความโลภนั้น หมายถึงอะไร หมายถึงความอยากได้ของ ๆ คนอื่นที่เราไม่มีสิทธิจะพึงมีพึงได้ ของ ๆ คนอื่นที่เขามีอยู่เราไปเห็นเข้า เช่น เห็นนาฬิกาข้อมือเขา เห็นสายสร้อยเขา เห็นแหวนเขา เห็นอะไรที่เขาตบแต่งอยู่ที่ร่ายกาย พอเราเห็นเข้าใจมันก็อยากขึ้นมา นั่นแหละเขาเรียกว่า “โลภะ” คือตัวโลภมันเกิดขึ้นในเมื่อเห็นสิ่งนั้น ครั้นความโลภนั้นมันรุนแรงขึ้น ๆ จนยับยั้งชั่งใจไม่ได้ คนนั้นกระโดนเข้าไปจี้คนนั้นทันที จี้ด้วยมีดก็ได้ ด้วยอะไรก็ได้ แล้วก็บอกว่า “ถอดแหวนมา” เจ้าของก็ตกใจ กลัวจะถูกทำร้ายก็เลยต้องถอดแหวนให้เขา ถอดสายสร้อยให้เขา
คนประเภทอย่างนี้มีบ่อย ๆ เป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ นี่คือตัว “โลภะ” มันเกิดขึ้น ก็เกิดอยากได้สิ่งนั้นอันเป็นของที่ไม่ใช่ของตน หรือว่ากระกระทำในเรื่องอื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งอะไร ๆ เช่น จับคนไปเรียกค่าไถ่ เพื่อจะเอาเงินตั้งล้าน สองล้าน อย่างนี้มันก็เกิดจากความโลภ เพราะอยากได้เงินของเขา แต่ว่าไม่รู้จะเอามาอย่างไร ก็ต้องใช้วิธีการไปจี้เขาบ้าง จับเขาบ้าง ปล้นเขาบ้าง ทำอะไรต่าง ๆ อาญชากรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นในหมู่มนุษย์นี่ เกิดจากจิตตัว “โลภะ” นี่เอง คือตัวความโลภนี่เอง
ความโลภเกิดขึ้นแล้วเป็นเหตุให้ลักขโมยของคนอื่นให้ฆ่าคนอื่น ให้ประทุษร้ายต่อคนอื่นในรูปต่าง ๆ ที่เราเห็นกันอยู่ตลอดเวลา นี่คือตัวร้ายเรียกว่าเป็นรากเหง้าที่จะให้เกิดอะไรขึ้นมา คล้ายกับต้นไม้ที่มันมีเหง้า ถ้าเหง้ามันอยู่ในดิน หน้าแล้งนี่มันตาย มันไม่สามารถที่จะขึ้นได้หายไป แต่พอฝนโชยลงมามันก็ผลิออกมาอย่างนี้ โผล่ใบขึ้นมามีดอกให้เราดูเราชม เช่น ดอกไม้บางอย่างนี่เราปลูกไว้หน้าบ้าน หน้าแล้งมันไม่มีอะไรหายไปเลย แต่พอฝนเริ่มโชยมันก็แตกออกมา ออกดอกให้เราเห็น เช่น ว่านจตุรทิศ นี่ออกดอกบานไป ๔ ทิศ หน้าแล้งมันตาย แต่ความจริงมันไม่ตายหรอกหัวมันยังอยู่ข้างล่างมันเอาหัวไว้ พอน้ำสมบูรณ์มี ดิน ฟ้า อากาศ ความชื้นพอเหมาะ พอดี มันก็โผล่ขึ้นมาบานให้เราได้เห็นดอกต่อไป สภาพมันเป็นอย่างนั้น
ความโลภมันก็มีลักษณะคล้ายอย่างนั้น มันมาเกาะจับอยู่ในใจแล้วมันก็แสดงออกในเมื่อกระทบกับอารมณ์ ตาได้เห็นรูปที่น่าพอใจ หูได้ยินเสียงไพเราะ เช่น เสียงเพลงจากเครื่องวิทยุ เราก็อยากได้วิทยุเครื่องนั้น จากเทปก็อยากจะได้เทปเครื่องนั้นเอาไปเปิดฟังด้วยตนเอง หรือว่าได้กลิ่นอะไรก็มีความอยากในกลิ่นนั้น ได้รสอะไรก็มีความอยากรสนั้น อยากจะเอาไปกินบ่อย ๆ ได้จับได้ต้องสิ่งใดก็มีความอยากในสิ่งนั้น อยากจะมีมาก ๆ ขึ้น หลงใหลมัวเมาอยู่ในสิ่งเหล่านั้น อันนี้มันเกิดจากตัว “โลภะ”ทั้งนั้น
เพราะงั้น “โลภะ” นี่ก็เรียกว่าเป็นขุนพลฝ่ายบาป เป็นตัวการใหญ่ที่จะให้เกิดตัวร้ายขึ้นในสังคมของมนุษย์ ในจิตใจของเรา แล้วก็บานปลายออกไป ทำให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายสับสนมีปัญหากันด้วยประการต่าง ๆ เพราะอาศัยตัว “โลภะ” เข้ามาครอบงำจิตใจ นี่ตัว “โลภะ”
ตัว “โทสะ” น่ะมันลักษณะ หงุดหงิด งุ่นง่าน จิตใจไม่สงบ ไม่มั่นคง หวั่นไหวไปกับอารมณ์ที่มากระทบ อะไรมากระทบแล้วก็ไม่พอใจ ไม่พอใจก็เกิดหงุดหงิดขึ้นมา ที่เราเรียกกันว่าหงุดหงิดนั่นล่ะ นั่นล่ะคือตัว “โทสะ”
ที่นี้เมื่อความหงุดหงิดมันเกิดขึ้นมาแล้ว อะไรทำให้เกิด คนทำให้เกิด เช่นว่า คนมาทำเสียงดังให้เราไม่พอใจ เราก็เกลียดคนนั้น โกรธคนนั้น เราอยากจะไปทำร้ายคนนั้น หรือว่าไปด่าคนนั้น เพื่อให้คนนั้นมันหยุดทำเสียงอย่างนั้น นี่คือจิตที่มี “โทสะ” ครอบงำ จึงเป็นเหตุให้ไปทำร้ายผู้อื่น เป็นเหตุให้เบียดเบียนผู้อื่น ด้วยประการต่าง ๆ เพราะโทสะครอบงำจิตใจ
ลักษณะ “โทสะ” นี่มันร้อน พอเกิดขึ้นในใจของบุคคลใดแล้วมันร้อนขึ้นมาทันที ร้อนขึ้นเหมือนกับน้ำกำลังเดือดพล่าน เราต้มน้ำในกา พอถึงจุดเดือดมันก็พุ่งขึ้นมา ฝากาทำท่าจะเปิด มันดันฝาขึ้นมา ควันก็พุ่งตามพวยกา เพราะโทสะมันแสดงออกอย่างนั้น คือมันร้อนข้างในก็ใจร้อน เมื่อใจร้อนแล้วมันก็พุ่งขึ้นมาที่คำพูด ๆ คำไม่เหมาะไม่ควร ออกมาทางสายตา ตาขุ่น มองดูตาเขียวเลย เค้าว่าโกรธจนตาเขียว ความจริงตามันไม่ได้เขียวหรอกมันก็คงอย่างนั้นแหละ แต่ว่าอาการที่แสดงน่ะเราเรียกว่าตาเขียว ตาขุ่น ๆ ก็มองด้วยอาการความโกรธ มันปรากฏออกมาที่สายตาแล้วปรากฏที่ดวงหน้า หน้านิ่วคิ้วขมวด ทำท่าเค้าเรียกว่าทำท่าเป็นยักษ์เป็นมาร
ยักษ์น่ะคือภาพแห่งความโกรธ เขาปั้นให้หน้านิ่วคิ้วขมวด มีเขี้ยวออกมานอกปาก หมายถึง ความดุร้ายแล้วยักษ์ก็ถือตะบองจะเพ่นกระบาลใคร ๆ อยู่ตลอดเวลา หมายถึงความดุอันนั้น อันนั้นก็มาจากความโกรธที่เกิดขึ้นในใจของบุคคลนั้น เพราะงั้นเวลาใดที่เราโกรธนี่เราเป็นยักษ์ เป็นยักษ์ เออ.. ยักษ์หญิง ยักษ์ชาย ยักษ์เด็ก ยักษ์ผู้ใหญ่ เป็นยักษ์ทั้งนั้น ความโกรธเกิดขึ้น คนที่มีความโกรธมีจิตใจไม่สงบร้อนอยู่ตลอดเวลา ถ้ายับยั้งชั่งใจไม่ได้มักจะแสดงอาการออกมา ให้ปรากฏในรูปไม่ดีทั้งนั้น ใครได้เห็นแล้วไม่น่ารัก ไม่น่าชม เช่นว่า
สุภาพสตรีรูปร่างสวย ๆ ถ้าใจปกติก็น่าเอ็นดู น่าตาสดสวย แต่พอโกรธขึ้นมาแล้ว ไม่น่าดูเลยทีเดียว หน้าตาเปลี่ยนไป เรียกว่าแปลงภาพเป็นนางยักขินีขึ้นมาทันที กริยาท่าทาง การพูดการจา มันเป็นไปในรูปต่าง ๆ ได้
นึกชมพวกแสดงละครอยู่เหมือนกัน ละครที่แสดงมันทำเก่ง มันโกรธได้ทันทีแล้วมันไม่โกรธได้ทันที คือมันแสดงน่ะ มายาน่ะพวกนี้ แสดงอาการโกรธตาขุ่น ตาเขียว น่าตามันก็เปลี่ยนไป มันแสดงอย่างนั้นให้คนเห็นว่ามันนี่แหละคือความโกรธล่ะ ความโกรธที่มาจากไอ้ความโทสะในใจน่ะ เกิดอารมณ์หงุดหงิดแล้วมันก็เป็นอย่างงี้ แล้วก็แสดงรูปไม่ดี เสียงไม่ดี อะไรไม่ดีออกมาทั้งนั้น ใครได้พบเห็นคนโกรธแล้วเป็นทุกข์ คนอื่นเห็นก็เป็นทุกข์ เจ้าตัวก็เป็นทุกข์ ใครได้พบเห็นคนโกรธแล้วเป็นทุกข์ คนอื่นเห็นก็เป็นทุกข์เจ้าตัวก็เป็นทุกข์เหมือนกัน
แต่เวลานั้นปัญญามันไม่มี ไม่รู้จักมองว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรดีอะไรชั่ว อะไรจะเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อม อะไรจะเป็นเหตุให้เกิดความเจริญเขามองไม่เห็น จึงปล่อยไปตามอาการอย่างนั้น ปล่อยจนไปกระทั่งมันสุดฤทธิ์ของมันน่ะ พอสุดฤทธิ์แล้วก็หยุดได้ ๆ แล้วก็เสียใจว่า “ แหม!...เรานี่ไม่น่าเลยที่จะทำอย่างนั้น เสียใจ”
เสียใจแล้วก็ไม่คิดแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น คนเราถ้ารู้สึกว่าทำผิดแล้วก็เสียใจเราควรจะนึกว่าเราทำผิดต่อใคร ถ้าเราทำผิดต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเราควรจะไปหาบุคคลนั้น แล้วก็ไปขอโทษเขา ไปขอโทษปรับความเข้าใจกันว่า “ขออภัยเถอะ! ที่ได้ทำไปนั้นเพราะความเผลอ ความประมาท ขาดความยั้งคิด ยั้งตรอง เวลานี้มารู้สึกตัวสำนึกได้ก็ขออภัย ยกโทษให้แก่กระผมเถอะ ให้แก่ดิฉันเถอะ” อะไรอย่างนี้
อย่างนี้เรียกว่าเป็นคนรู้จักปรับจิต ปรับใจ เข้าหาสิ่งถูกต้อง เมื่อเราปรับใจเข้าหาสิ่งถูกต้องเราก็จะได้ระมัดระวังไม่ไปต้องขอโทษเขาบ่อย ๆ ไม่ทำผิดกับใครบ่อย ๆ ไม่ก่อเหตุให้ใครเดือดเนื้อร้อนใจบ่อย ๆ โทสะมันก็ค่อย เบาลงไป ๆ แล้วเราก็สบายใจ เราไม่เกิดความร้อน
เรื่องนี้ถ้าคนใดเคยเป็นมาก่อน เช่นเคยเป็นคนมักโกรธ ใจร้อน ใจเร็ว แล้วต่อมาก็ได้อาศัยธรรมะ ได้ยินได้ฟัง มีสติควบคุมตัวเองได้ มีปัญญาพิจารณาในสิ่งนั้น ๆ ให้รู้ว่ามันคืออะไร แล้วก็หยุดใจได้ ใจเย็นขึ้น ใจสงบขึ้น เราจะมองเห็นว่ามันแตกต่างกัน สมัยหนึ่งเราอยู่ในโลกแห่งความโกรธพอเราเลิกโกรธแล้วเรามาอยู่ในโลกแห่งความไม่โกรธ
“โลกความโกรธ” กับ “โลกความไม่โกรธ” (31.36 เสียขาดหายไป) มีความสุข มีความสบายใจ เช่นว่า เราเป็นแม่บ้านนี่ ถ้าเราเป็นคนมักโกรธ ใจร้อน ใจเร็ว เขาเรียกว่าเป็นคน “โทสจริต” เราก็ไม่สบาย คนใกล้เคียงคือสามี ก็ไม่สบาย ลูกก็ไม่สบาย คนใช้ก็ไม่สบาย แม้สัตว์เดรัจฉานที่เราเลี้ยงไว้มันรู้เหมือนกันนะว่าเราโกรธนี่ มันก็ไม่สบายใจเหมือนกัน ถ้าเข้ามาแล้วเราลูบหัว ลูบหลังมัน ยิ้มกับมัน มันรู้ว่าใจดี มันก็กระดิกหาง ด๊อกแด๊ก ๆ เข้ามา หมอบคลานเข้ามา แต่ถ้าเราเห็นหน้าขุ่น ๆ มันไม่กล้าเข้าเหมือนกัน
สัตว์เดรัจฉานมันก็ไม่ชอบคนขี้โกรธ เรามองเห็น เมื่อมองเห็นแล้วพอเราเปลี่ยนสภาพมาเป็นคนใจสงบ รู้เท่ารู้ทันต่ออารมณ์ เรารู้สึกว่าเหมือนเกิดใหม่ เหมือนกับได้ชีวิตใหม่ อันนี้แหละเป็นความจริง คนที่เข้าถึงธรรมะนี่ ก็เหมือนกับได้เกิดใหม่มีชีวิตใหม่ แต่ถ้าเรายังไม่มีธรรมะเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ เราเกิดเป็นอะไรเราก็เป็นอยู่อย่างนั้น เกิดเป็นคนโลภก็โลภอยู่อย่างนั้น เกิดเป็นคนโกรธก็โกรธอยู่อย่างนั้น เกิดเป็นคนริษยาก็ริษยาอยู่อย่างนั้น ไม่ได้เกิดใหม่มันย้ำอยู่ที่เดิมตลอดเวลา เป็นชีวิตที่ไม่ก้าวหน้า ชีวิตนั้นไม่ก้าวหน้ามันผิดธรรมชาติ คนเรามันต้องก้าวหน้า และต้องก้าวหน้าในทางที่ถูกที่ชอบด้วย
ถ้าเราก้าวหน้าในทางที่ผิดก็เรียกว่า ไม่ก้าวหน้าอะไร ก้าวไปในทางผิดไม่ชื่อว่าเป็นการก้าวหน้า การก้าวหน้านั้นต้องก้าวไปในทางที่ถูกที่ชอบ ที่เป็นสุขทั้งตนทั้งบุคคลอื่น เมื่อก่อนนี้เรามันไม่ก้าวหน้า แต่พอเราเป็นคนใจดี หายโกรธแล้วเราก้าวหน้า มามองถึงสุขภาพทางร่างกาย สมัยที่เราเป็นคนมักโกรธนั้นสุขภาพไม่ค่อยจะดี ร่างกายไม่ค่อยจะดี สภาพจิตใจไม่ดีร่างกายก็พลอยไม่ดี ถ้าสภาพจิตดีร่างกายก็พลอยดีไปด้วย เพราะกายกับจิตนั้นมีส่วนสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง มั่นคง ถาวร เมื่อใดจิตเป็นอย่างใดกายก็จะเป็นอย่างนั้น เพราะงั้นคนที่ใจร้อนใจเร็วมักโกรธบ่อย ๆ สุขภาพทางกายก็ไม่ค่อยจะดี หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ แล้วก็ประสาทก็ไม่ค่อยดีมักจะเป็นคนสั่น ๆ ทำอะไรงง ๆ เงิ่น ๆ บ่อย ๆ เพราะว่าจิตใจไม่มั่นคง ไม่แน่วแน่ แล้วคนที่โกรธบ่อยนั้นกระเทือนมาก กระเทือนทางประสาท กระเทือนทางจิตใจ ทางอารมณ์ มันก็ไม่ดีทั้งนั้นล่ะ เราเห็นว่ามันไม่ดี แต่พอเราเปลี่ยนไม่ได้ เปลี่ยนไม่ได้เพราะไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนอย่างไร ไม่มีใครแนะนำพร่ำเตือนเราให้เห็นทุกข์เห็นโทษจากสิ่งนั้น เราก็ไม่ได้เปลี่ยนจิตใจ
แต่เมื่อใดเราได้เข้าวัด ได้ฟังธรรม ได้เอาข้อปฏิบัติไปใช้ ใช้สติ ใช้ปัญญาหมั่นพิจารณาตักเตือนตัวเองบ่อย ๆ สภาพจิตใจก็เปลี่ยนแปลงไป ค่อยสงบ ค่อยเยือกเย็น แม้จะมีอะไรมากระทบเราก็ไม่มีความรู้สึกรุนแรง ไม่หงุดหงิดงุ่นง่านต่ออารมณ์นั้น ๆ แต่เรามองสิ่งนั้นด้วยปัญญา ด้วยความรู้ความเข้าใจว่ามันคืออะไร สิ่งนั้นไม่มีฤทธิ์ พิษสงที่จะทำให้เรากระเทือนใจ จิตใจก็สงบเราก็สบาย ร่ายกายดีขึ้นการขับถ่ายดี โรคบางอย่าง เช่นว่าโรคปวดท้อง โรคกระเพาะอาหาร โรคหัวใจอะไรต่าง ๆ มันไม่เกิดล่ะคนที่อารมณ์ดีไม่เกิดโรคทางจิตใจ ทางกระเพาะอาหาร ทางการขับการถ่าย แต่คนที่ใจร้อนใจเร็วโกรธบ่อย ๆ เป็นโรคทางกระเพาะ อาหารย่อยไม่ดี สภาพจิตใจก็ไม่ดี หัวใจก็ไม่ดี เกิดเต้นไม่สม่ำเสมอ เพราะเวลาเราโกรธนี่ใจมันเต้นแรง มันฉีดโลหิตแดงไปเลี้ยงร่างกาย เพราะงั้นเราจึงสังเกตว่าคนโกรธนี่หน้าแดง หูแดง ตาแดงขึ้นมาทีเดียว โกรธแรงมากมือไม้สั่น กระตุก เหมือนกับเป็นโรคไข้สันนิบาตลูกนกอะไรอย่างนั้นเขาว่าอย่างนั้น มันเปลี่ยนไปอย่างนั้น และถ้าเป็นบ่อย ๆ มันก็ลำบาก เวลาแก่ตัวลงจะนั่งหัวสั่น มือไม้สั่น ยกแก้วน้ำขึ้นรับทานก็ยกขึ้นมาอย่างนี้ กินน้ำไม่ได้ ถ้าใส่ช้อนก็ไม่ต้องกินกันเลย กว่าจะถึงปากก็หกหมดเลย นี่ก็เพราะว่าปากกับประสาทมันไม่ดี เราใช้ระบบประสาทในทางไม่ดีบ่อย ๆ เลยเป็นอาการเช่นนั้น ในทางตรงกันข้าม คนที่จิตใจสงบเยือกเย็นนี่ อายุมั่นขวัญยืน
อายุยืนนี่เพราะอะไร เพราะว่าระบบในร่างกายมันดี การย่อยอาหารดี การขับถ่ายดี หัวใจก็เป็นปกติ ตับเป็นปกติ อะไรทุกส่วนเป็นปกติ ถ้าไม่มีอะไรกระทบกระเทือนบ่อย ๆ ไม่มีอะไรมาสั่งให้เกิดความกระเทือนมันก็อยู่ในสภาพที่เรียกว่า ปกติ เมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นปกติมันก็ไม่ยุ่งไม่ยาก ชีวิตก็ยั่งยืนถาวร สังเกตดูคนที่อายุมากนี่ยืน ๆ นะใจเย็นทั้งนั้น อายุ ๘๐ , ๙๐ แล้ว ยังไม่เป็นไร เราไปนั่งคุย นั่งสนทนาก็ปรากฏว่า ใจเย็น ใจสงบ ไม่ค่อยโกรธใครเคืองใคร มองอะไรก็มองอย่างผู้มีปัญญา ไม่ได้มองอย่างเคร่งเครียดเกลียดชัง หรือมองด้วยความประทุษร้ายในเรื่องนั้น ๆ อะไรมากระทบก็ไม่ค่อยจะยินดี ไม่ค่อยจะยินร้าย จิตใจเฉย ๆ คนอย่างนี้ก็อายุมั่นขวัญยืน แต่ถ้าโกรธบ่อย ๆ อายุสั้น บางทีโกรธเป็นลมไปเลย นี่มันแรงอย่างนั้นนะ เป็นเรื่องที่น่ากลัวอยู่เหมือนกัน โทสะนี่เป็นเรื่องน่ากลัว แล้วเมื่อมีโทสะมันก็มีตัวอื่นเช่นว่าเขาเรียกว่า “ปฏิฆะ”
“ปฏิฆะ” หมายถึง ความหงุดหงิด งุ่นง่าน ชอบพูดแต่เรื่องโกรธ ๆ เคือง ๆ เรื่องร้าย ๆ เราเข้าใกล้คนบางคนจะรู้สึกรำคาญ คือพูดแต่เรื่องไม่ดีทั้งนั้น เรื่องดีไม่ค่อยมีเอามาพูดหรอก พูดเรื่องคนก็ไม่ดี พูดเรื่องสถานที่ก็ไม่ดี พูดเรื่องอะไรก็ไม่มีเรื่องดี คนอย่างนั้นเขาเรียกคนมีอารมณ์ทางปฏิฆะ มองโลกในแง่ร้าย มองบุคคลก็มองในแง่ร้าย ไม่มองว่าเขาดีอะไร แต่มองแล้วก็คนนั้นไม่ดีอย่างนั้นคนนั้นก็ไม่ดีอย่างนี้ มีตาไว้สำหรับมองความชั่ว มีใจไว้คิดเรื่องชั่ว มีปากไว้ก็พูดแต่เรื่องชั่วตลอดเวลา คนอย่างนี้ก็จิตใจมันผิดปกติเหมือนกัน มันเสื่อมทางจิตใจจึงพูดแต่เรื่องไม่ดีไม่งามทั้งนั้นล่ะ ไม่ว่าพูดถึงใครล่ะ ต้องมีข้อบกพร่องอยู่ตลอดเวลา ไอ้ตัวเองน่ะไม่ดูตัวเองมั่งว่า เรามันบกพร่องอะไร
ไอ้ข้อบกพร่องสำคัญก็คือ ตัวมัวพูดแต่เรื่องชั่วคนอื่นคือความบกพร่องที่ยิ่งใหญ่แล้ว นั่นแหละตัวบกพร่องล่ะ ไม่หัดพูดชมคนเสียมั่ง พูดชมความดีของเขาเสียบ้าง นี่ก็เป็นนิสัยเหมือนกัน เรียกว่า “นิสัยปฏิฆะ” ไม่ชอบมองอะไรในแง่ดี มองคนในแง่ร้ายมองเหตุการณ์ในแง่ร้าย แล้วก็มักจะพูดว่า “ฉันว่าแล้วมันจะต้องอย่างนั้น” “มันจะต้องเป็นอย่างนี้”
เป็นนักพยากรณ์ที่ไม่ค่อยจะได้ความอยู่ตลอดเวลา คือพยากรณ์แต่เรื่องที่มันเกิดแล้วทั้งนั้นล่ะ ถ้าอะไรเกิดแล้วก็ “ เอ้อ! ฉันว่าแล้วว่ามันจะเป็นอย่างนั้นมันจะเป็นอย่างนี้” แต่ไม่บอกว่ามันจะแก้อย่างไร หรือจะทำอย่างไรไม่เคยพูดอย่างนั้น แต่ชอบพูดว่า “ฉันว่าแล้ว” “ฉันบอกแล้วว่าอย่าทำอย่างนั้นอย่าทำอย่างนี้” ความจริงก็ไม่ได้บอกอะไรหรอกแต่ว่าก็ชอบพูดอยู่อย่างนี้ นี่เขาเรียกว่าเป็นนิสัย พวกอารมณ์ปฏิฆะมองโลกในแง่ร้าย ไม่ได้มองโลกในแง่ดี ไอ้มองโลกในแง่ร้ายนี่มันเป็นทุกข์นะ มองโลกในแง่ดีนี่ค่อยดีหน่อย ค่อยสบายใจหน่อย แต่ก็ยังไม่ดีเท่าใดหรอก บางทีมันก็ดีเกินไป ดีหมดจนกระทั่งไม่ไหวเหมือนกัน
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้มองทั้งสองแง่ เรื่องดีก็ไม่ถูก ชั่วก็ไม่ถูก ร้ายก็ไม่ถูก พุทธศาสนาไม่ได้สอนเราให้มองโลกในแง่ร้าย เช่น สอนเรื่องความทุกข์นี่ไม่ใช่มองโลกในแง่ร้าย แต่มองโลกในสภาพที่มันเป็นจริง คือ ความจริงมันเป็นอย่างนั้น พระองค์ให้มองอย่างนั้น ถ้ามองในแง่ดีก็เพลินไปมองไปก็ดีไปหมด จนกระทั่งเสียท่าคนอื่นเพราะมองว่าคนนั้นก็ดีคนนี้ก็ดีเกินไป ไม่ได้ใช้ปัญญา พระองค์จึงสอนว่า ให้มองทุกสิ่งทุกอย่างตามที่มันอยู่เป็นอยู่จริง ๆ
ไอ้ที่มันเป็นจริง ๆ น่ะ มันเป็นอย่างไร มองคนก็มองให้รู้ความจริง ตามหลักธรรมะ มองสิ่งของ มองวัตถุ ก็ให้รู้ว่าไอ้เนื้อแท้ ไอ้ที่เป็นความจริงนั้นมีสภาพเป็นอย่างไรให้มองอย่างนั้น อย่ามองไปในแง่ว่า มันร้ายบ้าง มันดีบ้าง ไม่ถูก แต่ว่ามองว่า ไอ้เนื้อแท้ของเรื่องมันเป็นอย่างไร แล้วเราควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นในรูปใด อย่างนี้แล้วจิตจะไม่ตกไปสู่ความชั่วความร้าย
นี่เรื่องไอ้อารมณ์ ตัวนี้ก็สำคัญเหมือนกัน เรียกว่าตัว “โทสะ” มันทำให้เกิดปัญหาหงุดหงิด งุ่นง่าน จิตใจไม่สบายเพราะมองอะไรก็ไม่สบาย ตื่นเช้าอากาศครึ้ม ๆ ไม่สบายใจแล้ว ไม่สบายใจว่าอากาศมันครึ้ม เย็นไปก็ไม่สบายใจ ร้อนไปก็ไม่สบายใจ มันไม่สบายทั้งนั้น เห็นอะไรก็ไม่สบาย เรียกว่าเป็นคนครึ้มอยู่ตลอดเวลา ประมวลความครึ้มเอาไว้กับตัวหมดไม่ให้ใครเอาไปใช้ แล้วอยู่กันอย่างไร ชีวิตมันก็สับสน วุ่นวาย เป็นช่องทางให้เป็นโรคประสาทได้ง่าย จึงควรจะระมัดระวังไว้ เราจะแก้สิ่งเหล่านี้แก้ได้ด้วยธรรมะ เดี๋ยวจะว่าให้ฟังต่อไป ทีนี้อีกอันหนึ่งเขาเรียกว่า “โมหะ”
“โมหะ” นี่มันมีลักษณะมัว มืด มองอะไรไม่เห็นชัด ตามสภาพที่มันเป็นจริง เป็นสภาพที่มัวมืดมองอะไรไม่ชัดตามสภาพที่เป็นจริง คนเราทำผิดเพราะความมืดทางจิตใจ คือในขณะนั้นใจมันมืด ไม่รู้ว่าผิดหรือถูก ดีหรือชั่ว จะเป็นเหตุให้เกิดสุข เกิดทุกข์ ไม่รู้ ไม่เข้าใจ มันมืดขึ้นมาไอ้ที่เราได้ยินคำพูดว่า ตัณหาหน้ามืด
ตัณหาหน้ามืด คือความอยากมันทำให้มืด ความโกรธก็ทำให้มืด ความหลงก็ทำให้มืด ความไม่รู้ไม่เข้าใจมันเกิดจากความมองไม่เห็นนั่นเอง เลยเกิดเป็น “โมหะ”ขึ้นมาในจิตใจมืดไปหมด พอมืดหมดแล้วมันก็ยุ่ง ไอ้ตัวโมหะนี่ตัวสำคัญ ตัวพื้นฐานถ้ามีโมหะเป็นฐานอยู่ในจิตใจแล้วความโลภก็เกิดได้ ความโกรธก็เกิดได้ ความริษยาก็เกิดได้ พยาบาทก็เกิดได้ แข่งดี มานะ ถือตัว ข้าไม่ยอมใคร ข้าเก่ง อย่างนี้ มันมาจากความมืดมองไม่เห็นชัด ไม่รู้จักตัวเองถูกต้อง ไม่รู้จักสิ่งที่เกิดมีอยู่ในตัว แล้วไม่รู้เหตุผลของเรื่องนั้น ๆ แล้วไม่รู้ว่าจะแก้ไขได้อย่างไร ก็เลยกลายเป็นคนมืดคนบอดอยู่ตลอดเวลา ทำแต่เรื่องไม่ถูกไม่ต้อง เพราะความมืดเข้าครอบงำจิตใจ ภาษาพระท่านเรียกว่า “โมหะ”
“โมหะ” ก็คือความมืด หรือเรียกว่า ความหลง หลงก็เพราะไม่รู้ เช่น เราหลงทางเพราะเราไม่รู้จักทาง เห็นผิดเป็นชอบ เห็นชั่วเป็นดี เห็นทุกข์เป็นสุข เห็นทางเสื่อมว่าเป็นทางเจริญ ก็เพราะมีความหลงครอบงำจิตใจ คนที่ไปมัวเมาอยู่ในเรื่องอะไรต่าง ๆ ก็เรียกว่าพวกโมหะเหมือนกัน มัวเมาในการพนัน ติดการพนันงอมแงม มัวเมาในสิ่งเสพติด สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า สูบกัญชา สูบผงขาว อะไร อย่างนี้ เลิกไม่ได้มันก็เรียกว่า มันมืด มันบอดนั่นเอง
เมื่อเช้านี้พ่อกับลูกมาทำบุญที่วัด แล้วลูกชายนี่ก็บอกว่า
“ ผมเคยบวชอยู่กับหลวงพ่อรู้หรือเปล่า”
“ ก็นาน ๆ พบกันทีก็จำไม่ค่อยได้หรอก”
เลยพ่อก็บอกว่า “ ลูกนี่ยังไม่เลิกสุรา ดื่มสุราเมรัย” ว่าอย่างนั้น
อาตมาก็บอกว่า “ มันยังหลงอยู่ ยังมัวเมา เมาเหล้า” เพราะเมาเหล้าเลยหลงเหล้า หลงเพราะไม่รู้ไม่เข้าใจไม่ได้พิจารณาว่าดื่มเหล้าแล้วมันไม่ดี ให้ทุกข์ให้โทษแก่ร่ายกายแก่จิตใจทำให้เกิดความเสื่อมความเสีย ไม่ได้พิจารณา พออยากขึ้นมาก็มืดไปซื้อมาก๊ง ก๊งเข้าไป ๆ จนหน้ามืดตาลายไปตาม ๆ กัน นี่เพราะความหลง ความไม่รู้ไม่เข้าใจ
เลยบอกเขาว่า “ เวลาจะดื่มเหล้าให้คิดเสียหน่อย ให้คิดว่าสัตว์เดรัจฉานนี่ไม่ดื่มเหล้า สุนัขไม่ดื่มเหล้า แมวไม่ดื่มเหล้า วัวไม่ดื่ม ควายก็ไม่ดื่ม ช้างตัวโต ๆ ก็ไม่ดื่มเหล้า ไม่มีสัตว์ตัวใดดื่มเหล้า แล้วเรามันนี่อวดตัวมนุษย์นี่ ฉันมันเก่งกว่าสัตว์เดรัจฉานนะ”
ถ้าเดรัจฉานพูดได้ “มันเก่งอะไรมันเมาวันยังค่ำเลย” มันคงจะท้านะ “ เก่งอะไรกินเหล้าวันยังค่ำเดินโซซัดโซเซ ฉันเดินได้ปกติไม่เสียหาย แล้วมันจะว่าวิเศษอย่างไร”
ถ้าเรายังไม่มัวเมาอยู่ในการดื่มเหล้ามันก็ไม่ได้เรื่อง เรียกว่าเรามันยังแพ้สัตว์เดรัจฉานในแง่นั้น เวลาจะดื่มก็คิดว่า “เอ….เรานี่มันเลวกว่าสัตว์เดรัจฉานยังเดิมเหล้า” หรือว่าเราไปบ่อนการพนันเราก็โง่ เราหลง เรางมงาย เราไปเล่นการพนัน หรือว่าเราไปเที่ยวกลางคืนก็เป็นความหลงอีกล่ะ ความมัวเมาอีกล่ะ ความมืดอีกล่ะ ชอบไปเที่ยวอย่างนั้น ไม่ได้เรื่องอะไร
เราสนุกจนลืมเนื้อลืมตัวมันก็เป็นความมืดขึ้นในจิตใจมองอะไรไม่เห็น สิ่งเหล่านั้นมันเป็นฝ้าบังดวงตาไม่ให้เห็น การพนันบังตา สิ่งเสพติดบังตา เที่ยวกลางคืนมาเป็นม่านบังตา ความสนุกสนานเพลิดเพลนด้วยเรื่องอะไรต่าง ๆ เป็นม่านบังตา แล้วคบเพื่อนชั่วก็ไม่รู้ว่าเพื่อนชั่ว เพื่อนชวนไปทางไหนก็ไปกับเขา มันก็เป็นม่านบังตาไว้ไม่ให้เรามองเห็นสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริง ๆ เลยเป็นคนมืดอยู่ตลอดเวลา ไม่ออกมาสู่แสงสว่าง เพราะไม่มีใครเอาแสงธรรมไปส่อง ให้เขาเห็นว่าแสงสว่างคืออะไร มีแสงสว่างแล้วมองเห็นอะไรชัดเจนแจ่มแจ้งเป็นอย่างไร เขาไม่รู้ เขาไม่ได้มาวัด
แม้มาวัดก็มาด้วยความมืดก็มี มามืดก็หมายความว่า มาหาสิ่งไม่ถูกต้องไม่ได้มาศึกษาธรรมะ ไม่ได้มาเพื่อชำระชะล้างจิตใจ แต่มาแสวงหาสิ่งโง่สิ่งงมงาย ไปเพื่อดูหมอบ้าง ไปเพื่อสะเดาะเคราะห์บ้าง ไปเพื่อรดน้ำมนต์บ้าง ไปทำพิธีอะไรต่าง ๆ นี่เรียกว่าไปเพื่อให้มันโง่หนักเข้าไป ไปด้วยความมืดไม่รู้อะไร
พระสงฆ์องค์เจ้าเราบางทีก็ช่วยให้โยมมืดหนักเข้าไปอีก โยมต้องการอะไรก็ทำให้ทั้งนั้นแหละ เห็นโยมอยู่ในที่มืดก็เอาม่านหนามาบังซ้อนเข้าไป ๆ จนมัวมองอะไรไม่เห็นมืดตื้อไปหมด แล้วก็ไม่ได้เรื่องอะไร นี่เขาเรียกว่าอยู่ในวงจรแห่งความมืดบอดของ “โมหะ”
เมื่อมี “โมหะ” แล้วมันก็เกิดอะไรทุกอย่างในชีวิต ทำให้เกิดเป็นปัญหา สร้างความทุกข์ สร้างความเดือดร้อนด้วยประการต่าง ๆ คนที่หลงใหลในเรื่องอะไรจนเกินไป เมา เรียกว่า เมา เมานั่น เมานี่ เมาความเป็นใหญ่ เช่น ได้เป็นใหญ่เป็นโตก็เมาจนลืมเนื้อลืมตัว ทำอะไรเลอะเทอะ ก็มองไม่เห็นว่า เลอะแล้วเพราะเมา แล้วคนที่เข้าใกล้ก็ช่วยกันทำให้นายเบา ทำยังไง ยอแป๊บเดียว
อู๊ย…! ท่านอย่างนั้น….. ท่านอย่างนี้…..
มีแต่คนหมอบราบเข้าไป ยกยอปอปั้นให้นายเหลิงเข้าไปทุกวันทุกเวลา นายเมาอยู่แล้วเราไปช่วยเพิ่มความเมาให้กับนายของเราเข้าไปอีก เลยนายก็เมากันใหญ่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะไม่มีคนที่กล้าพูดความจริงให้นายฟัง ไม่กล้าที่จะบอกว่า
“ มันไม่ถูกนะนายนะ ทำอย่างนั้นมันไม่ถูกนา คนเขานินทานะ ”
ไม่มีใครบอกอย่างนั้น ถ้าบอกเสียมั่งมันก็ดีไง มันได้ประโยชน์
พระสงฆ์องค์เจ้าเราก็เหมือกัน ทำอะไรบางทีมันก็อาจจะ เพลิดเพลินไปบ้าง แต่ว่าไม่ใช่หลงอะไร แต่ว่าโยมมองเห็นมันจะไม่เหมาะ โยมก็เตือน นั่นแหละถูกต้อง เรียกว่า ช่วยเตือน เขียนจดหมายมาเตือนก็ได้ หรือว่าพบกันก็บอก
แหม!.…ขออภัย “ ไอ้เรื่องนั้นผมเห็นว่ามันไม่เหมาะนะ ท่านเจ้าคุณนะ ”
มันดีอย่างนั้น เรียกว่า มีความปรารถนาดี ไม่โกรธไม่เคือง อาตมาใครมาเตือนนั้นไม่โกรธล่ะ แต่ถ้าใครมาชม “ มันจะทำให้กูเหลิงอีกแล้วคนนี้” อันนี้ก็ในรูปอย่างนั้น แต่ถ้าเขามาเตือนนี่ดีใจว่า “ เอ้อ! นี่เขาเห็น เขารักเรา เขาหวังให้เราไม่ตกไปในสู่สิ่งเหลวใหล หรือสิ่งผิดสิ่งพลาด มาช่วยแนะ ช่วยเตือน ช่วยบอก ให้เข้าใจเป็นการถูกต้อง เป็นมิตรแท้” คนที่เตือนเรียกว่าเป็นมิตรแท้ ไอ้คนที่ไม่เตือนนี่ก็ปล่อยไปตามเรื่องสุดแล้วแต่ท่าน อย่างนั้นมันก็ไม่ถูกเหมือนกัน ที่เราพูดว่า “ชั่วชั่งชี ดีช่างสงฆ์” นี่ก็มันไม่ถูกเหมือนกันนะ มันไม่ได้ มันเกี่ยวข้องกันสัมพันธ์กัน
พระศาสนาเป็นของเราทุกคน เราเห็นว่าชีไปไม่เหมาะ สงฆ์ไปไม่เหมาะ ก็ช่วยสกัดไว้หน่อย ช่วยเตือน ช่วยบอก เพื่อให้สิ่งทั้งหลายดีขึ้น ก็เป็นเรื่องดีมีประโยชน์ แต่คนบางประเภทนั้นไม่มีใครกล้าเตือน ไม่มีใครกล้าบอก มันเป็นความรักด้วยความหลงไป ไม่บอกไม่ชี้แจงให้เข้าใจ เรื่องคนบอกไม่บอกให้รู้ให้เข้าใจ ว่าคนเขาว่าอย่างไร เขาวิพากษ์วิจารณ์ว่าอย่างไร ไม่กล้าพูดกลัวนายจะโกรธ เลยนายเสียคน และเมื่อนายเสีย คนใช้ก็พลอยเสียไปด้วยเหมือนกัน ต้นโพธิ์ล้มแล้วไม้เล็ก ๆ มันจะอยู่ได้อย่างไร มันก็แหลกไป คนโบราณเขาจึงพูดว่า “ ช้างสารชนกันหญ้าแพรกก็แหลกไปเท่านั้นเอง”
ช้างตัวใหญ่ที่มันชนกันมันลากหญ้าแพรกตายหมดเลย ก็หมายความว่า ผู้หลักผู้ใหญ่นี่ ถ้าทำอะไรผิดแล้วผู้น้อยทั้งหลายนี่ก็พลอยเดือดร้อน พลอยวุ่นวายไป เช่น ผู้นำชาติบ้านเมือง ถ้าว่านำไปในทางที่ถูก ที่เจริญ ที่ก้าวหน้า เราก็สบาย ถ้านำไปผิดเราก็เดือดร้อน อันนี้คนเตือนมี แต่ว่าไม่กล้าเตือนมันก็ลำบาก อย่างนี้เรียกว่าไม่ช่วยกันแก้ไขสิ่งร้ายให้กลายเป็นดี ก็เรียกว่า อยู่ในสภาพมืดทั้งนั้น หัวหน้ามืด ลูกน้องก็มืด บริวารที่นั่งล้อม ก็เรียกว่ามืดกันทั้งนั้น เป็นคนตาบอดตาใสทางจิตใจ ไม่มองให้เห็นชัดแล้วช่วยบอกช่วยเตือนกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ จึงเกิดเป็นปัญหา
เราจึงต้องแก้สิ่งเหล่านี้ แก้ความโลภด้วยการแผ่เมตตาให้คนทั้งหลายมีความสุข มีอะไรก็เราช่วยกันเผื่อแผ่ เจือจานคนอื่น อย่าคิดเห็นข้างตัว อย่าเข้าข้างตัว แต่ให้คิดว่า “ตัวเราอยู่กับคนอื่น ไอ้คนอื่นก็อยู่กับเราเหมือนกัน” เขาเรียกว่า “ ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ” “ น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย เขาก็จิตคิดเล่าเราก็ใจ” นี่เรียกว่าเป็นหลักที่จะต้องคิด ว่าคนทุกคนอาศัยกัน แล้วควรจะอยู่กันด้วยน้ำใจอันงาม ไม่อยู่ด้วยน้ำใจที่ทราม เราก็จะมีความสุข เรามีอะไรควรจะแบ่งจะปันให้แก่ใครได้ เราก็แบ่งปันไป เขาเรียกว่าทานนี้แก้โลภ
อันนี้ “โทสะ” แก้ด้วยความกรุณา ปราณี หัดทำใจให้สงสารคนอื่น เอ็นดูคนอื่น คิดแต่ให้คนอื่นเป็นสุข ให้คนอื่นพ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน หัดคิดหัดนึก เช่นเราเห็นใครเราก็หัดนึกว่า “ เออ!… เป็นสุข ๆ เถิด ขอให้มีความเจริญ ขอให้มีความก้าวหน้า ในชีวิต ในการงาน ” นึกบ่อย ๆ มันก็จะชินขึ้น แล้วเราก็เห็นคนเรานึกอย่างนั้นเป็นอัตโนมัติ โดยไม่ต้องเตือนมันคิดเองเพราะชินแล้ว กระแสจิตของเราก็เต็มไปด้วยความรักต่อเพื่อนมนุษย์ เห็นใครไม่จำกัดแล้วทีนี้ ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดเชื้อชาติ ไม่จำกัดอะไร ๆ ทั้งหมด พอเราเห็นเรานึก “โอ้! เป็นสุข ๆ เถิด” นึกอย่างนั้น
เมื่อเรานึกให้คนอื่นเป็นสุข เราก็เป็นสุขด้วย ถ้าเราแช่งคนอื่นเราก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เช่น คนนั่งแช่งคนอื่นนี่ ใจเหมือนตกนรก ไม่ว่าแช่งเขาน่ะ ตัว ๆ ก็ตกอยู่แล้ว แช่งให้มันตายตัวก็ได้ด้วย แช่งให้เป็นทุกข์ตัวก็เป็นทุกข์อยู่แล้วล่ะ ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำอย่างนั้น คนบางคนชอบแช่ง ชอบด่าคนอื่น ในเรื่องนิทานโบราณว่าสาปแช่ง มันไม่ใช่เรื่องดีอะไร ควรให้พรกันไม่ใช่สาปแช่งกันอย่างนั้น เราเห็นใครก็นึกว่า “ เออ! เป็นสุขเป็นสุขเถอะ” คนในครอบครัวเจอหน้ากันก็นึกว่าให้เป็นสุข อย่างนี้จิตใจมันก็สบายไม่มีปัญญา
ส่วนความหลงนั้นเราแก้ได้ด้วย ปัญญา คือ ต้องศึกษาหาความรู้ หาความเข้าใจ หมั่นฟังธรรม หมั่นอ่านหนังสือ หมั่นคิดหมั่นค้นในเรื่องอะไร ๆ ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน สิ่งทั้งหลายก็ค่อยดีขึ้นโดยลำดับ
เรามาวัดนี่เรียกว่ามาทำลายความโลภ มาทำลายความโกรธ มาทำลายความหลงอันเป็นตัวมารร้ายในจิตใจให้หายไป เบาไป จางไป จนกระทั่งมันไม่ผุด ไม่เกิดขึ้นในจิตใจของเราต่อไป เราก็อยู่ด้วยความสงบ อยู่ด้วยความสะอาด อยู่ด้วยความสว่าง ชีวิตเป็นสุข ดังที่ได้แสดงมา เพื่อเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจแก่ญาติโยมทั้งหลาย
ก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจ นั่งตัวตรง หลับตา เวลาหายใจเข้ากำหนดรู้ หายใจออกกำหนดรู้ กำหนดที่ลมหายใจเข้าออกอย่าให้ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อื่น เป็นเวลา ๕ นาที ตั้งจิตอธิฐานว่าจะนั่งสงบใจ ๕ นาที